PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

วิเคราะห์2ปม-ปชป.สกัดแก้รธน.

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน 2556, 00:00 น.

รายงานพิเศษ


การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราที่รัฐสภาโหวตผ่านวาระแรก อยู่ในขั้นแปรญัตติของกรรมาธิการ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่ากระบวนการพิจารณาของรัฐสภาไม่สมบูรณ์

เนื่องจากการปิดประชุมไม่ได้ขอมติจากสมาชิก

อีกทั้งการดำเนินการเพื่อกำหนดวันแปรญัตติในขณะที่องค์ประชุมไม่ครบ จนทำให้ประธานรวบรัดดำเนินการนั้นขัดระเบียบข้อบังคับการประชุม

โดยฝ่ายค้านเตรียมยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

มีความเห็นจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ต่อความเห็นแย้งของฝ่ายค้าน

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

นักกฎหมายอิสระ

เรื่องระเบียบข้อบังคับของรัฐ สภา รัฐบาล ฝ่ายค้าน สมาชิกรัฐสภาต้องยึดถือปฏิบัติ ยิ่งเป็นสมาชิกย่อมต้องรู้ดีกว่าบุคคลภายนอกว่าควรต้องปฏิบัติตัวเช่นไร

การประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ตั้งแต่แรกเริ่มได้ยึดถือตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุว่าสามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

มาตรา 291 ยังระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ

หมายความว่าให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการของรัฐสภา โดยไม่จำเป็นต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยต่อ

อีกทั้งการยึดตามมาตรา 291 ระบุไว้เช่นกันว่า เป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม แต่ไม่ได้ทำเป็นร่างพ.ร.บ.

และหลังจากการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสภามาได้แล้ว ก็ให้ปฏิบัติตามมาตรา 150 และมาตรา 151 เพื่อเข้าสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อรอลงพระปรมาภิไธย

ในมาตรา 291 ไม่มีข้อความใดระบุไว้เลยว่า หากสมาชิกสภาเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญให้นำมาตรา 154 ที่บัญญัติว่าเป็นการควบคุมการพิจารณาไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัย

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการดำเนินการต้องอยู่ในรัฐสภาเท่านั้น หากสภาเห็นด้วยกับสิ่งที่ฝ่ายค้านได้เสนอว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สร้างประโยชน์ หรือว่าการประชุมขัดต่อระเบียบข้อบังคับ

สภาต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการโหวตให้เรื่อง ดังกล่าวตกไปในวาระที่ 3

แต่ถ้าหากสมาชิกสภาปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการประชุมและยึดตามมาตรา 291 เป็นหลัก ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

การที่ฝ่ายค้านยืนยันว่าจะยื่นเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐ ธรรมนูญตีความวินิจฉัย ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและสรรหาวิธีในการสร้างน้ำหนักกับเรื่องที่คัดค้าน

แต่ฝ่ายที่ชี้ขาดสำหรับประเด็นนี้คือศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะรับเรื่องดังกล่าวหรือไม่ หากรับก็อาจถูกสังคมและประชาชนโจมตีได้ทันทีว่า วางตัวไม่เป็นกลาง หรืออาจกระทำการเกินหน้าที่

จากสิ่งที่กล่าวมา หากศาลรัฐธรรมนูญยิ่งตอบสนองพรรคฝ่ายค้าน เท่ากับจะยิ่งหลงกลมากเท่านั้น

และจะถูกหรือจะผิด ก็ต้องดูมาตรา 291 เป็นหลัก

พนัส ทัศนียานนท์

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

กรณีซึ่งมีการกล่าวอ้างกันว่าไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม หรือการดำเนินการประชุมผิดข้อบังคับ คนที่ต้องตีความคือที่ประชุมสภา

ที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกขึ้นมาทั้งการปิดประชุมโดยไม่ขอมติ และช่วงกำหนดวันแปรญัตติโดยที่องค์ประชุมไม่ครบ ล้วนเป็นเรื่องทางเทคนิค

ที่ระบุการปิดประชุมไม่ชอบเพราะไม่มีการลงมตินั้น เมื่อมีการเสนอให้ปิดประชุมแล้วฝ่ายค้านระบุเองว่าไม่เสนอแย้ง การพูดชัดเจนเช่นนี้การปิดประชุมของประธานรัฐสภาก็ถูกต้องแล้ว

เพราะเมื่อมีการเสนอปิดประชุมสภาโดยที่มีคนรับรองถูกต้อง แล้วไม่มีการเสนอค้านหรือแย้ง ประธานก็สั่งปิดประชุมได้ ยกเว้นว่ามีการเสนอค้านก็ต้องขอมติที่ประชุม การลงมติจึงชอบแล้ว

ส่วนขั้นตอนการเสนอแปรญัตติ ที่รัฐบาลเสนอ 15 วัน ฝ่ายค้านเสนอ 60 วัน แต่มีการรวบรัดสรุปเป็น 15 วัน เพราะองค์ประชุมไม่ครบ เมื่อองค์ประชุมไม่ครบต้องถือว่าการประชุมล่มแล้ว จะดำเนินการอะไรต่อไม่ได้ทั้งสิ้น

การประชุมต้องยุติ การดำเนินการต่อจากนั้นไม่ถือเป็นการประชุม

ดังนั้นการที่ฝ่ายค้านเสนอให้ประธานเรียกประชุมรัฐสภาใหม่ ก็น่าจะต้องเป็นอย่างนั้น โดยไปดำเนินการในจุดที่ติดค้าง หากต้องการให้ถูกต้องก็เรียกประชุมรัฐสภาแก้เฉพาะจุดที่มีปัญหา แล้วลงมติกันให้เรียบร้อย

แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะการวินิจฉัยการดำเนินการประชุมจะผิดหรือถูกเป็นอำนาจของสภา การส่งตีความเป็นไปไม่ได้

สภาต้องว่ากันเอง

ถ้าเห็นว่าประธานสภาทำไม่ถูกต้อง ฝ่าฝืนหรือกระทำขัดกฎหมาย ก็เป็นเหตุให้สมาชิกรัฐสภาเสนอเข้าชื่อถอดถอนได้ แต่ไม่ใช่การส่งตีความ

การตีความต้องเป็นกรณีกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ จึงจะเข้าข่ายส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่าต้องเป็นร่างพ.ร.บ. หรือร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ไม่ใช่ตีความว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญ

ร่างแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรก็ต้องขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการเสนอแก้ไข เพียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง



อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

นักวิชาการอิสระ

ที่ฝ่ายค้านหยิบการกำหนดวันแปรญัตติที่องค์ประชุมไม่ครบมาเป็นประเด็นนั้น การแปรญัตติส่วนใหญ่ซึ่งเป็นที่ยอมรับก็ใช้เวลา 15 วัน การเรียกร้องให้ใช้เวลานานถึง 60 วัน เจตนาเป็นการเตะถ่วง

แต่ละร่างแก้ไม่กี่มาตรา แปรญัตติ 7 วันก็ได้ เรื่องเร่งด่วนส่วนใหญ่ใช้เวลา 15 วัน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม หากว่ากันตามหลัก เมื่อฝ่ายค้านเสนอให้แปรญัตติ 60 วัน แล้วประธานจะรวบรัดไม่ได้ อย่างไรก็ต้องโหวต ซึ่งความจริงโหวตอย่างไรก็ชนะ

แต่ที่ประธานรัฐสภาบอกว่าองค์ประชุมไม่ครบก็ต้องถามซีกรัฐบาลว่า หลังจากโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะรีบร้อนไปไหน รออีกหน่อยไม่ได้หรืออย่างไร

รู้อยู่แล้วว่าจะยังมีขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการอีก แล้วจะรีบไปไหน เท่ากับเปิดช่องให้ฝ่ายค้าน เรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องจึงเป็นเรื่องขึ้นมา ไม่รับผิดชอบต่อการทำหน้าที่

การแก้ปัญหาอาจต้องเรียกประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องที่คากันอยู่ หรือต้อง ดูข้อบังคับการประชุมว่าจะทำอย่างไร ได้บ้าง

แต่การส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ผมมองในมุมการถ่วงดุลของ 3 อำนาจ ผมเป็นนักรัฐศาสตร์ไม่เคยเห็นด้วยกับการที่ตุลาการเข้ามาสั่งการฝ่ายนิติบัญญัติ ทุกอย่างมีกติกาว่าฝ่ายไหนมีหน้าที่อะไร ใครทำผิดก็มีกฎหมายบังคับอยู่

อำนาจตุลาการดูเฉพาะเรื่องที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ ไม่ใช่ทำเปรอะไปทุกเรื่อง

ส่วนการปิดประชุมโดยไม่ขอมติที่ประชุมนั้น พิจารณาจากธรรมชาติของการประชุมทั่วๆ ไป เมื่อหมดเรื่องพูดคุยประธานก็ปิดประชุม ส่วนมากก็ไม่ต้องขอมติ

ผมเป็นประธานการประชุม คณบดี อธิการบดี เมื่อไม่มีเรื่องอะไรแล้วก็ปิดประชุม ไม่ทันดูรายละเอียดว่าต้องขออนุมัติปิดประชุมหรือไม่

ดังนั้น การที่ฝ่ายค้านเลือกเล่นเกมนี้เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่ได้ทำให้โก้เลย เล่นการเมืองแบบไม่มีสปิริต