PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ประยุทธ์เลียบค่ายนายกฯพปชร.

  "บิ๊กตู่" ย้ำ 8 ก.พ. ตอบเทียบเชิญ "พปชร." บัญชีนายกฯ แน่ เผยอ่านนโยบายพรรคเยอะแล้ว รับมีหลายอย่างตรงกับที่ได้ทำไป ลั่นวันนี้ใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ทุกอย่าง อึ้ง! พวกเปลี่ยนชื่อทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ "พุทธิพงษ์" ทิ้งเก้าอี้ลุยการเมืองเต็มตัว สมัคร ส.ส.แบ่งเขตวันสองเพิ่มอีก 883 คน "กกต." ไม่ฟันธงชูรูป "ประยุทธ์" หาเสียงผิดหรือไม่ "รองเลขาฯ" ระบุรอมีเรื่องร้องเรียนก่อน "ตำรวจ" ตั้งศูนย์ดูแลความเรียบร้อย มอบ "ศรีวราห์" ดูแล

    เมื่อวันที่ 5 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณานโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก่อนจะตัดสินใจรับคำเชิญมีชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีหรือไม่ว่า  กำลังดูอยู่ นำนโยบายมาศึกษาก็อ่านไปได้เยอะแล้ว หลายๆ อย่างก็ทำกันแล้ว ส่วนเขาจะทำให้ดีต่อไปอย่างไรก็ไปดูอีกครั้ง ก็ต้องถามเขาอีกทีว่าจะทำอย่างไร ซึ่งตนจะพิจารณาไม่เกินวันที่ 8 ก.พ. ขอให้เวลาบ้าง เพราะทำงานอย่างอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะเมื่อไหร่ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไร นั่งดูเรื่องนี้เรื่องเดียว มีร้อยแปดพันเรื่องที่ต้องทำในการเป็นนายกฯ และรัฐบาล 
    ถามถึงกระแสข่าวไม่พอใจรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค พปชร. โดยเฉพาะนักการเมืองที่มีคดีความติดตัวอยู่ในลำดับต้นๆ จะเป็นเงื่อนไขในการตอบรับเป็นนายกฯ ในบัญชีพรรคหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ยังไม่เห็น ก็แล้วแต่พรรคเขาทำไม่เกี่ยวกับตน เพราะยังไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองเลย เขามีกำหนดการส่งรายชื่อของเขาอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปเกี่ยวกับเขาด้วย เรื่องของตนคือจะไปร่วมให้เขาเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในบัญชีหรือไม่
    "สมมุติถ้าผมตอบรับให้พรรคเสนอชื่อแล้วเป็นนายกฯ ขึ้นมา อะไรที่ต้องทำก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถึงตอนนั้นก็มีคนมาร่วมรัฐบาล ก็คือรัฐบาลอนาคต ถ้าผมได้อยู่ตรงนั้น ก็จะทำให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อะไรที่ไม่ดีก็ขอร้องว่าอย่าทำกันอีกเลย ต้องสอนคนแบบนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
    นายกฯ กล่าวว่า ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลแล้วกัน จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม เราต้องคิดถึงเรื่องการปฏิรูปเรื่องการเมือง การปรองดองสมานฉันท์ เราก็ต้องดูว่าคนที่เข้ามาทำงานการเมืองวันนี้ มีใครบ้างที่ปรองดองสมานฉันท์ ไม่ใช่ต่อยตีกันตลอดเวลา ก็ไปไม่ได้หมด วันหน้าการเลือกตั้งถึงจะได้รัฐบาลมาจะได้ความเชื่อมั่นหรือไม่ ถ้าเรากันเองไม่เชื่อมั่นกันตรงนี้ ทุกคนต้องนึกถึงประเทศชาติเป็นหลัก
    "วันนี้ผมใช้รัฐศาสตร์นำนิติศาสตร์ทุกอย่าง ไม่ใช้นิติศาสตร์นำรัฐศาสตร์อยู่แล้ว เราเอากฎหมายมาเป็นตัวตั้ง แต่เราก็ต้องพิจารณาหาทางออก จะทำอย่างไรไม่ผิดกฎหมายและปฏิบัติได้ อย่าคิดว่าออกกฎหมายแล้วกฎหมายจะปฏิบัติได้ ถ้าปฏิบัติไม่ได้กฎหมายที่ออกมาก็ล้มเหลว กฎหมายบางตัวที่ออกมาใหม่เพื่อวัตถุประสงค์ในการแก้ปัญหาแต่ละจุด แต่การจะแก้ทีเดียวทั้งระบบอาจจะต้องลดลงบ้าง เอาประเด็นหลักมาก่อน แล้วประเด็นอื่นๆ ก็มีการแก้กฎหมายได้ทุกรัฐบาลเพื่อให้ดีขึ้น ไม่ใช่เขียนกฎหมายฉบับนี้แล้วจะให้เป็นประวัติศาสตร์ไปเลย คงไม่ใช่ กฎหมายทุกตัวต้องพัฒนาให้ดีขึ้น สร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด ไม่ใช่เป็นห่วงว่าอำนาจรัฐจะลดน้อยลง แต่เกรงว่าการออกกฎหมายมาเพื่อหวังดีกับคนนี้ รวมถึงมีมาตรการลงโทษต่างๆ แต่จะมีผลกระทบกับผู้ที่มีรายได้น้อยไปด้วย ผมคิดละเอียดทุกอัน ไม่คิดเอาง่ายๆ" นายกฯกล่าว
ลั่นยังไม่ทำอะไรอีกเยอะ
    ซักว่า เผื่อใจไว้สำหรับการไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เผื่อทุกเรื่อง ตนพร้อมทุกอย่างจะทำอะไรก็ได้ ก็ติดอยู่อย่างเดียวคือภาระดูแลประเทศชาติมา 3-4 ปี มีอะไรดีขึ้นตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ก็มีอะไรที่ไม่ได้ทำตั้งเยอะตั้งแยะเหมือนกัน อะไรที่ประชาชนคาดหวังก็อยากทำให้ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเลือกตั้งใคร
    ถามว่า นอกจากเรื่องนโยบายพรรค สถานการณ์บ้านเมืองถือเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่มีข่าวสารอะไรที่ทำให้สับสนอลหม่าน ทุกคนก็ร่วมมือกันดี เว้นแต่ถ้ามีใครทำให้วุ่นวาย ประชาชนก็ไปว่ากันเอาเอง ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว จะไปทำอะไรได้ และสถานการณ์วันนี้ถือว่าปกติ อย่าพูดให้ไม่ปกติ
    พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงเรื่องที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อชาติ (พช.) เปลี่ยนชื่อเป็นทักษิณและยิ่งลักษณ์ว่า ก็แปลกดีนะประเทศไทย แต่ไม่น่าสนใจสำหรับตน ส่วนใครจะสนใจก็แล้วแต่ ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูแลอยู่แล้ว 
    ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการเปลี่ยนชื่อเป็นทักษิณและยิ่งลักษณ์ว่า ตามกฎหมายแล้วทุกคนสามารถเปลี่ยนชื่อได้ ขอแต่เพียงไม่เป็นคำหยาบ และอยู่ในความเหมาะสม ไม่ถือว่ามีความผิด และไม่ขอวิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ 
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร เขาตัดสินใจกันเองที่เปลี่ยนชื่อ เพราะทุกคนสามารถเปลี่ยนชื่อกันได้ ถ้าคิดว่าเปลี่ยนแล้วดีก็เปลี่ยนไป จะเอาทุกทาง ทุกเทคนิคก็ไม่เป็นอะไร แต่เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ต้องไปถาม กกต. เพราะเห็นเลขาธิการ กกต.จะไปศึกษาเรื่องนี้ เพราะไม่เคยพบ
    ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงลาออกจากตำแหน่งว่า 4-5 เดือนที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในการทำงานกับสื่อมวลชน แม้เป็นเวลาที่ไม่นานมาก แต่ความตั้งใจที่เคยพูดไว้ก่อนเข้ามารับตำแหน่ง ได้ทำแล้วหลายเรื่อง และสำเร็จระดับหนึ่ง ทั้งการสร้างความรับรู้เรื่องการทำงานของรัฐบาลให้กับประชาชน การสร้างความรับรู้ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นมิติเชิงรุก 
    "ผมได้เรียนให้นายกฯ ทราบแล้วว่าจะข้อยุติบทบาทการทำหน้าที่รองเลขาธิการนายกฯ และโฆษกประจำสำนักนายกฯ ซึ่งการลาออกครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย เพราะแม้จะมีบทบาทในพรรคการเมือง แต่กฎหมายไม่ได้บังคับ เพียงแต่ส่วนตัวรู้สึกว่าเมื่อตัดสินใจเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ การทำงานทั้งสองด้านพร้อมกัน อาจไม่เหมาะสม และเกิดความสับสน การลาออกไปทำงานการเมืองน่าจะเหมาะสมกว่า และสามารถทำงานการเมืองได้เต็มเวลา" นายพุทธิพงษ์กล่าว
    พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่ กกต.ได้หารือร่วมกับนายวิษณุ โดยให้ยกเลิกมติ ครม.ที่เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของข้าราชการเมื่อวันที่ 17 ต.ค.43, 9 ต.ค.50 และ 12 ก.พ.51 โดยให้ยึดแนวทางใหม่ 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อได้รับการร้องขอจาก กกต. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง 
    2.ให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และลูกจ้างในสังกัดทุกประเภท ทุกระดับทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น วางตัวเป็นกลางทางการเมือง 3.นับแต่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จนถึงวันเลือกตั้ง การแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุกประเภทและทุกระดับ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นให้พิจารณาเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้ง 4.ให้ข้าราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐ ให้การสนับสนุนสถานที่เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. รวมทั้งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สมัครแบ่งเขตเพิ่ม 883 คน
    5.ให้หน่วยงานทุกฝ่ายตามข้อ 4 สนับสนุนเกี่ยวกับสถานที่ปิดประกาศ และที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เพียงพอและเท่าเทียมกัน 6.ให้มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ พลเรือน และอาสาสมัครด้านความปลอดภัย เพื่อให้การคุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้รับความปลอดภัย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ครม. บรรดารัฐมนตรีได้สอบถามเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ช่วงเลือกตั้ง โดยนายกฯ เน้นย้ำให้ระมัดระวังในการวางตัวและไม่ควรพูดโจมตีนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ  
    ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงภาพรวมการเปิดรับสมัคร ส.ส.ทั่วประเทศวันที่สองว่า ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีการรับสมัครเพิ่มเติมในวันนี้ 883 คน รวมการเปิดรับสมัครสองวันมีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตแล้ว 6,828 คน 
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า อยากเชิญชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ทราบว่าตนเองจะไม่สามารถไปเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ได้ ให้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งสามารถขอใช้สิทธิได้ทั้งในเขตเลือกตั้งและนอกเขตเลือกตั้ง โดยในเขตเลือกตั้ง สามารถไปยื่นแสดงความจำนงด้วยตนเองต่อนายทะเบียนอำเภอ พร้อมนำหลักฐานจากหน่วยงานว่าติดภารกิจต้องปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้ง จึงอาจไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ 
    "ส่วนนอกเขตเลือกตั้ง สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวตได้ โดยในแอปพลิเคชันดังกล่าวจะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครแยกเป็นรายเขต หน่วยเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิจะไปใช้สิทธิ แต่ขณะนี้อาจกรอกข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชนแล้วอาจจะยังไม่ปรากฏข้อมูลหน่วยเลือกตั้งที่ตนเองจะต้องไปใช้สิทธิ เพราะยังอยู่ในระหว่างการสำรวจเพื่อตั้งหน่วยเลือกตั้งอยู่" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว
    ทั้งนี้ สำหรับจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.-วันนี้ ณ เวลา 17.00 น. นอกเขตเลือกตั้งมีผู้ลงทะเบียนจำนวน 303,276 คน นอกราชอาณาจักร 23,844 คน โดย กกต.กำหนดจะปิดการลงทะเบียนในวันที่ 19 ก.พ.
    เลขาฯ กกต.กล่าวว่า ในส่วนการเสนอบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรี 2 วันที่ผ่านมา มีพรรคสังคมประชาธิปไตย เสนอชื่อนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ และพรรคไทยธรรม เสนอชื่อนายอโณทัย ดวงดารา หัวหน้าพรรค นายภูสิติ ภูวภัสสิริ  นพ.กิติกร วิชัยเรืองธรรม เป็นนายกฯ ส่วนพรรคเพื่อนไทยมีปัญหาเรื่องเอกสารไม่เรียบร้อย จึงได้ถอนเรื่องกลับและจะมายื่นในภายหลัง
    "พรรคเพื่อไทยเสนอบัญชีนายกรัฐมนตรี 3 คน คือ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์,  นายชัยเกษม นิติสิริ พรรคพลังธรรมใหม่ ไม่เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ พรรคเสรีรวมไทย ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นหัวหน้าพรรค และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ที่มีนายดำรงค์ พิเดช เป็นหัวหน้าพรรค มีปัญหาเรื่องเอกสารไม่ครบถ้วน จึงได้ขอถอนเรื่องกลับไปแก้ไข และจะนำมายื่นในภายหลัง" เลขาฯกกต.กล่าว
    ขณะที่นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมจะขึ้นรูป พล.อ.ประยุทธ์คู่กับผู้สมัครบนป้ายหาเสียงทันทีที่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับเป็นบัญชีนายกฯ พรรคว่า ตนกังวลว่าระเบียบของ กกต. ว่าด้วยเรื่องของป้ายหาเสียง ซึ่งจะมีรูปบุคคลอื่นนอกจากรูปผู้สมัคร ซึ่งตามปกติแล้วบุคคลที่สามารถนำรูปขึ้นป้ายได้นั้นจะต้องเป็นสมาชิกพรรค หรือเป็นบัญชีนายกฯ ของพรรคที่จะต้องมีการเสนอภายในวันที่ 8 ก.พ.นี้ ซึ่งพรรคการเมืองควรจะเสนอบัญชีนายกฯ ของพรรคก่อนที่จะดำเนินการนำรูปของบุคคลนั้นไปขึ้นป้ายเพื่อหาเสียง
ปัดชี้ชูรูปบิ๊กตู่ผิดหรือไม่
    "การขึ้นรูป พล.อ.ประยุทธ์หาเสียงทั้งที่ยังอยู่ตำแหน่งนายกฯ นั้น ต้องมองว่าเป็นเรื่องของความรู้สึก ต้องแยกแยะระหว่างกฎหมายกับความรู้สึก ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบดู ยังไม่มีอะไรเข้าข่ายผิดกฎหมาย หากในภายหลังมีผู้มาร้องเรียนเข้ามา กกต.ทั้ง 7 จะเป็นผู้พิจารณา ส่วนตัวมองว่าเราวิตกกังวลกันเกินไปหรือไม่ ขณะนี้ประชาชนสนใจการเมืองพอสมควร เพราะทุกอย่างจะไปตัดสินใจกันในวันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. กกต.จะไม่พิจารณาประเด็นที่มาจากสื่อ เพราะข่าวก็คือข่าว ข้อเท็จจริงก็คือข้อเท็จจริง" นายณัฏฐ์กล่าว
    ถามว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับเป็นนายกฯของ พปชร.จะต้องยกเลิกการจัดรายการทุกวันศุกร์ และการลงพื้นที่ ครม.สัญจรด้วยหรือไม่ รองเลขาฯ กกต.กล่าวว่า ในเรื่องจัดรายการไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากตนไม่ได้อยู่ในวิสัยของผู้วินิจฉัย ส่วนการลงพื้นที่ครม.สัญจรได้หรือไม่นั้น ถ้าดูกฎหมายดีๆ จะพบว่าการที่บุคคลใดถูกทาบทาม โดยหลักแล้วการที่บุคคลใดถูกทาบทามให้อยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคใด ไม่บังคับให้เป็นสมาชิกพรรค และต้องไม่กระทบกระเทือนต่อวิชาชีพของเขา เคยประกอบอาชีพใด เคยทำตัวอย่างไรก็ยังสามารถทำได้ ส่วนที่ทำไปแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร ก็เป็นข้อเท็จจริงของผลกระทบ ต้องว่าเป็นกรณีไป 
    ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยหลังการเปิดรับสมัคร ส.ส.ทั่วประเทศว่า ทุกจังหวัดรายงานมาแล้ว เบื้องต้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการไปทุกจังหวัดให้ดูแลความเรียบทุกอย่างเป็นไปด้วยดี 
    โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีศูนย์เลือกตั้งเพื่อดูแลความเรียบร้อย ตั้งอยู่ชั้น 20 โดยมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าศูนย์ ส่วนงานสืบสวนมี พล.ต.อ.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย รอง ผบ.ตร. ดูแล  ส่วนขอบเขตของตำรวจเป็นการดูแลรักษาความเรียบร้อยการเลือกตั้งตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งในทุกกรณี
    ด้าน พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า ทุกจุดเรียบร้อยดี โดยในส่วนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะเรียกมาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องมากำชับอีกครั้งกว่าจะต้องมีการเพิ่มมาตรการอย่างไรบ้าง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้บังคับใช้กฎหมายเสมอภาคเท่าเทียม เช่นเดียวกันกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คำสั่ง ตร.ห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัคร ส.ส.ทั้งในหน้าที่และส่วนตัว
    "การดูแลกลุ่มที่พยายามเคลื่อนไหว ได้สั่งพื้นที่ให้ระดมกวาดล้างเฝ้าระวังทั่วประเทศไปจนสิ้นเดือน มี.ค. หลังเลือกตั้งเสร็จ เบื้องต้นพบมีกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่ไม่ร้ายแรง ความเสียหายยังไม่มี ยังสามารถดูแลได้ 100 เปอร์เซ็นต์" หัวหน้าศูนย์การเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าว. 

ทักษิณล้างบางนปช.ลูกหลานชินฯผงาดบัญชีทษช./แดงส่อเกลี้ยงสภา


2 วัน 5 พรรคการเมืองส่งชิงปาร์ตี้ลิสต์แล้ว 244 คน “พท. 97 ชื่อ-ทษช. 108 ชื่อ-สร. 100 ชื่อ” ชัชชาติรับไม่ชอบงานนิติบัญญัติ ชี้หากพลาดเก้าอี้บริหารก็อาจลงผู้ว่าฯ กทม. เปิดรายชื่อบัญชีพรรคเพื่อแม้ว “ชินดาวงศ์” ผงาดติดอันดับ

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ในช่วงเช้า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.), พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) และพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ได้เดินทางมายื่นรายชื่อผู้ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ต่อมาคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นเอกสารสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 97 รายชื่อ พร้อมรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ โดยภายหลังการยื่น คุณหญิงสุดารัตน์ได้เดินทักทายกับแกนนำพรรค ทษช. 
    ทั้งนี้ พรรค ทษช.ได้ยื่นรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์จำนวน  108 คน และยังไม่เสนอชื่อนายกฯ ส่วนพรรค สร.ยื่นสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และส่งบัญชีผู้เสนอเป็นนายกฯ คนเดียวคือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรค 
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.แถลงถึงการส่งสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อในวันที่สองว่า มี 3 พรรคการเมือง มีผู้สมัคร รวม 229 คน รวม 2 วันของการรับสมัคร มีพรรคการเมืองยื่นสมัครแล้ว 5 พรรคการเมือง ผู้สมัครรวม 244 คน ซึ่งการยื่นสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีนั้น หาก กกต.รับสมัครแล้ว พรรคการเมืองไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้สมัคร หรือเปลี่ยนแปลงลำดับผู้สมัครในบัญชีได้ และไม่สามารถขอเงินค่าสมัครคืนได้ แต่หากขณะยื่นสมัครพบว่ามีผู้สมัครเอกสารไม่ครบถ้วน พรรคสามารถตัดรายชื่อบุคคลนั้นออกได้ หรือถอนเรื่องกลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง แล้วจึงนำกลับมายื่นสมัครใหม่ได้ก่อนปิดรับสมัครในวันที่ 8 ก.พ.
    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า พรรคได้ส่ง ส.ส.แบ่งเขต 250 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ 50 คน, ภาคกลาง 55 คน, ภาคอีสาน 112 คน, ภาคใต้ 10 และ กทม. 23 คน โดยพรรคส่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 97 คน ซึ่งไม่มีชื่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพราะพรรคต้องการให้ทำงานด้านบริหาร และนายชัชชาติก็เป็น 1 ใน 3 ของผู้ที่พรรคเสนอชื่อเป็นนายกฯ รวมถึงคุณหญิงสุดารัตน์และนายชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งการส่งสมัครไม่ครบทุกเขต ไม่ใช่การฮั้วกันระหว่างพรรคการเมือง เนื่องจากมีผู้ลงแข่งขันมากกว่า 5,000 คน ผู้สมัครทุกคนถือเป็นคู่แข่งกัน
พลาดนายกฯ ลงผู้ว่าฯ
     ด้านนายชัชชาติกล่าวถึงกรณีที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่าเป็นมติของพรรค ซึ่งเคยแจ้งไปแล้วว่าไม่ถนัดงานด้านนิติบัญญัติ น่าจะมีคนเก่งๆ ของพรรคที่เชี่ยวชาญมากกว่า พรรคก็เห็นด้วยกับสิ่งที่เราแจ้งไป และการเลือกตั้งครั้งนี้มีกฎระเบียบใหม่ออกมา จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลง และเราน่าจะได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะอยู่ในบัญชีรายชื่อ แต่อยู่ในบัญชีของนายกฯ ก็พอแล้ว ซึ่งเรื่องการช่วยงานพรรคก็อยู่สามารถช่วยด้านบริหาร นโยบายได้ บทบาทของพรรคไม่ใช่เป็นแบบคนใดคนหนึ่ง ทำงานเป็นทีม      
“ผมคิดว่าจะทำให้ดีที่สุด เพราะผมก็เต็มตัว ลาออกจากงานมาเลย คือไม่ใช่มาเล่นๆ ยอมทิ้งงานทุกอย่าง ซึ่งเรารู้ว่าเราเก่งตรงไหน ไม่เก่งตรงไหน ซึ่งเชื่อว่าพรรคเองก็ได้พิจารณาแล้ว ที่ต้องไปมองไกลถึงอนาคต อยู่ตรงนี้ก็สามารถช่วยได้ในทุกบทบาท” นายชัชชาติกล่าว
เมื่อถามว่า ถ้าหลังเลือกตั้งพรรคไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร นายชัชชาติกล่าวว่า อาจสมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีทางเลือกอีกมาก มีหลายบทบาท ยืนยันไม่น้อยใจ และไม่ว่าอย่างไรก็อยู่กับพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะอุดมการณ์ไปด้วยกันได้
    ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค ทษช.กล่าวว่า พรรคส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 108 คน ส่วนบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาจะส่ง เราจะยื่นเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมไม่เกินวันที่ 8 ก.พ. แต่ยืนยันว่ามีแน่นอน ซึ่งเบื้องต้นพูดคุยหารือกันแล้ว ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีชื่อตนเองและนายจาตุรนต์อยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ก็เป็นไปได้หมด เพราะบุคลากรของพรรคมีหลายคนที่มีคุณสมบัติและมีความรู้ความสามารถที่จะอยู่ในบัญชี แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ  
    เมื่อถามว่า จะมีคนนามสกุลชินวัตรร่วมอยู่ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ ร.ท.ปรีชาพล กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ เพราะอย่างนายฤภพ ชินวัตร เป็นรองหัวหน้าพรรค หากสมาชิกพรรคเสนอก็มีสิทธิที่กรรมการบริหารพรรคจะพิจารณา ซึ่งคาดว่าในการเลือกตั้งในครั้งนี้ พรรคจะได้ ส.ส. 2 แบบรวม 50-60 คน
ขณะที่เว็บไซต์พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้ประกาศผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อทั้ง 150 ชื่อ โดยไม่ได้จัดอันดับ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล,นายชัย ชิดชอบ, นายทรงศักดิ์ ทองศรี, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ, นายศุภชัย ใจสมุทร, นางกนกวรรณ  วิลาวัลย์, นางนาที รัชกิจประการ, นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม, พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ, น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี, นายชำนาญ มากผล, นายกุศล จุงตามระ, นายชาติ จินดาพล และ น.ส.ฐิติชญา วีระชาลี เป็นต้น โดยในเวลา 09.30 น. วันที่ 6 ก.พ. นายอนุทินจะนำรายชื่อ 150 คนไปยื่นสมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) แถลงผลประชุมว่า ที่ประชุมมีมติจะเสนอชื่อบัญชีนายกฯ 3 คน คือ 1.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค 2.นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรรค และอดีตหัวหน้าพรรค และ 3.นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรค โดยจะยื่นกับ กกต.ในวันที่ 6 หรือ 7 ก.พ.นี้
“พท.-ทษช.”เขี่ย นปช.
    สำหรับรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของ 97 ของพรรค พท.นั้น ในรายชื่ออันดับแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นแกนนำพรรคและอดีตรัฐมนตรีในยุครัฐบาลพลังประชาชน (พปช.) โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นรายชื่ออันดับแรก ซึ่งเป็นการปลอบใจการกรณีพรรคไม่ส่งอยู่ในบัญชีนายกฯ ส่วนอันดับสองคือคุณหญิงสุดารัตน์, อันดับ 3 นายชัยเกษม, อันดับ 4 นายภูมิธรรม, อันดับ 5 นายเสนาะ เทียนทอง, อันดับ 6 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, อันดับ 7 นายปลอดประสพ สุรัสวดี, อันดับ 8 นายโภคิน พลกุล, อันดับ 9 นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และอันดับ 10 นายเกรียง กัลป์ตินันท์ 
ในขณะบรรดาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นั้น อันดับที่ดีที่สุดคืออันดับ 21 คือ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์, อันดับ 23 นายอดิศร เพียงเกษ, อันดับ 28 พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน, อันดับ 39 นายนิสิต สินธุไพร ในขณะที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี นั้นก็อยู่ถึงอันดับที่ 34 
ส่วนรายชื่อปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ทษช.จำนวน 108 คน ส่วนใหญ่ในรายชื่อในระดับต้นๆ ล้วนเป็นบุคคลที่เคยทำงานใกล้ชิดกับนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเป็นเครือข่ายลูกหลานคนใกล้ชิดตระกูลชินวัตร โดย 10 อันดับแรก คือ 1.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค 2.นายจาตุรนต์ ฉายแสง 3.นายฤภพ ชินวัตร บุตรชายนายพายัพ ชินวัตร น้องชายนายทักษิณ 4.นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้กว้างขวางเมืองเลย 5.นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค 6.น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล คนสนิท น.ส.ยิ่งลักษณ์และที่ปรึกษากฎหมายนายพานทองแท้ ชินวัตร 7.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. 8.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรคและเพื่อนสนิท น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สมัยเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ประเทศอังกฤษ 9.นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ และ 10.นายพงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล อดีตประธาน นปช.ราชบุรี  
    เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรดาแกนนำ นปช.ที่ย้ายมายังพรรค ทษช.ที่ดีที่สุด ก็มีเพียงนายณัฐวุฒิ, นายพงศ์ศักดิ์, นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ ที่อยู่ในลำดับ 17, นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อันดับที่ 25, นายก่อแก้ว พิกุลทอง อันดับที่ 29 และอันดับที่ 40 นางระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ขณะที่คนอื่นๆ นั้นกลับอยู่ในลำดับที่อาจไม่ได้รับเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงคนที่เคยเป็นองครักษ์ทำหน้าที่ตอบโต้ ปกป้อง และเป็นคนสนิททั้งนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาทิ นายพายัพ ปั้นเกตุ อันดับที่ 41, นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อันดับที่ 46, พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ เพื่อนสนิทนักเรียนตำรวจของนายทักษิณ อันดับที่ 47, นายต้น ณ ระนอง บุตรชายนายกิตติรัตน์ อันดับ 48, น.ส.สุทิษา ประทุมกุล คนสนิท น.ส.ยิ่งลักษณ์ อันดับที่ 51, นายเหวง โตจิราการ อันดับที่ 55 และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อันดับที่ 56 เป็นต้น
มีรายงานอีกว่า ผู้ที่คาดว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในนาม ทษช.นั้น จะไม่ใช่ทั้ง ร.ท.ปรีชาพล และนายจาตุรนต์ แต่จะเป็นบุคคลที่คนในตระกูลชินวัตรให้ความไว้วางใจอย่างสูง และจะเสนอรายชื่อเพียงคนเดียว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาพูดคุย ซึ่งพรรคจะไปยื่นบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ในนามพรรคในวันที่ 8ก.พ.
    นายเชิดชัยกล่าวถึงกรณีการจัดอันดับผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แนวร่วมเสื้อแดงบางคนถูกจัดอันดับที่อยู่ในข่ายยากได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่า โอกาสได้เป็น ส.ส.หรือไม่ อยู่ที่ประชาชนว่าจะเลือกเข้ามาหรือเปล่า พรรค ทษช.เป็นพรรคขนาดกลาง เป็นพรรคน้องใหม่ ไม่ใช่พรรคใหญ่เหมือน พท. แต่พร้อมจะสานต่อนโยบาย อุดมการณ์มาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งที่มีการมองว่าพรรคจะเน้น ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ไม่ใช่ เพราะเราก็ส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตหลายเขต หวังในหลายพื้นที่ เช่น จ.แพร่ บุรีรัมย์ และมหาสารคาม
“เหวง”ทำใจ
เมื่อถามว่า หลังจากทราบลำดับบัญชีรายชื่อ นายเหวงที่ถูกจัดไปอยู่บัญชีรายชื่อลำดับ 55 ได้คุยบ้างหรือไม่ นายเชิดชัยกล่าวว่า ได้พูดคุยบ้าง คุณหมอก็บ่นพึมพำนิดหน่อยตามประสาคนสูงอายุ แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร ยังพร้อมจะสู้กับพรรคต่อไป ส่วนที่มองกันว่านายเหวงมีโอกาสที่จะได้เป็น ส.ส.น้อย ยังไม่อยากให้มองอย่างนั้น มองว่ายังมีโอกาส หากประชาชนเลือกพรรค ทษช. 4 ล้านคะแนนเสียง คุณหมอเหวงก็จะได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแน่นอน แต่เวลานี้พวกเราและพรรคคงต้องรณรงค์บอกให้ประชาชนรู้ว่าพรรคจะเข้าไปทำอะไรบ้าง จะไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร
“ลำดับบัญชีรายชื่อของผมที่ได้อันดับ 17 ก็ต้องขอบคุณกรรมการบริหารพรรคที่พิจารณามอบอันดับดังกล่าวให้ คงเป็นผลมาจากการทำงานในอดีต ส่วนตัวไม่อยากให้คนเสื้อแดงมองว่าต่อสู้แล้วจะต้องได้ตำแหน่ง ถ้าได้เป็น ส.ส.ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นอะไร ให้เป็นเหมือนประชาชนเวลาเขาออกมาต่อสู้ ก็ไม่ได้หวังตำแหน่งอะไร สู้กันต่อไป อย่าไปท้อถอย ผมเจอพี่น้องเสื้อแดง เขายังบอกว่ารอวันที่ 24 มี.ค. เพื่อจะไปใช้ปากกาฆ่าเผด็จการ ส่วนเรื่องอันดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อในพรรค เชื่อว่าแกนนำคนเสื้อแดงคงไม่คิดอะไรมาก” นายเชิดชัยกล่าว
    ทั้งนี้ มีรายงานจาก ทษช.แจ้งว่า จะส่ง ส.ส.ระบบเขตประมาณ 150 เขต ซึ่งหากคิดตามตรรกะของนายเชิดชัย ที่นายเหวงจะได้เป็นปาร์ตี้ลิสต์นั้น ต้องได้คะแนนในแต่ละเขตที่ส่งชิงถึงระดับ 27,000 คะแนนเลยทีเดียว 
    ส่วนรายชื่อของพรรค สร.นั้น ใน 10 อันดับแรกเป็นแกนนำและนายทุนพรรคเกือบทั้งหมด ประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 2.นายวัชรา ณ วังขนาย 3.นายวิรัตน์ วรศสิริน 4.นพ.เรวัต วิศรุตเวช 5.นพ.ประสงค์ บูรณพงศ์ 6.น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา 7.นายเพชร เอกกำลังกุล 8.น.ส.ธนพร โสมทองแดง 9.นายอำไพ กองมณี และ 10.พล.ต.ท.วิศณุ ม่วงแพรสี.