PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

อลงกรณ์หลุดเก้าอี้รอง หน.ปชป. วอนปฎิรูปพรรคต่อ-เป็นทางเดียวชนะใจ ปชช.

Wed, 2013-12-18 01:21

ผลประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ประจำปี 56 อภิสิทธิ์ นั่งหัวหน้าพรรคต่อ มติไม่รับข้อเสนอ ‘อลงกรณ์’ และแพ้โหวตรองหัวหน้าพรรค เจ้าตัววอนวอนปฎิรูปพรรคต่อ ชี้เป็นทางเดียวกลับมาชนะใจปชช.
17 ธ.ค.2556  หลังจากการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ประจำปี 2556 ซึ่งที่ประชุมได้หารือและรับรองข้อบังคับพรรคใหม่แล้วได้มีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว แต่ต้องมีการลงคะแนนโดยลับ ซึ่งผลการนับคะแนนปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ได้รับการรับรองด้วยคะแนนร้อยละ 98 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอชื่อรองหัวหน้าพรรคโควตากลาง 5 คน คือ นายเกียรติ สิทธีอมร รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ การต่างประเทศ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  ด้านกิจการสภาและนโยบาย นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ทำงานด้านการเมือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ทำงานด้านท้องถิ่น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ทำงานด้านการสื่อสาร และยุทธศาสตร์ และเสนอนายจุติ ไกรฤกษ์ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งทั้งหมดได้รับเลือก ส่วนรองหัวหน้าพรรคภาคต่าง ๆ ประกอบด้วย ภาคเหนือ นายอัศวิน วิภูศิริ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ภาคกลาง นายสาธิต ปิตุเตชะ ภาคใต้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ กทม.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์
ทั้งนี้ในส่วนของรองหัวหน้าพรรค ภาคกลางนั้น เป็นการแข่งกันระหว่างนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคกับนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง ซึ่งนายสาธิตชนะไป
หลังจากผลการเลือกตั้งออกมา นายอลงกรณ์ ได้ทวีตผ่าน @alongkornpb ว่า “แพ้ครับ” พร้อมทั้งกล่าวยอมรับมติพรรค และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรคต่อไป โดยอลงกรณ์เห็นว่ามีแต่แนวทางนี้เท่านั้นที่จะชนะใจประชาชน พร้อมทวีตด้วยว่า “ชีวิตพลิกผันจริงๆเมื่อสัปดาห์ก่อนเพิ่งไปแลกประสบการณ์การปฏิรูปพรรคกับ 3 พรรคการเมืองที่อังกฤษแถมซื้อพ็อกเก็ตบุ้คมาศึกษา 4 เล่มหวังมาปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์” 
อลงกรณ์ทวีตกล่าวถึงการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปพรรค ที่ผ่านมาด้วยว่า นับแต่เปิดประเด็น "ปฎิรูปพรรคประชาธิปัตย์" เมื่อ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา ก็รู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างแต่ก็พร้อมยอมรับชะตากรรม ถ้าไม่กล้าริเริ่มใครจะเริ่ม ดังนั้นการที่ผมแพ้เลือกตั้งในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคภาคกลางวันนี้ถือเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งผมให้ความเคารพและเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมรัก ก่อน13 เม.ย. ผมคิดว่าประเทศของเราเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น การศึกษาตกต่ำขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงสังคมเสื่อมเศรษฐกิจอ่อนแอแล้วจะแก้อย่างไร ไม่รู้ว่าอนาคตของประเทศจะจบลงที่ตรงไหนโดยเฉพาะประชาชนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายมากขึ้น ผมเห็นว่าการเมืองคือต้นเหตุใหญ่ของปัญหาจึงต้องแก้ที่การเมือง
อลงกรณ์มองว่า “เราแก้ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งผมเป็นรองหัวหน้าโดยต้องปฏิรูปพรรคให้ก้าวหน้าทันสมัยยึดมั่นประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทำเพื่อส่วนรวมแข่งคิดเก่งแข่งบริหารเก่ง 9เดือนเต็มที่พวกเราฝ่าฟันผลักดันจนที่ประชุมใหญ่ในวันนี้เห็นชอบร่างข้อบังคับเปลึ่ยนแปลงโครงสร้างและระบบบริหารจัดการใหม่ตามแนวทางปฏิรูปพรรค”
“ถึงจะไม่มีผมในคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แต่ก็เป็นกำลังใจอย่าทิ้งการปฏิรูปพรรคเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่ดีของประชาชนไม่ใช่ของกลุ่มใดคนใด พรุ่งนี้ผมจะขนของออกจากห้องทำงานเพื่อให้รองหัวหน้าคนใหม่เข้าทำงาน ขอบคุณสมาชิกพรรคทุกคนที่ร่วมงานกันตลอด 22 ปีในพรรคประชาธิปัตย์ที่ผมรักและภักดีตลอดมา” อดีตรองหัวหน้าพรรคฯ ทวีตทิ้งท้าย

ที่ประชุมพรรคชี้ข้อเสนออลงกรณ์สร้างความซ้ำซ้อน
ทั้งนี้มีรายงานว่า ข้อสนอปรับโครงสร้าง "คณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" ที่เสนอโดยอลงกรณ์นั้น เป็นการเสนอให้เพิ่มสัดส่วนของประธานสาขาเพิ่มเติมเข้าไปอีก 5 คน จากเดิมที่มีการกำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการไว้ 5 ข้อ คือ 1. หัวหน้าพรรคเป็นประธาน 2. เลขาธิการเป็นเลขานุการ 3. ตัวแทนคณะกรรมการบริหารพรรคซึ่งเลือกกันเอง 4 คน 4. ตัวแทนจากคณะกรรมการกลางซึ่งเลือกกันเอง 5 คน และ 5. ตัวแทนจากประธานเขตพื้นที่ซึ่งเลือกกันเอง 4 คน แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย โดยระบุว่าหากเพิ่มข้อ 6 ที่นายอลงกรณ์เสนอจะทำให้เกิดความซับซ้อน เพราะมีสัดส่วนจากสาขาพรรคอยู่แล้ว
โดยผู้สื่อข่าว คม ชัด ลึก รายงานด้วยว่า ในการประชุมได้มีส.ส.หลายคนโต้แย้งนายอลงกรณ์ อาทิ นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ท้วงขึ้นว่าหากดำเนินการตามข้อเสนอก็จะทำให้มีการเสนอตัวแทนจากสัดส่วนอื่นไม่รู้จบ จนเกิดความซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ซึ่งแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ควรจะมีการลงมติได้แล้ว เนื่องจากเสียเวลาและพรรคได้ผ่านการพิจารณามาแล้วหลายขั้นตอน จึงควรดำเนินการตามโครงสร้างที่มีการเสนอมา
ทั้งนี้นายอลงกรณ์ยังคงยืนยันที่จะเสนอโครงสร้าง ตามแนวทางใหม่ของตัวเอง ในขณะที่ประธานสาขาพรรค ได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุนแนวคิดของนายอลงกรณ์ เพื่อให้ประธานสาขาพรรคได้มีที่นั่งในการเป็นกรรมการสรรหา ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย นายอภิสิทธิ์ จึงชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เคยผ่านการพิจารณาของกรรมการบริหารพรรคมาก่อน หากจะให้มีการพิจารณาก็ต้องรื้อโครงสร้างใหม่ ไม่เช่นนั้นจะมีการเสนอขอให้มีตัวแทนจากส.ส. จากพื้นที่มาเพิ่มอีก ทั้งๆ ที่องค์ประกอบเดิมก็จะมีตัวแทนจากสาขาเข้ามาอยู่แล้ว แต่ถ้านายอลงกรณ์ยังยืนยันที่จะให้พิจารณา ก็ต้องพักการประชุมเพื่อให้กรรมการบริหารพรรคได้พิจารณาเรื่องนี้
นางอวยพร พลบุตร ประธานสาขาพรรคเพชรบุรี เสนอให้ที่ประชุมใหญ่เป็นผู้ลงมติตามแนวทางที่นายอลงกรณ์เสนอ แทนที่จะให้เป็นอำนาจของกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้พิจารณา จนนายอภิสิทธิ์ เสนอแนวทางประนีประนอมว่า ให้มีการรับเป็นข้อสังเกตไว้แล้วไปพิจารณาเพิ่มเติมในครั้งหน้า แต่นายอลงกรณ์ ก็ยังไม่ยอมจะขอให้มีการลงมติในที่ประชุมใหญ่ตามที่นางอวยพรเสนอ โดยในระหว่างนั้นได้มีการโต้เถียงในหลักคิดเป็นระยะระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนายอลงกรณ์
จากนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า ไม่อยากให้การแก้ไขข้อบังคับเลอะเทอะ จนทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยน เพราะองค์ประกอบในการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีตัวแทนของสาขาพรรคอยู่แล้ว หากจะมีเพิ่มเป็นตัวแทนจากสาขาพรรคเข้ามา ก็จะมีคำถามว่าไม่มีตัวแทนจากส.ส. ถ้าส.ส.เสนอก็จะมีตัวแทนจากอดีตรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าพรรค อดีตสาขาพรรค
นายชวน กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าพรรคให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจอยู่แล้ว จึงอยากให้สาขาพรรคเข้าใจด้วยว่าในปัจจุบันสาขาพรรค ได้เข้ามามีบทบาทในการบริหารพรรคอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้ข้อบังคับสำเร็จได้ด้วยดีอย่าทำให้เลอะ เพิ่มเติมอะไรมาก เพราะยืนยันว่าองค์ประกอบที่มีอยู่มีสาขาพรรคเป็นตัวแทนอยู่แล้ว แม้นายอลงกรณ์จะมีความหวังดี แต่ตนคิดว่าจะทำให้ปัญหาไม่จบ จะมีคนเสนอตัวแทนเพิ่มเข้ามาใหม่จนข้อบังคับไปไม่ได้ จึงอยากให้รับข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ที่จะรับเป็นข้อสังเกตนำไปพิจารณาอย่าลงมติเพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็น
ในรายงานของ คม ชัด ลึก ระบุว่า การอภิปรายของนายชวน ทำให้บรรยากาศคลี่คลายลง จากนั้นนายอภิสิทธิ์ จึงได้ขอมติจากที่ประชุมเพื่อให้รับรองข้อบังคับพรรค ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยไม่มีการโต้แย้งให้ใช้ข้อบังคับพรรคตามที่กรรมการบริหารพรรคเสนอมา โดยไม่มีการเพิ่มสัดส่วนสาขาพรรคในคณะกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่นายอลงกรณ์พยายามผลักดัน

นิธิ เอียวศรีวงศ์: มวลมหาประชาชน

Tue, 2013-12-17 13:58


(แฟ้มภาพ: ประชาไท 9 ธ.ค.2557)

ผมได้เตือนทั้งในข้อเขียนและรายการทีวีว่า เมืองไทยปัจจุบันได้เกิดมวล (มหาประชา) ชนขึ้นแล้ว และการเมืองของมวลชนนั้นเป็นได้ทั้งสองทาง คือ ขยายกลไกและการมีส่วนร่วมเชิงประชาธิปไตยไปกว้างขวางขึ้น หากกลไกและสถาบันอื่นๆ ที่มีอยู่พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปทางนั้น หรือทางที่สองคือ เกิดการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จขึ้น เพราะเผด็จการเบ็ดเสร็จเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีมวล (มหาประชา) ชน
ที่พูดนี้ไม่ต้องการจะบอกว่า ผมปราดเปรื่องล้ำลึกกว่าคนอื่น เพราะผมก็คาดไม่ถึงเหมือนกันว่า การเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะมาเร็วอย่างนี้
บทความเกี่ยวกับเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เขียนครั้งแรก ได้ความคิดจาก Hannah Arendt ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผมต้องกลับไปอ่านงานของเธออีกครั้งหนึ่ง ความงุนงงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพจึงคลี่คลายลง ปัญหาที่ผมสนใจไม่ได้อยู่ที่ว่า คุณสุเทพมีใครหนุนหลังอยู่บ้าง แต่อยู่ที่ว่า เหตุใดคนจำนวนมาก (แม้ตัดพวกที่ขนมาจากภาคใต้ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่ามากอยู่ดี) จึงเข้าร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล
เผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นอาจเกิดกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ได้ หรือเกิดกับรัฐคือ กลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จก็ได้ แต่รัฐขนาดเล็กและมีประชากรน้อยอย่างไทยนั้น ในทรรศนะของ Arendt ไม่มีทางเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จได้ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จจะเกิดในรัฐเล็กๆ แบบไทยไม่ได้
และดังที่กล่าวแล้วว่า ฐานพลังของเผด็จการเบ็ดเสร็จคือ มวลชน คำนี้ไม่ได้หมายถึงประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนทั่วไปที่หลุดพ้นไปจากพันธะทั้งหลายที่เคยมีมา เช่น เครือญาติ, ชุมชน, ท้องถิ่น, ศาสนา, พรรคการเมือง, และแม้แต่ชนชั้น (ก็แม้แต่ชาวสลัมยังชื่นชมคุณชายและท่านชายราชตระกูลจุฑาเทพได้) กลายเป็นปัจเจกโดดๆ อาจารย์เกษียร เตชะพีระ เคยท้วงผมว่า ปัจเจกบุคคลยังคิดเองได้ ที่ถูกควรพูดว่าถูกแยกออกเป็นอณูต่างหาก ครับใช่เลย เป็นอณูที่ไม่ได้คิดอะไรนอกจากแข่งขันกันในตลาด เพื่อเอาชีวิตรอด มีตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และด้วยเหตุดังนั้นจึงเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวในส่วนลึกของจิตใจ เพราะหาความหมายของชีวิตไม่เจอ
สังคมไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมอณู และด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงคิดว่าพันธะเดียวที่ยังเหลืออยู่ในชีวิตของอณูเหล่านี้ในสังคมไทยคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ความจงรักภักดีที่เรียกกันว่า "ล้นเกิน" ต่อสถาบันนี้ โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลาง ซึ่งกลายเป็นอณูมากกว่าใคร จึงเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้อยู่เสมอ
ทั้งยังทำให้คาดได้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จของคุณสุเทพมีศูนย์กลางอยู่ในกรุงเทพฯ
"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ ประกอบด้วยอณู เพราะหากไม่เป็นอณูคนจะกลายเป็น "มนุษย์มวลชน" (ตามคำของ Arendt) ไม่ได้ และเพราะเป็นอณูจึงหลอมรวมเป็น "มวลมหาประชาชน" ได้ ไม่ใช่ถูกคุณสุเทพหลอมรวมนะครับ แต่เขาหลอมรวมกันเอง และหลอมรวมคุณสุเทพเข้าไปด้วย ทั้งหมดได้ค้นพบเป้าหมายแห่งชีวิตที่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวคือ การเป็นส่วนหนึ่งของ "มวลมหาประชาชน" ซึ่งมีชีวิตจิตใจของมันเอง คุณสุเทพคือตัวเขาเองที่พูดออกมา และ "มวลมหาประชาชน" ก็พูดแทนประชาชนทั้งหมด
จึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวที่ไปถามว่า "มวลมหาประชาชน" ของคุณมีจำนวนเท่าไร ห่างไกลจากตัวเลข 65 ล้านคน อันเป็นประชากรไทย การเมืองของเผด็จการเบ็ดเสร็จไม่ได้อยู่ที่จำนวน แต่อยู่ที่คุณเป็นเสียงของใคร มีระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหน เริ่มต้นจากเสียงข้างมาก แม้แต่นาซีซึ่งได้เสียงข้างมากในสภา ก็เริ่มจากแก๊งอันธพาลข้างถนน รวบรวมกลุ่มคนที่ล้มเหลวในชีวิตทุกด้านไว้ด้วยกัน มุสโสลินียึดรัฐได้ด้วยเสียงข้างน้อยในสภา บอลเชวิคก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่เป็นตัวแทนของ "มวลมหาประชาชน" การกล่าวว่าม็อบคุณสุเทพคือ เผด็จการของเสียงข้างน้อย ถูกเป๊ะตรงเป้าเลย และน่าจะถูกใจม็อบด้วย ก็เคลื่อนไหวทั้งหมดมาก็เพราะต้องการเป็นเผด็จการของเสียงข้างน้อย เหมือนเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ เผด็จการของอารยันบริสุทธิ์ เผด็จการของคนดี
เผด็จการเบ็ดเสร็จที่ไหนๆ ก็ทำลายหลักการเสียงข้างมากของประชาธิปไตยทั้งนั้น เสียงข้างมากที่ถือว่าทุกคนเท่าเทียมกันทางการเมืองนั่นแหละคือ ตัวปัญหา เพราะทุกคนไม่ควรเท่าเทียมกันทางการเมือง ในเมื่อมีการศึกษาต่างกัน ถือหุ้นในประเทศไม่เท่ากัน และเห็นแก่ส่วนรวมไม่เท่ากัน คนที่ยอมกลืนตัวให้หายไปใน "มวลมหาประชาชน" จะเท่าเทียมกับคนอื่นซึ่งมัวแต่ห่วงใยกับประโยชน์ของตนเองและลูกเมียได้อย่างไร
ด้วยเหตุดังนั้น อย่าถามถึงจำนวนเลย "มวลมหาประชาชน" ฟังไม่รู้เรื่อง
เมื่อทำลายหลักการของเสียงข้างมาก ก็ทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดของสถาบันที่อยู่กับเสียงข้างมากสูญสลายไปด้วย รัฐบาลที่มาจากการรับรองของเสียงข้างมากในสภาจึงเป็นโมฆะ แม้แต่สภาหรือรัฐสภาที่ให้การรับรองก็เป็นโมฆะ หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคนโมฆะ ก็ย่อมโมฆะ
ทุกอย่างโมฆะหมด หรือทุกอย่างถูกแผ้วถางออกไปหมด เพื่อทำให้ "มวลมหาประชาชน" สร้างสิ่งใหม่ขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นสภาประชาชน หรือนายกรัฐมนตรีคนดีที่มาจากการเลือกสรรของคนดี ทูลเกล้าฯ ให้ได้รับการแต่งตั้ง
การคัดค้านว่าทั้งหมดนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นการค้านที่ผิดฝาผิดตัว เพราะ "มวลมหาประชาชน" อันอ้างเป็นเสียงของประชาชนทั้งมวลนั้น ไม่ได้ตั้งใจให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนชั่วมีอำนาจอยู่แล้ว ที่ยังไม่ประกาศให้รู้ชัดๆ ไปเลยก็เพราะยังไม่ถึงเวลา
ทำไมจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนว่า แผนการทางการเมืองของ "มวลมหาประชาชน" คืออะไร คำอธิบายของ Arendt นั้นลึกซึ้งมาก โครงการหรือแผนการใดๆ ทำให้อณูกลายเป็นปัจเจก เพราะต้องมีหลักที่แน่นอนอย่างใดอย่างหนึ่งให้ยึดถือ ถ้าอณูเริ่มยึดถือหลัก เขาก็หมดความเป็นอณู เพราะต้องคิดสนับสนุนหรือต่อสู้กับการคัดค้าน เมื่อนั้นมวล (มหาประชา) ชนก็สลายตัว กลายเป็นแค่ม็อบ ที่ทุกคนต่างมีความประสงค์ที่แตกต่างกัน การหลวมรวมตัวเข้าไปใน "มวลมหาประชาชน" จึงเกิดขึ้นไม่ได้
นี่คือเหตุผลที่ความเคลื่อนไหวของ "มวลมหาประชาชน" มีแผนได้แทบจะเฉพาะชั่วโมงต่อชั่วโมง และต้องคอยยกระดับกันทุกวัน เพราะเป้าหมายหรือแผนคือ การทำลายตนเองของ "มวลมหาประชาชน" อย่าลืมว่า เมื่อไรที่มีแผน เมื่อนั้นก็จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวได้ แล้วหลังจากนั้นล่ะ? นโยบายพรรคภายใต้สตาลินและเหมาเปลี่ยนได้ทุกปี เพื่อให้ "มวลมหาประชาชน" ต้องเข้มแข็ง เตรียมพร้อม และสู้รบตลอดไป
ต้องหาอะไรให้ม็อบทำ อย่าชุมนุมเฉยๆ เป็นคำอธิบายเชิงยุทธวิธี แต่ในเชิงยุทธศาสตร์ มีอะไรที่ลึกกว่านั้นไปอีก
"มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพถูกโจมตีว่าทำผิดกฎหมายถึงขั้นกบฏ และบางครั้งก็อาจถูกโจมตีว่าทำผิดศีลธรรมด้วย ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง บางคนขุดคุ้ยประวัติของคุณสุเทพขึ้นมา "แฉ" ทั้งหมดนี้เพื่อลดความชอบธรรมของ "มวลมหาประชาชน"
น่าประหลาดมากที่ Arendt ชี้ให้เห็นว่า การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมนั้นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ที่ทำให้มวล (มหาประชา) ชนเข้ามาหลอมรวมตัวกับผู้นำ ผู้นำของการเคลื่อนไหวเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จหลายคนจะเล่าถึงประวัติอาชญากรรมของตนอย่างภาคภูมิใจ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล รับบนเวทีว่า ตนเคย "เหี้ย" (คำของเขา) มาอย่างไร และบัดนี้หันมาปฏิบัติธรรมจนห่างพระองคุลิมาลไม่ถึงคืบหนึ่งดี คำอธิบายง่ายๆ ของผมต่อปรากฏการณ์นี้ก็คือ มวล (มหาประชา) ชนเกลียดสังคมที่ทำให้ตนไม่รู้สึกสุขสงบ สังคมเช่นนั้นดำรงอยู่บนระบบกฎหมายและศีลธรรมชนิดที่ควรละเมิดนั่นแหละ จึงทำให้เขาลุกขึ้นมาร่วมเป็นมวล (มหาประชา) ชน การละเมิดกฎหมายและศีลธรรมยิ่งทำให้น่าวางใจว่า ขบวนการจะเดินไปสู่อะไรที่ใหม่และดีกว่าเก่า
จำนวนมากของผู้ที่ร่วมใน "มวลมหาประชาชน" ของคุณสุเทพ (ตัดม็อบว่าจ้างและคนที่ถูกขนมาจากเขตเลือกตั้งของตนแล้ว) ไม่ได้เข้าร่วมเพราะวาทศิลป์ของคุณสุเทพ ไม่ได้เข้าร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนตน แต่จะพูดว่ามีอุดมการณ์เดียวกับคุณสุเทพไม่ได้ เพราะอุดมการณ์เกิดขึ้นจากการคิดไตร่ตรอง ผ่านการถูกโต้แย้งและการตอบโต้มามาก หากร่วมเพราะเป็นความเชื่อมั่น (conviction) ทางอารมณ์และความรู้สึก นั่นคือเป็นการตอบสนองต่อสภาวะอันไม่น่าพอใจที่ตนได้ประสบมาในชีวิตของสังคมอณูที่ไร้ความผูกพันใดๆ ซ้ำเป็นสภาวะที่ตนมองไม่เห็นทางออกอีกด้วย คุณยิ่งลักษณ์, พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ เป็นเหยื่อรูปธรรมของความเชื่อมั่นทางอารมณ์และความรู้สึกนั้น สักวันหนึ่งข้างหน้า เหยื่อรูปธรรมจะเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่าเปลี่ยนได้ อาจเป็นกองทัพ, สถาบันต่างๆ เช่น ตุลาการ, หรือศาสนา หรืออะไรอื่นได้อีกหลายอย่าง
เพราะการเมืองมวลชนเชิงเผด็จการเบ็ดเสร็จย่อมต้องสร้างศัตรูขึ้นเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังเสมอ
ผมคงสามารถยกคำอธิบายของ Arendt มาทำความเข้าใจกับมวล (มหาประชา) ชนของคุณสุเทพได้อีกมากมาย แต่ขอยุติเพียงเท่านี้ เพื่อจะบอกด้วยความแน่ใจว่า คุณสุเทพกำลังนำ "มวลมหาประชาชน" ไปในทิศทางของเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างชัดเจน คุณสุเทพไม่ใช่คนแรกที่ทำอย่างนี้ แต่มีคนอื่นทำมาแล้ว แต่ไม่ชัดเจนเท่าครั้งนี้
เราจะออกจากการเมืองมวลชนแบบที่นำไปสู่เผด็จการเช่นนี้ได้อย่างไร ผมคิดว่าการชี้ให้เห็นความไม่ชอบธรรมของขบวนการเช่นนี้ในทางกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นและต้องเร่งทำ แต่ไม่ใช่เพื่อบอกกล่าวแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุม เพราะมวล (มหาประชา) ชน ไม่มีหูจะรับฟัง แต่เราต้องทำความเข้าใจกับคนนอกอีกมาก ทำให้คนนอกเหล่านั้น ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็มีชีวิตในสังคมอณูเช่นกันเชื่อว่า ทางเลือกในระบอบประชาธิปไตยยังมีอยู่ หากเราให้โอกาส
ม็อบแบบ "มวลมหาประชาชน" นั้นมีในทุกสังคมอณู แต่ไม่จำเป็นต้องมีพลังครอบงำทางเลือกของสังคมอย่างม็อบของฮิตเลอร์, มุสโสลินี, สตาลิน, หรือเหมา เสมอไป ขึ้นอยู่กับว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น มีสติ ความอดกลั้น และความเข้าใจเพียงพอ ที่จะไม่ปล่อยให้มวล (มหาประชา) ชนชักนำไปอย่างมืดบอดหรือไม่
เราทุกคน รวมทั้งคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังอยู่ในวิกฤตทางเลือกที่สำคัญขนาดคอขาดบาดตายสำหรับสังคมไทย หากคุณยิ่งลักษณ์และเราทุกคนช่วยกันประคองให้สังคมไทยหลุดรอดจากทางเลือกของการเมืองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จไปได้ในครั้งนี้ หลานของผมและลูกคุณยิ่งลักษณ์จะมีชีวิตที่พูดอะไรก็ได้ตามความคิดของตน สามารถตอบโต้คัดค้านความคิดของคนอื่นได้ โดยไม่ต้องหวาดกลัวว่า จะถูกมวล (มหาประชา) ชนลงโทษ ด้วยการเป่านกหวีดใส่ ไปจนถึงจำขัง, เนรเทศ หรือประหารชีวิต

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์:ข้อเสนอว่าด้วยการ ‘เปิดทาง’ ปฏิรูปประเทศ

Mon, 2013-12-16 19:33

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

การปฏิรูปประเทศที่แท้จริงไม่อาจทำสำเร็จใน 1-2 ปี แต่ต้องดำเนินการต่อเนื่องจริงจังเป็นเวลายาวนาน และไม่อาจปฏิรูปเฉพาะด้านกฎหมายหรือโครงสร้างสถาบันอำนาจ แต่ต้องปฏิรูปกระบวนการความคิด ทัศนคติ และวัฒนธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมด้วย การเริ่มต้นการปฏิรูปที่แท้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่ความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้ไม่มีฝ่ายใดถูกบีบบังคับให้ต้องดำเนินการตามความประสงค์ของอีกฝ่าย ซึ่งวิธีการหลีกเลี่ยงการถูกบีบบังคับในเบื้องต้น ก็คือการอาศัยกติกาสูงสุดของประเทศ อันได้แก่รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นเครื่องมือในการ “เปิดทาง” ปฏิรูปประเทศ ซึ่งเริ่มต้นได้ทันทีก่อน ระหว่าง และ หลัง การเลือกตั้ง โดยแบ่งได้เป็นสามระยะ

1. การเปิดทางปฏิรูประยะเฉพาะหน้า (ภายใน 2 เดือนก่อนการเลือกตั้ง)

- ให้ทุกพรรคการเมืองให้สัตยาบันลงแข่งขันเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2556  โดยงดเว้นการนำเสนอนโยบายเลือกตั้งแบบทั่วไปเชิงประชานิยม แต่จะเน้นนำเสนอเฉพาะนโยบายการเริ่มต้นกลไก
กระบวนการปฏิรูปประเทศที่ไม่ยึดติดกับอายุของรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร เช่นรูปแบบ สภาประชาชน สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือกลไกเพื่อการปฏิรูปอื่นเพื่อเป็นตัวเลือกให้ประชาชนและนำไปสู่

“รัฐบาลปฏิรูป” ซึ่งเป็นรัฐบาลกึ่งเฉพาะกิจที่จะยุบสภาภายใน 2 ปี หลังได้ดำเนินการขับเคลื่อนและเริ่มต้นกลไกการปฏิรูปประเทศตามที่หาเสียงไว้ โดยมีกลไกปฏิรูปทำหน้าที่ต่อไป

- ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเริ่มปฏิรูปการเลือกตั้ง โดยอาศัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและประกาศให้การจัดการดูแลเลือกตั้งเข้มงวดและอุดช่องการทุจริตทุกรูปแบบ ทั้งนี้ การละเมิดกฎระเบียบเหล่านี้มีบทลงโทษถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้

- ให้ กปปส. นปช. สปป. สถาบันการศึกษา และประชาชนทุกภาคส่วน (โดยความช่วยเหลือของกองทัพ) ร่วมกันเป็นอาสาสมัครดูแลตรวจสอบการเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยให้คณะกรรมการการ
เลือกตั้งใช้อำนาจรับรองสถานะอาสาสมัครดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมทั้งเปิดให้องค์กรระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือเข้ามาร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง

2. การเปิดทางปฏิรูประยะกลาง (ภายใน 1-2 ปี ช่วงรัฐบาลเปลี่ยนผ่าน)

- ให้พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งจัดตั้ง “รัฐบาลปฏิรูป” โดยเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนพรรคฝ่ายค้าน และภาคประชาชนเข้ามาร่วมดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร เช่น
ตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย หรือ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การเริ่มต้นการปฏิรูปโปร่งใสและมีส่วนร่วม และยุบสภาภายในไม่เกิน 2 ปี

- ให้รัฐบาลปฏิรูปชะลอหรือทบทวนโครงการที่ขาดความไว้วางใจจากประชาชนเป็นการชั่วคราว อาทิ โครงการกู้เงินพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน  โครงการบริหารจัดการน้ำ หรือ โครงการรับจำนำข้าว โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกโครงการ แต่อาจทบทวนและรับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขความผิดพลาด พร้อมทั้ง เปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้และร่วมตรวจสอบมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกนโยบายเหล่านี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

3. การเปิดทางปฏิรูประยะยาว (ภายใน 2 ปี หลังจาก “รัฐบาลปฏิรูป” ได้ทำการยุบสภา)

- มีการยุบสภาก่อนปี 2560 และเลือกตั้งใหม่ เพื่อเข้าสู่เดินกลไกปฏิรูประยะยาวที่ต่อเนื่องและผูกมัดทุกรัฐบาล

พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอ กม.บังคับใช้แล้ว

พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอ กม.บังคับใช้แล้วหลังประกาศลงราชกิจจาฯ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1 หมื่นชื่อเสนอกม.ปกติ ถ้า 5 หมื่นชื่อเสนอแก้ รธน.ได้ กำหนดโทษกรณีปลอมลายเซ็นคุก 10 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 มีผลบังคับใช้แล้ว ภายหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.นี้ คือ

กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชน ซึ่งหากเป็นกรณีกฎหมายปกติต้องมีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ กรณีขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมี

รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกเรื่องการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอกฎหมาย จากเดิมที่ให้หน่วยงาของรัฐเป็นผู้ตรวจสอบ แต่

พ.ร.บ.นี้ ให้ประกาศรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อตรวจสอบผ่านทางเว็บไซต์ของสภาเพิ่มเติมอีกช่องทางหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดโทษว่าผู้ใดหลอกลวงหรือบังคับขู่เข็ญทั้งให้ลงชื่อหรือไม่ให้ลงชื่อเสนอกฎหมาย มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท และกำหนดโทษว่าผู้ใดปลอม

แปลงลายเซ็นในการลงชื่อเสนอกฎหมาย มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขอขอบคุณข้อมูล สำนักข่าวอิศรา

สุรินทร์ พิศสุวรรณ:โอกาสในการปฏิรูปการเมืองมันอยู่แค่เอื้อม

"ในชั่วชีวิตของผม ผมนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าโอกาสแบบนี้จะผ่านมาอีกทีเมื่อไหร่ โอกาสในการปฏิรูปการเมืองมันอยู่แค่เอื้อมตรงหน้านี้แล้ว สุเทพ เทือกสุบรรณ ก้าวไปไกลกว่าม๊อบไหน ๆ ที่เคยมีมาทั้งหมด โอกาสแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว It's now or never. ถ้าไม่รวมพลังกันตอนนี้ วันพรุ่งนี้ก็จะไม่มีการเมืองไทย ไม่มีอนาคต ไม่มีแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ให้คนเกลียดได้อีกต่อไป"

credit : ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ/ Watch Red Shirt
ภาพ Tnews


ดักคอตรวจสอบ..รัฐจ่ายโบนัสข้าราชการ เข้าข่ายซื้อเสียงล่วงหน้า

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมภาคีเครือข่ายประชาชนคนปทุมธานี สมาคมผู้บริโภค และเครือข่ายพิทักษ์สิทธิพลเมือง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. ขอให้ตรวจสอบนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฐ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และกรุงเทพมหานคร กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติจัดสรรเงินงบกลาง ของเงินประมาณรายจ่ายประจำปี 56 เป็นโบนัสให้กับบุคลากรภาครัฐ จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษาตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง วงเงิน 3,745 ล้านบาท นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง เช่นกรุงเทพมหานคร ยังได้มีการเตรียมพิจารณาแจกเงินโบนัสปีใหม่ ให้ แก่ข้าราชการบุคลากรของกรุงเทพมหานครอีก โดยใช้งบประมาณ 2,030 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้งส.ส.วันที่2ก.พ.2557การนำเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาจ่ายเป็นเงินรางวัลหรือโบนัส จึงเป็นเพียงกุศโลบายทางการเมือง ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (2) และ(4) หรือเป็นการจงใจกระทำผิดพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว.ด้วย

"การกระทำดังกล่าวน่าจะมีผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรม และยังเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 103 หรือมาตรา 106 แห่งพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง กกต.ในฐานะที่ต้องจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม จึงต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวน และกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดในการระงับมิให้มีการดำเนินการจ่ายโบนัสดังกล่าวภายใน7วัน และหากพบการกระทำเข้าข่ายเจตนา หรือพรรคการเมืองมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นด้วยให้พิจาณามีความเห็นยุบพรรคและเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองที่บุคคลดังกล่าวทั้งหมดสังกัดด้วย"นายศรีสุวรรณ กล่าว


สารจาก กปปส.ถึงประชาชน

เมื่อวานนี้ 

สารจาก"กปปส."ร่างแรกน้องๆส่งให้ถึงมือแล้วครับ สวยงามดุเดือดเข้มข้นทีเดียว กปปส.ตั้งใจพิมพ์แจกประมาณว่ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ครับ ล็อตแรกอาจจะทยอยทีละห้าแสนฉบับถึงห้าล้านฉบับ
 


เสื้อแดงสารภาพ ถูกจ้าง 1.5 ล้านบาท เผาศาลากลาง ปี 2553


วันที่ 17 พ.ย. 56 ปาริชาติ ภูนกยูง ขึ้นเวทีราชดำเนิน บอกหลงผิด เผาศาลากลางขอนแก่น โดยจตุพรบอกให้เอาน้ำมันไปเผา แล้วจะได้เงิน 1.5 ล้านบาท ตนยอมให้ถูกตำรวจจับ ขึ้นศาลถูกตั้ง 6 ข้อหา แต่โดนฟ้อง 3 ข้อหา ติดคุก 3 ปี สารภาพลดเหลือ 1 ปี ติดคุก 3 เดือน ประกันตัวออกมา แต่ไม่ได้เงิน 1.5 ล้าน ตัวเองดีใจที่ตาสว่างแล้ว ตอนติดคุกแกนนำไม่เคยมาเยี่ยม มีแต่พี่สาว ตนต้องเอาที่นาไปจำนำ เอาเงินมาสู้คดี หมดตัวแล้ว อยากจะเข้าร่วมกับม๊อบนกหวีด นอกจากนี้ ตอนติดคุกพ่อแม่ถูกรถชนตาย ไม่ได้ไปงานศพ


Red-shirt supporter confesses "was hired 1.5 million THB to burn "Town Hall" in 2553

On Nov 17th, 2013, Parichat Phunokyoong confessed at Rajadamnern protests she was misled. She burned the Khon Kaen Town Hall in 2010 because Jatuporn (Prompan), Red-shirt group leader, said she would get paid of 1.5 million baht. She had been arrested with 3 charges and sentenced to 1 year in jail. She got bailed out after 3 months in prison.

Not only she hasn't received 1.5 million baht, but she also mortgage her farmland to pay for the court and lawyer fees. Now she is insolvent. In addition, while in jail, both her parents were dead in a road accident and she was unable to attend the funeral.


นักกฎหมายกปปส.แนะผู้ที่ถูกหมายจับจากDSIอ้างคำวินิจฉัยศาลรธน.การชุมนุมไม่ผิด


วันนี้ที่ 17 ธันวาคม 2556 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา เรื่องพิจารณาที่ 73/2556 ที่นายกิตติ อธินันท์ ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส ผู้ถูกร้อง ที่ 1 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 2 และพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 3 ร่วมกันกระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

.....กรณีที่ผู้ถูกร้องทั้งสาม ได้กระทำการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน โดยมีการปิดเส้นทางการจราจร และได้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อม และบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ จนทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ รวมทั้งการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศจะจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎเกณฑ์และกติกาในการปกครองประเทศใหม่
.....ผู้ร้องเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ได้รับการสนับสนุนจากนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

.....ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงด้วยข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจใน การปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ 

.....ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

.....นี่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่่ผู้ถูกกรมสอบสวนพิเศษหรือดีเอสไอออกหมายเรียกให้ไปทราบข้อกล่าวหาจำนวน 17 คน นำไปอ้างต่อพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ ได้ ครับ

ข่าวสูญเสียแห่งปี 2556

ข่าวสูญเสียแห่งปี 2556
ในปีนี้มีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายท่านหลากหลายอาชีพหลายวงการที่ต้องจากไปแบบไม่มีวันกลับ สร้างความสูญเสียและเศร้าโศกเป็นอย่างมาก เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีคุณประโยชน์และมีชื่อเสียงในบ้านเมือง ซึ่งจะมีใครวงการไหนบ้างตามไปดูกันกับ 5 วงการที่สูญเสียแห่งปี 2556

วงการศาสนา
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ)
เป็นพระสงฆ์มหานิกาย และอดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เคยเป็นผู้รักษาการแทนสมเด็จพระสังฆราช อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคม มรณภาพด้วยภาวะไตวายเรื้อรังและติดเชื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาลสมิติเวช เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 นับว่าเป็นการสูญเสียพระผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนคนไทย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตและเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่มีพระชันษา 100 ปี สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสพระโลหิต สร้างความเศร้าโศกเป็นอย่างมาก เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชถือเป็นประมุขแห่งคณะสงฆ์ในศาสนาพุทธและเป็นที่เลื่อมใสอย่างมากของประชาชนคนไทย

วงการการเมือง
ชุมพล ศิลปอาชา
น้องชายหลงจู๊ หรือ บรรหาร ศิลปอาชา นักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่แห่งภาคกลาง ชุมพลถือว่าเดินตามรอยทางพี่ชายอย่างภาคภูมิ เนื่องจากได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายสมัย ตลอดจนตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ถึงแก่อสัญกรรมเพราะหัวใจล้มเหลว วันที่ 21 มกราคม 2556 ในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์
หรือ"เสธ.หนั่น"ผู้ที่ชื่นชอบในการดื่มไวน์เป็นที่สุด อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ก่อตั้ง และเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมหาชน เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในอดีตเคยถูกให้ออกจากราชการและติดคุกเนื่องจากร่วมกันก่อการกบฏ หลังพ้นโทษก็ได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานยศเป็น "พลตรี" เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรุนแรง เมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ปิดตำนานพญาชาละวัน
พลตำรวจเอก เภา สารสิน
อดีตรองนายกรัฐมนตรี, อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตอธิบดีกรมตำรวจคนที่ 25 ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม 2556
พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์
หนึ่งในแกนนำ ส.ส. "กลุ่มงูเห่า" อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคประชากรไทย และยังเป็นที่น่าจดจำอีกหนึ่งเหตุกาณ์คือพล.อ.อ.สมบุญ สวมชุดขาว รอรับพระบรมราชโองการ เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการคาดการณ์ที่จะได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี แต่กลับเป็นนายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับตำแหน่งไป ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นผู้สื่อข่าวได้เก็บภาพไว้ได้จึงได้รับฉายาว่า พล.อ.อ.สมบุญ "แต่งชุดขาวรอเก้อ" โดยถึงแก่อนิจกรรมจากอาการหัวใจล้มเหลวและติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556 ปิดตำนาน แกนนำกลุ่ม "งูเห่า-บุรุษชุดชาวแต่งตัวรอเก้อ"
เหตุปะทะกันเนื่องจากการชุมนุม
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. - 1 ธ.ค. ได้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างผู้ชุมนุม กลุ่มเสื้อแดง และ กลุ่มนักศึกษารามฯ ที่ถนนรามคำแหงหน้าสนามกีฬาราชมังฯ และ บริเวณหลังสนามกีฬาราชมังฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝั่ง 5 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนมาก กลายเป็นการสูญเสียอีกครั้งหนึ่งกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่มีใครไม่อยากให้เกิดขึ้น

วงการนักร้องลูกทุ่ง

ก้าน แก้วสุพรรณ
เจ้าของบทเพลง"น้ำตาลก้นแก้ว"ที่สร้างชื่อเสียงให้เขาโด่งดัง เป็นนักร้องลูกทุ่งชายเสียงดี มีน้ำเสียงหวานไพเราะ และได้ชื่อว่าเป็นนักร้องผู้เปิดตำนานนักร้องจากแดนสุพรรณเมืองที่ผลิตนักร้องลูกทุ่งระดับตำนานประดับวงการเพลงลูกทุ่งมากมาย นอกจากนั้นเขาก็ยังปลุกปั้นนักร้องลูกทุ่งประดับวงการด้วยหลายคน ก้าน แก้วสุพรรณ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ วันที่ 6 ต.ค. พ.ศ. 2556
สายัณห์ สัญญา
ชื่อเดิม"สายัณห์ ดีเสมอ" ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "พรสายัณห์ มีโชคดีเสมอ"มีน้ำเสียง ลีลา อันเป็นเอกลักษณ์ สายัณห์ สัญญา มีผลงานเพลงอันเป็นอมตะ ติดหูคนไทยมากมาย เช่นรักเธอเท่าฟ้า แหม่มปลาร้า ไก่จ๋า เป็นต้น สายัณห์ได้ผ่าตัดลำคอทำให้เสียงกลายเป็นเสียงแหบและได้ฉายาว่า "แหบมหาเสน่ห์" และสายัณห์ก็เป็นนักร้องที่มีคำออดอ้อนแม่ยก แฟนเพลง ผู้สนับสนุน ด้วยประโยคที่คุ้นเคยคือ รักสายัณห์น้อยๆ แต่รักนานๆ สายัณห์เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556 วงการลูกทุ่งต้องเสียนักร้องเสียงดี ดีกรีขี้อ้อนไปอีกคน

วงการบันเทิง
น้ำหนึ่ง กัญณนนพัทน์ วงศาโรจน์
เจ้าของประโยค "ชิดกว่าชมอีก"ในโฆษณาชุดชั้นในยี่ห้อหนึ่ง เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียงแค่ 24 ปี หลังจากล้มป่วยด้วยโรคที่เรียกว่า "มะเร็งเซลล์ประสาท" ซึ่งเป็น"มะเร็งชนิดที่ร้ายแรงมาก โอกาสรอดชีวิตแทบจะเป็นศูนย์ ผู้ป่วยจะมีอาการทรุดหนักและเสียชีวิตในระยะเวลาไม่นาน แต่ก็เป็นโรคมะเร็งชนิดที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยเช่นเดียวกัน" ถือว่าน่าเสียดายโอกาสที่เธอกำลังจะโด่งดังและยังสร้างความตกตะลึงไม่น้อยเนื่องจากเธอเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556
จุ๋ม อัญชลี ไชยศิริ
มีชื่อจริงคือ "อัญชลี ไชยศิริโกสินทร์" เป็นลูกครึ่งไทย-จีน เริ่มเข้าสู่วงการด้วยการประกวดมิสคิงคอง อันเป็นกิจกรรมส่งเสริมการฉายภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง คิงคอง (พ.ศ. 2520) และก็มีผลงานทั้งภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์และทำธุรกิจส่วนตัว หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556 เธอประสบเหตุเส้นเลือดในสมองแตกและไม่สามารถขยับร่างกายซีกขวาได้ ต่อมา เธอได้เสียชีวิต ณ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด จนทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ถือเป็นการสูญเสียนักแสดงรุ่นใหญ่อีกคนของวงการบันเทิง

บุคคลที่มีชื่อเสียง

จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม
เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ อดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาติไทย เจ้าของหลายเหรียญทองในกีฬาซีเกมส์ และเอเชียนเกมส์ ถูกลอบยิงบนรถปอร์เช่คู่ใจบนถนนรามคำแหง สร้างความตกตะลึงไปทั่วสังคมไทย แต่กระนั้นแล้วมีความตกตะลึงยิ่งกว่าเมื่อตำรวจสามารถสาวไปถึงตัวผู้บงการฆ่าครั้งนี้ได้ ก็คือแม่ยายของเอ็กซ์นั่นเองและยังมีอีกหนึ่งคำถามที่ตามมาคือ ภรรยาหรือหมอนิ่มมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ โดยปมสังหารในครั้งนี้ได้ถูกสารภาพจากปากของแม่ยายว่า ทนไม่ได้ที่เห็นลูกสาวโดนทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ อย่างไรก็ตามถึงแม้จะจับตัวคนร้ายได้แล้วแต่ความวุ่นวายยังตามมาอีกเมื่อเกิดศึกแย่งชิงมรดกของเอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ระหว่างพ่อของเอ็กซ์ กับ ภรรยาหมอนิ่ม นั่นเอง เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นอุทาหรณ์สำหรับการใช้ความรุนแรงในครอบครัวยังผลมาให้เกิดความสูญเสีย น่าเสียดายที่ประเทศไทยได้สูญเสียนักแม่นปืนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเก่งที่สุดเท่าที่เมืองไทยเคยมีมา และในอนาคตก็ยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยจะมีนักแม่นปืนฝีมือเก่งฉกาจอย่าง เอ็กซ์ จักรกฤษณ์ ได้อีกหรือไม่
พลตำรวจโท แชน วรงคไพสิฐ
หรือ ดาบแชน คนกู้ระเบิด เป็นตำรวจนักกู้ระเบิด รวมถึงเป็นหัวหน้าหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "หน่วยเหยี่ยวดง 60" เคยได้รับรางวัลคนดีของแผ่นดินใน พ.ศ. 2554 ดาบแชน เป็นที่รู้จักในสังคมไทยเมื่อรายการคนค้นฅน ได้นำเสนอชีวประวัติในตอน "ดาบแชน คนกู้ระเบิด"โดยได้นำเสนอการปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ซึ่งดาบแชนเจอระเบิดมาเป็นร้อยลูกจนได้รับฉายาว่า "นายดาบเดนตาย" ดาบแชน เป็นผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง เป็นฮี่โร่ ของคนไทยทั้งชาติที่ยอมเสียสละเพื่อให้สามชายแดนใต้สงบสุข แต่แล้ววันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ ถูกระเบิดจนเสียชีวิตระหว่างปฎิบัติหน้าที่อย่างกล้าหาญ ปิดตำนาน ดาบแชน ฮี่โร่กู้ระเบิด ผู้เป็นที่รักของคนไทยทั้งชาติและวีรกรรมอันกล้าหาญครั้งนี้จะเป็นที่จดจำตลอดไป
นายขาเดร์ (นายแวกาเดร์) แวเด็ง ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2536
ศิลปินจากชายแดนใต้ผู้จุดประกาย "รองเง็ง" สู่ความนิยม แวกาเดร์เป็นนักไวโอลินที่มีฝีมือเยี่ยม เล่นไวโอลินได้อย่างลึกซึ้งกินใจและเป็นผู้ขับกล่อมบทเพลงรองเง็งมลายูด้วยไวโอลิน โดยจุดประกายนำดนตรีรองแง็งมาปรุงแต่งเป็นเพลงให้มีสีสันน่าฟังและไพเราะ จนเป็นที่ยอมรับของผู้ฟังและนักดนตรีทั่วไป แวกาเดร์ ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน ประจำปี พ.ศ.2536 เสียชีวิต เนื่องจากติดเชื้อในกระแสโลหิตเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556 สร้างความเศร้าโศกให้กับคนไทยชายแดนใต้เป็นอย่างมากที่ต้องสูญเสียศิลปินผู้ซึ่งสืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านและเป็นที่เชิดชูเกียรติของคนไทยทั้งชาติ

ศาล รธน. ไม่รับคำร้องสมาคมทนายความฯ ฟ้อง กปปส. ยุติชุมนุม ชี้ทำตามกรอบรัฐธรรมนูญ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 ธันวาคม 2556 19:11 น.  

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ไม่รับคำร้องสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอให้สั่ง กปปส. เลิกชุมนุม ชี้เป็นการชุมนุมในขอบเขตรัฐธรรมนูญ มีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหาร
ราชการแผ่นดินของรัฐบาล ขณะเดียวกันมีมติชี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 92 วรรคสอง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 กรณีชี้มูลอดีตเลขาฯ กพ. ผิดวินัยร้ายแรง
     
       วันนี้ (18 ธ.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 257 วรรคหนึ่ง (2) ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 วรรคสอง กระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 หรือไม่ ซึ่งคำร้องดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหญิงทิพาวดี  เมฆสวรรค์ อดีตเลขาธิการ ก.พ. ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลว่ามีความผิดวินัยและความผิดอาญาในขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. ซึ่งคุณหญิงทิพาวดี เห็นว่าการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงของและการพิจารณาวินิจฉัยชี้มูลของ ป.ป.ช. ไม่เป็นธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งถูกจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ จึงขอให้ กสม. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องดังกล่าว โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30
     
       นอกจากนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังได้พิจารณาคำร้องที่ นายกิตติ อธินันท์ ในฐานะตัวแทนสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่ผู้ร้องได้กระทำการชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน โดยมีการปิดเส้นทางการจราจร อีกทั้งยังได้ดำเนินการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ จนทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ รวมทั้งการที่นายสุเทพ ประกาศจะจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎเกณฑ์และกติกาในการปกครองประเทศใหม่ จึงเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ได้รับการสนับสนุนจากนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง
     


       โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก

ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีตามคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย

ภูมิใจไทย เปิดแผนปฏิรูปเลือกตั้ง ให้ทุกพรรคการเมืองร่วมกันไม่ส่งผู้สมัคร จนกว่าจะมีกติกาใหม่

1.) หัวหน้าพรรคทุกพรรคทำข้อตกลงร่วมกัน ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจนกว่าจะมีการทำกติกา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเลือกตั้งใหม่ ให้ทุกฝ่ายยอมรับของประชาชนทุกภาคส่วนก่อน ทั้งนี้เพื่อจะให้ กกต.มีเหตุที่จะพิจารณาการขยายเวลาการจัดการเลือกตั้งออกไป สามารถทำได้หากไม่มีผู้เลือกตั้ง

2.) ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมวุฒิสภาในฐานะที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาทางการเมือง และจัดทำกฎ กติกาการเลือกตั้งใหม่ ตามกระบวนการในรัฐสภาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ตามกระบวนการในรัฐสภา ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนทุกภาคส่วน ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคการเมือง ภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม

3.) หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค ทำข้อตกลงร่วมกันส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้งและยอมรับผลการเลือกตั้งตามกฎกติกาใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้การเลือกตั้งใหม่ การตัดสินใจของประชาชนเป็นที่ยุติของปัญหาที่เกิดขึ้น และรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างสง่างาม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย 18/12/56


ฮ.ปริศนา!โผล่สนามบินหาดใหญ่ จนท.สั่งกัก

ฮ.ปริศนา!โผล่สนามบินหาดใหญ่

สนามบินหาดใหญ่กักเฮลิคอปเตอร์ที่แจ้งเส้นทางบินจากมาเลย์เข้ามายังสงขลา แต่พบเอกสารบางอย่างมีความสับสน จึงต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อน ศุลกากรยันวันนี้รู้ผล

             เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 17 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่เข้าตรวจสอบเฮลิคอปเตอร์ หมายเลขทะเบียนไทย HS-UOF ซึ่งบินจากประเทศมาเลเซียมาลงจอดที่สนามบินหาดใหญ่ โดยนักบินแจ้งว่านำเครื่องมาแวะพักก่อนบินต่อไปยังฐานทัพเรือที่ จ.สงขลา พร้อมทั้งนำเอกสารหลักฐานแสดงต่อด่านศุลกากรและศูนย์ควบคุมการบิน

             อย่างไรก็ตาม เอกสารที่นักบินนำมาแสดงยังคงมีความสับสน และไม่แสดงรายละเอียดในบางประการ เจ้าหน้าที่จึงไม่อนุญาตให้บินขึ้น และขอตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง รวมทั้งวัตถุประสงค์ในเรื่องการบินเข้ามาว่าเพื่ออะไร

             น.อ.นรนิติ์ ผลกานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นทราบว่า มีหลักฐานบางอย่างสับสนอยู่ เช่น เรื่องของทะเบียน และอุปกรณ์บางส่วน ซึ่งทางศุลกากรแจ้งว่า นักบินกำลังประสานกับเจ้าของเครื่องอยู่  คงต้องจอดอยู่ที่สนามบินนานาชาติหาดใหญ่ 1 คืน คาดว่าวันพรุงนี้ (18 ธ.ค.) คงจะเรียบร้อย

             "ทางนักบินได้ทำการขออนุญาตใช้เส้นทางบินมาอย่างถูกต้อง โดยหลังจากเสร็จภารกิจที่สงขลาก็จะบินกลับมาสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ก่อนจะบินกลับสนามบินซูบัง ตามเส้นทางเดิม ซึ่งเครื่องบินลำดังกล่าวเป็นเครื่องบินระหว่างประเทศ ก็ต้องมีการขออนุญาตตามขั้นตอน แต่ในรายละเอียดของหลักฐานเอกสารไม่ตรงกับที่ขอ ซึ่งคงมีการแก้ไขให้ถูกต้อง ให้ตรงกัน นี่คือเบื้องต้นที่มีการตรวจสอบ" ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ชี้แจง

             สำหรับเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าว ราคาประมาณ 9.8 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 400 ล้านบาท หากมีการซื้อขายกันในประเทศไทยจะต้องเสียภาษีประมาณ 40 ล้านบาท

ผบสส. เผย ถ้ามีเลือกตั้งได้ก็ดี แต่ผมสั่งไม่ได้ ยันไม่ขัดแย้ง ปลัดกห.

ผบสส. เผย ถ้ามีเลือกตั้งได้ก็ดี แต่ผมสั่งไม่ได้ ยันไม่ขัดแย้ง ปลัดกห. แค่เสนอให้ทำตาม พรฎ.เลือกตั้ง แต่ไม่มีข้อสรุป ใดๆ ยันทหารตีองยึดรัฐธรรมนูญ พร้อมส่งทหารช่วยคุมเลือกตั้ง ลั่นจุดยืนทหารต้องอยู่ในวินัย หวังทุกฝ่ายคุยกันจบแบบ win-win

พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุว่า จุดยืนของกองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.57ว่า เดี๋ยวก็เจอกันในการประชุมสภากลาโหมในวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค.นี้ ซึ่งไม่เห็นจะต้องเคลียร์อะไรกับ พล.อ.นิพัทธ์ เพราะไม่ได้ขัดแย้งอะไร

ผบสส.ยังปฏิเสธว่า ไม่ได้ออกมาตำหนิ ปลัดกห. ผมไม่เคยพูดอะไร แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธ ใครจะหาว่า ผมพูดอะไร ยันท่าทีในการเสวนา ทุกคนก็ฟัง ผมได้เสนอให้ยึดพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยมีคนกลาง คณะกรรมกลางกลาง ทหารพร้อมช่วย แต่เสวนาวันนั้น ไม่ได้มีขัอสรุป

เมื่อถามว่า การสนับสนุนการเลือกตั้งเป็นความคิดเห็นของ พล.อ.นิพัทธ์ คนเดียวหรือเป็นจุดยืนของ ผบ.เหล่าทัพ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า วันนั้นทุกคนก็ฟัง ผมบอกว่า ที่ผ่านมาเราทำภารกิจสำเร็จมา 18 ภารกิจ โดยพูดภาษาต่างประเทศ

"แต่วันนั้นพูดภาษาไทย ทุกคนน่าจะฟังเข้าใจ ก็แล้วแต่ใครจะคิดอย่างไร ซึ่งยืนยันว่า เราทำตามหน้าที่ให้การสนับสนุนอย่างมีเหตุผล" ผบสส กล่าว

ส่วนจะเปิดเวทีเสวนาอีกหรือไม่นั้น คิดว่า การเปิดเวทีไม่ใช่หน้าที่ของเรา

เมื่อถามถึงข้อเสนอที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาดูแลเรื่องการเลือกตั้ง พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า วันนั้นเราคุยกันและบอกแล้วว่า จะไม่มีข้อสรุป

เมื่อถามย้ำว่า กองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า การเลือกตั้งทำได้ก็ดี แต่ถามว่า ผมสั่งว่าต้องมีการเลือกตั้งได้หรือไม่ ผมสั่งไม่ได้ เพราะกฎหมายมีอยู่แล้วตามกติกา ส่วนใครจะพอใจหรือไม่พอใจต้องมาพูดคุย ถ้าคุยได้ก็ไปได้ดี คือ วิน-วิน ได้ประโยชน์ วันนั้นคำพูดผมเป็นแบบนี้

เมื่อถามว่า ข้อเสนอของผบ.สส. ในการตั้งคนกลางมาดูแลการเลือกตั้ง โดยกองทัพคอยสนับสนุนจะเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์ กล่าวว่า ปกติใครขออะไรมา กองทัพทำให้อยู่แล้ว ถ้าขอมาเป็นช่องทาง เพราะกองทัพถือเป็นกลไกของรัฐแต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆเราจะไปทำโน่นทำนี่ จะต้องมีการขอมา ซึ่งผมยังยึดหลักว่า งานที่รับผิดชอบต้องไม่ให้เสีย ต้องเดินหน้าไปเรื่อย

ส่วนรายละเอียดทางการเมืองก็ว่ากันไป ที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องดีที่ประชาชนออกมาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก หากใครมีเหตุผลดีก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ

"กองทัพมีทหาร4.2 แสนคน 60% ถือ อาวุธ ถือระเบิด ถ้าไม่มีระเบียบวินัย ใครให้ไปทำอะไรก็ทำ ก็จะเป็นกองโจร ดังนั้นทหารต้องยึดระเบียบวินัย และกรอบกติกา ใครจะรักใคร ชอบใคร แต่เวลามาทำงาน ก็ตัองทำตามหน้าที่ เหมือนผมบอกว่า บ้านผมน้ำท่วม แต่ผมจะไม่ตัองกลับบ้านไปดูเล เพราะจะมีทหาร ที่ทำหน้าที่ตรงนั้นดูแลบ้านผมแทน นี่ก็จะถึงวันเปิดรับสมัคร เลือกตั้ง23ธค.แล้ว" พล.อ.ธนะศักดิ ผบสส.กล่าว ตอบคำถามที่ว่าจุดยืนกองทัพ คือยึดตามรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่

"พล.อ.นิพัทธฺ เป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นปลัดกห.ก็มีสิทธิ์ ที่จะพูด ในเชิงนโยบาย ที่ต้องสนับสนุนรัฐบาล และการเลือกตั้ง เราไม่ได้ขัดแย้ง. วันนั่น ในการเสวนา ผมก็พูด ให้ทำตามพระราชกฤษฎีกา แต่ก็ไม่มีขัอสรุป ส่วนปลัดกห.เพราะท่าน แถลงในระดับกห.ยัน กองทัพเป็นกลไกรัฐ หนุนให้ทำตามกรอบกติกา รธน. ให้มีเลือกตั้ง พร้อมส่งทหารช่วยดูแล"ผบสส.กล่าว

ผบสส. ยังขอร้องสื่ออย่าทำให้เกิดความขัดแย้ง เขียนดีๆ เผย จะพบ พล อ นิพัทธ ประชุมสภากห.ศุกร์นึ้ ไม่มีอะไร ต้องเคลียร์เพราะไม่ได้ขัดแย้ง

ทำไมผมจะไม่มีสิทธิ์นำคำพูดผบ.สส.มาถ่ายทอด

วันที่ 17 ธันวาคม 2556 01:01

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"นิพัทธ์"ให้สัมภาษณ์ทำไมผมจะไม่มีสิทธิ์นำคำพูด ผบ.สูงสุดมาถ่ายทอด ประกาศเป็นเสมือน"จุดยืนกองทัพ"เสวนาหาทางออกประเทศ

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเมื่อ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก หรือ "บิ๊กแป๊ะ" ปลัดกระทรวงกลาโหม ประกาศในสิ่งที่เป็นเสมือน "จุดยืนกองทัพ" กลางเวทีเสวนาหาทางออกประเทศของรัฐบาล ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 ธ.ค. ทำนองว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.2557

เป็นคำประกาศท่ามกลางกระแสความเห็นของผู้คนในสังคมแตกออกเป็น 2 ขั้วสองฝ่าย โดยฝ่ายที่สนับสนุน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และผู้ชุมนุมมวลมหาประชาชน เห็นว่าไม่ควรมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 แต่ควรปฏิรูปประเทศให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อน มิฉะนั้นความขัดแย้งจะเกิดไม่รู้จบ

ขณะที่อีกฝ่าย มีทั้งรัฐบาลรักษาการ นักวิชาการที่รวมตัวกันเป็นสมัชชาประชาชนปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) และผู้สนับสนุน มองว่าต้องเดินหน้าเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557 เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย

คำประกาศลักษณะนี้ของ พล.อ.นิพัทธ์ จึงเท่ากับว่ากองทัพได้เลือกข้างแล้ว ไม่ได้มีสถานะเป็นกลางทางการเมือง หรือยืนอยู่ข้าง "มวลมหาประชาชน" ตามที่นายสุเทพเคยประกาศแต่อย่างใด

แน่นอนเวที กปปส.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้หยิบประเด็นนี้มาโจมตีอย่างรุนแรง และตั้งคำถามว่าสิ่งที่ พล.อ.นิพัทธ์ พูดเป็นความจริงหรือไม่ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมที่ พล.อ.นิพัทธ์ นั่งอยู่ มีสิทธิพูดแทนผู้นำเหล่าทัพหรือไม่

"บิ๊กแป๊ะ" เปิดใจกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ในประเด็นร้อนๆ นี้ว่า ต้องลำดับความให้ฟังตั้งแต่ต้น คือ วันเสาร์ที่ 14 ธ.ค. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ได้เชิญ นายสุเทพ และคณะไปเกือบ 30 คน ไปที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) เพื่อรับฟังข้อเสนอของ กปปส.และพูดคุยหาทางออกในวิกฤติขัดแย้ง โดยยังมีผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ ไปร่วมด้วยเกือบ 100 คน ใช้ห้องประชุมของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ บก.ทท. เป็นสถานที่จัดประชุม

การนัดหมายผ่านไปทาง นายสกลธี ภัททิยกุล ลูกชายของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม การประชุมเริ่มเวลา 14.00 น.เลิกเวลา 16.00 น เมื่อเลิกแล้ว คณะของนายสุเทพก็กลับไป
ขณะที่ ผบ.ทสส.ได้เปิดแถลงข่าวพร้อมด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ (ผบ.เหล่าทัพ)

"คำถามหนึ่งที่นักข่าวถามคือ ตกลงกองทัพสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ ผบ.ทสส.ตอบว่าอยากเห็นบ้านเมืองสงบเรียบรอย เป็นประชาธิปไตย ก็สนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.2557

แล้วท่านยังพูดอีกว่า กองทัพมีกำลังพลประมาณ 4.2 แสนนาย ถ้าคุณสุเทพไม่ไว้ใจ กลัวว่าการเลือกตั้งจะไม่บริสุทธ์ยุติธรรม ก็คิดว่าทหารสามารถสนับสนุนเรื่องดูแลการเลือกตั้งให้ได้"

"นี่คือสิ่งที่ ผบ.ทสส.แถลง หนังสือพิมพ์ลงทุกฉบับ แล้วท่านยังพูดอีกว่าร่างกายคนเราเจ็บป่วยก็ต้องซ่อมแซม แต่ไม่ใช่เอาไปแช่แข็ง พอแช่แข็งเหมือนจะเป็นอัมพาต ท่านได้เปรียบเทียบว่าไปหยุดประเทศหรือแช่แข็งเหมือนเมื่อครั้งก่อนไม่ได้ ขณะที่คุณสุเทพบอกในที่ประชุมว่าขอเวลา 1 ปีในการปฏิรูปแล้วค่อยเลือกตั้ง"

"ทหารเองต้องถือกฎระเบียบและรัฐธรรมนูญในการทำงาน การแถลงในวันนั้นจบเวลา 17.30 น. ผู้คนได้ยินกันทั่ว โทรทัศน์ก็ออกเยอะแยะ รุ่งขึ้นอีกวันหนังสือพิมพ์ก็ลงกันทุกฉบับ"

"พอวันอาทิตย์ (15 ธ.ค.) มีอีกเวทีหนึ่งที่ศูนย์สิริกิติ์ รัฐบาลพยายามไม่จัดเอง แต่ก็ต้องใช้คนของรัฐอยู่ดี ก็ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากทุกสาขาอาชีพ นักวิชาการก็มา ข้าราชการก็ไปกัน กระทรวงกลาโหมก็ไป มีรอง ผบ.ทสส. มีเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผู้ช่วย ผบ.ทอ.) นั่งเรียงกันอยู่ เขาให้พูดคนละ 5 นาที ประเด็นหลักๆ เกือบทุกกลุ่มพูดตรงกันว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตยหรอก แต่ระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง"

"ในตอนท้ายผมก็ได้พูดในนามปลัดกระทรวงกลาโหม มีคลิปวีดีโอยืนยันชัดเจน โดยบอกว่า หนึ่ง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 กำหนดให้กระทรวงกลาโหมประกอบด้วย
เหล่าทัพ มีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและการปกครอง สอง สถานการณ์การเมืองขณะนี้ ผบ.ทสส.ยืนยันว่าจะคิดและปฏิบัติอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญเท่านั้น และ สาม สิ่งที่ท่านแถลงเมื่อวัน
เสาร์ คือสนับสนุนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 ปรากฏว่าคนปรบมือกันสนั่นห้อง"

"ผมได้รายงานท่านแล้วว่าจะนำคำแถลงเมื่อวันเสาร์ไปถ่ายทอดนะ ฉะนั้นในที่ประชุมวันอาทิตย์จึงนำไปเล่าให้ที่ประชุมฟังว่ากองทัพมีจุดยืนอย่างนี้ เพราะวันเสาร์ไม่ได้ถ่ายทอดทีวี ก็คิดอยู่แล้วว่า
จะเกิดปัญหา เนื่องจาก กปปส.ไม่ได้มา (เวทีวันอาทิตย์) พอกลางคืนก็ขึ้นเวทีถล่ม"

"ผมถามหน่อยว่าทำไมผมจะไม่มีสิทธิ์เอาคำพูดของ ผบ.ทสส.มาพูด ผมเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบทุกอย่างในกระทรวง แต่สิ่งที่เวที กปปส.เอาไปบิดเบือนคือที่ไปบอกว่า พล.อ.นิพัทธ์ พูดว่าเลือกตั้งก่อนค่อยปฏิรูป ผมยืนยันว่าผมไม่เคยพูดคำว่าปฏิรูป เพราะไม่ใช่งานของทหาร แต่เวที กปปส.เอาไปเติม ประชาชนบางส่วนไม่ได้ฟังเวทีที่กองทัพไทย ก็เลยหลงเชื่อไป เอาเป็นว่าคุณสุเทพกับผมต้องมีใครคนหนึ่งที่โกหก แต่อยากถามว่าถ้า ผบ.ทสส.ไม่พูด แล้วผมจะไปพูดได้อย่างไร" พล.อ.นิพัทธ์ กล่าว

กรณีรายงานของนิวยอร์คไทม์

ว่าจะจบเรื่องบทความที่ดูหมื่นสถาบันฯ ที่ตีพิมพ์ใน New York Times เขียนโดย Thomas Fuller ยังจบไม่ได้หลังจากได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ สอบถามถึงที่มาที่ไปของการเขียนบทรายงานลักษณะนี้กล่าวให้ร้ายว่าสนง.ทรัพย์สินฯ อยู่เบืองหลังการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์...
ที่ต้องมารายงานต่อ fuller ยืนยันในเรื่องที่เขียนไปทั้งหมด ไม่ได้มีอะไรที่ผิดพลาด และเห็นว่าการไปตีความว่า สนง.ทรัพย์สิน อยู่เบื้องหลังการชุมนุม “ behind the scene “ เป็นเรื่องของการตีความที่อาจเข้าใจแตกต่างกัน เหมือนอย่างที่มีความพยายามชี้แจงว่า behind the scene ไม่ได้หมายถึงเรื่องการชุมนุมที่เกิดขึ้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ อ่านยังไงก็ไม่ไปในทิศทางนั้น อ่านยังไงก็ต้องสรุปว่า คนเขียนมีเจตนาหมายโยงคนในสนง.ทรัพย์สินเกียวข้องกับการชุมนม ซึ่งก็คือการดยงสถาบันให้เข้ามาเกี่ยวช้อง 

“ i standby my report” ผมยืนยันส่ิงที่เขียนไป นี่คือคำชี้แจงของ Fuller ที่ยืนยันว่าไม่ได้เกิดความเข้าใจผิดในบทสัมภาษณ์ที่ ท่านวีรพัฒน์ให้ไป พร้อมยืนยัน จะไม่มีการ clarification .ในบทความนี้ที่เชื่อว่าได้ทำให้คนอ่านเข้าใจไปว่าสนง.ทรัพย์สินอยู่เบื้องหลัง ทำหน้าที่ท่อน้ำเลี้ยง...
คุยกันยาว พร้อมคำถามว่าทำไมถึงต้องเอารูป fuller ขึ้นในหน้า facebook และขอให้เอารูปออก ได้ชี้แจงไปว่าเพื่อให้เพื่อนใน facebook ได้รับรุ้ว่าคนที่เขียนบทความลักษณะอย่างนี้กล่าวให้ร้ายสถาบันในเรื่องที่ไม่สมควรมีหน้าตาอย่างไร
ยังมีการอ้างในบทความให้เกิดความเข้าใจผิดว่าความวุ่นวายที่เกิดข้ึ้นเป็นผลจากการต่อสุ้ระหว่่างทักษิณและสถาบัน ไปอ้างชาวบ้านคนหนึ่งว่าพูดประโยคนี้ อ่านแล้วก็ต้องเห็นเจตนาของคนเขียน ช่างสรรหาคนที่วิจารณ์สถาบันมากล่าวย้ำให้ร้าย
ความเลวร้ายของนักการเมือง ทั้งเรื่อง corruption ...nepotism ระบบเครือญาติ ตรวจสอบไม่ได้ 
unaccountablity และไม่โปร่งใส่ transparency ไม่มีการพูดถึงความเลวร้ายของรัฐบาลต่อความผิดพลาดในการบริหารประเทศและสร้างความเสียหายอย่างมากในโครงการจำนำข้าว
ทำข่าวเมืองไทยมายาวนานแต่วิเคราะห์ได้อย่างนี้อ่านแล้วหดหู่สิ้นดี บอกให้เห็นถึงทัศนคติ ตลอดช่วงพูดคุยกันได้บอกไปว่าที่เขียนไปเป็นบทความด้านเดียวที่กล่าวให้ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมอธิบายว่าที่เขียนว่าทักาษิณไม่เคยกล่าวให้ร้ายสถาบันก็เป้นเรื่องเท็จ แสดงว่าไม่เคยรับรู้อะไรเลย ... แล้วมาแส่รุ้เรื่องปชต.เมืองไทย แต่ที่เขียนมาทั้งหมดไม่ได้เข้าใจการเมืองในไทยแล้ว แล้วยังไปโยงใยสถาบันอย่างน่าเกลียด..ได้ชี้แจงไปว่านีคือเหตุผลที่เอารูปมาปะในหน้าเพื่อให้คนได้เห็นว่าคนที่เขียนบทความลักษณะนี้ กล่าวให้ร้ายอย่างไม่ให้ความเป็นธรรมมีหน้าตาอย่างไร...