PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

พุ่มสกี้ เด็กตลาดพลู เป็นผบ.ทหารม้าที่โด่งดังในรัสเซีย

ข่าวประจำวัน

2 ต.ค. 2558 09:51

“นายพุ่ม บุตรนายซุ้ย” ชาวตลาดพลู ไปเป็น ผบ.ทหารม้าฮุสซาร์ที่โด่งดังของโลก!!!

ก่อนที่คอมมิวนิสต์รัสเซียจะโค่นอำนาจพระเจ้าซาร์ลง กรมทหาม้าฮุสซาร์นับว่าเป็นกองทหารที่เข้มแข็งที่สุดของรัสเซีย มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก แต่ที่น่าทึ่งก็คือ กรมทหารม้าที่โด่งดังที่สุดของโลกนี้ กลับมีผู้บังคับกองพันเป็นคนไทย ลูกชาวบ้านตลาดพลูนี่เอง

เขาผู้นี้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามของ “พุ่มสกี้”

พุ่มสกี้เป็นใคร เป็นมาอย่างไร ถึงได้ไปสร้างเกียรติประวัติไว้ถึงขั้นนี้
ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๔๐ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงดำริว่าจะนำนักเรียนไทยไปศึกษาในประเทศต่างๆด้วย เพื่อนำความรู้มาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญไปในแนวทางแบบอย่างอารยประเทศ

นักเรียนไทยที่ตามเสด็จไปในครั้งนั้นมี ๑๙ คน เป็นพระราชวงศ์ ๕ พระองค์ อีก ๑๓ คนเป็นเด็กเส้นจากลูกหลานขุนนาง คงมีเพียงหนึ่งเดียวจากลูกชาวบ้านผ่านการสอบคัดเลือกจากนักเรียนทั่วไป

หนึ่งเดียวนี้ก็คือ “นายพุ่ม บุตรนายซุ้ย” ชาวตลาดพลู นักเรียนโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ โดยได้รับคัดเลือกในปี ๒๔๓๙

เหตุที่นายพุ่มไม่มีนามสกุล ก็เพราะพระราชบัญญัตินามสกุลเพิ่งมาใช้ในปี ๒๔๕๖ สมัยรัชกาลที่ ๖

นักเรียนไทยทั้ง ๑๙ คนนี้ จะต้องกระจายเรียนตามประเทศต่างๆในยุโรป ทรงกำหนดให้ พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ เข้าเรียนการทหารที่ประเทศรัสเซีย และจะต้องคัดเลือกนักเรียนไทยอีกคนหนึ่งจากสามัญชนให้ไปร่วมเรียนด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้เกิดการแข่งขัน ทำให้พระเจ้าลูกยาเธอมีขัตติยะมานะไม่ยอมแพ้นักเรียนผู้นั้น การคัดเลือกนักเรียนที่จะไปเป็นคู่แข่งกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯครั้งนี้ มีขั้นตอนวิธีการพิถีพิถันอย่างยิ่ง และมีนักเรียนไทยที่อยู่ในข่ายคัดเลือก ๑๐ คน โดยมีพระยาวิสุทธิศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซ็นต์เยมส์แห่งอังกฤษ เป็นผู้คัดเลือกระหว่างที่พักอยู่กรุงลอนดอน

ท่านทูตได้ใช้วิธีเรียกตัวมาพิจารณาคนละ ๔ วัน โดยท่านทูตพิจารณาเอง ๒ วัน แล้วส่งไปให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯทรงพิจารณาอีก ๒ วัน โดยมีพันโท ซี.วี.ฮยูม และ ดร.เอ็ม.เอฟ.ยาร์ พระอภิบาลและแพทย์ประจำพระองค์ของเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ร.๖) ขณะดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารและกำลังทรงศึกษาอยู่ที่นั่นถวายคำปรึกษาแก่เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯด้วย หลังการพิจารณา ท่านทูตได้มีจดหมายกราบบังคมทูลไปยังพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จต่อไปประเทศอื่นแล้วว่า

“นายพุ่ม เป็นคนไม่ใช่บุตรผู้มีตระกูล แต่เกิดมาเป็นช้างเผือก กิริยาวาจาเป็นที่ชอบของคนทั้งหลาย ฉลาดในการเล่าเรียน อายุ ๑๕ ปี ทูลกระหม่อมเล็กเลือกเป็นที่หนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็ชอบ และได้กราบทูลไว้แล้วครั้งหนึ่งที่เนเปิลว่าหลักแหลมมาก”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบท่านทูตว่า

“...นายพุ่มเป็นคนไม่มีตระกูลแต่เป็นคนฉลาดเฉียบแหลมอยู่ ก็คงจะได้ราชการดีในภายหน้า และบางทีจะได้ติดตัวลูกทำการร่วมหน้าที่กันต่อไป ข้อสำคัญก็เพียงแต่ให้เป็นที่พึงพอใจกันกับลูกชายเล็กได้จริงๆ...”

หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชานุมัติมาแล้ว ท่านทูตก็ส่งตัวนายพุ่มย้ายไปอยู่ร่วมกับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๔๔๐ และเริ่มเรียนภาษารัสเซียกับมิสเตอร์อาดาเซฟ พระอาจารย์ที่ถวายการสอนภาษารัสเซียกับพระเจ้าลูกยาเธอก่อนแล้ว

พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ โอรสของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ที่ประสูติจาก หม่อมแคทริน ชาวรัสเซีย ได้เล่าไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์” ว่า

“...การส่งพ่อไปศึกษาในราชสำนักรัสเซียในครั้งนั้น ทูลหม่อมปู่ทรงมีความคิดอย่างใหม่คือ ไม่ทรงอยากให้พ่อไปได้รับความสุขสบายและหรูหราที่นั่นแต่องค์เดียว เกรงว่าอาจบังเกิดความสบายและเกียจคร้าน และขาดมานะที่จะพยายามเล่าเรียนให้เต็มที่ จึงทรงตกลงจะส่งนักเรียนไทยที่เป็นสามัญชนไปด้วยอีกคนหนึ่ง เพื่อจะเป็นคู่แข่งในการเล่าเรียน หวังว่าพ่อจะมีขัตติยมานะไม่ยอมแพ้

นักเรียนคนนั้น จึงจะทำให้ขยันขันแข็งขึ้นอีก นักเรียนผู้นั้นต้องเป็นผู้เฉลียวฉลาดอย่างมากด้วย ผู้ที่ได้รับเลือกไปรัสเซีย คือ นายพุ่ม อายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อ และเป็นนักเรียนที่สอบไล่แข่งขันได้ทุนเล่าเรียนหลวง ในการส่งนายพุ่มไปรัสเซีย ทูลหม่อมปู่ได้ทรงขอร้องต่อพระจักรพรรดินิโคลาส ให้นายพุ่มได้มีฐานะเท่ากับพ่อทุกประการในทางกินอยู่และศึกษา...”

พระเจ้าลูกยาเธอ และ “บุตรนายซุ้ย” ได้เดินทางไปถึงประเทศรัสเซียในเดือนมิถุนายน ๒๔๔๑ หลังจากศึกษาภาษารัสเซียจนใช้ได้แล้ว ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ ได้พระราชทานการต้อนรับอย่างดี จัดพระราชวังฤดูหนาวอันโอ่อ่าที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ให้เป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯกับนายพุ่ม

นักเรียนไทยทั้งสองได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยมหาดเล็ก Corps des panges อันเป็นโรงเรียนนายร้อยที่โก้หรูที่สุดของรัสเซีย เมื่อจบจะได้เป็นทหารมหาดเล็กถวายความอารักขาอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าซาร์ ทั้งระหว่างเรียนเมื่อมีงานใหญ่ในพระราชวัง ก็จะต้องเข้าไปรับใช้ในงานด้วย

การเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอกับบุตรนายซุ้ย เกิดการแข่งขันตามพระราชปฏิธานของ ร.๕ การสอบครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ๒๔๔๒ บุตรนายซุ้ยสอบได้ลำดับที่ ๔ พระเจ้าลูกยาเธอสอบได้ลำดับที่ ๒ 

ในชั้นปีที่สอง การสอบไล่ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๔๓ พระเจ้าลูกยาเธอสอบได้ลำดับที่ ๒ และนายพุ่มก็ยังคงสอบได้ในลำดับที่ ๔ เช่นเดิม 

ในอีก ๒ ปีต่อมา การสอบครั้งสุดท้ายของการศึกษา พระเจ้าลูกยาเธอทรงสร้างเกียรติประวัติ ทำสถิติสูงสุดให้สถานศึกษา ทรงสอบได้คะแนน ๑๑.๗๕ จากคะแนนเต็ม ๑๒ ได้เป็นที่หนึ่งของรุ่น ซึ่งนายพุ่มก็ตามติดๆมาเป็นที่สอง ได้คะแนน ๑๑.๕๐

นักเรียนไทยทั้งสองได้รับการบรรจุเป็นนายร้อยตรี ประจำกรมทหารม้าฮุสซาร์รักษาพระองค์ ซึ่งตั้งกรมอยู่นอกกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จึงต้องย้ายที่พักไปอยู่ที่พระราชวังตซาร์กอยเซโล นอกกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้วย เมื่อจบจากโรงเรียนนายร้อยรักษาพระองค์แล้ว นักเรียนไทยทั้งสองก็เข้าศึกษาต่อ ใน Acadamy of War ซึ่งเป็นโรงเรียนเสนาธิการ จนจบการศึกษาในปี ๒๔๔๘

เมื่อสำเร็จการศึกษาตามพระราชประสงค์แล้ว เจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ได้เสด็จกลับประเทศไทยโดยนำ หม่อมแคทริน สาวงามชาวรัสเซียกลับมาด้วย แต่ไม่กล้าพาเข้าประเทศสยาม เพราะเกรงเสด็จพ่อจะทรงกริ้ว แอบเอาไว้ที่สิงคโปร์ก่อน ต่อมาก็รู้ถึงพระกรรณจนได้ แต่เรื่องก็คลี่คลายไปด้วยดี เจ้าฟ้าจักรพงษณ์ภูวนารถได้ดำรงพระยศเป็นจอมพลแห่งกองทัพบกสยาม และเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย เป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ในรัชกาลที่ ๖

ส่วนนายพุ่ม บุตรนายซุ้ย เมื่อจบโรงเรียนเสนาธิการก็ยังไม่อยากกลับบ้าน ยื่นขออนุญาตศึกษาภาษาฝรั่งเศสต่อ ซึ่งกระทรวงกลาโหมก็ไม่ขัดข้อง แต่ต่อมาร้อยตรีพุ่มเกิดข้อบาดหมางกับกระทรวงกลาโหมอย่างรุนแรง จนทางกระทรวงมีคำสั่งให้สถานทูตสยามจับตัวนายพุ่มกักขังไว้ในสถานทูต เรื่องนี้บรรดานายทหารฮุสซาร์ต่างไม่พอใจที่เพื่อนนายทหารร่วมกรมถูกรังแก จึงช่วยกันลักลอบพานายพุ่มออกไปจากที่คุมขังจนได้ การกระทำครั้งนี้ แม้จะเป็นการกระทำของบรรดานายทหารม้าฮุสซาร์ แต่ทางสยามถือว่านายพุ่มมีความผิดฉกรรจ์ ถ้ากลับมากรุงเทพฯจะต้องได้รับโทษอย่างหนัก นายพุ่มจึงตัดสินใจขอโอนสัญชาติเป็นรัสเซียเพื่อหนีความผิด ทั้งยังเปลี่ยนศาสนาจากพุทธเป็นคริสต์ด้วย

นายพุ่มคงจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ เป็นพิเศษ เพราะในพิธีแปลงศาสนาของเขานั้น พระเจ้าซาร์ได้ทรงเป็นบิดาอุปถัมภ์ในทางศาสนาให้ ทั้งยังพระราชทานพระนามของพระองค์เป็นนามนักบุญของนายพุ่มด้วยว่า “นิโคลาส พุ่มสกี้”

ก่อนเกิดการปฏิวัติใหญ่รัสเซียในเดือนตุลาคม ๒๔๖๐ นายพุ่มบุตรนายซุ้ยได้รับยศเป็น พันเอกนิโคลาส พุ่มสกี้ ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์ และเมื่อเกิดการปฏิวัตินองเลือด ก่อนพระราชวงศ์จะถูกฆ่าหมด เล่ากันว่า พระเจ้าซาร์ได้เรียกพันเอกนิโคลาส พุ่มสกี้ เข้าเฝ้า แล้วรับสั่งว่า “รีบหนีไปเร็วๆ นี่เป็นเรื่องของคนรัสเซีย ไม่ใช่เรื่องของเจ้า”

เหล่าบรรดาทหารชั้นผู้น้อย ต่างพากันยึดอำนาจผู้บังคับบัญชา บ้างก็ถึงฆ่าผู้บังคับบัญชา แต่เหล่าทหารม้าฮุสซาร์กลับพากันเลือกพันเอกนิโคลาส พุ่มสกี้ เป็นผู้บังคับบัญชาของตนต่อไป แต่พุ่มสกี้ปฏิบัติตามรับสั่งของพระเจ้าซาร์ พาสุภาพสตรีชาวรัสเซียผู้หนึ่ง ซึ่งนายพุ่มเคารพรักเหมือนแม่ และกำลังตกอยู่ในอันตรายจากการปฏิวัติ หลบหนีไปจนถึงประเทศฝรั่งเศส อดีตผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์ต้องเข้าไปสมัครงานเป็นเสมียนธนาคาร เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเองและแม่เลี้ยง จนกระทั่งแม่เลี้ยงเสียชีวิต

ที่ฝรั่งเศสนี้เอง พุ่มสกี้ก็ได้พบกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งพระองค์จุลฯก็ได้ประทานอนุเคราะห์แก่สหายเก่าของพระบิดาที่ร่วมศึกษาอยู่ในรัสเซียถึง ๘ ปี โดยพาไปเป็นเลขานุการของมิสซิสสโตน ซึ่งก็คือหม่อมแคทรีน มารดาของพระองค์ที่ได้แต่งงานใหม่กับมิสเตอร์สโตน พระองค์จุลฯยังได้พานายพุ่มกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ซึ่งตระกูลของนายพุ่มมีนามสกุลใช้แล้วว่า “สาคร” ทั้งพระองค์จุลฯยังช่วยจัดการให้ได้สัญชาติไทยคืน และแนะนำให้เข้ารับราชการทหาร

ทางกระทรวงกลาโหม โดย พ.อ. หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการ ยินดีที่จะรับนายพุ่มเข้ารับราชการทหารในตำแหน่งอาจารย์วิชาทหาร แต่ไม่อาจจะให้ยศถึงขั้นพันเอกเท่าเดิมได้ นายพุ่มก็คงจะรักษาเกียรติแห่งกรมทหารม้าฮุสซาร์ จึงปฏิเสธที่จะรับยศต่ำกว่าพันเอก และกลับไปทำงานกับมิสซิสสโตนที่ปารีสต่อ โดยเดินทางกลับออกไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๔๘๐

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในปี ๒๔๘๒ กรุงปารีสถูกโจมตีอย่างหนัก มิสเตอร์สโตนเห็นว่าไม่ปลอดภัยจึงพาหม่อมแคทรีนอพยพไปอยู่ประเทศสเปน จนต่อไปถึงสหรัฐอเมริกา ส่วนนายพุ่มก็ยังคงอยู่ดูแลบ้านที่กรุงปารีสต่อไป

เมื่อสงครามโลกสงบลง กรุงปารีสอยู่ในสภาพขาดแคลนหลายอย่าง โดยเฉพาะถ่านหินที่ใส่เตาผิงให้ความอบอุ่น ประกอบกับในปีนั้นอากาศกรุงปารีสหนาวเย็นเป็นพิเศษ นายพุ่มถึงกับมีอาการไม่สบาย หม่อมแคทรีนจึงส่งข่าวถึงพระองค์จุลฯให้รับนายพุ่มไปอยู่ที่อังกฤษด้วย ซึ่งนายพุ่มได้เดินทางไปถึงอังกฤษอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ซึ่งเป็นต่างแดนประเทศแรกที่เขาเคยเดินทางมา และหลังจากนั้นอีก ๔ วันนายพุ่มก็ถึงแก่กรรมด้วยหัวใจวายที่บ้านพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ในอังกฤษนั่นเอง

เป็นการจบชีวิตอย่างสงบในวัย ๖๕ ปีของบุตรนายซุ้ย สามัญชนที่ได้รับการเลี้ยงดูเทียบเท่าพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชถึง ๘ ปีเต็มระหว่างที่ศึกษาอยู่ในรัสเซีย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒ รับเป็นบุตรบุญธรรม และพระราชทานพระนามของพระองค์เป็นชื่อของเขา

และเป็นการจบชีวิตของคนไทยลูกชาวบ้าน ที่อาจหาญไปเป็นผู้บังคับการกรมทหารม้าฮุสซาร์ของรัสเซีย ที่มีชื่อเสียงกระเดื่องโลก

เจ้าฟ้าจักรพงษ์และนายพุ่มเมื่อเข้าโรงเรียนเสนาธิการ
เจ้าฟ้าจักรพงษ์และนายพุ่มเมื่อเข้าโรงเรียนเสนาธิการ

นายพุ่มในชุดทหารม้าฮุสซาร์
นายพุ่มในชุดทหารม้าฮุสซาร์

พุ่มกี้ตอนกลับมาเมืองไทยครั้งสุดท้าย
พุ่มกี้ตอนกลับมาเมืองไทยครั้งสุดท้าย