PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

"คณะนิติราษฎร์"นัดแถลงข่าว ยันศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยคดี แก้รัฐธรรมนูญที่มาสว.


คณะนิติราษฎร์ ได้แจ้งผ่านเฟสบุ๊ค นัด แถลงข่าวเพื่อเสนอความเห็นทางวิชาการ กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยระบุว่า
ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ กรณีรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา คณะนิติราษฎร์เห็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบควบคุมกระบวนการตลอดจนเนื้อหาของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เข้าตรวจสอบควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งๆที่ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแต่กลับสถาปนาอำนาจดังกล่าวขึ้นมาเอง จึงเป็นการขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่

เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรทั้งปวงของรัฐ มีผลเป็นการทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลง จนก่อให้เกิดสภาวการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาด

แม้คณะนิติราษฎร์เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวนี้ก็ตาม แต่โดยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงทัศนคติทางการเมืองผ่าน “คำวินิจฉัย” ต่อสาธารณชน ซึ่งเนื้อหาใน “คำ

วินิจฉัย” อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องจนส่งผลร้ายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ คณะนิติราษฎร์จึงต้องจัดแถลงข่าวเพื่อเสนอความเห็นทางวิชาการต่อ “คำวินิจฉัย” ดังกล่าว

ในวันเสาร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยจะแจ้งห้องให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

"นิติธร" ชี้หลังศาลรธน.ตัดสิน คำสั่งจากรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว


"นิติธร" ปรามตำรวจอย่าคิดทำร้ายประชาชน เพราะหลังศาลรธน.ตัดสิน คำสั่งจากรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย้ำไม่เอารัฐประหาร ไม่สู้แค่เปลี่ยนขั้ว แต่ต้องปฏิรูป ประกาศพรุ่งนี้ (22 พ.ย.) เที่ยงตรง เคลื่อนขบวนเพื่อกำหนดทิศทางประเทศ ลั่นอีกไม่กี่ชั่วโมงประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชนเต็มใบ

วันนี้ (21 พ.ย.) นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษากลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) กล่าวปราศรัยว่า วันนี้ 312 ส.ส. - ส.ว. และรัฐสภา หมดสิ้นสภาพแล้ว ฉะนั้นพวกเราสามารถปฏิเสธคำสั่งรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หมายความว่าเราไล่มันได้เต็มที่ เพราะสภาวันนี้มีสภาพเช่นเดียวกับซ่องโจร และ 312 ส.ส. - ส.ว. มีฐานะเป็นกบฎเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากการเคลื่อนไหว เราจะกำหนดวันไปแจ้งความข้อหากบฏกับพวกนี้ และเมื่อแจ้งความแล้วก็ทำต้องเป็นพลเมืองดี เพราะมีโอกาสที่ ส.ส.- ส.ว.พวกนี้จะหนีคดีสูงมาก ฉะนั้นเราต้องแบ่งกำลังพลเป็นกลุ่มๆ พอออกหมายจับเราจะช่วยกันจับส่งตำรวจ ถ้าไม่ยอมให้จับ มีทางเดียวคือต้องหนีออกนอกประเทศ คนพวกนี้โง่ นี่คือแผนของนายทักษิณ เขารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่ากลับเข้าประเทศไม่ได้ เลยวางแผนให้พวกส.ส.- ส.ว.เหล่านี้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศด้วย จะได้ไม่เหงา

นายนิติธร กล่าวต่อว่า ข้าราชการทุกหน่วยงานถ้าท่านอนุมัติงบประมาณให้นักการเมือง ฟังคำสั่งนักการเมืองให้กระทำการต่างๆท่านต้องรับผิดชอบตามกฎหมายด้วย เพราะตอนนี้รัฐบาลทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยต่อการปกครอง ส่วนพี่น้องตำรวจที่อาศัยคำสั่งรัฐบาลมาจัดการพี่น้องประชาชนท่านต้องรับผิดชอบด้วย ต้องดูว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า เพราะทันทีที่มีการฟ้องและศาลสั่ง คำสั่งมีผลย้อนหลังหมด

ฝากถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว (ผบ.ตร.) ต้องระวังคำสั่งให้ดี เพราะท่านต้องรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น และเชื่อว่าคุม พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง (ผบช.น.) ไม่ได้แน่นอน ส่วนตำรวจที่อยู่บริเวณคุรุสภา ทำเนียบ รัฐสภา กระทรวงศึกษาฯ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา ตำรวจเหล่านี้มาจากต่างจังหวัด ฉะนั้นคำสั่งที่ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรง เขาไม่รับผิดชอบในตัวท่าน

ที่ตนเคยบอกว่าถ้าตำรวจในกทม.ทำร้ายประชาชนให้เผาทุกโรงพักในกทม. แต่มีพี่น้องตำรวจดีๆโทรมาขอร้องทำความเข้าใจว่าไม่อยากฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา เขายินดียืนอยู่ข้างประชาชน แต่วางใจไม่ได้ ฉะนั้นถ้ามีการทำร้ายประชาชนใหไปล้อมมันไว้ก่อน ถ้ายังไม่หยุด ให้พี่น้องตัดสินใจเองเลย

นายนิติธร กล่าวอีกว่า ยืนยันชัดเจนพี่น้องไม่เอาปฏิวัติรัฐประหาร ไม่เอาการเมืองเปลี่ยนขั้ว ที่ออกมาต่อสู้เพื่อให้เกิดการเมืองภาคประชาชนอย่างแท้จริง นับจากนี้อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ประชาธิปไตยต้องเป็นของประชาชนเต็มใบ

วันนี้ยุบสภาไม่ใช่ทางออก นายกฯลาออกไม่ใช่ทางออก ทางออกเดียวคือหนีออกนอกประเทศไป ไม่อย่างนั้นก็เข้าคุก ถ้าสู้แค่เปลี่ยนขั้วเลิกชุมนุม เสียเวลา ฉะนั้นจากนี้พี่น้องประชาชนต้องออกมากันมากๆ เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ การปกครองที่เราต้องการคือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ต้องไม่ผ่านนักการเมืองชั่วๆ

"พรุ่งนี้เที่ยงตรง พร้อมกันที่นี่ เราจะขับเคลื่อนเดินหน้า เพื่อกำหนดทิศทางประเทศ นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ พรุ่งนี้ออกเดินทางพร้อมกัน ถ้าต้องการประชาธิปไตยของประชาชนเบ่งบาน เวทีมัฆวานฯคือของจริง" นายนิติธร กล่าวทิ้งท้าย

จาก "อันเฟรนด์" ถึง "ดักแด้สารสนเทศ": สื่อสารการเมืองไทย ณ พ.ศ.2556

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 19 พ.ย. 2556
http://bit.ly/1a7lCQz

โดย: พิรงรอง รามสูต

การเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ทว่ายังสะท้อนภาพการสื่อสารการเมืองในมิติใหม่ๆ ที่ออกจะน่ากังวลด้วย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ผู้ใช้สื่อคือผู้กำหนดและเลือกสรรทั้งเนื้อหาที่จะเปิดรับและผู้คนที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้วยขุมข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตซึ่งมีอยู่มหาศาลและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าสื่อใดๆ ทำให้มักเกิดความเข้าใจไปว่า ผู้ใช้น่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลาย ด้วยเสรีภาพในการเลือกและการแสดงออกที่สูงกว่าสื่ออื่นๆ ขณะเดียวกัน สังคมประชาธิปไตยก็น่าจะมั่งคั่งยิ่งขึ้นด้วยตลาดเสรีทางความคิดและช่องทางต่างๆ ในไซเบอร์สเปซที่เปิดกว้างให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ตลอดจนการมี
พื้นที่เสมือนซึ่งสามารถจะเป็นเวทีในการปรึกษาหารือในประเด็นสาธารณะใดๆ โดยตัดข้ามอุปสรรคทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เวลา หรือ สถานที่

อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแม้จะเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย แต่แนวทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่ถูกกำกับโดย ทัศนคติ รสนิยม และอุดมการณ์
แบบปัจเจกหรือแบบเดียวกับกลุ่มที่คิดเหมือนๆ กันมากขึ้นเรื่อยๆ อาจนำไปสู่ภาวะของความคับแคบแห่งโลกทัศน์ทางการเมืองซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีกับสังคมประชาธิปไตยที่พึงดำรงอยู่บนความหลากหลาย และพหุนิยมทางความคิดของพลเมือง

และนี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในการสื่อสารของพลเมืองที่ตื่นตัวทางการเมืองในกรณีการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกเหนือจากสื่อการเมืองในโทรทัศน์ดาวเทียมที่มีวาระแบบแบ่งขั้วเป็นที่ชัดเจนอย่าง ช่องบลูสกาย ช่องเอเอสทีวี ผู้จัดการ และ ช่องเอเชียอัปเดต สื่อสังคมออนไลน์นับว่าทรงอานุภาพที่สุดในการแพร่กระจายกระแสต่อต้านและระดมพลสู่เวทีการประท้วงการเคลื่อนไหวต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ด้วยการสื่อสารแบบเครือข่ายและการทำการตลาดทางสังคมแบบไวรัส

ขณะที่ ช่องทีวีดาวเทียมดังกล่าวไปข้างต้นทำการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในรูปแบบเดิมๆ อย่างแข็งขัน สื่อออนไลน์โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์จะเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้เชื่อมโยงติดตามและ
แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับบรรดา “เฟรนด์” (friend) (ซึ่งอาจไม่ใช่ “เพื่อน” ในโลกของชีวิตจริงก็ได้) ในช่วงเวลาปกติ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายคนอาจยอมรับเป็น “เฟรนด์” กับคนที่ไม่ใช่เพื่อนหรือคนคุ้นเคยในชีวิตจริง หากในภาวะความตึงเครียดทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ หลายคนก็อาจจะ “อันเฟรนด์” (unfriend) หรือตัดขาดความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์จากเพื่อนในชีวิตจริงที่คิดต่างเห็นต่างจากตนเองในทางการเมืองเพราะยอมรับความแตกต่างนั้นไม่ได้ เรียกว่า “เสียเพื่อนเพราะการเมือง” ก็น่าจะไม่ผิดนัก

เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งปรารภขึ้นมาในสถานภาพ (status) บนเฟซบุ๊คของเธอว่า ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมต่อต้านร่างพ.ร.บ.เจ้าปัญหานี้ ได้ถูก “อันเฟรนด์” จากคนในเครือข่ายของเธอกว่า 30 รายแล้ว
แต่เธอก็น้อมรับอย่างเปิดกว้างว่าไม่เป็นไร หากบรรดา “เฟรนด์” คนใดรู้สึกทนไม่ได้กับจุดยืนทางการเมืองและการสื่อสารอัตลักษณ์ทางการเมืองของเธอ (ผ่านการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ การอัพโหลด
รูปกิจกรรมทางการเมือง การแสดงออกด้วยถ้อยคำ การเชื่อมโยงข้อมูลไปยังลิงก์ต่างๆ หรือ แม้แต่การกดไลค์) ก็เชิญกลั่นกรองเธอออกจากการรับรู้ได้ตามสบาย เพราะเป็นเสรีภาพที่พึงทำได้

คำปรารภดังกล่าวทำให้ผู้เขียนฉุกคิดถึงแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านสื่อและนัยต่อประชาธิปไตยที่เรียกว่า “ดักแด้สารสนเทศ” (information cocoons) ของนักวิชาการอเมริกัน ชื่อ แคส ซันสเทน (Cass Sunstein) ซึ่งอธิบายถึงภาวการณ์ที่ผู้ใช้สื่อพยายามหลีกเลี่ยงไม่เปิดรับข่าวสารหรือความคิดเห็นใดๆ ที่พวกเขาไม่ต้องการได้ยิน เพราะขัดกับความเชื่อและทัศนคติส่วนตัว เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสื่อสังคมออนไลน์แบบเฟซบุ๊คเปิดช่องให้การกลั่นกรองเนื้อหาที่ไม่ “ถูกใจ” สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยการตั้งกลุ่มเฉพาะซึ่งกำหนดค่าได้ว่าจะให้เป็นส่วนตัว เป็นกลุ่มเปิด กลุ่มปิด หรือให้เป็นกลุ่มลับไปเลยก็มี และยังสามารถปิดกั้นเนื้อหาของ “เฟรนด์” ที่เราไม่อยากเห็นไม่ให้มาปรากฏในฟีดข่าว (News feed) ของเรา หรือกลั่นกรองสิ่งที่เราโพสต์ไม่ให้ไปปรากฏคนในฟีดข่าวของคนที่เราไม่พึงประสงค์จะให้รับรู้ก็ได้

ในช่วงการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ผู้เขียนสังเกตเห็นแนวโน้มชัดเจนของคนที่คิดเหมือนๆ กันจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นเดียวกันเกี่ยวกับตัวกฎหมาย นักการเมือง พรรคการเมือง รัฐบาล แกนนำการประท้วง และแม้แต่เกี่ยวกับผู้ที่ออกมาแสดงบทบาทต่างๆ ในการคัดค้าน พ.ร.บ.อย่างดารา คนมีชื่อเสียง หรือนักวิชาการ แต่แทบไม่เจอการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนจุดยืนและมุมมองที่แตกต่าง พูดอีกอย่างก็คือ พลเมืองไทยที่ไม่เฉยบนพื้นที่ออนไลน์ (และอาจจะออฟไลน์ด้วย) นั้นแสดงการมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ในขั้วของตัวใน “ดักแด้สารสนเทศ” ที่อบอุ่นด้วยพวกพ้องสีเดียวกันเท่านั้น แต่ไม่ข้ามไปสร้างพื้นที่ตรงกลางเพื่อทำความเข้าใจกับคนที่คิดต่างเห็นต่าง เพราะประเมินว่าอีกฝั่งฝ่ายไม่มีค่าเพียงพอ เนื่องจากไม่มีฐานคิดที่ “ถูกต้อง” แบบกลุ่มของตน

คงไม่ต้องประเมินซ้ำอีกครั้งว่าภาวะ “ดักแด้สารสนเทศ” นี้ไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตยเลย เพราะไม่เอื้อต่อการสร้างภาวะความหลากหลายและพหุนิยมในสังคมอันจะนำไปสู่ สังคมที่ไม่คับแคบทางปัญญาและการแสวงหาทางออกร่วมกันของสาธารณะต่อปัญหาสังคม การจะรังสรรค์สิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้พลเมืองก็จำเป็นต้องเปิดรับหรือเปิดโลกทัศน์ให้กว้างต่อเนื้อหาหรือประสบการณ์ที่อาจไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้เลือก แต่ก็เป็นประสบการณ์ร่วมของคนในสังคม เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ผู้เขียนเองก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับปัญหาที่หยิบยกไว้ แต่จะขอทิ้งท้ายอีกสองคำถามไว้เป็นข้อคิดเพิ่มเติมดังนี้

หนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกหากผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อฟังและพูดกับคนที่คิดเหมือนๆ กันเท่านั้น และ

สอง อินเทอร์เน็ตซึ่งให้ทางเลือกด้านข้อมูลข่าวสารแบบไร้ขีดจำกัดจะมีประโยชน์อะไรหากพลเมืองผู้ใช้กลั่นกรองข้อมูลที่เปิดรับให้อยู่ในกรอบแคบๆ ตามความสนใจและจุดยืนในเรื่องต่างๆ ของแต่ละบุคคล หรือกลุ่มที่ตนเห็นพ้องด้วยเท่านั้น

ภาพประกอบจาก http://eslcommunity.org/profmark/2013/09/17/unfriend-your-teacher-facebook/

'วสันต์'ย้ำร่างแก้ไขรธน.ที่มาส.ว.สิ้นสุด

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 19:15

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อดีตประธานศาลรธน.ชี้ร่างแก้ไขรธน.ที่มาส.ว.ไปต่อไม่ได้ ย้ำไม่สามารถยก รธน.ม.151 มาใช้ได้ ระบุสำนักราชเลขาฯส่งคืน เพราะขัดรธน.


นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ระบบยุติธรรมกับทางรอดของประเทศไทย" ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ยังมองไม่เห็นทางรอดของประเทศสักเท่าไหร่ คล้ายๆ
เกิดความขัดแย้งตลอดเวลาในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเวลานี้ใส่เสื้อสีอะไรก็ลำบาก ไม่ว่าสีเสื้อเหลือง หรือเสื้อแดง แม้กระทั่งเดินไปไหนขณะนี้ ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาล ก็จะถูกเป่านกหวีดใส่ ทำ
ให้มีหน่วยงานอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ออกมารับลูก คดีเป่านกหวีด นำมาเป็นคดีพิเศษ เห็นว่าเป็นแค่คดีลหุโทษ ที่ทางประมวลกฎหมายอาญา ไม่สามารถออกหมายจับหรือคุมขังได้
น่าแปลกใจว่าการเป่านกหวีด ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย แต่การขว้างปาก้อนหินใส่ กลับไม่เห็นมีใครดำเนินการ ทั้งที่เป็นคดีอาญา เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติของพนักงานสอบสวนหรือไม่

นายวสันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 นั้น ถึงวันนี้ก็ยังคงมีคนพูดอยู่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ
ไม่มีอำนาจรับคำร้องนี้ ต้องผ่านอัยการ พูดเป็นแผ่นเสียงตกร่อง รวมถึงมีการพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับ เพราะผู้ถูกร้อง ไม่ใช่บุคคลหรือพรรคการเมืองตามความหมายของ มาตรา 68 แท้
จริงมาตราดังกล่าว อยู่ในส่วนของสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่หมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพของอัยการสูงสุด ดังนั้นจึงต้องแปลความให้ประชาชนยื่นตรงต่อศาลหรือ
อัยการ เพื่อเป็นการขยายพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชนให้กว้างขว้าง อีกทั้งที่มีการโต้แย้งสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ผู้ที่ถูกร้องตามมาตรา 68 นั้น ถามหน่อยว่าสมาชิกรัฐสภาไม่ใช่บุคคลหรือ

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ ก็ยังมีคนส่งสัยว่า ทำไมศาลไม่สั่งให้เลิกการกระทำ ตัดสินค้างลอยไปอย่างนั้น อยากบอกว่าจะให้เลิกการกระทำอะไร ในเมื่อวันนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. เสร็จสิ้นกระบวนการไปแล้ว และร่างกฎหมายอยู่ในชั้นของการทูลเกล้าฯ จึงไม่เป็นเหตุผลที่ศาลสั่งให้เลือกการกระทำได้ และเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ แนวทางขณะนี้ที่มีอยู่ คือ นายกฯ ต้องไปขอพระราชทานอนุญาตนำร่างกลับคืน หรือทิ้งไว้ และรอให้สำนักราชเลขาฯ ส่งกลับคืน ซึ่งผมเดาใจว่า สำนักราชเลขาฯ คงไม่ยอมทิ้งไว้เฉยๆ คงต้องส่งกลับมา" นายวสันต์ กล่าว

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ถือว่าขณะนี้ร่างดังกล่าวไปต่อไม่ได้แล้ว และรัฐสภาไม่สามารถที่จะดึงดันโดยใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 151 เพราะไม่ใช่กรณีที่พระมหากษัตริย์ มีพระบรมราชวินิจฉัย ที่จะไม่ลงปรมาภิไธย เนื่องจากร่างกฎหมายกดังกล่าวอยู่ในชั้นการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของสำนักราชเลขาฯ เท่านั้น ส่วนเมื่อศาลมีคำวินิจฉัยแล้ว การดำเนินการเอาผิดกับผู้ถูกร้องนั้น รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นของ ป.ป.ช. ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญผูกพันทุกองค์กร ส่วนที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเดินหน้าโหวตวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ส่วนตนก็เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปีที่แล้ว ที่ให้ยกคำร้อง มีผลทำให้คำขอต่างๆ ตกไป ดังนั้นรัฐสภาก็สามารถผลักดันร่างดังกล่าวได้ เพราะคำว่าควรจะทำประชามติ หรือแก้ไขรายมาตรา เป็นเพียงคำแนะนำ แต่ทั้งนี้หากการแก้ไขรัฐธรมนูญ มีเนื้อหาสาระขัดรัฐธรรมนูญ ก็มีสิทธิที่จะถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีก

ศุ บุญเลี้ยง : มีมิตรสหายอยู่รายทาง

เพื่อนนักประพันธ์

ผมมีพรรคพวกอยู่ส่วนหนึ่ง เป็นนักเขียน เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ และเป็นคนขายหนังสือ

ในทุกๆวงการ มีคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ เราต่างก็มียุคสมัยของเราเอง

ผมเป็นเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับนักเขียน
อย่าง เสี้ยวจันทร์ แรมไพร
ขจรฤทธิ์ รักษา
ดิเรก นนทชิต

เราพบเจอกันบ้าง
แต่ไม่บ่อยนักที่ผมจะได้ร่วมเดินทางด้วย

ภาพความทรงจำยามได้ถ่ายภาพร่วมกันในชุดนอนของแต่ละคน จึงเป็นความทรงจำล้ำเลอค่า

คราหนึ่งนั้นเราไปเยือนบ้านนักเขียนที่เราชื่นชม สนิทสนม
อย่าง บ้านริมน้ำยม ละแวก ชุมแสง ของกวีซีไรท์ พี่ไวท์ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
เราไปกิน ไปดื่ม ไปนอน และไปลุ้นผลรางวัลซีไรท์ ซึ่งกำลังจะประกาศและเสี้ยวจันทร์ เป็นบรรณาธิการ พิมพ์หนังสือกวีส่งเข้าชิงรางวัล ในฤดูนั้น พอดี

ขจรฤทธิ์ เป็นคนก่อตั้ง นิตยสาร ไรเตอร์
คอลัมน์ นัก(อยาก)เขียน ผมก็เปิดเขียนประจำในนิตยสารที่เพื่อนทำ
เขายังสัมภาษณ์ผม เพื่อให้ขึ้นปก สองครา ด้วยเหตุผลว่ามันขายได้
ขายดีแบบที่นิตยสารเกี่ยวกับนักเขียนพอจะขายได้
ไม่ได้ดีถล่มทลาย ร่ำรวยแต่ประการใด

จำได้ว่าฤดูนั้น
เราเดินทางกันไป สัมภาษณ์กันไป เล่นไพ่กันบ้าง
ทดลองสมอง บางด้าน

หลังจากขจรฤทธิ์ เหนื่อยกับการทำนิตยสารไรเตอร์
กนกพงศ์ ก็สืบทอดเจตนา มาทำต่อ

เสียดายว่า ผมกับกนกพงศ์ คุยกันน้อยไปสักนิด

เขาเคยเดินไปเยี่ยมเยือนถึงบ้าน พบพ่อที่บนเกาะสมุย
เราเคยดวลวาทะกัน บนเวทีเสวนา เขาอยู่ข้างบน ผมแย้งอยู่ข้างล่าง
เราเคยเขียนหนังสือ โต้อักษรกัน แลกหมัดความคิดกัน

กระทั่งเขาเสียชีวิต ผมเดินทางไปเคารพศพ ในวันเผาที่ พัทลุง อย่างเสียดาย
เสียดายว่า เราคุยกันน้อยไป เราเถียงกันน้อยไป และเราดื่มกันน้อยไป

ตอนนี้บินหลา สันกาลาคีรี มิตรสหายอีกราย
นำนิตยสารไรท์เตอร์มาทำต่อ
เขาขอร้องว่า อยากได้เพลงเกี่ยวกับนักเขียน
เพื่อมาใช้ในงานเปิดตัวหนังสือ

ผมยินดียิ่ง ที่ได้เขียนถึงอาชีพ นักเขียน นักปั้นคำ
ตอนแต่งก็รู้สึกว่า ตัวเองกำลังประพันธ์บทเพลง ที่ชื่อว่า นักประพันธ์

แต่งแล้วก็ไม่ได้ไปแสดงที่ไหนอี
กำลังคิดว่า
จะลองนำมาเรียบเรียงให้ดีๆ
แล้วนำมาแสดงในคอนเสิร์ต สักครา
เพื่อระลึกถึง มิตรสหายผู้เป็นนักประพันธ์ทั้งหลาย


‘วสิษฐ’ ซัด พท. ทำตัวเหมือนโจรหลังประกาศเดินหน้าถอดถอนตุลาการฯ

‘วสิษฐ’ ซัด พท. ทำตัวเหมือนโจรหลังประกาศเดินหน้าถอดถอนตุลาการฯ – เตือนมวลชนต้องเตรียมพร้อมสู้ทันเล่ห์เหลี่ยม ‘แม้ว’

(21พ.ย.56)เมื่อเวลา 19.15 น. ที่เวทีประชาชนต้านกฎหมายนิรโทษ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนัก ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อประชาชนที่มาชุมนุมว่า เมื่อวานนี้ (20 พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มา ส.ว.ว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68นั้น หมายความว่าขณะนี้ ส.ส. กับ ส.ว. ที่กระทำการดังกล่าว หมดความชอบธรรมไปแล้ว ซึ่งในการที่คนในพรรคเพื่อไทย ประกาศเดินหน้าถอดถอนตุลาการและไม่รับคำวินิจของศาลนั้น เป็นการกระทำของคนนอกกฎหมาย เปรียบเหมือนกับโจรที่มาปล้นบ้าน ดังนั้น เป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ของประชาชนที่จะปกป้องบ้านเรา ดังนั้น ตนอยากจะพูดกับข้าราชการโดยเฉพาะตำรวจว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ชัดว่า รัฐบาลกำลังทำผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น การกระทำหรือคำสั่งของรัฐบาลตำรวจต้องระมัดระวังว่า เป็นคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพราะตนเชื่อว่า ตำรวจไม่ได้ไร้การศึกษา แต่รู้กฎหมายดีว่าอะไรถูกหรือผิดกฎหมาย ดังนั้น ขอให้ตำรวจใส่ใจทุกคำสั่งที่ทางรัฐบาลดำเนินการ มิฉะนั้น ตำรวจจะกลายเป็นผู้รับใช้รัฐบาลชั่ว และต่อไปตำรวจจะตกเป็นจำเลยด้วย ดังนั้น ตนยืนยันว่า มวลชนที่นี้มาด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะฉะนั้น เพื่อนตำรวจที่มีอุดมการณ์เดียวกันขอให้คิดว่า ยังมีเพื่อนอยู่ที่นี้เสมอ

พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวต่อว่า การชุมนุมของมวลชนคนเสื้อแดงที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่แกนนำสั่งมวลชนถอยกลับบ้านไปนั้น ตนขอให้เห็นใจ เพราะการที่การชุมนุมครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ได้ตาสว่างแล้ว เพราะรู้ว่าธาตุแท้ของ พ.ต.ท. ทักษิณ เป็นอย่างไร ถือเป็นการชุมนุมยุติอย่างไม่มีใครคาดฝัน โดยบางคนหลังจากเซ็นต์รับเงินแล้ว ก็ถอดเสื้อแดงมาที่ ถ. ราชดำเนินมาเชียร์มวลชนที่นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า ยังวางใจไม่ได้เพราะยังอยู่ในเกมส์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีอาญาแผ่นดิน อยู่ เพราะว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีเล่ห์เพทุบายมาก ดังนั้น พวกเราจะต้องเตรียมพร้อมในการทันเล่ห์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อไป ถือเป็นเหตุผลว่าทำไมมวลชนที่นี้ต้องชุมนุมต่อ ดังนั้น ในวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ขอเชิญประชาชนให้มาชุมนุมกันอีกครั้ง จนกว่าจะได้ชัยชนะ นอกจากนี้ ที่ตนมายืนบนเวทีที่นี้ ไม่ได้เลื่อมใสในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ตนมาด้วยเหตุผล จิตสำนึก และในฐานะคนไทย ซึ่งตนเชื่อมั่น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำที่นี้ เพราะเชื่อในความเป็นสุเทพ ส่วนความสัมพันธ์กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนรักเป็นการส่วนตัวไม่ใช่ในฐานะหัวหน้าพรรค และ ตนได้ศึกษานิสัยใจคอของบุคคลทั้ง 2 แล้ว เห็นว่าเป็นเพื่อนที่สามารถรวมใจ รวมพลังกันได้ ซึ่งหนทางข้างหน้าอีกยาวกว่าจะชนะ ดังนั้น ขอให้มวลชนที่นี้อาศัยความอดทนและเอื้ออาทรกันและกัน ถึงจะกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ถ้าอดทนแล้ว จะไปสู่ชัยชนะอย่างไม่ลำบาก โดยต้องละทิ้งทิฐิ มานะบ้าง เพราะขณะนี้จุดหมายคือต้องล้มระบอบทักษิณเท่านั้น ซึ่งคนที่นี้ไม่ได้คิดล้มรัฐบาลแต่อย่างใด ถ้าเปลี่ยนจากฟังพ.ต.ท.ทักษิณ มาฟัง ประชาชน คนที่นี้ก็ยอมให้อำนาจรัฐบาลทำงานต่อไป แม้แต่แลเห็นชัยชนะแล้ว ขออย่าแน่ใจว่าเป็นชัยชนะเด็ดขาดต้องสู้ต่อไป จนกว่าจะได้ชัยชนะที่เด็ดขาดที่แท้จริง


พรรคสามัญชนหนุนเดินหน้า ร่างแก้ รธน. ม.291 วาระ 3

Thu, 2013-11-21 19:32

กลุ่มนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในชื่อพรรคสามัญชน ออกแถลงการณ์ ‘เดินหน้าแก้ไข รธน. ม.291 วาระ 3 และขอประชามติจากประชาชน’ หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
 
 
21 พ.ย.56 กลุ่มนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในชื่อพรรคสามัญชน ออกแถลงการณ์ ‘เดินหน้าแก้ไข รธน. ม.291 วาระ 3 และขอประชามติจากประชาชน’ ภายหลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติต่อคำร้องในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ชี้ว่าเนื้อหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ (คลิกอ่าน)
 
แถลงการณ์ระบุว่า พรรคสามัญชน มีความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิก้าวล่วง และศาลรัฐธรรมนูญควรมีหน้าที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างกฎหมายอื่นมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เท่านั้น
 
อีกทั้งเป็นเรื่องปกติที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเดิม เพราะหากไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเดิมก็ย่อมไม่จำเป็นต้องแก้ไข ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญเดิมหรือไม่ จึงเป็นเพียงเรื่องตลกทางการเมืองเท่านั้นเอง
 
นอกจากนี้ พรรคสามัญชน เห็นด้วยกับแนวทางการเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 วาระ 3 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.3) ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันว่าประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 จริง จึงเสนอว่า หลังสภาผู้แทนพิจาณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปทำประชามติก่อนที่จะส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อให้วุฒิสภา
 
อนึ่งรายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้
 
 
แถลงการณ์ พรรคสามัญชน
เดินหน้าแก้ไข รธน. ม.291 วาระ 3 และขอประชามติจากประชาชน
 
ตามที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากมีมติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนั้น พรรคสามัญชนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีสิทธิก้าวล่วง พรรคสามัญชนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญควรมีหน้าที่วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างกฎหมายอื่นมีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
 
อีกทั้งเป็นเรื่องปกติที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญเดิม เพราะหากไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเดิมก็ย่อมไม่จำเป็นต้องแก้ไข ดังนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาว่าร่างรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญเดิมหรือไม่ จึงเป็นเพียงเรื่องตลกทางการเมืองเท่านั้นเอง
 
เพื่อยืนยันหลักการนี้ พรรคสามัญชนเห็นด้วยกับแนวทางการเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 วาระ 3 เพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.3) ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 จริง พรรคสามัญชนขอเสนอเพิ่มเติมว่า หลังจากสภาผู้แทนพิจาณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.291 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปทำประชามติก่อนที่จะส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อให้วุฒิสภา
 
อนึ่ง พรรคสามัญชนเป็นพรรคการเมืองที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักกิจกรรมทางสังคมซึ่งเห็นร่วมกันว่าจำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองเพื่อเป็นองค์กรในการผลักดันสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นธรรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของสามัญชน
เปลี่ยนแปลงสังคม โดยคนธรรมดา เพื่อสามัญชน
พรรคสามัญชน
21 พฤศจิกายน 2556
 
 

ป.ป.ช.ยกคณะนั่งอนุ กก.ไต่สวน 5 คำร้องถอดถอน “สมศักดิ์ – นิคม”

ป.ป.ช.ยกคณะนั่งอนุ กก.ไต่สวน 5 คำร้องถอดถอน “สมศักดิ์ – นิคม” และร้องอาญา 308 ส.ส.-ส.ว. ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน. “ปรีชา” รับ นำคำวินิจฉัยเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบด้วย ด้าน “วิชัย” แจง ฟันเลยไม่ได้ ต้องตรวจสอบเจตนาก่อน คาด ใช้เวลาพอสมควร

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งและคำกล่าวหาที่มีผู้ร้องจำนวน 5 เรื่องแล้ว และมีมติให้นำคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหาทั้งหมดมารวมพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งให้กรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง โดยให้นายวิชา มหาคุณ, นายใจเด็ด พรไชยา และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน ทั้งนี้ 5 คำร้อง แบ่งเป็นเรื่องกล่าวหาร้องเรียนขอให้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 1.สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 3 คน ได้กล่าวหา ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 308 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งที่ตามกฎหมายอื่น ทำให้ผู้กล่าวหาหรือประชาชนได้รับความเสียหาย และ 2.ประชาชนกล่าวหาร้องเรียน กรณีมีสมาชิกรัฐสภาใช้บัตรประจำตัวของตน เสียบบัตรเข้าเครื่องลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาคนอื่น ในการออกเสียงลงคะแนนโดยมิชอบ

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000144970