PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560

‘วิษณุ’ไม่เชื่อ มีช่องโหว่ กม.ลูกถูกคว่ำ จนต้องเลื่อนเลือกตั้ง ยันเป็นไปตามกรอบ

‘วิษณุ’ไม่เชื่อ มีช่องโหว่ กม.ลูกถูกคว่ำ จนต้องเลื่อนเลือกตั้ง ยันเป็นไปตามกรอบ


“วิษณุ” เชื่อ ศึกไพรมารีโหวตต้องจบ แต่ไม่แน่ใจลงเอยดีหรือเปล่า ย้ำ รัฐบาลไม่เห็นลางว่าต้องเลื่อนโรดแมป
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 28 มิถุนายน ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันว่า ตนเชื่อว่าสุดท้ายเรื่องไพรมารีโหวตจะจบได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องจบ มีตารางเวลาล็อกไว้แล้ว แต่จะจบด้วยดีหรือไม่นั้นไม่ทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาฟันธงว่าการเลือกตั้งปลายปี 2561 จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากมีช่องโหว่หากกฎหมายลูกถูกคว่ำ นายวิษณุกล่าวว่า นั่นเป็นโรดแมปนายนิพิฏฐ์ ตนอยู่กับรัฐบาลต้องพูดโรดแมปของรัฐบาล ใครจะมองอย่างไรเป็นเรื่องของเขา รัฐบาลไม่ได้คิดว่าจะถูกคว่ำ รัฐบาลคิดตามโรดแมปของรัฐบาล
เมื่อถามว่า หากกฎหมายลูกไม่เสร็จภายใน 8 เดือนจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ทราบ ไม่ตอบ เพราะเราเชื่อว่าจะเป็นไปตามกรอบ อย่าไปสมมุติสิ่งที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญให้มันเป็นประเด็น เมื่อถามย้ำว่า การที่กฎหมายลูกไม่เสร็จตามกรอบ จะส่งผลกระทบให้โรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ตอบ เอาไว้เมื่อถึงเวลาค่อยพูดกันว่ามันจะเกิดอย่างนั้นแล้ว วันนี้ยังไม่เห็นลาง และเราไม่ได้คิดวิธีรับมือตรงนั้นไว้เลย เพราะรัฐบาลไม่ได้คิดในแง่ลบ ไม่มีอะไรให้ต้องวิตกว่าต้องเลื่อนโรดแมป
เมื่อข้อถามว่า รัฐบาลยังยืนยันหรือไม่ว่ากฎหมายลูกที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จภายใน 4 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ นายวิษณุกล่าวว่า เราไม่พูดถึงกรอบนั้นแล้ว ต้องพูดถึงกรอบใหญ่ทั้งหมดต้องให้เสร็จภายใน 8 เดือนหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ เดิมเราคิดว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะทำ 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งก่อน แต่เขาทำไม่ได้ ซึ่งมีเหตุผลของเขา

ชิงมวลชนก่อนลุยเลือกตั้ง

ชิงมวลชนก่อนลุยเลือกตั้ง
โดย สายล่อฟ้า

ไม่มีสูตรสำเร็จ อะไรก็เกิดขึ้นได้

ที่ว่าอย่างนี้ก็คือ สถานการณ์หลังการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนแล้วว่าปลายปี 2561 เพียงแต่ว่าผลจากการเลือกตั้งจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเป็นไป

เมื่อแต่ละฝ่ายมีจุดมุ่งหมายไปในทิศทางเดียวกันก็คือ การได้เป็นรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้ประชาธิปไตย “ครึ่งใบ”

สังเกตได้ว่า บรรดาพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่ 2 พรรค เริ่มออกสเต็ปไปในทางหาเสียงหาคะแนนกันแล้ว แม้จะมีกฎเหล็กที่ค้ำคออยู่จนไม่สามารถแสดงบทบาทได้อย่างเต็มที่คือคำสั่งห้ามพรรคทำกิจกรรม

แต่ความเคลื่อนไหวภายใต้เงื่อนไขจำกัดนี้ก็ไม่ถึงกับถูกปิดปากพูดจาวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ โดยเฉพาะในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของชาติและประชาชน

รัฐบาล คสช.ก็ทำได้แค่ชี้แจงทำความเข้าใจเท่านั้น

เพราะถ้าเล่นเกมหนักมากไปก็จะเข้าเนื้อมากกว่าจะส่งผลดี อาจถูกมองไปในแง่เรื่องการใช้อำนาจหรือมีผลประโยชน์ได้เสีย

ยิ่งวันนี้กำลังถูกเพ่งเล็งมากกว่าที่ผ่านมา

การต่อสู้ที่ดีที่สุดก็คือ การสร้างผลงานให้ประชาชนพึงพอใจ ได้รับการยอมรับและการใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯได้ควักเอาแนวคิดที่จะจัดให้มีการประชุม ครม.สัญจรขึ้นมาปัดฝุ่นกันใหม่ ซึ่งกำลังกำหนดวาระกันอยู่ ทั้งนี้ จะดำเนินการในทุกภาคทั่วประเทศ

เพียงแต่จะใช้จังหวัดไหนเป็นที่จัดประชุมเท่านั้น แต่ก็ต้องเป็นจังหวัดที่เป็นเป้าหมายชัดเจน และมีความสำคัญที่จะเป็นฐานเสียงสนับสนุนได้อย่างเต็มที่

ครม.สัญจรนั้น แม้จะไม่ใช่ของใหม่มีบางรัฐบาลได้ดำเนินการมาแล้ว และได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้รัฐบาลได้รับการตอบรับและเสียงสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น

ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิธีการว่าจะใช้ทีเด็ดอย่างไรเพื่อซื้อใจกัน

ด้วยบทบาทและลีลาของนายกฯประยุทธ์นั้นถือว่าไม่ธรรมดา มีความสามารถและศิลปะในการครองใจคนได้ไม่น้อย

ที่ต้องยอมรับอยู่อย่างก็คือ รัฐบาลชุดนี้มีเครื่องมือและกลไกที่เข้าถึงชาวบ้านได้หลายช่องทางผ่านทางทีวี วิทยุ

ทีวีช่องดิจิทัลนั้นถ่ายทอดรายการของ คสช.ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาดูเหมือนจะไม่เข้าถึงเป้าหมายอย่างที่ควรจะเป็น นั่นแสดงว่ายังไม่มีความสามารถที่จะถ่ายทอดไปสู่ชาวบ้านได้

ทว่า การเข้าถึงแบบเห็นหน้าเห็นตา เห็นตัวตน ที่ควรจะทำมานานแล้วแต่ไม่ทำเพราะถ้าเดินสายไปให้ครบทุกจังหวัดความใกล้ชิดก็มีมากขึ้นเท่าทวีคูณ

นี่ถือว่าเป็นความได้เปรียบที่อยู่ในอำนาจ

วันนี้มีเสียงเรียกร้องให้พรรคการเมือง นักการเมืองจับมือกันเพื่อต่อสู้กับอำนาจที่ต้องการให้ “คนนอก” เข้ามาเป็นนายกฯ

เพราะเห็นว่านี่เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะสกัดกั้นได้ แต่ความเป็นจริงทางการเมืองมันคงไม่ง่ายอย่างโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์

ที่แปลกไปกว่านั้นมีการสำรวจความเห็นของประชาชนด้านหนึ่งก็เห็นด้วย แต่อีกด้านหนึ่งก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้

ยิ่งกว่านั้นยังให้ความเห็นว่าควรจะมีการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯหลังการเลือกตั้ง

เป็นความจริงทางการเมืองของประเทศไทย.
“สายล่อฟ้า”

จาก...แผนพัฒนาชาติ สู่...ยุทธศาสตร์ชาติ

จาก...แผนพัฒนาชาติ สู่...ยุทธศาสตร์ชาติ
โดย ซูม

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดกันหนาหูเรื่องยุทธศาสตร์ชาติที่ร่าง พ.ร.บ.ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว และคงจะออกมาเป็น พ.ร.บ. ที่สมบูรณ์มีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้

หลายเสียงบอกว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ หลายเสียงบอกว่าจะขัดกับหลักประชาธิปไตย และหลายๆเสียงบอกว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก

แต่หลายๆเสียงก็บอกว่าดี เพราะยุทธศาสตร์ชาติ น่าจะเป็นเรื่องดีๆ และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ควรจะได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ผมเองก็เคยเขียนติงไว้อย่างเป็นกลางๆ เพราะเข้าใจและชื่นชมในเจตนาดีของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่ได้อ่านเอกสาร “เบื้องหลัง การถ่ายทำ” ดังที่เกริ่นไว้แล้ว

เพียงแค่ห่วงในเรื่องการปฏิบัติที่อาจจะขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยในอนาคตเท่านั้น

ก็พอดีนึกถึงเรื่องของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ขึ้นมาได้ ซึ่งถ้าจะว่าไปก็คือยุทธศาสตร์หรือวิธีการในการพัฒนาประเทศชาติอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

คือคิดหรือคาดการณ์เสียก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตและประเทศไทยเราควรจะดำเนินการหรือวางตัวอย่างไรบ้าง แล้วก็กำหนดเป็นแผนงานโครงการและยุทธวิธีเพื่อไปดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้สอดคล้องกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือตั้งใจจะให้เกิดขึ้น

เพียงแต่แผนพัฒนาชาติอาจจะมองเพียง 4-5 ปี มิใช่ยาวเป็น 20 ปี อย่างที่มีการพูดถึงในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย

ในฐานะผู้ที่เคยมีประสบการณ์และมีโอกาสสัมผัสความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของการจัดทำแผนพัฒนาประเทศไทยอยู่บ้างประกอบกับผมจะต้องแว่บไปต่างจังหวัดสัก 2-3 วัน ก็เลยอยากจะหยิบยกความหลังมาเล่าสู่กันอ่าน ทั้งเพื่อให้มีข้อเขียนเต็มคอลัมน์ ระหว่างผมไม่อยู่ และเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์โยงไปถึงเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำลังฮือฮาอยู่ในขณะนี้ ไม่มากก็น้อย

มาเริ่มที่แผนพัฒนาประเทศกันก่อนเลยครับ

นับเป็นเวลา 56 ปีพอดีที่คนไทยเราได้ยินและรู้จักกับคำว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจ” ซึ่งมีการประกาศใช้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2504 ในยุคที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ มีการขยายแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเติมคำว่าสังคมไปด้วย เมื่อ พ.ศ.2510-2514 และ เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้

ทำกันทุกๆ 5 ปี จนล่าสุดก็คือแผนฉบับที่ 12 เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2560-2564 คือปีนี้เป็นต้นไป

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถือเป็นคู่มือสำคัญที่รัฐบาลจะใช้ในการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามทิศทางที่กำหนดไว้

แผนฉบับที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ เขียนแล้วหน่วยราชการทำตาม 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ แผนพัฒนาฉบับที่ 1 ในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์อย่างที่ว่า

จอมพลสฤษดิ์ท่านเชื่อมือข้าราชการ นักวิชาการที่เรียกว่าเทคโน แครต ยุคนั้นที่มาช่วยท่านทำแผนฉบับที่ 1 ซึ่งมีทั้ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ม.ล.เดช สนิทวงศ์, บุญมา วงศ์สวรรค์, ฉลอง ปึงตระกูล, สุภาพ ยศสุนทร และหลังๆก็มี ดร.อำนวย วีรวรรณ ฯลฯ ด้วย

เขียนอะไรมาท่านก็เอาหมด และก็สั่งหน่วยราชการให้ทำตาม

มาในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ช่วงแผน 2 ก็ยังใช้สั่งการได้อยู่ เพราะจอมพลถนอมท่านยังมีบารมีอยู่มาก แต่พอเข้าแผน 3 ที่เริ่ม พ.ศ.2515-2519 ก็เริ่มมีการปฏิบัติตามน้อยลง เนื่องจากจอมพลถนอมถูกนิสิต นักศึกษา ประชาชน เดินขบวนขับไล่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มใช้แผน 3 มาประมาณปีเศษๆ.
(อ่านต่อพรุ่งนี้)
“ซูม”

ก้าวหน้าหรือถอยหลัง?

ก้าวหน้าหรือถอยหลัง?

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีผลผูกพันคนไทยทั้งประเทศถึง 20 ปี เสียงวิจารณ์จึงยังมีอยู่ต่อไป นักวิชาการบางคนวิพากษ์ว่า เป็นแผนการอยู่ในอำนาจยาวของ คสช. ขณะที่นักการเมืองสองพรรคใหญ่เตรียมร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เป็นการออกกฎหมายแบบมัดมือชก ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ให้รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ฝ่ายรัฐบาลชี้แจงว่า ผ่านการรับฟังความคิดเห็น
ประชาชนในทุกขั้นตอน รองประธาน สนช. ยืนยันว่า ทำตามรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน รัฐบาลส่งเอกสารการรับฟังความเห็นให้ด้วย

หลายคนฟังคำชี้แจงแล้วอาจสงสัยว่า รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติตั้งแต่เมื่อไหร่ คอลัมนิสต์บางคนเขียนแซวว่า รัฐบาลเปิดเว็บไซต์ และเชิญประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น มีประชาชนเปิดเว็บไซต์ 3,000 ราย แต่ร่วมแสดงความคิดเห็นเพียง 8 คน ถือว่าเป็นอันเสร็จ “พิธีกรรม” แล้วใช่หรือไม่?

แต่ถ้าดูร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเห็น ได้ว่า ประชาชนแทบจะไม่มีส่วนร่วมใดๆ เริ่มด้วยการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 คน

ชัดเจนว่า กรรมการส่วนใหญ่ เป็นข้าราชการ มีผู้นำเหล่าทัพกำกับดูแลอยู่ แต่ไม่มีที่ว่างสำหรับประชาชน ส่วนขั้นตอนต่อไปต้องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้เสร็จภายใน 120 วัน ส่งกลับไปให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อส่งต่อคณะรัฐมนตรี จากนั้นก็จะเสนอร่างสู่ สนช.พิจารณาอนุมติ ทุกขั้นตอนไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติเป็นกฎหมาย แล้ว รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ 250 ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นผู้ติดตามเร่งรัดให้รัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติ และมีเสียงขู่ด้วยว่า รัฐบาลใดไม่ทำตาม อาจต้องโทษถึงติดคุก ทั้งๆที่กฎหมายฉบับนี้ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้าร่วม ประชาชนก็ไม่ได้ร่วม แต่ใช้บังคับกับคนกว่า 65 ล้านคน แบบนี้มัดมือชกหรือไม่?

กฎหมายฉบับนี้อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปกครองประเทศโดย “รัฐราชการ” หรือ “ชนชั้นนำภาครัฐ” แต่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “อมาตยาธิปไตย” ขอให้ประชาชนอยู่เฉยๆ รอฟังคำสั่งเพียงอย่างเดียว จะมีคณะสัพพัญญูผู้รู้แจ้งปัญหาทุกอย่างของประเทศ เป็นผู้ออกกฎหมายใช้บังคับกับคนทั้งประเทศ เป็นการเมือง 4.0 หรือ 0.4 ก้าวหน้าหรือล้าหลัง?

จริงๆขาด ‘พี่ใหญ่’ ไม่ได้

จริงๆขาด ‘พี่ใหญ่’ ไม่ได้

“ลาบเป็ด 4.0” ลีลาล่าสุด “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ลงมือปรุงอาหารโชว์ในงานอีเวนต์ก่อนประชุม ครม.

ได้โอกาสโฆษณาแฝง “ยี่ห้อ 4.0” ที่เป็นแบรนด์ของรัฐบาล คสช.

และนั่นก็เป็นการตอกย้ำเลยว่า “ไทยแลนด์ 4.0” คือยุทธศาสตร์ที่เป็นกลไกหลัก ตามภาษาแบบที่นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล นักวิชาการ อดีตคนเดือนตุลาฯ บอกว่า เป็น “มาสเตอร์แพลน” ในการช่วงชิงมวลชนและการสร้างความชอบธรรมใหม่ของชนชั้นนำภาครัฐที่แยบยลมาก เป็นส่วนสำคัญของการยึดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อสถาปนาอำนาจการนำ

“นายกฯลุงตู่” ครึ้มใจ “ไทยแลนด์ 4.0” กำลังติดลมบน

คนไทยส่วนใหญ่เริ่มรับรู้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายปฏิรูปใหญ่ เป็นจุดขายที่ทีมงาน คสช.นำไปต่อโปรโมชั่นอำนาจพิเศษได้สบาย

โดยรูปการณ์ ประเมินเงื่อนไขภายนอก ภายหลังรัฐบาล คสช.ล็อกความได้เปรียบไว้ทั้งกลไกรัฐธรรมนูญ ทั้งยุทธศาสตร์ 4.0 ทั้งสารพัดโครงการประชารัฐ

ทุกอย่างดูจะเข้าทาง “นายกฯลุงตู่” เรื่อยๆ

แต่ที่ป่วนสวนทางขึ้นมาก็คือแรงกระเพื่อมจากภายใน กับปรากฏการณ์อำนาจขบเหลี่ยม

เหยียบตาปลากันเองในเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย ในสถานการณ์กระเพื่อมแรงๆจากเงื่อนปมกฎหมายลูก ทั้งคิวของร่าง พ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อเนื่องถึงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ตามท้องเรื่อง “หนุมานเหาะเกินกรุงลงกา”
ต่างฝ่ายต่างร้อนวิชา ตัดต่อ เพิ่มเติมเนื้อหาในกฎหมายลูกกันมั่วไปหมด
สถานการณ์แบบที่นักการเมืองอาชีพแท็กทีมยืนฝั่งเดียวกับ “ซือแป๋” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่เอาด้วยกับไพรมารีโหวตที่น่าจะใช้ไม่ได้ผลกับระบบการเมืองไทย แถมเป็นการคุมกำเนิดพรรคตั้งใหม่ เป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติจริง

ขณะที่กรรมาธิการ สนช.ก็ยืนกรานว่าเป็นแนวทางที่สุดยอดในการจัดการกับการเมืองระบบบริษัทจำกัด โดยมีกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คนดังอย่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กระโดดออกมาถือหางไพรมารีโหวต ยืนยันว่าไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ กกต.จัดเลือกตั้งได้สบาย

นั่นก็ทำให้นายมีชัยหมั่นไส้ อัด กกต.รับใบสั่งจนสับสน ขณะที่นายสมชัยก็ย้อนศรทันควัน ตามรูปการณ์ที่โยงกับอารมณ์ค้างมาจากยุทธการ “เซ็ตซีโร่” กกต.

สนช. กกต. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ล่อกันเองฝุ่นตลบ

หันไปที่ ครม.ก็ส่อกระเพื่อม แกะรอยตามปรากฏการณ์ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯย้อนถามนักข่าวมีรัฐมนตรีจะลาออกตาม สนช.และ สปท.ที่เตรียมไปลงสมัครเลือกตั้งบ้างไหม

ยั่วต่อมสงสัย ให้ต้องตามเช็กสัญญาณปรับ ครม.

และก็บังเอิญต่อเนื่องกัน กับอาการทะลุกลางปล้องของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่หงุดหงิดกับสถานการณ์แก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ

สงสัยทำไมกระทรวงเกษตรฯต้องรับทุกเรื่อง

โยนกลองกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ช่วยรับหน้าเสื่อเคลียร์สถานการณ์ราคาปาล์ม ราคาข้าวโพดตกต่ำ เพราะเป็นฝ่ายคุมการนำเข้า

เดาอารมณ์ น่าจะเจือภาวะกดดันจากกระแสให้ตัวเปลี่ยน รมว.เกษตรฯ

และอีกจุดที่ถูกจับตาตลอดที่มีกระแสปรับ ครม. ตามรูปการณ์ที่คนวงนอกทั้งกระแทก ทั้งแซะ ลุ้นให้ “พี่ใหญ่” อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เบอร์หนึ่งด้านความมั่นคง หลุดออกจากวง ครม.

แต่เท่าที่จับอาการคนวงใน ส่วนใหญ่กลับห่วง “บิ๊กป้อม” กลัวจะฝืนสังขารไม่ไหว

ตามอาการป่วยของคนอายุ 70 กว่าที่ต้องผ่าตัดใหญ่ ที่ปกติธรรมดาต้องใช้เวลาพักฟื้นหลายเดือน แต่อย่างที่เห็น “บิ๊กป้อม”พักแค่ไม่กี่วันก็ต้องกลับมาทำงาน

แถมเจ้าตัวยังนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการหลายสิบคณะแทบทุกวัน

โดยสถานการณ์แท้จริง คนในเรือแป๊ะจึงช่วยกันประคอง“พี่ใหญ่” เต็มที่

เพราะถ้าขาด “บิ๊กป้อม” ไป รัฐบาล คสช.ยวบเลยก็แล้วกัน.

ทีมข่าวการเมือง