PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ข่าว26/1/60

ปรองดอง

นายกฯ ให้กำลังใจชาวสุราษฎร์ธานี น้ำท่วม บอก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใย รับสั่งให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับประชาชนที่ประสบอุทกภัย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งเสมอมาตั้งแต่รับเป็นพระมหากษัตริย์ โดยให้ดูแล ประชาชนให้ดีที่สุด และมีชีวิตความเป็นอยู่ปกติให้ได้เร็วที่สุด ด้วยการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องขึ้นกับประชาชนต้องร่วมมือ อยากนำความห่วงใย โดยสิ่งที่พระองค์พระราชทานให้ ทั้งทรัพย์ ถุงยังชีพ โดยให้องคมนตรี ลงยังพื้นที่ประสบภัย ดังนั้น ต้องทำให้พระองค์สบายพระทัยว่าเราร่วมมือกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังขึ้นบินบนอากาศพบว่า มีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ประชาชนจึงต้องเข้าใจธรรมชาติก่อน โดยนำพระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ต้องเข้าใจปัญหาก่อน ใช้เทคโนโลยีและปรับกับพื้นที่ รวมทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาของความเศร้าโศก ขอบคุณคนใต้ ที่หมุนเวียนเดินทางไปกราบพระบรมศพ แม้ลำบากแต่ทุกคนก็ไป ไม่มีน้อยลง ขณะเดียวกัน ยืนยันรัฐบาลจะอยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง จนกว่ามีประชาธิปไตย ใครอยากเลือกตั้งเมื่อถึงเวลาต้องเลือกให้ดี ดีกว่าตนเอง  พูดแล้วต้องทำด้วย จึงต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
------
นายกฯ อ้อนคนสุราษฎร์ฯ ลงพื้นที่เพราะรัก อยากให้คนไทยสู้แบบคนใต้ ยัน รบ. เร่งฟื้นฟูพื้นที่จะทำให้ดีที่สุด 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ก่อนมารู้สึกไม่สบายใจโดยคิดว่าลงพื้นที่ครั้งนี้ จะมาเจอบรรยากาศที่เศร้า แต่มาถึงกลับเห็นชาวใต้ยิ้มแย้มแจ่มใส จึงอยากให้คนไทยสู้แบบคนใต้ อดทนแก้ปัญหาร่วมกัน ถ้าคนไทยมีหัวใจเข้มแข็งทั้งหมด ประเทศไทยก็ไปได้ด้วยดี การลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพราะรักคน จ.สุราษฎร์ธานี อยู่แล้ว และเป็นจังหวัดที่มีศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) ในฐานะรัฐบาล จึงต้องมากำกับดูแล เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยยืนยันว่า จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และทำตามระเบียบต่าง ๆ ด้วย โดยภาพรวมนั้นมีกว่า 1.8 ล้านคน ทุกคนจึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟู โดยใช้กฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว และหามาตรการเพิ่มเติม เช่น เงินกู้ระยะสั้น การผ่อนชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ย เป็นต้น พร้อมยังขอให้ประชาชนในพื้นที่เชื่อฟังหากมีการแจ้งเตือนต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะสุราษฎร์ธานีเท่านั้น แต่ดูแลทั้งประเทศ และไม่ได้ทำเพื่อตนเอง นำงบประมาณมาใช้และทุจริต ขอให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาดูเรื่องทุจริตด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้ยกเลิกภารกิจลงเรือเพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนประสบอุทกภัย เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวกราก จึงต้องเดินทางโดยขบวนรถยนต์ไปยังมัสยิดบ้านหนองจอกแทน
------
"เสรี" เชื่อไร้ปัญหา "นายก ฯ - ประวิตร" ไม่ขานรับ ม.66/23 ชี้แค่นำเสนอแนวทาง ยันมีการศึกษาวิธีการอื่นด้วย ขอทุกคนเปิดใจสร้างปรองดอง 

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวบรวมความคิดเห็นวิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองทางการเมือง ที่มี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน กำลังเร่งพิจารณารวบรวมข้อมูล และศึกษาแนวทางต่าง ๆ ที่มีการรวบรวมไว้ โดยในเบื้องต้นจะไม่ใช้กระบวนการของการนิรโทษ แต่จะขับเคลื่อนด้วยกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย เป็นหลัก

ส่วนที่มีการเสนอใช้โมเดล "ม.66/23" และมีเสียงปฏิเสธมาจากนายกรัฐมนตรี รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่รับผิดชอบในงานปรองดองนั้น ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอนุฯ กมธ. ก็ยังไม่เคยมีมติว่าจะใช้แนวทางดังกล่าวเป็นหลัก เพียงแต่หยิบยกมาศึกษาเท่านั้น และมีการศึกษาแนวทางอื่น ๆ ประกอบอยู่ด้วย 

ทั้งนี้ นายเสรี กล่าวด้วยว่า อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจ รับฟังเหตุและผลของทุกฝ่าย ที่แสดงออกในเรื่องดังกล่าว เพราะเชื่อว่า ทุกคนหวังดีอยากเห็นประเทศชาติสงบสุข เดินหน้าไปได้ และถือเป็นเรื่องดีที่แต่ละพรรคแสดงออกอย่างชัดเจนในการเข้าร่วมสร้างความปรองดอง โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ตอบรับมาอย่างเป็นทางการแล้ว
------
พล.อ.ประวิตร ขออย่ามอง MOU ปรองดองเป็นแค่เศษกระดาษ รอนายกฯ แต่งตั้ง ป.ย.ป. เร่งทำงานใน 3 เดือน เตรียมส่งเลขาฯ สมช. ไปลาว จัดการคนหนีคดี ม.112 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.ท.จันสะหมอน จังยาสาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย - ลาว ครั้งที่ 23 ที่โรงแรมอนันตรา สยาม

โดย พล.อ.ประวิตร ได้การเปิดเผยว่าจะส่ง พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เดินทางไป สปป.ลาว ในช่วง 1 - 2 วันนี้ เพื่อประสานข้อมูลด้านความมั่นคง รวมถึงติดตามตัวผู้กระทำความผิดหลบหนีคดี ม.112 อยู่ใน สปป.ลาว เบื้องต้น ยืนยัน สปป.ลาว มีข้อมูลและพร้อมให้ความร่วมมือทั้งในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะต้องหารือในเรื่องข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงการเดินหน้าสร้างความปรองดองว่า รอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งรายชื่อของ ป.ย.ป.ชุดใหญ่ให้แล้วเสร็จ จากนั้นก็จะใช้เวลาดำเนินการตามแผนประมาณ 3 เดือน และขออย่างมอง "MOU ปรองดอง" เป็นแค่เศษกระดาษ อย่าคิดไปเอง เพราะจะทำให้คนทำงานเสียกำลังใจ ยืนยันจะทำให้เกิดผลสำเร็จให้ได้ โดยการอาจจะออกเป็นกฎหมายก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และทุกฝ่ายเห็นชอบ เบื้องต้นต้องทำขั้นตอน รับฟังความเห็น ให้เสร็จก่อน และในขณะนี้ อยากให้ทุกคน ร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ 
-------
"สุรพงษ์" ซัด คสช. - รบ. ตั้ง ป.ย.ป. มาปฏิรูปปรองดอง เป็นการคิดเอง ทำเอง ท้านายกฯ ตั้งพรรค ลงเลือกตั้ง ชี้หากชนะถือว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถูกต้อง ปชช. ต้องการ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า การเดินหน้าปฏิรูปประเทศ โดย คสช. และตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. ขึ้นมาวางและกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเร่งสร้างความปรองดองขึ้นในชาตินั้น รัฐบาล คสช. ได้คิดเอง ทำเอง และเข้าใจเอง ทั้งหมดแล้ว จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มั่นใจมาก ๆ ว่านโยบายประเทศไทย 4.0 จะสัมฤทธิ์ผล นำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ตามที่วาดหวังไว้ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียของและจะได้พิสูจน์ว่า แนวทางปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ถูกต้อง ก็อยากขอให้จัดตั้งพรรคการเมือง และเชิญชวนรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. เข้าร่วมพรรคและส่งลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่และโรดแมปให้ประชาชนที่อยากให้อยู่ต่อ ได้มีโอกาสเลือก เพื่อจะได้เป็นการพิสูจน์ว่าแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้นถูกต้องหรือไม่ พรรคการเมืองอื่น ๆ หรือรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งจะได้สบายใจ ไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะเดินตามหลักการยุทธศาสตร์ที่วางไว้

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าหากพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ ชนะการเลือกตั้งก็จะได้ไม่เสียของ และจะได้รู้และเข้าใจถึงวิธีการบริหารงานภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องเป็นไปตามกฎกติกา ที่ได้ร่วมกันยกร่างขึ้นอยู่ในขณะนี้ และจะไม่มี ม. 44 มาใช้เป็นเครื่องมือ ในการทำงานหรือบริหารงานจะได้รู้ว่ายากหรือง่ายกว่ากัน
---------------
"อภิสิทธิ์" แนะ ป.ย.ป. เจ้าภาพหลักสร้างปรองดอง ชี้ให้แม่น้ำหลายสายดูแล อาจทำสังคมสับสนจ่อส่งข้อมูลให้ สปท. 31 ม.ค.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับแนวทางการปรองดองร่วมกับสมาชิกพรรค โดยที่ประชุมเห็นว่าทุกฝ่ายต้องทำงานสนับสนุนกัน เพื่อให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง ซึ่งสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ต้องทำงานแบบรวมศูนย์เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ป.ย.ป. รวบรวมความเห็นเพื่อกำหนดกรอบให้ชัดเจนและเดินหน้าแนวทางปรองดองไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้เกิดความสับสนต่อสังคม พร้อมกับกำหนดแนวทางรับฟังความเห็นให้ชัดเจนซึ่งจะเป็นหลักประกันในความสำเร็จที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. ยังไม่คืบหน้า ซึ่งส่วนตัวขอเสนอ 2 แนวทางในการคัดเลือกบุคคลทำงานสร้างความปรองดอง คือ การนำเอาบุคคลที่หลากหลายเข้ามาดำเนินการ และการตั้งเป็นกรรมการอำนวยการประมวลความคิดเห็น เพื่อป้องกันบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่จะเป็นกลางหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ระบุแนวทางการปรองดองจะไม่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถือเป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มต้น ซึ่งในส่วนของพรรค จะเสนอความเห็นไปยัง สปท. ในวันที่ 31 มกราคม นี้
----------
"มีชัย" บอกยังไม่ทราบรัฐบาลเชิญร่วมเวิร์คช็อป ป.ย.ป. 1 ก.พ. นี้ ขณะยืนยัน กรธ. ยึดหลักความเป็นธรรมไม่ว่าความปรองดองจะเกิดหรือไม่

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ให้สัมภาษณ์ถึงการที่รัฐบาลเตรียมเสนอกฎหมายอำนวยความยุติธรรม ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการปรองดอง แต่เป็นไปตามแนวทางที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด โดยยืนยันว่า กรธ. พยายามร่างกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของอนาคตและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรม ซึ่งไม่ว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ กรธ. ก็ยืนยันยึดหลักความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทั้งรัฐและประชาชน

ขณะเดียวกัน นายมีชัย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมจัดประชุมชิงปฏิบัติการของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสมัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ โดยจะมีตัวแทนรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ซึ่งมีรายงานว่าจะมี กรธ. ร่วมประชุมด้วยนั้น เบื้องต้น กรธ. ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานงาน และยังไม่ทราบว่า กระบวนการสร้างความปรองดองนี้ ต้องการกฎหมายใดเพิ่มเติมหรือไม่
---------
“มีชัย” ปัดตอบ ปม แก้รธน.ฉบับผ่านประชามติตามข้อสังเกต

เมื่อเวลา 13.40 น.วันที่ 26 มกราคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการสร้างความปรองดองที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เราพยายามให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนที่จะปรองดองกันนั้น เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งจะต้องมีกฎหมายหรือไม่ก็ยังไม่มีใครรู้ เพราะไม่รู้ว่า จะปรองดองกันอย่างไร ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องทำในอนาคตจะมีเรื่องปรองดองด้วย นั้น ไม่ว่าจะมีปรองดองเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องเป็นธรรมอยู่แล้ว กฎหมายทุกฉบับที่เราทำต้องคิดถึงความเป็นธรรม ไม่ว่าฝ่ายรัฐ หรือ ราษฎรต้องได้รับความเท่าเทียมเท่ากัน ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จะจัดเวิร์กช็อป วันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติตามข้อสังเกตพระราชทานนั้น นายมีชัย ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด และเดินเข้าห้องประชุม กรธ. ทันที
---------------------
บิ๊กป้อม เดินหน้าเต็มตัว...จัดการ พวกหนี ม.112 ไปลาว

พลเอกประวิตร เผยจะส่ง พลเอกทวีป เนตรนิยม เลขาฯสมช.ไปลาว 1-2วันนี้ ประสานข้อมูล เสื้อแดง-พวกหนีคดีม.112ที่อยู่ลาว ชี้ลาวก็มีข้อมูล เขาพร้อมร่วมมือกับเรา ทั้งกต.-ตม.-ตร.‬ เพราะต้องคุยในเรื่องข้อกฏหมาย ด้วย ว่า ทางลาวจะดำเนินการอย่างไรได้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการขอความร่วมมือกับประเทศลาวกรณีที่มีสถานีวิทยุเผยแพร่ข้อมูลหมิ่นสถาบันฯ และพวกหนีคดี ม.112 ว่า หารือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางลาวตอบรับจะไปดูแลให้ โดยจะไปตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านี้อยู่ในบริเวณใดขอประเทศลาว

ทั้งนี้ ตนจะส่ง พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เดินทางไปประเทศลาวเพื่อติดตามเรื่องนี้ เพราะการดำเนินการต้องเป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงกลาโหม และกระทรวงป้องกันประเทศของลาว รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ ทุกๆ เรื่องที่เราร้องขอไปทางลาวตอบรับอย่างดี เพื่อให้ทั้งสองประเทศอยู่อย่างสงบ และแลกเปลี่ยนผู้ร้ายอย่างชัดเจน โดยผู้บุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของลาวที่อาศัยในประเทศไทย หากพบ
เราก็พร้อมดำเนินการให้ ขณะเดียวกันในส่วนกลุ่มคนที่หมิ่นสถาบันที่อาศัยในประเทศลาวเราได้ให้ข้อมูลไปแล้ว ซึ่งก็ต้องแลกเปลี่ยนงานด้านการข่าว
--------------
“ยิ่งลักษณ์”ฝากทุกฝ่ายมี”เมตตาธรรม-หลักนิติธรรม”อย่าเป็นศัตรู ก่อนนับหนึ่งปรองดอง

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ศาลปกครอง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองของรัฐบาลว่า คงต้องให้เวลาพรรคการเมืองหารือกันก่อน ขณะนี้ในส่วนของตนยังไม่มีการพูดคุยกันเลย เพราะยังไม่มีความชัดเจนออกมาว่าจะให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร เรายังไม่ทราบรายละเอียดจริงๆ คงต้องรอการตั้งคณะกรรมการฯก่อน และหลักเกณฑ์ ว่าจะเชิญทุกฝ่ายมาพูดอะไรบ้าง และคนที่มาจะต้องมีความครอบคลุม ขอยังไม่ให้ความเห็นในขณะนี้ แต่อะไรที่เป็นประโยชน์ในภาพรวมต่อประชาชน ประเทศชาติ ก็พร้อมร่วมมือกัน

“ขณะนี้ยังไม่มีใครทาบทามมาให้เข้าร่วม เราคงเอาตัวเองเป็นตัวตั้งไม่ได้ ต้องดูประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับเป็นตัวตั้งมากกว่า แต่ส่วนตัวเห็นว่าหัวใจสำคัญในการสร้างความปรองดองคือต้องมีเมตตาธรรม หลักนิติธรรม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการที่เป็นธรรม ถ้าเราได้สองหลักนี้ เชื่อว่าอย่างอื่นจะตั้งต้นได้ง่าย จริงๆต้องยึดตรงนี้ อย่ายึดว่าแต่ละฝ่ายเป็นศัตรูกัน ถ้ามองแต่ละฝ่ายเป็นศัตรูกันเราคงเริ่มนับหนึ่งการปรองดองได้ยาก ถ้าเรามองว่าจะมาร่วมกันแก้ปัญหาให้ประเทศและให้ประเทศก้าวพ้นจากตรงนี้ ต้องมองด้วยใจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม และเรามาคิดกันดูว่าหลักอะไรบ้างที่จะเกิดความเป็นธรรมกับทุกคน และเป็นไปตามหลักนิติธรรมที่สากลและทุกคนยอมรับ”น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะไม่มีการพูดถึงการนิรโทษกรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องพูดแต่เริ่มต้นหลักคิดก่อนว่าความหมายของการปรองดองและวิธีการตั้งแต่เริ่มต้นจะครอบคลุมถึงอะไร ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น
/////////
ยิ่งลักษณ์

กองเชียร์แน่น ให้กำลังใจ "ยิ่งลักษณ์" หน้าศาลปกครอง รอไต่สวนคดียื่นฟ้องนายกฯ ออกคำสั่งทางปกครองมิชอบ

บรรยากาศบริเวณด้านหน้าศาลปกครอง มีประชาชนที่ให้การสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการเดินทางมาตามคำนัดศาลปกครองกลางที่นัดไต่สวนในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟ้องร้อง นายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 4 คน กรณีออกคำสั่งทางปกครองโดยมิชอบ ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเมื่อครั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ (ผู้ฟ้องคดี) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย ที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่เป็นเหตุให้กระทรวงการคลัง ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ ผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เดินทางมาวันนี้ส่วนใหญ่สวมเสื้อขาว โดยพิมพ์ข้อความให้กำลังใจ
--------------
"ยิ่งลักษณ์" ขึ้นศาลปกครองขอทุเลาคำสั่งชดใช้คดีข้าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเข้าไต่สวนตามคำนัดของศาลปกครองกลาง โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ว่า วันนี้เป็นการนัดไต่สวนเบื้องต้น โดยศาลได้ให้ทั้งสองฝ่าย กลับไปทำคำชี้แจงเพิ่มเติม และจะต้องรอผลหลังจากส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่าประเด็นหลักที่ได้ชี้แจงในครั้งนี้นั้น คือ ประเด็นความเดือดร้อน ว่า ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาและยังไม่สิ้นสุดกำลังถ้าเกิดทรัพย์สินต่าง ๆ ถูกยึดและอายัดทรัพย์จะเป็นความเดือดร้อน ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่ตนเองที่เดือดร้อน แต่รวมไปถึงครอบครัวผู้ที่ถูกฟ้องร้องด้วย

พร้อมกันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังหวังว่าศาลปกครองจะคุ้มครองชั่วคราว และชะลอคำสั่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องชี้แจงกับศาลปกครอง หากศาลจะให้โอกาส เพราะมีความเดือดร้อนและความลำบาก ซึ่งมีความทุกข์ที่ไม่สามารถบรรยายได้

นายนพดล หลาวทอง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในการไปไต่สวนครั้งนี้ ศาลยังไม่ได้ให้ความชัดเจน ว่า คุ้มครองหรือไม่ เพราะยังอยู่ระหว่างที่จะต้องให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีมาชี้แจงเพิ่มเติม โดยจะใช้เวลา 30 วัน
///
ปมทุจริต

"จาตุรนต์" FB ตั้งคำถาม 4 ข้อ ถึงรัฐบาล - ประชาชน จะแก้ปัญหาทุจริตอย่างไร หลังดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยตกต่ำลง 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chaturon Chaisang" จากข่าวดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยตกต่ำลง จากได้ 38 คะแนน ในปี 2558 มาเป็น 35 คะแนน และมาอยู่อันดับที่ 101 ในปี 2559 ทำให้มีประเด็นที่น่าคิด อยู่ 4 เรื่อง คือ

1. รัฐบาล คสช. ประโคมข่าวมาตลอดว่าเอาจริงเอาจังกับการปราบคอร์รัปชั่น ถือว่าการปราบคอร์รัปชั่นเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการยึดอำนาจและการอยู่ในอำนาจ เหตุใดผลที่ออกมาจึงสวนทางกับสิ่งที่พูดอยู่ตลอดเวลา

2. ที่ผ่านมา เวลาพูดถึงการปราบคอร์รัปชั่น สังคมไทยเรามักพูดถึงความเด็ดขาด เอาจริงของบุคคลหรือคณะบุคคล หรือไม่ก็จะพูดถึงการสร้างจิตสำนึก มากกว่าการพูดถึงระบบ เป็นไปได้หรือไม่ที่จุดนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

3. ผู้ที่มีอำนาจในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในช่วง 2 - 3 ปีมานี้ มักไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะเกี่ยวข้องอะไรกับการปราบคอร์รัปชั่น การปิดกั้นเสรีภาพจึงเกิดขึ้นตลอดมา แม้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบโครงการของรัฐหลาย ๆ โครงการก็ถูกปิดกั้นเสรีภาพ และถูกคุกคามอย่างหนัก ซึ่งประเด็นนี้ก็อยู่ในรายงานของการประเมินครั้งนี้ด้วย

4. ตามที่ปรากฏในข่าว รายงานนี้ยังได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้อันดับของไทยแย่ลง เนื่องจากความไม่เป็นประชาธิปไตยหรือความเป็นเผด็จการ ซึ่งน่าจะตรงข้ามกับความเข้าใจของคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการปราบคอร์รัปชั่นทั้งหลาย ที่มักจะเห็นว่าระบบเผด็จการนั้นปราบคอร์รัปชั่นได้ดีกว่าระบบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ทิ้งท้ายว่า ขอฝากให้ช่วยกันคิดต่อว่าเมืองไทยจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร
-----------
"ม.ล.ปนัดดา" FB ประเด็นรูปภาพที่โตเกียว ขออย่าตำหนิทับถมสถาบันข้าราชการ แต่ให้มองเป็นเรื่องของตัวบุคคล

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Panadda Diskul" ว่า ใครจะพูดจะตำหนิอะไรกัน เรื่องรูปภาพที่นครเกียวโต ขออย่าตำหนิหรือทับถมสถาบันข้าราชการ ช่วยกันขบคิดให้หนักเป็นเบา เป็นบทเรียนสำคัญ ขอให้มองเป็นเรื่องของตัวบุคคล เป็นพฤติกรรมเฉพาะตัว ที่คงจะมีแนวคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมือนใคร หรือไม่มีใครคิดจะกระทำ

อะไรได้เช่นนั้น เพราะคนไทยรักชาติ รักเกียรติยศ และชื่อเสียงเกียรติภูมิ โดยเฉพาะเหล่าข้าราชการที่เราจะต้องช่วยบอกกล่าวกันให้มาก สิ่งใดควรไม่ควร อันเป็นชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศชาติและประชาชน ที่ต้องช่วยกันดำรงรักษา ไม่ให้ลูกหลานไทยเสียใจ
------------
"สมคิด" ระบุ กรณีที่ข้าราชการถูกควบคุมตัวข้อหาขโมยรูปที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรกล่าวหาภาพรวมว่าเป็นความผิดของกระทรวงพาณิชย์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ข้าราชการระดับรองอธิบดีของกระทรวงพาณิชย์ ถูกควบคุมตัวข้อหาขโมยรูปภาพโรงแรมที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการอยู่แล้ว โดยเรื่องที่เกิดขึ้นในภาพรวมแล้วไม่ควรกล่าวหาว่าเป็นความผิดของกระทรวงพาณิชย์ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของส่วนบุคคล จะต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลไป และขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนอยู่แล้ว และหากพิจารณาว่ามีความผิดจริง จะต้องดำเนินการตามกระบวนทางกฎหมาย โดยจะไม่มีการช่วยเหลือให้พ้นความผิดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ราชการบุคคลดังกล่าวด้วย ส่วนรายละเอียดของบทลงโทษและผลกระทบด้านการค้านั้น ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด
-----------
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย ยังไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม กรณีข้าราชการขโมยภาพวาดที่โรงแรมของญี่ปุ่น 

กรณี ข้าราชการระดับรองอธิบดีของกระทรวงพาณิชย์ ถูกควบคุมตัวที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ข้อหาขโมยภาพวาด3 ภาพมูลค่า 15,000 เยน ที่ติดอยู่ในโรงแรม หลังจากพนักงานโรงแรมพบว่ามีภาพวาดที่ตกแต่งอยู่บริเวณชั้น 9 - 10 ได้หายไป เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมานั้น นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากที่มีข่าวเผยแพร่ออกมา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา ประสานการทำงานร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการกงสุล โดยได้จัดสรรล่าม และทนายความ ซึ่งในวันนี้อยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอเข้าเยี่ยม

--------------
อดีตกัปตันบินไทย ยื่นนายกฯ สอบ "จรัมพร" - พร้อมขอให้ใช้ ม.44 ตรวจสอบการทุจริตบริษัทการบินไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายโยธิน ภมรมนตรี อดีตกัปตันการบินไทย พร้อมด้วย นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน ขอให้ตรวจสอบการกระทำของ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการเงิน บริษัทการบินไทย จำกัดมหาชน ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ กรณีอนุมัติการเดินทาง ซึ่งมีค่าวีซ่า ระยะเวลา 10 ปี และค่าดำเนินการ ให้ นายณรงค์ชัย ไปร่วมงาน ของบริษัทโบอิ้ง กว่า 7.1 หมื่นบาท ทั้งที่ นายณรงค์ชัย เป็นพนักพนักงานจ้างตามสัญญา 4 ปี เหลืออายุ ปฏิบัติงานอีกประมาณ 19 เดือน

นอกจากนี้ ยังขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มูลค่า 55,249 ล้านบาท และใช้เครื่องยนต์ของโรลส์ - รอยซ์ ด้วย เนื่องจากเครื่องบินทั้ง 10 ลำใช้งานเพียง 9 ถึง 10 ปี และหยุดทําการบินเมื่อปี 2556 ปัจจุบันปลดประจำการ จอดรอการขายต่อที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินอู่ตะเภา ตลอดจนขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งหมดในบริษัทการบินไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันด้วย
--------------
คณะทำงานฯ ป.ป.ช. เตรียมประชุมคอนเฟอเรนซ์ SFO หกโมงเย็นวันนี้ ยันหากได้ชื่อคนทุจริตตั้งอนุฯ สอบทันที เชื่อหาก มี ม.44 ช่วยจะทำให้เร็วขึ้น 

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า คณะทำงานฯ นัดประชุมทางไกลเทเลคอนเฟอเรนซ์ กับสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ในเวลา 18.00 น. วันนี้ เพื่อขอข้อมูลกรณีการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์ - รอยซ์ ถ้ามีความชัดเจนในรายละเอียด เช่น ตัวบุคคล พฤติการณ์ หรือสถานที่ในการจ่ายสินบน จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป แต่ยอมรับว่ายังไม่สามารถเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทันในวันนี้ เนื่องจากต้องรอข้อมูลจากการบินไทย และ ปตท. รวมถึง ปตท.สผ. ที่จะได้ในวันนี้ รวมถึงข้อมูลจาก SFO ด้วย

นอกจากนี้ เลขาฯ ปปช. ยังกล่าวว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ต้องประสานขอข้อมูลเอกสารจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประสานขอข้อมูลอย่างเป็นทางการกับ SFO และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และกระทรวงการต่างประเทศตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา จึงคาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการไต่สวนเกินกว่า 1 เดือน อย่างไรก็ดีหาก หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็จะช่วยกระชับกรอบเวลาการดำเนินการได้มากขึ้น
------------
กฟผ. วอนสื่อ เสนอข้อมูลให้ถูกต้อง ยันไม่เกี่ยวข้องปมรับสินบนจัดซื้อเคเบิลและสายไฟฟ้า 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐของไทยในการจัดซื้อเคเบิลและสายไฟฟ้าอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ และสื่อมวลชนบางแห่งได้ลงข่าวว่า กฟผ. เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจของไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ในความเป็นจริง ตามข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาที่รายงานการจ่ายค่าปรับของบริษัท เจเนอรัล เคเบิล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเคเบิลและสายไฟฟ้า จากการที่บริษัทฯ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา รวมถึงประเทศไทย มิได้มีชื่อของ กฟผ. เป็นหนึ่งในองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ข่าวดังกล่าวจึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน และการเผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จนี้ทำให้ กฟผ. เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังในการเผยแพร่ข่าวด้วย
-----------------
รัฐมนตรีฯ คลัง ชี้ ปมโรลส์ - รอยซ์ ถือเป็นบทเรียน เร่งปรับปรุงช่องโหว่ภาครัฐป้องกันการทุจริต

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่องค์การความโปร่งใสระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยว่าประเทศไทย ถูกจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นในปีนี้ที่ 101 จากอันดับที่ 76 ในปีที่ผ่านมา โดยมีคะแนนเพียง 35 มองว่าเป็นผลสำรวจจากความรู้สึก ไม่ได้เกิดขึ้นจากที่หน่วยงานราชการรับสินบนใต้โต๊ะบริษัท โรลส์ - รอยซ์ เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากโครงการที่เป็นประชานิยมจึงทำให้ไทยลูกลดอันดับลง

ทั้งนี้ มองว่า การที่ บริษัท โรลส์ - รอยซ์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลถือเป็นเรื่องดีที่มีหลักฐานในการเปิดเผยข้อมูล ทำให้ไทยสามารถเอาผิดกับหน่วยงานราชการที่กระทำผิด ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางป้องกันการคอร์รัปชั่น โดยกระทรวงการคลัง ได้หารือกับกรมบัญชีกลาง ในการแก้ไขระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นธรรม โปร่งใส มากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดราคากลาง ที่ในช่วงที่ผ่านมามีข้อกังขาว่า มีการทุจริต ซึ่งกรมลัญชีกลางเป็นเพียงแค่หน่วยงานในการกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ราคากลางหน่วยงานจะเป็นผู้กำหนดเอง ดังนั้น ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมจัดหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบการจัดทำราคากลาง ร่างทีโออาร์ เพิ่อให้มีความโปร่งใส
------------

พันธกิจของ คสช.-ปรองดอง : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เหตุผลสำคัญที่คณะรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้เป็นหัวข้ออ้างในการทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็คือ เพื่อสร้างความปรองดองในหมู่ประชาชน เพราะเกิดความแตกแยกออกเป็นเสื้อสีเหลือง เสื้อสีแดง ความแตกแยกดังกล่าวก็ยังคงดำรงอยู่ หากเลิกการปฏิวัติ เลิกการห้ามชุมนุม เลิกการห้ามจัดกิจกรรมทางการเมือง ก็ยังไม่แน่นักว่าความแตกแยกจะปะทุขึ้นมาอีกหรือไม่
แต่หลายคนก็เชื่อว่าสถานการณ์ความแตกแยกได้ผ่านพ้นไปแล้ว การชุมนุมหรือการก่อความไม่สงบภายในประเทศคงจะไม่เกิดขึ้น เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นก็ดี การลงประชามติของประชาชนในการรับร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นเครื่องยืนยัน ประชาชนยอมรับการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมาด้วยคะแนนเสียงข้างมากอย่างล้นหลาม ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคในการดำเนินการตามโรดแมปของคณะรัฐประหาร แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา ข้าวโพด อ้อยและน้ำตาล น้ำมันปาล์ม จะมีราคาลดลงกว่า 2 ใน 3 ก็ไม่มีใครเดือดร้อน แม้ว่าน้ำจะท่วมปักษ์ใต้อย่างหนัก สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน ชาวไร่กาแฟ ถนนหนทางเสียหาย การคมนาคมถูกตัดขาด ไร่นาสาโทจมอยู่ใต้น้ำ ประชาชนของเราชาวใต้ก็ทนได้ ส.ส.จะลงพื้นที่ไปดูแลช่วยเหลือทำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เพราะรัฐบาลส่งกองทัพลงไปช่วยเหลือแทน การก่อการร้ายก็ลดลงจนเกือบไม่เป็นข่าว เหลือแต่ทหารพรานไว้ดูแลก็เพียงพอแล้ว
สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังเลวร้ายอยู่ ในแง่ผลผลิตและราคาการส่งออก ผลประกอบการของธุรกิจขนาดย่อม ทุกสิ่งอย่างก็เหมือนประชาชนจะสามารถรับได้ ไม่เป็นปัญหากับรัฐบาล เพราะรัฐบาลเชื่อว่าเศรษฐกิจดีขึ้นและจะดีขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2560 นี้
หลายคนก็เชื่อตามรัฐบาลบอกว่าจะเป็นเช่นนั้น
เสถียรภาพทางการเงินของประเทศก็มั่นคง ถ้าไม่นับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายๆ ปี รายรับจากการส่งออกลดลง แต่ความที่เศรษฐกิจไม่ขยายตัวจึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำเข้าลดลงมากกว่าการหดตัวของรายได้จากการส่งออก
รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายการเดียวที่เป็นเลขค้ำการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน แม้เราจะชูประเด็นทัวร์ศูนย์เหรียญ จับผู้บริหารบริษัทที่จับมือกับบริษัททัวร์จีน ก็ไม่เป็นไรนักท่องเที่ยวจีนก็ไม่ลดลง แถมยังมีจำนวนมากขึ้นด้วย เป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนจะมาเมืองไทยถึง 9.2 ล้านคนก็ยังคงเป็นเป้าหมายที่น่าจะทำได้ต่อไป ทุกอย่างดูสดใสไปหมดสำหรับผู้รับผิดชอบในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ จนมีดำริว่าจะต้องขึ้นภาษีหลายอย่าง เช่น ภาษีทรัพย์สิน เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ทั้งที่ความร้อนแรงดังกล่าวไม่มี
พันธกิจต่างๆ ที่คณะรัฐประหารให้สัญญาไว้ตามโรดแมปที่จะคืนความสุขให้กับประชาชน หลังจากที่ต้องแบกทุกข์มาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี คงจะประสบความสำเร็จไปหมดแล้ว คงเหลือพันธกิจอยู่อย่างเดียวที่คณะรัฐประหารยังทำไม่สำเร็จ พันธกิจที่ว่านี้ก็คือการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อคณะ คสช.หันมาให้ความสำคัญกับพันธกิจที่จะสร้างความปรองดองให้กับคนไทย จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและเอาใจช่วยให้ประสบความสำเร็จ
ก้าวแรกของการดำเนินการให้เกิดความปรองดองก็คือ การตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ตามสูตรที่อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรตามที่ได้รับมอบหมายมา สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน ครั้งนี้ก็เช่นกัน
นอกจากจะตั้งคณะกรรมการที่มีชื่อยาวกว่าสะพานกรุงเทพแล้ว ยังตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นอนุกรรมการของคณะกรรมการชุดนี้อีก 4 คณะ คือ 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กรรมการทั้งหมดทุกชุดนี้จะรวบรวมทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ พรรคการเมือง เพื่อมาลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความสามัคคีปรองดอง จะหยุดทะเลาะกัน จะหยุดมีความคิดจะหยุดมีความเห็นแตกต่างกัน จะรักใคร่กลมเกลียวกัน
ปรากฏว่าแกนนำทุกฝ่ายทุกกลุ่มยินดีไปลงนาม ตกลงที่จะสมัครสมานกลมเกลียวรักใคร่ซึ่งกันและกัน มีอยู่กลุ่มเดียวที่ยืนท้าทาย ไม่ไปตามเสียงเรียกร้องของรัฐบาลและ คสช. ที่ไม่ยินยอมไปร่วมลงนามด้วยคือแกนนำ กปปส.และแกนนำพรรคมวลมหาประชาชน ซึ่งเป็นตัวแทนของสมาชิกพรรคที่มีจำนวนกว่าล้านห้าแสนคน นับว่าเป็นการยืนท้าทายโต้ลมอยู่เพียงกลุ่มเดียว โดยไม่สนใจใคร ไม่สนว่าเป็นความคิดของใคร และใครเป็นผู้ริเริ่ม ทั้งๆ ที่ผู้ริเริ่มเป็นเจ้ากระทรวงกลาโหมและเป็นบุคคลสำคัญใน คสช.
งานคืนความสุขให้กับประชาชนที่ คสช.ร้องบ่นทางโทรทัศน์อยู่ทุกวัน ก็คือ การนำกลับคืนมาซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชนในชาติ ไม่มีสีเหลืองสีแดงหรือสลิ่มหลากสี มีแต่สามสี
หรือไตรรงค์ อันได้แก่ แดง-ขาว-น้ำเงิน อันหมายถึง ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นคำขวัญที่ใช้เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ เพื่อต่อต้านลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก
ที่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนืออธิปไตยของไทยในขณะนั้น
ในรอบเกือบ 3 ปีตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แม้ว่างานอื่นๆ เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรหลักๆ งานทางด้านต่างประเทศ จะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ได้สัญญาไว้ก็ตาม หากงานจัดให้เกิดความปรองดองในชาติแม้ว่าจะเริ่มคิดเริ่มทำช้าไปเกือบ 3 ปีก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าไม่ริเริ่มทำ
ทุกคนทุกฝ่ายควรจะให้ความร่วมมือกับคณะที่ตั้งชื่อยาวๆ นี้ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน
ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ซึ่งจะให้โอกาสกรรมการทุกคน สมาชิกทุกฝ่ายได้ระบายความคับข้องหมองใจและเสนอความเห็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความปรองดองในชาติ
พวกเราประชาชนก็ควรเอาใจช่วย ไม่ควรติเรือทั้งโกลนว่าจะไม่สำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ควรจะเอาใจช่วยอย่างเต็มที่หากเห็นช่องทาง ถ้าจะให้เกิดความสำเร็จควรจะต้องทำอะไรบ้าง ควรทำใจให้ว่างละ “ตัวกู ของกู” ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติราชบัลลังก์เป็นที่ตั้ง ก็คงจะเห็นทางออกว่า หนทางไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติควรจะเป็นอย่างไร
ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องคิดเหมือนกันหมดแบบสังคมคอมมิวนิสต์ในอดีต แต่ยอมรับเสียงข้างมากและเคารพเสียงส่วนน้อยและระบอบการเปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยสันติวิธี เลิกเรียกรถถังลากปืนใหญ่ออกมากระทำการอย่างที่เป็นมามากถึง 19 ครั้งแล้ว ในรอบ 80 ปีนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา
หากทุกคนเอาใจช่วยให้เกิดการปรองดอง ก็จะเกิดกระแสสนับสนุนให้คณะกรรมการชื่อยาวกระทำการได้สำเร็จและหากคณะกรรมการดังกล่าวสามารถทำให้เกิดความสำเร็จได้ ก็เพียงพอแล้วสำหรับการทำรัฐประหารครั้งนี้ แม้ว่าพันธกิจอื่นที่ได้สัญญาไว้จะไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ตาม พันธกิจในการสร้างความปรองดองต้องประสบความสำเร็จ มิฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์ในการทำรัฐประหารครั้งนี้
การที่สังคมและประเทศชาติจะเดินหน้าไปได้ ก็ด้วยการประสานรอยร้าวจากการที่สังคมเกิดการแตกแยก เป็นรอยร้าวที่ลึกจนหยั่งไม่ถึงว่าลึกขนาดไหน การประสานรอยร้าวและกลับมาสู่ภาวะปกติที่เราอยู่กันได้ แม้ว่าความเห็นทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคมจะแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราเห็นตรงกันหมด ก็คือ การมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ขอสนับสนุนและเอาใจช่วยให้พันธกิจของ คสช.อันนี้ประสบความสำเร็จ
อย่าให้เสียของ
วีรพงษ์ รามางกูร

ปรองดอง ไม่ได้ด้วยอำนาจ คำสั่งหรือเสียงข้างมาก : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เป็นอันว่าคำสั่งอย่างเป็นทางการตามอำนาจมาตรา 44 ประกาศออกมาแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป)
มีกรรมการระดับรอง 4 คณะคือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง
คณะกรรมการชุดหลังสุด รุกเร็ว รบเร็ว แพลมชื่อออกมาก่อน มีคณะอนุกรรมการย่อยอีก 4 ชุด รวมทั้งสิ้น 98 คน เป็นนายทหารเสียส่วนใหญ่ เลยกลายเป็นประเด็นเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วม ลามไปถึงข้อเสนอให้กองทัพร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงจะไม่ใช้วิธีการปฏิวัติ รัฐประหารแก้ปัญหาอีกต่อไป
ปรากฏว่าข้อเสนอถูกปฏิเสธจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานคณะกรรมการยืนยันว่า ที่ทหารปฏิวัติเพราะความจำเป็น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่อยากทำ
เลยมีคนพยายามมองมุมบวกถึงการที่มีแต่ทหารเต็มไปหมดในกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นเพียงการเริ่มต้น อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เส้นทางยังอีกยาวไกล สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร อะไรทำนองนั้น
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 สะท้อนความคิดว่า ถ้าการปรองดองไม่สำเร็จอาจกระทบงานอื่น มีผลต่อการปฏิรูปขับเคลื่อนคณะอืนๆ ใน ป.ย.ป.
การสร้างความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โจทย์ใหญ่ โจทย์ยาก และสลับซับซ้อน
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาไม่ได้มีเพียงแค่ว่า จะปรองดองกันเรื่องอะไร ใครปรองดองกับใคร ใครสมควรต้องลงนามบันทึกข้อตกลงบ้าง แต่ลึกลงไปถึงขั้นที่ว่า กองทัพเป็นคู่ขัดแย้งด้วยหรือไม่
โจทย์ข้อหลังนี้ กองทัพจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า องค์ประกอบ โครงสร้าง และกระบวนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ล้วนเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ด้วยกันทั้งสิ้น
เพราะหลักการใหญ่ที่จะนำไปสู่ความสามัคคี ปรองดอง คือ ความร่วมมือ ความยินยอมพร้อมใจ ไม่ใช่ด้วยคำสั่งการและอำนาจ
การให้เกียรติ เคารพศักดิ์ศรี มองคนอื่นเป็นมิตร ไม่ใช่ศัตรู ด้วยแนวทางสันติ การเมืองนำการทหาร คิดต่างแต่อยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ใครไม่คิดอย่างตัว ไม่ทำแบบตัว เป็นคนหนักแผ่นดินไปหมด
ความคิด ท่าที การแสดงออกต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งต้องเพิ่มขีดความอดทนมากขึ้นอีกหลายเท่าเพื่อสร้างบรรยากาศของการยอมรับ เชื่อถือ เชื่อมั่น ก่อนก้าวสู่มาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ไม่ว่า รอการลงโทษ พักการลงโทษ ปล่อยชั่วคราว จนถึงนิรโทษกรรม ที่จะนำมาใช้ต่อไป
คงหนีไม่พ้นต้องแยกแยะเป็นระดับ เป็นรายกลุ่ม ซึ่งข้อมูลมีอยู่แล้ว ใครกลุ่มไหนเข้าข่ายต่างๆ นี้บ้าง แน่นอนกลุ่มประชาชนทั่วไปในทุกครัวเรือนที่เกิดความขัดแย้ง แตกแยกเพราะเห็นต่างระหว่างพ่อแม่ พี่น้อง ในบ้านเดียวกัน เป็นกลุ่มแรกที่ต้องคำนึงถึง
กลุ่มต่อไปเป็นมวลชนผู้บริสุทธิ์ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและถูกจับกุมคุมขัง กลุ่มแกนนำต่างๆ กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีเพราะขัดคำสั่ง คสช. รวมเลยไปถึงข้าราชการที่ถูกคำสั่งลงโทษโดยผลสอบสวนความผิดยังไม่ปรากฏชัด
ทุกกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนอยู่ในข่ายที่คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ต้องนำมากลั่นกรองพิจารณาหามาตรการเยียวยาโดยเร็วเพื่อสร้างบรรยากาศ ความเชื่อมั่นและจริงใจ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ถูกมองมุมลบว่า ต้องการยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไป
ฉะนั้นประสบการณ์จากอดีต คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ที่ผ่านๆ มามีให้เห็นแล้ว โดยเฉพาะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2555 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. เป็นประธาน
กระบวนการดำเนินงานถูกโต้แย้ง เพราะยังไม่ได้เปิดโอกาสให้สังคม กลุ่มองค์กร ภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมรับรู้และร่วมตัดสินใจเท่าที่ควร
ในที่สุด กรรมาธิการซีกพรรคประชาธิปัตย์ลาออก พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ประกาศไม่ขอร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานผลการศึกษาแนวทางปรองดอง คณะนักวิจัยสถาบันพระปกเกล้าประกาศขอถอนรายงานหากกรรมาธิการยืนยันใช้เสียงข้างมากเป็นตัวตัดสินแนวทางที่คณะนักวิจัยเสนอ
กระบวนการสร้างความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ครั้งนั้นจึงล้มไม่เป็นท่า เพราะขาดการมีส่วนร่วม ยินยอมพร้อมใจ เท่าที่ควร
ซึ่งสะท้อนนัยที่ลึกซึ้ง ยิ่งกว่าเสียงข้างมากในที่ประชุมกรรมาธิการเท่านั้น

สมหมาย ปาริจฉัตต์

“เพื่อไทย” ดักคอ ดัชนีคอร์รัปชั่นแย่ลง จะมาโทษ รบ.ที่แล้วไม่ได้


วันที่ 26 มกราคม 2560 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีองค์กรเพื่อความโปร่งใส (ทีไอ) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นทั่วโลกประจำปี 2559 ซึ่งทำการสำรวจจาก 176 ประเทศว่า ประเทศไทยตกจากอันดับที่ 76 มาอยู่ที่อันดับที่ 101 โดยมีคะแนนเพียง 35 จาก 100 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าตกต่ำลงอย่างมาก ต่ำกว่าสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บริหารประเทศ ทั้งที่ข้ออ้างปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นข้ออ้างแรกๆ ที่ใช้ในการเข้ามายึดอำนาจ แต่ทำไมรัฐบาลทหารบริหารประเทศเอง กลับมีอันดับภาพลักษณ์ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นย่ำแย่ลง
“โฆษกรัฐบาลไม่ต้องออกมาแถว่าเป็นเพราะรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะดัชนีสะท้อนปี 2559 ชัดเจน รัฐบาลนี้จึงโทษใครไม่ได้ นอกจากตัวเอง สะท้อนว่าในช่วงรัฐบาลทหาร กลไกการตรวจสอบทั้งจากภาคประชาสังคมและสื่อมวลชนถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ จนส่งผลลดทอนประสิทธิภาพการตรวจสอบลงไปอย่างมาก ขอฝากรัฐบาลและองคาพยพในการตรวจสอบทั้งหลาย ช่วยตรวจสอบจีที 200 เรือเหาะ อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดข้อครหาตรวจสอบแบบเลือกปฏิบัติ ตราบใดที่ประเทศยังปกครองด้วยรัฐบาลทหาร สถานการณ์แบบนี้จะยังคงดำรงอยู่ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลของประชาชน ปัญหาเหล่านี้จึงจะได้รับการแก้ไขในทางที่ดีขึ้น” นายอนุสรณ์กล่าว

บิ๊กตู่ลั่น ยังไม่ให้เลือกตั้ง เดี๋ยวถึงเวลาแล้วให้เอง แนะ ‘เลือกคนทำให้ได้แบบผม’

นายกฯ ลั่น รบ.อยู่ทำงานจนกว่ามีเลือกตั้ง มีประชาธิปไตย ตอนนี้ยังไม่ให้เลือก ไว้รอถึงเวลาค่อย ลต. เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ดูแล ปชช.ให้ดีที่สุด บอกวันนี้ตกเป็นจำเลย แต่ก็ต้องแก้ปัญหาให้ได้
วันที่ 26 มกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยใน จ.สุราษฎร์ธานี
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับช่วงหนึ่งว่า “รัฐบาลจะอยู่ทำงานไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตย ผมถามหน่อยว่า เลือกตั้งตอนนี้เอาไหม ไม่กล้าตอบ ตอนนี้ถึงต้องการเลือกก็เลือกไม่ได้ เพราะยังไม่ให้เลือก ถึงเวลาแล้วค่อยเลือก แล้วเลือกให้ดีนะ เลือกให้ดีกว่านี้ ถ้าบอกว่าผมทำไม่ดีก็เลือกให้ดีกว่าผม ทำให้ได้แบบผม พูดให้ได้แบบผม แล้วต้องทำแบบที่พูดด้วย จะให้ทำ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่มีใครทำได้ แต่ต้องทำให้ได้มากที่สุด 80-90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็ทำต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกฯกล่าวว่า พูดถึงการวางแผน รัฐบาลได้เขียนแผนหลายเรื่อง ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์ทหาร ยุทธศาสตร์กรม ยุทธศาสตร์กระทรวง รวมถึงแผนการปฏิบัติที่ต้องสอดคล้องกันทั้งกระทรวง กรม ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องทำในกิจการทั้งหมด ซึ่งแผนเหล่านี้จะระบุไว้ล่วงหน้า กิจกรรมอะไร สมมุติฐานว่าอะไร สถานการณ์ว่าอะไร ใครรับผิดชอบตรงไหน แผนนี้ต้องออกไว้ล่วงหน้า แล้วทุกคนจะรู้หน้าที่ว่าทุกคนต้องทำอะไร เมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ประกาศแผนนี้เป็นคำสั่ง ทุกคนก็ออกทำงานได้เลย แล้วไปปรับแก้เมื่อเจอเหตุการณ์ตรงหน้า ถ้าไม่เขียนแผนอย่างนี้ที่สามารถแปรคำสั่งได้เลย ก็จะทำให้เสียเวลา เพราะต้องมีการเรียกประชุมก่อน แต่เราต้องลงไปก่อนแล้วค่อยเรียกกลับประชุม พื้นที่ต้องรับผิดชอบ ตนได้ให้แนวทางไปแล้ว ในระหว่างที่มีแผนออกมาหากยังไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ขอให้ซ้อมไปก่อน พร้อมทำความเข้าใจ ตามกิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำอะไร ใครรับผิดชอบ เมื่อรัฐบาลประกาศแผนนี้เป็นคำสั่งก็สามารถทำงานได้เลย วันนี้เรากำลังปรับปรุงส่วนนี้อยู่
นายกฯกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งถึงพวกเราด้วยพระเมตตาพระมหากรุณาธิคุณ ทรงห่วงใยเสมอมา ตั้งแต่วันที่ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ท่านก็รับสั่งกับตนและคณะทำงานที่เข้าเฝ้าฯในเรื่องของภาคใต้ ให้ดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ทำให้ชีวิต ความเป็นอยู่เป็นปกติได้โดยเร็วที่สุด และแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จะต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือเรื่องการทำถนน เพราะถนนเส้นเพชรเกษมน้ำท่วมจะต้องทำอย่างไร ถนนริมทะเลจะทำอย่างไร เชื่อมต่อกันได้หรือไม่ แต่ปัญหาอยู่ที่ประชาชนจะให้ทำหรือไม่ การขุดคลองระบายน้ำใหม่ ซึ่งมีแผนงานที่บางอันทำได้แล้ว บางอันจะต้องศึกษาใหม่ ขอความร่วมมือเถอะ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ยั่งยืน แล้วน้ำก็จะท่วมอีก อย่าคิดว่าจะลดลงไปเรื่อย มันจะลดได้เพราะการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และระบบระบายที่สมบูรณ์ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งประชาชนต้องให้ความร่วมมือ คนที่เสียสละรัฐบาลก็จะเข้าไปดู ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานถุงยังชีพและโปรดเกล้าฯให้องคมนตรีเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย
“ผมมีกำลังที่จะทำให้ท่าน มีกำลังกาย มีสมองที่จะทำให้ท่าน แต่มันไม่ใช่เงินของผม เงินของผมมีแต่เงินเดือนเท่านั้น แต่มันเป็นเงินภาษี เป็นเงินของประชาชน ต้องใช้อย่างคุ้มค่า ใครคนใดคนหนึ่งก็ต้องแบ่งปันกันให้ทั่วถึง วันนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะรัฐมนตรีคือจำเลย แต่ผมต้องแก้ปัญหาให้ท่านให้ได้ ทั้งปัญหาเร่งด่วนและระยะยาว ผมเป็นนายกฯ ก็ต้องแก้ให้ท่าน แต่แก้ปีเดียวคงทำไม่ได้ แต่ต้องแก้ตั้งแต่ตอนนี้แล้วส่งไปรัฐบาลหน้า ต้องทำต่อ ไม่ทำต่อจะแบบนี้ ผมขอฝากความรัก ความปรารถนาดีจากคนกรุงเทพฯ มาให้ด้วย คงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว ถ้าเราปรับให้อยู่ให้ได้ วันหน้าก็จะทำได้ ซึ่งรัฐบาลก็จะช่วย แต่ประชาชนก็ต้องช่วยรัฐบาลด้วย อย่าไปคิดว่าเป็นคะแนนเสียงของพวกนี้ พวกนั้น ผมไม่คิด คนไทยทั้งประเทศ คือคะแนนเสียง 70 ล้านคน เราต้องฟังคนทั้ง 70 ล้านคน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
จากนั้นนายกฯ ได้ถ่ายภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ และเดินพูดคุยกับประชาชนที่รอต้อนรับกว่า 3,000 คน จากนั้นนายกฯ เดินตามซุ้มต่างๆ โดยนายมนัสวิน นันทเสน หรือติ๊ก ชีโร่ ได้ขึ้นเวทีร้องเพลงรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ทำบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

สหรัฐฯ-อังกฤษ อาจไม่ให้ข้อมูลสินบน ‘โรลส์รอยซ์’ เหตุไทยมีโทษประหาร

ก.ยุติธรรมสหรัฐฯ – เอฟเอสโออังกฤษ งง หน่วยราชการไทยรุมขอข้อมูลสินบนโรลส์รอยซ์ ไม่รู้ใครรับผิดชอบโดยตรง “เลขา ป.ป.ช.” กังวล ไทยมีโทษประหาร อาจไม่ได้ข้อมูล
วันนี้ (26 ม.ค.) นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีสินบนบริษัท โรลส์รอยซ์ กรณีการจ่ายสินบนการจัดซื้อเครื่องยนต์และเครื่องจักรแก่เจ้าหน้าที่รัฐในบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และปตท. ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานเบื้องต้นของคณะทำงาน แต่ยังต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมจากการประชุมเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ในช่วงเย็นวันที่ 26 มกราคม อย่างไรก็ตามคณะกรรมการ ป.ป.ช.กำชับให้ระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยข้อมูลกรณีดังกล่าว ที่อาจไปกระทบกับความร่วมมือของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ(เอสเอฟโอ) เนื่องจากขณะนี้มีหลายหน่วยงานได้ประสานขอข้อมูลโดยตรงไปยังทั้งสองหน่วยงานมากเกินไป ทำให้ทั้งสองหน่วยงานสับสนว่า หน่วยงานใดของไทยจะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องดังกล่าว อาจเป็นปัญหาต่อป.ป.ช.ในการขอข้อมูล เพราะเดิมป.ป.ช.สามารถประสานขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ระดับล่างได้โดยตรง แต่เมื่อมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้หน่วยงานต่างประเทศไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลให้ ต้องขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อน ทำให้มีขั้นตอนเพิ่มขึ้นและยากขึ้น ดังนั้นหลังจากนี้อยากให้ทุกหน่วยงานต้องระวังในการให้ข่าว ไม่ให้กระทบต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน


นายสรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากประเทศไทยมีโทษประหารชีวิตในคดีสินบน ซึ่งเป็นโทษที่ไม่เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ มองว่าป่าเถื่อน อาจมีปัญหาต่อการไม่ให้ข้อมูลผู้เกี่ยวข้องในการรับสินบนแก่ไทย ซึ่งป.ป.ช.พยายามชี้แจงว่า แม้ประเทศไทยจะมีโทษประหารชีวิตในคดีสินบน แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยมีการประหารชีวิตในคดีสินบน เพื่อให้ต่างประเทศเข้าใจ ทั้งนี้หลังจากที่ป.ป.ช.ได้ข้อมูลจากต่างประเทศและหน่วยงานภายในประเทศครบถ้วนแล้ว คณะทำงานจะมาดูขั้นตอนการจัดซื้อในแต่ละช่วงว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดเกี่ยวข้องในขั้นตอนการจัดซื้ออย่างไรบ้าง เพื่อนำไปหาข้อมูลว่า ใครเป็นผู้รับสินบนจากบริษัท โรลสรอยซ์ แม้ในข้อมูลจากรายงานของเอสเอฟโอไม่ได้ระบุชื่อโดยตรงว่า ใครรับสินบน ระบุแค่ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เชื่อว่า เอสเอฟโอมีข้อมูลว่า เป็นใคร ซึ่งเป็นเรื่องที่ป.ป.ช.จะต้องไปประสานข้อมูลอีกที ภาวนาว่า หลังจากได้พูดคุยกันแล้ว เขาจะไว้ใจกล้าเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาให้เรา เพื่อเปิดโปงข้อมูลเรื่องนี้ แต่หากเอสเอฟโอไม่ยอมเปิดเผย ก็เป็นหน้าที่ป.ป.ช.ที่จะต้องไปไล่หาหลักฐานเอง

ไม่ยึดติดกับอดีต มุ่งไปข้างหน้า

ไม่ยึดติดกับอดีต มุ่งไปข้างหน้า

ตาม “คอนเซปต์” การปรองดองรอบใหม่ที่หัวขั้วอำนาจปัจจุบันอย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. กับพี่ใหญ่อย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม วางเกณฑ์ไว้

นั่นจึงไม่มีการนิรโทษกรรมล้างผิด ไม่พูดถึงการอภัยโทษ เลี่ยงโจทย์ปัญหาโลกแตกที่ทำให้การปรองดองต้องสะดุดมาตลอด

รวมถึงการปฏิเสธการใช้โมเดล “66/23” ยุทธศาสตร์สลายคอมมิวนิสต์ ของ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

เน้นสูตรปรองดองของ “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” เท่านั้น

เรื่องของเรื่อง “มากคนมากความ” ถ้าเอาตามฝ่ายนั้น ก็ต้องเจอเสียงต้านจากฝ่ายนี้

อย่างที่เห็นลำพังแค่ไม่ทันไร พรรคเพื่อไทยยังตั้งแง่ใส่ทหาร คสช.เป็นคู่ขัดแย้ง ไม่ใช่คนกลาง แล้วถ้าเอายุทธศาสตร์ของ “ป๋าเปรม” ที่เป็นหนึ่งในเงื่อนไขคนสำคัญมาเป็นโมเดลปรองดอง มันยิ่งหนีไม่พ้นแรงเสียดทานจากฝ่าย “ทักษิณ” และเสื้อแดง

เท่ากับไปเขี่ยเชื้อไฟเก่าให้แรงขึ้นมา

ยังไง คสช.ก็ไม่เสียเวลาเดินย้อนรอยทางเก่า ทำปฏิวัติ “เสียของ” ซ้ำ

ที่น่าจับตาจริงๆก็คือท่าทีมั่นอกมั่นใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ได้ยี่หระ หากมีพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคไม่เข้าร่วมในกระบวนการปรองดอง ก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะ คสช.ให้ทุกคนมีโอกาสที่จะเข้ามาพูดจาในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

หากไม่พูดก็แสดงว่า พรรคการเมืองนั้นไม่ได้มองประเทศไทยอยู่ในสายตาว่า เราจะเดินหน้าประเทศกันอย่างไร จะเดินยุทธศาสตร์ชาติอย่างไร จะพัฒนาแก้ไขเศรษฐกิจให้ทันต่อสถานการณ์โลก

ถ้าเขาไม่พูดเรื่องเหล่านี้ แล้วจะเข้ามาเป็นรัฐบาลกันได้หรือในวันข้างหน้า

เอาอนาคตรัฐบาลวันหน้าเป็นเดิมพันกันเลย

พล.อ.ประยุทธ์ “ล็อกคอ” นักการเมืองคือตัวปัญหาหลักของโจทย์ปรองดอง

ตามเหลี่ยมทหารยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมเป็นตัวตั้ง ถือเอาความต้องการของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เป็นบรรทัดฐาน

ขีดเส้น ตีกรอบให้นักการเมืองเดินกลับเข้าลู่เข้าทาง

ใครทำตัวเป็นไอ้เข้ขวางคลอง ต่อรองผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็ต้องเสี่ยงกระแสตีกลับ
เรื่องของเรื่อง ความได้เปรียบอยู่กับทหารทุกประตู

ปล่อยให้อดอยากปากแห้งมา 2-3 ปี สถานการณ์ลากมาถึงตรงนี้ คสช.อ่านเกมขาด ตามฟอร์มนักการเมือง ใครไม่อยากเลือกตั้ง โดยเงื่อนไขที่รู้กันดีถ้าปรองดองรอบนี้ล่ม แนวโน้มปล่อยเลือกตั้งไปก็ไม่มี
หลักประกันจะไม่วุ่นวายภายหลัง

เป็นข้ออ้างอย่างชอบธรรมให้ คสช.ลากเกมอำนาจต่อ

นี่คือปัจจัยที่มีน้ำหนักมากสุดที่เอื้อให้ปรองดองเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ไม่อย่างนั้นระดับ “ขุน” อย่าง “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” คงไม่ขยับเดินหมากเอง

นั่นก็เพราะเห็นถึงโอกาสลุ้นเดิมพันสำคัญ

โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตรที่ดูท่าจะตั้งความหวังกับการสร้างผลงานประวัติศาสตร์ทิ้งทวนก่อนลงหลังเสือแบบปลอดภัย สบายเนื้อสบายตัว

จับความเคลื่อนไหว “พี่ใหญ่” ที่รับธงเป็นหัวหอก ประสานทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง

เดินสายขอแรงสนับสนุนจากทุกวง เปิดใจพูดทุกเวที

สร้างบรรยากาศรองรับโหมดปรองดองเต็มที่

ล่าสุด พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ระบุว่า พล.อ.ประวิตรได้สั่งการให้ปรับแก้ไขบางส่วนของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง

โดยจะเน้นโครงสร้างให้มีนักวิชาการด้านพลเรือนทั้งสายนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รวมทั้งสายอื่นๆเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความปรองดองมากขึ้น

แน่นอน มุมนี้ก็เพื่อให้เกิดความหลากหลาย เพิ่มความเป็นธรรมชาติ

ลดโทนภาพท็อปบูตจี้บังคับให้ปรองดอง.
ทีมข่าวการเมือง

ผู้ช่วย รมว.กลาโหมญี่ปุ่น พบ บิ๊กช้าง

ผู้ช่วย รมว.กลาโหมญี่ปุ่น พบ บิ๊กช้าง เผย"สมเด็จพระจักรพรรดิ-จักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น" จะมาถวายราชสักการะพระบรมศพ "ร.9"5-6 มีนาคมนี้ /บิ๊กช้าง ชวนญี่ปุ่นสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับมอบให้เป็นผู้แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้การต้อนรับ นาย Tetsuro Kuroe ผช.รมว.กห.ญี่ปุ่นด้านกิจการบริหาร และคณะ เข้าเยี่ยมคำนับ ณ ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อแนะนำตัวและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความร่วมมือระหว่าง กห. และ กห.ญี่ปุ่น ในโอกาสที่เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมกับคณะ ผชท.ทหาร ญี่ปุ่น/กรุงเทพ
พล.อ.ต.รังสรรค์ เยาวรัตน์ ผช.โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พลเอกชัยชาญ กล่าวต้อนรับและกล่าวขอบคุณที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงมีพระราชสาส์นส่วนพระองค์แสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมยินดีที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 130
และชื่นชมความสัมพันธ์อันดีและมิตรภาพที่อบอุ่นระหว่างทั้งสองประเทศซึ่งมีความใกล้ชิดกันในทุกระดับทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม
ในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวง กห. ได้กล่าวยินดีที่ได้รับทราบข่าวสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่นมีหมายกำหนดการจะเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย ระหว่าง 5 – 6 มี.ค.60 เพื่อถวายราชสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหาร ทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงและกำลังพลทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการฝึกร่วมในระดับต่างๆ และการแลกเปลี่ยนที่นั่งศึกษาระหว่างกองทัพที่ได้มีความร่วมมือมาอย่างยาวนาน
โดยไทยเชิญชวนญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยทั้งเรื่องการวิจัย และการพัฒนา ซึ่งญี่ปุ่นยินดีให้การสนับสนุนและร่วมมือ โดยสำนักนโยบายยุทโธปกรณ์การจัดหาเทคโนโลยีและการส่งกำลังบำรุงญี่ปุ่น (ATLA) ได้มีการประสานความร่วมมือกับไทยมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นความร่วมมือในเรื่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป และเห็นพ้องให้มีการจัดทำข้อตกลงร่วมกันซึ่งจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

MOUป้อม

MOU ปรองดอง จะเป็นแค่ "เศษกระดาษ"มั้ย

บิ๊กป้อม ยัน MOU ปรองดอง ไม่ใช่"เศษกระดาษ" อย่าคิดไปเอง คนเขาทำงานเหนื่อยแทบตาย มาบอกว่าเป็นเศษกระดาษ ยันจะทำให้เกิดผล....เผยไอเดีย อาจออกเป็นกม. หากไปไม่ได้ หรือขัดรธน. อาจออกเป็นกม. และอาจอยู่ในกม.ลูก แต่ต้องให้ทุกฝ่ายเห็นชอบ ตกลงร่วม เพื่อให้มีผล จึงมีนักวิชาการ กฤษฎีกา ร่วมทีม แต่ต้องทำขั้นตอน รับฟังความเห็น ให้เสร็จก่อน. อย่าเพิ่งมองไปไกล เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แล้วแต่ละพรรคจะมีความคิดเห็นอย่างไร เห็นร่วมกันอย่างไร ต้องให้จบขั้นตอนนี้ก่อนแล้ว ค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้อยากให้ทุกคนมาร่วมพูดจาแสดงความคิดเห็นก่อน. เผยตอนนี้ รอ นายกฯ แต่งตั้ง รายชื่อ ปยป. ชุดใหญ่ออกมาก่อน แล้วในส่วนเราก็จะดำเนินการ เรามีเวลา3 เดือน
/////////
ไอเดีย บิ๊กป้อม ทำMOUปรองดอง ใ้ห้เป็นกม..‬
‪อาจอยู่ในกม.ลูก แต่ทุกฝ่ายเห็นชอบ ตกลงร่วม เพื่อให้มีผล จึงมีนักวิชาการ กฤษฎีกา ร่วมทีม‬
แต่ต้องทำขั้นตอน รับฟังความเห็น ให้เสร็จก่อน. อย่าเพิ่งมองไปไกล เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แล้วแต่ละพรรคจะมีความคิดเห็นอย่างไร เห็นร่วมกันอย่างไร ต้องให้จบขั้นตอนนี้ก่อนแล้ว ค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้อยากให้ทุกคนมาร่วมพูดจาแสดงความคิดเห็นก่อน.
เผยตอนนี้ รอ นายกฯ แต่งตั้ง รายชื่อ ปยป. ชุดใหญ่ออกมาก่อน แล้วในส่วนเราก็จะดำเนินการ เรามีเวลา3 เดือน