PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ฝนตกแล้ว โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ฝนตกแล้ว โดย วีรพงษ์ รามางกูร

Prev
1 of 1
Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 06 ส.ค. 2558 เวลา 13:50:01 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เดือนกรกฎาคมควรจะเป็นเดือนที่ฝนเริ่มตกแล้ว เพราะเป็นเดือนที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงเหนือจะพัดเอาฝนจากทะเลอันดามันมาตกใน ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ชาวนาก็จะเริ่มไถหว่านปักดำทำนากัน
แต่ปีนี้ทั้งเดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายน มาจนถึงเดือนกรกฎาคม ฝนฟ้าวิปริต เกิดความแห้งแล้งไปทั่วทั้งประเทศ อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมทั้งเขื่อนอื่นๆ ภาพที่ออกมาในจอโทรทัศน์เป็นภาพของความแห้งแล้ง หดหู่ ดินแตกระแหง น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งเห็นภาพชาวนาพากันดิ้นรน เอาเครื่องสูบน้ำนับร้อยนับพันเครื่องมาจุ่มลงในบ่อกักน้ำ เพื่อดูดน้ำจากคลองส่งน้ำเล็กๆ เอาน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่เริ่มออกรวงตั้งท้องแล้ว ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อมีข่าวว่าฝนจากมรสุม จากทะเลอันดามันพัดผ่านพม่า นำฝนไปตกที่พม่าจนพม่าเกิดน้ำท่วม และพัดพาเอาฝนมาตกที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนติดต่อกัน 3 วัน 4 คืน จนมีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวและพืชผลอย่างอื่นให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาเขียวขจีไปทั่ว

นอกจากข้าวในท้องนาจะฟื้นคืนจากภัยฝนแล้งแล้วบรรดาพืชไร่อย่างอื่น เป็นต้นว่าข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และอื่นๆ ก็รอดจากภัยแล้งที่วิกฤตที่สุดในรอบ 100 ปีได้



ข่าวเรื่องการแย่งน้ำกันเองระหว่างชาวนากับชาวนา ระหว่างพื้นที่เพื่อเกษตรกรรมกับพื้นที่ในเมืองก็พลอยหายไปด้วย เข้าใจว่าวิกฤตการณ์ฝนแล้งปีนี้คงจะผ่านพ้นไปได้อย่างหวุดหวิด เพราะถ้าฝนไม่มา ฝนไม่ตก อีกสักสัปดาห์หรือ 2 สัปดาห์ วิกฤตการณ์ก็คงจะเกิดขึ้นแน่ และอาจจะลุกลามกลายเป็นปัญหาการเมืองก็ได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าฝนมรสุมใหญ่จะมาแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน น้ำในอ่างคงจะไม่แห้งลงไปอีกแม้ว่าทางกรมชลประทานจะยังต้องจ่ายน้ำลงมาท้ายเขื่อนอยู่ทุกวัน แต่ก็น่าจะเบาใจได้ว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนให้ทางกรมชลประทานสามารถส่งน้ำลงมาไล่น้ำเค็ม สามารถส่งน้ำลงมาทำน้ำประปาให้คนกรุงอุปโภคบริโภคได้ ไม่ต้องอุปโภคบริโภคน้ำกร่อยอย่างที่เกรงกลัวกัน

วิกฤตการณ์น้ำแล้งครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า อะไรหลายอย่างที่บรรดาเอ็นจีโอทั้งหลายเคยโหมรณรงค์โจมตีการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานทั้งหลายว่าไม่มีความจำเป็นเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เราสามารถอยู่กันได้แบบที่ปู่ย่าตายายเราเคยอยู่กันเมื่อ 100 ปีที่แล้ว

ก็ต้องดูกันด้วยว่า เรามีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคนเมื่อตอนที่รัฐบาลตัดสินใจสร้างเขื่อนชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยา พอสมัยที่สร้างเขื่อนยันฮีหรือเขื่อนภูมิพลเรามีประชากรประมาณ 18 ล้านคน บัดนี้ เรามีประชากรถึง 67 ล้านคน เราเคยส่งข้าวออกเพียง 1-2 ล้านตัน บัดนี้ เราส่งข้าวออกปีละกว่า 10 ล้านตัน ส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่น น้ำตาลทราย มันสำปะหลัง กุ้ง ไก่ ปลา สุกร ซึ่งใช้อาหารสัตว์ที่ผลิตจากข้าวโพด จากพืชอื่นๆ จากภาคเกษตรกรรม จึงเห็นได้ชัดเจนว่าถ้าเราไม่มีน้ำสำหรับระบบชลประทาน เราก็มีน้ำไม่พอที่จะใช้หล่อเลี้ยงภาคเกษตรกรรมของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคกลางและภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบชลประทานราษฎร์ ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยท่านขุนเม็งรายมหาราช

ภัยพิบัติจากน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตตั้งแต่ท้ายเขื่อนชัยนาทหรือเขื่อนเจ้าพระยาลงมา เช่น จังหวัดชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี เรื่อยมาจนถึงกรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกก็ลดลงอย่างมาก จากที่เคยเป็นพื้นที่น้ำหลากในสมัยหน้าน้ำ ที่เคยใช้เป็นเครื่องมือป้องกันข้าศึกไม่ให้ล้อมกรุงได้เกินกว่า 1 ปี เพราะข้าศึกต้องเลิกทัพกลับไปเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง การสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนขุนด่านปราการชลก็ช่วยลดภัยพิบัติจากน้ำท่วมในหน้าน้ำได้

แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือเขื่อนต่างๆ สามารถชะลอน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ โดยการเก็บน้ำไว้ในอ่างเหนือเขื่อน แล้วปล่อยออกมาให้ใช้ได้ในฤดูแล้ง เราจึงสามารถทำนาได้ 2 ครั้งต่อปี หรือ 5 ครั้งต่อ 2 ปี สามารถปลูกอ้อยได้ทั้งปี ที่สำคัญคือ สามารถมีน้ำไว้ยันน้ำทะเลหนุนได้ในหน้าแล้ง มิฉะนั้นชาวเมือง ชาวสวนรอบๆ เมืองหลวงก็คงจะเดือดร้อนจากภัยน้ำกร่อยที่เกิดจากน้ำทะเลหนุนได้อีก

ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีการก่อสร้างเขื่อนใหญ่ๆ เหล่านี้ไว้เลย เราก็คงจะเห็นน้ำท่วม น้ำหลาก และอุทกภัยในเมืองหลวงบ่อยขึ้นและรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมา ขณะเดียวกันในหน้าแล้ง ถ้าหากไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ใช้เลย หน้าแล้งทุกปีก็คงจะมีสภาพแห้งแล้ง ไม่มีน้ำอย่างภาพที่เห็น ซึ่งเป็นภาพที่น่าสลดใจ จึงมีคำพูดที่เคยพูดมานานว่า "น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง" ความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม แม้จะมีแต่ก็จะไม่น่ากลัวเท่ากับภัยจากความแห้งแล้ง ภัยจากการขาดน้ำ

เขื่อนแก่งเสือเต้นที่แม่น้ำยมควรจะได้รับการยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้แล้ว เพราะยังเหลืออยู่อีกเขื่อนเดียวสำหรับระบบแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา

ภัยจากน้ำท่วมและไม่มีน้ำในฤดูแล้งของที่ราบลุ่มสุโขทัย ซึ่งทำความเสียหายทุกปีในหน้าน้ำและในฤดูแล้งที่แห้งแล้งจนเพาะปลูกไม่ได้ ภัยที่ยังไม่ได้แก้ไขเพราะติดขัดอยู่กับการประท้วงของกลุ่มเอ็นจีโอ
การประท้วงคัดค้านติติงนั้นก็นับว่าเป็นประโยชน์เพราะจะทำให้ทางการที่รับผิดชอบได้ศึกษาหาทางเลือกที่ดีที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด แต่การประท้วงคัดค้านไม่ให้โครงการพัฒนาต่างๆ เกิดขึ้นเลย ด้วยเหตุผลสิ่งแวดล้อมนั้นที่จะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่น่าจะเป็นวิถีทางที่ถูกต้อง เพราะประชากรของสังคมเพิ่ม สังคมต้องมีการพัฒนา ต้องการผลผลิตเพิ่ม และความต้องการบริโภคมากขึ้น หากทำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง ทุกอย่างก็หยุด พอผ่านวันเวลานานไปแล้วต้องจัดหาด้วยต้นทุนที่แพงขึ้นจะเป็นนโยบายที่ถูกต้องหรือ

สิ่งแวดล้อมนั้นน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้สามารถที่จะดัดแปลงปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ที่ดินที่เคยเป็นทะเลก็สามารถปิดกั้นเป็นผืนดินได้ พัฒนาผืนดินเพื่อสร้างประโยชน์ใหม่ๆ ได้ หรือทำการเกษตรอย่างที่เคยทำกันในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ หรือที่ประเทศเกาหลีใต้เมื่อเร็วๆ นี้

การที่เรามีรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ผู้คนก็เข้าใจว่ารัฐบาลคงจะมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพมั่นคงเพียงพอที่จะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงการใหญ่ๆ ได้ ให้ความเชื่อมั่นกับผู้เกี่ยวข้องแต่ละฝ่ายได้อย่างเหมาะสม รัฐบาลทำให้มั่นใจได้ว่าโครงการต่างๆ เหล่านี้จะอำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติได้ทันกาล

สำหรับเรื่องเงินทุนนั้นประเทศเราก็มีเพียงพอแน่นอนเพราะการเกินดุลระหว่างเงินออมกับเงินลงทุนที่ต่อเนื่องมานาน สังเกตได้จากการที่ประเทศเราลงทุนน้อยกว่าเงินออมมาตั้งแต่ปี 2541 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาตลอดเป็นเวลากว่า 17 ปีแล้ว มีเงินออมสะสมในระบบเป็นจำนวนมากกว่า 6-7 ล้านล้านบาท รัฐบาลสามารถออกพันธบัตรระดมเงินทุนจากประชาชนได้โดยไม่ต้องกู้จากต่างประเทศเลย

เรื่องรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ถนนทางหลวง โครงการทั้งหลายสามารถกู้เงินบาทจากประชาชนได้โดยไม่เสียวินัยการคลังเลย อีกทั้งไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้ต่างประเทศ ดอกเบี้ยที่จ่ายให้ประชาชนที่ถือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจหรือรัฐบาลก็ตกเป็นรายได้ของคนไทย อยู่ในประเทศไทย ไม่มีรั่วไหลไปไหน

อย่าใจอ่อนเหมือนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน




ที่มา : นสพ.มติชน

“จอห์น แคร์รี” หารือนอกรอบนายกฯมาเลเซีย กระตุ้นให้รัฐบาล เร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ต่อ

วันนี้(6ส.ค.58)ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 48 ที่จัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียเมื่อวันพุธ นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้พบปะหารือนอกรอบกับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยกล่าวย้ำถึงการยกระดับการประเมินการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ที่รัฐบาลสหรัฐเลื่อนขั้นให้มาเลเซียจากระดับ เทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดขึ้นมาเป็นระดับเทียร์ 2 เฝ้าระวัง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเรียกร้องให้รัฐบาลมาเลเซีย เดินหน้าปรับปรุงและพัฒนาต่อไป ทั้งในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายและโครงการคุ้มครองเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม การประเมินยกระดับดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและบรรดาองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยมองว่าความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียยังไม่มากเพียงพอที่จะได้รับการเลื่อนขั้น โดยเฉพาะจากกรณีที่มีการค้นพบค่ายพักที่ใช้เป็นที่คุมขังผู้ลักลอบอพยพเข้าประเทศ บริเวณพรมแดนติดประเทศไทย และหลุมฝังศพมากกว่า 100 หลุม เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งสหรัฐชี้แจงว่าการประเมินครั้งนี้เสร็จสิ้นก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะได้รับการเปิดเผยออกมา อย่างไรก็ตาม ท่าทีของสหรัฐในครั้งนี้ยังถูกมองว่ามุ่งหวังผลเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี

 ด้านการประชุม หลังประชุมกันมาเต็มวัน รัฐมนตรีต่างประเทศจาก 27 ชาติที่ประชุมความมั่นคงระดับภูมิภาคของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน พร้อมประเทศผู้สังเกตการณ์ ก็ได้เข้าร่วมงานกาลาดินเนอร์เมื่อวันพุธ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งบรรดารัฐมนตรี ที่อยู่ในชุดประจำชาติมาเลเซีย นั่งรับฟังและรับชมการกล่าวสุนทรพจน์ของนายอานีฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่งประเทศชาติเจ้าภาพ และการแสดงประจำชาติของมาเลเซีย ซึ่งสร้างความบันเทิงให้กับผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก
  ทั้งนี้ มาเลเซีย รับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของอาเซียน ภูมิภาคที่มีประชากร 600 ล้านคน ประจำปี 2558 และการประชุม 6 วันครั้งนี้ จะสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีนี้

'ฮิวแมนไรท์วอทช์'จี้เลิกปกปิด เหตุรุนแรงปี53

โดย : 

"ฮิวแมนไรท์วอทช์"เรียกร้องให้ทางการไทยเลิกปกปิดการกระทำความผิดของทหารในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 53 ลงโทษผู้กระทำความผิดทุกฝ่าย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า ตามรายงานของสื่อไทย ทหารได้กล่าวอ้างไว้ในรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอว่าได้ใช้กระสุนยางปราบปรามผู้ประท้วง และเคยมีการเผยแพร่คำกล่าวอ้างที่ว่ามาครั้งหนึ่งแล้วในคราวที่ดีเอสไอสอบสวนมือปืนซุ่มยิงของทหารเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555
แต่จากหลักฐานแน่นหนาที่มีอยู่ รวมทั้งจากการชันสูตรศพได้ข้อสรุปว่าพลเรือนเสียชีวิตจากกระสุนจริง ทั้งนี้ คาดว่าดีเอสไอจะนำเสนอผลการสอบสวนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในปลายเดือน ส.ค.นี้ 
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับผู้ประท้วงและคนอื่นๆ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีทหารคนใดได้รับผิดจากการเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บของผู้ประท้วง
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ปี 2553 การเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายวงกลายเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด ตามตัวเลขของดีเอสไอ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 คน และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ดีเอสไอเผยแพร่รายงานการสอบสวนเมื่อเดือนกันยายน 2555 ชี้ว่าผู้เสียชีวิต36 ราย เกิดจากการกระทำของฝ่ายทหาร
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งต่อดีเอสไอ ไม่ตรงกับข้อมูลที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ตรวจสอบพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากซึ่งรวมถึงผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ แพทย์อาสา เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉิน นักข่าว ช่างภาพ และคนทั่วไป นั้น เป็นผลมาจากการกำหนด “เขตใช้กระสุนจริง” โดยรอบพื้นที่ประท้วงในกรุงเทพฯ ที่ทหารวางกำลังนักแม่นปืนและมือปืนซุ่มยิงเอาไว้ นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ยังตรวจสอบพบในทำนองเดียวกันมาแล้วด้วย และได้เสนอให้ทางการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังมีข้อมูลด้วยว่าผู้เข้าร่วมกับ นปช.บางส่วน ซึ่งรวมถึง"นักรบชุดดำ" เป็นผู้ทำร้ายทหาร ตำรวจ และพลเรือนจนเสียชีวิตเช่นกัน และแกนนำ นปช.บางคนได้ใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมประท้วงก่อจลาจล วางเพลิงและปล้น
แม้จะมีหลักฐาน แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยเพิกเฉยต่อการกระทำของทหาร ในขณะที่แกนนำ นปช.และผู้สนับสนุนถูกตั้งข้อหากระทำความผิดทางอาญาร้ายแรง ขณะที่ดีเอสไอเองไม่ได้ใช้ความพยายามเพียงพอที่จะตรวจสอบว่าทหารและผู้บังคับบัญชาคนใดเป็นผู้รับผิดชอบให้เกิดการยิงขึ้น และรัฐบาลทั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกกดดันจากฝ่ายทหาร ต่างประกาศว่าทหารไม่ควรมีส่วนรับผิดชอบใดๆ เพราะได้กระทำการภายใต้คำสั่งของรัฐบาล
ขณะเดียวกันศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังสั่งโอนคดีสลายการชุมนุม ที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกยื่นฟ้อง ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อีก
ฮิวแมนไรท์วอทช์เห็นว่าโอกาสที่เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจะได้รับความเป็นธรรมยิ่งสิ้นหวังมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ระบุหลายครั้งว่าทหารไม่ควรถูกประณามจากการที่มีผู้เสียชีวิตในการชุมนุมทางการเมืองปี 2553

ลบรอยแผลใจ ภารกิจทูตใหม่สหรัฐฯ “เกล็น เดวีส์”

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
18 เมษายน 2558 06:56 น.

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงตามลำดับระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา อาจถึงเวลาคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอชื่อนายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หลังปล่อยให้ว่างเว้นนับจากนางคริสตี้ เคนนีย์ พ้นตำแหน่งไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557
       
       เป็นเวลาแห่งการว่างเว้นที่มีปัญหากระทบกระทั่ง สร้างแรงกดดันต่อคณะผู้นำที่มาจากการรัฐประหารของไทยไม่น้อย แต่ผลของการออกแรงกดดันของสหรัฐฯ แทนที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯ ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ผู้นำคณะรัฐบาลของไทยกลับขุ่นเคือง และตัดสินใจเดินหมากยุทธศาสตร์คานอำนาจ โดยถอยหนีห่างสหรัฐฯ หันไปซบอกจีนและรัสเซียซึ่งเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งแทน
       
       ขณะที่สหรัฐฯ เกรี้ยวกราดกับไทยหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ปิดกั้นการชุมนุมการแสดงออกทางการเมือง จีนกลับอ้าแขนรับ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) จึงไม่รอช้าที่จะเดินทางไปเยือนจีน และเชื้อเชิญให้จีนเข้ามาลงทุนรถไฟทางคู่ รวมทั้งโครงการลงทุนสาธารณูปโภคอื่นๆ นอกจากนั้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
       พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม ก็ยกคณะไปเยือนจีนอีกครั้ง ยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
       ขณะที่สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือทางการทหาร ลดระดับการร่วมฝึกคอบบร้าโกลด์ที่หันมาเน้นด้านมนุษยธรรมแทน และแน่นอนย่อมไม่ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพไทยด้วยตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สหรัฐฯดำเนินการต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัสเซียก็ถือโอกาสเข้ามาเสียบแทน พร้อมกับเปิดดีลการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์นำร่องด้วยเครื่องบิน 3 ลำ เป็นอันดับแรก และมีคำสัญญาจะทำการค้าขายระหว่างกันให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยรัสเซียมีเป้าหมายขายอาวุธ ส่วนไทยมีเป้าหมายขายสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว
       
       นับเป็นเวลา 10 เดือน แห่งความสัมพันธ์อันร้าวฉานที่นับวันสหรัฐฯ เริ่มรู้สึกได้ถึงสิ่งที่จะเสียไปมากกว่าได้ โดยเฉพาะเป้าหมายใหญ่ในการหวนคืนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ
       
       นั่นคือ หากสหรัฐฯ ไม่สามารถยืนได้อย่างมั่นคงในฐานที่มั่นเดิมอย่างประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมิตรเก่าแก่ที่พร้อมให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในทุกรูปแบบแล้ว ก็เท่ากับลดโอกาสของสหรัฐฯ ในการถ่วงดุลอำนาจกับจีนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มหาอำนาจชาติตะวันออกกำลังรุกหนักด้วยยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม มุ่งลงใต้เข้าตะวันตกที่รัฐบาลสี จิ้น ผิง กำลังขายฝันไปทั่วโลก
       
       นอกจากการข่มขู่ กดดัน ที่ยิ่งทำให้ไทยถอยหนีห่างออกไปเรื่อยๆ สหรัฐฯ จะได้ประโยชน์อะไรจากท่าทีเช่นนี้ ย่อมไม่ได้แน่นอน ดังนั้น เมื่อมีการโยนหินถามทางจากคำทำนายของโหรดังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ยาว และการเลือกตั้งอาจจะไม่เกิดขึ้นตามโรดแมปในต้นปีหน้า แทนที่สหรัฐฯ จะส่งตัวแทนมาว่ากล่าวกดดันถึงชานบ้านอย่างที่เคยกระทำมา นายบารัค โอบามา กลับตัดสินใจส่งนักการทูตเก๋าเกมที่คร่ำหวอดในแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมาประจำการที่ประเทศไทยแทน
       
        อย่างไรก็ตาม การมาของนายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เพื่อดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย คราวนี้ก็มองได้หลายมุม ทางหนึ่งคือ การส่งนักการทูตที่เข้าใจวิถีตะวันออกมาโอ้โลมผู้นำไทยให้ผันเปลี่ยนไปตามความต้องการของสหรัฐฯ อย่างนุ่มนวล หรืออีกทางหนึ่งคือ การเตรียมใช้ไม้แข็งมากขึ้นกับไทย เหมือนดังเช่นที่สหรัฐฯ แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือกรณีนิวเคลียร์ ซึ่งแต่ละทางเลือกล้วนส่งผลที่แตกต่างกัน
       
       แต่ถ้าหากสดับรับฟังหางเสียงจากนางคริสตี เคนนีย์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย คนกันเองที่ส่งเสียงเชียร์ผ่านทวิตเตอร์ @KristieKenney ว่า นายเดวีส์ เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม “ประธานาธิบดีโอบามาเสนอชื่อนักการทูตอเมริกันผู้คร่ำหวอดอย่าง เกล็น เดวีส์ ให้เป็นเอกอัครราชทูตรสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ เขาเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมเลยล่ะ” อย่างที่ว่านั้น ก็อาจจะบอกเป็นนัยว่าสหรัฐฯ จะมาไม้ไหนกันแน่ เพราะช่วงที่นางครีสตี เคนนีย์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นั้น ก็ต้องถือว่าแสบเข้าไส้พอสมควร
       
       ทูตสหรัฐฯ คนใหม่ จะมาลบ “รอยแผลในใจ” ที่เกิดขึ้นเมื่อคราวที่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่ดูแลกิจการเอเชีย-แปซิฟิก มาปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนม.ค. 2558 ที่กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองไทย การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนสร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง กระทั่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช. กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเชิญ นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบ และแถลงข่าวในวันถัดมาว่า คำพูดของนายรัสเซล ก่อให้เกิด "แผลในใจ" สำหรับคนไทยจำนวนมาก
       
       หรือว่า การมาของทูตสหรัฐฯ คนใหม่ คราวนี้จะมาสร้างแรงกดดัน และเพิ่มบาดแผลในใจให้มากขึ้นไปอีก ยังต้องรอคอยติดตามผลงาน ซึ่งตามคาดหมายประมาณการว่าเดือนพ.ค. 2558 นายเดวีส์ จะเข้ามารับตำแหน่ง หลังจากวุฒิสภา สหรัฐฯ ให้การรับรองคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวของนายโอบามา
       
       สำหรับประวัติของนายเกล็น เดวีส์ ตามข้อมูลจากการเผยแพร่ของ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ระบุว่า เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขา Foreign Service จาก Georgetown University และปริญญาโทจาก National Defense University เป็นนักการทูตอาชีพลำดับชั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
       
       ก่อนหน้านั้น นายเดวีส์ เคยเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือ ระหว่าง พ.ศ. 2555 - 2557 และปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้แทนสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA) ระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2555
       
       นายเดวีส์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มรองผู้ช่วยรัฐมนตรีและเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2549 - 2552 ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำ Leadership and Management School แห่ง Foreign Service Institute (FSI) เมื่อ พ.ศ. 2548 - 2549 รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2548 รองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรป ระหว่างปี พ.ศ. 2547 - 2548 และผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองในวาระที่สหรัฐอเมริกา เป็นประธานกลุ่ม G-8 ระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2547 และช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2546 นายเดวีส์ รับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงลอนดอน
       
       นอกจากนี้ นายเกล็น ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council - NSC) ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2542 รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณะระหว่าง พ.ศ. 2538 - 2540 และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ (Operations Center) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2537 ขณะที่ก่อนหน้านั้น เคยไปปฏิบัติราชการในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และ ซาอีร์
       
       สำหรับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนก่อนหน้านี้ คือ นางคริสตี เคนนีย์ ซึ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อในวันที่ 4 พ.ย. 2557 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง นายดับเบิลยู แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐฯ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเอกอัครราชทูต จนกระทั่งล่าสุดนับเป็นเวลาเกือบ 6 เดือน กว่าที่ นายบารัค โอบามา จะเสนอชื่อ นายเกล็น เดวีส์ เพื่อดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย คนใหม่
       
       การเข้ารับตำแหน่งของนายเดวีส์ ครั้งนี้ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข่าวสารนิเทศ ระบุการเสนอชื่อนายเกล็น ที. เดวีส์ เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ดังกล่าวว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการหารือเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2558 ระหว่าง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายแดนเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก สหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีมายาวนาน และจะมุ่งเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป
       
       ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 ฝ่ายสหรัฐฯ ได้เสนอชื่อเอกอัครราชทูตสหสรัฐฯ ประจำประเทศไทย คนใหม่ มายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของฝ่ายไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2558 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบต่อการเสนอชื่อนายเดวีส์ เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งผลให้ฝ่ายสหรัฐรับทราบทันที
       
       ต่อมา ในวันที่ 13 เม.ย. 2558 ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงได้ประกาศเสนอชื่อนายเดวีส์ ดังกล่าว ซึ่งเป็นการยืนยันการเดินหน้าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่มีมายาวนานกว่า 182 ปี และสองฝ่ายจะมุ่งมั่นเดินหน้ากระชับความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันต่อไป
       
       หากพิจารณาตามถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็จะพบว่า หลังจากนายรัสเซล กล่าววาจาที่สร้างบาดแผลในใจของคนไทยจำนวนมาก ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มหันมาสมานความร้าวฉานนั้น กระทั่งในที่สุดผู้นำสหรัฐฯ ก็แต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่มาประจำประเทศไทย
       
       นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้ทัศนะว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่สหรัฐฯ ต้องการให้ความสำคัญต่อทวีปเอเชียเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนายเดวีส์รู้เรื่องเอเชียเป็นอย่างดี ทั้งสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป สหรัฐฯ จึงเร่งหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นทูตในประเทศยุทธศาสตร์อย่างไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ดังนั้น การที่สหรัฐฯ เอาผู้ที่มีความรู้เรื่องเอเชียเข้ามาจึงถือเป็นเรื่องดีในการรักษาผลประโยชน์ของ 2 ประเทศ
       
       “ทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยทั้ง 4 คนที่ผ่านมาเข้าได้ไม่ถึงทุกกลุ่ม เกิดปัญหาตามมาในความสัมพันธ์ อาจเกิดจากการไม่ได้สร้างพื้นฐานคุ้นเคยกับประเทศไทย สมัยก่อนเขาอยู่กันเป็น 10 ปี ก่อนจะเป็นทูต คุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่หลังๆ มาอยู่แบบฉาบฉวย มาทำงานสถานทูต ใครแนะนำให้เจอใครก็ไปเจอ ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง คือทูตต้องประสานได้ทุกฝ่าย ไม่ใช่ให้น้ำหนะกฝ่ายเดียว”นายปณิธานแจกแจง
       
       ด้านสื่อต่างประเทศอย่าง “เอเชียนคอร์เรสพอนเดนต์” รายงานว่า นายเดวีส์เป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการทูตมานาน 35 ปี ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ทำหน้าที่อยู่ที่สำนักงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่างปี 2555-2557 ทำหน้าที่คอยบริหารจัดการท่าทีของสหรัฐฯ ว่าด้วยเรื่องโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่านและเกาหลีเหนือที่อื้อฉาว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “นี่คือผู้ชำนาญการทูตในภาวะวิกฤตที่ดีมาก”
       
       ที่สำคัญคือบทความระบุด้วยว่า สหรัฐอเมริกาตระหนักดีว่า จำเป็นต้องรับมือกับรัฐบาลทหารในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่เคยคาดไว้ในตอนแรก
       
       สำหรับมุมมองของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศตะวันตก อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว เขามองว่า ท่าทีของสหรัฐอเมริกาและอียูที่กดดันไทยในช่วงเวลานี้มากกว่าการรัฐประหารในปี 2549 นั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ปฏิบัติเป็นปกติ แต่ก็มีการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันในบางประเทศ เช่น ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็ไปเยือนโดยมีการอ้างว่าเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น
       
       แต่ที่น่าสนใจก็คือ ข้อสังเกตของนายอภิสิทธิ์ ที่มองว่า ข้อมูลที่สหรัฐฯและอียูได้รับเป็นข้อมูลที่ไม่สมดุล และมองปัญหาที่เห็นได้ง่ายว่ารัฐประหารมีการจำกัดเสรีภาพ การที่ไม่มีการเลือกตั้งถือเป็นเผด็จการ แต่เวลาที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งที่มีการระดมคนมาข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเหมือนกันกลับมองไม่ออก
       
       และที่สำคัญคือมีการล็อบบี้เพื่อให้ต่างประเทศรับรู้ความจริงด้านเดียวทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
       
       การมาของทูตสหรัฐฯ คนใหม่ คราวนี้ จะคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นอย่างไร ต้องรอคอยติดตามผลงานกันต่อไป 

พลิกปูมเก๋า"เกล็น เดวีส์" "ทูตมะกัน"คนใหม่ประจำประเทศไทย

พลิกปูมเก๋า"เกล็น เดวีส์" "ทูตมะกัน"คนใหม่ประจำประเทศไทย

Prev
1 of 1
Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 15 เม.ย 2558 เวลา 15:17:29 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
แม้จะมีสถานะเป็นชาติพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย แต่พลันที่เกิดเหตุยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินครั้งล่าสุดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ได้กลายสภาพประดุจดัง "ยาขม" สำหรับชาติพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดอย่างไทยในทันที เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรกๆ ที่ออกมาแสดงความผิดหวังกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลทางการเมืองที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวและถูกควบคุมตัวไว้ ทั้งย้ำให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ที่มากไปกว่านั้นสหรัฐอเมริกายังได้ประกาศว่าจะทบทวนความช่วยเหลือด้านการทหารและความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอยู่กับไทย แม้ว่าจะลงเอยด้วยเพียงการระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่ไทยราว 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 115 ล้านบาท พร้อมกับระงับโครงการหลายโครงการทางทหารไป แต่ที่สุดแล้วการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการฝึกทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดำเนินการต่อเนื่องมามากกว่า 30 ปี ก็ยังคงมีขึ้นตามเดิมต่อไป แถมยังขยายความร่วมมือให้กว้างขวางออกไปอีก โดยมีจีนและอินเดีย 2 มหาอำนาจในเอเชียเข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก แม้ว่าฝ่ายสหรัฐจะพยายามเน้นย้ำว่าคอบร้าโกลด์ ครั้งที่ 34 ที่จัดขึ้นในปี 2558 นี้ จะเป็นการฝึกด้านมนุษยธรรมก็ตามที

รอยแยกในความสัมพันธ์ไทยสหรัฐดูจะถูกตอกย้ำขึ้นอีกครั้งในปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระหว่างการเดินทางเยือนไทยของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐที่ดูแลกิจการเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นผู้แทนระดับสูงของสหรัฐคนแรกที่เดินทางเยือนไทยหลังเหตุยึดอำนาจของ คสช. เมื่อนายรัสเซลได้ไปกล่าวปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการพูดถึงสถานการณ์การเมืองไทยพร้อมแสดงความกังวลในหลายประเด็น ตั้งแต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม การที่กระบวนการทางการเมืองที่ควรครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความปรองดองในระยะยาว รวมถึงการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนั้น ซึ่งทำให้เกิดกระแสโต้กลับและความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการแสดงความเห็นของนายรัสเซลครั้งนี้

ถึงขนาดที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเชิญนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มาหารือในวันถัดมา ตามด้วยการแถลงข่าวเพื่อย้ำให้ทราบว่าสิ่งที่นายรัสเซลทำไปได้ก่อให้เกิด "แผลในใจ" สำหรับคนไทยจำนวนมาก ท่ามกลางกระแสข่าวที่โหมกระพือไปทั่วว่าผู้ที่ไม่พอใจกับถ้อยคำในปาฐกถาของนายรัสเซลมากกว่าใครจนเป็นเหตุให้กระทรวงการต่างประเทศต้องเชิญอุปทูตสหรัฐอเมริกามาพูดคุยเป็นการด่วนก็คือ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

สิ่งที่เป็นประดุจดังข้อตอกย้ำว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาไม่ได้อยู่ใน "ภาวะปกติ" ก็คือ การที่สหรัฐอเมริกายังไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ แม้ว่านางคริสตี้ เคนนีย์ พ้นจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ทั้งที่ในความเป็นจริงในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีปัญหาในเรื่องความล่าช้าของกระบวนการในการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำการในหลายประเทศไม่เพียงเฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น

ยิ่งทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์การเมืองใดๆ ในไทย จะได้เห็นท่าทีจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวเกือบจะทันทีทุกคราวไป ด้วยความที่คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยรู้สึกไม่พอใจกับสหรัฐอเมริกามาแต่เดิมว่าชอบก้าวก่ายในกิจการภายในบ้าง เลือกข้างบ้าง ก็ยิ่งปลุกให้เกิดความไม่พอใจให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าหากพิจารณาด้วยความเป็นกลางต่อทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับว่า การแสดงความเห็นของฝ่ายสหรัฐแทบทุกครั้งจะมาจากการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันโดยโฆษกหรือรองโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตามที

ล่าสุด ทำเนียบขาวได้ประกาศว่า ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้เสนอชื่อ นายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ ซึ่งเป็นนักการทูตมืออาชีพ ให้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่แล้ว ซึ่งตามขั้นตอนของสหรัฐอเมริกา หลังจากนี้ชื่อของนายเดวีส์จะถูกส่งไปให้วุฒิสภาสหรัฐพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะสามารถเดินทางมารับตำแหน่งในไทยได้ ซึ่งคาดว่ากระบวนการดังกล่าวอาจจะใช้เวลาอีกหลายเดือนเช่นกัน

ประวัติของว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่นั้น น่าสนใจไม่ใช่น้อย เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่ประวัติของนายเดวีส์ว่า เป็นนักการทูตอาชีพลำดับชั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านั้น นายเดวีส์เคยเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่าง พ.ศ.2555-2557 และปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้แทนสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ระหว่างปี พ.ศ.2552-2555 นายเดวีส์เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มรองผู้ช่วยรัฐมนตรีและเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ.2549-2552 ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำ Leadership and Management School แห่ง Foreign Service Institute (FSI) เมื่อ พ.ศ.2548-2549 รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2548 รองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรประหว่างปี พ.ศ.2547-2548 และผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองในวาระที่สหรัฐอเมริกาเป็นประธานกลุ่ม G-8 ระหว่างปี พ.ศ.2546-2547 และช่วงปี พ.ศ.2542-2546 นายเดวีส์รับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงลอนดอน

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ.2540-2542 รองโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณะระหว่าง พ.ศ.2538-2540 และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ (Operations Center) กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ.2535-2537 และเคยถูกส่งไปประจำการในหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และซาอีร์ (ปัจจุบันคือคองโก)

นายเดวีส์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในปี 2522 และปริญญาโทด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ จากมหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เขาสมรสกับนางแจ๊กเกอลีน เอ็ม. เดวีส์ซึ่งเป็นทนายความ มีบุตรสาว 2 คน และหลานสาวอีก 3 คน

หลังจากนี้อีกไม่นานนัก เราก็คงจะได้เห็นฝีไม้ลายมือของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ ว่าจะทำได้ดีเพียงใดภายใต้สถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตกอยู่ในสถานะที่ไม่ค่อยปกติสักเท่าใดนักในปัจจุบัน

พิจารณาจากภูมิหลังของเกล็น เดวีส์ เห็นได้ชัดว่า นี่คือนักการทูตระดับลายคราม

นั่นนำไปสู่คำถามที่ต้องควานหาคำตอบกันต่อไปว่า ทำไมสหรัฐอเมริกาส่งมือการทูตระดับนี้มาประจำประเทศไทย?


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

วุฒิสภาสหรัฐฯ รับรอง 'เกล็น เดวีส์' ทูตคนใหม่ประจำไทย

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 6 ส.ค. 2558 12:39

928 ครั้ง


วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา มีมติรับรองนายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทยแล้ว ...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา มีมติรับรอง นายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่แล้ว วานนี้ตามเวลาท้องถิ่น

ล่าสุด นายเกล็น เดวีส์ ได้ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว @GlynTDavies ระบุ ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับการรับรองจากวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ โดยตัวเองและภริยา ตั้งตารอคอยที่จะได้ย้ายมาประจำการที่กรุงเทพฯ

ฝรั่งวิจารณ์แรง! หาว่ารัฐบาลทหารของไทยไม่มีแผนทางเศรษฐกิจ เอาแต่แก้ปัญหายิบย่อย

วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เวลา 20:05:53 น.

http://www.matichon.co.th/online/2015/08/14387679801438768004l.jpg

วิลเลียม เพเซก คอลัมนิสต์ของ Bloomberg View ที่มีงานเขียนด้านเศรษฐกิจ การตลาดรวมถึงการเมืองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้วิจารณ์การเมืองไทย โดยระบุถึงกองทัพที่อ้างสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองเพื่อยึดอำนาจ และสัญญาที่จะนำความสงบสุข กวาดล้างการทุจริต และนำความสุขมาให้คนไทยทุกคน แต่ผ่านไป 440 วัน รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกลับทำให้สถานการณ์ของไทยแย่ลง

นายเพเซก กล่าวว่า ไทยมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ต่ำที่สุดในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา (เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลังออกมาเผยว่าจีดีพีในปีนี้อาจขยายตัวได้เพียง 3 เปอร์เซ็นต์) ตลาดหุ้นไทยยังเป็นตลาดหลักในเอเชียแห่งเดียวที่มีการไหลออกของเงินทุน และค่าเงินบาทยังอ่อนตัวลงกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

คอลัมนิสต์รายนี้ชี้ว่าปัญหาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือเรื่องขาดการวางแผนทางเศรษฐกิจโดยเอาเวลาส่วนใหญ่ไปมุ่งกับปัญหาเล็กๆ อย่างการห้ามขายเหล้าใกล้สถานศึกษาโดยละเลยภาพใหญ่ของปัญหาเศรษฐกิจไทย

นายเพเซก กล่าวว่า นอกจากปัญหาการส่งออกที่อ่อนแอ รัฐบาลได้โยนให้ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จของการปราบปรามการทุจริต ทำให้คนที่เคยมีรายได้จากส่วนนี้ขาดกำลังในการใช้จ่ายไป เป็นผลให้ตัวเลขจีดีพีของไทยไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่นายเพเซกได้อ้างรายงานของ Bloomberg ก่อนหน้านี้โดย นายคริส เบลก ซึ่งระบุว่าการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่และกลุ่มมาเฟียกลับเพิ่มมากขึ้นในสมัยรัฐบาลทหาร

นายเพเซกเชื่อว่าหากพล.อ.ประยุทธ์ เลือกที่จะปรับคณะรัฐมนตรีซึ่งกว่าครึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งขาดประสบการณ์ในการทำงานน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อลดแรงกดดันจากสังคมแต่นายเพเซกยังได้วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์ว่าไม่เข้าใจหลักการพื้นฐานในฐานะผู้นำในโลกการเมืองยุคใหม่หลังออกมากล่าวว่าตนจะไม่ปรับคณะรัฐมนตรีเพราะมีความผิดหรือสังคมกดดัน

สุดท้ายนายเพเซกได้เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เร่งการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงการลงทุนโดยเฉพาะภาคยานยนต์เอาไว้ไม่เช่นนั้นอาจเสียท่าให้กับฟิลิปปินส์ที่พยายามเชื้อเชิญผู้ผลิตรายใหญ่ไปลงทุนในประเทศของตน

และที่สำคัญอีกประการคือการกำหนดระยะเวลาในการสละอำนาจที่ชัดเจน ซึ่งนายเพเซกชี้ว่าเป็นปัจจัยที่จะสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมากที่สุด เนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่วางใจว่ากองทัพจะทำการยึดอำนาจเป็นการถาวรหรือไม่ ขณะที่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่มีความคืบหน้าและยิ่งดูเหมือนการถ่วงเวลามากขึ้นทุกขณะจึงอาจไม่ใช่เรื่องผิดหากคนจะมองว่าการยึดอำนาจครั้งนี้มิได้เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย แต่เป็นการยึดอำนาจเพื่อการได้มาซึ่งอำนาจเท่านั้น 


ที่มา : เวปนสพ.มติชน ฝรั่งวิจารณ์แรง หาว่ารัฐบาลทหารไทยไม่มีแผนทางเศรษฐกิจฯ

"จีน" รุดพบ "บิ๊กตู่" หลังศาลปค.สูงสุดพิพากษา"ฝ่าหลุนกง" ยื่นตั้งส.ในไทยได้

"จีน" รุดพบ "บิ๊กตู่" หลังศาลปค.สูงสุดพิพากษา"ฝ่าหลุนกง" ยื่นตั้งส.ในไทยได้
Cr:สำนักข่าวอิศรา
"สถานทูตจีน" รุดพบ"ประยุทธ์" หลังศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาให้กลุ่มฝ่าหลุนกงยื่นตั้งสมาคมในไทยได้ หลังถูกปฏิเสธก่อนหน้านี้ เผย"ประวิตร" ประสานงานให้ก.ต่างประเทศ เตรียมข้อมูลรอแล้ว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ที่ให้เพิกถอนคำสั่งของ นายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ที่ไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมศึกษาฝ่าหลุนกงแห่งประเทศไทย และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ยกอุทธรณ์ของนายไพฑูรย์ สุริยะวงศ์ไพศาล กับพวกรวม 3 ราย ผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฝ่าหลุนกงแห่งประเทศไทย ส่งผลทำให้สมาคมศึกษาฝ่าหลุนกงแห่งประเทศไทย สามารถจัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามกฎหมายได้
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว เป็นผลมาจากการ นายไพฑูรย์ สุริยะวงศ์ไพศาล กับพวกรวม 3 ราย ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมศึกษาฝ่าหลุนกงแห่งประเทศไทยต่อนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อนายทะเบียนฯ ได้รับคำขอและได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ยังไม่สมควรอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมศึกษาฝ่าหลุนกงแห่งประเทศไทยเพราะอาจกระทบความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย - จีน จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตรับจดทะเบียนดังกล่าว
ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่อนุญาตต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเมื่อได้รับเรื่องแล้วได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งไม่อนุญาตรับจดทะเบียนของนายทะเบียนฯ ชอบแล้ว จึงมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม
ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล โดยศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และผู้ฟ้องคดีทั้งสามยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ฟ้องคดี ทั้งสามยื่นคำขอจัดตั้งสมาคมศึกษาฝ่าหลุนกงแห่งประเทศไทย โดยระบุว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ส่งเสริมการฝึกซี่กงแบบฝ่าหลุนกงเพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายและใจ (2) เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข่าวสารแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป (3) เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ฝึก (4) ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับฝ่าหลุนกงให้กับบุคคลทั่วไป (5) เป็นสมาคมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา หรือลัทธิใดๆ และ (6) เป็นสมาคมที่ไม่มีวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและไม่แสวงหากำไร ซึ่งตามวัตถุประสงค์ของสมาคมที่ปรากฏนี้ถือได้ว่าไม่ขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไม่เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ การที่นายทะเบียนฯ ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคม โดยเห็นว่า หากรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน นั้น การกล่าวอ้างการกระทำที่เกิดขึ้นของกลุ่มบุคคล แต่มิใช่เป็นการกระทำของสมาคม เพราะนายทะเบียนฯ ยังไม่ได้รับจดทะเบียน ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าในการกระทำของสมาคม ซึ่งหากความปรากฏภายหลังว่า นายทะเบียนฯ ได้จดทะเบียนให้แก่สมาคมแล้ว และหากปรากฏว่าการดำเนินกิจการของสมาคมขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ นายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร ย่อมอาศัยอำนาจตามมาตรา 102 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สั่งถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้ หรือตามมาตรา 104 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว ในกรณีมีเหตุตามมาตรา 102 ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้นายทะเบียนฯ ถอนชื่อสมาคมออกจากทะเบียนได้
ดังนั้น การดำเนินกิจการของสมาคมตามความเชื่อ และข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับ ฝ่าหลุนกง บุคคลทั่วไป ย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามความเชื่อถือของตน และย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เว้นแต่การปฏิบัตินั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนการรับ จดทะเบียนสมาคมนอกจากเรื่องวัตถุประสงค์ของสมาคมแล้วยังมีเงื่อนไขและข้อกำหนดอีกหลายประการที่นายทะเบียนฯ จะต้องพิจารณา ตามมาตรา 82 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนที่จะรับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่สมาคม ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองต้องไปดำเนินการต่อไป
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้เพิกถอนคำสั่งของ นายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ที่ไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมศึกษาฝ่าหลุนกงแห่งประเทศไทย และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ได้มีการระบุถึงเหตุผลที่หน่วยงานราชการในประเทศไทย ที่เห็นว่ายังไม่สมควรให้สมาคมศึกษาฝ่าหลุนกงแห่งประเทศไทย ได้รับอนุญาตให้มีการจดทะเบียนในประเทศไทย เพราะมีข้อมูลและพฤติกรรมของกลุ่มฝ่าหลุนกงที่เคลื่อนไหวอยู่มีลักษณะต้องการเผยแพร่ความเชื่อของลัทธิฝ่าหลุนกงและโจมตีรัฐบาลประเทศอื่น โดยเฉพาะรัฐบาลจีน ที่ประกาศให้ลัทธิฝ่าหลุนกงเป็นองค์กรที่ผิดกฎหมาย และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลจีน และยังมีคำสอนบางส่วนที่บิดเบือนหลักศาสนาพุทธ
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยมานาน หากรับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมฯ จะสะท้อนภาพถึงการเข้าไปให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มฝ่าหลุนกง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน อันจะเกิดผลเสียหายต่อประเทศไทย
ขณะที่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามอุทธรณ์ว่า เหตุผลในการไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมศึกษาฝ่าหลุนกง ที่หน่วยงานราชการไทยกล่าวอ้างไม่เป็นความจริง เป็นเพียงการคาดการณ์ เป็นข้อมูลที่ได้มาจากการสืบสวนทางลับ ขณะที่การดำเนินการจัดสมาคมฯ ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมาสถานทูตจีนได้ส่งเจ้าหน้าที่ติดตามความคืบหน้าคดีนี้อย่างใกล้ชิด และภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมา สถานทูตจีนได้มีการประสานงานเพื่อขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอหารือเรื่องนี้ทันที เบื้องต้น พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้ประสานกับศาลปกครองเพื่อขอสำเนาคำพิพากษาให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมข้อมูลให้พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อใช้ในการหารือร่วมกับสถานทูตจีนแล้ว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยเลิกปกปิดการกระทำความผิดของทหารปี2553




บีบีซีไทย - BBC Thai

ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยเลิกปกปิดการกระทำความผิดของทหารในช่วงที่เกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 และนำตัวผู้กระทำความผิดทุกฝ่ายมาลงโทษ
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่าตามรายงานของสื่อไทย ทหารได้กล่าวอ้างไว้ในรายงานการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอว่าได้ใช้กระสุนยางปราบปรามผู้ประท้วง และเคยมีการเผยแพร่คำกล่าวอ้างที่ว่ามาครั้งหนึ่งแล้วในคราวที่ดีเอสไอสอบสวนมือปืนซุ่มยิงของทหารเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2555
แต่จากหลักฐานแน่นหนาที่มีอยู่ รวมทั้งจากการชันสูตรศพได้ข้อสรุปว่าพลเรือนเสียชีวิตจากกระสุนจริง ทั้งนี้ คาดว่าดีเอสไอจะนำเสนอผลการสอบสวนต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในปลายเดือน ส.ค.นี้
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับผู้ประท้วงและคนอื่น ๆ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีทหารคนใดได้รับผิดจากการเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บของผู้ประท้วง
ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ปี 2553 การเผชิญหน้าทางการเมืองระหว่างแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขยายวงกลายเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด ตามตัวเลขของดีเอสไอ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 คน และได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน ดีเอสไอเผยแพร่รายงานการสอบสวนเมื่อเดือนกันยายน 2555 ชี้ว่าผู้เสียชีวิต36 ราย เกิดจากการกระทำของฝ่ายทหาร
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ทหารแจ้งต่อดีเอสไอ ไม่ตรงกับข้อมูลที่ฮิวแมนไรท์วอทช์ตรวจสอบพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากซึ่งรวมถึงผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ แพทย์อาสา เจ้าหน้าที่แพทย์ฉุกเฉิน นักข่าว ช่างภาพ และคนทั่วไป นั้น เป็นผลมาจากการกำหนด “เขตใช้กระสุนจริง” โดยรอบพื้นที่ประท้วงในกรุงเทพฯ ที่ทหารวางกำลังนักแม่นปืนและมือปืนซุ่มยิงเอาไว้ นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ยังตรวจสอบพบในทำนองเดียวกันมาแล้วด้วย และได้เสนอให้ทางการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังมีข้อมูลด้วยว่าผู้เข้าร่วมกับ นปช.บางส่วน ซึ่งรวมถึง “นักรบชุดดำ” เป็นผู้ทำร้ายทหาร ตำรวจ และพลเรือนจนเสียชีวิตเช่นกัน และแกนนำ นปช.บางคนได้ใช้ถ้อยคำยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมประท้วงก่อจลาจล วางเพลิงและปล้น
แม้จะมีหลักฐาน แต่ในช่วงห้าปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยเพิกเฉยต่อการกระทำของทหาร ในขณะที่แกนนำ นปช.และผู้สนับสนุนถูกตั้งข้อหากระทำความผิดทางอาญาร้ายแรง ขณะที่ดีเอสไอเองไม่ได้ใช้ความพยายามเพียงพอที่จะตรวจสอบว่าทหารและผู้บังคับบัญชาคนใดเป็นผู้รับผิดชอบให้เกิดการยิงขึ้น และรัฐบาลทั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกกดดันจากฝ่ายทหาร ต่างประกาศว่าทหารไม่ควรมีส่วนรับผิดชอบใดๆ เพราะได้กระทำการภายใต้คำสั่งของรัฐบาล
ขณะเดียวกันศาลอาญากรุงเทพใต้ ยังสั่งโอนคดีสลายการชุมนุม ที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกยื่นฟ้อง ไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) อีก
ฮิวแมนไรท์วอทช์เห็นว่าโอกาสที่เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจะได้รับความเป็นธรรมยิ่งสิ้นหวังมากขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้ระบุหลายครั้งว่าทหารไม่ควรถูกประณามจากการที่มีผู้เสียชีวิตในการชุมนุมทางการเมืองปี 2553