PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

ถาวร′สวน′ผบ.ตร.′อย่าพูดเอาใจ′บิ๊กตู่′ ชี้ ยางเเผ่นขายจริงไม่เกิน25บ. อย่าฟังขรก.

http://www.matichon.co.th/online/2016/01/14523265591452326599l.jpg

เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายถาวร เสนเนียม อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำกปปส. กล่าวถึงกรณีพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ระบุถึงตนหากล้ำเส้นกฎหมายก็ไม่เกรงใจในกรณีเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยางพาราภาคใต้ว่า 

ตนขอแจ้งถึงพล.ต.อ.จักรทิพย์ว่า ตนเป็นนักการเมืองของประชาชนและทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้องประชาชนมาตลอดในทุกปัญหาที่เขาเดือดร้อนและตนมีวุฒิภาวะดีพอว่าอะไรควร หรือไม่ควร ไม่ต้องมาปราม มาเตือน หรืออ้างว่ารู้จักกัน 

อย่าพูดเพื่อเอาใจนายกฯ เพราะพวกท่านอยู่ในตำแหน่งได้ดิบได้ดี แต่วันนี้ชาวสวนยางพาราเดือดร้อนแสนสาหัส ตนจะไม่เป็นคนชักนำให้พวกเขาต้องเดือดร้อนซ้ำจนเป็นผู้ต้องหา เพราะกฎหมายไม่มีละเว้นให้ใครหน้าไหน มีแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้นที่ละเว้น ซึ่งตำรวจชั้นผู้ใหญ่บางคนรู้ดีว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อะไรไว้บ้าง

"ดังนั้น ถ้าผมทำผิดกฎหมายก็เชิญตามสบาย ผมเป็นลูกผู้ชายพอ กล้าทำก็กล้ารับ และรู้จักหน้าที่ของตัวเอง และขอแจ้งถึงพี่น้องตำรวจ ทั้งที่รู้จักหรือไม่รู้จักว่า ถ้าผมทำผิดก็อย่าละเว้น จะเป็นตัวอย่างกับผู้อื่น ทั้งยังจะเดือดร้อนว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบอีก ส่วนที่รู้จักผมนั้น จะรู้ว่าผมเป็นคนอย่างไร สำหรับ ผบช.ภ. 9 ทราบว่าท่านใช้คำว่า ถ้าออกมาเคลื่อนไหว ก็เท่ากับว่าเป็นอันธพาล ใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายนั้น ในฐานะที่ ผบช.ภ.9 ซึ่งผู้รับผิดชอบในเขตพื้นที่ ซึ่งผมมีภูมิลำเนาและเป็นเขตเลือกตั้งอยู่ด้วยนั้น ผมขอขอบคุณที่เตือนแต่สิ่งที่เตือนนั้น ผมสำเหนียกตัวเองตลอดและขอส่งสัญญาณถึงท่านว่าในพื้นที่รับผิดชอบของภาค 9 มีผู้บังคับบัญชาที่รับส่วยอยู่ขอให้ตรวจสอบด้วย หากจะเปิดหน้าชกกับผมก็ยินดี" นายถาวรกล่าว 

นายถาวรกล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำนั้น อาจต้องทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เพื่อให้รับรู้ปัญหาและข้อเท็จจริง ไม่ใช่ฟังข้อมูลจากข้าราชการด้านเดียว เช่นที่บอกว่า ราคายางอยู่ที่ 48 หรือ 36 บาทต่อกิโลกรัมนั้น เป็นราคายางแผ่นดิบรมควันชั้นหนึ่งที่พร้อมส่งออก แต่ราคาน้ำยางสดหรือยางแผ่นที่ซื้อขายในพื้นที่จริง กลับมีราคาอยู่ที่ 23-25 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น 

ที่สำคัญรัฐบาลควรรับฟังปัญหา และตั้งคณะกรรมการมาแก้ไข ไม่ใช่บอกว่า ทำมาแล้ว หมดหนทางแล้ว ไม่ใช่วิสัยของนักปกครอง ในเมื่อรัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องพร้อมแก้ปัญหา หรือแสดงความจริงใจว่าพยายามแก้ไขให้คนที่กำลังเดือดร้อนมีกำลังใจ หากยังนิ่งเฉย แก้ไม่ถูกทางเช่นนี้ พอถึงฤดูเปิดกรีดยาง ก็จะมียางออกมาอีกมากจะยิ่งซ้ำปัญหายิ่งขึ้น ส่วนการที่แนะนำให้ปลูกพืชอื่นเป็นรายได้เสริมนั้น ชาวสวนยางทำมาหมดแล้ว แต่รายได้หลักคือ การปลูกยาง ที่ตกต่ำในรอบ 100 ปีก็ว่าได้

ผลงานคมนาคมเร่งแต่ช้า

ผลงาน 1 ปี คมนาคม
“เร่งรัดแต่กลับช้า”

สามาร ราชพลสิทธิ์

ผมได้อ่านรายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาลครบรอบ 1 ปี (12 กันยายน 2558 – 12 กันยายน 2559) แล้ว โดยให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกระทรวงคมนาคม ก่อนอื่นผมขอชื่นชมพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นจะยกระดับการคมนาคมขนส่งของไทยสู่มาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราง พูดได้ว่าท่านนายกฯ มุ่งหวังที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบราง เพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง และลดก๊าซเรือนกระจก

ความมุ่งมั่นและตั้งใจของท่านนายกฯ เห็นได้จากการติดตามและเร่งรัดโครงการคมนาคมขนส่งต่างๆ หลายโครงการอย่างต่อเนื่องผ่านรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง อาทิ โครงการรถไฟไทย-จีน รถไฟไทย-ญี่ปุ่น รถไฟทางคู่ รถเมล์เอ็นจีวี และทางเลียบเจ้าพระยา เป็นต้น แต่หลายโครงการมีผลการดำเนินงานช้า ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้

1. ข้อมูลโครงการไม่เพียงพอ

มีการกำหนดเวลาการก่อสร้างในขณะที่ยังมีข้อมูลโครงการไม่เพียงพอ พูดได้ว่าเป็นการกำหนดเวลาเริ่มก่อสร้างก่อนมีการศึกษาความเป็นไปได้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการออกแบบเบื้องต้น หรือต้องการจะก่อสร้างให้ได้โดยไม่รู้ว่าโครงการจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ โครงการจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด และราคาค่าก่อสร้างที่แน่นอนจะเป็นเท่าใด ทำให้รัฐบาลไม่สามารถชี้แจงข้อสงสัยของสาธารณชนได้ เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน และโครงการทางเลียบเจ้าพระยา เป็นต้น

โครงการรถไฟไทย-จีน เดิมถูกกำหนดเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2558 แต่บัดนี้ถูกเลื่อนออกไปเป็นกลางปี 2559 ถึงเวลานี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าประเทศไทยจะต้องแบกภาระการขาดทุนปีละเท่าใด จีนจะร่วมลงทุนมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญ ดอกเบี้ยเงินกู้รวมทั้งเงื่อนไขการกู้เงินอื่นๆ ก็ยังตกลงกันไม่ได้ แต่มีการปักธงที่จะก่อสร้างไว้ล่วงหน้าแล้ว

โครงการก่อสร้างทางเลียบเจ้าพระยา เดิมต้องการจะเริ่มก่อสร้างให้ได้ภายในปี 2558 แต่ไม่สามารถเริ่มได้ จึงเลื่อนออกไปเป็นภายในปีนี้ ทั้งนี้ มีการคัดค้านโครงการหรือรูปแบบโครงการ โดยอ้างว่าโครงการไม่กลมกลืนกับวิถีชีวิตชุมชน ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ชีวิตริมเจ้าพระยา และส่งผลกระทบต่อการป้องกันน้ำท่วม อีกทั้ง มีการทักท้วงว่าค่าก่อสร้างแพง เมื่อข้อมูลในการดำเนินงานมีไม่เพียงพอ ทำให้การชี้แจงต่อผู้ที่ห่วงใยไม่ได้ผล ส่งผลให้โครงการล่าช้า

2. การประมูลโครงการมีปัญหา

ปัญหาที่ว่านั้นก็คือ ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference หรือทีโออาร์) ซึ่งมีการจัดทำโดยเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย เมื่อถูกท้วงติงทำให้ต้องเสียเวลาในการแก้ไขเป็นเวลานาน หากจัดทำทีโออาร์อย่างตรงไปตรงมาโดยคำนึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ผมมั่นใจว่าหลายโครงการจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ตามแผนที่วางไว้ ตัวอย่างของโครงการที่มีปัญหาในการประมูล เช่น การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน และการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน เป็นต้น

การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ถูกยกเลิกการประมูลไปเมื่อไม่นานมานี้หลังจากมีการร้องเรียนว่าบริษัทที่ชนะการประมูลยื่นเอกสารบางรายการไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการประมูล มีการกล่าวหาว่าทีโออาร์ของโครงการนี้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการบางราย ทำให้ต้องเสียเวลานานนับปีในการแก้ไขทีโออาร์หลายครั้ง

การจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 ขบวน โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยังไม่คืบหน้า หลังจากถูกเปิดเผยว่าราคาที่ รฟท.จะซื้อแพงกว่าราคาที่แอร์พอร์ตลิงก์ของมาเลเซียซื้อ ทั้งๆ ที่ซื้อจากบริษัทเดียวกันและมีสเปกใกล้เคียงกัน ที่สำคัญ การจัดซื้อในครั้งนี้มีบริษัทที่เข้าประมูลเพียงรายเดียว เนื่องจากทีโออาร์บางรายการผิดปกติ เช่น กำหนดให้ผู้โดยสารยืนได้สูงสุดถึง 10 คนต่อตารางเมตร เพื่อใช้ในการคำนวณน้ำหนักกดเพลา ทำให้บริษัทอื่นไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้

3. มีปัญหาเงินลงทุน

การเร่งก่อสร้างโครงการคมนาคมขนส่งหลายโครงการในช่วงเวลาเดียวกันจำเป็นจะต้องหาแหล่งเงินทุนให้เพียงพอ เมื่อเร็วๆ นี้ จึงมีการนำรูปแบบการลงทุนเก่ามาพูดใหม่ นั่นคือการโน้มน้าวให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ หรือ PPP (Public Private Partnership) ซึ่งประเทศไทยได้ใช้รูปแบบการลงทุน PPP มานานพอสมควรแล้ว ไม่ใช่รูปแบบใหม่เลย อีกทั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยหวังที่จะให้เอกชนมาร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ โดยเฉพาะระบบราง 

ผมมีความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เอกชนจะสนใจร่วมลงทุนในโครงการระบบราง เพราะรู้ดีว่าจะขาดทุน หากเอกชนจะลงทุนก็ลงทุนในสัดส่วนไม่มาก หรือประมาณไม่เกิน 20% ของมูลค่าโครงการ การคาดหวังให้เอกชนลงทุนทั้งหมด 100% นั้นเป็นเรื่องยาก ดังจะเห็นได้จากโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – หัวหิน และเส้นทางกรุงเทพฯ – ระยอง ซึ่งรัฐบาลนี้ต้องการให้เอกชนลงทุนทั้งหมด 100% แต่ก็ไม่สามารถหาเอกชนผู้สนใจได้

4. บางโครงการถูกปล่อยเกียร์ว่าง

ในบางหน่วยงานด้านการคมนาคมที่ต้องดำเนินงานหลายโครงการ ผู้รับผิดชอบจะทุ่มเทเวลากับโครงการที่เห็นว่ามีความเหมาะสมมากกว่าโครงการที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ควรจะก่อสร้างในขณะนี้ โดยผู้รับผิดชอบจะทำงานแบบประคองตัวหรือปล่อยเกียร์ว่างกับโครงการที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ทำให้โครงการเหล่านั้นล่าช้า เมื่อผู้รับผิดชอบได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีให้เร่งรัดโครงการก็ไม่กล้าชี้แจงว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเริ่มก่อสร้างได้ในเวลาที่รัฐมนตรีต้องการ เพียงแต่รับคำสั่งไว้ หลังจากระยะเวลาหนึ่งก็จะรายงานรัฐมนตรีให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ นานา ดังนั้น จึงเห็นกันมาเป็นระยะๆ ในรัฐบาลนี้ว่ารัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แผนการดำเนินโครงการที่เป็นไปไม่ได้หลายครั้ง เพราะคิดว่าสิ่งที่ตนสั่งการไปนั้นเป็นไปได้ ทำให้โครงการล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

ผมอยากให้หลายโครงการที่ท่านนายกฯ เร่งรัดนั้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้หากโครงการเหล่านั้นมีความพร้อมโดยได้ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ จะต้องมีกระบวนการประมูลที่โปร่งใส หาไม่แล้วการเร่งรัดโครงการที่ไม่มีความพร้อมก็จะไม่สามารถทำให้โครงการนั้นเร็วขึ้นมาได้