PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

ศบปพ.ทำNew master plan

ผบ.ทอ.ประชุม ศบปพ. ทำ New Master plan แก้ไขปัญหาการบินพลเรือน พร้อมเร่งรัดการรับบุคลากร ภายในมค.

พลอากาศเอก ตรีทศ  สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศในฐานะ  ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ผบ.ศบปพ.) เป็นประธานในการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องทางด้านการบินพลเรือนของคณะกรรมการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) ที่ กองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
 
พลอากาศเอก มณฑล  สัชฌุกร โฆษก ศบปพ. กล่าวว่า  ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการเร่งรัดติดตามเรื่องการคัดสรรบุคลากรที่จะบรรจุเข้าทำงานในสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยเร็วที่สุด
 กพท.ชี้แจงว่าได้มีการแบ่งกลุ่มการคัดสรรออกเป็น ๓ กลุ่ม ด้วยกัน ได้แก่ การคัดสรรบุคลากรเดิมที่เคยปฏิบัติงานในกรมการบินพลเรือน (บพ.) การรับสมัครบุคคลที่มาจากกลุ่มอุตสาหกรรมการบินทั่วไป และการรับสมัครจากผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ 

โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการคัดเลือกบุคลากรในกลุ่มแรก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ 

ทั้งนี้ ผบ.ศบปพ.ได้ให้ข้อพิจารณาว่าการคัดเลือกบุคลากร   เข้ามาทำงานใน กพท.ถือว่ามีความสำคัญที่สุด เพราะความสำเร็จและความผิดพลาดที่ผ่านมาเกิดจากคนที่เข้ามาทำงานทั้งสิ้น การคัดสรรคนจึงต้องให้ได้คนที่มีความสามารถและมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลตามที่กำหนด ดังนั้นกรรมวิธีในการคัดสรรบุคลากรจึงต้องมีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของฝ่ายต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
จากนั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณาร่างแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน(New Master Plan) ซึ่งทาง กพท.ได้นำเสนอ ประกอบด้วย การฝึกอบรมในหลักสูตรต่างๆ งบประมาณ และระยะเวลาในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแผนการฝึกอบรมและเพิ่มคุณสมบัติของผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ(Inspectors) แผนการตรวจสอบเพื่อออกใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอกใหม่(Re-ATPL) และแผนการตรวจสอบเพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่(Re-AOC) รวมถึงการพิจารณาเรื่องความร่วมมือกับสำนักงานบริหารความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป(EASA) และการพิจารณาบุคลากรเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบร่วมกับบริษัท Civil Aviation Authority International (CAAi) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับเป็นที่ปรึกษาและแก้ไขปัญหาการบินพลเรือนที่ทาง EASA แนะนำเพื่อให้มาช่วยในการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น  

โดยทาง ผบ.ศบปพ.ได้ขอให้ กพท.ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบของไทยที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าร่วมด้วยและให้ว่าจ้างผู้ตรวจสอบของบริษัทฯ ดังกล่าวเท่าที่จำเป็น เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณและฝึกฝนคนของเราให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยตนเองในระยะยาวต่อไป

 ทั้งนี้ขอให้นำร่างแผนแม่บทที่นำเสนอครั้งนี้ไปตรวจสอบในรายละเอียดให้รอบคอบและนำเสนอให้ ศบปพ.รับรองภายในสัปดาห์หน้าเพื่อที่จะได้นำเรียนคณะรัฐมนตรีสำหรับใช้เป็นแผนหลักในการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ต่อไป

ศปมผ.เตรียมลงนามMOUกับผู้ประกอบการ34ราย

ศปมผ. เครียมลงนาม MOU กับหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ 34หน่วย ในการไม่ซื้อ นำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย ซึ่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ มาผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และจัดจำหน่ายเป็นสินค้าอาหารทะเล/ขณะที่ ศปมผ.ตรวจโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ เผย ไล่ตรวจ115 โรงงาน แจงรายละเอียดการตรวจ

ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จะลงนามระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ จำนวน 34 หน่วยงาน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการไม่ซื้อ นำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย ซึ่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ มาผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และจัดจำหน่ายเป็นสินค้าอาหารทะเล

โดยจัดขึ้น ในวันศุกร์ที่15 มกราคม 2559เวลา 13.30 น. ที่ห้องรับรอง 1 ชั้น 2 กองบัญชาการกองทัพเรือ วังนันทอุทยาน 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหากระบวนการด้านประมงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดมีมาตรฐานสากล อันจะเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นชอบร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุด

สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนาม MOU จำนวน 34 หน่วยงาน ประกอบด้วย 
 1. หน่วยงานภาครัฐ จำนวน 12 หน่วยงาน
- ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
- ศูนย์ประสานการปฎิบัติในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล(ศรชล.)
-กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
- กระทรวงแรงงาน 
- กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ 
-สำนักงานอัยการสูงสุด
-  กรมสอบสวนคดีพิเศษ - กรมประมง
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
-กรมเจ้าท่า
-กรมศลากากร
-กองบังคับการตำรวจน้ำ
2. องค์กรภาคเอกชน19 หน่วยงาน
- สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย 
- สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย
-  สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย 
- สมาคมการประมงทะเลไทย
- สมาคมอุตสาหกรรรมทูน่าไทย 
- บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)
-บริษัทยูเนี่ยนโฟรเซน โปรดักส์ จำกัด
-บริษัทสยาม ทูน่า ซัพพลาย จำกัด
-บริษัท ห้องเย็นกู้ดฟอร์จูน จำกัด
-บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด
-บริษัท เซียนหนิง ซีฟู้ด จำกัด
-บริษัท องกรณ์ห้องเย็น จำกัด
-บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยนซีฟู้ด จำกัด(มหาชน)
-บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด(มหาชน)
-บริษัท ชัยวารีมารีนโปรดักส์ จำกัด
-บริษัท แพ็คฟู้ด จำกัด(มหาชน)
-บริษัท ไทยรอแยลฟรอเซนฟู้ด จำกัด
-บริษัท เมย์โอฟู้ดส์ จำกัด
3. องค์กรที่เป็นกลาง 3 หน่วยงาน (ลงนามในฐานะพยาน)
- กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
- องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
- มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน 

และ ศปมผ.จัดการประชุมติดตามผลการดำเนินงานของ ศปมผ. ครั้งที่ 1/2559 
 พลเรือเอก ณะ  อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จะเป็นประธานการประชุม ศปมผ. ครั้งที่ 1/2559  เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารกองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน  เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และติดตามเรื่องจากการประชุมที่ผ่านมา ดังนี้
 1. ให้กรมประมงชี้แจง ดังนี้ 
 1.1 ความก้าวหน้าการรายงานให้ DG MARE ได้ทราบถึงการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายของประเทศไทย
 1.2 ความก้าวหน้าการออก กฎหมายเพื่อให้สมุดคู่มือประจำเรือ/อาชญาบัตร มีผลบังคับใช้ 
 1.3 ความก้าวหน้า ความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย/การค้ามนุษย์
 1.4 การจัดอบรมเจ้าหน้าที่ตามคู่มือของศูนย์เฝ้าระวังการทำการประมงผิดกฎหมาย
 1.5 ความก้าวหน้าการเตรียมการจัด Observer on Board ปฏิบัติงานใน เรือประมง
 1.6 ความก้าวหน้าการจัดทำระบบสารสนเทศเชื่อมโยงข้อมูลของระบบตรวจสอบย้อนกลับ
 1.7 ความก้าวหน้าการออกคำสั่ง ให้โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่ทำผิดกฎหมายหยุดประกอบการ ตามที่ คณะตรวจสหวิชาชีพนำเสนอ
 1.8 ความก้าวหน้าการปรับปรุงโครงสร้างรองรับภารกิจการป้องกันการทำประมง IUU
 2. คณะทำงานพัฒนาระบบทะเบียนและบันทึกข้อมูลเรือประมงชี้ความก้าวหน้า
 3. คณะทำงานด้านกฎหมาย ศปมผ.ชี้แจงความก้าวหน้าการติดตามการออกอนุบัญญัติรองรับ พ.ร.ก.
การประมง พ.ศ.2558 ของกรมประมง
 4. คณะทำงานปรับปรุงระบบตรวจสอบย้อนกลับ รายงานความก้าวหน้า
 5. คณะทำงานจัดทำระบบติดตามเรือ (VMS) รายงานผลการสาธิตระบบให้ EJF รับทราบ
6. คณะทำงานปราบปรามการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในภาคประมง รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินคดี และการเสนอข้อมูลเพื่อให้หยุด/ปิดสถานประกอบการ
 7. กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงความก้าวหน้าการสั่งปิดโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่ทำผิดกฎหมาย ตามที่ชุดตรวจเฉพาะกิจสหวิชาชีพ และกรมประมง เสนอ
 8. สำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือชี้แจงผลการติดตามคดีการทำการประมงผิดกฎหมาย/บังคับใช้แรงงาน/การค้ามนุษย์ของ ศรชล.ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2558 
 9. สำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงความก้าวหน้าการจัดทำข้อมูลเพื่อเตรียมนำเสนอให้ EU ได้ทราบ
 10. กระทรวงแรงงานชี้แจงความก้าวหน้าการนำเสนอข้อมูลการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้ EU ได้รับทราบ
 11. กระทรวงการต่างประเทศ และ กระทรวงแรงงาน รายงานความก้าวหน้า ทำข้อตกลงนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ
 12. ฝ่ายปลัดบัญชี สำนักงานเลขาศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินการ
 13. รองเสนาธิการทหารเรือ (ด้าน กบ.) ชี้แจงเตรียมการและแนวทางการซื้อเรือประมงคืนจากผู้ประกอบการ
 14. ฝ่ายคณะทำงาน ประชาสัมพันธ์ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินการ
 15. สำนักงานเลขาศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ชี้แจงแผนงานรับตรวจจาก EU และรายงานความก้าวหน้า การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายของทุกหน่วยงาน

หลังการประชุมจะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าในการทำงานของ ศปมผ. โดยมีพลเรือโทจุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ/โฆษก ศปมผ.เป็นผู้แถลงข่าว

ศปมผ.บุกตรวจโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ เผย ไล่ตรวจ115 โรงงาน แจงรายละเอียดการตรวจ
 

ในการเข้าตรวจเยี่ยมโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำของ ศปมผ. ในครั้งนี้ 
มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบระบบการตรวจสอบย้อนกลับและการดูแลแรงงานของโรงอุตสาหกรรม 

โดยในหลักการของระบบ "ตรวจสอบย้อนกลับ" คือ ผู้บริโภคจะต้องทราบว่าปลาที่จะบริโภคนั้นได้มาจากที่ใด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มาตรฐานสากลได้กำหนดไว้ โดยระบบตรวจสอบย้อนกลับของภาคประมงจะต้องมีส่วนสัมพันธ์กันทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่นโยบายการจัดการประมง (Fisheries Policy) ระบบติดตามควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงในทะเล (Monitoring Control and Surveillance : MCS) การบริหารจัดการบริเวณท่าเรือ (Dockside Management) ไปจนถึงโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำและตลาดปลายทาง ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าสู่ผู้บริโภคในแต่ละจุดจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือและวิธีการจัดการที่เหมาะสมรัดกุม เพื่อให้ระบบตรวจสอบย้อนกลับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

ดังนั้น เรือประมงไทยก่อนออกทำการประมงทั้งในและนอกน่านน้ำ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ตรวจทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบประกาศนายท้ายเรือ ช่างเครื่อง VMS Logbook 

โดยศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าออกเรือประมง (PIPO) โดยเรือประมงไทยที่ได้เสร็จสิ้นการทำประมงฯ และเข้าเทียบท่าจะต้องผ่านการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลในระบบ VMS และ Logbook เกี่ยวกับชนิดของสัตว์น้ำ ตำบลที่จับสัตว์น้ำก่อนการนำสัตว์น้ำขึ้นท่าเรือส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ซึ่งท่าเรือ/แพปลาเป็นผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (MCPD) ซึ่งท่าเรือ/แพปลา จะต้องมีเครื่องชั่งน้ำหนักมาตรฐาน และควบคุมตรวจสอบการออกใบ MCPD ให้เป็นไปอย่างถูกต้องใกล้เคียงกับความจริง ทั้งนี้ เรือประมงต่างชาตินำเข้าสัตว์น้ำ โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินการแจ้งการนำเข้า เอกสารรับรองการจับสัตว์น้ำจากต้นทาง 

นอกจากนี้ จะมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยกรมประมงกำลังวางระบบฐานข้อมูลให้สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ โดยในลักษณะ Real Time ซึ่งจะสร้างให้งานของระบบตรวจสอบย้อนกลับเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
สำหรับในเรื่องแรงงาน ศปมผ. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 
1.การบังคับใช้กฎหมายกับอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และการปราบปรามการค้าในอุตสาหกรรม 
 1. ตรวจโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำที่ขึ้นบัญชีกับกรมประมงและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 100 % 
 2. ตรวจโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำที่ไม่ได้ขึ้นบัญชีกับกรมประมง จำนวน 50 แห่ง
 3. ตรวจโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำแล้ว จำนวน 115 โรงงาน จากจำนวนที่กำหนดในแผน 81 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 142 พบการกระทำความผิด 52 โรงงาน 
ในจำนวนนี้ได้สั่งหยุดกิจการชั่วคราว จำนวน 5 โรงงาน และสั่งปิดกิจการ จำนวน 1 โรงงาน ที่เหลือยู่ระหว่างการตรวจสอบ 
 3. ตรวจโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำแล้ว จำนวน 115 โรงงาน จากจำนวนที่กำหนดในแผน 81 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 142 พบการกระทำความผิด 52 โรงงาน 
ในจำนวนนี้ได้สั่งหยุดกิจการชั่วคราว จำนวน 5 โรงงาน และสั่งปิดกิจการ จำนวน 1 โรงงาน ที่เหลือยู่ระหว่างการตรวจสอบ 
 4. การกำหนดบทลงโทษการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามเรียบร้อยเมื่อ 11 ธันวาคม 2558  
2. การปรับสถานะแรงงานต่างด้าวในเรือประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำให้ถูกกฎหมาย
 1. ออกประกาศและจดทะเบียนให้แรงงานต่างด้าวทำงานประมงได้เป็นเวลา 1 ปี 
โดยให้นายจ้างนำแรงงานต่างด้าวมารายงานตัว 
 1.1 ให้ถูกส่งกลับเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยให้จดทะเบียนให้ถูกต้องระหว่าง 2 พฤศจิกายน 2558 – 30 มกราคม 2559 ปัจจุบันมีแรงงานจดทะเบียนแล้ว 12,606 คน ส่วนแรงงานในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำให้จดทะเบียนระหว่าง 25 พฤศจิกายน 2558 – 22 กุมภาพันธ์ 2559 ปัจจุบันมีแรงงานจะทะเบียนแล้ว 22,443 คน (แรงงาน 22,133 คน และผู้ติดตาม 310 คน)
 1.2 การพิจารณาเพิ่มอายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวเป็น 4 ปี และต่ออายุใบอนุญาตทำงานโดยอัตโนมัติอีก 4 ปี อยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญประชุมสรุป เพื่อเสนอสหภาพยุโรปต่อไป 
 2. ต้องให้แรงงานภาคการประมงสามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ โดยไม่จำกัดจำนวนนายจ้างและจังหวัดที่ทำงานได้ โดยให้นายทะเบียนอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเปลี่ยนนายจ้าง หรือท้องที่ทำงานตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 26 ดำเนินการตั้งแต่ 2 พฤศจิกายน 2558
3. ใช้มาตรการการลงโทษอย่างเคร่งครัด 
 1. บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายแรงงาน กฎหมายคนเข้าเมือง และ พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ ในอัตราขั้นสูงสุด โดยเฉพาะการเปรียบเทียบปรับ
 2. สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รายงานผลการติดตามคดีที่ส่งฟ้องศาลความก้าวหน้าในการดำเนินการสำนวนคดีการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 – 29 ธันวาคม 2558 จำนวน 41 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการทำความผิดการบังคับใช้แรงงานประมง 8 คดี 
4. ความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
 1. ความร่วมมือกับต่างประเทศ ทำ MOU ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการประมง และแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในภาคประมงกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน และประเทศแถบหมู่เกาะ แปซิฟิก อาทิ ฟิจิ ฟิลิปินส์ สหภาพเมียนมา อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศแถบหมู่เกาะ แปซิฟิก 
 

และในวันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2559 เวลา 13.30 น. ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ 
วังนันทอุทยาน จะมีการลงนามระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการไม่ซื้อ นำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย ซึ่งสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ มาผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ และจัดจำหน่ายเป็นสินค้าอาหารทะเล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหากระบวนการด้านประมงตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดมีมาตรฐานสากล อันจะเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการได้ตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นชอบร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุด โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
 1. ให้หน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการ ร่วมมือกันในการรักษามาตรฐานการประกอบการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน และให้มีการประมงอย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการจะไม่ซื้อ นำเข้า ส่งออก นำผ่าน จำหน่าย ซึ่งสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย การใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ มาผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ 
และจัดจำหน่ายเป็นสินค้าอาหารทะเล รวมทั้งจะปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการประมง แรงงาน และการค้ามนุษย์อย่างเคร่งครัด และส่งมอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้แก่หน่วยงานภาครัฐ
 2.ให้ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนความรู้ จัดกิจกรรม จัดให้มีการบรรยายทางวิชาการ การฝึกอบรม และการศึกษาวิจัยในหัวข้อและโครงการที่เหมาะสม
สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนาม MOU จำนวน 25 หน่วยงาน ประกอบด้วย 
 1. หน่วยงานภาครัฐ จำนวน 12 หน่วยงาน
- ศปมผ. - ศรชล.
- กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - กระทรวงแรงงาน 
- กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ - สำนักงานอัยการสูงสุด
-  กรมสอบสวนคดีพิเศษ - กรมประมง
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง - กรมเจ้าท่า
- กองบังคับการตำรวจน้ำ - กรมศุลกากร 
 2. องค์กรภาคเอกชน
- สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย - สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย
-  สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย - สมาคมการประมงทะเลไทย
- สมาคมอุตสาหกรรรมทูน่าไทย - บริษัทไทยยูเนี่ยน
- บริษัท ฯลฯ 
 3. องค์กรที่เป็นกลาง (ลงนามในฐานะพยาน)
- กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ - องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
- มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน 

ซึ่งในการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้การทำการประมงไทยมีมาตรฐานสากล และมีความยั่งยืนตลอดไป

นี่ไงบิ๊กเจี๊ยบ

ดูตัว บิ๊กเจี๊ยบ.....
ก่อนกลับ จากกองทัพภาค1 เมื่อเช้านี้ นายกฯ บิ๊กตู่ ตะโกนเรียก บิ๊กเจี๊ยบ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท  ผช.ผบทบ. 1 ในแคนดิเดท ผบทบ. เข้ามาหา โดย นายกฯ เรียก บิ๊กปัอม พลเอกประวิตร มาร่วมพูดคุยด้วย  นายกฯบอกว่า  นี่ไง เจี๊ยบ ....ก่อนที่จะแซว เริ่อง ใบหน้าที่ยังดูเครียด ตลอดเวลา  ตามที่เคยแซว มาแล้วครั้งก่อน  คราวนี้เรียกหา แล้ว ขวนคุยเริ้องการสร้่างความปรองดอง  โดยมี บิ๊กหมู พลเอก ธีรชัย ผบทบ./เลขาฯคสช./ผบ.กกล.รส. ที่คุมศูนย์ปรองดองฯ ด้วย  โดยนายกฯ แนะว่า  การถามความเห็นแต่ละฝ่ายอย่างเดียว ไม่พอ  ต้องถามว่า เขาจะร่วมมืออย่างไรบ้างด้วย ไม่ใช่แค่พูดๆอย่างเดียว.....นายกฯ แซว บิ๊กเจี๊ยบ ให้โรยตัวจาก หลังคา บก.ทัพภาค1 ด้วย เพราะเป็นทหารรบพิเศษ นั่นเอง....สำหรับ พลเอกเฉลิมชัย เป็น ตท.16 มีอายุราชการ ถึง กบ.2561  ปลายปีนี้ จะชิงเก้าอี้ ผบทบ.กับ บิ๊กแกละ พลเอกพิสิทธิ สิทธิสาร เสธ.ทบ. สายบูรพาพยัคฆ์ น้องรัก พลเอกประวิตร  เป็นตท.17 แต่เกษียณ2560 โดยถือว่า เป็นเต็งหนึ่ง  อีกทั้ง พลเอกเฉลิมชัย เป็นสายทหารรบพิเศษ  ที่ก็ยากที่ จะฝ่าดงบูรพาพยัคฆ์ขึ้นมาได้  ยิ่งปี2560-2561 เป็นช่วง หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง การเลือกตั้ง  เพราะ สายรบพืเศษนั้น ถูกมองว่าเป็น สาย พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีและ บื๊กบัง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบทบ./อดีตประธานคมช. ที่ก็มีเรื่องคาใจกับ พลเอกประวิตร มายาวนาน....แต่แน่นอนว่า  พลเอกเฉลิมชัย  มีแรงเชียร์เพียบ เพราะ ทหารที่ไม่ใช่สายบูรพาพยัคฆ์  ก็ต่างอยากให้ คนเป็น ผบทบ. มาจากสายอื่นบ้าง หลังจากที่ เป็นผบทบ. ต่อเนื่องกันมา 4 คน ตั้งแต่ พลเอก อนุพงษ์  พลอกประยุทธ  พลเอกอุดมเดช และ พลเอกธีรชัย....โยกย้ายกย.นี้ จึงน่าจับตามองยิ่ง แต่ที่น่าจับตามองมากกว่า คือ เมย.นี้  พลเอกประยุทธ์  จะดันใคร มาเสียบเป็น แคนดิเดท ผบทบ. เพิ่มหรือไม่ หากมีการปรับครม. แล้วดึง บิ๊กทหาร คนใดในห้าเสือทบ.ไปช่วยงาน เพื่อให้เกิดเก้าอี้ว่าง

เกิดอะไรขึ้นกับค่าเงินหยวน

 เกิดอะไรขึ้นกับค่าเงินหยวน ==
ในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่า 6% เทียบกับดอลล่าร์ นับว่าอ่อนค่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ ใน Emerging Markets โดยหลายคนไม่รู้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลัง คือการลงต่อสู้ใน “สนามรบค่าเงิน” ระหว่างธนาคารกลางของจีน (PBOC) กับบรรดานักค้าเงินและนักเก็งกำไร ด้วยการเข้าซื้อเงินหยวนจำนวนมหาศาล
Bloomberg รายงานว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา PBOC หมดทุนสำรองไปกับการพยุงค่าเงินหยวนมากถึง 18 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับทุนสำรองของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ ... แต่จีนยังมีทุนสำรองอีกกว่า 120 ล้านล้านบาท จึงมี 'หน้าตัก' อีกเยอะ
ช่วงที่ต้องต่อสู้หนัก คือ หลังปีใหม่ ที่ทางการจีนต้องไล่เก็บเงินหยวน Offshore ที่ฮ่องกง เพื่อปิด gap ให้ค่าเงิน Offshore แข็งเท่ากับ Onshore ... ลองนึกดูว่า “เงิน” ก็คือสินค้าอย่างหนึ่ง เมื่อมีคนไล่เก็บก็จะเกิดการ “ขาดตลาด” สิ่งที่ตามมาคือ อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะสั้น (Overnight Lending Rate) พุ่งขึ้นจาก 4% เป็น 67% เพื่อกีดกันไม่ให้นักเก็งกำไรกู้ยืมเงินดอกเบี้ยถูกๆ มาถล่มค่าเงินหยวน ยังดีที่ 67% นี้เป็นอัตราดอกเบี้ย Offshore จึงไม่กระทบกับธุรกิจในประเทศจีน (อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระยะสั้นในจีนยังต่ำเพียง 2.4%)
ถ้าเราย้อนไปดูภาพใหญ่ ทั้งหมดที่ทางการจีนทำ ก็เพื่อให้ค่าเงินหยวนไม่อ่อนค่าแรงเกินไป เพราะหากคนคาดว่าเงินหยวนจะอ่อนค่ารุนแรง ก็จะมีเงินขนเงินออกจากจีน เกิด Capital Outflow ขนาดมหาศาล หากจำกันได้ IMF เพิ่งอนุมัติให้เงินหยวนอยู่ในตะกร้าสกุลเงินหลัก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ปลายปี 2016 นี้ จีนจึงต้องสร้าง “Stability” ให้สกุลเงินหยวน รวมทั้งยับยั้งการไหลออกของเงินทุน ซึ่งคาดว่าไหลออกไปแล้วมากกว่า 36 ล้านล้านบาท
คำแนะนำ: เรายังเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับค่าเงินหยวนและตลาดหุ้นจีนในระยะนี้ มีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจโลกในภาพรวมไม่มากนัก โดยคาดว่า เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นยังฟื้นตัวได้แบบช้าๆ และคาดว่าตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่นน่าจะปรับขึ้นได้ในระยะสั้น ยังคงแนะนำทยอยสะสมกองทุน CIMB-P GSA, EUEQ และ JEQ
โดย วิน พรหมแพทย์, CFA, บลจ. CIMB Principal
Data Source: Bloomberg

ศึกชิงบัลลังก์สะท้านประชาธิปัตย์

The Hel(l)met Show EP.61 : ศึกชิงบัลลังก์สะท้าน...ประชาธิปัตย์

จังหวะพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกของพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่การตั้งคำถามการทำงานของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีข่าวคราวดราม่าเกี่ยวกับกทม.ออกมาเป็นระยะๆ ล่าสุดคงไม่พ้นรื่องไฟปีใหม่ 39 ล้านบาท 

และยังไล่เรียงมาถึง  กระแสข่าวในพรรค ที่เหยียบกันให้แซ่ดว่าเตรียมเขี่ย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคพ้นเก้าอี้ ทั้งๆยังมีความสามารถในการอยู่ในตำแหน่งได้อีกถึง 2 ปี และยังเป็นช่วงที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกำลังดวงขึ้นอีกด้วย เพราะป.ป.ช. มีมติกรณีคำร้องการไต่สวนถอดถอน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งใช้กำลังทหาร-ตำรวจในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ช่วงวันที่ 10 เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป แถมฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญยังยืนยันว่าคุณอภิสิทธิ์ยังคงลงเลือกตั้งได้แม้ว่าจะยื่นเอกสารปลอมในการสมัครทหารก็ตาม

อ.พิชญ์มองว่าหลายๆกระแสข่าวที่ออกมาก็ดูจะเป็นเรื่องดีสำหรับคุณอภิสิทธิ์ทั้งหมด แต่ทำไมถึงมีกระแสข่าวว่าจะปลิวจากเก้าอี้ได้  ?

พร้อมๆกับรายชื่อของแคนดิเดตที่ผุดขึ้นมา อาทิ  ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน และอดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย  ผู้มีความชำนาญด้านงานต่างประเทศในงานเชิงนโยบาย และเคยดำรงตำแหน่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย 

ซึ่ง ดร.สุรินทร์ เองได้เคยกล่าวถึงอนาคตทางการเมืองของตนเองว่า หลังจากทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปลดล็อคพรรคการเมืองแล้ว ตนก็มีความพร้อมที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ เนื่องจากขณะนี้ตนมีความพร้อมแล้ว

และอีกท่านที่น่าจับตามองคือ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ที่ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า กับการชูจุดเด่นการจะเป็นปากเสียงแทนชาวบ้านได้ดีกว่าผู้ปกครองประเทศที่ไม่ได้มาจาก "ชาวบ้าน"

คงต้องติดตามศึกชิงบัลลังก์พรรคประชาธิปัตย์ต่อไปว่าจะเดินเกมการเมืองในรูปแบบไหนเพราแต่ละคนที่พร้อมจะลงชิงตำแหน่งก็มีฝีไม้ลายมือทั้งนั้น

ดูความคิดปูตินในบทบาทถ่วงดุลมหาอำนาจโลก

จับใจความสำคัญจากคำให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีปูติน กับสื่อเยอรมัน Bild เกี่ยวกับบทบาทของรัสเซียในการช่วยถ่วงดุลมหาอำนาจในโลก เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่เมืองโซชิ > Interview to German newspaper Bild (The interview was recorded on January 5, in Sochi.) 

"World would be more balanced if Russia asserted national interests from outset." > "โลกจะมีความสมดุลมากยิ่งขึ้น หากรัสเซียรักษาจุดยืนในผลประโยชน์ของชาติตั้งแต่เริ่มต้น" 

"For me, it is not borders that matter" > "สำหรับผม เรื่องชายแดนไม่ใช่สาระสำคัญ การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินและสหภาพโซเวียต ไม่ได้รวมยุโรปให้เป็นเอกภาพ แต่เป็นการย้ายเส้นแบ่งเขตไปทางตะวันออกเท่านั้น ตะวันตกยังคงประกาศว่า รัสเซียเป็นปฏิปักษ์อยู่ตลอดเวลาที่กรุงมอสโกได้แสดงท่าทีที่เป็นเอกราช และยืนยันในผลประโยชน์ของชาติของตนเอง"

บทเรียนจากข่าวดีเจเก่งสะท้อนหน้าที่ของนักข่าว

บทเรียน "ดีเจเก่งถอยชน" สะท้อนโลกสื่อยุคใหม่ ตอกย้ำหน้าที่ "นักข่าว"
มติชนออนไลน์ Tuesday, January 12, 2016

          ข่าวคนดังในสังคมถอยรถชนเก๋งคันหนึ่งถูกผู้สื่อข่าวพบเห็นและบันทึกภาพเหตุการณ์พร้อมคำบอกเล่าของคู่กรณีจนกลายเป็นกระแสข่าวดังชั่วข้ามคืนสื่อทุกแห่งทั่วประเทศหยิบยกประเด็นนี้มานำเสนอเป็นข่าวใหญ่ตลอดสัปดาห์เหตุการณ์นี้สะท้อนพื้นที่ข่าวและบทบาทของสื่ออย่างไรท่ามกลางโลกยุคใหม่อ่านมุมมองเหล่านี้จากความคิดเห็นของนักวิชาการและอาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย

          กรณีเหตุการณ์คลิปข่าวดีเจเก่งถอยรถชนยาริส ทำให้เกิดภาพสะท้อนหลายอย่างในสังคมโดยเฉพาะในวงการสื่อ มองประเด็นเรื่องนี้อย่างไร

          ในกรณีของดีเจเก่งเกิดขึ้นแตกต่างจากเดิม คือเมื่อก่อนแพลตฟอร์มของสื่อมีค่อนข้างจำกัด มีทีวีแค่ 5-6 ช่อง แต่ทุกวันนี้มีช่องทีวีมากมายเต็มไปหมด และที่สำคัญเรามีโทรศัพท์มือถือที่สามารถถ่ายทอดสื่อสารต่างๆ ได้ ซึ่งเมื่อก่อนสื่อมวลชนเป็นผู้กำหนดวาระข่าวสาร บอกว่าอะไรเป็นข่าว อะไรไม่ใช่ข่าว ซึ่งอันนี้คือในอดีต แต่ทุกวันนี้ประชาชนทุกคนมีช่องทางสื่อสารของตัวเอง สามารถบอกได้ว่านี้คือประเด็นที่ฉันอยากสื่อสารกับเพื่อน อยากจะบอกต่อ เป็นประเด็นที่อยากจะแสดงความคิดเห็น

          เพราะฉะนั้นแล้ว ช่องทางในการสื่อสารของทุกคนมีมากขึ้น และช่องทางการเสพสื่อก็มีมากขึ้น มากกว่าเดิมด้วย เพราะฉะนั้นแล้วจึงไม่แปลกใจที่ประเด็นในโลกออนไลน์ทุกวันนี้เป็นประเด็นหลักขึ้นมามากมาย สื่อมวลชนกระแสหลักกลับมากระโดดหยิบเอาประเด็นในโลกออนไลน์ไปนำเสนอ

          แต่ปัญหาหลักคือการที่สื่อมวลชนนำเอาประเด็นในโลกออนไลน์ไปนำเสนอ ต้องพึงตรวจสอบ พึงกลั่นกรอง และทำให้มันรอบด้านมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าพอเราแต่ละคนเป็นในเชิงของปัจเจกชน เชิงของคนธรรมดาทั่วไป ถ่ายทอดจากมือถือ ถ่ายทอดผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆ มันมีมุมมองของแต่ละคน ซึ่งมันเป็นมุมมองของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว บางคนอาจจะเห็นมุมนี้ เห็นความจริงแบบนี้ อีกคนเห็นความจริงอีกแบบหนึ่ง

          ถ้าในฐานะสื่อมวลชน ต้องดึงเอาหลายๆ อย่างรวบรวมแล้วมากลั่นกรอง เรียบเรียงว่าอะไรมันถูกต้อง อะไรมันขาดแง่มุมไหนไป โดยเฉพาะในเรื่องของประเด็นข่าว ถ้ามันมีแง่มุมเดียวจากคนที่อยู่ตรงนี้ แล้วคนอีกมุมหนึ่งเห็นอะไรไปบ้าง ต้องไปตรวจสอบ ต้องไปกลั่นกรองก่อนนำเสนอ ไม่ใช่หยิบก๊อบปี้-แปะ แต่เมื่อไหร่ที่ก๊อบปี้-แปะ สื่อมวลชนก็ไม่ได้ต่างไปจากบุคคลธรรมดาที่มีการนำเสนอ

          อย่าลืมนะครับว่า สื่อมวลชนมืออาชีพมีเครดิตความน่าเชื่อถือของความเป็นสื่ออยู่ ความเป็นนักข่าวอยู่ ลักษณะเด่นของนักข่าวคือการกลั่นกรอง เช็กข่าวก่อน เพราะฉะนั้นแล้ว "เมื่อสื่อมวลชนไปหยิบยกประเด็นในโลกออนไลน์มา อย่าเพิ่งเน้นในเรื่องความเร็ว ให้เน้นในเรื่องของความถูกต้องน่าจะดีกว่า รอบด้านให้มากกว่า ล้วงลึกให้มากกว่า" มันจะทำให้ประเด็นที่ออกมาจากสื่อมวลชนดูน่าเชื่อถือและเชื่อมั่น เพราะฉะนั้น "พอเปิดดูในโลกออนไลน์แล้วคนหันไปเชื่อ พอกลับมาสื่อปกติแล้วเลียนแบบเหมือนกันเลย เชื่อไปเลย สุดท้ายแล้วหากข้อมูลมันผิดพลาดไป ใครจะรับผิดชอบ" !!!

          อนาคตของสื่อจะเป็นอย่างไร ใครเป็นคนตั้งหรือจุดประเด็น

          ในอนาคตจะเป็นสองอย่างครับ ทั้งในส่วนของสังคมโลกออนไลน์จุดประเด็น แล้วนักข่าวตามประเด็นและเป็นประเด็นที่ดีด้วย อาทิ เมื่อหลายปีก่อนเรื่องกรณีเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 โดยเริ่มประเด็นมาจากห้องหว้ากอของพันทิป แล้วมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในสื่อโซเชียลมีเดีย หลังจากนั้นมีหนังสือพิมพ์ไปหยิบนำเอาประเด็นมาขยายผล มาตรวจสอบต่อ มาเช็กต่อ มามีการขยายผลของประเด็นที่อยู่ในโลกออนไลน์จนสามารถทำให้ข่าวชิ้นนั้นได้รางวัลอิศรา ซึ่งถือว่าเป็นรางวัลที่ดีที่อยู่ในประเด็นเชิงสืบสวนของไทยในปีนั้นได้ แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันมีประเด็นเยอะแยะที่อยู่ในโลกออนไลน์ถ้าหยิบมาแล้วขยายผล ก็สามารถเป็นประเด็นข่าวสืบสวนที่ดีได้

          อย่างไรก็ตาม ก็จะมีประเด็นข่าวอีกจำนวนหนึ่งที่นักข่าวทำขึ้นมาเองแล้วในโลกออนไลน์หยิบไปพูดคุย หรือเอามาช่วยเสริม หาประเด็นต่างๆ เพิ่มเข้ามาได้ อย่างเช่น นักข่าวทำข่าวประเด็นใดประเด็นหนึ่งออกมา แล้วเจอเรื่องในมุมนี้ แล้วในโลกออนไลน์ก็จะไปเสริมในมุมนี้ และในอนาคตอันใกล้นี้จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักข่าวมืออาชีพกับนักข่าวพลเมือง แล้วก็ประชาชนทั่วๆ ไป แต่บทบาทอาจจะมีความแตกต่างกัน

          สุดท้ายแล้วบทบาทที่สำคัญคือ นักข่าวมืออาชีพต้องกลั่นกรอง ต้องตรวจสอบ ต้องทำข่าวให้รอบด้าน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และในขณะเดียวกันก็จะมีซัพพอร์ตเตอร์จากในส่วนของนักข่าวพลเมืองจากคนต่างๆ ที่ส่งเข้าไป อันนี้ก็อาจจะเป็นความร่วมมือกันระหว่างนักข่าวที่เป็นมืออาชีพกับประชาชนคนที่เสพข่าวทั่วๆ ไป

          สิ่งที่ต้องพึงระลึกถึงก่อน "ถ่าย-โพสต์-โชว์-แชร์" คืออะไรบ้าง

          สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรคำนึงถึงคือทุกคนสามารถเล่าเรื่องราวในมุมมองของตัวเองได้แต่ต้องไม่ก้าวละเมิดสิทธิของคนอื่นไม่ไปหมิ่นประมาทคนอื่น คือทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ แต่อย่าดัดแปลงข้อมูลหรือตัดต่อเรียบเรียงข้อมูลใหม่ หรือหมิ่นประมาทกล่าวหาคนโน้นคนนี้ เพราะมันมีกฎหมายเรื่องพวกนี้อยู่ ต้องพึงระวังด้วย สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญ และในประเทศหลายแห่งก็มีกรณีแบบนี้เหมือนกัน

          มีการหยิบรูปถ่ายหรือว่าถ่ายคลิปวิดีโอต่างๆไปล่วงละเมิด ไปแอบถ่ายในพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นแล้วเอามาโพสต์ มาแชร์ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งผิดกฎหมายแน่นอน เพราะฉะนั้นต้องพึงระวังว่าทุกคนเป็นสื่อได้ในยุคนี้ที่มีโทรศัพท์มือถือ แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย เพราะมันเป็นทั้งพลังที่บวกและพลังที่ลบด้วย เปรียบเสมือนมีดที่เราสามารถจะเอาไปประกอบอาหารหรือนำไปเป็นอาวุธแทงคน ซึ่งโทรศัพท์มือถือหรือสื่อใหม่ก็เหมือนกับมีด เราจะใช้ประโยชน์ในด้านบวกหรือลบขึ้นอยู่กับตัวเรา มันไม่ได้ผิดที่ตัวมีด แต่มันผิดที่ตัวคน

          ที่มา: www.matichon.co.th

ผู้นำตุรกีบอกมือระเบิดเป็นชาวซีเรีย

ผู้นำตุรกีเผยมือระเบิดที่ก่อเหตุในนครอิสตันบูลเป็นชาวซีเรีย 

ประธานาธิบดีเรเจป ทายิป แอร์โดอัน ผู้นำตุรกี บอกว่ามือระเบิดชาวซีเรียเป็นผู้ก่อเหตุโจมตีในย่านท่องเที่ยวในนครอิสตันบูล ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวเยอรมัน และมีผู้บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 15 คน 

กระทรวงต่างประเทศเยอรมนีระบุว่าเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน และเตือนให้ชาวเยอรมันเลี่ยงการไปยังสถานที่มีคนพลุกพล่านตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในนครอิสตันบูล เนื่องจากเกรงว่าอาจมีการก่อเหตุโจมตีตามมาอีก 

ล่าสุดเดนมาร์กได้ออกคำเตือนประชาชนของตนเช่นกัน ว่าให้เลี่ยงการไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ทั้งนี้เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดในกรุงอังการา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกล่าว 100 ราย #Turkey 

ภาพประกอบ ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณมัสยิดสีฟ้า ซึ่งเป็นบริเวณที่ใกล้กับจุดเกิดเหตุระเบิด