PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ร่องรอยความขัดแย้งในปชป.

แมลงสาบแตกรัง!! “เด็กมาร์ค” ตะเพิด “ชายหมู” สกัด “กำนันเทือก” คิดการใหญ่

โดย: ทีมข่าวการเมือง

ป้อมพระสุเมรุ
ไม่ใช่เล่นๆเสียแล้วกับข่าวความขัดแย้งภายใน “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ “ผู้จัดการสุดสัปดาห์” ได้เปิดประเด็นไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนตามท้องเรื่อง “แมลงสาบกำสรวล - “กำนัน” รับงาน “ป้อม” ดัน “ชายหมู” - “มาร์ค” กัดฟันสู้ยิบตา” ซึ่งว่าด้วยเรื่องของศึกใน ที่มีความพยายามในการจะเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจาก“หนุ่มมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นคนอื่น ซึ่งคนที่มาแรงแซงโค้งกลายเป็นชื่อ “ชายหมู” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รองหัวหน้าพรรค และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบัน
ใครอยากรู้ที่ไปที่มา ตามไปหาอ่านย้อนหลังกันได้
ต้นตอของเรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้ “ศิษย์อาจารย์ 2 ว.” วิลาศ จันทร์พิทักษ์-วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม. สวมวิญญาณ “มือปราบโกง” ไล่เบี้ยทีมงาน “เสาชิงช้า” ที่มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตจากโครงการจัดซื้อกล้องวงจรปิด และโครงการจัดจ้างก่อสร้างขนาดใหญ่ ของ กทม.

โดยพุ่งเป้าไปที่ 2 รองผู้ว่าฯกทม.ของ “ชายหมู” แต่ก็เป็น “อภิสิทธิ์” ที่ออกมาติดเบรก และบอกว่าเตรียมเรียก“สุขุมพันธุ์” เข้ามาพูดคุยเคลียร์ปัญหาต่างๆ เรื่องก็เงียบๆ เกือบเดือน พาลนึกไปว่ามีการจับเข่าคุยเคลียร์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มาแตกโพละอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่า ฝ่าย“ชายหมู” เบี้ยวนัด “หนุ่มมาร์ค” ถึงสองครั้งสองครา จนป่านนี้ยังไม่เจอหน้าเจอตากันเลย 
ตามข้อมูลของ “เดอะแจ๊ค-วัชระ” ระบุว่า “อภิสิทธิ์” ได้นัดพบ“สุขุมพันธุ์” เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ และตักเตือนเรื่องการทำงานแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธทั้ง 2ครั้ง โดยครั้งล่าสุดฝ่ายผู้ว่าฯกทม.ให้ “เบญทราย กียปัจจ์” ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม. เป็นคนแจ้งเลื่อนนัด เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา แทนที่จะต่อสายด้วยตัวเอง ซึ่งตอนแรกมีการนัดหมายกันในเวลา 09.30 น. ที่วังสวนผักกาด บ้านพักของ “ชายหมู” แต่ก่อนถึงเวลานัด “เบญทราย” ได้โทรมาแจ้งขอเลื่อนเป็น 10.30 น. กระทั่งเวลา 10 .00 น. ก็ได้โทรมาขอยกเลิก โดยระบุว่า “ผู้ว่าฯ ติดภารกิจ” และขอนัดหมายอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ย. โดยไม่ระบุเวลา เมื่อ “อภิสิทธิ์” ถามว่า นัดล่วงหน้า 2วัน ขอระบุเวลาได้เลยหรือไม่ ปลายสายบอกสั้นๆว่า ”ท่านผู้ว่าฯให้เรียนเท่านี้” ก่อนวางสายไปอย่างไร้เยื่อใย 
เรื่องนี้ทำให้ในที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของ “ผู้ใหญ่ในพรรค” ถึงกับทุบโต๊ะในความเหิมเกริมของ “ชายหมู” พร้อมด่าอย่างสาดเสียเทเสียว่า มีอย่างที่ไหน ให้หัวหน้าพรรคไปขอพบ ทั้งที่ตัวเองเป็นรองหัวหน้าฯ อีกทั้งได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ก็อานิสงส์จากพรรค 
สรุปสั้นๆ คือไม่เห็นหัว - ไม่ให้เกียรติกันแล้ว แสดงให้เห็นถึงความกระด้างกระเดื่องของ “สุขุมพันธุ์” ที่มีต่อ “อภิสิทธิ์” และพรรคต้นสังกัดอย่างชัดเจน 
เป็นที่มาของกระแสข่าว “ตะเพิด” ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค แม้ตัว“อภิสิทธิ์” รวมทั้ง “ถวิล ไพรสณฑ์” ผู้ใหญ่ในพรรคจะออกมาปฏิเสธ แต่อีกด้าน “วิลาศ - วัชระ” ก็คอมเฟิร์มว่า มีการพูดคุยกันในพรรคถึงประเด็นนี้จริงๆ
ก่อนหน้านี้ก็เป็น “วิลาศ - วัชระ” ในฐานะอดีต ส.ส.กทม. ที่รู้เส้นสนกลใน “เสาชิงช้า” เป็นอย่างดี แตะมือกันออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของ กทม. ยุคที่มี “ชายหมู” เป็นผู้ว่าฯ รวมทั้งเรียกร้องให้พิจารณาปลด 2 รองผู้ว่าฯกทม. ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น แต่ก็ไร้การตอบสนองจาก “ชายหมู”

สุดท้ายจึงเปลี่ยนเป้ามาเล่นงานที่ตัว “ผู้ว่าฯกทม.” แทน
ที่ประชุมพรคประชาธิปัตย์อย่างไม่เป็นทางการ สรุปปัญหาการบริหาร กทม.ของ “สุขุมพันธุ์” ออกมาเป็นหางว่าว รวมไปถึงความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานหลายกรณี โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเคยหลุดปากไปว่า “ไม่อยากให้น้ำท่วม ต้องไปอยู่บนดอย” สร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มส.ส.กทม. ที่มองว่ากระทบความนิยมของพรรคอย่างรุนแรง เมื่อผู้ใหญ่ในพรรคเห็นว่าไม่เหมาะสม และมีการประสานให้ “ชายหมู” ออกมาขอโทษประชาชนหลายครั้ง ก็ไม่ให้ความสนใจ สุดท้ายเป็น “อภิสิทธิ์” ที่ต้องออกหน้ามากล่าวขอโทษประชาชนด้วยตัวเอง
ความห่วยแตกของผู้ว่าฯกทม. 2 สมัยคนนี้ “คนกรุง” รู้ดี และเจ็บใจมากที่เทคะแนนให้ท่วมท้นล้านกว่าเสียง เพียงเพราะอยากจะสกัด “นอมินี” ของ“ระบอบทักษิณ”
“ผู้ใหญ่ใน ปชป.” เห็นว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อพรรคแน่ แม้จะเหลือเวลาการทำงานอีกเพียงปีเศษที่จะหมดวาระในเดือน มี.ค.60 ก็ควรที่จะตัด “เนื้อร้าย” ทิ้งเสียก่อน เพื่อป้องกันฐานที่มั่นสำคัญของพรรค การตัดหางปล่อยวัด “ชายหมู” เพื่อแสดงให้เห็นว่า พรรคไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับควารมระยำตำบอนที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าจากฝีมือของ “ทีมเสาชิงช้า” ชุดนี้อีกต่อไป
แม้จะทำได้แค่ตะเพิดออกไปให้พ้นพรรค ไม่สามารถแตะต้องเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ได้ แต่ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณไปยัง “บิ๊ก คสช.” ด้วยว่า หากจะเล่นงานผู้ว่าฯ กทม. เช่นเดียวกับผู้บริหารท้องถิ่นอื่นๆ ก็สามารถทำได้เต็มที่ โดยไม่ต้องเกรงใจพรรคอีกต่อไป 
รู้กันดีว่า “บิ๊กคสช.” ก็ไม่แฮปปี้กับพฤติกรรมของ “ชายหมู” เป็นทุนเดิม
ล่าสุด ในการประชุมของกระทรวงมหาดไทย “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ประกาศตามหา “ชายหมู” ก่อนที่จะรู้ว่า ผู้ว่าฯกทม.เดินทางไปต่างประเทศ สร้างความไม่พอใจให้กับ “บิ๊กป๊อก” ถึงกับตำหนิออกไมค์ว่า “เป็นผู้ว่าฯกทม. แต่กลับไปนั่งทำงานอยู่ที่อังกฤษ” 
สาเหตุจริงๆ ที่เก้าอี้ “ชายหมู” ยังเสริมใยเหล็กในยุคคสช. นอกเหนือจากเป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมี “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ยืนตระหง่านเป็นแบ็กอัพให้อยู่ รู้กันทั่วคุ้งแควว่า “สุเทพ” เป็นคนผลักดันให้ “สุขุมพันธุ์” ลงป้องกันตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เป็นสมัยที่ 2 แม้พรรคต้นสังกัดจะไม่ค่อยปลื้มก็ตาม 
สายสัมพันธ์ของ “สุเทพ-สุขุมพันธุ์” จึงแนบแน่นยิ่งนัก

 ในจังหวะเดียวกับที่มีกระแสข่าวว่า “กำนันสุเทพ” กำลังเดินเกม“เพาเวอร์เพลย์” ยึดพรรคประชาธิปัตย์ตามใบสั่งของ “บิ๊ก คสช.” เพื่อใช้เป็นฐานในการเตรียมต่อยอดอำนาจในฐานะ “พรรคทหาร” และก็เป็นไปอย่างที่เกริ่นไปในข้างต้นถึงแผนการที่ว่า ในการดัน “สุขุมพันธุ์” นั่งเป็นหัวหน้าพรรคแทนที่ “อภิสิทธิ์”
เพราะ “สุขุมพันธุ์” เป็นเด็กในคาถา สั่งซ้ายหันขวาหันได้
ตรงนี้เองอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ “วิลาศ - วัชระ” ออกมาสกัดดาวรุ่งเจาะยาง “ชายหมู” โดยได้รับสัญญาณไฟเขียวจาก “อภิสิทธิ์” รวมถึงผู้ใหญ่ในพรรค เช่นเดียวกับอีกฟาก โดย “เทพน้อย” เทพไท เสนพงษ์ เด็กในคาถาของ “สุเทพ” ที่ออกมาตีกัน ปกป้อง “ชายหมู” ทั้งที่ตัวเองเป็นอดีตส.ส.แดนสะตอ 
สองขั้วอำนาจงัดกันอย่างเห็นได้ชัด ผ่านส่งครามตัวแทนของ“หนุ่มมาร์ค - กำนันเทือก” ซึ่งการมุ่งทำลายไปที่ “สุขุมพันธุ์” ก็เท่ากับทำลายแผนการของ“สุเทพ” ไปด้วย
จับอาการสู้ยิบตาของ “หนุ่มมาร์ค” แล้ว “บิ๊ก คสช.” คงเริ่มไม่วางใจในฝีมือของ “กำนันเทือก” ที่รับปากดิบดีว่า งานยึด“ค่ายสีฟ้า” ง่ายเหมือนปลอกกล้วย แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เมื่อเจอเจ้าของบ้านแก้เกมกลับ 
ขณะที่ “สุเทพ” เองก็เดิมพันสูงกับแผนการนี้ เพราะหลังเปิดตัว “มูลนิธิมวลมหาประชาชน” อย่างเอิกเกริกชื่อของ “กำนันสุเทพ” ก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆ ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวตามหน้าสื่อให้เห็นมากนักอย่างที่คาดกันไว้ แต่กลับไปปรากฏใน “วงลับ” ที่คิดการใหญ่ต่อยอดอำนาจจากคสช. โดยมีการจัดทัพเตรียมคนเพื่อรับมือศึกเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นตามโรดแมปของ คสช. จนมีข่าวปล่อย-ข่าวลือ จาก “พรรคสีฟ้า-พรรคสีน้ำเงิน” ถึงสูตรการเตรียมจัดตัวผู้สมัครรับการเลือกตั้งเอาไว้แล้วด้วย
เมื่อแผนเข้ายึด “ค่ายสีฟ้า” ส่อเค้าจะเป็นหมัน คนที่ตกที่นั่งลำบากก็ไม่พ้น "กำนันเทือก"เพราะบุญคุณจากผลงาน"ผู้นำม็อบ" จนนำไปสู่การรัฐประหารก็แทบจะไม่เหลือแล้ว งานที่ฝากฝังไว้ก็ไม่สำเร็จ นับวันราคาของ “ลุงกำนัน” ในสายตาของ “บิ๊ก คสช.” จะอยู่ในช่วง"ขาลง" ไปทุกที
ล่าสุดมีข่าวว่า "กำนันเทือก" ต่อสายหนึ่งใน "คณะ 3 ป." ที่มีอำนาจคสช. เพื่อแสดงเจตจำนงในการสนับสนุนข้าราชการให้ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งที่สูงกว่า แต่กลับต้องถือหู จนมีเสียง “ตู๊ดดด..ไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก” หลายครั้ง 
คนเจนจัดทางการเมืองอย่าง “สุเทพ” เดาไม่ยากว่า นี่เป็นสัญญาณที่ "คณะ 3 ป." เริ่มทำตัวเหินห่าง เช่นเดียวกับฝั่ง "กุนซือ กปปส." อ่านสัญญาณนี้ว่า อาจเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังตอนนี้ยังไม่นิ่ง การแย่งชิงอำนาจนำยังมีเกมซ่อนไพ่กันอยู่หลายชั้น 
ว่ากันว่าสิ่งเดียวที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง“สุเทพ” กับ “บิ๊ก คสช.” คือ "น้อง ต." ทายาทตระกูลดัง ที่ "พี่ใหญ่คณะ ป." มักจะติดส้อยห้อยท้าย พาไปออกงานในที่ไกลหูไกลตาตลอด เรียกได้ว่างานบุญงานกฐิน งานราษฎ์งานหลวง หาก"พี่ใหญ่คณะ ป." เดินทางไป จะมี"น้อง ต." ปรากฏตัวเป็นเงาเคียงกายตลอด 
ไม่เพียงแต่ต่อสายกับขั้วอำนาจไม่ติดแล้ว ลำพังสถานะ “ผู้นำม็อบ กปปส.” ก็ดูจะไม่ค่อยราบรื่น เพราะไม่มีแอคชั่นเป็นฮีโร่ผดุงความยุติธรรม เมื่อสมัยไล่ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” แม้แต่น้อย หนักไปทางเชียร์รัฐบาล คสช. แบบไม่ลืมหูลืมตาอย่างเดียว 
จาก“ลุงกำนัน” ที่ภาพลักษณ์สุดคลีน ก็กลับมาเป็น“เทพเทือก” นักการเมืองจอมเขี้ยวคนเดิม
กรณีที่เกิดขึ้นกับ "ฟ้า-พรทิพา" เจ้าของสถานีโทรทัศน์ฟ้าให้ทีวี ที่เคยเป็นเครือข่าย กปปส. เจอเจ้าหน้าที่บุกสถานี จับกุมและยึดอุปกรณ์ทั้งหมด พร้อมแจ้งข้อหาหลายกระทง จนต้องออกมาแฉว่า "ลุงกำนัน" ไม่คิดจะช่วยเหลือ โทรไปก็บ่ายเบี่ยง ไม่รับสาย
ทว่า "ฟ้า-พรทิพา" ออกมาร้องแรกแหกกระเฌอไม่นาน กลับลบโพสต์ข้อความด่าทอ "กำนันเทือก" ไปอย่างมีปริศนา ก่อนกลับลำโพสต์ข้อความขอโทษ อ้างว่าที่ทำไปเพราะอารมณ์ร้อน-รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แถมยังยกยอว่า "กำนันเทือก" เป็นคนดีจริงๆ รวมทั้งแขวะกองแช่งด้วยว่า เอาเวลาไปด่าทักษิณ ดีกว่า 
ท่าทีที่เปลี่ยนไปของ "ฟ้า-พรทิพา" เหมือนได้เคลียร์ปัญหาค้างคาใจกับ "กำนันเทือก" แล้ว เลยจบง่ายแบบแฮปปี้เอนดิ้ง กันทั้งสองฝ่าย "กำนันเทือก" รู้ดีว่าภาพที่ออกไปส่งผลต่อความศรัธาของ"สาวก" จึงต้องแก้เกมปิดปากให้ไว แต่ก็เสียรังวัดไปไม่น้อย
หลังจากนี้ต้องจับตาท่าทีของ "เทพเทือก" ว่าจะเลือกเล่นบทไหน ในเวลาที่บารมีเริ่มเจือจางลง แถมยังต่อไม่ติดกับ "คณะ 3 ป." จะหันหลังกลับ "พรรคประชาธิปัตย์" ก็คงมองหน้ากันไม่ติด
"ลุงกำนัน" จะได้ไปต่อในสถานะไหน และกับใครเป็นเรื่องที่น่าติดตาม.

ตุรกียอมสงบศึกรัสเซีย

หลังจากตึงเครียดกันมาตลอดทั้งสัปดาห์ ตุรกีก็ยอมผ่อนคลายท่าทีแข็งกร้าวต่อรัสเซีย โดยยืนยันว่าจะเจรจาเพื่อหาทางออกกรณียิงเครื่องบินรัสเซียตก เนื่องจากขณะนี้ภารกิจปราบ IS ถือว่าสำคัญที่สุด  

นายอาเหม็ต ดาวูโตก์ลู นายกรัฐมนตรีตุรกี เปิดเผยในหนังสือพิมพ์ไทม์ของอังกฤษ ว่ารัฐบาลตุรกีจะพยายามเจรจากับรัฐบาลรัสเซียและพันธมิตรทุกประเทศ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หลังจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตุรกียิงเครื่องบินรบของรัสเซียตกในพรมแดนซีเรีย โดยอ้างว่าเครื่องบินลำดังกล่าวล่วงล้ำน่านฟ้าตุรกี ทำให้รัสเซียไม่พอใจจนถึงขั้นระงับความสัมพันธ์ทางทหารและขู่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจตุรกีด้วย

นายดาวูโตก์ลู ยืนยันว่าตุรกีจำต้องทำเพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศ แต่ก็ไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านมหาอำนาจอย่างรัสเซีย เนื่องจากตอนนี้ สิ่งที่ตุรกีและชาติพันธมิตรให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือการปราบปราม IS ซึ่งรัสเซียเองก็กำลังเดินหน้าโจมตี IS อยู่เช่นเดียวกัน

การเปลี่ยนท่าทีจากแข็งกร้าวมาเป็นประนีประนอมของตุรกีในครั้งนี้ คาดว่าเกิดจากการที่บรรดาชาติสมาชิกนาโต ต่างไม่ยอมลงมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างตุรกีกับรัสเซียในครั้งนี้ ทั้งที่ตุรกีเป็นสมาชิกนาโต ทำให้สมาชิกชาติอื่นๆมีพันธกรณีที่ต้องปกป้องตุรกีเมื่อถูกรุกราน 
    
โดยก่อนหน้านี้ นายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้เดินทางเยือนรัสเซีย และได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ว่าจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายหัวสุดโต่ง
       

เกมสงครามนาโต้กับรัสเซีย

ภาพลักษณ์รัสเซียและนาโต้:

เขียนเพิ่มเติมอีกหน่อย ที่รัสเซียไม่บุ่มบ่ามกรณีตุรกียิงเครื่องบินตก ทำให้ภาพลักษณ์รัสเซียดูดี แต่ภาพลักษณ์นาโต้ดูแย่ลง ขณะเดียวกันก็แสดงว่ารัสเซียมองเกมลึกกว่าที่เห็นตัวละครในกระดานหมากรุก

นาโต้รวมกลุ่มกันขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมและเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  มาตราที่ ๕ ของกฎบัตรนาโต้มีอยู่ว่า: "An attack on one member is an attack on all members" (การโจมตีสมาชิกนาโต้ชาติใดชาติหนึ่งเท่ากับโจมตีทั้งกลุ่ม) ทำนองเดียวกัน การโจมตีรัสเซียของชาตินาโต้ชาติใดชาติหนึ่งก็อาจตีความได้ว่าเป็นการจงใจโจมตีของสมาชิกนาโต้ทุกชาติได้ด้วย

ดังนั้น ถ้ารัสเซียหุนหันจัดการตุรกีซึ่งไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย อาจต้องเปิดสงครามกับชาติกลุ่มนาโต้อื่นๆ ไปด้วย และอาจเป็นที่สมหวังบางชาติที่อยากเห็นชาติอื่นๆ ทำสงคราม ส่วนตนเองจะได้ขายอาวุธและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทีหลัง  พอรัสเซียนิ่งและดูมีวุฒิภาวะขึ้นมา ไม่เพียงแต่ปูตินจะมีภาพลักษณ์ว่ามีภาวะผู้นำสูง ภาพลักษณ์นาโต้จากการที่ตุรกียิงเครื่องบินรัสเซียก็พลอยเน่าไปด้วย 

จึงมีเสียงดังออกมาว่าควรจะ *เตะ* ตุรกีออกจากนาโต้ได้แล้ว ก่อนภาพลักษณ์นาโต้จะเสียหายมากกว่านี้
28 พฤศจิกายน 2558
http://sputniknews.com/politics/20151128/1030893620/turkey-should-be-kicked-out-of-nato.html#ixzz3sjMXDXNO

ศึกษาสงครามโลก2เพื่อรับมือครั้งที่3

สงครามโลกครั้งที่3

อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความมั่นคงของโลกเวลานี้กำลังเกิดหารทำสงครามขึ้นในดินแดนประเทศซีเรียของมหาอำนาจชาติตะวันตกสหรัฐที่ถูระบุอยู่เบื้องหลังตุรกีและกลึ่มISIS จนสื่อหลายสำนักและนักวิเคราะห์เริ่มรู้สึกถึงกลิ่นอายสงครามโลกครั้งที่สามมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆหลังตุรกีมีการโจมตีเครื่องบินของรัสเซียจนตกและโดยเฉพาะยิ่งการที่สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องและถูกรัสเซียกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการสร้างสถานการณ์ความขัดแย้ง

ดังเช่นข่าวนี้

สงครามโลกครั้งที่ 3 เปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว หลัง รัฐเซียร่วมมือกับจีน ประกาศทำสงครามทางอ้อมกับสหรัฐอเมริกา

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา รัฐสภาสหพันธรัฐรัสเซียและสภากลาโหมสหพันธรัฐรัสเซีย มีมติเอกฉันท์ให้กองทัพสหพันธรัฐรัสเซียประกาศเปิดฉากสงครามอย่างเป็นทางการกับไอซิส โดยนายวลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ได้กล่าวว่า ประเทศใดที่หนุนไอซิสจะเป็นศัตรูของสหพันธรัฐรัสเซียไปด้วย จึงถือได้ว่าขณะนี้สหพันธรัฐรัสเซียประกาศได้สงครามทางอ้อมกับสหรัฐและนาโต้ และกลุ่มประเทศอาหรับ

ในอ่าวเปอร์เซียแล้ว ขณะเวลานี้สงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นแล้ว หลังจากนายวลาดีมีร์ วลาดีมีโรวิช ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย และ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เรียกร้องให้สหรัฐอเมริกานำเครื่องบินออกจากซีเรียโดยทันที และเปิดเผยว่า ถ้าหากเครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรยังปรากฏในน่านฟ้าของซีเรียจะถูกปฏิบัติการทางทหารของสหพันธรัฐรัสเซียและจีนตอบโต้อย่างทันที

//

โดยเหตุเหล่านี้จึงน่าหันกลับไปดู"อดีต"เพื่อศึกษาสิ่งที่กำลังปรากฏว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตโดยศึกษาผ่านเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองในอดีตว่ามีสาเหตุจากอะไรทำไมและผลของการที่มนุษย์ทำสงครามกันเป็นอย่างไร

/////

เหตุการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2

  • เยอรมนีโจมตีโปแลนด์ เมื่อ 1 กันยายน 1939 
  • วันที่ 3 กันยายน 1939 อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี
  • เยอรมนีทำการลบแบบสายฟ้าแลบ ได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว ได้ดินแดนโปแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม เดนมาร์ก และฝรั่งเศส โจมตีอังกฤษ รัสเซีย ทางอากาศ ซึ่งเป็นสงครามทางอากาศที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สงครามในระยะแรกสัมพันธมิตรแพ้ทุกสนามรบ 


อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศเข้าร่วมสงคราม ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรีย(จีน)ในปี ค.ศ.1931 และเสนอแผนการที่จะสถาปนา “วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา” เพื่อผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่ อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 สหรัฐจึงเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยประกาศสงครามเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร ขณะเดียวกันญี่ปุ่นเปิดสงครามในตะวันออกเฉียงใต้หรือเรียกว่า “สงครามมหาเอเชียบูรพา” 

เมื่อเริ่มสงคราม สหรัฐอเมริกาวางตัวเป็นกลาง แต่เมื่อญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ซึ่งเป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 สหรัฐอเมริกาจึงเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 กับอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ฝ่ายพันธมิตรมีชัยชนะ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1945 

ในระยะแรกของสงครามฝ่ายอักษะได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังจากวัน D-Day (Decision - Day) ซึ่งเป็นวันที่สัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่มอร์มังดี (Nomandy)ประเทศฝรั่งเศสด้วยกำลังพลนับล้านคน เครื่องบินรบ 11,000 เครื่อง เรือรบ 4,000 ลำ วิถีของสงครามจึงค่อย ๆ เปลี่ยนด้านกลายเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรได้เปรียบ 

การรบในแปซิฟิก ญี่ปุ่นเป็นคู่สงครามกับสหรัฐอเมริกา สงครามก็ยุติลงอย่างเป็นรูปธรรมด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรโดยการทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกชื่อลิตเติลบอย ที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945 และลูกที่ 2 ชื่อแฟตแมน ที่เมืองนางาซากิ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1945 และวันที่ 14 สิงหาคม 1945 ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ เมื่อญี่ปุ่นเซ็นต์สัญญาสงบศึกกับสหรัฐอเมริกาบนเรือรบมิสซูรี ในวันที่ 14 สิงหาคม 1945 

การยุติลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 

  • สัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่ ชายฝั่งแคว้นนอร์มังดี วัน D-DAY 
  • สงครามโลกในยุโรปสิ้นสุดลงเมื่อกองทัพสัมพันธมิตรบุกเข้าเบอร์ลินในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1944 
  • เมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ในวันที่ 6และ 9 สิงหาคม ค.ศ.1945 

ใน ค.ศ. 1943 สัมพันธมิตรได้ประชุมกันที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา ประเด็นสำคัญของการประชุมคือ กองกำลังของสัมพันธมิตรจะบุกเข้าไปถึงใจกลางของเยอรมนีและทำลายกองทัพเยอรมนีลงให้ได้ โดยมีนายพลไอเซนเฮาว์ (Eisenhower) เป็นผู้บัญชาการของสัมพันธมิตรในยุโรปตะวันตก การปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด (Operation Overlord) นับเป็นการบุกฝรั่งเศสครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ ฝ่ายสัมพันธมิตรประกอบด้วยทหารสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และฝรั่งเศส จำนวน 155,000 คน บุกขึ้นฝั่งนอร์มังดี ทางเหนือของฝรั่งเศส ในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 เรียกว่าวัน D – Day (Decision Day) 

____

สาเหตุของสงคราม 

ความไม่ยุติธรรมของสนธิสัญญา
ข้อบกพร่องของสนธิสัญญาสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีสาเหตุมาจากประเทศชนะสงคราม และประเทศที่แพ้สงครามต่างก็ไม่พอใจในข้อตกลง เพราะสูญเสียผลประโยชน์ ไม่พอใจในผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยเฉพาะสนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่เยอรมันไม่พอใจในสภาพที่ตนต้องถูกผูกมัดด้วยสัญญาและต้องการได้ดินแดน ผลประโยชน์และเกียรติภูมิที่สูญเสียไปกลับคืนมา (ความไม่พอใจของฝ่ายผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อข้อตกลงสันติภาพ โดยเฉพาะสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์) 

สนธิสัญญาสันติภาพที่ไม่เป็นธรรม ระบุให้ประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าปฏิกรรมสงครามและเสียดินแดน เช่นสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เยอรมนี ต้องเสียอาณานิคม ต้องคืนแคว้นอัลซาล – ลอเรนแก่ฝรั่งเศส โปเซนและปรัสเซียตะวันตกให้โปแลนด์ มอรสเนท ยูเพนและมัลเมดีให้เบลเยี่ยม ชเลสวิคและโฮลสไตน์ให้เดนมาร์ก แคว้นซูเดเตนให้เชคโกสโลวาเกีย และ เมเมลให้ลิทัวเนีย จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ปีละ 5 พันล้านดอลลาร์ ถูกจำกัดกำลังทหารมีทหารได้ไม่เกิน 100,000 คน ห้ามเกณฑ์ทหารเป็นต้น จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขี้น ฮิตเลอร์และพรรคนาซีได้ปลุกระดมต่อต้านการเสียค่าปฏิกรรมสงคราม และนำความอดยาก ยากจนมาให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง สนธิสัญญาแวร์ซายส์ (Versailles Treaty) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1919 ซึ่งนับเป็นวันยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ระบุให้เยอรมนีต้องรับผิดชอบจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก ถูกลดกำลังทหารและอาวุธ ถูกยึดดินแดนอาณานิคม ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันตกต่ำ ประชาชนตกงาน เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงทั่วประเทศ ชาวเยอรมันโกรธแค้นมาก ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจในช่วงนี้ สร้างกระแสชาตินิยม ฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และพัฒนาอุตสาหกรรมและการทหาร จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ สงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) 
เงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายส์
 เยอรมนีต้องรับผลจากการสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างรุนแรง ดังต่อไปนี้

  1. เยอรมนีต้องสูญเสียดินแดนของตนคือ อัลซาสลอเรนให้แก่ฝรั่งเศส ต้องยอมยกดินแดนภาคตะวันออกให้โปแลนด์ไปหลายแห่ง 
  2. ต้องยอมให้สันนิบาตชาติเข้าดูแลแคว้นซาร์เป็นเวลา 10 ปี 
  3. เกิดฉนวนโปแลนด์ POLISH CORRIDOR ผ่านดินแดนภาคตะวันออกของเยอรมนีเพื่อให้โปแลนด์มีทางออกไปสู่ทะเลบอลติกที่เมืองดานซิก ซึ่งเยอรมนีถูกบังคับให้ยกดินแดนดังกล่าวให้โปแลนด์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ยังผลให้ปรัสเซียตะวันออกถูกแยกออกจากส่วนอื่นของเยอรมนี ซึ่งฮิตเล่อร์ถือว่าเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจยอมรับได้ต่อไป 
  4. ต้องสูญเสียอาณานิคมทั้งหมดของตนให้แก่องค์การสันนิบาตชาติดูแลฐานะดินแดนในอาณัติ จนกว่าจะเป็นเอกราช 
  5. ต้องยอมจํากัดอาวุธ และทหารประจําการลงอย่างมาก 
  6. ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจํานวนมหาศาลให้แก่ประเทศที่ชนะสงคราม 

ความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ทางการเมือง ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ
ปัญหาทางการเมือง และเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้หลายประเทศหันไปใช้ระบอบเผด็จการเพื่อแก้ปัญหาภายใน เช่น เยอรมนีและอิตาลี นำไปสู่การแบ่งกลุ่มประเทศ เพราะประเทศที่มีระบอบการปกครองเหมือนกันจะรวมกลุ่มกัน 

ความแตกต่างทางด้านการปกครอง กลุ่มประเทศฟาสซิสต์มีความเข้มแข็งมากขึ้น ได้รวมกันเป็น มหาอำนาจอักษะ (Berlin-Rome-Tokyo Axis ) จุดประสงค์แรก คือเพื่อต่อต้านรัสเซีย ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ต่อมาได้ขยายไปสู่การต่อต้านชนชาติยิวและนำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร

ลัทธิชาตินิยมในประเทศเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
ลัทธิชาตินิยมในช่วงคริสตศตวรรษที่20 ซึ่งได้เกิดขึ้นในหลายๆประเทศรวมทั้งเยอรมนีด้วยเป็น ลักษณะของลัทธิชาตินิยมมีลักษณะย้ำการดําเนินนโยบายของชาติของตน การดำรงไว้ซึ่งบูรณภาพของชาติ การเพิ่มอํานาจของชาติ ขณะเดียวกันเน้นความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมของตน มีความพยายามที่จะรักษาและเพิ่มพูนความไพศาล ศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของชาติตนไว้ มีการเน้นความสําคัญของเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ของตน ว่าเหนือเชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์อื่น

ลัทธิฟาสซิสม์ เป็นคำที่มาจากภาษาละติน "fasces" มีความหมายกว้างๆ ว่าเป็นลัทธิชาตินิยมขวาจัดกับการใช้อำนาจสูงสูด ของผู้นำที่รับผิดชอบแต่ผู้เดียว พรรคฟาสซิสม์ที่รู้จักกันมาก คือ พรรคของมุสโสลินีที่เริ่มต้นการปกครองแบบสาธารณรัฐ ต่อต้านนายทุน เคลื่อนไหวทางศาสนาอย่างแข็งขันมากแล้วเปลี่ยนไป สู่การสนับสนุนระบบตลาดเสรี ระบอบกษัตริย์ และยังรวมถึงศาสนาด้วย อย่างไรก็ตาม ขบวนการณ์ฟาสซิสม์ทั้งหลาย (Oswald Mosley's Black-shirts ในบริเทน Iron Guard ในโรมาเนีย Croix de Feu ในฝรั่งเศส และที่มีแนวทางคล้ายกันในยุโรป) จะมีนโยบายที่ไม่ต่างกัน คือ การคุกคามกับการสร้างลัทธิชาตินิยมอย่างไม่จำกัดขอบเขต ไม่ยอมรับสถาบันประชาธิปไตย และเสรีใดๆ ที่ไม่ยินยอมให้พวกตนใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ แต่ถ้าเป็นหนทางที่จะได้มาซึ่งอำนาจ แล้วผู้ปกครองฟาสซิสม์จะไม่สนใจเรื่องการปกครองระบอบใดมากนัก ลัทธิฟาสซิสม์ เป็นศัตรูสำคัญของลัทธิสังคมนิยม มีลักษณะการเน้นที่บทบาทของผู้นำคนเดียว และมีความสัมพันธ์กับกองทัพอย่างลึกซึ้ง พรรคฟาสซิสม์กับนาซีจะมีแนวนโยบายเหมือนกันมาก และพรรคนาซีนั้นได้ใช้รูปแบบของพรรคฟาสซิสม์ มาพัฒนาให้ผู้นำมีอำนาจสูงสุด อย่างไรก็ตามแม้พรรคฟาสซิสม์จะมีนโนบายต่อต้านต่างชาติ แต่ฟาสซิสม์อิตาลีไม่ได้ต่อต้านพวกเซมิติคอย่างจริงจังเหมือนนาซี พรรคฟาสซิสม์อ่อนแอลงมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ก็ยังมีพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายคล้ายคลึง คือพรรคสังคมอิตาเลียน (Italian Social Movement) กับพรรคแนวหน้ารักชาติในอังกฤษกับฝรั่งเศส (National Front in Britain and France)

เนื่องจากความไม่เป็นธรรมของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และเยอรมนีพัฒนาตนเองจนแข็งแกร่งเป็นอาณาจักรเยอรมนีที่ 3 และมีนโยบายบุกรุกดินแดน (นโยบายสร้างชาติภายใต้ระบอบเผด็จการ ฟาสซิสต์ในอิตาลี นาซีในเยอรมันและเผด็จการทหารในญี่ปุ่น)

ลัทธินิยมทางทหาร
ได้แก่ การสะสมอาวุธเพื่อประสิทธิภาพของกองทัพ ทำให้เกิดความเครียดระหว่างประเทศมากขึ้น และเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

นโยบายต่างประเทศที่ไม่แน่นอนของอังกฤษ
การใช้นโยบายออมชอมของอังกฤษเมื่อเยอรมนีละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เช่น การเพิ่มกำลังทหารและการรุกรานดินแดนต่างๆ ทำให้เยอรมนีและพันธมิตรได้ใจและรุกรานมากขึ้น

ความอ่อนแอขององค์การสันนิบาตชาติ 
เนื่องจากไม่มีกองทัพขององค์การ ทำให้ขาดอำนาจในการปฏิบัติการและอเมริกาไม่ได้เป็นสมาชิกจึงทำให้องค์การสันนิบาต เป็นเครื่องมือของประเทศที่ชนะใช้ลงโทษประเทศที่แพ้สงคราม (ความล้มเหลวขององค์การสันนิบาตชาติในการเป็นองค์กรกลางเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ) และความอ่อนแอของ องค์การสันนิบาตชาติ ที่ไม่สามารถบังคับประเทศที่เป็นสมาชิกและไม่ปฏิบัติตามสัตยาบันได้

บทบาทของสหรัฐอเมริกา
สหรัฐปิดประเทศโดดเดี่ยว สมัยประธานาธิบดีมอนโร ตามแนวคิดในวาทะมอนโร สหรัฐจะไม่แทรกแซงกิจการประเทศอื่นและไม่ยอมให้ประเทศอื่นมาแทรกแซงกิจการของตนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนจึงเลือกพรรคเดโมแครต(Democratic Party)เข้ามาเป็นรัฐบาลปกครองประเทศโดยประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ ได้รับเลือกต่อกันถึงสี่สมัย ( ค.ศ.1933 – 1945 )

สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
ในช่วงทศวรรษ 1920 – 1930 โดยเฉพาะช่วง ในปี ค.ศ.1929-1931 ( ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 )

วิกฤตการณ์สำคัญก่อนสงคราม

  1. เยอรมนียกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ค.ศ. 1936 และสนธิสัญญาโลคาร์โดยการเข้าครอบครองแคว้นไรน์ และ การเพิ่มกำลังอาวุธของเยอรมัน 
  2. สงครามอิตาลีรุกรานเอธิโอเปีย ค.ศ. 1936 (พิพาทระหว่างอิตาลีกับอังกฤษ ในกรณีที่อิตาลีบุกเอธิโอเปีย) 
  3. สงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ. 1936 – 1939 
  4. เยอรมนีรวมออสเตรีย ค.ศ. 1938 
  5. เยอรมนีรวมเชคโกสโลวาเกีย ค.ศ. 1938 
  6. อิตาลียึดครองแอลเบเนีย ค.ศ. 1939 
  7. ปัญหาฉนวนโปแลนด์ ค.ศ. 1939 
  8. การขยายอำนาจของญี่ปุ่นในเอเชีย ค.ศ. 1931 – 1939 (ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรีย แล้วตั้งเป็นรัฐแมนจูกัว เพื่อเป็นแหล่งอุตสาหกรรมและแหล่งทำทุนใหม่สำหรับตลาดการค้าของญี่ปุ่น)

 ___

ชนวนระเบิดของสงครามโลกครั้งที่ 2 

ชนวนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ฉนวนโปแลนด์(Polish Corridor) มีชาวเยอรมนีอาศัยอยู่มาก เยอรมนีเสียดินแดนส่วนนี้ให้แก่โปแลนด์ตามสนธิสัญญาแวร์ซาย์ และฉนวนโปแลนด์ยังแบ่งแยกดินแดนเยอรมนีเป็นสองส่วน คือส่วนปรัสเซียตะวันตกและปรัสเซียตะวันออก ฮิตเลอร์ ขอสร้างถนนผ่านฉนวนโปแลนด์ไปปรัสเซียตะวันออก อังกฤษและฝรั่งเศสคัดค้าน ฮิตเลอร์จึงยกเลิกสัญญาที่เยอรมนีจะไม่รุกรานโปแลนด์ และทำสัญญาไม่รุกรานกับสหภาพโซเวียต เยอรมนีเริ่มสงครามด้วยการบุกโปแลนด์ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 แบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) 

กองทัพเยอรมนีบุกโปแลนด์เมื่อ 1 กันยายน 1939 เนื่องจากโปแลนด์ปฏิเสธที่จะยกเมืองท่า ดานซิก และฉนวนโปแลนด์ในเยอรมนี อังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีสัญญาค้ำประกันเอกราชของโปแลนด์ อังกฤษและฝรั่งเศสจึงยื่นคำขาดได้เยอรมันถอนทหารออกจากโปแลนด์ เมื่อฮิตเลอร์ไม่ปฏิบัติตาม ทั้งสองประเทศจึงประกาศสงครามกับเยอรมนี เมื่อเริ่มสงครามนั้น ประเทศคู่สงครามแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ

  1. ฝ่ายอักษะ ได้แก่ เยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น 
  2. ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศสและรัสเซีย

ต่อมาประเทศต่าง ๆ ก็เข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนสงครามได้แผ่ขยายกลายเป็นสงครามโลก ในปี ค.ศ. 1942 ฝ่ายอักษะ (ญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี) ได้บุกยึดยุทธภูมิสำคัญคือ รัสเซีย แอฟริกาเหนือ และแปซิฟิก ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเกือบทุกแห่ง โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งได้รับชัยชนะมากที่สุดในการยึดครองจักรวรรดิแปซิฟิก ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากอาณานิคมของตะวันตกไม่ตกสู้กับญี่ปุ่นเพื่อชาวยุโรป ซึ่งผิดกับญี่ปุ่นที่ถือประโยชน์จากคำขวัญที่ว่า "เอเชียเพื่อชาวเอเชีย" 

สำหรับสงครามในโลกตะวันออกนั้นเริ่มต้นขึ้นในราว ค.ศ. 1941 เมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ลฮาเบอร์ ในวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1941 สหรัฐอเมริกาจึงประกาศสงครามกับญี่ปุ่น และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเยอรมนีและอิตาลีก็ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากทั้งสองประเทศได้ทำสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น จึงเท่ากับเป็นแรงผลักดันให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเต็มตัว รวมทั้งประเทศต่าง ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ต่างประกาศสงครามตามสหรัฐอเมริกาเกือบทั้งสิ้น 

____

ผลของสงครามโลกครั้งที่สอง

  1. มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ(UN : United Nations)เพื่อดำเนินงานแทนองค์การสันนิบาตชาติ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อรักษาสันติภาพของโลกและให้กลุ่มสมาชิกร่วมมือช่วยเหลือกัน และสนับสนุนสันติภาพของโลก รวมทั้งการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่งนับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเดิม เพราะสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งและมีกองทหารของสหประชาชาติ 
     
  2. ทำให้เกิดสงครามเย็น(Cold War)ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้น ประเทศสหภาพโซเวียต(USSR) ปกครองโดยสมัยสตาร์ลินมีนโยบายขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปสู่ ยุโรปตะวันออก และเยอรมนีตะวันออก ซึ่งมีทหารรัสเซียเข้าปลดปล่อยดินแดนเหล่านี้จากอำนาจฮิตเลอร์ในสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะที่สหรัฐต้องการสกัดกั้นการขยายตัวดังกล่าว และเผยแผ่การปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะดินแดนอาณานิคมที่ประกาศเอกราช เป็นประเทศใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนเกิดสภาวการณ์ที่เรียกว่า สงครามเย็น( Cold War ) 
     
  3. ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะ มีการนำอาวุธที่ทันสมัยและระเบิดปรมาณูมาใช้ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 
     
  4. การเกิดประเทศเอกราชใหม่ๆ (ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกต่างประกาศเอกราชของตนเอง ทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย และ แอฟริกา และบางประเทศถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เช่น เยอรมนี เกาหลี เวียดนาม 
     
  5. สภาพเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก 
     
  6. ความสูญเสียทางด้านสังคมและทางจิตวิทยา 
     
  7. เกิดมหาอำนาจของโลกใหม่ คือ สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต

    หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งยืดเยื้อยาวนานเกือบ 6 ปียุติลง ลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ในอิตาลี นาซีในเยอรมัน และเผด็จการทหารในญี่ปุ่นก็ล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง ขณะเดียวกัน ตำแหน่งแห่งที่มหาอำนาจของโลกก็มีการปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในโลกเสรีหรือโลกประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาได้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นอภิมหาอำนาจเหนืออังกฤษและฝรั่งเศส มิใช่เพียงเพราะสหรัฐอเมริกามียุทโธปกรณ์ที่ทรงอานุภาพเท่านั้น แต่เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสได้รับความบอบช้ำจากผลพวงของสงครามครั้งนี้อย่างมหาศาล จึงไม่อาจจรรโลงโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจเดิมเอาไว้ได้อีกต่อไป 

    อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาก็มิได้เป็นอภิมหาอำนาจเดี่ยวโดยปราศจากคู่แข่ง เพราะอีกขั้วหนึ่งสหภาพโซเวียต(USSR)ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งมหาอำนาจในค่ายคอมมิวนิสต์ ทั้งยังเป็นแกนนำในการเผยแพร่อุดมการณ์การเมืองแบบสังคมนิยมออกไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก 
     
  8. เกิดการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนของสองมหาอำนาจจนนำไปสู่เกิดสงครามเย็นและการแบ่งกลุ่มประเทศระหว่างโลกเสรีประชาธิปไตยกับโลกคอมมิวนิสต์ สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอุดมการณ์ฟาสซิสต์ทั้งในยุโรปและเอเซีย และได้เกิดอุดมการณ์ใหม่ขึ้นเมื่อมีการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐ อเมริกาและสหภาพโซเวียต โลกถูกแบ่งแยกออกเป็นสองค่าย กล่าวคือ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำค่ายประชาธิปไตย ส่วนสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ ต่างฝ่ายต่างพยายามนำเสนอระบบการเมืองที่ตนยึดมั่น เพื่อให้ประเทศอื่น ๆ รับไปใช้เป็นแม่แบบการปกครอง และพยายามแข่งขันกันเผยแพร่อุดมการณ์ทางลัทธิการเมืองของตนในกลุ่มประเทศที่เกิดใหม่หลังสงคราม เงื่อนไขนี้เองจึงก่อให้เกิดการแข่งขัน ขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองการปกครอง และค่อย ๆ ลุกลาม รุนแรงจนอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “สงครามเย็น” (Cold War) 
     
  9. เกิดปัญหาเกี่ยวกับประเทศที่แพ้สงคราม หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดปัญหาขึ้นในกลุ่มประเทศที่แพ้สงคราม เช่น เยอรมนีถูกแบ่งแยกออกเป็นเยอรมนีตะวันตก ให้อยู่ในอารักขาของสัมพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ฝ่ายหนึ่ง และเยอรมนีตะวันออกให้อยู่ในความอารักขาของสหภาพโซเวียต จนกระทั่ง ค.ศ. 1949 ฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้จัดให้มีการเลือกตั้งเสรีขึ้นในเยอรมนีตะวันตกและตั้งเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ส่วนสหภาพโซเวียตก็ได้จัดตั้งรัฐสภาประชาชนขึ้นในเยอรมนีตะวันออกและปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ จัดตั้งเป็นสาธารณะรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน ทำให้เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันได้ตกลงมารวมกันเป็นประเทศเยอรมนีนับแต่ปี 1990 เป็นต้นมานอกจากนี้ญี่ปุ่นที่ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้มีอำนาจเต็มแต่เพียงผู้เดียวในการวางนโยบายครองญี่ปุ่น แต่ยังคงให้ญี่ปุ่นมีรัฐบาลและมีจักรพรรดิเป็นประมุขของประเทศ สหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนอุดมการณ์ของคนญี่ปุ่นให้หันมายอมรับฟังระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยและสันติภาพ ในช่วงที่เกิดสงครามเกาหลีสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปช่วยฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจญี่ปุ่น และช่วยเหลือให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรม จนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน 
    - ตามข้อตกลงปอตสดัม ทำให้เยอรมันถูกแบ่งออกเป็น 4 เขต และถูกยึดครองจากกลุ่มประเทศที่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ฝ่ายหนึ่ง และสหภาพโซเวียต อีกฝ่ายหนึ่ง 
    - ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ของสหภาพโซเวียตกับสหรัฐฯ ส่งผลให้เยอรมันถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ เยอรมันตะวันตก และเยอรมันตะวันออก 
     
  10. สหรัฐฯได้เข้าปกครองญี่ปุ่นเป็นเวลานานถึง 6 ปี โดยเข้าร่วมฝ่ายพันธมิตรหลังจากการโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ในแถลงการณ์ของสหประชาชาติ เมื่อ 1 มกราคม ค.ศ. 1942 มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมฝ่ายพันธมิตรอย่างเป็นทางการจำนวน 26 ประเทศ (แถลงการณ์นี้เป็นพื้นฐานของการก่อตั้งสหประชาชาติในภายหลัง)
     
  11. ประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมได้รับเอกราช บรรดาดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของชาติมหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่นต่างก็ทยอยกันได้รับเอกราชและแสวงหาลัทธิการเมืองของตนเอง ทั้งในเอเชีย และ แอฟริกา เช่น ยุโรปตะวันออกอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ ยุโรปตะวันตกเป็นกลุ่มประชาธิปไตย ส่วนในเอเชียนั้นจีนและเวียดนามอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์ แต่การได้รับเอกราชของชาติต่าง ๆ ได้ก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น 

    เกาหลีภายหลังได้รับเอกราชภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกแบ่งเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และได้ทำสงครามระหว่างกัน ค.ศ. 1950 – 1953 โดยเกาหลีเหนือซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตและจีนคอมมิวนิสต์เป็นผู้รุกรานเกาหลีใต้ องค์การสหประชาชาติได้ส่งทหารสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐอเมริกาเข้าปกป้องเกาหลีใต้ไว้ได้ จนต่อมาได้มีการลงนามในสัญญาสงบศึกที่หมู่บ้านปันมุนจอมในเขตเกาหลีเหนือ ปัจจุบันเกาหลีเหนือใต้มีแนวโน้มที่จะรวมกันเป็นประเทศเดียวในอนาคต 

    เวียดนามต้องทำสงครามเพื่อกู้อิสรภาพของตนจากฝรั่งเศส และถึงแม้จะชนะฝรั่งเศสในการรบที่เดียนเบียนฟูใน ค.ศ. 1954 แต่เวียดนามก็ถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ทั้งสองประเทศได้ต่อสู้กันเพราะความขัดแย้งในอุดมการณ์ที่แตกต่างกันระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตย ในที่สุดเมื่อสหรัฐอเมริกาผู้สนับสนุนเวียดนามใต้ยุติการให้ความช่วยเหลือและถอนทหารกลับประเทศ เวียดนามก็รวมประเทศได้สำเร็จใน ค.ศ. 1975 ในเวลาเดียวกันลาวและกัมพูชาซึ่งปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของเวียดนาม แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลของตนเองได้ในเวลาต่อมา

___

ไทย กับสงครามโลกครั้งที่ 2 

ทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นประกาศสงครามกับสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ต่อมา วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทหารญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทย ทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ และ สมุทรปราการ ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะฮาวาย, ฟิลิปปินส์และส่งทหารขึ้นบกที่มลายูและโจมตีสิงคโปร์ทางเครื่องบิน 

สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939)ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 8 (ขณะนั้นเสด็จประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์) หลวงพิบูลสงคราม(จอมพล ป. พิบูล สงคราม)เป็นนายกรัฐมนตรี 

เมื่อเริ่มสงครามนั้นไทยประกาศตนเป็นกลาง แต่ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นนำเรือรบบุกขึ้นชายทะเลภาคใต้ของไทยโดยไม่ทันรู้ตัว รัฐบาลต้องยอมให้ญี่ปุ่นผ่าน ทำพิธีเคารพเอกราชกันและกัน  

กลุ่มคนไทยบางส่วนโดยเฉพาะในต่างประเทศไทยได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทย (Free Thai Movement) ดำเนินช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร จึงช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการแพ้สงคราม ซึ่งในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942)ไทยได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา แต่ทูตไทยในสหรัฐอเมริกา ที่นำโดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ไม่ยอมรับทราบในการกระทำของรัฐบาล จึงได้ร่วมมือกันตั้งเสรีไทยขึ้นติดต่อกับ นายปรีดี พนมยงค์ ในเมืองไทย เมื่อสงครามสงบในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ไทยประกาศสงครามเป็นโมฆะ ซึ่งสหรัฐอเมริการับรอง ต่อมาไทยได้เจรจาเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 และกับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 

ความมุ่งหวังที่ญี่ปุ่นจะอาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังพม่าเพื่อยึดครองอินเดีย ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นเหนือแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเริ่มสร้างทางรถไฟสายมรณะในเดือนกันยายน พ.ศ. 2485 ทั้งคนงานและเชลยศึกจำนวนหมื่นถูกเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟยาว 415 กิโลเมตร ต้องโหมทำงานตลอดวันตลอดคืน บุกเบิกเข้าไปในป่ากว้างที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายและโรคภัย คนงานและเชลยศึกเหล่านั้นมีทั้งพม่า ชวา มลายู อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ ต้องประสบความทุกข์ทรมาน เจ็บปวดล้มตายเป็นจำนวนมาก ทางรถไฟพังทลายเพราะน้ำเซาะคันดินและสะพานข้ามแม่น้ำแควถูกระเบิดครั้งแล้วครั้งเล่า จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2486 กองทัพญี่ปุ่นจึงได้ทำพิธีเปิดทางรถไฟสายนี้อย่างเป็นทางการ 

สาเหตุที่ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง 
เหตุเพราะเรามีกำลังน้อยเมื่อญี่ปุ่นบุกจึงไม่สามารถต่อต้านได้ และเพื่อป้องกันมิให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของญี่ปุ่นในด้านเศรษฐกิจและการเมือง 

ผลของสงครามต่อไทย คือ 

  1. ไทยต้องส่งทหารไปช่วยญี่ปุ่นรบ 
  2. ได้ดินแดนเชียงตุง และสี่จังหวัดภาคใต้ที่ต้องเสียแก่อังกฤษกลับมา แต่ต้องคืนให้เจ้าของเมื่อสงครามสงบลง 
  3. เกิดขบวนการเสรีไทย ซึ่งให้พ้นจากการยึดครอง 
  4. ไทยได้รับเกียรติเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

สำหรับประเทศไทยนั้น เราได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปเอเชียและแปซิฟิกไม่นับรวมญี่ปุ่น ที่เข้าร่วมกับพวกอักษะ สาเหตุการเข้าร่วมนั้น สืบเนื่องมาจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในสมัย รัชกาลที่ 5 ทุกประเทศในฝั่งทะเลแปซิฟิกและทะเลอันดามัน ถูกเป็นเมืองขึ้นกันหมด เหลือแต่ไทยและญี่ปุ่นเท่านั้น และจากการที่สยามโดนยึดดินแดนรอบนอกส่วนต่างๆ (ซึ่งเดิมเป็นของไทย)เช่น เขมร ลาว บางส่วนของพม่า บางส่วนของจีน และส่วนเหนือของมาเลเซีย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของสยาม ทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมขึ้นมา ประกอบกับเผด็จการจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ต้องการนำส่วนที่เคยเสียไปกลับคืนมา จึงทำให้เราโจมตีอินโดจีนของฝรั่งเศส เราจึงร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น

มุมมองของญี่ปุ่นต่อไทยสมัยนั้น ถือว่าเราเป็นเมืองที่ค่อนข้างเจริญ และไม่เคยถูกชาวต่างชาติครอบงำเหมือนประเทศหลายๆประเทศในแถบนี้ จึงต้องการให้ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ เพราะนโยบายของญี่ปุ่นคือ ต่อต้านและขับไล่ชาวตะวันตก ให้ออกไปจากแผ่นดินเอเชียให้หมด ประเทศต่างๆที่เป็นเมืองขึ้นจึงถูกโจมตี