ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศไทยในหลายๆด้าน หลังจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control) เผยแพร่ข้อมูลการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาล่าสุดในวันที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่สีแดง หรือ มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาอย่างกว้างขวาง
unnamed
จากการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ทำให้กระทรวงมหาดไทย โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกโทรสารกระทรวงมหาดไทย “ด่วนที่สุด”  ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพชรบูรณ์ บึงกาฬ และเชียงใหม่ มีเนื้อหาระบุว่า กระทรวงมหาดไทยขอสั่งการให้จังหวัดสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา ดังนี้
1.ให้จังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางการสื่อสารในพื้นที่ให้ประชาชนเกิดความรู้ความเข้าใจ และไม่ตื่นตระหนกโดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ ป้องกันด้วยการไม่ให้ยุงกัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย แนะนำให้ผู้เดินทางไปประเทศที่มีการระบาดป้องกันตนเองมิให้ยุงกัด โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ระยะฟักตัว 3-12 วัน (เฉลี่ย 4-7 วันร้อยละ 80 ไม่แสดงอาการ) การสังเกตอาการเจ็บป่วยผู้ติดเชื้อ เช่น มีไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
2.ให้จังหวัดประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข:EOC) และส่งการให้ทุกอำเภอจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิการะดับอำเภอ ให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนบุคลากร อุปกรณ์เครื่องพ่นหมอกควัน ฯลฯ และการดำเนินการของทุกตำบล/หมู่บ้านให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา
3.ให้จังหวัดแจ้งศูนย์ฯ ระดับอำเภอ บูรณาการความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีต่างๆ เช่น สถานศึกษา โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการ สถานพยาบาล บุคลากร ด้านสาธารณสุข (อสม.) นักพัฒนาชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน ในการรณรงค์และป้องกัน/ควบคุมโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมในภาคเอกชนและภาคประชาชน
4.ให้จังหวัดติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์
unnamed
สำหรับไวรัสซิก้านั้น เป็นเชื้อไวรัสในตระกูลเฟลวิไวรัส (flavivirus) มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ไวรัสไข้เหลือง ที่มียุงลายเป็นพาหะ ดังนั้นการติดต่อจึงมาจากการถูกยุงที่มีเชื้อกัด นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้ทางเลือด องค์การอนามัยโลกระบุถึงอาการของโรคดังกล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อราว 1 ใน 4 ที่จะแสดงอาการออกมาให้เห็นหลังได้รับเชื้อ ซึ่งจะปรากฏอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้เลือดออก ได้แก่ มีผื่นแดงขึ้นตามตัว ไข้ขึ้นสูง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ รู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว และปวดหัว แต่อาการเหล่านี้สามารถทุเลาลงภายในเวลา 2-7 วัน หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที ไม่รุนแรงเท่าโรคไข้เลือดออก
mosquito in forest or in the garden. It is danger
อย่างไรก็ตามกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสซิกามากที่สุดคือ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งหากติดเชื้อแล้วจะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับอันตรายด้วย คือจะทำให้เด็กมีศีรษะเล็กกว่าปกติ   นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่มีไข้ออกผื่น กลุ่มเด็กทารกที่มีศีรษะลีบ และผู้ป่วยที่มีอาการปลายประสาทอักเสบ ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้ด้วย

unnamed (2)
แม้จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง แต่โรคไวรัสซิกา ก็ยังเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือวิธีการรักษาที่แน่ชัด ทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการเช่นเดียวกับโรคไวรัสอื่น ๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะ
สำหรับในประเทศไทยนั้น เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 กรมควบคุมโรคแถลงว่าพบผู้ป่วยชาย 1 ราย แต่เข้ารับการรักษาจนหายดีแล้ว อย่างไรก็ตามแม้จะยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกประกาศจัดให้ “โรคติดเชื้อไวรัสซิกา” เป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ
unnamed (3)
ซึ่งน่าสังเกตว่าในช่วงก่อนหน้าที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหภาพยุโรป จะประกาศให้ไทยเป็นพื้นที่สีแดง หรือ มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาอย่างกว้างขวาง ทางการไทยและสื่อต่างๆมีข่าวเรื่องผู้ป่วยไวรัสซิกาน้อยมากๆ จนไม่น่าจะมีใครคิดว่าประเทศไทยจะกลายเป็นพื้นที่สีแดง!!!

และแน่นอนว่าเมื่อไวรัสซิกา มีผลกระทบโดยตรงต่อเด็กทารก หญิงตั้งครรภ์ ย่อมมีผลกระทบต่อทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่สีแดง หรือแพร่ระบาดกว้างขวางทั้งประเทศเช่นเดียวกับประเทศในทวีปอเมริกาใต้!!!

Reference