PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ปึ้งวิเคราะห์รธน.เหมือนเมียนม่า

"ปึ้ง" วอน ปชช.อย่าหูเบา แนะวิเคราะห์ร่าง รธน.ให้ดี หวั่นประเทศดิ่งลงเหวไหลลงคลอง

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ฝ่ายรัฐบาลมีความพยายามออกมาบอกว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเป็นไปตามโรดแมป 2560 และก็มีความพยายามที่จะทำให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติให้ได้ ทั้ง ๆ ที่กฎกติกาในรัฐธรรมนูญ ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ถูกเขียนขึ้นมาแบบที่รัฐบาลใหม่แทบจะทำงานไม่ได้ถูกมัดมือมัดเท้าเอาไว้ เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลมีความพยายามที่จะไม่ให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เป็นการเล่นไพ่สองหน้า แต่ขณะที่ความเดือดร้อนยากลำบากของพี่น้องประชาชนในเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจในครัวเรือนก็ทำให้มองไม่เห็นภาพที่แท้จริง ก็อาจจะคิดว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลใหม่ทุกอย่างก็จะดีขึ้น

"ในฐานะที่เป็นนักการเมือง และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ มองว่า ถ้าเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้รัฐบาลทำงานไม่ได้ แก้ปัญหาของประชาชนได้ลำบาก การลงทุนจากต่างประเทศคงไม่กระเตื้อง เพราะเขามองออกว่ามีเงาดำทะมึนของอำนาจเผด็จการทหารอยู่ข้างหลังรัฐบาลเหมือนที่เกิดขึ้นในเมียนมา อยากให้ประชาชนวิเคราะห์ให้ดี ไม่ควรหูเบาเชื่อคนง่าย หากผิดพลาด หลังผ่านประชามติจะนำประเทศดิ่งลงเหวไหลลงคลองก็เป็นได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยาก นอกจากจะฉีกทิ้งโดยการรัฐประหาร จึงคิดว่า คสช.ต้องควรหันหน้ามาพูดคุยกันให้ชัดเจนก่อนที่จะเดินหน้า และ คสช.ก็ควรจะยอมรับความจริงได้แล้วว่า 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลนี้บริหารงานล้มเหลว เศรษฐกิจทรุด ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก หนี้สินเพิ่มขึ้น ประชาชนมีรายได้ลดลง" นายสุรพงษ์กล่าว

กระเพื่อมจาก"ทักษิณ"

กรธ.ถามคสช.หลายหน! อยากให้รธน.ผ่านรึเปล่า แห่คัดค้านครึ่งใบเต็มใบ

“ทักษิณ” เอาอีกจ้อสื่อนอก ตีรัฐบาลจัดฉากคืนสู่ประชาธิปไตย ฉายภาพซ้ำเมียนมาก่อนปฏิรูป เย้ยร่าง รธน.เปลืองเวลา-บุคคล เพราะไม่มีใครยอมรับ ลั่นถ้าตั้งใจขับเคลื่อนประเทศ “ท่านต้องมาพูดคุยกัน” พท.แถลงซ้ำไล่ คสช.ลงจากอำนาจหลังได้ รธน. “ชัยเกษม” ถามบ้าหรือเปล่าบังคับใช้ รธน.สองขยัก “ตู่” เหน็บหวังอยู่ยาวไม่ใช่เรื่องง่าย “คณิน” จับไต๋วางแผนซ้อนแผนเร่งเลือกตั้งเร็วรวบอำนาจ “องอาจ” แนะ กรธ.เก็บข้อเสนอ ครม.ใส่ลิ้นชัก ชี้แค่ที่มีก็มากอยู่แล้ว ชี้เจตนาหวังสืบอำนาจ “อลงกรณ์” เห็นพ้อง ครม.ขยักใช้ รธน. “วันชัย” หนุนสุดตัวไม่ต้องมาเหนียมกันแล้ว “นิกร” ห่วงใช้ครึ่งใบสุมไฟขัดแย้ง “สรรเสริญ” ย้ำไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ แค่ขอหลักประกันเล็กน้อยปัญหาเดิมจะไม่วนกลับมาอีก คสช.โต้ไม่ลืมเรื่องปฏิรูปทำคู่กันไป โพลชี้ประชาชนอยากร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ

หลังจากหนึ่งในข้อเสนอแนะของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง ป้องกันไม่ให้ประเทศเผชิญวิกฤติรอบใหม่ ล่าสุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ โจมตีว่าแค่การจัดฉากให้ต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยกำลังคืนสู่ประชาธิปไตย

“อลงกรณ์” หนุน ครม.ขยักใช้ รธน.

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นายอลงกรณ์ พลบุตร รอง ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงข้อเสนอแนะของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง ป้องกันไม่ให้ประเทศเผชิญวิกฤติรอบใหม่ว่า ข้อกังวลของ ครม.ไม่ควรมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ แต่เป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศ เคยถามนักการเมืองพรรคใหญ่ว่ามั่นใจแค่ไหนว่าเลือกตั้งแล้วจะไม่เกิดเหตุรุนแรงอีก ปรากฏว่า ไม่มีใครมั่นใจแม้แต่ฝ่ายเดียว จึงต้องช่วยกันออกแบบมาตรการป้องกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ไปตายเอาดาบหน้า จึงขอเสนอต่อ กรธ. ดังนี้ 1.บทบัญญัติรัฐธรรมนูญส่วนแรกที่ใช้บังคับถาวร ให้ยึดแนวทางประชาธิปไตยสากล เช่น นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง การวางระบบถ่วงดุลและตรวจสอบอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย การกำหนดสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของปวงชนชาวไทยให้ชัดเจน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่าให้ยากจนเกินควร

เชิญคู่ขัดแย้งมาถกปมสำคัญก่อน

นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า 2.เรื่องเฉพาะกิจในระยะเปลี่ยนผ่าน ควรบัญญัติในบทเฉพาะกาลเช่น ที่มานายกฯ ที่มา ส.ว. มาตรการป้องกันวิกฤติมิให้ซ้ำรอยเหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยเขียนระยะเวลาและขั้นตอนกระบวนการให้ชัดเจน กรธ.ควรเชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งมาหารือประเด็นสำคัญในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล

“วันชัย” หนุนสุดตัวไม่ต้องเหนียม

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของ ครม.ที่ให้บังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วง ตรงกับแนวทางที่ตนเสนอไว้ ถ้าให้เลือกตั้งแบบประชาธิปไตยเต็มที่ มีแนวโน้มว่าจะกลับไปเป็นเหมือนอดีต เรื่องความพอดีระหว่างประชาธิปไตยกับความสงบเรียบร้อยในช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เรื่องการต่อท่ออำนาจ แต่เป็นความรับผิดชอบของคนทำรัฐประหาร ที่ต้องสร้างความมั่นคงยั่งยืนของประชาธิปไตย ไม่ต้องเหนียมอายหรือกลัวนักการเมืองโจมตี ให้บอกไปเลยว่า ช่วงแรกให้มีการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งฝ่ายความมั่นคงยังต้องมีส่วนร่วมบริหารบ้านเมือง ประคับประคองสร้างปรองดองและปฏิรูปประเทศให้เข้าที่เข้าทาง เมื่อมั่นใจแล้วจึงปล่อยให้มีการเลือกตั้งเต็มที่แบบสากล ควรนำข้อเสนอ ครม.มาพิจารณาและดำเนินการตามนั้น ถ้าบ้านเมืองไม่เรียบร้อยคนที่จะถูกด่าก็คือ คสช. ไม่ใช่ กรธ.

“นิกร” ห่วงใช้ครึ่งใบสุมไฟขัดแย้ง

นายนิกร จำนง สปท. กล่าวว่า ตามข้อเสนอแนะของ ครม.ต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่ให้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วงนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะสาเหตุของปัญหาในอดีต อาทิ ปัญหาการเมือง ปัญหาการทุจริต การชุมนุมประท้วง การเสนอนโยบายที่มีปัญหา ขณะนี้ได้สร้างกลไกป้องกันไว้หมดแล้วในร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายการเมืองเรียนรู้ชัดเจนแล้วว่า ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียยิ่งใหญ่ คือ ความสูญเสียระบอบประชาธิปไตย จึงเห็นว่าสิ่งที่ ครม.เป็นห่วงว่าจะกลับมาอีกนั้น คงเป็นไปได้ยาก แต่ข้อเสนอของ ครม.ที่ขัดกับหลักประชาธิปไตย จะกลายเป็นต้นเหตุความขัดแย้งเสียเอง เพราะแค่เริ่มก็มีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก

กรธ.แจงทบทวนแล้ว 60 มาตรา

ด้านนายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กรธ.พิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญไปประมาณ 60 มาตราแล้ว โดยพยายามทบทวนนำความเห็นและข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายมาพิจารณาร่วมกัน ไม่ให้กระทบหลักการใหญ่ที่ กรธ.วางกรอบไว้รวมถึงกรอบตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 35 และกรอบตามความมุ่งหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีก 5 ข้อ ทราบว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. เตรียมขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายก-รัฐมนตรี เกี่ยวกับข้อเสนอของ ครม.ในบางข้อที่ยังสงสัยหรือไม่ชัดเจน เมื่อได้รับคำแนะนำที่เข้าใจตรงกันแล้ว กรธ.จะนำมาพิจารณาหารือต่อไป

ถาม คสช.อยากผ่าน รธน.ไหม

โฆษก กรธ.กล่าวต่อว่า เมื่อได้ข้อสรุปหรือข้อยุติในประเด็นใด หรือถ้ามีประเด็นใหญ่มากเราพร้อมชี้แจงให้ประชาชนทราบทันที จะไม่เก็บแล้วค่อยปล่อยให้มาโผล่ภายหลัง หรือโผล่ตอนตีพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ส่วนที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กรธ.จะไม่ไปตอบโต้ แต่จะเน้นการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถูกต้อง พยายามใช้ทุกช่องทาง กรธ.ชี้แจงเต็มที่และดีที่สุด ก่อนหน้านี้มีการซักถามกลับไปยัง คสช.หลายครั้งว่า อยากจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบยืนยันกลับมาว่า อยากให้ผ่าน เพราะต้องการให้มีเลือกตั้งตามโรดแม็ป เชื่อว่าไม่มีแนวคิดใช้วิธีล้มรัฐธรรมนูญเรื่อยๆ เพื่อให้อยู่ในอำนาจยาวนานต่อไป

รัฐบาลย้ำไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำเป็นเพราะมีคนอยากอยู่ยาวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ นายบวรศักดิ์ถือเป็นผู้ใหญ่ แต่นายกฯและคนในรัฐบาลอธิบายต่อสังคมมาตลอดว่าไม่ได้ต้องการสืบทอดอำนาจ ทุกอย่างยังเป็นไปตามโรดแม็ป ไม่มีอะไรผิดเพี้ยน เมื่อวันนี้อยู่ระหว่างการปฏิรูป มีการร่างกฎกติกากันใหม่ ถ้ามองเพียงรัฐธรรมนูญเป็นสากลหรือไม่ ก็ไม่สามารถแก้ไขและปฏิรูปอะไรได้ ใครกล้ารับประกันว่า ปัญหาเดิมจะไม่กลับมาอีก รัฐบาลจึงกำหนดยุทธศาสตร์ชาติในรัฐธรรมนูญ โดย กรธ.เขียนไปตามนั้น ต้องมีโหมดของการปฏิรูป โหมดเฉพาะกาล หรือโหมดอะไรก็สุดแล้วแต่ กรธ.จะพิจารณา อาจมีอะไรพิเศษเล็กน้อยเพื่อรับประกันว่า จากวันนี้ไปปัญหาเดิมๆจะไม่วนเวียนกลับมาอีก ที่สำคัญ ครม.เสนอไปว่าอย่าทำให้สังคมหวาดระแวงว่าอยากอยู่ยาวหรืออยู่ต่อ นายกฯย้ำมาตลอดว่าภายในปี 60 ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ รัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านเป็นเรื่องอนาคต แต่นายกฯคงมีสิ่งที่เตรียมไว้บ้างแล้วว่า ทำอย่างไรถึงจะให้เกิดการเลือกตั้งได้ สังคมเองก็ต้องช่วยกันทำให้สถานการณ์เรียบร้อย ถ้าวุ่นวายสับสนมันจะไปต่อด้วยการเลือกตั้งได้หรือไม่ สังคมต้องร่วมกันคิด

คสช.โต้ไม่ลืมเรื่องปฏิรูปทำคู่กันไป

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า ที่กังวลว่า คสช.จะสืบทอดอำนาจอยู่ยาวนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะใช้เป็นกติกาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่แบบคิดใหม่ แต่ใช้รัฐธรรมนูญในอดีตและนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาแก้ไขเพิ่มเติม ถามว่าจะสืบทอดอำนาจหรือไม่อยู่ที่ประชาชนจะพิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้เป็นข้อห่วงใยในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ คสช.และรัฐบาลจะรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ลงประชามติให้มากที่สุด ส่วนความเห็นของนายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า คสช.ลืมเรื่องปฏิรูป เพราะมัวแต่นับวันเลือกตั้งนั้น คสช.ดำเนินการหลายเรื่อง จัดลำดับความเร่งด่วน โดยเฉพาะการวางยุทธศาสตร์ชาติ เพียงแต่กรอบโรดแม็ปจะมีการจัดเลือกตั้งในปี 60 ทุกคนจึงโฟกัสไปที่ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องเดินตามกรอบเวลา เรื่องการปฏิรูปยังคงดำเนินการอยู่ เราไม่ได้เน้นหนักด้านใดด้านหนึ่ง

ปชป.แนะ กรธ.เก็บใส่ลิ้นชักไปก่อน

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรธ.ควรพิจารณาข้อเสนอของ ครม.ให้รอบคอบ แค่เริ่มเสนอไป นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ก็ยอมรับแล้วว่ามึน ไม่เข้าใจ สอบถามกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ถึงเป้าหมายของข้อเสนอดังกล่าว แต่นายวิษณุกลับบอกว่า ไม่สามารถยกตัวอย่างปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร จึงเห็นว่าเมื่อผู้เสนอกับผู้รับไม่ลงตัวกัน กรธ.ควรเก็บข้อเสนอนี้ใส่ในลิ้นชักดีกว่า เพราะยังไม่ทราบว่าเนื้อหาขอบเขต และบริบทของข้อเสนอจะมีแค่ไหน

ชี้เจตนาหวังอยู่ยาวสืบทอดอำนาจ

นายองอาจกล่าวอีกว่า ขอตั้งข้อสังเกตดังนี้ 1.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและประกาศใช้แล้ว ควรให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าตามครรลองการปกครอง ไม่ควรบัญญัติเนื้อหาแบ่งการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นสองช่วง 2.ที่ ครม.อ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง คิดว่าหากเกิดเหตุการณ์ตามที่ ครม.เป็นห่วง ยังมีกลไก ต่างๆที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก สามารถป้องกันสถานการณ์ที่ถึงขั้นวิกฤติได้ รวมทั้งให้อำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญไว้อยู่แล้ว จึงไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้าง 3.ข้ออ้างว่าเกรงว่าจะมีปัญหาจนถึงขั้นประเทศเข้าสู่สภาวะล้มเหลวนั้น ขณะนี้ทั้ง ครม.และ คสช. มีอำนาจในมือค่อนข้างมากอยู่แล้ว หากวิตกว่าเรื่องใดจะเป็นปัญหา ควรเร่งแก้ไขมากกว่าไปเขียนรัฐธรรมนูญรูปแบบพิเศษ 4.คงมองข้อเสนอนี้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจาก ครม. คสช. พยายามวางกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจ หรืออยู่ยาวในรูปแบบพิเศษที่วางกลไกไว้

ผุด กก.ยุทธศาสตร์หวังครอบการเมือง

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า แม้แต่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพราะเขาอยากอยู่ยาว แม้ ครม.จะมีเจตนาดี แต่น่าจะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาในการเป็นที่ยอมรับจากประชาชน จึงอยากให้ กรธ.พิจารณาสุขุมรอบคอบ ส่วนข้อกังวลว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในร่างของ กรธ.จะใกล้เคียงกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น ไม่แน่ใจว่า จุดมุ่งหมายของผู้มีอำนาจยังคงเดิมหรือไม่ แต่การมุ่งใช้กลไกข้าราชการมากำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่น่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ยุทธศาสตร์ชาติมีความจำเป็นและเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ผิดปกติคือ พยายามใช้สาระเนื้อหาของยุทธศาสตร์ฯ ไปสู่ยุทธศาสตร์อื่นที่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น การสืบทอดอำนาจ การขยายเครือข่ายกำกับควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมากจนเกินจำเป็น

“ทักษิณ” จ้ออีกตีรัฐจัดฉาก ปชต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์สำนักข่าวเดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่บทสัมภาษณ์พิเศษ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยกับการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ว่า รัฐบาลทหารกำลังทำให้เศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้วในภาวะเสี่ยง ด้วยการผลักดันแผนบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะจำกัดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และปกป้องอิทธิพลของเหล่าผู้นำทหาร มันเป็นแค่เกมเล่นทายคำปริศนา เพื่อแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า ประเทศไทยกำลังกลับคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ความจริงสถานการณ์ตอนนี้เหมือนเมียนมาก่อนมีปฏิรูปการเมือง แต่อำนาจจริงอยู่ที่กลุ่มคนบางคนที่อยู่เหนือนายกฯ และเศรษฐกิจจะตกต่ำ ไม่มีรัฐบาลไหนจะปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทย

ไม่ยอมรับ รธน.ทำชาติถอยหลัง

“โปรดอย่ากังวลว่าผมจะคิดแค้น ผมไม่ได้ต้องการเงื่อนไขใดๆเพื่อช่วยตัวผม แต่หากตั้งใจขับเคลื่อนประเทศเดินไปข้างหน้าจริง ถ้าตั้งใจจะคืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชนชาวไทย ท่านต้องมาพูดคุยกัน ผมเก็บตัวเงียบมานานพอสมควร และมักถูกฝ่ายตรงข้ามหรือนักวิจารณ์คิดในด้านลบเสมอ จึงต้องการพูดให้ชัดว่า ไม่ต้องมากังวลผม เพราะไม่ได้ใส่ใจกับสถานภาพ แต่อยากให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญมาเปลืองเวลา เปลืองทรัพยากรบุคคล เพราะไม่มีใครยอมรับ ยกเว้นตัวรัฐบาลทหาร ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ประเทศไทยจะเดินถอยหลัง ส่วนการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และเป็นน้องสาว มองว่า มีสาเหตุมาจากการเมือง ผมไม่ได้ก้าวล่วงศาล ผมกำลังกล่าวถึงระบบโดยรวมว่าเหตุใด น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงถูกตั้งข้อหา ผมหวังว่าเธอจะไม่ถูกตัดสิน แต่ก็ไม่มั่นใจนัก” นายทักษิณกล่าว

แบะท่าขอเจรจาให้ชาติเดินหน้า

ช่วงค่ำวันเดียวกัน เว็บไซต์สำนักข่าวไฟแนนเชียล ไทม์ ของอังกฤษ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า รัฐบาลทหารไม่สามารถสร้างความเชื่อใจและความเชื่อมั่นได้ ไม่ได้พยายามท้าทายหรือท้าสู้กับทหาร แต่ในทศวรรษที่ 21 ไม่มีใครให้ความเคารพประเทศที่ปกครองโดยรัฐประหาร และไม่ได้พูดว่ารัฐบาลทหารจะอยู่ได้ไม่นาน แต่รัฐใดที่ไม่เคารพประชาชนจะไม่สามารถอยู่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างขึ้นเพื่อลดทอนอำนาจนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน “ผมต้องการชี้แจงข่าวลือด้านลบว่าไม่ได้มีข้อเงื่อนไขใดให้กับตัวเอง ไม่เคยเจรจากับทหารทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อยุติคดีของผมและครอบครัว แต่ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเกิดจากการเมือง เวลานี้ผมขอเสนอให้มีการพูดคุย ผมพร้อมแล้ว ขอแค่เพียงเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชน”

พท.แถลง 8 ข้อเสนอรื้อร่างใหม่

วันเดียวกันพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์ให้ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. สรุปสาระสำคัญดังนี้ 1.การตั้งโจทย์ร่างรัฐธรรมนูญผิดพลาดมาตั้งแต่ต้นว่า นักการเมืองและพรรคการเมืองเป็นต้นตอปัญหา ปูทางไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ที่มุ่งจำกัดบทบาทนักการเมืองและพรรคการเมือง เพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส. เพื่อเตรียมการให้ผู้มีอำนาจปัจจุบันเข้ามาเป็นนายกฯ จะทำให้เกิดวิกฤติในอนาคต 2.การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวไม่สะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ควรใช้การเลือกตั้งแบบผสมตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ส่วนการได้มา ซึ่ง ส.ว. ควรให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ที่มานายกฯควรกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องเป็น ส.ส.เท่านั้น

ไล่ คสช.ลงจากอำนาจหลังใช้ รธน.

แถลงการณ์พรรคเพื่อไทยระบุอีกว่า การสร้างข้อจำกัดในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้กังวลว่าจะมีการใช้ช่องทางนี้ล้มรัฐบาลได้โดยง่าย เช่น การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรม การให้ กกต.ตรวจสอบนโยบายพรรคการเมือง การกำหนดให้นโยบายบริหารราชการแผ่นดินต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรให้อิสระแก่รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ กำหนดนโยบายได้ตามความเหมาะสม การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นซุปเปอร์องค์กร ควรกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่วินิจฉัยเฉพาะการคุ้มครองหลักความเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่ควรให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรยกเลิกอำนาจองค์กรอิสระ ที่จะมีเหนือรัฐบาลและรัฐสภา สามารถต่อต้านนโยบายรัฐบาล แม้จะแถลงต่อรัฐสภาแล้วก็ตาม การกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยากที่สุด การคงอำนาจของ คสช.ไว้หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แสดงถึงการไม่ยอมปล่อยวางอำนาจ จึงควรตัดบทเฉพาะกาลในส่วนนี้ออก โดยให้ คสช.สิ้นสุดลงทันทีที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว

บ้าหรือเปล่าบังคับใช้ รธน.สองขยัก

นายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของ ครม.ที่ให้แบ่งบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงนั้น บ้าหรือเปล่า วางดีไซน์แผนยุทธศาสตร์ไว้ 20 ปีได้อย่างไร จะไปบังคับคนอื่นเขาไม่ได้ เพราะคำว่าปฏิรูปคือต้องค่อยๆใช้เวลาปรับปรุงไป เมื่อปฏิวัติแล้วออกอะไรมา ทำเลย ไม่รู้ข้างในเขาคิดทำอะไร บอกได้แต่ว่าไม่ปกติ คิดอะไรไม่รู้ คนวางแผนแค่ 2-3 คน โดยไม่มองความถูกต้องความเหมาะสม ทำให้คนทั้งประเทศเดือดร้อน นึกกันเองในกลุ่มคนกลุ่มเดียวว่าดี แต่ถามว่าคนอื่นเห็นดีด้วยหรือไม่ การไปบังคับคนในลักษณะนี้ยากที่จะสำเร็จ ขอถามว่ามีสิทธิ์อะไรมาบังคับคนอื่น

เหน็บอยากอยู่ยาวไม่ใช่เรื่องง่าย

ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกลผ่านทางยูทูบ ว่า ข้อเสนอของ ครม. ทำให้ต่างประเทศเห็นเจตนารมณ์ของ คสช. และ ครม.ต้องการสืบทอดอำนาจ แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นแค่ความอยาก การเสนอเช่นนี้ไม่ได้สรุปผลว่าจะอยู่ยาวได้ ในประวัติศาสตร์การเมืองมีบทเรียนมาแล้ว เช่น เหตุการณ์เดือน พ.ค.2535 ทำให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขณะนั้น เป็นนายกฯได้ 47 วันเท่านั้น ความอยากกับการเมืองไทยเป็นคู่ตรงข้ามกัน ส่วนการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น รัฐบาลและ สปท. ควรให้คนรุ่นใหม่วางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกันเอง เหตุการณ์ในอนาคตไม่มีใครกำหนดล่วงหน้าได้ การไปล็อกประเทศตั้งแต่ปี 2559-2579 ประเทศไทยไม่เคยวางแผนยาวเช่นนี้มาก่อน ไม่ควรไปล็อกการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจไว้ เพราะเคยมีบทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 190 ที่ล็อกกรอบเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ทำให้ต่างประเทศรู้สิ่งต้องการของประเทศไทยหมด จึงเสียเปรียบไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ชาติได้ นายกฯควรคิดแค่วางแผนแก้ปัญหาให้ปีนี้อยู่รอดก่อน ทั้งเรื่องภัยแล้ง ท่าทีกีดกันการค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ

จับไต๋วางแผนซ้อนแผนเลือกตั้งเร็ว

นายคณิน บุญสุวรรณ ประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้ออ้างของ ครม. เป็นลูกไม้เก่าที่นำมาอ้างยืดอายุสัมปทานการครองอำนาจของ คสช. และ ครม.ไปอีกระยะหนึ่ง อาจเป็น 3-4 ปี อย่างที่เคยทำมาแล้วในรัฐธรรมนูญปี 2521 และปี 2534 ซึ่งทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และนายวิษณุ รองนายกฯ เคยมีบทบาทสำคัญในการร่าง เข้าใจว่าทั้งนายมีชัย นายวิษณุ และ กรธ.รู้กันอยู่แล้ว จึงไม่เขียนไว้ในร่างแรก เชื่อว่าในที่สุด กรธ.จะแก้ไขตามที่ ครม.ต้องการ ดังนั้น การที่ คสช.จะเลือกตั้งกลางปี 2560 น่าจะเป็นข่าวลวง เป็นแผนซ้อนแผน ดูตามข้อเสนอของ ครม. 16 ข้อแล้ว การเลือกตั้งน่าจะมีขึ้นก่อนสิ้นปี 2559 กรธ.จะแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่ ครม.เสนอ แต่อาจไม่ทำประชามติ โดยอ้างว่าทำให้การเลือกตั้งล่าช้า สิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่อยากให้ความขัดแย้งบานปลาย จึงอาจใช้มาตรา 44 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยให้เลือกตั้งเร็วกว่ากำหนด

อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่หลอกประชาชน

นายคณินกล่าวว่า เข้าตำราอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ หรือสับขาหลอก เปลี่ยนแผนให้เลือกตั้งเร็วขึ้น แต่หลังเลือกตั้งจะมีบทเฉพาะกาลให้งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนกว่าจะแน่ใจว่าการจัดตั้งรัฐบาล และสถานการณ์หลังเลือกตั้งจะไม่กลับไปวุ่นวายเหมือนก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 และจะต่ออายุการครองอำนาจ คสช.กับ ครม. ชุดนี้ออกไปอย่างน้อย 1 ปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ถือเป็นรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ หรือหนึ่งประเทศสองรัฐธรรมนูญ เหมือนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อรอฉีก การเขียนรัฐธรรมนูญสองฉบับในเวลาเดียวกันจึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง แต่เป็นฉบับโกงประชาชน หลอกให้ประชาชนไปเลือกตั้ง แล้วยึดอำนาจต่อ เท่ากับเป็นการปฏิวัติซ้ำ ข้อเสนอดังกล่าวไม่ควรเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ควรเรียกเผด็จการเต็มใบมากกว่า อยากให้นายมีชัยและกรธ. ตระหนักว่า คนไทยไม่โง่ รู้ทันหมด เป็นลูกไม้ตื้นๆ ไม่สลับซับซ้อนลึกซึ้งอะไร

เย้ยหลงยุคทำยุทธศาสตร์ 20 ปี

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย อยากให้รัฐบาลทบทวนการทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะโลกสมัยนี้ไม่เหมือนอดีต เปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากโลกเปลี่ยนแปลง ยุทธศาสตร์ที่ทำไว้จะล้าสมัยอย่างรวดเร็ว อย่าไปนำกรอบรัฐธรรมนูญย้อนยุคมาใช้วางยุทธศาสตร์ชาติ จะทำให้ประเทศเสียหายและถอยหลัง ควรปล่อยให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งมาทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่ผ่านมารัฐบาลนี้ไม่สามารถทำเศรษฐกิจให้ดีได้ ถ้ารัฐประหารแล้วทำยุทธศาสตร์ให้ประเทศพัฒนาได้ ประเทศไทยคงเจริญเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ก่อนทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรทำรัฐธรรมนูญให้เป็นสากล เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ก่อน เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลไหนก็ไม่สามารถบริหารประเทศได้

เริ่มจุดโหวตโนที่แยกราชประสงค์

เมื่อเวลา 10.00 น.ที่บริเวณป้ายสี่แยกราชประสงค์ หน้าศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ ที่ใช้ชื่อในเฟซบุ๊ก “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” เปิดกิจกรรมรณรงค์ Vote NO คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ด้วยการนำสติกเกอร์ที่มีข้อความว่า “Vote NO” พร้อมสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญคว่ำ ในกรอบสีแดงที่ถูกเครื่องหมายกากบาททับไว้ ไปติดที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์ และเสาไฟหน้าห้างเกษรพลาซ่า พร้อมกับนัดหมายสมาชิกที่ร้านแมคโดนัล ราชประสงค์ เพื่อรณรงค์ต่อในช่วงบ่าย แต่เมื่อมีตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งมาจับตาความเคลื่อนไหว ทั้งหมดจึงแยกย้ายกันกลับ จากนั้น รปภ.ของห้างได้ออกมาแกะสติกเกอร์ทิ้งจนหมด โดยมีกำลังทหาร ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยซุ่มสังเกตการณ์ ซึ่งนายอนุรักษ์ยืนยันว่าจะออกรณรงค์ทุกสัปดาห์ ทำเฉพาะกลุ่มเล็กๆป้องกันไม่ให้ถูกข้อหาชุมนุมทางการเมือง อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลโทร.มานัดว่า วันที่ 23 ก.พ.จะไปพบที่บ้าน เพื่อพูดคุยเรื่องนี้ ซึ่งตนยินดีร่วมมือเพราะไม่ได้ทำอะไรผิดอะไร

ประชาชนอยากกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ

อีกด้าน นิด้าโพลเปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “การมีส่วนร่วมของประชาชน” เกี่ยวกับการกำหนดการมีส่วนร่วมของประชาชนลงในร่างรัฐธรรมนูญ โดยร้อยละ 90.16 เห็นว่าประชาชนควรมีส่วนร่วมกำหนด “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพื่อเป็นแนวทางและเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ มีแค่ร้อยละ 6.24 ที่บอกไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ร้อยละ 93.68 ยังเห็นด้วยกับข้อบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยว่า รัฐต้องเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายอย่างเป็นธรรมและรวดเร็วให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือเป็นความลับของทางราชการ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลโดย สะดวก และหากรัฐไม่ทำตามหน้าที่ทั้ง 4 ข้อ ประชาชนสามารถยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง

โพลชี้คนสนใจข่าวม็อบพระมากสุด

ด้านสวนดุสิตโพล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนผู้บริโภคสื่อ ที่สามารถเลือกข่าวที่ตนเองสนใจ และเลือกติดตามได้จากสื่อหลากหลายช่องทาง โดย 5 อันดับข่าวที่ประชาชนสนใจมากสุด ร้อยละ 86.57 สนใจข่าวพระสงฆ์ชุมนุมที่พุทธมณฑล รองลงมาร้อยละ 85.95 คือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามด้วยข่าวสายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบิน ข่าวนายกฯ และข่าวอาชญากรรมและอุบัติเหตุต่างๆ เมื่อถามถึงสาเหตุที่ประชาชนสนใจข่าวร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่อยากรู้ความคืบหน้าทำประชามติ การเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง

“ปนัดดา” โพสต์อย่าหลงตัวอวดฉลาด

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ลงเฟซบุ๊ก ระบุว่า พ่อเคยสอนไว้แต่เด็ก การรับราชการและทำงานเพื่อแผ่นดิน เรื่องสำคัญยิ่งในชีวิตที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสอนประทานไว้แก่พ่อ จงอย่าโอ้อวดหลงลืมตัว อย่านำเรื่องวงศาคณาญาติและพวกพ้องกับราชการงานเมืองมาเกี่ยวพัน มันเป็นคนละเรื่องกัน อย่ามองคนเหมือนกันไปเสียหมด คือดีและไม่ดี ต้องรู้จักแยกแยะ และคบคนให้เป็นให้ถูก บางครั้งแกล้งทำโง่ไว้ดีกว่าอวดรู้อวดฉลาด แต่กลายเป็นโง่ในสายตาของคนอื่นที่เขาไม่อยากพูดให้สิ้นเปลืองเวลา อย่าทะลึ่ง อย่าเล่นกับสุนัข สุนัขเลียปาก เล่นกับสาก สากต่อยหัว แต่จงมีความระมัดระวังตัว เจียมเนื้อเจียมตัวเป็น ที่ชีวิตเราและครอบครัวจะเกิดสุข

ปลอบกำนัน–ผญบ.อย่าตื่นข่าวลือ

ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งข้อความผ่านกลุ่มไลน์ถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ เน้นย้ำงานสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.งานโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท อย่าให้เกิดการทุจริตเรียกรับเงินทองผลประโยชน์เด็ดขาด และยืนยันว่าไม่มีผู้บังคับบัญชาคนใดไปขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หักเงินเปอร์เซ็นต์ 2.การระวังป้องกันไฟป่าหมอกควัน 3.ภัยแล้ง และ 4.ขณะนี้มีการปล่อยข่าวลือและเรื่องเท็จ ไปในหมู่บ้าน ตำบล อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสร้างความแตกแยกในหมู่บ้าน ตำบล ขอให้กำนันผู้ใหญ่บ้านประชุมชี้แจงลูกบ้าน ให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องด้วย หากมีข้อสงสัยเรื่องใด รวมถึงข่าวลือต่างๆความเดือดร้อนของลูกบ้าน ให้สอบถามหรือแจ้งแก่นายอำเภอหรือข้าราชการได้ ที่สำคัญขอให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปประชุมประจำเดือนร่วมกับนายอำเภอและส่วนราชการที่อำเภอ ให้นำข้อราชการจากนายอำเภอและส่วนราชการ ไปประชุมแจ้งลูกบ้านด้วย

"บิ๊กป้อม"เตรียมจูงมือ"สมคิด"เยือนรัสเซีย

"บิ๊กป้อม" เตรียมจูงมือ"สมคิด" บินเยือน รัสเซีย -เบลารุส 23-27พค./พบ นายกฯ-รมว.กลาโหม -เลขาฯสมช.รัสเซีย ถกการค้า-ความร่วมมือความมั่นคง-อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ  เตรียมการ "นายกฯประยุทธ์" ไปประชุมAsean-Russia พค.นี้ และเยือนตามคำเชิญของ Putin20ปี สัมพันธ์ไทย-รัสเซีย /ก่อนบินไป เบลารุส พบ ประธานาธิบดี-รมว.กลาโหม

พลตรี คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม เปิดเผยว่า  พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนาบกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมคณะ มีกำหนดการเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐเบรารุส อย่างเป็นทางการ ระหว่าง 23-27 ก.พ.59

โดยมีรายงานว่า ออกเดินทาง 23.50 น. จากท่าอากาศยานทหาร บน.6 ดอนเมือง คืนวันจันทร์22กพ.นี้ โดยใช้เครื่องบิน กองทัพอากาศ

พลตรีคงชีพ กล่าวว่า การเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย อย่างเป็นทางการครั้งนี้ เป็นการขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการค้า การลงทุน ระหว่างกันให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

หลังการเยือนไทยของ นาย Dimitry Medvedev นายกรัฐมนตรีรัสเซีย เมื่อเม.ย.58 ที่ผ่านมา 

อีกทั้งเป็นการเตรียมการก่อนการเดินทางของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีที่จะไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน - รัสเซีย ในพ.ค.59 ที่ เมืองโซชิ  อีกด้วย ซึ่งเป็นโอกาสของการสถาปนาความสัมพันธ์รัสเซีย - อาเซียน ครบ 20 ปี ตามคำเชิญของ ประธานาธิบดี Vladimir Putin

 ในโอกาสนี้  พลเอกประวิต พร้อม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรั.มนตรี มีกำหนดเข้าเยี่ยมคำนับและหารือกับ นาย Dimitry Medvedev นายกรัฐมนตรีรัสเซีย และ  นายDenis Manturov รมว.อุตสาหกรรมและการค้ารัสเซีย  เพื่อหารือขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงและการค้าการลงทุนระหว่างกัน 

จากนั้น พลเอกประวิตร   มีกำหนดการเข้าพบหารือกับ พล.อ.Sergei Shoigu รมว.กลาโหมรัสเซีย และ นาย  Nikolai Patrushev เลขาธิการ สภาความ มั่นคงแห่งชาติ.รัสเซีย  ที่เพิ่งมาเยือนไทย

และนาย Dmitry Rogozin รองนายกฯรัสเซีย เพื่อหารือความร่วมมือด้านความมั่นคง การทหารและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศระหว่างกัน

ก่อนหน้านี้ พลเอกประวิตร ให้สัมภาษณ์ว่า รัสเซีย ต้องการขาย ยุทโธปกรณ์ บรรเทาสาธารณภัย อัคคีภัย ดับไฟป่า เครื่องบิน  และอุปกรณ์ทหารช่าง  และ จะซื้อสินค้า การเกษตรของเรา เป็นการตอบแทนในมูลค่า ใกล้เคียงกัน

จากนั้น พลเอกประวิตร พร้อมคณะ มีกำหนดการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐเบลารุส อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของเบลารุส โดยมีกำหนดการเข้าเยี่ยมคำนับ นาย Alexander Lukashenko  ประธานาธิบดีเบลารุส 

พร้อมเข้าพบและหารือความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารกับ พล.ท. Andrei Ravkov รมว.กลาโหม เบลารุส และพล.ท.Sergei Gurulev ประธานคณะกรรมการว่าด้วยอุตสาหกรรมทางทหารเบลารุส 

พลตรีคงชัพ กล่าวว่าการเดินทางเยือนสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐเบรารุส อย่างเป็นทางการ ของรองพลเอกประวิตร ครั้งนี้ จะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทย จะได้กระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือทางทหาร. รวมทั้งขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับทั้งสองประเทศ ในลักษณะพึ่งพา ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน ซึ่งมีความจำเป็นต้องพึ่งพากันมากขึ้นในปัจจุบัน

บิ๊กโด่งเผยผลสอบสตง.อุทยานราชภักดิ์ปกติ

บิ๊กโด่ง เผย ผลสอบ สตง.ไม่พบการทุจริต"ราชภักดิ์" ระบุผ่านทั้ง 3 หน่วยงาน ทบ.-กห-สตง.ตรวจแล้ว น่าจะเพียงพอ แต่หากหน่วยงานใดจะเข้ามาตรวจอีกทำได้

พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ระบุถึง การตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนและไม่พบการทุจริตใดๆ เนื่องจากผ่านการตรวจสอบ ทั้ง 3 หน่วยงานได้แก่ กองทัพบก กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ทั้ง 3 หน่วยงาน แล้ว น่าจะเพียงพอ 

แต่อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานใดมีความประสงค์ ที่จะเข้ามาตรวจสอบอีก ก็สามารถทำได้ เพื่อให้ อุทยานราชภักดิ์ได้เดินหน้าต่อไป ให้เสร็จสิ้นภารกิจ

‘พล.อ.อุดมเดช’ เผย ผลสอบ สตง.ยัน ไม่พบทุจริต"อุทยานราชภักดิ์" ระบุ ทั้ง ทบ-กก-สตง. สอบแล้ว น่าจะเพียงพอ เปรย เหลือ ปปท. เผยอยากให้จบ จะได้เร่งสร้างส่วนที่เหลือต่อ
 
 
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะประธานมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการตรวจสอบชุดต่างๆทั้งในส่วนของกองทัพบกและกระทรวงกลาโหม ได้ยืนยันถึงการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วว่าถูกต้องตามขั้นตอนและไม่มีการทุจริตใดๆ ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ได้ระบุไว้ 

อีกทั้งที่สำคัญคือทางผู้ใหญ่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ได้ตรวจสอบแล้ว 

ขอชี้แจงว่าเอกสารส่วนใหญ่ในการดำเนินโครงการอยู่ที่กองทัพบก ผมไม่ได้นำติดตัวออกมาด้วย แต่ในส่วนของผมก็พร้อมที่จะให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ในเรื่องของเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมาที่มีผมเป็นผบ.ทบ. พร้อมให้ข้อมูลทุกอย่างที่เรามีอยู่ และสามารถไปตรวจสอบที่กองทัพบกได้ 
 
“เป็นเรื่องที่น่ายินดีและสบายใจตามที่ผู้ใหญ่ของสตง.ได้ตรวจสอบแล้วว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความถูกต้องทุกขั้นตอน ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะมีปัญหา"

" แต่ในขณะนี้ก็ยังมีบางส่วน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต้องการจะตรวจสอบเพิ่มเติม ผมก็พยายามอยากให้เข้าใจว่าทุกอย่างทาง 3หน่วยหลัก ได้ตรวจสอบไปแล้วก็น่าจะเพียงพอ เพื่อให้อุทยานราชภักดิ์เดินหน้าต่อไปได้ "

พลเอก อุดมเดช กล่าวว่า ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเพียงขั้นที่1 คือการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และลานที่จะใช้ประกอบพิธีต่างๆ ส่วนที่ยังค้างอยู่คือการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ของแต่ละสมัย ทุกอย่างประชาชนก็ได้รับทราบแล้วว่าโปร่งใส ไม่มีการทุจริตและดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะให้มีการดำเนินการต่อไป 

"ผมหวังว่าอุทยานราชภักดิ์จะเป็นจุดหนึ่งที่สามารถรวมจิตใจให้คนไทยเกิดความรักสามัคคีและเกิดความมั่นคงต่อชาติ ที่สำคัญทุกคนต้องช่วยกันรักษาไว้และทำนุบำรุงต่อไป เพื่อให้มีสถานที่หลักในการระลึกถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของ เรา” พล.อ.อุดมเดช กล่าว 

พลเอกอุดมเดช ได้มาทำบุญ และเวียนเทียน เนื่องในวันมาฆบูชา ที่วัดพิชยติการาม ในรามกระทรวงกลาโหม เผยว่า ได้อธิษฐานจิตขอให้ประชาชนเข้าใจรัฐบาล ร่วมมือทำชาติสงบ กลาโหมดูแลความสงบ อยากขอปชช.ร่วมมือ เพื่อช่วยให้เป็นไปตาม โรดแมพ และแนวทางของนายกฯ วางไว้

พร้อมหวังให้เป็นไปตามขั้นตอนของรัฐบาลเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายพอใจ และเหมาะสมกับประเทศไทย 
และขอให้ประชาชนทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ