PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

จากตำราอาวุธแป๊ะเฮียวเซ็งถึงโซเชียลมีเดีย : ระวังมรณกรรมของผู้ส่งข่าวสาร

จากตำราอาวุธแป๊ะเฮียวเซ็งถึงโซเชียลมีเดีย : ระวังมรณกรรมของผู้ส่งข่าวสาร

โดย โกศล อนุสิม28 กรกฎาคม 2556 22:40 น.
นิยายกำลังภายในของโกวเล้ง เรื่อง ฤทธิ์มีดสั้น และ เหยี่ยวเดือนเก้า ได้กล่าวถึงตำราสุดยอดอาวุธในยุทธจักรที่ แป๊ะเฮียวเซ็ง (ซึ่งเป็นบัณฑิตผู้รู้ที่โกวเล้งสร้างสรรค์ขึ้นในโลกนิยากำลังภายใน อาจเปรียบได้กับกูรู หรือนักวิชาการในโลกความจริง) ได้ค้นคว้า รวบรวม ประมวลผล และเรียบเรียงจัดลำดับอาวุธจากยอดฝีมือนับหมื่นคนเหลือเพียง 100 คน และที่เป็นสุดยอดของบรรดายอดฝีมือทั้งหลายก็คือ อันดับ 1-10 อาทิ อันดับ 1 กระบองฟ้าเทียนกี ของผู้เฒ่าแซ่ซุน อันดับ 2 ห่วงหงส์มังกร ของ เซี่ยงกัวกิมฮ้ง อันดับ 3 มีดบิน ของ ลี้คิมฮวง อันดับ 4 กระบี่เหล็กซงเอี้ยง ของก้วยซงเอี้ยง อันดับ 5 หอกเงิน ของลู่ฮงเชย เป็นต้น
      
        เมื่อข้อมูลการจัดอันดับสุดยอดอาวุธจากตำราอาวุธของแป๊ะเฮียวเซ็งเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนก็กระจายไปอย่างรวดเร็วแบบปากต่อปากเหมือนไฟลามทุ่ง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากผู้ที่ได้รับข้อมูลอันได้แก่บรรดาผู้ฝึกฝีมือทั้งหลาย ทั้งที่มีอันดับและไม่มีอันดับ ทั้งที่เป็นสุดยอดฝีมือและไร้ฝีมือ โดยต่างสงสัยใคร่รู้ว่าการจัดอันดับสุดยอดอาวุธที่แป๊ะเฮียวเซ็งทำไว้นั้น จะเป็นความจริงหรือไม่เพียงใด วิธีที่จะพิสูจน์ก็คือ การประลองฝีมือเพื่อสร้างอันดับและไต่อันดับ อันเป็นการพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า อันดับตามตำราดังกล่าวนั้นแท้แล้วจริงเท็จแค่ไหน หากผู้อยู่ในอันดับตำกว่าสามารถโค่นผู้มีอันดับสูงกว่าได้ ก็แสดงว่าการประเมินของแป๊ะเฮียวเซ็งอาจผิดพลาด อีกทั้งผู้ที่สามารถโค่นล้มผู้ที่อยู่อันดับสูงกว่าตนได้ ย่อมได้รับการเลื่อนอันดับขึ้นแทนที่โดยปริยาย มีเกียรติภูมิ ชื่อเสียง บารมีเพิ่มขึ้นด้วย
      
        การจัดทำตำราอาวุธของแป๊ะเฮียวเซ็ง เรียกได้ว่าเขาทำงานในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาค้นคว้าหาความจริงแล้วนำความจริงนั้นมาเผยแพร่แก่สาธารณชน แต่งานวิชาการของแป๊ะเฮียวเซ็งก่อให้เกิดผลที่ตามมาอย่างที่เขาก็ไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน นั่นคือ ไปกระตุ้นต่อมความอยาก ความอิจฉาริษยา การชิงดีชิงเด่น อันเป็นธรรมชาติของบรรดาผู้ฝึกฝีมือทั้งหลาย ทำให้เกิดการไล่ล่าฆ่าฟันเพื่อไต่อันดับและพิสูจน์ความจริงตามตำรา แน่นอนว่า นอกจากผู้เกี่ยวข้องโดยตรงคือผู้ฝึกฝีมือทั้งหลายล้มตายแล้ว ยังมีผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากที่โดนลูกหลงตาย และได้รับผลระทบทางอ้อมอีกเป็นจำนวนไม่น้อย
      
        การจัดทำตำราอาวุธของแป๊ะเฮียวเซ็ง การเผยแพร่สู่สาธารณชนและปฏิกิริยาของผู้ที่ได้รับข้อมูลเรื่องอาวุธดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เป็นไปตามทฤษฎีการสื่อสารของ เดวิด เค. เบอร์โล (David K. Berlo) นักวิชาการด้านการสื่อสารชาวอเมริกัน ที่ได้นำเสนอทฤษฎีการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่ได้รับการอ้างอิงอย่างกว้าง ว่า กระบวนการสื่อสารนั้นประกอบด้วย ผู้ส่งสาร (Source หรือ Sender) ข้อมูลข่าวสาร (Message) ช่องทางการสื่อสาร (Channel) และผู้รับสาร (Receiver) หรือที่จำกันได้ง่ายๆว่า SMCR
      
        อธิบายง่ายๆว่า แป๊ะเฮียวเซ็ง คือผู้ผลิตสารและส่งข่าวสาร (S) ข่าวสาร (M) คือลำดับอาวุธและผู้ใช้อาวุธในยุทธจักร แล้วข่าวสารออกสู่สาธารณชนผ่านช่องทางการสื่อสาร (C) คือตำราอาวุธ ไปถึงผู้รับสาร (R) คือบรรดาผู้ฝึกฝีมือทั้งหลาย และเมื่อผู้รับสารได้รับแล้วก็บอกต่อกันไปปากต่อปาก ข่าวสารจึงแพร่กระจายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วแบบปากต่อปาก ซึ่งในกรณีนี้ผู้รับสารกลายเป็นผู้ส่งสาร (M) อีกทอดหนึ่ง ผ่านการสื่อสารระหว่างบุคคลคือการบอกเล่ากันต่อๆไปแบบปากต่อปาก (C) ก่อให้เกิดปฏิกิริยาของผู้รับสารคือการตามล่าหาอันดับและไต่อันดับโดยการประลองฝีมือกันนั่นเอง จะเห็นว่ากระบวนการสื่อสารตามทฤษฎี ของ เบอร์โลดังกล่าว ได้เริ่มกระบวนการใหม่ตามลำดับ SMCR ไปเป็นทอดๆ จนเกิดการรับรู้ข่าวสารและมีปฏิกิริยาของผู้รับสารแบบเป็นลูกโซ่ และผลที่ตามมาก็คือเกิดการฆ่าฟันเพื่อชิงอันดับกันอย่างใหญ่โตมโหฬารขนาดที่เรียกว่า “มรสุมการฆ่าฟัน” ขึ้นในยุทธจักร
      
        นี่คือผลจากข้อมูลข่าวสารที่เกิดจากผู้ผลิตและส่งข่าวสารคือแป๊ะเฮ๊ยวเซ็ง ซึ่งคงไม่ได้คาดหมายว่าข่าวสารที่ตนส่งออกไปนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงเยี่ยงนี้ การเผยแพร่ตำราอาวุธของแป๊ะเฮียวเซ็งในดลกนิยายกำลังภายในดังกล่าว ก็ไม่ต่างจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในโลกความเป็นจริงในหลายๆกรณีที่เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายจนใครก็ได้สามารถที่จะเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งสารผ่านช่องทางการสื่อสารที่มีอยู่มากมาย โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียเช่น ทวีตเตอร์ (Tweetter) และเฟสบุ๊ค (Facebook) ที่ผู้ส่งข่าวสาร (S) ส่งข่าวสาร (M) ที่ตนผลิตขึ้น ผ่านช่องทาง (C) คือ ทวีตเตอร์หรือเฟสบุ๊ค ไปสู่ผู้รับสาร (R) คือบรรดาผู้ติดตามของตน จากนั้นข่าวสารก็จะถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ผ่านการ Retweet และ Share ซึ่งไม่ต่างจากการบอกเล่ากันแบบปากต่อปาก เกิดผลกระทบในวงกว้าง กลายเป็นกระแสสังคมในโลกเชียลมีเดีย ที่เรียกกันว่าโลกเสมือน หลายกรณีได้ก้าวพ้นจากโซเชียลมีเดียเข้ามาในโลกความเป็นจริง เช่น กรณีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องข้าวบรรจุถุงปนเปื้อนสารพิษของ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พิธีกรรายการโทรทัศน์ ค้นค้นคน อันโด่งดัง แล้วเกิดการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากข่าวสารที่สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ส่งออกไปคือผู้ผลิตข้าวถุงจำหน่ายในท้องตลาด ที่ออกมาโต้แย้งว่าไม่เป็นความจริง ยืนยันในความสะอาดปราศจากอันตรายของข้าวถุงที่ตนผลิตจำหน่าย ถึงขนาดขู่จะฟ้องร้องเอาผิตผู้เผยแพร่ข้าวสารที่สร้างความเสียหายแก่ผลิตภัณฑ์ข้าวถุงของตน นับได้ว่า ข่าวสารที่สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เผยแพร่ไปนั้น เกิดผลกระทบในวงกว้างเกินที่ผู้เผยแพร่จะคาดคิดไว้ก่อน ทั้งยังย้อนกลับมาทำลายตัวผู้เผยแพร่ข่าวสารนั้นด้วย นั่นคือ การถูกขู่จะฟ้องร้องเอาผิดจากผู้ประกอบการข้าวถุงที่ถูกระบุว่ามีสารพิษปนเปื้อน ทั้งยังเรื่องชื่อเสียงความน่าเชื่อถือที่ถูกตรวจสอบตั้งคำถามอีกด้วยว่า ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือรองรับข่าวสารที่ตนเผยแพร่ออกไป ผู้รับข่าวสารแบ่งเป็นสองฝ่าย คือผู้ที่เห็นด้วยกับสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ และผู้ที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งต่างก็ระดมข้อมูลข่าวสารออกมาคัดง้างกันอย่างขนานใหญ่ สภาพไม่ต่างจาก “มรสุมการฆ่าฟัน” อันเกิดขึ้นในยุทธจักรเพราะตำราอาวุธของแปะเฮียวเซ็งแต่อย่างใด
      
        ข่าวสารที่สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เผยแพร่ออกไปแล้วย้อนกลับมาทำร้ายผู้เผยแพร่เองนั้น คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นกับแป๊ะเฮียวเซ็ง ผู้เขียนตำราอาวุธในนิยายกำลังภายในเรื่องฤทธิ์มีดสั้น นั่นคือ ข่าวสารของแป๊ะเฮียวเซ็งก่อผลกระทบมหาศาลในยุทธจักร ทำให้แป๊ะเฮียวเซ็งต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวในยุทธจักรในฐานะผู้ร้ายจนต้องตายด้วยมีดสั้นของลี้คิมฮวงที่ตนจัดให้อยู่ในอันดับที่สามของยอดอาวุธ ซึ่งหากแป๊ะเฮียวเซ็งไม่เขียนตำราหรือเขียนแล้วแต่ไม่เผยแพร่ ก็ไม่ต้องเข้ามาพัวพันกับเรื่องราวในยุทธจักรจนทำให้ตัวเองตายอย่างน่าอนาถ ดังนั้น มีดสั้นของลี้คิมฮวงในกรณีของแป๊ะเฮียวเซ็ง ก็คล้ายกับข้าวสารถุงในกรณีของสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
      
        การตายของแป๊ะเฮียวเซ็งกับการถูกขู่จะฟ้องร้องเอาผิดจากผู้ประกอบการข้าวถุงของสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แม้จะมีเงื่อนไขรายละเอียดที่แตกต่างกันก็จริง แต่เหตุก็เกิดขึ้นจากสิ่งเดียวกัน นั่นคือ การเผยแพร่ข่าวสารออกสู่สาธารณะ ในที่นี้จะไม่ขอตัดสินว่าข่าวสารที่เผยแพร่ออกไปนั้นถูกหรือผิด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่จะชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบจากข่าวสารนั้นมีมาก ทั้งในด้านดีและด้านร้าย ทั้งต่อผู้รับข่าวสาร ต่อสังคม และต่อผู้เผยแพร่ข่าวสารเอง
      
        เมื่อเป็นดังนี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างก็คือ ผู้ส่งข่าวสาร (Sender/Source) ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งสาร จะต้องระมัดระวังในการส่งข่าวสารออกสู่สาธารณะ เช่น ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร หากมีข้อบกพร่องใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์หรือเติมเต็มได้ก็ต้องระบุไปด้วย หากนำมาจากแหล่งข้อมูลอื่นใดก็ต้องแจ้งแหล่งที่มานั้นด้วยเพื่อให้คนอ่านสามารถสืบค้นไปถึงต้นตอได้ เป็นต้น เพราะเมื่อเผยแพร่ข่าวสารผ่านช่องทางะควบคุมได้ โดยเฉพาะช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น ทวีตเตอร์และเฟสบุ๊คนั้น มีการกระจายข่าวสารไปได้อย่างรวดเร็ว ผู้รับข่าวสารที่อยู่ในฐานะผู้ส่งด้วยนั้นเป็นอิสระโดยแท้จริง สามารถที่จะรับและส่งข่าวสารต่อไปได้อย่างเสรีและรวดเร็ว โดยผู้ส่งข่าวสารที่เป็นเจ้าของข่าวสารไม่อาจที่จะหยุดยั้งการแพร่กระจายของข่าวสารนั้นได้เลย เพียงแต่มีชื่อเป็นผู้ผลิตข่าวสารนั้น ดังกรณีของ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ เป็นตัวอย่าง
      
        ในส่วนของผู้รับข่าวสาร (Receiver) ก็ต้องระมัดระวังในการรับและส่งข่าวสารเช่นกัน ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่าข่าวสารที่ได้รับนั้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ก่อนที่จะส่งต่อ เมื่อส่งไปแล้วจะเกิดความเสียหายแก่ใคร และจะเป็นประโยชน์แก่ใคร หรือไม่ เพียงใด หากส่งต่อไปโดยไม่ระวัดระวังแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อทั้งบุคคล กลุ่มบุคคล และสังคมได้
      
        กล่าวโดยสรุป กระบวนการสื่อสารตามทฤษฎี SMCR ของเบอร์โลดังที่กล่าวมานี้ ผู้ส่งสาร (S) สำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้ผลิตและส่งข่าวสาร คุณภาพของข่าวสารจะดีจะเลวอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้ส่งสารที่เป็นต้นตอของข่าวสารนี่เอง ดังนั้น ผู้ส่งสารจึงต้องมีคุณธรรมจริยธรรมกำกับ ทั้งผู้ส่งสารที่เป็นสื่อและปัจเจกบุคคล หาไม่แล้ว ข่าวสารที่ส่งออกไปอาจทำร้ายและทำลายผู้คนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งวกกลับมาทำร้ายตัวเองได้ กรณีที่ไม่ร้ายแรงมากก็เป็นเช่นที่สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ได้ประสบมาในโลกความเป็นจริง ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดก็ถึงแก่กาลมรณะของผู้ส่งสารดังเช่นที่ แป๊ะเฮียวเซ็งได้ประสบในนิยายกำลังภายในของโกวเล้ง แต่ไม่ว่าในโลกนิยาย โลกเสมือน หรือโลกแห่งความเป็นจริง แม้ผู้ส่งสารจะเป็นบัณฑิต ผู้รู้ กูรูระดับใดก็ตาม หากไม่ระมัดระวังแล้ว มรณกรรมของผู้ส่งข่าวสารที่มีสาเหตุจากข่าวสารที่ตัวเองส่งออกไปก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เท่ากัน.
      
       โกศล อนุสิม
       ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖