PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

"เบื้องลึก ป.ป.ช.ถอนฟ้อง! คดีสลายม็อบ"พันธมิตรฯ


Nation TV - เว็บไซต์สถานีข่าวอันดับ 1 ของเมืองไทย
"หลังเทศกาลสงกรานต์ที่ค่อนข้างเงียบสงบ กลับเกิดเรื่องขึ้นจนได้ เมื่อมีข่าวหลุดรอดออกมาว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) อาจจะยื่นถอนฟ้องคดีสลายม็อบกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 รายสำหรับคดีนี้  ป.ป.ช. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว  โดยยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551  และศาลฯได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีนี้ รวมทั้งได้เริ่มไต่สวนคดีนี้แล้วด้วย
สำหรับสาเหตุที่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ป.ป.ช. เนื่องจากจำเลย 3 ราย ในคดีนี้ คือ นายสมชาย, พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. โดยในหนังสือขอความเป็นธรรมอ้างถึงเหตุผลของอัยการที่ไม่ฟ้องคดีนี้ (คดีนี้ ป.ป.ช ยื่นฟ้องเอง) และยังอ้างถึงคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่ ป.ป.ช. ยกคำร้องในคดีที่กล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น,นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งให้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก นำมาเทียบเคียง ทั้งนี้ที่ประชุม  ป.ป.ช. ได้นำเรื่องที่จำเลยในคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ ขอความเป็นธรรมเข้าพิจารณาเป็นวาระจรเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธานในที่ประชุม
สำหรับการประชุมวาระดังกล่าว ได้กำหนดกรอบการพิจารณาไว้ 2 ประเด็น คือ 1. อำนาจการถอนฟ้อง ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ทำได้หรือไม่ และ 2. เหตุผลและความเหมาะสมในการพิจารณาเพื่อถอนฟ้อง
ทั้งนี้ใน ประเด็นแรก เรื่องอำนาจตามกฎหมายนั้น ทางสำนักกฎหมายของ ป.ป.ช. ได้เสนอความเห็นว่า สามารถทำได้หากพิจารณาเทียบเคียงกับหลักการถอนฟ้องคดีตามมาตรา 35 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งระบุว่า คํารองขอถอนฟองคดีอาญาจะยื่นเวลาใดกอนมีคําพิพากษาของศาลก็ได้ ทั้งนี้ศาลจะมีคําสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตใหถอนก็ได้  ซึ่งเมื่อสำนักกฎหมาย ป.ป.ช. ทำความเห็นดังกล่าว ที่ประชุม ป.ป.ช. ซึ่งมีกรรมการ ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวจำนวน 7 คน  โดยมีผู้ขาดประชุม 2 คน  คือ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และ นายณรงค์ รัฐอมฤต จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของสำนักกฎหมายฯ  โดย 1 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยคือ นางสุภา ปิยะจิตติและหลังจากที่ประชุม ป.ป.ช. ลงมติเห็นชอบในประเด็นแรกซึ่งเป็นข้อกฎหมายว่า ป.ป.ช.มีอำนาจถอนฟ้องแล้ว ที่ประชุม ป.ป.ช .จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. กลับไปพิจารณาถึงเหตุผลในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่จำเลยทั้งสามอ้างมา คือ เหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้และการนำคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ ป.ป.ช. ยกคำร้องมาเทียบเคียงว่าฟังขึ้นหรือไม่ ในการถอนฟ้องคดีนี้ตามที่จำเลยขอมา
ต่อมาวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่สมควรถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า เหตุผลที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรม สามารถนำไปยื่นให้ศาลฎีกาฯไต่สวนเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว อีกทั้งหาก ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดีดังกล่าว อาจเข้าข่ายกระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่และถูกฟ้องร้องเสียเอง  แต่กลับมีการส่งเรื่องไปให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทบทวน โดยให้ยึดเรื่องการเปรียบเทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 และปี 2553 เป็นหลัก
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และระเบียบของ ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุถึงอำนาจหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการถอนฟ้องของ ป.ป.ช. ไว้ จึงอาจเป็นเหตุให้ทาง ป.ป.ช. หยิบยก มาตรา 35 ของ ป. วิอาญา มาอ้างอิงแทนว่า มีอำนาจถอนฟ้องได้อย่างไรก็ตาม วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ  ป.ป.ช. บอกว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว  แล้วมายื่นถอนฟ้องในภายหลัง เพราะ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ไม่ได้ให้อำนาจในการถอนฟ้องไว้ ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 35 เป็นเรื่องคดีอาญาทั่วไป แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีกฎหมายจัดตั้งศาลฯและวิธีพิจารณาคดีโดยเฉพาะ
สำหรับ พล.ต.อ. วัชรพล  เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ประธาน ป.ป.ช. ใหม่ๆ ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์ที่ว่า มีความใกล้ชิดกับ คสช. โดยเฉพาะ พล.อ. ประวิตร ว่า ยอมรับว่าใกล้ชิดกับ พล.อ. ประวิตร โดยเคยเป็นเลขานุการรองนายกฯ ของ พล.อ. ประวิตร มาก่อน เพราะหลังเกษียณอายุราชการ พล.อ. ประวิตร ได้ชักชวนให้ไปรับตำแหน่งดังกล่าว แต่เมื่อมีการเปิดรับสมัครกรรมการ ป.ป.ช. ตนเองก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นเลขานุการรองนายกฯ ไปจนถึงสมาชิก สนช. มาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เพราะคิดว่าจะสามารถทำงานรับใช้ประเทศชาติได้การสนิทใกล้ชิดใครเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ แต่อยู่ที่ว่าเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมาอยู่ตรงนี้ผมก็ถูกสอดส่องมากมาย ถ้าทำไม่ดีก็ถูกดำเนินคดี ซึ่งตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. โทษเป็นสองเท่าของคนทั่วไป จึงยืนยันได้ว่าผมจะไม่เอาเกียรติประวัติในชีวิตราชการมาทำอะไรที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน ซึ่งต้องดูกันต่อไป แต่ขอเรียนว่า ยิ่งถูกเพ่งเล็ง ผมยิ่งมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ประชาชน และผมเชื่อว่า ในฐานะผู้นำองค์กร ซึ่งมีเพื่อนร่วมงานทั้งหมด 9 คน ผมคงไม่สามารถโน้มน้าวและชี้นำคนอื่นได้ หากหวังผลักดันสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่มีข่าวว่า ป.ป.ช.จะถอนฟ้องจำเลยในคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ คงต้องจับตากันต่อไปว่า สุดท้ายเรื่องจะเดินต่อไปอย่างไร จะมีการยื่นต่อศาลฯจริงหรือไม่ และผลพวงที่ตามมาจากการยื่นถอนฟ้องมีมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นผู้สูญเสียในคดีนี้ จะว่าอย่างไร จะยอมให้เรื่องจบไปพร้อมกับคดีความหรือไม่
"
อ่านต่อที่: http://www.nationtv.tv/main/content/politics/378498562/

‘วีระ’ ดัก ป.ป.ช.ถอนฟ้อง ‘พัชรวาท’ สลายชุมนุม พธม. ชี้เป็นทะลุซอยกลางแจ้ง ช่วยคนผิดพ้นโทษ

วันที่ 19 เมษายน 2559ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวีระ สมความคิด อดีตเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) เปิดเผยว่า จากการติดตามความคืบหน้าคดีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ พธม. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ล่าสุดพบว่ามีความพยายามของผู้บริหาร ป.ป.ช. ระดับสูงบางรายสั่งการด้วยวาจาให้เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ที่รับผิดชอบคดีซึ่งมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมดังกล่าว ส่งเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อมีมติให้ถอนฟ้องคดีออกจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.กลัวความผิด จึงทำความเห็นกลับว่าไม่สมควรถอนฟ้อง เนื่องจากข้อร้องเรียนของนายสมชายและ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่ยื่นต่อป.ป.ช.ไม่สามารถนำมาเทียบเคียงกับคดีที่ ป.ป.ช.ยกฟ้องรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรีสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อ 2553 และถ้าจำเลยมีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถนำไปเสนอในชั้นการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

“หากมีการถอนฟ้องคดีดังกล่าว นอกจาก พล.ต.อ.พัชรวาทได้ประโยชน์แล้ว ยังมีบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจะพ้นความผิด เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกประชาชนขับไล่เพราะออก พ.ร.บ.นิรโทษสุดซอยลักหลับ  แต่รัฐบาลนี้กำลังจะถอนฟ้องคดีสำคัญออกจากศาลอย่างย่ามใจ เรียกว่าทะลุซอยกลางแจ้ง แต่ต้องวัดใจกับประชาชนว่าจะยอมหรือไม่ เพื่อให้ผู้มีอำนาจทำการย่ำยีกฎหมายบ้านเมือง การกระทำเช่นนี้จะให้ประชาชนมีความเชื่อถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อวดว่าเป็นฉบับปราบโกงได้จริงหรือ และหาก ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันมีมติถอนฟ้องคดีดังกล่าวออกจากการไต่สวนของศาลฎีกาฯทั้งที่ป.ป.ช.ชุดที่แล้วมีมติให้ฟ้องคดี ผมจะดำเนินคดีตามกฎหมายจนถึงที่สุด กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดดังกล่าวทุกคน“ นายวีระกล่าว

"ถึงเวลาปฎิรูปขนานใหญ่รอบที่สอง (The Second Great Reform)"

"ถึงเวลาปฎิรูปขนานใหญ่รอบที่สอง (The Second Great Reform)"


ทุกประเทศล้วนต้องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศในโลกที่หนึ่งที่มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน 

หลายประเทศในเอเชีย อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ใต้หวัน ต่างประสบความสำเร็จสามารถเปลี่ยนผ่านจากประเทศใน "โลกที่สอง" ซึ่งจัดเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา มาสู่ประเทศใน "โลกที่หนึ่ง" ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ในศตวรรษที่ผ่านมา 

ความสำเร็จเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเกิดจาก "กระบวนการปฏิรูปขนานใหญ่อย่างเป็นระบบ" (Great Reform) ครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน

ประเทศไทยก็มิได้แตกต่าง การเผชิญกับภัยคุกคามจากลัทธิล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ทำให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ตัดสินใจดำเนินการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยการสร้างรัฐชาติไทย ควบคู่ไปกับการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการจัดการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น การปฏิรูปสังคมด้วยการยกเลิกระบบทาสและระบบไพร่ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปคมนาคม ฯลฯ เพื่อทำให้ประเทศเกิดความทันสมัยเฉกเช่นเดียวกับอารยประเทศอื่นๆ



การปฏิรูปขนานใหญ่อย่างเป็นระบบในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองตามมาในอีกกว่าศตวรรษต่อมา

อย่างไรก็ดี ภายหลังการปฏิรูปขนานใหญ่ในสมัยรัชกาลที่5 ประเทศไทยขาดการปฏิรูปอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องในเวลาต่อมา...จวบจนปัจจุบัน

ทำให้ขาด Momentum of Change ในการเปลี่ยนผ่านประเทศให้สอดรับกับเงื่อนไขสภาพแวดล้อม ทั้งจากภายนอกและภายในที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ เมื่อพัฒนาไปได้ถึงระดับหนึ่ง ประเทศไทยต้องเผชิญกับ "กับดักประเทศรายได้ขนาดปานกลาง" เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำของอำนาจความมั่งคั่งและโอกาส ทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น มิเพียงเท่านั้น ยังเป็นประเทศที่กำลังเผชิญกับความขัดแย้งที่รุนแรงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

พลวัตการเปลี่ยนแปลงสู่โลกศตวรรษที่ 21 ก่อให้เกิดโอกาส ความเสี่ยงและภัยคุกคามชุดใหม่ การสะดุดขาตัวเองทำให้ประเทศไทยไม่สามารถแสวงหาโอกาสและรับมือกับความเสี่ยงและภัยคุกคามชุดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น หากปราศจากการปฏิรูปใหญ่ครั้งที่ 2 (Second Great Reform) ประเทศไทยอาจกลายเป็นประเทศที่ถดถอย เป็นรัฐที่ล้มเหลวในที่สุด จมดิ่งอยู่ในทศวรรษแห่งความศูนย์เปล่า (Lost Decades) อีกยาวนาน

ในทางกลับกัน ถ้าหากมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างจริงจัง อย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนก็อาจเป็นไปได้ว่า ประเทศไทยจะสามารถปรับเปลี่ยนกลายเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่ง มั่นคงและยั่งยืน เฉกเช่นเดียวกับอารยะประเทศอื่นๆ ในประชาคมโลก

การขับเคลื่อน "ประเทศไทย 4.0" ผ่านพลัง"ประชารัฐ" จึงเป็นหนึ่งในวาระการปฎิรูปที่สำคัญ ที่จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศในโลกที่หนึ่งที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ได้ในที่สุด

ฮิวแมนไรวอช์ทแภลงค้านไทยจับผู้เห็นต่าง

ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้อง คสช.ปล่อยตัววัฒนา เมืองสุข โดยทันที ชี้กรณีนี้แสดงว่าคณะทหารยกระดับบรรยากาศความหวาดกลัวเพื่อปิดกั้นความคิดเห็นและคุกคามคนที่เห็นต่างก่อนจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 20 เม.ย. เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข โดยทันที หลังนายวัฒนาแสดงความเห็นคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ และ คสช.มีคำสั่งให้เข้ารายงานตัวที่มณฑลทหารบก 11 (มทบ.11) เมื่อวันที่ 18 เม.ย. โดยระบุว่านายวัฒนาละเมิดข้อตกลงที่ให้ไว้กับ คสช. ทำให้นายวัฒนาถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวและถูกย้ายไปยังกองพลทหารราบที่ 9 (พล ร.9) จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) 

นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำเอเชีย ระบุว่าคณะทหารยกระดับบรรยากาศความหวาดกลัวเพื่อปิดกั้นความคิดเห็นและคุกคามคนที่เห็นต่างก่อนจะมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และการควบคุมตัวนายวัฒนาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าคณะทหารพร้อมจะข่มขู่และจับกุมเพื่อผลักดันให้เกิดการลงประชามติ

แถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ยังระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงต่อนักวิชาการและนักกิจกรรมซึ่งเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังไม่อนุญาตให้มีการอภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญในพื้นที่สาธารณะ ถือเป็นการยกระดับความหวาดกลัวก่อนจัดการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. ขณะที่ผู้วิจารณ์หรือเผยแพร่ข้อมูลคัดค้านร่าง รธน. อาจถูกลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปีตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

นายแบรด อดัมส์ กล่าวด้วยว่าคำสัญญาของคณะทหารที่ระบุว่าจะให้ไทยคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วและจะเคารพหลักสิทธิมนุษยชนถูกพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเรื่องไร้ความหมาย เพราะการถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจกระทำได้อย่างเปิดเผยและปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ขอเรียกร้องให้มิตรประเทศของไทยจากทั่วโลกร่วมกันกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติการจับกุมและควบคุมตัวตามอำเภอใจต่อผู้ที่เห็นต่าง และปล่อยผู้แสดงความคิดเห็นอย่างสันติที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันที

คสช. เผยภาพ"วัฒนา เมืองสุข"ในที่พักของพล.ร.9 กาญจนบุรี มี หมอทหารดูแลใกล้ชิด

คสช. เผยภาพ"วัฒนา เมืองสุข"ในที่พักของพล.ร.9 กาญจนบุรี มี หมอทหารดูแลใกล้ชิด เผย นายวัฒนา ไม่ยอมทานอาหาร แต่ทานแต่มะพร้าว เพราะสัญญากับลูกสาวไว้ และ อาจเป็นการแสดงการประท้วงต่อทางทหาร ด้วย แม้ทางทหารจะพยายาม ร้องขอ โน้มน้่าว ก็ตาม แต่นายวัฒนา ก็ไม่ทานอาหาร และเก็บตัว ไม่ออกมาเดินเล่น ผ่อนคลายใดๆ โดยทางทหารพยายามเข้าพูดคุย ทำความเข้าใจ แต่ยังไม่ร่วมมือ โดย นายวัฒนา ยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิด.....ทั้งนี้ ฝ่าย คสช. ได้เตรียมหลักฐานต่างๆ ทำสำนวนคดี เพื่อส่งฟ้องร้อง นายวัฒนา ต่อศาลทหาร ฐานขัดประกาศ คสช.39/2557 แต่รอเจรจากับ นายวัฒนา อีกระยะหนึ่ง ก่อน...โดยคาดว่า ภริยา และลูกสาว จะมาเยี่ยม ในวันพรุ่งนี้

เพื่อไทยเยี่ยม'วัฒนา' สุดท้ายอด ทหารโชว์รูปให้ดูแทนว่ายังอยู่ดี

เพื่อไทยเยี่ยม'วัฒนา' สุดท้ายอด ทหารโชว์รูปให้ดูแทนว่ายังอยู่ดี
Cr:แนวหน้า
20 เม.ย. 59 ที่พล ร.9 ค่ายสุรสีห์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ แกนนำนปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เดินทางไปยัง พล ร.9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี เพื่อเยี่ยม นายวัตนา เมืองสุข อดีตรมว.กระทรวงพาณิชย์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ภายหลังจากได้เข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ฉบับที่ 39/2557 แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทหารให้เข้าเยี่ยม โดยเจ้าหน้าทหารได้ส่งรูปให้ แกนนำนปช.ดู ว่านายวัฒนา อยู่เย็นเป็นสุขดี

พลเมืองโต้กลับปรากฏตัว สวมเสื้อขาว ยืนเฉยๆ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการควบคุมตัวนายวัฒนา

พลเมืองโต้กลับปรากฏตัว สวมเสื้อขาว ยืนเฉยๆ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการควบคุมตัวนายวัฒนา เพื่อปรับทัศนคติ
20 เม.ย. 2559 เวาล 18.30 น. ได้เดินทางมาถึงสกายวอล์ค ช่องนนทรี พร้อมกับการปรบมือต้อนรับจากมวลชนจำนวนหนึ่ง
ผู้สื่อขาวรายงานว่า เมื่อเดินทางมาถึง ทางกลุ่มยังไม่ได้แถลงการณ์แต่อย่างใด มีเพียงการยืนอย่างสงบนิ่งเพื่อเเสดงสัญลักษณ์ไม่เห็นด้วยต่อการควบคุมตัวนายวัฒนา
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้เข้าห้ามการทำกิจกรรมแต่อย่างใด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรุ่งนี้ยังไม่มีการปล่อยตัวนายวัฒนา จะดำเนินการอย่างไรต่อไป จ่านิว สิรวิชญ์ กล่าวว่า หากยังไม่มีการปล่อยตัวในวันพรุ่งนี้ วันศุกร์ที่ 22 จะมีการยกระดับการชุมนุมต่อไป

‘วีรชน’ จวก รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ ถือดีอย่างไร วิจารณ์ไทยจับผู้ชุมนุม

‘วีรชน’ จวก รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ ถือดีอย่างไร วิจารณ์ไทยจับผู้ชุมนุม

“วีรชน” เหวั่นสหรัฐยัดเยียดระบอบปชต.กลุ่มทุนให้ไทย เปรียบเหมือนหมาหางด้วน ถามกลับนักการเมืองทำเพื่อใครมัวอ้างแต่ปชช. ขอดูตัวอย่างปชต.ปลอมแบบสหรัฐสร้างความเดือดร้อนมากแค่ไหน

เมื่อวันที่ 20 เมษายน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่บทความวิเคราะห์ปรากฏการณ์ Democracy Spring ว่า ขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในอเมริกาขึ้นเรียกว่า Democracy Spring ถ้าแปลเป็นไทยก็คงได้ความว่า การลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย มีคนไปชุมนุมที่กรุงวอชิงตันหลายพันคน มีคนถูกจับไป 400 กว่าคน ซึ่งไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าที่ควร แต่น่าสนใจ ผู้สนใจมากๆ ไปเปิดอ่านในเว็บไซต์ของกลุ่มผู้จัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย www.democracyspring.org. โดยที่ไปที่มาของเรื่องคือคนอเมริกันจำนวนมาก พบว่าสิทธิทางการเมืองของตน มีน้อยกว่าเศรษฐีและบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ เห็นได้จากการเลือกตั้งตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง รวมทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เหตุเพราะการกำหนดตัวผู้สมัครทำโดยพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองได้รับเงินบริจาคจากบุคคลและบริษัทธุรกิจหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งเศรษฐีและบริษัทธุรกิจใหญ่บริจาคเงินมาก มีอิทธิพลในการกำหนดตัวว่าจะให้ใครได้ลงสมัคร พรรคการเมืองต้องโอนอ่อนตาม ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้เงิน สมาชิกพรรคที่เป็นคนธรรมดา หรือคนเงินน้อย บริจาคน้อย ไม่มีสิทธิกำหนดว่าใครจะได้ลงสมัคร และก็ต้องสนับสนุนคนที่ธุรกิจใหญ่หรือมหาเศรษฐีกำหนดมา แม้จะเป็นคนที่น่ารังเกียจก็ตาม เช่น Donald Trump เป็นต้น หรือแม้แต่ในอดีตเช่น George W. Bush ซึ่งประชาชนจำนวนมากเห็นว่าเป็นคนโง่เขลา หรือแม้แต่ Hillary Clinton ของพรรค Democrat ก็ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของพวกธุรกิจใหญ่ยักษ์เหมือนกัน ดังนั้นผู้คนจึงรู้สึกว่าสิทธิของตนมีน้อยกว่าสิทธิของมหาเศรษฐีหรือธุรกิจใหญ่ ซึ่งผิดหลักการสำคัญอันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย คือ การมีสิทธิเท่าเทียมกันของพลเมือง หรือ equal rights โดยตรง

พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ผู้สมัครและนักการเมืองซึ่งเป็นเด็กในคาถาของมหาเศรษฐีและธุรกิจใหญ่ เมื่อเข้ามีอำนาจทั้งในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือแม้แต่ตุลาการ ทำงานรับใช้ผลประโยชน์ของมหาเศรษฐีและกลุ่มธุรกิจ ไม่ได้รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน เรื่องใหญ่ที่สุดที่เขาพูดกัน คือการเอาภาษีอากรของราษฎร ไปสร้างสงคราม แล้วขายอาวุธหรือเข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์ในต่างประเทศ ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ทหารต้องไปตายในต่างประเทศอย่างไม่มีเหตุผล ในขณะที่มหาเศรษฐีและธุรกิจใหญ่รวยขึ้นๆ และประชาชนจนลงๆ เขาเห็นว่า นี่คือ “legalized corruption” หรือการ “โกงอย่างถูกกฎหมาย” ต้องแก้ไข ต้องปฏิรูปใหญ่ฟังแล้วคุ้นๆ จังเลย คำถามคือเขากำลังทำอย่างไรกันคนอเมริกันรวมตัวกันเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวในนาม Democracy Spring

เริ่มยก 1 เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมานี้ โดยไปรวมตัวกันที่ระฆังแห่งอิสรภาพที่เมืองฟิลาเดลเฟีย แล้วเดินเท้าระยะทาง 140 ไมล์ไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เดินทางอยู่ 8 วันกว่าจะถึง แล้วไปชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 เมษายน แล้วก็จัดกิจกรรมฝึกการชุมนุมอย่างสันติแบบ อารยะขัดขืน หรือ non-violent civil disobedience กัน แล้วนัดชุมนุมอีกวันที่ 16 เมษายน ที่หน้าสถานีรถไฟ Union Station กลางกรุงวอชิงตัน และจะมีกิจกรรมอย่างนี้ต่อเนื่องไปจนกว่าข้อเรียกร้องจะเป็นผล จนถึงขณะนี้ มีกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวแล้วมากกว่า 100 กลุ่มทั่วประเทศ

นักกิจกรรมชวนกันทั่วประเทศให้เคลื่อนไหวอย่างเดียวกัน พวกเขาเตรียมให้ตำรวจจับกุมให้มากๆ จนคุกไม่มีที่จะใส่ เพื่อให้ได้รับความสนใจจากนักการเมือง และกดดันให้นักการเมืองต้องทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขาในที่สุด ทั้งหมดวางแผนทำช่วงนี้ไปจนถึงก่อนการเลือกตั้งปีนี้ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยเรียกร้องเริ่มจากข้อความหลักคือ การร่วมปฏิญาน Equal Voice for All หรือการมีสิทธิมีเสียงที่เท่าเทียมกัน เรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ ดำเนินการให้ยุติการฉ้อฉลทางการเมืองของกลุ่มธุรกิจใหญ่ ให้มีหลักประกันของการเลือกตั้งโดยเสรีและเป็นธรรม โดยราษฎรทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน โดยที่มีร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยอยู่ในสภาแล้ว 4 ฉบับ ก็ขอให้เร่งนำมาพิจารณาผ่านโดยเร็ว เช่นกฎหมายจำกัดจำนวนเงินที่ธุรกิจจะบริจาคให้พรรคการเมืองได้ กฎหมายที่ให้บุคคลรายย่อยเป็นผู้สนับสนุนการเลือกตั้ง เป็นต้น และให้รัฐสภา เสนอหนทางที่จะป้องกันการฉ้อฉล และปฏิญาณตนที่จะต่อต้านการฉ้อฉล เป็นต้น

“สรุปว่าปรากฏการณ์ Democracy Spring นี้ เพิ่งเริ่มเท่านั้นและจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป เรื่องที่น่าสนใจจากเหตุการณ์นี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เป็นข้อพิสูจน์ว่า ระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ มีความบกพร่องในขั้นพื้นฐานสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จะทำให้เห็นวิธีบริหารจัดการความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นจากการชุมนุม ว่าสหรัฐฯ จัดการอย่างไร ขณะนี้มีผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมแล้วจนถึง 17 เมษายน มากกว่า 900 คน ทั้งที่เป็นการชุมนุมแสดงออกโดยสันติวิธี ส่วนความเห็นและข้อสังเกตที่เป็นคำถามต่อระบอบประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้เราชาวไทยต้องมีนั้น เป็นระบอบที่มีปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่เพราะเท่ากับประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือกรัฐบาล แต่กลายเป็นมหาเศรษฐีและกลุ่มธุรกิจใหญ่เป็นคนเลือก รัฐบาลสหรัฐฯ จะเอาระบอบอย่างนี้มาบังคับยัดเยียดให้ประเทศไทยเอาอย่างได้หรือ เหมือนหมาหางด้วน ไปบอกให้หมาที่ไม่ด้วนให้ตัดหางตัวเองอย่างนั้นหรือ การจับกุมผู้ชุมนุมอย่างนั้น สหรัฐฯ ไม่ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือ ถ้าสหรัฐฯ ทำอย่างนั้น นาย John Kerry ถือดีอย่างไรที่มาวิจารณ์เวลารัฐบาลไทยจับกุมผู้ที่ประท้วงชุมนุมทั้งที่ขัดกับกฎหมายของเรา ส่วนนักการเมืองไทย ที่อ้างว่า ต้องเป็นประชาธิปไตย อย่างโน้นอย่างนี้ ตกลงที่ต้องการนั้น เพราะเห็นแก่ประชาชน หรือเห็นแก่อำนาจของตัวกันแน่ ทำตัวเหมือนเศรษฐีและธุรกิจใหญ่ของอเมริกันหรือเปล่า เพราะหลายพรรคและหลายคน ก็มีฐานะเป็นมหาเศรษฐีกันทั้งนั้นไม่ใช่หรือ การจะเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้ จึงไม่ใช่การหลับหูหลับตา อ้างความเป็นประชาธิปไตยมาหลอกประชาชน แต่อำนาจจริงๆ ไม่ได้อยู่กับประชาชนแต่อยู่กับนายทุนพรรค จริงไหม ประเด็นที่พรรคการเมืองใหญ่ร้องกันตอนนี้ ก็แค่ว่า ถ้าฉันได้รับเลือกตั้งมา อำนาจทั้งหมดต้องเป็นของฉัน จะให้ใครที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาทัดทานฉันไม่ได้ ก็แค่นั้นจริงไหม ดูตัวอย่างเขาเถิดครับ ว่าประชาธิปไตยปลอมๆ มันสร้างความเดือดร้อนให้ราษฎรอย่างไร” พล.ต.วีรชนกล่าว

เราจะไปทางไหน#4: โคทม อารียา หากประชามติไม่ผ่าน เสนอสร้างฉันทามติใหม่ มีรัฐบาล-สสร.เลือกตั้ง

เราจะไปทางไหน#4: โคทม อารียา หากประชามติไม่ผ่าน เสนอสร้างฉันทามติใหม่ มีรัฐบาล-สสร.เลือกตั้ง

<--break- />
ประชาไทสัมภาษณ์ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (พ.ศ.2540-2544) และอดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ วิเคราะห์รายประเด็นพบทั้งข้อดี และข้อเสีย พร้อมแนะทางออกหากประชาชนไม่เห็นชอมร่างรัฐธรรมนูญ ให้หยิบรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 มาปรับใช้ให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมี สสร. ของประชาชน ยืดเวลาให้ร่างรัฐธรรมนูญและปฎิรูปไป 3 ปี เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากฉันทามติที่แท้จริงของประชาชน
ภาพรวมสิทธิเสรีภาพยังพอรับได้ แต่มาตรา 5 บททั่วไปสร้างซูเปอร์บอร์ดโดยไม่จำเป็น
โคทม เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามตินั้น ภาพรวมในเรื่องของสิทธิเสรีภาพ เป็นสิ่งที่พอจะยอมรับได้ แต่ก็ยังคงมีความเห็นท้วงติงอยู่บ้าง เช่น ในหมวด 3 ที่เขียนว่า ‘สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย’ อาจทำให้คิดได้ว่ามาตราต่างๆ ที่อยู่ภายใต้หมวดนี้จะให้หลักประกันเฉพาะบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น หากเป็นแรงงานต่างด้าว หรือชาวต่างชาติที่มาทัศนาจรอยู่ในประเทศไทย จะได้รับความคุ้มครองเพียงใด โคทมเห็นว่าสิทธิที่เป็นเรื่องพื้นฐานในลักษณะนี้ควรจะครอบคลุมบุคคลทุกคน
โคทม ชี้ต่อไปในมาตรา 25 ที่ระบุไว้ว่า การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความั่นคงของรัฐ การเขียนในลักษณะนี้อาจเป็นการเปิดช่องทางให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพโดยกฎหมายอื่นหรือไม่ แม้ว่าในมาตราถัดไปก็ได้ระบุว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพจะทำได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
“ดูเจตนาแล้วก็คงเป็นไปในทางที่ดี คงไม่ต้องการให้มีกฎหมายมาจำกัดสิทธิเสรีภาพมากนัก แล้วเปิดช่องว่างถ้าไม่มีกฎหมายห้ามก็สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมตีความในร่างกฎหมายว่าด้วยประชามติ ก็ยังไม่เห็นข้อความใดห้ามการรณรงค์เชิญชวนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้ลงมติไม่รับร่าง” โคทมกล่าว
หากดูจากร่างแรกรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 เปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปรับปรุงแก้ไขซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ในหมวดเรื่องสิทธิและเสรีภาพนั้น จะเห็นได้ว่ามีการเพิ่มเติ่มประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพเข้ามาหลายประการ หลังจากที่ร่างแรกถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จนมีหลายฝ่ายออกมาตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วเป็นเกมส์ทางการเมืองหรือไม่ที่ผู้ร่างต้องการให้มีการออกมาร้องขอเรื่องต่างๆ ในรัฐธรรมนูญจากฝั่งภาคประชาสังคมเพื่อเป็นหลักประกันว่าหากมีการบัญญัติเรื่องเหล่านั้นไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จะได้รับเสียงเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนนูญ โคทม เห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อย เพราะเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมไม่ได้มีอำนาจในการกดดันมากขนาดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างรัฐธรรมนูญ หลายๆ ประเด็นที่เพิ่มเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญเป็นการบัญญัติเพิ่มเข้ามาเองของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ มีบางส่วนที่มีการบัญญัติเพิ่มเติมมาให้หลังจากมีการเรียกร้อง เช่น มาตรา 41 เรื่องสิทธิชุมชน คือเขียนให้ชัดขึ้นว่า บุคคลหรือชุมชนมีสิทธิฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ และเพิ่มเติมไปอีกว่ามีสิทธิรับทราบข้อมูลข่าวสารสาธารณะของหน่วยงานรัฐ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เพิ่มเข้ามาหลังจากมีการเรียกร้อง รวมทั้งมาตรา 43 มาตรา 46 เรื่องสิทธิผู้บริโภค มาตรา 47 การบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน มาตรา 48 เรื่องสิทธิของแม่ก่อนและหลังการคลอดบุตร
“จริงๆ มีเพิ่มเข้ามา 3 ประเด็นหลักคือมาตรา 46 47 และ 48 ผมเข้าใจแต่เดิมมีอยู่ในหน้าที่ของรัฐ และเอามาย้ำว่าเป็นสิทธิเสรีภาพด้วย ฉะนั้นที่คุณบอกว่ามีการเพิ่มเติมเข้ามาใหญ่โต ผมมาเช็คดู มันก็เหมือนเก่าเป็นส่วนใหญ่” โคทมกล่าว
โคทม กล่าวต่อไปว่า หากดูเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพหลายคนมักจะมองว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติเอาไว้ได้ดีที่สุด คือมีการแบ่งเป็นสัดส่วน และเขียนเรื่องต่างๆ เอาไว้อย่างละเอียด แต่เขากลับเห็นว่า การเขียนกว้างๆ สั้นๆ นั้นดีกว่า แล้วเปิดพื้นที่ให้ได้ตีความตามหลักการเรื่องสิทธิเสรีภาพ
ส่วนที่เขาเห็นว่ามีปัญหาอยู่คือ มาตรา 49 ซึ่งเคยเป็นบาดแผลมาแล้วในมาตรา 68 เดิม(รัฐธรรมนูญ 2550) คือการให้บุคคลยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงหากเห็นว่ามีใครมาล้มล้างระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นการขยับให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลการเมืองมากขึ้น
“มาตรา 49 มันเกินไป ให้บทบาทกับศาลรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจใครก็ได้ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าเกิดใครไปฟ้องให้เลือกตั้งเป็นโมฆะเพราะมีการทุจริตการเลือกตั้ง จะทำอย่างไร จะคิดอะไรกันเกินไปขนาดนั้น เรื่องนี้ควรให้เป็นความผิดส่วนตัวไป มันมีกฎหมายเลือกตั้งอยู่แล้ว ไม่ต้องมาฟ้องว่าเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย” โคทมกล่าว
โคทมยังกล่าวถึงบททั่วไป มาตรา 5 ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการถกเถียงกันว่า เราไม่ต้องการซูเปอร์บอร์ดซึ่งก็คือ คณะบุคคลที่มีอำนาจตัดสินและมีอำนาจเหนือองคาพยพของรัฐ แต่ครั้งนี้กลับเขียนไว้ชัดเจนว่า ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระ เพื่อวินิจฉัยเมื่อเห็นว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับใช้
“ที่ประชุมร่วมกลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด ผลจะเป็นอย่างไรยังไม่รู้ เพราะยังไม่เคยใช้ และก็แก้ไม่ได้ด้วย ถ้าจะแก้ต้องไปประชามติก่อน” โคทมกล่าว
เรื่องนี้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าได้ให้อำนาจไว้กับศาลรัฐธรรมนูญเพียงองค์กรเดียวที่จะมีหน้าที่วินิจฉัย แต่สำหรับในร่างนี้ได้กระจายอำนาจการตัดสินใจไปสูงองค์กรต่างๆ เมื่อถามโคทมว่า ในหลักการแล้วองค์กรใดควรจะมีหน้าที่ตัดสินวินิจฉัยตามมาตรานี้ เขาเห็นว่า หากมีการเล่นการเมืองภายใต้กติกาประชาธิปไตยแล้ว กลไกทางการเมืองต่างๆ ที่มีอยู่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวมันเอง
“ผมว่ามันก็แก้ของมันไปได้เอง เราไม่ควรไปกังวัลว่ามันจะแก้ไม่ได้ ผมยกตัวอย่าง ครั้งที่แล้วบอกแก้ไม่ได้ เลือกตั้งไม่ได้ แต่หลังจากประกาศกฎอัยการศึกก็สลายการชุมนุมกันไปหมดแล้ว ถ้าจะจัดเลือกตั้งหลังจากนั้นก็สามารถกระทำได้ รัฐไม่ใช่ไม่มีอำนาจ แต่ตอนนั้นรัฐแบ่งเป็นฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ และตอนนั้นฝ่ายประจำคว่ำบาตรฝ่ายการเมืองก็แค่นั้นเอง คว่ำบาตรธรรมดาไม่พอ ยึดอำนาจเลย แล้วไปบอกว่าฉันต้องยึดอำนาจเพราะปัญหาบ้านเมืองมันแก้ไม่ได้ แต่ถ้าตอนนั้นฝ่ายประจำออกมาช่วยให้มีการจัดการเลือก มันก็มีการเลือกตั้งได้ มันไม่มีวิกฤตอะไรหรอก แต่เราไปทำให้มันเหมือนจะต้องมีบทบัญญัติพิเศษอะไรขึ้นมา แล้วบทบัญญัติพิเศษจะมาแก้คอร์รัปชั่น จะมาแก้วิกฤตการณ์ทางการเมือง มันไม่ได้ทั้งหมดหรอก ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าถ้าสังคมมีจิตสำนึกร่วม มันก็เคลื่อนไปข้างหน้า แต่ถ้ายังไม่มี มันก็จะขยับไปขยับมา ไม่รู้จะไปทางไหนดี” โคทมกล่าว
เห็นด้วยระบบเลือกตั้ง 'ระบบแบ่งสรรปันส่วนผสม' ยันรัฐบาลผสมไม่ใช่ปัญหา
โคทม เห็นด้วยที่จะมีการนำระบบการเลือกตั้งที่ กรธ. เรียกระบบดังกล่าว ‘ระบบแบ่งสรรปันส่วนผสม’ มาใช้ แต่ยังคงติดใจในชื่อเรียกที่ดูไม่เป็นวิชาการ เขาเห็นว่าระบบนี้ควรเรียกว่า ‘ระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกแบบผสม’ แทน โดยเหตุผลที่เห็นด้วยกับการนำระบบนี้มาใช้คือ สมมติว่ามีการใช้ระบบแบ่งเขตอย่างเดียว ยังไม่สนองความต้องการที่แท้จริงของประชาชน แต่สามารถทำให้เกิดการตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ
“ถ้าเป็นแบบแบ่งเขตอย่างเดียว ก็เป็นที่ทราบกันว่าโดยเฉลี่ย คะแนนนำกำชัยคือ 35 เปอร์เซ็นต์ คือผู้สมัครได้คะแนนจากเขตเลือกตั้งของตน 35 เปอร์เซ็นต์ก็อาจจะมาที่หนึ่ง ที่สองอาจจะ 30 ที่สามอาจจะ 20 อะไรก็ว่าไป แปลว่า 35 นี่กำชัย 65 นี่ปราชัยอยู่ใช่ไหม มันก็กลายเป็นการเสริมพรรคใหญ่ให้ตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ แต่ไม่ได้สัดส่วนกับคะแนนของประชาชน ฉะนั้นระบบสัดส่วนจะมาแก้ตรงนี้” โคทมกล่าว
โคทม กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันหากใช้ระบบสัดส่วนล้วนๆ ผลคือผู้บริหารหลักของพรรคที่เป็นคนจัดทำบัญชีรายชื่อก็จะกุมอำนาจ แล้วผู้สมัครของพรรคก็จะไม่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ตัวบุคคลไม่มีความหมาย เพราะแล้วแต่พรรคจะจัดอันดับให้ ประชาชนก็ไม่เห็นหน้าเห็นตา ไม่รู้จักผู้สมัคร แต่มีข้อดีตรงที่เคารพคะแนนนิยม เขาก็เลยคิดระบบผสม ซึ่งพยายามเอาความดีของทั้งสองระบบนี้มาประกอบกัน
โคทมอธิบายต่อถึงระบบการเลือกตั้งแบบผสมว่า มีหลักๆ อยู่ 2 ระบบ คือระบบผสมที่ใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นระบบผสมที่แยกกันระหว่างระบบแบ่งเขตกับระบบบัญชีรายชื่อ เป็นแบบคู่ขนาน ซึ่งไม่ได้แก้พื้นฐานหลักของประเด็นที่ว่าจำนวนที่นั่งของพรรคอาจจะไม่สอดคล้องกับคะแนนนิยม ตัวอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าพรรคใหญ่ได้เปรียบ เพราะยังได้ที่นั่งแบบแบ่งเขตเกินสัดส่วนของคะแนนนิยม ฉะนั้นการแก้ปัญหานี้ โดยการนำระบบเลือกตั้งแบบผสม ที่มีการคำนวณที่นั่งระหว่าง ผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อรวมกัน เมื่อได้จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเยอะแล้ว ส.ส. ที่ได้จากบัญชีรายชื่อก็น้อยลงตามสัดส่วน สุดท้ายก็จะได้สัดส่วนกับคะแนนนิยม พรรคการเมืองก็ต้องทำงานเต็มที่ ออกนโยบายให้ถูกใจประชาชน เพื่อว่าจะผ่านทั้งสองอย่าง
“ส่วนตัวผมยังชอบให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ แต่เขาไม่เอา เหตุผลที่เขาอธิบายผมก็ไม่เข้าใจ เราก็อย่ายึดมั่นถือมั่นในความคิดของเรา ระบบดี แต่วิธีการตรงนี้มันไม่จุใจนัก แต่ผมก็ยังเชียร์ระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกผสม ภาษาอังกฤษเรียกว่า MMP: Mix Member Proportional แปลตรงตัวก็คือระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกแบบผสม” โคทมกล่าว
ต่อข้อวิจารณ์ว่า หากให้ระบบการเลือกตั้งนี้ บวกกับกลไกอำนาจอื่นๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้รัฐบาลอ่อนแอมากๆ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ต้องเป็นรัฐบาลผสมเท่านั้น โคทมเห็นว่า เป็นเรื่องจริง แต่ปัญหาจริงๆ อยู่ที่รัฐบาลผสมของไทยที่เคยมีมาไม่มีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มาผสมรวมตัวกันเพื่อให้ได้ที่นั่งในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น ไม่ได้นำเอาแนวคิด หรือนโยบายของพรรคแต่ละพรรคมาผสมกลมกลืนกันด้วย อย่างรัฐบาลผสมก่อนหน้านี้ เหมือนกับเป็นการมอบสัมปทานกระทรวงให้แต่ละพรรคไปจัดการ
“สมมติได้ ส.ส. 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ ต้องรีบไปคว้าพรรคอื่นมาผสมเลย ให้ได้ ส.ส. สัก 55 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แต่จริงๆ ผมเห็น อย่างประเทศเยอรมนีที่ใช้ระบบนี้หรือการจัดตั้งรัฐบาลผสมในกรณีของรัฐบาลอังกฤษ ทั้งๆ ที่เขาใช้ระบบคะแนนนำกำชัย แต่เวลาเขาจะจัดตั้งรัฐบาลผสม เขาใช้เวลาเป็นเดือนในการคุยเรื่องนโยบายร่วมของรัฐบาล ถ้าเราจะมาร่วมกัน นโยบายที่คุณไปหาเสียงไว้ ซึ่งไม่ตรงกับนโยบายของฉัน ตรงไหนคือจุดร่วมที่จะรับกันได้ คุยกันนาน แล้วจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะว่ามันมีแบบแผนเดียวกัน”โคทม กล่าว
สำหรับกรณีการสรรหา ส.ว. โคทม เห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมองว่ากระบวนการเลือกตั้งใช้ไม่ได้ แม้การเลือกตั้งจะไม่ใช้กระบวนการที่ดีที่สุด แต่ในระยะยาวมันเป็นกระบวนการที่ไว้ใจได้มากกว่ากระบวนการอื่นๆ ถึงที่สุดแล้วต้องไว้วางใจประชาชน อย่าคิดไปเองว่าประชาชนคิดไม่เป็น
โคทม ระบุว่า วิธีที่ดีที่สุด ไม่ใช่วิธีที่บอกว่ามีผู้รู้ดี คอยคิดแทนทำแทนประชาชน ถึงแม้จะไม่ใช่รัฐบาลของประชาชน แต่ทำเพื่อประชาชน เขาเห็นว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่ถูกต้อง รัฐบาลต้องเป็นของประชาชนด้วย เพื่อประชาชน และโดยประชาชน ต้องมาทั้งสามองค์ประกอบ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการถ่วงดุลอำนาจทั้งสามด้าน อำนาจด้านของประชาชนโดยตรงที่เรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง ด้านของนักการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยตัวแทน และอำนาจของข้าราชการ สามอำนาจนี้อย่าให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจของตนเกินกว่าเหตุ
ในประเด็นเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ โคทมเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายมาเป็นศาลการเมือง แม้ในความเป็นจริงในต่างประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลการเมืองอยู่กลายๆ แต่ไม่ได้เข้ามาตัดสินมากเท่ากรณีของประเทศไทย ตั้งแต่เกิดกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวเรื่อยมา มีการใช้หมดทุกกระบวนท่าในการปราบทักษิณ กลายเป็นการช่วงชิงอำนาจกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญควรมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญถูกทำลายศาลก็ไม่ว่าอะไร
หากไม่ผ่านประชามติ เสนอหยิบ รธน. 40/50 มาใช้ สสร.ใหม่ยกร่าง 3 ปีสร้างฉันทามติ
ต่อกรณีข้อถกเถียงเรื่องทางออก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติจากประชาชนจะทำอย่างไรต่อไป โคทมเห็นว่า ควรนำรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 มาแก้ไขเท่าที่จำเป็น โดยเพิ่มในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้งบทเฉพาะกาลด้วย เพื่อเปิดช่องทางให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้น แล้วให้เวลา 3 ปี ในการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฎิรูป
“ผมถือว่าช่วงนี้เรารณรงค์ 2 เรื่องขนานกันไปเลย เรื่องที่ว่าขอให้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญให้ดี มีทั้งดีและไม่ดีอยู่ อย่าโฆษณาเกินจริง เห็นภาพด้านเดียว อีกเรื่องคือถ้ามันไม่ผ่าน จากวิกฤตให้เป็นโอกาส เลือกรัฐธรรมนูญที่พอมีความเห็นพ้องเป็นฐานอยู่แล้ว ปี 2540 หรือ 2550 แล้วเราก็เคยใช้มาแล้วด้วย แต่อาจจะมีประเด็นปัญหาที่ต้องปรับนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็กำหนดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรฉบับที่ 21 ขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ก็ใช้จัดเลือกตั้งไป ใช้บริหารราชการไป สามปีสี่ปี เราไม่ว่ากัน ซึ่งทำได้
“รัฐบาลที่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่ 4 ปี สสร.ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 3 ปี แต่สามปีนี้เรายังไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญทันที ให้มีบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญนี้ค่อยๆ ร่างไป พอมีรัฐธรรมนูญแล้วก็ปรับสักปีหนึ่งเพื่อให้มีกฎหมายลูกรองรับ พอเลือกตั้งคราวหน้าก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 มันก็จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย”
“ถ้าประชามติไม่ผ่าน แปลว่าการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองครั้งที่ใช้วิธีเอาผู้เชี่ยวชาญมาร่างไม่ถูกใจประชาชน ก็ไม่ควรเอาฉบับที่ไม่ถูกใจมาบังคับใช้ถาวร ผมคิดว่าไม่ควร เรามีเวลาแล้ว เราก็ปฏิรูป สร้างกติกาที่เป็นที่ยอมรับ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์พอสมควร ตรงนั้นแหละจึงจะเกิดการปรองดอง การเดินหน้า เกิดการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะประชาชนจะรู้สึกเป็นเจ้าของ”
“ขณะนี้บอกว่าต้องการเปลี่ยนผ่านๆ มันตีความไม่เหมือนกัน เปลี่ยนผ่านของผมต้องทะลุจากอำนาจนิยมไปสู่ประชาธิปไตย ผ่านไปสู่ระบบที่การเมืองมีการถ่วงดุลและมีคุณภาพมากกว่านี้ ผ่านไปสู่พลเมืองที่ตื่นตัวมากกว่านี้ ถึงจะผ่าน” โคทม กล่าว

หมายจับปริญญา นาคฉัตรีย์ เบี้ยวฟังฎีกา อดีต กกต.เอื้อ ทรท.จ้างพรรคเล็ก นัดใหม่ 3 มิ.ย.

หมายจับปริญญา นาคฉัตรีย์ เบี้ยวฟังฎีกา อดีต กกต.เอื้อ ทรท.จ้างพรรคเล็ก นัดใหม่ 3 มิ.ย.
Cr:ผู้จัดการ
ศาลนัดอ่านคำพิพากษาชั้นฎีกา คดี"สุเทพ"ฟ้อง"วาสนา เพิ่มลาภ"กับพวก กกต. ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สอบสวนคดีล่าช้า ทรท.จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งปี 49 "ปริญญา นาคฉัตรีย์"เบี้ยวนัด อ้างป่วย ศาลชี้เป็นการประวิงคดี สั่งปรับนายประกันเต็มจำนวน 1.2 แสนบาท พร้อมออกหมายจับมาฟังคำพิพากษา 3 มิ.ย.นี้
วันนี้(20 เม.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องพิจารณา 710 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ อ.1464/2549 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) , นายปริญญา นาคฉัตรีย์ , นายวีระชัย แนวบุญเนียร อดีต กกต. (เสียชีวิตแล้ว) เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 และ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 24 และ 42 กรณีที่ไม่เร่งสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ข้อร้องเรียนกล่าวหาพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างพรรคการแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ลงรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.49 โดยพลัน ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและการวินิจฉัย พ.ศ.2542 มาตรา 37 ,48 จำเลยให้การปฏิเสธ
โดยวันนี้ พล.ต.อ.วาสนา จำเลยที่ 1 เดินทางมาศาลพร้อมกลุ่มอดีต เจ้าหน้าที่ กกต.และ คนสนิท เกือบ 10 คน ขณะที่นายปริญญา จำเลยที่ 2 ไม่เดินทางมาศาล
ต่อมาเวลา 10.00 น. ศาลได้พิจารณาคดี เห็นว่า นายปริญญา จำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้ทนายความ ยื่นคำร้องขอเลื่อนนัด พร้อมใบรับรองแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ระบุจำเลยป่วยเป็นลำไส้อักเสบ เข้ารับการรักษาตัววันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ต่อเนื่องถึงวันนี้ แต่ในใบรับรองแพทย์ไม่แสดงว่าจำเลยที่ 2 ป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 มีลักษณะประวิงคดี จึงให้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษาอีกครั้งและปรับนายประกัน เต็มจำนวนหลักทรัพย์ประกัน 1.2 แสนบาท โดยให้ยกคำร้องขอเลื่อนนัดของจำเลยที่ 2
ส่วนที่นายสุเทพ โจทก์ ได้ยื่นคำร้องวันที่ 5 เม.ย. ขอถอนฟ้องคดีในส่วนของนายปริญญา จำเลยที่ 2 โดยอ้างเหตุไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอีกต่อไป ขณะเดียวกันจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำเลยนั้น ศาลได้ส่งคำร้องทั้งฉบับให้ศาลฎีกาพิจารณาเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา และวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ยังยื่นคำร้องอีกฉบับถึงศาลฎีกาให้เรียกสำนวนคดีคืนและให้ความเป็นธรรมจำเลยที่ 2 ด้วย ซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาคำร้องเสร็จสิ้นแล้ว โดยศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาฎีกาอีกครั้งในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ระหว่างที่ พล.ต.อ.วาสนา เดินเข้าศาลอาญา ซึ่งมีผู้สื่อข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ เพื่อติดตามทำข่าวและจะถ่ายภาพ ปรากฏว่า พล.ต.อ.วาสนา ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวและช่างภาพว่า ผมไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ หากถ่ายแล้วต้องรับผิดชอบด้วย เพราะผมไม่อนุญาตให้ถ่าย ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ห้องพิจารณาคดี ก่อนที่จะเสร็จสิ้นกระบวนพิจารณา พล.ต.อ.วาสนา ก็ได้พยายามแถลงต่อศาลเพื่อขอให้ศาลห้ามสื่อมวลชนถ่ายภาพด้วย
สำหรับคดีดังกล่าว ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.ย.49 ให้จำคุก พล.ต.อ.วาสนา , นายปริญญา และนายวีระชัย จำเลยที่ 1-3 คนละ 3 ปี ขณะที่ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี พร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคนละ 10 ปี ต่อมาวันที่ 14 พ.ค.51 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยระหว่างฎีกาคดีนายวีระชัย จำเลยที่ 3 ได้เสียชีวิตลง

กรณี"วัฒนา"บททดสอบความจริงใจของ คสช. ก่อนไปถึง 'ประชามติ'?


จากควบคุมตัววัฒนาสู่การจับกุมพลเมืองโต้กลับ: บททดสอบความจริงใจของ คสช. ก่อนไปถึง 'ประชามติ'
อ่านต่อที่ >>> http://freedom.ilaw.or.th/wattana
ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา ดูเหมือนว่าชื่อของวัฒนา เมืองสุข กำลังเป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นก็เพราะ เขาเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่มีชื่อปรากฎอยู่บนหน้าสื่อเป็นอันดับต้นๆ แต่ทว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเขาคือขาประจำที่ คสช. จะเรียกตัวเข้าค่ายทหาร ซึ่งที่ผ่านมาวัฒนาถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารอย่างน้อยสี่ครั้งและหลายครั้งมีสาเหตุมาจากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กส่วนตัว
อย่างไรก็ดี การควบคุมตัววัฒนาครั้งล่าสุด คือวันที่ 18 เมษายน 2559 และดูเหมือนว่าการควบคุมตัวครั้งนี้จะถูกประชาชนเพ่งเล็ง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ออกมาจัดกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจควบคุมตัววัฒนาเพียงเพราะว่าวัฒนาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจจากการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มพลเมืองโต้กลับก็คือ ท่าทีของ คสช. เพราะไม่ใช่แค่ไม่รับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ แต่ คสช. ยังจัดการกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องด้วยการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไปสถานีตำรวจเป็นการตอบแทน ถึงแม้ว่ากลุ่มพลเมืองโต้กลับจะถูกปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา แต่ทว่า มันก็เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณบางอย่างจาก คสช.
และท่าทีเหล่านี้คือจุดชี้ชะตา เพราะการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญกำลังใกล้เข้ามา อีกทั้ง คสช. จำเป็นต้องมั่นใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านเพื่อเป็นหลักประกันในความชอบธรรมของตนเอง ดังนั้น หากมีการรณรงค์ประชามติในแบบที่ คสช. ไม่ต้องการ คสช. จะจัดการกับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวด้วยวิธีที่ทวีความเข้มข้นกว่านี้หรือไม่

ประชามติปราบปรามทายท้าวิชามาร


2016-04-20 07:07:00

ใบตองแห้ง

การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแทนที่จะเป็นช่วงผ่อนคลายเปิดให้แสดงความเห็น กลับกลายเป็นช่วงหวงห้ามจับกุมปราบปรามความเห็นต่างหรืออย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดเสียงเดียวกันว่าที่นักวิชาการออกมาประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้า พ.ร.บ.ประชามติประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วทำไม่ได้ ถือเป็น

การรณรงค์มีโทษจำคุก 10 ปี ไม่กลัวก็ตามใจ ใครใส่เสื้อ Vote No หรือ Vote Yes ก็ไม่ได้ กฎหมายออกมาเมื่อไหร่โดนหมด รวมทั้งนักวิจารณ์

ฟังแล้วก็ประหลาดใจ นี่กฎหมายประชามติกลายเป็นกฎหมายปิดปากหรือไร มีอย่างที่ไหนทำประชามติไม่ให้แสดงความเห็น งั้นจะเสียเงิน 3 พันล้านบาทไปทำไม ประกาศใช้เองไม่ดีหรือ

ที่ประหลาดไปกว่านั้น คือรองนายกฯ มือกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ก็เพิ่งพูดหลัดๆ ว่าเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองแสดงความเห็นได้ ไม่เข้าข่ายความผิด

“ความผิดฐานชี้นำมันไม่มีว่าจะชี้นำได้หรือไม่ได้ เพียงแต่ถ้าชี้นำโดยให้สัญญา บิดเบือน หลอกล่อ ก็จะมีความผิด” วิษณุพูดชัดว่าที่นักวิชาการชี้จุดอ่อนเป็นข้อๆ ถือเป็นการแสดงออกที่มีเหตุผล

ก่อนหน้านี้วิษณุก็พูดอีกว่า ถ้าหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามมาตรา 61 เช่น พูดในสิ่งที่ไม่เป็นความเท็จ ไม่ใช่คำหยาบคาย ไม่ยั่วยุให้เกิดความแตกแยก และเป็นความเห็นของตัวเองก็ทำได้ แม้ยังไม่สามารถ

ชี้ขาดว่าพูดแบบไหนไม่ผิด แต่อะไรที่สุจริตใจ ตรงไปตรงมา สามารถทำได้ เพราะในการประชุมร่วมกับกกต.ได้ยกตัวอย่างถึงขนาดติดเข็ม ติดเหรียญ แสดงธงว่ารับหรือไม่รับ สามารถทำได้

ประหลาดนะครับ วิษณุบอกว่าติดเข็ม ติดเหรียญ แสดงธง ทำได้ แต่นายกฯ บอกว่าใส่เสื้อ Vote No, Vote Yes ไม่ได้ จะให้ชาวบ้านเชื่อใคร เชื่อรองนายกฯ มือกฎหมาย หรือเชื่อนายกฯ เพราะวาจา

ท่านคือกฎหมาย?

หรือเอาง่ายๆ ว่า ใส่เสื้อไม่ได้ แต่ติดเข็มติดเหรียญปักธงหน้าบ้านได้ จะได้ถูกทั้งคู่

ทั้งที่ดูมาตรา 7 พ.ร.บ.ประชามติที่ สนช.ถกเถียงกันจนได้ข้อสรุปว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย”

ก็น่าจะชัดเจนอยู่ว่าทุกคนสามารถแสดงตนแสดงเหตุผลว่ารับไม่รับ และเผยแพร่ความคิดเห็นได้ ตราบใดที่ไม่ได้ “ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หลอกหลวง บังคับ ขู่เข็ญ พนัน รับ เรียกรับประโยชน์” หรือ

“ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว ก่อความวุ่นวาย”

แน่ล่ะ ตัว พ.ร.บ.ประชามติมีปัญหาตั้งแต่ต้น ที่บอกว่าเผยแพร่ความเห็นได้แต่ห้ามรณรงค์ ไม่รู้จะแปลว่าอะไร แล้วก็ให้ กรธ.มีหน้าที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ สนช.มีหน้าที่ชี้แจงคำถามพ่วง แต่ห้าม

ชักชวนรับไม่รับ ตลกสิครับ คนร่างมากับมือก็ต้องบอกว่าของตัวเองดีทุกอย่าง ให้พูดข้างเดียวห้ามคนอื่นค้าน แค่ไม่บอกให้ประชาชนรับ มันต่างกันตรงไหน

การกำหนดข้อห้ามมากมายก็เปิดช่องให้รัฐบาลใช้อำนาจตีความ แม้สุดท้ายเป็นอำนาจศาล แต่กว่าศาลจะชี้ขาด คนใส่เสื้อ ติดเข็ม ติดเหรียญ ปักธง ก็โดนจับไปแล้ว

กระนั้น การใช้อำนาจตีความของรัฐถ้าตีขลุมกว้างขวาง กลายเป็นมุ่งปราบปรามคนเคลื่อนไหวไม่รับร่าง ก็ระวังนะครับ การทำประชามติจะกลายเป็น“ชนวน” เสียก่อนลงประชามติ หรือไม่ก็กลาย

เป็นกระแสตีกลับให้คนไม่ยอมรับประชามติไปเสีย
/////////
กฎหมายประชามติกลายเป็นกฎหมายปิดปาก? พูดว่าไม่รับก็ไม่ได้ ใส่เสื้อ Vote No Vote Yes ก็ไม่ได้ คุก 10 ปี ห้ามเคลื่อนไหวห้ามวิพากษ์วิจารณ์? นี่จะทำประชามติหรือจะปิดประเทศปราบคน

เห็นต่าง ประยุทธ์ ประวิตร ตีความต่างจากวิษณุคนละโลก วิษณุบอกพูดได้ แสดงเหตุผลได้ ติดเข็มติดเหรียญติดธงได้ แต่ประยุทธ์ห้ามใส่เสื้อ แล้วจะเชื่อใคร วิษณุคือนักตีความกฎหมาย แต่

ประยุทธ์คือกฎหมาย
ตัวกฎหมายเองก็วิบัติ บอกว่ามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ แต่ไม่ให้รณรงค์ ถ้าโดนกล่าวหาว่าผิดข้อเท็จจริง รุนแรง ก้าวร้าว ก่อความวุ่นวาย ก็ขึ้นศาล กว่าศาลจะตัดสินก็ไม่มี

ใครกล้าพูด ขณะที่ กรธ. สนช. มีอำนาจชี้แจงข้างเดียว อ้างว่าชี้แจง ไม่บอกให้รับไม่รับ พ่อ-ร่างมากับมือใครจะบอกว่าของตัวเองไม่ดี ก็มีแต่ดีอย่างเดียว ใครค้านไม่ได้ สมเจตน์ บุญถนอม ก็ชี้หน้า

พลเมืองโต้กลับว่าทำผิดกฎหมาย
มันไม่ใช่การหาทางลง หาทางออกแล้ว แต่ประชามติจะกลายเป็น "สงครามการเมือง"

“บิ๊กตู่” ใช้ ม.44 !เด้ง “วิมล จันทรโรทัย” พ้นอธิบดีกรมประมง !!!



เมื่อวันที่ 20 เม.ย. มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 เม.ย.2559 เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2559 เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง เพื่อให้การปฏิรูปการบริหารราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้นายวิมล จันทรโรทัย ตําแหน่ง อธิบดีกรมประมง ขาดจากตําแหน่งหน้าที่ และอัตราเงินเดือนเดิม เพื่อย้ายหรือโอนไปแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจําสํานักนายกรัฐมนตรีตามกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ที่จัดให้มีขึ้นในสํานักนายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 แห่งคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2558
ข้อ 2 ให้ นายอดิศร พร้อมเทพ พ้นจากตําแหน่ง รองอธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ และให้ดํารงตําแหน่ง อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ข้อ 3 ให้ข้าราชการตามข้อ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามตําแหน่งข้างต้นตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ เป็นต้นไป
ข้อ 4 ให้สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สํานักงบประมาณ และส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้อง ดําเนินการเกี่ยวกับตําแหน่ง และอัตราเงินเดือนของข้าราชการดังกล่าวให้เรียบร้อยโดยด่วน และให้นายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการให้ดํารงตําแหน่ง หรือพ้นจากตําแหน่ง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ข้อ 5 คําสั่งนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 20 เมษายน พุทธศักราช 2559 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
.................
ที่มา : khaosod