PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

แบโผดวลชื่อนายกฯ!

มาตามนัด โดยพร้อมเพรียง
กระแสบีบ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สละเก้าอี้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ไล่หลังมาทันทีภายหลังการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และกำหนดฤกษ์กาบัตรลงคะแนนในวันที่ 24 มี.ค.2562
พรรคใหญ่ พรรคเล็กประสานเสียงกดดัน “ลุงตู่” โชว์สปิริตไขก๊อก ข้ามช็อตในคิวที่ 4 กุมารค่ายพลังประชารัฐยังไม่ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี
ดักคอกันล่วงหน้าในซีนที่รู้ๆกันอยู่ “ลุงตู่” เตรียมสลัดยูนิฟอร์มกรรมการกลายมาเป็นผู้เล่นตีตั๋วไปต่อในสนามการเมืองแน่
ตามสัญญาณจาก นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะประกาศความชัดเจนรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคในสัปดาห์หน้า ตบมุกหยอดท้ายจะมีเสียงเฮคนทั้งประเทศตามมา
ออกตัวโปรโมตดังๆถึงขนาดนี้ คงเดากันไม่ยาก ถึงอย่างไรชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ติดโผเบอร์หนึ่งบัญชีนายกฯของค่ายพลังประชารัฐแน่ แม้เจ้าตัวจะยังไม่ตกลงปลงใจอย่างเป็นทางการ
แต่ที่จะได้พ่วงตามมาด้วยคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของ “ลุงตู่” ที่จะติดชาร์ต 1 ใน 3 ถูกชูเป็นนายกรัฐมนตรีในสังกัดพรรคน้องใหม่
ฟอร์มทีมลงตัวมี “บิ๊กตู่” อยู่หัวแถว นายอุตตมเป็นเบอร์ 2 ในโควตาหัวหน้าพรรค และ “สมคิด” คัดท้ายลำดับ 3
จัดแพ็กเกจใหญ่เลือก “ลุงตู่” ได้ “สมคิด” พ่วงมาด้วย เป็นสัญลักษณ์สร้างความมั่นใจด้านความมั่นคง และขายความต่อเนื่องทางเศรษฐกิจที่เมกะโปรเจกต์ต่างๆที่วางรากฐานไว้จะได้รับการสานต่อ
โดยมีนายสมคิดเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่าง “บิ๊กตู่” กับพรรคพลังประชารัฐ
ค่ายน้องใหม่เพียบพร้อมทั้งกระแสและกระสุน และยังมีความเก๋าจากพวกรุ่นใหญ่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-สมศักดิ์ เทพสุทิน” ช่วยประคอง
วางเป้าหมายกวาด ส.ส.ให้ได้ตามเป้า 150 ที่นั่ง ไม่ถึงขั้นชนะเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับ 1 แค่หยุดพรรคเพื่อไทยไม่ให้กวาดผู้แทนแบบแลนด์สไลด์
ประเมินทิศทางแล้ว พลังประชารัฐมีความพร้อมลงตัวมากกว่าพรรคอื่นๆ
ผิดกับฝั่งคู่แข่งสำคัญ พรรคเพื่อไทยที่ยังสู้กันฝุ่นตลบ ต้องลุ้นชิงดำระหว่าง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” กับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ใครจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่คนแดนไกลทุบโต๊ะให้อยู่ในบัญชีเบอร์ 1 นายกรัฐมนตรี
ขณะที่พรรคเครือข่ายนายใหญ่อย่าง “ไทยรักษาชาติ” ก็แบโผส่งชื่อ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค กับ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรค เป็นตัวชูโรง
ฟากพรรคประชาธิปัตย์ยังคงใช้บริการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ส่งเป็นหัวหอกชื่อเดียวชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับพรรคขนาดกลาง อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติไทย พรรคภูมิใจไทย ต่างเริ่มทยอยเปิดตัวคนถือธงนำ
แต่ละพรรคเริ่มเฉลยข้อสอบเปิดตัวแคนดิเดตผู้นำ ดวลชื่อนายกฯกันสนุก
สถานการณ์เดินเข้าสู่โหมดตะลุมบอนหาเสียงสู้กันเต็มอัตราศึก ภายใต้การยกการ์ดสูงระวังตัวเต็มที่ ตามเงื่อนไขกติกาเลือกตั้งฉบับใหม่ หลายเรื่องมีความละเอียดอ่อน
โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียลมีเดียหาเสียงที่มีการควบคุมเข้มข้น มีรายละเอียดหยุมหยิมยุ่งยาก ถึงขั้นต้องแจกแจงรายละเอียดการหาเสียงในโลกโซเชียลต่อ กกต.ทุกอย่าง
สุ่มเสี่ยงตายน้ำตื้นกันได้ง่ายๆ ถ้าพลาดท่าขึ้นมา
อย่างที่เห็นอาการวิตกของบรรดาคีย์แมนและผู้สมัครหลายคนพากันหยุดเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียล พักรบการสื่อสารในเฟซบุ๊ก เลิกทวีตกันเป็นทิวแถว
ผวาตกเป็นเหยื่อสังเวยกติกาใหม่ที่ไม่รู้จะไปเข้าเหลี่ยมผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่
ยังไม่นับรวมกรณีการรีบเก็บแผ่นป้ายหาเสียงที่นักการเมืองเร่งติดล่วงหน้าโดยที่ กกต.ยังไม่อนุญาต หรือกรณีจัดตั้งสาขาพรรคให้ครบตามเงื่อนไขที่ตามข้อมูลจาก กกต. ขณะนี้มีแค่ 2 พรรคการเมืองเท่านั้นดำเนินการถูกต้อง
หลายพรรคลนลานเร่งดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคให้ทันก่อนถึงวันรับสมัคร ส.ส.
ระเบียบปฏิบัติหาเสียงเปลี่ยนแปลงไป สวนทางความเคยชินในอดีต นักเลือกตั้งบ่นอุบสร้างความยุ่งยากมากมาย ทำลายบรรยากาศหาเสียงแบบเดิมๆ
เตรียมตัวมายาวนาน พลาดท่าแค่นิดเดียว มีสิทธิตกม้าตายทันที.
ทีมข่าวการเมือง

'บิ๊กตู่'ยังเต็งพปชร.เสนอชื่อเป็นนายกฯ

28 ม.ค.62-  มีรายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แจ้งว่า สำหรับบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกฯ ซึ่งจะต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายในวันที่ 8 ก.พ.นี้นั้น เบื้องต้นจะยังใช้โควตา 3 คน เต็มจำนวนตามกฎหมาย 
โดยเบอร์หนึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการประชุมของคณะกรรมการบริหารพรรคก่อน จากนั้นจะมีการทาบทามอย่างเป็นทางการ 
ส่วนเบอร์สอง จะเป็นนายอุตตม สาวนายน ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. และเบอร์สามคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีภาพลักษณ์ในมิติเศรษฐกิจ และถูกวางตัวให้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หากพรรค พปชร.ได้เป็นรัฐบาล.

เริ่มแล้ว! กกต.เปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้แล้ว! ถึงวันที่ 19 ก.พ. นี้

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้แล้ว ผ่านเว็บไซค์ http://www.khonthai.com/TH/ ตั้งแต่วันนี้ (28 ม.ค.) จนถึงวันที่ 19 ก.พ. 2562 เวลา 24.00 น. โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขต ตลอดจนการขอใช้สิทธินอกราชอาณาจักรได้ 
ซึ่งหลังจากลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กำหนดวันและเวลาสำหรับออกเสียงลงคะเเนนก่อนวันเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค. 2562 ออกเสียงได้ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น. 
ด้านเพจ Royal Thai Embassy, London UK โพสต์แจ้งประชาชนที่อยู่ในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์สามารถลงทะเบียนเลือกตั้งได้ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์เดียวกันนี้ หรือ http://www.khonthai.com/TH/ จึงขอให้เตรียมบัตรประชาชนและพาสปอร์ตไว้ให้พร้อม
ท่านสามารถติดตามข่าวสารทางเพจเฟซบุ๊กได้ที่ : สำนักประชาสัมพันธ์ กกต.

คุย5ชม.ปิดจ๊อบไม่ลง!รฟท.เลื่อนเซ็นสัญญารถไฟเชื่อม3สนามบิน

คุย5ชม.ปิดจ๊อบไม่ลง!รฟท.เลื่อนเซ็นสัญญารถไฟเชื่อม3สนามบิน

28 ม.ค.62 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)กล่าวว่า จากกการที่ รฟท.นัดเจรจาเงื่อนไขสัญญากับกลุ่มซีพี หรือกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งใช้เวลาร่วม 5 ชั่วโมง แต่ยังไม่เสร็จ เนื่องจากรายละเอียดของสัญญามีกว่า 200 หน้า ซึ่งมีรายละเอียดที่สำคัญจะต้องพิจารณาประมาณ 30-40 ข้อ รวมถึงรายละเอียดปลีกย่อยในข้อความของสัญญา จึงยังต้องใช้เวลาเจรจาพูดคุย ในวันนี้ถือว่ามีความคืบหน้า มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลรายละเอียดต่างๆแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด ซึ่งจะมีการนัดเจรจากันอีกครั้ง วันที่ 1 ก.พ.62

ทั้งนี้ จากกำหนดเดิมที่เคยวางไว้ว่าจะมีการลงนามสัญญาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินวันที่ 31 ม.ค.62  ไม่สามารถทำได้ตามแผน เนื่องจากมีข้อพิจารณาและเจรจาจำนวนมาก ดังนั้นได้วางกรอบขั้นตอนใหม่โดยจะเจรจาเสร็จกลางเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นจะยื่นสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาและส่งต่อคณะกรรมการอีอีซีและ ครม.ต่อไป คาดว่าเดือนมีนาคมจะสามารถลงนามเซ็นสัญญาได้

ชาวเบตงลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งในเขต-นอกเขต ล่วงหน้า

ประชาชนในอ.เบตง จ.ยะลาตื่นตัว เริ่มลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งในเขต-นอกเขต ล่วงหน้าแล้ว ตลอดจนการใช้สิทธินอกราชอาณาจักรผ่านทางเว็บไซต์ election.bora.dopa.go.th  แล้วตั้งแต่วันนี้ –19 ก.พ.
28 ม.ค. 62 ที่สำนักงานทะเบียนราษฎร เทศบาลเมืองเบตง  ประชาชนใน อ.เบตง จ.ยะลา ตื่นตัวกันมาก เริ่มลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งในเขต-นอกเขต ล่วงหน้าแล้ว หลังจากคณะกรรมการเลือกตั้ง ได้มีการเปิดให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งในเขตและนอกเขต ตลอดจนการใช้สิทธินอกราชอาณาจักรแล้วทางอินเทอร์เน็ต โดยสามารถเข้าไปกรอกข้อมูลยื่นใช้สิทธิได้ที่ election.bora.dopa.go.th  ตั้งแต่วันนี้ (28 ม.ค.) ถึง 19 ก.พ. 2562 (ก่อน 24.00 น.)
นายนิพล จันทนะ ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น สำนักงานทะเบียนราษฎร เทศบาลเมืองเบตง กล่าวว่า สำนักงานทะเบียนราษฎรได้เตรียมความพร้อมทั้งสถานที่เอกสารและบุคคลากร ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาติดต่อขอใช้สิทธิอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้อำเภอเบตงเป็นพื้นที่ๆมีประชากร จากหลากหลายภูมิภาคของประเทศเข้ามาทำงาน ด้วยสภาพที่เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงคาดว่าน่าจะมีผู้สนใจลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าและนอกเขตอย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้หากประชาชนไม่สะดวกในการลงทะเบียนยื่นคำขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตผ่านทางเว็บไซต์ สามารถไปยื่นคำขอลงทะเบียต่อหน้านายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น ในเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ หรือเขตเลือกตั้งที่ประสงค์ลงคะแนน โดยเอกสารที่ต้องนำไปยื่น คือ สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่าย ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต/วีซ่า เป็นต้น
ส่วนการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ วันที่ 17 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งล่วงหน้า  ณ ที่เลือกตั้งกลาง ทั้งในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง รวมไปถึงคนพิการหรือทุพพลภาพหรือผู้สูงอายุ โดยกำหนดให้เปิดการออกเสียงลงคะแนน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ขณะที่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4 -16 มีนาคม 2562 สำหรับสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลางนอกเขตสามารถเข้าไปตรวจสถานที่ได้ตามลิงค์ดังนี้ สถานที่ลงคะแนนเลือกตงั้กลางนอกเขตเลือกตั้ง

แล้วใครฆ่า 'สุรชัย แซ่ด่าน'?


แล้วใครฆ่า 'สุรชัย แซ่ด่าน'?  

28 มกราคม พ.ศ. 2562 เวลา 00:01 น. 
วันนี้......
    "กระตุกต่อมคิด" กันสักเล็กน้อย เผื่อไว้..เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อสถานการณ์
    คือ ช่วงนี้ มีเหตุ "ชวนพินิจ" สองเรื่อง
    เรื่องแรก "นายเอกชัย หงส์กังวาน" นักเคลื่อนไหวเครือข่ายแดงทักษิณ "ถูกทำร้าย" 
    หลายวันก่อน ไปแจ้งความตำรวจชนะสงคราม ว่าถูกชายฉกรรจ์ชกหน้า หลังเดินรณรงค์ "ไม่เลื่อนเลือกตั้ง" ที่ถนนข้าวสาร 
    และเมื่อวาน (๒๗ ม.ค.)
    ก็ไปแจ้งตำรวจลาดพร้าวอีกว่า มีคนเผารถของเขาที่จอดอยู่หน้าบ้าน
    นี่ก็เรื่องหนึ่งละ........
    ยังมีเรื่องที่เปราะบางต่อการอาจถูก "บางคน" นำไปสร้างประเด็น "บิดเบือน" ในมุมปะทะต่อบ้านเมือง
    นั่นคือ เรื่อง "นายสุรชัย แซ่ด่าน" แดงระบอบทักษิณ ที่หลบไปตั้งขบวนการ "ล้มสถาบัน" อยู่ในประเทศลาว
    มีข่าวว่า "หายตัวไป" พร้อมสมุนอีก ๒ คน!
    แต่เมื่อ ๒๗ ธ.ค.๖๑ มีคนพบศพ ๒ ศพ ลอยมาติดริมตลิ่งใกล้ "ตลาดนัดไทย-ลาว" หลังเทศบาล  อ.ธาตุพนม จ.นครพนม 
    ตรวจพิสูจน์แล้ว 
    ๒ ศพนั้น เป็นสมุนนายสุรชัย ที่หายไปพร้อมกัน!
    ส่วน "นายสุรชัย" ยังไม่มีหลักฐานยืนยันการอยู่-การตาย แต่ "นางปราณี" ผู้เป็นภรรยาบอกนักข่าว ว่า
    "นายสุรชัยน่าจะถูกสังหารและทำลายศพแล้ว" 
    และว่า "รู้สึกสิ้นหวังที่จะพบตัวสามี"
    เมื่อตำรวจยืนยัน สองศพที่พบที่นครพนม คือคนสนิทของนายสุรชัย!
    นี่คร่าวๆ จาก ๒ เรื่องราว ของตัวบุคคลเครือข่ายระบอบทักษิณ เดินสู่ "เป้าหมายเดียว" กัน แต่ต่างบทบาท-ต่างสถานที่กัน
    ทุกท่านก็ทราบ.....
    ขณะนี้ บ้านเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง มองเผินๆ เลือกตั้งจะได้ประชาธิปไตย ได้ ส.ส., ได้นายกฯ, ได้รัฐบาล
    ก็ใช่ 
    แต่เลือกตั้งครั้งนี้ "เดิมพัน" เหนือกว่านั้น ประชาธิปไตยน่ะ แค่ใบตองรองพาน
    เนื้อหาหลักคือ เลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจะชี้ขาด
    ให้ "ระบอบทักษิณ" มีอยู่
    หรือให้ระบอบทักษิณ "สูญพันธุ์" ไปจากอำนาจกินบ้าน-ครองเมือง?
    สรุปแล้ว เลือกตั้งหนนี้ ไม่ใช่คำตอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นคำตอบการอยู่-การพินาศของระบอบทักษิณ ในวงจรอำนาจครองเมืองโดยตรง
    เมื่อเหรียญที่ปั่นยังหมุน ไม่รู้ออกหัว-ออกก้อย 
    ดังนั้น......
    คำว่า "เงื่อนไข" จำเป็นมาก ที่ต้องสร้างไว้เพื่อการต่อรองและต่อเรื่อง!
    คิดกันเล่นๆ บทบาท "ประชาธิปไตยข้างถนน" ของนายเอกชัย เพิ่งมี หรือว่ามีมานานหลายปีแล้ว?
    ตอบได้ทันที มีมานานและมีมาตลอด!
    โดยเฉพาะกับกองทัพ หลายครั้ง นายเอกชัยทำเหมือนยั่วให้ทหารโกรธ แล้วลุแก่อำนาจลงไม้-ลงมือ ซึ่งนั่นจะเข้าล็อกคำว่า "ยุคเผด็จการทหาร"
    แต่เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ชิน...ไม่ตกหลุมพราง มุกนายเอกชัยจึงเป็น "มุกแป้ก" มาตลอด
    สรุปก็คือ ทหารเขาเจอมาเยอะแล้ว 
    ทีนี้มาถึงเรื่องนายสุรชัย......
    ผู้ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
    เคยฆ่าตำรวจ ปล้นรถไฟ เผาศาลากลาง ติดคุก โทษประหารชีวิต ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อปี ๒๕๓๑
    ต่อมา ติดคุกอีก ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อปี ๒๕๕๖
    เคยอยู่พรรคความหวังใหม่ ของพลเอกชวลิต พรรคไทยรักไทย ของทักษิณ และตั้งกลุ่ม "แดงสยาม" กับจักรภพ เพ็ญแข
    เมื่อคณะ คสช.เข้าควบคุมอำนาจปกครองประเทศ เมื่อ ๒๒ พฤษภา ๕๗ นายสุรชัยมีบทบาทขัดขืนคำสั่ง คสช.ถูกหมายจับ
    จากนั้น ก็หนีเข้าลาว.....
    ตั้งขบวนการใต้ดิน-บนดินก่อกวนประเทศและมุ่งร้ายต่อสถาบัน ร่วมกับแดงระบอบทักษิณที่หลบหนีไปเคลื่อนไหวอยู่ก่อนแล้ว
    การตายของกลุ่มนายสุรชัยนี้แหละ เปราะบาง พร้อมใช้เป็นประเด็น-เป็นเชื้อ "สร้างเงื่อนไข" นำไปสู่สถานการณ์ที่ต้องการของคนบางพวกได้
    ผมจึงอยากเตือนสติในการเสพข่าวสารนี้ เพราะเริ่มมีบางคนเบี่ยงประเด็นไปทำนอง "หน่วยลับ-หน่วยแจ้ง" รู้เห็น
    ตอนนี้ คล้ายๆ "แปะประเด็น" ให้ฉงนกันไว้ รอดูผลเลือกตั้งก่อน ประมาณนั้น 
    ก็ต้องระวัง เรื่องที่แปะไว้นี้ อาจถูกนำไปขยายเป็นข้ออ้างไปเรียก "นอกชาติ" เข้ามาแทรก
    อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้ดูที่ "เวเนซุเอลา" วันนี้เป็นอุทาหรณ์
    แต่เรื่องนายสุรชัย ต้องทึกทักแถลงการณ์นายแบรด อดัมส์ "ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรต์วอตช์" เป็นหลักฐานเลย
    คือ ฮิวแมนไรต์วอตช์ เขาออกแถลงการณ์ว่า.....
    “ดูเหมือนว่ารัฐบาลลาว จงใจปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการลักพาตัวและการสังหารนักเคลื่อนไหวจากไทยอย่างโหดเหี้ยม
    ทางการลาวต้องสอบสวนอย่างน่าเชื่อถือ และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีอันโหดเหี้ยมนี้ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลอย่างมากต่อชะตากรรมของนักเคลื่อนไหวจากไทยที่ลี้ภัยในลาว 
    รัฐบาลลาวไม่ได้สอบสวนอย่างจริงจังต่อการหายตัวไปก่อนหน้านี้ ของนักเคลื่อนไหวต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อาศัยอยู่ในเวียงจันทน์ 
    ได้แก่ อิทธิพล สุขแป้น (ดีเจเบียร์) ที่หายตัวไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ และวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) ที่หายตัวไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐” 
    ครับ...
    ใครที่จะเบี่ยงประเด็น อ่านให้ดี "ฮิวแมนไรต์วอตช์" ระบุเป็นเรื่องในลาว ที่ทางการลาวจะสอบสวน
    ไทยไม่เกี่ยว!
    ฉะนั้น อย่าพูด อย่าเขียน เป็นทำนองว่าฝ่ายไทยส่งใครลอบไปทำ หรือไปรู้เห็นกับคนในลาวทำเป็นอันขาด
    อยากรู้กันใช่ไหม ว่าใครฆ่านายสุรชัย?
    อยากรู้ ต้องอ่าน "รมย์ชลี สินสืบผล" หรือแยมมี่ "วงไฟเย็น" ผู้ร่วมขบวนการฝั่งลาวด้วยกัน เขาโพสต์เฟซระบายไว้ตอนหนึ่ง ว่า
    2.กรณีโกตี๋ ปี 2560
    พอพูดถึงกรณีนี้ เป็นกรณีที่มีดีเทลเยอะมาก่อนการหายตัวไป ซึ่งหลายๆ คนจะทราบดี 
    ก่อนหน้านั้น แยมอยู่รวมกันกับองค์การสหพันธรัฐไท โดยลุงสนามหลวงเป็นแกนหลัก ซึ่งมีโกตี๋รวมอยู่ด้วย เรื่องดีเทลของการแยกย้ายกัน แยมไม่ขอพูดถึง....ฯลฯ.....
    แยมกับขุนทองแยกตัวออกมาจัดรายการอีกทีนึงไม่กี่วัน ก็มีข่าวจากสหายเผด็จแจ้งกับลุงสนามหลวงว่าโกตี๋โดนอุ้ม 
    เนื่องด้วยตอนนั้น มันมีดีเทลเยอะอย่างที่บอกไป แยมจึงยังไม่ปักใจเชื่อ ยัง 50/50 เพราะในตอนนั้นแยมจะฟันธงก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบที่เกิดเหตุและหาข้อสรุปได้เหมือนกรณีดีเจซุนโฮ 
    แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถไปตรวจสอบได้ เพราะเขาแจ้งว่า "ลุงสนามหลวงไม่ให้ความร่วมมือ" ติดต่อไม่ได้ แยมก็ไม่รู้จะตัดสินใจยังไง...ฯลฯ....
    จนเวลาผ่านไปนาน ไม่มีวี่แววของโกตี๋ แยมก็คิดขึ้นมาอีกครั้งและคุยกับเพื่อนๆ วงไฟเย็นว่า ถ้าหากโกตี๋โดนอุ้มไปแล้วจริงๆ ใครคือคนที่น่าสงสัยที่สุด 
    เรามีการพูดคุยถึงเรื่องนี้กันอีกครั้ง แต่ไม่พูดออกสาธารณะ เพราะอย่างที่บอกไป 
    ตอนนี้ มวลชนใต้ดินซัดกันนัว เลยไม่อยากให้เป็นกระแสความขัดแย้งอีก วันเวลาก็ผ่านไปอีก 1 ปี  มันเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3
    3.กรณี อาจารย์สุรชัย สหายกาสะลอง สหายภูชนะ ปี 2561
    ช่วงเวลา 1 ปี แยมสังเกตเห็นแล้วว่า มันเป็นระยะเวลานานพอสำหรับการปรับตัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายๆ คนหลุดออกจากความหวาดกลัวที่ผ่านมาเมื่อปีที่แล้ว แยมเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตปกติแบบลืมบรรยากาศที่น่ากลัวเหมือนตอนมีข่าวช่วงแรกๆ ไปแล้ว ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นอีก 
    แต่ครั้งนี้ มันอุกอาจ มันมีเบาะแส และข้อมูลยืนยันชัดกว่า 2 กรณีแรกมาก 
    ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของดีเอ็นเอที่ยืนยันออกมาชัดเจนแล้ว และบุคคลกลุ่มสุดท้าย ก่อนที่อาจารย์หายตัวไป และการวิเคราะห์ของเจ้าหน้าที่ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่สามารถปิดปากแยมได้อีก 
    และ 4 ปี แยมคิดว่า แยมพร้อมรับความเสี่ยงในการตัดสินใจครั้งนี้ได้
    แยมไม่อาจเก็บความรู้สึกได้อีกต่อไป เพราะถ้านิ่งเฉยกันอีก ปีหน้าคงเป็นคิวพวกเราวงไฟเย็นและคนอื่นๆ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน...ฯลฯ...
    ครับ....
    อ่านแล้วพอมองเห็นใช่ไหมว่า "พวกไหน..ฆ่าสุรชัย?"
    ถ้าไม่รู้ ก็ต้องไปถาม
    "ลุงสนามหลวง" คนนั้นแหละ!

บิ๊กแดง'กำชับดูแลภาพรวมของประเทศให้มีความเรียบร้อย เตรียมงานพระราชพิธี-

'บิ๊กแดง'กำชับดูแลภาพรวมของประเทศให้มีความเรียบร้อย เตรียมงานพระราชพิธี-เลือกตั้ง


   
            
28 ม.ค.62 - พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมสำนักเลขาธิการ คสช. พล.อ.อภิรัชต์  คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ?บ.)ในฐานะเลขาธิการ  คสช. เป็นประธาน โดยมอบหมายให้ทุกส่วนงานให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเตรียมการของรัฐบาลในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยในขั้นต้นขณะนี้จะเริ่มการเตรียมนำน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศเข้าสู่พิธีสมโภชน้ำอภิเษกนั้นให้ส่วนราชการและหน่วยทหารในทุกพื้นที่ประสานสนับสนุนกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัด เตรียมการตามขั้นตอนของพิธีที่ได้ประกาศไว้อย่างดีที่สุด


ในช่วงท้ายของการประชุม เลขาธิการคสช.ได้ขอให้ทุกส่วนร่วมกันดูแลภาพรวมของประเทศให้มีความเรียบร้อย เพื่อการเตรียมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น รวมทั้งให้ส่วนราชการได้ศึกษาทำความเข้าใจกับไทม์ไลน์การเลือกตั้ง พร้อมให้ความรู้และชี้แจงบุคลากรในหน่วยงานและประชาชนให้มีความเข้าใจและ

เข้าไปมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งได้ตามห้วงเวลา ในขณะเดียวกันช่วงต่อจากนี้รัฐบาลกำลังเร่งทำงานที่คั่งค้างให้สำเร็จ ซึ่งส่วนราชการควรเร่งดำเนินโครงการต่างๆ ที่มีแผนงานไว้แล้ว
ให้สำเร็จเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ในหลายโครงการเป็นไปตามนโยบายที่คสช.และรัฐบาลริเริ่มจัดทำขึ้นเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงอยากให้สิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป. 

กกต.เปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าวันแรก ผู้ใช้โวย เว็บล่ม!

กกต.เปิดลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าวันแรก ผู้ใช้โวย เว็บล่ม!



วันนี้ (28 มราคม) กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าได้แล้ว ผ่านเว็บไซต์ https://election.bora.dopa.go.th/ectoutvote/ ตั้งแต่วันนี้ (28 ม.ค.) จนถึงวันที่ 19 ก.พ.2562 เวลา 24.00 น. โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขต ตลอดจนการขอใช้สิทธินอกราชอาณาจักรได้
ซึ่งหลังจากลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กำหนดวันและเวลาสำหรับออกเสียงลงคะเเนนก่อนวันเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 17 มี.ค.2562 ออกเสียงได้ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น.

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียนช่วงเช้า มีบางช่วงที่เว็บไซต์เกิดล่ม คลิกไปแล้วขึ้นข้อความว่า service unavailable ล่าสุดเมื่อเวลา 10.45 น. ผู้สื่อข่าวทดลองเข้าใช้บริการ พบว่าสามารถเข้าได้แล้ว แต่เว็บไซต์ยังไม่เสถียร ใช้เวลาโหลดนาน คาดว่าเป็นเพราะมีผู้ใช้บริการเยอะ

09.00 INDEX คำถาม ถึงบทบาท “กอ.รมน.” สะเทือน กระทบ “4 รัฐมนตรี”

09.00 INDEX คำถาม ถึงบทบาท “กอ.รมน.” สะเทือน กระทบ “4 รัฐมนตรี”



บทบาทของเจ้าหน้าที่ “กอ.รมน.” ที่ได้รับมอบหมายให้ติดตามการ เคลื่อนไหวของ “นักการเมือง” ฝ่ายตรงข้าม อย่างที่พรรคเพื่อไทยประสบอยู่ในขณะนี้เหมือนกับเป็นการปฏิบัติหน้าที่

เพราะได้รับมอบหมายจาก “ผู้บังคับบัญชา”

ก่อนการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2560 อาจเป็นเรื่องปรกติ

ก่อนการประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เมื่อเดือนธันวาคม 2561 อาจเป็นเรื่องปรกติ
แต่พลันที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งก็เริ่มกลายเป็น “อ-ปรกติ”

กลายเป็นสภาวะแปลกแยก กลายเป็นเหมือน “ไส้ติ่ง” ซึ่งไม่มีความจำเป็นขององคาพยพในทางการเมือง

เช่นเดียวกับการดำรงอยู่ของ 4 รัฐมนตรีและเครือข่าย

การดำรงอยู่ของ 4 รัฐมนตรี ทั้งๆที่ประกาศตนเป็นหัวหน้าพรรค เป็นรองหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการพรรค เป็นโฆษกพรรค ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองมาโดยตลอด

เริ่มจากการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561

คำถามก็คือ เมื่อไรจึงจะเป็นเวลาที่เหมาะสมในการลาออก

จากเดือนพฤศจิกายน 2561 กระทั่งมาถึงเดือนมกราคม 2562 ก็ยังมีคำถามนี้อยู่


โดยที่ทั้ง 4 รัฐมนตรีก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะตัดสินใจ

หากฟังจากคำอธิบายของ 4 รัฐมนตรี คล้ายกับว่าการสวมหมวก 2 ใบของท่านระหว่างตำแหน่งใน ครม.กับตำแหน่งในพรรค การเมืองถือเป็นการเสียสละอย่างใหญ่หลวง

เพราะทำให้เกิดการเสียเปรียบทางการเมืองไม่สามารถเคลื่อนไหวหาเสียงได้ 24 ชั่วโมง

แต่สังคมกลับมองสภาพของ 4 รัฐมนตรีในทางตรงกันข้าม

มองว่าไม่มีสปิริต มองว่าขาดจริยธรรมทางการเมือง

หากว่าผ่านจากเดือนมกราคมเข้าไปยังเดือนกุมภาพันธ์ และใกล้วันที่ 24 มีนาคม มากเพียงใด คำถามจะรุกเร้าและกดดัน 4 รัฐมนตรีมากเพียงนั้น

เหมือนคำถามต่อคำสั่งให้ กอ.รมน.คอยติดตามนักการเมือง ฝ่ายตรงกันข้าม

เป็นคำถามถึงหัวหน้า คสช. เป็นคำถามถึงหัวหน้ารัฐบาล

ในที่สุดเรื่องก็ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าจนได้

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : บทวิเคราะห์ อนาคต “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในทางการเมือง

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล : บทวิเคราะห์ อนาคต “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ในทางการเมือง



วันนี้ (27 มกราคม) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก เผยแพร่ บทวิเคราะห์ : พลเอกประยุทธ์จะต้องทำอย่างไรถ้าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังเลือกตั้ง ผลที่จะตามมาคืออะไร และดังนั้น พลเอกประยุทธ์ควรจะลงเป็นว่าที่นายกฯ หรือไม่ มีรายละเอียด ระบุว่า

ในที่สุดวันเลือกตั้งก็ได้กำหนดแล้วว่าคือวันที่ 24 มีนาคม 2562 และการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะมีขึ้นในวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ สิ่งที่สื่อมวลชนและผู้ติดตามการเมืองทุกคนเฝ้าดูคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีชื่อเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดหรือไม่ ซึ่งอย่างช้าที่จะทราบกันคือวันสุดท้ายของการสมัคร ส.ส. คือวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้

แล้วพลเอกประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร? นั่นเป็นสิ่งที่จนถึงตอนนี้เรายังไม่รู้ สิ่งที่ผมอยากจะเขียนคือ พลเอกประยุทธ์จะต้องทำอะไรเพื่อให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และผลที่จะเกิดขึ้นตามมา เพราะนี่คือส่ิงที่จะกำหนดการเมืองไทยทั้งหมด ตั้งแต่หลังจากการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ ไปจนถึงการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นสุดท้ายว่าพลเอกประยุทธ์ควรจะลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีหรือไม่

#ประเด็นที่หนึ่ง : ถ้าพลเอกประยุทธ์ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจะต้องทำอะไรบ้าง?
ตามกติกาใหม่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั้น นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. ก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องอยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดได้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดรับสมัคร ส.ส. ว่าจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะเสนอได้ไม่เกิน 3 ชื่อ (มาตรา 88) ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขว่าพรรคการเมืองนั้นต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ คือ 25 คน (มาตรา 159) โดยในช่วง 5 ปีแรก การเลือกนายกรัฐมนตรีจะกระทำใน ‘ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา’ (บทเฉพาะกาล มาตรา 272)

สภาที่จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จึงไม่ใช่แค่สภาผู้แทนราษฏร แต่วุฒิสภาจะร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย โดยผู้ที่จะได้รับการทูลเกล้าให้ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จะ ‘ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา’ (มาตรา 272) ส.ส. มี 500 คน ส.ว. มี 250 คน รวมเป็น 750 คน กึ่งหนึ่งเท่ากับ 375 มากกว่ากึ่งหนึ่งก็คือต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป
ดังนั้น ตามกติกาดังที่ได้กล่าวมา สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องทำ ถ้าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีดังต่อไปนี้คือ

#เรื่องที่หนึ่ง ตอบรับเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งต้องตอบรับและแจ้ง กกต. ภายในวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นี้

#เรื่องที่สอง การที่ต้องมีเสียงในที่ประชุมรัฐสภายกมือเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 376 เสียง พลเอกประยุทธ์ก็ต้องเลือก ส.ว. ที่มั่นใจได้ว่าจะเลือกตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะทำให้ได้แล้ว 250 เสียง ก็จะขาดจำนวน ส.ส. อีก 126 เสียงเท่านั้น

#เรื่องที่สาม ต่อเนื่องจากข้อสอง การที่ต้องทำให้มี ส.ส. อย่างน้อย 126 คนยกมือให้เป็นนายกรัฐมนตรี คำถามคือลำพังเพียงพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี จะได้จำนวน ส.ส.ถึงจำนวนนี้หรือไม่? คำตอบคือ แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะได้ออกแบบระบบเลือกตั้งที่ลดขนาดพรรคใหญ่ แต่ก็ไม่ง่ายที่พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์จะได้จำนวน ส.ส. ถึง 126 คน แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ยากที่จะดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลเพื่อให้มี ส.ส. ยกมือให้ถึง 126 คน

ถ้าวิเคราะห์เพียงเท่านี้ ภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแน่ถ้าอยากจะเป็น แต่ปัญหาจริงๆ คือ การมี ส.ส.แค่ 126 หรือมากกว่านั้นแต่ไม่ถึงครึ่งคือ 250 รัฐบาลจะเป็นเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร แล้วจะผ่านร่างพระราชบัญญัติต่างๆ ได้อย่างไร และต้องไม่ลืมว่าสูตรตั้งรัฐบาลสูตรนี้ (ส.ว. 250 คน บวกกับ ส.ส. ของพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์และพรรคอื่นอีกอย่างน้อย 126 คน) ฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ และไม่ว่าพรรคฝ่ายค้านจะเป็นพรรคใดก็ตาม ฝ่ายค้านที่มี ส.ส. เกินครึ่ง จะสามารถปลดนายกรัฐมนตรีด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจได้อย่างง่ายดาย

ดังนั้น การจะเป็นนายกรัฐมนตรีและอยู่ได้ พลเอกประยุทธ์ต้องมี ส.ส.อย่างน้อยครึ่งหนึ่งคือ 250 คน ในการเลือกตั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคได้ ส.ส. รวมกันเกินครึ่งเสมอ และในคราวนี้ แม้ว่าสองพรรคนี้อาจจะได้ ส.ส.น้อยลงจากระบบเลือกตั้งใหม่ แต่จากโพลและการคาดการณ์จากคะแนนเสียงที่เคยได้ ก็ยังน่าเชื่อว่าสองพรรคใหญ่จะได้ ส.ส. รวมกันแล้วมากกว่าครึ่ง นั่นหมายความว่า การตั้งรัฐบาลให้ได้ ส.ส. อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จะต้องมีพรรคหนึ่งพรรคใดในสองพรรคนี้มาร่วมรัฐบาล
และนี่คือสิ่งที่ต้องทำเป็น #เรื่องที่สี่ คือต้องดึงพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคเพื่อไทย มาร่วมรัฐบาลด้วย จึงจะสามารถเป็นรัฐบาลที่อยู่ได้ คำถามคือพลเอกประยุทธ์จะชวนพรรคไหน และพรรคไหนในสองพรรคนี้ที่ ส.ส. ของพรรคจะยกมือให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี?

#ประเด็นที่สอง : แล้วพรรคการเมืองใดในสองพรรคใหญ่ที่จะยกมือให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี?
ถ้าพลเอกประยุทธ์ลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี การเมืองไทยจะกลายเป็นการเมืองแบบ ‘สามก๊ก’ สองก๊กเดิมคือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก๊กที่สามคือ ส.ว. ร่วมกับพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ โดยเนื่องจากไม่น่าจะมีก๊กไหนในสองก๊กเดิมสามารถมีจำนวนเสียงถึง 376 เสียง และก๊กใหม่ แม้ว่าจะมีเสียง ส.ว. ยืนพื้นแล้ว 250 เสียง แต่ก็ต้องมีเสียง ส.ส. อีก 250 เสียงจึงจะอยู่ได้ นั่นหมายความว่า รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะเกิดจากการรวมกันของสองก๊กในสามก๊กนี้ ซึ่งการรวมกันจะมีได้ 3 แบบคือ

#แบบที่หนึ่ง พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับพรรคเพื่อไทย และ ส.ว. ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ยากที่สุด


#แบบที่สอง พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว. ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะมายกมือให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้อย่างไรถ้าพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ ส.ส. มาเป็นอันดับหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ สูตรนี้จะเป็นไปได้ หากพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกได้จำนวน ส.ส. มากกว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ แต่นั่นจะเป็นไปได้หรือไม่?

#แบบที่สาม พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลร่วมกัน ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ยังเป็นไปได้มากกว่าแบบที่หนึ่งที่พรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคเพื่อไทย และอย่าลืมว่านี่คือการเมืองแบบสามก๊ก ที่มี คสช. ลงมาเป็นอีกก๊กหนึ่ง ไม่ใช่ในแบบมีสองฝ่ายเหมือนเดิมอีกต่อไป
ทั้งสามแบบหรือสามสูตรนี้ โอกาสของพลเอกประยุทธ์คือสูตรที่สอง ในเงื่อนไขคือพรรคที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ต้องได้ ส.ส. มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และอย่าลืมว่าแม้โพลของบางสถาบันจะได้ผลโพลที่พลเอกประยุทธ์ยังเป็นคนที่ประชาชนต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด แต่ตัวเลขก็เพียง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น และสิ่งที่ยังไม่ได้พูดกันคือนั่นหมายความว่า ตามโพลนี้คนอยากให้คนอื่นที่ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมีมากถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์

#ประเด็นที่สาม : ผลทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากพลเอกประยุทธ์ลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี

ถ้าพลเอกประยุทธ์จะลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็ต้องดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้น ผลทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นเป็น #ประการแรก เลยคือ พลเอกประยุทธ์จะกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผลการเลือกตั้ง จะทำอะไรจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นการลงพื้นที่ การจัดรายการโทรทัศน์ในวันศุกร์ การอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือประชาชน ต่อให้จะมีเจตนาหรือไม่ ก็จะถูกมองเป็นการหาเสียงไปเสียทั้งหมด และเมื่อรัฐมนตรี 4 คนที่ไปทำงานพรรคพลังประชารัฐลาออกจากตำแหน่ง แรงกดดันก็จะมาที่พลเอกประยุทธ์มากขึ้นไปอีก
#ประการที่สอง เสียงเรียกร้องและแรงกดดันอาจจะมิใช่ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จะเป็นการให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ด้วยเหตุผลว่า หัวหน้า คสช. มีอำนาจตามมาตรา 44 ที่สามารถสั่งการได้ทุกอย่าง ทั้งนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญเสมอ ต่อให้พลเอกประยุทธ์จะไม่ใช้อำนาจตามมาตรานี้อีก แต่เสียงเรียกร้องกดดันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
#ประการที่สาม ถ้าต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี เสียง ส.ว. 250 คนต้องได้คนที่มั่นใจว่าจะยกมือให้พลเอกประยุทธ์ทั้งหมด สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ คือ จำนวนว่าที่ ส.ว. ที่มาจากการเลือกกันเอง 200 คนที่ใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก จะได้เป็น ส.ว. ได้เพียง 50 คนจากการเลือกของ คสช. เท่านั้น และ ส.ว. สรรหาอีก 194 คน คสช. ก็จะเลือกมาจากรายชื่อ 400 คนที่คณะกรรมการสรรหาที่ คสช. แต่งตั้งได้สรรหามาให้ ซึ่ง คสช. ก็จะเจอกับคำถามเดียวกัน คือหลักเกณฑ์ในการเลือกคืออะไร ใช่เลือกเพื่อตัวเองหรือไม่ ซึ่งจะทำให้ คสช. จะอยู่ในภาวะขาลงยิ่งขึ้นไปอีก
#ประการที่สี่ การเลือกตั้งถ้ามีปัญหาข้อสงสัยเรื่องความไม่เที่ยงธรรมขึ้นมา ต่อให้ไม่เกี่ยวกับ คสช. แต่คนก็จะมาลงที่ คสช.แน่ เพราะ คสช. ได้กลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผลการเลือกตั้งไปเสียแล้ว
กล่าวโดยสรุป ผลที่ตามมาจะเป็นลบกับ คสช. ทั้งหมด และจะเป็นลบต่อการเลือกตั้ง รวมถึง ส.ว. ที่จะอยู่ไปถึง 5 ปีด้วย
#ประเด็นสุดท้าย : พลเอกประยุทธ์ควรจะลงว่าที่นายกรัฐมนตรีหรือไม่

ถ้าพลเอกประยุทธ์จะลงว่าที่นายกรัฐมนตรีก็จะต้องเผชิญกับคำถามมากมาย ที่ไม่มีทางทำให้คนที่ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ และแม้กระทั่งคนที่อยู่ตรงกลางๆ เข้าใจได้ และดังที่กล่าวในประเด็นที่สองไปแล้ว คือต่อให้อยากเป็นโอกาสที่จะได้เป็นก็มีน้อย หรือถ้าเป็นได้ก็ไม่น่าจะอยู่ได้นาน

โมเดลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 8 ปีครึ่งนั้น พลเอกประยุทธ์ไม่อาจจะเอามาใช้ได้ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน เพราะพลเอกเปรมมิได้ยึดอำนาจ มิได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คนจำนวนไม่น้อยเห็นว่ามีการสืบทอดอำนาจ และมิได้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง ด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ที่บังคับใช้ในขณะนั้นไม่มีกติกานี้

ดังนั้น ทางเลือกที่น่าจะดีที่สุดสำหรับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คือถอยกลับสู่สถานะ ‘คนกลาง’ ที่ไม่มีส่วนได้เสียกับผลการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ลงว่าที่นายกรัฐมนตรี คำถามและแรงกดดันในเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องมาตรา 44 เรื่องการเลือก ส.ว. เรื่องการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และเรื่องการเลือกตั้งก็จะคลายลงไป

แน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์มีสิทธิที่จะลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ห้ามไว้ แต่ที่ผมเขียนไปทั้งหมดนี้คือเรื่อง #ควรหรือไม่ควร ถึงอย่างไรพลเอกประยุทธ์ก็จะมีเสียง ส.ว. ในการ ‘ต่อรอง’ หน้าตารัฐบาลใหม่ และกำหนดการทำงานของรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งได้พอสมควรอยู่แล้ว รัฐบาลใหม่ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนยังไงก็ต้องเกรงใจ ส.ว. ที่ คสช. ได้แต่งตั้งขึ้นไว้ และพรรคการเมืองไม่ว่าจะรวมเสียง ส.ส. ได้มากแค่ไหนก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เลยหากไม่ได้เสียง ส.ว. สนับสนุนถึง 1 ใน 3 ซึ่งไม่มีทางได้เลยถ้าคนที่เลือก ส.ว. ไว้ คือ คสช. ไม่เอาด้วย

นี่น่าจะเป็นการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหลังเลือกตั้ง ทั้งนี้ตามวาระของ ส.ว. ชุดแรก ที่ก็เป็นการประนีประนอมมากพอสมควรแล้ว และดังนั้น การไม่ลงเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ทั้งต่อตัวพลเอกประยุทธ์ และต่อประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่านกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง

กกต.กทม.ประชุมกำหนดจุดปิดป้ายหาเสียง 30 เขต พรุ่งนี้

กกต.กทม.ประชุมกำหนดจุดปิดป้ายหาเสียง 30 เขต พรุ่งนี้



กกต.กทม.เผย ว่าที่ผู้สมัคร-พรรคการเมือง แห่แจ้งการใช้ช่องทางหาเสียง เตรียมประชุมกำหนดจุดปิดป้ายหาเสียง 30 เขต กทม.พรุ่งนี้
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 มกราคม ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ น.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันที่ 29 มกราคม ตนจะไปร่วมประชุมกับทางปลัด กทม. เพื่อหารือถึงการกำหนดจุดปิดป้ายหาเสียงเลือกตั้งของทั้ง 30 เขต กทม. เนื่องจากกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการกำหนดสถานที่ จากนั้นตนจึงจะนำมาประกาศจุดต่างๆ โดยพร้อมกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ส่วนเรื่องการแจ้งใช้สื่อโซเชียลของว่าที่ผู้สมัคร พรรคการเมือง รวมทั้งผู้ช่วยหาเสียง ขณะนี้มีว่าที่ผู้สมัครและพรรคการเมืองจากหลายพรรค ทยอยเข้ามาแจ้งวิธีการและช่องทางการหาเสียงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากพอสมควร โดย กกต.กทม.เปิดให้ผู้ประสงค์จะหาเสียงทางสื่อโซเชียลเข้ามาแจ้งได้โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ


น.ส.วิชชุดากล่าวต่อว่า สำหรับสถานที่รับสมัคร ส.ส.กทม. แบบเขต กทม. จะใช้อาคารกีฬาเวสน์ 2 ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ระหว่างวันที่ ‪4-8 กุมภาพันธ์‬ ทั้งนี้ จะใช้สถานที่สมัครรวม แต่จะจัดจุดรับสมัคร 30 เขต โดยจะมีการจับสลาก 2 ครั้งสำหรับผู้ที่มาก่อนเวลา ‪08.30 น.‬ ของวันที่ ‪4 กุมภาพันธ์ โดยครั้งแรกจะเป็นการจับลำดับการจับสลาก และในครั้งที่สองเป็นการจับหมายเลขของผู้สมัคร ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เดินทางมาถึงก่อนเวลา 0‪8.30 น.‬ จำนวนมาก เพราะต่างคาดว่าจะได้เลขที่จำง่าย

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ‘พปชร.’พร้อมจับมือทุกพรรค

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ‘พปชร.’พร้อมจับมือทุกพรรค



⦁เหตุผลและจุดยืนทางการเมืองในการมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ
เหตุผลที่ผมกลับมาทำงานการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ย้อนไปตั้งแต่ที่ผมอยู่พรรคไทยรักไทย และได้ทำงานในตำแหน่งล่าสุดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเคยถูกกล่าวหาว่าพัวพันในคดีการจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตรวจจับระเบิด (CTX 9000) เรื่องนี้ก็ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าผมบริสุทธิ์ โดยผ่านทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็มีมติ 9 ต่อ 0 ตัดสินให้ผมไม่มีความผิด หลังจากนั้น ผมก็ได้ตัดสินใจเลิกเล่นการเมืองนานกว่า 10 ปี
ระหว่างที่เลิกเล่นการเมืองก็ได้มีโอกาสไปทำในสิ่งที่ผมชอบและมีความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัวทำธุรกิจและอ่านหนังสือ ท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ที่ผมจำเป็นต้องกลับมาทำการเมืองอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมาถึง ถ้าไม่มีพรรคการเมืองใหม่มาให้พี่น้องประชาชนเลือก การต่อสู้ก็จะเกิดระหว่างสองพรรคเดิมคือพรรคเพื่อไทย (พท.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งความขัดแย้งในอดีตหลายครั้งที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ระหว่างสองพรรค
ฉะนั้น การเมืองก็จะเกิดเป็นวัฏจักร และพอต่อสู้กันหนักเข้าไปในที่สุดต่างคนต่างมีสมาชิกที่สนับสนุนของแต่ละพรรคมันก็เลยทำให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร และผมเชื่อว่าถ้าไม่มีพรรคพลังประชารัฐขึ้นมา ในอนาคตโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้ก็จะมีอีก ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจอยากจะเข้ามาทำการเมืองในรูปแบบใหม่ที่จะไม่มีการโจมตีซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นการเมืองที่ไม่สร้างความขัดแย้ง

⦁แต่พรรค พปชร.หลังจากเปิดตัวมาก็หนีไม่พ้นข้อครหาและการโจมตีทางการเมือง
พรรค พปชร.เพิ่งเริ่มตั้งมาไม่นานแต่ถึงตอนนี้ก็ถูกโจมตีกล่าวหาสารพัด เช่น กล่าวหาว่าพรรค พปชร.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งทั้งๆ ที่พรรค พปชร.อยากจะให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุดและพร้อมอย่างเต็มที่ด้วย ฉะนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งในวันนี้ สิ่งที่ผมอยากจะแสดงให้เห็นว่า พรรค พปชร.ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทาง กกต. ยกตัวอย่าง เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา กกต.ได้มีมติออกมาว่า ให้ไปตรวจสอบเรื่องของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นรองหัวหน้าพรรค พปชร.มีการถือหุ้นสัมปทานจนในขณะนี้ต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรีว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้า กกต.เป็นพวกเดียวกับพรรค พปชร.คงไม่ทำแบบนี้
นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่า อยากให้การเมืองเลิกสักทีคือ การกล่าวหาซึ่งกันและกัน สิ่งที่ควรจะทำก็คือทุกพรรคควรจะเสนอนโยบายว่า เลือกตั้งครั้งหน้า หลังจากได้รับเลือกตั้งมาจะทำอะไรให้กับพี่น้องประชาชนในกรุงเทพฯก็ดี ในต่างจังหวัด เช่น ภาคอีสาน, ภาคเหนือ เพราะแต่ละภาค ความต้องการของพี่น้องประชาชนก็แตกต่างกันไป และเท่าที่ผมลงพื้นที่มาเชื่อมั่นว่าพรรค พปชร.จะเป็นทางออกของประเทศได้แน่นอน โดยเฉพาะว่าถ้าประชาชนให้การสนับสนุนพรรค พปชร.ให้ได้เข้ามามีเสียงมากพอสมควรการจัดตั้งรัฐบาล การจะทำตามนโยบายของพรรคก็จะเป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย แต่ถ้าได้คะแนนเสียงไม่มากพอก็ต้องเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาล ฉะนั้น การจะทำตามนโยบายของพรรค พปชร.ก็จะไม่ได้ง่าย

⦁ในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน ประเมินผลการเลือกตั้งของพรรค พปชร.อย่างไร
ในฐานะประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสานได้ลงพื้นที่พบกับชาวบ้านมาเป็นเวลาพอสมควรก็ได้รับเสียงตอบรับกลับมาเป็นอย่างดีโดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ทำในหลายสิ่งหลายอย่างที่ถูกใจพี่น้องชาวภาคอีสานทั้งนโยบายช่วยสนับสนุนชาวนา จนขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เท่าที่ผมลงพื้นที่พบว่า ราคาข้าวจาก 18,000 บาท เป็น 20,000 บาทแล้ว ซึ่งภาคอีสานได้รับประโยชน์จากตรงนี้ไปเต็มๆ อีกเรื่องคือ เรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรนี้เองจะช่วยทำให้ประชาชนภาคอีสานที่ยังมีรายได้น้อยยังสามารถทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น
สิ่งเหล่านี้ที่พรรค พปชร.จะนำมาต่อยอดจากผลงานที่รัฐบาลได้ทำไว้ แล้วจะทำต่อไปคือว่าจะทำอย่างไรที่จะมีการสร้างงานให้พี่น้องชาวอีสาน ถ้ามีการสร้างงานโดยให้ภาคอุตสาหกรรมมาตั้งอยู่ในภาคอีสานพี่น้องชาวอีสานเองก็จะได้มีงานทำ ไม่จำเป็นต้องจากบ้านเข้าไปอยู่และทำงานในกรุงเทพฯ หรือภาคตะวันออก และต้องจากลูกจากเมียไป บางคนก็ต้องฝากลูกไว้ให้ญาติช่วยเลี้ยงดู ก็จะขาดความอบอุ่น แต่ถ้าสามารถมีโรงงานมาตั้งอยู่ภาคอีสานได้ ชาวอีสานก็ไม่จำเป็นต้องจากพื้นที่ของตัวเองไปอยู่กับบ้าน อยู่กับครอบครัวถึงแม้จะมีรายได้น้อยไปบ้าง แต่ว่าถ้าไปทำงานกรุงเทพฯ ค่าครองชีพก็แพง แล้วก็ต้องเสียค่าเช่า เจอฝุ่นละอองอีก แต่ถ้ามาอยู่ที่บ้านตัวเอง ค่าครองชีพก็ถูก รายได้ที่เหลือก็จะเป็นกอบเป็นกำสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้

⦁จุดยืนที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ ในนามพรรค พปชร.

การจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่นั้น ผมคิดว่า ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังไม่ได้แสดงจุดประสงค์ว่าจะทำการเมืองต่อไปหรือไม่ ในส่วนของผู้บริหารพรรค พปชร.ก็คิดว่า ถ้านายกฯไม่ปฏิเสธก็จะเป็นหนึ่งในทางเลือกที่พรรคจะเสนอให้เป็นนายกฯในนามของพรรค พปชร.แต่ก็ไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตอบรับหรือไม่
ส่วนหน้าตารัฐบาลชุดต่อไปจะเป็นรัฐบาลผสมหรือไม่ ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่ออกแบบมา เพราะว่าในอดีตเคยมีพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงมากแล้วก็กลายเป็นใช้เสียงข้างมาก โดยไม่ฟังพรรคที่มีเสียงข้างน้อยทำให้เกิดวิกฤตหลายครั้ง จนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เลยพยายามจะให้มีระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ให้นับทุกคะแนนของพรรคที่มีเสียงส่วนน้อยก็จะได้มีการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไปให้ โดยระบบการเลือกตั้งนี้ จะทำให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะได้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คงจะยากลำบาก เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะได้รัฐบาลผสมก็จะมีมาก ซึ่งเป็นผลดีที่ว่าต่างคนต่างก็จะได้ระดมความคิดที่จะช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

⦁การมาร่วมงานกับพรรค พปชร.ถูกอดีต ส.ส.จากพรรค พท.โจมตีอยู่ตลอดมีการรับมืออย่างไร
เป็นเรื่องธรรมดาที่ผมจะถูกโจมตีอย่างหนักจากสมาชิกพรรค พท. ผมเคยบวชเป็นพระ ฉะนั้น ทำให้รู้ว่าเรื่องนี้ไม่จีรังยั่งยืน ไม่เป็นไร และคิดว่าประชาชนเขาก็เบื่อที่จะฟัง และพรรค พปชร.พร้อมที่จะทำงานร่วมกับพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาฯพรรค ได้บอกแล้วว่า มีความยินดีที่จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมือง แต่ว่าให้ผลการเลือกตั้งออกมาก่อน พรรค พปชร.คงไม่ไปเกี่ยงงอนว่า ไม่เอาพรรคนั้น พรรคนี้ ถ้าพรรคการเมืองมาตั้งเงื่อนไขอย่างนี้แล้วก็จะทำให้ประเทศชาติไม่มีทางออก
ในฐานะที่ผมเป็นประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งภาคอีสาน เดินมามากแล้วตอนนี้ เสียงตอบรับจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ยิ่งดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ตัวเลขกว่า 60 ที่นั่งทั้ง ส.ส.เขตรวมกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ยังยืนยันว่าภาคอีสานพรรค พปชร.สามารถทำได้ และจากการลงพื้นที่ได้รับฟังเสียงพี่น้องประชาชนความต้องการส่วนใหญ่ที่เรียกร้องมากที่สุด สิ่งแรกก็คือเรื่องของอยากให้ราคาพืชผลการเกษตร ราคาข้าวได้ราคาดี แล้วถ้าเป็นไปได้ก็ให้มีแหล่งน้ำ แล้วสิ่งที่ผมเสนอว่าจะมีการสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นในภาคอีสาน พบว่ามีเสียงตอบรับที่ดีมากๆ

⦁ที่ประกาศว่าจะยุติบทบาทการเมืองหากพรรค พปชร.ไม่ได้ ส.ส.ใน จ.ขอนแก่น และ จ.อุบลราชธานี
ที่ผมประกาศว่าจะยุติบทบาททางการเมืองหากพรรค พปชร.ไม่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.ใน จ.ขอนแก่น และ จ.อุบลราชธานีนั้น ผมดูแล้วว่า ยังไงก็มั่นใจว่า จ.ขอนแก่น และ จ.อุบลราชธานี ถ้าไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว ผมก็คิดว่า ในฐานะที่ดูแลทางด้านภาคอีสานก็จะพิจารณาตัวเอง ส่วนการจะฝากอะไรถึงนายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย ที่อดีตเคยรักใคร่กันมากนั้น ผมคิดว่าที่นายอดิศรบอกผมว่า ยังมีสติดีอยู่หรือเปล่าและเป็นเรื่องที่ผมเพ้อฝันว่าจะมี ส.ส.เข้ามาจาก จ.ขอนแก่นทั้งหมด จะยกจังหวัด อีกทั้งยังกล่าวหาผมเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ผมก็อยากจะบอกว่า สติปัญญาผมตรงนี้ยังสมบูรณ์อยู่ แต่สำหรับนายอดิศรเองผมไม่ถือสาท่าน แต่อยากเตือนความจำท่านว่า ตอนที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งที่สอง ผมเป็นคนเสนอให้อดีตนายกฯทักษิณให้นายอดิศร และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มาเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงคมนาคม ในช่วงนั้นทำงานกันอย่างเป็นทีม และมีความสุขกับการทำงาน เพราะได้ทำในสิ่งที่กระทรวงคมนาคมสามารถตอบสนองในสิ่งที่ที่ประชาชนต้องการ โดยเฉพาะถนนหนทางที่สร้างมาหลายๆ เลนในภาคอีสานก็เกิดจากนโยบายกระทรวงคมนาคมในสมัยนั้น สามารถผลักดันจนสนามบินสุวรรณภูมิสร้างเสร็จเรียบร้อย
สิ่งเหล่านี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างผมกับรัฐมนตรีช่วยฯ พอรัฐบาลพรรคไทยรักไทยถูกปฏิวัติไป ผมได้เจอนายอดิศรน้อยมาก แต่ว่านายอดิศรก็ไปเล่นกอล์ฟกับพี่ชายผม พี่ชายผมก็มาบอกว่านายอดิศรฝากความคิดถึงมาถึงผมเสมอ ผมเลยไม่เข้าใจว่าเพียงแต่ตอนนี้ผมอยู่คนละพรรคทำไมนายอดิศรถึงได้เปลี่ยนไปถึงขนาดนี้ ผมรู้สึกเสียดายที่นายอดิศรเคยพูดไว้กับผมกับพี่ชายผม เสียดายภาพของนายอดิศรที่ผมเคยเลื่อมใส แต่อย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่ถือสา ในที่สุดคนที่รู้ข้อเท็จจริงจะตัดสินว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ส่วนที่ผมบอกว่าที่ จ.ขอนแก่นจะมี ส.ส.ยกจังหวัด เรื่องนี้ผมไม่ได้เป็นคนประเมินเอง แต่ว่าคนที่ดูแลพื้นที่คือ นายเอกราช ช่างเหลา ก็เห็นว่าแนวโน้มของประชาชนภาคอีสานโดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ที่อยากจะเปลี่ยนพรรคใหม่ เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง ผมจึงคิดว่าพรรค พปชร.น่าจะได้ ส.ส.ยกจังหวัด ผมคิดว่านายอดิศรในใจลึกๆ ก็คงจะ
คิดอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ฉะนั้นคงไม่หนีไปลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค พท.หรอก

⦁พรรค พปชร.มีดีอย่างไรที่จะให้ประชาชนมาเลือก
ผมอยากจะขอฝากให้พี่น้องประชาชน อยากให้ลองพิจารณาพรรค พปชร.เป็นทางเลือกอันหนึ่งเพื่อให้ประเทศก้าวพ้นความขัดแย้งไปสู่ความสำเร็จ เมื่อความสำเร็จ ความสุขกลับมา การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ ทางด้านสังคมจะดีขึ้น คนไทยจะมีความสุข ถ้าพรรค พปชร.ได้เป็นรัฐบาล สิ่งแรกที่จะทำคืออะไร คือทำตามนโยบายที่ได้ให้สัญญากับประชาชน ในขณะนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคกำลังทำในเรื่องต่างๆ ที่เป็นนโยบายหลักๆ ของพรรค พปชร. จะต้องเอานโยบายที่ไปพูดกับประชาชนกลับมาทำให้เกิดผลสำเร็จ

สามีไม่มีสิทธิในการทำร้ายร่างกายภริยา

สามีไม่มีสิทธิในการทำร้ายร่างกายภริยา



หลายครั้งจะเห็นภาพข่าวการที่สามีทำร้ายร่างกายภริยา แต่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วยเหลือ เพราะอาจมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัวจนเกิดการสูญเสียขึ้น ดังนั้น ความเป็นสามีภริยาก่อให้เกิดสิทธิการทำร้ายร่างกายหรือไม่ เมื่อชายและหญิงสมรสกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพก็มักจะบอกเสมอว่า เมื่อแต่งงานกันแล้วก็ต้องอยู่ด้วยกันเพื่อสร้างครอบครัว ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกัน
บางครั้งเมื่อชายและหญิงอยู่กินฉันสามีภรรยากันไปสักระยะหนึ่ง ด้วยธรรมชาติของคนสองคนมาใช้ชีวิตร่วมกันก็ย่อมกระทบกระทั่งกันบ้าง บางครั้งการกระทบกระทั่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทำให้เป็นปัญหาครอบครัว ปัญหาทำร้ายร่างกายคู่สมรส
แต่ความเป็นสามีภรรยาก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิการทำร้ายร่างกายคู่สมรส
โดยทั่วไป เมื่อบุคคลใดกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดแล้วบุคคลนั้นย่อมต้องได้รับโทษตามที่ได้กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆ เสมอ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการที่ว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่ากัน
กล่าวคือ บุคคลย่อมได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติต่อกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในบางกรณีมูลเหตุจูงใจของบุคคลผู้กระทำการอันเป็นฝ่าฝืนกฎหมายนั้น มีมูลเหตุจูงใจที่แตกต่างกัน
ในบางกรณีผู้กระทำความผิดจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น เพื่อให้รอดพ้นภยันตรายอันเกิดจากการละเมิดต่อกฎหมาย
การกระทำเพื่อป้องสิทธิของผู้อื่นให้รอดพ้นจากภยันตราย อันเกิดจากการประทุษร้ายที่ละเมิดต่อกฎหมาย เป็นเงื่อนไขของการยกเว้นความผิด ซึ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา 68 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ เนื่องจากโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ทั่วไปนั้น
เมื่อมีภยันตรายเกิดขึ้นแก่ตนเองหรือผู้อื่นและไม่อาจที่จะขอความคุ้มครองจากรัฐได้อย่างทันท่วงที บุคคลนั้นก็ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำการต่างๆ เพื่อโต้ตอบและป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองหรือผู้อื่นได้
หากประชาชนผู้พบเห็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่น แม้จะทราบว่าเป็นสามีทำร้ายร่างกายภริยาจากปัญหาครอบครัวหรือเป็นเรื่องครอบครัว ท่านก็มีสิทธิในการไปป้องกันมิให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น หรือไประงับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามกฎหมายถือว่าประชาชนผู้หวังดีไม่มีความผิดทางอาญาเพราะกฎหมายได้กำหนดให้เป็นเหตุยกเว้นความผิด
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประมวลกฎหมายอาญาก็ได้บัญญัติยอมรับหลักการนี้ไว้ในมาตรา 68 ว่า
“ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

ซึ่งแยกองค์ประกอบกรณีสามีทำร้ายร่างกายภริยา ดังนี้
เมื่อสามีทำร้ายร่างกายภริยา ก็คือว่า สามีทำผิดกฎหมายอาญาในเรื่องการทำร้ายร่างกายผู้อื่น
การที่มีผู้อยู่ในเหตุการณ์เข้าช่วยเหลือภริยาในการเข้าไปกระทำต่อสามีที่กำลังทำร้ายร่างกายภริยาหรือเพื่อเจตนาเพื่อระงับเหตุการณ์ถือว่า เป็นกรณีมีเหตุจำต้องกระทำ
ประกอบการป้องกันสิทธิของผู้อื่น คือสิทธิของภริยาที่จะไม่ให้ใครทำร้ายตนได้แม้แต่สามีก็ไม่สิทธิใดๆ ตามกฎหมายในการทำร้ายร่างกายภริยา
เมื่อประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์เข้าไประงับเหตุหรือป้องกันเหตุก็เป็นการให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย เพราะสามีละเมิดต่อกฎหมายคือกฎหมายอาญา ในข้อหาทำร้ายร่างกายภริยา เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง
โดยภยันตรายดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง เพราะหากประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ไม่เข้าไปช่วยเหลือ ภริยาต้องได้รับบาดเจ็บและอาจถึงแก่ความตายได้
ประกอบการกระทำดังกล่าวของประชาชนผู้หวังดีที่อยู่ในเหตุการณ์ ก็เป็นการกระทำโดยพอสมควรแก่เหตุ คือ เข้าไประงับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกิดการสูญเสีย
กฎหมายจึงให้สิทธิของประชาชนทั่วไปในการป้องกันผู้อื่นได้โดยกฎหมายอาญาได้กำหนดไว้ว่าหากกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้กระทำไม่มีความผิดทางอาญา จึงเห็นได้ว่าประชาชนทั่วไปเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่กระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องพยายามเข้าช่วยเหลือหรือดำเนินการแจ้งให้ภาครัฐเข้าไปยังที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งอาจทำให้ภริยาได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตายในท้ายที่สุด
ในทางตรงกันข้ามประชาชนทั่วไปเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่บุคคลอื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น บุคคลดังกล่าวที่อยู่ในเหตุการณ์อาจต้องมีความผิดทางอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374)
แต่ประชาชนทั่วไปที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องสามารถช่วยได้ตามความจำเป็น เช่น สามีกำลังทำร้ายร่างกายภริยาโดยไม่มีอาวุธในมือ ประชาชนทั่วอยู่เฉยๆ ไม่ยอมช่วยอาจมีความผิดทางอาญาด้วยซ้ำไป
รองศาสตราจารย์ กรกฎ ทองขะโชค
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยลัยทักษิณ