PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

ไพบูลย์โมเดล

26ส.ค.62 ไทยรัฐ 


กรณีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรค ประชาชนปฏิรูป ได้แจ้งความประสงค์ต่อ กกต. จะขอ ยุบพรรคประชาชนปฏิรูป เพราะติดปัญหาเรื่องของคณะกรรมการบริหารที่ไม่ค่อยจะมีเวลาให้กับพรรค และมีการยืนยันจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯในฐานะประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ ว่า ไพบูลย์ จะเข้าพรรค พลังประชารัฐ เพื่อช่วยด้านกฎหมาย

ตามรัฐธรรมนูญเมื่อมีการ ยุบพรรค หรือ ถูกขับออกจาก พรรค ส.ส.สามารถ หาพรรคใหม่สังกัดได้ ภายใน 30 หรือ 60 วันแล้วแต่กรณี ในภาพรวม ไพบูลย์ สามารถที่จะย้ายมาสังกัดพรรคใหม่ได้อยู่แล้ว

แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ง่ายอย่างที่คิด มีคำถามตามมาอีกมากมาย ข้อแรก ไพบูลย์ จะเข้าไปเป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่เท่าไหร่ของพรรค ต่อมา คะแนนที่ยกจากพรรคประชาชนปฏิรูป ย้ายไปรวมกับพลังประชารัฐจะกี่หมื่นคะแนนก็แล้วแต่ จะมีผลต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอย่างไร จะต้องเอามาคำนวณกันใหม่ทั้งหมดหรือไม่

และ คะแนนของประชาชนปฏิรูป เป็นของ ไพบูลย์คนเดียว หรือเป็นของสมาชิกพรรคทุกคน จะยกไปทั้งหมดหรือเป็นบางส่วน จะคิดกันอย่างไร เพราะสมาชิกพรรคไม่ได้ย้ายเข้าพลังประชารัฐด้วย ถ้าไม่โอนคะแนนไป คะแนนก็จะตกน้ำ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นธรรมกับสมาชิกคนอื่น

นี่เป็นปัญหาเฉพาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ถ้าเป็นกรณีของ ส.ส.แบบเขต ก็จะมีปัญหาตามมาอีกเยอะ เพราะ การคิดคะแนนเป็นแบบสัดส่วนผสม จึงมีผลกระทบกับพรรคการเมืองทุกพรรค

นอกจากนี้ ถ้าพรรคประชาชนปฏิรูปทำได้ก็จะเกิดกรณีของพรรคเล็ก ที่มี ส.ส.1-3 คนต้องการยุบพรรคเพื่อไปรวมกับพรรคใหญ่ จะทำให้วุ่นวายขนาดไหน เป็นที่ทราบกันดีว่า พรรคเล็กต้องเจอ ปัญหากับความไม่แน่นอนของตำแหน่ง ส.ส. เลือกตั้งใหม่ กรณีใบแดง จะถูกพรรคใหญ่เบียดเอาเก้าอี้ไปอีกกี่พรรคก็ไม่รู้ อนาคตแขวนอยู่บนเส้นด้าย ยอมยุบพรรคแล้วไปอยู่กับพรรคใหญ่ปลอดภัยกว่าเยอะ

การรับผิดชอบการบริหารงานในพรรคเล็กก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ งบประมาณก็จำกัด สร้างหนี้สร้างสินกันบานตะไท สู้ต่อไปไม่รู้ว่าจะล้มละลายวันไหน

ความคลุมเครือของกฎหมาย สถานการณ์การเมืองที่อยู่ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน จะทำให้ การเมืองไม่นิ่ง และมีปัญหาจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ตลอดเวลา

การแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเกี่ยวกับพรรคการเมือง คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงเป็นประเด็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศ

ต้องตีความกันทุกแง่ทุกมุม

ต่อให้เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ช่วยออกแบบมาโดยเฉพาะ ก็มีโอกาสที่จะตายน้ำตื้น ไพบูลย์โมเดล เป็นอีกกรณีศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งเป็นฝอยขัดหม้อ.

หมัดเหล็ก

เพือไทยชี้ไพบูลย์โมเนดน่ากลัวทำเสียงรัฐบาลเพิม

ไทยโพสต์

25 ส.ค. 2562 นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า สิ่งที่ได้พูดถึงพรรคของนายไพบูลย์ เพราะกังวลว่าจะมีการใช้เคสของนายไพบูลย์ นำร่องไปก่อน เพราะไม่ว่าจะออกทางไหน บางพรรคจะได้ประโยชน์ ถ้าทำได้ จะทำให้ พรรคเล็กๆนำไปทำตาม แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็ถือว่า นายไพบูลย์และพรรคสิ้นสภาพไป นำมาสู่การคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ และก็อาจจะใช้กรณีแบบเดียวกันนี้ กับพรรคการเมืองอื่น หากต้องถูกตัดสินให้ยุบพรรคด้วย กลายเป็นไพบูลย์โมเดล ถ้าหากสิ่งที่วิเคราะห์ไป เป็นจริงขึ้นมา มันจะเกิดความน่ากลัวมาก เพราะจะถือเป็นการตัดต่อพันธุกรรมให้บางพรรค ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ รวมทั้งสูตรคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะก่อนหน้ากกต.ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการคำนวนที่ให้คุณต่อบางพรรคการเมือง แต่สิ่งที่น่ากังวล หากเป็นไปตามคาดการณ์ จะถือเป็นการทำลายพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมที่รุนแรงมาก เป็นการทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรมครั้งใหญ่ที่สุด

ถามว่าหากเป็นตามที่วิเคราะห์จะยิ่งเป็นการเพิ่มช่องว่างต่อจำนวนส.ส.ฝ่ายค้าน และรัฐบาลให้มากขึ้นไปอีกหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ถ้าทำสูตรนี้สำเร็จ คาดว่าจำนวนส.ส.รัฐบาลกับฝ่ายค้าน จะห่างกันถึง 20เสียง

ถามอีกว่าหากเป็นแนวทางนี้ พรรคอนาคตใหม่คงต้องเตรียมพรรคสำรองเอาไว้ นายสุทินกล่าวว่า ก็คงไม่น่าจะทันอยู่ดี ไม่รู้ว่าวันนี้เขารู้หรือยังว่าอาจจะมีกรณีอย่างนี้ แต่ถึงอย่างไรส.ส.บัญชีรายชื่อ จะหายไปหมด ไม่มีเลย นอกจากนี้ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ ส.ส.เขตจะย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ ต้องเป็นพรรคที่มีที่นั่งหรือส.ส.ในสภาฯอยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า ในรัฐธรรมนูญใหม่ กฎหมายใหม่ ระบุตรงนี้ไว้หรือไม่    

เพื่อไทยวิเราะห์ไพบูลย์โมเดลกระทบปราตี้ลิสต์อนค.

25ส.ค.62ไทยโพสต์ 

เวลา 13.30น. ที่ห้องสมุดทักษิณ ชินวัตร ที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีการกิจกรรม จับมือดาวสภาฯเพื่อไทย โดยเชิญ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม นส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ที่ถือเป็นดาวสภาฯสำหรับพรรคเพื่อไทย มาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองการทำงานในสภาฯ รวมถึงเรื่องปูมความหลังต่างๆของแต่ละคนก่อนจะมาเป็นส.ส.

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า วันนี้เศรษฐกิจแย่ ประชาชนประสบกับปัญหาทั้งเรื่องภัยแล้ง พืชผลการเกษตรตกต่ำ ข้าวเหนียวราคาแพง ยาบ้าราคาถูก กินก่อนผ่อนทีหลัง สิ่งเหล่านี้ทำให้พี่น้องเป็นทุกข์ ซึ่งทุกข์ของพี่น้องก็คือทุกข์ของพรรคเพื่อไทยด้วย แม้เราเป็นฝ่ายค้าน ยังทำอะไรไม่ได้มากแต่ก็พยายามลงพื้นที่ไปพบประชาชน ไปรับฟังปัญหาของชาวบ้าน เราจะไม่รอช้า แม้แต่วินาทีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน นอกจากนี้พรรคจะมีแนวคิดอะไรใหม่ๆออกมาตลอดเวลา เราจะมีกิจกรรมตลอดทุกสัปดาห์ วันที่อาทิตย์ 31ส.ค. จะมีการเปิดใจ นอ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค เกี่ยวกับบทบาทการทำงาน จะนำพาพรรคไปทางไหน  

สำหรับงานดังกล่าวช่วงแรกเป็นการเปิดโอกาสให้ดาวสภาฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน พร้อมกับให้แต่ละคนบอกถึงปูมหลังความเป็นมาก่อนมาเป็นส.ส.ทำหน้าที่อะไร นายสุทิน บอกว่า เป็นครูมากว่า20ปี เป็นเจ้าของค่ายมวย เป็นหัวหน้าวงรำวงย้อนยุค นพ.ชลน่าน ระบุว่าเป็น หมอสูตินารีแพทย์ นส.จิราพร เป็นอดีตนักเรียนปริญญาโทจบจากอังกฤษ เคยทำงานช่วงหนึ่งที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในสภาฯไม่เคยเรียกพล.อ.ประยุทธ์ว่านายกฯ เพราะที่มาไม่ชอบ แต่ใช้คำว่า ผู้กำลังแถลง ผู้กำลังอภิปราย ส่วนตัวรู้สึกเวทนา พล.อ.ประยุทธ์ ที่เขาไม่ยึดมั่นระบบรัฐสภาฯ ยังมีการใช้พฤติการณ์ พฤติกรรมเหมือนทหารในค่าย เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้จักสภาฯ เลยไม่รู้ระบบ ระเบียบ บางครั้งยังหันมาขอบคุณ นายชวน เพราะเห็นว่าเป็นนายกฯ แต่สิ่งที่น่ากลัวคือเราอาจจะไม่รู้จักเขามากพอ คนถามว่าพอเจอๆพล.อ.ประยุทธ์ในสภาฯแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ก้ต้องบอกว่าดูไปเหมือนแมวเชื่องๆที่ตลกเท่านั้น แม้แกเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว แต่มักทำผิดบ่อยๆ รวมทั้งมีความเชื่อมั่นในตัวเอง แม้กรณี การถวายสัตย์ ทราบมาว่ามีการเตรียมแฟ้มคำถวายสัตย์ไว้ให้ แต่ยังไปหยิบสิ่งที่ตัวเองช็อตโน้ตมาอ่าน เลยทำให้เกิดความผิด

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในวันนี้มีกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนปฏิรูป ที่กำลังเป็นเรื่องที่พูดกันอย่างกว้างขวางในสังคม นายไพบูลย์ หากเกิดการยุบพรรคจริง ทำให้กรรมการบริหารพรรคสิ้นสภาพไปด้วย จะทำให้เรื่องคะแนนที่มีจะถือเป็นศูนย์ จะต้องนำคะแนนมาคำนวนหารกันใหม่ แล้วเมื่อคำนวนแล้ว ตัวเลขจะไปตกอยู่พรรคไหน อย่างไรก็ดีส่วนตัวกลับรู้สึกเป็นห่วงคือ พรรคข้างบ้านเราหรือพรรคอนาคตใหม่ ที่มีส.ส. 81คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50คน ส.ส.เขต 31คน หากมีการยุบพรรค คะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจจะถูกนำมาคำนวนใหม่ ที่อาจจะทำให้บางพรรค ได้ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 40คน แม้พรรคเพื่อไทยจะไม่เกี่ยว เพราะถึงนำมาคำนวนอย่างไร ก็ไม่มีผลต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ หากเป็นเช่นนั้นจริง เราจะยอมหรือ

นายสุทินกล่าวว่า สิ่งที่นพ.ชลน่าน อธิบาย คือเป็นการดักทาง กรณีนายไพบูลย์ เป็นการนำร่อง เชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคนนำประเด็นดังกล่าวไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ผลที่ออกมามี2ทาง 1.สามารถยุบพรรคประชาชนปฏิรูปได้ ทำได้อย่างถูกต้อง พรรคพลังประชารัฐเอาไพบูลย์ ไปอยู่ด้วยได้ จากนี้ไปก็อาจจะถืออันนี้เป็นโมเดล สำหรับพรรคเล็กอื่นๆนำไปใช้ 2.ถ้าศาลบอกยุบไม่ได้ ผลจากการเป็นส.ส.ของนายไพบูลย์ หลุดไปเลย และเมื่อหลุดเลย ก็เป็นไปได้ว่าที่อาจจจะมีการยุบพรรคข้างบ้านเรา ที่เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมจะส่งผลต่อสถานภาพส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ 50คน ที่อาจจะหายหมด เหลือเพียงส.ส.เขต 31คน แต่ส.ส.บัญชีรายชื่อ 50คนนี้ จะไปสังกัดที่ไหนไม่ได้เลย เรื่องนี้เราต้องตามดูกันต่อไป เหมือนเป็นการ เอากรณีไพบูลย์ 1คน ไปแลกกับอีก 50คนหรือไม่ จึงได้บอกว่า ในวันนี้สิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่ สิ่งที่ใช่เราอาจยังไม่เห็น

นายสุทินกล่าวว่า การได้มาเป็นส.ส.รอบนี้ เป็นความคุ้มค่า คาดว่าประชาชน คงอยากให้ส.ส.สะท้อนปัญหาไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ หลายคนอยากให้เราจัดหนัก จัดเต็ม เราพยายามถ่ายทอดความรู้สึกประชาชนที่อัดอั้น ไปให้ได้มากที่สุด แม้จะยังไม่หมด ก็ยังมีเวลาที่เราจะจัดการหนี้หัวใจที่จะพูดกับพล.อ.ประยุทธ์ เท่าที่ดู ในตัวพล.อ.ประยุทธ์ ยังมีอะไรที่ซ่อนเร้นอีกเยอะ แม้หลายเรื่องพยายามวางกับดัก ขุดไว้ดักพวกเรา แต่สุดท้ายก็โดนกับดักตัวเอง ขอฝากให้จับตาดูหลังจากนี้ อะไรที่เห็นอาจไม่ใช่ ที่ใช่อาจไม่เห็น อย่างเช่น การยุบพรรคเล็กไปรวมพรรคใหญ่ ซึ่งอาจจะมีอะไรอำพรางอีกเยอะ ที่ซ่อนไว้ แต่ในวันนี้ พรรคเพื่อไทย ไม่มีอะไรทำให้เรากลัว ต่อไปนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับการเมือง มันจิ๊บๆ เมื่อก่อนมองพล.อ.ประยุทธ์ เป็นเสือเป็นสิงห์ แต่เท่าที่ลองประกันดู เป็นมด เป็นแมว มากกว่า เขาเก่งในที่มืด เก่งแต่ในกติกาของเขา แต่พอออกมาในที่สภาฯแล้ว ก็เป็นเพียงแค่แมว หากวันข้างหน้าเราจะเดินหน้าต่อไป ไม่กลัวแม้แต่น้อย

นายจิรายุกล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงเกี่ยวกับพล.อ.ประยุทธ์ คือในเรื่องอารมณ์ การพูดการจาหลายครั้ง ที่พูดดูเหมือนส.ส.หรือคนฟังเป็นเด็กในโอวาท เวลาพรรคฝ่ายค้านอภิปราย พยายามสะท้อนให้เห็น ในสิ่งที่คนใกล้ตัวท่านอาจไม่กล้าพูด เราสงสัย ผู้นำประเทศ ทำไมไม่ค่อยมีความอดทน เพราะเราไมได้อยู่ในประเทศไทย แค่คนเดียว หากมีใครไปแหย่ท่าน ไปกดขีปณาวุธ ทำให้ประเทศในอาเซียนอื่นๆ เดือดร้อนไปด้วย คนรอบตัวท่าน ต้องกล้าพูดกับเจ้านาย 5ปีที่ผ่านมา มีแต่การอวยอย่างเดียว ในสภาฯพอพวกเราพูดถึงพล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีใครลุกขึ้นประท้วง แต่พอพาดพิงนายชวน สมาชิกประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงกันพรึ่บ สะท้อนให้เห็นถึงรอยร้าวบางอย่างในพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคเพื่อไทย จะตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นและสร้างสรรค์     

นส.จิราพรกล่าวว่า ครั้งแรกที่เจอพล.อ.ประยุทธ์ ตอนอภิปรายนโยบายรัฐบาล พอเห็นเขาอภิปรายแล้ว รู้สึกสงสารพล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการบริหารตัวเอง แต่ต้องพยายามแสดงศักยภาพ พอเห็นจริงๆแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีศักยภาพพอในการบริหารประเทศเลย คนเราอาจมีทั้งขาว ทั้งดำ ทั้งดี ไม่ดี แต่ส่วนดีที่เขามี ไม่ได้เป็นประโยชน์ ต่อประเทศเลย

สุตรผสมช่วยชาวนา

22ส.ค.62 ไทยรัฐ

ความเดือดร้อนของประชาชนอยู่ในพระเนตรพระกรรณตลอดเวลา

ตามภาพข่าวคณะองคมนตรีประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ เข้าประชุมร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและปัญหาภัยแล้ง

โดยปรากฏการณ์สะท้อนการแก้ไขวิกฤติ “น้ำ” ที่เป็นปัญหาซ้ำซากของประเทศไทย

ดินแดนเกษตรกรรม ถูกยกระดับเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่นอกเหนือจากภารกิจของฝ่ายการเมืองโดยลำพัง

นั่นหมายถึงการทำงานอย่างจริงๆจังๆเพื่อเนื้องานบริหารจัดการน้ำที่จับต้องได้มากกว่ารัฐบาลนักการเมืองยุคที่ผ่านๆมาที่แก้ปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอดไปเป็นปีๆ

แค่หวังหัก “หัวคิว” ส่วนต่างจากงบฯชดเชยเกษตรกรเป็นฤดูไป

และมาถึงจุดนี้ ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาแบบครึ่งๆกลางๆเท่านั้น สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดการทุจริตคอร์รัปชันซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้านต้องไม่มีแม้แต่บาทเดียว

ขณะที่อีกด้าน ตามฉากประเดิม “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เดินทางเข้าพรรคพลังประชารัฐ จัดพิธีกรรมรับตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.อย่างเป็นทางการ

ประกาศตัวแสดงตนเป็น “นักการเมืองเต็มขั้น” พร้อมปฏิบัติการ “ตีปี๊บ” ทันที จะทำให้ยี่ห้อพลังประชารัฐยิ่งใหญ่ เลือกตั้งรอบต่อไปต้องได้ที่นั่ง ส.ส.ไม่ต่ำกว่าต้นทุนปัจจุบัน 116 ที่นั่ง

“พี่ใหญ่” วางมาด “นักการเมืองอาชีพ” เต็มฟอร์ม

แต่ก่อนหน้านั้นในทางการเมืองก็ถือว่าเสียท่าเสียเหลี่ยมไม่น้อยกับการที่ พล.อ.ประวิตรนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ปล่อยให้ “อู๊ดด้า” นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

“มัดคอ” ตีกิน ประกาศประกันรายได้ราคาปาล์ม 4 บาท ครัวเรือนละ 25 ไร่

รวบรัดโชว์เป็นผลงานโบแดงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำได้ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เร่งจังหวะดึงคะแนนนิยมในปักษ์ใต้ที่ไหลทะรูดทะราดกลับมา

แกนนำรัฐบาลยี่ห้อ “พลังประชารัฐ” ที่หาเสียงเรื่องปาล์มไว้ได้แต่มองตาปริบๆ

เรื่องของเรื่อง แม้ในมุมการบริหารก็ถือว่าเป็นผลงานรวมของรัฐบาล แต่ในมุมการเมืองตามธรรมชาติของรัฐบาลผสม มันหนีไม่พ้นเรื่องของการขบเหลี่ยมเฉือนคม

เบียดซีนกันดึงคะแนนนิยม รักษาเครดิตที่หาเสียงไว้กับชาวบ้าน

เพื่อผลในการทำแต้มเลือกตั้งรอบต่อไป

ในเมื่อเกษตรกรชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน คือฐานเสียงใหญ่ของประเทศ คะแนนเป็นกอบเป็นกำ

มันก็ไม่แปลกที่จะเกิดคิว “กั๊ก” เหลี่ยมกัน ตามรูปเกมที่ยี่ห้อ “พลังประชารัฐ” ไม่มีทางยอมปล่อยให้ทีมประชาธิปัตย์ที่คุมทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตีกิน” แต้มไปเนื้อๆเน้นๆ

แบบที่ฟันประกันราคาปาล์มไปต่อหน้าต่อตา “บิ๊กป้อม”

ล่าสุดตามคิวที่ “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นั่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2562

พร้อมกับพิจารณาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2562/63

แล้วก็เป็นนายจุรินทร์ที่ให้ข่าวเองว่า นบข.ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และเห็นชอบมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในเรื่องของค่าเก็บเกี่ยว และค่าปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยการประกันรายได้ราคาข้าวเปลือก 5 ชนิด อาทิ ข้าวหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละ 14 ตัน

โดยใช้วงเงินงบประมาณ 21,000 ล้านบาทในโครงการข้าวนาปี

รวมกับการช่วยค่าเก็บเกี่ยวหรือสนับสนุนการผลิต 500 บาทต่อไร่ จำนวนครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่

สรุปเป็น “สูตรผสม” ตามรูปเกม “อุลตร้าอุตตม” นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คงงัดวิชากำลังภายใน “บี้” กับทีมประชาธิปัตย์เต็มที่

ในการเบียดแทรกนโยบาย พปชร.เอี่ยวมาตรการช่วยชาวนา

เพราะตอนหาเสียงเลือกตั้งทีมพลังประชารัฐได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำจากชาวนาทั่วประเทศ อย่างที่เห็น 2-3 วันก่อนหน้านี้ ตัวแทนสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยบุกพบนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหอกทีมยุทธศาสตร์หาเสียงพรรคพลังประชารัฐ

ทวงสัญญา พปชร. ที่หาเสียงเอาไว้ว่า ในรอบการผลิต 1 ปี จะช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว 2,000 บาทต่อไร่ รวมรายละไม่เกิน 20 ไร่ และช่วยเหลือ

ค่าปรับปรุงบำรุงดิน 1,500 บาทต่อไร่ รวมรายละไม่เกิน 20 ไร่

ขืนปล่อยประชาธิปัตย์ตีกิน “ประกันราคา” ไปเพียวๆ เอาเครดิตไปฟื้นแต้มอยู่พรรคเดียว

เลือกตั้งรอบหน้า “พลังประชารัฐ” จะเอาอะไรไปหากิน.

ทีมข่าวการเมือง

สูตรใหม่ สดทันการณ์

23ส.ค.62 ไทยรัฐ

บรรยากาศในขั้วรัฐบาลดูจะคึกคักไปทั้งองคาพยพ ตั้งแต่คิวเปิดเกมรุกของรัฐบาล “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจไม่เว้นวัน

เอาเฉพาะที่ชาวบ้านหูผึ่ง รับรู้และสัมผัสได้ตรงๆ ทั้งเติมเงินบัตรคนจน แจกเบี้ยเพิ่มคนชรา มาตรการแจก 1 พันหนุนภาคการท่องเที่ยว อุ้มสินค้าการเกษตร ปาล์ม ยางพารา ล่าสุดประกันราคาข้าว ฯลฯ

ยิงสลุตออกมาแบบนี้ “ประชาชน-นิยม” แฟนๆชื่นชอบแน่นอน

เท่านั้นไม่พอ ที่ปลากระดี่กำลังตื่นน้ำกันเป็นแถว บรรดานักการเมืองถึงช่วงเวลานาทีทองโดยแท้จริง จากเลือกตั้งพลังดูดมหาศาลมโหฬาร วันนี้ที่มัดจำไว้-มัดใจล่วงหน้าเป็นผล

ค่ายเล็กพรรคน้อยทยอยตบเท้าเข้าเป็นแนวร่วมรัฐบาล จากพรรคเศรษฐกิจใหม่ที่แตกตัว 4 รายจ่อเข้าหนุนแต้มรัฐบาล พรรคประชาชนปฏิรูปขอยุบตัวเอง ประกาศสลายร่างเป็นไพร่พลพลังประชารัฐ

และให้จับตาแม้แต่ในพรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่ พลังไดโว่ลายพรางเริ่มทำงาน

คิว 3 ส.ส.สุรินทร์เพื่อไทยที่ไปรอต้อนรับคณะท่านผู้นำตรวจภัยแล้งภาคอีสาน เป็นตัวอย่าง ไม่ได้เผอเรอ แต่ตั้งใจกันเลย เอ่ยปากอวยรัฐบาลต่อหน้า “บิ๊กตู่” ขอให้อยู่นานๆ อยู่ครบเทอม 4 ปี

เอกสิทธิ์แห่งความรักความชอบของ ส.ส.เริ่มไม่เม้ม ถึงคิวสำคัญ ประเภทแอบแซ่บ คงแสดงตัว

ตามสูตรอมตวาจาทางการเมือง “เป็นฝ่ายค้าน อดอยากปากแห้ง”

ซุบซิบกันแซ่ดว่ามีรายการ “ตกเขียวลายพราง” ไว้อีกอื้อ สแตนด์บายในคิวสำคัญอันใกล้ ทั้งศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คิวซักฟอกก่อนปิดสภาฯ และการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 2563 ที่พลาดไม่ได้

ยังรวมถึงพรรคอนาคตใหม่ที่แฉโพยไว้ ลูกค่ายถูกตามจีบพักใหญ่ พร้อมเงื่อนไขหลายกำปั้น ยั่วยวนใจยิ่ง

ในจังหวะที่พลพรรคสำนัก “พ่อของฟ้า” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชักแผ่วเสียง ชะลอความเคลื่อนไหวไปแบบผิดสังเกต มีเพียงงานในสภาฯเล็กๆน้อยๆที่ขับเคลื่อนกันอยู่เวลานี้

จนคาดเดาไปต่างๆนานา อาจเพราะใกล้ถึงห้วงระทึก ทั้งคดีถือครองหุ้นสื่อ ชนักให้พรรคกู้ยืมของ “ธนาธร” ใกล้ถึงบทสรุปพลิกคว่ำพลิกหงาย ไปจนถึงคำร้องขอยุบพรรค ที่ก็ยังไว้วางใจไม่ได้

“ธนาธร” อาจกำลังซุ่มปรับกลยุทธ์สู้ ในห้วง “อนาคตใหม่” ชวนระทึกถึงอนาคต

แต่ที่คึกคักขึ้นมาสวนทาง พรรคเพื่อไทย หลังสงบศึกมหกรรม “นางสิงห์เชือดนางเสือ” กันชั่วคราว นอกจากแก้เกม “ดูด” จากฝั่งรัฐบาลแล้ว ยังเร่งจัดทัพยกเครื่องใหม่

ในยุคเพื่อไทยผสมสูตร 2 นางสิงห์ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” นั่งแท่นหัวหน้าพรรค “ผู้การป๊อบ” น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค และ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานยุทธศาสตร์

ประกาศเข้าสู่ยุคปฏิรูปเป็น “New เพื่อไทย” สู่เป้าหมาย “สถาบันทางการเมือง”

ยึดธีม “New-ใหม่” โน่น นี่ นั่น ทั้งนิวคัลเจอร์ นิวซิสเต็ม เปิดโชว์หลายโปรเจกต์ ทั้งโอเพ่นสเปซ พื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาตั้งวงดื่มชากาแฟ พูดคุยแลกเปลี่ยน ตั้งทีม “จิ๋วแต่แจ๋ว” ทำในเรื่องที่ประชาชนสนใจ ตรวจสอบคอร์รัปชันแบบเกาะติดทุจริตของรัฐบาล ไปจนถึงโครงการยุทธการผูกเสี่ยว หาพื้นที่ให้ชาวบ้านขายของ

งานนี้เห็นชัด แม่งานใหญ่ไม่พ้นประธานยุทธศาสตร์ “เจ๊หน่อย” เริ่มปรับภาพลักษณ์สร้างแบรนด์ภาพจำสำหรับคนรุ่นใหม่ ขยับเข้าไปหนุนกิจกรรมยังเจนฯ เช่น กีฬาอี-สปอร์ต

ถือว่า “เจ๊หน่อย” มองไกล สร้างฐานเพิ่มคนรุ่นใหม่ในห้วงสถานการณ์ไม่สู้ดี ชนักคดีติดตัวบิ๊กเนมแกนนำอื้อ

เอาเฉพาะที่ติดบ่วงคดีจ่ายเงินเยียวยาวผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ร่วมวง ครม.รัฐบาล “อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ลุ้นระทึก ป.ป.ช. เตรียมสรุปชี้ขาดปลายปี

ไล่เรียง ครม.ชุด “ปู ยิ่งลักษณ์” ถ้าไปพร้อมๆกัน แกนนำเพื่อไทยก็ไปเกือบทั้งแผง

ไม่แปลกที่ถึงคิวเพื่อไทยต้องสร้างคนทดแทนไว้ ในตำราเดียวกับค่ายสีส้ม ขายของใหม่และสด

เพียงแต่ในสถานการณ์การเมืองเชี่ยวกราก ที่เร่งจัดทัพสดใหม่ไว้เป็นอนาคตของพรรค

ไม่รู้จะทันรับศึก บู๊ยันเกมบุกทัพรัฐบาลได้หรือเปล่า.

ทีมข่าวการเมือง

ทีมงูเห่าสแตนบายด์

24ส.ค.62 ไทยรัฐ


แต้มสีสันบรรยากาศการเมือง เปลี่ยนเรื่องเม้าท์จากโหมดเดิมๆ

ตามคิวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกาศบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ 414 ส.ส.ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.

โชว์กรุสมบัติเรียกเสียงฮือฮาถึงทรัพย์สินของเหล่าเจ้าสัวทางการเมืองหลายราย

ที่ร่ำรวยทะลุหลักพันล้านไปจนถึงระดับจนไม่น่าเชื่อ มีเงินในธนาคารอยู่แค่ 5,000 กว่าบาท

อวดรวย อวดจนให้ชาวบ้านได้เห็นหน้าตักของแต่ละคนมีทุนแน่นหนาอยู่แค่ไหน

นั่นก็เป็นแค่ประเด็นคั่นจังหวะ ช่วยเบนความสนใจจากปมร้อนๆการเมืองได้แค่ครู่เดียว ตามฉากเสียวไส้ที่รออยู่ตรงหน้าของ “บิ๊กตู่”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

โดยเฉพาะปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ที่ “บิ๊กตู่” ยังแก้ไม่ตก

ต้องรอลุ้นมติของผู้ตรวจการแผ่นดินในวันที่ 27 ส.ค.จะตัดตอนช่วย “ลุงตู่” เคลียร์ประเด็นปัญหาตั้งแต่ต้นทาง หรือส่งเรื่องต่อให้ศาล

รัฐธรรมนูญชี้ขาด ไปวัดดวงกันต่อไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ผลสุดท้ายจะออกมาในทางลบ หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด “นายกฯลุงตู่” ทำผิดรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การตั้งรัฐบาลเรือเหล็กเป็นโมฆะ

เท่ากับยังไม่มี ครม.ชุดใหม่ ทุกอย่างก็จะวนกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่

โดยสภาพที่รัฐบาล คสช.ก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม อย่างที่ “ลุงตู่” เปรยไว้ “ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ผ่าน รัฐบาลเก่าได้กลับมา”

“ลุงตู่” ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาในทิศทางใดก็มีทางเบี่ยงได้อยู่ต่อ

แต่ที่เลี่ยงไม่ได้แน่ๆศึกอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่ล่าสุดนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุเป็นญัตติด่วนเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯเรียบร้อยแล้ว

เปิดฟลอร์ให้ฝ่ายค้านได้ซ้อมใหญ่ ซักฟอก “ลุงตู่” ในปมถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วน ในต้นเดือน ก.ย.นี้

ฝ่ายค้านสบโอกาสขยี้ ในภาวะที่รัฐบาลก็พะอืดพะอม กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในการชี้แจง

แต่ถึงยังไงรัฐบาลก็คงผ่านแรงเสียดทานไปได้ เพราะเป็นแค่การเปิดอภิปรายโดยไม่มี

การลงมติ ไม่มีผลต่อสถานะความอยู่รอดของรัฐบาล

อย่างมากเป็นได้แค่เวทีให้ฝ่ายค้านปล่อยของ ระบายอารมณ์ และเป็นเวทีให้ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทดลองงานในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ช่วยประคอง “น้องเล็ก” ไม่ให้บอบช้ำมากนักในเวทีซ้อมย่อย

ก่อนจะถึงศึกใหญ่เวทีพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของจริงที่ “ลุงตู่” ต้องตั้งหลักรับมือให้ดีในภาวะหมิ่นเหม่เสียงปริ่มน้ำ

ยังไงก็ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางไปต่อให้ได้

อย่างที่เห็นอาการแปร่งๆล่าสุดของลูกทีมพรรคเศรษฐกิจใหม่

ของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ต่อให้จัดฉากนำลูกพรรคมายืนกรานขอล่มหัวจมท้ายอยู่กับฝ่ายค้าน

แต่ก็ยังเห็นร่องรอยการปันใจไปอยู่ร่วมรัฐบาล ตามปรากฏการณ์แบะท่าของ ส.ส.บางรายที่ขอสงวนสิทธิลงมติไม่ไปในทางเดียวกับฝ่ายค้านในทุกเรื่อง

ตั้งท่าโหวตสวนมติพวกเดียวกัน ส่งสัญญาณแยกตัวเป็นอิสระเป็นจ๊อบๆ

อารมณ์ในทำนองเดียวกับท่าทีของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม และ นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ที่ออกหน้าออกตาเชียร์

“ลุงตู่” ระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.สุรินทร์

จนถูกคนในพรรคหมั่นไส้ เล่นกันแรงๆถึงขั้นตั้งแท่นชงให้พรรคสอบวินัยและจริยธรรม เพราะแปลเจตนาแล้ว คงไม่ใช่แค่เรื่องกลอนพาไป อวยนายกฯแลกกับงบประมาณในพื้นที่ตามที่แกนนำพรรคช่วยแก้ต่างให้

ฝ่ายค้านก็ออกอาการแกว่ง ความเป็นเอกภาพภายในทีมชักไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหมือนช่วงแรกๆ

แต้มในมือทำท่าหล่นหาย ทั้งคนในทีมนายใหญ่และพรรคเล็กพรรคน้อยตั้งท่าเป็นแนวร่วมรัฐบาล

ยังไม่นับรวมพรรคประชาชนปฏิรูปของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ยื่นยุบพรรคตัวเองเปลี่ยนสีเสื้อมาอยู่ค่ายพลังประชารัฐ

ไดโว่ลายพรางขยับทำงาน ต่อลมหายใจรัฐบาล อิทธิฤทธิ์ พลังดูด

กลับมาติดเครื่องใหม่ ในห้วงที่ทุกแต้มมีความสำคัญยิ่งยวด และมีราคาค่างวด

เปิดช่องงูเห่าภาคสองเพ่นพ่านสแตนด์บายรองรับนาทีฉุกเฉิน!!!

ทีมข่าวการเมือง

เปิดยุทธการณ์กดดันรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำใกล้ถึงจุดแตกหัก

หัวใจสำคัญการทำงานของฝ่ายค้าน มีบทบาทตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล

ฝ่ายค้านยิ่งทำหน้าที่ได้ดีมากเท่าไหร่ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ชี้ให้เห็นถึงการทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาล ให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

แต่ฝ่ายค้านทำงานยาก เพราะกลไกรัฐธรรมนูญลดอำนาจ ส.ส.และสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจน้อยลง

อำนาจไปอยู่ที่รัฐบาล รวมถึงองค์กรอิสระและภาครัฐ

ประกอบกับบริบททางสังคมแตกแยกอยู่ แบ่งเป็นฝ่าย เป็นสี

บ้านเมืองยังไม่เปลี่ยนผ่านและตกอยู่ในสถานการณ์ความเจ็บปวดมาหมาดๆ

ทำให้ฝ่ายค้านเล่นบทตรวจสอบเข้มข้นอาการเกเรรัฐบาลไม่ได้

สังคมอาจแหยงกับความขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นมาอีก ต้องถนอมจิตใจประชาชนมากพอสมควร

ถือเป็นปัญหาใหญ่ในการทำงานของสภาฯ

เช่น วันนี้นายกรัฐมนตรีเข้าข่ายทำผิดกฎหมายมาตลอด จากประเด็นเบาๆจนถึงประเด็นหนัก

อาทิ กรณีนำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อทำผิดแล้วยังเพิกเฉย ไม่แก้ไขปัญหาที่เป็นบรรทัดฐานทางประเพณีมิบังควรปฏิบัติกับสถาบัน

ครั้งเดินหน้ากรณีนี้เต็มสูบ ก็เกิดกลุ่มความคิดหนึ่งจากสังคมว่า ฝ่ายค้านเหมือนหาเรื่องเอาความขัดแย้งเดิมหรือเอาอคติเดิมมาเล่นกันต่อ ละเลยปัญหาปากท้องชาวบ้าน

ฝ่ายค้านก็ระมัดระวังการทำหน้าที่ ความจริงความผิดนี้สามารถเดินหน้าสุดลิ่ม ให้รัฐบาลรับผิดชอบให้ได้ ประกอบกับรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้เต็มที่

หรือกรณีพรรคเพื่อไทยนำเสนอประเด็นที่แหลมคมบนข้อมูลที่ถูกต้อง อีกฝ่ายก็บิดเบือนต้องการให้สังคมมองว่าเราผิด โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงว่าใช่หรือไม่

หรือการเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อีกฝ่ายก็พยายามสร้างภาพและเบี่ยงเบนให้สังคมเห็นว่าเสื้อแดงฝ่ายทักษิณเอาอีกแล้ว

รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านได้สำเร็จและยั่งยืน

อีกฝ่ายหนึ่งต้องการคงอยู่ในอำนาจและสกัดฝ่ายค้านทำหน้าที่

ก็สร้างวาทกรรมบิดเบือน ให้สังคมเห็นว่าฝ่ายค้านขวางแก้ปัญหาปากท้อง มุ่งมั่นเฉพาะแก้รัฐธรรมนูญ

อีกเรื่องที่เป็นอุปสรรคใหญ่ คือ อำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมืองยังคงดำรงอยู่

โดยเฉพาะผู้นำกองทัพแสดงทัศนคติคุกคามการเมืองเป็นระยะๆ ยิ่งเมื่อไหร่ฝ่ายค้านกำลังตรวจสอบการบริหารงานรัฐบาลด้วยความเข้มข้นขึ้น ท่าทีกองทัพก็ออกมาปรามฝ่ายค้าน ขู่ถึงขั้นยึดอำนาจ ทำให้เราทำงานก็ต้องชำเลืองมองกองทัพตลอด

ฉะนั้นอุปสรรคใหญ่ของฝ่ายค้านคือ รัฐธรรมนูญ กองทัพและบริบททางสังคม

เราต้องวางยุทธศาสตร์การทำงานทั้งในและนอกสภาฯ


ในสภาฯเดินหน้าทำหน้าที่เต็มที่โดยสุจริตใจ ไม่สะเปะสะปะ ยึดกติกา ฟังเสียงของสังคมให้มากขึ้น

นอกสภาฯก็ระมัดระวังในการพูด เพราะมีฝ่ายต้องการบิดเบือนหรือเบี่ยงเบนประเด็น ให้สังคมตีความได้ว่าเราเล่นการเมืองข้างถนน เราก็ต้องเน้นทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น

โดยเฉพาะประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ กลไกตามรัฐธรรมนูญแทบปิดประตู ลำพังเสียงในรัฐสภาต่อให้เรายกสองมือก็เสียงไม่พอ ยังแก้ไม่ได้

ก็ต้องค่อยๆชี้แจงชาวบ้านให้เห็นว่าเราไม่มีวาระแอบแฝง ต้องการแก้เพื่อให้สังคมเป็นประชาธิปไตย ประเทศเดินหน้าไปได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแก้ไขปัญหาปากท้อง

แต่ก็ไม่ง่าย ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้มวลชนที่หนุนและต้านลุกขึ้นมาปะทะกัน

วันนี้ฝ่ายค้านจำเป็นต้องปรับยุทธวิธีทำหน้าที่บนฐานความรู้ บนฐานข้อมูล

ภายใต้การท่องคาถาสุจริตใจเป็นที่ตั้ง ลดใช้สำนวนโวหาร ลีลา หรือแท็กติก

เห็นได้จากเวลา ส.ส.พรรคเพื่อไทยอภิปรายในสภาฯ ทุกคนต้องผ่านการอบรมเข้าค่ายและมีศูนย์สนับสนุนข้อมูลป้อนผู้อภิปราย ที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้อาจจะยังไม่เห็นข้อแตกต่าง ต่อไปจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ทีมการเมือง ถามว่ากรณีถวายสัตย์ฯ ในสภาฯตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านกระทู้สด และขยับเป็นอาวุธหนักขึ้นเสนอเป็นญัตติขออภิปรายทั่วไป และการนำเสนอนอกสภาฯจะลุยเรื่องนี้อย่างไร

นายสุทิน บอกว่า นอกสภาฯเน้นการแก้รัฐธรรมนูญและปัญหาปากท้องชาวบ้าน เพื่อรับฟังข้อมูลจากประชาชนผ่านรูปแบบกิจกรรมต่างๆ เช่น การเสวนา ก่อนนำเอาตะกอนเรื่องนั้นๆเสนอศูนย์ข้อมูลสนับสนุนการอภิปรายในสภาฯ

รวมปัญหาการทุจริตจากการบริหารงานของรัฐบาล จะเปิดจากนอกสภาฯก่อน เพื่อค่อยๆนวดและขยายประเด็นในสภาฯ นายสุทินบอกว่า แต่ละประเด็นหากเริ่มนับหนึ่งนอกสภาฯได้ เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชน แล้วในสภาฯรับไม้สองไม้สามต่อ ก็ตรงกับสโลแกน “ประชาชนคิดเพื่อไทยทำ”

เฉกเช่นกรณีการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นจากนอกสภาฯมีนักกฎหมาย นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแจ้งให้ทราบ และนำไปหารือในสภาฯก่อนวันแถลงนโยบายรัฐบาล

โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย หรือผมที่เป็นคนหยิบยกขึ้นมาพูดในสภาฯ

แต่เรื่องนี้ชุดนอกสภาฯก็ต้องนำเอาข้อเท็จจริงไปคุยให้ชาวบ้านได้ทราบถึงข้อเท็จจริงทั้งในแง่นิติประเพณี ในแง่กฎหมายหรือกลไกการทำงานของสภาฯ

เราแสดงความสุจริตใจโดยไม่ได้มุ่งเน้นล้มรัฐบาล เห็นได้จากเริ่มจากมาตรการขั้นเบาไปหาหนัก จากการหารือในสภาฯ ไม่ได้ผลีผลามยื่นอภิปรายล้มรัฐบาลเลย

ทั้งหมดได้เตือนนายกฯและให้โอกาสนายกฯชี้แจง ชี้แจงได้ก็จบ ปรากฏว่าไม่ยอมชี้แจงและชี้แจงไม่เคลียร์ เราก็เตือนอีก ถามกระทู้สดก็ไม่มาตอบและค่อนข้างท้าทาย ก็กดดันโดยการสัมภาษณ์ นายกฯก็บอกจะแก้ปัญหาด้วย

ตัวเองว่ารับผิดชอบ สุดท้ายก็ไม่แก้ไข

เป็นที่มาของการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป วางขุนพลไว้สัก 10-15 คนก็พอ

ปมนี้ยิ่งนานยิ่งหาทางออกยาก ถ้ารู้ปัญหาก็รีบแก้ไข อาทิ ขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนการถวายสัตย์ฯไม่ครบก็ทำถวายสัตย์ฯให้ครบ ไม่เช่นนั้นก็มีคำถามว่าเป็นรัฐบาลโดยสมบูรณ์หรือไม่

จะแก้ปัญหาอย่างไรต่อ เราก็ยังคิดไม่จบ หรือนายกฯจะลาออกเพื่อเริ่มกระบวนการนายกฯใหม่ ถ้ามั่นใจว่ากลับมาได้ก็ไม่มีใครว่า แต่ควรทำให้ถูกตามรัฐธรรมนูญ

สมมติองค์กรอิสระชี้ออกมาว่าถวายสัตย์ฯไม่สมบูรณ์ รัฐบาลตกเป็นโมฆะ การบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา จัดทำงบประมาณแผ่นดิน มติ ครม.ต่างๆมีปัญหาตามมาหรือไม่

จึงเห็นว่าถ้าปล่อยให้รัฐบาลเดินไปข้างหน้าประเทศจะเสียหายไปมากกว่านี้

ถึงวันนั้นสังคมก็คงชี้หน้าฝ่ายค้านว่าทำไมไม่ตรวจสอบหรือท้วงติง

ทั้งหมดขอย้ำอีกครั้งว่าเราไม่ได้จ้องล้มรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยวางยุทธศาสตร์นวดรัฐบาลตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวันเลือกตั้ง จะได้รณรงค์หาเสียงได้ง่าย นายสุทิน บอกว่า คิดอย่างนั้นก็ได้ ถือว่านวดไปเรื่อยๆและการตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้นจนถึงขั้นน็อกเอาต์

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพฤติกรรมรัฐบาล หากไม่สร้างปัญหาขึ้นมา ฝ่ายค้านก็นวดไม่ได้

แต่รัฐบาลกลับสร้างปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นบริหารราชการแผ่นดิน

ตั้งแต่ถวายสัตย์ฯไม่ครบ แถลงนโยบายไม่สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ

มันจำเป็นต้องนวดให้สังคมมีอารมณ์ร่วม

สุดท้ายเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ.

ทีมการเมือง