PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

เปิดยุทธการณ์กดดันรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำใกล้ถึงจุดแตกหัก

หัวใจสำคัญการทำงานของฝ่ายค้าน มีบทบาทตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล

ฝ่ายค้านยิ่งทำหน้าที่ได้ดีมากเท่าไหร่ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ชี้ให้เห็นถึงการทำหน้าที่ควบคุมรัฐบาล ให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา

แต่ฝ่ายค้านทำงานยาก เพราะกลไกรัฐธรรมนูญลดอำนาจ ส.ส.และสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจน้อยลง

อำนาจไปอยู่ที่รัฐบาล รวมถึงองค์กรอิสระและภาครัฐ

ประกอบกับบริบททางสังคมแตกแยกอยู่ แบ่งเป็นฝ่าย เป็นสี

บ้านเมืองยังไม่เปลี่ยนผ่านและตกอยู่ในสถานการณ์ความเจ็บปวดมาหมาดๆ

ทำให้ฝ่ายค้านเล่นบทตรวจสอบเข้มข้นอาการเกเรรัฐบาลไม่ได้

สังคมอาจแหยงกับความขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นมาอีก ต้องถนอมจิตใจประชาชนมากพอสมควร

ถือเป็นปัญหาใหญ่ในการทำงานของสภาฯ

เช่น วันนี้นายกรัฐมนตรีเข้าข่ายทำผิดกฎหมายมาตลอด จากประเด็นเบาๆจนถึงประเด็นหนัก

อาทิ กรณีนำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วนถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ

เมื่อทำผิดแล้วยังเพิกเฉย ไม่แก้ไขปัญหาที่เป็นบรรทัดฐานทางประเพณีมิบังควรปฏิบัติกับสถาบัน

ครั้งเดินหน้ากรณีนี้เต็มสูบ ก็เกิดกลุ่มความคิดหนึ่งจากสังคมว่า ฝ่ายค้านเหมือนหาเรื่องเอาความขัดแย้งเดิมหรือเอาอคติเดิมมาเล่นกันต่อ ละเลยปัญหาปากท้องชาวบ้าน

ฝ่ายค้านก็ระมัดระวังการทำหน้าที่ ความจริงความผิดนี้สามารถเดินหน้าสุดลิ่ม ให้รัฐบาลรับผิดชอบให้ได้ ประกอบกับรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้เต็มที่

หรือกรณีพรรคเพื่อไทยนำเสนอประเด็นที่แหลมคมบนข้อมูลที่ถูกต้อง อีกฝ่ายก็บิดเบือนต้องการให้สังคมมองว่าเราผิด โดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงว่าใช่หรือไม่

หรือการเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล อีกฝ่ายก็พยายามสร้างภาพและเบี่ยงเบนให้สังคมเห็นว่าเสื้อแดงฝ่ายทักษิณเอาอีกแล้ว

รวมถึงการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้านได้สำเร็จและยั่งยืน

อีกฝ่ายหนึ่งต้องการคงอยู่ในอำนาจและสกัดฝ่ายค้านทำหน้าที่

ก็สร้างวาทกรรมบิดเบือน ให้สังคมเห็นว่าฝ่ายค้านขวางแก้ปัญหาปากท้อง มุ่งมั่นเฉพาะแก้รัฐธรรมนูญ

อีกเรื่องที่เป็นอุปสรรคใหญ่ คือ อำนาจนอกระบบแทรกแซงการเมืองยังคงดำรงอยู่

โดยเฉพาะผู้นำกองทัพแสดงทัศนคติคุกคามการเมืองเป็นระยะๆ ยิ่งเมื่อไหร่ฝ่ายค้านกำลังตรวจสอบการบริหารงานรัฐบาลด้วยความเข้มข้นขึ้น ท่าทีกองทัพก็ออกมาปรามฝ่ายค้าน ขู่ถึงขั้นยึดอำนาจ ทำให้เราทำงานก็ต้องชำเลืองมองกองทัพตลอด

ฉะนั้นอุปสรรคใหญ่ของฝ่ายค้านคือ รัฐธรรมนูญ กองทัพและบริบททางสังคม

เราต้องวางยุทธศาสตร์การทำงานทั้งในและนอกสภาฯ


ในสภาฯเดินหน้าทำหน้าที่เต็มที่โดยสุจริตใจ ไม่สะเปะสะปะ ยึดกติกา ฟังเสียงของสังคมให้มากขึ้น

นอกสภาฯก็ระมัดระวังในการพูด เพราะมีฝ่ายต้องการบิดเบือนหรือเบี่ยงเบนประเด็น ให้สังคมตีความได้ว่าเราเล่นการเมืองข้างถนน เราก็ต้องเน้นทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น

โดยเฉพาะประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ กลไกตามรัฐธรรมนูญแทบปิดประตู ลำพังเสียงในรัฐสภาต่อให้เรายกสองมือก็เสียงไม่พอ ยังแก้ไม่ได้

ก็ต้องค่อยๆชี้แจงชาวบ้านให้เห็นว่าเราไม่มีวาระแอบแฝง ต้องการแก้เพื่อให้สังคมเป็นประชาธิปไตย ประเทศเดินหน้าไปได้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแก้ไขปัญหาปากท้อง

แต่ก็ไม่ง่าย ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้มวลชนที่หนุนและต้านลุกขึ้นมาปะทะกัน

วันนี้ฝ่ายค้านจำเป็นต้องปรับยุทธวิธีทำหน้าที่บนฐานความรู้ บนฐานข้อมูล

ภายใต้การท่องคาถาสุจริตใจเป็นที่ตั้ง ลดใช้สำนวนโวหาร ลีลา หรือแท็กติก

เห็นได้จากเวลา ส.ส.พรรคเพื่อไทยอภิปรายในสภาฯ ทุกคนต้องผ่านการอบรมเข้าค่ายและมีศูนย์สนับสนุนข้อมูลป้อนผู้อภิปราย ที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้อาจจะยังไม่เห็นข้อแตกต่าง ต่อไปจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ทีมการเมือง ถามว่ากรณีถวายสัตย์ฯ ในสภาฯตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านกระทู้สด และขยับเป็นอาวุธหนักขึ้นเสนอเป็นญัตติขออภิปรายทั่วไป และการนำเสนอนอกสภาฯจะลุยเรื่องนี้อย่างไร

นายสุทิน บอกว่า นอกสภาฯเน้นการแก้รัฐธรรมนูญและปัญหาปากท้องชาวบ้าน เพื่อรับฟังข้อมูลจากประชาชนผ่านรูปแบบกิจกรรมต่างๆ เช่น การเสวนา ก่อนนำเอาตะกอนเรื่องนั้นๆเสนอศูนย์ข้อมูลสนับสนุนการอภิปรายในสภาฯ

รวมปัญหาการทุจริตจากการบริหารงานของรัฐบาล จะเปิดจากนอกสภาฯก่อน เพื่อค่อยๆนวดและขยายประเด็นในสภาฯ นายสุทินบอกว่า แต่ละประเด็นหากเริ่มนับหนึ่งนอกสภาฯได้ เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชน แล้วในสภาฯรับไม้สองไม้สามต่อ ก็ตรงกับสโลแกน “ประชาชนคิดเพื่อไทยทำ”

เฉกเช่นกรณีการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นจากนอกสภาฯมีนักกฎหมาย นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแจ้งให้ทราบ และนำไปหารือในสภาฯก่อนวันแถลงนโยบายรัฐบาล

โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย หรือผมที่เป็นคนหยิบยกขึ้นมาพูดในสภาฯ

แต่เรื่องนี้ชุดนอกสภาฯก็ต้องนำเอาข้อเท็จจริงไปคุยให้ชาวบ้านได้ทราบถึงข้อเท็จจริงทั้งในแง่นิติประเพณี ในแง่กฎหมายหรือกลไกการทำงานของสภาฯ

เราแสดงความสุจริตใจโดยไม่ได้มุ่งเน้นล้มรัฐบาล เห็นได้จากเริ่มจากมาตรการขั้นเบาไปหาหนัก จากการหารือในสภาฯ ไม่ได้ผลีผลามยื่นอภิปรายล้มรัฐบาลเลย

ทั้งหมดได้เตือนนายกฯและให้โอกาสนายกฯชี้แจง ชี้แจงได้ก็จบ ปรากฏว่าไม่ยอมชี้แจงและชี้แจงไม่เคลียร์ เราก็เตือนอีก ถามกระทู้สดก็ไม่มาตอบและค่อนข้างท้าทาย ก็กดดันโดยการสัมภาษณ์ นายกฯก็บอกจะแก้ปัญหาด้วย

ตัวเองว่ารับผิดชอบ สุดท้ายก็ไม่แก้ไข

เป็นที่มาของการยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป วางขุนพลไว้สัก 10-15 คนก็พอ

ปมนี้ยิ่งนานยิ่งหาทางออกยาก ถ้ารู้ปัญหาก็รีบแก้ไข อาทิ ขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนการถวายสัตย์ฯไม่ครบก็ทำถวายสัตย์ฯให้ครบ ไม่เช่นนั้นก็มีคำถามว่าเป็นรัฐบาลโดยสมบูรณ์หรือไม่

จะแก้ปัญหาอย่างไรต่อ เราก็ยังคิดไม่จบ หรือนายกฯจะลาออกเพื่อเริ่มกระบวนการนายกฯใหม่ ถ้ามั่นใจว่ากลับมาได้ก็ไม่มีใครว่า แต่ควรทำให้ถูกตามรัฐธรรมนูญ

สมมติองค์กรอิสระชี้ออกมาว่าถวายสัตย์ฯไม่สมบูรณ์ รัฐบาลตกเป็นโมฆะ การบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา จัดทำงบประมาณแผ่นดิน มติ ครม.ต่างๆมีปัญหาตามมาหรือไม่

จึงเห็นว่าถ้าปล่อยให้รัฐบาลเดินไปข้างหน้าประเทศจะเสียหายไปมากกว่านี้

ถึงวันนั้นสังคมก็คงชี้หน้าฝ่ายค้านว่าทำไมไม่ตรวจสอบหรือท้วงติง

ทั้งหมดขอย้ำอีกครั้งว่าเราไม่ได้จ้องล้มรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยวางยุทธศาสตร์นวดรัฐบาลตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวันเลือกตั้ง จะได้รณรงค์หาเสียงได้ง่าย นายสุทิน บอกว่า คิดอย่างนั้นก็ได้ ถือว่านวดไปเรื่อยๆและการตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้นจนถึงขั้นน็อกเอาต์

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพฤติกรรมรัฐบาล หากไม่สร้างปัญหาขึ้นมา ฝ่ายค้านก็นวดไม่ได้

แต่รัฐบาลกลับสร้างปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นบริหารราชการแผ่นดิน

ตั้งแต่ถวายสัตย์ฯไม่ครบ แถลงนโยบายไม่สอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ

มันจำเป็นต้องนวดให้สังคมมีอารมณ์ร่วม

สุดท้ายเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ.

ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: