PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

Band of Brothers ‘พี่ป้อม-น้องตู่’ยังร้องเพลงเดียวกัน ทัพไทยระส่ำ เสือข้ามห้วย

Band of Brothers ‘พี่ป้อม-น้องตู่’ยังร้องเพลงเดียวกัน ทัพไทยระส่ำ เสือข้ามห้วย กับ’บิ๊กปุย-บิ๊กต๊อก-บิ๊กกบ’ เมื่อฟ้าลิขิตชีวิต ‘บิ๊กเข้’จับตา’บิ๊ก ต.ติ่ง’ ทหารเสือ’พลสอง’

ย่อมเป็นธรรมดา ที่ “เสือ 2 ตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้” จึงทำให้มีการจับตามองว่า 2 พยัคฆ์จากแดนบูรพา อย่าง 2 พี่น้อง บิ๊กตู่กับบิ๊กป้อม จะอยู่ด้วยกันไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่
เพราะแม้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้เป็นน้อง จะเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ผู้มีอำนาจสูงสุด แถมมีมาตรา 44 ในมือ
แต่ทว่าก็ไม่อาจขาดบารมีที่แฝงอำนาจของบิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นพี่ใหญ่ ทั้งในสายบูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี
ว่ากันว่า ถ้ามีแต่ พลเอกประยุทธ์ การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่เพราะว่า นี่มีพลเอกประวิตร พี่ใหญ่ และเสริมด้วยบิ๊กป๊อก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่รอง จึงทำให้มีวันนี้
แต่เสียงซุบซิบ เรื่องรอยร้าวในใจของพี่ป้อมกับน้องตู่ ก็มีออกมาเป็นระยะๆ เพื่อให้ฝ่ายต่อต้าน คสช.ได้ลุ้น
เพราะฝ่ายตรงข้ามรู้ดีว่า ในสถานการณ์ที่ขั้วอำนาจแข็งแกร่งเช่นนี้ แถมเป็นหนึ่งเดียวกับกองทัพ ย่อมไม่มีอะไรมาล้มล้าง คสช.ได้ นอกจากพวกเดียวกันเอง
การจับคู่เสี้ยม ระหว่างบิ๊กตู่กับบิ๊กป้อม ก็จึงเกิดขึ้นเสมอๆ
อย่างในระยะหลังๆ นี้ พลเอกประวิตรและพลเอกประยุทธ์ มักจะแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อในประเด็นต่างๆ แบบที่เรียกว่า ไปคนละทาง
ทั้งท่าทีรอมชอมที่มีต่อคุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ โดยบิ๊กป้อมไม่ได้ห้าม ในการที่จะนัดพบปะนักการเมืองเพื่อช่วยหาทางออกประเทศ แต่ขอแค่ว่าอย่าทำผิดกฎหมาย
ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ ไม่ต้องการให้มีการพบปะกัน เพราะรู้ว่าปกติก็เจอกันเงียบๆ อยู่แล้ว
“หากจะคุยกัน ไว้ผมจะเป็นคนนัดเอง แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลา” พลเอกประยุทธ์ เปรยแนวคิดปรองดองที่วางแผนไว้
แต่เบื้องต้น ขอแค่นักการเมืองไปเจรจากับพวกคนที่ทำผิดให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียก่อน ก็ถือว่าช่วยชาติได้แล้ว
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะ “ลูกเกรงใจ” เนื่องจากพลเอกประวิตรรู้จักกับคุณหญิงสุดารัตน์มานาน แม้จะออกตัวว่าไม่ได้สนิทสนมใกล้ชิดก็ตาม
อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า พลเอกประวิตรมักถูกพาดพิงเสมอว่ามีการตั้งก๊วนกับนักการเมืองและนายทุน เพื่อเตรียมตั้งพรรคการเมือง ทั้งพรรค คสช. พรรคทหาร หรือจะหนุนหลังพรรคนอมินีทหาร
หรือแม้แต่ข่าว ปฏิบัติการปรองดองแบบเงียบๆ ของพลเอกประวิตร ที่มีทีมงานส่วนตัวพยายามเจรจากับแกนนำพรรคและกลุ่มต่างๆ จนทำให้มีข่าวออกมาเสมอๆ ถึงรัฐบาลปรองดองฯ และนายกฯคนนอกที่มีชื่อของ พลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตร ออกมาเสมอๆ
โดยเฉพาะการที่พลเอกประวิตรมีสายสัมพันธ์กับหลายขั้วการเมือง แม้แต่ในพรรคเพื่อไทยเอง หรือคนใกล้ชิดอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เพราะต้องไม่ลืมว่าสายสัมพันธ์เหล่านั้นมีส่วนทำให้พลเอกประวิตรได้เป็น ผบ.ทบ. ในยุคชินวัตร
แม้แต่ความสัมพันธ์กับคุณหญิงอ้อ พจมาน ดามาพงศ์ จนเคยมีข่าวออกมาว่าคุณหญิงอ้ออาจมากุมบังเหียนพรรคเพื่อไทย แบบเปิดตัว และเป็นตัวเลือกนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง
แน่นอนว่า กระแสข่าวเหล่านี้ พลเอกประยุทธ์ก็คงต้องจับตามอง แต่ก็เชื่อว่าพี่ชายไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ หรือว่าอาจจะเตรียมการไว้เพื่อน้องชายหรือไม่
จนอาจทำให้เกิดความหวาดระแวงกันเองเกิดขึ้น ว่าใครไปเคลื่อนไหวในทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร
แต่พลเอกประวิตรก็ออกมาปฏิเสธเสียงแข็งทุกครั้ง
“อายุปูนนี้แล้ว หมดงาน คสช.นี้ก็ไม่เอาแล้ว ไม่ตั้งพรรค ไม่เล่นการเมือง อยากพักผ่อนแล้ว รู้ตัวว่าร่างกายไปไม่ไหวแล้ว” พลเอกประวิตรยืนกราน
จึงไม่แปลกที่ก่อนหน้านี้จะมีข่าว พลเอกประวิตรถอดใจ อยากจะลาออกเพราะเรื่องอายุและสุขภาพ
รวมถึงความคิดเห็นในหลายเรื่องไม่ตรงกับพลเอกประยุทธ์ จนทำให้เกิดการ “เบรก” ข้อเสนอ หรือแนวคิดของบิ๊กป้อมอยู่เนืองๆ ทั้งแบบเปิดเผยและแบบเงียบๆ
โดยเฉพาะการที่ พลเอกประยุทธ์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของพลเอกประวิตร ที่ให้ขึ้นแบล๊กลิสต์วัยรุ่นที่ทะเลาะวิวาทเพื่อให้เป็นทหารเกณฑ์ เมื่ออายุถึงเกณฑ์ แบบไม่ต้องจับใบดำใบแดงเลย
ด้วยเพราะเกรงว่าจะทำให้ภาพพจน์ของทหารเกณฑ์เสียหาย หากเอาคนไม่ดีมาอยู่ แถมหวั่นจะทิ้งเพื่อนเมื่ออยู่ในสนามรบ
ทั้งๆ ที่แนวคิดนี้ได้รับการขานรับอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกณฑ์ทหารแล้วให้ส่งลงไปที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จนถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างบิ๊กตู่และบิ๊กป้อม หรือไม่
“ไม่มี ไม่ได้ขัดแย้ง แค่คิดกันคนละทาง” บิ๊กป้อมสยบข่าว
แต่เพราะตนเองมองว่า หากเอาเด็กวัยรุ่นเหล่านี้มาฝึกทหาร จะสามารถฝึกให้เป็นคนดีได้
“ไม่เป็นไร คิดหาวิธีใหม่ อาจจะให้เอามาฝึกมาอยู่ในค่ายทหารสัก 3-5 เดือน” บิ๊กป้อมเผย
แต่แน่นอนว่า ผู้คนก็ย่อมแปลกใจว่าทำไม 2 พี่น้อง ไม่คุย ไม่นัดแนะกันก่อนที่จะพูดออกสื่อมาแล้วไปคนละทาง
“ไม่เคยคุยกับนายกฯเลยว่าวันนี้จะพูด จะให้สัมภาษณ์เรื่องอะไร จะต้องพูดยังไง ไม่มี แต่เจอกันคุยกันทุกวัน ไม่มีวันไหนที่ไม่ได้คุยกันเลย แต่ส่วนใหญ่จะคุยแต่เรื่องงาน ประเด็นต่างๆ ไม่ได้คุยเรื่องการออกสื่อ” พลเอกประวิตรแจง
พร้อมยืนยันว่า ไม่มีทางที่ตนเองกับพลเอกประยุทธ์ จะขัดแย้งกันได้ แต่คิดแตกต่างในแต่ละเรื่องนั้น มีได้ เป็นเรื่องธรรมดา
“ผมเป็นคนตรงไปตรงมา ทำอะไรก็ยอมรับ ถ้าพูดอะไรออกไป คือเรื่องจริง แต่ถ้าเรื่องไหนพูดออกไปไม่ได้ ก็ไม่พูด แค่นั้น แต่จะไม่โกหก” พลเอกประวิตรกล่าว
“ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมผมโดนพาดพิง โดนปล่อยข่าวลือนั่นนี่ตลอด ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยทำ และไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ” บิ๊กป้อมแจงข่าว ไปแอบพูดคุยกับสายชินวัตร หรือนักการเมือง เพื่อเตรียมปรองดอง
จนทำให้พลเอกประยุทธ์ออกมาแฉว่าถูกกดดันให้ปรองดอง ให้ยอมพูดคุย ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะไม่สงบ ถูกกดดันให้ซูเอี๋ย แต่จะไม่ยอมปรองดองกับคนที่ทำผิดกฎหมาย หากไม่ยอมมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝ่ายที่ต้องการปรองดอง รอมชอม ไปเข้าหาทางพลเอกประวิตรแทน
“ไม่มีๆ ผมเป็นคนไม่ปิดบังหรอก มีอะไรก็บอกตรงๆ มีอะไรผมก็คุย ปรึกษานายกฯตลอดอยู่แล้ว” พลเอกประวิตรกล่าว
แต่เรื่องที่กำลังถูกจับตามองว่าพี่ป้อมกับน้องตู่ ได้คุยกันหรือยัง ในเรื่องการวางตัวแม่ทัพนายกองชุดใหม่ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ.
แม้จะยังไม่มีใครล่วงรู้อนาคตว่า ผบ.ทบ. คนที่ 40 จะเป็นบิ๊กเจี๊ยบ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผช.ผบ.ทบ. สายรบพิเศษขั้วบ้านสี่เสา หรือบิ๊กแกละ พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร เสธ.ทบ. สายวงษ์สุวรรณ
แต่คนใน ทบ. ก็ยังเชื่อว่า ไม่ว่าจะยังไง บิ๊กเข้ พลโทเทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 ก็เตรียมที่จะขึ้นจ่อเป็น ผบ.ทบ. คนต่อจากนั้น
แม้จะมีเสียงจากตึกไทยคู่ฟ้ากระซิบมาว่าบิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยังไงก็ไม่เอาพลเอกพิสิทธิ์เป็น ผบ.ทบ. ก็ตาม
แต่สายบูรพาพยัคฆ์ บ้าน ร.1 รอ. เชื่อว่า ในที่สุดพลเอกประยุทธ์ก็ต้องยอมให้พี่ใหญ่เป็นคนตัดสินใจเลือก ผบ.ทบ.
เพราะไม่เช่นนั้น พลเอกประยุทธ์จะขอร้องให้บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็น รมว.กลาโหม ทำไม
เพราะก็ต้องให้เกียรติ ผู้เป็นเจ้ากระทรวงปืนใหญ่ ที่คุมกองทัพ และสายงานความมั่นคง
สูตรอำนาจ ที่แพร่สะพัดใน ทบ.เวลานี้ จึงเป็นสูตรที่จะให้ พลเอกพิสิทธิ์ เตรียมทหาร 17 ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก่อน 1 ปี แล้วต่อด้วยพลโทเทพพงศ์ ที่เกษียณกันยายน 2561
โดยในการโยกย้ายกันยายนนี้ ที่กำลังจัดทำโผกันอยู่ พลโทเทพพงศ์จะได้เป็นพลเอก ในห้าเสือ ทบ.แน่นอน เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทบ.ในอนาคต
“ผมเฉยๆ นะ ไม่ได้รู้สึกอะไรกับข่าวที่ออกมาว่าเป็นตัวเต็ง เพราะคนที่ตัดสินใจคือผู้บังคับบัญชา” บิ๊กเข้กล่าว
โดยที่กระแสข่าว หรือการแห่แหนห้อมล้อม ไม่ได้ทำให้ตนเองรู้สึกใดๆ เพราะมีหลักคิดในใจที่ว่า
“ฟ้าได้ลิขิตทุกอย่างไว้หมดแล้ว ว่าใครจะเป็นอะไร” พลโทเทพพงศ์ระบุ
นั่นจึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้เขาปล่อยวางการศึกการแย่งชิงเก้าอี้มาตั้งแต่ต้น
“คนเราถ้ามีธรรมะในใจ ทุกอย่างก็จะดี ปล่อยวาง ไม่ติดยึด” บิ๊กเข้เปรย
นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พลโทเทพพงศ์ กลายเป็นที่ยอมรับในกองทัพบก ว่าเป็นนายทหารที่อารมณ์สุขุม นุ่มนิ่งอย่างที่สุด
ไม่ว่าจะอารมณ์ไหน สีหน้า หน้าตาและแววตาก็จะมีอารมณ์เดียว คือนิ่งและยิ้ม
“ในชีวิตนี้แทบจะไม่ค่อยได้โกรธใคร” บิ๊กเข้เผย
ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะโชคดีที่ได้เพื่อนร่วมงาน พี่ๆ และน้องๆ ที่ดี ทำงานเข้าขากันได้
จึงไม่แปลกที่ใครที่เคยเป็นลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชาของพลโทเทพพงศ์ จะแทบไม่เคยได้ยินบิ๊กเข้แผดเสียงดัง ตะโกน หรือสบถ
เพราะปกติ บิ๊กเข้เป็นนายทหารที่สุภาพมาก ไม่พูดคำหยาบแม้แต่ “กู” “มึง”
แม้จะพูดกับลูกน้อง ก็จะใช้สรรพนามแทนตนเองว่า พี่ กับน้อง หรือเรียกชื่อ
ส่วนคำว่า กู มึง นั้น จะใช้แต่กับเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 18 เท่านั้น
ด้วยความเป็นนายทหารที่สุขุม นิ่งเงียบนี่เอง ที่ทำให้พี่ๆ 3 ป. ทั้ง ป.ป้อม ป.ป๊อก และ ป.ประยุทธ์ จับตามองมานาน จนทำให้เขาถูกเรียกว่าเป็นน้องรักของทั้ง 3 ป.
เพราะก็เคยอยู่กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) เป็นทหารเสือราชินีมาด้วยกัน เห็นนิสัยใจคอ และฝีมือในการทำงานมาเป็นอย่างดี
แม้จะเงียบและยิ้ม แต่ในเรื่องความเด็ดขาดของพลโทเทพพงศ์นั้น เป็นที่ยอมรับ
ส่วนหนึ่ง อาจเป็นผลมาจากการที่พลโทเทพพงศ์ หักดิบ ยุติการเป็นสิงห์อมควัน เลิกสูบบุหรี่ได้ในชั่วข้ามคืน
นั่นคือ เมื่อเขารับตำแหน่งผู้พัน ร.21 พัน 3 รอ. เขาก็เลิกสูบบุหรี่ทันที แล้วก็ไม่แตะต้องมันอีกเลย
ที่ดูจะคล้ายๆ พลเอกประยุทธ์ ที่ก็เลิกบุหรี่ตอนที่ได้เป็นผู้บังคับกองพัน
พลโทเทพพงศ์ เป็นทั้ง ผบ.ร.21 พัน 3 และ ร.21 พัน 2 รอ. ซึ่งก็ถือว่าสุดยอดของทหารเสือราชินี เพราะในที่สุดก็ขึ้นเป็น ผบ.ร.21 รอ. เดินตามไลน์รุ่นพี่ๆ ทั้ง พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอกประยุทธ์ และบิ๊กโด่ง พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ที่ก็เป็น ผบ.ร.21 รอ. ต่อเนื่องกันมา
สำหรับการเป็นนายทหารเสือราชินี ที่เติบโตใน พล.ร.2 รอ. กองพลบูรพาพยัคฆ์ จนได้เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. นั้น ถือได้ว่าได้เดินมาในเส้นทางเหล็กสู่เก้าอี้ ผบ.ทบ.
เพราะจาก ผบ.พล.ร.2 รอ. เขาก็ขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และแม่ทัพน้อยที่ 1 ก่อนมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในการโยกย้ายเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา
และคาดกันว่าเขาจะขึ้นเป็นเสนาธิการทหารบกในก้าวต่อไป สู่ห้าเสือ ทบ.
ด้วยบุคลิกเช่นนี้ พลโทเทพพงศ์ จึงถูกมองว่าเป็นคนที่พี่ๆ 3 ป. มองว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สุด
และสถานภาพของรัฐบาล คสช. จึงจำเป็นต้องเลือกผู้นำกองทัพที่รู้ใจและไว้วางใจได้แบบล้านเปอร์เซ็นต์
พลโทเทพพงศ์ คือคำตอบและตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด แถมทั้งเป็นนายทหารที่ไม่ค่อยพูด หรือเรียกได้ว่าพูดเท่าที่จำเป็น เหมาะแก่การทำงานชั้นความลับ
แต่เห็นเงียบๆ ก็ใช่ว่าบิ๊กเข้จะพูดไม่เป็น เพราะเขาก็มีวาทศิลป์ และความเป็นผู้นำอยู่เต็มตัว
แม้จะดูขี้อาย แต่ทว่าก็สามารถที่จะขึ้นเวทีร้องเพลงได้เมื่อจำเป็น เพราะการเป็นทหารเสือราชินีในสมัยก่อน ก็จำเป็นต้องร้องเพลงในยามที่มีงานเลี้ยง
แต่ทว่า การที่เขาหน้าแดงอยู่ตลอดเวลานี่ ไม่ใช่เพราะขี้อาย แต่เพราะหน้าตาเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก หน้าแดงมาตลอด
แต่ที่แน่ๆ เขาเป็นที่รักของพี่ๆ โดยเฉพาะบิ๊กตู่ ที่เอ็นดูรักใคร่ จากเดิมที่ชื่อเล่นว่า “จิ๋ว” ก็ตั้งใหม่เป็น “เข้” โดยไม่มีใครรู้ว่าทำไม หรือเพราะเขาเป็นคนที่มีหน้าอารมณ์เดียว ไม่แสดงออกว่าร้อนหนาวอย่างไรหรือไม่
ท่ามกลางทุกสายตาที่รอลุ้นแทนเขาว่า ใครจะเป็น ผบ.ทบ. เพราะมีผลโดยตรงต่ออนาคตของพลโทเทพพงศ์อย่างยิ่ง
เพราะหาก พลเอกเฉลิมชัย รุ่นพี่เตรียมทหาร 16 เป็น ผบ.ทบ. นั่นหมายถึงโอกาสที่เขาจะเป็น ผบ.ทบ.ต่อ ก็น้อยลง เพราะพลเอกเฉลิมชัยอายุน้อย เกษียณกันยายน 2561 พร้อมบิ๊กเข้ที่เป็นรุ่นน้อง
แม้จะมีสูตรอำนาจที่ว่าจะให้ พลเอกเฉลิมชัย เป็น ผบ.ทบ.แค่ 1 ปี แล้วโยกย้ายกันยายน ปี 2560 จะขยับไปเป็น ผบ.สส. นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนขึ้นนั่ง ผบ.ทบ.แล้ว ใช่ว่าจะมาย้ายกันได้ง่ายๆ หรือแม้ว่าจะมีสัญญิงสัญญากันไว้ก่อนกับพลเอกประยุทธ์ก็ตาม
แต่ตอนนี้ที่ บก.กองทัพไทย ก็หนาวๆ ร้อนๆ กันแล้ว เพราะมีโอกาสที่จะเจอ “เสือข้ามห้วย” มาเสียบยอด
อันจะทำให้แผนการวางตัว ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแบบระยะยาว ตั้งแต่ยุคบิ๊กเจี๊ยบ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกฯ เมื่อครั้งเป็น ผบ.สส. จะสะเทือน
เพราะเมื่อบิ๊กเต้ พลเอกสมหมาย เกาฏีระ เกษียณราชการกันยายนนี้ ก็จะเสนอชื่อบิ๊กปุย พลเอกสุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เสนาธิการทหาร เพื่อน ตท.15 เป็น ผบ.สส. คนใหม่แทน
โดยมีการวางตัวบิ๊กต๊อก พลเอกธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ รองเสนาธิการทหาร ให้เป็น เสธ.ทหาร เพื่อจ่อเป็น ผบ.สส.คนต่อไป
ไม่แค่นั้น มีการวางตัวบิ๊กกบ พลเอกพรพิพัฒน์ เบญญศรี หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำ ผบ.สส. ให้เป็นรองเสธ.ทหาร เพื่อจ่อขึ้นเป็น ผบ.สส.คนต่อไป
แต่ข่าวที่สะพัดแรงใน บก.ทัพไทยเวลานี้ คือ เมื่อพลเอกเฉลิมชัยไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. ก็จะต้องถูกส่งข้ามมา บก.กองทัพไทย ในตำแหน่งรอง ผบ.สส. และด้วยอายุราชการถึงกันยายน 2561 ก็ทำให้เขาลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.สส.ในอนาคตได้
จนมีข่าวว่า พลเอกธารไชยยันต์ จะต้องขยับไปเป็น ผบ.หน่วยทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) ที่อาจทำให้เสียจังหวะในการก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ ผบ.สส.
ข่าวหนึ่งก็เพราะว่าเก้าอี้รอง ผบ.สส. หรือเสนาธิการทหาร จะเปิดช่องไว้รองรับนายทหารที่อกหักจากกองทัพบก และอีกข่าวหนึ่งก็เปิดช่องให้บิ๊กต๊อก พลเอกหัสพงศ์ ยุวนวรรธนะ ผบ.หน่วยทหารพัฒนา ขยับขึ้นมา
ดังนั้น จึงเข้าตำราที่ว่า ถ้าตำแหน่ง ผบ.ทบ. ยังไม่ลงตัว ตำแหน่งอื่นๆ ก็ต้องรอ แต่เชื่อกันว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้คงเห็นกันชัดเจน
ขณะที่เส้นทางเหล็กของ ทบ.อีกสายหนึ่ง จากเดิมที่สมัยก่อนเป็นยุคของวงศ์เทวัญนั้น จาก ผบ.พัน ผู้การกรม ใน ร.1 รอ. และ ร.11 รอ. หรือ ร.31 รอ. แล้ว ต้องขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. แล้วก็ขี้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 แล้วก้าวสู่ ผบ.ทบ.
แต่ในช่วงกว่า 10 ปีให้หลังมานี้ ในยุคทองของบูรพาพยัคฆ์ เส้นทางเหล็กได้เปลี่ยนจาก ผบ.พล.1 รอ. มาเป็นคนที่ต้องผ่าน ผบ.พล.ร.2 รอ. ก่อนขึ้นรองแม่ทัพภาคที่ 1 และเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เช่น เส้นทางของพลเอกอนุพงษ์ พลเอกประยุทธ์ และพลโทเทพพงศ์
นี่จึงทำให้บิ๊กติ่ง พลตรีสันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผบ.พล.ร.2 รอ. ถูกจับตามองทันทีที่เขาถูกส่งจาก ผบ.มทบ.11 ที่นั่งมาแค่ 6 เดือน กลับไปเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. หน่วยต้นกำเนิด
ที่สำคัญ การที่เขาเป็นเตรียมทหารรุ่น 22 แถมมีอายุราชการถึงกันยายน 2565 จึงทำให้เขาถูกจับตามองว่าอนาคตจะถึงเก้าอี้ ผบ.ทบ.หรือไม่
เพราะเมื่อหันกลับไปดูเส้นทางเดินของพลตรีสันติพงศ์ ก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดา เพราะผ่านมาทุกตำแหน่งในสายคอมแมนด์
เพราะเขาเป็นทหารเสือราชินีมาตั้งแต่กำเนิด เพราะโตมาใน ร.21 รอ. ตั้งแต่เป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก ร.21 พัน 2 รอ. ค่ายนวมินทราชินี เป็นผู้บังคับกองร้อย จนเป็น ผบ.ร.21 พัน 2 รอ. นานถึง 4 ปี
ก่อนขยับป็น เสธ.ร.21 รอ. รอง ผบ.ร.21 รอ. และเป็น ผบ.ร.21 รอ. ท็อปสุดของหน่วยทหารเสือราชินี
ในช่วงนี้ เขาถูกจับตามองว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะแทนที่จะขึ้นเป็นรอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ตามไลน์ แต่เขากลับต้องไปเป็นรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบก 14 (มทบ.14)
ทั้งๆ ที่เขาเป็นที่รักของน้องๆ มีความเป็นผู้นำ รักเพื่อนพี่น้อง ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาทุกสนาม แถมฝีมือเป็นที่ยอมรับ เพราะเป็นทั้งครูสอนหลักสูตรทหารเสือราชินี และเป็นนักบู๊ นักรบ ที่ชอบกระโดดร่มมาเป็นพันครั้ง
แต่จากนั้นเขาก็กลับเข้าไลน์มาเป็นรอง ผบ.พล.ร.2 รอ. แล้วมาเป็นนายพลติดยศพลตรี ผบ.มทบ.11 แค่ 6 เดือน ก็ได้กลับไปผงาดเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. เมื่อโยกย้ายเมษายน 2559 ที่ผ่านมา
ท่ามกลางการจับตามองว่า เส้นทางเหล็ก ที่เคยพาดผ่านกรุงเทพฯ วนเวียนแต่ในกรุงเทพฯ ที่มีเก้าอี้ ผบ.พล.1 รอ. เป็นแรงส่งมาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ได้เปลี่ยนมาเป็นเส้นทางเหล็ก ที่พาดผ่านไปทางบูรพาทิศ จากเก้าอี้ ผบ.พล.ร.2 รอ. มากว่า 10 ปีแล้วนั้น จะเปลี่ยนทิศจากนี้หรือไม่
ทั้งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 คนใหม่ ที่จะมาจากอดีต ผบ.พล.1 รอ. อย่างบิ๊กแดง พลโทอภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพน้อยที่ 1
หรือจะเป็นบูรพาพยัคฆ์อีกครา อย่างบิ๊กตู่ พลตรีกู้เกียรติ ศรีนาคา รองแม่ทัพภาคที่ 1
หรือว่าจะกระโดดข้ามไปเป็นบิ๊กณัฐ พลโทณัฐ อินทรเจริญ รองเสธ.ทบ. ลูกรักของพลเอกประวิตร ที่โตมาจาก ผบ.พล.ร.9 แต่ทว่าก็โตมาจากแดนทหารเสือและบูรพาพยัคฆ์ ก่อนด้วยนั่นเอง
เพราะมีการตั้งข้อสังเกตว่า ให้ระวังการตัดสินใจของพลเอกประวิตร ที่อาจยึดแนวทางเหมือนตอนที่เลือกบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็น ผบ.ตร. เพราะแม้จะอายุราชการในเวลานั้นเหลือตั้ง 5 ปี แถมไม่ได้อาวุโสสูงสุด
ที่อาจทำให้พลเอกประวิตรจะเลือกความมั่นใจ วางใจได้แบบล้านเปอร์เซ็นต์ ด้วยการให้ลูกรักอย่างพลโทณัฐ ที่มีอายุราชการถึงกันยายน 2564 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เลย แม้ว่าเส้นทางเดินอาจจะไม่สวยงามเท่าพลโทอภิรัชต์ และพลตรีกู้เกียรติ เพื่อน ตท.20 ด้วยกันก็ตาม
แต่ทว่าเก้าอี้ ผบ.ทบ.นั้น หากพลเอกพิสิทธิ์ได้คว้าชัย ก็จะเป็นการขีดเส้นทางเหล็กใหม่ เพราะเขาเป็นทั้ง ผบ.พล.1 รอ. และ ผบ.พล.ร.2 รอ. สมกับที่เป็นบูรพาเทวัญ ที่โตมาจากทั้ง 2 กองพล
แต่หากจบลงที่พลเอกเฉลิมชัย ก็จะทำให้เส้นทางเหล็กสู่เก้าอี้ ผบ.ทบ. เปลี่ยนทิศกลับไปยังลพบุรี เมืองทหาร ดินแดนแห่งรบพิเศษหมวกแดงอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้ครองเก้าอี้ ผบ.ทบ.มานาน 101 ปี นับตั้งแต่บิ๊กบัง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็น ผบ.ทบ. เมื่อปี 2549
ที่เขียนประวัติศาสตร์ให้ตนเอง ด้วยการนำปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
จนทำให้วันนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า ดวงชะตาที่ทหารรบพิเศษจะได้กอบกู้ชาติบ้านเมือง จะวนกลับมาอีกครั้งหรือไม่ หากพลเอกเฉลิมชัยเป็น ผบ.ทบ.
แต่ย่อมไม่ใช่การรัฐประหารซ้อน ล้ม คสช. เช่นที่บรรดาฝ่ายต่อต้าน คสช. เชียร์พลเอกเฉลิมชัย เพราะรอลุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกองทัพนั่นเอง เพราะรู้ว่า พลเอกเฉลิมชัย เป็นสายของบิ๊กแอ้ด พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกฯ ของคณะปฏิวัติ คมช. ที่นำโดยพลเอกสนธิ และเป็นสายบ้านสี่เสาเทเวศร์อีกด้วย
เพราะขุมกำลังในกองทัพภาคที่ 1 ยังคงเป็นคนของพลเอกประวิตร และพลเอกประยุทธ์ ในแทบจะทุกหัวระแหง
ดังนั้น จึงกลับมาสูตรอำนาจที่ แม่ทัพภาคที่ 1 จึงต้องเป็นคนที่บิ๊กตู่และบิ๊กป้อมวางใจได้ล้านเปอร์เซ็นต์เช่นกัน
การเลือก ผบ.ทบ. และแม่ทัพภาคที่ 1 ของบิ๊กตู่และบิ๊กป้อม ในการโยกย้ายครั้งนี้ อาจจะเป็นจุดพลิกผันหรือจุดเปลี่ยนของ คสช. และของชาติบ้านเมืองเลยก็เป็นได้

สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเตรียมสละราชสมบัติ

สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเตรียมสละราชสมบัติ
สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากสำนักพระราชวังว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ มีพระราชประสงค์จะสละราชสมบัติในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยมีพระราชดำรัสว่า ทรงไม่ต้องการครองราชสมบัติต่อไปหากจะต้องลดการปฏิบัติพระราชกรณียกิจลง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางสำนักพระราชวังได้เสนอให้ตัดลดพระราชกรณียกิจเนื่องจากทรงเจริญพระชนมายุมากถึง 82 พรรษาแล้ว และพระพลานามัยไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ มีพระราชประสงค์จะสละราชสมบัติเนื่องจากการที่ทรงชราภาพ หรือเพราะทรงมีแผนที่จะสละราชสมบัติแก่มกุฎราชกุมารนารุฮิโตะในช่วงเวลานี้อยู่แล้ว ส่วนกฎมณเฑียรบาลของราชวงศ์ญี่ปุ่นไม่ได้กำหนดเรื่องช่วงเวลาในการสละราชสมบัติไว้แต่อย่างใด
ปัจจุบันสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะทรงครองราชย์มาเป็นเวลาทั้งสิ้น 27 ปี โดยขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ พระราชบิดา เมื่อปี 1989

ไม่อยู่ เมืองไทย ทั้งพี่ป้อม น้องตู่...



ไม่อยู่ เมืองไทย ทั้งพี่ป้อม น้องตู่...
นายกฯไป มองโกเลีย ประชุมASEM 14-16กค. ส่วน พลเอกประวิตร ก็ไปบรูไน. คาดมอบ "รองนายกฯ" เป็นรักษาการนายกฯ
นายกฯ เตรียมบินมองโกเลีย14-16กค.นี้เพื่อประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป(Asia-Europe Meeting-ASEM) ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกฯและ รมว.กห. พร้อมคณะ มีกำหนดการเดินทางไป เนการาบรูไนดารุสซาลาม (บรูไน) 14-16กค.นี้ เพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๐ พรรษา สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ใน 15 ก.ค.59 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไน ตามพระราชประสงค์เชิญของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน.
โดย พลเอกประวิตร มีกำหนดเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน พร้อมกับร่วมพระราชพิธีสวนสนามและงานพระราชทานเลี้ยงอาหารคำ่

"บิ๊กป้อม” การันตี ขอให้สบายใจ แม้ ร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ ก็เลือกตั้ง60 แน่นอน



"บิ๊กป้อม” การันตี ขอให้สบายใจ แม้ ร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ ก็เลือกตั้ง60 แน่นอนเผย เตรียมการรองรับไว้แล้ว แต่ เชื่อ ประชามติผ่าน ยันขบวนการทำ รธน.ปลอม มีส่วนน้อย สั่งตืดตามอยู่
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การแจกจ่ายรัฐธรรมนูญปลอมในภาคเหนือว่า เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบอยู่ และตำรวจต้องหาทางจับตัวให้ได้ส่วนกระบวนการใต้ดินนั้น พลเอกประวิตร คิดว่าเป็นส่วนน้อยไม่ใหญ่โตอะไร ติดตามอยู่ตลอดเวลา เราต้องการให้เกิดความสงบ แต่มีบางคนและบังเอิญสื่อก็ชอบที่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ยืนยันว่าไม่มีความวุ่นวาย
เมื่อถามว่าจะส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของประชาชนในส่วนของเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่หรอก ประชาชนคงเข้าใจ นักข่าวยังเข้าใจประชาชนจะไม่เข้าใจได้อย่างไร
เมื่อถามว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ประชามติต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อร่างใหม่หรือไม่ พลเอกประวิตร กล่าวว่า เขาเตรียมไว้เรียบร้อยหมดแล้ว. ไม่จำเป็นต้องบอกสื่อตอนนี้ ตนยังไม่รู้อะไรทั้งสิ้นตอบอะไรไม่ได้
เมื่อถามว่าแนวทางการรับมือจะดำเนินการอย่างไร รองนายกฯกล่าวว่า ตนยังไม่คิด และไม่คิดด้วยว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ต้องค่อยๆดูไป. ไม่เป็นไร. ยังมีห้วงเวลาอยู่ เวลาทันอยู่แล้ว เอาเป็นว่าเลือกตั้งได้แน่นอน
เมื่อถามว่าต้องบอกทางออกแก่ประชาชนก่อนลงประชามติ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่จำเป็น ผ่านไม่ผ่านก็แล้วแต่ แต่จะทำอย่างไรให้ไปสู่การเลือกตั้งปี 60 ให้ได้ ไม่ว่าจะยังไงก็มีมาตรการรองรับอยู่แล้วไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน มาตรการรองรับต้องมีถ้าไม่มีคงแย่

แต่ต้องคิดไว้หลายแบบ และโรดแมปก็ประกาศไว้ชัดเจนอยู่แล้ว สิ่งที่คนต้องการคือการเลือกตั้ง เมื่อรับรู้กันตรงนั้นก็จบ

เมื่อถามว่า รัฐบาลเล็งมือกฎหมายเก่งๆไว้บ้างหรือยัง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวเขาดูกันเอง ผมจะไปเล็งใครได้ แต่ยันยืนว่าทันเลือกตั้งปี60 แน่นอน

พลเอกประวิตร”เตือนพระ อย่าก่อม็อบ



พลเอกประวิตร”เตือนพระ อย่าก่อม็อบ วอนเข้าใจนายกฯไม่ได้เข้าข้างไหน แต่ยังเสนอตั้ง"สังฆราช"ไม่ได้ เพราะจะขัดแย้ง รอจังหวะเหมาะสม และยังอยู่ในคดี
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าถึงกรณีที่พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการ ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เตรียมเคลื่อนไหว ภายใน 7 วัน หากยังไม่มีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเรื่องนี้ นายกฯพูดชัดเจนหมดแล้วว่าจะทำอย่างไร
"ทางมหาเถระสมาคมหรือพระสงฆ์ทั้งหมดต้องเข้าใจนายกฯด้วยไม่ใช่ว่าจะไปเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ต้องดูด้วยว่าช่วงระยะเวลาไหนที่เหมาะสม ดูช่วงไหนที่จะไม่เกิดความขัดแย้งนายกฯก็จะทำ"
เมื่อถามว่าการชุมนุมของพระก่อนหน้านี้มีภาพของทหารเข้าระงับการเหตุจนเกิดภาพการปะทะกัน ครั้งนี้เป็นห่วงว่าจะเกิดเหมือนเดิมหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่น่าจะเกิด นายกฯอธิบายชัดเจนแล้ว
“คณะสงฆ์ต้องเข้าใจและเห็นใจรัฐบาล รัฐบาลจะเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ได้ และตอนนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว นายกฯจะไปขัดหรือดึงไว้ทำไม ไม่มีความจำเป็นต้องดึงเวลาไว้ "
ส่วนตัวผมคิดว่าพระสงฆ์เข้าใจว่ารัฐบาลไม่มีเจตนา ที่จะเอียงเข้าฝ่ายโน้นเอียงเข้าฝ่ายนี้เห็นๆกันอยู่ ทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย
ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องส่งทหารไปทำความเข้าใจก่อน ขนาดต่างประเทศยังเข้าใจเลย พวกเรากันเองทำไมจะไม่เข้าใจ

"บิ๊กตู่" ลั่น "ผมรักอเมริกา".....แต่ อย่าจุ้น คนไทยทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ดีกันเอง



"บิ๊กตู่" ลั่น "ผมรักอเมริกา".....แต่ อย่าจุ้น คนไทยทะเลาะกัน เดี๋ยวก็ดีกันเอง
นายกฯใช้เวทีพบคนไทยในอเมริกา เตือนสหรัฐฯว่า ตอนนี้บ้านเราทะเลาะกันอยู่ เดี๋ยวก็ดีกันเอง ขออเมริกาอย่ามาร่วมทะเลาะด้วย ยันนำประเทศสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว ยันไม่ฝืน"ประชาธิปไตย"แต่อย่าใช้สร้างความขัดแย้ง ยอมรับการเมืองไทยขัดแย้ง ทะเลาะเดี๋ยวดีกัน ขออเมริกาอยาร่วมทะเลาะ เปรย ผมรักอเมริกา รอไทยสงบพาครอบครัวเที่ยวอเมริกา

ที่ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวให้โอวาทแก่คณะเยาวชนไทยในสหรัฐอเมริกาโครงการมรดกไทยคืนถิ่น ครั้งที่ 6 และคณะเยาวชนไทยในเขตมิดเวสต์ของสหรัฐอเมริกาเยือนถิ่น ครั้งที่ 1 ในโอกาสเข้าพบ และเดินทางมาทัศนศึกษาที่ประเทศไทย

นายกฯกล่าวในตอนหนึ่งว่า ตนมีความยินดีที่ได้ต้อนรับเยาวชนที่มีสายเลือดคนไทย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีมา 183 ปี"สายสัมพันธ์นี้ไม่สามารถตัดขาดกันได้ "
โดยเฉพาะพวกเราคนไทยด้วยกันเอง ซึ่งการมาเยือนแผ่นดินแม่ในวันนี้ ขอให้ทุกคนภาคภูมิใจว่าอย่างน้อยทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย แผ่นดินนี้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเดินอย่างเต็มภาคภูมิ เพราะทุกคนมีสายเลือดของความเป็นไทย

วันนี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ถึงแม้เราจะเป็นรัฐบาลที่มาในลักษณะอย่างนี้ แต่ยืนยันว่าที่จะก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในอนาคตโดยเร็วที่สุด ในระยะเวลาอันใกล้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งเรื่องการเป็นประชาธิปไตย คือการมีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมของการเป็นคนไทย และสหรัฐฯ

นายกฯ กล่าวว่า เราทุกคนต้องมาร่วมมือกันวางรากฐานของโลกใบนี้ ตนไม่ได้มองแค่ประเทศไทย หรือสหรัฐฯ แต่มองว่าทุกคนต้องการให้โลกใบนี้เป็นอย่างไร ทุกคนต้องการความสงบสุข เป็นโลกที่มีความเป็นพี่น้อง และร่วมมือกันรักษาทรัพยากรให้กับคนรุ่นหลัง รัฐบาลไทยกำลังเร่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือกัน สำหรับคนไทยแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเคารพรักสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นคนไทยก็ยังให้ความสำคัญกับ 3 สถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เสมอมา

"ทุกคนถือเป็นทูตวัฒนธรรมที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น และต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมา การจะทำอะไรในวันข้างหน้า จะต้องดูถึงการทำงานที่ผ่านมา ถ้าเราลืมสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปมันจะไปไม่ได้ทั้งหมด แล้วจะเกิดความขัดแย้งต่อไปในอนาคตมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะคนรุ่นเก่าจะหายไป ทุกคนมุ่งแต่การพัฒนาประเทศจนบางครั้งก็ลืมความสัมพันธ์ที่ผ่านมา ผมไม่ได้ต่อว่าสหรัฐฯ เพียงแต่คนรุ่นเก่าหายไปเรื่อย ๆ ในฐานะคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องสืบสานความสัมพันธ์ต่อไป

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งกับผมว่า ถ้าเราไม่รู้ความเป็นมาของเราว่ามาจากไหน สืบเชื้อสายมาจากใคร เราจะรักประเทศของเราได้อย่างไร เพราะความภาคภูมิใจไม่เกิด
ผมดีใจที่วันนี้ลูกหลานคนไทยได้กลับมา ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร ประเทศไม่ได้เป็นประเทศที่น่ารังเกียจในสายตาชาวโลก แต่เรามีศักยภาพทุกด้านที่กำลังพัฒนา รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศทุกด้าน ทั้งความมั่นคง สังคม จิตวิทยา เศรษฐกิจ เพื่อเดินหน้าสู่โลกยุคใหม่หลังจากที่เราติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมานาน"นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ภาคภูมิใจของคนไทยคือ เราไม่เคยเป็นอานานิคมของใครในโลกใบนี้ และเราก็จะคงไม่เป็นอยู่เช่นเดิม ดังนั้นทุกคนต้องสืบสานวัฒนธรรม และจิตสำนึกในความเป็นไทย ทำอย่างไรให้โลกยอมรับ ทุกประเทศมีจุดมุ่งหมายคือต้องการมีที่ยืนในเวทีประชาคมโลก ถ้าเราไม่มีบทบาทที่แข็งแรง และเข็มแข็งในทุกด้าน ทั้งขีดความสามารถ ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองก็จะไม่มีที่อยู่บนโลกใบนี้ ไปพูดที่ไหนก็ไม่มีใครฟัง

วันนี้เราจึงจำเป็นต้องเร่งการพัฒนาในทุกด้าน เยาวชนวันนี้จึงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาในอนาคต อีก 20 ปี ข้างหน้าทุกคนจะรู้จักกัน ความขัดแย้งก็จะหายไป ขณะที่ความเข้าใจบางอย่างก็จะหายไปด้วย เพราะความคิดของคน 2 ประเทศจะไม่เหมือนกัน ความคิดแบบตะวันตก และตะวันออกค่อนข้างแตกต่างกันในขั้นพื้นฐาน แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ ไม่มีพรหมแดนขวางกั้นระหว่างกัน

นายกฯ กล่าวว่า ส่ิงต่างๆที่พูดไป เรามองแง่ยุทธศาสตร์ด้วยว่า จะทำให้โลกใบนี้เข้มแข็งได้อย่างไร เลิกทะเลาะเบาะแวง ความขัดแย้งกันเสียที เลิกทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ด้วยความร่วมมือของเยาวชนรุ่นหลัง ถ้าเราคิดถึงประโยชน์ตัวเองอย่างเดียว มันไปไม่ได้ ก็จะขัดแย้งกันอยู่ร่ำไป
"เพราะฉะนั้นทุกประเทศในโลกใบนี้ ต้องแสวงหาจุดร่วมกันให้ได้ ความขัดแย้งให้เก็บไว้ข้างๆ ไม่อย่างนั้นเราเดินไปข้างหน้าไม่ได้เลย "

อยากให้ทุกคนช่วยทำความเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นอย่างไรในสายตาทั้งของคนไทยและคนต่างชาติ และกรุณาปรับเข้าหากันให้ได้ว่า วันนี้เรากำลังทำอะไรกันอยู่ เพื่อลดความขัดแย้งในโลกใบนี้
"เราจะไม่เอาเรื่องของเส้นเขตแดนมาเป็นเส้นแห่งความขัดแย้ง เราจะไม่เอาคำว่า"ประชาธิปไตย"มาเป็นความขัดแย้ง นี้คือส่ิงที่ผมยึดมั่นอยู่เสมอ แต่ผมไม่ฝืนกระบวนการประชาธิปไตยทั้งส้ิน มีโอกาสไปสหรัฐอเมริกาหลายครั้ง ทุกคนยินให้ความร่วมมือประเทศไทย การเมืองก็ว่าการเมืองไป

แต่เรื่องการค้าการลงทุน เศรษฐกิจ ต่างประเทศ เขามองเป็นคนละเรื่องกัน แต่เศรษฐกิจต้องเดินหน้า วันนี้ มีการลงทุนมากมายจากต่างประเทศ ถึงแม้ความสัมพันธ์ด้านการเมืองจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่บ้าง แต่เขาก็เห็นศักยภาพประเทศไทยที่วันนั้มีอยู่เยอะแยะ โดยที่ผมวางรากฐานเพื่อลูกหลานให้เกิดความภาคภูมิใจ แม้บางอย่างอาจจะรกหูรกตาอยู่บ้าง แต่นั้นแหละคืออาเซียน ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่วันหน้าก็ต้องดีขึ้นเหมือนอเมริกา ที่ 200 ปีมีการพัฒนามา แต่เรายังมีความขัดแย้งอยู่บ้างอยู่พอสมควร ไม่เป็นไรเรามีเพื่อนเป็นสหรัฐฯ
ทั้งนี้ เยาวชนไทยถึงแม้จะเกิดในสังคมต่างประเทศ ถ้าเราตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นไทยมันไปได้หมด
"คนไทยมีน้ำใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส บางเวลาก็ทะเลาะกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา จิ๊บจ๊อย เดี๋ยวมันก็ดีกันเอง เพราะฉะนั้น ต่างประเทศ ต่างชาติ ไม่ร่วมกันทะเลาะ ด้วย
ขอช่วยให้กำลังใจไทยให้ยุติให้ได้ และไทย-สหรัฐฯต้องพัฒนาไปด้วยกัน ไทย ทุกประเทศต้องแข็งแรงไปด้วยกัน ช่วยกันพยายามทำเพื่อสังคมให้มาก นึกถึงคนอื่น นึกถึงประเทศอื่น นึกถึงโลก แล้วเราจะลืมตัวเอง จะทำให้เราอยู่ในกรอบกติกาของสังคม โดยไม่บิดเบือน และไม่บิดเบือนใคร
จากนั้น เยาวชนได้ร่วมร้องเพลง"ฉันนี้หรือคือคนไทย"ประพันธ์ด้วย นางสุดารัตน์ ชาญเลขา
ขณะที่นายกฯได้กล่าวว่า ขอบคุณทุกคน เสียงปรบมือถือเป็นกำลังใจ
"เด็กๆถือมีสายเลือดเป็นคนไทย เรื่องของความรักไม่มีพรหมแดน ไม่มีเส้นเขตแดน รักกัน ดีกว่าเกลียดกัน คนไทยพร้อมต้อนรับไม่ว่าเมื่อไหร่ มีโอกาสไปประชุม จะไปเยี่ยม แต่ถ้าไปเที่ยวค่อยไว้ไปอีกที เพราะผมยังไปไม่ได้ เพราะการเมืองยังเป็นอย่างนี้อยู่
"แต่ผมก็รักอเมริกา รักความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเจริญ และหลายๆอย่างของเขา เพื่อมาขับเคลื่อนประเทศไทยในเวลานี้ "
จากนั้น ตัวแทนเยาวชนได้มอบของที่ระลึก เป็นชุดชามเบญจรงค์ เสื้อโครงการมรดกไทยคืนถิ่น จากนั้น นายกฯได้ร่วมถ่ายรูปเยาวชน และพาชมตึกไทยคู่ฟ้า

บิ๊กป้อม ปัดข่าวลือ ไปอังกฤษ เจอ"ทักษิณ"เปรยเค้าอยู่เหรอ บ้า!! ใครไปลือ



บิ๊กป้อม ปัดข่าวลือ ไปอังกฤษ เจอ"ทักษิณ"เปรยเค้าอยู่เหรอ บ้า!! ใครไปลือ จะให้ไปเจอใคร เจอทำไม ไม่มี. รู้อยู่แล้วจะถามทำไม
พลเอกประวิตร เผย ไปอังกฤษ ตามคำเชิญ รมว.กลาโหม อังกฤษ และไปดูงานAirshow แต่ ติดภารกิจประชุมพรรค เลยให้ รมช.กลาโหม มาพบหารือแทน เผย หารือรมช.กห.อังกฤษ ย้ำโรดแมพ นำไทยกลับสู่ปชต.ถาวร เผยอังกฤษเข้าใจไทย เข้าใจพลเอกประยุทธ์ที่ต้องเข้ามา
ตนได้ร่วมชมการจัดแสดงเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศและอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่10 หรือ Air Show โดยไปตามคำเชิญของ รมว.กห.อังกฤษ
แต่ รมว.กลาโหมของอังกฤษติดประชุม พรรค จึงส่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมมาพูดคุยกับผม ในเรื่องความสัมพันธ์ของ2ประประเทศแทน

ทั่งนี้อังกฤษเขาเข้าใจเรื่องการเมืองภายในของประเทศไทยโดยตนได้อธิบายให้ฟังถึงการเข้าบริหารประเทศของ คสช. ที่เกิดจากความจำเป็นไม่ได้ต้องการเข้ามาเอง และรัฐบาล คสช. ได้ประกาศโรดแมปไว้เรียบร้อย

โดยอังกฤษหวังว่าไทยจะทำตามโรดแมปที่ได้วางไว้ รวมถึงมั่นใจว่าต่อไปในอนาคตประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยอย่างถาวร

ส่วนเรื่องความร่วมมือความมั่นคงของสองประเทศนั้นยังไม่ได้พูดคุยกัน แต่ได้มีความร่วมมือกันหลายด้านอยู่แล้ว

เมื่อถามถึงกรณีกระแสข่าวลือว่าการที่เดินทางไปประเทศอังกฤษนั้นได้พบนายทักษิณ ชินวัตร ด้วยไม่จริงใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวย้อนถามว่า "เขาอยู่ที่ไหน ไม่มีใครอยู่หรอก แล้วจะเจอใคร บ้า ใครไปลือ จะไปเจอทำไม ก็รู่อยู่แล้วว่า ไม่อยู่อังกฤษ ไม่ใช่เหรอ แล้วจะถามทำไม"

วิกฤตการณ์ ร.ศ.112

"วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112"
13 กรกฎาคม 1893: เรือรบฝรั่งเศสบุก “ปากน้ำ” สยามจำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข
“…จากการศึกษาพบว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้มีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสและแผ่ขยายวงกว้างออกไปกระทบกระเทือนเรื่องคนในบังคับและธุรกิจของคนในบังคับ ขณะที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผู้แทนทางการทูตของทั้งสองฝ่ายหันกลับไปใช้กำลังทหาร เพื่อเข้าปกครองดินแดนที่อยู่ในความขัดแย้งกันโดยตรง ทั้งนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการเจรจาครั้งใหม่ในอนาคต แต่ด้วยความสามารถ ความเด็ดเดี่ยว ความริเริ่มของนักการทูตและนักการทหารฝรั่งเศสทำให้เกิดการรบที่ปากน้ำขึ้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1893 การศึกครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของเรือรบฝรั่งเศส ส่วนฝ่ายไทยนั้น ความพ่ายแพ้ของกองกำลังรักษาปากน้ำ การขาดความสนับสนุนจากอังกฤษและการปิดน่านน้ำไทยของเรือรบฝรั่งเศส ทำให้ไทยต้องยอมอ่อนข้อต่อฝรั่งเศสอย่างไม่มีเงื่อนไข ท้ายที่สุดวิกฤตการณ์ครั้งนี้จบลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1893 ระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศส สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเสียอำนาจการปกครองคนในบังคับชาวอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศสนอกจากนี้ฝรั่งเศสยังเข้ายึดครองจันทบุรีและเตรียมแผนการที่จะยึดครองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงไว้ในสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย...”
คำนำจาก ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ “กรณีพิพาท ไทย-ฝรั่งเศส” โดย พันตรี พีรพล สงนุ้ย ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2545)
หนึ่งในความขัดแย้งก่อนวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ซึ่งถูกกล่าวถึงในหนังสือเล่มเดียวกันนี้คือความตายของ “มาสสี่” (Affaire de massie) ซึ่งพันตรี พีรพลมองว่า อาจมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ในการเล่นงาน “สยาม” ตามข้อความตอนหนึ่งว่า
“มาสสี่ เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลฝรั่งเศสในเมืองหลวงพระบางซึ่งเคยเป็นสมาชิกของคณะสำรวจ (Mission Pavie) ได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เพราะได้รับการข่มเหง (à subir les pires insultes) จากคนไทย และที่สำคัญคือ มาสสี่ไม่เคยได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนจากรัฐบาลที่กรุงฮานอยและกรุงปารีสเลย ดังนั้นเขาจึงได้ฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1892 บริเวณหน้าเมืองจำปาสัก (Bassac)”
“การตายของมาสสี่ทำให้ลาเนสซ็อง (Lanessan) ผู้ว่าราชการเวียดนามตอนใต้และผู้นำจักรวรรดินิยมคนสำคัญของฝรั่งเศสต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผลการสอบสวนปรากฏอย่างชัดเจนว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ฝรั่งเศสจึงเริ่มปฏิบัติการด้วยวิธีรุกทั้งทางด้านการทหารและด้านการทูตต่อไทย แต่หนังสือพิมพ์ในไซง่อนและตังเกี๋ยกลับรายงานว่ามาสสี่ป่วยตาย จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ข้าราชการชาวอาณานิคมต้องการใช้การตายของมาสสี่ให้เกิดประโยชน์โดยผลักดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้มาตการเด็ดขาดกับไทย”
ภาพประกอบ:
1. ภาพจากหนังสือพิมพ์ Le Petit Parisien สื่อชั้นนำของฝรั่งเศสยุคสาธารณรัฐที่ 3, เป็นภาพเรือรบฝรั่งเศสขณะมุ่งสู่ปากน้ำเจ้าพระยาพร้อมเล็งปืนใหญ่เข้าหาพระสมุทรเจดีย์
2. การ์ตูนจาก “The Sketch” (หนังสือพิมพ์พร้อมภาพประกอบรายสัปดาห์ของอังกฤษ) เป็นภาพวาดทหารฝรั่งเศสกำลังโจมตีทหารสยาม ซึ่งถูกแทนด้วยตุ๊กตาไม้ แสดงถึงความเหนือกว่าทั้งด้านเทคโนโลยีและเทคนิคทางทหารของฝรั่งเศส

ใบตองแห้ง:ว่าด้วย รธน.ปลอมกับไทยเฉย

ความอยุติธรรมกรณีประชาธิปไตยใหม่ เห็นตำตาคนไทยในสังคมทุกคน อย่าพูดเลยว่านี่คือประชามติที่ Free และ Fair แต่ทำไมสังคมไทยเฉยเมย

คนไทยโดยเฉพาะคนชั้นกลางมีการศึกษา รู้ดีโดยไม่ต้องบอกว่าอะไรคือความถูกต้องชอบธรรม อะไรคือเหตุผล อะไรคือข้ออ้างตะแบงกัน แต่เงียบกริบ ทั้งกระแสสังคมกระแสสื่อ ส่วนใหญ่เลือกที่จะเฉยเมย ปล่อยให้กระบอกเสียงให้ร้ายป้ายสีไป ตัวเองเอาหัวมุดทราย เลือกไม่อ่านข่าวประชาธิปไตยใหม่ แต่อ่านข่าว "ดัชนีเชื่อมั่นไทยพุ่ง" (ยืมมาจากโพสต์ทูเดย์) หรือไม่ก็ตามข่าวหญิงไก่ เพื่อปลอบใจตัวเองว่าสังคมนี้ยังมีความยุติธรรม

สลิ่มอาจกลัวทักษิณ เสื้อแดงอาจกลัวอำนาจ แต่คนชั้นกลางทั่วไปไม่ใช่ คนชั้นกลางทั่วไปกลัว "บ้านเมืองวุ่นวาย" กลัวตัวเองเดือดร้อน ไม่ได้ใช้ชีวิตชิลๆ

อ.นิธิพูดถูกว่าคนชั้นกลางไทยมีฐานะดีขึ้นได้ไม่ว่ามีเลือกตั้งหรือเป็นเผด็จการ ไม่เคยผูกพันกับระบบคุณค่าทางการเมืองใด แต่ผมอยากเสริมในมิติทางวัฒนธรรม ว่าสังคมไทยปลูกฝังแต่ศีลธรรมของผู้ถูกปกครอง ทำความดีไปเหอะอย่ามาต่อสู้เรื่องโครงสร้างอำนาจให้ตัวเองเดือดร้อน อย่าทวงถามความยุติธรรมความเป็นธรรมในโครงสร้างอำนาจ หลัง 6 ตุลาก็สอนเด็กเข้าคิว อย่าทิ้งขยะ 

เหมือนตอนนี้ก็ไปปลูกป่า รักต้นไม้ ลดใช้ถุงก๊อบแก๊บ สังคมไทยไม่สามารถสร้างพลังแห่งคุณธรรมเรื่องสำนึกความถูกต้องความยุติธรรม ซึ่งสำคัญมากในการตรวจสอบผู้ปกครองในโลกสมัยใหม่ 

มีแต่พลังศีลธรรมประเภทเห็นเด็กตากฝนเก็บธงชาติแล้วน้ำตาไหล ซึ่งปลุกมาใช้ได้ฉาบฉวยแบบไล่อีปู


////////////
ไทยเฉยเมย
ทายท้าวิชามาร
2016-07-13 06:45:00

กรธ.ยอมรับแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองกล่าวหาเป็น “ร่างรัฐธรรมนูญปลอม” พิมพ์สี่สี มีกลุ่มทุนหนุนหลังใช้วิชามาร ฯลฯ แท้ที่จริงคือ “ความเห็นแย้ง” ของนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่

กระนั้นยังไม่วายตั้งแง่ว่าบิดเบือนเพราะใช้ถ้อยคำเช่น “ส.ว.ทหารแต่งตั้งโดยทหาร” หรือ “องค์กรแต่งตั้งอยู่เหนือประชาชน”

 แต่กกต.ยังไม่ทันชี้ว่าผิดจริงไหมตำรวจราชบุรีก็จับ 4 นักกิจกรรมพร้อมเอกสารในรถ ในความผิดฐาน “เชื่อว่าจะแจก” แถมพ่วงนักข่าวประชาไทเมื่อองค์กรวิชาชีพสื่อผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนวิพากษ์
วิจารณ์การจับนักข่าวตำรวจทหารก็ไปค้นสำนักงานประชาไท

 พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ต้องมีใครชี้นำคนที่มีสำนึกผิดชอบชั่วดีน่าจะวินิจฉัยเองได้ว่าอะไรแฟร์ไม่แฟร์ อะไรยุติธรรมไม่ยุติธรรมเว้นแต่บางคนที่ยังไร้สติจนเชื่อหัวปักหัวปำว่านี่คือหนทาง “ปราบโกง” 

แต่ทำไมคนส่วนใหญ่เฉยเมยโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีปากเสียงในสังคมโดยเฉพาะสื่อกระแสหลักซึ่งหาวิธีหลีกเลี่ยงด้วยการ “กลบข่าว” ไม่ให้น้ำหนักไม่ให้ความสำคัญ ตั้งแต่ครั้งจับ 7 ประชาธิปไตยใหม่ฐานชุมนุมเกิน 5 คนซึ่งกระแสกดดันจากต่างประเทศสูงกว่าภายในที่กลายเป็น “ไทยเฉยเมย” 

คำตอบคือประชามติครั้งนี้เป็น “ประชามติแห่งความกลัว” ไม่ใช่แค่ความกลัวทักษิณของคนที่เกลียดชังไม่ใช่แค่ความกลัวอำนาจของคนชนบทคนชั้นกลางระดับล่างหากยังเป็นความหวาดกลัว “บ้านเมืองวุ่นวาย” ของคนชั้นกลางในเมืองทั่วๆไปที่ไม่เลือกข้างหนึ่งข้างใดชัดเจนซึ่งพูดให้ถึงที่สุดความกลัวประเภทหลังเป็นฐานอำนาจให้คสช.อยู่นาน 2 ปีกว่า คสช.ไม่ได้ทำอะไรถูกใจคนเสียหมดบางครั้งไม่พอใจด้วยซ้ำแต่คนส่วนใหญ่ยังหยวนๆเพราะกลัว คสช.พ้นอำนาจไปแล้วไม่รู้จะเกิดอะไรห่วงกังวลสถานะตัวเองมากกว่าความถูกต้อง ความชอบธรรมหรือแม้แต่ความยุติธรรม 

คนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยรู้ว่าอะไรถูกไม่ถูกอย่างน้อยก็รู้ว่าอะไรฝืนเหตุผลอะไรคือการปฏิบัติหรือเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมแต่เลือกที่จะ “เอาหัวมุดทราย” เช่น ไม่อ่านข่าวประชาธิปไตยใหม่เลือกอ่านข่าว “ดัชนีเชื่อมั่นไทยพุ่ง” หรือไม่ก็ข่าว “หญิงไก่” เพื่อปลอบใจว่าสังคมไทยยังมีความยุติธรรมส่วนเรื่องการเมืองไม่เป็นไรอย่างน้อยก็ยัง “ไม่มีใครตาย” 

อ.นิธิเอียวศรีวงศ์สรุปได้เฉียบคมว่าคนชั้นกลางไทยมีฐานะเศรษฐกิจดีขึ้นตลอดไม่ว่าการเมืองระบอบเผด็จการหรือประชาธิปไตยจึงไม่มีสำนึกผูกพันกับระบบคุณค่าทางการเมืองใดๆตรงข้ามไม่ว่าระบบใดก็ใช้ไต่เต้าได้เสมอ (จิ้มก้องได้เสมอ) 

ในมิติทางสังคมคนชั้นกลางไทยเชื่อว่าตนมีศีลธรรมความจริงแล้วรากฐานศีลธรรมที่ถูกปลูกฝังเป็นแค่ศีลธรรมสำหรับผู้ถูกปกครองคือทำความดีที่เป็นคุณต่อตนเองและครอบครัวแต่ขาดสำนึกคุณธรรมทางสังคมสำนึกเพื่อส่วนรวมเพื่อความยุติธรรมความถูกต้อง 

เช่นหลัง 6 ตุลา 2519 สังคมไทยไม่เคยสนใจใครถูกผิดแค่หยวนๆครึ่งใบแล้วก็สอนให้เด็กเข้าคิวและทิ้งขยะเป็นที่เป็นทางเหมือนยุคนี้สมัยนี้ที่หาช่องทาง “ทำความดี” แบบไม่เป็นพิษเป็นภัยใส่ตัวด้วยการปลูกป่า รักต้นไม้ลดใช้ถุงก๊อบแก๊บในขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้วัฒนธรรมบริโภคนิยม

สำนึกแห่งความถูกต้องชอบธรรมคือแก่นค้ำจุนสังคมสมัยใหม่ถ้าขาดหายไปเสียแล้วก็เป็นได้แค่สังคมที่อยู่บนการฉวยโอกาสทางเศรษฐกิจการเมืองไปวันๆเท่านั้นเอง

เบื้องหลังปมขัดแย้ง สรรหาเลขาธิการ สปสช.

ภาพของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั่งหัวโต๊ะเคลียร์ใจกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม เกิดขึ้นหลังเกิดความขัดแย้งอันเนื่องมาจากบอร์ด สปสช.ไม่รับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. เป็น เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ทั้งๆ ที่ นพ.ประทีป ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการสรรหาฯ ชุดที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ สธ.เป็นประธาน
คะแนนไม่รับรอง 14 ต่อ 13 เสียง ที่เฉือนกันเพียง 1 คะแนน จึงกลายเป็นประเด็น ที่สำคัญ 1 เสียงที่ชนะนั้น กลับถูกกรรมการในบอร์ดส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเสียงมีปัญหา ด้วยเหตุผู้ลงคะแนนใส่เครื่องหมายไม่ถูกต้องตามกติกา
ที่ประชุมวันนั้นใช้วิธีลงคะแนนลับ ไม่มีใครรู้ชัดว่า ใครลงคะแนนช่องไหน แต่ทั้ง นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทย
น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการสัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า 1 เสียงในบัตรลงคะแนนที่ใช้เครื่องหมาย “ถูก” แทน เครื่องหมาย “กากบาท” ถือว่าผิดกติกา และบัตรลงคะแนนใบนั้นควรนับเป็นบัตรเสีย ทว่า…ที่ประชุมกลับมีมติให้เป็นบัตรดี ปัญหาจึงเกิดและบานปลายกลายเป็นประเด็นการเมือง

ปัญหานี้ แม้ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะกรรมการบอร์ด สปสช.จะยกมือชี้แจงต่อที่ประชุมว่า บัตรเจ้าปัญหานั้น เป็นของตนเอง และตั้งใจกาเครื่องหมายถูกลงในช่องไม่รับรอง แต่ไม่ได้มีเจตนาใดแอบแฝง แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ แม้ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการในสัดส่วนผู้แทนองค์กรเอกชน พยายามชี้แจงทำความเข้าใจในที่ประชุมเพื่อลดความขัดแย้ง แต่ก็ไม่เป็นผล
เรื่องนี้ นพ.สุรเดชให้สัมภาษณ์เปิดใจว่า ทุกอย่างจบตั้งแต่วันประชุมบอร์ด สปสช.แล้ว เพราะได้ยืนยันในที่ประชุมชัดเจนว่าไม่มีเจตนาอื่นใด นอกจากพิจารณาว่าจะ “รับรอง” หรือ “ไม่รับรอง” เลขาธิการ สปสช.เท่านั้น
“ดังนั้นเรื่องบัตรดีบัตรเสีย เมื่อมติที่ประชุมบอกว่าใช้ได้ถึง 18 เสียง ก็ต้องยอมรับ เพราะกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดระเบียบการกาเครื่องหมายชัดเจน อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าการให้ข้อมูลต่างๆ กับใคร เป็นสิ่งทำได้ แต่การคิด พิจารณา หรือตัดสินใจก็ต้องอยู่ที่วิจารณญาณ ซึ่งกรรมการบอร์ด สปสช.ก็มีวิจารณญาณของตัวเองเช่นกัน” นพ.สุรเดชกล่าว
แต่แม้ นพ.สุรเดชจะชี้แจงอย่างไร ชมรมแพทย์ชนบท รวมทั้งเครือข่ายสุขภาพภาคประชาชน ก็ยังมองว่าไม่ถูกต้องอยู่ดี เพราะบอร์ด สปสช.ชุดนี้ ยังทำหน้าที่ขัดมาตรา 31 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่า บอร์ดมีหน้าที่ในการแต่งตั้งเลขาธิการ สปสช. กรณีนี้ นพ.ประทีปที่เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวเข้ามาสู่การพิจารณาเพื่อขอการรับรองแต่งตั้ง ก็ควรได้รับการแต่งตั้งด้วย แต่กลับมีการลงมติซึ่งถือว่าขัดกฎหมาย และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องหากผู้รับผลกระทบ
เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใน 90 วัน หรืออาจทำหนังสือขอทราบมติและเหตุผลของบอร์ดที่ไม่รับรองตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอตัวบุคคลมาให้
ประเด็นนี้ จากการสอบถามผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีว่าการ สธ.ทราบข้อมูลว่า ได้มีการหารือไปยังฝ่ายกฎหมาย และผู้แทนกฤษฎีกา ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีแคนดิเดต 2 คน และมีการตกลงกันว่าจะให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ก่อนพิจารณารับรอง แต่เมื่ออีก 1 คน คือ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ.ขาดคุณสมบัติ และเหลือแคนดิเดตเพียง 1 คน ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณารับรองหรือไม่รับรองเช่นกัน
ขณะนี้เรื่องดังกล่าวจึงกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสาธารณสุข เพราะมีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นอุปสรรคใหญ่ของการขับเคลื่อนงานของ สปสช. เป้าจึงพุ่งไปที่ นพ.ปิยะสกล จะมีวิธีในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้อย่างไร เพราะหากสุดท้ายไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเร็ววัน อาจลุกลามจนถึงขั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องใช้ ม.44 แต่งตั้งเลขาธิการ สปสช.แทน
แต่ล่าสุด นพ.ปิยะสกลประกาศชัดเจนว่า จากนี้จะต้องเริ่มต้นสรรหาเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ และใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
มีความเป็นไปได้ว่า ผู้ที่จะมาลงชิงตำแหน่งอาจเป็นคนนอกจากสายมหาวิทยาลัย หรือนักวิชาการ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่าง สธ. และ สปสช. แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะที่สำคัญเหนืออื่นใดคือ “ระบบ” ที่การทำงานที่ต้องเอื้อกันทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ซึ่งหมายถึง “ประชาชน” 48 ล้านคน แน่นอนว่าในเวลาอันใกล้นี้จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างของบอร์ด อำนาจของเลขาธิการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.กำกับดูแล แต่ไม่ได้บังคับบัญชา สปสช. เพื่อให้มีความยั่งยืนของระบบการเงินการคลัง เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี
แต่ประเด็นเร่งด่วนคือ จะมีการแก้ไขมาตรา 46 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ คือการแยกเงินเดือนของบุคลากร สธ.ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว กล่าวคือ เดิมมีงบกองทุนบัตรทองประมาณ 1.4 แสนล้านบาท เป็นเงินเดือนบุคลากรที่ 4 หมื่นล้านบาท ต้องแยกส่วนนี้ออก และให้ สธ.ดูแล ซึ่งจะเหลือเงินกองทุนบัตรทองแสนล้านบาท ก็จะนำมาจัดสรรแบบขั้นบันได หลักการคือ จะไม่เท่ากันทั่วประเทศ เพราะดูตามความจำเป็นและบริบทของแต่ละพื้นที่
เรื่องนี้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สนับสนุนให้มีการแก้ไข เพราะเดิมกำหนดให้รวมเงินเดือนบุคลากร สธ.เข้ากับงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่ง ม.46 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ (ฉบับแก้ไข) นั้น ได้แยกเงินเดือนบุคลากรออกมาจากงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง โดยอยู่ระหว่างการส่งให้ประธาน สนช.พิจารณา และตีความว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ ถือเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ถ้าใช่อาจต้องส่งให้ สธ.เป็นผู้เสนอแทน
ประเด็นใหญ่แบบนี้ ต้องติดตามต่อไป!
13643786_731825580292981_704632185_n

123ปีวิกฤติการณ์ปากน้ำ

วันนี้ เมื่อ ๑๒๓ ปีที่แล้ว ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เกิดวิกฤตการณ์ปากน้ำ เป็นการรบระหว่างวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ ในขณะที่แล่นเรือผ่านเข้าไปในปากแม่น้ำเจ้าพระยา เรือรบฝรั่งเศส ๓ ลำถูกโจมตีโดยป้อมปืนของสยามและเรือปืน ผลการรบ ฝรั่งเศสได้รับชัยชนะและดำเนินการปิดล้อมกรุงเทพซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของเหตุการณ์
ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อเรือการข่าว "แองกงสตัง" (Inconstant) และเรือปืน "โกแมต" (Comète) ของกองทัพเรือฝรั่งเศสเดินทางมาถึงปากแม่น้ำและขออนุญาตแล่นเรือผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อไปสมทบกับเรือ "ลูแตง" (Le Lutin) เพื่อเจรจาต่อรอง เมื่อสยามปฏิเสธ ผู้บังคับบัญชาฝ่ายฝรั่งเศส พลเรือตรี แอดการ์ อูว์มัน (Edgar Humann) เมินเฉยต่อความต้องการของสยามและคำสั่งจากรัฐบาลฝร่งเศส ซึ่งก่อนการต่อสู้ พลเรือตรี อูว์มัน ได้รับคำสั่งห้ามเข้าสู่ปากแม่น้ำเพราะสยามได้เตรียมการอย่างดีสำหรับการรบ กองกำลังฝ่ายสยามประกอบด้วยป้อมพระจุลจอมเกล้าที่พึ่งสร้างเสร็จ มีปืนเสือหมอบขนาด ๖ นิ้ว ๗ กระบอก สยามยังได้จมเรือสำเภาและเรือบรรทุกหินในแม่น้ำเพื่อเป็นแนวป้องกัน บีบให้เส้นทางเดินเรือกลายเป็นทางผ่านแคบ ๆ เพียงทางเดียว
เรือปืน ๕ ลำจอดทอดสมออยู่ด้านหลังแนวสิ่งกีดขวาง ประกอบไปด้วย เรือมกุฎราชกุมาร, เรือทูลกระหม่อม, เรือหาญหักศัตรู, เรือนฤเบนทร์บุตรี และ เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ มีเรือ ๒ ลำเป็นเรือรบทันสมัย คือ เรือมกุฎราชกุมาร และเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์[ ขณะที่เรือที่เหลือเป็นเรือปืนเก่าหรือเรือกลไฟแม่น้ำที่ดัดแปลงมา มีการวางข่ายทุ่นระเบิด ๑๖ ลูก ผู้บังคับบัญชาป้อมเป็นนายพลเรือชาวดัตช์ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวยุโรปหลายคนที่เข้ารับราชการในกองทัพไทย พลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ (อองเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอลิเออ) เป็นผู้บังคับบัญชาเรือปืน
ฝรั่งเศสเลือกที่จะเข้าปากแม่น้ำหลังพระอาทิตย์ตกดินในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม โดยมีวัตถุประสงค์คือแล่นผ่านการป้องกันของสยามให้ได้ถ้ามีการเปิดฉากยิงกันขึ้น สภาพอากาศครึ้มฝน ขณะนั้นสยามได้ประจำสถานีรบและเตรียมพร้อมขั้นสูงสุด เรือรบฝรั่งเศสได้แล่นตามเรือกลไฟนำร่องฌองบัปติสต์เซย์ (Jean Baptiste Say) เข้าสู่ปากแม่น้ำ เมื่อเวลา ๑๘.๑๕ น. ฝนหยุดตก ทหารในป้อมสังเกตเห็นเรือรบฝรั่งเศสแล่นผ่านกระโจมไฟ สองสามนาทีหลังจากนั้นเรือฝรั่งเศสแล่นผ่านทุ่นดำเข้ามาในระยะยิงของป้อม ทหารประจำป้อมได้รับคำสั่งให้ยิงเตือน ๓ นัด แต่ถ้าฝรั่งเศสเพิกเฉยเรือปืนจะเปิดฉากยิง
เวลา ๑๘.๓๐ น. ป้อมปืนเปิดฉากยิงเตือนด้วยกระสุนเปล่า ๒ นัด แต่เรือรบฝรั่งเศสยังคงแล่นต่อไป ในนัดที่สามสยามได้ใช้กระสุนจริงยิงเตือน กระสุนตกลงในน้ำหน้าเรือฌองบัปติสต์เซย์ เมื่อเห็นฝรั่งเศสเพิกเฉยต่อสัญญาณเตือน นัดที่สี่จากเรือปืน มกุฎราชกุมาร และ มูรธาวสิตสวัสดิ์ ก็เปิดฉากยิงเมื่อเวลา ๑๘.๕๐ น. เรือแองกองสตองได้ยิงตอบโต้กับป้อมในขณะที่โกแมตยิงสู้กับเรือปืนสยาม มีเรือขนาดเล็กที่บรรจุระเบิดถูกส่งมาพุ่งชนเรือฝรั่งเศสแต่พลาดเป้า การต่อสู้กินเวลาประมาณ ๒๕ นาที
ในที่สุด พลเรือตรี อูว์มัน ก็พาเรือรบฝ่าการป้องกันของสยามไปได้ และสามารถจมเรือปืนฝ่ายสยามได้หนึ่งลำ ส่วนอีกลำได้รับความเสียหายจากกระสุนปืน ทหารสยามตาย ๑๐ นาย บาดเจ็บ ๑๒ นาย ฝรั่งเศสได้รับความเสียหายน้อยกว่า ขณะที่ผ่านปากน้ำเรือฌองบัปติสต์เซย์ถูกยิงด้วยปืนใหญ่ ไปเกยตื้นที่แหลมลำพูราย เรือแองกองสตองและเรือโกแมตแล่นผ่านไปได้ถึงกรุงเทพ จอดทอดสมออยู่ที่สถานทูตฝรั่งเศส[ ทหารฝรั่งเศสตาย ๓ นาย บาดเจ็บ ๒ นาย เรือโกแมตถูกยิงได้รับความเสียหายมากกว่าเรือแองกองสตองแต่ไม่ได้เสียหายร้ายแรง ป้อมของสยามไม่ได้รับความเสียหาย
เช้าวันต่อมา ลูกเรือฌองบัปติสต์เซย์ยังคงอยู่บนเรือที่เกยตื้น สยามได้ส่งเรือเข้ามาควบคุมเรือกลไฟฌองบัปติสต์เซย์และได้พยายามจมเรือแต่ไม่สำเร็จ จากรายงาน นักโทษได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายและถูกส่งตัวเข้าคุกกรุงเทพ วันต่อมาเรือปืนฝรั่งเศส ฟอร์แฟต (Forfait) ได้มาถึงปากน้ำและส่งเรือพร้อมทหารเต็มลำเข้ายึดเรือฌองบัปติสต์เซย์แต่เมื่อถึงเรือกลับโดนโจมตีขับไล่ถอยไปโดยทหารสยามที่ยึดเรืออยู่ เมื่อพลเรือตรี อูว์มัน มาถึงกรุงเทพ เขาได้ทำการปิดล้อมและหันกระบอกปืนมาทางพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็มีการลงนามในสนธิสัญญาถือเป็นการสิ้นสุดการรบ
วันนี้ กองทัพเรือจัดงานรำลึกเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ปีที่ ๑๒๓ ณ อุทยานประวัติศาสตร์ ป้อมพระจุลฯ เวลา ๑๖๐๐ น.
ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/วิกฤตการณ์ปากน้ำ
ภาพจากอินเทอร์เนต

สสช.เผยยอดคนตกงานเพิ่มเป็น 4.53 แสนราย แรงงานภาคเกษตรลดลง 1.16 ล้านราย

(12ก.ค.59)
สำนักงานสถิติฯ เผยผลสำรวจพบยอดผู้ว่างงาน พ.ค. 59 เพิ่มเป็น 4.53 แสนราย ขณะที่แรงงานภาคเกษตร ลดลง 1.16 ล้านราย ฟากธุรกิจโรงแรมบริการอาหาร ก่อสร้างและการผลิตได้คนทำงานเพิ่ม แต่สถาบันการเงิน-ประกันภัย-การศึกษา พนักงานลดลงสาขาละ 8 หมื่นราย ชี้วุฒิ ม.ต้น อัตราว่างงานพุ่งกระฉูด
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559  โดยสำรวจจากผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 55.57 ล้านคน พบว่า 72.5% เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน หรือ 37.77 ล้านคน

โดยในจำนวนนี้ ผู้มีงานทำ 36.81 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.53 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 5.02 แสนคนขณะที่มีผู้อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน อาทิ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา 17.80 ล้านคน

ขณะที่ผู้มีงานทำ 36.81 ล้านคน  แบ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรม 10.27 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 26.54 ล้านคน ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้ทำงานในภาคเกษตรลดลง 1.16 ล้านคน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลดลงในการปลูกข้าว ยางพาราและอ้อย



ส่วนแรงงานที่เพิ่มขึ้นนอกภาคเกษตร4แสนคน เป็นการเพิ่มในธุรกิจที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 2.1 แสนคน สาขาการก่อสร้าง 1.3 แสนคน สาขาการผลิต 1 แสนคน สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 8 หมื่นคน และสาขากิจกรรมด้านสุขภาพและกิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 1 หมื่นคน ขณะที่ธุรกิจด้านการเงินและการประกันภัย และสาขาการศึกษาลดลงสาขาละราว 8 หมื่นคน

ฟากจำนวนผู้ว่างงาน 4.53 แสนคน พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.82 แสนคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.71 แสนคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.27 แสนคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว  โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการผลิต 1.11 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 1.08 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 5.2 หมื่นคน

สำหรับระดับการศึกษาของผู้ว่างงานนั้น พบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีอัตราว่างงานมากที่สุดที่ 2.0% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีเพียง 0.6% ส่วนระดับปริญญาตรีอัตราว่างงาน 1.9% ลดลงจากปีก่อน 0.1% แต่ในด้านจำนวนแล้วยังเป็นกลุ่มที่มีผู้ว่างงานมากที่สุด 1.49 แสนคน ผู้สำเร็จมัธยมศึกษาตอนปลายมีอัตราว่างงาน  1.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.1%

ส่วนภาคอีสานยังมีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุด 1.31 แสนคน รองลงมาเป็นภาคกลาง 1.28 แสนคน ภาคใต้ 7.9 หมื่นคน กรุงเทพมหานคร 6.1 หมื่นคน และภาคเหนือ 5.4 หมื่นคน 

ประยุทธ์ ชี้คนจะตกงานไปเรื่อยๆ เหตุ รบ.ที่ผ่านมาผลิตคนไม่ตรงความต้องการตลาดแรงงาน


 
เมื่อวันที่  11 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2559 จัดโดย กระทรวงการคลัง ผู้ร่วมงานประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้บริหารกระทรวงการคลัง หัวหน้าหน่วยราชการและหน่วยงานภาครัฐเจ้าสังกัดทุนหมุนเวียน คณะกรรมการประเมินผลทุนหมุนเวียน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 800 คน ที่ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาการเลิกจ้างคนงาน โดยระบุว่า คนงานจะต้องถูกถอดไปเรื่อยๆ เพราะมีการเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยี พร้อมตั้งคำถามถึงการเตรียมความพร้อมของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะการศึกษาที่ผลิตคนไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน
 
"แรงงานถูกปลด 4,000 ตำแหน่ง มันจะต้องถูกถอดไปเรื่อยๆ เพราะเขาเปลี่ยนเครื่องมือ เปลี่ยนเครื่องจักร เปลี่ยนเทคโนโลยีเข้ามา จะให้ทำยังไงอะ ผมถามรัฐบาลผ่านมาเตรียมความพร้อมแบบนี้ไว้ไหม วันนี้เราขาดแรงงานเท่าไหร่ แสนกว่าคน เรามีแรงงานที่จบจากมหาวิทยาลัยเท่าไหร่ ล้านกว่าคน ผมถามมันน่าขาดไหมแบบนี้ แต่มันขาดเพราะอะไร มันผลิตคนที่ไม่ได้ต้องการตรงกับแสนกว่าคนตรงนี้ จบมานี่ วันนี้สถิติมีสถาบัน 11 แห่งเท่านั้น ในประเทศไทยที่บริษัทอยากจ้างงาน ไปหาดูนะ ในยูทูบในอะไรมี มี 11 สถาบันเท่านั้น แล้วที่เหลืออยู่ที่ไหน ทำไมเขาไม่อยากจ้าง นั่นล่ะคืออันตราย เขาขาดอะไรล่ะ วิศวกร เทคนิเชียนนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผลิตออกมาเท่าไหร่พวกนี้ โน้นกระทรวงศึกษาไปรื้ออยู่โน้น วง ดร. ไปทะเราะกันอยู่โน้น ดร. ยังต้องมาขอใช้ผม ม.44 เลย แล้วมันยังไงกัน แล้ววันหน้าไม่มี ม.44 แล้วจะทำกันยังไง จะอยู่กันยังไง ฝากคิดด้วยแล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว