PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

บุกจับรีสอร์ทภูเรือพบอดีตหน.อุทยานเป็นเจ้าของ

ตะลึง!!บุกจับ"รีสอร์ทหรู" อดีตหัวหน้าอุทยานภูเรือ | เดลินิวส์
วันอังคารที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 16:15 น. 

ตะลึง!!บุกจับ"รีสอร์ทหรู" อดีตหัวหน้าอุทยานภูเรือ บุกจับรีสอร์ทหรูอดีตหน.อุทยานภูเรือ พบออกเอกสารสิทธิ์ก่อนประกาศจัดตั้งอุทยานฯปี 22 ไม่กี่วันใช้ขอโฉนด คปป.เลยเปิดยุทธการใหญ่ตรวจป่าภูเรือ 7.5 หมื่นไร่ 21-28 ธ.ค. 
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. คณะเจ้าหน้าที่นำโดยนายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายไพโรจน์ ปานสมุทร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 (ขอนแก่น) หน่วยพญาเสือ นำโดยนายสมศักดิ์ ภู่เพ็ชร์ ผู้อำนวยการส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม และนายสมเกียรติ ชั้นบุญใส หัวหน้าสำนักงานสนับสนุนการป้องกันและปราบปรามที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ร่วมกับนายรณภพ คัชมาตย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูเรือ จ.เลย เจ้าหน้าที่ทหารจากกอ.รมน.จังหวัดเลย ฝ่ายปกครอง อ.ภูเรือ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูเรือ ร่วมกันตรวจสอบและดำเนินคดี กับบุคคลผู้ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเรือ โดยใช้วิธีการตรวจสอบจากหลักฐานการรังวัดแนวเขตอุทยานฯ ตามท้ายพระราชกฤษฎีกาให้เป็นไปตามนโยบายของกรมอุทยานฯ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในครั้งนี้คณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าดำเนินการใน 3 จุด โดยจุดแรก คือวรัญญารีสอร์ท ซึ่งเป็นรีสอร์ทขนาดใหญ่เนื้อที่รวม 27 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าอุทยานฯ ภูเรือ มีลักษณะเป็นรีสอร์ทขนาดใหญ่มีอาคารจัดประชุมสัมมนาและห้องพักมากกว่า 100 ห้อง โดยตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่บุกรุกอุทยานฯ ภูเรือ จำนวน 19 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้ 7 ไร่ เจ้าหน้าที่รังวัดกรมอุทยานฯยืนยันว่าอยู่ในเขตอุทยานฯ ภูเรือชัดเจนกโดยมีสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่งก่อสร้างในช่วงปี 2557 จำนวน 14 หลัง ประกอบด้วย ห้องสัมมนาขนาดใหญ่ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม

 โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก่อนปิดป้ายประกาศให้รื้อถอนส่ิงปลูกสร้างตาม มาตรา 22 ของพ.ร.บ.อุทยานฯ 2504 ทั้งนี้ได้มีนางมุกดา คำมาศ เจ้าของรีสอร์ทมาคอยสังเกตการณ์ โดยนางมุกดาให้สัมภาษณ์ว่า ได้เปิดกิจการรีสอร์ทมากว่า 20 ปีแล้ว โดยซื้อที่ดินจำนวน 6 แปลงรวม 27 ไร่ โดยผืนล่าสุดที่มีเนื้อที่ 7 ไร่ ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าอยู่ในเขตอุทยานฯภูเรือนั้น ได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2551 โดยซื้อจากคนกรุงเทพฯที่ซื้อต่อจากคนในพื้นที่อีกทอด สาเหตุที่ซื้อเพราะมีความมั่นใจว่าเป็นที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากมีเอกสารสิทธิ นส.3 ก และมีถนนแบ่งเขตอุทยานฯ ชัดเจน ซึ่งจากนี้ก็ให้ว่าไปตามกระบวนการทางกฎหมาย 


ต่อมา คณะเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบจุดที่ 2 คือสโรชา รีสอร์ท ซึ่งมีพื้นทีเป็นรีสอร์ทและลานกางเตนท์ 1 ไร่ เป็นสวนยางพาราบนภูเขาจำนวน 7 ไร่ และสวนกล้วย 1 ไร่ 1 งาน และจุดที่สามคือบ้านธารพระพรรีสอร์ท บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ 2 ไร่ 3 งาน มีการปลูกพืชผลทางการเกษตรและเป็นลานกางเตนท์ในฤดูท่องเที่ยว ซึ่งเจ้าของได้นำโฉนดที่ดินมายืนยัน ซึ่งกรมอุทยานฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าอยู่ในพื้นที่อุทยานฯ ภูเรือชัดเจนทั้งแปลง ซึ่งต้องดำเนินการรื้อถอนตามมาตรา 22 พ.ร.บ.อุทยานฯ ต่อไป 

สำหรับรีสอร์ทที่บุกรุกอุทยานฯ ภูเรือทั้ง 3 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยวรัญญารีสอร์ทถือเป็นรีสอร์ทขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของ จ.เลย นางมุกดาได้ครอบครองที่ดินบางส่วน ในช่วงที่นายยรรยง คำมาศ สามีของนางมุกดา เป็นหัวหน้าอุทยานฯภูเรือคนแรก เมื่อปี 2522 ส่วนที่ดิน 7 ไร่ที่มีปัญหานางวรัญญาระบุว่าได้ซื้อที่ดินมาเมื่อปี 2551 ในขณะที่สามีเป็นหัวหน้าอุทยานฯ ภูจองนายอย จ.อุบลราชธานีโดยขณะนี้สามีเกษียณอายุราชการแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ส่วนรังวัดได้ประสานกับกรมที่ดินขอตรวจสอบสารบบที่ดิน พบว่ามีการนำ นส. 3 ก. แปลงที่ 39 และ 47 ไปขอออกโฉนดแต่ทางสำนักงานที่ดิน อ.ภูเรือ ได้ยกเลิก นส.3 ก.ทั้ง 2 ฉบับออกจากสารบบที่ดิน โดยระบุว่าอยู่ในที่ป่าตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.2522 ทำให้ที่ดินแปลงที่เหลือยังเป็น นส.3 ก. และไม่มีการนำไปขอออกโฉนดอีก ทั้งนี้มีข้อมูลว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกนำไปออกเป็น นส.3 ก. ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ภูเรือในวันที่ 26 ก.ค.2522 เพียงไม่กี่วัน ขณะที่สโรชารีสอร์ทเป็นของปลัดอำเภอ อำเภอหนึ่งใน จ.เลย และธารพระพรรีสอร์ท เป็นของอดีตข้าราชการกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรฯ 

นายไพโรจน์ กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานฯ ในเรื่องการทวงคึนผืนป่า โดยในพื้นที่ จ.เลยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการจับดำเนินคดีกับรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศที่บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ภูเรือ จำนวนแปลง 8 แปลง เนื้อที่ 220 ไร่ ซึ่งคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าไม้ (คปป.) จ.เลย ที่มี ผวจ.เลย เป็นประธานได้มีมติเพิกถอนที่ดินที่บุกรุกทั้งหมด และส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์พื้นที่บุกรุกทั้งหมดตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้อุทยานฯ ภูเรือ มีพื้นที่บุกรุกที่ต้องเข้าไปตรวจสอบทั้งหมด 7.5 หมื่นไร่ที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป โดยในวันที่ 21-28 ธ.ค.นี้ จะร่วมกับสำนักป้องกันฯ และส่วนรังวัดแนวเขตที่ดินป่าไม้ กรมอุทยานฯ เปิดยุทธการตรวจสอบพื้นที่บุกรุกในอุทยานฯ ภูเรือต่อไป. “

อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/politics/354145

คสช.ใจเด็ดตัดเนื้อร้าย ทลายขุมทรัพย์ สสส.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
13 ตุลาคม 2558 06:56 น.

ผ่าประเด็นร้อน
       
       งานเข้าต่อเนื่องสำหรับ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ - สสส.” ที่ระยะหลังถูกเพ่งเล็งหมายหัวเป็นพิเศษในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยงบประมาณที่ออกแนวทะแม่ง ๆ มานานโข แต่กว่าจะถูกทลายเข้าไปเจาะขุมทรัพย์ได้ ก็ต้องในยุคของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
       
       ตั้งแต่ คสช. เข้ามาใหม่ ๆ ก็ได้ตั้ง คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้ามาทำหน้าที่สแกนรีเช็กการถลุงงบประมาณของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่หลักพันล้านบาท จนมีคำสั่งชะลอและยกเลิกไปเป็นหางว่าว ลดการสิ้นเปลืองเงินแผ่นดินไปนับหมื่นล้าน
       
       ซึ่ง สสส. ก็ถูกล็อกเป้าเข้าไปเอกซเรย์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยที่ “พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์” ยังเป็นประธาน ก่อนอัปเกรดไปเป็นเสนาบดีกระทรวงพลังงาน และส่งไม้ต่อให้ “พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ” เข้ามาทำหน้าที่แทน โดยมีแฟ้มข้อมูลของ สสส. วางรออยู่บนโต๊ะคอยท่าอยู่แล้ว
       
       และเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีข่าวลือกระหึ่ม ว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. สั่งลุยตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส. แบบละเอียดยิบ และเตรียมสั่ง “ฟรีซ” การเบิกจ่ายงบประมาณสนับสนุนเครือข่ายต่าง ๆ เป็นเวลา 3 เดือน
       
       ซึ่งข่าวลือที่ว่าก็ออกมาจากทางเครือข่าย สสส. ที่ราวกับรู้ชะตากรรม มีการร่อนจดหมายเวียนทั่วสำนักงานฯ ในทำนองปลุกใจทีมงานในสังกัดให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์แทรกแซง ที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งให้ทำใจว่า ช่วง 1 - 2 สัปดาห์นี้ จะมีการโจมตี สสส. อย่างหนักหน่วง ผ่านทางสื่อและสังคมออนไลน์ ซึ่งก็ได้มีการจัดเตรียมชุดข้อมูลไว้สำหรับตอบโต้แล้วด้วย 
       
       แต่ไม่ทันไรก็เป็น พล.อ.ชาตอุดม ที่ออกมาคอนเฟิร์มกระแสข่าวว่า ได้รับการสั่งการจาก พล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง ในการเข้าไปเอกซเรย์ สสส. ตามที่เป็นข่าวจริงร่วมกับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และพบการเบิกจ่ายงบไม่ตรงวัตถุประสงค์เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเบาะแสการทุจริตด้วย
       
       โดยผลสอบดังกล่าวได้ถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
       
       ขณะเดียวกัน ก็มีการเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการคู่ขนานให้ “หมอปิยะสกล สกลสัตยาทร” ตั้งกรรมการเข้าไปกำกับดูแล สสส. เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในช่วงนี้ ปรับจูนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 โดยมอบให้ “หมอเสรี ตู้จินดา” ประธานที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธานบอร์ดที่ว่า
       
        ชี้ให้เห็นว่าทั้ง คตร.- สตง. เจออะไรดี ๆ เข้าอย่างจัง
       
       ในความเป็นจริงการใช้งบประมาณของ สสส. ถูกมองว่า ไม่สมเหตุสมผลมาโดยตลอด เนื่องจากได้งบประมาณมาจาก “ภาษีบาป” ที่เก็บกับบรรดาบริษัทสุรายาดอง บุหรี่ยาสูบต่าง ๆ ที่สำคัญ การอนุมัติตั้งงบไม่อยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย อนุมัติส่งเดชมาอย่างต่อเนื่อง
       
       สสส. เองก็ทำตัวราวกับ “รัฐอิสระ” ไม่ได้แคร์กับเสียงก่นด่าที่ระงม ยังถลุงภาษีบาปที่ว่าอย่างสบายใจเฉิบ และยังออกมาดิ้นทุรนทุราย เมื่อมีความพยายามแก้ไขให้งบประมาณ สสส. ต้องผ่านระบบงบประมาณปกติ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งถูกตีตกไป
       
       ทั้งนี้ ประเด็นที่ คตร. ตรวจพบว่าไม่ได้เข้ากับวัตถุประสงค์ของ สสส. มียาวเป็นหางว่าว นับแล้วมากกว่า 100 โครงการ จากจำนวนหลักพันที่ สสส. เข้าไปเกี่ยวข้อง ไล่ตั้งแต่ งานสวดมนต์ข้ามปี ที่เป็นงานของกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่เป็นบทบาทของกระทรวงคมนาคม แถมยังกู่ไม่กลับ ถึงขั้นสนับสนุนงานวิจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม และ ศิลปวัฒนธรรม โดยอ้างว่ามีปัจจัยเกี่ยวข้องกับสุขภาพ อย่างโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย และงานวิจัยปฏิรูปประเทศไทยระบบการคลังปิโตรเลียม : ประสิทธิภาพ และความเป็นธรรม ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
       
       หรืออย่างโครงการวิจัยที่ดูชื่อแล้วก็นึกไม่ออกว่าเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพตรงไหน อย่างเรื่องการยกระดับขีดความสามารถและนัยยะต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระดับจังหวัด งานวิจัยการประเมินศักยภาพของอาจารย์ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ หรือหัวข้อทำอย่างไรมหาวิทยาลัยจะเป็นหัวรถจักรทางปัญญาพาชาติออกจากวิกฤต เป็นต้น
       
       แล้วยังเป็นสปอนซอร์หลักในการสนับสนุนสำนักงานแห่งหนึ่ง ซึ่งมักนำเสนอข้อมูลอย่างมีนัยซ่อนเร้นในหลาย ๆ ประเด็นอีกด้วย
       
        สาเหตุที่ สสส. หว่านงบประมาณสนับสนุนได้อย่างครอบจักรวาล ก็เนื่องมาจาก “ภาษีบาป” มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ส่งผลให้งบประมาณของ สสส. ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 1.5 พันล้านบาท ในปี 2545 ที่ก่อตั้ง จนมาทะลุ 4 พันล้านบาท ในช่วง 2 ปีล่าสุด รวมแล้ว 13 ปีที่ผ่านมา มีงบประมาณผ่านมือ สสส. เหยียบ 4 หมื่นล้านบาท
       
       ในทางกลับกัน ก็มีคำถามว่า หาก สสส. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นผลเสียจากสิ่งเสพติด เพื่อลดจำนวนนักดื่ม - นักสูบ และสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน ทำงานได้มีประสิทธิภาพจริง งบประมาณที่มาจากภาษี ควรที่จะลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้นเช่นที่ผ่านมา ซึ่ง สสส. เองก็อาจจะอ้างได้ว่า เนื่องจากขยับอัตราภาษีบาปเพิ่มขึ้นหลายครั้ง ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาษีบาป และงบประมาณ สสส. เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
       
       แต่ในสภาพความเป็นจริง “นักดื่ม - นักสูบ” ลดลงหรือไม่ ก็เป็นที่รู้กัน
       
       ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัย และการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ ว่า สสส. เป็นองค์กรที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะสิ่งที่ต้องทำหรือเป้าหมายในการดำเนินงาน คือ การลดสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กับที่มาของรายได้จากภาษีบุหรี่ สุรา ถือว่าตรงกันข้ามกัน ถ้า สสส. ทำงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจริง สสส. จะต้องไม่เหลือเงินสักบาท และหน่วยงานต้องถูกยุบไปในที่สุด แต่จากที่เห็นคือ สสส. ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นตลอด จากปีแรกที่ตั้ง สสส. ได้รับงบประมาณ 1.5 พันล้านบาท จนถึงขณะนี้งบประมาณราว 4 พันล้านบาท
       
       “ถ้า สสส. แน่จริง ต้องทำให้เหล้า ไวน์ เบียร์ บุหรี่ ขายไม่ได้เลย และไม่มีคนคิดจะผลิต หรือจะนำเข้า บริษัทพวกนี้ทั้งของไทย ของต่างประเทศ ต้องเจ๊ง ขาดทุน ล้มละลายกันหมด ถ้า สสส. ทำได้แบบนั้น ผมถึงจะถือว่า สสส. ประสบความสำเร็จ ทำงานได้ผลจริง อย่าอ้างตัวเลขจากการสำรวจแบบหลอก ที่ทำมาแบบผิด ๆ วิธีการทางสถิติ เพราะสิ้นเปลืองเงิน และไม่ถูกต้อง ไปดูยอดขายเลย ตรงไปตรงมา ไม่ยอกย้อน เหล้ากี่เท บุหรี่กี่ซอง ตัวเลขมันมีอยู่ ไม่ยากเลย” ดร.อานนท์ กล่าว
       
       ขณะที่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็เคยมีรายงานของ สตง. ที่เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของ สสส. ระบุไว้ชัดเจนว่า “การใช้จ่ายเงินของ สสส. ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กรณีอนุมัติให้เงินอุดหนุนจำนวนมากแก่แผนงาน/โครงการที่มีรายละเอียดไม่ชัดเจนเพียงพอ ทำให้มีเงินคงเหลือจากการดำเนินงานเป็นจำนวนมาก และ สสส. เสียโอกาสในการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการอุดหนุนแผนงาน/โครงการที่มีความจำเป็นอื่นๆ”
       
       ถึงนาทีนี้ คงนับหัวได้สำหรับฝ่ายผู้สนับสนุนที่ยังเห็นว่า สสส. เป็นองค์กรที่มีความจำเป็น และมีผลการปฏิบัติงานเป็นที่น่าพอใจ เพราะในทางกลับกันฝ่ายคัดค้านก็ได้ทีออกมารุมสกรัมประชาทัณฑ์กันอย่างเมามัน
       
       ทำให้ สสส. จากบทบาทของหน่วยงานที่ต้องทำหน้าที่กำจัดมะเร็งร้ายภัยสังคม กลายเป็นเป็น “เนื้อร้าย” ที่รอวันถูกกำจัดเสียเอง 

ข้อมูลใหม่!คดีทุจริตกรุงไทย แฉ‘เยาวเรศ ชินวัตร’ขอให้ลดหนี้ บ.พวก 1.7 พันล.

วันอังคาร ที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 11:30 น สำนักข่าวอิศรา

ช็อตเด็ด!คำวินิจฉัย 1 ในองค์คณะศาลฎีกาฯคดีทุจริตหมื่นล.แบงก์กรุงไทย ข้อมูลใหม่ พยาน แฉ‘เยาวเรศ ชินวัตร’ ขอให้ลดหนี้ บ.คนรู้จัก ‘บลูริเวอร์ ไดมอนด์' 1,713 ล. อ้างลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สิน ทั้งที่ตรวจพบมีเพียบ ฟันธง‘ซุปเปอร์บอส’ คือ ‘ทักษิณ’ ไม่ใช่ ‘คุณหญิงอ้อ’
ptteefeeff
ภายหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมืองได้มีพิพากษาในคดีทุจริตปล่อยกู้เงินธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คดี หมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย กรรมการบริหาร คณะกรรมการสินเชื่อ เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และ 3 บริษัทในเครือกฤษดามหานคร เป็นจำเลยที่ 1-27 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ โดยมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.58 (อ่านประกอบ:พิพากษาจำคุก “ร.ท.สุชาย-วิโรจน์” 18 ปี ทุจริตปล่อยกู้กรุงไทย ชดใช้หมื่นล.)
เมื่อ 9 ต.ค.58 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เผยแพร่ความเห็นในการวินิจฉัย คดีหมายเลขแดงที่ อม.55/2558 ระหว่าง อัยการสูงสุด(โจทก์) พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 27 คน(จำเลย) (คดีกรุงไทย) ของนายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา (เจ้าของสำนวน) 1 ในองค์คณะผู้พิพากษา
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยส่วนหนึ่ง ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 2 -จำเลยที่ 5 (ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ นายวิโรจน์ นวลแข นายมัชฌิมา กุญชร ณ อยุธยา นายพงศธร สิริโยธิน) และ จำเลยที่ 8-27 ได้ร่วมกันกระทำความผิดหรือสนับสนุน จำเลยที่ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยศในขณะนั้น) ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารผู้เสียหาย ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและโดยมิชอบเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และ มาตรา 157 หรือไม่
คำวินิจฉัยระบุว่า โจทก์ (อัยการสูงสุด) มีนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ กรรมการบริหารธนาคารผู้เสียหาย เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.46 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการบริหารนัดประชุมพิจารณาสินเชื่อรายของจำเลยที่ 19 (บริษัท โกลเด้น เทคโนโลยี่ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด) จำเลยที่ 2 (ร.ท.สุชาย เชาว์ศิษฐวิ) โทรศัพท์มาหาพยานพูดว่า เรื่องของจำเลยที่ 19 ‘นายบุญคลี’ ได้ดูดีแล้วและ ‘ซุปเปอร์บอส’ ได้ตกลงแล้ว อย่าสอบถามข้อมูลมากนัก และขอให้พิจารณาไปโดยเร็ว
พยานโต้แย้งว่า พยานเคยเกี่ยวข้องกับที่ดินบริเวณนั้น มันไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าดีจริงธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คงไม่ปล่อยมา แต่จำเลยที่ 2 (ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ) ตอบกลับว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีปัญหา สามารถจัดการได้
และพยานยังเบิกความว่า คำว่า ซุปเปอร์บอส หมายถึง จำเลยที่ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ถ้าเป็นคุณหญิงพจมาน จะต้องมีนางสว่าง เจริญมั่นคง เข้ามาเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมานหรือบุคคลใกล้ชิดมีการแทรกแซงการบริหารงานของธนาคารผู้เสียหายปรากฎชัดจากการเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ ได้มีการผลักดันให้นางสว่าง เจริญมั่นคง เป็นกรรมการธนาคารผู้เสียหาย แต่เนื่องจากนางสว่าง ขาดคุณสมบัติจึงไม่สามารถแต่งตั้งได้ นางเยาวเรศ ชินวัตร น้องของจำเลยที่ 1 (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ก็เคยขอให้ธนาคารผู้เสียหายลดหนี้ให้บริษัท บลูริเวอร์ ไดมอนด์ จำกัด จำนวน 1,713,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 3 (นายวิโรจน์ นวลแข) แจ้งคณะกรรมการบริหารว่าได้คุยกับนางเยาวเรศซึ่งรู้จักลูกหนี้ นางเยาวเรศบอกว่าลูกหนี้แจ้งว่าไม่มีทรัพย์สินอื่น ทั้งๆที่ ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ธนาคารผู้เสียหายสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้พบว่าลูกหนี้เป็นนายกสมาคมและยังมีทรัพย์สินจำนวนมาก ในที่สุดธนาคารผู้เสียหายก็ยินยอมลดหนี้จำนวนดังกล่าวให้”
พยานยังเบิกความว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร เป็นเพื่อนกับบุตรของจำเลยที่ 25 (นายวิชัย กฤษดาธานนท์) ครอบครัวมีความสนิทสนมกัน เพราะจำเลยที่ 25 จะต้องขอรับการช่วยเหลือสนับสนุนด้านธุรกิจจากจำเลยที่ 1พยานเข้าใจว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้อนุมัติสินเชื่อรายของจำเลยที่ 19 โดยโจทก์มีนายอุตตม สาวนายน กรรมการบริหารของธนาคารผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ก่อนเข้า ประชุมคณะกรรมการบริหารเพื่อพิจารณาสินเชื่อรายของจำเลยที่ 19 นายชัยณรงค์ ได้บอกพยานว่าจำเลยที่ 2 (ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ) ได้ติดต่อนายชัยณรงค์เพื่อขอให้พิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว พยานคิดว่าเป็นสัญญาณที่ต้องการให้มีการอนุมัติสินเชื่อให้จำเลยที่ 19 อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ คดีนี้ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้จำคุก ร.ท.สุชาย นายวิโรจน์ นายมัฌชิมา และ นายไพโรจน์ รัตนะโสภา จำเลยที่ 2-4 และ 12 คนละ 18 ปี ส่วนจำเลยที่ 5,8-11,13-17 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารกรุงไทย จำคุกจำเลยทั้ง 10 คน คนละ 12 ปี
นายวิชัย กฤษดาธานนท์ เจ้าของโครงการหมู่บ้านกฤษดามหานคร จำเลยที่ 25 และจำเลยที่ 18-27ซึ่งนิติบุคคล และผู้บริหารบริษัทในเครือกฤษดานคร มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4โดยให้ปรับจำเลยที่ 18-22ซึ่งเป็นนิติบุคคล รายละ 26,000 บาท และให้จำเลยที่ 23-27 จำคุกคนละ 12 ปี และให้จำเลยที่ 20,25 และ 26 รวมกันคืนเงิน 10,004,467,480 บาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย
นอกจากนี้ให้นายวิโรจน์ จำเลยที่ 3, 22 และจำเลยที่ 27ร่วมรับผิด 9,554,467,480 บาท และให้จำเลยที่ 12-17, 21, 23 และ 24ร่วมรับผิดจำนวน 8,818,732,100 บาท ส่วนจำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450ล้านบาท และจำเลยที่ 2, 4, 5 และ 8-11และ 19 ร่วมรับผิดจำนวน 8,368,732,100 บาท หากจำเลยที่ 18-22ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6-7 (นายนรินทร์ ดรุนัยธร นางนงนุช เทียนไพฑูรย์)
จากการตรวจสอบพบว่า นางเยาวเรศ ชินวัตร เป็นกรรมการธุรกิจทั้งสิ้น 12 บริษัท 10 บริษัทเลิกกิจการและบางแห่งเป็นกิจการร้าง มีเพียง 2 แห่งที่ยังเปิดดำเนินการ คือ บริษัท ชินวัตร (ภูเก็ต) จำกัด และ บริษัท ชินวัตร โฮม มาร์ท จำกัด 
มีธุรกิจที่เพิ่งเปิดกิจการล่าสุดคือ บริษัท ไลฟ์เวลล์เนส คอร์ป จำกัด จดทะเบียนวันที่ 27 มีนาคม 2550 ทุน 1 ล้านบาท ทำธุรกิจ Licenses Fee (ลิขสิทธิ์) เสื้อผ้ากีฬา,สินค้า Premium ที่ตั้งเลขที่ 159/19 ชั้น 8 ถนนราชดำริห์ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร นางเยาวเรศ และบุตร ได้แก่ น.ส.ชนิกา วงศ์นภาจันทร์ นายรัตนะ วงศ์นภาจันทร์ นาย ธนวัต วงศ์นภาจันทร์ ร่วมกันถือหุ้น ต่อมาได้เลิกกิจการวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 (อ่านประกอบ: เปิดขุมข่ายธุรกิจ 100 ล้าน“เยาวเรศ ชินวัตร”)
ขณะที่ บริษัท บลูริเวอร์ ไดมอนด์ จำกัด จดทะเบียนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2525 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ประกอบธุรกิจ จำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณี ที่ตั้งเลขที่ 1737/7-8 ถนนลาดพร้าว แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ นางวิภาดา ภารดีวิสุทธิ์ เป็นกรรมการ ณ 30 เมษายน 2558 นางสาว พัชรา ธรรมาวรานุคุปต์ ถือหุ้นใหญ่ 4,000 หุ้น (80%) นาง อุไรวรรณ ภารดีวิสุทธิ์ 600 หุ้น (12%) และ นางสาว ปัทมา ธรรมาวรานุคุปต์ 400 หุ้น (8%) แจ้งผลประกอบการ ปี 2557 รายได้ 29,702,568 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,682,079 บาท สินทรัพย์ 63,698,490 บาท หนี้สิน 2,655,498 บาท กำไรสะสม 11,042,991 บาท
นางวิภาดา ภารดีวิสุทธิ์ (วปอ.49) มีชื่อเป็นกรรมการบริษัท พรีม่า ไทมส์ จำกัด บริษัท จีเวล เดคอร์ จำกัด และ บริษัท รอยัล พารากอน วอทช์ จำกัด (ตัวแทนจำหน่ายนาฬิกา ปาเต็ก ฟิลิปป์)
จนถึงขณะนี้ไม่รู้ว่า นางเยาวเรศ ชินวัตร รู้หรือไม่ว่าโดนหางเลขในคดีนี้ด้วย
อ่านเรื่องประกอบ

เหรียญทองโพสต์จม.ขอปรึกษารมว.ยุติธรรมฯ จ่อฟ้องหมิ่นฯกับ Facebook, Youtube



เหรียญทองโพสต์จม.ขอปรึกษารมว.ยุติธรรมฯ จ่อฟ้องหมิ่นฯกับ Facebook, Youtube

13 ต.ค. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เหรียญทอง แน่นหนา’ และ ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกของ พล.ต. เหรียญทอง แน่นหนา ผู้ก่อตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา เพื่อขอสนับสนุนคำปรึกษาด้านกฎหมาย กรณีฟ้องหมิ่นประมาทตนในกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่อยู่ต่างประเทศ และผู้ประกอบการ Facebook, Youtube ฯลฯ ในฐานะผู้ร่วมกระทำการโดยปล่อยปละละเลยให้มีการเผยแพร่การหมิ่นประมาทตนกรณีดังกล่าว

 

เปิดปมชนวนเหตุปลด "ผอ.ไทยพีบีเอส" อนุมัติโครงการวงเงินเกิน50ล.?

วันอังคาร ที่ 13 ตุลาคม 2558 เวลา 07:30 น สำนักข่าวอิศรา

"...เงื่อนปมสำคัญของโครงการนี้ เริ่มต้นจากการที่ฝ่ายบริหารได้จัดทำโครงการเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ให้พิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณ 800 ล้านบาท เป็นทางการ และผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่ในขั้นตอนปฏิบัติของฝ่ายบริหาร มีการแบ่งสอยย่อยงบประมาณออกเป็นโครงการจัดซื้อแต่ละส่วน ประมาณ 3-4 โครงการ จึงทำให้วงเงินจัดซื้อแต่ละโครงการเมื่อสอยย่อยออกมา มีราคาจัดซื้อแต่ละโครงการเกิน 50 ล้านบาท แม้ว่าจะนับรวมอยู่ในงบประมาณทั้งหมด 800 ล้านบาทแล้วก็ตาม.."
oowieeeeeddddddd
ในคำสั่งเลิกจ้าง นายสมชัย สุวรรณบรรณ ออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ของคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ที่ประกาศออกมาเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณาเลิกจ้าง อดีต ผอ.ส.ส.ท. คือ การทำผิดสัญญาจ้างกรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากกรรมการนโยบายถึง 4 ครั้ง?
คำถามสำคัญ คือ  โครงการนี้คือโครงการอะไร? ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?  
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท ของ ผอ.ส.ส.ท.ดังกล่าว
พบว่า เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการจัดหาโครงการทีวีดิจิทัล รวมวงเงินกว่า 800 ล้านบาท ของไทยพีบีเอส 
เงื่อนปมสำคัญของโครงการนี้ เริ่มต้นจากการที่ฝ่ายบริหารได้จัดทำโครงการเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ให้พิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณ 800 ล้านบาท เป็นทางการ และผ่านการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว 
แต่ในขั้นตอนปฏิบัติของฝ่ายบริหาร มีการแบ่งสอยย่อยงบประมาณออกเป็นโครงการจัดซื้อแต่ละส่วน ประมาณ 3-4 โครงการ จึงทำให้วงเงินจัดซื้อแต่ละโครงการเมื่อสอยย่อยออกมา มีราคาจัดซื้อแต่ละโครงการเกิน 50 ล้านบาท แม้ว่าจะนับรวมอยู่ในงบประมาณทั้งหมด 800 ล้านบาทแล้วก็ตาม
"ฝ่ายบริหารเข้าใจว่า หลังได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 800 ล้านบาท จากคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. แล้ว ฝ่ายบริหารสามารถที่จะเริ่มดำเนินการจัดซื้อได้เลย ไม่ต้องนำเรื่องขอเสนออนุมัติต่ออีก"
"แต่เนื่องจากมีการแยกงานจัดซื้ออกเป็นส่วนๆ ส่งผลทำให้งบประมาณการจัดซื้อแต่ละโครงการมีวงงบประมาณเกิน 50 ล้านบาท และการจัดซื้อแต่ละครั้ง ก็ไม่ได้นำขออนุมัติต่อ คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. จึงทำให้คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. เห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบ ขณะที่การอนุมัติโครงการจัดซื้อที่แบ่งเป็นโครงการย่อยๆ ของฝ่ายบริหาร ถูกระบุว่าลงนามอนุมัติโดย ผอ.ส.ท.ท.จำนวน 2-3 ครั้งด้วย"
ทั้งนี้ ผลจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขั้นตอนปฏิบัติงานระหว่าง คณะกรรมการนโยบายฯ กับฝ่ายบริหารดังกล่าว ส่งผลทำให้เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้น ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งที่ 22/2558 ลงวันที่ 19 มิ.ย.2558 ลงนามโดยรองศาสตราจารย์ นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย
มีการระบุเนื้อหาในคำสั่งว่า "คณะกรรมการนโยบายเห็นว่า ฝ่ายบริหารใช้วงเงินผิดระเบียบ แต่ฝ่ายบริหารเห็นว่าไม่ผิด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายจึงมีมติให้มีการสอบข้อเท็จจริงตามข้อเสนอดังกล่าว" 
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ มีจำนวน 5 ราย ประกอบไปด้วย 
1.รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ 
2. นายสมชาย แสวงการ  
3. นายสมชาย หอมลออ 
4. นายพูลประโยชน์ ชัยเกียรติ 
5. นายนิวัติ แก้วล้วน (ดูเอกสาประกอบ)
pttwddedededede
โดยในช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชุดนี้ ได้นัดประชุมกันมาบ้างแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีผลสรุปการสอบสวนออกมาเป็นทางการ
ขณะที่การดำเนินงานในปัจจุบัน ก็ประสบปัญหาเรื่องการลาออกของคณะกรรมการ อาทิ  รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ และนายสมชาย หอมลออ 
นายนิวัติ แก้วล้วน หนึ่งในคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสรุปผลการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ได้เมื่อไหร่ การประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น บอกได้แค่เพียงวงเงินงบประมาณโครงการรวมจำนวนทั้งหมดอยู่ที่ตัวเลข 800 ล้านบาท 
นายนิวัติ กล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ จำนวนคณะกรรมการ ที่มีไม่ครบองค์ประชุม โดยในส่วนรองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ มีปัญหาสุขภาพลาออกไปนานแล้ว เช่นเดียวกับ นายสมชาย หอมลออ ทำให้เหลือกรรมการแค่ 3 คน 
"ล่าสุด มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 1 คน เข้ามาทำหน้าที่แทน รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ แต่เจ้าตัวก็เพิ่งแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบว่า ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ทำให้จำนวนกรรมการยังเหลือแค่ 3 คน เหมือนเดิม"
"ล่าสุดคณะกรรมการได้ทำบันทึกแจ้งไปยังคณะกรรมการนโยบายให้รับทราบข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนคณะกรรมการนโยบายจะว่าอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับเขา เราเข้าไปก้าวล่วงอะไรไม่ได้" 
ขณะที่ รองศาสตราจารย์จุรี วิจิตรวาทการ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การลาออกของตนเกิดขึ้นก่อนที่นายสมชัย จะถูกคำสั่งปลดออกจากตำแหน่ง ผอ.ส.ท.ท.นานแล้ว เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ
"ในการประชุมสองครั้งแรก เราไม่ได้ไปเข้าร่วมอะไรด้วย ขณะที่รายละเอียดของเรื่องก็มีความซับซ้อน เมื่อทำงานได้ไม่เต็มที่จึงขอลาออกจากตำแหน่งดีกว่า" รองศาสตราจารย์จุรีระบุ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา นายสมชัย สุวรรณบรรณ ได้เดินทางมาที่ไทยพีบีเอสเพื่อเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการอนุมัติโครงการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์โครงข่ายทีวีดิจิทัล ที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท
โดยมีพนักงานไทยพีบีเอส มอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ
นายสมชัย กล่าวว่า เป็นประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการนโยบาย ใช้เป็นเหตุผลในการเลิกจ้าง คณะกรรมการชุดนี้ตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายมาประมาณ 1 เดือนกว่าแล้ว และได้ส่งหนังสือให้ตนมาชี้แจงในวันนี้ (อ้างอิงข้อมูลข่าวนายสมชัย เข้าชี้แจงคณะกรรมการสอบสวนฯ จาก เดลินิวส์ออนไลน์)
ส่วนรายละเอียดการชี้แจงของนายสมชัย ต่อกรณีการอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท ยังไม่มีการเปิดเผยออกมาเป็นทางการในขณะนี้!
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก mgronline.com
อ่านประกอบ :

แง้มผลสอบ สสส.! มุ่งปมผลประโยชน์ทับซ้อน "กก." คุมเข้มระบบใช้จ่ายเงิน


11/10/58

"..ข้อมูลสำคัญที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ความสนใจอย่างมาก คือ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งจะถูกนำมาชูเป็นประเด็นสำคัญในการตรวจสอบเรื่องนี้ ต่อสาธารณชน เพื่อทำให้เหตุผลในการตรวจสอบมีน้ำหนักมากขึ้น  กล่าวคือ มีกรรมการ ผู้บริหาร สสส. บางราย  ปรากฎชื่อเป็นเจ้าของ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับ องค์กร และมูลนิธิต่างๆ แล้วทำโครงการมาขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนจาก สสส.ด้วย.." 

pyyyddewwdwdwd

ปรากฎข่าวมาเป็นระยะๆ สำหรับผลสอบการใช้จ่ายงบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 

ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันข้อมูลจากทีมงานตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ คตร.ว่า หน่วยงานตรวจสอบทั้ง คตร.และสตง.ได้รายงานความคืบหน้าการใช้จ่ายเงินของสสส. ให้ผู้มีอำนาจในศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) รับทราบข้อมูลไปบางส่วนแล้ว

โดยมุ่งประเด็นหลักไปที่เรื่องความคุ้มค่าการใช้จ่ายเงิน ของ สสส.ตามโครงการที่ผ่านมา และที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ 

เบื้องต้น เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลในขณะนี้พบว่า มีหลายโครงการน่าจะไม่ก่อให้การประโยชน์ เช่น บางโครงการขอเงินไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องการจัดสวดมนต์ ซึ่งดูแล้วก็ไม่รู้ว่าจะคุ้มค่า ตรงไหน 

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณจำนวนมากที่ถูกใช้จ่ายไปในเรื่องการว่าจ้างสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อีกด้วย 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลสำคัญที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบให้ความสนใจอย่างมาก คือ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งจะถูกนำมาชูเป็นประเด็นสำคัญในการตรวจสอบเรื่องนี้ ต่อสาธารณชน เพื่อทำให้เหตุผลในการตรวจสอบมีน้ำหนักมากขึ้น 

กล่าวคือ มีกรรมการ ผู้บริหาร สสส. บางราย  ปรากฎชื่อเป็นเจ้าของ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับ องค์กร และมูลนิธิต่างๆ แล้วทำโครงการมาขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนจาก สสส.ด้วย 

"ประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เราให้ความสำคัญมาก กำลังมีการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกอยู่ แต่รายละเอียดยังบอกอะไรมากไม่ได้ในขณะนี้ไม่ได้" 

แหล่งข่าวยังระบุด้วยว่า ไม่ว่าผลการตรวจสอบจะออกมาเป็นอย่างไร ข้อมูลจะเชื่อมโยงไปถึงใครบ้าง แต่เรื่องการใช้จ่ายเงินของสสส.ในอนาคต จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแน่นอน เงินจะต้องผ่านการตรวจสอบตามระบบราชการมากกว่า ที่เป็นอยู่ในขณะนี้

"ในอนาคตงบประมาณที่ สสส.จะได้รับอาจจะต้องมีการส่งเข้ารัฐก่อน แล้วค่อยส่งต่อมาที่ สสส. อีกครั้ง เพื่อให้การใช้จ่ายเงินมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น" 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงต้นปี 2558 ที่ผ่านมา ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงผลงานในรอบปี 2557 ที่ผ่านมาว่า ในปี 2557 สสส. ยังคงให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยง 3 ปัจจัยหลัก คือ

1.อัตราการสูบบุหรี่ พบว่า ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทย อยู่ที่ร้อยละ 19.94 ซึ่งเปรียบเทียบกับอัตราการสูบบุหรี่ของไทยในปี 2534 อยู่ที่ร้อยละ 32 แต่จากการดำเนินการของ สสส. ที่ผ่านมา ทำให้อัตราการผู้สูบบุหรี่ลดลง 1.21 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 22

การลดลงของผู้สูบลดลงมาจนถึงร้อยละ 22 ได้ก็จริง แต่ถือว่า เป็นงานหนักของ สสส. เพราะเมื่อการลดลงมาถึงจุดที่ต่ำสุดแล้ว การจะทำให้ลดลงไปอีกก็เป็นงานที่ยาก แต่เราก็จะพยายามทำให้ได้ และปัญหาการสูบบุหรี่ที่ยังหลงเหลือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนตามชนบทที่ยังมีการสูบบุหรี่กันอยู่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักสูบที่สูบจัดจนยากที่จะเลิกได้อีกหนึ่งกลุ่ม

2.อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ลดลง ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2548 - 2552 พบว่า คนไทยดื่มเหล้าลดลงจาก 6.46 ลิตรต่อคน มาอยู่ที่ 6.08 ลิตรต่อคน

นอกจากนี้ อัตราการดื่มในระดับอันตรายลดลงจากปี 2547 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 7.3 ทั้งนี้ยังพบว่าการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงในปี 2555 ด้วย

3.ลดอัตราเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สามารถลดลงร้อยละ 43 ซึ่งทำให้ลดความสูญเสียได้กว่า 1 แสนล้านบาท

ทพ.กฤษดา บอกอีกว่า จากการดำเนินงานของ สสส. ในปี 2557 ที่ผ่านมา หากพิจารณาในรายละเอียดจะมีผลการดำเนินงานที่สำคัญๆ 5 ด้าน คือ 1.การเพิ่มพื้นที่สุขภาวะกว่า 7,000 แห่ง แบ่งเป็น ตำบลสุขภาวะ 2,632 ตำบล องค์กรสุขภาวะ 4,456 องค์กร และพื้นที่สร้างสรรค์ 78 แห่ง ครอบคลุมประชากรกว่า 11 ล้านคน

2.ลดปัจจัยเสี่ยงหลัก คือ เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ และสุขภาวะทางเพศ ซึ่งได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น ผลักดันให้งานบุญประเพณีปลอดเหล้า 171 งาน งดเหล้าเข้าพรรษา มีประชาชนเข้าร่วมได้ร้อยละ 82.4 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 68.8

โดยแบ่งเป็น ผู้งดดื่มตลอดเข้าพรรษา ร้อยละ 39.4 ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และผู้ลดปริมาณการดื่มและงดเป็นบางช่วง ร้อยละ 43 ประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 2.4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังสร้างพื้นที่ต้นแบบจังหวัดปลอดบุหรี่ได้ 15 จังหวัด

สำหรับอุบัติเหตุทางถนนในปี 2556 มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 7,338 คน คิดเป็น 11.33 คนต่อแสนประชากร ลดจากปี 2555 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 9,716 คน จากปี 2555 หรือคิดเป็น 15.07 คนต่อแสนประชากร

3.เพิ่มปัจจัยเสริมทางสุขภาพ ​​ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ โดยดำเนินโครงการการจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน ชุมชน เพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร และพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพในระยะยาว เช่น ​โครงการเด็กไทยแก้มใสใน 1,000 โรงเรียน โครงการเด็กไทยไม่กินหวาน ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1,000 แห่ง และพื้นที่ต้นแบบด้านการผลิตและตลาดอาหารปลอดภัย 42 แห่งใน 27 จังหวัด

ด้าน​กิจกรรมทางกาย คนไทยทุกช่วงวัยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 68 โดยมีผู้ร่วมกิจกรรมที่ สสส. และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นกว่า 1 แสนคน เช่น งานเดินวิ่งเพิ่มสุขภาพ 500,000 คน กิจกรรมองค์กรกีฬาปลอดเหล้า บุหรี่ 36 องค์กร รวม 350,000 คน ชุมชนตัวอย่างการใช้จักรยาน 40 ชุมชนและ 450 พื้นที่แนวร่วม และงานคาร์ฟรีเดย์ 3 แสนคน

4.ผลักดันนโยบายทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศ สามารถหนุนนโยบายระดับประเทศ 10 นโยบาย และอีก 23 นโยบายในระดับพื้นที่ เช่น การเพิ่มขนาดภาพคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นร้อยละ 85 การห้ามขายเหล้าบนรถไฟ ส่วนนโยบายในระดับพื้นที่ เช่น การประกาศจังหวัดปลอดบุหรี่ กาชาดปลอดเหล้า

5.จุดกระแสคนรักสุขภาพ โดยการออกแคมเปญสร้างกระแสสุขภาพ 25 ชุด เช่น ลดพุงลดโรค สร้างการรับรู้ของประชาชนได้ร้อยละ 76 มีประชาชนร่วมงานสวดมนต์ข้ามปี 6.5 ล้านคน และมีประชาชนเข้ามาใช้บริการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะและห้องสมุด 760,000 คน

ส่วนในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาที่ สสส. ร่วมจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้ช่วยลดการตายจากอุบัติเหตุบนถนนได้ ร้อยละ 20 และเสริมสร้างสุขภาวะทางเพศด้วยการร่วมพัฒนาการจัดการเรียนเพศศึกษา และเชื่อมโยงกลไกใน 34 จังหวัด และโครงการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้ 20 จังหวัดนำร่อง

สำหรับแผนงานยุทธศาสตร์การทำงานในปี 2558 นั้น จะเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะให้กับประชาชนในระดับท้องถิ่น และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้มากขึ้น โดยกำหนดแผนงานไว้ทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่

1.จัดการปัญหาบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชนบท เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพให้กับคนชนบท 2.พัฒนาสุขภาพเขตเมือง สร้างนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น โครงการกรุงเทพฯ เมืองสุขภาพดี และพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อดูแลสุขภาพคนทุกเพศทุกวัย

3.ดูแลสุขภาพกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเฉพาะ 4.ขยายภาคีรายใหม่ โดยสนับสนุน Nano Projects เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,000 ราย เพิ่มช่องทางการรับรู้ข่าวสารให้เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ล้านคนใน 3 ปี และกระจายศูนย์เรียนรู้ไปทั่วประเทศ

5.มุ่งสู่การเป็นต้นแบบองค์กรโปร่งใส โดยเป็นองค์กรแรกๆ ที่เริ่มใช้ Open Government เปิดเผยข้อมูล ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชัน และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับระบบธรรมาภิบาลให้แก่องค์กรอื่นๆ

ทั้งนี้ ทพ.กฤษดา ยืนยันว่า การใช้งบของเรามีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในกรณีมีสภาปกติ ฉะนั้นการใช้เงินของ สสส. จึงมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

"การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของทาง สสส. ถือว่าได้ผลอย่างมากในการทำงานของเรา และถือว่าใช้งบประมาณน้อยกว่าการทำงานประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐหน่วยงานอื่นๆ มีเสียงถามกันอย่างมากในเรื่องการทำงานประชาสัมพันธ์ของเราว่าใช้งบประมาณมาก ในความเป็นจริงเราใช้งบน้อยมาก" 

ขณะที่ ล่าสุด ผู้บริหารองค์กร หรือเอ็นจีโอ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก สสส. เริ่มออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน เพื่อขอให้ คตร. และสตง. เปิดเผยผลสอบการใช้จ่ายงบของ สสส. ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างชัดเจน โดยเร็วๆที่สุด 

เห็นได้จากความเห็นของ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับที่ระบุว่า ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลสอบ สสส. เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะขณะนี้มีแต่ข่าวว่า ผลการตรวจสอบเสร็จแล้ว จนมีข่าวลือไปต่างๆ ซึ่งบั่นทอนขวัญและกำลังใจคนทำงานมาก 

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวถึงกระข่าวระงับงบประมาณ สสส. ว่า ไม่ได้กังวล แต่หากมีการระงับจริง ถือว่าทำให้เกิดการเสียโอกาส เนื่องจาก สสส.มีการทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนและชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งชุมชนเหล่านี้ บางชุมชนไม่เคยได้รับงบจากหน่วยงานใดมาก่อน 

ทั้งหมดนี้ คือความเคลื่อนไหวล่าสุด เกี่ยวกับความคืบหน้าผลการตรวจสอบการใช้งบของ สสส. ทั้งจาก "ฝ่ายตรวจสอบ" และฝ่าย "ผู้ถูกตรวจสอบ" 

ก่อนที่ผลสอบฉบับเต็มจะถูกเปิดเผยออกมาเป็นทางการในเร็วๆ นี้ 

หมายเหตุ : อ้างอิงบทสัมภาษณ์ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. จาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/628573 , บทสัมภาษณ์ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และ ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จาก http://www.oag.go.th/News/NewsServlet 

"สสส. VS คตร." ว่าด้วยเหตุผลตรวจสอบการใช้จ่ายงบเพื่อชาติ วัดใจ"บิ๊กตู่"?

พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคตร. "ผมไม่ได้อยากสร้างศัตรู เพราะรู้ว่างบประมาณของ สสส.มีมวลชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่นโยบายของนายกฯคือต้องการทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ก่อนแล้วค่อยเดินหน้าต่อไป " VS. ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. "สสส.มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ยุ่งกับการเมือง และไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหยึ่ง การพิจารณาให้ทุนจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่าเอ็นจีโอคนนั้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร "

ppppwwwuuwuwwwwwww

ในที่สุด "ฝ่ายตรวจสอบ" และ "ฝ่ายถูกตรวจสอบ" ก็เริ่มเปิดตัวเปิดหน้า "ปะทะ" ข้อมูลว่าด้วยเรื่อง"เหตุผล" "ความจำเป็น" ของแต่ละฝ่าย อย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของผลสอบการใช้จ่ายงบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ปรากฎเป็นข่าวต่อเนื่องมายาวนานหลายเดือนแล้ว 

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างส่งตัวแทนออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน

เริ่มด้วย  "พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ในฐานะ "ฝ่ายตรวจสอบ" ออกมาให้สัมภาษณ์กับสือมวลชนถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องนี้แบบชัดๆ หลังจากที่ผู้บริหารองค์กร หรือเอ็นจีโอ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก สสส. เริ่มออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน เพื่อขอให้ คตร. และสตง. เปิดเผยผลสอบการใช้จ่ายงบของ สสส. ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างชัดเจน โดยเร็วๆที่สุด

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากขณะนี้มีข่าวลือแพร่สะพัดไปต่างๆ นานา ทำให้บั่นทอนขวัญและกำลังใจคนทำงานมาก

ประธาน คตร. ยืนยันว่า ได้สรุปผลการตวจสอบการใช้จ่ายงบของ สสส.ในโครงการต่างๆให้กับนายกฯไปเรียบร้อยแล้ว โดยส่งไปเป็นเล่มหนา ซึ่งจากพันกว่าโครงการพบว่ามีนับร้อยโครงการที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัย และควรจะต้องลงไปสนับสนุนให้ระดับชุมชนและลงถึงประชาชนระดับล่างและผู้มีรายได้น้อยด้วย 

ประธาน คตร. ยังย้ำด้วยว่า ตอนแรกเน้นการจัดเก็บจากภาษีเหล้าบุหรี่ และมาเน้นลดจำนวนประชาชนที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา แต่ไปๆมากับไม่ตรงตามนั้น ทั้งนี้นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณาสุขไปดูเรื่องนี้อีกครั้งว่าโครงการต่างๆได้ดำเนิการใช้งบประมาณถูกต้องโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้ง สสส.หรือไม่ 

อย่างไรก็ดี เป็นแค่การให้ไปทบทวนยังไม่ได้ยกเลิกโครงการ แต่โครงการไหนที่มีความผิดปกติ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ นายกฯได้มอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีตามขั้นตอน  นอกจากนี้ ยังมีการให้ทบทวนตรวจสอบของ สสส.ที่ให้งบสนับสนุนสื่อว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือไม่อย่างไร รวมถึงโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า "ผมไม่ได้อยากสร้างศัตรู เพราะรู้ว่างบประมาณของ สสส.มีมวลชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่นโยบายของนายกฯคือต้องการทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ก่อนแล้วค่อยเดินหน้าต่อไป ขอให้เข้าใจรัฐบาลและ คตร.ด้วย" 

ขณะที่ความเคลื่อนไหว ในฝั่ง สสส. 

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเช่นเดียวกัน ระบุว่า สสส.ได้รับหนังสือจาก คตร.เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเอกสารลับ จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดได้

แต่ยืนยันว่าประเด็นการใช้งบไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้น ที่ผ่านมาของ สสส.ทำงานตามวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ข้อ คือ 1.ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ 2.สร้างความตระหนักของประชาชนเพื่อลดความเสี่ยง ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ 3.สนับสนุนการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.สนับสนุนการวิจัยที่ทำให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ 5.พัฒนาความสามารถของชุมชน องค์กรเอกชน องค์การสาธารณะประโยชน์ และหน่วยงานภาครัฐ และ 6.สนับสนุนการจัดกิจกรรมและสื่อเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามกฎบัตรออตตาวาชาร์เตอร์ เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น

" การใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์อาจเกิดจากการตีความที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจาก คตร. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบโดยมองในมุมของผู้ตรวจสอบบัญชี ทำให้ข้อมูลหลายอย่างอาจมีความคลาดเคลื่อนของตัวเลขหรือการตีความที่ผิดพาด ทำให้มองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ สสส.ยืนยันว่าไม่มี ถ้ามีการชี้แจงให้หน่วยงานที่ตรวจสอบก็เชื่อว่าจะเข้าใจร่วมกัน" 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามักปรากฏข่าวคลาดเคลื่อนต่างๆ เช่น โครงการสวดมนต์ข้ามปี และการส่งนักวิชาการไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ เป็นต้น เป็นการทำงานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ สสส.ขอชี้แจงว่า การสวดมนต์ข้ามปี เป็นกิจกรรมที่เปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนในการดื่มเพื่อเฉลิมฉลอง สามารถช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลงได้ ส่วนการส่งนักวิชาการไปดูงานก็เป็นการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง อาทิ การพัฒนารูปแบบของระบบภาษี เพื่อนำมาวางแผนและจัดทำนโยบายของประเทศไทยต่อไป " ผู้จัดการ สสส.กล่าวและว่า การตีความเป็นเรื่องของวิจารณญาณแต่ละคน แต่ที่ผ่านมา สสส.มีผู้เชี่ยวชาญ 1,200 คน ที่จะมาช่วยพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ทพ.กฤษดา ยังกล่าวด้วยว่า  เมื่อปีที่ผ่านมา สตง.เข้ามาตรวจสอบโดยสุ่มตรวจโครงการที่ สสส.สนับสนุน แบ่งเป็น 10 โครงการในภูมิภาค และ 1 โครงการจากส่วนกลาง พบว่า มี 2 โครงการที่ผู้รับทุนใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ ซึ่ง สสส.ได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยเรียกเงินคืนและดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งแต่ละปี สสส.ให้ทุนประมาณ 4,000 โครงการ จะพบประมาณ 5 โครงการที่ผู้รับทุนไม่ทำตามวัตถุประสงค์ ซึ่งก็ดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ ในการเปิดแถลงข่าวดังกล่าว ทพ.กฤษดา ตอบคำถามกับสื่อมวลชน ถึงข้อสังเกตว่า สสส.ให้งบประมาณกับกลุ่มเอ็นจีโอที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่พอใจ นอกจากนี้ยังเป็นการมอบมุนแก่คนกันเองและคนหน้าเดิมๆ ว่า สสส.มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ยุ่งกับการเมือง และไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหยึ่ง การพิจารณาให้ทุนจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่าเอ็นจีโอคนนั้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร เพราะไม่ได้เลือกจากบุคคล แต่พิจารณาจากโครงการเป็นหลัก ส่วนการให้งบประมาณกับคนกลุ่มเดิม เพราะบางโครงการเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องทำต่อเนื่องจึงจะเกิดผล

เมื่อถามว่า มีการมองว่า สสส.ตีความคำว่าสุขภาพ สุขภาวะกว้างเกินไป ทพ.กฤษดา กล่าวว่า กรอบการทำงาน สสส.ยึดตามวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ข้อ และกฎบัตรออตตาวาชาร์เตอร์ ซึ่งเป็นการตีความตามหลักสากล ถ้าหาก สสส.ทำงานไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คงไม่ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ และธุรกิจที่เสียผลประโยชน์คงไม่เดือดร้อนขนาดนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการสำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทย ซึ่งได้รับทุนจาก สสส. แต่กลับวิจัยที่เน้นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทพ.กฤษดา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวในภาพรวมใหญ่เป็นเรื่องนโยบายสาธารณะมีทั้งหมด 12 ประเด็น ซึ่งเรื่องการเมืองดังกล่าวเป็นเพียง 1 ใน 14 เรื่องย่อยของ 12 เรื่องใหญ่ โดยเป็นงานวิจัยถึงผลกระทบการเมืองต่อสุขภาพ


ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้  สสส.ได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณต่อนายกรัฐมนตรี โดยตรง ในบทบาทต่างๆ ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย , งบประมาณและขั้นตอนการอนุมัติโครงการ , ผลการดำเนินงาน และบทบาทในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล 

โดยในส่วนงบประมาณ และขั้นตอนการอนุมัติโครงการ นั้น 

สสส.ระบุว่า ด้วยภารกิจที่ท้าทายและกรอบการทำงานที่แตกต่างจากหน่วยราชการปกติ สสส.ได้ถูกออกแบบให้เป็นองค์กรขนาดเล็ก คล่องตัวและมีงบบริหารจัดการที่ต่ำเพื่อให้เม็ดเงินส่วนใหญ่ลงไปถึงคนทำงานในพื้นที่(ปัจจุบัน สสส.เจ้าหน้าที่ประจำ 120 คน มีงบบริหารจัดการเพียงร้อยละ 5 และมีงบค่าใช้จ่ายบุคลากรเพียงร้อยละ 2)

และเนื่องจากการแก้ไขปัญหาสุขภาพต้องมีการทำงานในระยะยาว ต่อเนื่องและไม่ควรถูกแทรกแซงโดยการเมือง รวมถึงธุรกิจที่เสียประโยชน์ แหล่งรายได้ของ สสส.จึงถูกกำหนดให้มาจากเงินเก็บเพิ่มจากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ร้อยละ 2 เพื่อให้มีแหล่งเงินเพื่อใช้ในการทำงานที่ต่อเนื่อง และปลอดจากการแทรกแซง (การเก็บเงินตาม พรบ.สสส. ไม่ใช่การแบ่งเงินจากภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ แต่เป็นเงินเก็บเพิ่มเติมจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งการเก็บเงินเพิ่มนี้นอกจากการได้เงินมาทำงานสร้างเสริมสุขภาพโดยไม่กระทบรายได้ของภาษีแล้ว ยังเป็นการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะผู้ผลิตบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักเลือกที่จะปรับราคา จึงให้บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูงขึ้น และมีผลให้เด็กเยาวชน และผู้มีรายได้น้อยบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายเหล่านี้น้อยลง)

การบริหารจัดการกองทุน สสส.ดำเนินการโดยคณะกรรมการกองทุน สสส. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอิสระ รวมถึงกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้กำหนดระเบียบ ขั้นตอน และวิธีการใช้เงินให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวแบบเอกชน รวมถึงให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) โดยเน้นที่ประสิทธิภาพ ผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าของการใช้เงิน

ถึงแม้ สสส. จะมีวิธีการงบประมาณที่แตกต่างจากระบบงบประมาณปกติ แต่ก็มีกลไกการตรวจสอบที่รัดกุมและเข้มข้นไม่ด้อยกว่าระบบปกติของภาครัฐ และหลายระบบก็เข้มข้นมากกว่าระบบปกติ ดังตัวอย่างเช่น

1) ได้รับการตรวจจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เหมือนหน่วยงานรัฐอื่นๆ

2) มีคณะกรรมการประเมินผล ที่ถูกกำหนดโดยกฎหมาย มีความเป็นอิสระ เสนอชื่อโดย รมต.กระทรวงการคลัง และแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ตรวจสอบผลการดำเนินงาน และกระบวนการทำงานอย่างเข้มข้น และกฎหมายยังได้กำหนดให้ในทุกปีคณะกรรมการประเมินผลต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของกองทุน สสส. เพื่อเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

3) มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบภายใน และผู้ตรวจสอบภายใน ที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร โดยขึ้นตรงกับคณะกรรมการ สสส. เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบภายในอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องทั้งปี

4) มีคณะอนุกรรมการกำกับกิจการที่ดี (Good Governance) เพื่อวางกลไก และระบบในการบริหารกิจการที่ดี รวมทั้งตรวจสอบให้เป็นไปตามขั้นตอน และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้

5) สสส. ถูกกำหนดให้ต้องรายงานผลการดำเนินงาน ต่อ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งในวาระการรายงานของทุกปีก็จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากทั้งสองสภา

6) การตรวจสอบที่นับว่าเข้มข้นและมีพลังที่สุด คือการตรวจสอบโดยสื่อมวลชน และประชาชน เพราะ สสส.จะอยู่ไม่ได้หากไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือมีการใช้เงินไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งกระบวนการตรวจสอบโดยสื่อมวลชน และประชาชน นี้จะติดตามการทำงานของ สสส. อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมในทุกมิติ ตลอดเวลา

สำหรับขั้นตอนการอนุมัติโครงการของ สสส.นั้น คณะกรรมการกองทุน สสส. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน โดยกำหนดขั้นตอนดังนี้ 

1) ทุกโครงการให้มีผู้เชี่ยวชาญอิสระทำการทบทวน และให้ความข้อคิดเห็นต่อความเหมาะสมของโครงการ ทั้งในแง่เนื้อหา และความคุ้มค่าของโครงการ โดยโครงการยิ่งมีขนาดใหญ่ จำนวนผู้ทบทวนโครงการก็จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้โครงการที่มีคุณภาพ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ในการทบทวนโครงการปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1,500 คน จากหลากหลายสาขา 

2) สำหรับโครงการที่มีขนาดมากกว่า 20 ล้านบาท นอกจากการผ่านกระบวนการทบทวนโครงการโดยผู้เชี่ยวชาญขั้นต้นแล้ว จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารแผนแต่ละด้าน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยตรงคณะกรรมการกองทุน สสส. ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในสังคม 3) และสำหรับโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท นอกจากการผ่านการพิจารณาของทั้งสองขั้นตอนเบื้องต้นแล้ว จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุน สสส. อีกครั้งหนึ่ง จึงจะเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.

สำหรับ บทบาท สสส. ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล นั้น 

มีการระบุชัดเจนว่า นอกจาก สสส.ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพแล้ว สสส.ยังเป็นจุดประสานที่สำคัญในการทำงานกับภาคสังคมและชุมชน โดย สสส. มีเครือข่ายการทำงานลงแทบทุกพื้นที่ และในวันที่ 20 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา สสส. ก็ได้เข้ามาร่วมเป็นแกนในการประสานงานตามนโยบาย “ประชารัฐ” เพื่อร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ให้ร่วมกันพัฒนาประเทศไทยในทุกมิติอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

ทั้งหมดนี่ คือ ท่าทีและความเคลื่อนไหวล่าสุด ของ "คตร." ในฐานะ ฝ่ายตรวจสอบ  และ "สสส." ในฐานะฝ่ายถูกตรวจสอบ 

ส่วนข้อมูลฝ่ายใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน สาธารณชน คงจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้

เพราะขณะนี้ เหลือขั้นตอนแค่เพียงนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาตัดสินใจ "บรรทัดสุดท้าย" เพื่อปิดเกมเรื่องนี้เป็นทางการเท่านั้น!  

(อ่านประกอบ : แง้มผลสอบ สสส.! มุ่งปมผลประโยชน์ทับซ้อน "กก." คุมเข้มระบบใช้จ่ายเงิน)