PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

โฆษกศาลยุติธรรมระบุผู้พิพากษามีสิทธิแสดงความเห็นโดยสุจริต

Wed, 2013-11-06 23:05

กรณี "กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน" ออกแถลงการณ์ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม - โฆษกศาลยุติธรรมระบุถ้าแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนย่อมสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา
6 พ.ย. 2556 - กรณีที่มีข่าวผู้พิพากษาออกแถลงการณ์ในนาม "กลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดิน" คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีผู้พิพากษาศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลจังหวัด ศาลเยาวชนและครอบครัว ร่วมลงชื่อกว่า 60 คนนั้น (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุด มติชน รายงานความเห็นของ บวรศักดิ์ ทวิพัฒน์ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ระบุว่า ผู้พิพากษาควรต้องคำนึงว่ามี 2 ฐานะ ฐานะแรกคือประชาชน จึงย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริตภายใต้กรอบของกฎหมาย ส่วนอีกฐานะหนึ่งคือการเป็นผู้พิพากษา อย่างไรก็ตาม จะต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ว่าจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ดังนั้น หากผู้พิพากษาที่ใช้ชื่อกลุ่มตุลาการผู้รักแผ่นดินทั้ง 63 ท่าน ร่วมแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนแล้ว ก็ย่อมสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา
ถามว่า หากแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนโดยการเข้าร่วมเดินขบวนคัดค้านจะสามารถทำได้หรือไม่ โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า หากทำในฐานะประชาชนก็ทำได้ แต่ต้องระวังและพิจารณาตามกรอบไม่ให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติของผู้พิพากษา
อนึ่งประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นในทางสาธารณะนั้น ข้อ 28 ระบุว่า "ผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนา อภิปรายหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา"
ข้อ 29 ระบุว่า ผู้พิพากษาไม่พึงเป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม สโมสร ชมรม หรือองค์การใดๆ หรือเข้าร่วมในกิจการใดๆ อันจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา
ข้อ 34 ระบุว่า ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง และจักต้องไม่เข้าเป็นตัวกระทำการ ร่วมกระทำการ สนับสนุนในการโฆษณาหรือชักชวนใดๆ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาหรือผู้แทนทางการเมืองอื่นใด ทั้งไม่พึงกระทำการใดๆ อันเป็นการฝักฝ่ายพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใดนอกจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์: พรรคเพื่อไทยตั้งใจหักหลังวีรชนตั้งแต่แรก

Wed, 2013-11-06 22:36

     เรื่องนี้ผู้เขียนเตือนไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี ๒๕๕๔ หลังการเลือกตั้งแค่หนึ่งเดือน คือเขียนไว้ตอนนั้นว่า “เราเริ่มเห็นภาพของข้อตกลงระหว่างอำมาตย์กับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ และเพื่อให้แกนนำเพื่อไทยถูกกลืนกลับไปเป็นพรรคพวกของอำมาตย์เหมือนเดิม เพราะพรรคไทยรักไทยในอดีตก็เคยเป็นพวกเดียวกับอำมาตย์ก่อนที่จะทะเลาะกัน” สัญญาณสำคัญที่ยิ่งลักษณ์ส่งออกมาคือการไปคบค้าสมาคมยิ้มแย้มแจ่มใสกับประยุทธ์และเปรม พร้อมกับการใช้ 112 ต่อไป และสำหรับเสื้อแดงที่หมดปัญญาและได้แต่แก้ตัวให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนเคยเสนอในปีนั้นว่า “รัฐบาลนี้ไม่ได้อ่อนแอถ้ารู้จักทำแนวร่วมกับมวลชนเสื้อแดงที่ทำให้รัฐบาลนี้ชนะการเลือกตั้งแต่แรก” แต่การอาศัยพลังมวลชนไม่ใช่วัตถุประสงค์ของรัฐบาลตั้งแต่ชนะการเลือกตั้ง เพราะมันจะ “เสี่ยง” กับการสร้างสังคมไทยที่ก้าวหน้าและมีประชาธิปไตยมากกว่านี้

     ทักษิณพร้อมจะถุยน้ำลายใส่ไพร่เสื้อแดงที่ต่อสู้กับทหารและพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ตนเองได้กลับบ้าน แต่สมยศ ดา ตอร์บิโด และนักโทษ 112 คนอื่น จะไม่ได้กลับบ้าน คนที่ต้องไปอยู่ต่างแดนเพราะกฏหมายชั่วช้าเผด็จการนี้ก็ไม่ได้กลับบ้านเช่นกัน
     ที่เขียนแบบนี้ไม่ได้พยายามสื่อว่าคนเสื้อแดง “ตายฟรี” หรือ “ติดคุกฟรี” แต่อย่างใด เพราะถ้าคนธรรมดาไม่สู้ เสรีภาพจะไม่มีวันเกิด เราต้องรู้ทันพวกข้างบนว่าเขาย่อมหักหลังคนเล็กๆ เสมอ ในขณะเดียวกันเราต้องไม่ลืมว่าคนเสื้อแดงจำนวนมากไม่ได้สู้เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เพียงแต่ว่าเราปล่อยให้พวก “ผู้ใหญ่” กำหนดแนวทางการนำ แทนที่เราจะนำตนเอง
     แกนนำ นปช. ไม่เคยออกมาเสนอให้ยกเลิก 112 และไม่เคยเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษ 112 ยิ่งกว่านั้นไม่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการหักหลังของรัฐบาลเลย สรุปแล้วแกนนำ นปช. ไม่ต้องการให้เสื้อแดง “ก้าวพ้น” การเป็นลูกน้องทักษิณ นั้นคือสาเหตุที่คนก้าวหน้าเสนอให้เคลื่อนไหวอิสระจาก นปช. มานาน ปัญหาคือคนที่ก้าวหน้าไม่ยอมจัดตั้งทางการเมือง พร้อมจะมีแค่กลุ่มกระจัดกระจายที่แยกกันเคลื่อนไหวและมีคำแถลง “หางว่าว” ที่มีหลายสิบองค์กร แต่เกือบไม่มีมวลชน องค์กรผีนั้นเอง ส่วนคนที่อยากจัดตั้งองค์กรทางการเมืองอย่างจริงจังก็เล็กเกินไปในขณะนี้
     ใครที่วิเคราะห์สังคมไทยจากมุมมองชนชั้น และพร้อมจะเปิดหูเปิดตาถึงธาตุแท้ของทักษิณ ยิ่งลักษณ์ หรือพรรคไทยรักไทย-พรรคเพื่อไทย จะสามารถเข้าใจตรงนี้มาแต่แรก ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง อย่าลืมว่าทักษิณเป็นนายทุนใหญ่ที่มีส่วนในการเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่าในปาตานี หรือในสงครามต้านยาเสพติด และอย่าลืมว่าทักษิณก็เป็นคนที่ใช้ “เสื้อเหลือง”ก่อนพันธมิตรฯ ทักษิณและเพื่อไทยก็พร้อมจะใช้ 112 ต่อไป ไม่ใช่แค่ไม่ยกเลิกเท่านั้น
     คนที่ตอนนี้มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ โดยการต่อต้านกฏหมายนิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” ของรัฐบาลเพื่อไทย มีสองประเภท ประเภทแรกเป็นคนที่มีการจัดตั้งทางการเมือง คืออยู่ในกลุ่มฝ่ายซ้ายที่มีการร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองจากจุดยืนชนชั้น องค์กร “เลี้ยวซ้าย” เป็นตัวอย่างที่ดี ประเภทที่สองเป็นปัจเจกชนที่กระตือรือร้นที่จะรักษาอุดมการณ์ท่ามกลางการถูกชักชวนให้ “หมอบคลานหรือเลิก” จากพวกที่หันหลังให้วีรชน ปัจเจกชนแบบนี้น่าเคารพ แต่เขามีจุดอ่อนเพราะส่วนใหญ่ขาดการวิเคราะห์แบบรวมหมู่ของคนที่เป็นสมาชิกองค์กร ปัจเจกชนแบบนี้หลายคนจึงเสียจุดยืนไปแล้ว หมดบทบาทก้าวหน้าทางการเมืองโดยสิ้นเชิง
     อาจารย์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ยังคงอุดมการณ์ แต่ล่าสุดเขียนถึง “แนวร่วมของคนก้าวหน้ากับพรรคเพื่อไทย” ที่อาจถึงจุดจบแล้ว การมองแนวร่วมแบบนั้นมีปัญหา เพราะเคยพาคนไปตั้งความหวังเท็จกับยิ่งลักษณ์ ทักษิณ หรือแม้แต่แกนนำ นปช. ผู้เขียนและ “เลี้ยวซ้าย” เตือนว่าเราต้องไม่ทำแนวร่วมกับพรรคนายทุนมาตั้งแต่แรกเริ่มการก่อตั้งของเสื้อแดง เราเสนอแทนว่าควรทำแนวร่วมกับ “มวลชน” เสื้อแดง ไม่ใช่กับพรรคเพื่อไทยหรือแกนนำ นปช. และแนวร่วมนี้เรายังทำได้กับเสื้อแดงที่ปฏิเสธกฏหมายเหมาเข่ง
     การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยรวมทักษิณเข้าไปในการนิรโทษกรรม มีปัญหาอีกแง่หนึ่งด้วยคือ เปิดช่องทางให้พวกสลิ่มปฏิกิริยาที่สนับสนุนรัฐประหาร สามารถออกมาสร้างภาพด้วยการปฏิเสธกฏหมายเหมาเข่ง สรุปแล้วมันไม่มีอะไรดีเลย
     เลือกตั้งครั้งต่อไป คนเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตยไม่ควรลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเป็นอันขาด และแน่นอนไม่ควรเลือกพรรคประชาธิปัตย์ บางคนอาจสงสัยว่าจะทำอะไรดี คำตอบง่ายๆ คือ “กาช่องไม่เลือกใคร” การเลือกตั้งสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของ “การเมือง”
     เวลาคัดค้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เราต้องยืนยันว่ามันจะไม่นำไปสู่สันติภาพแต่อย่างใด เพราะมันเป็นการประกาศอนุญาตให้ทหารและนักการเมืองเข่นฆ่าประชาชนอีกในอนาคต เพราะฆาตกรของรัฐลอยนวลเสมอ ๑๔ ตุลา, ๖ ตุลา, พฤษภา ๓๕, ตากใบ และราชประสงค์ คือหลักฐาน
          เวลาคัดค้านการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง เราต้องยืนยันอีกด้วยว่าปัญหาสำคัญคือการปล่อยให้นักโทษ 112 ติดคุกต่อไป โดยไม่มีการยกเลิกกฏหมายนี้ อย่าลืมว่านักโทษ 112 เป็นนักโทษทางความคิด ไม่เหมือนพวกเสื้อเหลืองที่ใช้ความรุนแรงในการปิดสนามบินแต่ไม่เคยติดคุก
     ทุกวันนี้ผู้ที่น้อมรับหรือสนับสนุนกฏหมายนิรโทษกรรมฆาตกร ไม่ว่าจะด้วยข้อแก้ตัวอะไร ล้วนแต่เป็นศัตรูทางการเมืองกับฝ่ายประชาธิปไตย และเป็นศัตรูทางการเมืองกับผมด้วย

คำนวณจำนวนคนร่วมม็อบยังไง?

การชุมนุมทางการเมืองไม่ว่าครั้งใด แสนยานุภาพและศักดาล้วนถูกประกาศผ่านจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ตัวเลขเรือนหมื่นหรือกระทั่งเรือนแสนตามที่ฝากฝั่งม็อบอ้าง มักตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับตัวเลขหลักร้อยหลักพันที่เจ้าหน้าที่รัฐประเมิน ... เกิดเป็นคำถามชวนให้สงสัย เหตุใดจึงมีคาดเคลื่อนมากมายและแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

แหล่งข่าวความมั่นคง อธิบายว่า วิธีที่ฝ่ายความมั่นคงใช้ในการประเมินจำนวนผู้ชุมนุมคือการใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ กล่าวคือคำนวณว่า 1 ตารางเมตร จะมีคนยืนได้กี่คนหรือคนนั่งได้กี่คน ซึ่งสูตรโดยทั่วไปคือ 1 ตารางเมตร ยืนได้ 4 คน ถ้านั่งจะได้ 2 คน

จากนั้นก็จะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความหนาแน่นของม็อบว่าอยู่กันอย่างเบียดเสียด หรือกระจายตัวอย่างหลวมๆ และหัวขบวนจนถึงท้ายขบวนมีความยาวเท่าไร จากนั้นก็จะประเมินออกมาเป็นตัวเลขคร่าวๆ ได้

แหล่งข่าวรายนี้ อธิบายต่อว่า ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเครื่องมือหรือเทคโนโลยีอะไรในการประเมิน ทั้งหมดล้วนแต่ใช้วิธีพื้นฐานข้างต้น ส่วนการรายงานข้อมูลนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ หากภาวะปกติก็จะรายงานเฉพาะช่วงที่มีคนชุมนุมสูงสุด คือระหว่าง 18.00-21.00 น. แต่ถ้าเป็นช่วงสถานการณ์สุกงอมสุ่มเสี่ยง ก็จะต้องรายงานทุกชั่วโมง หรือทุกครึ่งชั่วโมง

“ข้อเท็จจริงคือตำรวจและรัฐมักจะประเมินต่ำกว่าความเป็นจริง ส่วนผู้ชุมนุมก็จะกล่าวอ้างสูงเกินความเป็นจริง ดังนั้นอาจจะเชื่อตัวเลขทั้งคู่ไม่ได้ทั้ง 100%” แหล่งข่าวรายนี้ระบุ

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ พล.ต.ต.สำเริง สุวรรณพงษ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง อธิบายว่า วิธีการที่ตำรวจใช้จะมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือแบบหยาบ และแบบละเอียด

สำหรับแบบหยาบ จะนำแผนที่มากางหรือลงพื้นที่ดูสภาพความเป็นจริงในสถานที่ชุมนุมว่ามีขนาดเท่าไร แผ่นปูนถนนกว้างยาวเท่าไร หรืออาจจะเปิดดูพื้นที่จากเว็บไซต์กูเกิลก็ได้ จากนั้นจะคำนวณพื้นที่ออกมาเป็นตารางเมตร โดยระบุให้ชัดว่ามีประชาชนในพื้นที่กี่ตารางเมตร

เมื่อได้มาก็จะดูที่สถานการณ์จริงว่าผู้ชุมนุมอยู่กันอย่างไร อยู่แบบไหน อัดแน่นหรือไม่ หรือแค่เป็นลักษณะหลวมๆ นั่งหรือยืน หลังจากนี้เราก็จะได้ตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความจริงเพื่อวางแผนได้ต่อไป

“สมมุติว่าตารางเมตรนั้นมีคนอยู่ 2 คน เราก็เอาจำนวนตารางเมตรที่ได้มานั้นทั้งหมดคูณสองเข้าไป ก็จะได้ตัวเลขแบบคร่าวๆ ออกมา นี่คือวิธีแบบหยาบๆ” พล.ต.ต.สำเริง อธิบาย

พล.ต.ต.สำเริง อธิบายต่ออีกว่า ขณะที่แบบละเอียดนั้น จะวางตำรวจในพื้นที่เพื่อนับหัวผู้ชุมนุม เช่น จากเสาไฟฟ้าต้นที่ 1 ไปถึงต้นที่ 2 ก็ให้ตำรวจเดินนับตามระยะที่ได้รับคำสั่ง อาจจะนับทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ได้เท่าไรก็จะเอามารวมกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะได้ตัวเลขที่ดีกว่าแบบแรก

สำหรับวิธีเพื่อที่ให้ได้จำนวนอย่างละเอียดที่สุด พล.ต.ต.สำเริง บอกว่า ถ้าเป็นพื้นที่จำกัดมีทางเข้าออกชัดเจนก็จะให้ตำรวจไปประจำจุด ใช้เครื่องนับจำนวนกดผู้ชุมนุมที่เดินเข้าเดินออกพื้นที่ชุมนุมในแต่ละเวลาที่กำหนด เช่น 1 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมง ก็จะเอาตัวเลขมารวมกัน

“ทั้ง 2 วิธีนี้ ตำรวจใช้ตามแต่สถานการณ์ และเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้ เพราะได้จากผู้ที่ปฏิบัติงานอย่างแท้จริง แต่แน่นอนว่าหลายครั้งที่ผู้ชุมนุมเมื่อรู้ตัวเลขจากทางการก็จะมีอาการไม่พอใจ แต่เราก็ใช้ตัวเลขนี้เพื่อวางแผนและใช้ปฏิบัติงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ยืนยันว่าเชื่อถือได้แน่นอน”พล.ต.ต.สำเริง ระบุ

ด้าน ปณิธาน วัฒนายากร อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรียุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้ข้อมูลการประเมินจำนวนผู้ชุมนุมของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ว่า สามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธี ซึ่งมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน โดยขณะนั้น ศอฉ. นำข้อมูลทั้ง 3 วิธีนี้มาเฉลี่ยกัน

สำหรับวิธีแรก คือการประเมินอย่างเป็นทางการ โดยให้เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายสำรวจจากสถานที่ชุมนุมในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น คำนวณออกมาว่าจำนวนคนต่อตารางเมตรเป็นเท่าไร จากนั้นนำมาพิจารณาร่วมกับภาพถ่ายจากสื่อมวลชนและภาพถ่ายทางอากาศ รวมทั้งประกอบกับข้อมูลจากสายข่าวในพื้นที่

“วิธีนี้จะคลาดเคลื่อนถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ระบุช่วงเวลาที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ 1 ตารางเมตร อาจยืนหลวมๆ ได้ 5-8 คน แต่ในช่วงหัวค่ำที่มวลชนเนืองแน่น ขนาดพื้นที่เท่าเดิมอาจยืนกันได้ถึง 15 คน ดังนั้นตัวเลขที่รายงานออกมาต้องชัดเจนว่าประเมินจากเวลาเท่าใด แต่วิธีนี้อาจมีปัญหาคือบางครั้งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ไม่ได้ เช่น ถนนราชดำเนิน เจ้าหน้าที่อาจเห็นเฉพาะต้นราชดำเนิน ไม่ใช่ราชดำเนินกลาง” อาจารย์ปณิธานกล่าว

ส่วนวิธีที่สอง คือการประเมินจากสายข่าว เป็นการประเมินจากการจัดตั้งของคน เช่น จังหวัดนี้จะส่งคนมาเท่าไร กลุ่มผู้ชุมนุมมีท่อน้ำเลี้ยงจากไหน การจัดตั้งของการเมืองเป็นอย่างไร รายงานรถบัสวิ่งเข้าพื้นที่กี่คัน อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่ค่อยมีตัวเลขเปิดออกมาสู่สาธารณะชนสักเท่าใด

“จุดอ่อนของวิธีนี้คือถ้าหากม็อบยังไม่นิ่ง ยังไม่ยืนระยะหลายๆ วัน ก็อาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้สูง แต่ถ้าชุมนุมนาน มวลชนนิ่ง ดูจากเสบียงอาหาร รถห้องน้ำ ก็จะง่ายขึ้น โดยที่ผ่านมาจะพบว่ามีไม่กี่จังหวัดใหญ่ๆ ที่จะส่งคนเข้ามาชุมนุม ซึ่งวิธีนี้อาจใช้ในการชุมนุมครั้งนี้ยาก เพราะมวลชนส่วนใหญ่มาจากกทม.ไม่ได้ถูกจัดตั้งมา” ปณิธานกล่าว

วิธีสุดท้ายคือการประเมินจากตัวเลขของสื่อมวลชน โดยสื่อมวลชนจะใช้ประสบการณ์จากการทำงานในการรายงานตัวเลขอย่างอิสระ เจ้าหน้าที่ก็จะหยิบตัวเลขดังกล่าวขึ้นมาเทียบเคียงกันหลายๆ สื่อ แล้วนำมาสอบทานกับภาพถ่ายอีกครั้ง

ทั้งนี้ สนามหลวงมีพื้นที่ประมาณ 1.2 แสนตารางเมตร ลานพระบรมรูปทรงม้ามีพื้นที่ 25,596 ตารางเมตร

สีลม หยุดเป่านกหวีดชั่วคราว รอดูท่าทีรัฐบาล เชื่อพ่ายพลังประชาชน

(๗พ.ย.๕๖)สีลม หยุดเป่านกหวีดชั่วคราว รอดูท่าทีรัฐบาล เชื่อพ่ายพลังประชาชน ยอมถอนร่างกฎหมาย แต่ยังจัดเป่านกหวีดที่แยกอโศก 7 พ.ย. ยังยืนยันว่าการต่อสู้จะยังไม่จบ ประกาศจุดยืน 3 ข้อ คือ 1.ให้นายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความยอมรับว่า การต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรม ของประชาชน ไม่ใช่ การไม่อยากเห็น การให้อภัยกันในสังคม รวมทั้งต้องถอน ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริต คอรัปชั่น ทุกฉบับออกจากสภา 2.ให้ส.ส.ทุกคนที่ผ่านร่างกฎหมาย นิรโทษฉบับนี้ออกมาขอโทษประชาชน เพื่อสำนึกผิดและ 3.จะต้องไม่มีการนำเงินภาษี ที่ถูกโกง ไปคืนให้กับครอบครัวของผู้นำ


ถ้าคุณคิดว่าคุณอ่อนล้าสิ้นแรง คุณก็จะเป็นดังเช่นคุณคิด

If you think you are beaten, you are,
ถ้าคุณคิดว่าคุณอ่อนล้าสิ้นแรง คุณก็จะเป็นดังเช่นคุณคิด

If you think that you dare not, you don't,
ถ้าคุณคิดว่าคุณคงทำไม่ได้ คุณก็ทำไม่ได้ตั้งแต่คุณคิด

If you'd like to win, but you think you can't,
ถ้าคุณต้องการจะชนะ แต่คุณกลับคิดว่าคุณคงเอาชนะไม่ได้

It's almost certain you won't.
มันก็เกือบจะแน่นอนแล้วว่า คุณไม่มีทางที่จะชนะ

If you think you'll lose, you've lost,
ถ้าคุณคิดว่าคุณคงพ่ายแพ้ คุณก็แพ้แล้วตั้งแต่คุณคิด

For out of the world we find
ในโลกใบนี้ คุณจะพบว่า…

Success begins with a fellow's will
ความสำเร็จเริ่มจาก ความปรารถนาจากภายใน เสมอ

It's all in the state of mind.
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ขึ้นอยู่กับ ความคิดที่อยู่ในจิตของคุณ

If you think you are out-classed, you are;
ถ้าคุณคิดว่าคุณเหนือชั้น คุณก็จะเหนือกว่าผู้อื่น

You've got to think high to rise;
คุณต้องคิด ให้ใหญ่ขึ้น ให้สูงขึ้น

You've got to be sure of yourself before
คุณต้องเชื่อมั่นในตัวคุณเองให้มากขึ้นเสียก่อนที่

You can ever win a prize,
คุณจะคว้าชัยชนะมาครอบครอง

Life's battles don't always go to the stronger or faster man;
ในสงครามชีวิตนั้น ชัยชนะไม่ได้เกิดกับผู้ที่ แข็งแรงกว่า หรือเร็วกว่า เสมอไป

But soon or late the man who wins,
แต่ในไม่ช้าไม่นาน ผู้ที่ประสบชัยชนะ ก็คือ

Is the man who thinks he can.
ผู้ที่คิดว่า "เขาทำได้" เท่านั้น!


เครือข่ายโซเชียล นัดรวมพล ปิดซอยจับตานิรโทษกรรม ร่วมเป่านกหวีดค้าน 8 พ.ย.

หลังจากที่ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านวาระ 3 ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ก็ทำให้มีพลังมวลชนจำนวนมากมายมหาศาลจากหลากหลายองค์กร หน่วยงาน รวมถึงสถาบันต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย และถึงแม้ว่าพลังมวลชนจะออกมาเคลื่อนไหวมากเท่าใด ทางรัฐบาลก็ขอเดินหน้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ โดยบอกว่า ควรให้อภัยซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้ก้าวข้ามความขัดแย้งภายในประเทศ

อย่างไรก็ดี ทางเครือข่ายโซเชียลมีเดีย เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย และประชาชน ขอเป็นส่วนหนึ่งในการต่อต้านครั้งนี้ โดยรวมพลังประชาชนคนใส ๆ ต้านนิรโทษกรรมและความไม่ชอบธรรม ด้วยการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน พร้อมเป่านกหวีดให้รัฐบาล "หยุด" พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับดังกล่าว...

"ปิดซอย จับตานิรโทษสุดซอย

รวมกลุ่มประชาชนคนใส ๆ ต้านนิรโทษและความไม่ชอบธรรม 16.00-19.00 น. วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ แยกปทุมวัน

การรวมพลังครั้งประวัติศาสตร์ของภาคประชาชนที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองใด ๆ โดยการนำของกลุ่มศิลปินแห่งชาติ จิตรกร นักแสดง กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ กลุ่มภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา และประชาชนที่มีใจทุกคน เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย และเรียกร้องความถูกต้องกลับคืนสู่ระบบสังคมไทย

• ร่วมร้องเพลงชาติในเวลา 18.00 น และเป่านกหวีด "หยุด" ความไม่ชอบธรรมในแผ่นดิน

• รับฟังแง่มุมความคิด จากคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำทางความคิด และข้อมูลเชิงลึกมากมาย

• พบกับกองทัพนักแสดงร่วมขึ้นเวทีร้องเพลงหมู่ ร่วมกับศิลปินรุ่นใหญ่ นำโดยอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และเหล่าศิลปินแห่งชาติ

• การปรากฏตัวบนเวทีประชาชนของเหล่าสมาชิกวุฒิสภาจำนวนมาก เพื่อยืนยันต่อสังคมที่จะต้าน พ.ร.บ.นิรโทษฉบับสุดซอย และหาหนทางแก้ไขความไม่ชอบธรรมในแผ่นดิน

• ร่วมชื่นชมภาพวาดจากศิลปินแห่งชาติชั้นครู เพื่อนำไปประมูลออนไลน์เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน

• พลาดไม่ได้ ขอเชิญชวนผู้เข้าร่วมทุกคน แต่งตัวให้สุดฤทธิ์ ในแนวโจ๋ปิดซอย !

ในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน นี้ ณ ลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพ สี่แยกปทุมวัน ตรงข้ามมาบุญครองเซ็นเตอร์ เวลา 16.00-19.00 น จัดโดย : เครือข่ายโซเชียลมีเดีย เครือข่ายศิลปินเพื่อประชาธิปไตย และประชาชน เฟซบุ๊ก คัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม


"สื่อนอกชี้นิรโทษเขย่ารบ.ปู-จุดเริ่มแห่งจุดจบ'ทักษิณ'โอกาสกลับบ้านแบบเท่ห์ๆชักห่างไกล"..

"สื่อนอกชี้นิรโทษเขย่ารบ.ปู-จุดเริ่มแห่งจุดจบ'ทักษิณ'โอกาสกลับบ้านแบบเท่ห์ๆชักห่างไกล"..

**วอลล์สตรีทเจอร์นัลด์/วอยซ์ออฟอเมริกา - สื่อนอกรายงานความพยายามกลับประเทศของทักษิณ ภายใต้แผนนิรโทษกรรมส่อแววต้องม้วนเสื่อในวันอังคาร(5) หลังแแกนนำส.ว.บอกจะปฏิเสธร่างพ.ร.บ. ส่วนยิ่งลักษณ์ ก็เสียงอ่อยยอมรับการตัดสินใจ พร้อมอ้างนักวิเคราะห์ชี้เสียงต่อต้านนิรโทษกรรมที่แผ่ลามไปทั่วทุกหัวระแหงกำลังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบยุคสมัยทักษิณ ทำให้โอกาสกลับแผ่นดินเกิดของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้หลบหนีห่างออกไปไกลกว่าเดิม

สำนักข่าววอลล์สตรีทเจอร์นัลด์ อ้างรายงานของพีเอสเอ เอเชีย บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงและความปลอดภัย ที่ส่งถึงลูกค้า ระบุว่า "นิโทษกรรมสะดุด ทักษิณผิดพลาด มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นแห่งจุดจบของยุคสมัยทักษิณในการเมืองไทย แต่ประเทศแห่งนี้อาจเลี้ยวเข้าสู่กระบวนการทางสภาผู้แทนราษฏรที่ยุ่งยากกว่าเดิม ด้วยมีหลายพรรคและหลายแกนนำตะเกียกตะกาย เบียดเสียดและประนีประนอมในทุกๆ 3 หรือ 4 ปี เพื่อรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลผสม"

วอลล์สตรีทเจอร์นัลด์ รายงานต่อว่าในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์เอง ก็ต้องเผชิญกับความกังวลเช่นกัน ด้วยพันธมิตรคนเสื้อแดงของทักษิณ กลุ่มเคลื่อนไหวคนรากหญ้าที่รู้จักกันในนาม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ก็ก่อกบฏขัดขืนแผนนิรโทษกรรม เพิ่มเติมความยากลำบากในการสร้างเสถียรภาพแก่ประเทศและมีความเป็นไปได้ที่อาจกัดเซาะโอกาสที่เธอจะได้รับเลือกตั้งกลับมาในครั้งหน้า

รายงานข่าวของวอลล์สตรีทเจอร์นัลด์ ระบุว่าพวกคนเสื้อแดงบางส่วนโกรธเคืองต่อแนวทางการนิรโทษกรรมที่ปลดเปลื้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากความรับผิดชอบเหตุปะทะในกรุงเทพฯปี 2010 ซึ่งมีคนเสื้อแดงเสียชีวิตหลายคน โดยแกนนำหลายคนทั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและนายเหวง โตจิราการ งดออกเสียงในการโหวตในรัฐสภา และเดินหน้าต่อต้านภายในพรรคคล้ายๆกับพวกที-ปาร์ตี ส่วนคนเสื้อแดงอื่นๆก็จัดชุมนุมต่อต้านนิรโทษกรรมของตนเองเช่นกัน

"นับเป็นครั้งแรก ที่คุณเห็นรอยร้าวในฝั่งคนเสื้อแดง" ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ให้สัมภาษณ์กับวอลล์สตรีทเจอร์นัลด์ "ตอนนี้พวกเขามีโอกาสที่จะแยกตนเองออกจากมิสเตอร์ทักษิณ และปรากฎตัวในฐานะกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยและสนับสนุนความยุติธรรมอย่างจริงจัง"

ด้านสำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกา สื่อมวลชนแห่งรัฐของอเมริกา เสริมว่าแม้ก่อนหน้านี้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เคยได้เครดิตจากภาพแห่งความเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมานับตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2011 แต่ก็อ้างคำสัมภาษณ์ของนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและเสียงต่อต้านอย่างหนักหน่วงในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาถือเป็นสิ่งท้าทายครั้งใหญ่ต่อรัฐบาลของเธอ

"การเสี่ยงนิรโทษกัดเซาะทักษิณและทำรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ไร้เสถียรภาพ มันทำให้โอกาสที่ทักษิณจะได้กลับสู่ประเทศไทยห่างออกไปไกลมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา มันเป็นเรื่องยากสำหรับเขาแล้วในตอนนี้ แม้การนิรโทษอาจดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและแม้ว่ามันอาจผ่านความเห็นชอบกลายเป็นกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติเขาจะเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากในไทย เพราะเขาจะมีศัตรูมากมายเหลือเกิน" เขากล่าว

อย่างไรก็ตามนายฐิตินันท์ มองว่าทักษิณและพันธมิตรทางการเมือง ยังคงถือไพ่เหนือกว่าในทางการเมือง เนื่องจากอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ยังได้รับความนิยมในชนบทและตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเพื่อไทยอาจยุบสภาและจัดเลือกตั้งก่อนกำหนดในปี 2014 เพื่อกระชับความเข้มแข็งในรัฐสภา

วอยซ์ออฟอเมริกา รายงานเสริมว่าพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งชะตากรรมของมันยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่ทางพรรคประชาธิปัตย์บอกแล้วว่าหากส.ว.ลงมติรับรอง ก็จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

สื่อมวลชนแห่งนี้รายงานต่อว่าผู้ประท้วงหลายหมื่นคน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ รวมตัวกันยึดพื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จุดที่เคยเกิดเหตุจลาจลเลวร้ายในไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยหลายคนในนั้นแต่งชุดดำไว้อาลัยแก่ประชาธิปไตยและแสดงความโกรธแค้นต่อพ.ร.บ.ที่เหมาเข่งอภัยทั้งคดีคอร์รัปชันและความรุนแรง "ความเสี่ยงเผชิญหน้ากำลังอยู่บนวิถีกระสุน ขณะที่ความผิดหวังของประชาชนหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ" วอยซ์ออฟอเมริกา อ้างความเห็นของคริสเตียน ลูอิส ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากยูราเซีย กรุ๊ป สถาบันที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองกล่าว
http://astv.mobi/AYyuMyr

‘ทักษิณ’ แถลงขอรับความเจ็บปวดไว้เอง หวังให้ประเทศเดินหน้า

Wed, 2013-11-06 16:10

อดีตนายกรัฐมนตรีแถลงการณ์ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ถูกทำให้เป็นประเด็นการเมืองใส่ร้ายตน ทั้งที่เป็นการก้าวข้ามความขัดแย้งและคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อของการรัฐประหารปี 49 ที่ละเมิดหลักนิติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง
6 พ.ย.2556 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ว่า ตามที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และถูกทำให้เป็นประเด็นการเมืองใส่ร้ายตัวผม บิดเบือนว่าจะคืนเงินและล้างผิดให้คนๆ เดียว ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ของกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ กระทำเพื่อให้ประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งและคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อของการรัฐประหารปี 49
ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ผมเคารพความเห็นต่างของคนไทย แต่ไม่สามารถยอมรับการบิดเบือนใส่ร้ายด้วยความเท็จที่ผมและครอบครัวได้รับตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความปรารถนาสูงสุดของผมคือต้องการให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น มีอนาคตที่มั่นคงและประเทศสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ แต่เป็นที่น่าเศร้าใจที่มีนักการเมืองบางกลุ่มยังคงคิดว่าการโจมตีใส่ร้ายผมด้วยความเท็จจะช่วยให้พวกเขาได้รับความนิยมทางการเมือง ซึ่งวิธีการนี้ก็ถูกปฏิเสธโดยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในการเลือกตั้งทุกครั้งในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา
ผมขอเรียนว่า การรัฐประหารในปี 2549 ได้ละเมิดหลักนิติธรรมอย่างโจ่งแจ้งทั้งการฉีกรัฐธรรมนูญของประชาชน และคนที่ยึดอำนาจผม ตั้งคนเป็นปฏิปักษ์ต่อตัวผม มาตั้งข้อกล่าวหาและสอบสวนอย่างเบ็ดเสร็จรวบรัด แม้การกระทำนี้ได้ก่อให้เกิดความอยุติธรรมแก่ผมและครอบครัว ผมขอรับความเจ็บปวดเอาไว้ เพื่อหวังให้ประเทศเดินหน้า ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ผมตระหนักว่าประโยชน์สุขของประเทศและประชาชนมาก่อนประโยชน์สุขส่วนตัวของผม สิ่งที่ผมอยากเห็นในขณะนี้คือความปรองดองสมานฉันท์ของคนไทย ผมอยากเห็นคนไทยมีความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน แม้จะอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ผมยังรักและห่วงอนาคตของลูกหลานไทย และเชื่อมั่นว่าอนาคตของพวกเขาและอนาคตของประเทศไทยจะมีความมั่นคงก็ต่อเมื่อบ้านเมืองเรามีหลักนิติธรรมสำหรับคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม และประเทศมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่การตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ผ่านการเลือกตั้งได้รับการเคารพ และองค์กรต่างๆใช้อำนาจในกรอบที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ผมเอาใจช่วยและหวังว่าเราจะไปถึงจุดนั้นในเวลาอันใกล้นี้
ผมขอกราบขอบพระคุณสำหรับความรัก และทุกกำลังใจที่ส่งมาให้ผมผ่านช่องทางต่างๆ ขอให้เปลี่ยนความรักและกำลังใจเหล่านั้น เป็นพลังในการสร้างความปรองดอง ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทยต่อไป

'ประชา'จี้ปชป.สลายม็อบลั่นแคลงใจคำพูด'สุเทพ'

"พล.ต.อ.ประชา" ยืนยัน รัฐบาลแสดงจุดยืนร่างนิรโทษ แล้ว จี้ ปชป. สลายม็อบ ลั่น แคลงใจ คำพูด "สุเทพ"

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่าทางรัฐบาลมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ได้แสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่า เป็นเรื่องของทางวุฒิสภา ในการพิจารณาเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน ประธานวุฒิสภาและพรรคเพื่อไทย ก็ได้แถลงชัดเจนว่าจะคว่ำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเห็นว่าน่าจะเป็นที่พอใจของผู้คัดค้านเรื่องนี้แล้ว จึงอยากเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ หยุดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสลายการชุมนุม ซึ่งยืนยันว่าทุกคนที่กล่าวเรื่องนี้มีเกียรติเพียงพอ 

พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.ประชา ระบุว่า ส่วนตัวยังคลางแคลงใจคำบนเวทีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี
พรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะสู้จนกว่าประชาชนจะได้รับชัยชนะนั้น หมายความว่าอย่างไร ซึ่งหากหมายถึงจะล้มรัฐบาลที่มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญนั้น คงไม่เหมาะสม และขอให้รอการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ไม่ใช่นำมวลชนมากดดันรัฐบาล พร้อมปฏิเสธว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยังมีทีท่าผลักดันเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลแต่อย่างใด