PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ปปช.รื้อคดี"ทักษิณ"ใหม่

7 ธ.ค.60 - นายวรวิทย์ สุขบุญ รักษาราชการแทนเลขาธิการป.ป.ช. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติให้ยื่นคำร้องขอให้ศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกคดีที่ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสาระบบแล้วขึ้นพิจารณาใหม่ ตามมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ประกอบมาตรา 27 และมาตรา 28 ของกฎหมายดังกล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวว่า ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ 3 คดี ประกอบด้วย 1.คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือคดีหวยบนดิน มีนายทักษิณ ชินวัตร และพวก 47 คนเป็นจำเลย 2.คดีทุจริตการอนุมัติให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการจัดซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน หรือคดีเอ็กซิมแบงค์ ซึ่งมีนายทักษิณเป็นจำเลยเช่นกัน และ3.คดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกทม. ที่มีนายโภคิน พลกุล และพวกรวม 6 รายเป็นจำเลย โดยคณะกรรมการได้มอบอำนาจให้นายณรงค์ รัฐอมฤต และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมอบหมายให้พนักงานคดีว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นศาลต่อไป.

ติด "ว.5"

ติด "ว.5" พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม เผยว่า การที่ พลเอกประวิตร ไม่มาประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่ทำเนียบฯ และมอบ บิ๊กเต่า "พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ " รมว.ทรัพยากรฯ เป็นประธานประชุมแทน นั้น เพราะ ติดประชุมด้านความมั่นคง แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าประชุมอะไร และ สถานที่ใด ระบุเป็น "ว.5" ทั้งนี้ "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการฯ และ บิ๊กป็อก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และรองประธานกรรมการฯ ไม่มาประชุม บิ๊กเต่า เผยกลางที่ประชุมว่า พลเอกประวิตร ติดภารกิจ ส่วน "นายกฯบิ๊กตู่" อยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบฯ แต่ บ่ายนี้ มีกำหนดประชุมคณะกรรมการตำรวจฯ รอดูว่า บิ๊กป้อม จะไปหรือไม่ ขณะที่ สิ่อคาดหมายว่า พลเอกประวิตร อาจหลบสื่อ ไม่อยากตอบ ปม ปปช.สอบ"แหวนเพชร-นาฬิกาRM"...หลังวานนี้ ยืนยันว่า พร้อมที่จะชี้แจงกับ ปปช. แต่ไม่แจงกับสื่อ ยันไม่เคยทุจริต ในภาพอาจจะมี 2 คน, ชุดสูท

2 ว่าที่ กกต.สายศาลจ่องานเข้า สมชัย ชี้ การประชุมลับ ถือว่าขัดกม.ลูกกกต.

2 ว่าที่ กกต.สายศาลจ่องานเข้า สมชัย ชี้ การประชุมลับ ถือว่าขัดกม.ลูกกกต.


สมชัย” เผย 2 ว่าที่ กกต.สายศาลจ่องานเข้า หลังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาประชุมลับ ขัดกฎหมายลูก กกต. ที่กำหนดให้ลงคะแนนแบบเปิดเผย

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีการลงมติเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กกต. ของที่ประชุมใหญ่ศาลฏีกา ว่า ผู้สมัคร กกต. ที่ได้รับเลือกจากสายศาลอาจจะงานเข้า เพราะตามมาตรา 12 วรรคสาม ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. กำหนดให้ในการสรรหาหรือคัดเลือกให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย และให้กรรมการสรรหาแต่ละคนบันทึกเหตุผลในการเลือกไว้ด้วย ซึ่งหากตีความตามมาตรานี้ การสรรหา หมายถึงการสรรหาโดยกรรมการสรรหาซึ่งต้องได้รับคะแนนเสียงสองในสาม ส่วนการคัดเลือก หมายถึงการเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม ซึ่งในทั้งสองกรณี กำหนดให้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผย แต่ในการคัดเลือกตัวแทนจากศาล ในครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 กลับเป็นการลงคะแนนลับ โดยเป็นผลการปรึกษาหารือของรองประธานศาลฎีกา 6 ท่าน ว่าขอให้มีการลงคะแนนโดยลับ และการเลือกตัวแทนจากศาล ในวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา ก็เป็นการลงคะแนนโดยลับอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจะมีการทักท้วงแล้วว่าต้องดำเนินการตามกฎหมายที่ต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย ทำให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ต้องมีการลงมติกันก่อนว่าจะลงคะแนนโดยลับหรือเปิดเผย ซึ่งผลการลงมติ ฝ่ายต้องการให้ลงคะแนนลับชนะไป 86 : 77 จึงทำให้การลงคะแนนในวันนั้น เป็นการลงคะแนนลับอีกเช่นกัน


“คำถามคือ ที่ประชุมรองประธานศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา สามารถมีมติให้การคัดเลือกเป็นการคัดที่ขัดกับวิธีที่กำหนดในกฎหมายได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบของผู้ที่ไม่ต้องมีความรู้ทางกฎหมายมากนักก็ตอบได้ว่าไม่ได้ เพราะ องค์กรต่างๆต้องทำตามกฎหมายจะไปใช้มติเหนือกฎหมายไม่ได้ ผมคาดว่าประเด็นนี้ คงมีการหยิบยกกันขึ้นมาร้องเรียนกันในเร็วๆนี้ สำหรับผมเองไม่ได้รู้จักใดๆกับผู้สมัครทั้งที่ได้และไม่ได้ แต่เห็นว่าหากจะดำเนินการเรื่องใดๆ ก็ควรดำเนินการให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสง่างาม โดยเฉพาะในฟากฝั่งของศาลซึ่งผู้รักษากฎหมาย ก็ควรเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องของการรักษากฎหมายโดยเคร่งครัด”นายสมชัย กล่าว

2 ป. "บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก" หายตัว ....กลางกระแส โดนตรวจสอบ เริ่อง "แหวนเพชร-นาฬิกาหรู"

2 ป. "บิ๊กป้อม-บิ๊กป๊อก" หายตัว ....กลางกระแส โดนตรวจสอบ เริ่อง "แหวนเพชร-นาฬิกาหรู"/ บิ๊กเต่า เผย ติดภารกิจ/ โฆษกกห.เผย ติดประชุมความมั่นคง ว.5

ทั้ง"บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการฯ และ บิ๊กป็อก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และรองประธานกรรมการฯ ไม่มาประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ที่ทำเนียบฯ มอบ บิ๊กเต่า "พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ " รมว.ทรัพยากรฯ เป็นประธานประชุมแทน ...

จนท.เก็บป้ายชื่อ คนไม่มาประชุมออก พลเอกเทพพงศ์ ปลัดกลาโหม มอบ บิ๊กโต้ง พล.อ.อ.สุรศักดิ์ ทุ่งทอง รองปลัดกห.ประชุมแทน

บิ๊กเต่า เผยกลางที่ประชุมว่า พลเอกประวิตร ติดภารกิจ

ขณะที่ สิ่อคาดหมายว่า พลเอกประวิตร อาจหลบสื่อ ไม่อยากตอบ ปม ปปช.สอบ"แหวนเพชร-นาฬิกาRM"...หลังวานนี้ ยืนยันว่า พร้อมที่จะชี้แจงกับ ปปช. แต่ไม่แจงกับสื่อ ยันไม่เคยทุจริต

ส่วน "นายกฯบิ๊กตู่" อยู่บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบฯ

แต่ บ่ายนี้ มีกำหนดประชุมคณะกรรมการตำรวจฯ รอดูว่า บิ๊กป้อม จะไปหรือไม่

พลโทคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม เผยว่า พลเอกประวิตร ติดประชุมด้านความมั่นคง แต่ไม่ขอเปิดเผย สถานที่ ระบุเป็น ว.5

"ร.10"เสด็จฯปัตตานี

"แม่ทัพภาค4"ประชุมหน่วย วางแผน ถวายความปลอดภัย เตรียมรอรับเสด็จฯ"ร.10"เสด็จฯปัตตานี พระราชทานรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และ ทรงเยี่ยมเยียนราษฎร9 ธค.นี้
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการพระราชทานถ้วยรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ ครั้งที่ 12 และพระราชทานโล่เกียรติคุณและเงินรางวัลแก่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และอิหม่ามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีผลการปฎิบัติงานดีเด่นประจำปี 2559 และผู้แทนโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียน ครูและนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ ประจำปี 2559
รวมทั้ง ทรงเยี่ยมเยียนประชาชน และผู้นำศาสนา ด้วย
โดยในวันนี้ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค4/ผอ.รมน.ภาค 4 เป็นประธานการประชุมเตรียมการถวายความปลอดภัยแด่ "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ" ที่ ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง ปัตตานี

“วัชรพล” เผย เล็งแก้ระเบียบป.ป.ช.สั่งปิดข้อมูลส่วนตัวนักการเมือง เปิดบัญชีทรัพย์สิน

“วัชรพล” เผย เล็งแก้ระเบียบป.ป.ช.สั่งปิดข้อมูลส่วนตัวนักการเมือง เปิดบัญชีทรัพย์สิน


“วัชรพล” เผย เล็งแก้ระเบียบป.ป.ช.สั่งปิดข้อมูลส่วนตัว ตอนเปิดกรุนักการเมือง
เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 7 ธันวาคม ที่รัฐสภา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึง เนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต ที่กำหนดให้ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของฝ่ายการเมืองเท่าทีจำเป็น ว่า เกิดจากแนวคิดของกรธ.ที่ไม่อยากให้ป.ป.ช.เปิดเผย รายละเอียดทรัพย์สิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล เพราะกังวลถึงอันตรายต่อตัวบุคคลและครอบครัว ทางป.ป.ช.จึงเตรียมการออกระเบียบให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกฉบับใหม่ เพื่อปิดบังรายละเอียดประมาณ 14 รายการ เพื่อความปลอดภัยของผู้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร แต่ยืนยันว่า สิทธิในการเข้าถึงเพื่อตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ของประชาชนยังมีอยู่


พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า นอกจากนี้จะแก้ไขระเบียบ ให้ป.ป.ช.ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัญชี เลขบัตรประชาชน แก่ผู้แจ้งบัญชีทรัพย์สินทันที ซึ่งต่างจากเดิมที่ป.ป.ช.จะดำเนินการก็ต่อเมื่อผู้แจ้งบัญชีทรัพย์สินร้องขอเท่านั้น ส่วนในแง่อำนาจหน้าที่กรอบเวลาการตรวจสอบของป.ป.ช.นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาของกมธ.วิสามัญในชั้นสนช. โดยกรธ.รับฟังและเข้าใจการทำงานของป.ป.ช.มากขึ้น ทำให้กรอบการทำงานของป.ป.ช.มีการปรับให้สามารถขอขยายเวลาเพิ่มเติมได้

เช็กกระแส ว่าที่ กกต.ใหม่ ชุดสเปกเทพ

เช็กกระแส ว่าที่ กกต.ใหม่ ชุดสเปกเทพ


หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการและอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายหลังคณะกรรมการสรรหา กกต.ชุดใหม่ มีมติเลือก กกต. 5 คน ได้แก่ 1.นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ 2.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ 3.นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ 4.นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ และ 5.นายประชา เตรัตน์ โดยจะรอผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอีก 2 คน เพื่อเป็น กกต.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี


แฟ้มภาพ

สดศรี สัตยธรรม

อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รายชื่อว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน ที่ได้รับการสรรหา เป็นตามที่กฎหมายกำหนดว่ามาจากหลากหลายอาชีพ เพียงแต่ไม่มีจากเอ็นจีโอ ซึ่งเคยมีทุก กกต.มาแล้ว ส่วนอดีตอธิการบดี 2 คน ก็เป็นฝ่ายบริหารมา ก็คงสามารถทำงานแทนเอ็นจีโอได้ เพราะอยู่กับประชาชนในท้องถิ่นมา ก็สามารถทำงานด้านการมีส่วนร่วมได้ ส่วนคนที่มาจาก กทช. ก็เก่งด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าท่านเก่ง คิดว่างาน กกต.ด้านประชาสัมพันธ์คงไม่มีปัญหา เพราะท่านทำอยู่แล้วอาจจะดีกว่าเดิมก็ได้ ส่วนด้านกฎหมาย ทางศาลฎีกาก็ดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม งานของ กกต.ครั้งนี้เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยโดยตรง คือการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อนายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดมหาดไทย ได้รับการสรรหาเข้ามา ก็เป็นผลดี สามารถประสานกับกระทรวงมหาดไทยได้

ส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและมีองค์กรที่มีอำนาจซ้อนขึ้นมาคือผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด จึงสำคัญว่า กกต.ทั้ง 7 ท่าน จะสามารถประสานงานกับผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ดีหรือไม่ ถือเป็นปัญหาสำคัญ คงไม่ใช่ว่าจะข่มเขาได้เหมือน กกต.จังหวัดที่มีอยู่เดิม สิ่งเหล่านี้จึงอยู่ในมือของ กกต.ทั้ง 7 ท่านว่าจะทำได้หรือไม่ และงานแรกที่ กกต.ชุดใหม่ต้องรับผิดชอบคือการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะหมดวาระลงในปี 2561 คงเป็นการซ้อมฝีมือของท่านว่าทำได้สำเร็จหรือไม่ และการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นมาตามโรดแมป เดือนพฤษภาคม 61 ก็เป็นงานสำคัญ เพราะการเลือกตั้งเป็นแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วยากมาก ทั้งการคิดคำนวณตัวเลข การพิมพ์บัตร กกต.ชุดนี้ต้องตัดสินใจและสะสางปัญหาต่างๆ

ส่วนความคาดหวังที่ กกต.ชุดใหม่จะทำงานได้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่นั้น คิดว่าท่านคงทำได้ดี เพราะท่านทั้งหลายก็ผ่านประสบการณ์ในเรื่องงานบริหารมาแล้วทั้งมหาวิทยาลัย และในจังหวัด ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากการบริหารงาน กกต. ที่สำคัญคือต้องแก้ปัญหาต่างๆ ให้ได้ ไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างกัน และกับหน่วยงาน เพราะแต่ละคนมาจากหลายหลาก ความเห็นอาจไม่ตรงกัน ก็ยากต่อการทำงาน บางครั้งต้องตัดสินด้วยกฎหมาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องศึกษาคือ กฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง

สิ่งที่อยากฝากคือจะต้องพยายามไม่ให้เกิดปัญหา การเลือกตั้งครั้งหน้าต้องไม่เป็นโมฆะ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ กกต.ชุดใหม่ก็จะหมดไป เป็นงานหนักและเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ
ส่วนที่มีการมองว่าการสรรหา กกต.ครั้งนี้ มีเด็กใครเข้ามาหรือไม่นั้น คงไม่ใช่ว่าเป็นเด็กของใคร เพราะกรรมการสรรหาซึ่งมาจากหลากหลายต้องพิจารณาตามคุณสมบัติ ส่วนคนดังๆ หลายคน ที่คิดว่าจะได้กลับไม่ได้ เป็นเรื่องที่เชื่อว่ากรรมการสรรหาคงไม่ได้เอาตามกระแสหรือเอาตามว่าคนดังแล้วต้องเลือกไว้ก่อน และคนที่ได้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทหารเลย แม้ทหารสมัครมายังไม่ได้เลย เช่น อดีตหัวหน้าศาลทหารสูงสุด ส่วนที่ว่านายประชามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลก็เห็นว่า กกต.ชุดนี้ต้องมีฝ่ายมหาดไทยด้วย ถ้าไม่มีเลยก็ลำบาก นายประชาก็รู้เรื่อง คิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม ที่ควรจะได้รับการสรรหาเข้ามา ร่วมทั้งนายประชาก็รู้เรื่องงานทางภาคใต้ จึงคิดว่าการเลือกตั้งทางภาคใต้คงจะดำเนินการได้เรียบร้อย คิดว่างานของ กกต.ชุดใหม่ เป็นงานที่ท้าทายมาก คงจะสามารถทำงานสำเร็จ

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

คุณสมบัติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดนี้เขาว่ากันว่าเป็นสเปกเทพ แต่ที่สุดแล้วคนเลือกจริงๆ ก็เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ดี เพราะใช้ระบบสรรหา ซึ่ง 5 คนที่ผ่านเข้ามา ต้องบอกว่าไม่มีใครโดดเด่น หรือแทบไม่รู้จักใครเลย อย่างชุดก่อนหน้านี้ยังมีนางสดศรี สัตยธรรม หรือนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เรายังเห็นบทบาทเขา แต่ชุดนี้จะเรียกว่าม้ามืดก็ไม่ถูก เพราะลักษณะเป็นคนไม่ค่อยออกสื่อ ทำให้วิเคราะห์ได้ยากว่าบุคคลเหล่านี้มาอย่างไร แต่เท่าที่ทราบมาคือมีท่านหนึ่งเคยมีจุดร่วม เคยขึ้นเวทีปราศรัยกับกลุ่ม กปปส. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเห็นด้วยกับ กปปส.จนถึงตอนนี้ อันนี้ต้องสงวนไว้ว่าปัจจุบันเขาคิดอะไร


เรื่องสเปก กกต. เท่าที่สำรวจคร่าวๆ จริงๆ มันไม่ได้แตกต่างอะไรมากมาย เพียงแต่ว่ามันมีคุณสมบัติปลีกย่อยเล็กน้อยเข้ามา สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกัน นั่นคือการอาศัยผู้มีประสบการณ์ ผู้บริหารหรือข้าราชการในระดับชั้นไหนก็ว่ากันไป ไม่เคยมีประวัติหรือคดีถึงที่สุดให้จำคุกกัน ผมคิดว่ามันเป็นคุณสมบัติทั่วไปของกรรมการในองค์กรอิสระอยู่แล้ว

ถามว่าจะมีผลต่อความไว้วางใจในการจัดการเลือกตั้งหรือไม่ ผมคิดว่าจัดได้ เพราะสุดท้ายแล้ว กกต.เป็นแค่คนกำหนดกรอบ ไม่ได้เป็นคนลงไปจัดการเลือกตั้ง 100% สุดท้ายก็ต้องใช้กลไกของรัฐคือพวกข้าราชการในการดำเนินการอยู่ดี ผมคิดว่าการจัดการเลือกตั้งตรงนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ที่มีปัญหาคือการจะได้เลือกตั้งหรือไม่ และตอบไม่ได้ว่าการทำงานจะราบรื่นหรือไม่ แต่สามารถทำงานได้
อย่าง กกต.หลายๆ ชุด ไม่ว่าจะชุดนายสมชัยเอง หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อ ถ้าเราไม่อยู่ในวงการ เราไม่เคยได้ยินชื่อเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นคิดว่าด้านการทำงานไม่น่ามีปัญหา เพราะอย่างไรก็เป็นพวกเจ้าหน้าที่รัฐคอยสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ว่าถามว่าปัญหาคืออะไร นั่นคือจะได้เลือกหรือเปล่า หรือจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ประกอบกับหลักเกณฑ์ของ กกต.กลางที่ออกมา รวมถึงการวินิจฉัยคุณสมบัติ หรือคดีเลือกตั้งในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าด้านคุณสมบัติกับการทำงาน ย่อมไม่เป็นปัญหา แต่ว่าการโน้มเอียงไปสนับสนุนใคร หรืออุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รศ.ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ต้องเริ่มต้นจากการกำหนดคุณสมบัติ กกต. ในรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่เราเรียกขานกันทั่วไปว่าสเปกเทพ ซึ่งได้กลายเป็นการกีดกันพื้นที่ของบุคคลหลายๆ ท่านที่อาจจะมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในสังคม และมีประสบการณ์การทำงานจริงๆ การไปกำหนดคุณสมบัติแบบนี้อาจกลายเป็นเหรียญสองด้าน คือมีทั้งผลบวกและผลลบ ในแง่ผลบวก อาจทำให้ได้คนที่มีคุณสมบัติสูงตามที่ผู้ร่าง รธน.หรือผู้ร่างพระราชบัญญัติประกอบ รธน.ว่าด้วย กกต.ต้องการจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่ง คุณสมบัติเช่นนี้จะทำให้ได้สิ่งที่เป็นเชิงปริมาณ ไม่ใช่เชิงคุณภาพ เพราะคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันว่าเขาจะเชี่ยวชาญหรือเป็นคนที่คลุกคลีในวงการนั้นจริงๆ หลายคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอาจไม่สามารถอยู่ในคุณสมบัติเชิงปริมาณแบบนี้ก็ได้ เทียบเคียงกับในมหาวิทยาลัย คนที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับในสังคม หลายคนเขาก็ไม่ได้ขอศาสตราจารย์ แต่ผลงานเขียนก็เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ ดังนั้น การไปกำหนดคุณสมบัติว่าถ้าเป็นอธิบดีหรือศาสตราจารย์ก็ต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี ถ้าเป็นเอ็นจีโอหรือทนายความก็ต้อง 20 ปี อะไรแบบนี้

นี่เป็นคุณสมบัติในเรื่องปริมาณ แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้มองเชิงคุณภาพว่าบุคคลท่านนั้นมีผลงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังหรือเป็นที่ยอมรับสักเท่าไหร่ ตัวกติกาใหญ่กำหนดมาแบบนี้ กรรมการสรรหาก็ไม่สามารถดิ้นออกนอกกรอบได้ หรือจะไปพิจารณาตีความเป็นอื่น ผมคิดว่าก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากตีความอย่างกว้างเกินไป ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจทำให้กระบวนการสรรหา กกต. ไม่ราบรื่น เช่น อาจมีการฟ้องร้องศาลปกครอง

ดังนั้น กรรมการสรรหาก็ต้องตีกรอบอย่างแคบ เราจึงเห็นได้ว่า หลายท่านที่แม้จะเป็นศาสตราจารย์ แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือกฎหมายเลย ผมจึงค่อนข้างกังวลว่าสุดท้ายเมื่อมาทำงานตรงนี้ ท่านจะสามารถเข้าใจได้ดีแค่ไหน ไม่ลำพังเฉพาะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.เท่านั้น กรรมการสรรหาหลายท่านก็ไม่ได้มาจากสายทางรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ หรือเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ถ้าเราย้อนกลับไปดู 5 เสือ กกต.ครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นเป็น 5 เสือ กกต.ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มีครบทุกภาคส่วน ทั้งการบริหารจัดการเลือกตั้งซึ่งมีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด คนในมหาดไทยที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้งมา สายเอ็นจีโอ สายนักกฎหมาย สายกระบวนการการมีส่วนร่วม สืบสวนสอบสวนก็มา มีครบทั้งหมด การกำหนดให้มี กกต. 5 ฝ่าย เพื่อให้แต่ละคนดูแลคนละด้านให้ครบภารกิจหลัก ทั้งการบริหารจัดการเลือกตั้ง เรื่องกฎหมาย เรื่องพรรคการเมือง เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้กระทั่งเรื่องการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน แต่ถ้าดูหน้าตาของ กกต. ตอนนี้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่าไหร่ ที่เราเห็นชัดเลยคือ ภาคประชาสังคมที่ขาดไป บุคคลที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็มาจากสายที่ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเลือกตั้ง จะมีสักคนหรือสองคนที่ผมเห็นชื่อ เช่น บางคนเป็นอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ เป็นนักฎหมายซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายด้วยนะ ผมไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจกฎหมายมหาชนได้ดีพอเพียงใด เพราะที่ปรึกษากฎหมายส่วนใหญ่จะชำนาญกฎหมายเอกชน ขณะที่การเลือกตั้งเป็นเรื่องกฎหมายมหาชนเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงค่อนข้างเป็นห่วงการทำงานของ กกต. แต่หลังจากนี้จะมีนักฎหมายเข้ามาเติมเต็มอีก 2 ท่านที่ศาลฎีกาเสนอชื่อเข้ามา ทำให้ฝ่ายกฎหมายจะมีทั้งหมด 3 จาก 7 คน เกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งที่ กกต.มีบทบาทภารกิจอีกเยอะ นอกเหนือจากเรื่องกฎหมาย ส่วนในด้านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผมยังไม่เห็นใครเป็นสายเชื่อมโยงไปสู่ภาคประชาสังคมได้

หากการกำหนดสเปกเทพเช่นนี้เกิดจากความต้องการให้ กกต.มีที่มาที่หลากหลาย ผมคิดว่าการเปิดช่องให้สังคมได้มีส่วนเชื่อมต่อกับคณะกรรมการสรรหาเป็นส่วนที่สำคัญมากกว่า ภาพที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอีกชุดหนึ่ง คือ กกต. จากรัฐธรรมนูญปี 2550 และ กกต.ชุดปี 2556 ซึ่งจนหมดวาระก็ไม่เคยจัดการเลือกตั้งเลย นี่ทำให้เห็นว่าการมองมิติกฎหมายเพียงอย่างเดียว เน้นการสืบสวนสอบสวน เอาความผิด แจกใบเหลืองใบแดง ไม่ได้เป็นการตอบโจทย์การทำงานของ กกต.อย่างแท้จริง เพราะเบื้องต้นที่ กกต.เกิดขึ้นก็เพราะมองว่าการจัดการเลือกตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยจะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง เราได้แม่แบบมาจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ชื่อว่านัมเฟล ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเขาตรวจสอบการเลือกตั้งจนเป็นที่มาของการล้มอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เราก็นำแม่แบบนี้มาใช้ แต่มันสวนทางกัน เพราะของฟิลิปปินส์เกิดจากการที่ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง แล้วค่อยเอากฎหมายไปสถาปนาจัดตั้ง แต่บ้านเราเอากฎหมายเป็นตัวตั้ง กกต. การเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมเลยไม่เกิด

สุดท้ายผมจึงกังวลว่า กกต.จะกลายเป็นระบบราชการ เท่ากับเป็นการผิดจุดประสงค์ในการก่อตั้งองค์กรนี้

ซุปเปอร์ กอ.รมน. กับบทบาททหารในอนาคต โดย สุรชาติ บำรุงสุข

ซุปเปอร์ กอ.รมน. กับบทบาททหารในอนาคต โดย สุรชาติ บำรุงสุข


ในท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองที่มาพร้อมกับข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรีนั้น นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 51/ 2560 เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” สาระของกฎหมายฉบับนี้ดูจะถูกกลบด้วยข่าว “ครม.ประยุทธ์ 5” และข่าวการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร จนเสมือนว่าคำสั่งนี้อาศัยสถานการณ์การเมืองดังกล่าวเป็นเครื่องอำพรางตัวเอง และออกมาในขณะที่สื่อและสังคมดูจะสนใจประเด็นทางการเมืองเรื่องอื่นมากกว่า ทั้งที่สาระของการแก้ไขครั้งนี้มีนัยสำคัญต่ออนาคตของทหารกับการเมืองและความเป็นไปของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในวันข้างหน้าเป็นอย่างยิ่ง และแทนที่กฎหมายฉบับนี้จะใช้กระบวนการผ่านทาง สนช. เพื่อให้กฎหมายออกมาในรูปแบบของพระราชบัญญัติ แต่กลับใช้คำสั่งของมาตรา 44 เป็นช่องทางแทน

ทหารผู้ควบคุมงานความมั่นคง

กฎหมายฉบับนี้แต่เดิมเรียกกันโดยทั่วไปว่า “พ.ร.บ.ความมั่นคง” เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้แต่เดิมก็เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่กฎหมายนี้ยังไม่เคยถูกปรับแก้ไข จนกระทั่งถึงยุคของรัฐบาลรัฐประหารของ คสช. รัฐบาลให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขเพราะ (1) ภัยคุกคามด้านความมั่นคงเปลี่ยนแปลงรูปแบบ (2) ภัยนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภายนอกและภายในประเทศ (3) ภัยดังกล่าวอาจเกิดจากการกระทำของบุคคลหรืออาจเกิดจากธรรมชาติ

ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของปัญหาภัยคุกคามเช่นนี้ รัฐบาลจึงตัดสินใจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามาเป็นผู้แก้ไขสถานการณ์ภัยคุกคามดังกล่าว และทั้งยังให้ กอ.รมน.เป็น “แม่ข่าย” ของการปฏิบัติการด้านความมั่นคงและการป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งการนำเสนอบทบาทใหม่เช่นนี้ต้องถือเป็นเรื่องใหญ่ และการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการ “รื้อใหญ่” และทำให้ กอ.รมน.มีสถานะเป็น “ผู้ควบคุมงานความมั่นคง” ของประเทศไว้ทั้งหมด และที่สำคัญ สำนักงบประมาณยังมีหน้าที่ต้องจัดสรรงบสนับสนุนการดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามของ กอ.รมน. [ข้อ 2 (2)] และในการนี้ยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องส่งเจ้าหน้าที่ของตนตามที่ถูกร้องขอมาปฏิบัติหน้าที่ใน กอ.รมน. (ข้อ 3 มาตรา 9)

ในเชิงโครงสร้าง กฎหมายใหม่ฉบับนี้ได้รวมรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ เข้ามาไว้เป็น “คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” (ข้อ 4 มาตรา 10) อันทำให้เสมือนว่า กอ.รมน.กำลังทำหน้าที่เป็นสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งติ (สมช.) และยิ่งดูสาระสำคัญในข้อ 4 ก็ยิ่งชัดเจนว่าคำสั่งนี้กำลังทำให้เกิดสภาความมั่นคงแห่งชาติอีกแบบ (คู่ขนานกับสภาความมั่นคงแห่งชาติที่มีอยู่แต่เดิม)

ผลจากการนี้ทำให้เห็นถึงการขยายบทบาทของทหารไทยในยามสันติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในการควบคุมงานความมั่นคงทั้งระบบ จนคล้ายกับการจัดตั้งรัฐบาลคณะเล็กในอีกรูปแบบหนึ่ง

การขยายบทบาทของทหารยามสันติ

ในเชิงสาระ การขยายบทบาทเช่นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการปรับเปลี่ยนนิยาม โดยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีความหมายว่า “การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัย หรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ รวมถึงในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กลับสู่ภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ” (ข้อ 1)


หากพิจารณาจากการกำหนดนิยามใหม่เช่นนี้ภารกิจของ กอ.รมน.กำลังจะกลายเป็นงานแบบ “ครอบจักรวาล” เพราะคำสั่งนี้เปิดโอกาสให้ กอ.รมน.กำหนดเองว่า “สถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย” ซึ่งเท่ากับเปิดช่องทางให้เกิดการตีความได้อย่างไม่จำกัด อันจะทำให้กองทัพในอนาคตสามารถมีบทบาทกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเราจะไม่สามารถควบคุมการตีความของฝ่ายทหารเช่นนี้ได้เลย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การนิยามใหม่ตามข้อ 1 ของกฎหมายนี้ก็คือการเปิดช่องทางให้กองทัพดำรงบทบาทอย่างรอบด้านไว้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสถานการณ์สงครามรองรับ เพราะโดยปกติเป็นที่ยอมรับกันว่า กองทัพจะสามารถขยายและดำรงบทบาทแบบรอบด้านไว้ในสังคมได้ก็เป็นเงื่อนไขยามสงคราม แต่สถานการณ์ปัจจุบันของสังคมไทยไม่อยู่ในภาวะสงคราม คำสั่งฉบับนี้กลับขยายบทบาทของทหารอย่างมากผ่าน กอ.รมน. สภาวะเช่นนี้อาจทำให้ถูกตีความได้ว่า กอ.รมน.ในอนาคตกำลังกลายเป็น “รัฐบาลน้อย” ที่ควบคุมประเทศผ่านการตีความปัญหาความมั่นคงได้อย่างไม่จำกัด

การขยายบทบาทเช่นนี้ยังครอบคลุมไปถึงงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพราะนิยามใหม่ได้กำหนดให้ กอ.รมน.เข้าไปทำภารกิจในงานเช่นนี้อีกด้วย แต่เดิมงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นงานการป้องกันของฝ่ายพลเรือน (หรือที่เรียกว่างาน “civil defense”) แต่คำสั่งนี้เท่ากับเปิดบทบาทใหม่ให้ กอ.รมน.เข้าไปคุมงานนี้แทนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สังกัดกระทรวงมหาดไทย) และคงต้องตระหนักว่าคำว่า “สาธารณภัย” มีนิยามอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาด ภัยธรรมชาติ อุบัติภัย และยังมีขอบเขตรวมถึงภัยทางอากาศ และการก่อวินาศกรรม ซึ่งงานนี้เป็นภารกิจกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยตรง แต่โดยคำสั่ง คสช. งานนี้จะถูกโอนไปไว้ภายใต้การควบคุมของ กอ.รมน. อันเท่ากับว่าในอนาคต กอ.รมน.จะเป็นผู้ดำเนินการและจัดทำแผนงานด้านการป้องกันภัยเช่นนี้โดยตรง

ซึ่งเท่ากับการส่งสัญญาณว่า กอ.รมน.จะเป็นผู้จัดการงานนี้แทนกระทรวงมหาดไทย (นอกเหนือจากการเป็นสภาความมั่นคงดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น) และในการนี้ยัง “ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามแผนและแนวทางนั้นด้วย” (หมายถึงแผนและแนวทางที่ กอ.รมน.ได้จัดทำขึ้น)
ซุปเปอร์กระทรวง

หากพิจารณาสาระของคำสั่งและการสั่งการให้สำนักงบประมาณจัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการของ กอ.รมน. แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าองค์กรนี้กำลังกลายเป็น “ซุปเปอร์กระทรวง” ในระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทย เพราะมีภารกิจแบบครอบคลุมทุกเรื่อง ในอีกด้านหนึ่งก็อาจตีความได้ว่า กอ.รมน.กำลังจะถูกสร้างให้เป็นดัง “Homeland Security” ซึ่งเป็นองค์กรความมั่นคงภายในของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และถือกำเนิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์การโจมตีสหรัฐ ในวันที่ 11 กันยายน 2544 แต่การจัดตั้งองค์กรนี้ของสหรัฐเกิดขึ้นเพราะกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทยอเมริกันไม่ได้มีบทบาทความมั่นคงภายในเช่นในแบบของไทย หลังเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลอเมริกันจึงต้องจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้น

ดังนั้น การขยายบทบาทของ กอ.รมน. เช่นนี้จึงกลายเป็นปัญหาในตัวเองอย่างมาก เว้นเสียแต่การขยายบทบาทภายใต้คำสั่งนี้เป็นไปเพื่อการคงบทบาทของกองทัพไว้ในสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าการเมืองไทยจะเป็นรูปแบบใดในอนาคต เพราะไม่ว่าการเมืองจะเป็นเช่นไร กองทัพก็จะมีบทบาทแบบ “ครอบจักรวาล” และมีภารกิจแบบ “ไร้ขีดจำกัด” ได้ตลอดเวลา

ฉะนั้น “ซุปเปอร์ กอ.รมน.” จะเป็นหลักประกันต่อการมีบทบาทเช่นนี้ในอนาคต ซึ่งเท่ากับการส่งสัญญาณว่านอกจากการถอนตัวของทหารออกจากการเมืองไทยจะเป็นสิ่งที่ไทยเป็นไปไม่ได้แล้ว การลดบทบาทของทหารในการเมืองก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากเช่นกันด้วย!

ไชยันต์ ชี้ พรรคการเมืองต้องจับมือกัน หากต้องการออกจากการเมืองใต้อิทธิพลทหาร

ไชยันต์ ชี้ พรรคการเมืองต้องจับมือกัน หากต้องการออกจากการเมืองใต้อิทธิพลทหาร



ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
วันนี้ (7 ธันวาคม) ที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ต.ศาลายา อ.ศาลายา จ.นครปฐม ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวบรรยายพิเศษ ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ด้านสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ “การเมืองไทยหลังปลดล็อกทางการเมือง” โดยระบุว่า จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน แม้จะมีการประกาศพรบ.เกี่ยวกับพรรคการเมือง แต่มาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการปลดล็อก ซึ่งจากการฟังข่าวล่าสุดพบว่าเริ่มมีสัญญาณที่คสช.อาจจะให้สนช.ทำการแก้ไข พรบ.เกี่ยวกับพรรคการเมือง ให้ขยายเวลาการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองออกไป ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความสนใจมาก เพราะประเทศมีการรัฐประหารซึ่งทหารครองอำนาจมีระยะเวลายาวนานเป็นอันดับ2 รองจากยุคจอมพลถนอมและจอมพลสฤษฎิ์ ที่ครงอำนาจกว่า 9 ปี นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าการเมืองไทยจะกลับมาลงเอยด้วยสภาพการเมืองไทยแบบเดิมหรือไม่ หรือในศัพท์วิชาการว่าวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ที่ใช้อธิบายวัฏสงสารทางการเมืองไทย ดังนั้นการเลือกตั้งในปีหน้า หรืออย่างช้าต้นปี 2562 จึงถูกจับตาว่าจะกลับไปสู่ระบอบเดิมหรือไม่

ศ.ดร.ไชยันต์ บรรยายต่อว่า ทั้งนี้หากย้อนดูสถิติการรัฐประหารจากทั่วโลก ในศตวรรษที่ 20 ทั่วโลกมีการรัฐประหารกว่า 300 ครั้ง โดยประเทศที่มีการทำรัฐประหารมากที่สุดคือ คือประเทศอาร์เจนตินาและกรีซ คือจำนวน 8 ครั้ง ส่วนประเทศไทย เป็นอันดับ 2 ของโลก ครองแชมป์คู่กับปากีสถาน โดยเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อาร์เจนตินา กับกรีซ เลิกทำรัฐประหารไปแล้ว แต่ไทยยังมีการทำรัฐประหารอยู่อีก 2 ครั้ง คือปี 2549 และปี 2557 ดังนั้นการนำพาประเทศให้พ้นจากวงจรอุบาทว์ทางการเมือง จึงเป็นวาระสำคัญที่ไทยต้องหลีกหนีให้พ้น เพื่อมุ่งสู่ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งการพิจารณาประเทศไทย ภายใต้กรอบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบเส้นทางพัฒนาการทางการเมืองสองแบบ แบบหนึ่งคือการรัฐประหาร ซึ่งไทยโดยเด่นที่สุด ส่วนประเทศที่ไม่ได้ติดอันดับการทำรัฐประหาร อย่างเช่น พม่า ก็พบว่ามีการเมืองการปกครองที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารมานาน เพิ่งจะมีการเลือกตั้งเมื่อไม่นาน ขณะที่ ลาวมีรัฐยประหารครั้งเดียว แต่ก็มีแค่พรรคเดียวครองอำนาจยาวนาน ส่วนที่กัมพูชา “ฮุนเซน” ก็ครองอำนาจมานาน ไล่บี้ฝ่ายค้าน เช่นเดียวกับเวียดนาม ที่มีพรรคเดียว และสิงคโปร์ที่ก็เป็นระบบสืบทอดอำนาจ ขณะที่มาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด ก็มีอำนาจมานาน เช่นเดียวอินโดนีเซีย ที่ซูฮาร์โต้มีอำนาจมานาน จะเห็นว่าเงื่อนไขการเข้าสู่อำนาจของหลายประเทศ แม้ไม่มีรัฐประหารแต่ก็มีลักษณะอำนาจนิยม แต่ประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นก็ถือว่าสถิติไม่เลวร้าย ซึ่งการเมืองไทยมักไม่ยึดกับรัฐธรรมนูญแต่เกี่ยวกับคน จึงเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนหมู่มากมีวินัย เคารพกฎหมาย

ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่า ในเรื่องการปลดล็อกทางการเมืองนั้น กฎหมายพรรคการเมืองล่าสุดบังคับให้พรรคการเมืองต้องทำไพรมารี่โหวต โดยพรรคการเมืองนั้น หากอำนาจการตัดสินใจเป็นของหัวหน้าพรรคคนเดียวชี้ขาด จะเป็นระบบที่ทำให้ลูกพรรควิ่งเข้าหานาย ส่วนพรรคอีกประเภทคือกรรมการบริหารพรรคมีบทบาทมาก หัวหน้าพรรคไม่ได้มีบทบาทมาก หากจะให้ใครลงสมัครจะต้องมีการประชุมลงมติ ส่วนประเภทที่ให้สมาชิกพรรคเป็นผู้กำหนดจริงๆนั้นไม่มี ซึ่งตามพรบ.พรรคการเมือง กำหนดให้การทำไพรมารี่โหวตต้องมีการประชุมสมาชิกพรรคในระดับสาขาพรรคไม่ต่ำกว่าร้อยคน เพื่อเลือกตัวแทนบุคคลที่จะลงสมัครเป็น ส.ส. โดยหากใครจะลงสมัครก็จะเกิดการเกณฑ์คนมาลง และจะเกิดการแข่งขันกันระหว่างในพรรค จากการพูดคุยของตนกับนักการเมือง พบว่าหากใครแพ้ในขั้นไพรมารี่โหวต กลับมีแนวโน้มจะไม่ช่วยพรรคเดียวกัน หลายคนออกปากเลยว่าจะเลื่อยขากันเอง เพื่อให้เกิดการเสียหน้าด้วยซ้ำ นอกจากนี้การทำไพรมารี่โหวต ยังอาจมีปัญหากับวัฒนธรรมไทยที่อาจไม่ชอบเปิดหน้าแสดงตัวลงคะแนนขั้นไพรมารี่เชียร์ผู้สมัครที่ชอบอีกด้วย โดยเฉพาะข้าราชการไทยที่มีกว่า 2 ล้านคน ที่อาจไม่เข้าร่วมทำไพรมารี่โหวต ซึ่งการต่อสู้กันเองในพรรค ต่างกับต่างประเทศที่หากใครแพ้ขั้นไพรมารี่โหวตก็จะช่วยกันเพื่อเอาชนะคู่แข่ง ระบบนี้ก็จะยิ่งทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ

โดยตนเองสอบถามพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ท่านจะไปทำไพรมารี่โหวตหรือไม่ ก็ตอบว่าไม่ไป ส่วนตัวเห็นว่า คนที่จะไปทำไพรมารี่โหวตจะเป็นคนระดับชาวบ้าน ซึ่งระบบไพรมารี่โหวต เป็นระบบที่พรรคนายใหญ่แข็งแรงได้เปรียบ ส่วนพรรคที่เป็นประชาธิปไตยเละแน่นอน ทั้งนี้การเสนอชื่อนายกฯตามกฎหมายเปิดให้มีการเสนอชื่อสามชื่อ ทั้งคนที่เป็นส.ส. และไม่ได้เป็นส.ส.ก็ได้ ซึ่งมีคำถามว่าจะมีพรรคการเมืองไหนเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ หรือไม่ ตนทำนายพลเอกประยุทธ์จะไม่ยอม คิดว่าพรรคทหารไม่มี ซึ่งพรรคที่ออกมาเชียร์พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯอย่าง นายไพบูลย์ นิติตระวัน หรือหมอมโน ตนเชื่อว่าพลเอกประยุทธ์จะไม่ยอมให้ใช้ชื่อ เพราะมีความเสี่ยงมาก คาดว่าเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จะเสนอชื่อนายกฯได้ ขณะที่พรรคขนาดกลางคาดว่าจะมีอำนาจต่อรองมาก ก็จะเกิดการเจรจากันทางการเมือง ทั้งนี้หาก ส.ส.ไม่อยากให้ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารเข้ามามีบทบาทก็จะต้องเจรจากันให้ได้

ตีความ”ปลดล็อก” โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

ตีความ”ปลดล็อก” โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข



แฟ้มภาพ
ดูอาการตอนนี้ แม้ คสช.บอกว่าเลือกตั้งปลายปี 61 หรือต้นปี 62 แต่ถ้าถามความมั่นใจของผู้รับข่าวสาร ก็คงจะไม่มั่นใจเท่าไหร่

เพราะมีสัญญาณที่สวนทางกับคำยืนยันดังกล่าวหลายเรื่อง

ที่เห็นๆ ตอนนี้ได้แก่ เรื่องการปลดล็อก ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม เพื่อเตรียมแต่งตัวตามระเบียบใหม่ที่กฎหมายพรรคการเมืองกำหนด

กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ บังคับใช้มาตั้งแต่ตุลาคมที่ผ่านมา แต่พรรคการเมืองยังทำอะไรไม่ได้ เพราะมีคำสั่ง คสช.เบรกเอาไว้

นักข่าววนเวียนถามบรรดาบิ๊กๆ คสช. ว่าจะปลดล็อกหรือไม่ เมื่อไหร่

คำตอบไม่ค่อยชัดเจน พอถามบ่อยเข้า ยังโดนค้อนอีกด้วยว่า จะอยากเลือกตั้งอะไรกันหนักหนา

คำถามของนักข่าวไม่ได้มาจากความอยากส่วนตัว แต่ถามไปตามสถานการณ์ หรือตามสภาพปัญหา
ถามเพื่อให้เกิดคำอธิบายหรือคำตอบ ที่สังคมควรจะได้รับรู้และมีสิทธิที่จะรับรู้

ล่าสุด ตำรวจไปพบอาวุธสงครามที่บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมกับระบุว่าโยงถึงเสื้อแดง และเหตุการณ์ปี 2557

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เลยเปรยๆ ว่า บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย มีกลุ่มป่วนอยู่

อาจจะต้องปลดล็อกใกล้ๆ เลือกตั้ง

เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไป มีสื่อพาดหัวทำนองว่า ปลุกผีเสื้อแดงขึ้นมาหลอนกันอีก

ไม่ต้องสงสัยว่า พรรคการเมืองจะพูดกันว่ายังไง

ยังดีที่ไม่ปลดล็อกหลังเลือกตั้ง


บางพรรคบอกว่า อาการแบบนี้ เลือกตั้งคงมีดีเลย์แน่ๆ

อารมณ์แบบนี้ แพร่กระจายไป ในออนไลน์ มีภาพการขุดพบปืนใหญ่โบราณ พร้อมกับข้อความว่า แบบนี้ คงไม่ต้องปลดล็อกกันแล้ว

ขณะที่การเตรียมความพร้อม ยังเดินหน้าไปเรื่อยๆ ไม่เร็ว แต่มีความคืบหน้าไปพอสมควร

การคัดเลือก 7 เสือ “กกต.” มาคุมเลือกตั้ง ได้มาแล้ว 5 ชื่อ มีตัวแทนจากศาลแล้ว 1 คน รอเคาะอีก 1 คน

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เข้าวาระหนึ่งของ สนช.แล้ว

รัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้แล้ว, กม.ลูกทยอยบังคับใช้, องค์กร หน่วยงาน ที่จะต้องมีบทบาท เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น, พรรคการเมืองถามทุกวันว่าจะให้เริ่มต้นเมื่อไหร่, ประชาชนรับรู้แล้ว ฯลฯ

ระหว่าง “ความพร้อม” กับ “ความไม่พร้อม” ตรงไหนชัดเจนกว่ากัน ต้องลองชั่งน้ำหนักดู
“เวลา” ก็เป็นอีกประเด็นที่จะเพิ่มน้ำหนักในการพิจารณาเรื่องนี้

เวลาในที่นี้ไม่ได้ต้องการให้หมายถึงนาฬิกาหรูที่กำลังเป็นประเด็นฮอตอยู่

แต่ทุกเรื่องราว มีวาระและเวลาที่เหมาะสมของตนเอง

เมื่อถึงจุดหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่จำเป็น

…………….
วรศักดิ์ ประยูรศุข

อาวุธสงครามกับการเมือง

ไม่มีอะไรในกอไผ่หรอกครับ....
เห็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขึงขังจะตรวจสอบ นาฬิกายี่ห้อ Richard Mille กับแหวนทองคำขาว ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
จะเอาเข้าที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. เพราะสาธารณชนให้ความสนใจ
เอาเข้าจริง....เรื่องนาฬิกากับแหวน มันจบไม่ยาก
เรื่องคนแย่งกันถูกหวยจบยากกว่าเป็นไหนๆ
กล้วยๆ ครับ อ้างส่งเดชไปก็ได้
ที่ไม่มีในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินตอนเข้ารับตำแหน่ง ก็เพราะเพิ่งจะได้มาทีหลัง จะแสดงอีกทีก็โน้นเลย
หลังพ้นตำแหน่ง
มันก็แค่นั้น
วานนี้ก็การันตีตัวเองไปเรียบร้อย บริสุทธิ์ผุดผ่อง!
"ผมทำงานมาไม่เคยมีเรื่องทุจริต”
ฉะนั้นใครที่คิดว่างานนี้ "บิ๊กป้อม" ตายแน่
ถูกเชือดแน่
ผิดครับ!
ยังไม่ใช่ตาจนของ "บิ๊กป้อม"
ไม่เชื่อลองไปถาม พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ดู
ช่วงนี้อย่าเพิ่งเบื่อ ที่ต้องพูดถึง "บิ๊กป้อม" กันแบบรายวัน เพราะโฟกัสของข่าวสารมันไปอยู่ที่ตัวท่านทุกวันจริงๆ
ดูอย่างคดีวางระเบิด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
ศาลสั่งคุกนายวัฒนา ภุมเรศ ๒๖ ปี ๑๒ เดือน และปรับ ๕๐๐ บาท
คงจำกันได้ นายวัฒนา เอาระเบิด ไปป์บอมบ์ ใส่ไว้ในท่อพีวีซี ไปติดไว้ที่ฝาผนังภายในห้อง "วงษ์สุวรรณ"
ก็เกี่ยวพันกับ "บิ๊กป้อม"
ส่วนอีก วัฒนา นั่นคือ วัฒนา ทรัพย์วิเชียร ที่วิ่งไปมอบตัวกับตำรวจ แสดงตัวเป็นเจ้าของอาวุธสงคราม ที่แปดริ้ว ก็ไปพันกับ "บิ๊กป้อม"
เพราะใช้เป็นเหตุเลื่อนปลดล็อกพรรคการเมือง
เก็บไว้เป็นความรู้..........
"บิ๊กป้อม" นั่งยันนอนยันว่า คสช.จะไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้นักการเมืองแน่นอน
จึงเป็นไปได้สูงว่า จะลากยาวกันไปอีกสักพัก
ฉะนั้นที่ไม่ทันแน่นอนแล้วคือ บทเฉพาะกาล มาตรา ๑๔๑ ที่กำหนดสาระสำคัญให้พรรคการเมืองดำเนินการต่างๆ
เช่น ภายใน ๙๐ วัน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๖๑ ที่พรรคการเมืองต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบ
แต่รัฐบาล คสช.มีทางออกให้
ก็มาจากคำให้สัมภาษณ์ของ "บิ๊กป้อม" นั่นเอง
"ประเด็นการปลดล็อกช้ารัฐบาลจะจัดการให้ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบของกฎหมาย ผมยืนยันว่า พรรคการเมืองจะไม่เสียโอกาส ทั้งนักการเมืองหน้าใหม่และนักการเมืองหน้าเก่า"
ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีไหน
หากเอาคำสัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยบอกไว้ว่า
"ผมไม่ต้องการที่จะหน่วงเวลาอะไรไว้ทั้งสิ้น ในส่วนตรงนี้พูดได้ว่า ประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ ก็จะมีการประกาศวันเลือกตั้ง
และประมาณเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ จะมีการเลือกตั้ง วันนี้ก็มีความชัดเจนขึ้น ขอให้ทุกคน นักการเมือง พรรคการเมือง ขอให้อยู่ในความสงบ ซึ่งก็จะมีผลต่อการพิจารณามาตรการในการผ่อนคลายต่างๆ ด้วย"
ซึ่งนั่นเป็นการประมาณการ เงื่อนเวลาจริงอาจขยับได้นิดหน่อย แต่ไม่ควรเลยไปสี่เดือนห้าเดือน
ถ้า...ต้นปีหน้ายังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ทางออกที่รัฐบาลพอจะทำได้คือ
อำนาจตาม ม.๔๔ ปลดเงื่อนเวลาในรัฐธรรมนูญ
แต่...จะกลายเป็นว่า ม.๔๔ ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ
อีกทางออกที่ง่ายกว่า ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชี้โพรงให้เรียบร้อยแล้วนั่นคือ
เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขบทเฉพาะกาลของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ขยายเวลาส่วนที่เป็นปัญหาออกไป
ก็คงทำได้แค่นั้น จะพิสดารนอกเหนือจากนี้คงจะลำบาก
มาพูดถึงประเด็นอาวุธสงครามกันหน่อย
วานนี้ การที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บอกว่าจากการสืบสวนยังเชื่อได้ว่า มีระเบิด และอาวุธสงครามซุกซ่อนอยู่อีกจำนวนมาก
เป็นอาวุธสัญชาติรัสเซีย ไม่มีการใช้ในราชการไทย
ที่ตรวจพบเจอในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
พร้อมกับบอกว่า ให้เจ้าหน้าที่ได้เร่งค้นหาระเบิด และอาวุธสงครามดังกล่าวให้พบเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการนำมาก่อเหตุความวุ่นวายในอนาคต
นี่ขนาดยังหาไม่เจอ ท่านสรุปเรียบร้อยเป็นอาวุธรัสเซีย
แสดงว่าการข่าวชั้นเอกที่หนึ่งจริงๆ
ประเด็นอาวุธสงคราม มองไปมันเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ไม่รู้จักโตเสียที
ทำเป็นเด็กเล่นขายของ
ย้อนกลับไปดูเหตุระเบิดกลางกรุงหลายๆ คดี จนถึงวันนี้ยังเงียบกริบ จับมือใครดมไม่ได้
จนแทบกลายเป็นบทสรุปสำหรับระเบิดการเมืองแล้ว
ที่จับได้ไม่กี่คดี ล่าสุดก็คดี "วัฒนา" นี่แหละ
แน่นอนครับ อาวุธสงครามมันยังหลงเหลืออยู่เยอะ มีทั้งพวกที่เก็บเอาไว้สร้างสถานการณ์ทางการเมือง
และพวกที่ส่งขายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
ก็เป็นเรื่องที่รับรู้กันมาโดยตลอด
แต่ตลอดระยะเวลาที่รู้ อาวุธสงครามก็เยอะอยู่อย่างนั้น
วันนี้ถ้า พล.ต.อ.ศรีวราห์ จะเอาจริงเอาจัง ในการปราบปรามอาวุธสงคราม ก็ขอให้ดำเนินการให้สิ้นซาก
คนที่ครอบครอง มันก็มีอยู่ไม่กี่พวกหรอกครับ
การข่าวฝ่ายความมั่นคงก็พอจะรู้ ว่ากลุ่มไหนครอบครองอาวุธสงครามไว้บ้าง
แต่ถ้าจะอ้างว่าต้องจับอาวุธสงครามให้หมดก่อน แล้วค่อยเลือกตั้ง
อีก ๑๐ ปีก็คงไม่มีการเลือกตั้ง
ฉะนั้นต้องแยกให้ออก อย่าเอาปัญหามาซ้อนปัญหา ไม่เช่นนั้นมันจะเกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมตามมา
พูดถึงการเลือกตั้ง เมื่อถึงเวลามันก็ต้องเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่า เลือกตั้งเสร็จแล้ว ทุกอย่างอาจกลับไปเหมือนเดิม
แต่การที่รัฐบาล คสช.อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด แม้จะถูกใจคนจำนวนมาก แต่ข้อเสียมันก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
เพราะคนใน คสช. ไม่ได้เหมือนกันทุกคน
จะบอกว่ารอปฏิรูปก่อนแล้วค่อยเลือกตั้ง
ถ้าเป็นเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว แนวคิดนี้ยังน่าสนับสนุนอยู่
แต่มาถึงวันนี้ อาจไม่จำเป็นแล้ว
มันมีหลายปัจจัย!
เอาง่ายๆ แค่ปฏิรูปตำรวจ ยังหาความคืบหน้าไม่ได้
ขนาดคนเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจบางคน ยังเข้าใจผิดคิดว่าการขึ้นเงินเดือนให้ตำรวจถือว่าได้ทำงานปฏิรูปตำรวจเสร็จแล้ว
อีกสาเหตุหนึ่งการปฏิรูปมีความชัดเจนในส่วนของกระบวนการ นั่นคือมีรัฐธรรมนูญเป็นแม่บท มี
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ๑๑ ด้าน เป็นผู้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศ
ไม่มีทางที่จะฉีกไปจากนี้ได้
ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องรับไปทำต่อ เพราะมันถูกบังคับโดยรัฐธรรมนูญ
ที่สำคัญคือ ประชาชนจับตามองอยู่
วันนี้ นักการเมือง เป็นจำเลยสังคม ถูกมองเป็นเสนียดของระบอบประชาธิปไตย
สิ่งที่นักการเมืองควรทำ ไม่ใช่เอาแต่จะเลือกตั้ง อ้างประชาธิปไตย ตะพึดตะพือ แต่ไม่ปรับปรุงตัวเอง
เมื่อไหร่ที่นักการเมืองทำให้ประชาชนเห็นว่าคุ้มค่าที่จะหย่อนคะแนนให้
วันนั้นแหละครับประชาชนจะไม่เรียกหาทหารอีก
ส่วน "ลุงตู่" ก็อยู่ในข่ายกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกตามกลไกรัฐธรรมนูญ
ฉะนั้นเดินหน้าเถอะครับ
แบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายมากกว่า.
ผักกาดหอม