PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เปิดคำวินจฉัยศาลรธน.ทำไม61วรรค2ไม่ขีดรธน.

ร่างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2559 (อย่างไม่เป็นทางการ)

เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 45 ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 หรือไม่

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 หรือไม่

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ได้บัญญัติให้คุ้มครองบรรดาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด และสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจึงถือว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 คุ้มครองนั้น อาจถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดไว้ให้กระทำได้เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน เป็นต้น และการจำกัดเสรีภาพเช่นว่านั้นต้องกระทำเท่าที่จำเป็น จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ทั้งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคลลหนึ่งเป็นการเจาะจง ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านมาบัญญัติไว้

การออกเสียงประชามติ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองโดยตรงของประชาชนด้วยการลงคะแนนออกเสียงแสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อข้อเสนอในเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ อธิปไตยของรัฐ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ มาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป โดยทั่วไปการออกเสียงประชามติต้องมีการเปิดให้ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านในประเด็นที่จะขอประชามติได้มีโอกาสรณรงค์แข่งขันโน้มน้าวสาธารณชนได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง และการออกเสียงประชามติต้องเป็นการตัดสินใจโดยอิสระและโดยลับ แต่ปรากฏจากการปฏิบัติของนานาประเทศในเรื่องการจัดการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในปัจจุบันมี 2 ลักษณะ คือ การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (constitution – changing) ลักษณะหนึ่ง และการออกเสียงประชามติเพื่อวางกรอบรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ (constitution – framing) อีกลักษณะหนึ่ง

การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เป็นการจัดการออกเสียงประชามติที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยการออกเสียงประชามติถือเป็นขั้นตอนของกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภายใต้กลไกในระบบรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงบางส่วนหรือทั้งฉบับ การออกเสียงประชามติดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองแบบตัวแทน การรณรงค์ทางการเมืองในช่วงก่อนการออกเสียงประชามติถือเป็นขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งของกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติ และองค์กรของรัฐทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดการออกเสียงประชามติโดยการจัดกิจกรรมให้การแข่งขันระดมเสียงสนับสนุนของทุกฝ่ายดำเนินไปอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎกติกาในเรื่องต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็น และเหตุผลข้อโต้แย้ง ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงตัดสินใจสนับสนุนทางเลือกของฝ่ายตน ซึ่งการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 165 เทียบเคียงได้กับลักษณะนี้

ส่วนการออกเสียงประชามติเพื่อวางกรอบรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เป็นกลไกการออกเสียงประชามติที่ปรากฏในกระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ภายหลังจากรัฐธรรมนูญเดิมที่บังคับใช้มาสิ้นสุดลง การออกเสียงประชามติลักษณะนี้ปรากฏในกรณีที่ประเทศนั้นประสบวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ จนส่งผลให้ระบบการเมืองล้มเหลวและประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมอำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งการออกเสียงประชามติในลักษณะนี้จัดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือกฎหมายที่เทียบเท่า การออกเสียงประชามติดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่สิ้นสภาพบังคับไปองค์กรของรัฐมีบทบาทในการกำกับควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติตั้งแต่การกำหนดสาระสำคัญของประเด็นคำถาม การรณรงค์เผยแพร่ข้อมูล รวมถึงการกำหนดกติกาการจัดการออกเสียงประชามติซึ่งการออกเสียงประชามติภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 เทียบเคียงได้กับลักษณะนี้

สำหรับพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และเพื่อให้การจัดทำประชามติเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เกิดจากการลงมติตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน โดยปราศจากการบิดเบือน บังคับ ข่มขู่ หรือจูงใจจากฝ่ายต่างๆ พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงได้มีบทกำหนดความผิดและโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือดำเนินการต่างๆ ที่จะทำให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยความสุจริตและเที่ยงธรรมไว้ในมาตรา 61 โดยวรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ (1) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย…” วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” วรรคสามบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีการกระทำความผิดตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) เป็นการกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี”

พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายใช้บังคับเฉพาะเพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 บัญญัตไว้ โดยมีบทบัญญัติมาตรา 7 รับรองให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงได้โดยสุจริตและไมขัดต่อกฎหมาย และเพื่อให้การดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม จึงกำหนดให้มีมาตรการควบคุมการออกเสียงประชามติไว้ในหมวด 3 โดยมาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1) มีเนื้อหาในการกำหนดความผิดทางอาญาสำหรับผู้ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนมาตรา 61 วรรคสองมีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายของการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ใดที่ดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาบ ปลุกระดมหรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ มาตรา 61 วรรคสอง ยังมีผลเป็นการกำหนดกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกด้วย กล่าวคือ การกระทำความผิดตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบวรรคสอง จะต้องมีองค์ประกอบความผิดดังนี้ (1) ต้องมีการกระทำ คือ การเผยแพร่ข้อความ ภาพเสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่นใด (2) การเผยแพร่ข้อความ ภาพ หรือเสียงดังกล่าว ต้องเข้าลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ (3) ผู้กระทำต้องมีเจตนาธรรมดาในการกระทำตามองค์ประกอบในข้อ (1) และข้อ (2) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 และ(4) ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษโดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ด้วย ดังนั้น การพิจารณาว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดและต้องรับโทษตามวรรคสามหรือวรรคสี่หรือไม่ จะต้องนำพฤติการณ์แห่งการกระทำของบุคคลนั้น มาพิจารณาประกอบเจตนาธรรมดาและเจตนาพิเศษด้วย

ตามหลักทั่วไป การกระทำที่จะเป็นความผิดและมีโทษทางอาญานั้น กฎหมายจะใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนแน่นอนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจความหมายของการกระทำที่ต้องห้ามได้ ประกอบกับการลงโทษบุคคลทางอาญาจะต้องเป็นกรณีที่บุคคลผู้นั้นละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งเท่านั้น มิเช่นนั้นจะลงโทษทางอาญาแก่บุคคลมิได้ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีกฎหมายอาญาอาจจะใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงก็ได้ เพื่อให้ผู้ใช้กฎหมายสามารถพิจารณาพฤติการณ์ของการกระทำประกอบกับถ้อยคำตามองค์ประกอบความผิดเพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องนั้นๆ ได้ สำหรับถ้อยคำที่ชัดเจนแต่อาจมีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงนี้เป็นกรณีที่กฎหมายไม่สามารถกำหนดเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ จึงต้องกำหนดถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงไว้ ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น จึงจะสามารถรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นเหตุการณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เช่น คำว่า “กลางคืน” แม้กฎหมายจะให้ความหมายชัดเจนว่าหมายถึง “เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น” แต่ก็เป็นถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเวลาใดแน่นอน ต้องพิจารณาในขณะกระทำอีกว่าในวันนั้นพระอาทิตย์ตกและขึ้นตอนกี่นาฬิกา ทั้งๆ ที่คำว่า “กลางคืน” เป็นคำที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจชัดเจนอยู่แล้วว่าหมายถึงเวลาที่ฟ้ามืดแล้ว เป็นต้น การกำหนดถ้อยคำในลักษณะดังกล่าวจึงมีความจำเป็นสำหรับการอำนวยความยุติธรรมตามพฤติการณ์อันควรแก่กรณีซึ่งไม่ขัดกับหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย” หรือ “nullum crimen, nulla poena sine lege” อีกทั้งระวางโทษในความผิดที่มีลักษณะถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงนี้ กฎหมายมักกำหนดแต่โทษขั้นสูงไว้โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ เพื่อให้ศาลจะได้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสมตามสภาพจิตใจ และการกระทำ ประกอบกับสภาพแวดล้อมในขณะกระทำ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ได้

ถ้อยคำในพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ที่ว่า “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “หยาบคาย” “ปลุกระดม” หรือ “ข่มขู่” เป็นถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง เช่น การใช้คำว่า “หยาบคาย” หากอยู่ในวงจำกัดระหว่างเพื่อนสนิท คนใกล้ชิดหรือพวกเดียวกัน ย่อมกระทำได้ แต่หากเผยแพร่ออกไปในหมู่คนที่ไม่รู้จักไม่รู้ใจ หรือในสถานการณ์ที่ต่างกัน ก็อาจกลายเป็นการเหยียดหยาม ดูหมิ่น ดูแคลน ทำให้เกิดบาดหมางขัดเคืองใจเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้ เป็นต้น ถ้อยคำเหล่านี้จึงเป็นถ้อยคำที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทราบทางจิตใจ จึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติความผิดและโทษทางอาญาโดยใช้ถ้อยคำที่เคลือบคลุมหรือไม่ชัดเจนแต่ประการใด ในส่วนของโทษตามมาตรา 61 วรรคสาม แม้มีอัตราโทษขั้นสูงไม่เกินสิบปี แต่ก็ไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้เพื่อให้ศาลจะได้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสมตามสภาพจิตใจ และการกระทำ ประกอบสภาพแวดล้อมขณะกระทำ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ทั้งนี้ หากจะเกิดปัญหาการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจตีความขยายขอบเขตของถ้อยคำดังกล่าวจนอาจเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน บุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจโดยมิชอบดังกล่าว ย่อมฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องนั้นๆ ได้

การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสื่อสาธารณะต่างๆ มีผลกระทบในวงกว้าง เพราะมีประชาชนรับรู้เป็นจำนวนมาก ผู้เผยแพร่ย่อมต้องคิดทบทวนก่อนที่จะกระทำลงไป ทั้งนี้ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องการใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคาบ แสดงความเป็นสุภาพชนในพื้นที่สาธารณะย่อมจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ออกไป ทำให้มีทัศนคติที่เป็นมิตรต่อกัน ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจหรือบาดหมางเพราะถ้อยคำเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังแสดงถึงบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน อันมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยรวมอีกด้วย ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ที่รับรอบให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย

ดังนั้น จึงเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปโดยสุจริต ภายใต้กรอบของกฎหมาย และการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะต้องไม่มีเจตนามุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ทั้งจะต้องไม่เข้าลักษณะเป็นการก่อความวุ่นวาย หรือกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของสังคมโดยรวม เพื่อให้การดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้โดยอิสระ บทบัญญัติมาตรา 61 วรรคสอง จึงเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป รวมทั้งมิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

ดร.สมเกียรติ โอสถสภา :EU กับ AEC ต่างกันอย่างไร

สัญญา AEC ไม่มีอันตรายอะไรแบบที่อังกฤษเจอ ก็ขื้นอยู่กับว่าสัญญาที่ไปทำไว้นั้นได้เปรียบหรือเสียเปรียบเรื่องอะไร รายละเอียด ต้องประเมินกันทุกระยะแล้วขื้นอยู่กับว่า ไทยเราแข่งกับประเทศอื่นได้ไหม 

euaec03

ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟชบุค Somkiat Osotsapa เรื่อง EU กับ AEC ต่างกันอย่างไร 

ตอนที่หนื่ง EU

เพื่อนเพจจำนวนมากสอบถามเข้ามาว่า AEC จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเหมือนกับที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอังกฤษจนถืงขั้นออกมาลงประชามติโหวตขอให้รัฐบาลถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือไม่

สององค์กรนี้ต่างกันเยอะมาก เรื่องนี้แปะไว้อ่านกันได้เลย ถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับต่างชาติ พูดเรื่องพวกนี้ได้ จะดูมีภูมิมาก มีประโยชน์กับธุรกิจ ประเด็นเหล่านี้จะเป็นส่วนหนื่งของวาระการเมืองของประเทศไทยต้องระมัดระวัง

เรื่องที่คนอังกฤษไม่พอใจสหภาพยุโรปรุนแรง มีหลายเรื่อง แต่ละเรื่องแสดงอำนาจ บทบาทของอียูที่ต่างจากอาเซียน AEC

หนื่ง สหภาพยุโรปหรืออียูมีอำนาจในการกำหนดนโยบายเหนือรัฐบาลของประเทศสมาชิก มีสภายุโรป มีคณะรัฐมนตรียุโรป มีศาลยุโรป มีรัฐธรรมนูญยุโรป ของ 28 ประเทศ อยู่ที่เบลเยี่ยม รัฐบาลประเทศสมาชิกต้องทำตามทุกเรื่อง รวมถืงแก้กฏหมายให้เป็นไปตามมติ

ยกเอกราชอธิปไตยให้เขาไปเลยว่างั้น

อียูนี่จริงๆแล้วอยู่ภายใต้เยอรมันกับฝรั่งเศส ที่เป็นประเทศใหญ่ มีการสร้างบล็อกขื้นมา เอาประเทศเล็กๆอื่นๆไว้ในอำนาจ เพราะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ เงินกู้

เรื่องที่ทำให้คนอังกฤษและคนทั่วยุโรป แม้แต่ในเยอรมันและฝรั่งเศสโกรธองค์กรนี้ คือ

@ สั่งให้รับผู้อพยพทางเรือจากอาฟริกา ซีเรีย ตะวันออกกลาง เอเซียเข้ามา แล้วให้ประเทศสมาชิกรับไป ปีนี้มากันหลายแสน ทางไอสิสก็ประกาศว่าจะส่งคนเข้าไป แล้วมาจริงด้วย ที่ไปรบในซีเรียมาจาก 50 กว่าประเทศ แยกไม่ถูกว่าใครจะมาก่อการร้ายหรือไม่ ช่วงนี้เกิดวินาศกรรมต่อเนื่องทั้งในเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส ตุรกี บังกลาเทศ อังกฤษนี่เป้าหมายทีเดียว เพราะช่วยอเมริการบ

"คนอังกฤษก็กลัว  เมืองในอังกฤษหนาแน่นมาก ระเบิดรถใต้ดินนี่มีสิทธิตายเยอะ ตอนโรฮิงยาเข้ามาไทย ผมบอกว่ารับมาหลายๆหมื่นคนตามแรงบีบ หน้าบานอยู่อาทิตย์เดียว ลูกหลาน ทุกข์ตลอดชีวิต"

ความกลัวสำคัญกว่าเงิน

@ ให้คนในประเทศสมาชิกเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทำงานโดยเสรี เรื่องนี้ทำให้ค่าแรงคนอังกฤษลดลง ตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย

ราวหนื่งในสี่ของประชาชนในประเทศสมาชิกอียู ราว 120 ล้านคน จาก 480 ล้านคน ถูกจัดว่า จน วิกฤติเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ตัดงบความช่วยเหลือคนเหล่านี้ รัฐที่ว่างงานสูง คนจนมาก จึงหนุนอียูเรื่องย้ายประชากร รัฐที่ต้องรับก็บอกว่า ไม่ไหวแล้ว ยังมีที่จะมาจากอาฟริกาเป็นพันล้าน ตะวันออกกลางอีกหลายร้อยล้าน อินเดีย ปากีสถาน ยังบังกลาเทศ ศรีลังกาอีก  ถ้าเกิดขื้นจริง

นี่คือยุโรปยุคสุดท้าย  รีบไปดูก่อนอารยธรรมยุโรปจะสลายไป

ความกลัวว่าเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของตนเองจะสูญสลายนี่เรื่องใหญ่มากๆ พอๆ กับกลัวไม่มีงานทำ ยิ่งกฏของอียูบอกว่า ต้องหาบ้านให้อยู่ มีสวัสดิการให้ โดยเก็บภาษีคนอังกฤษไปช่วยปีละ 7000 บาทต่อประชากรอังกฤษหนื่งคนทุกปีนี่เรื่องใหญ่ คนอังกฤษหนื่งในสี่จน 10% เป็นพวกโฮมเลส ไร้บ้าน คิดดูละกัน

อังกฤษสำรวจพบว่า หนื่งในแปดของคนในประเทศ ราว 10กว่าเปอร์เซนต์เป็นผู้อพยพ เมื่อรับเข้ามา หรือแอบเข้ามาต้องให้สิทธิเลือกตั้งด้วย ยิ่งรับมามาก คนอังกฤษจะมีเสียงน้อยลง ยังมีปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล รถใต้ดิน โรงเรียนอีก คล้ายเมืองไทยไหม

@ คนอังกฤษ คนในยุโรป รู้สืกว่าอยู่ไม่ได้แล้ว และรัฐบาลเอาไม่อยู่ หน่วยงานความมั่นคงคุมไม่ได้

ผมรู้จักยุโรปดี  คิดว่างั้น นี่ก็เพิ่งไปมา ไม่นาน ตั้งแต่สแกนดิเนเวียยันยุโรปใต้ เมื่อ 45 ปีที่แล้ว คนยุโรปยินดีรับผู้อพยพจากภัยสงคราม เช่นที่หนีมาจากยุโรปตะวันออก สงครามเวียดนาม มีเอเซียใต้ไปด้วย แต่พอเข้าไปมากขื้น ความขัดแย้งเกิด อยู่กันลำบาก คนต่างศาสนา ความเชื่อ ความเป็นอยู่ อาชญากรรมเพิ่มสูงมาก
บริเวณสถานีรถไฟ แถวอังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เยอรมัน ทางลงรถใต้ดินแถวออสเตรียบางแห่ง มีสิทธิโดนล้อม ปล้น มีผู้อพยพที่ไม่มีงานทำไปตั้งกลุ่มกันเป็นร้อยย่านใจกลางเมือง หื่นใส่ผู้หญิง ย่านที่เคยโรแมนติกเปลี่ยนไปมาก รวมอิตาลี่ สเปน 

ตอนนี้หลังลงประชามติ คนอังกฤษคิดว่าจะส่งผู้อพยพออกไปให้หมดทันที มีข่าวทุบตีกันเป็นร้อยๆเคส เฟสบุคกระหื่มไปหมด 

ที่เยอรมันยกกำลังมาไล่ทุบผู้อพยพที่ข่มขืนผู้หญิง แถวสแกนติเนเวีย อยู่ในสภาพที่คนท้องถิ่นหงอไปเลย เติร์กเยอะมาก และดุ รวมกลุ่มกัน เรื่องเยอะทุกประเทศ ยิ่งจะสร้างสุเหร่าขื้นมามาก ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ 

ที่อังกฤษ เจอว่า ปีสองปีนี้มีคนอพยพเข้าสองล้านกว่า เมื่อลองคิดเลขดู ไม่กี่ปีก็ครื่งนืงของคนอังกฤษ ยังมีออกลูกหลานมาอีก เอาญาติมาได้อีก คนอังกฤษกลัว่ว่าประเทศตนจะเป็นอเมริกา ต้องจ้างคนเชื้อสายต่างๆเป็นร้อยภาษามาเป็นตำรวจ 

ผมไม่อยากให้เกิดที่ประเทศไทย

ที่อังกฤษคำนวณกันว่าจะส่งผู้อพยพเหล่านี้กลับ ต้องใช้เงินหลายล้านล้านบาท และใช้เวลา 20 ปี

เมืองไทยคนที่พูดว่า มีต่างด้าวล้านสามแสนคน ตอนนี้ราว 7 ล้าน เอาสถิติตรวจคนเข้าเมืองมายันได้เลยไปคุยกับขาใหญ่มาก็ราวนั้น ที่เพื่อนเพจบอกมา เรื่องคนจีนน่ะถูก แค่สองปีอยู่เกินวีซ่าเกือบล้าน

ผมไปตามลายแทงที่บอกมา เพียบ

@กลับมาเรื่องอังกฤษ 

แล้วอียูยังออกกติกาว่า คนอังกฤษจับปลาได้แค่นั้นแค่นี้ตันต่อปี อังกฤษซึ่งเก่งเรื่องประมงตาย ชาวประมงจน ยังกำหนดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันและแก้ส ต้องไม่เกินจำนวนนี้ เรียกว่า ไม่ให้แข่งกันเลยระหว่างสมาชิกทุกอาชีพโดนหมด อัตราความเติบโตของยุโรปจึงต่ำ 

นี่จะไม่ให้ใช้ภาษาอังกฤษอีก  

เงินงบประมาณการวิจัยจะจัดสรรแบ่งกันระหว่างประเทศสมาชิก ธนาคารกลางอียูดูแลค่าเงินของประเทศที่เข้ายูโรโซน หลายประเทศถ้าออกจากกลุ่มจะล้มพังพาบ 

ที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ ความไม่พอใจบริษัทข้ามชาติ เพราะอียูส่งเสริมการลงทุนข้ามชาติ ทุนใหญ่อยู่สบาย ทุนเล็กตายหมด 

เงินในยุโรปถูกสร้างโดยตลาดหุ้น เช่น บริการของรัฐทุกอย่างในลักเซมเบอร์ก จับเข้าตลาดหุ้นหมด รายได้ต่อหัวจึงสูง คนธรรมดาที่ไม่มีหุ้น จน ของก็แพงไปเรื่อยๆ 

ถ้าเอาทุกอย่างในประเทศไทยเข้าตลาดหุ้นให้หมด รายได้ของประเทศจะเพิ่มเยอะ คนที่มีหุ้น กองทุน สถาบันการเงินรวยเหมือนชาวลักเซมเบอร์ก แต่คนไม่มีเงินซื้อหุ้น เขาไม่รู้สึกเป็นเจ้าของความมั่งคั่งของประเทศ 

ตอนนี้ ออสเตรียบอกว่า ถ้าตุรกีเข้าเป็นสมาชิก ออสเตรียจะถอนตัว สาธารณรัฐเชคจะให้โหวตว่า จะอยู่นาโต้และอียูหรือไม่ 

เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และหลายประเทศจะมีโหวต แม้กระทั่งรัฐบาลเยอรมันก็คลอนแคลน 

ตอนนี้ประเทศในเอเซียไปคุยแล้วว่าจะทำ FTA กับอังกฤษ เรื่องแบบนี้ AEC ไม่มีกติกา นโยบายการเมือง การเลือกตั้งจะต้องสนใจเรื่องพวกนี้ เป็นกระแสทั่วโลก

ตอนที่สอง AEC

EU กับ AEC ต่างกันอย่างไร 

หนื่ง สำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่จาการ์ต้ามีฐานะเป็นเพียงกองเลขา เป็นเพียงที่พบปะประชุมระดับสูงระหว่างประเทศสมาชิก ปีละ 2 ครั้ง ระดับ Senior Officer หนื่งครั้ง ระดับรัฐมนตรีหนื่งครั้ง ตกลงอะไรกันได้ก็เอา แต่ไม่มีสภาของอาเซียน ไม่มีส.ส. อาเซียน ไม่มีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเป็นเดือนเหมือนอียู ไม่มีศาลอาเซียนที่ศาลไทยต้องทำตาม ไม่มีธนาคารกลางอาเซียน ไม่มีเงินอาเซียนที่ค่าเหมือนกันทุกประเทศ

และไม่มีทางเป็นเช่นนั้นได้ ทุกประเทศไม่ยอมให้ประเทศอื่นมาทำตัวเจ้ากี้เจ้าการแน่นอน ไม่ได้รักกันขนาดนั้น

สอง AEC เป็นแผนขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากปี 2553-2516
เรื่องใหญ่ คือ 

@ ลดการกีดกันการค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับอัตาภาษีนำเข้าระหว่างประเทศ 

@ ให้บริษัทของประเทศสมาชิกเข้าไปลงทุนโดยถือหุ้นใหญ่ เกิน 50% ได้ ในสาขาที่ตกลงกัน 

@ ทำการรับรองมาตรฐานสินค้าระหว่างกันเช่น เครื่องสำอาง  จะได้ค้ากันสะดวก 

@ สร้างความร่วมมือในการทำให้การค้าระหว่างกันสะดวก เช่น สร้างสะพาน ทำถนน เปิดเที่ยวบินเพิ่ม สร้างระบบลอจิสติกส์ ให้ด่านศุลกากรใช้เวลาค่าใช้จ่ายน้อยลง 

@ เปิดให้มีการค้าบริการที่เรียกว่า services กันมากขื้น บริการนี่ หมายถึง ธนาคาร หุ้น การขนส่ง การตั้งบริษัทที่ปรึกษา ตั้งโรงพยาบาล การรับเหมาก่อสร้าง การค้าปลีก ค้าส่ง เช่นไปตั้งห้าง การค้าพลังงาน การท่องเที่ยว ตั้งบริษัทอะไรต่างๆ ไปเปิดสอน ตั้งสถานศึกษาไทยไปลงทุนกันเยอะ 

@ คุยกันว่าจะเปิดให้มีการทำงานข้ามประเทศกันได้ 7 สาขา เช่น แพทย์ วิศวะ ทันตแพทย์  พยาบาล

ไม่มีข้อตกลงแบบอียู ไม่มีใครกำหนดการจับปลา ผลิตน้ำมัน สั่งให้รับคนเข้ามาทำงาน รับผู้อพยพอะไรต่างๆที่ต่างกับอียูอีกอย่างคือ ประเทศอาเซียนจะทำสัญญาการค้าเสรีกับประเทศไหนก็ได้ กลุ่มไหนก็ได้ แต่ประเทศสมาชิกอียูทำไม่ได้

สัญญา AEC ไม่มีอันตรายอะไรแบบที่อังกฤษเจอ ก็ขื้นอยู่กับว่าสัญญาที่ไปทำไว้นั้นได้เปรียบหรือเสียเปรียบเรื่องอะไร รายละเอียด ต้องประเมินกันทุกระยะแล้วขื้นอยู่กับว่าไทยเราแข่งกับประเทศอื่นได้ไหม  

อันตรายอยู่ที่ประเทศที่มาลงทุนอย่างญี่ปุ่น เกาหลี จะมีแผนวางหมากย้ายอะไรไปไว้ที่ไหน  และที่น่าสนใจคือแผนของจีน ที่ลึกซื้ง แยบยลมาก อียูก็เหมือนกัน

เรียกว่าประเทศไหนยอมทำตัวเป็นสายเหลือง ยอมให้เข้าประตูหลัง ประเทศอื่นจะแย่เอา รัฐบาลที่แล้วโฆษณาโดยไม่มีเนื้อหา จนประเทศไทย คนไทยหลงไหลฝันหวานเกินกว่าประเทศอื่นไปหลายช่วงตัว ใช้เงินไปเยอะ หลายคนพาลเข้าใจว่าเอาแรงงานเข้ามาทำงานได้ไม่จำกัด ขนเข้ามากันมากมาย ตอนนี้ร่วม 7 ล้านคน รวยส่วยกันเยอะ เรียกว่าค้ามนุษย์ ก็ข้อตกลงธรรมดาๆมาก  ผมว่า
คนธรรมดาไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เท่าไร แต่ช่วยเพิ่มการค้าชายแดนมาก

เทรนด์ตอนหลัง อินโดนีเซีย กับฟิลิปปินส์ไม่ค่อยสนใจ รู้สืกว่าได้ประโยชน์น้อยที่เป็นมรรคผลจริงๆคือ อาเซียนบก ไทย พม่า ลาว เวียดนาม CLMV ที่รัฐมนตรีพาณิชย์ไปตั้งกลุมลับขื้นมา

EU กับ AEC ต่างกันมากเลย 

พท.ชี้ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติของรบ.ทำลายบรรยากาศ

4 ก.ค.59 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย คุมเข้มประชามติทั้งก่อนโหวตและหลังโหวต โดยสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ว่า ยิ่งใกล้วันทำประชามติ ประชาชนยิ่งได้เห็นอะไรแปลกๆ ตอนแรกคนก็คิดว่ารัฐบาล และ คสช.ไม่มีส่วนได้เสียจากผลประชามติเท่าใดนัก ประชาชนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ไม่กระทบกับโรดแมป จะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 แน่นอน ตามที่ท่านผู้นำยืนยัน
แต่ที่ผ่านมาคนเห็นหมดแล้วว่า รัฐบาล และ คสช.อยากให้รัฐธรรมนูญผ่านมากแค่ไหน การที่รัฐบาล และ คสช.เอาตัวเองไปผูกกับผลประชามติขนาดนี้ ถ้าผลออกมาประชาชนโหวตสวนทางกับท่าน ท่านจะรับผิดชอบอย่างไร ยุทธศาสตร์ที่กำลังทำอยู่นี้จึงผิด เพราะเมื่อเดินเข้ามาวุ่นวาย มาแทรกแซง แล้วจะเดินจากไปแบบไม่รับผิดชอบอะไรเลยไม่ได้ ชาวบ้านจะโห่เอา นี่จึงอาจเป็นสิ่งชี้ชัดว่า ที่ท่านห้ามภาคประชาชนทำศูนย์ปราบโกง เพราะรัฐบาล และ คสช.จะเก็บไว้เป็นเครื่องมือในการทำให้ประชามติผ่านเองหรือไม่ โดยศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยนี้ จะยิ่งสร้างบรรยากาศหวาดกลัว บรรยากาศแห่งการสุ่มเสี่ยงที่ประชาชนจะถูกคุกคามมากขึ้น ประชาชนจะหวาดกลัวการทำประชามติมากขึ้นหรือไม่ สวนทางกับความพยายามเปิดเวทีของเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย ที่ใช้งบประมาณไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์อะไร และในที่สุดประชาชนทั้งประเทศจะให้คำตอบกับรัฐบาล และ คสช.ว่า ยุทธศาสตร์ที่ทำมาถูกหรือผิด

รัฐบาลตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ

รัฐบาลตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยทั่วประเทศ สนับสนุนการลงประชามติ สกัดการโกง สร้างความโปร่งใส ยุติธรรม ขอทุกภาคส่วนร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ
พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความร่วมมือ และสนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้งในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม โดยจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ขึ้นในทุกจังหวัดและอำเภอ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.59 

โดยในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ส่วนระดับอำเภอมีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และ มีหัวหน้าส่วนราชการเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ 3 ภารกิจหลัก คือ ด้านการบริหารจัดการ เช่น จัดทำแผนเผชิญเหตุ ติดตามสถานการณ์ ตั้งจุดตรวจจุดสกัด ฯลฯ ด้านการข่าว เสาะหาข่าวที่บิดเบือนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย และ ด้านการแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558

สำหรับเป้าหมายของการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุที่จะนำไปสู่ความไม่สงบ สนับสนุนให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม อิสระ และเป็นกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินการที่มีกฎหมายรองรับ และเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของส่วนราชการโดยตรง มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน 

ทั้งนี้ จะแบ่งการรายงานเหตุการณ์ไปยังผู้บริหาร 3 ระยะ คือ ก่อนวันออกเสียงประชามติ 1 ก.ค.- 6 ส.ค.59 วันออกเสียงประชามติ 7 ส.ค.59 และ หลังวันออกเสียงประชามติ 8 – 10 ส.ค.59 หรือจนกว่าจะเรียบร้อย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำชัดว่าจะไม่ปล่อยให้มีการโกง หรือขัดขวางการลงประชามติเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจอย่างเต็มที่ โดยกำชับให้แต่ละจังหวัด และ อำเภอ ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด ให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่ยึดถือกฎหมาย และทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง 
//

มติบอร์ด กสท.สั่งปิดพีซทีวี 30 วัน


4 ก.ค. 2559 ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ครั้งที่ 22/2559 มีมติเสียงข้างมากให้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตของช่อง พีซ ทีวี ของบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด เป็นเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หลังมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการออกอากาศของช่องรายการ พีซ ทีวี ประจำเดือน มี.ค. 2559 ว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม ประกอบด้วย รายการ “เข้าใจตรงกันนะ” วันที่ 21 มี.ค. 2559 เวลาประมาณ 19.00 น. รายการ “เข้มข่าวดึก” เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2559 เวลาประมาณ 00.19 น. และรายการ “ห้องข่าวเล่าเรื่องค่ำ” เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2559 เวลาประมาณ 19.45 น. และเนื้อหารายการ “เข้มข่าวดึก” ออกอากาศเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2559 เวลาประมาณ 00.11 น.
ภักดี กล่าวว่า ที่ประชุม กสท. ได้มีความเห็นต่อวาระนี้คือ 1. การออกอากาศรายการดังกล่าวเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำและการมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ช่องรายการ พีซ ทีวี ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1163/2558 การพิจารณาในการกระทำครั้งนี้ จึงต้องดำเนินการพิจารณาให้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2. เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในเอกสารวาระการประชุมที่สำนักงาน กสทช.เสนอ พบว่า การดำเนินการในครั้งนี้ต่อช่องรายการพีซ ทีวี ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญบริษัท พีช เทเลวิชั่น จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ช่องรายการพีซ ทีวี พร้อมทั้งผู้แทนของฝ่ายความมั่นคง ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มาให้ข้อเท็จจริงและความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการด้วยแล้ว  และคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ มีความเห็นเสนอต่อที่ประชุม กสท.เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตของช่องพีซ ทีวี
แต่ที่ประชุม กสท.เสียงข้างมากเห็นว่า การกำหนดโทษทางปกครองควรต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนของการกระทำและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น กล่าวคือ เมื่อปรากฏว่าผู้แทนฝ่ายความมั่นคง และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าการเผยแพร่รายการดังกล่าวมีลักษณะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ฉบับลงวันที่ 18 ก.ค.2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ประกอบกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 ลงวันที่ 21 ก.ค. 2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 และขัดต่อบันทึกข้อตกลง(MOU)ที่บริษัท พีช เทเลวิชั่น จำกัด ทำกับสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรทัศน์ กรณีนี้จึงเป็นการขัดต่อเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรทัศน์ ตามข้อ 14(27) ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ.2555 และได้มีคำสั่งแจ้งเตือนให้ช่องรายการพีซ ทีวี แก้ไขการกระทำในลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง แต่ช่องรายการพีซ ทีวี ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้น และยังคงฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวเรื่อยมา 
ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต และหากยังคงฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอยู่อีก กสท.จะใช้มาตรการทางปกครองที่สูงขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุม กสท. ยังได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. โดยสำนักกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ (มส.) นำเอารายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการออกคำสั่งทางปกครองของ กสท. กรณีการเพิกถอนใบอนุญาตช่องรายการพีซ ทีวี และนำเสนอต่อ กสท. โดยเร็ว

แท้ง.....ซะแล้ว แนวคิด วงบิ๊กป้อม

แท้ง.....ซะแล้ว แนวคิด วงบิ๊กป้อม
นายกฯ บอกไม่เอา แนวคิด ให้วัยรุ่นตีกัน ขึ้นBlacklist ให้ มาเป็นทหารเกณฑ์เลย ผมไม่เห็นชอบด้วย ขี้ทำเสียหายหมด เพราะคนที่ตั้งใจ ภูมิใจมาเป็นทหารมากมาย เอาพวกนี้มามอยู่ร่วมด้วย ไม่ดี เดี้ยวไปรบแล้ว ทิ้งเพื่อน เดี้ยวคิดหาวิธีใหม่ รอสมองว่างๆก่อน เดี้ยวคิดได้เอง อย่าเอาเรื่องอื่นมารกสมองฉันแล้วกันตอนนึ้
หลัง ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่ที พลเอกประวิตร เป็นประธาน เสนอแนวทางนี้ เมิ่อศุกร์ที่แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีคสช.ให้วัยรุ่นตีกัน และเด็กแว้น ขึ้นบัญชีดำ แล้วให้เเกณฑ์ทหาร ว่า“ผมได้พิจารณาแล้ว และไม่เห็นชอบ เราต้องนึกถึงทหารที่เต็มใจและสมัครใจมา จะให้เอาคนเหล่านี้มาอยู่กับพวกเขา เขาก็ไม่อยู่ด้วยหรอก เพราะวันข้างหน้าพวกมันก็ทิ้งเขาเวลาออกรบ
นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้เรากำลังหาวิธีอื่น แต่ตอนนี้ยังไม่มีแนวคิดอะไร เดี๋ยวให้สมองว่างแล้วก็คงคิดออก”
ผู้สื่อข่าวถามว่าอะไรที่ทำให้สมองไม่ว่าง นายกฯ กล่าวว่า “ก็นักข่าวไง”

นายกฯ ไม่หนุนโทษประหารชีวิต พวกข่มขืน

นายกฯ ไม่หนุนโทษประหารชีวิต พวกข่มขืน ดูสังคมโลก ด้วย มีแต่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ในหลายประเทศ บอกเมืองไทยให้ประหารชีวิต3รอบ ก็ยังแก้ไม่ได้เลย อย่าเสพติดอำนาจ แนะสังคมและสื่อต้องกดดัน
บิ๊กตู่" ชี้ ไม่เห็นด้วย โทษประหารชีวิต คดีข่มขืน ยก สังคมโลกเทียบเคียง มึแต่ยกเลิกโทษประหาร เหน็บคงต้องประหารสัก 3 ชาติ ถึงจะกลัว อย่ามาใช้กฎหมายจนเสพติด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล้าวถึงกรณีประชาชนเสนอให้ลงโทษประหารชีวิต หลังเกิดคดีฆ่าโหดครูสาวอ.แก่งคอย จ.สระบุรี และผู้กระทำความผิดในคดีข่มขืน แล้วฆ่า ว่า "ให้กลับไปดูทั่วโลกว่าเขาว่าอย่างไร อย่าไปคิดเอาเอง
"วันนี้อย่าลืมว่าเราอยู่กับกฎหมายโลก กฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน ทั่วโลกยกเลิกการประหารชีวิตกี่ประเทศแล้ว
ของเราประหาร 3 ครั้งก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้เลย ที่ผ่านมาก็ใช้ในทุกมาตราแล้ว ทั้งกฎหมายปกติ และมาตรา 44 ซึ่งไม่มีอะไรแรงไปกว่านี้ ก็ยังไม่กลัวกันเลย
ถ้าให้มีการประหารชีวิต ก็คงต้องประหารสัก 3 ชาติ ถึงจะกลัว อย่ามาใช้กฎหมายจนเสพติด อย่าไปเสพติดกฎหมายจนไปสู่อำนาจ ไปสู่ผลประโยชน์ อย่าไปเสพติดแบบนั้น ขอให้ใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ดีกว่า สังคมก็ต้องช่วยกันกดดัน นักข่าวก็ต้องช่วยกันประณาม สื่อต้องช่วยผมในการกดดัน คนที่ทำความผิดเหล่านี้ให้มันสงบ อย่าปล่อยให้มีปากมีเสียงอยู่ได้"
ผู้สื่อข่าวถามว่ามียาอะไรจะแก้เสพติดอำนาจ และเสพติดการใช้กฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเชิงหยอกล้อว่า "เราทำแล้ว เดี๋ยวไปเอาที่ห้องทำงานมาให้สื่อกินคนละเม็ด ให้ลองกินดูว่าจะหายหรือไม่ ผมล้อเล่นนะ"

สุดโหด! ปธน.ฟิลิปปินส์เรียกร้องช่วยกันฆ่าคนติดยาด้วย ตำรวจเผย 4 วันสังหารผู้ค้าแล้ว 30


เว็บไซต์เอเชียนคอร์เรสปอนเดนท์ รายงานเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประกาศท่าทีอันแข็งกร้าวที่มีในนโยบายกวาดล้างยาเสพติดในประเทศ ที่ชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้สังคมไม่เพียงแต่ช่วยกันสังหารผู้ค้ายาเสพติดเท่านั้น แต่ให้ช่วยกันฆ่าผู้ติดยาเสพติดด้วย

รายงานข่าวอ้างรายงานจากเว็บไซต์ไวซ์ ที่รายงานถึงถ้อยคำดังกล่าวระหว่างที่นายดูแตร์เต พูดต่อหน้าประชาชนราว 500 คนในชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในกรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม เกือบ 1 วันหลังดูแตร์เต สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยดูแตร์เต ระบุว่า “หากคุณรู้จักใครที่ติดยา ฆ่ามันด้วยตัวคุณเอง เพราะถ้าให้พ่อแม่ของพวกมันทำมันดูจะเจ็บปวดเกินไป”
“พวกลูกโสเภณีพวกนี้มันกำลังทำลายลูกหลานของเรา” ดูแตร์เตระบุ
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานในวันเดียวกันนี้ด้วย อ้างแถลงการณ์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลิปปินส์ระบุว่า นับตั้งแต่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อสัปดาห์ก่อน มีผู้ค้ายาเสพติดถูกสังหารไปแล้ว 30 ราย และสามารถยึดยาเสพติดเอาไว้ได้มูลค่าถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 700 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการประกาศดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มนักกฎหมายในประเทศที่เรียกร้องให้หยุดนโยบายฆ่าตัดตอนดังกล่าวลง

“ดอน” แจง หนังสือเดินทางข้าราชการของนางไก่ ได้มาในฐานะเป็นเลขานุการรัฐมนตรี

“ดอน” แจง หนังสือเดินทางข้าราชการของนางไก่ ได้มาในฐานะเป็นเลขานุการรัฐมนตรี สมัยยิ่งลักษณ์
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีนางมณตา หยกรัตนกาญ หรือผู้ที่เรียกตัวเองว่าหญิงไก่ อดีตนายจ้างที่แจ้งความดำเนินคดีกับลูกจ้างในข้อหาลักทรัพย์ และปรากฏว่ามีหนังสือเดินทางข้าราชการในครอบครอง ว่า กรมการกงสุลได้ออกให้ตามคำขอของสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 ในฐานะคณะทำงานของเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งหนังสือเดินทางดังกล่าวได้หมดอายุไปแล้วเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีรายงานว่า นางมณตา ได้เป็นคณะทำงานของเลขานุการนายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ข้อมูลข่าว...มติชน

"มีชัย" ซัดฝ่ายตรงข้ามไม่รักษากติกา ยันร่างรธน.แบบสากล ตรงกปปส.แค่บังเอิญ


เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 4 กรกฎาคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมถึงปัญหาการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่า ตนเจอปัญหานี้ตั้งแต่อาทิตย์แรกของการจัดพิมพ์ คิดว่า กกต.จะแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังไม่แก้ ส่วนการแจกจ่ายเนื้อหาฉบับเต็มเล่มใหญ่และสรุปเล่มเล็กที่ยังไม่ถึงประชาชน ก็อยากขอความกรุณากกต. ช่วยเร่งจัดการเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากเวลาเหลือเพียง 1 เดือนเศษก่อนจะทำประชามติ ทั้งนี้ ยอมรับว่า กว่าจะถึงวันทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเล่มใหญ่ประชาชนคงอ่านไม่ทัน แต่เล่มเล็กที่ประชาชนจะได้รับอย่างทั่วถึงน่าจะอ่านกันทัน อย่างไรก็ตาม เวลาที่เหลืออยู่ กรธ.จะขอความช่วยเหลือไปยังประชาสัมพันธ์ให้ช่วยสื่อสารถึงประชาชนให้มากขึ้น

เมื่อถามว่า การตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย สนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติของรัฐบาล จะกลายเป็นการจับผิดคนเห็นต่างหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า เขาไม่ทำแบบนั้นหรอก เพราะเขาช่วยเผยแพร่ร่าง ป้องกันการทำไม่ดีไม่งาม ถือเป็นผลดีสำหรับกรธ. ที่มีคนคอยช่วยดูไม่ให้มีคนพูดบิดเบือน แต่ถ้ามองว่าศูนย์นี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไปหรือไม่นั้น เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ใช่คนที่มีอำนาจลงโทษ มีหน้าที่เพียงแค่สอบสวน ไม่ใช่ชี้ขาด เพราะคนมีอำนาจคือ กกต. ซึ่งสุดท้ายถ้า กกต.ไม่แน่ใจเขาก็ต้องมาถาม กรธ.ว่า คำพูดหรือการกระทำแบบนี้บิดเบือนหรือไม่ ตนยืนยันว่าการรณรงค์ประชามติ เรารักษากติกากันอย่างเคร่งครัดมาก แต่คนอีกข้างไม่รักษากติกาเลย และยังทำทุกวิธีทางเพื่อไปชักจูงใจคนอื่น

เมื่อถามถึงการรณรงค์ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีแผนปฏิรูปประเทศเหมือนแนวคิดกปปส. จะเป็นการร่างเพื่อเอาใจ กปปส.หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า เปล่าเลย การร่างรัฐธรรมนูญนี้ร่างแบบสากล ทุกคนรู้สึกว่าประเทศมีปัญหา เรื่องกระบวนการยุติธรรม ปัญหาทุจริต มันจึงเป็นเรื่องบังเอิญที่เหมือนกันได้

บิ๊กต๊อก แย้มใจ ม.44 คดีพระธัมชโย

4 ก.ค.59 ที่กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่าอาจจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษจัดการปัญหา พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาหนุนแนวคิดดังกล่าวเสนอให้ใช้มาตรา 44 นั้น ว่า "ผมตีความว่าเป็นแนวคิดที่ว่าอาจไปถึงจุดนั้นได้ถ้าปัญหายังไม่จบ หากยังไม่จัดการให้เรียบร้อยด้วยกฎหมายปกติแล้ว ก็ต้องนำไปสู่การใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังทำอยู่ และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายปกครองของสงฆ์ ขณะเดียวกันมีพนักงานสอบสวนด้วย แต่หากทำไม่ได้จริงๆ ก็เหมือนกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว แก้ปัญหาไม่ทันการณ์ ซึ่งผมเห็นแนวทางการทำงานแล้วว่า ถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ก็ต้องไปบอกนายกฯ ก็เป็นการรับรู้ว่าท่านเปิดโอกาสให้เราแล้ว ซึ่งผมก็คงรับทราบตามนี้
ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นเราไม่ควรจะนำมาตรา 44 ไปใช้ เพราะเป็นการทำผิดกฎหมายที่ไม่ใหญ่อะไรมาก แต่พวกเราก็เข้าใจว่าเริ่มมีการใช้วิธีการอื่นๆ มาใช้ขัดขวางการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ในการทำงาน ดังนั้น จึงอาจมีความจำเป็นต้องไปถึงตรงนั้นก็ได้
"ผมยืนยันว่าถ้าออกมาตรา 44 มาใช้ ต้องจัดการเรื่องนี้ได้ ไม่อย่างนั้นจะออกมาทำไม ซึ่งต้องคิดให้รอบคอบว่าจะใช้หรือไม่ใช้ อย่างไรก็ตาม อยากจะให้ใช้กฎหมายปกติ แต่วันนี้ยังไม่จบ ต้องไปถามผู้ปฏิบัติ คือ พนักงานสอบสวน และสำนวนเรื่องนี้อยู่ที่อัยการ ดังนั้น ต้องไปถามสองหน่วยนี้ว่ามีความพร้อมหรือยัง แต่ตามที่นายกฯ พูด คงต้องพึ่งอำนาจพิเศษของ คสช.แล้วมั้ง ซึ่งก็จะต้องไปชี้แจงให้ท่านทราบ" รมว.ยุติธรรม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานายกฯ พูดมาตลอดว่า จะพยายามไม่ให้ใช้อำนาจนี้ฟุ่มเฟือย ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ต่อส่วนรวม เพราะทำให้เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องละเว้นการปฏิบัติตามหน้าที่

กกต.จัดพิมพ์ร่าง รธน.พลาด พบพิมพ์เลขหน้าสลับวุ่นวาย

กกต.จัดพิมพ์ร่าง รธน.พลาด พบพิมพ์เลขหน้าสลับวุ่นวาย-มาตราสำคัญสับสน ปูดครู ข. และ ค. หลายพื้นที่ยังไม่ได้เอกสาร ด้านโฆษก กรธ. ยอมรับ รีบแจ้งให้สั่งโรงพิมพ์แก้ไขแล้ว
เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจกหนังสืออธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญจะจัดพิมพ์ เล่ม 1 และ 2 จำนวนเล่มละ 4 ล้านฉบับ ให้แก่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) จำนวน 5 หมื่นชุด ปรากฏว่า การจัดพิมพ์หนังสือร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 279 มาตราจำนวน 105 หน้า มีความผิดพลาดในการจัดพิมพ์โดยหน้าเอกสารในแต่ละมาตราสลับกัน อาทิ หน้า 3 ที่เกี่ยวข้องกับบททั่วไป เริ่มตั้งแต่มาตรา 1 แต่เมื่อพลิกต่อไป กลับกลายเป็นหน้าที่ 16 -17 เกี่ยวกับหมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐในมาตรา 51 แทน จากนั้นพลิกต่อไปกลับกลายเป็นหน้า 6 -15 จึงกลับมาพบหน้าที่ 4 ที่มีมาตรา 5 ซึ่งเป็นมาตราสำคัญที่เป็นการสร้างกลไกป้องกันการทำรัฐประหาร นอกจากนี้ ยังพบความผิดพลาดของการจัดพิมพ์ในช่วงท้ายของหนังสืออธิบายดังกล่าว ที่หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ในหน้า 87 แต่เมื่อพลิกไปหน้าต่อไปกลับเป็นหน้า 100-101 ก่อนกลับมาที่หน้า 90-99 ในหมวดปฏิรูปประเทศ ก่อนกลับมาอีกที่หน้า 88-89 และโดดไปที่หน้า 102-105 แทน
ขณะที่รายงา
นข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า ภายหลังวิทยากรที่ประกอบไปด้วย กรธ. สนช. และ สปท. ได้ลงพื้นที่ไปบรรยายเนื้อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และคำถามพ่วงประชามติของ สนช. ให้วุฒิสภาสรรหาเลือกนายกฯได้ พบว่า การลงพื้นที่พบ ครู ข. และครู ค. ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไม่มีร่างรัฐธรรมนูญ หนังสือคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และหนังสือประเด็นคำถามหลักการและเหตุผลพร้อมคำอธิบายประกอบคำถามของ สนช. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของผู้เกี่ยวข้องในการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมต่อการทำประชามติครั้งนี้ นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตที่ กกต. จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 1 ล้านฉบับ สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ได้จัดพิมพ์อย่างละ 4 ล้านฉบับ และหนังสือประเด็นคำถามเหตุผลพร้อมคำอธิบายประกอบคำถามของ สนช. จัดพิมพ์อีก 4 ล้านฉบับ โดยจัดส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศรวม 846,491 ชุด พร้อมกระจายไปยังศาลากลางจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์การเรียนรู้ประชาธิปไตยของ กกต. กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ กองบัญชาการรักษาดินแดน ศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยระดับตำบล สถาบันการศึกษาทุกระดับ สื่อมวลชน รวมถึงมีการส่งให้กับ สนช. และ กรธ.ด้วย โดยเก็บไว้ที่ กกต. เป็นต้น แต่ไม่ยอมพิมพ์แจกจ่ายให้ผู้ใช้สิทธิ์ผ่านครัวเรือน จำนวน 49 คนได้เข้าถึง แตกต่างจากปี 50 ที่จัดทำเอกสารร่างรัฐธรรมนูญให้ครบทุกครัวเรือน โดยอ้างว่าช่วยประหยัดงบประมาณลงไป 600 ล้านบาท ให้เหลืองบประชามติจำนวน 2,900 ล้านบาท
ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรธ. กล่าวว่า ตนได้รับทราบปัญหาดังกล่าวจริง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายนแล้ว ระหว่างการบรรยายให้ความรู้ครู ค.และผู้นำของ กทม. ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ได้แจ้งเรื่องไปที่ กกต.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และ กกต. ได้แจ้งไปที่โรงพิมพ์อาสารักษาดินแดน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่เป็นผู้พิมพ์หนังสืออธิบายร่างรัฐธรรมนูญ ให้รับทราบและนำไปแก้ไขเพื่อพิมพ์ชดใช้ให้แก่ผู้ได้รับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่บกพร่อง อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าความผิดพลาดเป็นบางส่วนเท่าไหร่ ไม่พิมพ์ผิดไปเสียทั้งหมด ส่วนประเด็นที่ครู ครู ข. และ ครู ค. ยังไม่ได้เอกสารคำอธิบายร่าง รธน. และอื่นๆ นั้น ยืนยันว่ามีเฉพาะ ครู ค. บางส่วนที่ยังไม่ได้ แต่ก็ได้ประสานไปที่กระทรวงมหาดไทยให้รับทราบ และได้สั่งการไปที่หน่วยงานต่างๆ ให้ไปแจกจ่ายไปแล้ว แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ทราบว่าฝ่ายปฏิบัติได้ทำตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ จึงเป็นเหตุให้ ครู ค. ไม่ได้รับเอกสาร โดยในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ กรธ.จะหารือกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป

นายอำเภอชุมแพปลดผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซำผักหนาม เหตุพาชาวบ้านเดิน Walk for Rights โดยไม่ให้ชี้แจง

นายอำเภอชุมแพปลดผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซำผักหนาม เหตุพาชาวบ้านเดิน Walk for Rights โดยไม่ให้ชี้แจงหรือตั้งกรรมการสอบ อ้างมีรูปถ่ายชัดเจน และทหารสั่ง อาจตามด้วยถูกดำเนินคดี+++
1 ก.ค.59 เวลา 13.00 น. นายจรูญ เซรัมย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซำผักหนาม ต.นาหนองทุ่ม เข้าพบนายพันธ์เทพ เสาโกศล นายอำเภอชุมแพ จ.ขอนแก่น หลังนายอำเภอโทรศัพท์เรียกตัวในตอนเช้า นายอำเภอได้แจ้งว่า นายจรูญมีความผิดฐานพาชาวบ้านชุมนุมเกิน 5 คน มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายชัดเจน จึงมีความเห็นให้ปลดนายจรูญออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยการประชุมกำนัน – ผู้ใหญ่บ้านประจำเดือน ในวันที่ 4 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ผู้ใหญ่บ้านซำผักหนามจะเลือกผู้ช่วยคนใหม่มาประชุม นายอำเภอกล่าวอีกว่า ผู้พันสั่งให้ปลดออก และดำเนินคดีด้วย แต่นายอำเภอมีหน้าที่ปลดออกเท่านั้น ส่วนการดำเนินคดี ทหารจะดำเนินการต่อไปอย่างไรก็เป็นเรื่องของทหาร
กรณีนี้สืบเนื่องมาจากเครือข่ายประชาชนภาคอีสานที่เรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการอีสานใหม่’ ได้มีกิจกรรม ‘เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน’ หรือ Walk for Rights โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเดินเยี่ยมยามถามข่าวชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและแผนพัฒนาของรัฐทั่วภาคอีสาน ขบวนเดินเริ่มต้นเดินจากพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนโปร่งขุนเพ็ชร ที่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.59
จนกระทั่งวันที่ 11 มิ.ย.59 ขบวนเดินได้ผ่านเข้าเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ทางอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเยี่ยมเยียนบ้านซำผักหนามและชุมชนหนองจาน ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯ และกำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล โดยมีชาวบ้านหนองจานออกมาต้อนรับที่ทางเข้าอุทยานฯ เดินเข้าบ้านซำผักหนาม และพักค้างคืนที่ชุมชนหนองจาน เช้าวันที่ 12 มิ.ย.59 ชาวบ้านหนองจานยังได้เดินออกมาส่งขบวนเดินจนพ้นเขตอุทยานฯ ภูผาม่าน ท่ามกลางการติดตามถ่ายรูปของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนหลายนาย
ทั้งนี้ ในเช้าวันที่ 12 มิ.ย.59 สัสดีอำเภอภูกระดึงได้โทรศัพท์มาหานายจรูญ ถามว่าจะพาชาวบ้านชุมนุมหรือไม่ นายจรูญตอบว่า ไม่ใช่ นักศึกษามาเดินรณรงค์เฉยๆ สัสดีจึงบอกว่าจะหาน้ำไว้ต้อนรับตามทาง ต่อมา คืนวันที่ 13 มิ.ย.59 เวลาประมาณ 21.00 น. ขณะนายจรูญ ดับไฟจะเข้านอน ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย อ้างว่ามาจากค่ายมหาศักดิพลเสพ (ร.8 พัน 2) อำเภอชุมแพ มาเรียก และสอบถามถึงขบวนเดินเพื่อสิทธิฯ ว่า เป็นใคร มาจากไหนบ้าง มีชาวบ้านร่วมเดินหรือไม่ ซึ่งนายจรูญก็ให้ข้อมูลว่า นักศึกษาเคยมาบำเพ็ญประโยชน์ที่หนองจาน ทำบ้านดิน ทำฝายแม้ว ครั้งนี้กลับมาเยี่ยมค่าย ชาวบ้านก็ออกไปต้อนรับ ก่อนกลับ ทหารบอกนายจรูญว่า จะเชิญเข้าไปกินน้ำเย็นกับผู้พันในค่าย ร.8 พัน 2 แต่ยังไม่บอกเวลา