PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

นายกฯ เบรคไม่อยู่ เหน็บพวกถามทหารมีไว้ทำไม

นายกฯ เบรคไม่อยู่ เหน็บพวกถามทหารมีไว้ทำไม "อย่างน้อย ทหารก็เอาชีวิตรักษาแผ่นดิน 5แสนตร.กมไว้ให้พวกหมาที่ออกมาพูดว่ามีทหารไว้ทำไม โวย พูดเสียงอ่อนสื่อก็หาว่าท้อแท้ ไม่มีท้อแท้ ไม่มีอ่อน อ่อนไม่ได้ ยิ่งเวลาน้อย ผมยิ่งดุไม่งั้นจะแก้ไม่ได้ ไม่ใช่บ้าอำนาจ ที่ปวดหัวทุกวัน"โวย อย่าพูดส่งเดชว่ารัฐบาลทหารและคสช.โกง ขอให้มีหลักฐาน มีผลประโยชน์ตรงไหน ขอให้บอกมา ใครทุจริต ไม่ว่าขรก. รัฐมนตรี หรือผม พร้อมให้ตรวจสอบเลยว่ามีทรัพย์สินเพิ่มหรือไม่ ผมเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ต้องการทำร้ายใคร แต่ก็ไม่เข้าใจทำไม่ต้องทำร้ายกันอยู่ได้ ทั้งที่ตัวเองไม่เคารพกฎหมาย ขู่เด้ง รมว.สำนักนายกฯ-อธิบดีกรมประชาฯ หลังอินโฟกราฟิก ไม่สร้างการรับรู้.....เผยเร็วๆนึ้จะเดินทางไปอเมริกา อินเดีย รัสเซีย เกาหลีใต้ เขาเชิญไป เพราะเขาต้องการร่วมมือ ถ้าเขาเกลียดคงไม่เชิญ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานพิธีเปิดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทย โดยได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "อาชีวศึกษา ฝีมือชน คนสร้างชาติ"
นายกฯ กล่าวในตอนหนึ่ง ว่า ผมไม่อยากให้คนไทยใช้สมองคิดแต่ความขัดแย้ง คิดแต่ประชาธิปไตย เพราะถ้าหลุดจากกับดักเหล่านี้ไม่ได้ ประเทศก็ถอยหลัง ทุกวันที่ทำมาล้มเหลวทั้งหมด แต่ผมจะทำให้ดีที่สุด เท่าที่ยังอยู่
ส่วนกับต่างชาติหลายคนเคยบอกว่าการที่รัฐบาลเข้ามาแบบนี้ไม่อยากคบด้วย แต่ก็เห็นทุกประเทศเข้ามา
ในเวลาอันใกล้ ผมจะเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งหลายประเทศเชิญไปหมด เพราะเขาต้องการร่วมมือ ถ้าเขาเกลียดคงไม่เชิญ เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น มีแต่คนไทยที่ต้องการให้แตกกัน
ส่วนเป็นใครนั้นขอให้ไปหาตัวมา ทั้งนี้การจะไปคุยกับประเทศใด เราก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์ก่อน ซึ่งแต่ละประเทศเคยเกิดปัญหาเช่นเดียวกับไทย ดังนั้นก่อนที่จะตำหนิเรา ต่างชาติได้ศึกษาเราแล้วหรือไม่ แต่เขากลับเอามาตรฐานของประเทศอื่นมาวัด
ทั้งที่โรดแม็ปของไทยอยู่ในระยะที่ 2 ผมเหลือเวลาอยู่อีกไม่นาน และยืนยันว่าเราไม่ได้ฝืนประชาธิปไตยแต่ขอให้เวลาตรงนี้ด้วย พร้อมขอให้หยุดความขัดแย้งไว้ก่อนแล้วมาร่วมมือกันให้ได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายเรียกเงิน เพราะวันนี้ยังไล่จับคนที่แอบอ้างอยู่
"ขออย่าพูดส่งเดชว่ารัฐบาลทหารและคสช.โกง ขอให้มีหลักฐาน ถ้าบอกว่ามีผลประโยชน์ตรงไหน ขอให้บอกมา ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตโดยข้าราชการ รัฐมนตรี หรือผม
พร้อมให้ตรวจสอบเลยว่ามีทรัพย์สินเพิ่มหรือไม่ ผมเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ต้องการทำร้ายใคร แต่ก็ไม่เข้าใจทำไม่ต้องทำร้ายกันอยู่ได้ ทั้งที่ตัวเองไม่เคารพกฎหมาย"

"วันก่อนมีคนถามมีทหารแล้วได้อะไร อย่างน้อยทหารก็เอาชีวิตรักษาแผ่นดิน 5 แสนตารางกิโลเมตร ไว้ให้พวกหมาที่ออกมาพูดว่ามีทหารไว้ทำไม วันนี้ผมต้องพูดแบบนี้ เบรกไม่อยู่
แม้เกิดน้ำท่วมหรือฝนแล้ง แต่ยังมีที่ยืน ที่หายใจ ใครทำให้ก็ทหารทั้งนั้น ถ้าไม่รักษาไว้ จะทำอย่างไร จะเอาใครมาทำ การคุกคามแบบใหม่ในโลกเกิดขึ้นที่บ้านเรา เขาไม่เชื่อ ต้องช่วยกันพูด
เมื่อพูดเสียงอ่อนสื่อก็หาว่าท้อแท้ ไม่มีท้อแท้ ไม่มีอ่อน อ่อนไม่ได้ยิ่งเวลาน้อย ผมยิ่งดุ ไม่อย่างนั้นจะแก้ไม่ได้ ไม่ใช่บ้าอำนาจ ที่ปวดหัวทุกวันเพราะรับหมด
ผมถามว่ารัฐบาลหน้าจะทำแบบนี้ไหม คอร์รัปชันขึ้นไหม เดี๋ยวการศึกษาดีขึ้น ให้ได้ เอาบกพร่องมาแก้ มันต้องดีแน่นอน ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศต้องรู้ทุกอย่าง เพราะยังมีบางคนให้ร้ายประเทศอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับพวกที่เลือกข้างทั้งหมด" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้สอบถามผู้ที่ร่วมฟังการกล่าวเปิดงานในห้องประชุม ว่าใครเคยเห็นอินโฟกราฟิกที่เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ขอให้ยกมือตอบให้ผมชื่นใจหน่อย แต่ปรากฏว่าผู้ร่วมฟังไม่มีใครยกมือ
พล.อ.ประยุทธ์ จึงกล่าวว่านี่คือการล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ดังนั้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อาจจะต้องถูกเปลี่ยนได้แล้วเพราะสร้างการรับรู้ไม่ได้
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าว"ขอโทษที่วันนี้พูดไม่ดี สงสัยก้าวเท้าผิดออกจากบ้าน "
ไม่มีวันไหนที่ตนมีความสุขจริงๆ เพราะมีหน่วยงาน 19 กระทรวง แม่น้ำ 5 สายแล้วยังนำเรื่องอื่นๆ มาตีกัน ตนพูดมากไม่ได้เพราะจะหาว่าสืบทอด แต่จะทำให้สำเร็จทราบเท่าที่ผมอยู่

#ทหารมีไว้ทำไม 'ประยุทธ์' ตอบ "เพื่อไว้ให้ไอ้พวกหมานี่พูดอยู่ไง"

Fri, 2016-01-29 18:29
ปมบทความ 'ทหารมีไว้ทำไม' ของ 'นิธิ' ล่าสุด 'ประยุทธ์' ตอบหน้าที่ทหาร คือเอาชีวิตรักษาแผนดินกว่า 5 แสน ตารางกิโลเมตร เพื่อให้ "ไอ้พวกหมานี่พูดอยู่ไง" 
ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
หลังจาก นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการเขียนบทความ เรื่อง 'ทหารมีไว้ทำไม' ตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 1-7 ม.ค. 2559 (อ่านบทความ) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมกับการติดแฮชแท็กในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า #ทหารมีไว้ทำไม โดยหลายความเห็นตอบโต้เพียงตัวชื่อบทความของนิธิ โดยไม่ได้ลงรายละเอียดที่นิธิเขียนในเนื้อบทความ หลังเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารบุกอุ้ม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักศึกษาและนักกิจกรรม ในยาววิกาลบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีการยกเหตุการณ์อุ้มประชาชนดังกล่าวมาเพื่อโต้กลับผ่านแฮชแท็กดังกล่าวด้วย (อ่านยรายละเอียด)
ล่าสุดวันนี้ (29 ม.ค.59) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวในระหว่างปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "อาชีวศึกษา ฝีมือชน คนสร้างชาติ" ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า ทหารรักษาแผ่นดินกว่า 5 แสนตารางกิโลเมตร 
"วันนั้นเขาถามว่ามีทหารแล้วได้อะไร ตอบสิ ได้อะไร ไม่ได้อะไรเลย อย่างน้อยก็มีทหารได้ก็คือเอาชีวิต ชีวิตเขานี่ทุ่มเทรักษาไอ้แผ่นดินผืนนี้ 5 แสนกว่าตารางกิโลเมตร ไว้ให้ไอ้พวกหมานี่พูดอยู่ไง ผมไม่อยากจะพูดอย่างงี้ วันนี้ผมเบรคไม่อยู่จริงๆ เพราะมันถามผมทุกวัน นะ เขาตายไปเท่าไหร่ เขาตายไปเท่าไหร่ เขารักษาแผ่นดินไปเท่าไหร่ มันยังบอกว่ามีทหารไว้ทำอะไร น้ำท่วม ฝนแล้ง โจรขโมย ทหารตำรวจเขาทำอะไร นึกถึงเวลาเขาทำบ้าง ไม่ใช่ไปจับจิ๊กๆๆ ไอ้นี่เรียกเงิน มันเรียกสักกี่คน ไปแจ้งความมา โน้นเขามีช่องทางอยู่แล้ว ร้องทุกข์กล่าวโทษ แจ้งโรงพัก" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
 
พล.อ.ประยุทธ์ ยังย้อนถามด้วยว่า ถ้าเช่นนั้นจะจ้างยามมาเป็นแทนไหม เป็นยามชายแดน โรงพักก็จ้างยามทั้งหมดเลย เอาไหม มันทำได้ไหมเล่า
 
โดยเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ เองก็เคยพูดถึงประเด็นบทความนี้ด้วยว่า ให้ไปถามว่าเขาทำประโยชน์อะไรให้แผ่นดินบ้าง “ผมปกป้องแผ่นดินนี้มาตลอดชีวิต ให้ใคร หรือให้คนเหล่านี้มาพูด ให้คนเหล่านี้มาทำลายชีวิตผม ไปถามเขาด้วย” นายกฯ กล่าวด้วยอารมณ์เสียงดัง ก่อนจะเดินกลับขึ้นไปยังตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมกล่าวว่า “หมดอารมณ์ ชอบยั่วอารมณ์”

เส้นทางก่อนจะถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ' 59

ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2559 ของมีชัย ฤชุพันธ์ ก็เผยแพร่ให้สาธารณะชนได้รับทราบ หลังจากนี้หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแบบไม่คาดฝันขึ้น เส้นทางของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะจบลงที่การออกเสียงประชามติ นอกจากนี้ระหว่างทางเดินสู่ประชามติยังมีประเด็นสำคัญ คือ แรงกดดันให้แก้ไขหลักเกณฑ์การทำประชามติ ให้ยึดจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งหมด และ คำถามที่ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไรต่อไป ระยะเวลาประมาณห้าเดือนหลังจากนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการกำหนดทิศทางการออกเสียงประชามติ




องค์กรต่างๆ ออกความเห็นและปรับปรุงร่างอีกสองเดือน เสร็จปลาย มี.ค.59 

ตามกำหนดการหลังการเผยแพร่ร่างแรกในวันที่ 29 มกราคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และพรรคการเมือง เพื่อนำข้อเสนอไปปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ว่าขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณสองเดือน กรธ.จะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์พร้อมส่งให้ ครม.ประมาณวันที่ 30 มีนาคม 2559 จากนั้น ครม.ต้องส่งมาให้ กกต.ดำเนินการออกเสียงประชามติโดยเร็ว แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุระยะเวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องส่งมาภายในเมื่อไม ซึ่ง กกต.คาดว่า ครม.จะส่งมาให้ภายใน 1-2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2559

คาดได้ลงประชามติ 31 ก.ค.59

หากเป็นไปตามที่ กกต.คาดการณ์ วันที่ 8 เมษายน 2559 จะเริ่มพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ โดยน่าจะเริ่มจัดส่งตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2559 เป็นต้นไป ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่าต้องจัดส่งให้ครัวเรือนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จึงจะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ ทั้งนี้ กกต.เชื่อว่าน่าจะส่งเสร็จภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2559 รวมระยะเวลาการพิมพ์และจัดส่ง 45 วัน และคาดว่าวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กกต.จะสามารถประกาศวันออกเสียงประชามติได้ ซึ่ง กกต.กำหนดวันออกเสียงประชามติไว้เบื้องต้นคือวันที่ 31 กรกฎาคม 2559

เกณฑ์ผ่านประชามติร่าง รธน. ยังไม่นิ่ง ยึดเสียงข้างมาก ‘ผู้มีสิทธิ’ หรือ ‘ผู้มาใช้สิทธิ’

ก่อนจะถึงวันออกเสียงประชามติประเด็นที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งแรกคือ หลักเกณฑ์การผ่านร่างรัฐธรรมนูญโดยการทำประชามติ ประเด็นนี้มีข้อสังเกตทั้งจาก สปท. และ กกต. ว่าอาจทำให้ในทางปฏิบัติร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ ดังนั้นจึงมีการเสนอแก้ไขกติกาในส่วนนี้ให้ชัดเจนขึ้น

ปัจจุบัน มาตรา 37/1 วรรค 7 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้การออกเสียงประชามติ “...ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมากเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศผลการออกเสียงประชามติ...”

นั่นหมายความว่าหากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติต้องได้รับความเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงประชามติทั้งหมด ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เทียบเคียงให้เห็นว่า ปัจจุบันจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีประมาณ 49 ล้านคน ดังนั้นหากร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติได้ต้องได้เสียงเห็นชอบประมาณ 24.5 ล้านคน เขายกตัวอย่างการเลือกตั้งปี 2554 ที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 75% คิดเป็น 35 ล้านคนของจำนวนผู้มีสิทธิ ซึ่งเสียงข้างมากของ 35 ล้านคนคือ 17.5 ล้านคน ขณะที่เสียงข้างมากของผู้สิทธิเลือกตั้งคือ 24.5 ล้าน หากใช้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิลงคะแนนจึงยากมากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการทำประชามติ

ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มว่า คสช.น่าจะใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไข รัฐธรรมนูญชั่วคราวเปลี่ยนเป็นคำว่า "ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติโดยเสียงข้างมาก" แทน เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญสามารถผ่านประชามติไปได้ 

ด้านประธานกรธ. มีชัย ฤชุพันธ์ เคยแสดงความเห็นไว้ว่า หาก “รัฐบาลเข้าใจว่าประชามติใช้เสียงข้างมากตามปกติก็ไม่จำเป็นต้องแก้ แต่หากสงสัยก็สามารถแก้ได้ ... หากรัฐบาลเกรงว่าจะเกิดปัญหาในเรื่องการตีความก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก่อนจัดทำประชามติได้”  ดังนั้นประเด็นนี้ คสช.มีทางออกที่สามารถจัดการให้ชัดเจนได้โดยไม่ยากเย็นนัก

ท่าทีผู้มีอำนาจ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร?

เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดว่าหากประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร ทำให้เกิดคำถามกดดัน คสช.ว่า ในประเด็นนี้ควรมีการแก้ไขให้ชัดเจน เมื่อสำรวจท่าทีของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วอาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีข้อสรุป ไม่ว่าจะเป็นมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่เห็นว่า “...ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็ค่อยไปหาทางคิดกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไร...” ซึ่งคงต้องใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไปก่อน 

ขณะที่วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “...คงต้องคิดว่าจะแก้หรือไม่แก้ เพียงแต่ต้องมีคำตอบให้กับประชาชนเท่านั้น ว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะทำอย่างไรต่อ ทีนี้คำตอบมันอาจจะมาโดยการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถ้าแก้ก็ไม่อึมครึม แต่ถ้าไม่แก้ก็ต้องมีคำตอบ แต่ว่าอาจจะยังประกาศไม่ได้ ... เอาเป็นว่าคนที่เกี่ยวข้องกำลังคิดหาหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งต้องเตรียมคำตอบเอาไว้...”

อย่างไรก็ดีคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. คือ “หากไม่ผ่านประชามติ ก็จะให้มีการเลือกตั้งให้ได้ตามโรดแมป กรกฎาคม ปี 2560” ทำให้เราพอคาดการณ์ได้ว่า มีโอกาสน้อยที่จะมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบสองครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สาม เพราะการร่างใหม่แบบเดิมเป็นครั้งที่สามน่าจะไม่ทันเวลาการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 ตามคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ และการร่างใหม่ยังมีแนวโน้มจะสร้างแรงกดดันด้านลบให้กับ คสช. มากกว่า

ดังนั้นทางออกที่เป็นไปได้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ จึงน่าจะคล้ายกับการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ให้คณะรัฐประหารนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาประกาศใช้ได้เลย ถ้าประเมินจากท่าทีของมีชัยที่เห็นว่าให้ใช้รัฐธรรมชั่วคราวไปก่อน หรือวิษณุ ที่เสริมว่าให้เพิ่มบางมาตราเข้าไป หรือเอารัฐธรรมนูญเก่ามาดัดแปลง จึงเป็นไปได้ที่ คสช.จะนำรัฐธรรมนูญเก่าฉบับใดฉบับหนึ่งกลับมาแก้ไขใหม่เพื่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น 

แต่จะใช้วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวหรือแค่ประกาศให้ประชาชนทราบแล้วทำเลย คำตอบจากสองมือกฎหมายคือ เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจกำลังประเมินอยู่... 
--------

เส้นทางสู่การออกเสียงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2559

- 29 มกราคม 2559 กรธ.เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแรก
- 16-20 มีนาคม 2559 กรธ.ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอแนะ
- 29 มีนาคม 2559 ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ
- 30 มีนาคม 2559 กรธ.ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ครม.
- อาทิตย์แรกของเดือนเมษายน 2559 ครม.แจ้ง กกต.เพื่อดำเนินการจัดออกเสียงประชามติ
- 8 เมษายน 2559 เริ่มพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ และสรุปสาระสำคัญ
- 27 เมษายน 2559 เริ่มส่งร่างรัฐธรรมนูญ แก่ครัวเรือน
- 20 มิถุนายน 2559 ส่งร่างรัฐธรรมนูญครบ 80% ของครัวเรือน
- 21 มิถุนายน 2559 กกต.ประชุมพิจารณากำหนดวันออกเสียง
- 22 มิถุนายน 2559 กกต.ประกาศวันออกเสียงประชามติ
- 31 กรกฎาคม 2559 วันออกเสียงประชามติ
---------------
#รัฐธรรมนูญ