PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การเมืองแห่ง ‘ความหวัง’ และ ‘ความกลัว’ : โดย กล้า สมุทวณิช

การเมืองแห่ง ‘ความหวัง’ และ ‘ความกลัว’ : โดย กล้า สมุทวณิช



ระหว่างการได้รับเงินหนึ่งพันบาทมาแบบลาภลอย กับการที่คุณพบว่าเงินที่คุณมีอยู่หายไปหนึ่งพันบาท หากสองสิ่งนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน สิ่งใดจะส่งผลต่อจิตใจคุณมากกว่ากัน

หากมองแบบคณิตศาสตร์หรือเหตุผล คุณไม่ควรมีความรู้สึกวูบไหวไกวจิตอันใดไปมากนัก เพราะบวกลบแล้วเท่ากับศูนย์ แต่ในทางความเป็นจริง เราส่วนใหญ่คงยอมรับว่าไม่ใช่เช่นนั้น การที่ได้เงินหนึ่งพันบาทมาใหม่ ในขณะที่เงินหนึ่งพันบาทที่เคยมีอยู่นั้นหายไป เงินที่หายไปนั้นทิ้งร่องรูแห่งความเสียดายไว้ในความรู้สึกมากกว่าความยินดีที่ได้มา หรือต่อให้การสูญหายนั้นเกิดขึ้นก่อน และเราได้รับการชดเชยคืนมา แต่การชดเชยนั้นก็ไม่ได้กู้ฟื้นคืนความรู้สึกมาได้เต็มที่

เรื่องนี้เป็นกลไกกับดักทางจิตวิทยาที่ได้รับการอธิบายไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่นในหนังสือ “The Art of thinking clearly (52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม)” ของ Rolf Dobelli สันนิษฐานว่า อคติเพราะกลัวการสูญเสียเป็นสัญชาตญาณที่สืบทอดกันมาของมนุษย์ เนื่องจากในอดีตนั้นความสูญเสียเท่ากับความตาย มนุษย์ที่อยู่รอดจึงเป็นมนุษย์ที่มีสัญชาตญาณกลัวและให้น้ำหนักต่อการป้องกันความสูญเสียมากกว่าความยินดีเมื่อได้รับ

คำแนะนำในการใช้กลไกทางจิตวิทยานี้ คือหากจะโน้มน้าวใจใคร การบอกว่าถ้าเขาทำเช่นนี้แล้วไม่สูญเสียอะไรนั้นทรงพลังกว่าการบอกว่าการทำแบบเดียวกันนั้นจะได้รับผลดีอย่างไร

ข้อพิสูจน์ง่ายๆ คือการตัดสินใจซื้อของคนทั่วไป ที่เราจะตัดสินใจซื้อเพราะการได้รับ “ส่วนลด” ได้ง่ายกว่าการได้ “ของแถม” ในมูลค่าเท่ากัน เพราะส่วนลดนั้นทำให้เรา “เสีย” เงินในกระเป๋าน้อยลง ในขณะที่ของแถมแม้เราจะ “ได้” ในมูลค่าเท่ากัน แต่ก็วางน้ำหนักเร่งการตัดสินใจเราได้น้อยกว่า

จิตวิทยาเรื่องนี้นำมาอธิบายกลยุทธ์การเลือกตั้งอมตะรูปแบบหนึ่งได้ดี คือ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

“เขา” ในที่นี้คือปีศาจภูติผีแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมา “ทำลาย” สิ่งเดิมสิ่งใดที่เรามีอยู่ อาศัยอยู่ หรือยึดถืออยู่

ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งพยายามบอกกล่าวเล่าแสดงว่า หากเลือกเขาเข้ามาเป็นผู้มีส่วนใช้อำนาจรัฐบริหารประเทศแล้ว พวกเขาจะขับเคลื่อนนโยบายทำอะไรให้คุณบ้าง แต่อีกฝ่ายจะไม่บอกว่าคุณจะได้อะไร นอกจากพยายามนำเสนอภาพว่า คุณจะ “เสีย” อะไรไปบ้าง หากไม่เลือก “เรา”

การเลือกตั้งที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งว่ากลยุทธ์แบบ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” นี้ได้ผลอย่างจริงจัง คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2556 ระหว่างหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งลงสมัครในตำแหน่งดังกล่าวเป็นสมัยที่สอง กับ พลตำรวจเอก ดร.พงศพัศ พงษ์เจริญ
จากพรรคเพื่อไทย

แม้ว่าทุกฝ่ายจะยอมรับกันว่า ผลงานของท่านผู้ว่าฯในสมัยก่อนหน้านั้นไม่เป็นที่ประทับใจเท่าไรนัก แต่ในบรรยากาศทางการเมืองที่พรรคเพื่อไทยเพิ่งกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งระดับประเทศไปเมื่อปีก่อนหน้า จึงทำให้กลยุทธ์การหาเสียงแบบไม่เลือกเราเขามาแน่ถูกนำมาใช้ ด้วยการสร้างความรู้สึกให้คนกรุงเทพฯ “รักษา” ที่มั่นสุดท้ายไม่ให้ถูกยึดครองจากผู้เล่นหน้าใหม่ โดยกลยุทธ์หาเสียงสร้างคะแนนนี้ไม่พูดสักคำว่า ท่านผู้สมัครหน้าเก่าจะมีการปรับปรุงตัวหรือมีผลงานอย่างไร แต่สร้างภาพความน่ากลัวว่าหาก “คนใหม่” เข้ามาแล้วชาวกรุงจะ “สูญเสีย” อะไรอย่างไร

ผลการเลือกตั้งและผลงานของท่านผู้ว่าฯสองสมัยนั้นคงเป็นที่ประจักษ์ไปแล้ว พร้อมซ้ำเติมด้วยผู้ว่าฯที่คนกรุงไม่ได้เลือกอีกหนึ่งคน

ในการเลือกตั้งระดับประเทศที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ก็เช่นกัน จากเดิมที่เป็นการแข่งขันต่อสู้กันด้วยนโยบาย ซึ่งเททางไปยังแนวประชานิยมคล้ายกันหมดทุกพรรค ต่างกันที่ “สินค้า” ที่เอามาเรียกค่าความนิยมเท่านั้นเอง

แต่เมื่อแสงสว่างอันเจิดจ้าของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ “พรรคอนาคตใหม่” เริ่มเคลื่อนขึ้นบนขอบฟ้า กลยุทธ์ทางการเมืองของฝ่ายจารีตที่เกาะกุมอำนาจรัฐเดิมไว้อยู่ ก็เริ่มงัดกระบวนท่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ขึ้นมาใช้

ดังได้กล่าวไปในคอลัมน์ตอนที่แล้วว่ามีเหตุน่าสงสัยว่าจะมีการใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาและข้อมูลข่าวสารในการสร้างภาพว่า หากอนาคตที่ว่าใหม่นั้นจะเกิดขึ้นจริง จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะมีอะไรสูญเสียไปบ้าง

สิ่งนั้นคือโลกใบเก่า คือสภาวะแวดล้อมที่คนรุ่นหนึ่งเติบโตและใช้ชีวิตมา ไม่ว่าเขาจะพอใจกับมันหรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ออกจะทำใจยาก หากโลกและสิ่งแวดล้อมเช่นนั้นจะหายสาบสูญไป


โลกและสิ่งแวดล้อมนั้นมีทั้งสิ่งที่เขามองว่าเป็นเรื่องดีงามแบบวันวานยังหวานอยู่ เช่น ประเพณีอันดีงาม การกราบไหว้ครูอาจารย์หรือผู้มีอาวุโส การเติบโตก้าวหน้าในการงานและสังคมแบบค่อยเป็นค่อยไป สังคมอันดีงาม หรืออย่างน้อยพวกเขาก็เชื่อว่ามันเคยดีงาม

แม้บางเรื่องที่พวกเขาจะอึดอัดไม่พอใจ เช่น เรื่องการเกณฑ์ทหารที่ต่างคนต่างก็หาวิธีเลี่ยงหลบทั้งโดยชอบและแบบเทาๆ แต่เราก็ไม่ได้ต้องการความเปลี่ยนแปลงระบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพ้นจากภาวะเช่นนั้นมาแล้ว เช่น อายุพ้นเกณฑ์หรือมีเหตุยกเว้นต่างๆ แล้ว

การเมืองแบบ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ที่ใช้ “ความกลัว” เป็นเชื้อพลังขับเคลื่อนนั้นได้ผลดีกับคนรุ่นหนึ่งที่มีอายุอยู่ในระบบเช่นว่านั้นมานานจนคุ้นชิน นานจนรู้วิธีที่จะ “อยู่เป็น” ในโลก สิ่งแวดล้อมและระบบเช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ก็ตาม แต่พวกเขาก็ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ไม่อยากสูญเสียความเคยชินนั้น

อุปมาดังภรรยาในครอบครัวที่สามีเป็นใหญ่ และกระทำทารุณทุบตี หรือเอาแต่ใจตัวเองเบียดบังความสุขของสมาชิกในครอบครัวมากเพียงไรก็ตาม แต่ด้วยเหตุผลว่า ก็อยู่กันมานานจนรู้วิธีจัดการที่จะวางตัวหรือเข้าหาปฏิบัติพัดวีแล้ว ก็ยังมีเหตุผลว่า ช่วงก่อนหน้าที่มันจะแย่เช่นนี้ มันก็เคยมีเวลาดีๆ อยู่เช่นกัน และภรรยาคนนั้นก็ยังคาดหวังว่า อย่างน้อยอยู่ในครอบครัวที่รู้จัก ในบ้านที่คุ้นเคยนี้ จะอึดอัดไม่พอใจหรือแม้แต่เจ็บตัวบ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่มี “บ้าน” และ “พ่อบ้าน” แบบนี้อยู่แล้ว ด้วยการผละออกจากบ้านไปแสวงหาที่ใหม่เอาดาบหน้า หรือแม้แต่ “ไล่” สามีผู้ฉุนเฉียวใจร้ายนั้นไปให้พ้นจากชีวิตครอบครัว

ในขณะที่เด็กรุ่นใหม่นั้นเกิดมาในสภาพสังคมอย่างที่เขาเห็นและเติบโต เขามองไม่เห็นภาพเดียวกันกับในจินตนาการประกอบสร้างจากบรรดาคนรุ่นก่อนหน้า มันเป็นเพียงเรื่องบอกเล่าอันล่องลอยของยุค “บ้านเมืองยังดี” ที่นึกไม่ออกว่าไอ้ที่ว่าดีแบบนั้นมันดีอย่างไร พวกเขาได้รับการบอกเล่าเรื่องของปีศาจที่ถูกเนรเทศไปแดนไกล แต่ยังคงหลอกหลอนผู้ใหญ่ แต่เขาไม่ได้มีภาพอย่างเดียวกันกับที่คนรุ่นก่อนหน้าผู้บอกเล่าได้เห็นหรือมีประสบการณ์ เช่นนี้เรื่องเล่าเหล่านั้นจึงไม่มีพลังพอที่จะสร้างโลกที่พวกเขารู้สึกว่ามันดีอยู่แล้ว และควรจะอดทนต่อไปเพื่อความปลอดภัย

เหมือนเด็กๆ ที่เกิดมาในบ้านของพ่อบ้านใจร้ายเช่นนั้น เขาไม่เคยเห็นภาพสามีบิดาผู้ปกครองของเขาในปางที่ดี หรือแม้ต่อให้ได้เห็น เขาก็นึกไม่ออกว่าความดีงามอันเคร่งครัดห้ามโต้แย้งเห็นต่างนั้นเป็นความดีอย่างไร

ในขณะที่เขาตั้งคำถามกับทุกอย่างตามสัญชาตญาณ และด้วยโลกใหม่ที่ห้ามเขาถามหรือซุบซิบกับเพื่อนฝูงหรือคนอื่นนอกครอบครัวไม่ได้ ในที่สุดเขาก็คิดว่า สิ่งที่คนรุ่นก่อนพยายามกล่อมเกลาว่าของเดิมนั้นดีอยู่แล้ว ของใหม่นั้นน่ากลัว ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรั้งไว้ไม่ให้เขาเลือกความเปลี่ยนแปลง

เขายินดีเลือกอนาคตที่ไม่รู้จักและพร้อมผจญภัย เรียนรู้ลองผิดถูกกับมัน มากกว่าเลือกอดีตเก่าที่ไร้ประสิทธิภาพและอิสรภาพ นอกจากความเคยชินและสัญญาลมแล้งว่าทุกอย่างจะดีเหมือนเดิม พวกเขาไม่กลัวแม้แต่คำขู่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นและเป็นอยู่นั้นจะถูกทำลายให้หายไป เพราะสำหรับเขา สิ่งแบบนั้นหากจะดับสูญไปก็ไม่แปลก หรือแม้แต่เหมาะสมแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจนถึงอีกสี่สัปดาห์ที่พวกเราจะได้เลือกเส้นทางกันอีกครั้ง คือการยื้อยุดดึงดันระหว่างสังคมผู้สูงอายุ ผู้คนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงแม้จะพอใจ แต่ก็ยินดีที่จะเหนี่ยวยึดความปลอดภัยที่ไม่น่าอภิรมย์นั้นไว้ ผู้คนที่กลัวปีศาจที่สร้างขึ้นมาเองหลอกตัวเองจนไม่กล้าที่จะออกไปนอกขอบรั้วแห่งกรอบคิด กับเหล่าคนหนุ่มสาวที่พร้อมที่จะก้าวออกไป เมื่อได้รับรู้ว่าเขาถูกกังขังไว้ในโลกของความหวั่นกลัวในสิ่งที่จะดีหรือร้ายก็ไม่มีใครรู้

คนรุ่นเก่าผู้ถืออำนาจหรือทิศทางในสังคมเดิมพยายามห้ามปรามอย่างแข็งขันตะคอกเกรี้ยวว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”

ลืมมองเข้าไปในแววตาของพวกเขาเพื่ออ่านคำตอบว่า “ใช่ เราอยากให้เขามา เพราะเราไม่กลัวเขา อย่างที่พวกคุณกลัว”

การต่อสู้ของคนที่รักษาธนบัตรฉบับละหนึ่งพันบาทใบสุดท้ายไว้ไม่ให้กระเด็นด้วยอาการหวาดกลัวความสูญเสีย แม้จะยอมรับว่ามันมีค่าน้อยลงทุกที กับคนกลุ่มที่ยอมจ่ายเงินพันบาทไปโดยไม่ลังเลในวันนี้เพื่อหวังผลกำไรอีกหลายพันหรือหลักหมื่นในอนาคต ดีกว่าการกอดเงินก้อนเดิมที่มูลค่าลดลงเรื่อยๆ ตามวันและเวลาอย่างกระเหม็ดกระแหม่ ภายใต้ความหวังว่าแล้วสักวันข้าวของจะถูกลง ธนบัตรนี้จะกลับมามีค่าซื้อของได้เต็มตะกร้าเหมือนเช่นรุ่นพ่อแม่ตัว ซึ่งเป็นปู่ตาย่าทวดผู้ลับลาไปแล้วของเด็กรุ่นและคนหนุ่มสาว

นี่คือการยื้อยุดผู้คนผู้ถูกขับเคลื่อนด้วยความหวังและกระหายความเปลี่ยนแปลง กับผู้หมายจะเหนี่ยวรั้งกันกักรักษาพื้นที่ไว้ด้วยความกลัว คนกลุ่มที่จะหักร้างถางพงเพื่อสร้างทางเดินไปข้างหน้า กับคนที่ตั้งหน้าทุบทำลายอิฐพื้นของถนนเพื่อรักษาทุ่งหญ้าป่ารก เพียงเพราะเคยเห็นมันมาอย่างไร ก็อยากเห็นมันอยู่อย่างนั้น

การเมืองของความหวังและความกลัวยังคงต่อสู้กันเหมือนสุนัขป่าดำขาวในตำนานเชอโรกี ที่จะเป็นเราเองผู้เลือกว่าจะป้อนอาหารให้ฝ่ายไหนได้ชัย

รายงาน : รุก รับ การเมือง จากดีเบตถึง 250 ส.ว. ประยุทธ์ คสช.

รายงาน : รุก รับ การเมือง จากดีเบตถึง 250 ส.ว. ประยุทธ์ คสช.



เหมือนกับการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ จะเป็นการรุกทางการเมือง เหมือนกับการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะเป็นการรุกทางการเมือง

บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” อย่างที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งพรรคพลังประชารัฐ สรุปด้วยความจัดเจน

ความจัดเจนจากพรรคกิจสังคม ความจัดเจนจากพรรคมัชฌิมาธิปไตย

แต่ยิ่งใกล้วันที่ 22 มีนาคม มากเพียงใด ความคิดที่ว่าเป็น “การรุก” ทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐกลับมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

แท้ที่จริงแล้วกลับเป็น “การตั้งรับ”

ตั้งรับในเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความกล้าที่จะขึ้นเวที “ดีเบต” ประชันวิสัยทัศน์หรือไม่กับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

และกำลังตั้งรับในเรื่อง 250 ส.ว.

ความไม่แน่ไม่นอนในเรื่อง “หลักเกณฑ์” และการตัดสินใจต่อประเด็นการขึ้นเวที “ดีเบต” เพื่อประชันวิสัยทัศน์กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้นเองที่กำลังกลายเป็นประเด็น

ประเด็นในเรื่อง “ความพร้อม” ประเด็นในเรื่อง “ความมั่นใจ”

ยิ่งบรรยากาศของการดีเบตตามช่องทางต่างๆ ของสังคมเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้นำไปสู่การเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติ

มิใช่ นายอุตตม สาวนายน ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค

มิใช่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรค มิใช่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรค และยิ่งมิใช่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งเป็นโฆษกพรรค

หากจำเป็นต้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น


ขณะเดียวกัน ขณะที่กรณีดีเบตยังไม่มีคำตอบ ก็เกิดการตั้งประเด็นในกรณีที่ คสช.กำลังคัดสรร 250 ส.ว.เพื่อไปเป็นฐานทางการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประดังเข้ามาอีก

ท่ามกลางความคลางแคลงใจของสังคม

การกำหนดให้ ส.ว.มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาพร้อมกับคำถามพ่วงในการทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ถือเป็นจุดแข็งอย่างแน่นอน

ถือเป็นมาตรการรุกใหญ่ในทางการเมือง

สร้างความมั่นใจเป็นอย่างสูงต่อความคิดในการสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปอย่างน้อยอีก 4 ปี

แต่คำถามมิได้อยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.เพียงกลุ่มเดียวสามารถตั้งได้ 250 ส.ว.

ขณะที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศกว่า 50 ล้านคนสามารถเลือกตัวแทนเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาได้เพียง 500 คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจยิ่งกว่า 50 ล้านคน

ขณะเดียวกัน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้ง 250 ส.ว.มาเพื่อให้มีอำนาจในการโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจะมิเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ละหรือ

นี่ละหรือ คือ “ธรรมาภิบาล” ที่บ่นท่องกันมาเกือบ 5 ปี

ไม่ว่ากรณีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่กระบวนการ “ดีเบต” ไม่ว่ากรณีการแต่งตั้ง 250 ส.ว.เพื่อไปเป็นฐานเสียงของตนในวุฒิสภา

ที่เคยคิดว่าเป็นแต้มต่อ ทำให้ได้เปรียบทางการเมือง

เมื่อสถานการณ์เข้าสู่โหมดแห่งการเลือกตั้ง มาตรการ “รุก” และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองกลับกลายเป็นประเด็นและนำไปสู่ความคลางแคลงกังขา

ที่มาดหมายว่าจะ “รุก” อาจกลายเป็น “รับ” ก็เป็นไปในทางการเมือง

จาก “ธนาธร” ฟีเวอร์ พวกเธอมองเห็นอะไร ?

ทันทีที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็น “หมู่บ้านกระสุนตก”
โดนทุกฝ่ายรุมถล่มอย่างหนัก
ไม่ว่าจะเป็น “เอนก เหล่าธรรมทัศน์-เสรี วงษ์มณฑา-นิติพงษ์ ห่อนาค”
และเพจต่างๆ ที่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับใครในแวดวงการเมือง ให้สรุปได้เลยว่าคนคนนี้กระแสดี มาแรง
ยิ่งมาแรงเท่าไร ยิ่งต้องเตะตัดขาหนักเท่านั้น
ปรากฏการณ์ “ธนาธร” เริ่มโดดเด่นชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไปงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
นิสิตนักศึกษากรี๊ด “ธนาธร” ถล่มทลาย
พร้อมกับวลีเด็ดที่ฮิตในหมู่วัยรุ่น
#ฟ้ารักพ่อ
และชัดเจนยิ่งขึ้นในการดีเบตเลือกตั้งที่ “ไทยรัฐทีวี”
“ทวิตเตอร์” ที่เป็นโซเชียลมีเดียหลักของคนอายุ 13-25 ปีในคืนนั้นมีแต่คำว่า “เลือกตั้ง 62”
ชนะ #The rapper
ยอดคนดูคลิป “ธนาธร” ที่พูดเรื่องความเป็นธรรมของรัฐธรรมนูญพุ่งสูงขึ้นถึง 5.1 ล้านวิวในเวลาแค่ 2 คืน
และล่าสุดเมื่อ “ธนาธร” เดินสายหาเสียงที่สยาม
เขาได้แปรเปลี่ยนคำว่า “ปรากฏการณ์” เป็น “ฟีเวอร์” ไปเรียบร้อยแล้ว
เด็กๆ ยืนรอเป็นชั่วโมง กรี๊ดสนั่นและคิวขอเซลฟี่ยาวเหยียด
เสียง “ฟ้ารักพ่อ” ดังกระหึ่ม
และกระแสนี้เริ่มขยายวงไปต่างจังหวัดแล้ว
อย่าลืมว่าคนอายุ 18-25 ปีมีจำนวน 8 ล้านคนหรือประมาณ 14% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
นั่นคือ เหตุผลที่ “ธนาธร” กลายเป็น “หมู่บ้านกระสุนตก” ในวันนี้
ในขณะเดียวกัน ประเด็นที่ไล่ถล่ม “ธนาธร” ไม่ว่าจะเป็น “ฟ้าเดียวกัน-หมอบกราบพระเจ้า-ไหว้ครู-การชุมนุมคนเสื้อแดง” และอื่นๆ อีกมากมาย
ถ้าเป็น “ทักษิณ” หรือนักการเมืองเก่าๆ กับกลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไปประเด็นนี้จะทรงพลังมาก
แต่สำหรับกลุ่มเป้าหมาย “เด็กรุ่นใหม่” ที่ “ฟีเวอร์ธนาธร” แบบ “ร็อกสตาร์” ไม่ใช่ “ป๊อปสตาร์”
ประเด็นเหล่านี้ไม่มีผลต่อความนิยม “ธนาธร” เลย
“ธนาธร” นั้นขายความเป็น “ขบถ” กล้าท้าทายกับความเชื่อเก่าๆ
ประเด็นที่โจมตี “ธนาธร” ยิ่งเสริมขับให้ความเป็น “ขบถ” ของเขาชัดเจนยิ่งขึ้น
ที่สำคัญ “มู้ดแอนด์โทน” ที่ใช้ในการโจมตีเป็นรูปแบบเก่า
เคร่งเครียด จริงจัง ดุ และโหด
ไม่ตรงกับ “จริต” ของ “เด็กรุ่นใหม่” ที่เน้นอารมณ์ขันแบบจิกกัด
นั่นคือ เหตุผลที่ “ระเบิด” ที่โยนใส่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
กลับกลายเป็นพลุส่องสว่างที่ทำให้ “ธนาธร” โดดเด่นยิ่งขึ้น

ส.ว.แกว่งไกว?

อย่างที่ทราบกัน
ส.ว. 250 คน มาจาก 3 ส่วน
ส่วนแรก คือ ส.ว.โดยตำแหน่งจำนวน 6 คน
ประกอบด้วยตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และปลัดกระทรวงกลาโหม
ส่วนที่สอง กลุ่มที่มาจากการเลือกกันเองในแต่ละสาขาอาชีพ
ขณะนี้ได้ 200 คนมาแล้ว รอให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือ 50 คน คาดจะรู้ผลประมาณเมษายน-พฤษภาคม 2562
ส่วนที่สาม มาจากการคัดเลือก โดย คสช.จะตั้งคณะกรรมการสรรหา จำนวน 9-12 คน เพื่อสรรหาบุคคลจำนวน 400 คน แล้วให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 194 คน
ตามไทม์ไลน์เดิม วันที่ 9 กุมภาพันธ์ จะได้ชื่อกรรมการสรรหา แต่เท่าที่ติดตาม ตอนนี้ยังเงียบ
อาจเป็นเพราะเลื่อนเลือกตั้งไป 24 มีนาคม
กก.สรรหา จึงอาจเลื่อนไปประกาศว่าใครเป็นบ้าง อีกเดือน คือมีนาคมเช่นกัน
ตอนนี้จึงต้องลุ้นกันต่อไป
หากพลิกดูแฟ้มข่าว “เก่า”
กรรมการสรรหา ส.ว.ที่จะคัดเลือก 400 ว่าที่สมาชิกวุฒิสภา ให้ คสช.เคาะเหลือจำนวน 194 คน
กลุ่มรายชื่อหลักๆ จะมาจาก
1. สายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
2. สายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.
3. สายของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทหารสายประจำการ
4. สายของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.
5. สายที่เคยทำงานให้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ซึ่งประกอบไปด้วย ด้านกลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มใน สนช.
ขอย้ำว่า นั่นเป็นข้อมูลเก่า
ตอนนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
โดยมีเสียงให้จับตาว่า จะมีกรณี “แผ่นดินไหว” อย่างกรณีเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่
ถ้ามี ก็อาจต้องตั้งโจทย์การเมืองใหม่เสริมเข้าไป
นั่นคือ คาดหมายที่ว่า 250 เสียงจะเป็น “ของในอวย” ของ พล.อ.ประยุทธ์คนเดียวนั้น
อาจไม่ใช่
บางทีจะต้องแบ่งสันปันส่วนไปยัง “ฝ่ายที่คาดไม่ถึง” ก็ได้
ส.ว.จึงอาจจะไม่ใช่คนของ คสช. แบบ 100% ก็ได้
นั่นเป็นโจทย์การเมือง ที่ต้องจับตามองต่อไป
แต่ที่สุด ถึงที่สุด ก็มีคนตั้งความหวังไว้สูงอยู่เหมือนเดิมว่า แม้ ส.ว.จะถูกแบ่งสันปันส่วนไปอย่างไร
แต่ 250 เสียงที่จะโหวตนายกฯ ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาดหมาย?!?

วงค์ ตาวัน | เพลงนี้ สะเทือนฝ่ายไหน ?

26 ก.พ.62 มติชน

อยู่ดีๆ ก็มีคนมากระตุกทั่วทั้งสังคมไทยให้หันมาสนใจศึกษาสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงเกิดเหตุ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการปลุกเพลง “หนักแผ่นดิน” ให้ฟื้นคืนชีพใหม่ ทั้งที่เพลงปลุกใจชาตินิยมเพลงนี้ หมดยุคไปนานแล้ว หลังจากสิ้นสุดสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้านเมืองเรา
แต่พอหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีก เลยทำให้ได้เห็นภาพความขัดแย้งในบ้านเมืองยุคขวาพิฆาตซ้าย
โดยเพลงแต่งขึ้นในช่วงปี 2518 ซึ่งเริ่มโหมกระแสกวาดล้างฝ่ายซ้ายในไทย ซึ่งหมายถึงขบวนการนักศึกษาประชาชนที่เติบโตอย่างมากในยุคนั้น
นับจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นการล้มรัฐบาลทหาร โดยการชุมนุมต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชน จากนั้นขบวนการก็ขยายตัว มีบทบาทสูงมากในสังคมไทย
ต่อมาในช่วงปี 2518 ยุคที่สงครามคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ร้อนระอุอย่างมาก หน่วยทหารสหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในหลายจังหวัดของไทย เป็นฐานในการเข้าช่วยเหลือรัฐบาลฝ่ายขวาในเวียดนาม กัมพูชา ลาว เพื่อสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ แต่สุดท้ายฝ่ายขวาพ่ายแพ้หมด พรรคคอมมิวนิสต์ใน 3 ประเทศดังกล่าว ได้รับชัยชนะ ยึดอำนาจรัฐสำเร็จ
รัฐบาลไทย กองทัพไทย และกองทัพสหรัฐ พากันหวาดผวาว่าไทยจะล้มเป็นประเทศต่อไปตามทฤษฎีโดมิโน่
แล้วก็เลยเพ่งเล็งขบวนการนักศึกษาประชาชน ซึ่งตีความว่าเป็นฝ่ายซ้าย และเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย
เพลงหนักแผ่นดินจึงเกิดขึ้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกพลังมวลชนฝ่ายขวา ออกมาต่อต้านฝ่ายนักศึกษา-ประชาชน แล้วลงเอยก็เกิดเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป้าหมายเพื่อกวาดล้างฝ่ายซ้ายให้หมดสิ้นไป!
ปกติแล้วเพลงปลุกใจรักชาตินั้นมีมากมายหลายเพลง
แต่เพลงหนักแผ่นดินจะเขียนเนื้อหาลงรายละเอียด เน้นๆ การโจมตีขบวนการนักศึกษาประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการที่เรียกกันว่าขวาพิฆาตซ้าย
จึงเห็นได้ว่า พอผ่านพ้นช่วงขัดแย้งซ้ายขวา จนกระทั่งสงครามคอมมิวนิสต์ในป่าสิ้นสุดลงราวปี 2525 จากนั้นมาเพลงหนักแผ่นดินก็ไม่ค่อยมีการเอามาเปิดฟังกันอีก เพราะต่างจากเพลงปลุกใจสร้างความรักชาติเพลงอื่นๆ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นนามธรรม ใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย ทำให้สามารถเอามาเปิดใช้ได้เรื่อยๆ
ที่ว่าเพลงหนักแผ่นดิน เขียนโดยมีรายละเอียดเจาะจง ได้แก่เนื้อหาที่ว่า “คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการ เกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา”
คำว่าปลุกระดม เป็นคำที่ใช้โจมตีศูนย์นิสิตนักศึกษาฯ บ่อยๆ ในสมัยนั้น
หรือคำว่าแพร่ลัทธิอันธพาล ต้องการกล่าวหาว่า มีการนำเอาลัทธิคอมมิวนิสต์มาเผยแพร่นั่นเอง!
การโหมเปิดเพลงนี้ในวิทยุเครือข่ายกองทัพบกช่วงปี 2518-2519 นั้น ทำควบคู่ไปกับการออกอากาศบทความ บทวิเคราะห์ ที่มุ่งทำให้สังคมไทยเกลียดชังขบวนการนักศึกษา-ประชาชน ซึ่งมีพิธีกรดังๆ หลายรายทำหน้าที่ในนามชมรมวิทยุเสรี ซึ่งมีสถานีวิทยุยานเกราะ ทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย
แต่เมื่อนำเพลงหนักแผ่นดิน มาใช้ถล่มใส่ฝ่ายซ้ายมากๆ ก็มีการตอบโต้กลับ โดยวงดนตรีเพื่อชีวิตของฝ่ายนักศึกษา นำเพลงนี้มาร้องบนเวทีชุมนุมบ่อยๆ เช่นเดียวกัน พร้อมกับอธิบายเนื้อหาของเพลงว่า จริงๆ แล้ว คนหนักแผ่นดินนั้นก็คือ ฝ่ายผู้มีอำนาจในขณะนั้นมากกว่า
โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “คนใดหลงชมชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง ได้สินทรัพย์เจือจานก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังญาติของมัน” หรือ”คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย แต่ยังฝังทำกิน กอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเป็นทาสของมัน”
เนื่องจากในช่วงนั้น ฝ่ายนักศึกษามีการเคลื่อนไหวต่อต้านอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาที่มีเหนือรัฐบาลไทยเรา อันเป็นยุคที่ยุทธศาสตร์โลกของสหรัฐ คือการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์
สหรัฐจึงเข้ามามีบทบาททั้งการเมืองและการทหาร ด้วยเลือกไทยเป็นศูนย์กลางในการหยุดอิทธิพลคอมมิวนิสต์
แต่พร้อมๆ กันกลุ่มทุนข้ามชาติของอเมริกัน ก็เข้ายึดสัมปทานมากมายในไทยด้วย จนมีการเคลื่อนไหวประท้วงบริษัทใหญ่ๆ ของสหรัฐที่เข้ามากอบโกยทรัพยากรไปจากบ้านเรา
มีการประท้วงของนักศึกษาทั้งขับไล่ฐานทัพสหรัฐออกไป ทั้งขับไล่กลุ่มทุนของสหรัฐด้วย
ฝ่ายนักศึกษาจึงนำเอาเพลงหนักแผ่นดินมาร้องมาเล่น เพื่อจะบอกว่า ผู้มีอำนาจนั่นเอง ที่ปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาครองไทยเป็นเหมือนเมืองขึ้น
ช่วงนั้นคนไทยเลยได้ฟังเพลงนี้ทั้งทางวิทยุกองทัพบก และได้ฟังดนตรีเพื่อชีวิตของนักศึกษาก็เอามาร้องเพื่อโต้ตอบสวนทาง
แต่หลังจากฝ่ายขวาใช้แผนสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ผลที่ตามมากลับทำให้นักศึกษาและประชาชน แห่กันเข้าป่าไปร่วมจับอาวุธต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ยิ่งทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ขยายไปทั่ว จนทำให้ฝ่ายรัฐจวนเจียนจะพ่ายแพ้อยู่เหมือนกัน
โชคยังดีที่เกิดความขัดแย้งในขบวนการคอมมิวนิสต์โลก ระหว่างจีนกับรัสเซีย ลุกลามไปมาถึงสงครามจีนบุกเวียดนาม แล้วเวียดนามก็เข้าไปล้มเขมรแดงในกัมพูชา
ส่งผลทำให้คอมมิวนิสต์ไทยระส่ำระสายไปด้วย
แล้วกองทัพไทยยุคใช้มันสมอง โดยบิ๊กจิ๋ว ชวลิต ยงใจยุทธ ผลักดันให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกฯ ออกคำสั่งที่ 66/23 ใช้การเมืองนำการทหาร เปิดทางให้นักศึกษาในป่า ที่กำลังเกิดความสับสนขัดแย้ง กลับคืนเมืองได้โดยไม่มีความผิดใดๆ
จากปี 2523 การสู้รบของคอมมิวนิสต์ก็แผ่วลง จนกระทั่งจบสิ้นในราวปี 2525
เพลงหนักแผ่นดิน จบสิ้นบทบาทไปนานแล้ว จนในสถานการณ์ที่กำลังจะเข้าสู่เลือกตั้ง 24 มีนาคม เมื่อนักการเมืองชูนโยบายหาเสียงจะตัดงบฯ การทหาร ทำเอาฝ่ายผู้นำกองทัพออกอาการหงุดหงิด นำมาสู่การโต้ตอบนักการเมือง ด้วยการปลุกเพลงหนักแผ่นดินขึ้นมาอีก
แต่ความที่ผู้นำกองทัพกับรัฐบาล คสช.เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วผู้นำ คสช.ก็เตรียมตัวจะเป็นนายกฯ ต่ออีกสมัยหลังเลือกตั้ง โดยมีการตั้งพรรคใหญ่โตมาขับเคลื่อนรองรับไว้แล้ว
ดังนั้น จึงกลายเป็นการเลือกตั้งที่สู้กันระหว่างขั้ว คสช. กับขั้วต่อต้าน คสช. และชนกับรัฐบาลทหาร อย่างชัดแจ้ง
ฝ่ายที่เรียกว่าเป็นพรรคประชาธิปไตย จึงเน้นหาเสียงพุ่งเป้าไปที่งบประมาณทหาร ทั้งเพื่อกระตุ้นประชาชนที่กำลังไม่พึงพอใจกับสภาพเศรษฐกิจยุคนี้ และทั้งเป็นการโชว์จุดยืนตรงข้ามกับพรรคการเมืองขั้วทหารที่แนบแน่นกับผู้นำทหารด้วย
เมื่อผู้นำกองทัพขยับออกมาโต้ ฝ่ายแกนนำ คสช.และพรรคขั้วนี้ก็ขยับออกมาโต้ไปพร้อมกันด้วย ยิ่งทำให้เห็นภาพชัดทั้งขบวน
เหล่านี้จะยิ่งทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิ์มองเห็นภาพของ 2 ฝ่ายในการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งนี้
เห็นภาพ 2 ขั้วชัดเจน เพื่อจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้น ทั้งในแง่การเมืองเรื่องประชาธิปไตยกับการเมืองแนวอนุรักษนิยม ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง กับงบประมาณด้านความมั่นคง
แล้วยิ่งถ้าเพลงหนักแผ่นดิน ทำให้คนส่วนใหญ่ได้รู้ย้อนไปถึงบทบาทช่วง 6 ตุลาคม 2519
เห็นภาพเก้าอี้ฟาดศพ และได้ฟังเพลงประเทศกูมีไปพร้อมกันด้วย
การปลุกเพลงหนักแผ่นดิน จะเกิดประโยชน์กับฝ่ายไหนมากกว่าในสถานการณ์เลือกตั้ง น่าจะพอเห็นได้!?!

E-DUANG : หลัง ประยุทธ์ งด”ดีเบต” พลังประชารัฐ โล่งหัวอก

เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดกระแสว่าด้วย “ดีเบต” เพื่อประชัน “วิสัยทัศน์” ทางการเมือง
คำตอบ 1 เป็นแรงสะเทือนจาก”ต่างประเทศ”
เพราะว่าการดีเบตได้กลายเป็น “ขนบ” หรือ “ธรรมนิยม” ของระบอบประชาธิปไตย
คำตอบ 1 เป็นความนิยมที่กำลังคึกคักอย่างยิ่ง
ไม่ว่าจะเป็น “มติชนทีวี” ไม่ว่าจะเป็น”ไทยรัฐทีวี” ไม่ว่าจะเป็น
“เวิร์กพอยท์ ทีวี” ล้วนมีการดีเบตและประชันวิสัยทัศน์
คำตอบ 1 จุดเน้นอย่างสำคัญก็คือ แคนดิเดตหรือ “ว่าที่”นายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคการเมือง
คำถามจึงพุ่งปลายหอกไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่เมื่อเป็นพรรคเพื่อไทยก็ต้อง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เมื่อเป็นพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชี วะ
เมื่อเป็นพรรคอนาคตใหม่ก็ต้องเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
แต่เมื่อเป็นพรรคพลังประชารัฐทำไมจึงกลับกลายเป็น นายอุตตม สาวนายน ทำไมจึงกลับกลายเป็น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ทำไมจึงมิใช่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ทั้งๆที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ แคนดิเดตนายกรัฐมน ตรีแต่เพียงหนึ่งเดียวของพรรคพลังประชารัฐ
ถนนทุกสายจึงถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เสียงท้าทายจึงดังกระหึ่มไม่ว่าจะจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าจะจาก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไม่ว่าจะจาก นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
แต่แล้วก็ได้รับการปฏิเสธจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คำปฏิเสธจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วตั้งแต่ นายวิษณุ เครืองาม ออกมาแจกแจง แต่ภายในพรรคพลังประชารัฐก็ถอนหายใจด้วยความโล่งอก
ไม่ว่า นายอุตตม สาวนายน ไม่ว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ไม่ว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไม่ว่า นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล
เพราะตระหนักดีว่าทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เดินสายและตระเวณพูดอยู่แล้ว
แม้ว่าจะพูดข้างเดียว พูดอยู่คนเดียว ก็ตาม
ที่มา มติชน
https://www.matichonweekly.com/e-daung/article_173829

“ซูเปอร์โพล” เปิดผลวิจัยก่อนโค้งสุดท้ายชี้ชัด “อนุทิน” คะแนนนิยมแคนดิเดตนายกพุ่งขึ้นที่ 1 ส่วนธนาธรเริ่มแผ่ว

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “เกาะกระแสแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” โดยได้ศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 6,183 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินการระหว่าง วันที่ 5 – 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.6 ติดตามข่าวสารช่วงเลือกตั้งบ่อย ๆ ในขณะที่ร้อยละ 24.1 ไม่บ่อย และร้อยละ 3.3 ไม่ติดตามเลย และเมื่อเปรียบเทียบความบ่อยในการติดตามข่าวสารช่วงเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวสารช่วงเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 50.6 ติดตามบ่อย ๆ ในครั้งที่ 1 (ต้นเดือนกุมภาพันธ์) มาอยู่ที่ ร้อยละ 72.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
ดร.นพดลกล่าวว่า ที่น่าสนใจคือ กระแสแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พบสัดส่วนของประชาชนที่ระบุกลุ่มคนที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอันดับที่ 1 ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล (ภูมิใจไทย) เพิ่มขึ้นจากครั้งที่ 1 ร้อยละ 31.9 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ ร้อยละ 53.5 ในการสำรวจครั้งล่าสุด คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 รองลงมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พลังประชารัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 คือจาก ร้อยละ 37.5 ในการสำรวจช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ ร้อยละ 58.9 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
ต่อมาคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ประชาธิปัตย์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 จาก ร้อยละ 35.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 56.1 นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (เพื่อไทย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 จากร้อยละ 39.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 59.5 ในขณะที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (เสรีรวมไทย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 จากร้อยละ 44.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.0 และที่น่าสังเกต คือการเปลี่ยนแปลงของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อนาคตใหม่) เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดคือ ร้อยละ 10.2 จากร้อยละ 44.8 ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ร้อยละ 55.0 ในการสำรวจครั้งล่าสุด ตามลำดับ
ดร.นพดลกล่าวว่า ผลวิเคราะห์เกาะติดกระแสแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีบางคน และการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มแผ่วช่วงจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของบางคนโดยพบว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกำลังมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สูงที่สุดโดยเกาะกลุ่มกันดังนี้คือ แคนดิเดตจาก พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ตามด้วย พรรคเพื่อไทย เสรีรวมไทย และ อนาคตใหม่ ตามลำดับ

ตึงเครียด! ทัพฟ้าปากีสถาน สอยเครื่องบินรบอินเดียร่วง 2 ลำ หลังเหตุคาร์บอมบ์-ถล่มฐานกลุ่มติดอาวุธ



วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 บีบีซี และเอเอฟพี รายงานว่า โฆษกกองทัพปากีสถาน แถลงว่ากองทัพปากีสถานได้ยิงเครื่องบินกองทัพอากาศอินเดียร่วงลง 2 ลำ บริเวณพื้นที่ความขัดแย้งในดินแดนแคชเมียร์ โดยเครื่องบินลำหนึ่งร่วงลงพื้นที่ในควบคุมของอินเดีย และอีกลำหนึ่งตกลงในพื้นที่ควบคุมของปากีสถาน ทำให้นักบินอินเดียถูกจับกุม 2 นาย นายหนึ่งถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล
แถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้น หลังมีรายงานว่า เครื่องบินกองทัพอากาศปากีสถาน รุกล้ำน่านฟ้าของอินเดียก่อนจะถูกผลักดันกลับไป
เหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างอินเดียและปากีสถานรอบใหม่ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. หลังเกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์พลีชีพ ทำให้คณะตำรวจของอินเดียเสียชีวิตอย่างน้อย 40 นาย ในดินแดนแคชเมียร์ ทำให้ทางการอินเดีย ส่งเครื่องบินรบเข้าโจมตีกลุ่มติดอาวุธที่อ้างความรับผิดชอบในระเบิดดังกล่าว ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่ของปากีสถาน
ขณะที่ทางการปากีสถานได้นำเครื่องบินออกปฏิบัติการโจมตีทางอากาศบริเวณพรมแดนอินเดีย-ปากีสถาน รวมไปถึงดินแดนแคชเมียร์ในควบคุมของอินเดีย โดยทางการปากีสถานระบุว่า ได้โจมตีทางอากาศเป้าหมายที่ไม่ใช่ทหาร และหลีกเลี่ยงความสูญเสียของประชาชน
“เราไม่ได้ต้องการเพิ่มความตึงเครียด และเราไม่ได้มุ่งให้เกิดสงคราม” พลตรี อาซิฟ กาฟูร์ โฆษกกองทัพปากีสถานกล่าว และเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียเปิดการเจรจา 
ทั้งนี้ ทั้งอินเดียและปากีสถาน ต่างอ้างสิทธิเหนือดินแดนแคชเมียร์ แต่ทั้งสองประเทศได้ควบคุมบางส่วนของดินแดนแคชเมียร์เท่านั้น

โล่เงิน | เช็กชื่อ บิ๊กเนม-โนเนมสีกากี ลงชิงเก้าอี้ ส.ส.เลือกตั้ง 2562



บรรยากาศทางการเมืองไทยในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อนแรงทะลุปรอท เมื่อแกนนำจากหลายพรรคการเมืองชูนโยบาย “เตะ” กองทัพ
เล่นเอา “บิ๊กท็อปบู๊ต” งัดซิงเกิลเก่าสมัยก่อนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 “เพลงหนักแผ่นดิน” ออกมาปลุกใจเหล่าทหารหาญ จนชาวบ้านตระหนกหวั่นใจจะมีปฏิวัติซ้อนก่อนเลือกตั้งใหญ่ 24 มีนาคม หรือไม่!!
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ครั้งนี้ ผู้ใฝ่ประชาธิปไตยรอคอยมานานหลังจากปฏิวัติรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในตอนนั้นเป็นผู้นำคณะ เมื่อพฤษภาคม 2557
คนไทยทั้งประเทศฟังเพลงประโลม ซิงเกิลฮิต “คืนความสุขให้ประเทศไทย” เพลงแรกของ คสช. ที่ท่อนสร้อยร้องว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา …เราจะทำอย่างซื่อตรง ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชน”
เพลงนี้ปลุกประโลมจนติดหูทั้งบ้านทั้งเมืองจวนจะห้าปี ใครเอาสาระกับเพลงปลุกประโลมนี้ คงหัวเสีย เพราะทอดเวลายึดอำนาจเกินกว่าคำว่านาน และสัญญาต่างๆ ก็เป็นเพียงเนื้อเพลงที่ครวญ
ปีที่ 5 หลังปฏิวัติ คสช. วันนี้ผู้นำ คสช.ประกาศตัวสู่รันเวย์ประชาธิปไตย “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐ ที่มีอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า
“บิ๊กตู่” ลงชิงชัยท่ามกลางเสียงวิพากษ์ตั้งคำถามจากนักประชาธิปไตยว่า “เกมเลือกตั้งครั้งนี้แฟร์?” เหตุกำเสียง ส.ว.ไว้ในมือ 250 เสียง สัดส่วนมากพอจะตีตราจองเก้าอี้นายกฯ คนต่อไปได้ไม่ยาก หากเสียงจากเก้าอี้ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐและพรรคพันธมิตรไม่ขี้เหร่จนเกินไป
นั่นเป็นข้อสังเกตในบรรยากาศการเมืองก่อนการเลือกตั้งใหญ่!!
ในสนามเลือกตั้ง 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ประกาศจำนวนผู้สมัคร ส.ส.จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 11,181 ราย แบบบัญชีรายชื่อ 2,917 ราย พรรคประชาธิปัตย์ครองแชมป์ส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ลงสมัครสูงสุด
เลือกตั้งครั้งนี้คึกคัก เหล่าสีกากีทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวนไม่น้อยตบเท้าขันอาสาเป็นผู้แทน สวมแจ๊กเก็ตพรรคการเมืองต่างกันไป
เช็กชื่อสีกากีบิ๊กเนม ผู้กว้างขวาง ที่อาสาตัวเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้
เช็กข้อมูล กกต. เริ่มที่คนแรก “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” อดีตนายตำรวจมือดี เป็นอดีตรองผู้บังคับการกองปราบปราม อดีตอธิบดีดีเอสไอ และอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 37 ซึ่งในวงการสีกากีรู้มือกันดี คนมากฝีมือ เติบโตและโดดเด่นในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย หลังปฏิวัติถูกลดบทบาททันที
เลือกตั้งครั้งนี้จับมือกลุ่มนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองผู้กว้างขวางในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้ พ.ต.อ.ทวีเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในนามพรรคประชาชาติ
อีกพรรคที่มีตำรวจเป็นแกนนำ “พรรคประชานิยม” พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย นรต.42 อดีตนายตำรวจผู้กว้างขวาง รู้จักกันดีในแวดวงสีกากี โดยเฉพาะผู้ที่คลุกวงในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ บ้างขนานนามเป็นล็อบบี้ยิสต์ชื่อดัง
ครั้งนี้ควงแขนอดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุงตำรวจ คนดัง พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ นรต.16 ลงเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรค เบอร์ 1 และเบอร์ 2 ตามลำดับ ชูนโยบายขึ้นป้ายแบบกระตุกเหงือกกองทัพ โดย พล.ต.ท.ยงยุทธ ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 ของพรรค
ขณะที่อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในนามพรรคเสรีรวมไทย
กลุ่มผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์และแบบแบ่งเขตนั้น สีกากีคนดังบิ๊กเนมหลายคนลงสนาม
พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ นรต.26 อดีตผู้การกองปราบฯ คนดัง ดีกรีอดีต ผอ.กองสลากฯ เลือกตั้งครั้งนี้ลงปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับที่ 47 พรรคไทยรักษาชาติ มี พล.ต.ต.คเชนทร์ คชพลายยุกต์ นรต.32 เกษียณในตำแหน่งรองผู้บัญชาการ เป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 63
อีกคนเป็นอดีตตำรวจที่ผันตัวเป็นนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชนมานาน ร.ต.อ.นิติภูมิ เนาวรัตน์ หรือ ร.ต.อ.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 5 พรรคประชาชาติ พรรคของนายวันนอร์ มีอดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ ลงปาร์ตี้ลิสต์พรรคเดียวกันในลำดับที่ 10 อดีต ผบช.ศชต.อีกคน พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 14
พรรคประชานิยม ที่มี พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนแรกของพรรค มีเหล่าสีกากีลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ใน 20 อันดับแรกมากกว่า 10 คน
พรรคเพื่อไทย มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ขณะที่ “สารวัตรเฉลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 6 พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์คนดัง ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 21 พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 28 มีอดีตนักสืบมือปราบชื่อดัง พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 32 พล.ต.ต.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ อยู่ในลำดับที่ 54 พล.ต.ต.ลัทธสัญญา เพียรสมภาร ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 69 พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธุ์ อดีตนายพลผู้กว้างขวางในชายแดนภาคใต้ ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 89 พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 83 ฯลฯ พรรคนี้สีกากีบิ๊กเนมตบเท้าเข้าปาร์ตี้ลิสต์เพียบ
พล.ต.ต.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ อดีต ผบช.ภ.8 ลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 35 พรรครวมพลังประชาชาติไทย พล.ต.ต.วิษณุ ม่วงแพรศรี ลงปาร์ตี้ลิสต์พรรคเสรีรวมไทย
พรรคอนาคตใหม่ มีอดีตผู้บังคับการกองปราบฯ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท ลงปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 31
ส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขต มี “เดอะแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตตำรวจมือปราบคนดัง ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์
ยกตัวอย่างบิ๊กเนม-โนเนมสีกากี พอเป็นตัวอย่าง หลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ต้องจับตาจะมีเหล่าสีกากีได้เก้าอี้นั่งในสภามาก-น้อยเพียงใด

'บิ๊กป้อม' Powerful คุมจัดโผ สภาสูง-ส.ว.ลากตั้ง



การได้มาซึ่ง "สภาสูง-สมาชิกวุฒิสภา" จำนวน 250 คน ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ให้ คสช.มีอำนาจพิจารณารายชื่อบุคคลมาเป็น ส.ว. จำนวน 244 คน เพราะอีก 6 คนจะเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง คือพวกผู้นำเหล่าทัพ-ผบ.ตร. คืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ เพราะการคลอด ส.ว.ชุดใหม่ต้องเดินควบคู่ไปกับวันเลือกตั้งและการรับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ที่สรุปสุดท้ายก็คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องนำรายชื่อทั้ง 259 คน ขึ้นทูลเกล้าฯถวายภายในไม่เกินสามวันนับจากวันประกาศผลรับรองการเลือกตั้ง ส.ส.
       ซึ่งถึงตอนนี้ อำนาจการพิจารณาทำโผ ส.ว.ชุดใหม่ที่ถูกเรียกขานทางการเมืองว่า "ส.ว.ลากตั้ง" อยู่ในมือ "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาสรรหาบุคคลมาเป็น ส.ว. อันเป็นกรรมการตาม รธน. ที่ให้มีจำนวน  9-12 คน แต่กรรมการชื่ออื่นๆ ทาง คสช.เลือกที่จะยังไม่เปิดเผยชื่อ แต่ทั้งหมดก็จะเห็นกันตอนวันประชุมนัดแรก 27 ก.พ.นี้
       ทั้งนี้ วุฒิสภาชุดแรกตาม รธน.ฉบับปัจจุบัน ตามบทเฉพาะกาลนอกจาก ส.ว.โดยตำแหน่งของพวกผู้นำเหล่าทัพแล้ว รธน.บัญญัติให้มีที่มาจากสองทาง
       1.มาจากชื่อที่คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งมาให้คสช. ซึ่งเป็นชื่อที่ กกต.ได้ดําเนินการจัดให้มีการเลือกส.ว. ที่เป็นการสมัครของบุคคลตามกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด จนมาถึงส่วนกลาง ที่ได้เลือกกันเหลือ 200 คน ไปเมื่อตอนปลายปีที่ผ่านมาแล้วส่งชื่อไป คสช.เรียบร้อยแล้ว โดยว่าที่ ส.ว.ชุดใหม่ในส่วนนี้ คสช.ต้องเลือกจาก 200 คน ให้เหลือไม่เกิน 50 คน และต้องทำชื่อในบัญชีสำรองไว้อีก  50 คน เผื่อไว้เช่นกรณีมีคนลาออก-เสียชีวิต
       2.ส.ว.ที่จะมาจากชื่อที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่มี พลเอกประวิตร เป็นประธาน คัดเลือกบุคคลจนได้ชื่อรวมไม่เกิน 400 คน  ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนด แล้วนํารายชื่อเสนอต่อ คสช. เพื่อเลือกให้เหลือ คน 194 ชื่อและทำชื่อในบัญชีสำรองอีก 50 คน รวมเป็น ส.ว.ชุดใหม่ทั้งสิ้น 250 ชื่อ เท่ากับจะมีชื่อในบัญชีสำรองรวมทั้งสิ้น 100 ชื่อ
       ที่น่าแปลกใจและหลายคนคาดไม่ถึง ก็คือท่าทีของ บิ๊กป้อม ที่บอกการทำโผ ส.ว.รอบนี้ จะไม่เอา "บิ๊กทหาร-ผู้นำเหล่าทัพ" ที่ยังรับราชการอยู่มาเป็นส.ว. อันถือเป็นเรื่องผิดความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ ทุกฝ่ายวิเคราะห์ว่าด้วยการที่ ส.ว.ชุดดังกล่าว จะอยู่ในตำแหน่งถึงห้าปีที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่คสช.จะหมดอำนาจ ที่สำคัญ ส.ว.ชุดนี้ จะมี "อำนาจพิเศษ" คือสามารถลงมติเลือก-เห็นชอบนายกรัฐมนตรีได้ เช่นเดียวกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยห้าปีดังกล่าว เท่ากับหากสภาอยู่ครบเทอมสี่ปีแล้วมีการเลือกตั้ง ก็เท่ากับ ส.ว.ชุดนี้จะสามารถโหวตเห็นชอบนายกฯ ได้ถึงสองครั้ง
       แต่การเมืองไทยมีความไม่แน่นอนสูง อายุของสภาส่วนใหญ่ก็ประมาณไม่เกิน 2-3 ปี จึงทำให้คาดกันว่า ส.ว.ลากตั้งชุดนี้อาจจะได้ร่วมโหวตเห็นชอบนายกฯ ได้อย่างน้อยก็อาจจะ 2-3 ครั้งเป็นอย่างต่ำ รวมถึงอำนาจอื่นๆ เช่น การตรวจสอบรัฐบาลว่าได้ปฏิรูปประเทศ และดําเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ ทำให้ ส.ว. 250 คนจึงเป็น "ฐานอำนาจการเมือง" ของ คสช.และเหล่าทัพ ในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างแท้จริง ที่จะใช้ ส.ว.ชุดนี้ ทำได้ทั้ง
     "ตั้งรัฐบาล-ล้มรัฐบาล"
       ดังนั้น จึงมีการมองก่อนหน้านี้ว่า สภาสูงชุดใหม่ น่าจะออกมาแนว "ท็อปบูตยึดเรียบ-กวาดหมด"  โดย คสช.จะเอาพวก บิ๊กทหาร ตั้งแต่ระดับคุมกองกำลัง-ผู้บังคับหน่วย ตั้งแต่ยศพลโทที่จะอยู่เป็นทหารอีกหลายปี เช่น แม่ทัพภาค มาเป็น ส.ว.ชุดใหม่หลายคน เพื่อให้ บิ๊ก คสช. สั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้สะดวกใจ แต่สุดท้ายผิดคาดเมื่อ บิ๊กป้อม-ประธานสรรหาฯส.ว. บอกจะไม่ตั้งบิ๊กทหารที่ยังรับราชการอยู่มาเป็นส.ว.
     “จะไม่เอาข้าราชการทหารที่ยังอยู่ในหน้าที่ เพราะเมื่อมีตำแหน่งอยู่จะไปเป็น ส.ว.ได้อย่างไร โดยเราจะคัดเลือก ส.ว.มาจากบุคคลทั่วไป“ พลเอกประวิตร 26 มีนาคม
       โดยมีรายงานว่า พลเอกประวิตร ได้เดินหน้าเรียกประชุมกรรมการสรรหาฯ โดยทันทีในพุธที่ 27 ก.พ. ที่กระทรวงกลาโหม เพื่อวางกรอบการคัดเลือกรายชื่อ ส.ว. โดยจะเริ่มจาก ส.ว. 50 คน ที่ กกต.ส่งชื่อมาก่อน ซึ่งแม้ยังไม่ชัดเจนว่ากรรมการสรรหา ส.ว.ชุดดังกล่าว คนอื่นๆ จะมีใครบ้าง แต่ก็มีกระแสข่าวในแวดวงการเมืองว่า ส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกขุมข่ายคสช.-บอร์ด คสช. อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรองหัวหน้า คสช., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และรองหัวหน้า คสช.,  วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, มีชัย ฤชุพันธุ์  สมาชิก คสช. อดีตประธานกรรมการร่าง รธน. เป็นต้น
       จึงต้องรอดูกันไปว่า สุดท้ายแล้ว รายชื่อว่าที่ ส.ว.ชุดใหม่ 250 คน ที่ คสช.เลือกออกมา จะมีหน้าตาอย่างไร โดยชื่อทั้งหมดจะออกมาหลังการเลือกตั้งไปอีกหลายวัน ซึ่งถึงตอนนั้น การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีความชัดเจนลงตัวระดับหนึ่งแล้ว
     หน้าที่สำคัญเรื่องแรกของ สภาสูง-ส.ว.ชุดใหม่ ก็คือการร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเห็นชอบรายชื่อนายกรัฐมนตรี ที่จะเป็นแมตช์วัดใจกันว่า ส.ว.ชุดใหม่ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จะมีท่าทีทางการเมืองในเรื่องนี้อย่างไร?
       คือหากสุดท้าย หลังเลือกตั้งจบลง โดยฝ่ายพรรค พลังประชารัฐที่เสนอชื่อ บิ๊กตู่ เป็นนายกฯ เกิดรวมเสียง ส.ส.หลังเลือกตั้งได้เกิน 250 เสียง แล้ว ส.ว. 250 คนโหวตเห็นชอบ บิ๊กตู่เป็นนายกฯ ก็คงไม่มีอะไรตามมา
       ทว่าหาก พรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. ที่นำโดย พรรคเพื่อไทย เกิดชนะเลือกตั้งแล้วรวมเสียง ส.ส. เกิน 250 เสียง จนเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ใช่ พลเอกประยุทธ์ ซึ่งเป็นคนนำชื่อ ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ถ้าเป็นกรณีเช่นนี้ แล้ว ส.ว.ทั้งหมด 250คนไม่โหวตเห็นชอบด้วย ก็คงทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมาก
       อำนาจพิเศษการร่วมโหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรีดังกล่าวในมือ ส.ว. ที่กำลังจะคลอดออกมาในอนาคต ทำให้แทบทุกพรรคการเมือง ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ ต้องออกมาตีกันให้ ส.ว.ต้องฟังเสียงประชาชนด้วย อย่างท่าทีของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ำว่า แม้ ส.ว.จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว.ควรดูเจตนารมณ์ของประชาชน
     “หากพลเอกประยุทธ์เห็นว่าหลักการนี้ถูกต้อง ควรสร้างความมั่นใจ ในฐานะที่เป็นรัฐบาลในขณะนี้ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้ง ว่าจะไม่ครอบงำ ส.ว. และควรบอกกับ ส.ว. ว่าให้ ส.ว.สนับสนุนใครก็ตามที่ประชาชนสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาล”
       การออกมาตีกันทางการเมืองกับ ส.ว.ชุดใหม่ในการโหวตเห็นชอบนายกฯ ดังกล่าว ทำให้ พลเอกประยุทธ์ ที่ในทางการเมืองก็รู้กันดีว่าคือคนที่จะพิจารณาโผ ส.ว.ชุดใหม่คนสุดท้าย ก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เรียกได้ว่า มีอำนาจเต็มในการจะตัดชื่อใครออกหรือใส่ชื่อเพิ่มใหม่ได้จนถึงนาทีสุดท้าย ต้องออกมาการันตีว่า อย่าเพิ่งปรามาสทางการเมืองส.ว.ชุดใหม่ ว่าจะต้องทำตามสิ่งที่ คสช.ต้องการทั้งหมด  
     "แม้ ส.ว.จะตั้งมาจากผม แต่ถามว่าจะดูถูกทั้ง 250 คนนี้หรือ เขาไม่มีสมองหรือ เขาไม่รักประเทศหรือ” พลเอกประยุทธ์ระบุก่อนมีการตั้งบิ๊กป้อมเป็นประธานกรรมการสรรหาฯ ส.ว.ชุดใหม่
       กระบวนการเลือก-ทำโผ ส.ว.ชุดใหม่ กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งเชื่อเถอะว่า เก้าอี้ ส.ว. ที่จะอยู่ในตำแหน่งห้าปี และเป็นตำแหน่งทางการเมือง ยังไงก็หนีไม่พ้นเรื่องของระบบพวกพ้อง-เส้นสาย-ระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง-การล็อบบี้ ทำนองใครใกล้ชิดใคร ใครไว้ใจใคร ก็ต้องดันคนนั้นมาเป็น ส.ว.ชุดใหม่
       ที่สำคัญ ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า คสช.ก็ย่อมต้องการวางฐานอำนาจทางการเมืองไว้ในสภาสูง จึงต้องตั้งคนของตัวเอง คนที่ไว้ใจไปเป็น ส.ว.
ด้วยเหตุนี้ เชื่อเถอะว่า นับจากนี้ การล็อบบี้ ระบบฝากฝังจากคนหลายกลุ่มในช่วงทำโผ ส.ว.ชุดใหม่ เกิดขึ้นแน่ และจะฝุ่นตลบไปอีกหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะแถวๆ บ้านพักบิ๊กป้อม พลเอกประวิตร และเครือข่ายคนใกล้ชิดพี่ใหญ่ คสช.