PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562

โกัสสถานการณ์ป่วนลากเข้าทางตัน


ย่างเข้าเมษายนเดือนแห่งความร้อนแล้ง

โดยเฉพาะภาคเหนือกำลังวิกฤติหนัก จากหมอกควันพิษเกินมาตรฐานระดับสีแดงเพราะไฟป่า

ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนต้องเผชิญปัญหาสุขภาพ โรคระบบทางเดินหายใจ ในสถานการณ์ที่กระเทือนถึงธุรกิจท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ห้างร้านเงียบไม่มีคนเดิน แขกยกเลิกจองที่พัก

ผวาภาวะหมอกควันพิษอยู่ในระดับอันตราย

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางวิกฤติก็มีข่าวน่าชื่นใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ อัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือที่กำลังประสบปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน

รวมทั้งทรงให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทนเสียสละ

วิกฤติควันพิษไฟป่าหน้าแล้งกำลังสร้างหายนะอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือ

ในสถานการณ์ที่ควันไฟจากชนวนการเมืองก็ลุกโขมง ตามปรากฏการณ์ที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาคำราม “สัญญาณพิเศษ”

ปล่อยวาทะร้อน “ซ้ายจัดดัดจริต”

อย่าคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พร้อมกันนั้น ผบ.ทบ.ยังเปิดคิวให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศประจำประเทศไทย ประกอบด้วย CNN, AFP, NHK, EPA, Japanese News Agency, ABC Australia, CNA Singapore ฯลฯ ประกาศจุดยืนกองทัพชัดให้รับรู้กันทั่วโลก

ยอมไม่ได้ให้คนไทยไปต่อสู้กันบนถนนอีก

ทุกคนต้องยอมรับกติกา คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 9 พฤษภาคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีพยายามควบคุมให้ทุกอย่างแฟร์

ส่วนจะแฟร์หรือไม่แฟร์อยู่ที่ตัวบุคคล เมื่อคนแพ้ไม่พอใจก็หาเรื่อง

เรื่องของเรื่อง โดยอาการ “เทกแอ็กชัน” แรงๆของจ่าฝูงกองทัพบกก็สอดคล้องต่อเนื่องกับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออก “สารนายกรัฐมนตรี” ขอให้ประชาชนร่วมใจกันปกป้องบ้านเมืองไม่ให้วุ่นวายอีก

ระบุชัด มีผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มใช้โซเชียลมีเดียบิดเบือนข้อเท็จจริง

และโดยจังหวะสถานการณ์ขยับออกตัวแรงๆของ “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กแดง” มันก็โยงกันพอดีกับปรากฏการณ์ทางกระแสควันหลงจากการเลือกตั้ง ที่พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ และแนวร่วมชิงแถลงจับขั้วจัดตั้งรัฐบาล

อ้างเสียงข้างมากเกินครึ่งสภา ภายหลังรู้ตัวเลข ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ

แต่ก็เป็นได้แค่ “รัฐบาลลม” เพราะตัวเลขไม่ชัวร์

นั่นก็ทำให้แรงกระแทกไหลไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลายเป็นตำบลกระสุนตก โดนรุมถล่มหนัก สารพัดข้อหา ทั้งบกพร่อง ตุกติก จัดเลือกตั้งไม่โปร่งใส

ประกาศผลเลือกตั้งไม่ทันใจพวกที่รอลุ้นจับขั้วรัฐบาล

โดยเฉพาะสถานการณ์ปลุกกระแสถอดถอน กกต.ในโซเชียลมีเดียที่ล้อไปกับการเคลื่อนไหวขององค์กรนิสิตนักศึกษาหลายสถาบันที่เคลื่อนไหวออกแถลงการณ์กดดัน กกต.

เล่นกระแสข่าวกันวันต่อวัน ลามต่อกันเป็นโดมิโน

ทั้งๆที่ไม่รู้ว่ากระบวนการโละ กกต.จะทำอย่างไร ที่สำคัญจะพานให้เลือกตั้งติดล็อกหรือไม่

และนั่นก็เข้าเหลี่ยมการเมืองขั้วตรงข้าม คสช. ฝั่งของพรรคเพื่อไทยที่พยายามแห่กระแส ชิงความชอบธรรมในการพลิกขั้วอำนาจ ชิงจัดตั้งรัฐบาลแข่งกับทีมหนุน “นายกฯลุงตู่”

ถ้าสู้ในเกมชิงตัวเลขไม่ได้ก็แห่ทุบ กกต. เพื่อลามถึงความ

ชอบธรรมของรัฐบาลพลังประชารัฐ

ภาพดูเหมือนกลุ่มอำนาจเก่าทีมดูไบ ได้โอกาสโหนนักศึกษารุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนมวลชนแทนแกนนำม็อบหน้าเก่าๆ ที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ

สำนึกบาป ติดคุกเข็ดหลาบกันหมดแล้ว

แนวโน้ม “นายใหญ่” เลยเต็มใจมอบธงให้แกนนำรุ่นใหม่อย่าง “ไพร่หมื่นล้าน” นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้า กับนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เป็นแกนขับเคลื่อนหลัก

แทนทีมคุมเกมมวลชนเก่าที่หมดกระแส ไม่เหลือสภาพการใช้งาน

สถานการณ์ค่อยๆชัดเจนขึ้นโดยอัตโนมัติ “ธนาธร–ปิยบุตร” คือหัวหอกฝ่ายต้าน คสช. ที่ “นายใหญ่” ถ่ายโอนสรรพกำลังในขุมข่ายพรรคเพื่อไทยให้เป็นแนวร่วมกองหนุน

ในห้วงที่เครือข่าย “ทักษิณ” โดนไล่ใกล้จนกระดานเต็มที

และนี่ก็เป็นเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงต้องขยับ รับมือกับจุดเสี่ยงของคนไม่มีอะไรจะเสีย ไม่มีหลักประกัน อะไรที่ไม่คาดคิด เกมป่วนไร้ทิศทางยากต่อการคาดหมาย

ประกอบกับ “ทัศนคติอันตราย” ของ “ธนาธร” กับ “ปิยบุตร”

หลักฐานชุดความคิดที่แสดงออกต่อสาธารณะในหลายช็อตหลายเวทีของหัวหอกพรรคอนาคตใหม่ในอดีตหมาดๆ มันมีเหตุให้รัฐบาล กองทัพ ตลอดจนประชาชนคนรักสถาบันพากันหวาดระแวง

สงครามแฝงของพวกล้มล้างการปกครอง

ประวัติศาสตร์การเมือง ไหนจะพวกอ่อนไหวต่อข้อมูลบิดเบือนโซเชียลมีเดีย

เสพข้อมูลแค่ 2-3 บรรทัดแล้วเชื่อทันที

โดยเฉพาะในห้วงบรรยากาศพระราชพิธีสำคัญ ทุกอย่างควรอยู่โหมดสงบ เพื่อโชว์ความสวยงามให้ทั่วโลกได้เห็นความยิ่งใหญ่ของโบราณราชประเพณี วัฒนธรรม ที่ยาวนานของประเทศไทย

ในรอบเกือบ 70 ปี บางคนชั่วชีวิตอาจได้เห็นแค่ครั้งเดียว

สัญญาณแรงๆของ “บิ๊กแดง” ก็คือการปรามให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบชั่วคราว

เรื่องของเรื่อง โดยเงื่อนไขสถานการณ์ในทางยาวๆ มันก็ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงถึงขั้นล้มเกมคว่ำกระดาน ถ้า กกต.สามารถเคลียร์ปมที่สังคมกังขา ไม่ให้ลามเป็นความไม่เชื่อมั่นต่อองค์กร

เข้าทางพวกจ้องจุดชนวน “น้ำผึ้งหยดเดียว”

ลุกเป็นไฟวิกฤติความขัดแย้งของสังคมรอบใหม่

แบบที่ล่าสุด กกต.ได้จัดให้มีการนับคะแนนและ ลงคะแนนใหม่ในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหา

หรือที่นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและอดีต กกต.ยืนยันภายหลังการหารือกับกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย กกต. กรณีการคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 วรรคท้าย

หลักคิดของรัฐธรรมนูญมุ่งให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย

ในชั้นกรรมาธิการยกร่างกฎหมายลูกได้นำตารางการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาพิจารณา ดูหมดว่าถ้ากรณีไม่มีโอเว่อร์แฮงก์จะทำอย่างไร หรือมีโอเว่อร์แฮงก์จะคิดคำนวณอย่างไร หากต้องประกาศ ส.ส.ที่ร้อยละ 95 เพื่อให้เปิดประชุมสภาได้จะคิดอย่างไร จนเขียนออกมาเป็น มาตรา 128 และมาตรา 129

ตารางการคำนวณมีอยู่หมดแล้ว โดยมาตรา 128 ให้ กกต.เป็นผู้คิด

และมีอยู่ “สูตรเดียว” เท่านั้น ส่วนกรณี 12 พรรคเล็ก ที่ได้ปาร์ตี้ลิสต์พรรคละ 1 คน อยู่ในสูตรที่มีอยู่ในกรรมาธิการฯ และมีปรากฏมานานแล้ว

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยืนยัน กกต.หารือกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถูกแล้ว อำนาจการตัดสินอยู่ที่ กกต. ถ้าใครไปฟ้องศาล ศาลวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจ กกต. ศาลก็จำหน่ายคดี

เป็นไปไม่ได้ที่มันจะตัน ปัญหาอยู่ที่เราคิดว่าเป็นทางออกที่คนเชื่อหรือไม่

สรุปถ้าทำใจเป็นกลาง ชั่งน้ำหนักข้อมูล ไม่ไหลตามเกมแห่ในโซเชียลฯ สถานการณ์มันจะไม่ลุกลาม

และตามรูปเกม โดยสถานการณ์จับขั้วจัดตั้งรัฐบาลก็พอจะมองเห็นภาพได้ ภายหลังฝั่งพรรคเพื่อไทยจับขั้วรวมเสียงได้แค่ “รัฐบาลลม” เพราะเสียงไม่ชัวร์

ระดับความชัวร์จึงไหลมาทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐมากกว่า

ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้จากเสียงต้นทุน 250 ส.ว. ขอแค่อีก 126 เสียง ส.ส.ก็โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตีตั๋วต่อนายกรัฐมนตรีได้

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ยึดแป้นนายกรัฐมนตรีได้ดุลอำนาจการเมืองก็จะเพิ่มตามสถานะ

จังหวะเอื้อกับสถานการณ์รวบรวมเสียงข้างมากในสภา โดยธรรมชาตินักการเมืองอาชีพใครก็อยากอยู่ฝั่งรัฐบาล แปะข้างฝาได้กับเสียงของพรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ในปีกของ กปปส. พรรคเล็กๆเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน

หรือมองโลกแง่ร้ายสุด “ลุงตู่” ยอมเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ถึงจังหวะยุบสภา

นั่นก็จะวัดใจนักเลือกตั้งอาชีพทุกยี่ห้อทุกป้อมค่าย ที่เพิ่งเหนื่อยรากเลือด เปลืองทุน เปลืองแรงกันมายังไม่ทันได้พักหายใจหายคอ จะต้องลงสนามกันใหม่

จับอาการว่าที่ ส.ส.เพื่อไทยที่ไม่ยอมลงชื่อในสัญญาลาออกถ้าขัดมติพรรค หรืออารมณ์ของลูกทีมอนาคตใหม่ที่รู้ดีว่าโอกาสถูกหวยเป็น ส.ส.ตามกระแสแค่รอบเดียว

แค่นี้ก็เดาทางได้ “งูเห่า” รอปากรู แทบไม่ต้องไล่ต้อน

ดูตามรูปการณ์ ตั้งสติมองทะลุฝุ่นควันที่ฟุ้งกระจาย

มันก็ไม่ได้มีอะไรซีเรียสซักเท่าไหร่ ในเมื่อถึงจุดที่รู้ตัวเลขชัวร์ๆ กกต.ก็คือคนถืออำนาจ โดยมีกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นตัวช่วยยืนยันเจตนารัฐธรรมนูญ

การจับขั้วตั้งรัฐบาลก็เดินหน้าได้ทันทีหลังพระราชพิธี

ตามคิวประกาศ ส.ส.ร้อยละ 95 เงื่อนไขสถานการณ์เข้าทางฝั่งพลังประชารัฐและแนวร่วมมากกว่า

โดยรูปการณ์ เมื่อมันยังมีทางออกโดยการเดินตามรัฐธรรมนูญอย่างชอบธรรม มีกฎหมายรองรับ ประเทศ

กำลังกลับเข้าสู่โหมดประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งตามโรดแม็ป

เว้นแต่พวกไม่ได้ผลอย่างใจ ไม่ยอมรับกติกา สร้างวาทกรรมเผด็จการโกง ไม่ยอมรับผลเลือกตั้ง

ป่วนกระดาน ลากเข้าทางตัน.

“ทีมการเมือง”



3 หมื่นคะแนนอาจได้ ส.ส. 'อนาคตใหม่' ปลิวไป 8 ที่นั่ง หลัง กกต.เปิดสูตรใช้แบบมีพรรคในสภา

'iLaw' เปิดความน่าจะเป็นของเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หลัง กกต. เคาะสูตรคำนวณที่นั่งแบบมีพรรคการเมือง 27 พรรคในสภา พรรคเล็ก 3 หมื่นคะแนนอาจได้ ส.ส. 'อนาคตใหม่' ปลิวไป 8 ที่นั่ง?
5 เม.ย.2562 มติชนออนไลน์ รายงานว่า ศูนย์ฏิบัติการด้านการข่าวสำนักงานกกต.ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีมีข้อสงสัยในการคำนวนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าสำนักงานกกต.ได้นำวิธีการคำนวณจำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128-129 ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมาเป็นแนวทางในการคำนวณจำนวนส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงานกกต. ได้ปรึกษาหารือและนำเสนอกกต.แต่ละท่านทราบเป็นเบื้องต้นแล้ว โดยตลอดมากกต.แต่ละท่านมีข้อคิดเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน 
ผลจากการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อโดยใช้ข้อมูลจากการประกาศผลการนับคะแนนของทุกเขตเลือกตั้งมาคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในเบื้องต้น มีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมือง สำนักงานกกต.ชี้แจงว่า “เป็นเพียงการคำนวณโดยใช้ผลคะแนนรายเขตเลือกตั้งที่สำนักงานกกต.ได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนี้หากผลจากการที่กกต.ได้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ผลคะแนนรวมของพรรคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปจะต้องนำคะแนนที่ได้รับมาใหม่มาคำนวณด้วยวิธีการเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จะดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ครั้งแรกก็ต่อเมื่อกกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95"ขณะที่ iLaw รายงานว่า สูตรการคำนวณดังกล่าวจะทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้มีพรรคการเมืองในสภาอย่างน้อย 27 พรรค และจะทำให้พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ‘ส.ส. 1 คนต่อประชาชน 71,065.2940 เสียง’ แต่กลับได้ที่นั่งไปโดยปริยาย ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 พรรค เช่น ประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ในขณะเดียวกันทำให้จำนวนที่นั่ง ส.ส. บางพรรคลดลง เช่น พรรคอนาคตใหม่ ที่หากคำนวฯจำนวน ส.ส. ที่พึงได้จะอยู่ที่ 88 ที่นั่ง แต่ด้วยสูตรคำนวณที่ กกต. ใช้ ทำให้ พรรคอนาคตใหม่ได้แค่ 80 ที่นั่ง เท่านั้น
สำหรับวิธีการคำนวณที่นั่งแบบที่ กกต. จะใช้ มีขั้นตอน ดังนี้ 
ขั้นตอนที่ 1 นำคะแนนเสียงรวมของทุกพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อมาหารด้วย 500 ซึ่งเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาค่าเฉลี่ยคะแนนเสียง ต่อ ส.ส. 1 คน (รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (1) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (1)) 
ขั้นตอนที่ 2 นำตัวเลข 'ค่าเฉลี่ยคะแนนเสียง ต่อ ส.ส. 1 คน' ไปหารคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับ ซึ่งตัวเลขที่ได้มา จะเรียกว่า "จำนวน ส.ส.พึงมี" (รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (2)) 
ขั้นตอนที่ 3 นำจำนวน ส.ส. พึงมี ของแต่ละพรรค ลบด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองได้ เพื่อหา จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น (รัฐธรรมนูญมาตรา 91 (3) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (3)) 
ขั้นตอนที่ 4 จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้นของทุกพรรคที่ส่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (พร้อมทศนิยมทั้ง 4 หลัก และไม่ตัดเอาเฉพาะพรรคที่ได้เสียงเกินค่าเฉลี่ยคะแนนเสียงต่อ ส.ส.หนึ่งคน หรือต้องได้เสียงอย่างน้อย 7.1 หมื่นเสียงออก) มาคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคได้เกิน 150 คน (Overhang) ให้เทียบบัญญัติไตรยางค์ใหม่อีกครั้งและหากได้เศษทศนิยม ก็ให้ใช้จำนวนเต็มก่อน หากยังมีที่ว่างค่อยใช้เศษทศนิยมภายหลัง 

สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

สำนักงาน กกต.ยึดสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทุกคะแนนมีค่า คาดไม่ต่ำกว่า 25 พรรคได้ ส.ส. - แค่ 3 หมื่นกว่าเสียงอาจได้เข้าสภา
ศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารชี้แจงกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับข้อสงสัยในการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีวิธีการคำนวณอย่างไร 
(5/4/62)สำนักงาน กกต.ขอชี้แจงว่า สำนักงานฯ ได้นำวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128-129 ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทุกคนมาเป็นแนวทางในการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในครั้งนี้
สำนักงาน กกต. ได้ปรึกษาหารือและนำเรียนกรรมการการเลือกตั้งแต่ละคนทราบเป็นเบื้องต้นแล้ว โดยตลอดมากรรมการการเลือกตั้งแต่ละคนมีข้อคิดเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ผลจากการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ โดยใช้ข้อมูลจากการประกาศผลการนับคะแนนของทุกเขตเลือกตั้งมาคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในเบื้องต้น มีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมือง
สำนักงานฯ ขอชี้แจงว่าเป็นเพียงการคำนวณโดยใช้ผลคะแนนรายเขตเลือกตั้งที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 หลังจากนี้หากผลจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้สั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้นแล้ว ผลคะแนนรวมของพรรคการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปจะต้องนำคะแนนที่ได้รับมาใหม่ มาคำนวณด้วยวิธีการเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จะดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95
ทั้งนี้การคำนวณด้วยวิธีการและเเนวคิดดังกล่าว อาจส่งผลให้พรรคเล็กที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่า 71,065 คะแนน ซึ่งเป็นเกณฑ์คะแนนของ ส.ส.พึงมีในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้รับเลือกเข้าสภา ซึ่งที่ผ่านมามีนักวิชาการและนักการเมืองบางพรรคเห็นว่าไม่น่าจะถูกต้อง

สูตร รบ.?

หากประยุทธ์ถอย
250 สว. อยู่เฉยๆ หรือโหวตได้อย่างอิสระ
สูตรการจัดตั้งรัฐบาลจะเปลี่ยนไป
การเมืองระบบรัฐสภาก็สามารถเดินหน้าไปได้
สูตรที่ 1 ขั้วเพื่อไทย+ภูมิใจไทย+พรรคเล็กพรรคน้อย+สว.บางส่วน=376 เสียง
สูตรที่ 2 เพื่อไทย+พปชร.+พรรคเล็กพรรคน้อย+สว.บางส่วน=376 เสียง
สูตรที่ 3 ให้ พปชร+รปช.+ปปร.เป็นฝ่ายค้าน รัฐบาล=378 เสียง โหวตเป็นรัฐบาลได้โดยไม่อาศัยเสียง สว.

“สุรชาติ บำรุงสุข” วิเคราะห์อนาคตประเทศไทยหลังเลือกตั้ง “… ผมกลัวว่าเราไม่ใช่แค่คนป่วยธรรมดา แต่อยู่ไอซียูที่ออกไม่ได้”

ประเทศไทยหลังการเลือกตั้งยังมองไม่เห็นหน้าตารัฐบาลใหม่ว่าเป็นอย่างไร มองไม่เห็นอนาคตประเทศว่าจะเดินไปในทิศทางไหน ผลของการเลือกตั้งที่มีปัญหาทำให้สังคมไทยยังขัดแย้ง แบ่งฝ่าย โจมตีทำลายกันในทางการเมืองไม่จบสิ้น
ในงานเสวนา “อนาคตการเมืองไทยหลังเลือกตั้ง” เนื่องในวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2562 เมื่อ 5 เมษายนที่ผ่านมา “ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมองโลกในแง่ดีว่า การเมืองไทยยังไปได้ และยังไม่ถึงตัน หากทุกฝ่ายเดินหน้าว่ากันไปตามกติกา เคารพเสียงของผู้อื่น
ที่สำคัญ ดร.ปริญญาชี้ว่า กกต.ต้องคำนวณสูตร ส.ส.ตามเจตนารมณ์ของประชาชน และควรประกาศผลเลือกตั้งให้ครบ 500 คนในวันที่ 9 พฤษภาคม อย่ากั๊กไว้แค่ 95% หรือ 475 คน เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหาตามมาอีกแน่นอน
เช่นเดียวกับ “ศ.วุฒิสาร ตันไชย” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่คาดหวังว่า ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลด้วยสูตรไหนก็ตาม สังคมไทยต้องยอมรับ ปล่อยให้กลไกรัฐสภาเดิน ให้รัฐบาลเดินหน้าทำงานบริหาร ไม่ต้องมีคนออกมาเชียร์ข้างถนน ไม่ต้องมีคนมาแบ็คอัพข้างหลัง อยู่ไม่ได้ก็ยุบ (สภา) เลือกตั้งใหม่ นี่คือกติกาที่ควรจะเป็น
ศ.วุฒิสารยังเห็นว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐบาลใหม่ต้องได้รับความคุ้มครอง คนเห็นต่างพูดได้ แสดงออกได้ เคารพความเห็นที่แตกต่างได้ ตามหลักสังคมประชาธิปไตย ส่วนรัฐธรรมนูญที่ถูกออกแบบมาแล้ว ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบต้องฟังก์ชัน ทำงานได้ ตรวจสอบได้ บนหลัก “นิติรัฐ”
“กลไกที่ถูกออกแบบไว้ต้องฟังก์ชันบนหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ต้องเคารพสิ่งนี้ เพราะนี่เป็นหลักเดียวที่สังคมจะอยู่ได้ คือหลักนิติรัฐ ผมคิดว่านี่คือหลักสุดท้ายของสังคมไทยที่จะอยู่ และจะทำให้สังคมประชาธิปไตยอยู่ได้หรือไม่ได้”
ส่วนโจทย์ใหญ่ที่สุดในการแก้ปัญหาทางการเมือง ศ.วุฒิสารระบุว่า คือการลดสภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมต้องถูกแก้ไข การแก้ความเหลื่อมล้ำต้องเกิดได้จริง

ไทยอาจไม่ใช่คนป่วยธรรมดา แต่อยู่ห้องไอซียูที่ออกไม่ได้

ด้าน “ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ให้เห็นภาพว่า การเมืองไทยยังอยู่ในสภาวะมีปัญหาเสถียรภาพ ไม่แน่นอน แต่โลกล้อมไทยอยู่ นั่นคืออาเซียนรอเราอยู่ เพราะยังไม่มีประธานอาเซียน คำถามก็คือ หากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประเทศไทยจะเอาอย่างไร ตอบอย่างไรกับสังคมโลก
“โดยสถานะ ถึงคิวประเทศไทย ที่นายกรัฐมนตรีไทยต้องเป็นประธานอาเซียน แต่วันนี้อาเซียนนั่งรอเรา แล้วไม่ใช่นั่งรออย่างเดียว เพราะอาเซียนประชุมเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคมจะมีการประชุมจี 20 ประธานอาเซียนต้องไป แต่ถ้าสมมุติมิถุนา เข้ากรกฎา ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ตกลงจะยังไง”
“ก็แปลว่าภาพลักษณ์เราในเวทีระหว่างประเทศที่ผมพูดมาตั้งแต่ปี 2552-2553 ว่าเป็นคนป่วย ผมกลัวอย่างเดียวนะครับ เรากลายเป็นไม่ใช่แค่คนป่วยธรรมดา แต่อยู่ห้องไอซียูที่ออกไม่ได้ แล้วก็ไม่ยอมออกด้วย” ดร.สุรชาติกล่าว
นักวิชาการรัฐศาสตร์กล่าวว่า เราหวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นทุกอย่าง จะเป็นปัจจัยที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจด้านบวก มีการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นกุญแจทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทำให้เกิดเสถียรภาพ เกิดความแน่นอนทั้งกับนักลงทุนและกับการเมืองภายในบ้าน แต่เอาเข้าจริง ดูเหมือนอาจจะผิดทุกอย่าง
ต้องไม่ลืมว่าในประวัติศาสตร์การเมืองไทย การเลือกตั้งเป็นกุญแจดอกใหญ่ รัฐประหารเป็นเหมือนปุ่มบนแป้นคอมพิวเตอร์ พูดง่ายๆ รัฐประหารคือปุ่มรีเซ็ต พอท่านกดปึ๊บ ทุกอย่างที่อยู่ในจอคอมพ์ก็หาย แล้วเราก็ตั้งหลักกันใหม่ แล้วเราก็หวังว่าการเลือกตั้งจะเป็นจุดเริ่มต้น
“แต่วันนี้มันเริ่มไม่เป็นอย่างนั้น แปลว่าสังคมไทยในอนาคตที่เรากำลังจะเผชิญ ความไร้เสถียรภาพและความไม่แน่นอน อาจจะมากกว่าที่เราคิด”
ดร.สุรชาติชวนตั้งข้อสังเกตว่า กฎกติกาทางการเมืองในปัจจุบันออกแบบมาเพื่อคนคนเดียว คือ “เพื่อตู่” หรือไม่ หากเป็นอย่างนั้น อนาคตการเมืองไทยจะยังไร้เสถียรภาพและคาดเดาไม่ได้ แต่เห็นว่ามี 3 ช่องที่จะจบสภาวะแบบนี้ได้ คือ 1. ศาล 2. ชุมนุม และ 3. ยึด (อำนาจ) แต่ช่องสุดท้ายเป็นอะไรที่ไม่อยากเห็น เพราะยึดแล้วการเมืองไทยยิ่งเลวร้ายลงแน่ๆ และไทยจะอธิบายกับโลกไม่ได้
“หรือในกรอบที่เล็กที่สุด สิ่งที่ผมเคยพูดมาตลอดคือ ไม่มีใครอยากเห็นประธานอาเซียนมาจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร นี่คือโจทย์ใหญ่อันหนึ่ง ฉะนั้นใน 3 หนทางนี้ แน่นอนว่าเราอยากเห็นหนทางที่สันติที่สุด เพราะน่าจะเป็นอะไรที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตของการเมืองไทย”
ศ. ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พื้นที่การเมืองคนรุ่นใหม่ ในโลกไซเบอร์

ทั้งนี้ ดร.สุรชาติ ยังมองโจทย์อนาคตประเทศไทยไว้หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น เรื่องพื้นที่ทางการเมืองใหม่ สำหรับคนรุ่นใหม่ “…พื้นที่ใหม่ที่อาจจะไม่ใช่สำหรับคนรุ่นผมแล้ว ปัจจุบันไซเบอร์เป็นพื้นที่ใหญ่มาก ซึ่งพื้นที่ชุดนี้น่าสนใจ เพราะมีการนำการเมืองใส่เข้าไปในพื้นที่ไซเบอร์ด้วย เอาความมั่นคงใส่เข้าไปด้วย”
แปลว่าเวลาเราพูดถึง fake news ข่าวมั่ว ข่าวปลอม ข่าวปลุกทั้งหลาย มันถูกสร้างมากอยู่ในพื้นที่ไซเบอร์ โดยไม่มีการตรวจสอบข่าว แล้วเมื่อไหร่ที่นั่งเสพไปเรื่อยๆ จะเกิดอาการเชื่อโดยไม่มีข้อสงสัย ในบริบทของคนทำงานความมั่นคงอย่างพวกผม พวกที่เสพชุดอย่างนี้ส่วนหนึ่ง สุดท้ายหากมองในโจทย์ความมั่นคง มันสามารถกลายเป็นผู้ก่อการร้ายได้
“ผมเรียกว่าเป็นพวกที่ ‘อ่านแล้วอิน’ หรืออ่านไปเรื่อยๆ จนอิน แล้วเปลี่ยนตัวจากคนอ่าน กลายไปเป็นผู้ปฏิบัติการ ฉะนั้นในโลกไซเบอร์ วันนี้เราเห็นตัวแบบของโจทย์ใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่จะต้องคิดถึงในอนาคต”
ดร.สุรชาติเปรียบเทียบปรากฏการณ์ “อาหรับสปริง” ปี 2011 กับประเทศไทยในปัจจุบันว่า มีความคล้ายคลึงกัน “..กรุงเทพฯ เปรียบกับกรุงไคโร มันมีภาพคล้ายกัน ในไคโรเราเห็นปรากฏการณ์สามส่วน เห็นความใหม่สามส่วน คือ 1. เห็นคนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้กับรัฐบาลทหารของอียิปต์ 2. การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ใช้เครื่องมือสื่อสารชุดใหม่ คือเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ในบริบทอย่างนี้ มันเกิดพื้นที่ใหม่ในทางการเมือง คือ 3. “พื้นที่การเมืองที่เป็นไซเบอร์”
“เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ การสื่อสารใหม่ พื้นที่ใหม่ มันนำไปสู่การเมืองชุดใหม่ แน่นอนอียิปต์อาจจะมีอาหรับสปริง ซึ่งผมคิดว่าอาการอาหรับสปริงเราเห็นที่กรุงเทพฯ คนรุ่นใหม่ การสื่อสารใหม่ และพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ที่นำไปสู่การเมืองชุดใหม่ กำลังเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ไม่ต่างกัน เว้นแต่รอบนี้อาจจะไปไม่ถึงอาหรับสปริงแบบที่ไคโร แต่อย่างน้อยเราเห็นภาพที่พอจะเปรียบเทียบได้”

บทบาท “ทหาร” กับการเมืองไทย

ประเด็นต่อมา ดร.สุรชาติกล่าวถึง “บทบาททหารกับการเมือง” โดยระบุว่า ผมคิดว่าเรื่องเดิมที่พูดคือบทบาททหารต้องมีคำตอบแล้วว่า สังคมไทยคิดอย่างไรกับกองทัพ ผมไม่แน่ใจว่าเราควรทำประชามติมั้ย กองทัพควรมีบทบาททางการเมืองมั้ย เป็นต้น
อย่างน้อย ผมคิดว่าเราเห็นบทบาททหารมานาน แล้วต้องตั้งคำถาม เพราะต้องไม่ลืมว่าระบบประชาธิปไตย “กองทัพเป็นกลไกของรัฐ กองทัพไม่ใช่รัฐ” สถาบันหลักทางการเมืองในความหมายทั้งทางนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์คือฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ
ยกเว้นเราจะบอกว่าประเทศไทยจะออกแบบใหม่ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ และกองทัพ ถ้าคิดอย่างนั้น ก็ต้องคิดกันอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นบทบาทส่วนนี้เป็นอะไรที่ต้องถามกันต่อ ซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องโจทย์ “ปฏิรูปกองทัพ” ที่เริ่มมีการเรียกร้องและเป็นกระแส
“ไม่ว่าวันนี้ใครจะตั้งรัฐบาล แต่เห็นตัวเลขของพรรคบางพรรค พูดตรงๆ คือเมื่อพรรคอนาคตใหม่เข้าไปเป็น ส.ส.ในสภา กระแสชุดนี้อยู่ในสภาแน่ๆ แล้วกระแสชุดนี้น่าสนใจ เพราะเวลาไปถามคนรุ่นใหม่ เช่น เวลาสื่อไปถามว่าอยากเกณฑ์ทหารมั้ย คนไม่อยากเกณฑ์ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ต้องออกแบบกองทัพกันใหม่”
“ผมคิดว่าต้องมองเรื่องนี้ด้วยความจริงจัง มากกว่าที่เราจะคิดว่ามันเป็นกระแส แต่ต้องคิดว่า แล้วรูปแบบกองทัพสมัยใหม่ของไทยในอนาคต เราจะออกแบบอย่างไร นั่นหมายความว่าโจทย์เรื่องการปฏิรูปกองทัพเป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ”

ไทยต้องพาตัวเองออกจากหล่มลึกทางการเมือง

ดร.สุรชาติกล่าวด้วยว่า ผมคิดว่าวันนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอยู่พอสมควรว่า โจทย์ที่เราพูดถึง มันคงต้องออกแบบกติกากันใหม่ แต่ปัญหาคือ อำนาจอยู่ตรงไหนในการที่จะทำให้การออกแบบใหม่มันเกิดขึ้นได้
ทุกคนคาดหวังว่าถ้าอย่างนั้นแก้รัฐธรรมนูญมั้ย อีกปีกหนึ่งก็บอกไม่มีทาง ไม่ให้แตะ เป็นต้น แต่ผมเชื่อว่าเราเห็นกติกาที่มีปัญหา แล้วรู้ว่ากติกานี้กำลังสร้างปัญหาให้กับประเทศไทย ไม่ใช่กับการเมืองไทยเท่านั้น แต่กติกาที่ท่านเห็นชุดนี้ทั้งหมด เป็นการออกแบบเพื่อทำให้ประเทศไทยติดหล่ม เรากำลังติดหล่มอยู่กับตัวเอง แล้วพาตัวเองขึ้นจากหล่มชุดนี้ไม่ได้ หล่มทางการเมืองชุดนี้ลึก พาตัวเราเข้าไปติด
ในขณะที่วันนี้ประเทศเพื่อนบ้านในกรอบอาเซียนเติบโตขึ้น หลายครั้งเรานั่งมองเพื่อนบ้านมีปัญหา เห็นเพื่อนบ้านเป็นคนป่วย ในอดีตคำว่าคนป่วยแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นคือฟิลิปปินส์ แต่หลายปีแล้วที่ผู้นำฟิลิปปินส์ประกาศว่าเขาออกจากห้องป่วยแล้ว นั่นหมายความว่า วันนี้เราเริ่มเห็นการเติบโตของเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม
“ถ้าเป็นอย่างนี้ ต้องคิดที่จะทำให้การเมืองกลับสู่ภาวะปกติ แปลว่ารัฐบาลต้องเป็นรัฐบาล สภาต้องเป็นสภา ศาลต้องเป็นศาล และสุดท้ายสำคัญที่สุด กองทัพต้องเป็นกองทัพ เราจะไม่มีอะไรที่เกินเลยไปจากเงื่อนไขปกติ เพราะฉะนั้นประเด็นเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ต้องคิด”

“เศรษฐกิจ-ความมั่นคง-ต่างประเทศ” โจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่

ประเด็นถัดมาคือ “โจทย์เศรษฐกิจ” ดร.สุรชาติระบุโดยตั้งข้อสังเกตุว่า การเมืองไทยวันนี้เลยเรื่องเหลืองแดงไปพอสมควรแล้ว พลังขับเคลื่อนทั้งเหลืองทั้งแดงไม่ใช่บริบทหลัก โจทย์ใหญ่ที่มาสลายสีเสื้อได้แต่ยังพูดกันน้อยมากในสังคมไทยคือโจทย์เศรษฐกิจ
วันนี้หลายท่านอาจกำลังเห็นรูปแบบของ “การประท้วงชุดใหม่ของโลก” ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส คือการประท้วงของคนใส่ “เสื้อแจ็คเก็ตเหลือง” ไม่ใช่เสื้อเหลืองกรุงเทพฯ คนละมิติกัน แต่แจ็คเก็ตเหลืองที่ฝรั่งเศส เปิดการประท้วงทุกวันเสาร์ ซึ่งน่าสนใจ เพราะไม่ได้มาจากโจทย์การเมือง แต่มาจากโจทย์เศรษฐกิจ เป็นการประท้วงแบบแกนนอน คือไม่มีแกนนำ โพสต์กันในไซเบอร์ ในเว็บไซต์ มีปัญหาเหมือนกัน แล้วออกมาประท้วงร่วมกัน
“ตัวแบบของแจ็คเก็ตสีเหลืองในฝรั่งเศสระบาดในยุโรปแล้ว และเข้าเอเชียแล้วในบางประเทศ ในอนาคตการประท้วงไทย ถ้าสีเสื้อสลาย โจทย์เศรษฐกิจชุดนี้จะก่อให้เกิดเสื้อแจ็คเก็ตสีเหลืองในอนาคตของสังคมไทย”
ดร.สุรชาติกล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์เราพูดแต่การเลือกตั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลไทยชุดข้างหน้าจะมีโจทย์เศรษฐกิจ โจทย์ความมั่นคง และโจทย์นโยบายต่างประเทศ เป็นปัญหาความท้าทายใหญ่ นอกจากโจทย์การเมืองภายในประเทศ วันนี้เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในเอเชีย กำลังเผชิญกับการต่อสู้ของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จีนกำลังแสดงอิทธิพลในภูมิภาคเรา ผู้นำไทยต้องตอบในเชิงนโยบาย
“ผมไม่ได้บอกว่าเราจะต้องเลือกข้างระหว่างปักกิ่งหรือวอชิงตัน ในอนาคตไทยไม่มีสิทธิ์เลือกข้าง แต่ไทยจะต้องยืนอยู่ให้ได้ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน แต่ต้องไม่ยืนเป็นเพียงหญ้าแพรก ที่ช้างสารใหญ่สองตัวกำลังทะเลาะกัน แล้วเราตายภายใต้รอยเหยียบของเท้าช้าง”
สงครามการค้าชุดนี้  ในโลกาภิวัตน์ เราเป็นห่วงโซ่ของการเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยต้องตระหนักว่าเราต้องค้าและต้องอยู่ได้ทั้งกับจีนและอเมริกา
“โจทย์ความมั่นคงเช่นเดียวกัน เราจะไม่แปรกองทัพไทยเป็นกองทัพจีน ภายใต้การซื้ออาวุธอย่างที่เห็น แต่ต้องคิดมากกว่าสิ่งที่เราเห็น รวมทั้งโจทย์ชุดหนึ่งที่ต้องคิดต่อคือ เรื่องรถไฟความเร็วสูง ว่าจะเอาอย่างไร”
“เราจะเชื่อมต่อกับ 1 แถบ 1 เส้นทางของจีนมั้ย รวมถึงโจทย์ใหญ่ที่สุด คือตกลงจะยอมให้จีนตัดช่องแคบมะละกาหรือไม่ จะยอมตัดช่องแคบมะละกาภายใต้การเปิดเส้นทางการเดินเรือของจีนหรือไม่”

ออกแบบ “การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองใหม่”  ไม่ซ้ำรอยอดีต

ดร.สุรชาติยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยต้องคิดใหม่ใน 2 เรื่องคือ 1. การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และ 2. กระบวนการสร้างประชาธิปไตย โจทย์ชุดนี้ต้องคิดอนาคต และต้องออกแบบอนาคต หรืออย่างน้อยต้องเป็นหลักประกันให้กับคนรุ่นหลังว่า “การเมืองไทยจะไม่หวนคืนสู่การติดหล่มแบบยุคปัจจุบัน”
คงต้องคิดแล้วว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของไทยอาจจะต้องมียุทธศาสตร์ประชาธิปไตย คนรุ่นผมที่ผ่าน 14 ตุลา 2516 ผ่าน 6 ตุลา 2519 คนรุ่นอาจารย์ปริญญา ผ่านพฤษภาปี 2535 ไม่อยากเห็นโจทย์ย้อนกลับสู่โลกอดีตของการเมืองไทย เพราะมันไม่ตอบอะไรเลย
แล้วสุดท้ายผมคิดว่าสังคมไทยต้องมองการเมืองไทยด้วย “ความหวัง”และ “ความอดทน” อย่ามองการเมืองด้วยความหดหู่ การเมืองมีอนาคตเสมอ
ผมพูดภาษาโรแมนติก เปรียบเทียบกับโลกในอาหรับ “ไม่มีปีไหนที่ฤดูใบไม้ผลิไม่มา อาจจะมาช้าบ้าง ฤดูใบไม้ผลิมาเสมอ” ผมยังมีความหวังที่จะเห็นฤดูใบไม้ผลิเบ่งบานที่กรุงเทพฯ เฉกเช่นเดียวกับที่ผมเชื่อว่า วันนี้ต้องอดทนกับการเมืองไทย และต้องสู้ในระบบ
“หวังอย่างเดียวว่า คนอีกปีกหนึ่งจะยอมรับการต่อสู้แบบในระบบ เราจะไม่เป็น Bangkok Shutdown เพราะไม่เป็นประโยชน์ และเราก็จะไม่มีรัฐประหาร เพราะไม่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเงื่อนไขอย่างนั้นเกิดขึ้น ผมคิดว่าต้องคิดต่อ ถ้าจะพาประเทศไทยกลับสู่มิติขวาจัดแบบเดิม ผมว่าชีวิตคนรุ่นใหม่ไม่ตอบรับ”
หลายท่านในที่นี้เป็นอาจารย์ทราบดีว่า ลูกศิษย์เราเป็นคนอีกชุดหนึ่ง มีความคิดอีกแบบหนึ่ง การต่อสู้ในอนาคต สำหรับคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่ามันกำลังเปิดโจทย์ชุดใหม่ เหมือนอย่างที่เราเคยเห็นในโลกอาหรับ
แม้ว่าอาหรับจะเผชิญผลพวงในกรณีของอียิปต์ หลังจากนั้นชัยชนะก็ถูกโค่นล้มโดยฝั่งทหาร แต่วันนี้ผมคิดว่าสังคมไทยผ่านรัฐบาลทหารมามากพอสมควร และพิสูจน์ขีดความสามารถของรัฐบาลทหาร ถ้า 5 ปี คสช.ประสบความสำเร็จ วันนี้การเลือกตั้งคงไม่ต้องประท้วง เพราะ พปชร.จะชนะ
“แต่ใน 5 ปีที่ผ่านมา ผมไม่พูดว่าการเมืองล้มเหลวแค่ไหน แต่ผมคิดว่าโจทย์เศรษฐกิจที่ล้มเหลว มันนำไปสู่เรื่องข้อถกเถียงหลายอย่าง”
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดตอนนี้มีอย่างเดียว เข็ดขัดอาจจะสั้น (คาดไม่ถึง) แต่เราก็หวังว่าทุกอย่างมันจะอยู่ในกฎ กติกา และอาจจะต้องเติมคำว่ามารยาท เข้าไปด้วย เพราะถ้าไม่มีมารยาทการเมืองก็มีปัญหาอีกแบบหนึ่ง
ที่สำคัญ ภายใต้ความตื่นตัวทางการเมืองของคนในหลายอายุ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ๆ ผมคิดว่า ถ้าเรามองโจทย์อย่างนี้ ต้องมีความหวังว่า ความตื่นตัว ความสนใจทางการเมืองทั้งหลาย จะเป็นปัจจัยที่พาเราก้าวข้ามปัญหาต่างๆ
“อย่างน้อยผมเชื่อว่า เราเห็นมิติจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า สีเสื้อสลายลงไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นในอนาคต เหลืออย่างเดียวแล้วครับ คือเห็นอนาคตที่จะพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้าร่วมกัน” ดร.สุรชาติสรุปทิ้งท้าย

ตีความ ผลเลือกตั้ง ทางสองแพร่ง ทางตัน-ทางรอด

ตีความ ผลเลือกตั้ง ทางสองแพร่ง ทางตัน-ทางรอด



การเลือกตั้งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม แต่ผลการเลือกตั้งยังคงกลายเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

เมื่อปรากฏว่า ส.ส.ระบบเขตจาก 350 เขตทั่วประเทศ พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกตั้งไป 137 คนสูงเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.ระบบเขต 97 คน

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส.เขตมากที่สุดกลับมีคะแนนรวมของพรรคน้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐ

ปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลก็ระเบิดขึ้น

เมื่อพรรคพลังประชารัฐยกเอาเสียง “ป๊อปปูลาร์โหวต” เป็นเหตุผลในการรวบรวมพรรคการเมืองอื่นๆ
แต่พรรคเพื่อไทยไม่ยอม พรรคเพื่อไทยชูเอาจำนวน ส.ส.เขตที่ได้มากที่สุดเป็นความชอบธรรม

ทั้งสองพรรคมีเป้าหมายที่จำนวน ส.ส.เกิน 250 คน

นั่นคือรวบรวม ส.ส.ได้ 251 คนขึ้นไป

ต่อมาพรรคเพื่อไทยโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรค พร้อมด้วยแกนนำพรรคอื่นๆ ประกอบด้วยพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทยพรรคประชาชาติ พรรค เพื่อชาติ พรรคปวงชนไทย ประกาศร่วมกันคัดค้านการสืบทอดอำนาจ

หมายความว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแน่

ทั้งนี้ ทางขั้วเพื่อไทยได้รวมเอาพรรคเศรษฐกิจใหม่ของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ที่ประกาศก่อนหน้านี้ว่าร่วมหัวจมท้ายกับฟากฝั่งคัดค้านการสืบทอดอำนาจด้วย

แต่ในวันนั้นนายมิ่งขวัญไม่ได้ไปร่วม และประกาศให้รอฟังผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ กกต.ต้องประกาศผลเลือกตั้งก่อน

อย่างไรก็ตาม ตามตัวเลขที่พรรคเพื่อไทยและพรรคที่เข้ามาสนับสนุนรวมกัน ปรากฏว่ามีจำนวน ส.ส.สูงเกิน 250 เสียง

นั่นคือมีเสียง 255 เสียง ซึ่งน่าจะบรรลุเป้าหมายตั้งรัฐบาลได้

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น

พรรคพลังประชารัฐยังคงประกาศจัดตั้งรัฐบาลต่อไป โดยขอให้ฟังผลการเลือกตั้งที่ กกต.จะเป็นผู้ประกาศก่อน

พร้อมกันนั้น ทั้ง นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค ต่างก็มั่นใจ

พรรคพลังประชารัฐมีเสียงสนับสนุนเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลแน่

นั่นคือมีเสียงเกิน 250 เสียง

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้สายตากลับไปเพ่งมองการจัดการเลือกตั้งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.

เป็นการย้อนกลับไปมองการทำงานของ กกต. พร้อมด้วยคำถาม

ทั้งคำถามที่ว่าการนับคะแนนที่ กกต.ดำเนินการไปเพียงแค่ 95 เปอร์เซ็นต์ แล้วรอจนกระทั่งพรรคเพื่อไทยกดดันจึงแถลงผล 100 เปอร์เซ็นต์นั้น มีความน่าฉงน

ขณะเดียวกันก็ปรากฏข่าวการโต้แย้งเรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และข้อกำหนดของ ส.ส. ที่พึงมี

กลายเป็นสูตรการคำนวณที่จนป่านนี้ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะต้องคิดกันอย่างไร

มีทั้งสูตรที่กำหนดให้พรรคที่ได้คะแนนรวมทั้งหมดของพรรคซึ่งเกินกว่าจำนวนบัตรดีหารด้วย 500
หรือเกินกว่า 71,000 เสียง จึงจะมีสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

มีทั้งสูตรที่ไม่สนเรื่องนี้ และได้กระจาย ส.ส.บัญชีรายชื่อไปให้พรรคที่มีคะแนนน้อยกว่า 71,000 เสียงด้วย
ทำให้หลายพรรคแม้จะมีคะแนนเพียง 30,000 กว่าคะแนนก็ยังได้ ส.ส.

หรือสูตรที่ระบุว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อก็ต่อเมื่อพรรคนั้นได้ ส.ส.ระบบเขต

กว่าจะเคาะว่าใช้สูตรไหนก็เล่นเอาวุ่นไปพักใหญ่


ความล่าช้าในการประกาศผล ความไม่แน่นอนของวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำมาซึ่งข้อครหา

กระทั่ง กกต.เดินเข้าสู่จุดเสี่ยง เมื่อมีผู้ระดมให้ลงชื่อถอดถอน กกต.ออกจากตำแหน่ง

จากวันนั้นถึงวันนี้ เพียงไม่กี่วันตัวเลขของผู้เห็นด้วยกับการถอดถอน กกต.ออกจากตำแหน่งทะลุ 8 แสนและยังพุ่งขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน การจัดตั้งรัฐบาลเริ่มมีกระแสข่าว “งูเห่า” คือ ดึงเอา ส.ส.จากพรรคขั้วตรงข้ามให้มาสนับ สนุนพรรคอีกขั้วหนึ่ง

การดึงพรรค ดึง ส.ส.ที่เป็นข่าว มีทั้งการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี และการใช้เงิน

ตอกย้ำความสับสนที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และกลายเป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล
นอกจากนี้ เริ่มมีขบวนการโจมตีพรรคอนาคตใหม่ พุ่งเป้าไปที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค และ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค

เจ้าหน้าที่รัฐขยับแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 ขณะที่สังคมออนไลน์ก็เริ่มเผยแพร่คลิปต่างๆ เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ มาโจมตี

คดีความที่อาจมีผลถึงกับการยุบพรรค การตัดสิทธิทางการเมือง รวมถึงการจำคุก เริ่มกลายเป็นกระแสข่าว

ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ คือเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังมีท่าทีของฝ่ายกองทัพที่เริ่มขยับเข้ามาร่วมวงการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ท่าทีต่างๆ ที่ปรากฏไม่ได้เป็นคุณต่อฝ่ายพรรคขั้วตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่เป็นคุณต่อพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

เมื่อย้อนกลับไปทำความเข้าใจปรากฏการณ์และปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นจะพบว่า ทุกอย่างมาจากผลการ เลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนจำนวนประมาณ 35 ล้านเสียงลงคะแนน

ผลจากการลงคะแนนพบว่า ส.ส.เขต พรรคเพื่อไทยคว้าชัย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ ได้จำนวน ส.ส.ตามมา

ตรงนี้คือโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องตีความว่าประชาชนมีเจตนารมณ์อะไร

พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร 250 คนจาก 350 เขต ได้รับเลือกตั้ง137 คนนั้นย่อมมีความหมาย

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของพรรคอนาคตใหม่ พร้อมๆ เสียงสนับสนุนนายธนาธร และนายปิยบุตร ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ แม้จะต้องคดี

นี่ก็ย่อมส่งสัญญาณอะไรบางอย่างออกมา

ขณะที่ฝ่ายการเมืองกำลังยื้อแย่งอำนาจกัน ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงมองดูนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วยความหวาดระแวง

รวมถึงกลุ่มทุนที่ยังไม่คุ้นเคยกับนักการเมืองรุ่นใหม่ ก็ยังไม่ไว้วางใจหากคนกลุ่มนี้มีโอกาสบริหารประเทศ

แต่ทุกอย่างต้องกลับไปที่วัตถุประสงค์ของการเลือกตั้ง

ประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิทุกเสียงล้วนมาด้วยความตั้งใจที่จะแสดงเจตนา

การตีความผลการเลือกตั้งจึงสำคัญต่อกาลเวลาที่กำลังจะมาถึง

ตีความเจตนารมณ์ของประชาชนถูกก็คือทางรอด

แต่หากตีความเจตนารมณ์ของคนไทยผิด

ประเทศอาจจะต้องกลับไปสู่ทางตันอีกคำรบ