ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกลุ่ม กปปส. จากเหตุการณ์การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะทำให้งบประมาณรัฐสูญเปล่า โดยให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 2,400 ล้านบาท นั้น เหตุการณ์เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลากว่า 2 ปี หลายฝ่ายมีความสงสัยว่าเหตุใดวันนี้ กกต.จึงมีมติฟ้องเรียกค่าเสียหาย เหตุเพราะมติดังกล่าวออกมาภายหลังข่าวที่ กกต.ขาดเงินสะสมจนถึงขั้นถังแตกเพียงไม่กี่วัน ทำให้บางคนเดาไปว่าเพราะ “กกต.ถังแตก” ไม่มีงบจะบริหารแล้วจึงต้องหาทางเอาตัวรอดเช่นนี้ หรือทำไมล่ะ ทำไมกกต.ถึงตัดสินใจที่จะฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ร่วมกับ กปปส.ในเวลานี้
เหตุการณ์การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถึงวันนี้ได้ผ่านมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าเมื่อสองปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหลังจากยุบสภา จนนำไปสู่การเลือกตั้งเป็นโมฆะเพื่อย้อนรอยความจำ ลำดับเหตุการณ์ต่อไปนี้เป็นการรวบรวมเหตุการทางการเมืองที่สำคัญๆนับแต่วันก่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 ถึง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ในวันที่ 21 มีนาคม 2557
———————————
– 9 ธ.ค. 2556 : ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา ย้ำไม่ต้องการให้สูญเสียอีก ตัดสินใจคืนอำนาจให้กับประชาชน เลือกตั้งใหม่
– 15 ธ.ค. 2556 : สุเทพขู่รัฐบาลไม่มีทางได้เลือกตั้ง และถึงแม้เลือกตั้ง ไม่มีทางราบรื่น ไม่มีทางได้ ส.ส. ครบทุกเขต เตือนยิ่งลักษณ์หากเดินหน้าเลือกตั้งเตรียมย้ายไปอยู่ดูไบได้เลย
– 20 ธ.ค. 2556 : พรรคประชาธิปัตย์ส่งหนังสือชวนทุกพรรคเลื่อนเลือกตั้ง
– 21 ธ.ค. 2556 : อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ท้าพรรคอื่นลงเลือกตั้งให้ประกาศด้วยว่ามาต่ออายุระบอบทักษิณ
– 23 ธ.ค. 2556 : แกนนำ กปปส.นำโดย นายอิสสระ สมชัย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายสมศักดิ์ โกสัยสุข พร้อมด้วยกลุ่มมวลชน นำรถบรรทุกพร้อมเครื่องขยายเสียงปิดล้อมทางเข้าสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดง สถานที่ในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ
– 25 ธ.ค. 2556 : นิติธร ล้ำเหลือ พา คปท.บุกเข้าอาคารสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงใช้แผงเหล็กกักตำรวจ เรียกร้อง กกต. หยุดจัดเลือกตั้ง ย้ำต้องไม่มีการจับหมายเลขพรรคการเมืองเด็ดขาด
– 26 ธ.ค. 2556 : กกต. ออกแถลงการณ์ ถอดใจ เสนอรัฐบาล เลื่อนเลือกตั้ง
– 29 ธ.ค. 2556 : กปปส.สงขลา เข้ายึดสถานที่รับสมัคร จนต้องยุติการรับสมัครชั่วคราว มีการรื้อสถานที่รับสมัคร รวมทั้งเต้นท์ โต๊ะ เก้าอี้ออกจากสถานที่รับสมัครทั้งหมด
– 16 ม.ค. 2557 : กกต.สมชัย ส่งหนังสือเชิญยิ่งลักษณ์คุยเลื่อนการเลือกตั้ง ชี้สถานการณ์ไม่ปกติถ้าดึงดันให้มีเลือกตั้งจะเห็นนรกอยู่ตรงหน้า อ้างแม้จะเห็นการขัดขวางต่อหน้าแต่กฎหมายเป็นเรื่องรองงมากกว่าความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ยันไม่ย้ายสถานที่รับสมัคร แนะผู้สมัครที่ถูกขัดขวางก็ให้ไปแจ้งความดำเนินคดี ชม กปปส.คือคนจำนวนมากในสังคมที่มีความปารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมไปในทางที่ดีขึ้น
– 18 ม.ค. 2557 : กปปส. นายสุชาติ ศรีสังข์ และนายทินกร อ่อนประทุมเดินทางไปปิดล้อม ตัดน้ำตัดไฟโรงพิมพ์คุรุสภา สถานที่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง
– 20 ม.ค. 2557 : สุเทพตั้งเป้าปิดสถานที่ราชการใน กทม. ทุกแห่ง ปิด ธ.ออมสินป้องกันรัฐบาลนำเงินไปจำนำข้าว และเตือน ธ.กรุงไทย เป้าหมายต่อไป พร้อมสั่ง กปปส. 14 จังหวัดภาคใต้ปิดสถานที่ราชการให้หมด
– 23 ม.ค. 2557 : ศาล รธน. รับคำร้อง กกต. เรื่องอำนาจเลือนการเลือกตั้ง
(ไม่แน่ใจว่าจะเอาเรื่องนี้ไหม) – 24 ม.ค. 2557 : ศาล รธน. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าสามารถเลื่อนเลือกตั้งได้ ส่วนอำนาจหน้าที่ในการเลื่อนเลือกตั้ง ให้ครม.และ กกต. รับผิดชอบร่วมกันในการหารือ
– 26 ม.ค. 2557 : สุเทพ กปปส. ทั่วประเทศคัดค้านเลือกตั้งล่วงหน้า ถาวร ไปเขตบางกะปิ พุทธะอิสระปักหลักเขตหลักสี่ หลายจังหวัดจัดการเลือกตั้งไม่ได้
– 27 ม.ค. 2557 : กกต. เตรียมเสนอเลือกตั้งใหม่ และให้เลือกตั้งล่วงหน้าเป็นโมฆะ
– 28 ม.ค. 2557 : สุเทพสั่ง กปปส. ทุกจังหวัด เตรียมล้มการเลือกตั้ง 2 ก.พ. สุเทพสั่ง กปปส.ทุกจังหวัดล้มการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และยกระดับการต่อสู้ยึดกรุงเทพ กันข้าราชการไม่ให้ทำงานได้
– 1 ก.พ. 2557 : กปปส. ยึดเขตเลือกตั้งหลักสี่ เกิดเหตุปะทะกัน กกต. ประกาศยกเลิกเลือกตั้งทั้งเขตหลักสี่กว่า 158 หน่วย
– 2 ก.พ. 2557 : กปปส.สงขลาปิดล้อมไปรษณีย์หาดใหญ่มาตั้งแต่ 28 ม.ค. บัตรเลือกตั้งไม่สามารถเคลื่อนย้ายจากไปรษณีย์ 5 จังหวัดภาคใต้ ไม่สามารถเลือกตั้งได้
– 3 ก.พ. 2557 : อภิสิทธิ์เตรียมให้ ปชป. ฟ้องศาล รธน. ม.68 รัฐบาลจัดเลือกตั้งมิชอบ เชื่ออาจมีช่องให้ศาล รธน.ยับยั่งให้เลือกตั้งเป็นดมฆะ
– 6 มี.ค. 2557 : ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติ ส่งคำสั่งให้ศาล รธน. ชี้ขาด เลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะหรือไม่
– 21 มี.ค. 2557 : หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญแถลงมติ ศาล รธน. 6 ต่อ 3 ตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ให้รัฐบาลกับกกต. หารือออกพ.ร.ฎ.ใหม่ ปัดพิจารณาใครต้องรับผิดชอบ
เมื่อเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ จนถึงมติศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หากกกต.จะหาผู้มารับผิด เช่นนี้แล้ว ใครกันที่จะต้องรับผิดชอบค่าความเสียหายจากการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ ใครกันที่ต้องรับผิดชอบกับการขัดขวางไม่ให้มีการเลือกตั้ง ใครกันที่ล้มเลือกตั้งจนทำให้ประเทศที่กำลังสะดุดไม่สามารถขึ้นจากหลุมแล้วเดินหน้าต่อได้… รัฐบาลที่ยันยืนให้มีการเลือกตั้ง ? กปปส.ที่ขวางการเลือกตั้งทุกวิถีทาง ? หรือ กกต.เองที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างถึงที่สุด ……..ใครกัน ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดนี้
ที่มา : http://prachatai.org/journal/2014/12/57146