PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปูด "ส" คนทำสื่อดาวเทียมหอบ20ล.หนุนม็อบยาง

3 ส.ส.แดงจวก ปชป. โหนกระแสม็อบยางถล่มรัฐ บี้หยุดแทรกแซงชุมนุม ปูด คนทำสื่อดาวเทียมอักษรย่อ "ส." หอบ 20 ล้าน ร่วมกับ นักการเมือง "ส." หนุนม็อบ

ที่รัฐสภา นายก่อแก้ว พิกุลทอง พร้อมด้วย นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ร่วมกันแถลงเรียกร้องถึงพรรคประชาธิปัตย์อย่านำการเมืองเข้าสู่การชุมนุม เรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

โดย นายก่อแก้ว กล่าวว่า ขณะนี้ชาวสวนยางพาราบางส่วนรับข้อเสนอของรัฐบาลที่จะประกันราคายางพาราอยู่ ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่ชาวสวนยางบางส่วนไม่ยอมรับและจะปิดถนนเพิ่ม ทั้งที่รัฐบาลพยายามแก้ปัญหา ซึ่งจะนำมาเทียบกับการแก้ปัญหาราคาข้าวไม่ได้ เนื่องจากยางพาราไม่ใช่สินค้าพรีเมียม สร้างความแตกต่างของสินค้าไม่ได้ จึงกำหนดราคาตลาดโลกเองไม่ได้ ตนก็เป็นลูกชาวสวนยางคนหนึ่งคิดว่าราคา 80 บาท ต่อกิโลกรัมอยู่ได้สบายๆ

ด้านนายวิภูแถลง กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ อ.ชะอวด พบว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการใช้ม็อบสวนยางโค่นรัฐบาล เห็นได้จากการที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง นายวิทยา แก้วภราดัย และนายอภิชาต การิกาญจน์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ขึ้นเวทีปราศรัยประกาศว่าอยู่เบื้องหน้าการชุมนุมครั้งนี้ ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง รัฐบาลจึงกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดูแลสถานการณ์อย่าให้มีมือที่ 3 เพราะหากเลือดตกยางออกมีคนเสียชีวิตก็จะเข้าทางพรรคประชาธิปัตย์ จึงขอให้พรรคประชาธิปัตย์หยุดพฤติกรรมดังกล่าวอย่าให้การเมืองเข้าไปแทรกการชุมนุมไม่เช่นนั้นจะจบลำบาก และทราบว่ามีการขนคนจากจังหวัดอื่นมาร่วมชุมนุม

ขณะที่นายวรชัย กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเดินแผนล้มรัฐบาลก็เดินไปแต่อย่าขวางรัฐบาลช่วยเหลือ ประชาชน ซึ่งขณะนี้มีคนทำสื่อดาวเทียมอักษรย่อ “ส.” หอบเงิน 20 ล้าน ร่วมกับนักการเมือง “ส.” ในการชุมนุมของทางภาคใต้ ซึ่งอยากให้พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมในสภาปฏิรูปการเมือง ใช้สภาแก้ปัญหาดีกว่าออกมาสู้นอกสภา


"อาลัย..วิสรรชนีย์ นาคร - จิราภรณ์ เจริญเดช"

วันที่ 27 สิงหาคม 2556 19:23

"อาลัย..วิสรรชนีย์ นาคร - จิราภรณ์ เจริญเดช"

จิราภรณ์ เจริญเดช อดีตบรรณาธิการเซ็คชั่นจุดประกาย

เมื่อปีที่แล้วมีโอกาสไปเยี่ยม "วิสรรชนีย์ นาคร" ที่โรงพยาบาลท่าโรงช้าง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นสถานที่รักษาตัวเธอ นับตั้งแต่ย้ายจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ โดยในวันนั้นผมได้ชวนคุณ"เตือนใจ ดีเทศน์"ไปเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจเธอด้วย
แม้ว่าวิสรรชนีย์ จะไม่สามารถพูดคุยกับผมและคุณเตือนใจ ดีเทศน์ได้ แต่ก็สามารถจะสื่อสารกันได้ด้วยการกระพริบตาส่งสัญญาณให้ญาติคนหนึ่งที่เฝ้าดูแลเธอเขียนเป็นข้อความบอกความหมายให้รับรู้ได้ ในวันนั้นคุณเตือนใจ ดีเทศน์ทำพิธีสวดมนต์ให้กับวิสรรชนีย์พร้อมทั้งชวนพูดคุย เท่าที่ผมสังเกตุดูแล้ว เธอเหมือนจะตื่นเต้นดีใจ ที่จู่ๆก็มีคนโผล่เข้าไปเยี่ยมสองคน โดยไม่ได้นัดหมายหรือบอกให้รู้ล่วงหน้าแต่อย่างใด นอกจากนี้แล้วเราทั้งสองคนก็ไม่รู้หรอกว่าโรงพยาบาลนี้อยู่ที่ไหน แต่บังเอิ๊ญบังเอิญเจอคุณพี่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นคนในท้องที่และเคยทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย เรื่องยากจึงกลายเป็นเรื่องง่าย
ถ้าจะบอกว่าการไปในครั้งนั้นเป็นการพบปะพูดคุยกับวิสรรชนีย์ครั้งสุดท้ายก็ย่อมได้ เพราะนับตั้งแต่นั้นก็ไม่ได้ไปเยี่ยมเธออีกเลย ได้แต่ติดตามข่าวคราวจากเพื่อนร่วมงานในกองจุดประกาย และเพื่อนนักเขียนต่างจังหวัดที่อยู่แถวๆ ภาคใต้เท่านั้น
จนกระทั่งในวันที่ 27 ส.ค.56 ก็ทราบว่า"วิสรรชนีย์ นาคร" จากไปอย่างสงบแล้ว ในช่วงเวลาบ่ายสองโมงที่ ร.พ.ท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นการจากไปชั่วนิรันดร์หลังจากที่ต้องเผชิญกับโรคเซลล์เสื่อม จนไม่สามารถจะขยับร่างกายได้นานร่วมๆ 5 ปี จะเคลื่อนไหวได้ก็มีเพียงการกระพริบตาเท่านั้น
"วิสรรชนีย์ นาคร" หรือ "จิราภรณ์ เจริญเดช" มีชื่อเล่นว่า "อ้น" แต่สำหรับเพื่อนนักเขียนร่วมยุคสมัยด้วยกันแล้วจะเรียกเธอ "วิสรรชนีย์" มากกว่า เป็นนักเขียนหญิงที่ร่วมก่อตั้งกลุ่ม "นาคร" ในยุคแรกๆ
"วิสรรชนีย์ นาคร" ถือได้ว่าเป็นนักเขียนหญิงที่มีความสามารถอีกคนหนึ่งในยุคนั้น เพราะเขียนหนังสือได้หลายรูปแบบ ทั้งเรื่องสั้น บทกวี สกู๊ปพิเศษ และเขียนบทสัมภาษณ์ นอกจากนี้แล้วเธอยังเป็นนักข่าวหญิงไฟแรงในยุคนั้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เธอเป็นนักข่าวประจำที่หนังสือมาตุภูมิสมัยที่อยู่ใกล้กับตีนสะพานวันชาติ หรือใกล้กับร้านข้าวต้มเจ๊อ๋า แถวๆวัดตรีทศเทพ วิสุทธกษัตริย์นั่นแหละ ซึ่งหนังสือพิมพ์มาตุภูมิในยุคนั้นมีนักข่าวนักเขียนหนุ่มไฟแรงหลายคนประจำอยู่ที่นี่ เช่น สำราญ รอดเพชร และ คมทวน คันธนู รวมทั้งนักข่าวหญิงที่ชื่อวิสรรชนีย์ นาครด้วย
จำได้ว่า มีงานเขียนบทความของเธอชิ้นหนึ่งที่ทำเอาหนังสือพิมพ์มาตุภูมิที่เธอทำอยู่ต้องเดือดร้อน เพราะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์งานหนึ่งเกี่ยวกับทหารกล้าที่พลีชีพในสนามรบนั่นเอง แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี แม้งานข่าวช่วงนั้นของเธอจะลดความร้อนแรงบ้างก็ตาม
ในบรรดาเพื่อนนักเขียนที่สนิทคุ้นเคยกับวิสรรชนีย์อีกคนหนึ่งก็คือ โดม วุฒิชัย เหตุที่นักเขียนยุคนั้นรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะมีจุดพบปะกันนั่นแหละ โดยเฉพาะสำนักงานนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ เพราะเป็นยุคที่ไม่มีอีเมลใช้อย่างทุกวันนี้ จะส่งต้นฉบับก็ส่งได้ทางไปรษณีย์ หรือไม่ก็ต้องถือต้นฉบับไปส่งถึงสำนักงานเท่านั้น
ด้วยเหตุนั้นแหละ ตามสำนักงานนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ จึงกลายเป็นแหล่งพบปะของนักเขียนไปโดยปริยาย และที่แห่งหนึ่งก็คือสำนักงานนิตยสารหนุ่มสาวของพี่กรณ์ ไกรลาศ หรือปกรณ์ พงศ์วราภา ซึ่งนับเป็นนิตยสารคุณภาพ และเป็นแหล่งตีพิมพ์เรื่องสั้น,เรื่องแปล,บทกวี และสกู๊ปพิเศษของนักเขียนมือฉมังที่สร้างผลงานเข้มข้น มีนักเขียนหนุ่มเดินเข้าออกแทบทุกวัน และนักเขียนหนุ่มคนหนึ่งก็คือ โดม วุฒิชัย ที่ทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการแห่งนี้ด้วย
เพื่อนนักเขียนร่วมยุคสมัยเดียวกันกับ "วิสรรชนีย์ นาคร"นั้น จะรู้จักกันด้วยการอ่านผลงานของกันและกันเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะมาสนิทสนมกันในเวลาต่อมา ซึ่งส่วนมากแล้วจะมีโอกาสพูดคุยกันเวลามาพบหน้าค่าตาตามสำนักงานนิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆนั่นแหละ
“วิสรรชนีย์ นาคร” เป็นนครศรีธรรมราช จบปริญญาโท สาขาวารสารศาสตร์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ และศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ระดับปริญญาเอก สาขาสื่อสารมวลชน แต่ก็ต้องหยุดเมื่อล้มป่วย
เริ่มมีผลงานปรากฏให้เห็นราวๆ ปี 2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหตุการณ์ทางการเมืองกำลังร้อนแรง ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาที่ทำให้นักเขียนหนุ่มสาวตามรั้วมหาวิทยาลัย และกลุ่มวรรณกรรมตามภาคต่างๆ มีผลงานปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นอีกยุคหนึ่งที่บรรดานักเขียนหนุ่มสาวสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนภาพการเมืองเผด็จการและวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเผ็ดร้อน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมชาติ โดยนักศึกษาถูกล้อมฆ่าจนเสียชีวิตจำนวนมาก และถูกคณะปฎิวัติยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง จึงทำให้ผลงานเขียนของคนหนุ่มสาวชะงักงันไปชั่วคราว และหันไปทำงานด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับวิสรรชนีย์ ซึ่งเธอเข้าทำงานอยู่ตามนิตยสารต่างๆหลายแห่ง เช่น จีเอ็ม,ไฮคลาส,กรวิก รวมทั้งนิตยสารลลนายุคหลังสุด นอกจากนี้ยังเขียนงานสารคดี เรื่องสั้นและนวนิยายด้วย...และในช่วงก่อนที่วิสรรชนีย์ นาครจะล้มป่วยนั้น เธอเป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
สำหรับพิธีศพ "วิสรรชนีย์ นาคร" นั้น ตั้งศพอยู่ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ ศาลาจตุคาม (ศาลาแรก) ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม กำหนดวันฌาปนกิจ วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม เวลา 16.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 081-958-7345 (คุณแม้ว) ณ เมรุวัดหน้าพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช
จากเพื่อนถึงเพื่อน...ขอให้เพื่อนจงเดินทางสู่ดินแดนแห่งความสุขอันนิรันดร์ที่วิจิตรตระการตาและจงอยู่ท่ามกลางนางฟ้าที่งดงาม!