PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

เลือกตั้งล็อกถล่ม! 'บิ๊กตู่' จ่อคัมแบ็กนายกฯ

ไทยโพสต์ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562 เวลา 00:01 น.

ผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 24 มีนาคม อย่างไม่เป็นทางการ จนถึงช่วงเวลา 20.30 ซึ่งยังไม่มีอะไรแน่นอน แต่พรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส. ชนะการเลือกตั้งเขตอย่างไม่เป็นทางการมากที่สุดก็คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งสุดท้ายคาดว่าจนถึงช่วงกลางดึก ก็ได้รู้แล้วว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการจะออกมาอย่างไร จะมีปรากฏการณ์ ช้างล้ม ในหลายเขตเลือกตั้งอย่างที่หลายฝ่ายคาดการหรือไม่
      โดยเฉพาะ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจนถึงช่วงค่ำหลายเขตที่ ปชป.เคยเป็นแชมป์ ปรากฏว่าผู้สมัคร-อดีตส.ส.สอบตกอย่างคาดไม่ถึง ทั้งในกรุงเทพมหานคร-ภาคใต้ โดยเฉพาะ กทม.ที่ ปชป.เป็นแชมป์ในระยะหลัง ปรากฏว่าจนถึงช่วงค่ำวันที่  24 มี.ค. เกิด ล็อกถล่ม-สึนามิการเมือง ทำเอาอดีต ส.ส.กทม.ปชป.หลายคน อาจสอบตก แบบคาดไม่ถึง 
      ขณะเดียวกัน ผลการนับคะแนนที่ออกมาผ่านสื่อตลอดช่วงเย็นวันที่ 24 มีนาคม ก็มีหลายอย่างที่เรียกเสียงฮือฮาทางการเมืองอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ปรากฏการณ์อนาคตใหม่ บนกระแส futurista ที่เป็นภาษาอิตาลี ซึ่งปรากฏว่า ผู้สมัคร ส.ส.ของอนาคตใหม่ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ได้คะแนนมาแบบหลายคนคาดไม่ถึง ทั้งในภาคเหนือ-ภาคใต้-กทม. เป็นต้น ขณะที่คะแนนของบางพรรคก็ได้มาอย่างเหนือความคาดหมาย เช่น พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
      อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ต้องรอดูผลการนับคะแนนออกมาอย่างเป็นทางการ ถึงจะพอเห็น-จับทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ และที่สำคัญ ผลการรับรองการเลือกตั้ง ส.ส.ของคณะกรรมการการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
      กระนั้น ด้วยคะแนนที่ออกมาอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะที่หลายคนคาดไม่ถึงกับคะแนนของผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในหลายเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ ผนวกกับพรรคที่ถูกมองว่าพร้อมหนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างภูมิใจไทย ก็ได้เสียง ส.ส.และคะแนนรวมออกมาตามเป้าที่แกนนำตั้งเป้าไว้ ตลอดจนกลไกต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เช่น เสียง ส.ว. 250 เสียง ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ที่จะไปร่วมโหวตเลือกนายกฯ ที่แน่นอนว่าต้องหนุน บิ๊กตู่ 
       ทำให้จนถึงช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม จึงทำให้บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเต็งหนึ่ง ที่จะได้คัมแบ็กกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ
      เว้นแต่สถานการณ์พลิกผัน แต่เมื่อดูองค์ประกอบโดยรวมแล้ว โอกาสพลิกยาก ทำให้ บิ๊กตู่ มีโอกาสกลับตึกไทยคู่ฟ้าคำรบสองค่อนข้างสูง ขนาดที่แกนนำเพื่อไทยที่นั่งลุ้นผลการเลือกตั้งในวอร์รูม ชั้นสี่ ตึกพรรคเพื่อไทย ยังตะลึงกับผลเลือกตั้งที่ออกมา ที่พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.-คะแนน เข้าป้ายจำนวนมาก ชนิดแกนนำเพื่อไทยหลายคนคาดไม่ถึง ที่กระแส บิ๊กตู่-พปชร. จะปลุกพลังเงียบในช่วงโค้งสุดท้ายได้ถึงเพียงนี้
      อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่อจากนี้ยังต้องติดตามต่อไป กับการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กกต.จะมีเวลา 60วัน แต่เบื้องต้น กกต.ประกาศว่า จะพยายามประกาศรับรองผลให้ได้ไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ภายในไม่เกิน  9 พ.ค.นี้ เพื่อให้มีการเปิดประชุมสภาฯ นัดแรกเพื่อเลือกประธานสภาฯ และจากนั้นเมื่อมีประธานสภาฯ ที่เป็นประธานรัฐสภาแล้ว ก็จะมีการนัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป และหลังได้นายกรัฐมนตรีแล้ว ก็จะนำไปสู่การฟอร์มรัฐบาล ตั้งคณะรัฐมนตรีต่อไป
      ผลการเลือกตั้งที่ออกมา เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก และคงทำให้หลังจากนี้ ภูมิทัศน์การเมืองไทย ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมือง ที่ทำให้บางพรรคการเมืองอย่าง พลังประชารัฐ-อนาคตใหม่ แจ้งเกิดได้สำเร็จ ขณะที่บางพรรคอย่างประชาธิปัตย์ พรรคใหญ่ พรรคเก่าแก่ รอบนี้เจอผลสะเทือนอย่างหนัก ชนิดแกนนำพรรคคาดไม่ถึง ตั้งรับไม่ทัน และหลังจากนี้คงถึงวันที่ ปชป.ต้องยกเครื่องพรรคครั้งใหญ่แน่นอน.

'แม้ว'โผล่กล่าวหากองทัพโกงเลือกตั้งเพื่อคุมอำนาจต่อไป!



25 มี.ค.62 -  นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพีจากฮ่องกงเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มีนาคม โดยตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษวิจารณ์การเลือกตั้งของไทยครั้งนี้ว่ามีความผิดปรกติและโกง เพื่อให้มั่นใจว่ากองทัพยังสามารถคุมอำนาจไว้ได้ต่อไป 
 "ทุกคนในไทยรู้ ทุกคนในต่างประเทศที่สังเกตการเลือกตั้งในไทยรู้ว่ามีความผิดปรกติเกิดขึ้น" นายทักษิณกล่าว และว่า เราเรียกว่าหรือควรเรียกว่ามีการเลือกตั้งที่ทุจริตที่นั่น ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศไทย
 นายทักษิณยังกล่าววิจารณ์รัฐบาลทหารของไทยชุดนี้ด้วยว่าวางแผนจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งและใช้อุบายสกปรกในการลงคะแนนเสียง "เกมอะไรก็ตาม ถ้ากฎกติกาและกรรมการไม่ยุติธรรม ผลที่ออกมาจะไม่ได้รับการนับถือ" นายทักษิณกล่าว 
 เมื่อเอเอฟพีตั้งคำถามต่อว่า เขาคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการโกงหรือไม่ นายทักษิณตอบว่า แน่นอนที่สุด และเมื่อถูกซักไซ้ให้แสดงหลักฐาน อดีตนายกฯ หนีคดีรายนี้ก็อ้างถึงรายงานเรื่องจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนให้พรรคของทหารที่สูงอย่างน่าสงสัยในจังหวัดสำคัญๆ รวมไปถึงจำนวนบัตรเสียที่มีมหาศาล 
 "หากคุณดูที่จำนวนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งและจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ บัตรเลือกตั้งมีเกินจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิในหลายๆ จังหวัด" นายทักษิณกล่าว

พลังเงียบหลับสนิท!เปิดสถิติเลือกตั้งกร่อยผู้ใช้สิทธิน้อยสุดรอบ 23 ปี

25 มี.ค.62-  ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงภาพรวมจัดการเลือกตั้งว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการร้อยละ 90 พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิ 65.96 % บัตรเสีย 5.6% โหวตโน 1.5 % จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,205,624 คน 
เมื่อตรวจสอบการเลือกตั้งก่อนนี้ พบว่า การเลือกตั้งปี 2554 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิทั้งสิ้น 75.03%  นับเป็นการใช้สิทธิมากที่สุดเท่าที่มีการเลือกตั้งมา
ขณะที่จำนวนผู้ใช้สิทธิต่ำกว่า 66% หรือน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น ต้องย้อนกลับไปในการเลือกตั้งวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539    ครั้งนั้นมีผู้มาใช้สิทธิเพียง 62.42%  เท่านั้น 
สำหรับการเลือกตั้งที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิน้อยที่สุดยังคงเป็นการเลือกตั้ง วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ครั้งนั้นผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิเพียง  24.27% . 

'เพื่อไทย'มึน'พปชร.-อนค.'แรงในพื้นที่กทม.'ผู้สมัครส.ส.'โวยพิรุธอื้อ

25 มี.ค.62-ที่พรรคเพื่อไทย(พท.) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรค เรียกผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทยทั้ง 22 เขต มาหารือร่วมกัน เพื่อประเมินผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพร้อมให้กำลังใจผู้สมัครที่แพ้การเลือกตั้ง 
มีรายงานว่า ในที่ประชุมต่างแปลกใจผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เพราะต่างมองว่าคู่แข่งคนสำคัญในสนามเลือกตั้งกทม.คือ พรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมากลับกลายเป็นว่า พรรคพลังประชารัฐ และอนาคตใหม่ มีคะแนนนิยมมากกว่าทั้งที่ระหว่างการหาก็ไม่ได้มีกระแสเหมือนที่ออกมา
นายสุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครส.ส.เขต 9 หลักสี่ กทม.พรรคเพื่อไทย  ให้สัมภาษณ์เรียกร้องให้ กกต.ตอบคำถามสังคมให้ได้ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง เพราะเขตเลือกตั้งที่ 9 มีปัญหาบัตรเลือกตั้งมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์  เลือกตั้ง และปัญหาบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าของเขต 9 ถูกส่งไปนับคะแนนที่เขต1 จนส่งผลให้บัตรทั้งหมดกลายเป็นบัตรเสีย กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบกับคะแนนเสียงที่ออกมา 
"ขอเรียกร้องให้ กกต.จัดการเลือกตั้งใหม่ในเขต 9 เพราะหากจะมีการนับคะแนนใหม่เพียงอย่างเดียวก็จะเกิดปัญหาเช่นเดิม เพราะบัตรถูกคละไปหมดแล้ว จะมีการปรึกษาฝ่ายกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร หากพบว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริตยุติธรรม"
เช่นเดียวกับ น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล ผู้สมัคร ส.ส.เขต1 กทม.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กกต.เขต 1 ยอมรับว่ามีการส่งบัตรผิดพลาด แต่ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องไปร้องต่อกกต.กลางเท่านั้น  ซึ่งทางพรรคจะรวบรวมหลักฐานเตรียมร้องขอความเป็นธรรมต่อไป โดย กกต. เขต 1 ก็พร้อมที่จะเป็นพยานให้

เพื่อไทยประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล!

25 มี.ค.62 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะแกนนำ ผู้บริหารพรรคเพื่อไทย อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ นายภูมิธรรม เวชชยชัย นายโภคิน พลกุล ร่วมแถลงข่าว หลังกกต.แถลงความคืบหน้าเรื่องผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ โดยคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ขอบคุณพี่น้องประชาชนมอบความไว้วางใจต่อพรรคเพื่อไทยมอบคะแนนส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งมากที่สุด ในลำดับหนึ่ง แม้จะส่งไม่ครบทั้ง350เขต โดยทุกคะแนนเสียงที่ได้ให้กับพรรคเพื่อไทย เราจะมุ่งมั่นทำงาน เพื่อที่จะทำให้การแก้ไขความทุกข์ ความยากจนให้หมดไป อย่างที่เราได้ให้คำมั่นไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
"ส่วนการเดินหน้าทางการเมืองจากนี้ไป จะรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล อย่างที่พูดเอาไว้ว่า พรรคที่ได้ส.ส.มากที่สุด ถือเป็นผู้ได้รับฉันทานุมัติจากพี่น้องประชาชน พรรคจะเดินหน้ารวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลต่อไป พรรรคที่เราจะร่วมด้วย จะร่วมกับพรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ เพื่อร่วมกับพรรคที่มีแนวทาง อุดมการณ์เดียวกัน ส่วนเรื่องสว.250คน ควรทำตามเสียงของประชาชน"คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว.

ส.ส.กทม.สูญพันธุ์ ประชาธิปัตย์เละ "มาร์ค" ออก (คลิป)

เพื่อไทยคว้าแชมป์! พลังประชารัฐอันดับ 2 อนาคตใหม่มาลำดับ 3

เลือกตั้ง 62 เพื่อไทยยังคงนำ ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ พลังประชารัฐนำคะแนนโหวต แต่ ส.ส.รวมได้อันดับ2 อนาคตใหม่แรงสะท้านใจ กวาดปาร์ตี้ลิสต์เป็นกระบุงโกย ตะลึงพรรคเก่าแก่ ประชาธิปัตย์พังพาบพ่ายยับเยินสนามเมืองหลวง ส่อสูญพันธุ์ไม่ได้ ส.ส.สักคน พลังประชารัฐ-อนาคตใหม่ ยึดเมืองหลวง เพื่อไทยก็ปาดเหงื่อเสียไปหลายเก้าอี้ เสาไฟฟ้าภาคใต้ล้มระเนนระนาด ประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคต่ำ 50 อีสาน เพื่อไทยยังแข็งแต่โดนเจาะรั่วโบ๋หลายจุด เหนือยิ่งแล้วใหญ่ พลังประชารัฐแทรกยกเค้าหลายจังหวัด ภาคกลางช้างล้มหลายเขต พลังประชารัฐแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่

การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนคนไทยเฝ้ารอด้วยใจจดจ่อ หลังห่างหายว่างเว้นจากการเลือกตั้งมาเกือบ 8 ปีเต็ม นับจากการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวทางการเมืองด้วยสารพัดปัจจัย จนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ออกมาใช้สิทธิอย่างถล่มทลาย สอดคล้องกับการเลือกตั้งจริงที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิล้นหลาม

เลขาธิการ กกต.แถลงปิดหีบร้อง 91 เรื่อง

เมื่อเวลา 18.00 น. ที่สำนักงาน กกต. พ.ต.อ. จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงความคืบหน้าหลังปิดหีบลงคะแนนทั่วประเทศในเวลา 17.00 น. ว่า มีเรื่องร้องเรียน 91 เรื่อง แบ่งเป็นการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย 33 เรื่องและร้องเรียนการกระทำของผู้สมัคร 58 เรื่อง ยังมีเรื่องที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งพบการกระทำความผิดรวม 7 เรื่อง แยกเป็นแจกเงินซื้อเสียง 4 เรื่อง ข่มขู่ให้ลงคะแนน จำหน่ายสุรา สวมสิทธิเลือกตั้ง อย่างละ 1 เรื่อง กรณีการฉีกบัตรพบ 21 เรื่อง ใน 20 จังหวัด ประกอบด้วย ลำพูน สมุทรสงคราม อยุธยา ยโสธร เชียงใหม่ ตาก กรุงเทพฯ ปทุมธานี นครศรีธรรมราช อ่างทอง สระบุรี อุบลราชธานี นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา นครนายก ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สกลนคร อุดรธานี ลำปาง เบื้องต้นไม่ได้มีสาเหตุจากการต่อต้านระบบ แต่เป็นลักษณะพลั้งเผลอและเมาสุรา ตำรวจจะสอบสวนเพื่อดูเจตนาการกระทำก่อนสรุปสำนวนคดี ส่วนการถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วพบที่ชลบุรีและบุรีรัมย์ ซึ่งกฎหมายห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว แต่หากเป็นการถ่ายภาพบัตรโดยไม่เห็นผลคะแนนว่ากาให้กับผู้ใด ยังถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ ไม่ถือเป็นความผิด

นิวซีแลนด์บัตรเสีย 1,500 ใบมาไม่ทัน

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า นอกจากนี้ กกต.ได้รับรายงานว่า บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร จากประเทศนิวซีแลนด์ ประมาณ 1,500 ใบ ถูกส่งมาไม่ทันเวลา ตามกฎหมายต้องถือว่าเป็นบัตรเสีย แต่ต้องมีกระบวนการสั่งการ โดยในวัน 25 มี.ค.สำนักงานจะเสนอ กกต.ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัย สำหรับสาเหตุล่าช้าเบื้องต้นทราบว่าเป็นการขนส่งโดยสายการบิน 3 สายการบิน ต้องต่อเครื่องและมีปัญหาเครื่องบินดีเลย์ โดยบัตรถูกจัดส่งออกมาพร้อมกับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. ปกติต้องมาถึง 23 มี.ค. แต่ปรากฏว่าบัตรเพิ่งถูกส่งมาถึง 24 มี.ค. ทำให้ไม่สามารถจัดส่งไปนับคะแนนได้ ทั้งนี้ในอดีตก็เคยเกิดเหตุบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรส่งมาไม่ทันเวลา แต่ยืนยันว่า กกต.พยายามติดตามการขนส่งบัตรนอกราชอาณาจักรอยู่ตลอดเวลา ส่วนของจากประเทศอื่นๆถูกส่งมาตามกำหนดและส่งไปยังเขตเลือกตั้งทุกเขตทันนับคะแนน

ตั้งเป้าประกาศผล 9 พ.ค.กรอบ 150 วัน

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ส่วนของสำนักงานฯ ตั้งเป้าที่จะพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านและเสนอ กกต.ให้ประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 ภายในวันที่ 9 พ.ค. จะอยู่ในกรอบระยะเวลา 150 วันที่ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 แต่ประเด็นระยะเวลา 150 วัน ยังมีความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยเห็นว่าระยะเวลาที่ กกต.ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังการเลือกตั้ง ไม่รวมอยู่ในระยะเวลาดังกล่าวถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะครบระยะเวลาในวันที่ 23-24 พ.ค.ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต.ว่าจะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร

เตรียมเลือกตั้งใหม่หากโหวตโนชนะ

เลขาธิการ กกต.ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งใหม่กรณีที่คะแนนโหวตโนชนะผู้ที่มีคะแนนสูงสุด ว่า สำนักงานได้เตรียมแผนรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งต้องเปิดรับผู้สมัครชุดใหม่ทั้งหมดตามกฎหมาย จึงต้องมีระยะเวลาในการเตรียมการ โดยวางแผนให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 28 เม.ย. แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ กกต.เพิกถอนสิทธิสมัครชั่วคราว (ใบส้ม) หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ที่ผู้สมัครยังเป็นชุดเดิมก็จะมีการเลือกตั้งก่อนเวลาดังกล่าว

ไม่รู้เรื่องทหารชะโงกดูกาบัตรกัน

ส่วนกรณีที่มีคลิปมีนายทหารเดินเข้าไปชะโงกดูการใช้สิทธิของทหารอีกราย ภายในหน่วยเลือกตั้งสนามเป้า พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่โดยหลักการการลงคะแนนต้องเป็นความลับ จะพิจารณาเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ กกต.ต้องขอขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสะท้อนถึงการตื่นตัวทางการเมือง คาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 80 ตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยทั้ง 92,320 หน่วย สามารถปิดการลงคะแนนได้ตามเวลาเรียบร้อยทุกหน่วย

เอ็กซิทโพล พปชร.-อนค.กระฉูด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง สำนักโพลต่างๆ ทยอยรายงานผลเอ็กซิทโพล ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยยังคงครองแชมป์ได้ ส.ส.เขตราว 160-170 เขต ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตราว 70-80 เขต ขณะที่พรรคพลังประชารัฐมาแรงได้ทั้ง ส.ส.ระบบเขตและบัญชีรายชื่อรวมกันเกือบ 100 ที่นั่ง เช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ที่ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อสูงมากถึง 40-50 ที่นั่ง โดยสวนดุสิตโพลรายงานว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.173 ที่นั่ง พลังประชารัฐ 96 ประชาธิปัตย์ 88 อนาคตใหม่ 49 ภูมิใจไทย 40 และเสรีรวมไทยก็ได้ ส.ส.ไปถึง 17 ที่นั่ง มาจากระบบบัญชีรายชื่อล้วนๆ

แยกรายเขต พท.ยังครองแชมป์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ เมื่อจำแนกเป็นรายภาคแล้ว สวนดุสิตโพลระบุว่า ที่ภาคเหนือ 62 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 42 ประชาธิปัตย์ 10 และพลังประชารัฐ 10 ที่นั่ง ภาคอีสาน 116 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 87 พลังประชารัฐ 17 ภูมิใจไทย 11 และชาติไทยพัฒนา 1 คน ภาคกลาง 92 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 29 ประชาธิปัตย์ 22 พลังประชารัฐ 23 ภูมิใจไทย 8 ชาติไทยพัฒนา 9 และอนาคตใหม่ 1 คน ภาคใต้ 50 เขต พรรคประชาธิปัตย์ได้ 44 ประชาชาติ 2 ภูมิใจไทย 2 พลังประชารัฐ 1 และรวมพลังประชาชาติไทย 1 คน ส่วนที่ กทม. 30 เขต พรรคเพื่อไทยได้ 15 ประชาธิปัตย์ 12 พลังประชารัฐ 2 คน และอนาคตใหม่ 1 คน

ตะลึง ปชป.จ่อสูญพันธุ์เมืองหลวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการนับคะแนนเริ่มขึ้นปรากฏว่าในหลายๆเขตพรรคพลังประชารัฐกลับมีคะแนนพลิกแซงนำอดีต ส.ส.ตัวเต็งชื่อดังจากทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เช่นเดียวกับอนาคตใหม่ที่มีคะแนนนำเป็นที่ 1 ในหลายเขตและเมื่อนับคะแนนไประยะหนึ่ง ปรากฏว่าที่ กทม.ในเขตชั้นใน หรือโซนไข่แดง ปรากฏว่าผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐมีคะแนนนำพรรคประชาธิปัตย์แทบทุกเขต ส่วนเขตพื้นที่ฝั่งธนฯกลับกลายเป็นพรรคอนาคตใหม่ที่ทำคะแนนฉีกนำพรรคประชาธิปัตย์ในหลายเขต ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็โดนแย่งเก้าอี้ไปไม่น้อย แต่ยังรักษาฐานเดิมไว้ได้มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แทบไม่มีเขตไหนที่มีคะแนนขึ้นนำเลย

ใต้ พปชร.โค่นเสาไฟฟ้ากระจุย

ส่วนที่ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ปรากฏว่าถูกตีแตกยับเยิน ไม่ว่าจะเป็นที่ จ.นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต ซึ่งผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐมีคะแนนนำเหนือผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ในหลายเขต และในบางเขตทิ้งห่างอย่างน่าตกใจ

ขณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี พรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค เจาะพื้นที่บ้านเกิดตัวเองไม่เข้า พรรคประชาธิปัตย์ยังมีคะแนนนำยกจังหวัด อย่างไรก็ตามพรรครวมพลังประชาชาติไทยได้ลุ้นที่ จ.ชุมพร ที่มีคะแนนนำอยู่ 1 ที่นั่ง จากสุพล จุลใส แต่จนถึงเวลา 20.50 น. ปรากฏว่าที่ จ.พัทลุง ตรัง สตูล นราธิวาส ยะลา ปัตตานี ยังไม่มีรายงานคะแนนเข้ามา

อีสาน พท.ยังแข็งแต่ก็โดนเจาะรั่ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาพรวม ส.ส.เขตยังคงเป็นพรรคเพื่อไทยที่น่าจะกวาด ส.ส.ไปได้เยอะตามความคาดหมาย โดยคาดว่าจะได้ ส.ส.ยกจังหวัด อาทิ ที่ จ.อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู สกลนคร มหาสารคาม โดยมีพรรคพลังประชารัฐสร้างเซอร์ไพรส์มีคะแนนนำในหลายจังหวัด หลายเขต โดยเฉพาะที่ จ.นครราชสีมา อาจจะได้ถึง 6 จาก 14 ที่นั่ง ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่จะได้ ส.ส.สอดแทรกเข้ามา อาทิ จ.ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุบลราชธานี ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ก็มีคะแนนไม่น้อย โดยสามารถยึดบุรีรัมย์ได้ทั้งจังหวัด และจะได้ที่นั่งใน จ.นครราชสีมาถึง 4 ที่นั่ง ส่วนจังหวัดอื่นๆ จะได้ที่ จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ก็มีคะแนนเป็นลำดับ 2-3 น่าจะได้แต้ม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจำนวนมาก

พปชร.ฉลุยเมืองชลจ่อกวาดเรียบ

สำหรับภาคกลาง ยังเป็นพื้นที่ที่หลายพรรคได้ ส.ส. เมื่อนับคะแนนไประยะหนึ่งก็เริ่มเห็นชัดอย่าง จ.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนายังคงรักษาเก้าอี้ได้ทั้ง 4 เขต ส่วน จ.อ่างทอง และ จ.อุทัยธานี ที่พรรคภูมิใจไทยได้ตัวผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนาไปก็ได้ ส.ส.ยกทั้ง 2 จังหวัด ที่ จ.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐน่าจะได้ ส.ส.ทั้ง 2 เขต ส่วนที่ จ.ลพบุรี มีทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐที่มีคะแนนนำ ที่น่าสนใจที่ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่มีคะแนนนำ เช่นเดียวกับที่ จ.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐคะแนนนำเกือบทุกเขต

แรงทั่วไทยภาคเหนือก็กวาดเรียบ

ขณะที่ภาคเหนือ ผู้สมัคร ส.ส.ที่มีคะแนนนำยังมาจากพรรคเพื่อไทย แต่สัดส่วนลดลงจากเมื่อการเลือกตั้ง 2554 อย่างชัดเจน ที่กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐสามารถทำแต้มขึ้นนำในทุกเขต หลังได้ผู้สมัครตัวแข็งๆจากกลุ่มชากังราว ที่มีนายวราเทพ รัตนากร อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย ไปแบบยกชุด เช่นเดียวกับที่ จ.เพชรบูรณ์ ภายใต้การนำของนายสันติ พร้อมพัฒน์ ที่ย้ายจากพรรคเพื่อไทยไปเช่นเดียวกัน ส่วนที่ จ.พิจิตรและ จ.พะเยา พรรคพลังประชารัฐก็กระแสแรงมีคะแนนถึง 2 จาก 3 เขต ขณะที่ จ.แพร่ ปรากฏว่าพรรคอนาคตใหม่มีคะแนนนำทั้ง 2 เขต ภายหลังจากผู้สมัครตัวเก็งจากพรรคไทยรักษาชาติถูกตัดสิทธิ์

ปชป.ช็อกแค่ข้ามคืนเป็นพรรคต่ำ 50

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ออกมาแถลงข่าวขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ กระทั่งเวลา 20.00 น. หลังทราบผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งระบบบัญชีรายชื่อและระบบเขต อาทิ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท และสมาชิกพรรคที่มาร่วมลุ้นการนับคะแนนที่ลานแม่พระธรณีฯ บรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบ ซึม ไม่คึกคักเหมือนตอนแรก หลังทราบผลคะแนน ส.ส.เขตของพรรคโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ผู้สมัครของพรรคซึ่งเคยเป็นเจ้าของพื้นที่สอบตกจำนวนมากกว่าที่คาดคิด โดยแฟนคลับของพรรคบางคนถึงกับลุกจากเก้าอี้นั่งลุ้นทยอยเดินทางกลับเหลืออยู่บางตาไม่ถึง 30 คน

สำหรับอดีต ส.ส.ที่คาดว่าคนสำคัญที่สอบตก อาทิ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าภาคใต้และผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง นายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง 8 สมัย นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมถึง 23 คนต่างสอบตกเกือบหมด อาจเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ โดยได้ ส.ส.ทั้งหมดเพียง 35 คนเท่านั้น

พปชร.แซงหน้าเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก กกต. ว่า เมื่อเวลา 22.00 น. ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ 92% ปรากฏว่า คะแนนของพรรคประชารัฐได้คะแนนถึง 7.5 ล้านคะแนน ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 7 ล้านคะแนน ทั้งนี้ยังไม่รวมคะแนนจาก 6 จังหวัด ได้แก่ จ.พัทลุง ตรัง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสตูล รวมทั้งสิ้น 18 เขต ที่ กกต.ในพื้นที่ยังไม่ส่งผลคะแนนมายัง กกต.กลาง

พท.โกย ส.ส.เขต-พปชร.แชมป์แต้มรวม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเวลา 22.15 น. พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.เขต 99 คน คะแนนรวมทั้งประเทศ 6,808,068 คะแนน พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขต 124 คน คะแนนรวม 6,797,459 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.เขต 25 คน คะแนนรวม 4,160,991 คะแนน พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.เขต 42 คน คะแนนรวม 2,619,831 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขต 31 คน คะแนนรวม 2,013,830 คะแนน พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ ส.ส.เขต 7 คน คะแนนรวม 473,520 คะแนน พรรคเพื่อนไทย ได้ ส.ส.เขต 3 คน คะแนนรวม 352,090 คะแนน พรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้ ส.ส.เขต 4 คน คะแนนรวม 156,600 คะแนน

“อภิสิทธิ์” ขอโทษผู้สนับสนุนพรรค

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินลงจากห้องทำงานพร้อมคณะผู้บริหารพรรคและสมาชิกผู้สมัคร ส.ส.พรรคจำนวนมาก โดยนายอภิสิทธิ์ แถลงว่า ขอบคุณประชาชนทุกคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยวันนี้ ขอบคุณผู้ที่มอบคะแนนเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ แม้ผลการนับคะแนนยังไม่ยุติ แต่เป็นที่แน่ชัดว่าผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตนได้ตั้งไว้ ขอโทษผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนที่ไม่สามารถผลักดันแนวคิดของเราให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ขออภัยเพื่อนๆผู้ร่วมอุดมการณ์ทุกคน ซึ่งเป็นผู้ที่ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเป็นนักการเมืองคุณภาพทั้งที่เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคนที่มาสมัครเป็นครั้งแรก และคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจมาสืบสานอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์แต่ไม่สามารถประสบความสำเร็จเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้

ประกาศลาออกจากหัวหน้า ปชป.

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดผมต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าองค์กร ผมขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่บัดนี้ และตามข้อบังคับของพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลืออยู่จะเป็นผู้รักษาการ กรรมการบริหารพรรคที่รักษาการอยู่นี้ รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้ง จะพิจารณาแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลตามข้อบังคับพรรคต่อไป กราบขอบพระคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนตลอดเวลา ขอเรียนว่าความตั้งใจในการทำงานให้ประชาชนและพรรคไม่มีเสื่อมคลาย เพราะหนึ่งในเรื่องที่ต้องสร้างให้ได้คือสัจจะของนักการเมือง ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจมาตลอด” นายอภิสิทธิ์กล่าว

หลังการประกาศ นายอภิสิทธิ์เดินมาขึ้นรถเพื่อกลับบ้าน โดยมีมวลสมาชิกพรรคเดินมาส่งถึงรถ มีแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์และผู้สมัคร ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์พรรค อาทิ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต กอดคอร้องไห้กับสมาชิกพรรคด้วย

พื้นที่เมืองหลวงล็อกถล่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางด้านสนามเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ ที่มี 30เขตเลือกตั้ง เป็นพื้นที่ที่มี 2 พรรคการเมือง เป็นเจ้าสนามเก่า โดยการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.กทม.ทั้งหมด 23 คน และพรรคเพื่อไทยได้ 10 คน จากจำนวนส.ส.ทั้งหมด 33 ที่นั่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการแล้ว 89 เปอร์เซ็นต์ จากยอดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,474,303 มีผู้มาแสดงตนใช้สิทธิ 2,221,784 คน เป็นบัตรดี 2,119,372 ใบ บัตรเสีย 62,148 ไม่ประสงค์ลงคะแนน 40,264 ใบ โดยในเบื้องต้น พรรคพลังประชารัฐมีคะแนนนำมา 549,733 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ตามมาติดๆ 533,280 คะแนน ตามด้วยพรรคเพื่อไทย 427,660 คะแนน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบผลการเลือกตั้งในหลายเขต มีหลายพื้นที่มีโอกาสจะเกิดรายการล็อกถล่ม ชนิดที่ว่า สึนามิการเมืองเข้าทลายพรรคการเมืองที่เคยครองพื้นที่ อย่างพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ และพรรคอนาคตใหม่ กลายเป็น 2 พรรคการเมือง ที่กวาดที่นั่ง ส.ส.ในพื้นที่ กทม. ชนิดที่เรียกว่า “ล้มช้าง” โดยมีโอกาสกวาดที่นั่งได้เป็นกอบเป็นกำ

พปชร.มาแรงกวาดพื้นที่ชั้นใน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการนับคะแนนเมื่อเวลา 21.00 น. ปรากฏว่า ในเขตเลือกตั้งที่ 1 น.ส.กานกนิษฐ์ แห้วสันตติ จากพรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 22,371 ตามด้วย น.ส.นพมาศ การุญ จากพรรคอนาคตใหม่ที่ได้คะแนน 16,660 น.ส.ลีลาวดี วัชโรบล พรรคเพื่อไทย 15,064 คะแนน

เขต 2 น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ หรือ “ดร.ส้ม” พรรคพลังประชารัฐ จ่อเข้าป้ายได้ 25,996 คะแนน น.ส.พัสวี ภัทรพุทธากร พรรคอนาคตใหม่ 24,882 คะแนน น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แค่ 7,712 คะแนนเท่านั้น

ส่วนเขต 3 น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน พรรคอนาคตใหม่ 26,588 คะแนน ตามด้วยนายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ พรรคพลังประชารัฐ 24,244 คะแนน ส่วน ม.ล.อภิมงคล โสณกุล พรรคประชาธิปัตย์ มีโอกาส สอบตกสูง เขต 4 น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา พรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนนำ 15,699 คะแนน ขณะที่นายกรณ์ จตุวิมล พรรคอนาคตใหม่ ลุ้นเบียดมาที่ 13,387 คะแนน ส่วนนายอนุชา บูรพชัยศรี พรรคประชาธิปัตย์ ตามมาห่างลิบลิ่ว เขต 4 น.ส.กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา พรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนนำ 25,296 คะแนน ตามด้วยนายกรณ์ จตุวิมล พรรคอนาคตใหม่ 22,990 คะแนน ส่วนแชมป์เก่า นายอนุชา บูรพชัยศรี พรรคประชาธิปัตย์ ส่อปิ๋ว

ปชป.สิ้นลายร่วงระนาวหลุดลุ่ย

เขต 5 นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ จากเพื่อไทย 25,925 คะแนน เบียดมา น.ส.อรพินทร์ เพชรทัต พรรคพลังประชารัฐ 25,826 คะแนน ส่วนนายธนา ชีรวินิจ พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่ากวด ขณะที่ในพื้นที่เขต 6 น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ พรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนนำ 26,904 คะแนน นายคริส โปตระนันทน์ พรรคอนาคตใหม่ 21,498 คะแนน ส่วนแชมป์เก่า นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ตามมาลิบๆ

ขณะที่เขต 7 น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ พรรคพลังประชารัฐ มีคะแนนนำ 20,697 คะแนน ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ พรรคเพื่อไทย 20,474 คะแนน ส่วนนางพิมพ์อร คงอุดม พรรคพลังท้องถิ่นไท และ “หมอเอ้ก” นายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ติดโผอีกตัวเต็ง ร่วงผล็อย

เขต 8 นายกษิดิ์เดช ชุติมันต์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 27,048 คะแนน ตามด้วย ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง หรือ “หมวดเจี๊ยบ” จากพรรคเพื่อไทย หายใจรดต้นคอ 24,436 คะแนน ขณะที่นายสรรเสริญ สมะลาภา พรรคประชาธิปัตย์ ตามห่างๆ

โซนตะวันออกเมืองกรุง พท.หืดจับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขต 9 นายสิระ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 33,112 คะแนน ตามมาด้วยนายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย 30,182 คะแนน ทางด้านเขต 10 นายการุณ โหสกุล พรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำ 29,268 คะแนน ตามด้วยนางกนกนุช กลิ่นสังข์ พรรคพลังประชารัฐ 20,812 คะแนน เขต 11 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พรรคเพื่อไทย 32,516 คะแนน นำนายสมชาย เวสารัชตระกูล พรรคประชาธิปัตย์ 23,277 คะแนน ส่วนเขต 12 นายอนุสรณ์ ปั้นทอง พรรคเพื่อไทย 27,336 คะแนน ตามมาด้วย ภญ.นพวรรณ หัวใจมั่น จากพลังประชารัฐ 24,863 คะแนน

เขต 13 น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ พรรคพลังประชารัฐ นำด้วยคะแนน 24,477 คะแนน ตามมาด้วนนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส พรรคเพื่อไทย 21,376 คะแนน ทางด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ “ไอติม” หลานชายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขต 14 นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ พรรคเพื่อไทย ได้ 29,709 คะแนน นายณริช ผลานุรักษา พรรคพลังประชารัฐ 24,138 คะแนน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เขต 15 นายชาญวิทย์ วิภูศิริ พรรคพลังประชารัฐ ได้ 30,555 คะแนน เฉือนนายวิชาญ มีนชัยนันท์ พรรคเพื่อไทย 28,833 คะแนน ขณะที่เขต 16 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกปากกล้าจากพรรคเพื่อไทย 28,822 คะแนน ตามมาติดๆ น.ส.เกศกานดา อินช่วย พรรคพลังประชารัฐ 26,951 คะแนน เขต 17 นายศิริพงษ์ รัสมี พรรคพลังประชารัฐ 24,618 คะแนน ตามด้วยนายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ พรรคเพื่อไทย 23,497 คะแนน เขต 18 น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย 32,277 คะแนน ตามด้วยนายเอกฤทธิ เจียกขจร พรรคอนาคตใหม่ 19,965 คะแนน นายวิสูตร สำเร็จวาณิชย์ พรรคพลังประชารัฐ ต้องซดน้ำแห้ว

แชมป์เก่าประชาธิปัตย์จบเห่เป็นเบือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเขต 19 นายประสิทธิ์ มะหะหมัด พรรคพลังประชารัฐ 24,618 คะแนน ตามด้วยนายสุรกฤณ ลิมปรัทกาญจนา พรรคอนาคตใหม่ 19,937 ส่วนนางนาถยา แดงบุหงา พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่าปิ๋ว เขต 20 มณฑล โพธิ์คาย พรรคอนาคตใหม่ 26,308 คะแนน ตามด้วยนายธันวา ไกรฤกษ์ พรรคพลังประชารัฐ 19,159 คะแนน ส่วนแชมป์เก่านายสามารถ มะลูลีม พรรคประชาธิปัตย์ จุกอกอีกราย

เขต 21 นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ พรรคอนาคตใหม่ เป็นว่าที่ ส.ส.หน้าใหม่ นำโด่งด้วยคะแนน 33,395 คะแนน ตามมาด้วย น.ส.จักรรีรัตน์ แสงราวี พรรคพลังประชารัฐ 27,387 คะแนน ส่วนแชมป์เก่านายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ อกหัก

เขต 22 นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พรรคอนาคตใหม่ เติมแต้มให้ค่ายสีส้มได้ 30,015 คะแนน ตามด้วยนายศันสนะ สุริยะโยธิน พรรคพลังประชารัฐ 24,961 คะแนน ส่วน ท.พ.สุรันต์ จันทร์พิทักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่าหลุดวงโคจร เขต 23 นายโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี พรรคอนาคตใหม่ 25,019 คะแนน นางสาวทิพานัน ศิริชนะ พรรคพลังประชารัฐ 24,033 คะแนน ส่วนนายสุวัฒน์ ม่วงศิริ พรรคภูมิใจไทย และนันทพร วีรกุลสุนทร พรรคประชาธิปัตย์ กอดคอกันอกหัก เขต 24 นายทศพร ทองศิริ พรรคอนาคตใหม่ ได้ 35,066 คะแนน ตามด้วยนายไกรเสริม โตทับเที่ยง พรรคพลังประชารัฐ 27,364 คะแนน เขต 25 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ พรรคอนาคตใหม่ เข้าป้ายด้วยคะแนน 29,000 คะแนน ทิ้งห่างนายสากล ม่วงศิริ พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่า

“วัน ลูกเฉลิม” ลุ้นเฮ “เอกนัฏ” เศร้า

เขต 26 นายวัน อยู่บำรุง พรรคเพื่อไทย มีโอกาสเข้าสภาฯ 28,710 คะแนน นายกันต์พงษ์ ประยูรศักดิ์ พรรคอนาคตใหม่24,748 คะแนน ส่วนพ.ต.อ.นพ.สามารถ ม่วงศิริ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วงเก้าอี้ เขต 27 นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ พรรคอนาคตใหม่ 26,876 คะแนน สูสี พ.ต.ท.วันชัย ฟักเอี้ยง พรรคเพื่อไทย 26,355 คะแนน ส่วนนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่า น่าจะกวดเข้าเส้นชัยไม่ทัน เขต 28 ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา พรรคพลังประชารัฐ ประเดิมการเมือง มีโอกาสเข้าป้ายที่ 21,228 คะแนน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พรรคอนาคตใหม่ 20,797 คะแนน ส่วนอดีตรัฐมนตรีนายวัฒนา เมืองสุข พรรคเพื่อไทย 9,838 คะแนน และนางอรอนงค์ คล้ายนก พรรคประชาธิปัตย์ อกหักดังเป๊าะ เขต 29 นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา พรรคเพื่อไทย 26,860 คะแนน

ผศ.ดร.ณพงศ์ นพเกตุ พรรคพลังประชารัฐ 23,082 คะแนน ขณะที่มือปราบคอร์รัปชัน อย่างนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ พรรคประชาธิปัตย์ เสี่ยงจะต้องออกไปลุยงานนอกสภาฯ เขต 30 นายจักรพันธ์ พรนิมิตร พรรคพลังประชารัฐ 29,573 คะแนน เฉือนนายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ พรรคเพื่อไทย 24,342 คะแนน โดยพื้นที่นี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก พรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่า กลายเป็นอดีตผู้แทนฯไป

พท.ยังแกร่งครองแชมป์ภาคอีสาน

ต่อมาเวลา 21.30 น. ที่สนามเลือกตั้งภาคอีสาน ที่มีชิงกันถึง 116 เก้าอี้ ภายหลังนับคะแนนไปได้ 90% ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยครองความเป็นแชมป์ภาคอีสานกวาด ส.ส.ยกจังหวัดได้หลายพื้นที่ ได้แก่ จ.อุดรธานี เมืองหลวงคนเสื้อแดง ที่พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส.ได้ครบ 8 ที่นั่ง รวมถึงจังหวัดในภาคอีสานอื่นๆที่พรรคเพื่อไทยกวาดได้ยกจังหวัด คือ จ.หนองคาย จ.หนองบัวลำภู จ.สกลนคร จ.มหาสารคาม จ.มุกดาหาร จ.ยโสธร จ.บึงกาฬ ส่วนที่ จ.นครราชสีมา 14 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐที่นำโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ หัวหน้าทีมภาคอีสาน นำทีมพรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งมาได้ 6 เขต ได้แก่ เขต 1 นายเกษม ศุภรานนท์ เขต 4นายทวิรัฐ รัตนเศรษฐ เขต 6 นายอธิรัช รัตนเศรษฐ เขต 7 นางทัศนียา รัตนเศรษฐ เขต 8 นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ และเขต 11 นายสมศักดิ์ พันธเกษม แบ่งให้พรรคภูมิใจไทย 4 ที่นั่ง และพรรคเพื่อไทยเหลืออยู่ 3 ที่นั่ง

“ปรีชา” หมดรูปพาทีมร่วงเลย 3 เขต

ส่วนที่ จ.เลย ผลปรากฏว่า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐพ่ายแพ้หมดรูปทั้ง 3 เขต โดยเขต 1 นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล พรรคเพื่อไทย มีคะแนนมาเป็นที่ 1 ส่วนเขต 2 และ 3 ผู้ชนะตกเป็นของผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยคือ นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ และนายธนยศ ทิมสุวรรณ โดยเฉพาะในเขต 3 นายปรีชาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป มีคะแนนหล่นไปอยู่เป็นที่ 3

ศรีสะเกษ พท.ถูกเจาะฐานแตก

จ.ศรีสะเกษ มีให้ชิงกัน 8 ที่นั่ง ที่พรรคเพื่อไทยเคยครองความยิ่งใหญ่ แต่ในครั้งนี้ต้องสูญเสียที่นั่ง 3 เขตให้กับคู่แข่ง ได้แก่เขต 1 “เสี่ยโต้ง” สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ พรรคภูมิใจไทยที่ย้ายมาจากพรรคชาติไทยพัฒนา โค่นแชมป์เก่า ธเนศ เครือรัตน์ พรรคเพื่อไทย เขต 4 นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ พรรคพลังประชารัฐ เฉือน นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ พรรคเพื่อไทย และเขต 7 นายอาสพลธ์ สรรณ์ไตรภพ พรรคภูมิใจไทย ก็ชนะเจ้าของที่นั่งครั้งที่แล้ว นายมานพ จรัสดำรงสถิตย์ พรรคเพื่อไทย ส่วนอีก 5 เขตพรรคเพื่อไทยยังป้องกันตำแหน่งแชมป์ได้ทั้งหมด

เช่นเดียวกับ จ.ขอนแก่น ที่พรรคเพื่อไทยผูกขาดมาตลอด มีโอกาสเสียถึง 3 นั่ง ที่เขต 1 ที่นายฐิตินันท์ แสงนาคา ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ ส่อโค่นแชมป์เก่า นายจักริน พัฒนดำรงจิตร เขต 2 นายวัฒนา ช่างเหลา พรรคพลังประชารัฐ ก็เบียดนางอรอนงค์ สาระผล พรรคเพื่อไทย ที่ลงแทนนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ที่ติดคุกจากคดีจำนำข้าว และที่เขต 7 นายสมศักดิ์ คุณเงิน พรรคพลังประชารัฐ ที่ยังมีคะแนนนำนายนวัธ เตาะเจริญสุข พรรคเพื่อไทย อย่างคู่คี่ ส่วนที่เหลืออีก 7 เขต พรรคเพื่อไทยยังคงของฐานเสียงส่วนใหญ่ไว้ได้

“เนวิน” แกร่งกินรวบบุรีรัมย์

จ.บุรีรัมย์ ถิ่นของนายเนวิน ชิดชอบ ที่รอบที่แล้วพรรคภูมิใจไทยไม่สามารถกวาด ส.ส.ได้ยกจังหวัด แบ่งให้พรรคเพื่อไทยไป 2 ที่นั่ง ปรากฏว่า ในรอบนี้ พรรคภูมิใจไทยกลับมาครองความยิ่งใหญ่เหมา ส.ส.ยกจังหวัดทั้ง 8 เขต โดยที่พรรคเพื่อไทย ไม่สามารถเจาะเข้ามาได้แม้แต่เขตเดียว

พท.ยังครองแชมป์เมืองอุบลฯ 6 ที่นั่ง

จ.อุบลราชธานี มี 9 เขตเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐสามารถเข้าไปปักธงได้สำเร็จ 2 เขต ที่เขต 1 นายอดุลย์ นิลเปรม และเขต 6 นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยยังแข็งแกร่ง กวาดส่วนแบ่งไปได้มากที่สุด 6 ที่นั่ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ 2 เขต ที่เขต 2 นายวุฒิพงษ์ นามบุตร และเขต 8 น.ส.บุณย์ธิดา สมชัย

“เสี่ยแกละ” คัมแบ็กพา ชทพ.ซิวร้อยเอ็ด

จ.ร้อยเอ็ด ถิ่นที่พรรคเพื่อไทยเคยครองความยิ่งใหญ่ กวาดยกจังหวัดปี 2554 แต่รอบนี้พรรคเพื่อไทยถูกเจาะฐานแตกไป 2 เขต ได้แก่ เขต 1 นายอนุรักษ์ จุรีมาศ พรรคชาติไทยพัฒนา เอาชนะแชมป์เก่านายวราวงษ์ พันธ์ศิลา พรรคเพื่อไทยไปอย่างขาดลอย ส่วนที่เหลืออีก 6 เขต พรรคเพื่อไทยยังเหนียว รักษาเก้าอี้ได้ทั้งหมดที่เขต 2 นายฉลาด ขามช่วง เขต 3 นายนิรมิต สุจารี เขต 4 นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ เขต 5 น.ส.จิราพร สินธุไพร เขต 6 นายกิตติ สมทรัพย์ และเขต 7 นายศักดา กงเพชร และที่ จ.สุรินทร์ 7 เขต พรรคเพื่อไทย กวาดไปได้ 5 เขต โดยพรรคภูมิใจไทยยังคงรักษาที่นั่งเขต 1 ไว้ได้จากนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ส่วนที่เขต 2 นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ พรรคพลังประชารัฐ พลิกล็อกชนะนายชูชัย มุ่งเจริญพร พรรคเพื่อไทย

เมืองกล้วยไข่ พปชร.กวาดเรียบ

สำหรับพื้นที่เลือกตั้งภาคเหนือ 16 จังหวัดอดีตพรรคเพื่อไทย ยึดเก้าอี้ ส.ส.มากที่สุดจาก 62 เก้าอี้ แต่ปรากฏว่าการเลือกตั้งครั้งนี้หลังอดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทยแห่ไปซบพรรคพลังประชารัฐ ทำให้สูญเสียเก้าอี้ให้แก่พรรคพลังประชารัฐพอสมควรซึ่งผลการนับคะแนน 85 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดเมื่อเวลา 20.46 น. ปรากฏว่า ที่ จ.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐนำโด่งกวาดเรียบ 4 เขต ในเขต 1 นายไผ่ ลิงค์ 25,527 คะแนน เขต 2 พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ 32,181 คะแนน เขต 3 นายอนันต์ ผลอำนวย 28,649 คะแนน เขต 4 นายปริญญา ฤกษ์หร่าย 26,528 คะแนน และที่ จ.ตาก พรรคพลังประชารัฐ เขต 1 นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ 35,425 คะแนนเขต 2 นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ประชาธิปัตย์ ได้ 21,839 คะแนน และเขต 3 นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข พรรคพลังประชารัฐ ได้ 13,846 คะแนน

เชียงใหม่ “เพื่อไทย” ชนะทุกเขต

ส่วนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ แชมป์เก่าพรรคเพื่อไทยยังคงรักษาฐานที่มั่นเหนียวแน่นทั้ง 9 เขต ไม่ว่าจะเป็นเขต 1 นางทัศนีย์ บูรณปกรณ์ ได้ 28,739 คะแนน เขต 2 นายนพคุณ รัฐผไท 38,613 คะแนน เขต 3 นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม 56,339 คะแนน เขต 4 นายวิทยา ทรงคำ 28,460 คะแนน เขต 5 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 30,076 คะแนน เขต 6 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ 19,078 คะแนน เขต 7 นายประสิทธิ วุฒินันชัย 22,541 คะแนน เขต 8 นายสุรพล เกียรติไชยากร 39,213 คะแนน เขต 9 นายศรีเรศ โกฎคำลือ ได้ 22,617 คะแนน

จ.เชียงราย พรรคพลังประชารัฐสามารถเจาะไข่แดงให้แก่นางรัตนา จงสุทธานามณี ได้ในเขต 1 ส่วนที่เหลือพรรคเพื่อไทยยังรักษาแชมป์ไว้ได้ทั้งในเขต 2 นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ 36,746 คะแนน เขต 3 นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ 47,291 คะแนนเขต 4 นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ 55,205 คะแนน เขต 5 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน 32,397 คะแนน เขต 6 นายอิทธิเดช แก้วหลวง 19,521 คะแนน และเขต 7 น.ส.ละออง ติยะไพรัช 25,867 คะแนน

“ปากน้ำโพ” พปชร.กวาด 4 เขต

ส่วน จ.นครสวรรค์พรรคพลังประชารัฐกวาดไป 4 เขตในเขต 1 นายภิญโญ นิโรจน์ ได้ 18,465 คะแนน เขต 2 นายวีระกร คำประกอบ 22,641 คะแนน เขต 3 นายสัญญา นิลสุพรรณ 30,701 คะแนน เขต 4 นายมานพ ศรีผึ้ง พรรคภูมิใจไทยได้ 30,337 คะแนน เขต 5 นายทายาท เกียรติชูศักดิ์ พรรคเพื่อไทย 31,537 คะแนน เขต 6 นายนิโรธ สุนทรเลขา พรรคพลังประชารัฐ 23,609 คะแนน ส่วน จ.น่าน เพื่อไทยรักษาแชมป์ในเขต 1 นายสิรินทร รามสูต 29,586 คะแนน เขต 2 นายชลน่าน ศรีแก้ว 40,063 คะแนน เขต 3 นายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ 25,209 คะแนน ส่วนที่ จ.พิจิตร เขต 1 นายพรชัย อินทร์สุข พรรคพลังประชารัฐ 22,394 คะแนนเขต2 นายภูดิท อินทสุวรรณ์ พรรคพลังประชารัฐ 18,977 คะแนน และเขต 3 นายวิชัย ด่านรุ่งโรจน์ จากพรรคภูมิใจไทยสอดแทรกเข้ามาได้ 27,845 คะแนน

สองแควล้มช้าง “วรงค์” ร่วง

ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ปรากฏว่าในเขต 1 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคอนาคตใหม่ 24,124 คะแนน ทำให้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แชมป์เก่าพรรคประชาธิปัตย์ สอบตกอย่างไม่น่าเชื่อ เขต 2 นายนพพล เหลืองทองนารา พรรคเพื่อไทย 27,196 คะแนน เขต 3 นายพงษ์มนู ทองหนัก พรรคประชาธิปัตย์ 18,692 คะแนน เขต 4 นายนิยม ช่างพินิจ พรรคเพื่อไทย 32,136 คะแนน เขต 5 นายมานัส อ่อนอ้าย พรรคพลังประชารัฐ 22,864 คะแนน และที่ จ.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐยังกวาดเรียบทั้งในเขต 1 น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ 24,573 คะแนน เขต 2 นายจักรัตน์ พั้วช่วย 44,972 คะแนน เขต 3 นางวันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ 39,459 คะแนน เขต 4 นายสุรศักดิ์ อนรรฆพันธ์ 29,504 คะแนน เขต 5 นายเอี่ยม ทองใจสด 32,984 คะแนน ส่วน จ.แม่ฮ่องสอน เขต 1 นายปัญญา จีนาคำ พรรคพลังประชารัฐ 22,762 คะแนน

เมืองรถม้า ปท.ครองแชมป์

ส่วนในพื้นที่ จ.ลำปาง พรรคเพื่อไทยยังคงรักษาแชมป์เหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นในเขต 1 นายกิตติกร โล่ห์สุนทร 28,020 คะแนน เขต 2 นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร 29,608 คะแนน เขต 3 นายจรัสฤทธิ์ จันทรสุรินทร์ 41,771 คะแนน เขต 4 นายอินธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ 33,873 คะแนน รวมถึง จ.ลำพูน ยังกวาดมาได้ทั้งเขต 1 นายสงวน พงษ์มณี 43,390 คะแนน เขต 2 นายรังสรรค์ มณีรัตน์ 43,510 คะแนน

อนค.ส้มหล่นได้เทแต้มที่แพร่

จ.สุโขทัย เขต 1 นางพรรณศิริ กุลนาถศิริ พรรคพลังประชารัฐ 40,491 คะแนน เขต 2 นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง พรรคพลังประชารัฐ 37,454 คะแนน เขต 3 นายสมเจตน์ ลิมปะพันธุ์ พรรคภูมิใจไทย 33,450 คะแนน ในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทยชนะทั้งในเขต 1 นายกนก ลิ้มตระกูล 43,696 คะแนน เขต 2 นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ 43,908 คะแนน สำหรับ จ.พะเยา เขต 1 นายธรรมนัส พรหมเผ่า พรรคพลังประชารัฐ 43,788 คะแนน เขต 2 นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ พรรคเพื่อไทย 32,189 คะแนน เขต 3 นายจีรเดช ศรีวิราช พรรคพลังประชารัฐ 36,930 คะแนน ส่วน จ.แพร่ ในเขต 1 นายเอกการ ซื่อทรงธรรม พรรคอนาคตใหม่ 54,552 คะแนน และเขต 2 นายกฤติดนัย สันแก้ว พรรคอนาคตใหม่ 46,204 คะแนน โดยได้รับอานิสงส์จากการที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบและเทคะแนนให้

ภท.กวาดเรียบอุทัยธานี-อ่างทอง

เมื่อเวลา 20.00 น. การนับคะแนนยังคงดำเนินต่อไป ที่ จ.อุทัยธานี คะแนนตัวเต็งทั้งเขต 1 และเขต 2 มีคะแนนนำขาดลอย โดยเขต 1 นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ หลานชายนายชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย มีคะแนนนำนายกุลเดช พัวพัฒนกุล พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นแชมป์เก่าแบบไม่เห็นฝุ่น ส่วนเขต 2 นายชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย แชมป์เก่าก็นำฉลุยตามที่คาด ส่วน จ.อ่างทอง มี 1 เขตเลือกตั้ง นายภราดร ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย ได้คะแนน 56,613 คะแนน นำคู่แข่ง พล.ต.ต.ประจวบ เปาอินทร์ พรรคเพื่อไทย ที่ได้ 41,591 คะแนน

ชทพ.เหมาเข่ง “สุพรรณบุรี”

เช่นเดียวกับ จ.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เหมายกเข่งตั้งแต่เขต 1 นายสรชัด สุจิตต์ เขต 2 นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เขต 3 นายประภัตร โพธสุธน พรรคชาติไทยพัฒนากับนายจองชัย เที่ยงธรรม พรรคภูมิใจไทย สุดท้ายนายประภัตรก็กวาดคะแนนเข้าวิน เขต 4 นายเสมอกัน เที่ยงธรรม พรรคชาติไทยพัฒนาก็ล้มแชมป์เก่านายสหรัฐ กุลศรี พรรคเพื่อไทยด้วยคะแนนนำโด่ง ส่วน จ.ชัยนาท พรรคพลังประชารัฐ กวาดเรียบทั้งสองเขต โดยเขต 1 นายอนุชา นาคาศัย พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนน 29,651 คะแนน นายพรหมมิน สีตบุตร พรรคเพื่อไทย ได้ราว 15,274 คะแนน เขต 2 นายมณเฑียร สงฆ์ประชา พรรคพลังประชารัฐ โกยคะแนน 34,117 คะแนน เข้าวิน ส่วน จ.นครนายก แชมป์เก่า “เสี่ยอ๋า” นายวุฒิชัย กิตติธเนศวร อดีต ส.ส.จากภูมิใจไทย ที่เพิ่งย้ายไปพรรคเพื่อไทย ทำคะแนนได้กว่า 36,000 คะแนน ทิ้งห่างอันดับสอง นายสมพงษ์ สายทอง พรรคพลังประชารัฐ ถึง 1 เท่าตัว

“สะสมทรัพย์” พ่ายเยินอนาคตใหม่

กระทั่งเวลา 20.45 น. ได้นับคะแนนไปแล้ว ร้อยละ 85 ที่ จ.นครปฐม ฐานที่มั่นของบ้าน “สะสมทรัพย์” ปรากฏว่า เขต 1 พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนสูงสุด 24,571 คะแนน นำ น.ส.สาวิกา ลิมปะสุวัณณะ จากพรรคอนาคตใหม่ ที่มีคะแนน 23,448 คะแนน เขต 2 นายพาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ได้คะแนน 22,135 คะแนน เขต 3 น.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา พรรคอนาคตใหม่ ผู้สมัครหน้าใหม่ ล้มแชมป์ที่ทำคะแนนสูงลิบถึง 25,987 คะแนน ขณะที่แชมป์เก่านายก่อเกียรติ สิริยะเสถียร พรรคชาติไทยพัฒนา ได้เพียง 8,366 คะแนน เช่นเดียวกับเขต 4 ที่นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ พรรคพลังประชารัฐ เข้าวินด้วยคะแนนสูงถึง 24,382 คะแนน ขณะที่เจ้าถิ่นอย่างนายอนุชา สะสมทรัพย์ ของพรรคชาติไทยพัฒนา มาเป็นลำดับ 3 ด้วยคะแนน 17,820 คะแนน และเขต 5 นางจุมพิตา จันทรขจร พรรคอนาคตใหม่ ก็ม้ามืดเข้าวินเช่นกัน ด้วยคะแนน 25,689 คะแนน

ผู้สมัครหน้าใหม่เข้าวินสมุทรสาคร

ที่ จ.สมุทรสาคร เขต 1 นายทองแดง เบ็ญจะปัก พรรคอนาคตใหม่ ล้มแชมป์เจ้าถิ่นไปอีกเขต โดยนำอันดับ 1 ได้คะแนน 21,447 คะแนน เขต 2 นายสมัคร ป้องวงษ์ พรรคอนาคตใหม่ นำอันดับหนึ่ง 31,399 คะแนน เขต 3 น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคพลังประชารัฐ เบียดบี้สูสีกับนายปัญญา ชวนบุญ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่ จ.สมุทรสงคราม ที่มี 1 เขตเลือกตั้ง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็รักษาฐานไว้ได้ด้วยคะแนน 21,792 คะแนน ส่วนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา นับคะแนนไป 75% ปรากฏว่าเขต 1 นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร เจ้าถิ่นเดิมที่เพิ่งย้ายค่ายไปพรรคภูมิใจไทย ยังรักษาพื้นที่ไว้ได้ด้วยคะแนน 27,409 คะแนน เขต 2 นายนพ ชีวานันท์ พรรคเพื่อไทย เข้าวินไปมีคะแนนตุนไว้ 25,436 คะแนน เขต 3 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล พรรคภูมิใจไทย มีคะแนนนำโด่งมาเป็นอันดับแรก 39,222 คะแนน เขต 4 นายจิรทัศ ไกรเดชา พรรคเพื่อไทย เข้าป้ายมีคะแนนไว้อุ่นใจ 38,433 คะแนน

ปากน้ำแชมป์เก่าโดน พปชร.สอย

เมื่อเวลา 20.00 น. จ.นนทบุรี เขต 1 นางเจริญ เรี่ยวแรง พรรคพลังประชารัฐ 15,311 คะแนน เขต 2 นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ พรรคเพื่อไทย 11,063 คะแนน เขต 3 นายมานะศักดิ์ จันทร์ประสงค์ พรรคเพื่อไทย 19,975 คะแนน เขต 4 นายมนตรี ตั้งเจริญถาวร พรรคเพื่อไทย 12,231 คะแนน เขต 5 นายทศพล เพ็งส้ม พรรคพลังประชารัฐ 17,259 คะแนน เขต 6 นายภณณัฏฐ์ ศรีอินทร์สุทธิ์ พรรคเพื่อไทย 21,879 คะแนน จ.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ กวาด ส.ส.ไปยกจังหวัด ทำแชมป์เก่ากลายเป็น ส.ส.สอบตกเป็นแถว โดยเขต 1 นายอัครวัฒน์ อัศวเหม เขต 2 นายยงยุทธ สุวรรณบุตร เขต 3 น.ส.ภริม พูลเจริญ พรรคพลังประชารัฐ 26,363 คะแนน เขต 4 นายจาตุรนต์ นกขมิ้น 24,763 คะแนน เขต 5 นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก 35,568 คะแนน เขต 6 นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ 23,536 คะแนน เขต 7 น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ 23,765 คะแนน

“ป๋าเหนาะ” สิ้นมนต์ขลังที่สระแก้ว

ส่วน จ.จันทบุรี เขต 1 นายธวัชชัย อนามพงษ์ พรรคพลังประชารัฐ ได้คะแนนนำ 21,782 คะแนน เขต 2 นายจารึก ศรีอ่อน 24,220 คะแนน พรรคอนาคตใหม่ มีคะแนนนำ นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา พรรคพลังประชารัฐ 24,015 คะแนน เขต 3 น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน พรรคอนาคตใหม่ ได้ 25,041 คะแนน นำอันดับ 1 ที่ จ.ตราด เขต 1 นายศักดิ์ชัย นุ่มหนู พรรคอนาคตใหม่ 29,397 คะแนน ล้มแชมป์เก่าตลอดกาล คือนายธีระ สลักเพชร จากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วน จ.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทยยังรักษาฐานเสียงไว้อย่างเหนียวแน่นทั้งสามเขตโดย เขต 1 นายอำนาจ วิลาวัลย์ 31,004 คะแนน เขต 2 นายชยุต ภุมมะกาญจนะ 29,562 คะแนน เขต 3 นางสฤษดิ์ บุตรเนียร 28,062 คะแนน ขณะที่ จ.สระแก้ว ถิ่นของเจ้าพ่อวังน้ำเย็น นายเสนาะ เทียนทอง คราวนี้พรรคเพื่อไทยที่สระแก้วถึงคราวสูญพันธุ์ เมื่อพรรคพลังประชารัฐได้เก้าอี้ไปยกจังหวัด เขต 1 นายฐานิสร์ เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ 41,855 คะแนน เขต 2 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง พรรคพลังประชารัฐ 40,369 คะแนน เขต 3 นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ พรรคพลังประชารัฐ 30,589 คะแนน

ชลบุรี พปชร.กวาด อนค.แทรก

ขณะที่ จ.ชลบุรี เขต 1 นายสุชาติ ชมกลิ่น พรรคพลังประชารัฐ นำอยู่ เขต 2 ร.อ.จองชัย วงศ์ทรายทอง พรรคพลังประชารัฐ ก็นำเช่นกัน เขต 3 นายรณเทพ อนุวัฒน์ พรรคพลังประชารัฐ คะแนนเริ่มไหล เขต 4 นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นไปตามเป้า เขต 5 นายขวัญเลิศ พานิชมาท พรรคอนาคตใหม่ มาอันดับ 1 เขต 6 นายจรัส คุ้มไข่น้ำ พรรคอนาคตใหม่ นำอยู่ นิดๆ เขต 7 น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ อนาคตใหม่ นำผู้สมัครจากพรรคอื่น เขต 8 นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ พรรคพลังประชารัฐ กำลังจะวิ่งเข้าวิน ส่วน จ.ระยอง เขต 1 นายสาธิต ปิตุเตชะ พรรคประชาธิปัตย์ 18,418 คะแนน เขต 2 นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ พรรคประชาธิปัตย์ 33,069 คะแนน เขต 3 นายธารา ปิตุเตชะ พรรคประชาธิปัตย์ 21,880 คะแนน เขต 4 นายสมพงษ์ โสภณ พรรคพลังประชารัฐ 19,184 คะแนน จ.ฉะเชิงเทรา เขต 1 นายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ พรรคอนาคตใหม่ 24,379 คะแนน เขต 2 นายชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์ พรรคพลังประชารัฐ 39,322 คะแนน เขต 3 นายสุชาติ ตันเจริญ พรรคพลังประชารัฐ 22,611 คะแนน

ชุมพรเสียท่า ปชป.โดนเจาะ

ทางด้าน 14 จังหวัดภาคใต้ฐานเสียงสำคัญที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ การเลือกตั้งครั้งนี้มี ส.ส. ได้ 50 คน จังหวัดที่ ส.ส.ลดลง คือ กระบี่ 2 คน เดิม 3 คน นครศรีธรรมราช 8 คน เดิม 9 คน ตรัง 3 คน เดิม 4 คน การเลือกตั้งปี 54 กวาดที่นั่ง ส.ส.ไปได้ถึง 50 ที่นั่งจากทั้งหมด 53 ที่นั่ง มีพรรคภูมิใจไทยที่ปัตตานี พรรคชาติไทยพัฒนาที่สตูล พรรคมาตุภูมิที่ปัตตานี สอดแทรกเข้ามาพรรคละ 1 คน ปรากฏการเลือกตั้งปี 62 ฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ถูกตีแตกยับเยินในหลายจังหวัด อาทิ เมื่อเวลา 20.50 น. ที่ จ.ชุมพร เขต 1 นายชุมพล จุลใส ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายชวลิต อาจหาญ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 นายสราวุธ อ่อนละมัย ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายสมบูรณ์ หนูนวล ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 3 นายสุพล จุลใส ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย นำนายธีระชาติ ปางวิรุฬหรักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

นครศรีฯถูกทะลวงไส้เละ

ด้าน จ.นครศรีธรรมราช เขต 1 นายรงค์ บุญสวยขวัญ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำ น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธุ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำ นายวิทยา แก้วภราดัย ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายอาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 4 นายประกอบ รัตนพันธ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำ นายภูมิไท ดีเป็นแก้ว ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 5 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายจอมไกร สวัสติวงศ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา เขต 6 นายชัยชนะ เดชเดโช ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำ นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 7 นายสายัณห์ ยุติธรรม ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำนายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 8 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายจักรกฤช บริรักษ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

พปชร.-ภท.ตี ปชป.ยับที่สงขลา

ที่ จ.สงขลา เขต 1 นายวันชัย ปริญญาศิริ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำ นายสรรเพชญ บุญญามณี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 นายศาสตรา ศรีปาน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำ นายภิรพล ลาภาโรจน์กิจ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 นายพยม พรหมเพชร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 4 ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำนายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายสมชาย เล่งหลัก ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 6 นายถาวร เสนเนียม ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายสมปอง บริสุทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 7 นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย คะแนนนำนายศิริโชค โสภา พรรคประชาธิปัตย์ เขต 8 พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายวสันต์ ชั่งหมาน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ

“เทือกสุบรรณ” คอตกที่สุราษฎร์ฯ

ขณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี เขต 1 นายภานุ ศรีบุศยกาญจน์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนางจิรวรรณ สารสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่นายธานี เทือกสุบรรณ ผู้สมัคร ส.ส. พรรครวมพลังประชาชาติไทย รั้งอันดับ 4 เขต 2 นายวิวรรธน์ นิลวัชรมณี ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เขต 3 น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายประเทือง มีแต้ม ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เขต 4 นาย สมชาติ ประดิษฐพร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายเชน เทือกสุบรรณ ผู้สมัครรวมพลังประชาชาติไทย เขต 5 นายสินิตย์ เลิศไกร ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายปรีติ เชาวลิต ผู้สมัคร ส.ส.รวมพลังประชาชาติไทย เขต 6 นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำนายภูมิ เทือกสุบรรณ ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย

เสาไฟฟ้าหักที่ภูเก็ต-ระนอง-กระบี่

ขณะที่ จ.ภูเก็ต เขต 1 นายสุทา ประทีป ณ ถลาง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำนายเรวัต อารีรอบ พรรคประชาธิปัตย์ เขต 2 นายนัทธี ถิ่นสาคู ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนำนายชัยยศ ปัญญาไวย ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนที่ จ.ระนอง นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย คะแนนนำนายพงศกร พรหมสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ขณะที่นายวิรัช ร่มเย็น ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาลำดับที่ 3 ที่ จ.พังงา นางกันตวรรณ ตันเถียร ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำคู่แข่ง ที่ จ.กระบี่ เขต 1 นายสาคร เกี่ยวข้อง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนำคู่แข่ง เขต 2 นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย คะแนนนำนายสุชีน เอ่งฉ้วน ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์

คาด พท.กวาด ส.ส.รวม 129 คน

ต่อมาเวลา 23.15 น. เพจรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของ กกต.ได้รายงานจำนวน ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างไม่เป็นทางการของพรรคการเมืองต่างๆดังนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.เขต 129 คน คะแนนรวม 7,376,371 คะแนน ไม่ได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 129 คน พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.เขต 99 คน คะแนนรวม 7,593,495 คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 18 คน รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 117 คน พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.เขต 26 คน คะแนนรวม 5,284,507 คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 50 คน รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 76 คน

พรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส.เขต 36 คน คะแนนรวม 3,341,657 คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 15 คน รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 51 คน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.เขต 29 คน คะแนนรวม 3,251,142 คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 20 คน รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 49 คน พรรคเสรีรวมไทย ได้ ส.ส.เขต 1 คน คะแนน รวม 763,091 คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 10 คน รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 11 คน พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ ส.ส.เขต 7 คน คะแนนรวม 733,514 คะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 4 คน รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 11 คน พรรคเพื่อชาติ ไม่ได้ ส.ส.เขต คะแนนรวม 385,129 คะแนน รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 6 คน นอกจากนี้ยังมีพรรคเล็กต่างๆที่ได้ ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างละเล็กน้อย ซึ่งอยู่ระหว่างรอรวบรวมและคำนวณคะแนนจาก กกต.อีกครั้ง


พปชร.ลุงตู่ชนะ ปชป.มาร์คไขก๊อก

พปชร." ผงาด! กวาด 7,503,898 คะแนน เฉือน "พท." ที่ได้ 7,045,494 คน "อนาคตใหม่" แรง 5,164,595 คะแนน คว้าอันดับ 3 เขี่ย "ปชป." ตกไปที่ 4 "อภิสิทธิ์" ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค ลั่นต้องรักษาสัจจะนักการเมือง "กกต." แ ถลงยอดใช้สิทธิทั่วประเทศ  65.96% "บิ๊กตู่" ขอบคุณประชาชนคนไทย ย้ำอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนได้รัฐบาลใหม่
    เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 มี.ค.62 ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดขึ้น โดยมีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 92,320 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,459,477 คน เริ่มเปิดหีบเลือกตั้งเวลา 08.00 น. และปิดหีบเวลา 17.00 น.นั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งบุคคลสำคัญต่างๆ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ดารานักแสดง ผู้เฒ่าผู้แก่ ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ที่มีประมาณกว่า 7 ล้านคน ได้ทยอยออกมาใช้สิทธิกันอย่างคึกคักทั่วทุกพื้นที่ 
    ตั้งแต่เวลา 08.20 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางมาลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่เขตเลือกตั้งที่ 6 กรุงเทพมหานคร หน่วยเลือกตั้งที่ 10 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ บริเวณใต้ทางด่วน ประดิพัทธ์ 5 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เดินทางมาเพียงคนเดียว ไม่ได้มาพร้อมกับครอบครัว แต่งกายด้วยเสื้อเชิ้ตแขนสั้น สีฟ้าขาวลายพราง กางเกงสแล็กสีดำ ทันทีที่มาถึง ก็ได้เข้าไปตรวจสอบลำดับรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของตัวเอง ก่อนยืนต่อแถวรอใช้สิทธิ์ตามขั้นตอน อย่างอารมณ์ดีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โดย พล.อ. ประยุทธ์เป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในลำดับที่ 165 
    ส่วนนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาที่เขตเลือกตั้งที่ 6 กรุงเทพมหานคร หน่วยเลือกตั้งที่ 10 ซึ่งเป็นเขตเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่มาในเวลา 11.30 น. โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 10 เขตเลือกตั้งที่ 8 แขวงสะพานสอง เขตวังทองหลาง ที่สวนสาธารณะวังทอง 1 ซ.ลาดพร้าว 71 ในเวลา 08.00 น. ตรวจสอบบัญชีรายชื่อของตนเองอยู่ลำดับที่ 726 และต่อคิวเข้าแถวร่วมกับประชาชนที่เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มาใช้สิทธิเลือกตั้งหน่วยเลือกตั้งที่ 48 เขตเลือกตั้งที่ 7 แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ บริเวณเต็นท์ใต้ทางด่วน ซ.ประชาชื่น 30 ในเวลา 10.00 น. โดยนายวิษณุกล่าวว่า ประเทศไทยได้ละเว้นจากการเลือกตั้งมานาน วันนี้ถึงเวลาอันเหมาะสม กกต.จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ขอเชิญชวนประชาชนทุกคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการทำหน้าที่ใหญ่ตามกฎหมาย 
    พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ. ) พร้อม รศ.ดร.กฤติกา คงสมพงษ์ และ ร.อ. แพทย์หญิงอมรัชต์ คงสมพงษ์ บุตรสาว มาลงคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งที่ 18 บริเวณเต็นท์หน้าอาคารสวัสดิการกองบัญชาการกองทัพไทย แยกประชานุกูล ในเวลา 08.05 น. ซึ่งทั้งสามคนได้ต่อคิวเพื่อตรวจสอบรายชื่อ
    ที่บริเวณเต็นท์ลานจอดรถฟิตเนส แฮปปี้ ฮับ (ซอยสุคนธสวัสดิ์ 25-27) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. พร้อม น.ส.สุพรียา รังสิตพราหมณกุล บุตรสาว เดินทางมาเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้ง 91-93 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว ของเขตเลือกตั้งที่ 8 กรุงเทพมหานคร 
    ขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ นั้น นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ใช้ฤกษ์เวลา 09.09 น. เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 5 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา ของเขตเลือกตั้งที่ 4 กทม. สถานที่เลือกตั้ง ใต้อาคารจอดรถโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ สุขุมวิท 53 โดยนายอุตตมมีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในหน่วยเลือกตั้งที่ 5 ลำดับที่ 222  
แห่ลงคะแนนคึกคัก
    เวลา 09.20 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินทางมายังหน่วยเลือกตั้งโรงเรียนสวัสดีวิทยา ซอยสุขุมวิท 31เพื่อใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 
    จังหวัดสุราษฎร์ธานี เวลา 08.45 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พร้อมด้วย น.ส.แขแสง เทือกสุบรรณ บุตรสาว ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ที่เขตเลือกตั้งที่ 4  หน่วยเลือกตั้งที่ 2 บริเวณศาลาอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านบ่อกรัง ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน โดยนายสุเทพมีรายชื่ออยู่ในลำดับที่ 4  และ น.ส.แขแสงอยู่ลำดับที่ 6
    ที่เต็นท์บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 ถนนรามคำแหง 2 หน่วยเลือกตั้ง 33 แขวงดอกไม้ เขตเลือกตั้งที่ 20 ประเวศ บางนา กทม. เวลา 07.45 น. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่(อคน.) พร้อมด้วยนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ภรรยา โดยนายธนาธรเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งลำดับที่ 484 
    นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางมาใช้สิทธิ์ออกเสียงด้วยรถสกูตเตอร์ ในเวลา 09.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้ง 26-27 เขตเลือกตั้งที่ 4 โรงเรียนแจ่มจันทร์ ย่านทองหล่อ เขตวัฒนา 
    ที่หน่วยเลือกตั้งที่ 31 แขวงจอมพล เขตจตุจักร เขตเลือกตั้งที่ 6 กทม. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้ง และแคนดิเดตนายกฯ พรรค พท. เดินทางมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง โดยคุณหญิงได้เดินทางมาพร้อมสามีและบุตรทั้ง 3 คน โดยครอบครัวเพียงเดินทางมาให้กำลังใจคุณหญิงสุดารัตน์ เพราะไม่ได้มีชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ในเขตดังกล่าวนี้ 
     คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภริยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ลานกีฬา 1 หมู่บ้านเคหะธานี 3 หน่วยที่ 15 แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว เขตเลือกตั้งที่ 14 กรุงเทพมหานคร มีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ร่วมติดตามมาด้วย ก่อนที่จะเดินทางไปลงคะแนนเลือกตั้งในเขตตัวเอง 
    จังหวัดกระบี่ ที่ศาลาอเนกประสงค์ หน่วยเลือกตั้งที่ 8  เขตเลือกตั้งที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาครามอำเภอเมือง คุณปู่วัย 91 ปี ชื่อนายเล้หมัน กุลหลัง อายุ 91 ปี ซึ่งเป็นคนที่มีอายุมากที่สุดของหมู่บ้าน ได้เดินทางมาที่หน่วยเลือกตั้งที่ 8 เพื่อทำการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้อำนวย โดยไม่ต้องเข้าคิว โดยคุณปู่บอกว่าหลังเลือกตั้งอยากเห็นบ้านเมืองสงบ
    จากนั้นเวลา 17.00 น. ภายหลังการปิดหีบเลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ ได้เปิดแถลงข่าวขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 
    พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พร้อมแกนนำพรรค แถลงขอบคุณพี่น้องคนไทยทุกคนที่ได้ออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ ถือเป็นวันสำคัญสำหรับประเทศไทยในการที่มาลงคะแนน เพื่ออนาคตของประเทศ พร้อมขอบพระคุณทุกเสียงทุกคะแนนที่ได้เป็นกำลังใจ และให้ความไว้วางใจกับพรรคพลังประชารัฐ 
    พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายอภิสิทธิ์ พร้อมด้วยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ สักการะพระแม่ธรณีบีบมวยผม และแถลงภายหลังปิดหีบเลือกตั้งว่า ตนและพรรคประชาธิปัตย์ขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยถือเป็นหน้าที่ และการที่ทุกคนสละเวลาไปใช้สิทธิก็เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศร่วมกัน 
    พรรคเพื่อไทย (พท.) พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค, คุณหญิงสุดารัตน์, นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค และนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรค ร่วมแถลงข่าวหลังปิดหีบเลือกตั้ง โดยคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า ในนามพรรคเพื่อไทย ขอบคุณทุกคะแนนที่ได้ให้ความไว้วางใจที่มอบให้กับพรรคทุกคะแนน
    พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายธนาธรแถลงขอบคุณประชาชนว่า ขอบคุณคนไทยทุกคนที่ออกมาเลือกตั้ง ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ ที่จะกำหนดอนาคตประเทศไทยไปอีกนาน ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ขอบคุณทุกเสียงที่มอบให้อนาคตใหม่
ยอดผู้มาใช้สิทธิ 65.96%  
    ที่สำนักงาน กกต. เวลา 18.00 น. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. แถลงหลังปิดหีบลงคะแนนทั่วประเทศว่า กกต.ได้รับรายงานว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร จากประเทศนิวซีแลนด์ ประมาณ 1,500 ใบ ถูกส่งมาไม่ทันเวลา ตามกฎหมายต้องถือว่าเป็นบัตรเสีย แต่ต้องมีกระบวนการสั่งการ โดยในวันที่ 25 มี.ค. ทางสำนักงานจะเสนอ กกต.ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาวินิจฉัย 
    "สาเหตุล่าช้าเบื้องต้นทราบว่าเป็นการขนส่งโดยสายการบิน 3 สายการบิน ซึ่งเครื่องบินต้องต่อเครื่องและมีปัญหาเครื่องบินดีเลย์ โดยบัตรถูกจัดส่งออกมาพร้อมกับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. ปกติต้องมาถึง 23 มี.ค. แต่ปรากฏว่าบัตรเพิ่งถูกส่งมาถึงวันนี้ (24 มี.ค.) ทำให้ไม่สามารถจัดส่งไปยัง 350 เขตเลือกตั้งได้" พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว
    ถามว่า กกต.จะรับผิดชอบอย่างไรกับสิทธิของ 1,500 คนที่เสียไป เลขาฯ กกต.กล่าวว่า ก็รับผิดชอบตามกฎหมาย โดยการวินิจฉัยของ กกต. ซึ่งการพิจารณาของ กกต.ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ก็จะได้พิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุและผู้รับผิดชอบ 
    "ในอดีตก็เคยเกิดเหตุบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรส่งมาไม่ทันเวลา แต่ยืนยันว่า กกต.พยายามติดตามการขนส่งบัตรนอกราชอาณาจักรอยู่ตลอดเวลา โดยในส่วนของบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากประเทศอื่นๆ ก็ถูกส่งมาตามกำหนดและส่งไปยังเขตเลือกตั้งทุกเขตทันเวลา และมีการนำไปรวมนับพร้อมกับบัตรเลือกตั้งในวันนี้" เลขาฯ กกต.กล่าว 
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวถึงการเลือกตั้งใหม่กรณีที่คะแนนโหวตโนชนะผู้ที่มีคะแนนสูงสุดว่า ทางสำนักงานได้เตรียมแผนรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งต้องเปิดรับผู้สมัครชุดใหม่ทั้งหมดตามกฎหมาย จึงต้องมีระยะเวลาในการเตรียมการ โดยวางแผนให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 28 เม.ย. แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่ กกต.เพิกถอนสิทธิสมัครชั่วคราว (ใบส้ม) หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) ที่ผู้สมัครยังเป็นชุดเดิมก็จะมีการเลือกตั้งก่อนเวลาดังกล่าว
    ต่อมาเวลา 21.30 น. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงสรุปภาพรวมการเลือกตั้งเบื้องต้น ภาพรวมจัดเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการร้อยละ 90 พบว่า มีผู้มาใช้สิทธิ 65.96%  บัตรเสีย 5.6% โหวตโน 1.5% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,205,624 คน   
    นายอิทธิพรกล่าวว่า ส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร มีผู้มาใช้สิ้น 101,004 คน คิดเป็น 84.7% มีกรณีคัดแยกซองใส่บัตรเลือกตั้ง ซึ่งซองบรรจุบัตรจากสถานกงสุลกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ส่งมาไม่ทัน ประสบปัญหาตามลำดับเวลาดังนี้ วันที่ 18 มี.ค. สถานกงสุลเวลลิงตันส่งบัตรเลือกตั้งให้คาร์โกของสายการบินนิวซีแลนด์ ต่อมาวันที่ 21  มี.ค. แอร์นิวซีแลนด์ส่งถุงเมล์บรรจุบัตรเลือกตั้งให้การบินไทย และวันที่ 22 มี.ค. ตรวจสอบพบว่าถุงเมล์ตกค้างนครโอ๊กแลนด์ แต่ได้นำส่งการบินไทยในวันเดียวกัน และในวันที่ 23 มี.ค. ถุงเมล์ถูกส่งถึงบริษัท การบินไทยฯ ในช่วงค่ำ ขณะนี้ถุงเมล์บรรจุบัตรเลือกตั้งยังเก็บอยู่ที่คลังสินค้าของการบินไทย
อันดับ1พปชร.7.5ล้าน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนับคะแนนรวมอย่างไม่เป็นทางการ (92%) อันดับ 1 พรรคพลังประชารัฐ   7,503,898 คะแนน, อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย 7,045,494 คน, อันดับ 3 พรรคอนาคตใหม่  5,164,595 คะแนน, อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ 3,194,394 คะแนน, อันดับ 5 พรรคภูมิใจไทย 3,175,624 คะแนน, อันดับ 6 พรรคชาติไทยพัฒนา  700,313 คะแนน, อันดับ 7 พรรคเสรีรวมไทย 697,510 คะแนน, อันดับ 8 พรรคเศรษฐกิจใหม่ 426,223 คะแนน, อันดับ 9 พรรคเพื่อชาติ 366,394 คะแนน, อันดับ 10 พรรครวมพลังประชาชาติไทย 288,180 คะแนน, อันดับ 11 พรรคชาติพัฒนา 223,554 คะแนน, อันดับ 12 พรรคพลังท้องถิ่นไท 158,636 คะแนน, อันดับ 13 พรรคประชาชาติ 121,711 คะแนน, อันดับ 14 พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 116,952 คะแนน และอันดับ 15 พรรคพลังปวงชนไทย 74,069 คะแนน 
    เวลา 21.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.พรรณิการ์ วาณิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ แจ้งยกเลิกกำหนดการแถลงข่าวเดิมในเวลา 22.00 น. เนื่องจากการนับคะแนนยังไม่แล้วเสร็จ และคาดว่าจะใช้เวลานานเกินไปกว่าจะมีการแถลงข่าว จึงขอเลื่อนไปแถลงในวันที่ 25 มี.ค. ณ ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ อาคารไทยซัมมิท
    จากนั้นเวลา 21.50 น. นายอภิสิทธิ์ พร้อมแกนนำพรรค ปชป. แถลงข่าวประกาศลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค โดยระบุว่า เนื่องจากผลการเลือกไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเป็นพรรคอันดับหนึ่ง หรือจำนวนที่นั่ง ส.ส. ตนขอโทษคนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนที่ไม่สามารผลักดันแนวคิดของเราให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ และขออภัยเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์หลายคน ซึ่งเป็นผู้ที่ตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเป็นนักการเมืองคุณภาพ ทั้งที่เป็นอดีต ส.ส.และคนที่มาสมัครครั้งแรก และคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจมาสืบสวนอุดมการณ์ของพรรค ที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถประสบความสำเร็จในการเข้าสู่สภาได้
    “จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผมต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าองค์กร เพราะฉะนั้นผมขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคตั้งแต่บัดนี้ และตามข้อบังคับพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคที่เหลืออยู่ก็จะเป็นผู้รักษาการแทน และกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้อยู่ร่วมกับ ส.ส.ของพรรคที่ได้รับเลือกตั้ง จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางของพรรคที่เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล หรือการทำงานในสภาตามข้อบังคับพรรคต่อไป" นายอภิสิทธิ์กล่าว
    หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจและให้การสนับสนุนตลอดเวลา ขอเรียนว่าความตั้งใจของตนในการทำงานให้ประชาชนให้กับพรรคจะไม่มีวันเสื่อมคลาย แต่ต้องรักษาคำพูด เพราะจะต้องรักษาสัจจะที่เป็นสัจจะของนักการเมือง
    นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เสริมว่า สำหรับขั้นตอนการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.คนใหม่ แทนนายอภิสิทธิ์ที่ประกาศลาออก ทางพรรคจะรอรับทราบจำนวน ส.ส.ทั้งในระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อเสียก่อน จึงจะเรียกประชุมและดำเนินการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ 
    น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กก.บห.น่าจะเรียกประชุมภายในไม่กี่วันนับจากนี้ เพื่อดำเนินการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ว่าจะใช้ระบบเดิมหรือไม่ อย่างไร
    ขณะที่ พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน ทุกพื้นที่ ที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ ก็จะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลต่อไป 
    "ในส่วนของนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่โดยสมบูรณ์ ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อทุกคน เพื่อแก้ไขปัญหาและวางรากฐานที่มั่นคง มั่งคั่งให้กับประเทศและพี่น้องประชาชนคนไทยตลอดไป" ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ.