PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ถกปมโลโก้พรรค กกต.จ่อรื้อบัตรลต.

ถกปมโลโก้พรรค

กกต.จ่อรื้อบัตรเลือกตั้ง

ออกโรงเตือนว่าที่ผู้แทน

อย่าเพิ่ง‘ลักไก่’หาเสียง

โหรฟันธงบิ๊กตู่นายกฯ

 

“จรุงวิทย์” จ่อนำปมดราม่าบัตรเลือกตั้งไร้โลโก้พรรค เข้าวงถก กกต.หาทางออก เตือนพรรคการเมือง-นักการเมือง อย่าลักไก่หาเสียงเสี่ยงผิดกฎหมาย แม้พ.ร.ป.เลือกตั้งจะบังคับใช้ แต่พ.ร.ฎ.เลือกตั้งยังไม่มีผล  ชี้ “พปชร.” จัดระดมทุนได้หากคสช.ปลดล็อก โหรวารินทร์ชี้ปักธงเลือกตั้งใหญ่ต้นปีหน้า แต่เกิดเหตุบางอย่างขยับเลื่อนวัน-เวลา ออกไป ฟันธงมีนายกฯชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังต้องทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรคมช.เจ้าสำนักสุขิโต จ.เชียงใหม่  ทำนายดวงเมืองประเทศไทย ว่า จากภาพนิมิตรของหลวงปู่เกวรัญ แห่งเทือกเขาหิมาลัย ฉายภาพประเทศไทยปรากฏชัดต้นปี2562 มีการเลือกตั้งใหญ่อย่างแน่นอน  ส่วนวันและเวลา อาจมีขยับไปตามสถานการณ์ที่มีบางอย่างเกิดขึ้น ที่มาส่งผลทำให้จะต้องเลื่อนเลือกตั้งออกไปนิดหน่อยซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นประชาชนก็ยอมรับได้ 

“การเลือกตั้งปีหน้ามีแน่นอน แต่อาจเคลื่อนไปบ้างตามกาลเวลา และสถานการณ์ที่เข้ามาช่วงนั้นๆทำให้เลื่อนเวลาออกไป เป็นเหตุอะไรเล็กๆน้อยๆที่พวกเรายอมรับกัน ไม่ใช่ข้อผิดพลาด แต่ก็ผ่านไปได้ คงเลื่อนไม่นาน การขยับไปบ้างไม่มีผล ต่อรัฐบาลใหม่ มาตามโรดแมปและนายกรัฐมนตรีคนต่อไปเป็นภาพของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังบริหารประเทศตามหน้าที่ที่ให้ท่านมาทำเพื่อบ้านเพื่อเมืองซึ่งยังไม่หมดเวลาของท่าน  ทุกอย่างเดินหน้าพัฒนาไปอย่างเต็มที่มีความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง ถึงเวลาท่านจะเดินลงจากตำแหน่งเอง เหมือนพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี”นายวารินทร์ กล่าว

พปชร.ฟุ้ง4จว.เหนือตอบรับดี

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวว่า ภาพรวมการลงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างของคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง ที่นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการฯ ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และประชาชนก็ตอบรับพรรคพลังประชารัฐเป็นอย่างมาก ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร แหล่งน้ำ รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ตกหล่นไป โดยรัฐบาลดำเนินการแก้ไขไประดับหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ หลังจากลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างแล้ว ในวันที่ 10 ธ.ค.นายสมศักดิ์จะเดินทางไปจังหวัดลำปางเพื่อเปิดศูนย์ประสานงาน จากนั้นในวันที่ 11 ธ.ค.นายสมศักดิ์จะประชุมร่วมกับว่าที่ผู้สมัครส.ส.ภาคเหนือด้วย

ปชป.จ่อเปิดนโยบาย-ตั้ง6กุนซือ

นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมรับทราบการจัดตั้งตัวแทนประจำจังหวัดและสาขาพรรคทั่วทุกภูมิภาคครบตามกฎหมายแล้ว อีกทั้งจะเชิญอดีตส.ส.ของพรรคและผู้สมัครส.ส.ของพรรคเข้าร่วมประชุมกันที่พรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ เวลา 13.00 น. เพื่อกำหนดแนวทางในการเลือกตั้งที่จะมาถึง และร่วมกันรับฟังนโยบายของพรรคที่จัดทำเสร็จแล้ว ทั้งส่วนที่เป็นนโยบายใหญ่ระดับประเทศและนโยบายของแต่ละภาคด้วย  

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคฯ มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค จำนวน 6 คน คือ 1.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ปรึกษาหัวหน้าพรรค ด้านการเมืองและบริหาร  2.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม  3.นายเกียรติ สิทธีอมร ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ  4.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ด้านสื่อสารและสาธารณะมวลชนสัมพันธ์  5.นายถวิล ไพรสณฑ์ ด้านกฎหมาย  และ 6.นายกนก วงษ์ตระหง่าน ด้านนโยบายสาธารณะ

กกต.ฮึ่มอย่าเพิ่งลักไก่หาเสียง

วันเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า แม้พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะกำหนดเรื่องการคิดค่าใช้จ่าย เรื่องการหาเสียงหลังมีพ.ร ฎ.ให้มีการเลือกตั้งส.ส.แล้ว และคาดว่าจะมีพ.ร.ฎ. เลือกตั้งในวันที่ 2 ม.ค.2562 แต่ตามมาตรา 22 พ.ร.ป. กกต.ก็กำหนดให้กกต.ต้องสอดส่อง สืบสวน ไต่สวนหากพบการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตได้ ไม่ว่าจะเป็นเวลา ในระหว่างที่มีพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม ดังนั้นหลังวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ผู้ที่จะสมัครฯหรือพรรคการเมือง ก็ไม่ควรกระทำการใดๆที่ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องเรียนให้ไต่สวนได้           

พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกฎหมาย ได้ให้กกต. กำหนดและสนับสนุนเกี่ยวกับการหาเสียงซึ่งซึ่งขณะนี้สำนักงานกกต.ได้ยกร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งในเรื่อง การจัดเวลาหาเสียงออกอากาศทางโทรทัศน์ให้พรรคที่สมัครโดยเท่าเทียมกัน การจัดดีเบต  ให้พรรคการเมืองประชันนโยบายทางโทรทัศน์และแพร่ทางโซเชียลมีเดียซึ่งทางสำนักงานกกต.จะเชิญพรรคการเมืองประชุม ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะปรับปรุงร่างระเบียบ และเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ หรือการจัดทำเอกสารเกี่ยวกับผู้สมัครฯและนโยบายพรรคฯส่งถึงบ้านในแต่ละเขตเลือกตั้ง ส่วนการจัดแอพพลิเคชั่นฉลาดเลือก ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้สมัคร นโยบายพรรคการเมืองให้ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษา การติดรายละเอียดผู้สมัครและพรรคที่หน้าหน่วยเลือกตั้งก่อนประชาเข้าไปใช้สิทธิ์ จึงอยากให้ผู้ที่จะสมัคร และพรรคการเมืองปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาเรื่องการถูกร้องเรียนตามมา

ไฟเขียวเปิดระดมทุน

เมื่อถามถึง กรณีที่พรรคพลังประชารัฐจะจัดระดมทุนวันที่ 19 ธ.ค.นี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ก็ต้องรอดูว่าหลังวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ที่คสช.ประกาศว่าจะยกเลิกคำสั่งที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองนั้น จะปลดล็อคให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมืองตามที่พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนดได้แค่ไหน หากทำได้ทั้งหมด ทุกพรรคก็สามารถดำเนินการได้แต่การบริจาคก็ต้องไม่เกินรายละ 10 ล้านต่อคนต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดด้วย

อย่ามองเป็นเรื่องเสียเปรียบ

เมื่อถามถึงการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งที่มีหลายพรรคทักท้วงมีการตัดชื่อโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งออกไป พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกกต. ซึ่งพร้อมที่จะรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายรวมถึงพรรคการเมืองด้วย การที่กกต. จะกำหนดว่าบัตรเลือกตั้ง ควรมีลักษณะใด มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเท่าเทียมกัน ของพรรคใหญ่ พรรคเล็ก พรรคใหม่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก การรักษาสิทธิ ของคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในประเทศหรือต่างประเทศ การป้องกัน การปลอมแปลงบัตร ระยะเวลาการจัดพิมพ์ การขนส่ง

ซึ่งตามปฎิทินการทำงานที่คสช.เสนอต่อที่ประชุมร่วมพรรคการเมืองเมื่อ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถ้าปิดรับสมัคร ในวันที่ 18 ม.ค.2562  เท่ากับวันที่25 ม.ค.2562 ทางกกต.ก็จะประกาศรายชื่อผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ  และวันที่ 4-16 ก.พ.2562 ก็จะเป็นเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เท่ากับระยะเวลาในการจัดพิมพ์บัตร และส่งบัตรก่อนที่จะถึงห้วงแรกที่คนไทยในต่างประเทศใช้สิทธิเลือกตั้งค่อนข้างกระชั้น จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายมองเรื่องบัตรเลือกตั้งเชิงการเมืองเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตามทางสำนักงานจะนำปัจจัยต่างๆรวมทั้งความเห็นทั้งหมดนำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาต่อไป

เพื่อไทยเล็งฟ้องศาลปกครอง

ในประเด็นดังกล่าว นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตสส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบแน่ถ้าไม่มีโลโก้พรรค เพราะปัจจุบันโลโก้พรรคเพื่อไทยเป็นแบรนด์ติดตลาดแล้ว ชาวบ้านจำได้ อยากเลือกเพื่อไทยก็ดูที่โลโก้ ไม่จำเป็นต้องจำเบอร์ จึงเป็นเหตุให้ต้องหาทางตัดทิ้ง เจตนาต้องการให้เกิดความมั่ว เพราะแต่ละเขตได้เบอร์ผู้สมัครไม่ตรงกัน ต้องใช้วิธีจำโลโก้แทน

นายสามารถ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยกำลังพิจารณาหาช่องทางฟ้องศาลปกครองไม่ให้กกต.ตัดโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับ นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์มอบหมายให้คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคศึกษาว่าจะมีช่องทางใดที่จะยับยั้งเรื่องนี้ที่ทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา

ทษช.เตือนอย่ารับลูกผู้มีอำนาจ

ด้าน ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ให้สัมภาษณ์กรณีข้อเสนอให้ไม่มีโลโก้บนบัตรเลือกตั้งและกกต.มีท่าทีออกมาตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์จะเสนอแนะ หรือให้ความเห็นอะไรก็ในฐานะคนๆหนึ่งซึ่งสามารถพูดได้ แต่คงไม่สมควรที่ถ้าท่านในฐานะนายกฯและหัวหน้า คสช.ไปพูดแล้ว กกต.รับลูกแบบนี้อิสระไหม แล้วถามว่าสิ่งนี้เป็นแนวทางที่สากลยึดปฏิบัติหรือไม่ ก็ไม่ใช่ ทั้งนี้ การจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างแล้วเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเราก็เห็นด้วย แต่ถ้าเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงตนว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ และประชาชน มองแล้วคุณไม่ต้องการให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง ซึ่งก็เป็นไปตามที่เราคาดการณ์กันไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง เขาไม่ต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง หากบัตรเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างนั้นจริงก็จะยิ่งตอกย้ำว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังมุ่งเน้นที่จะทำลายพรรคการเมือง

‘ประชาชาติ’หวั่นขัดหลักสากล

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การไม่มีโลโก้พรรคการเมือง ชื่อพรรคการเมืองและชื่อผู้สมัคร ส.ส.ปรากฏบนบัตรเลือกตั้งนั้น เป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการเมืองไทยอย่างยิ่ง บัตรเลือกตั้งถือว่ามีความสำคัญยิ่ง แสดงออกถึงสถานะหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง หรือความเท่าเทียมกันของคนในสังคมไทยที่หาได้ยากมากขึ้นทุกที่ท่ามกลางภาวะที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก การที่บัตรเลือกตั้งจะเอื้อต่อการสร้างความเท่าเทียมนั้น ต้องมีข้อมูล 1.หมายเลขและชื่อผู้สมัคร 2.ชื่อพรรคการเมือง 3.สัญลักษณ์หรือโลโก้พรรคและ 4.ข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครและพรรคที่จะช่วยผู้ใช้สิทธิสามารถตัดสินใจได้อย่างมีคุณภาพและตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 85 ระบุให้หีบบัตรเลือกตั้งและบัตรเลือกตั้งมีลักษณะตามที่คณะกรรมการกําหนด ดังนั้น การจัดการในเรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.มิใช่หน้าที่ของ คสช.

ระวังลต.สกปรกยิ่งกว่าปี2500

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า การที่บัตรเลือกตั้งจะมีแต่ชื่อผู้สมัครกับหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร โดยไม่มีชื่อพรรคการเมือง โลโก้พรรคการเมืองและชื่อผู้สมัครนั้น อาจขัดต่อหลักสากลของการเลือกตั้งเกี่ยวกับความมีอิสระในการออกเสียงเลือกตั้ง ทำให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร ส.ส.ได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นการกีดกันและจำกัดสิทธิของประชาชนในการใช้เสรีภาพลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่พวกเขาต้องการ ทั้งนี้ หากเป็นจริงตามที่ นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.สัมภาษณ์ว่า บัตรเลือกตั้งจะไม่มีโลโก้พรรค ไม่มีชื่อผู้สมัครและชื่อพรรคการเมือง มีเพียงหมายเลขของผู้สมัครเท่านั้น อาจเปิดโอกาสแก่การทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 62 อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ว่า เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด อาจสกปรกกว่าการเลือกตั้งวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2500 ที่ถูกจดจำว่า สกปรกที่สุดของไทย

'ธีระชัย'ถาม'กกต.-บิ๊กตู่'กลัวบางพรรคเสียเปรียบหรือเปล่า? ปมไม่ใส่'ชื่อ-โลโก้'บัตรเลือกตั้ง

9 ธ.ค.61 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขียนบทความ "ใครชอบการตัดชื่อ-โลโก้พรรคออกจากบัตรเลือกตั้ง?" เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ตั้งข้อสังเกตว่าการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีแนวคิดจะทำตามความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เสนอให้บัตรเลือกตั้งไม่ต้องมีชื่อพรรคการเมืองและตราสัญลักษณ์ของพรรค มีความเกี่ยวข้องกับกรณีพรรคการเมืองบางพรรคที่ต้องการชู พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2562 มีภาพลักษณ์ที่ไม่jน่าสนใจในสายตาประชาชน หากให้มีการแสดงชื่อและตราสัญลักษณ์ของพรรคอาจทำให้พรรคดังกล่าวเสียเปรียบในการเลือกตั้งหรือไม่ ดังนี้

"กกต. แจงปมตัดชื่อ-โลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง หวั่นเกิดปัญหาขนส่งบัตรในการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ไม่ใช่การแทรกแซงจากภายนอก ลุงตู่ชงให้บัตรเลือกตั้งไม่ต้องมีชื่อพรรค โลโก้พรรค ถามว่า พรรคการเมืองแบบไหน ที่จะชอบบัตรเลือกตั้งที่ไม่มีชื่อพรรค โลโก้พรรค? ตอบว่า พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นเฉพาะกิจ พรรคที่น้ำขุ่นสารพัดสีไหลลงไปรวมกัน พรรคที่เสือสิงห์กระทิงแรดเข้ามาชุมนุม พรรคที่สนับสนุนทหารภายหลังการปฏิวัติ"

"เพราะเหตุใด? เพราะพรรคทำนองนี้ ไม่ได้มีนโยบายเด่นดัง หรือนโยบายที่แตกต่างจากพรรคหลัก และมักจะเลียนแบบพรรคเดิม จึงขาดจุดขายในเชิงนโยบาย นอกจากนี้ การมีเสือสิงห์กระทิงแรดที่หลากสารพัดสี ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการจัดทำนโยบายที่เด่นดัง เมื่อจุดขายในเชิงนโยบายเป็นรอง พรรคทำนองนี้ ก็ต้องอาศัยจุดขายในเชิงบุคคลเป็นหลัก ดังนั้น บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีชื่อพรรค โลโก้พรรค จึงแก้ปัญหาความเสียเปรียบของพรรคแบบนี้ได้"

"ส่วนข้ออ้างว่า บัตรเลือกตั้งที่มีชื่อพรรค โลโก้พรรค จะเป็นอุปสรรคในการขนส่งบัตรเลือกตั้งไปต่างประเทศนั้น เป็นข้ออ้างที่แปลกประหลาด เพราะจำนวนบัตรที่ต้องส่งไปต่างประเทศนั้น เป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ทำให้ระบบการเมืองไทยย้อนยุคอย่างหนัก เพราะถ้าจะค้นประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ผู้ที่ทำปฏิวัติ แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้บริหารประเทศด้วย แบบ ชงเอง-ชิมเอง ไม่มีการถ่วงดุล ก็ต้องย้อนกลับไปถึงสี่สิบปี"

"รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กำลังจะทำให้ระบบการเมืองไทยย้อนยุคเพิ่มขึ้นอีก แทนที่จะเน้นให้ประชาชนเลือกนโยบายพรรค กลับจะใช้มือปิดฟ้า ให้เลือกตัวบุคคลแทน ทำอย่างนี้หรือ ที่จะนำไปสู่การปรองดองในประเทศ?"

ลุ้นปรากฏการณ์การเมืองไทยฉากใหม่ : สืบทอดอำนาจเบ็ดเสร็จ

วันที่ 24 ก.พ.2562 ถูกขีดเส้นใต้ให้เป็นวันเลือกตั้ง

คำถามคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี “อิสรเสรี-เป็นธรรม” แค่ไหน นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนมุมคิดหลังรัฐบาล คสช.และ กกต.วางไทม์ไลน์การเลือกตั้ง

ท่ามกลางพรรคการเมืองแต่งตัวรอลงสนามอย่างคึกคักว่า มีทั้งส่วนที่เป็นและไม่เป็น

ในส่วนที่เป็นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง พยายามทำให้ไม่เกิดสภาวะพรรคการเมืองเป็นพรรคใหญ่ นำไปสู่การเกิดอำนาจนิยม ผมไม่พูดถึงเผด็จการเบ็ดเสร็จ อันนั้นเป็นไปไม่ได้ ประเทศไทยไม่เคยเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ แบบเกาหลีเหนือหรือมีพรรคการเมืองพรรคเดียว

จึงออกแบบกติกาให้ทุกพรรค นักการเมืองทุกคนมีโอกาส มีความแฟร์มากขึ้น ต้องการให้ทุกคะแนนเสียงไม่เสียไป เสียงของประชาชนไม่หายไปไหน จะถูกนำไปคำนวณให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ใครจะบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา มันไม่ใช่

นักการเมืองทุกคนมีโอกาสเดินเข้าสภา เห็นได้จากนักการเมืองกระตือรือร้น

พรรคการเมืองจำนวนมากเตรียมลงสนามเลือกตั้ง

ถือว่านักการเมืองมี “อิสระ-โอกาส” มากขึ้น สร้างความเป็นธรรมขึ้น

วันนี้พรรคไหนจะได้คะแนนเท่าไหร่ต้องไปดูโค้งสุดท้าย นักคาดการณ์ทางการเมือง สื่อมวลชนก็ยังงงๆว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างเป็นไปได้หมด อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตอนนี้ไม่มีใครมองออก

แถมยังมีเทคนิคทางกฎหมายเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคแตกตัวออกไป

หวังจะโกยคะแนนที่ได้ที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งนอกจากบอกว่ากลัวการยุบพรรค

ยิ่งเมื่อเห็นนักการเมืองสังกัดพรรคเข้าที่เข้าทางแล้ว จะบอกว่าพรรคนี้ได้กี่เสียง ก็คงบอกไม่ได้ เพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการเลือกตั้ง

ไม่เหมือนการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เพียง 1 ปีก็มีการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างหัวคะแนนกับประชาชนยังคงอยู่ ท่อน้ำเลี้ยงไม่เหือดแห้ง

แต่ 5 ปีที่ผ่านมาทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะ อาทิ ปกตินักการเมืองต้องหล่อเลี้ยงหัวคะแนน พอไม่ได้หล่อเลี้ยง หรือคิดในแง่เหตุผลว่า ถ้าไม่มีประโยชน์แล้วฉันจะซื่อสัตย์กับเธอทำไม คนเราจะมีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์

ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าประชาชนยังจะมีความผูกพันกับนักการเมืองที่เคยเลือกหรือไม่

หรือจะเปลี่ยนตามพรรคการเมือง อาจจะเลือกนักการเมืองที่ชอบ แต่พรรคอาจจะไม่ใช่

เหมือนคนเราเป็นแฟนกัน ไม่ได้เจอกันตั้ง 5 ปี ผมว่าเขาเลิกกันนะ

ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็เห็นชัดเจนก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

หลักความเป็นจริงไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใด จะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์

การแบ่งเขตใหม่อาจจะมีข้อดี เปิดโอกาสให้นักการเมืองหน้าใหม่ๆหรือหน้าเก่า มีโอกาสมากขึ้น

ไม่เช่นนั้นเจ้าของพื้นที่เดิม ซึ่งมีฐานเสียงเข้มแข็งก็จะชนะตลอดกาล แต่ถ้าเอื้อให้นักการเมืองใหม่หรือหน้าเก่า ซึ่งมาจากพรรคที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาล คสช. การแบ่งเขตคราวนี้ย่อมจะไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน

ขณะที่โครงการต่างๆ มีนโยบายช่วยเหลือประชาชน ซึ่งทับซ้อนกับพรรคการเมือง เห็นได้ชัดว่าเป็นคนของรัฐบาล ย่อมทำให้กระบวนการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม

โดยเฉพาะกรณีพรรคการเมืองที่สัมพันธ์กับรัฐบาล คสช.ยังเดินหน้าเสนอโครงการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเสรี แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถหาเสียงได้อย่างเสรี ถือว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งไม่เสรี

ยังไม่รวมถึงการรัฐประหารที่ลงเอยโดยการส่งผ่านอำนาจไปสู่ผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือก่อให้เกิดการเลือกตั้งไม่ “เสรี-เป็นธรรม”

หากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นอดีตผู้นำรัฐประหารจะนำประเทศไปสู่วิกฤติอาจจะปะทุขึ้นทันที หรือกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่

หนทางสกัดวิกฤติใหญ่

1.ผู้นำรัฐประหารควรประกาศชัดเจนว่าจะยุติบทบาทผู้นำทางการเมืองทันทีและจะไม่รับตำแหน่งใดๆ

2.พรรคการเมืองและประชาชนที่เห็นว่าการเลือกตั้งไม่ “เสรี-เป็นธรรม” ควรจะต้องออกมาเรียกร้อง ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งกระบวนการเลือกตั้งที่ “เสรี-เป็นธรรม”

หรือจะทำแบบพรรคประชาธิปัตย์ โดย “บอยคอตการเลือกตั้ง” ไม่ใช่หิวเลือกตั้ง คิดแค่อยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ โดยมองว่าตัวเองหรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนอยู่อาจจะชนะ

แต่ถ้าแพ้เมื่อไหร่ก็จะออกมาประท้วงไม่ยอมรับ กลายเป็นพวกขี้แพ้ชวนตี

เพราะการนิ่งเฉยและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งด้วยความสมัครใจถือว่ายอมรับกติกาไปเรียบร้อยแล้ว

3.ถ้ากระบวนการเลือกตั้งที่ไม่ “เสรี-เป็นธรรม” พรรคการเมืองที่ไม่ได้สัมพันธ์กับ คสช.ชนะเลือกตั้ง แต่ ส.ว.ที่เชื่อกันว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของ คสช. ได้ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีอย่าง “เสรี-เป็นธรรม”

ย่อมเป็นหนทางเลี่ยงวิกฤติได้

แต่ถ้าเสียงประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจว่าการเลือกตั้งมีปัญหา

สนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้เปรียบจากกติกาที่สร้างขึ้นมา

ก็เป็นผลมาจากความเบื่อเซ็ง “ประชาธิปไตยสุดโต่ง” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

เป็นแรงส่งให้ไม่จำเป็นต้องมีกติกาที่เป็นธรรม

ถ้าเวลาผ่านไปผลที่เกิดขึ้นไม่ได้ดั่งที่คาด แรงสนับสนุนดังกล่าวจะเหวี่ยงกลับอย่างแรง พึงระวังสำหรับทุกคนทุกกลุ่มที่พัวพัน เพราะผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่มีใครรู้ว่าใครลงคะแนนอย่างไร ไม่ต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ทั้งนั้นน่าสนใจว่าขณะนี้ภาพรวมการเมืองยังบอกอะไรไม่ได้ เพราะอีนุงตุงนังมาก

ยิ่งย้อนไปดูประวัติศาสตร์การรัฐประหารก็จะพบว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารเยอะที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในศตวรรษที่ 20 ไทยทำรัฐประหารติดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศอาร์เจนตินาและประเทศกรีซ

พอขยับเข้าศตวรรษที่ 21 ไทยทำรัฐประหาร 2 ครั้ง ติดอันดับ 3 ของโลกและทำรัฐประหารบ่อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราทำรัฐประหารบ่อย แต่อยู่ในอำนาจไม่ยาว ไม่เหมือนประเทศเมียนมา อินโดนีเซีย

ในสิงคโปร์ มาเลเซีย ไม่มีการทำรัฐประหาร และมีประสบการณ์อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกแบบอำนาจนิยม ในกัมพูชามีการเลือกตั้ง คุณจะเอาการเลือกตั้งแบบนี้หรือ ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลก

ทั้งหมดกำลังจะบอกว่าปกติเส้นทางประวัติศาสตร์จะไม่มีการสืบทอดอำนาจในรูปแบบที่กำลังจะเกิดขึ้น

ถ้าผู้นำรัฐประหารสืบทอดอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง

ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งใหญ่

กำลังจะชวนคิดว่าปัจจัยที่ทำให้เผด็จการทหารอยู่ยาวหลัง

การทำรัฐประหารไม่ได้ และรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เป็นอำนาจนิยมพลเรือนก็อยู่ไม่ได้นาน

เพราะเอกลักษณ์ของไทยมีความโดดเด่นด้านเสาหลักของชาติและคนไทยเบื่ออยู่ภายใต้เผด็จการนานๆ

ยังไม่นับรวมกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆอีก ทั้งนายทุนเศรษฐกิจ กองทัพ

ถ้ากองทัพพ่วงกับผู้นำที่เกษียณ ผมว่าขาลอย หากเกิดวิกฤติก็ต้องเอาผลประโยชน์ของกองทัพ

ไม่ยอมเสื่อมไปกับผู้นำที่ล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน

แต่กองทัพจะออกได้ต้องดูตาม้าตาเรือ และดูจังหวะทิศทางลมฟ้าอากาศให้ดี

ฉะนั้นพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคิดว่ามีบรรดานักการเมืองลงตัว จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี

การสืบทอดอำนาจแบบนี้จะเป็นปรากฏการณ์หน้าใหม่ประวัติศาสตร์การเมือง

แต่รัฐบาลจะอยู่ยาวไม่ได้ เพราะติดปัจจัยสำคัญในความเป็นเอกลักษณ์ของไทย.


ทีมการเมือง