PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทบาทของสื่อมวลชนในการสร้างความเป็น "ประชาคมอาเซียน"


  2013-08-26 18:02:52  cri
ธงอาเซียน
กวี จงกิจถาวร ประธานเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีป้า) สื่อมวลชนและคอลัมน์นิสอิสระ ให้สัมภาษณ์พิเศษ กับสถานีวิทยุ ซีอาร์ไอ เกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนในการสร้างประชาคมอาเซียน ที่ชาติสมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อ อาเซียน ภายในปีค.ศ. 2015 นั่นก็หมายถึงว่า มีเวลาเหลืออยู่อีกเพียงไม่ถึงสองปี

กวีเห็นว่า ประชาคมอาเซียน แม้จะมีความร่วมมือในมิติต่างๆทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมแล้ว แต่ก็ไม่อาจรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียวได้อย่างสมบูรณ์ หากสื่อมวลชนของประเทศต่างๆ ยังไม่มีความร่วมมือหรือมีความเข้าใจในบทบาทและสถานะของอาเซียนได้อย่างถ่องแท้

" อาจพูดได้ว่า ตอนนี้ แม้สื่อในอาเซียนจะมีเสรีภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในอดีต โดยเฉพาะในพม่าที่มีความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แต่ในภาพรวมก็ถือว่ายังน้อย การเป็นประชาคมอาเซียน สื่อมวลชนต้องมีความร่วมมือกันก่อน ถ้าสื่อไม่เขียนถึงการเป็นอาเซียน สังคมก็จะไม่เข้าใจ ถ้าเราย้อนดูการรวมกลุ่มสหภาพยุโรป จะเห็นว่า สื่อมีบทบาทสำคัญมากดังนั้น จากนี้ไปประเทศต่างๆต้องอาศัยสื่อมากขึ้นในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ต่อคนในชาติ"

นอกเหนือจากประเด็นการสร้างความร่วมมือระหว่างสื่อมวลชนแขนงต่างๆในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอแล้ว เมื่อลงรายละเอียดถึงสื่อมวลชนในประเทศไทย กวีเห็นว่า ยังมีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่สะท้อนว่ายังมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ นั่นคือ ตัวของนักข่าวและบก.ยังไม่มีความเข้าใจมากเพียงพอต่อความเป็นไปของประเทศในอาเซียน ทั้งในแง่ ประวัติศาสตร์ ความมั่นคง ด้านสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ส่วนใหญ่เวลาเขียนจะมองแต่มุมเศรษฐกิจ ทั้งๆที่ในทางปฏิบัติมีความร่วมมือที่กว้างขวางมากกว่านั้น ซึ่งอาเซียนจะอยู่ได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แต่ยังมีความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมและการเมืองด้วย โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานของการสร้างความมั่นคงให้กับอาเซียน คนในชาติต่างๆต้องมีความเข้าใจ สามารถชื่นชมในอัตลักษณ์และความแตกต่างระหว่างกันได้ แต่ในเวลานี้ภาพของอาเซียน ยังไม่ได้มีสิ่งที่ร่วมกันเพียงพอ เรามีแต่ธงและเพลงอาเซียนเท่านั้นที่พอจะเป็นสัญลักษณ์ได้ซึ่งก็ยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เแต่เรายังไม่มีอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน เรายังไม่มีสิ่งร่วมอื่น เช่น พาสปอร์ต หรือวีซ่าแบบเช็งเกนของยุโรป หรือสกุลเงินร่วม

กวีเห็นว่า ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมาสื่อมวลชนไทย มีการนำเสนอข่าวคราวอาเซียน แต่มักจะเน้นเรื่องกระแสเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนอีกด้านจะเน้นความน่ากลัวของการรวมเป็นอาเซียน ในเชิงว่า ไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขันหรือไม่ อย่างไร อีกด้านหนึ่งการเป็นการสร้างความเข้าใจผิดว่า ไทยจะตามหลังชาติอื่นเพราะพูดอังกฤษไม่คล่อง กลายเป็นว่า การเตรียมความพร้อมสู่อาเซียน คือการรณรงค์ ให้ความสำคัญกับการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งในข้อเท็จจริง มีรายละเอียดด้านอื่นๆอีกมากกว่านั้น

" เวลารายงานจะเป็น ไทยได้อะไรจากอาเซียน ลาว สิงคโปร์จะได้อะไรจากอาเซียนฯลฯ แต่ไม่ได้รายงานในมุมว่า อาเชียน ในการเป็นองค์กรร่วม จะเป็นอย่างไรในภาพรวมจากนี้ไป หรือแต่ละประเทศจะต้องเสียสละอะไรเพื่อให้ความเป็นอาเซียนมั่นคงได้มากขึ้นประชาคมอาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียวไม่ได้ ถ้าสื่อยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากเพียง พอ ไม่ได้หยิบยกสาระแท้ๆ ของอาเซียนมานำเสนอ การรวมของยุโรป แต่ละประเทศต้องเฉือนอธิปไตยของตนเพื่อเพิ่มอำนาจกำลังต่อรองในนามสหภาพยุโรป แต่ในอาเซียน ไม่มีทาง... แต่ละประเทศ ไม่ยอม ยังยืนยันที่จะสงวนประโยชน์ตัวเองให้มากที่สุด ดังนั้น สื่อมีหน้าที่จะต้องนำเสนอเนื้อหาต่างๆให้รอบด้านมากที่สุด"

กวีเห็นว่า จากนี้ไป ความหมายของประเทศ ที่วัดด้วยพรมแดนทางภูมิศาสตร์ จะลดลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นในประเทศหนึ่งของอาเซียน จะเป็นเรื่องที่ประเทศอื่นๆ ได้รับผลกระทบด้วย ไม่อาจแยกส่วน แบบโดดเดี่ยวได้อีกต่อไปนี่จึงเป็นสิ่งท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า

" เขตแดนประเทศคือ คนที่อยู่ข้างหน้าเรา ข้างหลังและข้างๆ เรา แต่ไม่ใช่พรมแดนอีกต่อไป ถ้าเราไม่เข้าใจเขา เราก็ไม่สามารถสานความสัมพันธ์ได้ราบรื่นต่อไปคนที่อยู่ข้างหน้าเรา อาจเป็นมาเลเซีย อาจเป็นลาว อาจเป็นพม่า กัมพูชา คำถามคือ เราเข้าใจทำความเข้าใจพวกเขาได้มากน้อยแค่ไหน "

ประธานซีป้ายังเห็นว่า ขณะนี้ รัฐบาลไทยมีสิ่งท้าทายใหม่ในการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบอาเซียน โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กับจีน ญี่ปุ่น เดิมเราให้ความสำคัญกับสหรัฐมาก แต่ขณะนี้ สถานการณ์ในเวทีโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ญี่ปุ่นเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้น ยิ่งเมื่อมีปัจจัยเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศ และความร่วมมือแบบทวิภาคีมาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งทำให้การกำหนดนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความซับซ้อนมากขึ้น ไทยจะวางบทบาทอย่างไรระหว่าง จีนกับญี่ปุ่น เพราะอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งเขาเห็นว่า นโยบายของรัฐบาลไทยในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยังไม่ดีเพียงพอ เพราะ ยังไม่สามารถช่วงชิงบทบาทนำผลประโยชน์มาให้ชาติได้เต็มที่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศในเวลานี้

"น่าเสียดายที่ตอนนี้ ไทยไม่ได้มีบทบาทนำในอาเซียนเหมือนอดีต 46 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว ก่อนหน้านี้เรามีบทบาทสำคัญหลายเรื่อง ทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศของไทยเอง แต่สภาพที่เราเป็นอยู่ขณะนี้ ก็ยังมีโอกาส ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน ซึ่งเหลือเวลาอีก 20 เดือน ที่เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะไทยมีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่ดีที่สุดกับจีนในเวลานี้"

กวีเห็นว่า ไทยต้องวางแนวทางสองบทบาทคือ ในความเป็นประเทศไทย และอีกบทบาทคือหนึ่งในสมาชิกอาเซียน เพราะต่อไปประชาคมอาเซียนจะถูกอ้างอิงเป็นหนึ่งเดียวที่มีประชากร 630 ล้านคน (แม้ในทางปฏิบัติอาจไม่เป็นอย่างนั้น)

ด้วยเหตุนี้ สื่อมวลชน ในฐานะหนึ่งในสถาบันหลักของสังคม ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เท่าทันและติดตามความเปลี่ยนแปลง ความเคลื่อนไหวในทุกมิติของสถานการณ์โลก เพื่อสามารถรายงานข้อมูลข่าวสารได้อย่าง ลึก รอบด้าน และทำให้ประชาชนผู้รับข่าวสารได้รับประโยชน์สูงสุด และจะเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมความพร้อม นำพาประเทศ ก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างสมภาคภูมิ...ในที่สุด
โสภิต หวังวิวัฒนา เรียบเรียง

สิ้นแล้ว “วิสรรชนีย์ นาคร” นักเขียนสาวมากฝีมือจากไปในวันคล้ายวันเกิด

สิ้นแล้ว “วิสรรชนีย์ นาคร” นักเขียนสาวมากฝีมือจากไปในวันคล้ายวันเกิด
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์27 สิงหาคม 2556 18:07 น.

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “วิสรรชนีย์ นาคร” หรือ จิราภรณ์ เจริญเดช นักเขียนสาวผู้มากฝีมือ ซึ่งป่วยเป็นโรคเซลล์เสื่อมมานานกว่า 4 ปี เสียชีวิตลงแล้วเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (27 ส.ค.) ซึ่งตรงกับวันเกิดของเธอเอง สำหรับพิธีสวดอภิธรรมศพ จะจัดขึ้นที่วัดหน้าพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
      
       ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า “วิสรรชนีย์ นาคร” หรือ จิราภรณ์ เจริญเดช นักเขียนสาวผู้มากฝีมือ ซึ่งป่วยเป็นโรคเซลล์เสื่อมมานานกว่า 4 ปี และนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเรื่อยมา โดยไม่สามารถขยับเขยื้อนเนื้อตัวได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และสื่อสารกับผู้คนด้วยการกะพริบตาเท่านั้น ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (27 ส.ค.) ซึ่งตรงกับวันเกิดของเธอเอง ทั้งนี้ พิธีสวดอภิธรรมศพจะจัดขึ้นที่วัดหน้าพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
      
       ในวันเกิดเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เธอเขียนกลอนขึ้นบทหนึ่ง โดยการบอกจดด้วยวิธีที่น้องสาวเอาแผ่นอักษรพยัญชนะ และสระมาชี้ให้เธอเลือก โดยแสดงการเลือกด้วยสายตาทีละตัวๆ จนประสมกันเป็นกลอนครบ 1 บท โดยไม่มีใครคาดคิดว่า 2 ปีถัดมา เธอจะจากลาโลกนี้ไปในวันคล้ายวันเกิดของเธอเช่นเดียวกัน
      
       “...จากใจพี่อ้น
      
        ซาบซึ้งในทุกมือที่มาช่วย
        ต่างร่วมด้วยดูแลพร้อมรักษา
        พยาบาลทุกคนกรุณา
        อยากเปล่งเสียงคำว่าแสนขอบคุณ
      
        จิราภรณ์ เจริญเดช
        ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๔...”
       

ออกหมายจับ15แกนนำม็อบสวนยางนครฯ

         ขณะนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งทีมเชี่ยวชาญการบริหารเหตุการณ์วิกฤต, หน่วยบินตำรวจ และฝ่ายเทคโนฯ ไปสนับสนุนการปฎิบัติ ณ พื้นที่เกิดเหตุแล้ว โดยเบื้องต้น ศาล จว. นครศรีธรรมราช ได้ออกหมายจับแกนนำก่อเหตุรุนแรง 6 คน ได้แก่
1. นายชญานิน คงลัง
2. นายก้องเกียรติ ชูทอง
3. นายสมภาษณ์ ขวัญทอง
4. นายสัมมิตร จุ้ยปลอด
5. นายประภาส ภักดีรัตน์
6. นางวนิดา แก้วมณี


               ข้อหา กระทำการใดๆให้ทางสาธารณะอยู่ในลักษณะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่จราจร ป.อาญา ม.229 จำคุก ไม่เกิน 3 ปี/ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อวันที่ 23 ส.ค. จับกุม จำนวน 9 คน ได้แก่
1. นายพีรพงศ์ วิชัยดิษฐ์
2. นายภิญโญ หมื่นจร
3. นายบัญชา ณ พัทลุง
4. นายกิตติวดี ขุนทอง
5. นายสมโภชน์ กำเนิดรักษา
6. นายสำราญ คงสวัสดิ์
7. นายสากล อินทระ
8. นายสมสุข กำเนิดรักษา
9. นายสมเกียรติ ทองเสน
             ในข้อหา “ร่วมกันปิดกั้นทางหลวง หรือ นำสิ่งใดมาขวางหรือวางไว้บนทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล” ตาม พรบ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 มาตรา 39 รับโทษตาม ม. 71 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วิจัยชี้BRNหวังรัฐอิสระ! RKKหลอนกูกลับมาแล้ว

            
วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2556, 00:00 น.

โจรใต้เขย่าขวัญ "ครู-นร." ลอบเข้าโรงเรียนเทศบาล 3 สุไหงโก-ลก พ่นสเปรย์สีแดงขู่ "กูกลับมาแล้ว" ส่วน อ.สะบ้าย้อยดักยิงชาวสวนยางบาดเจ็บ เมืองปัตตานีขับรถประกบใช้อาก้าถล่มผู้ใหญ่บ้าน โชคดีหมอบบนเบาะรอดตายหวุดหวิด "มือยิงอิหม่ามยะโก๊บ" เข้ามอบตัวสู้คดี "ผอ.สันติวิธี" ซัดรัฐบาลไทยปกปิดข้อมูลเจรจาสันติภาพ ทำสังคมสับสน

เมื่อวันอาทิตย์ สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เวลาประมาณ 10.30 น. พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ สุขวัฒน์ธนกุล รอง ผบก.ภ.จ.นราธิวาส รักษาราชการแทน ผกก.สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้นำกำลังตำรวจ เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดอโณทัย พร้อมสุนัขสงคราม เดินทางไปโรงเรียนเทศบาล 3 ซึ่งตั้งอยู่ ถ.เอเซีย 18 เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เพื่อตรวจสอบเหตุคนร้ายแฝงตัวเข้าไปในโรงเรียน แล้วใช้สีสเปร์สีแดงพ่นข้อความภาษาอังกฤษและภาษาไทยลงบนพื้นปูนคอนกรีต ทางขวามือของประตูทางเข้าโรงเรียน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบข้อความระบุ "RUN RKK BAK โจรใต้กูกลับมาแล้ว" ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวอยู่ระหว่างใช้เป็นสถานที่สอบเก็บคะแนน ของนักศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขต อ.สุไหงโก-ลก เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นฝีมือของสมาชิกแนวร่วมกลุ่มผู้ไม่หวังดีในพื้นที่ เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความปั่นป่วน และน่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่ลอบวางระเบิดบริเวณสี่แยก รร.บุญลาภ เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จนมีทหารและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 8 ราย

ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เวลา 05.45 น. เกิดเหตุคนร้ายดักยิงนายมะคอรี นาแซ อายุ 36 ปี หน้าบ้านเลขที่ 22/4 บ้านล่องควน หมู่ที่ 6 ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ขณะกำลังออกจากบ้านเพื่อไปกรีดยาง กระสุนปืนเข้าที่บริเวณมือได้รับบาดเจ็บ เพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์ช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลสะบ้าย้อย โดย พ.ต.อ.ประวิตร ซ่อเส็ง ผกก.สภ.สะบ้าย้อย เดินทางไปตรวจสอบว่าเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่หรือไม่

ส่วนที่ อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี เวลา 16.50 น. คนร้าย 3 คน ใช้รถมาสด้า 2 สีขาว ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มาจอดประกบรถอีซูซุ ดีแม็กซ์ 4 ประตู สีบรอนซ์เทา ทะเบียน กข 9796 ปัตตานี ของนายมะนาเซ มะโระ ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.คลองมานิง อ.เมืองปัตตานี บนถนนทางหลวงชนบทบ้านคลองมานิง-ปูยุด ม.3 ต.คลองมานิง อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี จากนั้นคนนั่งหลังเปิดกระจกใช้อาวุธปืนอาก้ายิงถล่มใส่รถของนายมะนาเซ จนตัวถังพรุน กระจกแตก โชคดีนายมะนาเซไม่ได้รับบาดเจ็บ ก่อนคนร้ายจะรีบขับรถหลบหนีไป

พ.ต.อ.ต่วนเดร์ จุฑานันท์ ผกก.สภ.เมืองปัตตานี จึงนำกำลังไปตรวจสอบ ทราบว่านายมะนาเซขับรถยนต์มาเพียงลำพัง เพื่อไปพบปะชาวบ้านบริเวณที่เกิดเหตุ ขณะที่กำลังจอดเพื่อลงจากรถก็ได้มีคนร้ายนำรถมาจอดเทียบ แล้วใช้อาวุธปืนอาก้ากราดยิงใส่ แต่โชคดีที่นายมะนาเซล้มตัวลงนอนบนเบาะรถ ทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่กระสุนถูกตัวถังรถได้รับความเสียหาย ส่วนคนร้ายหลังก่อเหตุได้หลบหนีไป

ขณะที่มีรายงานว่า ที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี รับตัวนายมาฮูเซ็น แมฮะ ผู้ต้องหาตามหมายจับ 1 ในทีมคนร้ายสังหารนายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานี ซึ่งญาติติดต่อขอพามามอบตัวสู้คดี โดยเจ้าหน้าที่สอบสวนอย่างเคร่งเครียดกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนที่จะให้พนักงานสอบสวนและชุดตรวจพิสูจน์เข้าสอบสวนและเก็บดีเอ็นเอผู้ต้องหา เพื่อไปตรวจเทียบเคียงกับหลักฐานที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ 

ชุดสอบสวนระบุว่า ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบยิงนายยะโก๊บ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากมีพยานหลักฐานชัดเจน เห็นนายมาฮูเซ็นคือคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์คันที่ 2 ใส่เสื้อสีส้ม

วันเดียวกัน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพนายอธิคม ติวงค์ ครูโรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตบนถนนสายปัตตานี-ยะลา โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมพิธี 

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น การปฏิบัติการในกระบวนการสร้างสันติภาพในมุมมองทัศนะของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการทดลองเสนอรูปแบบกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดย ศอ.บต., กลุ่มดรีมเซาธ์ (Dream South) หรือกลุ่มนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

นายดันย้าล อับดุลเลาะ ตัวแทนกลุ่มดรีมเซาธ์ กล่าวว่า ไม่สามารถยอมรับได้ว่า BRN จะเป็นตัวแทนคนในพื้นที่ได้ เพราะนักศึกษาเห็นว่า ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้อยู่ และไม่รู้ว่าเป็นตัวแทนใคร จึงต้องมีการรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะจากประชาชนชาวมลายูในพื้นที่

"ที่ให้เรียกว่าผู้ปลดแอก ไม่ใช่ผู้แบ่งแยกนั้น ธงที่แท้จริงของขบวนการ BRN คืออะไร แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ และคำว่าปลดแอกนั้น เป็นคำที่มีนัยในทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องการปกครอง ต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า คำว่าองค์การปลดแอก และแบ่งแยกดินแดนนั้น แต่ละคำมีความหมายอย่างไร" ตัวแทนกลุ่มดรีมเซาธ์กล่าว

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมเปิดงานวิจัยเรื่อง "เป้าหมายสุดท้ายของกลุ่ม BRN กับ Peace Process" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ "1 ทศวรรษสามจังหวัดชายแดนใต้: ทิศทาง ความรู้ และอนาคต" โดยเป็นงานวิจัยของ น.ส.จิราพร งามเลิศศุภร นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

น.ส.จิราพรกล่าวว่า เป้าหมายสุดท้ายบีอาร์เอ็นไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คือต้องการเอกราชและสังคมนิยมอิสลาม ตามหลักเชื้อชาติ ศาสนา แผ่นดิน ดังนั้น บีอาร์เอ็นจึงพยายามทำให้สถานการณ์ในพื้นที่นำไปสู่การปฏิวัติ และหากได้ดินแดนแล้วจึงจะมาคิดเรื่องการปฏิรูปการพัฒนา

"การแก้ปัญหานาทีนี้ต้องใช้หลายๆ แนวทาง ซึ่งไม่สามารถใช้แนวทางเดียวได้ และหากเปิดพื้นที่แล้วแต่พวกเขาไม่ร่วมมือ ก็ควรดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ใช้ความรุนแรง โดยให้คิดถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก และควรให้ความรู้ทางหลักศาสนาอิสลามที่ชัดเจน และอยากให้ไปศึกษาเรื่องการจัดระบบดูแลคนที่เลิกสู้แล้วในต่างประเทศ และในแบบสากล เพื่อให้คนที่เลิกสู้มีความเป็นอยู่ที่ดี แทนที่จะไปง้อกลุ่มที่ไม่เลิกต่อสู้" ผู้วิจัยโครงการดังกล่าวระบุ

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในการพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นกับฝ่ายไทยที่ดำเนินการมาแล้วนั้น ตนได้ข้อมูลจากกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว พบว่าการจัดการพูดคุยของบีอาร์เอ็นมีรูปแบบกระบวนการที่ดี เพราะก่อนเจรจาจะมีการประชุมสภาบีอาร์เอ็น มีการกำหนดประเด็นที่จะพูดคุย มีการกำหนดคนเข้าพูดคุย และหลังจากประชุมก็ต้องนำเข้ารายงานสภาภายใน 24 ชม. จะได้กำหนดแนวทางการพูดคุยหรือการแถลงข่าวต่อไป แต่ฝ่ายไทยกลับหาตัวคนพูดก่อนที่จะมีการพูดคุยไม่นาน แล้วพอพูดคุยเสร็จก็เก็บข้อมูลอยู่กับตัวไม่มีการคุยกัน

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพต้องคุยต่อ เพราะในการศึกษามีข้อมูลว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงกว่า 300 กลุ่ม มีเพียง 7 กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงแล้วชนะ ซึ่งการสนทนาสันติภาพเป็นอาวุธสำคัญ ซึ่งหน่วยงานของรัฐ และสังคมจำเป็นต้องมีบทสนทนาในเรื่องนี้ให้มากกว่าปัจจุบัน.