PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ชนะไม่ได้ให้กลายเป็นพวก เล็งถอนยาบ้าจากยาเสพติด


ไทยจุดพักขนถ่ายยาเสพติด ‘พล.อ.ไพบูลย์’ เน้นทำลายแหล่งผลิตนอกประเทศ เปลี่ยนรูปเเบบเเก้ปัญหา ยอมรับที่ผ่านมายังไม่สำเร็จ  ด้าน 'นพ.รัชตะ' ชี้ขึ้นทะเบียน 'ยาบ้า' ยาเสพติดให้โทษ 1 เพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งผลระบาดหนัก
วันพุธ ที่ 08 กรกฎาคม 2558 เวลา 09:20 น
natdanai0760758
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2558 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุม เรื่อง "(เมท)แอมเฟตามีน : มุมมองด้านสาธารณสุขกับทางออกที่ดีกว่า" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวถึงเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.การตลาดและธุรกิจเมทแอมเฟตามีนที่มีความต้องการบริโภคสูง และสร้างผลกำไรมหาศาล อันเป็นแรงจูงใจให้ต่างประเทศได้เข้ามาลงทุนค้าขายในประเทศไทย
2.สินค้าเมทแอมเฟตามีนที่มีผลทำให้ร่างกายทำงานได้ยาวนานผิดปกติ หากบริโภคโดยขาดสติและการควบคุม ผู้บริโภคก็จะสามารถเสพติดได้ และทำให้เกิดค่าความนิยม (Goodwill) ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่ขายได้ในราคาสูงจึงสร้างกำไรมาก ทำให้เกิดแรงจูงใจในการขายและเสพ
"ในอดีตเมทแอมเฟตามีนไม่ได้มีมูลค่า ตามกฎหมายเป็นเพียงวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่เมื่อ พ.ศ.2539 มีการเปลี่ยนให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ก็เสมือนเป็นการเพิ่มมูลค่าขึ้นทันที ซึ่งสถานการณ์เช่นนั้นอาจทำให้ถูกย้ายสถานะ แต่วันนี้สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป ท่าทีของต่างประเทศและหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องยาเสพติดในต่างประเทศมีมุมมองต่อเมทแอมเฟตามีนเปลี่ยนไป ดังนั้นถึงเวลาแล้วจะต้องทบทวนเรื่องดังกล่าวใหม่" รมว.สธ. ระบุ
ด้านพล.อ. ไพบูลย์ กล่าวถึงปัญหาการปราบปรามยาเสพติด โดยยอมรับว่า ประเทศไทยเป็นจุดพักการขนถ่ายยาเสพติด จึงควรเน้นไปที่การทำลายแหล่งผลิตนอกประเทศ ยกตัวอย่าง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนรูปแบบการแก้ปัญหา ด้วยการอาศัยความรู้ความสามารถจากหลายหน่วยงาน โดยมีปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับกฎหมาย
ทั้งนี้ จากสภาวการณ์ดังกล่าว ได้ผลักดันให้เป็นวาระของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว และหน่วยข่าวกรองจากสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดได้ชื่นชมว่า ยาเสพติดที่เข้ามาในประเทศไทยเริ่มชะงัก อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการทำงานลักษณะนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ตราบใดที่ชาวบ้านยังเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดอยู่ ส่วนการแก้กฎหมายก็ใช่ว่าจะทำได้โดยง่าย
ถ้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดล้มเหลวควรถูกยุบ เพราะคนกลุ่มดังกล่าวท้ายสุดจะต้องเข้าสู่ระบบฟื้นฟู แม้แต่ในเรืองจำก็ไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ในจำนวนทั้งหมด 20 % จะเป็นคดีรายใหญ่ และอีก 80% เป็นเพียงกลุ่มคนผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับโทษหนักเช่นกัน” รมว.ยุติธรรม กล่าว และว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังตัดสินลงโทษตามกฎหมาย การเอาพฤติกรรมมาประกอบคำตัดสินนั้นยังน้อยมาก เพราะระบบการสืบเสาะยังไม่สมบูรณ์ กรณีเช่นนี้สร้างความไม่ยุติธรรมให้กับผู้หลงผิด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมทแอมเฟตามีน คือชื่อทางเคมีของ "ยาไอซ์" ซึ่งเป็นสารเสพติดกระตุ้นประสาทอยู่ในรูปผลึกใสเหมือนน้ำแข็ง ไม่มีสีถึงมีสีขาว ไม่มีกลิ่น ซึ่งมีความบริสุทธิ์สูงเกือบ 100% เป็นสารเคมีชนิดเดียวกันกับ "ยาบ้า" แอมเฟตามีน แต่ยาบ้ามีส่วนประกอบของเมทแอมเฟตามีนน้อยกว่าและอยู่ในรูปแบบเม็ด
ก่อนหน้านี้เมทแอมเฟตามีนเคยเป็นวัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)วัตถุออกกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2518 แต่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 135 พ.ศ.2539 กำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภท 1 โทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 .
/////////
ชนะไม่ได้ให้กลายเป็นพวก เล็งถอนยาบ้าจากยาเสพติด
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ชี้ ทิศทางแก้ปัญหายาเสพติดโลกเปลี่ยนไป จากปราบปรามให้หมดสิ้นเป็นต้องอยู่ร่วมให้ได้ เผยเล็งยกเลิกเมทแอมเฟตามีนจากบัญชียาเสพติด ให้เป็นยาปกติ
พุธที่ 15 มิถุนายน 2559 เวลา 16.42 น.

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซนทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ศาลฏีกา ร่วมกับสำนักกิจการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมประชุมเรื่อง ทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลก เพื่อนำผลของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด( UNGASS ) ปี 2016 มาปรับใช้ในประเทศไทย โดยมี นายวีรพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เปิดการประชุม ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการแก้ไขยาเสพติดเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมาว่า มีแนวคิดทำให้โลกปราศจากยาเสพติดด้วยประกาศสงคราม แต่เมื่อทำงานร่วมกับยาเสพติดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โลกยอมจำนนให้ยาเสพติด และกลับมาคิดว่าจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไร เปรียบเทียบได้กับคนเป็นมะเร็งที่ไม่มียารักษา ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งต่อไปให้ได้อย่างมีความสุข ขณะนี้ทิศทางเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเปลี่ยนไป หลายประเทศพูดถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้เสพ ทิศทางของการใช้ยาเสพติดเพื่อรักษาอาการป่วย แต่ยูเอ็นยังไม่กล้าเขียนและไม่กล้ายอมรับ ทั้งที่มีผลงานวิจัยยืนยันและมีทิศทางของการยอมรับมากกว่า 70% แล้ว

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุม UNGASS ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เรียกร้องให้คำนึงถึงการลงโทษที่ได้สัดส่วน เช่น อันตรายของสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนที่มีต่อตนเองและผู้อื่นในสังคม บทบาทของผู้กระทำผิด มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก หลายประเทศนำแนวคิดของประเทศไทยไปใช้ แต่ในไทยทำไม่ได้เพราะติดขัดที่กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าไม่แก้กฎหมายก็เดินต่อไปไม่ได้ ตนจึงผลักดันให้ยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา กฎหมายใหม่จะเปิดช่องให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลยพินิจในการลงโทษจำคุก หรือการปรับที่น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เมื่อมีเหตุอันสมควรเฉพาะราย โดยพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิด และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ ปราบปราม ป้องกัน และบำบัด แต่ที่ผ่านมาการบำบัดทำไม่ได้ ติดขัดที่กฎหมาย ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีนจากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาปกติ เพราะในทางการแพทย์ เมทแอมเฟตามีนมีผลทำลายสุขภาพและสมองน้อยกว่าบุหรี่และสุรา แต่สังคมกลับยอมรับบุหรี่และสุรา หลังจากนี้จะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนจากบัญชียาเสพติด.

ขอบคุณภาพจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 ย้อนกลับ... อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/crime/502786