PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สนิมเนื้อใน

17 มิ.ย.62 - นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.กล่าวในรายการลมหายใจ พีซทีวี เวทีทัศน์ เมื่อวานนี้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการต่อสู้ของพวกเรา ได้เรียนรู้บทเรียนว่า เราประกาศแนวทาง เขาก็นำไปปรับใช้ให้อยู่ยาว เราขับเคลื่อน อีกฝ่ายตั้งท่าปรับกระบวนยุทธ์รับ ตนคิดว่า ณ ขณะนี้ ประวัติศาสตร์ พรรคสหประชาไทย ที่เป็นพรรคนอมินีให้ทหาร คล้ายกับพรรคหนึ่งในปัจจุบัน กำลังกลับมาหลอกหลอน เหมือนจะเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ความไม่สามารถควบคุมรัฐบาลได้เบ็ดเสร็จของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเกาะกินรัฐบาลไปเรื่อยๆ รวมไปถึงปัญหาเรื่องความไม่ชอบธรรมของ วุฒิสภา 250 คน ที่เกินครึ่งของกรรมการสรรหาเลือกตัวเองเป็น สมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ส่วนที่เหลือก็ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ชุดใหม่
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีใครร้องถึงความไม่ชอบธรรมอย่างไร แต่ท้ายที่สุด ก็จะมีช่องทางถูไถไปได้ไม่มีความผิดอยู่ดี รวมถึงกรณี ส.ส.ถือหุ้นสื่อ หากใช้มาตรวัดแบบเดียวกันกับที่ใช้กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้ที่ถูกร้องทั้ง 41 คน ก็คงไม่รอดแม้แต่รายเดียว

นายจตุพร กล่าวอีกว่า มาตรวัดสำคัญคือ รัฐบาลชุดนี้จะรอดพ้น 4 เดือนแรกไปได้หรือไม่ แค่เดือนแรกนี้ก็เห็นรอยปริรอกันอยู่แล้ว ทั้งพรรคเล็ก พรรคกลางที่มาร่วมรัฐบาล ต่างไม่พอใจกับตำแหน่ง ผลประโยชน์ที่ได้ ครม.ก็ไม่รู้จะตั้งสำเร็จเมื่อใด ปัญหาเช่นนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ยังไม่มากขนาดนี้

"ขอให้ทุกคนเฉยๆ รอดูกันไปก่อน คนที่จะพังรัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากคนในรัฐบาลชุดนี้เอง ถ้าเราเริ่มขยับ พวกเขาจะจับมือกันมาเล่นงานเราก่อน แต่ถ้าเราอยู่เฉย สังคมนี้จะเปิดเผยให้รู้เช่นเห็นชาติพวกเขาเอง สนิมมันจะกัดกร่อนจากภายใน โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย ใจเย็นๆ ร่มๆ เอาไว้ เดี๋ยวฝนตกก็พัดพวกนี้ไหลไปเอง" นายจตุพร กล่าว

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาล

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาล
โดย สิริอัญญา 
วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2562

ศาลพระภูมิหรือศาลเจ้าทั้งหลายมีความศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะแรงศรัทธานับถือของประชาชน แต่ศาลทั้งหลายนั้นทรงความศักดิ์สิทธิ์เพราะเหตุสองประการ คือ ศาลทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์โดยตรง และศาลเป็นสถาบันที่ประสาธน์ความยุติธรรมให้บังเกิดความสงบสุขร่มเย็นในบ้านเมือง 

ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลหนึ่งในศาลทั้งหลายที่กระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่ในการประสาธน์ความยุติธรรมตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ 

บัดนี้กำลังเกิดกรณีที่ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของศาลรัฐธรรมนูญอันเกิดแต่กรณีเกี่ยวกับคุณสมบัติของ ส.ส. หรือ ส.ว. ซึ่งขณะนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องที่มีการร้องเรียนให้เพิกถอน ส.ส. จำนวน 41 คน ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ดำเนินการไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติครบถ้วนถูกต้องทุกประการ 

จึงเป็นที่กริ่งเกรงกันว่าในขณะที่รัฐบาลมีเสียงในสภาปริ่มน้ำ หาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจำนวนถึง 41 คน หากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยบรรทัดฐานเดียวกันกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจแล้ว ก็จะเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น 

นี่ก็เป็นพิษภัยอย่างหนึ่งของการออกแบบและที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งด้วย ดังนั้นจึงเกิดกระแสทางโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางว่า 

การที่มีหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทอันเป็นแบบมาตรฐานที่ครอบจักรวาลว่ามีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนนั้นไม่ทำให้ขาดคุณสมบัติ แต่จะขาดคุณสมบัติก็ต่อเมื่อนิติบุคคลนั้นประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยู่จริง ๆ ในขณะที่มีการสมัคร ส.ส. และเกิดกระแสด้วยว่าจะห้าม ส.ส. ทำหน้าที่ไม่ได้ 

ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เกิดกระแสกดดันมาก่อนหน้านี้อย่างหนักหน่วงรุนแรงว่าต้องถือบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าการมีข้อความระบุในหนังสือบริคณห์สนธิว่าประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนแล้วต้องถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ว่าจะประกอบกิจการจริงหรือไม่อย่างไร รวมทั้งกระแสกดดันว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในทันทีที่ศาลรับคดีไว้พิจารณา 

สภาพดังกล่าวจึงเป็นกระแสที่สวนทางกันในระยะเวลาเพียงไม่ถึงเดือน และกลายเป็นกระแสที่ขับเคลื่อนกดดันอย่างกว้างขวางรุนแรงขึ้นอีก 

กระแสแบบนี้ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของศาล จึงจำเป็นต้องแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลให้ปรากฏและให้เข้าใจโดยทั่วกันสักครั้งหนึ่ง 

ตามรัฐธรรมนูญที่มีมาทุกฉบับยืนยันหลักการเดียวกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยสามทาง คือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล 

แม้กระนั้น การใช้อำนาจอธิปไตยดังกล่าวก็แตกต่างกัน 

การใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภานั้น พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายทั้งหลายที่รัฐสภาได้ถวายคำแนะนำ โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ 

การใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางคณะรัฐมนตรีนั้น พระมหากษัตริย์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศหรือคำสั่งทั้งหลาย โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และมีรัฐมนตรีคือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเป็นผู้รับผิดชอบ 

แต่สำหรับการใช้อำนาจตุลาการทางศาลนั้น ศาลได้รับความไว้วางใจตลอดมาให้ทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ได้โดยตรง โดยพระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยและไม่ต้องมีผู้ใดรับสนองพระบรมราชโองการ 

ดังนั้นบรรดาหมายเรียกหรือคำสั่งเรียกหรือคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาทั้งหลายของศาลจึงมีคำประกาศอยู่ในหมายหรือคำสั่งหรือคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษานั้น ๆ อย่างชัดเจนว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” 

ซึ่งศาลทั้งหลายรวมทั้งผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายล้วนเทิดทูนไว้เหนือเกล้าในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตยสุจริต ด้วยความบริสุทธิ์ และยุติธรรม ให้สมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์นั้น 

เพราะเหตุนี้บรรดาคำสั่งหรือคำพิพากษาทั้งหลายของศาลจึงต้องมีบรรทัดฐานให้แก่การมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่ต้องปฏิบัติทั่วถึงกันทั้งประเทศ 

และเมื่อมีบรรทัดฐานแล้ว ใครก็จะเปลี่ยนแปลงเองตามใจชอบไม่ได้ ไม่ว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นเอง ไม่ว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะหรืออธิบดีศาลทั้งหลายในทุกชั้นศาล ก็ไม่มีสิทธิ์และอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานนั้นได้โดยลำพัง 

ในกรณีที่สถานการณ์ของบ้านเมืองและความเป็นจริงของประเทศเปลี่ยนแปลงไป และจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐาน จะกระทำได้โดยประธานศาลฎีกานำเรื่องนั้นเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาอันประกอบด้วยผู้พิพากษาทั้งหมดของศาลฎีกา เพื่อร่วมกันพิจารณาวินิจฉัยและตัดสินว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานหรือไม่ และเมื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานแล้วก็จะมีการแจ้งหรือลงพิมพ์ให้ผู้พิพากษาตุลาการและศาลทั้งหลายได้รับทราบและปฏิบัติโดยทั่วกัน จากนั้นไปก็จะถือบรรทัดฐานใหม่ตามมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น 

สำหรับกรณีเพิกถอนข้าราชการการเมืองออกจากตำแหน่งแต่ก่อนมาจนมาถึงคดีก่อนหน้านี้คือคดีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็มิได้มีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกระทั่งมาถึงคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ 

มาบัดนี้เมื่อคดี 41 ส.ส. เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ส. ทั้ง 41 คนจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่สำคัญยิ่ง!