PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

เปิดภาพจากจุดเช็คอินลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนหมุดคณะราษฎรหาย

เปิดภาพจากจุดเช็คอินลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนหมุดคณะราษฎรหาย

รวบรวมภาพจากจุดเช็คอินของเฟซบุ๊กที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2560 พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและบริเวณรอบๆ หมุดคณะราษฎร โดยเฉพาะในวันที่ 4 เมษายนจนถึงคืนวันที่ 5 เมษายน
18 เม.ย. 2560 กรณีหมุดคณะราษฎรหายและถูกแทนที่ด้วยหมุดที่เขียนข้อความด้านในว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” และมีข้อความวงนอกของหมุดว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” ซึ่งตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ม.จ.ก. สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรวบรวมภาพจากจุดเช็คอินเฟซบุ๊กที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่มีผู้เช็คอินตั้งค่าสาธารณะตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2560 พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าและบริเวณรอบๆ หมุดคณะราษฎร
ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม อย่างช้าที่สุดตั้งแต่เวลา 22.40 น. เริ่มมีการตั้งนั่งร้านและคลุมตาข่ายกรองแสงสีเขียวบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมรูปทรงม้า คล้ายกับมีการบูรณะ โดยยังไม่มีการนำแผงเหล็กมากั้นเป็นรั้ว
ต่อมาวันที่ 4 เมษายน อย่างช้าที่สุดตั้งแต่เวลา 08.30 น. มีการตั้งเต๊นท์บริเวณด้านข้างพระบรมรูปทรงม้าทางทิศตะวันออก เต๊นท์คลุมผ้าใบสีขาวทึบ และมีการนำแผงเหล็กมากั้นเป็นรั้วล้อมบริเวณพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณกลุ่มเต๊นท์ผ้าใบดังกล่าว ทั้งนี้มีการติดป้าย "ห้ามจอด" บริเวณแผงเหล็กกั้นด้วย
อย่างช้าที่สุดวันที่ 4 เมษายน ตั้งแต่เวลา 22.22 น. ไม่มีการตั้งนั่งร้านและคลุมตาข่ายกรองแสง บริเวณพระบรมรูปทรงม้าแล้ว คงเหลือแต่บริเวณด้านข้างพระบรมรูปทรงม้าที่ยังคงมีกลุ่มเต๊นท์ผ้าใบ และมีแผงเหล็กกั้นรอบพระบรมรูปทรงม้าและบริเวณด้านข้าง โดยกลุ่มเต๊นท์ผ้าใบดังกล่าวปรากฏจนถึงคืนวันที่ 5 เมษายน
จนกระทั่งในวันที่ 6 เมษายน ไม่มีกลุ่มเต๊นท์ผ้าใบแล้ว โดยภาพในช่วงกลางคืนมีคนมาสักการะพระบรมรูปทรงม้าเช่นทุกคืน
อนึ่งในรายงานของวอยส์ทีวี ศาสตรินทร์ ตันสุน อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลระบุว่าได้สั่งให้นิสิตทำวิจัยเรื่องหมุดคณะราษฎร นิสิตกลุ่มแรกเดินทางไปยังหมุดคณะราษฎรระหว่าง 1-2 เม.ย. ได้ถ่ายภาพและพบว่ายังเป็นหมุดคณะราษฎรเดิม
แต่เมื่อนิสิตกลุ่มที่ 2 ลงพื้นที่สำรวจวันที่ 8 เม.ย. พบว่า หมุดเปลี่ยนไปแล้ว โดยศาสตรินทร์เสนอว่า หากจะมีการเปลี่ยนหมุดในพื้นที่ดังกล่าวน่าจะทำในช่วงวันที่ 3-7 เมษายนที่ผ่านมา
ส่วนความเห็นล่าสุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในวันนี้ (18 เม.ย.) ถึงกรณีมีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎรว่าไม่ทราบว่าถูกถอดออกไปเมื่อใด โดยเรื่องนี้เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าได้มอบหมายให้หน่วยงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ติดตามสืบสวนและสอบสวน แต่ไม่อยากให้เป็นประเด็นในเวลานี้ เพราะประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากว่า 80 ปีแล้ว และตัว พล.อ.ประยุทธ์เองก็เป็นประชาธิปไตย(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
28 มีนาคม 22.40 น.
31 มีนาคม 01.10 น.
4 เมษายน 08.30 น.
4 เมษายน 22.22 น.
5 เมษายน 00.21 น.
5 เมษายน 19.35 น.
6 เมษายน 22.22 น.
6 เมษายน 22.58 น.

‘พิชัย’ชี้ หมุดคณะราษฎรมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซัดคนทำไม่คำนึงถึงปรองดอง

“ปู่พิชัย”ออกแถลงการณ์ ทนไม่ได้เปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ชี้มีค่าทางประวัติศาสตร์ -ทางใจ อัดคนทำไม่นึกถึงปรองดองของคนในชาติ
เมื่อวันที่ 18 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย รัตตกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกแถลงการณ์กรณี มีผู้มาเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ หายไปจากที่เดิม ระบุว่า หมุดนั้นสำคัญไฉน ? มีรายระเอียดดังนี้ เมื่อคณะราษฎร์ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ผมเพิ่งมีอายุ 6-7 ขวบ ไม่รู้ประสีประสาอะไร แต่เมื่ออายุมากขึ้น ก็มีโอกาสได้พบ และให้ความเคารพแก่ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หลายท่าน เช่นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ , จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลเอกหลวงเสรี เรืองฤทธิ , พันตรี ควง อภัยวงค์ , และคุณชุณห์ ปิณฑานนท์ เป็นต้น
“ผมไม่ทราบมาก่อนเลยว่า คณะราษฎร ได้ทำหมุดเกี่ยวกับเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น และนำไปฝังไว้ที่ลาน พระบรมรูปทรงม้า มาทราบอีกที และเป็นครั้งแรกก็เมื่อ มีข่าวว่ามีคนมาขุดเอาหมุดนี้ออก และนำหมุดใหม่มาใส่แทนที่ แสดงว่าใครก็ตาม ที่ทำการนี้จะต้องมีแผนการ ไว้ล่วงหน้า หมุดนี้ไม่ใช่หมุดหัวจ่ายน้ำประปา หมุดเดิมที่คณะราษฎร์ ได้นำมาฝังไว้ 85 ปี มาแล้ว อาจจะไม่มีค่างวดอะไรนัก แต่ค่างวดของหมุดนี้ มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และทางจิตใจ อย่างยิ่ง ซึ่งไม่สามารถนำมา คำนวณ เป็นตัวเงินได้ ผู้ที่กระทำการเอาหมุดเดิมออก ไม่ได้คิดสักนิดว่า การกระทำของเขา กระทบกระเทือนจิตใจ และความรู้สึกที่ไม่ดี ต่อผู้กระทำอย่างมาก และเป็นการกระทำ ที่ไม่คำนึงถึง ความปรองดอง ความรักใคร่สามัคคี ของชนในชาติเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็แสนจะดี โดยแจ้งให้ผู้ไปแจ้งความว่า “ใครเป็นเจ้าของหมุด ต้องให้เจ้าของมาแจ้งความเอง” นายพิชัย ระบุ
นายพิชัย เปิดเผยอีกว่า ตนก็อายุมากแล้ว ก็อยากเห็นบ้านเมืองเรียบร้อย ประชาชนมีความรักใคร่ปรองดองกัน แต่เหตุการณ์เรื่อง “หมุด” นี้ ไม่นำไปสู่สิ่งที่อยากเห็นเลย อย่ามาพูดว่า ให้มารักกันด้วยปาก อย่ามาพูดให้ปรองดอง กันด้วยปาก ตราบใดที่ขาดความจริงใจ ตราบนั้นบ้านเมืองของเรา ก็ย่ำอยู่กับที่
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์สอบถามไปยังนายพิชัย ถึงแถลงการณ์ดังกล่าว โดยนายพิชัย กล่าวยืนยันว่า ตนเป็นคนเขียนเองเมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 เมษายน เพราะเห็นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่น่าเกิดขึ้นเลย ผู้กระทำการไม่เห็นใจคนว่า ตะกระทบกระเทือนจิตใจประชาชนขนาดไหน ตนทนไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการสมัยนั้นเลย แต่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ยุติธรรมโดยสิ้นเชิง