PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

รอเคาะ‘บิ๊กตู่’เป็นทางการ!พปชร.เล็งทำไพรมารีโหวตจัดอันดับ3รายชื่อนายกฯ

พปชร.ตั้ง11อรหันต์นั่งกก.ยุทธศาสตร์ทำศึกเลือกตั้ง"สนธิรัตน์"ย้ำ"บิ๊กตู่"เป็นตัวเลือกที่ดีเป็นนายกฯรอเวลาเหมาะสมเคาะ พร้อมเล็งทำไพรมารีโหวตจัดอันดับชื่อนายกฯในบัญชี
วันนี้(3 ธ.ค.61) เมื่อเวลา 16.30 น.ที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์​ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ได้เรียกประชุมแกนนำพรรคในแต่ละภาค อาทิ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายวิรัช รัตนเศรษฐ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายสุพล ฟองงาม นายสุชาติ ตันเจริญ นายอนุชา นาคาศัย  นายเอกราช ช่างเหลา นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ โดยมีนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค เข้าร่วมประชุมด้วย
ต่อมานายสนธิรัตน์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นคณะกรรมการชุดหลัก เพื่อดำเนินในส่วนของของพรรคเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง โดยที่ประชุมได้หารือหลายเรื่อง ได้รับฟังความคิดเห็นที่ดีๆ จะได้รวบรวมความเห็นไปดำเนินการต่อไป
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้เชิญผู้อาวุโสทางการเมืองร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุชาติ ตันเจริญ นายสันติ พร้อมพัฒน์ นายวิรัช รัตนเศรษฐ นายสุพล ฟองงาม นายเอกราช ช่างเหลา นายสนธยา คุณปลื้ม นายอนุชา นาคาศัย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ทั้งนี้นายอุตตม จะมีคำสั่งแต่งตั้งเร็วๆนี้
เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กล่าวต่อว่า ส่วนการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.อยู่ในบัญชีพรรคเป็นนายกฯอันดับ 1 นั้น เวลานี้ยังเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคเท่านั้น แต่ในส่วนของพรรคยังไม่มีกระบวนการตัดสินใจในการคัดเลือกผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นมา
ทั้งนี้ส่วนของตนมองว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะพูดถึงตรงนั้น แต่เมื่อถึงเวลาพรรคก็จะดำเนินการ แต่ขณะนี้ตนกำลังมองหาบุคคลที่เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯยังมองได้เรื่อยๆ จนถึงเวลาหนึ่งพรรคก็ต้องตัดสินใจ
"การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งด้วยการกาบัตรใบเดียว ในบัตรใบเดียวต้องเลือกถึง 3 อย่าง 1.ตัวผู้สมัคร 2.พรรค 3.เลือกนายกฯ พรรคจึงต้องเลือกคนที่ประชาชนต้องการมากที่สุด และมีความเป็นไปได้จะทำไพรมารีโหวตคัดบุคคล 3 รายชื่อในบัญชีนายกฯของพรรค เพื่อวัดความนิยมจากประชาชน และขณะนี้พรรคต้องมีความพร้อมในเรื่องนโยบายหาเสียง เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่นาน"นายสนธิรัตน์ กล่าว

ระทึก!ศาลฎีกานัด 4 ธ.ค.ฟังคำพิพากษาคดี'ตู่-เต้น-วีระกานต์'หมิ่น'วัชระ'หลังอุทธรณ์สั่งคุกคนละ 2 ปี

3  ธ.ค. 61 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 4 ธ.ค.นี้   เวลา 09.30 น. ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกาคดีดำ อ.4977/55 ที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์  นายจตุพร พรหมพันธุ์  นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายวัชรชัย วรรณสิทธิ์ แกนนำ นปช. ร่วมกันเป็น  1- 4 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ 
กรณีเมื่อวันที่ 27 พ.ย.52  พวกจำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ทาง www.thaipeopletv.com ทำนองว่า โจทก์ เขียนหนังสือพาดพิงใส่ร้ายนายสมัคร สุนทรเวช  อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ เสื่อมเสีย ชื่อเสียง 
จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-3 กระทำผิดจริงมาตรา 326,328  จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ  5 หมื่นบาทโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี  และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 600,000 บาทแก่โจทก์ด้วย ส่วนจำเลยที่ 4 โจทก์ถอนฟ้อง
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์  จากนั้น ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน   กระทั่งจำเลยยื่นฎีกาขอให้ยกโทษ โดยศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาวันที่ 4 ธ.ค.นี้.

'บิ๊กตู่'ย้อนเกล็ดพรรคไม่ร่วมถก7ธ.ค.แสดงว่าไม่อยากเลือกตั้ง



3 ธ.ค. 61 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวที่จังหวัดชัยภูมิ ว่าวันนี้คงไม่ต้องให้สัมภาษณ์ เพราะได้พูดทุกอย่างกับประชาชนไปหมดแล้ว สิ่งสำคัญทุกคนต้องรวมพลังให้ประชาชน ซึ่งเป็นฐานรากเข้มแข็ง โดยรัฐบาลต้องมีส่วนเข้าไปดูแลเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้อยากให้ประชาชนได้รับฟีงสิ่งที่รัฐบาลได้ทำไป ซึ่งวันนี้หลายอย่างประชาชนยังไม้รับรู้ เนื่องจากมีอย่างอื่นทำให้ประชาชนเข้าใจเป็นเรื่องอื่นเสียมาก
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯบอกกับประขาชนนว่าจะมีงานพระราชพิธีสำคัญ นายกฯ กล่าวว่า ก็มีไง  เคยบอกมาตั้งนานแล้วว่าจะมี แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นวันไหน แล้วแต่พระองค์ท่านจะกรุณาโปรดเกล้าฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์จะพระราชทานและกำหนดเอง เพราะเป็นเรื่องของการโปรดเกล้าฯ ซึ่งเมื่อมีการโปรดเกล้าฯลงมา เราก็ต้องทำบ้านเมืองให้เรียบร้อย
พล.องประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเลือกตั้ง จะเลือกกันอย่างไรก็ว่ากันไป อย่าทำให้ทุกอย่างต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเสียหมด เพราะทุกอย่างต้องไปด้วยกันให้ได้
เมื่อถามถึงการพูดคุยกับพรรคการเมืงในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ จะได้คำตอบอะไรทางการเมืองที่ชัดเจนใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีตอบอะไรทั้งสิ้น เป็นการเข้าไปรับฟังเฉยๆ ส่วนที่บางพรรคการเมืองประกาศไม่เข้าร่วมนั้น ถ้าเขาไม่มาก็ช่างเขาสิ ไม่มาแปลว่าจะอยากเลือกตั้งหรืออย่างไร  แสดงว่าไม่อยากเลือกตั้งนี่นา ถ้าอย่างนี้มันก็ไม่เคารพกติกา มันจะอยู่กันได้มั้ยเล่า จะมาเป็นรัฐบาลได้ยังไง.

“อย่าไปฟังเสียงติติงรัฐบาล ผมเลิกฟังแล้ว เสียเวลา

“อย่าไปฟังเสียงติติงรัฐบาล ผมเลิกฟังแล้ว เสียเวลา
ชอบถามยั่วอารมณ์ รู้ว่าผมยั่วขึ้น หรือยังไง ....ผมต้องทำตัวให้เย็นลง
วันนี้พูดเสร็จกลับไปปวดหัว ทั้งวัน ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสรื่นเริง
หลายปี ทำงานกลับบ้าน เข้าทำเนียบฯ ไปต่างประเทศ กลับบ้าน เข้าทำเนียบฯ อย่างงี้ แต่บ่นไม่ได้
เขาบอกว่าคนเป็น นายกฯห้ามบ่น
ต้องพูดเพราะๆ สวัสดีครับ ยิ้ม
ใครจะถามอะไรก็แล้วแต่ ครับผมๆ
เขาก็ถามผม คำถามเดิม คนแรกถาม. พอคนที่ 10 ก็ถามคำถามแรก เขาบอกว่า ผมไม่ต้องตอบก็ได้ ถ้าไม่ตอบ ก็หาว่าผมงอน โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

“บิ๊กตู่” เผย เร็วๆนี้ จะมี “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

แต่ไม่บอกว่า ก่อนหรือ หลังเลือกตั้ง
“บิ๊กตู่” เผย เร็วๆนี้ จะมี “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ขอ2 อย่าง เลือกตั้งให้สงบเรียบร้อย-เป็นประธานAsean ก็ต้องสงบ อย่าให้เสียชื่อเหมือน ครั้งที่แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.กล่าวว่า ในปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานการประชุมอาเซียน ใครจะว่าอะไรก็แล้วแต่ไทยเป็นประธานแน่นอน ไม่มีใครมาปิดกั้นอะไรทั้งสิ้น
“ขออย่างเดียวให้เป็นการประชุมที่สงบ เข้าใจไหม เราเคยเป็นมาแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สำเร็จจึงเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขให้ได้”
ประชาชนทำให้ได้หรือไม่ และขอ 2 เรื่อง การเลือกตั้งให้เรียบร้อยสงบ และการเป็นประธานอาเซียนก็ต้องสงบ อย่าให้ใครมาทำให้เกิดปัญหาอีก มันเสียชื่อประเทศไทยในชาวโลก
“อีกทั้งในระยะเวลาอันใกล้นี้ ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันนี้พระองค์ท่านทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นหลักสำคัญของประเทศ
ผมรู้ทุกคนมีความจงรักภักดีกับสถาบันอยู่แล้ว ก็ขอให้ทุกคนช่วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว ที่. ชัยภูมิ

‘บร๊ะ!! เมื่อ “บิ๊กตู่” เสรีพิศุทธ์ ประกาศ เป็น นายกฯควบ รมว.กลาโหม....จะทำให้ทหารเลิกปฏิวัติ ซะที!!

‘บร๊ะ!! เมื่อ “บิ๊กตู่” เสรีพิศุทธ์ ประกาศ เป็น นายกฯควบ รมว.กลาโหม....จะทำให้ทหารเลิกปฏิวัติ ซะที!!
บิ๊กตู่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีคสช.แจ้งความดำเนินคดีฐานนำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์หลังออกรายการทีวีโทรทัศน์ และ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ระบุทหารไม่ได้แอบ แต่เดินเข้าไปแจ้งความตามปกติ ว่า ใครบอกไม่ใช่อีแอบ ถ้าเป็น พ.อ.วินธัย พูด ต้องบอกว่า “ไอ้หนูเอ๊ย” ขนาด ผบ.ทบ.ยังเรียนจบหลัง ผม ราวๆ 12 รุ่น
“ตอนผมเป็น ผบ.ตร. ทาง ผบ.ทบ. น่าจะยศ พันเอก เพราะฉะนั้น พ.อ.วินธัย น่าจะแค่ยศ ร้อยเอก
ดังนั้น อย่าทะลึ่งกับ พลตำรวจเอก มากนัก และให้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่บ้าง
แล้วไม่เข้าใจกันเหรอคำว่า อีแอบ เห็นบอกว่าไม่ได้แอบ นั่งรถไปแจ้งความดำเนินคดี พวกนี้ไม่เข้าใจกันเลยคำว่า อีแอบ คือ แอบทำกันข้างเดียว เขาเรียกว่าอีแอบ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบการออกหมายเรียกต่างๆ ไม่ได้กระทำตามกระบวนการของกฎหมาย ศาลจึงยกคำร้องออกหมายเรียก โดยผมพร้อมสู้คดี ไม่ได้หนีไปไหน
ขอยืนยันว่าสิ่งที่ ผมพูดไม่ใช่เรื่องเท็จ แต่เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะเรื่องการสืบทอดอำนาจ
นอกจากนี้ผมอาจจะยื่น หรือให้ทนายความยื่นคำร้องของตรวจเอกสารต่างๆของตำรวจ เพื่อพิจารณาว่าจะฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการออกหมายเรียกผม ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ด้วย”
การส่งหมายเรียกตำรวจยังไม่เซ็นเลย แล้วทหารมันจะรู้เรื่องหรือ ถ้าตำรวจไม่เซ็น ศาลก็ต้องยกคำร้อง
เพราะฉะนั้นการออกหมายเรียกไม่ได้ทำตามกระบวนการของกฎหมาย
“ไม่รู้จะอยากได้ตัวผมไปทำไม ผมก็อยู่นี่ ออกทีวีทุกวัน ข้อความที่ผมโดนฟ้อง ออกกฎหมายต่างๆ ก็โกง คำสั่งต่างๆก็โกง แล้วยังสืบทอดอำนาจอีกคุณคิดว่าผมพูดผิดตรงไหน ตอนนี้ก็ตั้งพรรคพลังประชารัฐมา เป็นพรรคของใครล่ะ ตอนนี้เขาก็ประกาศแล้วจะชูประยุทธ์ เป็นนายกฯ” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์
ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)จะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า อย่างที่ตนบอก พวกนี้โกงมาตั้งแต่เขียนรัฐธรรมนูญ จนตอนนี้ภาพมันชัดเจนขึ้นมาแล้ว
ส่วนระบบการแบ่งเขตแบบใหม่ของกกต.นั้น เป็นหน้าที่ของกกต.ที่ให้พรรคการเมือง ประชาชนร่วมเสนอรูปแบบ และเมื่อกกต.ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่พปชร.ไม่ต้องการ ก็เลยมีคำสั่งคสช.ออกมาให้กกต.แบ่งเขตใหม่ โดยให้ฟังความคิดเห็นจากคสช. และครม.ซึ่งเมื่อกกต.จะแบ่งเขตยังไง ก็ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย เขียนกฎหมายแค่นี้ก็โกงกันแล้ว
ถ้ามองถึงผลกระทบนั้นพรรคการเมืองเก่าๆจะกระทบมากเพราะส.ส.ที่เขามีพื้นที่อยู่แล้ว จะถูกแบ่งถูกแยก ส่วนพรรคของตนคงไม่กระทบมาก แต่จะยุ่งขึ้นนิดหน่อย ในขั้นตอนดำเนินการ เมื่อเขตใหม่ยังไม่ออก ก็ต้องเอาเขตเก่าเตรียมไว้ก่อนแต่พอออกมาใหม่ก็ต้องเปลี่ยนใหม่จะยุ่งก็ตรงนี้ สงสารก็แต่พรรคเก่าๆที่มีส.ส.อยู๋แล้ว
เมื่อถามว่า จากการลงพื้นที่ กระแสพรรคเสรีรวมไทยเป็นอย่างไร เพราะชื่อของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ก็เป็นหนึ่งในแคนดิเดตชิงนายกฯ พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นได้อยู่แล้วเพราะไม่มีใครจะสู้กับทหาร แต่เลือกตั้งเสร็จผม นี่แหละ จะไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเอง จะปฏิรูปทหาร ให้เลิกปฏิวัติเสียที
เมื่อถามย้ำว่า หลังเลือกตั้งถ้าฝ่ายประชาธิปไตยชนะ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะรับตำแหน่งรมว.กลาโหมใช่หรือไม่พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ กล่าวว่า “ผมจองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนรมว.กลาโหมนั้นของแถม คุณจะเอาใครเป็นนายกฯล่ะ มีแต่คนขี้โกงทั้งนั้น “
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ยืนยันด้วยว่าการหารือระหว่างพรรคการเมือง กับคสช.และกกต.ในวันที่ 7ธันวาคมที่จะถึง ตนและพรรคเสรีรวมไทยจะไม่ไปร่วม “ผมกับเผด็จการจะคุยกันรู้เรื่องได้ยังไง อย่างคุณประวิตรท้าคนอื่นชก ผมท้าไอ้พวกเผด็จการมาชกกับผมดีกว่า ยืนยันว่าไม่ไป พวกมันโกงตลอดจะไปทำไม“

เลือกตั้ง 62: การแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดย คสช.

เลือกตั้ง 62: การแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดย คสช.
.
.
ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นครั้งในการเลือกตั้งปี 2562 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน การเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกบุคคลที่ชื่นชอบเป็น ส.ส.เขต ขณะเดียวกันคะแนนที่เราเลือกบุคคลที่ชื่นชอบในเขตของเรา (ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้) คะแนนจะถูกนำไปให้พรรคของคนที่เราเลือกสังกัดอยู่เพื่อนำไปคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. สังกัดแบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น
.
สำหรับพรรคขนาดกลางการส่งผู้สมัครครบทุกเขตได้ แม้จะไม่ชนะเลือกตั้งแต่หากสามารถโกยคะแนนจากหลายเขตรวมกันก็อาจได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมาก ขณะที่พรรคขนาดใหญ่หากต้องการจะคว้าเสียงข้างมากในสภาได้อย่างถล่มทลายจำเป็นต้องได้ ส.ส. เขตให้มากที่สุด เพราะจำนวน ส.ส.เขต 350 คน คือสมรภูมิหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ระบบเลือกตั้งใหม่ ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นเพียงของแถม เพราะยิ่งพรรคได้ ส.ส. เขตมาก อาจทำให้พรรคได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อยหรืออาจไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้เขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขตจึงมีความสำคัญมากสำหรับทุกพรรคการเมือง
.
ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งถูกกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561(พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ซึ่งกำหนดหลักการเรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต และการแบ่งเขตการเลือกตั้งไว้ดังนี้
.
.
การกำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดควรมี (มาตรา 26)
.
1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดคือ 350 คน จะได้เป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน
.
โดยในการเลือกตั้งปี 2562 กกต. ได้ใช้จำนวนราษฎรตามฐานทะเบียนราษฎรปี 2560 จำนวน 66,188,503 คน มาคำนวณ และเมื่อนำจำนวนดังกล่าวมาหารกับจำนวน ส.ส. 350 เขต ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นราษฎรเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. หนึ่งคน
.
2) จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรไม่ถึง 189,110 คน ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส. แบบแบ่งเขตได้หนึ่งคน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีแปดจังหวัดจาก 77 จังหวัดที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดละหนึ่งคน คือ ตราด นครนายก พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยจังหวัดจำนวนราษฎรน้อยที่สุดคือจังหวัดระนอง 190,399 คน ส่วนจังหวัดที่เหลือส่วนใหญ่มีราษฎเกิน 200,000 คน
.
3) หากจังหวัดไหนมีจำนวนราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน ให้เพิ่มที่นั่ง ส.ส.ไปตามสัดส่วนจำนวนราษฎร และแบ่งเขตเท่าจำนวนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยการแบ่งเขตจะต้องคำนึงถึงพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ติดต่อกันและจำนวนราษฎรที่ใกล้เคียงกัน
.
เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 27)
.
1) ให้รวมอำเภอเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง
2) คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน
3) ความสะดวกในการเดินทาง
4) การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน
.
อย่างไรก็ตามหากรวมอำเภอตามที่ระบุแล้วได้จำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไปสามารถแบ่งตำบลออกมาได้ แต่จะแยกหมู่บ้านออกจากตำบลไม่ได้ โดยให้แบ่งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำมีลักษณะเป็นชุมชนเดียวกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้สะดวก แต่ต้องมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด
.
.
11 เขตเลือกตั้งใหม่ เจาะพื้นที่เพื่อไทย เอื้อพลังประชารัฐ
.
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งประกาศฉบับนี้เกิดขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเห็นชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ กกต.จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยให้ กกต. แบ่งเขตใหม่ได้กรณีที่ คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา
.
การแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. กกต.แต่ละจังหวัดได้ทำการรับฟังความคิดเห็นและประกาศออกมาเป็นสามรูปแบบ แต่ผลการประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่ามีจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัด เคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย

สนช.เอาจริง! จ่อแก้กฎหมาย ให้คนหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ไม่มีสิทธิฟ้องคดีใดๆได้เลย เพราะไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม!

สนช.เอาจริง! จ่อแก้กฎหมาย ให้คนหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ไม่มีสิทธิฟ้องคดีใดๆได้เลย เพราะไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม!
สนช.เอาจริง! – เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในฐานะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กล่าวว่า ในการประชุมสนช.วาระพิเศษ วันที่ 4 ธันวาคมที่ประชุมสนช. จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในวาระ2-3
หลังจากที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีสาระสำคัญคือการแก้ไขหลักเกณฑ์ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยคดีที่มีอัตราโทษจำคุก10 ปีขึ้นไปต้องมีหลักประกัน จากเดิมกำหนดไว้ที่คดีที่มีอัตราโทษจำคุก5ปีขึ้นไป
เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษไม่เกิน10 ปี ส่วนใหญ่เป็นคดีโทษไม่ร้ายแรง มีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ถ้าไม่มีพฤติการณ์ข่มขู่พยาน หรือหลบหนีคดี นอกจากนี้จะในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง หากมีพยานหลักฐานว่า เป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต กลั่นแกล้ง เพื่อให้ผู้อื่นได้รับโทษหนักกว่าที่ควรเป็น ศาลจะมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีนั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
นายมหรรณพ กล่าวต่อว่า คำว่าการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตให้ครอบคลุมถึงกรณีโจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่ง คำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้ว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย
ดังนั้นกรณีโจทก์หลบหนีคดีไปต่างประเทศจะไม่มีสิทธิมายื่นฟ้องพร่ำเพรื่อในคดีอาญาใดๆได้อีก แม้จะยื่นฟ้องมา ศาลก็ไม่รับฟ้อง เพราะถือว่าบุคคลใดที่ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ย่อมไม่ได้สิทธิได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่า กรณีนายทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศ ไม่มีสิทธิจะมายื่นฟ้องคดีอาญาใดๆในประเทศได้อีกใช่หรือไม่ นายมหรรณพตอบว่า ไม่ใช่เฉพาะ นายทักษิณ หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่หมายถึงทุกคนที่หลบหนีคดี
หากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะไปฟ้องคนอื่นเป็นคดีอาญาไม่ได้ ยกเว้นคดีแพ่ง เพราะถือว่าเมื่อไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ควรได้รับการคุ้มครอง เจตนารมณ์กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ต้องการแก้เกมหรือกลั่นแกล้งใคร แต่ต้องการให้ความยุติธรรมไม่ให้มีการฟ้องแก้เกี้ยวเพื่อกลั่นแกล้งกัน
เพิ่มเพื่อน

#พรรคประชาธิปัตย์ เมืองนคร ถกเครียด หาตัวคนลงสมัคร ส.ส. เขต 5 หลังจากนายเทพไท เสนพงศ์ ขอลงสมัคร ส.ส.ในเขตอื่นแทน..

#พรรคประชาธิปัตย์ เมืองนคร ถกเครียด หาตัวคนลงสมัคร ส.ส. เขต 5 หลังจากนายเทพไท เสนพงศ์ ขอลงสมัคร ส.ส.ในเขตอื่นแทน..
8 อดีต ส.ส.ปชป.เมืองคอนประชุมเครียด สรุปผู้สมัคร ส.ส.เมืองคอน 8 เขต เคาะลงตัว 7 เขต เหลือเขต 5 ยังมีปัญหา “เทพไท” ยังเกี่ยงจะขอย้ายมาลงเขต 1 แต่ที่ประชุมไม่ยอมให้ลง...
เมื่อ 2 ธ.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ร้านอาหาร "ครัวริมบึง" ริมถนนอ้อมค่าย ม.5 ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้มีบรรดาอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 8 คน ประกอบด้วย นายวิทยา แก้วภราดัย, นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ, นายอภิชาต ศักดิ์เศรษฐ์, นายประกอบ รัตนพันธ์, นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์, นายเทพไท เสนพงศ์, น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธ์ และน.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล และ นายชัยชนะ เดชเดโช ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่พรรค ปชป. ได้มาประชุมกันเพื่อหาข้อสรุปกันว่า ใครจะลงสมัคร ส.ส.พรรคปชป.ทั้ง 8 เขต ในเขตไหนกันบ้าง ทั้งนี้ก็ได้ประชุมอย่างเคร่งเครียดทั้งวัน
ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า นายอภิชาต ศักดิ์เศรษฐ์ ได้ขอขึ้นไปสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนเขต 1 ได้แก่ น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธ์ เขต 2 นายวิทยา แก้วภราดัย เขต 3 นายชัยชนะ เดชเดโช ซึ่งเป็นอดีต ส.จ.นครศรีธรรมราช ผู้สมัครหน้าใหม่ เขต 4 นายประกอบ รัตนพันธ์ เขต 6 นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ เขต 7 นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ เขต 8 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส่วนเขต 5 ประกอบด้วย อ.ทุ่งใหญ่ อ.ฉวาง อ.พิปูนและอ.ถ้ำพรรณรา อันเป็นพื้นที่ของนายเทพไท เสนพงศ์ เจ้าของพื้นที่เดิม
ปรากฏว่า ในครั้งนี้ นายเทพไท ได้แจ้งที่ประชุมว่าจะขอย้ายมาลงสมัคร ส.ส.เขต 1 หรือ เขต 2 หรือ เขต 3 แทน แต่ที่ประชุมไม่ยอม เพราะสรุปลงตัวหมดแล้ว ทำให้เขต 5 มีปัญหา ที่ประชุมจึงสรุปผลประชุมแจ้งไปยังกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาสรรหาตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 5 ต่อไป ซึ่งข่าวคืบหน้าจะเสนอต่อไป.

126 เสียงเป็นนายกฯ ได้ แต่ไม่มีทางไปรอด

126 เสียงเป็นนายกฯ ได้ แต่ไม่มีทางไปรอด

  • วันที่ 03 ธ.ค. 2561 เวลา 07:46 น.

ความเห็นจาก "ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ที่วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองนับจากนี้ไปจะมีทิศทางอย่างไร
***************************************
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
การเมืองไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มตัว ภายหลังความชัดเจนเริ่มปรากฏขึ้นเป็นระยะ ซึ่งพรรคการเมืองเองก็พร้อมกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเต็มที่ ด้วยการปรับตัวเองให้กับกติกาที่เปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการเกิดขึ้นมาของพรรคการเมืองใหม่ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีของพรรคพลังประชารัฐ
จึงเป็นโอกาสอันดีที่โพสต์ทูเดย์ได้สนทนากับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นว่านับจากนี้ไปจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
ก่อนอื่น อาจารย์ปริญญา มีมุมมองถึงผลกระทบที่พรรคการเมืองและประชาชนได้รับจากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญไว้อย่างสนใจ
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนคือ จากเดิมประชาชนมีสองคะแนน คะแนนหนึ่งเลือก สส.เขต อีกคะแนนเลือก สส.บัญชีรายชื่อ หรือเลือกพรรค แต่ตอนนี้แม้ว่าจะยังมี สส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออีกต่อไปแล้ว โดยระบบเลือกตั้งใหม่จะเอาคะแนนแบบแบ่งเขตทั้งประเทศของแต่ละพรรคมาคิดที่นั่งทั้งสภา แล้วเอา สส.แบ่งเขตที่แต่ละพรรคได้หักไปที่เหลือคือ สส.บัญชีรายชื่อ”
“ผลที่เกิดกับประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ คือ ถ้าพรรคการเมืองต้องการ สส.บัญชีรายชื่อ ก็ต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต ทำให้จะเกิดการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต ทั้งๆ ที่ไม่มีหวังว่าจะชนะ ดังนั้นในคราวนี้จะมีผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
“แล้ว พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ยังกำหนดให้ผู้สมัครในแต่ละเขตของพรรคการเมืองเป็นคนละเบอร์กัน ความยากของประชาชนคือ หนึ่ง ถ้าประชาชนอยากจะเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและ สส.บัญชีรายชื่อคนละพรรค จะทำไม่ได้อีกต่อไป และสอง ผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่มากขึ้น แต่พรรคเดียวกันเป็นคนละเบอร์กัน ทำให้ประชาชนเลือกยากขึ้น”
การที่มีผู้สมัครเยอะก็น่าจะเป็นโอกาสให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้นเหมือนกับการเลือกซื้อสินค้า อาจารย์ปริญญา เห็นแย้งว่า “ปัญหามันยากตรงที่ว่าสินค้ามีให้เลือกเยอะ แต่มีวัตถุประสงค์ใช้งานคนละอย่างกัน เดิมผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะมีมากหรือน้อยก็ต่างหวังจะชนะการเลือกตั้งทั้งนั้น แต่คราวนี้ผู้สมัครจำนวนมากไม่ได้หวังชนะ แต่พรรคส่งมาลงเพราะหวังจะได้คะแนนมาคิดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อ”
“การให้ประชาชนเหลือเพียงคะแนนเดียว ทำให้ประชาชนตัดสินใจยากขึ้น ไม่ได้ทำให้ประชาชนเลือกง่ายขึ้นเหมือนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ว่าเอาไว้ มันจะยากขึ้น เพราะตอนมีสองคะแนนมันแบ่งได้ แต่มีคะแนนเดียวมันแบ่งไม่ได้ระหว่าง สส.แบบแบ่งเขต กับ สส.บัญชีรายชื่อ แล้วปัญหาคือถ้าชอบคนละพรรคกัน ประชาชนจะตัดสินใจเลือกอย่างไรล่ะครับ”
ส่วนผลกระทบต่อพรรคการเมือง อาจารย์ปริญญา แสดงความคิดเห็นว่า ย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ล่าสุด พบว่าพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดสองพรรคจะได้คะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งน้อยกว่าคะแนนบัญชีรายชื่อเสมอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในพื้นที่จะมีผู้สมัครของพรรคขนาดกลางมาแบ่งคะแนนไป เช่น จ.สุพรรณบุรี ชลบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเอาคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาคิดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อ ผลคือพรรคใหญ่จะได้ สส.น้อยลงกว่าเดิม
“พรรคการเมืองใหญ่จึงมีการวางยุทธศาสตร์กันใหม่ ที่แตกตัวออกมาเป็นหลายพรรค เพราะคิดว่าส่งได้แค่คนเดียวในแต่ละเขตก็ได้คะแนนเอามาคิดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อแค่คะแนนเดียว ถ้าแบ่งเป็นหลายพรรคก็จะได้หลายคะแนนที่จะเอามาคิดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อ แล้วค่อยมารวมกันใหม่ในอนาคต”
“เหมือนกับในหมู่บ้านหนึ่งมีบ้าน 10 หลัง บ้านที่เคยได้อาหารมากที่สุด พบว่าระบบใหม่จะทำให้บ้านตัวเองได้อาหารน้อยลง เขาเลยคุยกันว่าควรแบ่งบ้านออกมาหลายหลัง เพื่อให้อาหารเท่าเดิม”
ขณะที่เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง อาจารย์ปริญญา มีทัศนะว่าขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะเอาอย่างไร และขึ้นกับจำนวนเสียง สส.ของพรรคการเมืองที่จะได้
“บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้การเลือกนายกรัฐมนตรีทำในที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยต้องมีมติเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา คือ 376 เสียง คสช.มีเสียง สว. 250 คน ก็ต้องการเสียง สส.แค่ 126 เสียงเท่านั้น ซึ่งพรรคขนาดกลางจำนวนหนึ่งก็ได้แล้ว โดยไม่ต้องสนใจพรรคการเมืองใหญ่เลย นี่ก็น่าคิดว่าเป็นเหตุผลหรือไม่ที่ระบบเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองขนาดกลางจะได้ สส.มากขึ้น”
“แต่การเป็นนายกฯ โดยมีเสียง สส.แค่ 126 คน ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ ต่อให้มีเสียง สว.รอยกมือเอกฉันท์ แต่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นต้องส่งเข้าสภาผู้แทนก่อน รวมถึงร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้น แม้ว่าตัวเลขขั้นต่ำที่จะเป็นนายกฯ คือ แค่ สส. 126 เสียง แต่ถ้าจะให้อยู่ได้ต้องมี สส.อย่างน้อยครึ่งหนึ่งคือ 250 คน”
“ปัญหาคือลำพังเพียงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กรวมกันไม่มีทางถึง 250 คะแนน เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้ง พรรคใหญ่สองพรรครวมกันเกินครึ่งเสมอ แปลว่าจะต้องได้พรรคใหญ่พรรคหนึ่งพรรคใดมาร่วมด้วย จึงจะได้รัฐบาลที่มีเสียง สส.เกิน 250 เสียง ผมถามว่าพรรคเพื่อไทยจะมาหรือไม่ คสช.ก็คงวิเคราะห์ออกว่าถ้าต้องการได้รัฐบาล 250 เสียง ก็คงต้องเอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมด้วย แต่พรรคประชาธิปัตย์จะมาหรือไม่ ก็คงดูกันต่อไป”
ในเชิงบทสรุปของการเมืองไทย อาจารย์ปริญญา คิดว่า สุดท้ายแล้วการเมืองข้างหน้าจะเป็นอย่างไรอยู่ที่คนคนเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากจะเป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ ถ้าต้องการเป็นนายกฯ ต่อ เกมการเมืองจะไปทางหนึ่ง คือต้องรวบรวมเสียง สส.ให้ได้ถึง 250 คน ไม่ใช่แค่ 126 คน ซึ่งทางเดียวที่จะรวบรวม สส.ถึง 250 คนได้ คือต้องได้พรรคใหญ่ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะมาร่วมด้วยได้ พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ที่จะมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นว่าที่นายกฯ จะต้องได้ สส.มากที่สุด คือมากกว่าเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่ง่าย
ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ คสช.คนอื่นประสงค์จะเป็นนายกฯ ต่อ จะมีผลไปถึงการเลือก สว.ด้วย เพราะ สว. คือ เสียงพื้นฐานที่ต้องได้ทุกเสียงก็ต้องเลือก สว.ในแบบที่มั่นใจว่าจะยกมือให้ตัวเองแน่ แต่ถ้าไม่คิดจะเป็นนายกฯ ต่อการเลือก สว.ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือ เลือกคนกลางๆ หรือคนที่เป็นตัวของตัวเองบ้างก็ได้ แต่พอให้คุมเสียงข้างมากได้ก็พอ เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติ
“จากนี้ไปการเลือก สว.ของ คสช.จะถูกจับตามองว่าการเลือก สว.อย่างนี้เพราะอะไร ถ้า คสช.เป็นผู้มีส่วนได้เสียจากผลการเลือกตั้ง มันก็จะมีคำถามเข้าเยอะ เช่น ที่เลือกคนนี้เพราะต้องการให้คนนี้มาเลือกตัวเองให้เป็นนายกฯ ใช่หรือไม่ เป็นต้น คำถามพวกนี้มันจะเกิดขึ้น และมันไม่ดีต่อการเมืองไทยหลังเลือกตั้งในยุคเปลี่ยนผ่าน หาก คสช.ถอยออกมาเป็นผู้ดูแลให้กลับสู่ประชาธิปไตย ในฐานะผู้ดูแลความสงบเรียบร้อย น่าจะดีกว่าทั้งต่อ คสช.และต่อประเทศของเราครับ” อาจารย์ปริญญา สรุป

7ธ.ค.เจอกันที่เดิม

เจอกัน ที่เดิม!! 
กำหนดไว้2 ชม.
“บิ๊กตู่” พบ พรรคการเมือง

คสช. เผย เตรียม จัดประชุมหารือแม่น้ำ 5 สาย และพรรคการเมือง 280 คนกับ”พลเอกประยุทธ์”บ่าย 7ธ.ค.นี้  เตรียมการ สู่เลือกตั้ง​ เปืดโอกาสพรรคการเมือง  เสนอความเห็น เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ที่เรียบร้อย 

พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวว่า. ในการประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีท พลเอก ณัฐพล  นาคพาณิชย์ รองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  เป็นประธาน ได้ สั่งการถึง 
การที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะจัด “การประชุมชี้แจงแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง วันที่  7  ธันวาคม 2561 เวลา 1300-1500 น.
เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป” ที่ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) กทม.  

โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมเชิญสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

รวมถึงผู้แทนพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งการจัดประชุมชี้แจงหารือของแม่น้ำ 5 สาย

ในครั้งนี้ ย้ำว่าเป็นไปตามบทบาทหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้กำหนดไว้แล้วในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 53/2560 เรื่อง “การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง” ในข้อ 8 ซึ่งระบุให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประชุมส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศ/คำสั่ง อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง พร้อมร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดําเนินการทางการเมือง เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป 

ทั้งนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงต้องจัดการประชุมหารือแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว โดยได้เรียนเชิญผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ ๒๘๐ คน ประกอบด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนพรรคการเมืองพรรคละ ๒ ท่าน

​การประชุมหารือในครั้งนี้ ทุกส่วนจะได้ทราบแผนและขั้นตอนการดำเนินการ
ทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐบาลได้เตรียมการไว้ รวมถึงความพร้อมในการเตรียมการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังดำเนินการอยู่

ในขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนพรรคการเมืองจะได้เสนอปัญหา ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อร่วมกันลดอุปสรรค และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปด้วยความเรียบร้อยตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ2560บัญญัติไว้

บทวิเคราะห์ : จาก “นิด้า” ถึง “ม.รังสิต” โพลสำรวจว่าที่นายกฯ “ประยุทธ์-สุดารัตน์” ชิงดำ “ธนาธร” แรง-ขี่ “อภิสิทธิ์”

ผลสำรวจนิด้าโพล “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร

เมื่อกลุ่มตัวอย่างสำรวจส่วนใหญ่ระบุ อยากให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังมากขึ้น เมื่อนิด้าโพลโดนหักล้างจากโพลมหาวิทยาลัยรังสิต

ที่อ้างผลสำรวจยืนยัน พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้ที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ด้วยคะแนนทิ้งห่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ทั้งนี้ เริ่มเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดผลสำรวจ “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 5)”

สำรวจระหว่าง 20-22 พฤศจิกายน 2561 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 25.16 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากผล “พลิกล็อก” ทำให้หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่การสำรวจโดยนิด้าโพล 4 ครั้งก่อนในรอบปี 2561

พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้ที่มีคะแนนนำ เป็นแชมป์ผูกขาด

ไม่ว่าจะสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม ร้อยละ 38.64, เดือนพฤษภาคม ร้อยละ 32.24, เดือนกรกฎาคม ร้อยละ 31.26 และเดือนกันยายน ร้อยละ 29.66

แม้จะถดถอย แต่ก็ยังครองอันดับ 1

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์อยู่ในฐานะรองแชมป์ตลอดทั้ง 4 ครั้ง ร้อยละ 13.04, 17.44, 14.69 และ 17.51 ตามลำดับ

จากการเปรียบเทียบยังเห็นได้ว่าถึงคุณหญิงสุดารัตน์จะรั้งอันดับ 2 ก็จริง แต่คะแนนก็ยังห่างจากอันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ 1-2 เท่าตัว ถือว่ามาก

แล้วอะไรเกิดขึ้นกับผลสำรวจครั้งที่ 5 ที่คะแนนคุณหญิงสุดารัตน์พลิกแซง พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 25.16 ต่อ 24.05 เฉือนกัน 1.11

แต่ก็เป็นการ “ขึ้นนำ” ครั้งแรก

ผลสำรวจเกี่ยวข้องกับประเด็นนายณพงศ์ นพเกตุ ลาออกจากผู้อำนวยการนิด้าโพล เพื่อไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ไม่มีใครฟันธงแน่ชัด

กระแส “น้องจินนี่” อาจมีส่วนอยู่บ้าง

แต่หลักๆ น่าจะมาจากความชัดเจนต่อตัวคุณหญิงสุดารัตน์ หลังจากพรรคเพื่อไทยตั้งให้เป็นประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย

เป็น 1 ใน 3 รายชื่อที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง

กรณีคุณหญิงสุดารัตน์จึงชัดเจนกว่า พล.อ.ประยุทธ์เสียด้วยซ้ำ

 

ภายใต้ผลสำรวจนิด้าโพล ครั้งที่ 5 ยังมีประเด็นอื่น

ทั้งการมีชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อยู่อันดับ 3 ร้อยละ 14.52 บุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี

เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากการสำรวจครั้งที่ 3 เดือนกรกฎาคม ที่ได้ 7.48

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 4 ร้อยละ 11.67 ไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ที่น่าสนใจ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ส่วนนี้ร้อยละ 5.32 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ร้อยละ 1.19 และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ร้อยละ 1.11

นั่นเท่ากับว่า หาก “สุดารัตน์+วิโรจน์” รวมกันก็จะได้ 30.48 ขณะที่ “ประยุทธ์+อุตตม+สมคิด” รวมกันจะได้ 26.35

ผลรวมดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกัน เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 31.75 ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 19.92 พรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 3 ร้อยละ 16.98 พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 4 ร้อยละ 15.63 พรรคอนาคตใหม่, อันดับ 5 ร้อยละ 5.32 พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.14 พรรคชาติไทยพัฒนา

อันดับ 7 ร้อยละ 1.83 พรรคไทยรักษาชาติ, อันดับ 8 ร้อยละ 1.67 พรรครวมพลังประชาชาติไทย, อันดับ 9 ร้อยละ 1.35 พรรคภูมิใจไทย และอันดับ 10 ร้อยละ 0.79 พรรคพลังชาติไทย

ตามสูตรการเมือง “2 ก๊ก” กับ “1 กั๊ก”

พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ประกอบด้วย เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ไทยรักษาชาติ รวมกันจะได้ 54.41

พรรคฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ประกอบด้วย พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา รวมพลังประชาชาติไทย ภูมิใจไทย และพลังชาติไทย รวมกันได้ 25.87

โดยมี 16.98 ของประชาธิปัตย์เป็น “ตัวแปร”

ถึงกระนั้น หากแปรไปเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจก็จะได้ 42.85 ก็ยังน้อยกว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ดี

เป็นเช่นนั้นเพราะกระแส “พรรคเพื่อไทย” ยังเป็นแรงฉุดสำคัญ ขณะที่กระแส “ตัวบุคคล” ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เริ่มมีกำลังแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่เลื่อนออกไปอีก กลับพบว่ามีถึงร้อยละ 50.71 ที่ระบุ ไม่เชื่อมั่น

ที่เชื่อมั่น ร้อยละ 48.81

 

แล้วการมาของ “โพล ม.รังสิต” ก็ประสานงา”นิด้าโพล”อย่างจัง

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมของนักการเมืองที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

อ้างถึงการสำรวจซึ่งทำมา 4 รอบในปี 2561 คือ 1 พฤษภาคม, 13 มิถุนายน, 15 ตุลาคม และล่าสุด 24 พฤศจิกายน โดยสำรวจครั้งละ 8,000 ตัวอย่าง ใน 350 เขตเลือกตั้ง 77 จังหวัด

ผลปรากฏ 3 ใน 4 รอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือผู้ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนทั่วประเทศมากที่สุด ยกเว้นรอบที่ 3 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มากกว่า

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อยู่อันดับ 2 และ 3 สลับกับนายอภิสิทธิ์

ล่าสุดจากการสำรวจเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 27.06

รองลงมาเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ ร้อยละ 18.16 นายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 15.55 และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 9.68

ต่างจากผลสำรวจนิด้าโพลราว “ฟ้า” กับ “เหว”

นายสังศิตกล่าววิเคราะห์ว่า ผลสำรวจทำให้เห็นความนิยมเครือข่ายพรรคของ “ทักษิณ” ลดน้อยลง จากปัจจัยแตกแยกภายในพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเติบโตใหญ่ขึ้น จากอานิสงส์นโยบายบัตรคนจน

“พรรคพลังประชารัฐอาจจะชนะเด็ดขาดได้เลย เพราะสามารถจับกลุ่มเป้าหมายคนจน 11 ล้านคน และผลิตนโยบายมาตอบสนองได้ต่อเนื่อง พูดง่ายๆ บัตรคนจนเอาชนะ 30 บาทรักษาทุกโรคได้แบบไม่เห็นฝุ่น วาทกรรมเรื่อง 30 บาทของคุณทักษิณที่พูดมาตลอด ถึงจุดที่แพ้แล้ว” นายสังศิตระบุ

และยังว่า

วันนี้ถ้าดูคะแนนนิยมส่วนตัว พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสำรวจมา 4 หน ชนะ 3 หน ครั้งสุดท้ายเริ่มชนะเยอะ ส่วนคะแนนนิยมพรรคแพ้มาตลอด แต่วันนี้พลิกกลับมาชนะ เหตุผลมาจากเรื่องบัตรคนจน

จากนี้อีก 90 วัน พรรคพลังประชารัฐจะออกนำพรรคเพื่อไทยแบบทิ้งห่างมากขึ้น

พรรคพลังประชารัฐกำลังทำปรากฏการณ์ เป็นพายุกวาดเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้เป็นครั้งแรก เพราะมีประชาชน นักคิดสนับสนุนจำนวนมาก

มีแนวโน้มสูงมากที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

 

แต่แล้วก็เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อ่านโพลอย่างทะลุปรุโปร่ง

“วันนี้มีโพลจำนวนมาก วิธีการทำโพลนั้นทุกสำนักมีจุดมุ่งหมายทั้งสิ้น ว่าอยากให้คำตอบออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและการตั้งคำถาม

สิ่งที่ได้มาจะใช่หรือไม่ก็ยังไม่รู้ ผมไม่อาจหยั่งรู้จิตใจประชาชนทุกคนได้

แต่ผลโพลไม่ใช่ความเห็นของคนมีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ การสำรวจความเห็นคน 1,000-2,000 คนนั้น ไม่ได้อะไร วันข้างหน้าผลโพลก็ผิดทุกครั้งไป

จึงต้องดูเป้าหมายว่าทำโพลเพื่ออะไร จากใคร จากไหน

เพราะบางครั้งการทำโพลก็มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น ในกรณีนิด้าโพล จึงไม่รู้สึกอะไร”

ถึง พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงความเห็นดังกล่าวในกรณีของนิด้าโพล แต่ความหมายก็ได้ครอบคลุมถึงโพลทุกสำนัก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

และในจำนวนโพลที่มีอยู่มากนั้น

โพลที่มีจุดมุ่งหมายเชลียร์ฝ่ายผู้มีอำนาจอย่างไม่สมเหตุสมผล มากกว่าการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

ถือเป็นโพลอันตรายมากที่สุด

ไม่ต่างจากน้ำตาลเคลือบยาพิษ ที่จะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อผู้ถูกโพลเชลียร์ในท้ายที่สุด ในสถานการณ์นี้ อาจถึงขั้นพ่ายแพ้เลือกตั้งโดยไม่รู้ตัว

ไม่รู้ตัวว่าพ่ายแพ้เพราะอะไร

จรัญ พงษ์จีน : ลับลวงเร้น “พรรคพลังประชารัฐ” ในห้วงฝนกระหน่ำ

“โรดแม็ปเลือกตั้ง” จากที่เคยเป็น “อจินไตย” คิดไม่ได้ มองไม่เห็นสักอย่าง กลับมาใกล้ความจริงมากขึ้น ตาม “ไทม์ไลน์” หลังเส้นตายวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ที่นักการเมือง “ต้องสังกัดพรรค” เพื่อเข้ากรอบครบ 90 วันก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง

ในลำดับถัดไป กรณีที่ไม่ชนปังตอใดๆ ภายในวันที่ 5 ธันวาคม ทาง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” จะประกาศเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ 350 เขต วันที่ 7 ธันวาคม “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองประชุมร่วม เพื่อประกาศปลดล็อก จากนั้น “กฎหมายลูก” ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้เต็มสูบ

ก้าวต่อไป จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เว้นวรรคให้เฉลิมฉลองปีใหม่กันพองามสักระยะ “กกต.” จะเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ หลังจากนั้นจะเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงกันตามกรอบเวลา 45 วันศึกเลือกตั้ง จะสะเด็ดน้ำในวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

“ประชาธิปไตย” จะได้เบ่งบานซะทีอีกครั้ง

แม้จะไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบเสียเลยทีเดียว เพราะ “ประชาชน” เลือกผู้แทนไปทำหน้าที่แทนตนใน “รัฐสภา” โดยการเลือกตั้งจะคัดเอาผู้ที่มีคะแนนเสียงเหนือกว่าเป็นมาตรฐาน จำนวน 350 คน กับบัญชีรายชื่อ 150 คน ก็จริงอยู่

แต่ยังติดติ่ง ส่วนหนึ่งคือวุฒิสมาชิกยังเข้ามาจากกระบวนการ “ลากตั้ง” ตามรัฐธรรมนูญในรูปแบบผสมผสานอีก 250 คน

“ศึกเลือกตั้ง” แม้จะอ้อมกำแพง แต่ยังดีกว่าโปรแกรมเจอโรคเลื่อนซ้ำซาก เพราะกาลเวลาผ่านมาเนิ่นนาน จวนจะครบ 8 ปีบริบูรณ์เข้าให้แล้วที่ไม่ได้เลือกตั้ง หากนับถอยหลังครั้งท้ายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2554 รูปพรรณสัณฐานประชาธิปไตยเป็นยังไง คนไทยเกือบจะไม่รู้จักกันอยู่แล้ว ว่ามั้ย

“พรรค” ที่ถูกโฟกัสมากที่สุดในการเลือกตั้งคาบนี้ คงไม่มีพรรคไหนเกินไปกว่า “พลังประชารัฐ” (พปชร.) ไม่เพียงแต่มีชื่อ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล “บิ๊กตู่” เป็นแกนนำ หากแต่ยังมีข่าวว่า “บุคคล” ที่พรรคการเมืองนี้จะเสนอชื่อขึ้นชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เลยได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม ดังที่เห็นๆ

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อรู้กันว่า พระเอกของเราชื่อ “บิ๊กตู่” จะลงชิงชัยทุกอย่างเลย “โดน”ทำให้ถนนการเมืองทุกสายหลั่งไหลไปสมทบ ต่อแถวยาวเป็นหางว่าวจากทุกพรรค

สร้างความเคืองแค้นให้กับพรรคอื่นๆ ไม่เฉพาะ “เพื่อไทย” ค่ายเดียว ยังรวมถึง “ประชาธิปัตย์” ซึ่งลูกแถวพากันกระโดดค้ำถ่อย้ายไปซบค่ายใหม่กันเป็นว่าเล่น ถึงกับมีการอุปมาอุปไมยว่า “พรรคพลังประชารัฐ” เนี่ยมิต่างอะไรกับ “เครื่องดูดฝุ่น”

มีพลังไฮเพาเวอร์ ติดเทอร์โบ มีแรงโน้มถ่วงที่ทรงพลัง “ดูด” ไม่บันยะบันยังทุกพรรค

 

มีการสำรวจแถวบรรดาลูกพรรคการเมืองต่างๆ ที่ถูก “พปชร.” ดูดเข้าสังกัดยอดทะลุถึง 150 คน “พรรคเพื่อไทย” เลือดไหลมากสุดเกือบ 40 คน มีบิ๊กเนมยกทัพไปซบกันคึกคัก ส่วนหนึ่งไปโดยสมัครใจ อีกส่วนหนึ่งโดนทั้งขู่ ทั้งปลอบ เลยจำใจต้องไป

หัวไม่วางหางไม่เว้น ขนาด “วราเทพ รัตนากร” ที่เคยเป็นรัฐมนตรีมาตลอดกาล ในสังกัดเก่ายังต้องไปกันยกจังหวัด หนีบ “ไผ่ ลิกค์” ลูก “เรืองวิทย์ ลิกค์” ไปด้วย พร้อมกับ“พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์-อนันต์ ผลอำนวย”

เพชรบูรณ์ “สันติ พร้อมพัฒน์” ยกพวงไปทั้ง “วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์-เอี่ยม ทองใจสด-จักรัตน์ พั้วช่วย-สุรศักดิ์ อนรรฆพันธุ์”

ลำปาง ยืนยงคงที่มาตั้งแต่สมัยไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย แต่คาบนี้รุ่นลูก “จรัสฤทธิ์-อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์” แห่นาคไปสังกัด “พปชร.” อย่างเหลือเชื่อ

สรุป “ค่ายวังน้ำเย็น” แพแตกแหกด่านมะขามเตี้ยย้ายค่ายกันไม่เหลือหลอ

“พรรคประชาธิปัตย์” ก็หนักหน่วงมิใช่น้อยๆ ถูก “ดูด” ไปราว 20 ชีวิต อาทิ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์-สกลธี ภัททิยกุล-อัฏฐพล-ธรรมวิชญ์ โพธิพิพิธ”

จันทบรี นำโดย “ธวัชชัย อนามพงษ์-แสนคม อนามพงษ์” ฉะเชิงเทรา “พล.ต.ท.พิทักษ์ จารุสมบัติ-บุญเลิศ ไพรินทร์” ชลบุรี มือดี “สรวุฒิ เนื่องจำนงค์” ไปกันตั้งแต่ไก่โห่

ย้อนกลับไป “พรรคเพื่อไทย” สาเหตุที่ทัพภาคเหนือแตกไม่มีชิ้นดี มีข่าวว่าสาเหตุหนึ่งมาจากข่าวลือ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” ที่ถูกจำคุกคดีขายข้าวจีทูจี ถูกทิ้งขว้าง ไม่มีใครดูดำดูดี

มีข่าวว่า “บุญทรง” ถูก “รีดพิษ” จนต้องคายความลับบางประการ จึงเป็นห้องเครื่องสำคัญนำพาไปสู่ “ข้าวจีทูจีภาค 2” มัดตราสังใครบางคนติดร่างแห เมื่อแล้วเสร็จ “บุญทรง” จึงส่งซิกให้ลูกชาย “เดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์” ย้ายไปสังกัดพรรค พปชร. เหมือนกับจงใจคอนเฟิร์ม ว่าที่ร่ำลือกันอยู่ เป็นของจริง

นอกเหนือจากนั้น จะมีดาบสองตามซ้ำว่า มีมือดีดอดไปขูดความลับ ระดับ “ปกปิดมาก”จาก “เสี่ยเปี่ยง” เจ้าพ่อค้าข้าว ได้ข้อมูลที่เป็นเส้นทางทางการเงินอีกมากมาย เตรียมจะนำไปไขปมปริศนา ก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่จะระเบิดขึ้นในต้นปีหน้า

ส่งผลให้นักการเมืองขาเล็ก ขาใหญ่ ทั้งน้ำดี และประเภท “หลังลาย” พากันแหกค่ายเพื่อไทยเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก “นิด้าโพล” สำรวจกระแสนิยม บุคคลที่ท่านคิดว่าเหมาะสมจะมาดำรงตำแหน่งผู้นำหลังเลือกตั้งมากที่สุด ปรากฏว่า “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นำ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่คาดการณ์กันว่าจะเป็นบุคคลเดียวที่ “พปชร.” เสนอชื่อเข้าชิงนายกฯ

อดีตนักการเมืองกลุ่มหนึ่งเกิดอาการลังเล ยิ่งกว่านั้นมีการนำผลข้างเคียงสมัย “พรรคสหประชาไทย” ยุค “จอมพลถนอม-จอมพลประภาส” หรือ “พรรคสามัคคีธรรม” สมัย “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” มาเป็นมาตรวัด

ปรากฏว่า แม้จะอยู่ในศูนย์อำนาจ แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าทั้งสองพรรคที่เป็นเครือข่ายทหารพ่ายป่าราบให้ดูชมมาแล้ว

นักการเมืองที่ทำท่าจะแปรพักตร์ เลยถอดใจ ตีกรรเชียงกลับมาตีหมอบที่ต้นสังกัดเก่าคือเพื่อไทย กันหลายมุ้ง