PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เลือกตั้ง 62: การแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดย คสช.

เลือกตั้ง 62: การแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดย คสช.
.
.
ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ซึ่งจะถูกนำมาใช้เป็นครั้งในการเลือกตั้งปี 2562 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน การเลือกตั้งครั้งนี้จะใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือกบุคคลที่ชื่นชอบเป็น ส.ส.เขต ขณะเดียวกันคะแนนที่เราเลือกบุคคลที่ชื่นชอบในเขตของเรา (ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้) คะแนนจะถูกนำไปให้พรรคของคนที่เราเลือกสังกัดอยู่เพื่อนำไปคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส. สังกัดแบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้น
.
สำหรับพรรคขนาดกลางการส่งผู้สมัครครบทุกเขตได้ แม้จะไม่ชนะเลือกตั้งแต่หากสามารถโกยคะแนนจากหลายเขตรวมกันก็อาจได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมาก ขณะที่พรรคขนาดใหญ่หากต้องการจะคว้าเสียงข้างมากในสภาได้อย่างถล่มทลายจำเป็นต้องได้ ส.ส. เขตให้มากที่สุด เพราะจำนวน ส.ส.เขต 350 คน คือสมรภูมิหลักในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ระบบเลือกตั้งใหม่ ส.ส. บัญชีรายชื่อเป็นเพียงของแถม เพราะยิ่งพรรคได้ ส.ส. เขตมาก อาจทำให้พรรคได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อยหรืออาจไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้เขตเลือกตั้งทั้ง 350 เขตจึงมีความสำคัญมากสำหรับทุกพรรคการเมือง
.
ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการแบ่งเขตเลือกตั้งถูกกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561(พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) ซึ่งกำหนดหลักการเรื่องจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต และการแบ่งเขตการเลือกตั้งไว้ดังนี้
.
.
การกำหนดจำนวน ส.ส. ที่แต่ละจังหวัดควรมี (มาตรา 26)
.
1) ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดคือ 350 คน จะได้เป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน
.
โดยในการเลือกตั้งปี 2562 กกต. ได้ใช้จำนวนราษฎรตามฐานทะเบียนราษฎรปี 2560 จำนวน 66,188,503 คน มาคำนวณ และเมื่อนำจำนวนดังกล่าวมาหารกับจำนวน ส.ส. 350 เขต ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นราษฎรเฉลี่ย 189,110 คน ต่อ ส.ส. หนึ่งคน
.
2) จังหวัดใดที่มีจำนวนราษฎรไม่ถึง 189,110 คน ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส. แบบแบ่งเขตได้หนึ่งคน โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีแปดจังหวัดจาก 77 จังหวัดที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขตจังหวัดละหนึ่งคน คือ ตราด นครนายก พังงา แม่ฮ่องสอน ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี และอ่างทอง โดยจังหวัดจำนวนราษฎรน้อยที่สุดคือจังหวัดระนอง 190,399 คน ส่วนจังหวัดที่เหลือส่วนใหญ่มีราษฎเกิน 200,000 คน
.
3) หากจังหวัดไหนมีจำนวนราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.แบบแบ่งเขตหนึ่งคน ให้เพิ่มที่นั่ง ส.ส.ไปตามสัดส่วนจำนวนราษฎร และแบ่งเขตเท่าจำนวนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยการแบ่งเขตจะต้องคำนึงถึงพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ติดต่อกันและจำนวนราษฎรที่ใกล้เคียงกัน
.
เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง (มาตรา 27)
.
1) ให้รวมอำเภอเป็นหนึ่งเขตเลือกตั้ง
2) คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน
3) ความสะดวกในการเดินทาง
4) การเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน
.
อย่างไรก็ตามหากรวมอำเภอตามที่ระบุแล้วได้จำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไปสามารถแบ่งตำบลออกมาได้ แต่จะแยกหมู่บ้านออกจากตำบลไม่ได้ โดยให้แบ่งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำมีลักษณะเป็นชุมชนเดียวกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้สะดวก แต่ต้องมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด
.
.
11 เขตเลือกตั้งใหม่ เจาะพื้นที่เพื่อไทย เอื้อพลังประชารัฐ
.
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งประกาศฉบับนี้เกิดขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเห็นชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ กกต.จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยให้ กกต. แบ่งเขตใหม่ได้กรณีที่ คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา
.
การแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. กกต.แต่ละจังหวัดได้ทำการรับฟังความคิดเห็นและประกาศออกมาเป็นสามรูปแบบ แต่ผลการประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่ามีจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัด เคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย

ไม่มีความคิดเห็น: