PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

อนุทิน ย้ำ ภูมิใจไทยเป็นพระเอก

อนุทิน ย้ำ ภูมิใจไทยเป็นพระเอก ทุกพรรคต้องเข้าหา ประกาศจะจับมือกับพรรคที่ไม่ขัดแย้ง แต่ต้องสอบผ่าน 4 ข้อ
โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นพรรคตัวแปรจะมีท่าทีที่น่าสนใจมาก เวทีปราศรัยที่โคราชวันนี้(15/3/62) นายอนุทิน ชาญ​วี​รกูล​ หัวหน้า​พรรคภูมิใจไทย ประกาศย้ำ กระแสข่าวว่า ภูมิใจไทยจะจับมือกับ พปชร.นั้น นายอนุทิน ยังคงยืนยันว่าไม่เคยพูดว่าจะจับมือกับใครตั้งรัฐบาล ภูมิใจไทยเป็นเอกเทศ​มานานแล้ว
เมื่อถามย้ำว่า หากพลเอกประยุทธ์​ มาขอร้องให้ร่วมรัฐบาล นายอนุทิน ไม่ได้ปฏิเสธ​ไปเสียทีเดียว แต่บอกว่าหากใครจะมาขอให้ภูมิใจไทยไปร่วม ทุกพรรคต้องเข้าหาและนำแนวคิดมาเสนอ แล้วมาดูว่าจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่
“เราจะยืนกอดอก ให้พรรคอื่นมาพรีเซนต์ แต่ผมขอบอกข้อสอบล่วงหน้า 4 ข้อว่า พรรคที่จะมาต้องมีคุณสมบัติ 1.ไม่ขัดแย้ง 2.รักประชาชน 3.เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ 4.ทำประเทศไทยให้เจริญ ใครทำได้แบบนี้ เอานายกฯไป แต่ถ้าทำไม่ได้ ภูมิใจไทยจะเป็นนายกฯเอง”

ทิศทางใครจะมาเป็นรัฐบาล : ณรงค์ชัย อัครเศรณี

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
สวัสดีวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 ครับ
เหลือเพียงสัปดาห์เดียว ก็จะถึงวันเลือกตั้ง การหาเสียงแย่งชิงประชาชนของพรรคต่าง ๆ กำลังเข้มข้น โค้งสุดท้ายดูเหมือนไม่สนใจนโยบายแล้ว เป็นการแข่งขันทางอุดมการณ์ของต่างพรรค ระหว่างค่ายที่เรียกตนเองว่า ประชาธิปไตย กับค่ายที่โยงใยกับ คสช. ทั้งทางการเกิดของพรรค และการมี สว. 250 คน จึงขออธิบายความหมายเหล่านี้จากตัวอย่างในอดีต เผื่อจะเดาได้ว่าพรรคไหน จะได้จัดตั้งรัฐบาล
ความแตกต่างของพรรคใหญ่ที่กำลังแข่งขันกัน ดูได้จากรูปแบบของการเมืองที่พรรคนั้นใช้อยู่ คือพรรคพลังประชารัฐ – พปชร. เป็นตามประยุทธ์โมเดล ซึ่งก็คล้ายกับโมเดลที่คณะปฎิวัติในอดีตใช้หลังจากการทำรัฐประหาร เช่นเกรียงศักดิ์โมเดล สุจินดาโมเดล อย่างที่ผมเขียนอธิบายไว้ในตอนก่อนนี้ คือจัดให้มีพรรคการเมืองขึ้นมา แล้วพยายามทำให้พรรคการเมืองนั้นชนะการเลือกตั้ง ให้ได้จำนวนสส.มากที่สุด
แต่ครั้งนี้ ประยุทธ์โมเดล เพิ่มความชัวร์ด้วยการมีระบบเลือกตั้งแบบทุกคะแนนนับหมด และมีการกำหนดสูตรให้มีจำนวนสส.ที่พึงมี เพื่อไม่ให้เกิดพรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงมาก เป็นตามที่คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน บอกว่า “ รัฐธรรมนูญนี้เขียนเพื่อพวกเรา ” แล้วยังแถมให้มี สว. เลือกตั้งโดย คสช. 250 คนมาเป็นกองหนุนตอนออกเสียงเลือก นรม. ด้วย ซึ่งโมเดลของค่ายรัฐประหารก่อนหน้านี้ไม่มี จากกติกาแบบนี้ พรรคพวกคุณสมศักดิ์จึงมั่นใจว่า พปชร. ได้ตั้งรัฐบาลและได้พลเอกประยุทธ์เป็น นรม. แน่ๆ
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มทักษิณโมเดล นำโดยพรรคเพื่อไทย ทักษิณโมเดล คือต้องมี สส. เกินครึ่งสภา และให้เกินครึ่งให้มากที่สุด สมัยคุณทักษิณยังอยู่ใช้วิธีการ M & A คือ Merger & Acquisition ซึ่งได้ผลจนมี สส. มากเกินการยอมรับของฝ่ายค้าน และไปมีอิทธิพลต่อองค์กรอิสระ รอบนี้เมื่อเจอสูตรจำนวน สส. ที่พึงมีเป็นข้อจำกัดจึงใช้วิธีแตกกลุ่มที่เรียกว่า แตกแบงค์พัน เพื่อเก็บคะแนน สส. ใช้คำนวณในการคิดบัญชีรายชื่อ แต่เดินยุทธวิธีพลาด ทำให้พรรคไทยรักษาชาติหายไป ก็เลยพยายามโหมหาเสียงด้วยอุดมการณ์เอาประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มนี้จะได้ สส. มากถึงระดับเป็นพรรคนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พยากรณ์ยาก เพราะยิ่งได้ สส. เขตมาก ก็จะได้ สส. บัญชีรายชื่อน้อย
พรรคที่สามคือประชาธิปัตย์ พรรคนี้ใช้ชวนโมเดล คือหลีกภัย บริหารความเสี่ยง ผมเคยแปลชื่อคุณชวนว่าเป็น Mr.Risk Averter คือใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยแน่ แต่พร้อมบริหารความเสี่ยง ก่อนหน้านี้คงเห็นความไม่แน่นอนว่าประชาชนคิดอย่างไรกับค่ายพลังประชารัฐ กับพลเอกประยุทธ์เป็น นรม. เรียกว่าเป็น Uncertainty ตอนนี้คงเห็นว่ามีกระแสประชาชนไม่เอาการสืบทอดอำนาจแรงชัดขึ้น คงมาจากข้อมูล Google คำนวณเป็นอัตราความเสี่ยงสูงได้ คุณอภิสิทธิ์จึงประกาศว่า พรรคจะไม่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็น นรม. เหตุการณ์นี้คล้ายกับเลือกตั้งปี 2535 รอบแรกประชาธิปัตย์ก็ไม่เอาคณะรัฐประหาร แต่มีจำลองฟีเวอร์ พรรคพลังธรรมได้ สส. จำนวนมาก เลือกตั้งรอบสองหลังพฤษภาทมิฬ คนของประชาธิปัตย์ ออก Slogan ใหม่ว่า “ จำลองพาคนไปตาย ” ผลการเลือกตั้งประชาธิปัตย์ชนะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เชิญพรรคพลังธรรมของคุณจำลอง เข้าร่วมรัฐบาลด้วย
พรรคอื่น ๆ ก็มีที่หาเสียงโดยประกาศไม่เอาการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ เช่น ภูมิใจไทย คุณอนุทิน ประกาศว่า นรม. ต้องเป็น สส. (แปลว่าไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ ?) พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทยก็ประกาศชัดเจนว่าไม่เอาค่ายรัฐประหารแน่ โดยกระแสพรรคอนาคตใหม่มาแรงมาก จากการสำรวจหลายสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนอายุไม่มาก มีพรรคชาติพัฒนา โดยคุณสุวัจน์ ใช้ Slogan – No Problem ของน้าชาติ คงแปลว่าอะไรก็ได้ และพรรคชาติไทยพัฒนาที่ไม่ได้ออกมาแสดงอุดมการณ์ เรื่องเอา / ไม่เอากับค่ายรัฐประหาร คงเหมือนพรรคชาติพัฒนา และสอดคล้องกับบรรหารโมเดล ที่คุณบรรหารเคยบอกว่า “ เป็นฝ่ายค้าน อดอยากปากแห้ง ”
ที่นี้มาถึงการเลือก นรม. เห็นคำนวณตัวเลขกันอุตลุด ที่คาดการณ์ยากก็เพราะมี สว. 250 คนมาเป็นตัวแปรใหญ่ เดากันว่าท่าน สว. คงลงคะแนนให้ชื่อ นรม. ของพรรคพปชร. คือ “ ลงเรือแป๊ะ ก็ต้องตามใจแป๊ะ ” แต่ก็คงไม่ 100 % เพราะบางท่านอาจสั่งไม่ได้ แต่ที่สำคัญคือพรรคพปชร. จะได้สิทธิ์เสนอชื่อ นรม. หรือไม่ ยังเดากันไม่ถูก

ในอดีตมีเหตุการณ์เสนอชื่อ นรม. ที่น่าสนใจหลายครั้ง ที่ผมขอเล่าคือเลือกตั้งปี 2518 พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้เสนอชื่อ นรม. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็น นรม. แต่พอเข้าสภาเพื่อไป confirm ตามกติกาตอนนั้น เกิดได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง ต้องเลือกใหม่ คราวนี้พรรคกิจสังคม ซึ่งมี สส. แค่ 18 คน แต่ไปรวบรวมเสียงมาได้มากพอ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เลยได้เป็น นรม.
สมัยเกรียงศักดิ์และเปรมโมเดล ตั้งแต่ปี 2522 ถึงก่อนปี 2531 การเลือก นรม.ก็มีการประนีประนอมกันระหว่างพรรคการเมือง เพราะพลเอกเปรมเป็นบุคคลที่หลายพรรครับได้ จนถึงเลือกตั้งปี 2531 พรรคชาติไทยโดยน้าชาติ และพรรคกิจสังคมโดยพลเอกสิทธิ เศวตศิลา ได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล น้าชาติเล่าให้ผมฟังว่าตกลงกับพลเอกสิทธิ จะไปเชิญป๋าเป็น นรม. ซึ่งพลเอกสิทธิเห็นด้วยและบอกตนจะไม่รับเป็น นรม. เพื่อให้ป๋าเห็นชัดเจน พอทั้งสองไปพบป๋า ป๋า say no น้าชาติเลยบอกว่า “ งั้นผมรับเป็นเอง ” เพราะพลเอกสิทธิก็บอกป๋าว่าตนไม่รับเป็น น้าชาติเลยได้เป็น นรม. แถมน้าชาติบอกจะเสนอป๋าให้เป็นรัฐบุรุษ แล้วแอบมาเล่าให้พวกเราฟัง อ้างประธานาธิบดี Harry Truman ที่เคยบอกว่า “ รัฐบุรุษ คือนักการเมืองที่หมดสภาพการเป็นนักการเมือง ” (Statesman is a dead politician)
หลังจากการเลือกตั้งปี 2535 การเลือก นรม. ก็มีประเพณีปฎิบัติว่า พรรคไหนได้ สส. มากที่สุด ได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาล เช่นปี 2535 เลือกตั้งครั้งที่สอง ประชาธิปัตย์ได้ที่หนึ่งเกิดรัฐบาลชวน 1 ปี 2538 พรรคชาติไทยโดยคุณบรรหารได้จัดตั้งรัฐบาล ปี 2539 พรรคความหวังใหม่โดยพลเอกชวลิต ชนะประชาธิปัตย์สองคะแนน ก็ได้จัดตั้งรัฐบาล พลเอกชวลิตบอกผมว่า ตอนนั้นพรรคชาติไทยขอร่วมรัฐบาลด้วย (ตามบรรหารโมเดล) แต่ท่าน say no เพราะคุณบรรหารไปยุบสภา โดยบอกตอนแรกว่าจะลาออก จะไม่ยุบสภา ทำให้ สส. ตกงาน หลังจากเพิ่งได้รับเลือกตั้งกันมาเพียงปีเศษ
รอบนี้ คราวนี้พรรคไหนจะได้เสนอชื่อ นรม. อยู่ที่ใครจะได้ที่หนึ่ง ถ้าพรรคพปชร.ได้ที่หนึ่ง ก็จะได้เปรียบมาก เพราะมี สว. อยู่ 250 เสียง แต่ถ้าพรรคพปชร. ไม่ได้ที่หนึ่ง พรรคอื่นจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องรวบรวมคะแนนให้ได้ถึง 375 เสียง ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะ สว. อาจไม่ลงคะแนนให้ อาจทำให้การเลือก นรม. รอบแรกไม่สำเร็จ

ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องไปรอบสอง ตามบทเฉพาะกาล คนเขียนบทนี้คงคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว รอบนี้สามารถเสนอชื่อคนนอก คือคนที่ไม่อยู่ในรายชื่อ Candidate นรม. ของพรรคต่าง ๆ ได้ แต่ต้องได้เสียงจากสองสภาเท่ากับสองในสาม คือ 500 เสียง ใครจะเป็นคนนอกคนนั้น ใครจะเป็นผู้ประสานงานรวบรวมคะแนนให้ได้ 500 เสียง คิดดูแล้ว คงยุ่งน่าดู
ท่านผู้อ่านคาดการณ์อย่างไร ช่วยแชร์กันบ้าง ก็ดีนะครับ
บทความตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครับ
สวัสดีครับ

'ยงยุทธ'นำเพื่อชาติแถลงจุดยืนเจรจา'แม้ว'กลับประเทศยุติความขัดแย้ง

15 มี.ค.62 - ที่ทำการพรรคเพื่อชาติ ชั้น 5 ห้างอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ, ดร.ลลิตา ฤกษ์สำราญ รองหัวหน้าพรรค, น.ส.เกศปรียา แก้วแสนเมือง โฆษกพรรค และนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรค แถลงข่าว “โค้งสุดท้ายกับพรรคเพื่อชาติ” ตามอุดมการณ์รวมใจเป็นหนึ่งเพื่อฟื้นฟูประเทศ และเป็นเกาะกลางในการที่จะสร้างพื้นที่พูดคุยกับทุกฝ่าย เพื่อไปสู่เป้าหมายความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเป็นการแถลงข่าวเพื่อทราบทิศทางของพรรค
นายสงคราม กล่าวว่า นโยบายเรื่องความยุติธรรมสำคัญมาก ต้องปฏิบัติส่งเสริมให้เป็นไปตามหลักสากล นานาชาติยอมรับ หากไม่เป็นสากล นานาชาติไม่ยอมรับ ทำให้ประเทศต่างๆ ขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน ข้อพิพาทต่างๆ ประเทศไทยเกิดการรัฐประหารหลายครั้ง เกิดความลักลั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางการเมือง เมื่อเกิดรัฐประหารไม่มีใครบอกว่ารัฐบาลที่ถูกรัฐประหารเป็นคนดี ต้องเลว คอร์รัปชั่น เป็นสูตรสำเร็จ และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ สุดท้ายคนถูกยึดอำนาจอยู่ไม่ได้ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ ถ้าอยู่ต่อไม่พ้นถูกติดคุก แต่ประเทศต่างๆ ก็ไม่ให้ความร่วมมือจับกุม เพราะรู้อยู่แล้วเกิดจากข้อกล่าวหาทางการเมืองทั้งนั้น 
นายสงคราม กล่าวต่อไปว่า กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถ้าผิดตามที่ถูกกล่าวหา ทำไมประเทศต่างๆ ไม่จับกุม กลับให้การต้อนรับเป็นที่ปรึกษา เชิญไปเป็นวิทยากรต่างๆ เพราะไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาเหล่านั้น พรรคเพื่อชาติเห็นคุณค่าของคนไทย คนมีความรู้ความสามารถลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ พรรคเพื่อชาติเห็นควรต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ส่วนคดีว่ากันไป ผิดก็ว่าผิด แต่กระบวนการสอบสวนต้องเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสีย ต้องเป็นธรรม ยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย พรรคเพื่อชาติจะเป็นเกาะกลาง ไม่ใช่แค่นายทักษิณ แต่รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคนต้องมาคุยกันได้ 
หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ยังกล่าวถึงนโยบายว่า พรรคเพื่อชาติจะเป็นผู้บุกเบิกในการสร้างขีดความสามารถของคนรุ่นใหม่ ปรับปรุงการเรียนการสอนนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศต่อยอดให้ทันโลก สร้างคนเพื่อสร้างชาติ ส่วนการทหาร การรบต่อไปใช้ AI เทคโนโลยีทั้งนั้น กำลังส่วนเกินต้องอยู่ในศูนย์บัญชาการ และอยู่ในภาคของการผลิต ไม่ต้องเกณฑ์ทหารมาสมัครใจแทน การรบไม่ต้องใช้กำลัง ใช้สมองและเทคโนโลยี ส่วนความเหลื่อมล้ำ ระบบอุปถัมภ์ การผูกขาดตัดตอน ทำให้ทรัพย์สินไปรวมกับกลุ่มบุคคล ไม่กระจายให้ประชาชนทั่วไป จนเกิดความยากจน พรรคมีนโยบายเลิกสัมปทานผูกขาดที่เป็นอุปสรรคการพัฒนาคน เช่น เหล้าพื้นบ้านแทบจะทำไม่ได้ ผูกขาดเอื้อให้คนรวย ต้องแก้ไขจุดบกพร่องของกฎหมายป้องกันการผูกขาดที่มีอยู่ และนโยบายทำลายกำแพงใจ สร้างความรักสามัคคีของคนในชาติ
ด้านนายยงยุทธ กล่าวว่า การนำความยุติธรรมกลับคืนมานั้น มีการซักถามมาเสมอว่าพรรคเพื่อชาติมีแนวทางอย่างไรต่อกรณีนายทักษิณ สังคมไทยถูกตั้งคำถามกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานใช่ไหม ทำให้ต่างชาติระแวงไม่กล้ามาลงทุนทำสัญญา ตั้งแต่ปี 2549 ที่ยึดอำนาจ มีทหารเข้าไปทำลายข้าวของในบ้านตนก็ไม่เอาเรื่องฟ้องร้อง การฉีกรัฐธรรมนูญทำรัฐประหารเป็นความผิดถึงขั้นประหารชีวิต แต่ได้นิรโทษกรรมไม่ถูกลงโทษ ผู้ถูกยึดอำนาจไม่ได้นิรโทษอะไร ถูกตั้งข้อกล่าวหาต้องลี้ภัย ที่นายทักษิณไม่ยอมรับ เพราะคณะกรรมการกล่าวหามาจากการแต่งตั้งของผู้ยึดอำนาจ การได้มาซึ่งข้อกล่าวหาไม่เป็นธรรม ถ้าในศาลมีการยื่นร้องขอเปลี่ยนตัวกรรมการ เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีความมั่นใจถึงกลับมาได้
นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า การปล่อยให้คนมีความรู้ความสามารถอยู่ต่างประเทศ ซึ่งมีคอนเนกชั่นกับนานาอารยประเทศ ย่อมสร้างความสามารถของการลงทุนมาช่วยประเทศ ก็จะทำให้กองเชียร์ที่ต้องการเห็นคนรักศรัทธาได้กลับมาต่อสู้ ไม่ต้องแตกแยกกันเหมือนทุกวันนี้ พรรคถึงได้สร้างคอนเซปต์เกาะกลาง หลายคนที่บอกมาได้แต่มาติดคุกนั้น ถ้าไม่ถูกกระทำคงไม่รู้สึก ตนเชื่อว่าถ้าถูกกระทำความคิดก็จะเปลี่ยนไป การได้มาซึ่งพยานหลักฐานต้องเชื่อถือได้ เป็นกลาง ไม่ใช่ถูกแต่งตั้งจากฝ่ายตรงข้าม ไทยที่ง้อยเปลี้ยทุกวันนี้เพราะแบ่งฝ่าย การหาเสียงก็มีบรรยากาศเช่นนี้ คิดว่านายทักษิณควรได้รับการพิจารณากลับมาต่อสู้ ต้องพูดคุยกัน การสร้างศัตรูสมมติเหมือนสงครามเย็นไม่ดีต่อประเทศไทยแน่นอน จากที่ได้พูดคุยกับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ถ้าเริ่มต้นกระบวนการให้นายทักษิณกลับประเทศได้จริง ความขัดแย้งทั้งหลายจะหายไป ตนเชื่อมั่น
นายสงคราม กล่าวเสริมว่า ทำไมต้องให้นายทักษิณกลับ รัฐประหารผ่านไป 5 ปี ยังไม่ปรองดอง ไม่มีนายทักษิณอยู่ในประเทศมา 10 ปีแล้วก็ยังไม่จบ วิธีที่ดีที่สุดคือต้องคุยกัน เหมือนอเมริกาคุยกับเกาหลีเหนือ ผู้มีอำนาจไปคุยกันประเทศที่สามก็ได้ คาใจอะไรพูดไปเลยจบ แล้วห้ามเล่นการเมือง ตนว่านายทักษิณก็รับได้เพื่อประเทศ เพราะท่านก้าวข้ามนายกฯ เป็นพลเมืองโลกไปแล้ว หลายประเทศเชิญไปเป็นที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยดังเชิญไปบรรยาย ไม่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายน่าอายที่ไม่เป็นหลักสากล ถ้ารักชาติทำไมไม่คุย ถ้าอยากแก้ปัญหาต้องเปิดใจกันพูด ให้ตระกูลเลิกเล่นการเมืองเชื่อว่าท่านก็ยอม อย่าให้ประเทศต้องเสียหายมากกว่านี้ ทุกวันนี้เสียหายมาเยอะแล้ว ฝากผู้มีอำนาจคู่ขัดแย้งทำใจซะเถอะ ถ้ารักประเทศจริงต้องมาคุยกันให้ได้
นายยงยุทธ ยังกล่าวถึงนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผูกขาดตัดตอน ว่า ถ้าไม่แก้จะเกิดแรงเหวี่ยงมหาศาล คน 5 ตระกูลมีทรัพย์สินเหลื่อมล้ำมากกว่าคนส่วนใหญ่ ถ้าเผด็จการผูกขาดกับทุนทั้งหลายส่วนบนแล้วละทิ้งส่วนล่าง ปัญหาก็ไม่สิ้นสุด อย่าสร้างผีทักษิณ หยุดได้แล้ว คุยกันเสียให้จบ บ้านเมืองไม่แยกเป็นฝักฝ่าย การหาเสียงเรื่องแบ่งแยกทักษิณ สร้างวาทกรรมไม่เหมาะสม เป็นตัวอย่างให้เห็นปัญหาชาติ เหตุเกิดคือกลัวผีทักษิณ ต้องคุยกันอย่าให้ไปเร่ร่อนต่างประเทศ ยิ่งประจานประเทศเป็นเผด็จการ ตัวเอกของปัญหาคือผู้มีอำนาจกับนายทักษิณ และต้องหยุดนายทุนสัมปทาน

หลังเลือกตั้งวิ่งตีนขวิด

แบบนี่นะ...
สิ่งที่นักการเมืองใช้หาเสียง
ก่อนเลือกตั้ง
กับหลังเลือกตั้ง 
แทบทุกครั้งต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เรื่องนโยบายเรื่องหนึ่ง
เรื่องท่าทีการเมืองก็อีกเรื่องหนึ่ง 
เน้นเฉพาะท่าทีการเมืองหลัง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"ประกาศ ไม่เอาลุงตู่ แต่ไม่ประกาศว่า ไม่จับมือเพื่อไทยในคราวเดียวกัน จนก้อนอิฐปลิวว่อนนั้น 
ในทางการเมืองเข้าใจได้ เพราะ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" คั่วเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเหมือน ลุงตู่ เจ๊หน่อย หนูน้อยธนาธร 
แต่...ขีดเส้นใต้ร้อยเส้น มีความผิดพลาดในการสื่อสาร 
"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ใช้คำว่า "ไม่สนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี"
ผิดตรงไหน? 
ก็ไม่สนับสนุนแล้วไง
ผิดตรงเป็นคำพูดของ "ผู้แพ้"
แพ้เลือกตั้งแล้วต้องไปประกาศว่าสนับสนุน หรือไม่สนับสนุนใครเป็นนายกฯ
ถ้าวันนั้น "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ประกาศว่า "พร้อมทำงานกับฝ่ายประชาธิปไตยสุจริต" 
หากพูดในฐานะผู้ชนะ 
พร้อมเปิดทางให้ ฝ่ายประชาธิปไตยสุจริต ร่วมรัฐบาล 
คะแนนไหล 
แถมไม่ขัดจุดยืนพรรค 
นี่คือสถานการณ์ก่อนเลือกตั้ง
แต่...เลือกตั้งเสร็จเมื่อไหร่ เราจะเจออีกบรรยากาศ
วิ่งกันตีนขวิด. 

ปลุกเลือก'พปชร.' ลุงตู่ปล่อยคลิปเวทีปราศรัย ผู้ตรวจการันตีไม่ใช่จนท.รัฐ


    “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ตีตรา “หัวหน้า คสช.” ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 พิงหลัง ชี้ไม่เข้าข่ายครบ 4 ข้อ ไม่อยู่ใต้บังคับบัญชาใคร แต่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ พร้อมการันตีแทน กกต.ประกาศชื่อลุงตู่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ชอบแล้ว “หญิงหน่อย” ซัดตลกร้าย ส่วน “เต้น” ชี้เป็นการตีไพ่ให้ผู้มีอำนาจน็อกมืด “ประยุทธ์” ส่งคลิปครั้งแรกเวทีสุโขทัย ชวนประชาชนอย่าลังเลใจ ขอให้กล้าไปกับลุงตู่ 
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มี.ค. นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แถลงถึงผลการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ขอให้ตรวจสอบพร้อมเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ การที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ จึงเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) หรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ยกเรื่องดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 5/2543 เกี่ยวกับความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ว่าต้องมีลักษณะครบถ้วน 4 ประการคือ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ 4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
    นายรักษเกชาแถลงต่อว่า สถานะหัวหน้า คสช. แม้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมายก็ตาม แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มิใช่ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ คสช. และตำแหน่งหัวหน้า คสช.ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ หากแต่เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ จึงแสดงให้เห็นได้ว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.มิได้มีลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ได้มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่มีการร้อง ดังนั้นการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ ของพรรค พปชร.เสนอ จึงเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 และมาตรา 14 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 23 พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
    “ผู้ตรวจฯ พยายามมองในหลายๆ มุม แต่เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ซึ่งความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ ยืนยันว่าผู้ตรวจพิจารณาบนพื้นฐานของข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง” นายรักษเกชากล่าว
    ส่วน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าที่ประชุม กกต.ได้พิจารณาไปเมื่อวันที่ 13 มี.ค. และเห็นว่ายังมีปัญหาในข้อกฎหมาย จึงให้สำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต. โดยจะนัดประชุมในวันที่ 18 มี.ค.นี้ เมื่อได้รับความเห็นแล้วจะนำเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาต่อไป ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ก็ขึ้นอยู่กับ กกต.จะหยิบยกคำวินิจฉัยดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาหรือไม่ แต่สำนักงาน กกต.ได้เสนอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับลักษณะของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ฉบับที่ 5/2543 ให้ที่ประชุม กกต.ด้วย
รุมสับมติผู้ตรวจการฯ
    ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าเป็นตลกร้าย ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วมีการปลดคน ใช้มาตรา 44 ได้อย่างไร ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หากวินิจฉัยเช่นนี้ก็ไม่ต้องมีหลักอะไร หรือไม่ต้องเลือกตั้งก็ได้ ต้องฝากความหวังไปที่ศาล กกต. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้หรือไม่
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า การวินิจฉัยสถานะ พล.อ.ประยุทธ์แบบนี้ไม่ได้แค่ตอบสนองความต้องการผู้มีอำนาจ แต่เป็นการเสริมความชอบธรรมให้การรัฐประหารว่า หัวหน้าคณะไม่ต้องอยู่ภายใต้ตัวบทกฎหมายใด ซึ่งน่าสังเกตว่าผู้ตรวจการแผ่นดินรีบวินิจฉัยเป็นพิเศษ ทั้งที่เพิ่งรับเรื่องเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ต่างกับ กกต.ที่ยื่นคำร้องเรื่องนี้เมื่อวันที่  11 ก.พ. แต่เพิ่งมีข่าวว่าตั้งกรรมการสอบ  
    "ที่ กกต.ช้าอยู่ก็เพื่อดึงเวลา เพราะหามุมออกยากจนผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรงวินิจฉัยก่อน ถือเป็นการตีไพ่ให้ กกต.เล่นง่ายใช่หรือไม่ ถ้าองค์กรอิสระของประเทศชวนกันตีไพ่ให้ผู้มีอำนาจน็อกมืด แล้วบ้านเมืองจะอยู่กันยังไง" นายณัฐวุฒิกล่าว
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. กล่าวว่า กกต.ควรเร่งดำเนินเรื่องความชัดเจนสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ควรวินิจฉัยให้สะเด็ดน้ำ ไม่ควรปล่อยให้คาราคาซัง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในอนาคต
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า กกต.ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญเร่งวินิจฉัยคุณสมบัติดังกล่าวโดยเร็ว
    ส่วนนายสุชาติ ลายน้ำเงิน ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อประธาน กกต.ขอให้ตรวจสอบเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร. กรณีพรรค พปชร.จัดเวทีปราศรัยหาเสียงที่ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยได้นำพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายและคลิปเสียงปราศรัย พร้อมเอกสารในกรณีสัญญาว่าจะให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปใช้ในการหาเสียงมายื่น 
    "ครั้งนี้พยานหลักฐานชัดเจน และผมหวังว่า กกต.จะเดินหน้าเรื่องนี้ไปให้สุด ต้องให้มันถึงจริงๆ ซึ่ง กกต.ต้องไม่ลืมว่าคนจับตาดูอยู่ทั่วโลกว่าจะมีการเลือกตั้งแบบบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่" นายสุชาติกล่าว
    วันเดียวกัน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ภาพชุดลุคส์หล่อ พล.อ.ประยุทธ์ จากประชาชนทั่วประเทศ 1,450 ตัวอย่าง ซึ่งเมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาล พบว่า 56% เคยสนับสนุนค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และ 44% เคยสนับสนุนค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
    และเมื่อถามถึงการปรับเปลี่ยนภาพชุดลุคส์หล่อเท่ๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า 74.6% ระบุว่าควรรักษาภาพเดิมๆ ตอนเข้ามาเป็นรัฐบาลตอนแรกๆ และ 25.4% เห็นควรปรับเปลี่ยนมาเป็นภาพชุดลุคส์หล่อ ทั้งนี้ เมื่อถามถึงสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ควรเป็นอะไร พบว่า 66.1% เห็นว่าควรเป็นหัวหน้า คสช. และ 33.9% เห็นควรเป็นนักการเมือง
ลั่นทำดีเหมือน 5 ปีที่ผ่านมา
    ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุม CLSA อาเซียน ประจำปี 2562 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยถือเป็นตัวเลือกที่ดีอีกประเทศหนึ่ง ขอบคุณทุกคนที่มาลงทุนในประเทศไทย หากใครที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ขอให้ตัดสินใจเลย เพราะจะได้นอนหลับฝันดี จึงขอให้เชื่อมั่นจะทำให้ดีที่สุด อย่างที่เคยได้ทำมาตลอด 5 ปี ขอทุกคนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในอาเซียน เพื่อขยายธุรกิจของตนเองต่อไป ส่วนเรื่องการเมือง ก็ขอให้เป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศ
    พล.อ.ประยุทธ์ยังตอบคำถามสื่อมวลชนต่างประเทศถึงกรณีผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้จะออกมาเป็นอย่างไร ว่าผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไรต้องยอมรับ เพราะในเมื่อเราจัดให้มีการเลือกตั้ง และเมื่อถามถึงหลังการเลือกตั้งจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่ายินดี เพราะเป็นเรื่องของการเมือง รัฐบาลต้องมีการผสมผสานการทำงาน โดยมาจากพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล
    เมื่อถามถึงกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ แสดงความเป็นห่วงว่าการหาเสียงในช่วงนี้มีการยกประเด็นไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะทำให้นักลงทุนเกิดความสับสนและส่งผลต่อความเชื่อมั่นประเทศ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็เป็นห่วงว่าวันนี้จะพูดอะไรก็ตามในเรื่องของการเลือกตั้ง หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของเราภายในประเทศ ก็ไม่อยากให้มีผลกระทบกับเรื่องความเชื่อมั่น ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ช่วยกันเถอะ อย่าเพิ่งมีความขัดแย้งกันตอนนี้ หลายเรื่องค่อยไปเริ่มกันหลังจัดตั้งรัฐบาล
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่ประกาศคิดว่าสากลน่าจะดีใจ เพราะเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองในระดับสากลพึงกระทำอยู่แล้ว ส่วนที่ระบุว่าไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ ถือว่าเป็นนักบอยคอตนั้น เป็นคนละเรื่องกัน คำพูดของนายสมคิดเสียอีกที่บอกว่าถ้าไม่ให้เลือกตั้งก็ได้ สะท้อนตัวตนมากกว่า ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นการดิ้นของคนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ 
    นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ปชป.โพสต์เฟซบุ๊กว่า การแสดงจุดยืนว่าพรรคการเมืองสนับสนุนหัวหน้าพรรคตนเอง และไม่สนับสนุนหัวหน้าพรรคของพรรคคู่แข่ง เป็นเรื่องปกติในโลกสากล จึงไม่เห็นว่ามีใครตระหนกตกใจแต่อย่างใด 
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวเช่นกันว่า การติดล็อกเกิดจากความวุ่นวายของ คสช.เอง ถ้าไม่ยอมปล่อยประชาธิปไตย ซึ่งการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติขึ้นอยู่กับหลักนิติรัฐ นิติธรรมที่เข้มแข็งมากกว่า
พปชร.รับห่วงเดดล็อก
    ส่วนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร. ยืนยันว่า พรรคไม่ได้เน้นชัยชนะทางการเมือง ส่วนจะทำงานร่วมกับพรรคเพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ ถ้าเป็นคำตอบในวันนั้น แล้วเป็นทางออกที่ดีให้กับประเทศ ส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองควรคิดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำไป
    “แน่นอนตามแนวทางประชาธิปไตย คนที่มีเสียงข้างมากต้องดำเนินการก่อน หากทำไม่ได้ คนที่ได้คะแนนเสียงอันดับสองก็ต้องดำเนินการ ส่วนตัวไม่อยากเห็นการทำให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง เพราะจะทำให้ประชาชนว้าเหว่ ดังนั้นขอให้การเมืองเดินไปตามแนวทางประชาธิปไตย อย่าสร้างเงื่อนไขจนประเทศไปถึงทางตัน เราห่วงการเมืองจะเดินหน้าไปสู่จุดที่เราเดินหน้าไม่ได้” นายสนธิรัตน์กล่าวตอบข้อถามการให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาลก่อน 
    นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้ง พรรค พปชร. กล่าวว่า ถ้าหากว่าพรรค พปชร.ไม่เร่งสปีดขึ้นโพลต่างๆ อาจมองว่าพรรค ปชป.อาจมาแรง แต่เชื่อว่าหากพรรค พปชร.ได้ 150 ส.ส. จะจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่หากเราขาดความทะเยอทะยานเมื่อไร เราอาจตกลงไปเป็นอันดับ 3 และอาจทำให้คนที่ออกมาพูดว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์มีสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้
    มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-20 มี.ค. โดยวันที่ 16 มี.ค. ลงพื้นที่ จ.เชียงรายและแพร่, 18 มี.ค. ลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช, 19 มี.ค. ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ 20 มี.ค. ตรวจราชการที่ จ.ฉะเชิงเทรา 
    นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เห็นลีลา พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ ใครยังกล้าบอกว่าไม่ใช่หาเสียงก็เกินไป การพูดบนเวทีแบบนั้นคือการซ้อมปราศรัยเพื่อขึ้นเวทีใหญ่ในวันที่ 22 มี.ค. ซึ่งทราบมาว่าพรรค พปชร.เตรียมไว้เป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ เพื่อเอาเปรียบพรรคคู่แข่งจนวินาทีสุดท้ายของการเลือกตั้ง 
“ขอเรียกร้องให้ท่านแสดงความเคารพและให้เกียรติประชาชนโดยขึ้นเวทีพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่วันนี้ บอกมาเลยว่าที่ไหนอย่างไร ผมจะย้ายเวทีก้าวต่อไปเพื่อประชาธิปไตยไปเปิดในพื้นที่ใกล้เคียง เอาวันเดียวกันเลย ประชาชนจะได้ตัดสินใจ” นายณัฐวุฒิกล่าว
    ทั้งนี้ ที่สนามฟุตบอลทุ่งทะเลหลวง สโมสรสุโขทัย เอฟซี อ.เมืองฯ จ.สุโขทัย แกนนำพรรค พปชร.ได้จัดปราศรัยใหญ่ โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 3,000 คน ซึ่งระหว่างการปราศรัยได้มีเซอร์ไพรส์เปิดคลิป พล.อ.ประยุทธ์ ที่จัดทำมาเพื่อพูดคุยกับประชาชนเป็นครั้งแรกที่ จ.สุโขทัย เนื้อหาคลิปยาว 8 นาที โดยตอนหนึ่งระบุว่า วันนี้ที่ประเทศเดินหน้าได้ และสิ่งต่างๆ สำเร็จได้นั้นก็ต้องอาศัยพี่น้องคนไทยทั้งประเทศร่วมมือกัน จับมือกัน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเดินอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ทุกคนจะต้องตัดสินใจว่าเราจะเลือกเดินอย่างไรในเวลาที่สำคัญ ก่อนตัดสินใจอยากให้พี่น้องประชาชนของพวกเรานำความรัก ความสามัคคี และรอยยิ้มที่สวยงามกลับมา ประเทศของเราต้องไม่ย้อนกลับไปในอดีต ที่บ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า เหตุผลที่ตัดสินใจตอบรับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ ไม่ใช่ความต้องการส่วนตัว แต่มองเห็นโอกาสของประเทศที่ต้องพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และพรรคพลังประชารัฐประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ หลากหลายอุดมการณ์ หลากหลายความคิด แต่ทุกคนต้องมาร่วมมือกันทำงาน ยึดหลักผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ทิ้งอดีตเอาไว้ข้างหลัง ทำอนาคตให้ดี โดยหากได้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จะสานต่องานให้มีการพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน จะยึดหลักธรรมาภิบาลกฎหมายต่างๆ เพื่อจะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างมั่งคั่งยั่งยืน 
    “ขอให้พวกเราคิดว่าการกระทำในวันนี้นั้น จะเป็นสิ่งบ่งบอกว่าวันหน้าเราจะเป็นอย่างไร อนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นทำวันนี้เพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่า ไม่ใช่เพื่อตัวตนเอง ตัวพวกเราเอง แต่พวกเรากำลังทำเพื่ออนาคตของประเทศชาติ ของลูกหลาน ของเราทุกคน ที่จะเติบโตมีอนาคตสดใส ในวันหน้า อย่าลังเลใจ ขอให้คุณกล้าไปกับผม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว. 

เมื่อปชป.-พปชร.แหติดตอ

    ผมว่า "ไร้สาระ" นะ!
    ระหว่างคน "ประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ"
    ที่แต่ละฝ่าย "ตอดกันไป-ตอดกันมา" สืบเนื่องจากที่ "อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์" โพสต์เฟซ วันก่อน
    "ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป" นั่นน่ะ!
    อยากจะบอกว่า......
    เหมือนนักมวย ปกติก็เพื่อนฝูงกัน แต่เมื่อขึ้นเวที เป็นธรรมดา
    มันก็ต้องลีลากันบ้าง!
    ฉะนั้น ทั้งประชาธิปัตย์และทั้งพลังประชารัฐ จะทึกทักลีลาให้กลายเป็น "ชีวิตจริง" ไปเพื่ออะไรกัน หือ?
    จบก็ให้มันจบ 
    ทำตัวเป็นวัยรุ่นจิ้มจุ่ม ทะเลาะกันด้วยเรื่องน้ำจิ้มติดก้นกระทะ ถึงขั้นพังร้าน ตีกัน  
    มันทุเรศน่ะ!
    ก็รู้ปรัชญาสังคมมิใช่หรือ ความฉิบหายของคนอื่น คือความสุขของเรา 
    ฉะนั้น การที่ "สหายในเส้นทาง" ตบตีกันเองช่วงเลือกตั้ง ก็เหมือนอุบัติเหตุรถชนกัน บาดเจ็บกระแด่วๆ คารถ
    คนวิ่งมาดู..........
    ไม่ได้มาช่วย หากแต่จ้อง "ปลดทรัพย์" ผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ซึ่งมันเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยากเลย!
    จากคุณอภิสิทธิ์โพสต์..........
    ระดับพรรค ทั้งประชาธิปัตย์-พลังประชารัฐ ตอดเอาไปต่อ ตามเวทีหาเสียง นั่นก็ว่าสีสันหางเครื่อง
    แต่การที่หัวเครื่อง ลงมาเล่นด้วย อย่างรองนายกฯ สมคิดตอด อดีต รมว.คลังประชาธิปัตย์ "กรณ์ จาติกวณิช" โต้กลับ
    แบบนี้ เดี๋ยวสถานการณ์ "นายว่า ขี้ข้าพลอย" มันก็จะตามมา!
    และคุณอภิสิทธิ์ ก็รู้ว่าท่านนักโต้วาทีเหรียญทองจากอีตัน ฉะนั้น เรื่องจะให้หุบปาก "อุเบกขา" ชาติหน้าบ่ายๆ โน่น
    แล้วมันก็จะไปกันใหญ่ 
    จากเรื่องน้ำจิ้ม ก็จะกินใจ ลามถึงขั้น สองพรรคมองหน้ากันไม่ได้ ต้องไปจบที่ "ตายกันไปข้าง"!
    ผมอยากให้เข้าใจ "ภาวะผู้นำ" พรรคประชาธิปัตย์ของคุณอภิสิทธิ์ ในสถานการณ์นี้
    ศักดิ์ศรีพรรค "มาตรฐานประเทศ" ของประชาธิปัตย์ อีกทั้งตัวคุณอภิสิทธิ์เอง เคยสูงสุดในตำแหน่ง "นายกฯ" มาแล้ว
    ฉะนั้น ทางเดิน "มันบีบ" ให้คุณอภิสิทธิ์ต้องเดินใน "ทางบังคับ"!
    ๑.พรรคประชาธิปัตย์ 
    เกิดมา ไม่เคยเป็นฝ่ายไปร่วมพรรคอื่น มีแต่พรรคอื่น เป็นฝ่ายมาร่วมกับประชาธิปัตย์
    ๒.เป็นนายกฯ มาแล้ว 
    ด้วยศักดิ์ศรี เก้าอี้อื่น นอกจากเก้าอี้นายกฯ และ ส.ส.ถ้าอภิสิทธิ์ไปนั่ง โลกนินทาทันทีว่า "กระสัน"
    "หัวหน้าฝ่ายค้าน" กับ "ประธานรัฐสภา" เท่านั้น นั่งได้!
    ๓.บุคคลที่ประชาธิปัตย์เสนอชื่อเป็น "นายกฯ" ของพรรค ต่อ กกต.คือคุณอภิสิทธิ์
    ก็เป็นตรรกะในตัวว่า ต้องหาเสียงให้พรรคชนะ เป็นแกนตั้งรัฐบาล และให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ
    ดังนั้น การจะให้ "ว่าที่นายกฯ" ประชาธิปัตย์ หาเสียงไปในทางให้สังคมเข้าใจว่า ซูฮกยกให้ "ว่าที่นายกฯ" พรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯ
    มันผิดเจตนารมณ์พรรค......
    และเสียศักดิ์ศรี ที่พรรคมาตรฐานยอมเป็น "พรรคบริวาร" ให้กับพรรคเกิดใหม่!
    ด้วยเงื่อนไขและเหตุผลภาคบังคับดังกล่าว มันจำเป็นที่คุณอภิสิทธิ์ต้องอยู่ในบท "พรรคมาตรฐาน" ประกาศให้โลกรู้
    หมดเวลาเกรงใจกันแล้ว...........
    และหลั่งทักษิโณทก "ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ" อีกต่อไป
    ลอกเยื่อให้หมดใย ด้วยจดหมาย "ผมรักคุณ" สุดแสนจะโรแมนติก อีกหนึ่งฉบับ!
    ถ้าหยิบประโยคคำพูดอภิสิทธิ์มาพินิจ ก็จะเข้าใจ "ความหมาย" แท้จริง ที่คุณอภิสิทธิ์ต้องการสื่อให้สังคมทราบ
    ประโยคนั้น นับว่า "โอ่อ่า-ชัดเจน-เปิดเผย" ไว้เกียรติ ไว้ลายพรรคมาตรฐาน
    เพียงแต่คลาสสิก ต้องใช้เวลา "นั่งขบ-นอนขบ" นานหน่อย
    ที่ว่า "ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ" นั่นน่ะ ฟังเผินๆ เท่ากับประกาศ
    "ประชาธิปัตย์ไม่ร่วมพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล"
    เสียงเจี๊ยวจึงอึงมี่!
    แต่เมื่อพิจารณาโดยโอ้โลม-ปฏิโลมแล้ว ต้องบอกว่า ที่พูดนั้น "ถูกของท่าน"
    อภิสิทธิ์บอก "ไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ"
    ก็ลองคิดดู........
    อภิสิทธิ์ ก็ว่าที่นายกฯ พรรคหนึ่ง
    พลเอกประยุทธ์ ก็ว่าที่นายกฯ พรรคหนึ่ง
    ทั้ง ๒ คน "ศักดิ์เสมอ" ในสนามแข่งขัน ชิงเก้าอี้นายกฯ จู่ๆ จะให้อภิสิทธิ์ประกาศว่า
    "จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ" มันก็บ้า
    ทำนองเดียวกัน......
    จะให้พลเอกประยุทธ์ประกาศว่า "สนับสนุนให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ" ก็บ้าพอกัน
    และมีสิทธิ์ถูกข้อหา "ซูเอี๋ย" เป็นมวยล้มต้มคนดู!
    มาพิเคราะห์ข้อมูลประกอบ ศักดิ์เสมอในความเป็น "ว่าที่นายกฯ" ของพลเอกประยุทธ์กับอภิสิทธิ์
    มีข้อต่างเป็น "ตัวชี้ขาด" มีนัยสำคัญ คือ 
    คุณอภิสิทธิ์นอกจากเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคแล้ว 
    ยังเป็นหัวหน้าพรรค และอยู่ในบัญชี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ ๑ ของพรรคด้วย
    นั่นหมายความว่า ประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนตั้งรัฐบาลหรือไม่ได้เป็น อภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ หรือไม่ได้เป็น ก็แล้วแต่
    แต่ที่แน่ๆ คุณอภิสิทธิ์ได้เป็น ส.ส.อยู่ในกระดานการเมืองต่อไปแน่!
    ตรงข้ามกับพลเอกประยุทธ์.......
    ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพียงถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพลังประชารัฐเท่านั้น
    นั่นคือ ถ้าพลังประชารัฐไม่ได้เป็นแกนตั้งรัฐบาล "พลเอกประยุทธ์" เท่ากับ "ไม่มีตำแหน่งใด" ในพรรคเลย
    ดูตามนี้ มันก็ใช่.....
    ตามที่อภิสิทธิ์ประกาศ ถ้าประชาธิปัตย์เป็นแกนตั้งรัฐบาล พลังประชารัฐ เท่ากับไม่มี "พลเอกประยุทธ์" อยู่ในพรรค
    พลังประชารัฐจะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ได้ แต่จะไปต่อรองเอา "ไข่ประยุทธ์" ที่ฝ่อไปแล้ว มาฟักขอเป็นนายกฯ
    แถมอายเขาตายโหง!
    นี่ ในความหมายประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ๒๔ มีนา.
    แต่ถ้าทั้งประชาธิปัตย์และประชารัฐ ไม่ได้เป็น "เสียงข้างมาก" ทั้งคู่ 
    แต่รวมหลายพรรคแล้วได้เกิน ๒๕๑ เสียง ตามนัยนี้ ถ้าอภิสิทธิ์ยืนกราน "ไม่เอาประยุทธ์" ในขณะที่พรรคอื่นๆ เขาเอา ก็มีประเด็นให้มอง
    คือ คำว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคมาตรฐาน ก็อยู่ตรงที่ พรรคไม่มีใครมีอำนาจชี้ขาดได้คนเดียว
    ทุกอย่างต้องเป็น "มติพรรค" ออกมาเท่านั้น!
    กรณีนี้ เช่นกัน ตอนนี้ เอา-ไม่เอา, ร่วม-ไม่ร่วม, ทะเลาะให้โลกหยันในความหมาย "แหติดตอ" ไปทำไม?
    ยังไม่ทันเลือกตั้ง ใครได้-ไม่ได้ ก็ยังไม่รู้ แล้วมาทะเลาะกัน มันน่าหยัน
    และที่สำคัญ ประกาศอภิสิทธิ์ 
    ไม่ใช่ "มติพรรค"!
    ฉะนั้น ทั้งพลังประชารัฐ ทั้งประชาธิปัตย์ อย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นตบตีกันเลย
    ไปหาเสียง-หาคะแนนมานับแข่งกันก่อนดีกว่า หลังเปิดหีบ ๒๔ มีนา. เห็นตัวเลขของแต่ละพรรคแล้ว ค่อยมาทะเลาะกันตอนนั้น ก็ยังทัน
    ใครจะร่วม-ไม่ร่วม จะเป็นรัฐบาล เป็นค้าน หรือใครจะเป็นนายกฯ ให้เห็นแต้ม-เห็นตัว ส.ส.ในมือกันก่อน
    ตอนนั้น ใครจะเกี่ยงงอน ใครจะต่อรอง หรือใครจะเป็นฝ่ายเสนอ-ฝ่ายสนองเงื่อนไข ค่อยเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่รับฟังได้
    แต่ตอนนี้ อย่าไปจำที่ควรลืม และอย่าลืมที่ควรจำ จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
    เส้นทางระหว่างประยุทธ์กับอภิสิทธิ์มีเหมือนและต่างกันอยู่
    พลเอกประยุทธ์ ถ้าพลังประชารัฐเป็นแกนตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประยุทธ์ก็จบ
    อภิสิทธิ์ ถ้าประชาธิปัตย์เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ยังไม่จบ เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้
    แต่ในรัฐบาลผสม มี "พลเอกประยุทธ์" เป็นนายกฯ ได้
    ขณะเดียวกัน ไม่มีทางเลยที่.......
    "พรรคร่วม" จะให้อภิสิทธิ์เป็น "นายกฯ"!.

ไม่เอาบิ๊กตู่” บิ๊กแคมเปญเขย่า พปชร. อภิสิทธิ์ ต้านสืบทอดอำนาจ แตกหักพรรคสุเทพ

ศึกสามก๊ก ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)-เพื่อไทย (พท.)-ประชาธิปัตย์ (ปชป.) เดินมาถึง “จุดแตกหัก”

เมื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้า ปชป. ประกาศไม่จับมือกับ พท.-ไม่ร่วมรัฐบาลกับ พปชร.

ก่อนจะถึง “วันแยกทาง” เมื่อ “คนเคยรัก-สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)-ผู้สนับสนุนหลัก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทวงบุญคุณอดีตนายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์” ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Suthep Thaugsuban”

“ผมเป็นคนทำให้อภิสิทธิ์ได้เป็นนายกฯ ถ้าไม่ใช่เพราะผม ผมไม่รู้ว่าชาติหน้ามันจะได้เป็นนายกฯหรือไม่…อยากจะเป็นนายกฯจนลืมพวกกูแล้วใช่หรือไม่”

จากแผนลับ ดีลล่วงหน้า ภารกิจดัน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯอีกสมัย คือ การจัดตั้ง “รัฐบาลงูเห่า” โดยดึงมือ 30 ชีวิตใน ปชป. พันธมิตร กปปส.พร้อมจะ “พลิกขั้ว” การเมืองอีกครั้ง

“ไม่ควรถามว่าเป็นจุดยืนของพรรคหรือจุดยืนส่วนตัว ผมพูดในฐานะหัวหน้าพรรคที่ต้องยึดถืออุดมการณ์ของพรรค ที่บัญญัติไว้เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ใครไม่รักษาอุดมการณ์พรรคก็ขัดข้อบังคับพรรคอยู่แล้ว”

“อภิสิทธิ์” ตอกย้ำทฤษฎี “สามก๊ก”-3 ทางเลือก โดยมีทฤษฎี “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต” เป็นทางหลักให้ “พลังเงียบ” ไม่ต้องถูกบีบให้เลือกข้างประชาธิปไตย-เผด็จการ หรือเอา-ไม่เอาทักษิณ หรือเอา-ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์


“การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมี 3 ทางเลือก มันไม่มีการบังคับให้เลือกข้างบนตัวบุคคลอีกต่อไป พรรคไม่ไปบังคับให้ต้องเลือกข้าง พล.อ.ประยุทธ์ หรือคุณทักษิณ”

การประกาศไม่จับมือกับพรรคที่มีมลทินเรื่องการทุจริต-อยู่ใต้ร่มเงาของทักษิณ และไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่สืบทอดอำนาจ-มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ทำให้ ปชป.-อภิสิทธิ์เห็น “คะแนนบริสุทธิ์” ของคนที่ตัดสินใจเลือก ปชป. ขณะเดียวกัน อาจเสีย “ส่วนแบ่ง-คะแนนทับซ้อน” ของคนที่เป็นฐานเสียง ปชป. แต่เป็นสาวกของ กปปส.-แฟนคลับของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เห็น ปชป.เป็น “พรรคเครือข่าย” ในการสกัดกั้นระบอบทักษิณ

“ถ้าสิ่งที่ผมประกาศทำให้เสียคะแนน ผมก็ยินดี” อภิสิทธิ์ยอมรับผลการไม่เกรงใจใคร

เมื่อโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ไม่ได้ตัดสินชี้ขาดกันด้วยนโยบาย แต่กลับเป็นวาทกรรม “ประชาธิปไตย” กับ “สืบทอดอำนาจ” ยิ่งถูกพันรัดไว้ที่ตัวบุคคล “ทักษิณ” กับ “พล.อ.ประยุทธ์” จนแรงไม่หยุด

ทำให้กระแส “ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต” ของ ปชป.ที่มี “อภิสิทธิ์” เป็นสัญลักษณ์ถูกบดบัง-สุ่มเสี่ยงที่จะเป็น “พรรคต่ำร้อย” อภิสิทธิ์จึงต้องออกแรงดิ้นโค้งสุดท้าย

“ปัญหาที่ผมพูดมาตลอดในการร่วมงานกับ พท. คือ ตราบเท่าที่ พท.ไม่สามารถออกมาจากการครอบงำของคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ขัดกับผลประโยชน์ของประเทศ ปชป.ไม่สามารถร่วมงานด้วยได้ ถึงนาทีนี้ยังไม่เห็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลง”

“ถ้าผมเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล พปชร.ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้เป็น ส.ส. นายกฯก็ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์”

“ในวันที่ พปชร.ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์แล้วเขาเป็นอย่างไร ใครเป็น ส.ส. ใครเป็นอะไร เพราะผู้บริหาร (อดีต 4 รัฐมนตรี) ไม่มีใครเป็น ส.ส.เลย ถ้าพยายามสืบทอดอำนาจผมก็จะไม่ให้มาร่วม”

“ปชป.จะชวน พปชร.มาร่วมก็ต่อเมื่อไม่มีการสืบทอดอำนาจ” หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ปชป.จะร่วมกับ พปชร.ได้บน “เงื่อนไขเดียว” คือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องไม่ใช่นายกฯ

ก่อน “อภิสิทธิ์” จะตัดความสัมพันธ์กับ “พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมกับยกเหตุผลว่า เงื่อนไขความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง คือ การสืบทอดอำนาจโดยมี พล.อ.ประยุทธ์เป็นศูนย์กลาง

“การประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่มีปัญหาส่วนตัวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างจะผูกพันกันด้วยซ้ำ เพราะเคยทำงานมาด้วยกันในช่วงที่ยากลำบาก และขอบคุณท่านเสมอในงานที่ท่านช่วยทำ แก้ปัญหาในช่วงที่ผมเป็นนายกฯ”

“5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าหลายเรื่องจะไม่เห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เชื่อว่าประชาชนจำนวนมากจะขอบคุณที่ท่านพยายามทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย”

“แต่วันนี้ เมื่อคิดถึงความขัดแย้ง ความวุ่นวาย การตัดสินใจของผมต้องอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ประเทศในอนาคต และในระยะยาว ไม่สามารถเอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องได้”


ยังไงลุงตู่ก็เข้าวิน


ชัดถ้อยชัดคำสำหรับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งโพสต์คลิปวีดิโอลงบนเฟซบุ๊ค "ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจ เท่ากับสร้างความขัดแย้ง"

แถมยังขนกรรมการบริหารพรรคมาแถลงข่าวยืนยันอีกว่า ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ถามว่าคำประกาศของ ปชป. ที่ไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง จะส่งผลให้เกิดการพลิกผันถึงขนาดดับฝันพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ บอกได้เลยว่าไม่ถึงขนาดนั้น แม้ว่าจะทำให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งยากขึ้นบ้าง เพราะขาดเสียงจากพรรคประชาธิปัตย์ โหวตสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา

แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ออกแบบไว้แล้วโดยเฉพาะเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ คือ

1.ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีสิทธิลงมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ไม่เคยมีที่ให้ ส.ว. มาร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วย และวุฒิสมาชิกมีจำนวน 250 คน ซึ่งมาจากการคัดเลือกของ คสช. ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงมีเสียงสนับสนุนอยู่ในมือเห็นๆอยู่แล้ว 250 เสียง และ 2. บุคคลที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้เสียงสนับสนุนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในบทเฉพาะกาล รัฐสภาประกอบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน รวม 750 คน

ทำให้บุคคลที่จะได้เป็นนายกฯต้องได้เสียงสนับสนุนจากรัฐสภา 376 เสียงขึ้นไป ในส่วนพล.อ.ประยุทธ์ ก็ไปหาคะแนนเสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนราษฎรอีก 126 เสียง ก็จะได้ 376 เสียง และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ในบัญชีชื่อนายกฯ ตามโพลล์ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็น่าจะได้ประมาณ 100 ที่นั่งก็หาเสียงจากพรรคการเมืองอื่นอีกในสภาผู้แทนฯ ประมาณ 26 เสียง มาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้เป็นนายกฯแล้ว

ในขณะที่พรรคการเมืองอื่น ต้องไปหาคะแนนเสียงในสภาผู้แทนฯถึง 376 เสียง (เพราะไม่มีเสียง ส.ว. 250 เสียง คอยสนับสนุน) บุคคลที่พรรคการเมืองนั้นสนับสนุนจึงจะได้เป็นนายกฯ ซึ่งไม่มีทางหาได้อยู่แล้ว

แต่เมื่อพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถจับมือกับฝั่งพรรคเพื่อไทย และพรรคเครือข่ายได้ ฉะนั้นก็จะเหลือ “ประชาธิปัตย์” เพียงพรรคเดียวเท่านั้น (ไม่นับภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา ที่พร้อมร่วมทุกขั้วอยู่แล้ว) นี่คือความสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะกลายเป็น “ตัวแปรที่แท้จริง”หลังการเลือกตั้ง ซึ่งตามโพลล์คาดว่าจะได้ ส.ส.เขตและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์รวมกันประมาณ 100-120 ที่นั่ง แต่หากใครจะตั้งรัฐบาลจะขาดปชป.ไม่ได้เลย

ฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะมีอำนาจต่อรองสูงสุด โดยเฉพาะในฝั่งพลังประชารัฐ เพราะไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปจับมือกับเพื่อไทยได้อยู่แล้ว..ด้วยเหตุนี้ เมื่อพรรคพลังประชารัฐจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลเพื่อสกัดพรรคเพื่อไทย ก็ต้องจับมือกับพรรคเล็กอื่นทุกพรรค รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ด้วย..และนี่จึงเป็นโอกาสให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถต่อรองให้ “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯแทนพล.อ.ประยุทธ์ได้

หากพรรคพลังประชารัฐไม่ยอม การเมืองก็มีโอกาสติดล็อก ไม่มีฝ่ายใดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้เลยทั้งสองฝั่ง และนี่คือแผนลึกของพรรคประชาธิปัตย์กับยุทธศาสตร์พรรคอันดับ 2 ที่ไม่ใช่แค่ร่วมรัฐบาล แต่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯไปพร้อมกันเลย

แต่ยังมีเกมดึงพรรคการเมืองต่างๆ มาสนับสนุนในภายหลัง “งูเห่า” ที่พรรคพลังประชารัฐพร้อมที่จะอ้าแขนรับทุกกลุ่มการเมือง