PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

22นายพลโหวตคว่ำ ไม่รับ"รธน."-"อจ.ปื๊ด"เหน็บสายทหาร บางคนเป็นพล.อ.หมาดๆต้องอยู่ยาว

วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 09:06:28 น

@ เปิดชื่อ22นายพลโหวตคว่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับนายทหารระดับนายพลลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จาก สปช.ลงมติไม่รับร่างรธน. 135 คน มีทั้งสิ้น 22 คน ได้แก่ 1.พล.อ.อ.ขวัญชัย เอี่ยมรักษา สปช.จ.อุดรธานี 2.พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ด้านสื่อสารมวลชน 3.พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ ด้านกฎหมายละกระบวนการยุติธรรม 4.พล.อ.จิรพันธ์ เกษมศานติ์สุข สปช.จ.กระบี่ 5.พล.อ.อ.เจษฎา วิจารณ์ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 6.พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 7.พล.อ.ชูศิลป์ คุณาไทย ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 8.พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ด้านการเมือง 9.พล.ท.เดชา ปุญญบาล ด้านสังคม 10.พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ด้านการเมือง 11.พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์ ด้านพลังงาน 12.พล.อ.พอพล มณีรินทร์ ด้านการศึกษา 13.พล.อ.ภูดิศ ทัตติยโชติ ด้านอื่นๆ 14.พล.อ.อ.มนัส รูปขจร ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 15.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ด้านอื่นๆ 16.พล.อ.วรวิทย์ พรรณสมัย สปช.จ.นครนายก 17.พล.อ.วัฒนา สรรพานิช ด้านการบริหารราชการเเผ่นดิน 18.พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ด้านการเมือง 19.พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ ด้านการศึกษา 20.พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก ด้านอื่นๆ 21.พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ ด้านการเมือง 22.พล.ร.อ.อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ ด้านอื่นๆ 

ขณะที่นายตำรวจระดับนายพล ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.พล.ต.ต.ขจร สัยวัตร์ สปช.จ.บึงกาฬ 2.พล.ต.ต.ปรีชา สมุทระเปารยะ สปช.จ.สมุทรปราการ 3.พล.ต.ท. อาจิณ โชติวงศ์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

@ 5นายพลรับ-งดออกเสียง

ขณะที่นายทหารระดับนายพลลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ จากจำนวน สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 105 คน มีทั้งสิ้น3 คน ได้แก่ 1.พล.ท.นคร สุขประเสริฐ สปช.จ.ร้อยเอ็ด และ กมธ.ยกร่างฯ 2.พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช.ด้านพลังงาน และงดออกเสียง 2 คน ได้แก่ 1.พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ สปช.ด้านอื่นๆ และ กมธ.ยกร่างฯ 2.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ด้านอื่นๆ

@ อ.ปื๊ดขอบคุณคนรับร่างรธน.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ แถลงหลังที่ประชุม สปช.ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้ถามว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเป็นอย่างไร ตอบไปว่าโล่งใจ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอีกต่อไป ไม่ต้องไปอธิบายสาระสำคัญในการทำประชามติ ไม่ต้องไปทำกฎหมายลูก ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง

"ต่อไปนี้ความรับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คนที่ คสช.จะเป็นผู้แต่งตั้ง" นายบวรศักดิ์กล่าว และว่า ต้องขอบคุณทุกคนที่ติดตามการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯมาตลอด และขอขอบคุณ สปช.ที่ลงคะแนนเสียงเห็นชอบทั้ง 105 คน โดยเฉพาะต้องขอบคุณ พล.ร.อ.พะจุณณ์ พล.อ.เลิศรัตน์ และ พล.ท.นคร ที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งหมดนี้ได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความตั้งใจ ด้วยความจริงใจ โดยเอาปัญหาของบ้านเมือง ประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นตัวตั้งตามคำปฏิญาณต่อพระแก้วมรกตและพระสยามเทวาธิราช ไม่ได้เอาปัญหาของตัวเองเป็นตัวตั้ง เมื่อเป็นแบบนี้ถือว่าทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ที่สุด ต่อไปพวกตนจะไปทำหน้าที่เป็นประชาชนคนไทยธรรมดาคนหนึ่ง และคงได้เจอกันอีกในสถานที่ต่างๆ แต่ไม่ใช่ในฐานะ กมธ.ยกร่างฯ

@ ลั่นไม่กลับมายกร่างรธน.อีก


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากถูกทาบทามให้มาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ยังยืนยันเหมือนเดิมว่าจะไม่มีการร่างรัฐธรรมนูญอีกต่อไป เพราะเสียดายสิ่งที่เขียนเอาไว้ให้พลเมืองเป็นใหญ่ ให้ความสำคัญกับชุมชน ผู้หญิง คนยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ก็หมดไป เสียดายเรื่องการปฏิรูปที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะถึงประชาชนโดยตรง

"แต่น่าเห็นใจเพราะประชาชนเป็นคนไม่มีเสียง เสียงที่อยู่ในสื่อมวลชนนั้นเป็นเสียงที่ดังของนักการเมืองทั้งสิ้น แต่เข้าใจว่าพวกเราในฐานะประชาชนก็ต้องพยายามติดตามดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขาคิดถึงประชาชนขนาดไหน ประชาชนจะเป็นใหญ่และมีความสำคัญหรือไม่ และการปฏิรูปจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ต้องจับตามอง" นายบวรศักดิ์กล่าว

@ เข้าใจสปช.สายทหารที่โหวตคว่ำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผลการลงมติที่ออกมาไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเกิดจากการล็อบบี้หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ไม่ขอพูดเพราะผ่านไปแล้ว เมื่อถามว่า เหตุใดถึงขอบคุณนายทหารทั้ง 3 คน ที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเปรียบเทียบกับนายทหารที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า "ต้องขอบคุณทั้ง 3 ท่าน ส่วนคนอื่นท่านต้องฟังผู้ใหญ่ของท่าน เป็นธรรมดาและธรรมชาติ เราเข้าใจกัน เพราะขนาด กมธ.ยกร่างฯ 1 คน ซึ่งเป็น พล.อ.หมาดๆ ยังงดออกเสียงเลย เพราะต้องอยู่ในราชการต่อไป ก็ต้องเป็นอย่างนั้น ซึ่งเข้าใจและเห็นใจ"

เมื่อถามว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านเหมือนกับ กมธ.ยกร่างฯถูกหลอกเป็นเครื่องมือหรือตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์การเมืองหรือไม่ นายบวรศักดิ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าที่นายบวรศักดิ์จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นำพระสมเด็จหลวงปู่ดี ธัมมธิโร วัดเทพากร บางพลัด กรุงเทพฯ มาแจกให้กับสื่อมวลชน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ สื่อมวลชนสอบถามว่าเป็นพระรุ่นอะไร นายบวรศักดิ์ตอบกลับแบบติดตลกว่า "รุ่นไม่รับร่าง" 

จี้"ตร."เอาผิด"บิ๊กตู่-คสช." ผิดม.112ถอดยศ"ทักษิณ"





จี้"ตร."เอาผิด"บิ๊กตู่-คสช." ผิดม.112ถอดยศ"ทักษิณ"
Cr:เดลินิวส์
เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายธนเดช พ่วงพูล ทนายความและนักกฎหมายจากบริษัท ไลท์เฮ้าส์ลอว์เยอร์เซอร์วิส จำกัด เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับพวก กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมี พ.ต.อ.ยุทธพล กองแก้ว รองผู้บังคับการกองกฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี ในฐานะหัวหน้าเวรอำนวยการตร. เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ
โดย นายธนเดช กล่าวว่า จากที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องการดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.โททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจาก ยศตำรวจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) นั้น ในฐานะที่ตนเป็นประชาชน และนักกฎหมาย มองว่าเมื่ออ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ก็ควรทำให้ครบขั้นตอนตามมาตรา 28 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ที่ระบุไว้ว่า การถอดยศหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ แต่ คสช.กลับให้อำนาจมาตรา 44 ซึ่งไม่มีอำนาจดังกล่าว
นายธนเดช กล่าวต่อไปว่า ตามมาตรา 28 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ ระบุไว้ชัดว่า การถอดยศต้องประกาศพระบรมราชโองการ แต่ ม.44 ที่ คสช.เอามาใช้นั้นจริงๆไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น ในฐานะนักกฎหมาย และประชาชน ตนยอมรับการถอดยศนี้ไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.ไม่มีอำนาจ จึงมายื่นหนังสือ ร้องทุกข์กล่าวโทษถึง พล.ต.อ.สมยศ และพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน หากพบว่าการกระทำนี้เป็นความผิด ต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ต้องพิจารณาสอบสวนความผิดว่าเข้าข่ายละเมิดพระราชอำนาจหรือไม่ และ ยืนยันว่าการออกมาในครั้งนี้ไม่มีใบสั่งหรือรับการจ้างวาน ว่าจ้าง หรือไหว้วานจากใคร ตนเคลื่อนไหวเรื่องกฎหมายมาหลายครั้ง ออกมาในนามตัวเองและในนามกฎหมายพิทักษ์ผลประโยชน์ของรัฐ ไม่มีการเคลื่อนไหวให้ใครทั้งสิ้น และไม่เคยติดต่อกับ นายทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างใด.“

เผยแพร่สถิติสถานการณ์ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย (Refugees/Migrants) เข้ายุโรป



UNHCR เผยแพร่สถิติสถานการณ์ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย (Refugees/Migrants) เข้ายุโรป
นับเฉพาะปี 2558
รอดชีวิต 366,402 คน และมี 2,800 คนตายหรือสูญหายกลางทะเล
ปีที่แล้วทั้งปี มีผู้อพยพเกือบ 2 แสน 2 หมื่นคน 
แต่ปีนี้ยังไม่ครบปี ทำลายตัวเลขเดิมไปแล้ว
ร้อยละ 51 มาจากซีเรีย / ร้อยละ 14 มาจากอัฟกานิสถาน
นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบแอฟริกา
จุดเริ่มต้นเป็นชายฝั่ง ลิเบีย อียิปต์ และตุรกี
จุดหมายหลักที่รองรับผู้ลี้ภัย/อพยพ
มากที่สุดคือ กรีซ เกือบ 2 แสน 5 หมื่นคน
รองลงมาคือ อิตาลี เกือบ 1 แสน 2 หมื่นคน เฉพาะปีนี้เท่านั้น
ปี 2551 มีผู้อพยพ/ลี้ภัย เท่าที่ UNHCR สำรวจได้ไม่ถึง 1 แสนคน
แน่นอนว่าอาจมีตกหล่น แต่เฉพาะปีนี้เพิ่มขึ้นหลายเท่า
และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะตั้งแต่ปี 56 - 58
กระโดดจากไม่ถึง 6 หมื่นคน เป็น 2 แสนกว่าคน
ผมไม่แม่นข้อมูลสงครามไอเอส แต่ถ้าจำไม่ผิด 56 - 57 เป็นช่วงเวลาที่ไอเอสโหมยึดดึนแดนไม่น้อย ส่วน 57 - 58 ก็มีหลายฝ่ายจับมือตอบโต้ไอเอสด้วย มีบ้านเรือนของชาวซีเรียเป็นสมรภูมิ
ทุกเดือนของปีนี้ มีจำนวนผู้อพยพ/ลี้ภัยสูงกว่าปีที่แล้วทั้งสิ้น
ยกเว้นปีนี้ที่การสำรวจยังไม่เสร็จสิ้น (ยังไม่ครบเดือน)
ไฟสงคราม / ความอดอยากแร้นแค้น / ความต้องการชีวิตที่ดี อันหลังนี้ไม่ต่างจากเรา เราแค่เกิดมาในแผ่นดินที่ไม่มีใครขับรถถัง ถือจรวดมาไล่ยิงกันกลางเมือง
DATA.UNHCR.ORG|โดย UNITED NATIONS HIGH COMMISSIONER FOR REFUGEES (UNHCR)

ความเก่งภายใต้เผด็จการ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์






นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่สร้างทั้งความหวังและความผิดหวังให้แก่ผู้คน แต่นั่นก็ยังดีกว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมนตรีชุดเก่า เพราะหลังจากเวลาผ่านไปไม่ถึงปี ก็ไม่ทำให้ใครมีความหวังเอาเสียเลย

ความหวังที่เกิดใหม่นี้จะเป็นความหวังผิดๆ หรือไม่ ยังไม่ทราบได้ แต่ในระบบเศรษฐกิจใดก็ตาม จะดำเนินต่อไปได้ ก็ต้องทำให้ใครสักกลุ่มหนึ่ง (ยิ่งมากกลุ่มยิ่งดี) มีความหวัง หากทำไม่ได้แม้แต่สักกลุ่มเดียว ก็ไม่มีทางฟื้นฟูเศรษฐกิจตกต่ำได้แน่

อันที่จริงทั้งรัฐมนตรีชุดใหม่และชุดเก่าคิดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียวกัน คืออัดฉีดเงินลงไปในตลาด แต่ชุดเก่าอยากทำตามตำรา (โบราณ) คืออัดผ่านระบบให้เงินมันซึมลงไปข้างล่าง ในขณะที่ชุดใหม่เห็นว่าต้องอัดลงไปที่รากเลยทีเดียว จึงจะเห็นผลหรืออย่างน้อยก็เห็นผลได้เร็ว

แต่การอัดลงไปที่รากโดยตรงนี้ไม่ง่ายสำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่ระบบการเมือง, บริหาร และเศรษฐกิจไทยมีลักษณะ "รวมศูนย์" มานาน จึงไม่มีเครื่องมือจะอัดให้ถึงรากอย่างได้ผล วิธีการนี้ซึ่งคุณทักษิณ ชินวัตร ใช้ในสมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ จะว่าได้ผลก็ได้ เพราะทำให้เศรษฐกิจไทยขยับเนื้อขยับตัวได้รวดเร็วขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่ารั่วไหลไม่น้อยเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะโกงนะครับ แต่เพราะไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพรองรับ จึงป้องกันการรั่วไหลได้ยาก

ผมเชื่อว่าปัญหาเดียวกันนี้จะเกิดอีกในครั้งนี้ เพราะเราก็ยังไม่มีเครื่องมือที่ดีอยู่นั่นเอง และที่ร้ายไปกว่าเครื่องมือก็คือ ผมไม่แน่ใจว่าเราได้สั่งสมรวบรวมประสบการณ์ที่ผ่านมาสมัยทักษิณ เพื่อเป็นบทเรียนในการสร้างเครื่องมือที่ดีขึ้นหรือไม่ ออกจะสงสัยว่าไม่เสียมากกว่า เพราะเรามัวแต่ไปใช้เวลาในการปรักปรำกันทางการเมือง เสียมากกว่าเรียนรู้

แต่เพื่อหวังผลระยะสั้น ผมคิดว่าวิธีนี้จะทำให้ได้ผลมากกว่าวิธีของรัฐมนตรีชุดเก่า แม้ต้องยอมรั่วไหลไปบ้างก็ตาม



และเพราะหวังผลระยะสั้นเป็นหลักเช่นนี้ จึงทำให้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่เหมือนของคุณทักษิณเสียทีเดียว เพราะคุณทักษิณอ้างเสมอด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือจริงไม่ทราบได้ ว่านโยบายเศรษฐกิจของตนนั้น มุ่งจะปรับประเทศไทยให้เข้าสู่โลกยุคใหม่ หรือโลกาภิวัตน์ ในด้านหนึ่งก็สร้างเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ อีกด้านหนึ่งก็ส่งเสริมให้ฐานรากมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และภาคเมือง หรือนโยบาย "ทางคู่" ทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ในท่ามกลางตัวเลขความเหลื่อมล้ำที่พูดกันในสังคมไทยปัจจุบัน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่มีอะไรจะสนองตอบกับความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าคุณทักษิณเองก็ไม่ค่อยพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำนัก แต่นโยบายของคุณทักษิณจะสัมฤทธิผลในบั้นปลายได้ ก็ต้องทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ทำขนมโอท็อปได้กำไรนั้นดีแล้ว แต่ลูกต้องได้เรียนหนังสือสูงขึ้นเพื่อเป็นแรงงานในวิสาหกิจที่ต้องการทักษะแรงงานสูงขึ้นด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมนตรีชุดใหม่ ไม่ได้คิดถึงอนาคตในระยะยาว

เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก ในสภาพการเมืองและสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (พูดง่ายๆ คือภายใต้รัฐประหารที่มีคนครึ่งประเทศไม่ยอมรับ) จะคิดอะไรยาวๆ ได้หรือ ไม่ว่าเรื่องระเบิดของผู้ก่อการร้าย, รัฐธรรมนูญใหม่ หรือเศรษฐกิจตกต่ำ ก็แก้กันไปเป็นเรื่องๆ โดยไม่มีแผนใหญ่คอยกำกับการแก้ไขเหมือนกันทั้งนั้น ปัญหาของรัฐประหารในประเทศไทยปัจจุบัน ก็อย่างนี้แหละครับ คือทำให้เราคิดอะไรยาวไม่ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับเมืองไทยอธิบายว่า คนจนในเมืองไทยมีความฝัน (aspiration) ต่ำ ซึ่งก็ไม่ต่างจากคนจนทั่วโลก เพราะคนจนจะใช้วัฒนธรรมส่วนบุคคลหรือวัฒนธรรมของสังคมในการทำให้ไม่ต้องฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น บุญทำกรรมแต่ง, แข่งเรือแข่งพายกับแข่งวาสนาแข่งบารมี, และนกน้อยทำรังแต่พอตัว (Laura Camfield, et.al., Cultures of Aspiration and Poverty, Norwich, U. of East Anglia, 2012)

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้จึงคล้ายกับความฝันของคนจนในงานวิจัยชิ้นนั้น คือคิดสั้นๆ เพียงแค่อาหารมื้อหน้า อันนี้ไม่ได้ตำหนินะครับ เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าภายใต้สภาวะทางการเมืองและสังคมอย่างนี้ ไม่แต่นโยบายเศรษฐกิจจะไม่มีอนาคตเท่านั้น อะไรต่อมิอะไรก็ดูไม่มีอนาคตไปด้วย

แม้ว่านโยบายอัดฉีดเงินไปที่รากหญ้าโดยตรงน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ดีกว่านโยบายเก่า แต่ในทางปฏิบัติก็อาจมีปัญหาที่ทำให้ไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ปัญหาบางอย่างก็มีมาตั้งแต่เมื่อคุณทักษิณเริ่มโครงการแล้ว



นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์มักแสดงความห่วงใยว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านอาจทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่ความจริงแล้วมีข้อกำหนดไว้แล้วว่า การกู้ยืมจะนำไปใช้เพื่อใช้หนี้เก่าไม่ได้ (refinance) แม้กระนั้นหนี้ครัวเรือนก็อาจสูงขึ้นได้จริง เพียงแต่ไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้น เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การบริหารจัดการกองทุนในแต่ละชุมชนมากกว่า

คุณทักษิณคิดถูกที่ไม่ปล่อยให้กองทุนหมู่บ้านกระจายเงินโดยผ่านระบบราชการ เพราะโอกาสที่เงินจะถึงมือชาวบ้านที่มีศักยภาพจะใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีน้อย และก็คิดถูกที่ไม่ให้ผ่านมือเอ็นจีโอ เพราะเงินจะแทบไม่ไหลเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่เลย แต่ก็ไม่กีดกันเครือข่ายของเอ็นจีโอในชุมชนเข้าถึงเงินกู้แหล่งนี้ คุณทักษิณอาศัยเสียงของชาวบ้านในการเลือกคณะกรรมการเอง และให้คณะกรรมการนั้นบริหารจัดการกองทุน โดยชาวบ้านคอยตรวจสอบ

ก็จริงหรอกครับที่เป็นผลประโยชน์ของชาวบ้านเอง ฉะนั้นหากมีการบริหารจัดการที่ตัวเสียประโยชน์ ชาวบ้านย่อมโวยวายเอง แต่นี่จริงโดยหลักการเท่านั้น ความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่บ้านมีความซับซ้อนกว่านั้น และไม่ได้มีความเสมอภาคกันอย่างเสมอหน้าเหมือนชุมชนในอุดมคติ ชาวบ้านก็อยากโวยวายเหมือนกัน แต่คิดใคร่ครวญแล้วไม่โวยดีกว่า เนื่องจากยังต้องอยู่ในชุมชนต่อไป

มันก็เหมือนประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแหละครับ สถาบันประชาธิปไตยต่างๆ แปรเปลี่ยนความขัดแย้งจากความสัมพันธ์ส่วนตัวให้เป็นความขัดแย้งเชิงระบบ ไม่มีใครได้หน้า และไม่มีใครเสียหน้า ไม่จำเป็นต้องหัวฟัดหัวเหวี่ยงหรือใช้กิริยาก้าวร้าวอย่างผู้นำ คสช.ในการจัดการกับความขัดแย้ง ดังนั้น จึงต้องทำให้การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านมีลักษณะเป็นสถาบันมากขึ้น เพื่อทำให้ความขัดแย้ง หากจะมีขึ้นก็กระทบความสัมพันธ์ส่วนบุคคลน้อย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สมัยคุณทักษิณสืบมาจนปัจจุบัน การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านก็ยังเหมือนเดิม

ในบางชุมชน ประสบความสำเร็จมากขนาดที่ปัจจุบันมีกองทุนหมุนเวียนกว่า 2 ล้านบาท และก็มีบางชุมชน ที่ล้มเหลวขนาดที่เงินล้านแรกอันตรธานไปหมดแล้ว ไม่เหลือกลิ่นให้ดมได้อีกเลย

ฉะนั้น หากคณะกรรมการกองทุนของชุมชนเล่นพรรคเล่นพวก เงินก็ไม่ได้ถูกใช้ไปในทางที่ไม่ก่อให้เกิดวิสาหกิจใดๆ อาจกระจายไปยังเครือญาติเพื่อนฝูง ซึ่งต้องการเงินเอาไปออกดอกแก่คนจนเท่านั้น หรือไม่ดูว่าโครงการที่ผู้กู้ขอนั้น มีทางเป็นไปได้ทางธุรกิจมากน้อยเพียงไร หรือคิดทำจริงแค่ไหน หากเป็นเช่นนี้ก็ทำให้เพิ่มหนี้ครัวเรือนซึ่งชาวบ้านมีสูงอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก

ไม่ว่าโครงการจะดีสักเพียงใด แต่ภายใต้ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ย่อมหวังผลได้ในระยะสั้น แก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไปมากกว่าการปรับโครงสร้างขนาดกว้างใหญ่ อย่างที่เรียกกันว่าปฏิรูป หลายเดือนมาแล้ว ก่อนที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ได้บรรยายในที่สาธารณะถึงวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ แล้วเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดทิฐิมานะลง หันหน้ามาช่วยกันพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตดีกว่า

ฟังดูดีเหมือนปู่สอนหลาน ที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้หลานทั้งหมดลดทิฐิลงได้เท่าๆ กัน แต่ในสังคมขนาดใหญ่เช่นสังคมไทย คุณปู่จะเกลี้ยกล่อมให้หลานเป็นล้านๆ คนลดทิฐิลงให้เหลือเท่าๆ กันได้อย่างไร เพราะคนที่ไม่ยอมลดย่อมได้เปรียบคนอื่น อาจใช้ทิฐินั้นนำประเทศไปสู่หายนะก็ได้ อย่างที่คุณสมคิดก็อาจสังเกตเห็นได้จากคนใกล้ตัว



การปฏิรูปจึงทำภายใต้ระบอบเผด็จการได้ยากมาก ยกเว้นแต่ผู้เผด็จการเป็น "คนนอก" ของระบอบจริงๆ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ของโซเวียต, จีน และเวียดนาม หรือพรรคนาซีของเยอรมัน (ปฏิรูปสำเร็จได้ แต่จะดีแก่ประเทศหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) แต่ที่ "คนนอก" จะลุกขึ้นมาเป็นผู้เผด็จการก็มักไม่เกิดขึ้นได้ในกรณีทั่วไป ผู้เผด็จการส่วนใหญ่จึงมักเป็นหนึ่งในบรรดาชนชั้นนำของสังคมซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบอยู่แล้ว และจะหวังว่าอำนาจเผด็จการของคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบ จะปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ, เพื่อทำให้เกิดความสงบที่แท้จริงไม่ใช่ความราบคาบ, เพื่อให้หลุดจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง, เพื่อเปิดการศึกษาที่มีคุณภาพให้ทุกคนเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน ฯลฯ

คนส่วนน้อยที่ได้เปรียบในทุกสังคม จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องสร้างกลไกทางวัฒนธรรม, การศึกษา, อุดมการณ์, เศรษฐกิจ และการเมืองที่ค้ำจุนความได้เปรียบของตนอย่างมั่นคงแน่นหนา (ยิ่งเสียกว่ารัฐธรรมนูญกะโล้โท้ทั้งหลายจะสามารถร่างขึ้นมาได้) เราจะอาศัยความชอบธรรมอะไรเพื่อลดการเอาเปรียบสังคมของคนส่วนน้อยเหล่านี้ได้ นอกจากความชอบธรรมจากระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น การปฏิรูปซึ่งจะมีผลดีแก่คนส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นได้เฉพาะภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะเป็นคนเก่งแค่ไหน ภายใต้ระบอบเผด็จการ คุณแก้ได้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น

บิ๊กตู่ เผย ขาเจ็บ เพราะโง่ ....???

Wassana Nanuam 



บิ๊กตู่ เผย ขาเจ็บ เพราะโง่ ....???
นายกฯ ขาเจ็บ เดินกะเผลก เปิดงาน สินค้าGI ตลาดนายกฯ เผย ขาเจ็บ เพราะเตะคนมา..พูดไปพูดมา บอก"เตะตัวเอง เพราะผมมันโง่ เตะตัวเอง โง่ที่มายืนตรงนี้"....ผมโง่มั้ย ที่ทำงานให้ทุกคน ให้แผ่นดิน อยู่ทุกวัน ผมอยู่ต่อแล้ว ผมอยู่เฉยๆเหรอ ผมได้ผลประโยชน์เหรอ ผมอยากสืบทอดอำนาจหรือ
นายกรัฐมนตรีเปิดเผยถึงอาการบาดเจ็บที่เข่า โดยกระเซ้าว่า "ไปเตะคนมา เตะตัวเองมา โง่ไง เตะขาเล่น โง่ไงเข้ามายืนทำไม เข้ามาทำทำไมโง่หรือเปล่า" เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่า นายกฯ ไม่โง่หรอก พล.อ.ประยุทธ์ก็มีท่าทีอ่อนลง อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงอาการเจ็บเข่าดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "เมื่อวานไปเตะขั้นบันไดมานิดหน่อย เป็นเพราะรีบเดิน ก็รีบเดินมาทำงานนี่แหละ ทำไมจะต้องถามกันทุกเรื่องหรือ" เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากนี้ไปนายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติงานในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ บ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า "ทำไม ผมทำงานทุกวัน อยู่บ้านเสาร์ อาทิตย์ผมก็ทำงาน แม้แต่เวลานอนก็ทำ ทำไมจะต้องผมมานั่งทำงานเหมือนนักการเมืองเขาทำหรือ มันเคยมาทำงานเช้าแบบผมทำหรือเปล่า อยู่ทำเนียบทั้งวันหรือเปล่า ไปเยี่ยมประชาชนไปเยี่ยมกันที่ไหน ไปเยี่ยมกันบ้างหรือเปล่า ยืนยันว่าที่ผมพูดวันนี้ไม่ได้อารมณ์เสีย อารมณ์ดี ถ้าอารมณ์เสียคงไม่พูด แต่ถ้าอารมณ์ดีก็จะพูด สื่ออยากจะถามฉัน ฉันก็อยากอธิบาย ฉันเตรียมคำตอบไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งที่สื่ออยากรู้หรือประชาชนอยากรู้ ฉันก็ต้องเตรียมข้อมูลไว้ตอบคน ฉันจะไปกลัวอะไรสื่อถามมาร้อยเรื่อง ฉันก็ตอบได้หมด เพราะฉันมีคำตอบของฉัน"
เมื่อถามว่า นายกฯ ยังสู้อยู่ใช่ไหม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ฉันไม่ได้สู้นะ แต่ฉันสู้กับความเลวไม่ได้สู้กับใคร ส่วนความเลวยังมีอยู่เยอะหรือไม่ สื่อก็ต้องไปหาเอง"

ณรงค์ โชควัฒนา:อำนาจ


ปุจฉา
มีนักวิชาการและครูบาอาจารย์กลุ่มหนึ่งให้ความรู้กับประชาชนว่า การรวมอำนาจ คือ การปกครองแบบเผด็จการ ถ้าเป็นปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องกระจายอำนาจ และยังบอกด้วยว่า การรวมอำนาจไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งจะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง ถ้าต้องการที่จะให้ระบบราชการไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง จะต้องให้ระบบราชการมีการกระจายอำนาจไปสู่หน่วยงานท้องถิ่นและชนบท เป็นความจริงหรือไม่ครับ?

วิสัชนา

ไม่เป็นความจริงครับ การรวมอำนาจหรือกระจายอำนาจไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ แต่คำว่า “อำนาจ” ในภาษาไทยคำเดียว ภาษาอังกฤษมี 2 คำ คำแรก คือ คำว่า “Power” คำที่สอง คือ คำว่า “Authority”

อำนาจที่มาจากคำว่า “Power” คือ อำนาจของคนที่เป็นเจ้าของ เช่น ถ้าเราเป็นเจ้าของบ้านในราคาตลาดปัจจุบัน 10 ล้านบาท ผู้มีอำนาจหรือเจ้าของบ้านหลังนั้นจะขายให้กับคนอื่นในราคาแค่ 1 ล้านบาท ก็ย่อมสามารถขายได้ไม่มีความผิด หรืออยากจะซื้อบ้านสักหลังหนึ่งที่มีมูลค่าแค่ 1 ล้านบาท ในราคา 10 ล้านบาท ถ้าคนซื้อเป็นเจ้าของเงิน 10 ล้านบาท ก็ย่อมไม่มีความผิด ถ้าเจ้าของบ้านอยากจะรื้อบ้านเก่าของตนทิ้งแล้วสร้างหลังใหม่ หรือทุบทิ้งแล้วทำเป็นสนามหญ้าสำหรับปลูกต้นไม้ก็ย่อมสามารถทำได้ไม่มีความผิด เพราะเป็นอำนาจโดยชอบธรรมของคนที่เป็นเจ้าของ

ตรงกันข้ามกับคำว่า อำนาจ ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ คำว่า “Authority” Authority เป็นอำนาจที่มาตามหน้าที่และความรับผิดชอบ โดยผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินเงินทอง มอบหมายหรือว่าจ้าง (authorized) อำนาจที่มีตามหน้าที่และต้องรับผิดชอบนี้ ถ้าไม่ทำหน้าที่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจเกินหน้าที่ก็มีความผิด เช่น ถูกว่าจ้างให้ดูแลบ้านหรือที่ดินมูลค่า 10 ล้านบาท แต่แอบเอาไปขายในราคาเพียง 1 ล้านบาท แล้วนำเงินเข้ากระเป๋าหรือเอาเงินเพียง 1 ล้านบาทที่ขายได้ส่งให้เจ้าของก็มีความผิด เพราะว่าตนเองนั้นไม่ใช่เจ้าของ ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำไปขาย ไม่มีสิทธิ์ที่จะตั้งราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริงมาก จะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นการรับสินบนจากคนที่มาซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าว หรือยักยอกเอาบ้านและที่ดินไปขาย ซึ่งมีความผิดเพราะตัวเองไม่ใช่เจ้าของเป็นแค่ลูกจ้าง

เพราะฉะนั้นอำนาจที่มาจากคำว่า “Power” ในภาษาอังกฤษจึงต้องรวมศูนย์อยู่กับเจ้าของ มอบให้กับคนที่ไม่เป็นเจ้าของไม่ได้หรือกระจายอำนาจความเป็นเจ้าของให้กับคนที่ไม่ใช่เจ้าของหลายๆคนก็ไม่ได้ อำนาจที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Power นี้ “ลอร์ด แอคตัน” นักรัฐศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวเป็นอมตะวาจาว่า “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely” แปลว่า อำนาจของเจ้าของถ้าหากอยู่ในมือของคนที่ไม่ใช่เจ้าของจะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง และอำนาจที่เรียกว่า Power นี้ ถ้าอยู่ในมือของคนที่ไม่ใช่เป็นเจ้าของมากแค่ไหน ก็จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวงมากขึ้นเท่าน้น ถ้ามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็จะเกิดการทุจริตโกงกินอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นเจ้าของบ้านเจ้าของเมืองเจ้าของประเทศต้องเก็บอำนาจที่เรียกว่า “Power” ไว้กับตัวเองเท่านั้น มอบให้กับพรรคการเมือง นักการเมือง และรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะคนเหล่านั้นเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราวของประชาชนเท่านั้นมิได้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ส่วนที่ประชาชนจะมอบให้กับพรรคการเมือง นักการเมือง และรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งคือ อำนาจที่มาจากคำว่า “Authority” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งก็คือ อำนาจตามหน้าที่และความรับผิดชอบที่ถูกมอบหมาย

นักการเมือง พรรคการเมือง และรัฐบาลที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ เราเรียกว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ไม่เรียกว่า “เจ้าอำนาจของรัฐ” เพราะไม่มีอำนาจ อำนาจทั้งหมดยังอยู่กับประชาชนอย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น พรรคการเมือง นักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง จึงมีอำนาจจำกัดตามหน้าที่และความรับผิดชอบเท่านั้น ไม่อาจใช้อำนาจเกินหน้าที่ได้มีความผิดหรือละเว้นไม่ใช้อำนาจตามหน้าที่ก็ไม่ได้ถือว่ามีความผิดเช่นกัน สำหรับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประชาชนก็ไม่เรียกว่า เจ้าอำนาจตำรวจ เพราะไม่มีอำนาจ มีแต่หน้าที่และความรับผิดชอบ ทำถูกต้อง ทำตามหน้าที่ ก็ได้รับความดีความชอบ ทำผิดทำความเสียหายให้ใครเดือดร้อนก็ต้องรับผิดถูกลงโทษตามความผิดนั้น
เพราะฉะนั้นการกระจายอำนาจ (Power) ที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งพยายามบอกคนไทยว่า เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ความจริงก็คือ เป็นการกระจายการทุจริตคอร์รัปชั่นออกไปในท้องถิ่นและชนบทอย่างกว้างขวาง ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเราอย่างใดทั้งสิ้นครับ

สื่อนอกชี้"เมืองไทยลากยาวเลือกตั้ง หลังสปช.ล้มรธน.-ชี้"จงใจให้ไม่ผ่าน-จัดฉาก"!

วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 15:05:37 น.

"สเตรท ไทมส์"รายงานว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ล้มร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอโดยรัฐบาลทหาร ด้วยคะแนนเสียง 135 ต่อ 105 ส่งผลให้เมืองไทยจะต้องอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคสช.ไปอีกอย่างน้อย 7 เดือน หรือบางทีอาจยาวนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะผ่านการลงประชามติในเดือนม.ค. ซึ่งหากผ่าน จึงจะมีการเลือกตั้งหลังจากนั้น และทำให้เมืองไทยคืนสู่รัฐบาลประชาธิปไตยในช่วงปีหน้า ทั้งนี้จากการประเมินในเชิงทฤษฎี

รายงานระบุว่า สิ่งที่มีการโต้แย้งอย่างมากก็คือการที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกล้มไป ซึ่งปรากฏว่ามีอดีตนายทหารหลายคนล่มโหวตล้มด้วย โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสปช. เผยว่า คนที่โหวตค้านเพราะกลัวว่าถ้ามีการเลือกตั้ง ก็จะทำให้เกิดสถานการณ์วุ่นวายเหมือนครั้งรัฐบาลทหารยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2006 และมีการตกลงว่า ควรจะมีการขยายเวลาให้รัฐบาล คสช.ได้บริหารประเทศ

ขณะที่นายสุนัย ผาสุข ผู้เชี่ยวชาญแห่งกลุ่ม"ฮิวแมน ไรท์ วอช"บอกว่า การล้มรธน.นี้ทำให้รัฐบาลคสช.มีข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะร่างรธน.นี้มีข้อถกเถียงโต้แย้งอย่างมากมาย และได้ทำให้กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มพากันคัดค้าน


ขณะที่นายธิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ ชี้ว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ถูก"จัดฉาก"ขึ้นเพื่อให้กองทัพสามารถควบคุมการเมืองไทยได้ต่อไป ในระยะเวลาเฉพาะกาลที่ไม่มีกำหนดโดยเหล่าผู้นำกองทัพมองว่าตัวเองเป็นเหมือน"คนทำคลอด"รัฐธรรมนูญระหวางช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้และในขณะที่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นรัฐบาลคสช.ได้ใช้เวลาอยู่ในอำนาจมานานกว่า15เดือนแล้วซึ่งยาวนานกว่าระยะเวลามาตรฐานการที่รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศในยุคปัจจุบัน

ขณะที่โจนาธาน เฮด แห่งบีบีซี วิเคราะห์ว่า อะไรเป็นสาเหตให้สภาปฏิรูปแห่งชาติที่ตั้งโดยรัฐบาลคสช.เอง ล้มรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมานี้ โดยก่อนหน้านี้ สมาชิกหลายคนได้ชี้ถึงปัจจัยหลายอย่างที่อาจจำเป็นต้องล้มร่างรัฐธรรมนูญนี้ เช่น เพราะอยากให้ทีมเศรษฐกิจได้มีเวลาทำงานและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อน

และอีกส่วนวิตกว่า การรับธรรมนูญนี้จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง ก่อนการลงประชามติที่เดิมกำหนดให้มีขึ้นในเดือนม.ค.ปี 2016 แต่เมื่อมีการล้มรธน.นี้ ทำให้รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง ต้องถูกลากยาวไปถึงช่วงก่อนปี 2017 ขณะที่หลายคนคาดว่าจะลากยาวไปนานกว่านั้นอีก

โดยบางรายถึงขนาดมองว่า ในช่วงสิ้นทศวรรษนี้ เมืองไทยจะสามารถมีการเลือกตั้งได้หรือไม่ และดูเหมือนว่า กองทัพต้องการจะให้รัฐธรรมนูญถูกล้มไม่สามารถผ่านการลงมติไปได้ เนื่องจากภายใต้เนื้อหาของร่างรธน.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ สามารถยึดอำนาจของรัฐบาลได้เมื่อใดก็ตามที่คิดว่าจำเป็น ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งบทบัญญัตินี้ถือว่าสร้างความไม่พอใจให้แก่แม้แต่บุคคลที่สนับสนุนร่างรธน.นี้ ทำให้โอกาสที่การลงประชามติจะถูกปฏิเสธนั้นมีสูงมาก

ขณะที่นายโจนาธาน ระบุว่า เมื่อร่างรธน.นี้ถูกล้มไป จึงทำให้กองทัพสามารถคงอำนาจบริหารประเทศไว้ได้ ซึ่งโดยจริงๆ แล้ว การเลือกตั้งของไทยควรมีขึ้นในช่วงปลายปี 2016 แต่นักวิเคราะห์มองว่า อาจลากยาวไปจนถึงปี 2017 

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง:ทำไม ร่างรัฐธรรมนูญจึงถูกล้ม?

คอลัมน์การเมือง
ขอคิดด้วยฅน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ทำไม ร่างรัฐธรรมนูญจึงถูกล้ม?

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีลงมติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2558 “ผลปรากฏว่า มีผู้เห็นชอบ 105 ไม่เห็นชอบ 135 งดออกเสียง 7 ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป

น่าคิดว่า ทำไมร่างรัฐธรรมนูญจึงถูกล้ม?

ผม ในฐานะ สปช.คนหนึ่ง และเคยอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก่อนหน้านี้ มองเห็นสภาพปัญหาและเหตุผลว่าทำไม สปช.ส่วนใหญ่จึงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด เป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญล้มไปในที่สุด

1) กระบวนการและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยไปเติมคนนอกอีก 10 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รูปการจึงเสมือนหนึ่งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง

การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อคณะ กมธ.ยกร่างฯเสร็จ มีการนำเข้ามาพิจารณาในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทุกมาตรา ทุกประเด็น ทุกตัวหนังสือ ได้มีการถกแถลง อธิบายความ อภิปรายโดยละเอียด ขอแก้ไขเพิ่มเติม แปรญัตติ โหวตในทุกประเด็น ทุกมาตรา ตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 309 เรียงตามมาตรา เพราะฉะนั้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทุกคนจึงได้มีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมร่าง ร่วมแก้ไข
มีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย สมาชิกมีส่วนร่วม เกิดความเข้าใจถ่องแท้ทุกมาตรา ทุกประเด็น มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อมีการลงมติสุดท้ายของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คะแนนจึงออกมาเห็นชอบเกือบ 100%

แตกต่างจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูป แต่ได้ฝากภารกิจให้ สปช.ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในขั้นตอนสุดท้าย โดยกระบวนการก่อนหน้านั้น มีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ 36 คน เอามาจาก สปช. 20 คน รวมประธาน กมธ.ยกร่างฯ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เลือกไว้แล้ว เป็น 21 คนที่มีสถานะเป็น สปช.ด้วย

ตัวประธาน กมธ.ยกร่างฯ เคยประกาศไว้ชัดเจนว่า กมธ.ยกร่างฯเป็นแม่น้ำสายที่ 5 สะท้อนว่า ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ สปช. และในขั้นตอนการทำงานจริง ก็ไปยกร่างรัฐธรรมนูญกันมา ร่างแรกเสร็จ ให้ สปช.เสนอแนะ ส่วน กมธ.ยกร่างฯ จะแก้ไขตามข้อเสนอแนะหรือไม่ ขึ้นกับ กมธ.ยกร่างฯ จากนั้น ก็ไปฟังความเห็นเสนอแนะจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ครม. คสช. สนช. ปรากฏว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างแรกของรัฐธรรมนูญ บางทีแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ สปช.ไม่ได้ขอแก้ สปช.เห็นว่าดีแล้ว ชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว แต่กลับมีการแก้ไขโดยอ้างตามความเห็นของหน่วยงานอื่น เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น เมื่อแก้ไขเป็นร่างสุดท้าย ส่งกลับมา 22 ส.ค. ซึ่งไม่มีช่องทางหรือขั้นตอนให้ปรับแก้ได้อีกแล้ว มีแต่อธิบายความว่าดีอย่างไร แก้ไม่ได้แล้ว ทั้งๆ ที่ บางเรื่อง สปช.สนับสนุนแต่ไปแก้ไขปรับเปลี่ยน บางเรื่อง สปช.เสนอให้แก้ไขก็ไม่มีการปรับเปลี่ยน รวมถึงบางเรื่องเพิ่มพรวดขึ้นมาในร่างสุดท้าย ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏมาก่อนเลย

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.นี้ จึงแตกต่างสิ้นเชิงจากปี 2550

ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระบวนการและวิธีการที่ออกแบบกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นกระบวนการที่ไม่เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

2) เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาจริงๆ
คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 259 ถึงมาตรา 263 เป็นบทบัญญัติที่โผล่พรวดขึ้นมาภายหลัง ทั้งๆ ที่ ร่างแรกไม่มี สปช.ไม่ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติม

ถือเป็นเรื่องที่ถูกจับได้ว่าไม่ตรงไปตรงมา มีเนื้อหาลับลมคมใน ซ่อนเร้น ซ่อนเงื่อน ซ่อนปม

เข้าใจเจตนาว่า ต้องการจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เพื่อดูแลสถานการณ์ความมั่นคงและแก้ไขวิกฤติ ขับเคลื่อนการปฏิรูปชาติบ้านเมืองให้มีความต่อเนื่อง ทำงานในนามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นตัวนำการขับเคลื่อน โดยมีการเติมเนื้อหาในบทเฉพาะกาล เรื่องความมั่นคงในยามวิกฤติ

สภาปฏิรูปแห่งชาติสนใจเรื่องการปฏิรูป การที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ดึงเอาผู้นำเหล่าทัพ 3 เหล่าทัพ ผบ.ตร. ผบ.สส. มาอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปฯ ทั้งๆ ที่ บุคคลเหล่านี้ไม่น่าจะเชี่ยวชาญโดดเด่นด้านการปฏิรูป แม้ระยะเริ่มแรก ให้ สนช.เลือกคน 11 คน เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจชี้ให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปเรื่องใดๆ ก็ได้ ตามแนวทางที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ต้องการ ซึ่งจะเป็นไปตามที่ สปช.เสนอไว้หรือไม่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ สปช.ที่ทำงานด้านปฏิรูปย่อมรู้สึกคลางแคลงใจ รู้สึกไม่แน่ใจ เพราะแทนที่จะเอาคนที่เชี่ยวชาญหรือมีบทบาทผลักดันการปฏิรูปมาก่อน อาทิ คุณอานันท์ ปันยารชุน นพ.ประเวศ วะสี ดร.คณิต ณ นคร เป็นต้น กลับไปเอาทหาร ซึ่งมีความไม่แน่นนอนตายตัวของบุคคล ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่กำหนดแนวการปฏิรูป

แต่เมื่อไปดูมาตรา 280 บทเฉพาะกาล จึงเห็นว่า ถ้าเกิดวิกฤตการณ์ความมั่นคง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีอำนาจเสมือนรัฏฐาธิปัตย์ คล้ายๆ มีมาตรา 44 ในปัจจุบัน สามารถออกคำสั่งและประกาศที่ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการนำเรื่องนี้ไปซุกไว้ในบทเฉพาะกาล ทำให้เห็นว่าไม่ตรงไปตรงมา

อันที่จริง ถ้ามีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ที่จะตั้งขึ้นมาเร็วๆ นี้ ก็ควรพิจารณาแก้ไขเสียให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ประชาชนในสังคมยอมรับได้อยู่แล้วภายใต้ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ว่าปัญหาเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะเดียวกัน สังคมก็อยากจะเห็นการปฏิรูปมีความต่อเนื่อง เบื่อการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ คณะกรรมการชุดใหม่ก็น่าจะพิจารณาแก้ไขให้ตรงไปตรงมา อาจแยกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปปรองดอง กับคณะกรรมการแก้วิกฤติไปคนละชุด เอาให้ชัดๆ ตัวบุคคลใน 2 คณะก็ให้ต่างกัน ไม่ต้องซ่อนที่มาและองค์ประกอบของบุคคล ก็ควรหาแนวทางแก้ไขเพื่อตอบข้อวิจารณ์ว่า เป็นองค์กรที่มีลักษณะ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่มีองค์กรข้าราชการประจำมาคอยคุม คอยค้ำรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

3) เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ดีมีเยอะ แต่ก็มีจุดอ่อนที่อันตราย

ปัญหาใหญ่ที่พบ คือ เรื่องสำคัญๆ ไม่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่อ้างว่า จะนำไปใส่ในกฎหมายลูก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ปรากฏรายละเอียดและในอนาคตสามารถจะถูกแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ

ยกตัวอย่าง

3.1 สว.สรรหา 123 คน กลายเป็นว่า คุณสมบัติ วิธีการสรรหา คณะกรรมการสรรหา ไม่มีรายละเอียดอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถูกให้ไปอยู่ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทำให้ สปช.ไม่ทราบว่าในที่สุดจะไปร่างกันอย่างไร ทั้งๆ ที่ เป็นประเด็นสำคัญ หากวิธีการสรรหามีหลักประกันที่ดี ก็อาจจะเห็นด้วย ยอมรับได้ และเมื่อให้ไปอยู่ในกฎหมายลูก หลังการเลือกตั้ง นักการเมืองก็อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลง หากเปลี่ยนวิธีการสรรหาหรือการได้มาซึ่ง สว. 123 คน ก็อาจจะกลายเป็นคนของนักการเมือง สามารถยึดครองระบบที่ออกแบบไว้จนบิดเบือนไปอีกทางหนึ่งก็เป็นได้

3.2 การฟ้องคดีของ ป.ป.ช. ในรัฐธรรมนูญเดิม ระบุว่า ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และให้ดำเนินคดีอาญา ก็ให้ส่งอัยการดำเนินคดีต่อไป แต่ถ้าอัยการยังไม่เห็นชอบ ยังไม่ฟ้อง ก็ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม หลังจากนั้น ถ้าตกลงกันไม่ได้ ป.ป.ช.สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เอง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้กลับไม่มีการระบุไว้ กลับกลายเป็นว่าให้อยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สปช.ยังไม่เห็นตัวเนื้อหาของกฎหมายประกอบว่าจะเป็นอย่างไร
3.3 การดำเนินคดีกับ ป.ป.ช. ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ระบุว่า ถ้า ป.ป.ช.ทุจริตประพฤติมิชอบเอง ให้ สว. 1 ใน 5 ของจำนวน สว.ในวุฒิสภา หรือ สส. 1 ใน 5 ของจำนวน สส.ในสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส.และสว.รวมกัน 1 ใน 5 ของทั้งสองสภาเข้าชื่อร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนมูลความผิดตรวจสอบ ป.ป.ช. และให้ส่งเรื่องให้อัยการฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ดังเช่นกรณียุคทักษิณ ป.ป.ช.ขึ้นเงินเดือนตัวเอง แล้ว ผมและคณะสว.ขณะนั้นก็ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กระทั่งศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก ป.ป.ช.ชุดที่ขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง และพ้นจากตำแหน่ง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่กลับไม่มีประเด็นนี้ โดยเขียนไว้ในมาตรา 253 เพียงแค่ว่า กรณีเอาผิดทางอาญากับป.ป.ช.ที่จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาฯนั้น ให้กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ เมื่อเป็นกฎหมายประกอบ ผู้มีอำนาจรัฐก็สามารถจะแก้ไขได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ และจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในอนาคต นักการเมืองก็จะอ้างว่าต้องตรวจสอบป.ป.ช. ซึ่งเป็นหลักการที่คนทั่วไปสนับสนุน แต่จะมีผลเป็นการกดดัน ข่มขู่ คุกคาม ป.ป.ช.อยู่ในที คล้ายๆ จะไปตีเมืองขึ้น ป.ป.ช. แทนที่จะเขียนให้ชัดเจนตั้งแต่วันนี้เลยว่าจะตรวจสอบ ป.ป.ช.อย่างไร กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเสียเลย จะได้ชัดเจน นักการเมืองแก้ยาก

3.4 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสูงมาก แต่ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง กลับให้ไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในอนาคต หากการเมืองเข้ามาคุมรัฐสภา ก็หมายความว่า กรรมการ 11 คน จะตกอยู่กับพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็จะมีอำนาจล้นพ้นในมือ ยิ่งอาจจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อีก จะเสมือนหนึ่งมีมาตรา 44 ในขณะนี้ (แต่เปลี่ยนจากพลเอกประยุทธ์ เป็นนักการเมือง)

ด้วยเหตุนี้ สปช.ส่วนหนึ่ง คงจะพิจารณาเนื้อว่าแล้วเห็นว่า น่าจะให้ไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีกว่านี้ก่อนที่จะทำประชามติ ดีกว่าจะต้องสูญเสียเงินมากกว่า 3,000 ล้านบาท ในการทำประชามติ

4) ปัจจัยการเมืองแวดล้อม นอกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผล
คงจะมี สปช.บางส่วนลงมติไม่เห็นชอบ เพราะเกรงว่าในขณะนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองสถานการณ์ยังไม่สงบ ถ้าไปทำประชามติอาจจะเกิดคลื่นใต้น้ำ ยิ่งเมื่อพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคประกาศแล้วว่า รัฐธรรมนูญไม่ดี กลัวว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านแล้วจะเกิดปัจจัยแทรกซ้อนจากผู้ไม่ประสงค์ดี
สปช.บางคน ก็คงอยากให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่ยาวอีกหน่อย

สปช.กลุ่มนี้ อาจจะคิดเอง หรือมีคนล็อบบี้ มีคนติดต่อกระตุ้นเตือน ร้องขอ ผมเชื่อว่าคงจะมีหลายรูปแบบ

แต่ส่วนตัวของผมเอง ในฐานะ สปช.คนหนึ่ง ยืนยันว่าไม่มีใครมาติดต่อผมในเรื่องพวกนี้

ผมลงมติด้วยเหตุที่ให้น้ำหนักกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก มากกว่าเรื่องยุทธศาสตร์การเมือง สถานการณ์ หรืออยากให้รัฐบาลอยู่ยาวหรือไม่ กลัวความยุ่งเหยิงหรือไม่ แม้จะนำมาพิจารณาด้วย แต่ให้น้ำหนักน้อยกว่าเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ

ยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีเยอะ แต่ก็มีข้อเสียอย่างที่กล่าวไปแล้ว

ผมจึงเห็นว่า ถ้าแก้ไขเนื้อหาก่อนไปทำประชามติ จะเป็นการประหยัดเงินของแผ่นดินมากกว่า 3 พันล้านบาทแทนที่จะเอาร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคต่อต้านไปสู่สมรภูมิประชามติเลย
เพื่อจะให้เกิดผลอย่างที่ผมต้องการ หนทาง คือ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน

การจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ สปช.จะต้องมีคะแนนเห็นชอบ 124 เสียง ผมจึงตัดสินใจที่จะลงมติ “งดออกเสียง”

การงดออกเสียง ทำให้คะแนนที่จะช่วยให้ผ่าน หายไปหนึ่งเสียง

ผมไม่ถึงกับลงมติ “ไม่เห็นชอบ” เพราะในใจเข้าใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีจำนวนไม่น้อย แต่
ก็มีข้อเสียที่เป็นอันตราย ไม่อยากถึงขั้นบอกว่าไม่เห็นชอบ แต่ต้องการจะให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแก้ไขใหม่ “งดออกเสียง” ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกัน

ผมคิดว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ไม่ควรต้องยกร่างใหม่หมด เอาร่างนี้มาแก้ไขบางเรื่องที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ โดยใช้ความใจกว้าง ฟังทุกคนทุกฝ่าย เพราะยังมีคนไม่สบายใจในเรื่องอื่นๆ เช่น กมธ.การเมืองไม่สบายใจว่าพรรคการเมืองจะอ่อนแอ รัฐบาลจะอ่อนแอ เป็นต้น ควรฟังประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจน พิจารณาแก้ไขตรงไปตรงมา มีคำอธิบายชัดเจน อย่าแอบซ่อน ซ่อนเร้น ควรเปิดเผย ปัจจุบันควรทราบว่าคนฉลาดพอที่จะจับได้ ถึงซ่อนก็จับได้ แล้วจะหมดความน่าเชื่อถือ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 180 วัน แค่ 3-4 เดือน ก็น่าจะยกร่างแก้ไขเสร็จ

สุดท้าย... คสช.ผู้มีอำนาจที่จะตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ควรจะเลือกคนที่เข้าใจบริบทสังคมไทย เข้าใจสังคมไทย ไม่ใช่
คิดลอกแบบต่างชาติ เข้าใจวิธีคิดคนไทย วัฒนธรรม ค่านิยม ออกแบบให้เหมาะสมกับสังคมไทย ที่สำคัญ คือ กระบวนการทำงานจะต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ทำอย่างเปิดเผย อย่าไปคิดว่าเป็นอรหันต์ ปิดห้องทำงาน ควรทำไปเปิดเผยไป สื่อสารกับสังคมตลอดเวลา เผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ สร้างความเข้าใจ คล้ายๆ ปี 2550 เปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปนั่งฟังได้เลย จะทำให้มีความเข้าใจทุกประเด็นตั้งแต่ต้น สังคมก็ค่อยๆ รับรู้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทุกมาตรา ตั้งแต่ต้น

อย่าลืมว่า สุดท้ายจะต้องไปทำประชามติ หากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ไม่มีการสื่อสารกับสังคมอย่างต่อเนื่อง เข้าใจคนไทย ในขั้นตอนประชามติก็จะมีการชักจูงปลุกระดมผู้คน โดยเอาประเด็นอื่นๆ นอกเนื้อหารัฐธรรมนูญมาเคลื่อนไหวกันอีก เช่น ต่อต้านรัฐประหาร – รีบไปเลือกตั้ง ฯลฯ
หากทำให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ ร่วมพิจารณา ร่วมรับรู้ ร่วมเข้าใจ เขาก็จะร่วมสนับสนุนในการประชามติบั้นปลาย

ขอให้เอาบทเรียนจากกระบวนการทำงานที่ถูกล้มไปในครั้งนี้ มาเป็นบทเรียน เพื่อประเทศไทยของเราทุกคน
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

“อีทูดี้” ถอนทัพจากไทยแล้ว.. ใครจะเป็นรายต่อไป ?

“อีทูดี้” ถอนทัพจากไทยแล้ว.. ใครจะเป็นรายต่อไป ?

กรณีศึกษา เมื่อแบรนด์ที่เคย ดังและปังอย่าง “อีทูดี้” ยังต้องปิดฉากธุรกิจในไทย สะท้อนตลาดเคาน์เตอร์แบรนด์เมืองไทยโจทย์ยาก (ระดับเดียวกับแอดมิดชั่นเข้าแพทย์จุฬา) ในไทย
ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว บ้านเราเกิดปรากฏการเกาหลีฟีเวอร์ อันเป็นผลมาจากซีรีย์เกาหลีสุดฮิตระดับวาระแห่งชาติอย่าง Autumn in my heart รักนี้ชั่วนิรันดร์และแดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง แถมมาด้วยการเข้ามาของ K-POP กระแสหลักอย่าง Baby Voxเรนดงบังชินกิซูเปอร์จูเนียร์ (Super Junior) เรียกได้ว่าวันนั้นอะไรก็ตามที่เป็นเกาหลีในประเทศไทย ต่างขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ร้านปิ้งอย่างสไตล์เกาหลีผุดขึ้นทุกหัวระแหงบิมบัม หรือข้าวยำเกาหลี กลายเป็นของอินที่วัยุร่นไทยจะต้องกิน คนไทยต่างหลั่งไหล
ด้วยกระแสสินค้าเกาหลีกำลังบูมติดลมบนในตลาดประกอบกับเครื่องสำอางเกาหลีเริ่มที่จะบุกตลาดโลกมากขึ้น อีทูดี้นำเข้าและจัดจำหน่ายในประเทศไทยโดย บริษัท คอสเมกก้า จำกัด นับเป็นแบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีแบรนด์แรกที่มาเปิดเคาเตอร์ในประเทศไทย  ย้อนกลับไปในเวลานั้น อีทูดี้ นับเป็นเครื่องสำอางเคาเตอร์แบรนด์ที่ล้ำและนำเครื่องสำอางเคาเตอร์แบรนด์จากฝั่งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นไปมาก ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมความงามใหม่ตามฉบับเกาหลี
แต่ที่ดังและปังที่สุดของอีทูดี้ ก็คงจะหนีไม่พ้นตอนที่เปิดตัว BB ครีมของแบรนด์ เรียกได้ว่า สร้างความฮือฮา ในตลาดเครื่องสำอางบ้านเราในเวลานั้นอย่างมาก ด้วยนวัตกรรมที่แปลกใหม่และยังไม่เคยมีในตลาดมาก่อนแถมยังตอบโจทย์ชีวิตอันเร่งรีบของสาวในเมืองใหญ่ ครีมเดียวที่รวมเอา ครีมบำรุงผิว เมคอัพเบส และครีมกันแดดในหนึ่งเดียว ทำให้ BB ครีมของอีทูดี้ นั้นได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคอย่างล้นหลาม และในเมื่อขายดีขนาดนั้นจึงให้มีธุรกิจรับหิ้วสินค้าเข้ามาขาย เพื่อตอบสนองกลุ่มคนไทยที่มีเงินแต่ไม่อยากรอ!
จุดเริ่มต้นของหายนะของอีทูดี้ อย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าปัจจุบันมีแม่ค้าในอินเตอร์เน็ตจำนวนมากรับที่หิ้วและพรีออดอร์อีทูดี้มาขาย ประกอบกับเริ่มมีผู้เล่นรายอื่นๆเข้ามาแชร์ตลาดเครื่องสำอางมากขึ้นทั้ง สกินฟู้ด , โรจูคิส, เดอะเฟซช้อป, มิชชา หรือแม้กระทั้ง กลุ่มทุนใหญ่อย่างไมเนอร์กรุ๊ป ก็ยังลงมาเล่นในตลาดเครื่องสำอางเกาหลี โดยทำการนำเข้าแบรนด์เครื่องสำอางลาเนจ มาจัดจำหน่ายในประเทศไทย กลุ่มทุนใหญ่เกาหลีเองอย่างกลุ่มอมอร์ แปซิฟิค เองก็ได้ส่งโซลวาซู และมาม่อนลงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของเครื่องสำอางเคาเตอร์แบรนด์ในไทย แต่ที่แลจะดูสร้างผลกระทบและแย่งชิงกลุ่มลูกค้าของอีทูดี้ไปเต็มๆ นั้นก็คือ การถือกำเนิดขึ้นของ คาร์มาร์ท เครื่องสำอางแบรนด์ไทยสัญชาตเกาหลี ที่เรียกได้ว่า Brand Image แทบจะไม่ต่างจากอีทูดี้
แต่ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดแตกหัก ระหว่าง อีทูดี้กับผู้บริโภคนั้นก็คือ สายการบินหลายๆ แห่ง เริ่มตัดราคากันเผื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการไปเที่ยวเกาหลี ทำให้การไปเที่ยวเกาหลีไปได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมากขึ้น วีซ่าไม่ต้องใช้ ตั๋วเครื่องบินก็แสนถูก 8,900 บาท ก็ไปเกาหลีได้แล้ว และเมื่อคนไทยส่วนใหญ่คนพบความจริงที่ว่า เครื่องสำอางอีทูดี้ที่เกาหลีนั้นถูกกว่า ที่ขายบนเคาเตอร์ในประเทศไทยถึง “10 เท่าตัว” 
ราคาและความคุ้มค่าในมุมมองของผู้บริโภคนั้น  ฟิลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ทางการตลาดได้ให้คำนิยามของราคาไว้ว่า  ราคา คือ “มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงออกมาในรูปจำนวนเงิน” ในเมื่อสิ่งที่จ่ายไปและสิ่งที่ได้มา สิ่งที่จ่ายไปมันต่างกันราวสิบเท่าตัว แถมยังซื้อหาได้ง่ายดายช่องทางออนไลน์ และร้านขายเครื่องสำอางนำเข้าทั่วไป จึงทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองว่า สินค้าของเคาเตอร์ไทยนั้นไม่คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายออกไป ประกอบกับ Positioning ทางการตลาดของอีทูดี้เองก็ไม่ได้จัดเป็นแบรนด์ ไฮเอนด์ ที่จะต้องจ่ายราคาแพงเพื่อให้ได้มา แถมยังสามารถซื้อหาสินค้าได้ไม่ยากทั้งต่างๆ  
คอสเมกก้าเองในฐานะนำเข้าและจัดจำหน่ายอีทูดี้ในประเทศไทยเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งปรับราคาสินค้าลงถึง 20-35% แล้วก็ตาม จัดโปรโมชั่นลด 20% แทบจะทุกเดือน ออกกวาดล้างผู้นำเข้าเครื่องสำอางอีทูดี้มาจำหน่ายในประเทศไทยแบบหนีภาษี  แต่นั้นก็แทบจะไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเลยราคาของอีทูดี้บนเคาเตอร์ในประเทศไทยยังคงแพงกว่าที่เกาหลี 5-6 เท่า ยังคงมีสินค้าของอีทูดี้ขายบนอินเทอร์เน็ต การพรีออร์เดอร์อีทูดี้จากเกาหลียังคงมีอยู่ ร้านเครื่องสำอางนำเข้าหนีภาษียังคงมีสินค้าของอีทูดี้จัดจำหน่าย
นอกจากราคาที่ดูไม่สมเหตุสมผลในสายตาผู้บริโภค วิธีการขายแบบฮาร์ทเซลล์ของ BA ไม่เป็นที่ประทับใจของลูกค้า จนกลายเป็นกระทู้แนะนำห้องโต๊ะเครื่องแป้งของพันทิปดอทคอม! อย่างที่เราทราบกันดีว่า สินค้าและบริการถ้าใช้ดีผู้บริโภค 1 คนจะบอกต่อผู้บริโภคอีก 4 คน แต่ถ้าสินค้าและบริการใช้ไม่ดี ผู้บริโภคก็จะบอกต่อเช่นกัน แต่คราวนี้เป็นผู้บริโภค 1 คนจะบอกต่อ ผู้บริโภคคนอื่น ถึง 25 คน  แต่ถ้าระดับได้เป็นกระทู้แนะนำในพันทิพแล้วนี่บอกเลยว่าหนึ่งกระทู้ สามารถเรียกแขกได้ต่ำกว่าพันคนเลยทีเดียว
ปรากฏการหน้าโล่ง หลังรั่ว ลูกค้าใหม่ไม่มีเข้ามา เพราะว่าราคาสินค้าไม่คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายออกไป แถมจะเข้าไปดูสินค้าที่เคาเตอร์ก็กลัวที่จะเจอ BA ระดับตำนานบนกระทู้แนะนำ ยัดเยียดขายของ แถมฐานลูกค้าเดิมก็ถูกแบรนด์เกาหลีอื่นๆแย่งชิงไป ทำให้อีทูดี้จึงต้องทำใจถอนทัพกลับเกาหลีใต้ไป (อาจจะชั่วคราว)
แต่การที่เคาเตอร์แบรนด์เจ้าใหญ่ต้องถอนทัพออกจากประเทศไทยพูดเลย! อีทูดี้ไม่ใช่เจ้าแรก เพราะก่อนหน้านี้เองก็มีทั้ง Philosophy , Smashbox และ Stila ที่ถอนทัพออกจากประเทศไทย ไปชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วก็กลับมาเปิดเคาเตอร์ใหม่ภายใต้ชายคาบริษัทใหม่ ครั้งนี้สาวกคงต้องคอยลุ้นกันว่า อีทูดี้ จะกลับมาเปิดเคาเตอร์แถมไฉไลกว่าเดิมไหม ?