PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561

รุก รับ การเมือง จุดแข็ง เปลี่ยนสู่ จุดอ่อน สภาวะ พลิกผัน

รุก รับ การเมือง จุดแข็ง เปลี่ยนสู่ จุดอ่อน สภาวะ พลิกผัน



มาตรา 44 จากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และการคงอำนาจของมาตรา 44 เอาไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เป็น “อาวุธ” และ “จุดแข็ง”

ส่งผลให้อำนาจของ คสช. อำนาจของหัวหน้า คสช. อยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และส่งผลให้สถานะของรัฐบาล คสช.มิได้เป็นเหมือนกับรัฐบาลโดยทั่วไป

นั่นคือ มิใช่รัฐบาล “รักษาการ”

ตรงนี้เองที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงสถานะของตนเหมือนๆ กับที่ผ่านมา ตรงนี้เองที่ทำให้ 4 รัฐมนตรียื้อแล้ว ยื้ออีกในเรื่องการลาออกจากตำแหน่ง

ตรงนี้เองที่ทำให้ คสช.และรัฐบาลอยู่ในฐานะเป็น “ฝ่ายรุก”

สร้างโอกาสให้กับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย สร้างความได้เปรียบเหนือกว่าพรรคการเมือง

กลายเป็นความมั่นใจ กลายเป็นความ “กร่าง”

หากไม่มั่นใจคนอย่าง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะเผลอหลุดยอดคำเท่ที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

เป็นพวกเราใน “พลังประชารัฐ”

หากไม่มั่นใจ 1 ใน 4 ยอดกุมารที่ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นหัวหน้าพรรค รองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค โฆษกพรรค คงไม่ประกาศดังกึกก้อง

“พรรคพลังประชารัฐจะกวาด 350 ส.ส.”

ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเคยพาดหัวข่าวตัวไม้ในหน้า 1 ถึงพฤติการณ์ของรัฐมนตรีในยุคหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 ว่า

“ตี๋กร่าง” นั้นถูกต้องอย่างที่สุด


กระนั้น หากไม่กร่าง ไม่ย่ามใจกันสุดลิ่มทิ่มประตูจนเกินไปเสียงติงเบาๆ จาก นายวิษณุ เครืองาม ก็ไม่ควรมองข้าม

นั่นก็คือ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ต้องระมัดระวัง

การดำรงอยู่ของรัฐบาล การดำรงอยู่ของรัฐมนตรีในห้วงแห่งการเลือกตั้งไม่มีกฎหมายข้อใดให้ต้องลาออก เพราะรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว

แต่การดำรงอยู่เช่นนี้ก็มิได้ว่าจะไม่มี “ปัจจัย” ใดควบคุมการ ครม.สัญจรอาจยังเดินหน้าต่อไป การอนุมัติโครงการซึ่งมีลักษณะผูกพันและมีการแจกเงินอย่างชนิดเทกระจาดก็ยังเดินหน้าต่อไป

แต่นั่นมิได้หมายความว่า สังคมจะมิได้เฝ้ามอง สังคมจะมิได้รับรู้

ความได้เปรียบในทางการเมืองซึ่งเริ่มต้นจาก “รัฐธรรมนูญ” มิได้เป็นความลับ เพราะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็ยืนยันมาแล้วว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

ในแต่ละก้าวย่างของ คสช. ในแต่ละก้าวย่างของรัฐบาล ในแต่ละก้าวย่างของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิได้หลุดรอดไปจากแสงแห่งสปอตไลต์

“จุดแข็ง” อาจกลายเป็น “จุดอ่อน” ที่คิดว่า “รุก” อาจกลายเป็น “รับ”

หากคิดอย่างหยุดนิ่ง ตายตัว ความได้เปรียบก็ยังเป็นความได้เปรียบ โอกาสก็ยังเป็นโอกาส แต่ในโลกนี้มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปรอยู่อย่างไม่ขาดสาย

ที่เห็นว่า “รุก” จึงอาจมิใช่

ที่เห็นว่า “รับ” จึงอาจมิใช่ เพราะในท่ามกลางการเคลื่อน เปลี่ยนแปลง สภาวะผกผันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่า คสช. ไม่ว่ารัฐบาล ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ขอให้ดูผลจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ก็แล้วกัน

สังคมต้องตื่นตัว! โพลการเมืองภายใต้กรอบต่อมจริยธรรม

“การทำโพลต้องตรวจสอบการใช้อำนาจ”
นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และเคยผ่านการทำโพลการเมืองอันเลื่องชื่อ เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ถึงการรู้เท่าทันผลสำรวจโพล หลัง ทีมข่าวการเมือง ได้ตั้งประเด็นถึงการทำโพล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในช่วงเลือกตั้ง
พร้อมขยายความให้เห็นว่า โพลเป็นดัชนีชี้วัดทัศนคติของประชาชนที่มีต่อประเด็นต่างๆได้ดีพอสมควร โดยต้องมีกระบวนวิธีการเลือกตัวแทนกลุ่ม การตั้งแบบสอบถาม คนทำโพลต้องมีจริยธรรมการทำโพลสูงมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นสถาบันการศึกษา จริยธรรม และคุณธรรมยิ่งต้องสูง
ตามหลักการทำโพล หลายเรื่องสามารถบ่งบอกได้แม่นยำพอสมควร และหลายเรื่องก็มีข้อจำกัด
จากประสบการณ์ที่ทำโพล หากกระจายตัวอย่างได้ดี การสุ่มตัวอย่างทำได้ดี จำนวนอาจจะไม่ต้องเยอะมาก มีลักษณะพอเป็นตัวแทนของคนในกลุ่มเป้าหมายได้จริง ก็สามารถบ่งชี้ทัศนะของคนได้
เช่น อยากรู้ทัศนะบางเรื่องของคนทั้งประเทศ ก็ทำแบบสำรวจสัก 3-4 พันชุด
หรืออาจจะเพิ่มแบบสำรวจเป็น 1 หมื่นชุด ผลออกมาก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่
ที่น่าสังเกตโพลบางสำนักที่มีข้อจำกัดเรื่องกำลังคนและช่วงเวลา บางครั้งสมมติให้นักศึกษาไปช่วยทำ ถ้าไม่ได้กำชับให้ดี ไม่จัดกระบวนการให้ดี มันจะจำกัดวงเฉพาะวงส่วนหนึ่ง บางครั้ง
อยู่เฉพาะบางท้องที่
ขอยกตัวอย่างการทำโพลเฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งมีความโน้มเอียงทางการเมือง เช่น โพลการเมืองสำรวจในพื้นที่ทหารเขตดุสิต บางซื่อ กรุงเทพฯ ความคิดทางการเมืองก็จะออกมาในเชิงอนุรักษ์หรือพวกขวาเยอะหน่อย ถ้ามีตัวอย่างในเขตอื่น จะพบได้เลยว่าทัศนะทางการเมืองจะแตกต่างจากเขตอื่น
ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าบางโพลอาศัยความสะดวก ทำเฉพาะเขตนั้นๆ ผลออกมาจะไม่น่าเชื่อถือ
กรอบจริยธรรมการทำโพลเป็นอย่างไร ผลสำรวจออกมาถึงมีความน่าเชื่อถือ นายธีรยุทธบอกว่า บางครั้งบางคำถามออกไปแล้วมีจุดอ่อนในตัวเยอะ ทำให้คำตอบออกมาไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร
เช่น คำตอบเชิงคุณธรรม สมมติตั้งคำถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรเกี่ยวกับนักการเมืองย้ายพรรคที่ผ่านมา ถ้าคนทำโพลไม่ระวัง ตั้งคำถามแบบปิดและมีตัวเลือกว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลตามระบอบประชาธิปไตย คนก็จะเลือกข้อนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะค่านิยมของสังคมประชาธิปไตยเปิดประตูให้ทำสิ่งนี้ได้
ถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ อยากได้อำนาจ อยากเข้าไปอยู่ในวงจรอำนาจ ข้อนี้จะถูกเลือกน้อยลดหลั่นลงมา เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์
เวลาออกแบบสอบถามลักษณะนี้ต้องดูให้ดีว่า ในชุดเดียวกันมีคำตอบในมิติเดียวกัน เช่น ไม่เป็นอะไรขอให้พัฒนาประเทศได้ดีขึ้น คำตอบนี้เอียงอย่างเห็นได้ชัด เพื่อให้ผลสำรวจออกมาว่าย้ายพรรคไม่เป็นอะไร ดังนั้น คำถามอะไรที่เป็นประเด็น เป็นคีย์ควรจะถามแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชน
เช่น คำถามว่าเป็นสิทธิหรือไม่เป็นสิทธิ คำถามนี้ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนเท่าไหร่ มันแค่เรื่องหลักการ เป็นค่านิยมในสังคมเฉยๆ
ถ้าหลักการว่า การย้ายพรรคจะทำให้การเมืองไม่พัฒนา ซ้ำย่ำอยู่ที่เดิม แสดงว่าไม่ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองของสถาบันการเมือง ก็จะไม่เป็นการให้การศึกษาประชาชน คำถามชุดนี้จะให้คำตอบที่เกี่ยวพันกับระบอบการเมือง แต่ไม่ใช่คำถามที่ไปเกี่ยวกับค่านิยมในสังคม
ฉะนั้นต้องเลือกตั้งคำถามสะท้อนปัญหา สะท้อนหลักใหญ่ๆในระบอบประชาธิปไตยและสถาบันการเมือง
ไม่ใช่ตั้งคำถามซึ่งจะมีคำตอบอยู่ตรงไหนก็ได้ แล้วนำคำตอบนั้นมาใช้ก็จะทำให้ประชาชนและสังคมไม่ได้ประโยชน์ รวมถึงเป็นคำตอบที่เอียงทางการเมือง
มีหลายสำนักโพลสำรวจ โพลสำรวจทางออนไลน์ โพลลับแต่ละหน่วยงานของรัฐ รวมถึงแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ก็ทำในช่วงเลือกตั้ง ผลโพลฟุ้งไปหมด อาจสร้างความสับสนแก่ประชาชน มีคำแนะนำดูผลโพลอย่างไร ไม่ให้เกิดความสับสน นายธีรยุทธ บอกว่า สื่อมวลชนต้องช่วยกรองด้วยเหมือนกัน
เช่น การทำโพลผ่านออนไลน์ก็มีข้อจำกัด คำตอบส่วนใหญ่มาจากคนชั้นกลาง อาจจะไม่ถึงชาวบ้านหรือคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะไม่ได้ตอบ ปกติการทำโพลในจังหวัดต่างๆจะบังคับว่า ควรมีกลุ่มตัวอย่างในตัวเมือง เขตชนบท ในเขตอำเภอใหญ่ อำเภอเล็ก ผลโพลออกมาจะได้เสียงสะท้อนที่ดี
อย่างที่บอกแล้วว่าถ้าปริมาณสอบถาม 3-4 พันชุดทั่วประเทศ หรือในกรุงเทพฯ 2 พันชุดก็พอที่จะรู้ทัศนคติของประชาชนต่อเรื่องนั้นแล้ว แต่ถ้ากลุ่มตัวอย่างทำในวงแคบ ความน่าเชื่อถือจะน้อยลง ประชาชนก็ต้องระวัง
ทีมการเมือง ถามว่า มีบางพรรคการเมืองทำโพลชี้ชัดได้เลยว่าแต่ละเขตเลือกตั้งจะสู้ต่อไปไหม ได้หรือไม่ได้ นายธีรยุทธ บอกว่า ทั้งหมดที่พูดมาหมายถึงการทำโพลปกติ
หากทำโพลแบบนี้ก็ต้องทุ่มกำลัง ใช้งบประมาณสูงก็ทำละเอียดได้ เท่าที่รับฟังข่าวมีงบประมาณถึง 100 ล้านบาทก็ทำได้ เช่น สามารถสุ่มตัวอย่างได้ว่าในอำเภอนี้คะแนนเสียงอยู่กับพรรค ก.มากกว่า ถ้าทำทุกอำเภอก็ถือว่าแม่นแล้ว ไม่แปลก ยิ่งถ้าลงลึกในตำบลก็ยิ่งดี
คนทำโพลที่มีทุนหน้า มีมาตรฐานดีกว่าก็มีโอกาสชนะทางการเมืองมากขึ้น นายธีรยุทธ บอกว่าใช่
เช่น ในกรุงเทพฯ เมื่อรู้ว่าคะแนนโดยทั่วไปจะออกมาอย่างไร และมีเขตที่เป็นตัวแปรอยู่ในเขตชุมชน หมายถึงว่าโอกาสจะตัดสินใจซื้อเสียงก็จะสูงกว่า ก็เป็นคำถามว่าจะทุ่มสู้หรือไม่
ในระหว่างโพลลับที่บางหน่วยงานของรัฐทำกับพรรคการเมืองทำ และสถาบันการศึกษาทำ แล้วผลโพลถูกเปิดต่อสาธารณะพร้อมกัน จะมีผลต่อการเลือกตั้งอย่างไร นายธีรยุทธ บอกว่า มีผลแน่นอนอยู่แล้ว
เพราะผลโพลมีสถานะเป็นเหมือนกลไกที่สะท้อนว่ามีคนจำนวนมากคิดแบบนี้ ยิ่งสถาบันที่ทำโพลมีความน่าเชื่อถือ คนยิ่งมีแนวโน้มจะเชื่อถือและคล้อยตาม
แต่ถ้าเป็นคะแนนความนิยมของตัวบุคคลตามที่บันทึกไว้ต้องถ่วงน้ำหนักลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เช่น ผลโพลระบุว่าคะแนนความนิยม 80 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ต้องถามบางอย่าง เช่น ทำในสถานการณ์ที่กำลังฮือฮาในตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ทำในช่วงนี้คะแนนนิยมก็จะขึ้น หรือไปทำอยู่ในวงจำกัดวงใดวงหนึ่ง
เท่าที่สังเกตคะแนนความนิยมตัวบุคคล จะไม่ใช่เป็นตัวที่เราจะเลือกเป็นนายกฯ
แม้กระทั่งคะแนนเสียง เหมือนบัตรคนจนที่กำลังฮือฮาอยู่ ซึ่งประชาชนบอกว่าชอบๆ ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียง แม้มีผลในบางกลุ่ม แต่บางกลุ่มในเครือข่ายยังยืนหยัดที่จะไม่เลือก
การทำโพลช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะชี้วัดผลการเลือกตั้งได้อย่างไร นายธีรยุทธ บอกว่า ทำโพล 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้งน่าจะพอรู้ โดยองค์กรทำโพลต้องเป็นอิสระ ถ้าไม่อิสระ การออกแบบสอบถามจะเกิดความเกรงใจ และต้องมีระเบียบวิธีวิจัย จำแนกรายละเอียดออกแบบสอบถามดีไซน์ให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่ยึดหลักเกณฑ์ทั่วไปที่หยิบจากตำราแล้วเอามาลอก
ทีมการเมือง ถามว่า จากประสบการณ์การทำโพล และศึกษาสังคมมานุษยวิทยามานาน การเลือกตั้งครั้งนี้ควรทำโพลสอบถามเกี่ยวกับภาพรวมนโยบายต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงผลดีผลเสียของนโยบายแต่ละด้านและกระตุกให้พรรคการเมืองเดินตามความต้องการของประชาชน ท้ายสุดเวลาตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองจะต้องต่อรองนโยบายก่อนร่วมรัฐบาล ไม่ใช่ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนที่ผ่านๆมา แล้วไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้
นายธีรยุทธ บอกว่า ควรเอาส่วนที่สังคมต้องการรู้คำตอบ แล้วเจาะลึกว่าประเด็นเชิงนโยบาย เชิงอุดมการณ์มันส่งผลอะไร อย่างไร ประชาชนมีทัศนะอย่างไร เพื่อบันทึกเอาไว้ว่าประชาชนตอบสนองต่อนโยบายของพรรคการเมืองมากน้อยแค่ไหน
คนทำโพลต้องมีแบบแผนจริยธรรม ธรรมาภิบาล โปร่งใส สมมติเราถามคำถามนี้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ อันนี้ต้องติงไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าคนทำโพลจะตัดสินว่าอันนี้เผยแพร่ได้ อันนี้ ไม่ควรเผยแพร่
โจทย์นี้ถ้าเป็นผม อาจจะต้องการรู้ว่านโยบายประชานิยมที่ไปแจกมีผลอย่างไรกับประชาชนหมู่มาก
จะต้องบอกว่าผลดีผลเสียของนโยบายนี้คืออะไร และตั้งคำถาม 1, 2, 3, 4, 5 ให้เลือกและชั่งน้ำหนักให้
จะเป็นการให้การศึกษาประชาชนด้วยว่า นโยบายมันมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ไม่ใช่เรื่องชอบ ไม่ชอบอย่างเดียว
ในที่สุดเราอาจจะเผยแพร่ทั้งสองอย่างก็ได้ หรือถ้าคุณบอกว่าอยากจะชี้ข้อดี ข้อเสียอย่างเดียว ไม่สนับสนุนการทำประชานิยมต่อไปเยอะๆ อันนี้ก็ทำเพื่อแค่อยากรู้ก็ได้.

ปล่อยผีเลือกตั้งปาหี่คลุ้ง

โหมโรงหาเสียง “เดิมพันเก่า” กติกาใหม่

4 ปีกับอีก 7 เดือน นับจากนาทียึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เซ็นประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับแรกๆ ห้ามนักการเมืองและพรรคการเมืองรวมถึงประชาชนทั่วไป

เคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

ตามความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ความมั่นคง สยบสถานการณ์ม็อบป่วนเมืองที่ส่อเข้าขั้นรัฐล่มสลาย

บล็อกหัวเชื้อไฟต้นเพลิง “นักการเมือง” ไม่ให้ลุกลาม

ล่าสุดประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง คสช.ที่22/2561 เรื่องการให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยเป็นการยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. 9 ฉบับ ที่ห้ามเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงิน คำสั่งห้ามการชุมนุม ฯลฯ

เปิดทางให้เดินหน้าหาเสียงเลือกตั้งได้อย่างเต็มรูปแบบ

“ปล่อยผี” ที่โดนจับถ่วงหม้อมานานหลายปี

และก็แทบจะทันทีทันใด แค่ไม่กี่อึดใจให้หลังนาทีประกาศปลดล็อกการเมือง ก็ได้เห็นตัวเอกตามท้องเรื่องอย่างอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร “นายใหญ่” ขุมข่ายพรรคเพื่อไทย

โผล่ออกมา “ชู 3 นิ้ว” ปลุกเร้าสาวก กระตุกกองเชียร์ (“ทักษิณ ชินวัตร” โพสต์ชู 3 นิ้ว ปลุกแก้ รธน.ฉบับถ่วงความเจริญ)

ตีธงส่งสัญญาณเดินหน้าฉีก “รัฐธรรมนูญฉบับถ่วงความเจริญ”

ส่งซิกให้ลูกข่าย “ใส่เกียร์ห้า” เดินหน้าลุยล้มกระดาน “กติกาใหม่” ภายใต้ยุครัฐบาล คสช.

“เชื้อร้าย” ปมวิกฤติแตกแยกที่ถูก “อำนาจพิเศษ” กดทับไว้ 4 ปีกว่าๆ อาการกำเริบกลับมา

แสดงตัวให้เห็นเลยว่า แค่มุดหัวชั่วขณะ

และก็ทันควันเหมือนกัน กับจังหวะที่ “ตัวพ่อสายบู๊” ยี่ห้อ “สารวัตรเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการรณรงค์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย

กระโดดรับลูก “นายใหญ่” เปิดฉากตีกราดดะตามสไตล์

ตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างเป็นการเป็นงาน

แต่ข้อมูลไม่ “เป็นทางการ” แค่ออกตัวพูดในนามส่วนตัว ไม่มีผลผูกพันพรรค


ลีลาแบบที่อ้างกันลอยๆ ขณะนี้มีหน่วยงาน 2 หน่วยกำลังคิดอุบาทว์โกงเลือกตั้งให้กับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งฟันธงไม่มีวันชนะ

หรือประเภทที่ปล่อยข่าว วันนี้ทีมพลังประชารัฐเริ่มมีการขอตำแหน่งกันแล้ว นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ขอเป็น รมว.พาณิชย์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขอเป็น รมว.คมนาคม นายสุชาติ ตันเจริญ ขอเป็น รมว.พลังงาน

ปล่อยของ ประจานตีกินตามฟอร์ม “สารวัตรเหลิม”

อารมณ์เดียวกับ “ตัวพ่อสายไฮปาร์ค” อย่าง “เสี่ยเต้น” นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ย้ายไปปักหลักกับพรรคไทยรักษาชาติ ก็ขยับตามซิก “นายใหญ่” เปิดปฏิบัติการถล่มทีมหนุน “นายกฯลุงตู่”

อาศัยเหลี่ยมคูนักโต้วาที ลีลาพูดสองแง่สองง่ามแบบเอามัน

ปั่นกระแส สร้างฉากละครดราม่าการเมือง เป็นเชิง “เสี้ยม” ให้ พล.อ.ประยุทธ์รีบรับเป็นพ่อ จี้ให้แสดงตัวเป็นหัวหน้าครอบครัวผู้ให้กำเนิดพรรคพลังประชารัฐ เพราะเป็นห่วงไอ้หนุ่มบ้านเดียวกันชื่อ “ส” สนิทสนมกับรัฐมนตรี 4 กุมาร ท่าทางไม่ไว้วางใจเหมือนรอส้มหล่น


โหมโรงเรียกคนดูมหรสพ ปาหี่ ลิเกงานวัด

“ทักษิณ-เฉลิม-ณัฐวุฒิ” ตัวลิเกหน้าเดิม ตามท้องเรื่องเก่าๆ ที่เล่นซ้ำไปซ้ำมา 10 กว่าปี

ศึกทวงแค้นอำนาจ “นายใหญ่”

ได้เวลาเจ้าของ “โรงน้ำแข็ง” ยี่ห้อเก่ากลับมาเดินเครื่องใหม่ “ปั้นน้ำ” ขายลูกค้าแฟนขาประจำเดิมๆ

เพิ่มเติมคือการขายออนไลน์ ตีปี๊บผ่านโซเชียลมีเดีย

ที่แน่ๆตามยุทธศาสตร์ที่สะท้อนอย่างเด่นชัด “นายใหญ่” กับ “เฉลิม-ณัฐวุฒิ” ทีมงานตัวพ่อสายบู๊ เปิดฉากมาก็เล็งปากกระบอกปืนใหญ่ถล่มลูกน้องเก่า อดีตมืองานในบริษัทชินฯจำกัด ทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ลากโยกไปกระแทกนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

“ขุนศึกตัวจี๊ด” ที่พลิกข้างมาเป็นคีย์แมนทีมหนุน “นายกฯลุงตู่”

สะท้อนอาการ “หวั่นไหว” เจือ “แค้นฝังลึก”


พรรคพลังประชารัฐคือเป้าทำลายล้าง “ศัตรูเบอร์หนึ่ง”

คู่แข่งตัวจริงของขั้ว “ทักษิณ”

โดยมองข้าม “โจทก์เก่า” อย่างขั้วประชาธิปัตย์ ที่หล่นอันดับตัวเต็ง ไปเป็นแค่ “ตัวแปร”

ในห้วงสถานการณ์ที่ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แค่ได้แอบลุ้นลึกๆจะเบียดแทรกเป็น “ตาอยู่”

กับหนทางแคบๆรูเล็กๆที่มีการพูดถึงสูตร “หมาออกลูกเป็นลิง” ประชาธิปัตย์พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน จับขั้วกับทีมงาน “ระบอบทักษิณ” แลกกับอุ้ม “อภิสิทธิ์” ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรี


รวมหัว “นักเลือกตั้งอาชีพ” สกัด “นายกฯลุงตู่” ตีตั๋วต่อ

ล้มกระดานทหารต่อท่ออำนาจ

โอกาสเบิ้ลนายกฯรอบสองของ “อภิสิทธิ์” ริบหรี่พอๆกับเส้นทางกลับบ้านของ “ทักษิณ”

ในห้วงสถานการณ์ที่ขุมพลัง “นายใหญ่” ลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย

“นายห้างดูไบ” ไม่แน่นปึ้กเหมือนเดิมอีกต่อไป

ปรากฏการณ์แบบที่คุย “หิมะถล่มประเทศไทย” เลือกตั้งแลนด์สไลด์แทบเลิกฝันได้

ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์แบบที่ลูกข่ายพรรคเพื่อไทย กล้าสละเรือหนี “นายใหญ่” ชิ่งหนีไปตายดาบหน้ากับ “ทักษิณ” อดีต ส.ส.เกรดเอย้ายออกจากพรรค

เลือดไหลไม่หยุดจนหยดสุดท้าย

ที่เหลืออยู่ก็ประเภท “นกแล” ต้องอาศัยแห่กระแสพรรค พึ่งบุญเก่ายี่ห้อ “ทักษิณ”

“แตกพรรค” แฝง “พรรคแตก” สู้กับกติกาใหม่

อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับสภาพท่อน้ำเลี้ยงเหือดแห้ง แหล่งทุนโดนบล็อก

มุก “ยืมเงินเพื่อนแทงไฮโล” ของ “ทักษิณ” ใช้ไม่ได้อีกต่อไป


ในสภาพการณ์ทางคดีที่รุกไล่หนัก นอกจากปมทุจริตเงินกู้กรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานครของ “เสี่ยโอ๊ค” นายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ถึงตรงนี้มีคนถามหา “เจ๊แดง” นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หายหน้าหายตาไป ในจังหวะที่คดีทุจริตโครงการจำนำข้าว “จีทูจีลอตสอง” กลับมากระหึ่ม

“ทักษิณ” ถูกลิดรอนศักยภาพในเกมเลือกตั้งที่ถนัด

โดนล็อกแขนล็อกขาหมดแทบทุกทาง

และนั่นก็เป็นเหตุที่อ่านไต๋ได้ กับเหลี่ยมที่ “สารวัตรเหลิม” ประกาศลั่นเฟซบุ๊ก

“ผมฝากเตือนข้าราชการทุกหมู่เหล่าให้วางตัวเป็นกลาง อย่าออกตัวมากนัก เพราะหากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ พวกท่านจะเดือดร้อน ให้ประชาชนเขาตัดสินใจเองว่า จะเลือกพรรคไหน ในไม่ช้าก็จะรู้แล้ว ผมไม่ได้หวังว่าพวกท่านจะทำตามแนวทางที่ผมบอก แต่ถ้ากลับตัวกลับใจได้ก็จะดี”

ขู่ออกอากาศ ปฏิบัติการเขย่าขวัญข้าราชการ

ส่งสัญญาณถึงทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทีมงานมหาดไทยสายสตรอว์เบอร์รี

พวกที่เคย “เกาะโต๊ะขอตำแหน่ง”


ทวงบุญคุณข้าราชการ หวังล็อกพลังแฝง “ตัวแปร” ในเกมเลือกตั้ง

มันคือพลังที่พอหลงเหลืออยู่ของ “นายใหญ่”

อย่างที่รู้ๆกัน พรรคที่ทรงอิทธิพลสุดในการเลือกตั้งประเทศไทยคือพรรคข้าราชการ สถานการณ์แบบที่รัฐบาล คสช.ยังไม่กล้าแตะต้องลงมีดผ่าตัดปฏิรูปแรงๆเพราะประคองแรงกระเพื่อม

“นายกฯลุงตู่” ต้องพึ่งแขนขาในการตีตั๋วต่อเกมเลือกตั้ง

ยังจำใจ “หลิ่วตา” ข้างหนึ่ง ยอมทุกวิถีทาง เพื่อผลสัมฤทธิ์เฉพาะหน้า

บล็อก “ทักษิณ” ในเกมถนัดเลือกตั้ง

ทั้งหมดทั้งปวง โดยฉากสถานการณ์มันก็สะท้อนสิ่งที่ “ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” คาดการณ์ไว้ไม่มีผิด หัวเชื้อร้ายปมวิกฤติแตกแยกทางการเมืองยังไม่เจือจางลงแต่อย่างใด

แค่ถูกกระบองยักษ์ อำนาจพิเศษกดทับไว้ชั่วขณะ

แล้วมันก็โผล่มาให้เห็นทันทีที่ คสช.ปลดล็อกกฎเหล็ก สถานการณ์แบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ปูดข้อมูลด้วยตัวเองเป็นเชิงดักทางขบวนการป่วนเมืองที่เคลื่อนไหว

ม็อบใต้ดินขยับกันพึ่บพั่บหลังปลดล็อก ปล่อยผีโหมโรงเลือกตั้ง


ภายใต้ “กติกาใหม่” รัฐธรรมนูญ “มีชัย” ปิดทาง “นายใหญ่” กลับสู่อำนาจ พร้อมเงื่อนไขสถานการณ์ไม่เหมือนเดิมที่ทีม “นายกฯลุงตู่” ก่อร่างสร้างฐานประเทศมาตลอด 4 ปีกว่าๆ เพื่อการันตีไม่ให้ “เสียของ”

แต่ “เดิมพันเก่า” เกมทวงแค้นของ “ทักษิณ” เอาคืนพวกโค่นอำนาจ “นายใหญ่”

โดยจังหวะมาถึงจุด “ทางสองแพร่ง” วัดใจคนตัดสินคือประชาชนคนไทย

จะฉุดประเทศพ้นปากเหวมรณะ

หรือชอบตื่นเต้นกับฝันร้ายไม่จบสิ้น.

“ทีมการเมือง”