PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เส้นทาง47ปี ‘ธรรมกาย’ ก่อนเผชิญ ‘ม.44’

"ธรรมกายเจดีย์" ขณะก่อสร้างต่อมาถูกกลุ่มต่อต้านเรียกเชิงเสียดสีว่า "(ลัทธิ)จานบิน" ด้วยรูปแบบอาคารที่คล้ายคลึง
"ธรรมกายเจดีย์" ขณะก่อสร้างต่อมาถูกกลุ่มต่อต้านเรียกเชิงเสียดสีว่า "(ลัทธิ)จานบิน" ด้วยรูปแบบอาคารที่คล้ายคลึง

กลายเป็นสถานการณ์ร้อนแรงที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์สังคมไทย เมื่อรัฐบาลงัดมาตรา 44 ออกมาใช้ในการตรวจค้นพื้นที่วัดพระธรรมกาย ด้วยเป้าหมายหลักคือการนำตัว “พระธัมมชโย” มาสู่กระบวนการทางกฎหมาย
เขตอารามที่เคยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม แปรสภาพราวกับสมรภูมิแห่งการไล่ล่า นำมาสู่คำถามที่ว่า “ธรรมกาย” มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
มาย้อนรำลึกความเป็นมาที่ไม่ธรรมดาของวัดแห่งนี้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น
พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

2513 ปักเสาเข็มธรรมกาย

หมุนเข็มนาฬิกากลับไปเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน อุบาสิกานามว่า ยายจันทร์ ขนนกยูง หรือที่รู้จักกันในนาม “ชีจันทร์” ศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี (สด) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ถ่ายทอดวิชาให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย แล้วชักชวนกันก่อตั้งวัดพระธรรมกายขึ้น โดยเริ่มบุกเบิกตั้งแต่ พ.ศ.2513 คุณหญิงแพทยพงศาวิสุทธาธิบดีได้บริจาคที่ดินถึง 196 ไร่เพื่อสร้างวัด อาคารหลังแรกคือ ศาลาการเปรียญชื่อว่า “จตุมหาราชิกา” ถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2519 จุคนได้ราว 450 ราย จากนั้นจึงก่อสร้างพระอุโบสถในราวปี 2523
อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (แม่ชีจันทร์) ผู้สอนวิชาธรรมกายให้พระธัมมชโย ถ่ายภาพร่วมกับหมู่คณะรุ่นแรกที่บ้านธรรมประสิทธิ์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (แม่ชีจันทร์) ผู้สอนวิชาธรรมกายให้พระธัมมชโย ถ่ายภาพร่วมกับหมู่คณะรุ่นแรกที่บ้านธรรมประสิทธิ์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

อภิมหาอลังการแห่งศรัทธา

วัดพระธรรมกายมีชื่อเสียงมากขึ้นตามลำดับ มีผู้เดินทางมาที่วัดจนศาลาการเปรียญเดิมรับไม่ไหว ต้องสร้างอาคารชั่วคราวขนาดใหญ่หลังคามุงจากในพื้นที่เกือบ 10 ไร่ จุคนได้ราว 50,000 รายแต่ก็ยังไม่เพียงพอ นำไปสู่การสร้าง“สภาธรรมกายสากล” จุคนได้หลักแสน ในพื้นที่ 100 ไร่ สะท้อนให้เห็นถึงแรงศรัทธาที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างท่วมท้น
ทางวัดเผยแพร่คติการทำงานว่า “ไม่ได้ไม่มี ไม่ดีไม่ได้ ต้องได้และดี ให้ดีกว่าดีที่สุด”
ไม่เพียงสาธุชนคนไทย ฝรั่งต่างชาติก็ยังเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาศึกษาธรรมที่วัดแห่งนี้ กิจกรรมด้านพุทธศาสนานับไม่ถ้วนถูกจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงงานยักษ์อย่างการประชุมวิชาการทางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติเมื่อปี 2533 มีนักวิชาการทั่วโลกเข้าร่วม
บุคคลสำคัญ มีการศึกษา ดารานักร้อง คนดัง ตบเท้าเข้าสู่ร่มเงาวัดพระธรรมกาย
ในปี 2541 มีภิกษุสามเณรถึง 1 พันรูป ศิษย์วัด 700 คน ญาติโยมมหาศาล เงินทองหลั่งไหลนับแทบไม่ทัน
ทว่า ไม่นานนัก ก็เกิดการตั้งคำถามจากสังคมต่อแนวคิด หลักธรรม และวิธีการบางอย่างที่ชาวพุทธจำนวนหนึ่งพากันค้างคาใจ
ภาพถ่ายมุมสูงวัดพระธรรมกาย ปี 2522 ซึ่งได้รับบริจาคที่ดิน 196 ไร่ แถบทุ่งรังสิตจากคุณหญิงแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี โดยเริ่มก่อสร้างปี 2513
ภาพถ่ายมุมสูงวัดพระธรรมกาย ปี 2522 ซึ่งได้รับบริจาคที่ดิน 196 ไร่ แถบทุ่งรังสิตจากคุณหญิงแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี โดยเริ่มก่อสร้างปี 2513
การก่อสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะยุคเศรษฐกิจตกต่ำรวมถึงแนวทางปฏิบัติหลายอย่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
การก่อสร้างสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะยุคเศรษฐกิจตกต่ำรวมถึงแนวทางปฏิบัติหลายอย่างถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

สังคมวิพากษ์ นักวิชาการกังขา “ธรรมกายไม่ใช่พุทธ”?

ด้วยวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในวัดพระธรรมกาย แนวคิดเรื่องการทำบุญที่ใช้ทรัพย์มาก ยิ่งได้บุญมาก การสร้างสถาปัตยกรรมสุดอลังการ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมถึงนักวิชาการในสาขาต่างๆ อาทิ
ส.ศิวรักษ์ เผยแพร่บทความ “ธรรมกาย ฟางเส้นสุดท้ายของสถาบันสงฆ์ไทย” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2542 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “หากเปรียบสถาบันสงฆ์ได้ดังเช่นหลังอูฐ กรณีธรรมกายที่เกิดขึ้นย่อมหมายถึงฟางเส้นสุดท้ายแห่งความเสื่อมสลายของสถาบันสงฆ์ไทย เช่นเดียวกับกรณีฟางเส้นสุดท้ายที่เคยเกิดขึ้นในชมพูทวีป…..วัดหมดความเป็นองค์รวมในทางความร่มรื่นร่มเย็น ซึ่งเป็นแหล่งอภัยทานสำหรับทุกหมู่เหล่า….. กระทั่งวัดกลายเป็นแค่ศูนย์พิธีกรรม เป็นลานจอดรถ และแหล่งรวมรายได้”
ปี 2548 เสฐียรพงษ์ วรรณปก ให้สัมภาษณ์กับกลุ่ม “เสขิยธรรม” อย่างตรงไปตรงมาจนเป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้น โดยระบุว่า “ธรรมกายไม่ใช่พุทธ” มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า “ฝรั่งมาสัมภาษณ์ผม ผมบอกเลยว่าไม่ใช่พุทธศาสนาในความหมายที่แท้จริง…เพราะว่าเขาไม่สำแดงคำสอนของพุทธศาสนา เพียงไปหยิบเอาคำสอนของพุทธศาสนาบางจุดเพื่อสร้างความร่ำรวย ความยิ่งใหญ่ให้แก่ตัว…ถึงกับสร้างสโลแกนว่า ขายบ้านขายรถ ทุ่มสุดฤทธิ์ ปิดเจดีย์ ไม่มีก็ให้ไปขอยืมเขามา…โอ้โห! นี่มันลัทธิขูดรีด…”
ไม่เพียงนักวิชาการ แม้แต่พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ อย่าง สมเด็จประยุทธ์ ปยุตฺโต ก็ยังเคยกล่าวถึงกรณีธรรมกายในแง่ของ“บทเรียน” โดยตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม ใช้ชื่อว่า “กรณีธรรมกาย : บทเรียนเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาและสร้างสรรค์สังคมไทย”
อาคม เอ่งฉ้วน (สวมสูท) รมช.ศึกษาธิการ พร้อมนักข่าวเข้าสนทนากับพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาส เมื่อปี 2541

บอกบุญ “ไดเร็กต์เซล” ขายปาฏิหาริย์ สะกดจิตหมู่

กระแสต้านของสังคมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้วัดพระธรรมกาย จัดพิมพ์หนังสือ “เจาะลึกวัดพระธรรมกาย”เพื่ออธิบายความเป็นมา พร้อมแก้ต่างให้กับตนเองในประเด็นหลากหลาย ตั้งแต่ พ.ศ.2541 อาทิ ยืนยันว่า “ธรรมกาย” มีในพระไตรปิฎก, ปฏิเสธว่าไม่ได้บอกบุญแบบ “ขายตรง” เป็นเพียงการ “บอกต่อ”, ทำบุญมาก ย่อมได้มาก, เอาสวรรค์มาล่อ เพราะอยากให้สนใจ ซึ่งเป็นกุศโลบายที่พระพุทธเจ้าใช้เช่นกัน รวมไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่า ธรรมกายสร้างความแตกแยกในครอบครัว อันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่างในด้านความศรัทธาของสมาชิกในบ้าน ทางวัดปฏิเสธว่า เกิดขึ้นจากสื่อมวลชนที่ไปหยิบประเด็นมาขยายเกินจริง พร้อมย้ำว่าไม่เก่งกาจขนาดสะกดจิตคนนับหมื่นให้เชื่อในปาฏิหาริย์หากมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง
ทั้งยังระบุว่า กระแสต้านหรือเสียงติติงนั้น อาจเกิดจากผู้มีใจไม่เป็นกุศล อิจฉาริษยา หมั่นไส้ หวาดระแวง หรือเสียผลประโยชน์
สานุศิษย์นับหมื่นน้ำตาอาบแก้มขณะสถาปนาธรรมกายเจดีย์ เปล่งเสียง "ชิตัง เม" อย่างพร้อมเพรียง เชื่อว่าเกิดอัศจรรย์ตะวันแก้วในรอบ 1,000 ปี
สานุศิษย์นับหมื่นน้ำตาอาบแก้มขณะสถาปนาธรรมกายเจดีย์ เปล่งเสียง “ชิตัง เม” อย่างพร้อมเพรียง เชื่อว่าเกิดอัศจรรย์ตะวันแก้วในรอบ 1,000 ปี

มหาเถรฯฟันธงธัมมชโย”ไม่ปาราชิก”

การวิพากษ์ประเด็นวัดพระธรรมกาย ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมจำพวกธุดงค์ที่มีการปิดถนนโรยดอกดาวเรือง กระทั่งกลุ่มพุทธศาสนิกชนปทุมธานียื่นจดหมายถึงผู้ว่าราชการจังหวัดให้ยุติกิจกรรมดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจากการจราจรที่ติดขัด ซ้ำยังผิดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทว่า เหตุการณ์ที่โหมไฟแห่งวิวาทะวงการผ้าเหลืองอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อ “มหาเถรสมาคม” (มส.) มีมติว่า พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่อาบัติปาราชิกจากข้อกล่าวหาเรื่องยักยอกทรัพย์ ไปจนถึงการผิดวินัยสงฆ์ ทำเอาสังคมหันมาวิพากษ์อย่างเผ็ดร้อนอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการปฏิรูปศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ และ “พระพุทธะอิสระ” เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย นครปฐม ขอตรวจสอบการทำหน้าที่ของ มส.
วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการด้านศาสนา ออกมาสร้างความฮือฮาด้วยบทสัมภาษณ์แบบยิงหมัดตรงว่า ปัญหาธรรมกายที่ใหญ่และน่ากลัว เพราะเหมือนมีองค์กรสงฆ์ที่ใหญ่เหมือนกัน เป็นกระจกสะท้อนกัน ธรรมกายก็ใช้โครงสร้างคณะสงฆ์ของรัฐซึ่งมีอำนาจมากในการขยายอิทธิพลของตัวเองด้วย วิจักขณ์ยังบอกว่า ให้มองธรรมกายเป็น “สำนัก” อย่ามองว่าเป็นพุทธแล้วพยายามไปกำจัดทิ้ง พร้อมระบุว่าวิธีการเดียวที่จะจัดการประเด็นเช่นนี้ได้คือ การ “แยกรัฐกับศาสนา”ออกจากกัน ต้องคุยกันใหม่ว่าศาสนาคือเสรีภาพทางความคิด ทุกความเชื่อควรมีสถานะเท่าเทียม หากรัฐจะคุ้มครองศาสนา ก็ต้องทำอย่างเสมอภาค
ข้อคิดเห็นนี้ ก่อกระแสถกเถียงอยู่พักใหญ่ ก่อนจะเกิดประเด็นสำคัญที่นำพาสถานการณ์มาถึงวันนี้ นั่นก็คือ คดีความที่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินมหาศาล อย่างกรณีผู้เสียหายสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่เข้าร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ให้ดำเนินคดีกับพระธัมมชโยและอดีตประธานสหกรณ์ ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร อัยการสั่งฟ้อง แต่ยังไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาตามหมายศาลมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้
เหตุการณ์จึงดำเนินมาสู่จุดที่เป็นอยู่ และสังคมยังคงเฝ้าดูอย่างตาไม่กะพริบ
พิธีตักรบาตรทอดกฐินสามัคคี พ.ศ.2539 ช่วงที่วัดพระธรรมกายรุ่งโรจน์ ได้รับความศรัทธาอย่างล้มหลาม
พิธีตักรบาตรทอดกฐินสามัคคี พ.ศ.2539 ช่วงที่วัดพระธรรมกายรุ่งโรจน์ ได้รับความศรัทธาอย่างล้มหลาม

เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช มีบัญชาเจ้าคณะใหญ่หนกลาง จัดประชุมแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(อมฺพรมหาเถร) เสด็จเป็นองค์ประธานการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ถือเป็นปฐมวาระหลังได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้ นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า มส.มีความห่วงใยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีของวัดพระธรรมกาย ซึ่งพระพรหมมุนี เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช มีบัญชาให้เจ้าคณะปกครองที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายทั้งหมดประชุมหารือถึงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธานการประชุมเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับผู้แทนกระทรวงยุติธรรม และผู้แทนมส. เข้าสังเกตการณ์ในวันนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ สมเด็จพระสังฆราช ไม่ได้มีรับสั่งอะไรโดยตรงในเรื่องนี้กับทางพศ.แต่อย่างใด ส่วนทีมที่พศ.ส่งเข้าไปประสานกับดีเอสไอนั้น ไม่ได้มีหน้าที่ในการจับกุม มีหน้าที่เพียงแค่การประสานงานเท่านั้น สำหรับที่มีกระแสข่าวว่าจะมีพระภิกษุเข้ามาเพิ่มเติมที่วัดพระธรรมกายนั้น ได้ประสานงานไปยังเจ้าคณะปกครองทุกจังหวัดให้กำชับคณะสงฆ์ หากเข้ามาจะมีความผิดตามมาตรา 44 เนื่องจากเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

ปรากฎการณ์โค่นธรรมกาย

วิพากษ์ "ปรากฎการณ์โค่นธรรมกาย" สุรพศ ทวีศักดิ์
- +
เรื่องและภาพ อินทรชัย พาณิชกุล
กว่า 2 เดือนแล้วที่ชื่อของ "วัดพระธรรมกาย" และ "พระธัมมชโย" ตกเป็นข่าวใหญ่รายวัน ท่ามกลางการจับตามองแทบไม่กะพริบของคนในสังคม
หลังจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกหมายจับพระธัมมชโยให้มารับทราบข้อกล่าวหาฟอกเงินและรับของโจรกรณีรับเช็คจากอดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ถึง 3 ครั้ง แต่ได้รับการปฏิเสธมาตลอดโดยอ้างว่าอาพาธหนัก ไม่สามารถเดินทางออกนอกวัดได้ นำไปสู่การชิงไหวชิงพริบห้ำหั่นกันด้วยข้อมูลและลมปากผ่านสื่อต่างๆ ฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจตามกฎหมายไล่บี้อย่างไม่ลดละ อีกฝ่ายหนึ่งผนึกกำลังตั้งรับอย่างเต็มที่
“สุรพศ ทวีศักดิ์” นักวิชาการด้านพุทธศาสนา ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เฝ้ามองอย่างเกาะติดชนิดไม่คลาดสายตา
ท่ามกลางความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของปมขัดแย้ง ตั้งแต่เรื่องอาบัติปาราชิกของธัมชโยที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง คดีรถหรูสมเด็จช่วง ข้อกล่าวหาว่าธรรมกายสอนบิดเบือนพระไตรปิฏก ตลอดจนความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงทางการเมืองกับขั้วตรงข้ามรัฐบาล
วันนี้เขาจะมาวิเคราะห์ปรากฎการณ์ "โค่นล้มธรรมกาย" ภายใต้หลักธรรมวินัย หลักการกฎหมาย และหลักการประชาธิปไตย
มองความพยายามที่จะโค่นล้มพระธัมมชโยรอบนี้อย่างไร
ฝ่ายที่พยายามจะโค่นล้มธรรมกายคาดหวังสูงมากว่าจะจัดการพระธัมมชโยทั้งทางกฎหมายและทางธรรมวินัยให้ได้ เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่มีสองอย่าง นั่นคือ เรื่องกฎหมาย พัวพันการทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเรื่องธรรมวินัย นั่นคือ อาบัติปาราชิก
ถามว่าเริ่มต้นมาจากไหน มันเป็นคู่ขนานมากับกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) พอคสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ)ยึดอำนาจ กปปส.ก็สนับสนุนคสช.โดยชูประเด็นเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ทีนี้ก็ผุดไอเดียปฏิรูปศาสนาขึ้นมา ซึ่งความคิดที่ไม่เอาธรรมกายอยู่ในคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว ดังนั้นการปฏิรูปศาสนาก้าวแรกที่เขาทำทันทีก็คือ รื้อฟื้นคดีธัมมชโย พอมหาเถรสมาคมไม่ตอบรับอ้างว่าจบไปแล้ว เขาก็เดินเกมต่อเรื่องรถหรูสมเด็จช่วงเพื่อสกัดไม่ให้ขึ้นเป็นสังฆราช ถ้าดูตัวละครอย่างไพบูลย์ นิติตะวัน (ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ) พระพุทธะอิสระ (เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม) นายแพทย์มโน เลาวณิช (อดีตพระที่มีบทบาทสูงในวัดพระธรรมกาย และอดีตกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ) ก็เป็นฝ่ายชงเรื่องเข้าสู่กลไกอำนาจของรัฐผ่านดีเอสไอ ชงเรื่องเข้าสู่กลไกอำนาจของมหาเถรสมาคมเพื่อจัดการกับธรรมกาย
เหตุผลที่เขาต้องการกำจัดธัมมชโยมันมีความซับซ้อน หนึ่ง กลุ่มคนชนชั้นกลางในเมือง ทั้งศิษย์พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต ผู้เขียนหนังสือกรณีธรรมกายที่บอกว่าธรรมกายสอนบิดเบือนพระไตรปิฏก) ศิษย์สวนโมกข์ กลุ่มสันติอโศก กลุ่มพุทธะอิสระ รวมทั้งอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่มองว่าธรรมกายเป็นสัทธรรมปฏิรูป ประกอบกับธัมมชโยถูกดำเนินคดีในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่มารอดในยุคทักษิณ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยโยงธรรมกายกับเพื่อไทย โยงกับทักษิณ ฉะนั้นในทางการเมืองมันเอาไว้ไม่ได้ เพราะการปฏิรูปครั้งนี้เป้าหมายหนึ่งคือขจัดขั้วของฝ่ายพรรคเพื่อไทย ขจัดขั้วทักษิณ เมื่อขจัดตรงนั้นแล้ว ผมคิดว่านายแพทย์มโนเป็นคนให้ข้อมูลกับทางฝ่ายรัฐว่า ธรรมกายเป็นภัยต่อความมั่นคง เลือกตั้งคราวหน้า ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะได้เป็นรัฐบาลก็จะยึดอาณาจักร ธรรมกายก็จะยึดศาสนจักร
เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ
ไม่ใช่เรื่องการเมืองอย่างเดียว มีหลายประเด็นทับซ้อนกัน เรื่องพระธัมมชโยทำผิดกฎหมายก็ต้องนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ต้องตัดสินออกมาให้ชัดเจนว่าผิดถูกอย่างไร แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ากระบวนการยุติธรรมตรงนี้มันถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม ถูกมองว่าไม่เป็นกลาง ถ้ากระบวนการนี้เดินหน้าต่อไป สมมติว่าจับพระธัมมชโยสึก ฝ่ายธรรมกายก็จะมองว่าฝ่ายตนถูกทำลายในทางการเมือง  ฝ่ายคนที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับธรรมกายแต่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยก็จะมองว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการมาจัดการฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันถ้าไม่สามารถจับพระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ก็จะเป็นคำถามต่อไปว่าแล้วข้อกล่าวหานี้ตกลงมันผิดหรือไม่ ทำไมถึงเอาพระธัมชโยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำยังไงมันก็มีปัญหาทั้งนั้น
ผมกลัวว่ามันจะมีการล่าแม่มดเกิดขึ้น ถ้าเขาไม่สามารถใช้ช่วงที่คสช.อยู่ในอำนาจจับธัมมชโยสึกได้ เขาก็จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับคสช.มาตรา 67 ที่บอกไว้ว่า "รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทย ส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการ ป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน มีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย"
ซึ่งคุณไพบูลย์ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะเอามาตรานี้ไปจัดการพระนอกรีตที่สอนผิดจากพระไตรปิฏก เราก็รู้กันอยู่ว่าใครสอนผิด ประพฤติผิดธรรมวินัย คนอื่นสอนผิดกันเยอะแยะ แต่ธรรมกายถูกกล่าวหาอยู่ที่เดียว พอเห็นหน้าตาของรัฐธรรมนูญที่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ก็จะมองเห็นภาพว่ากลุ่มไหนเป็นคนโกงที่ต้องปราบ พรรคการเมืองใด หรือใคร กระบวนการที่จะกำจัดธรรมกายมันถูกวางเอาไว้อย่างรัดกุม
ในระยะยาว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อจะไปกำจัดธัมชโยในอนาคต เป็นดาบต่อไป ถ้าไม่สามารถฟันได้ในตอนนี้
สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา
บางคนมองว่าคสช.อยู่เบื้องหลัง
ในความรู้สึกผมมันไม่เชิงว่าคสช.อยู่เบื้องหลัง แต่เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่สนับสนุนคสช.เขาใช้กลไกคสช.มาจัดการกับธรรมกาย คนกลุ่มนี้จะมีข้อมูลหลักฐานต่างๆที่คสช.ฟังแล้วเชื่อว่ามีน้ำหนัก เหตุผลที่คสช.เห็นด้วยเพราะเชื่อว่าธรรมกายอยู่ฝ่ายเพื่อไทย อยู่ฝ่ายทักษิณ
ถ้ามองลึกกว่านั้น ศาสนาพุทธไทยสมัยใหม่สถาปนาขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 แยกนิกายเป็นธรรมยุตกับมหานิกาย ต่อมารัชกาลที่ 5 ตั้งองค์กรปกครองสงฆ์โดยรัฐที่เรียกว่ามหาเถรสมาคม มีอำนาจทางกฎหมาย รวบอำนาจปกครองสงฆ์ทั่วประเทศไว้ที่กรุงเทพฯ มีหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าพระสงฆ์เทศแสดงธรรมให้คนรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์ จะไม่ถือว่าองค์กรสงฆ์ยุ่งกับการเมือง หรืออย่างพระกิติวุฒโฑที่บอกว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป หรือพระรูปไหนหรือกลุ่มไหนออกมาต่อสู้ทางการเมือง เช่น กลุ่มสันติอโศก กลุ่มพุทธอิสระ ถ้าคุณเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยอ้างว่าเพื่อรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การเอาศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมืองลักษณะนี้ก็จะถือว่าเป็นการยุ่งการเมืองในทางที่ถูกที่ควร
แต่ถ้าคุณเอาศาสนามายุ่งกับการเมืองในการเรียกร้องเสรีภาพ ประชาธิปไตย หรือไปสนับสนุนพรรคการเมือง แบบนี้มันผิด เป็นการดึงศาสนามายุ่งกับการเมืองซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ ฉะนั้นปรากฎการณ์ของธรรมกายจึงถูกตั้งคำถามว่า คุณเป็นองค์กรศาสนาขนาดใหญ่ มีมวลชนมหาศาล คุณจะไปสนับสนุนขั้วตรงข้ามอำนาจเก่าได้ยังไง อันนี้ผมมองว่าเป็นสิ่งที่คสช.ยอมไม่ได้
คำสอนธรรมกายเป็นพิษเป็นภัยถึงขนาดต้องโค่นล้ม กำจัดทิ้งเชียวหรือ
ธรรมกายมีส่วนที่เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา เรื่องคำสอนไม่เป็นปัญหานะ แนวทางการสอนเรื่องธรรมกายก็เอามาจากหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ซึ่งสอนกันอยู่แล้ว ส่วนการที่ธรรมกายจัดตั้งองค์กรศาสนาขนาดใหญ่ เผยแผ่ออกไปในสาขาต่างๆโดยต้องการให้ตัวเองเป็นเหมือนวาติกัน หรือแนวคิดที่ว่าบริจาคมากๆแล้วจะรวย มันไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง แม้เราจะฟันธงว่าธรรมกายสอนผิดจากพระไตรปิฏก แต่ก็ไม่มีที่ไหนสอนถูกต้องตามพระไตรปิฏกร้อยเปอร์เซนต์อยู่แล้ว มีแต่ถูกมากถูกน้อยผิดมากผิดน้อยเหมือนกันทุกวัด ทีนี้ถ้าคำสอนผิด วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องต้องแก้ปัญหาภายในของคณะสงฆ์เอง จะต้องวิพากษ์วิจารณ์ ตักเตือนกันแบบกัลยาณมิตร นำมาสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แก้ไขปรับปรุงให้มันถูกต้อง ไม่ใช่การเอาอำนาจรัฐไปจัดการ
ตามหลักของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ รัฐไม่มีอำนาจเข้าไปจัดการเรื่องสอนผิดสอนถูก พระจะประพฤติผิดหรือถูกธรรมวินัยจะใช้อำนาจรัฐไปจัดการไม่ได้ หน้าที่ของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่มีเพียงรักษาเสรีภาพความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น ใครจะสอนผิดสอนถูก ไบเบิ้ล อัลกุรอ่าน พระไตรปิฏก รัฐจะไม่ไปยุ่ง เป็นเรื่องของกลุ่มศาสนิกที่จะตกลงกันเอง แต่ทำไมชาวพุทธชนชั้นกลางในไทยที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า รักษาธรรมวินัยที่ถูกต้อง ถึงไปเรียกร้องอำนาจรัฐให้มาจัดการ ซึ่งขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาในระบอบประชาธิปไตย ยกตัวอย่างสมณโพธิรักษ์ถึงขั้นเรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 จัดการเรื่องข้อหาอาบัติปราชิก ผมนับถือสันติอโศกในเรื่องความเคร่งครัด แต่ทำไมถึงยอมรับการใช้อำนาจเผด็จการมาจัดการกับคนอื่น
สำหรับส่วนที่เป็นปัญหาของธรรมกายก็เหมือนปัญหาของกลุ่มชาวพุทธทุกกลุ่มคือ ธรรมกายยังใช้กลไกอำนาจรัฐผ่านมหาเถรสมาคมในการเผยแผ่ ทำกิจกรรมทางศาสนาใหญ่ๆ ตรงนี้ก็ขัดกับหลักเสรีภาพทางศาสนาในระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่รัฐไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาส่งเสริมสนับสนุนศาสนา รัฐไม่ได้ support  แต่รัฐปล่อยให้เป็นอิสระคือให้องค์กรศาสนาเป็นเอกชนเลย เหมือนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ศาสนาจะไปสอนในโรงเรียนไม่ได้ ไม่มีการบังคับ ฝรั่งเศสนี่แยกได้เด็ดขาดเลย แต่บ้านเราเนื่องจากมันไม่แยกศาสนาออกจากรัฐ มีองค์กรสงฆ์ของรัฐมีอำนาจตามกฎหมาย แล้วยังมีรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาอีก ธรรมกายใช้อำนาจรัฐและใช้กลไกคณะสงฆ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนนี้่แหละที่ทำให้คนกลัว
มีคนบอกว่า ถ้าวัดพระธรรมกายเป็นลัทธินิกายอื่นคงไม่มีปัญหา แต่พอเป็นเถรวาท คำสอนประเภทที่ว่าบริจาคมากเท่าไหร่ก็ได้บุญมากเท่านั้น ต้องปิดบัญชีทางโลกถึงจะเปิดบัญชีทางธรรมได้ พระรุ่นดูดทรัพย์ สอนว่าโคตรรวย โคตรรวย โคตรรวย แบบนี้ไม่ถูกต้องเพราะไม่ใช่คำสอนทางพุทธศาสนา
คำถามผมคือ ถ้าธรรมกายสอนผิดพระไตรปิฏกของเถรวาท แล้วคุณจะจัดการกับเขายังไง ถ้าคุณจัดการกับเขาภายใต้กรอบของธรรมวินัยเพียวๆโดยไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ เช่น สมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าใช้หลักธรรมวินัยในการแก้ปัญหาภายในคณะสงฆ์ เมื่อพระเทวทัตแยกกลุ่มออกไป พระพุทธเจ้าไม่เคยเอาอำนาจรัฐมาแก้ปัญหา วิธีการจัดการของพระพุทธเจ้าคือ ส่งพระสารีบุตรที่รู้หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องของพุทธศาสนาไปชี้แจงกับพระที่ถูกพระเทวทัตหลอก พอชี้แจงแล้วพระเหล่านั้นก็กลับใจ ส่วนคนที่ไม่เชื่อเขาก็อยู่กับพระเทวทัตต่อไป นี่คือวิธีการของพระพุทธเจ้า
ถ้าคุณเห็นว่าธรรมกายผิด สิ่งที่คุณต้องจัดการกับธรรมกายคือ วิพากษ์วิจารณ์ แสดงหลักฐานออกมาว่าพระไตรปิฏกที่ถูกต้องมันเป็นยังไง คำสอนธรรมกายที่ว่าผิดมันผิดตรงไหน ถ้าธรรมกายเขาเห็นด้วยกับคุณ เขาก็จะเปลี่ยน หรือถ้าธรรมกายยืนยันว่าเขาถูก เขาก็จะหาหลักฐานมาอ้างอิงว่าถูกยังไง ต้องสู้กันแบบนี้ ส่วนชาวพุทธทั่วไปก็ต้องรับฟังข้อมูลข่าวสารทั้งสองฝ่าย ถ้าเห็นด้วยเขามีเสรีภาพที่จะเลือกอยู่กับธรรมกายหรือเลิกนับถือก็ได้ ซึ่งตามตัวหลักการของรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ รัฐจะเข้าไปยุ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ยกเว้นถ้าพระทำผิดกฎหมาย เช่น ทุจริตคอร์รัปชั่น รัฐไปยุ่งได้ แต่เรื่องผิดถูกธรรมวินัย รัฐเข้าไปยุ่งไม่ได้ โดยหลักธรรมวินัยของพุทธศาสนาเองก็ไม่ได้มีข้อไหนบัญญัติไว้ว่าต้องให้รัฐเข้ามาจัดการ ถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐจะไม่มีปัญหาเลย
สมมติถ้าเมืองไทยแยกศาสนาออกจากรัฐ การแก้ไขปัญหาเรื่องธัมมชโยจะออกมารูปแบบไหน
ถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐ องค์กรศาสนาทุกศาสนาจะกลายเป็นเอกชนหมด และจะมีเสรีภาพในการศึกษาตีความ คำว่าสงฆ์หรือสังฆะ ก็จะไม่ใช่คณะสงฆ์แบบนี้ แต่จะหมายถึงสงฆ์ในสำนักต่างๆ ตามสายครูบาอาจารย์ต่างๆ ทีนี้ปัญหาที่ว่าธรรมกายสอนผิด ผู้ที่จะตัดสินก็อยู่ที่คณะสงฆ์ของสายวัดธรรมกาย รวมถึงญาติโยมที่เขาศรัทธาวัดธรรมกาย ถ้าเขาเห็นว่าสิ่งที่ธรรมกายสอนอยู่ไม่ได้ผิดจากพระไตรปิฏก เขาก็ยืนยันจะเชื่อแบบนั้น ส่วนกลุ่มอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่ไม่สามารถให้อำนาจรัฐ หรือองค์กรส่วนกลางไปจัดการกับเขาได้ คุณก็แค่ไม่ไปวัดธรรมกาย เลิกศรัทธา ต่างคนต่างอยู่ แค่นั้นเอง
ถามว่ารัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไร รัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องในแง่ที่ว่าต้องตรวจสอบความโปร่งใสของทุกองค์กรศาสนา ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา องค์กรศาสนาจะส่งบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองมาแสดงให้หน่วยงานรัฐซึ่งคล้ายๆกับสตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ตรวจสอบความโปร่งใสทุก 6 เดือน ถ้ามีแบบนี้มันจะชัดเจน แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันมันไม่ใช่ สตง.ไม่ได้ไปตรวจสอบวัด วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งอยู่เหมือนเดิม วัดธรรมกายที่มีปัญหาเพราะมีการบริหารจัดการเงินจำนวนมหาศาลยังไงไม่มีใครรู้ แต่ถ้าเป็นเอกชน องค์กรศาสนาก็ไม่ต่างกับบริษัทห้างร้านต่างๆที่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้องชี้แจงรายรับรายจ่ายของตัวเองให้เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณะ
ส่วนการตีความคำสอนทางศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ ความเชื่อเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่มีเสรีภาพว่าจะเชื่อหรือไม่ เพราะฉะนั้นปัญหาของธรรมกายที่อ้างเรื่องสอนผิดสอนถูก มาเถียงกัน มากำจัดกันอย่างทุกวันนี้ก็จะจบไป แล้วรัฐก็จะไม่เป็นเวทีความขัดแย้งทางศาสนาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจ้องจะใช้เป็นเครื่องมือฟาดฟันอีกฝ่าย ประวัติศาสตร์บอกแล้วว่า เราผิดพลาดมาหลายครั้ง ตั้งแต่กรณีพระพิมลธรรม (สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช) ที่เกิดมาจากความอิจฉาในวงการสงฆ์ แล้วยืมมือเผด็จการไปจัดการกับศัตรูของตัวเอง ผมว่านี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า
หมายความว่าการแยกศาสนาออกจากรัฐจะควบคุมธรรมกายได้อยู่หมัดงั้นหรือ
มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปควบคุมธรรมกาย แต่เป็นเสรีภาพที่คนไทยเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะศรัทธาหรือไม่ศรัทธา
สมมติว่าถ้าแยกศาสนาออกจากรัฐ ธรรมกายมีทุนเยอะ แต่อย่าลืมว่าที่ธรรมกายโตในเมืองไทยได้เขาไม่ได้ใช้ทุนอย่างเดียว แต่ใช้อำนาจรัฐเป็นตัวช่วย เช่น จัดปฏิบัติธรรมโดยใช้งบประมาณรัฐพันกว่าล้านสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตรงนี้เกี่ยวกับหน่วยงานราชการ เพราะต้องเกณฑ์คนมา ต้องส่งพระไปอยู่วัดต่างๆ ถ้าธรรมกายใช้อำนาจมหาเถรสมาคมไม่ได้ เขาจะทำได้ยังไง ต้องได้รับอนุมัติจากพระผู้ใหญ่เขาถึงส่งไปอยู่วัดต่างๆได้ และมีเงินด้วย แต่หากเป็นอิสระจากรัฐ ก็จะใช้อำนาจรัฐไม่ได้ เป็นเรื่องความสมัครใจของวัดต่างๆเองว่าจะเอาด้วยหรือปฏิเสธวัดธรรมกาย
ถ้าคุณกลัวธรรมกายจะโต คุณต้องเสนออะไรที่ดีกว่าธรรมกาย แข่งกับธรรมกาย เหมือนกับคุณกลัวทักษิณ คุณก็ต้องเอาชนะทักษิณด้วยการเสนอนโยบายที่เหนือกว่าเขา แต่ถ้าคุณเอาเผด็จการมาชนะทักษิณมันไม่ได้ชนะจริง ไม่ได้ทำให้คนศรัทธาทักษิณน้อยลง เช่นเดียวกันถ้าคุณเอาอำนาจเผด็จการมากำจัดธรรมกาย คิดเหรอว่าคนจะศรัทธาธรรมกายน้อยลง
แล้วตอนนี้ ทำไมมหาเถรสมาคมถึงไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาตามหลักธรรมวินัย
ผมเข้าใจว่า ชาวพุทธเราอาจจะเติบโตมากับพุทธศาสนาแบบไทย เหมือนกับคุณยอมรับศาสนาที่ชนชั้นนำสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยร.4-ร.5จนถึงปัจจุบันว่ามันถูกต้องแล้ว ชนชั้นกลางไทยเสพพุทธศาสนาที่บอกว่าก้าวหน้า มีเหตุมีผล เป็นวิทยาศาสตร์ แต่คุณไม่ตั้งคำถามเลยกับศาสนาที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ร.4-ร.5  ซึ่งเป็นศาสนาสมัยใหม่ที่ยึดโยงอยู่กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีองค์กรสงฆ์ที่มีอำนาจทำหน้าที่สนับสนุนรัฐมาตลอด แล้วก็เสพความคิดของนักปราชญ์สองท่านคือ ท่านพุทธทาสภิกขุกับท่านพระพรหมคุณาภรณ์ ตัวท่านพุทธทาสภิกขุเองก็ตีความคำสอนพุทธศาสนามาสนับสนุนระบอบเผด็จการโดยธรรม และท่านก็ปฏิเสธเสรีประชาธิปไตยโดยอ้างว่าถ้าปล่อยให้มีเสรีภาพมาก คนมันก็ไปตามอำนาจกิเลส กลุ่มที่ต่อสู้ทางการเมืองในช่วงสิบกว่าปีนี้จะอ้างคำท่านพุทธทาสมากที่สุด อ้างคำสอนเรื่องเผด็จการโดยธรรมคือเผด็จการโดยคนดี ต้องเอาคนดีมาปกครอง จะเป็นคนดีคนเดียวหรือเป็นคณะก็ได้
ส่วนเจ้าคุณประยุทธ์ท่านก็ตีความพุทธศาสนาไปในทางก้าวหน้าเยอะแยะ แต่ท่านไม่เคยตั้งคำถามกับอำนาจคณะสงฆ์ว่ามันชอบธรรมตามพระธรรมวินัยหรือไม่ ท่านพยายามปกป้องธรรมวินัยบริสุทธิ์ตามพระไตรปิฏก แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าองค์กรมหาเถรสมาคมที่ตั้งขึ้นอาศัยความชอบธรรมของพระธรรมวินัยข้อไหน มันก็แค่รัฐตั้งขึ้นมา มียศมีตำแหน่ง มีสมณศักดิ์ มีอำนาจตามกฎหมายที่เป็นเผด็จการด้วย แต่กลับมาบอกว่ามีหน้าที่รักษาความบริสุทธิ์ของพระธรรมวินัย มันคล้ายกับว่าจู่ๆมีคณะบุคคลหนึ่งยึดอำนาจเข้ามาแล้วบอกว่าจะสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้ เราก็ยอมรับโดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าคณะบุคคลนั้นมาโดยชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่ เมื่อมาไม่ชอบธรรมแล้วจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ยังไง ก็เหมือนกับองค์กรสงฆ์ เราไม่ตั้งคำถามว่ามาโดยชอบธรรมหรือไม่ มีหลักพระธรรมวินัยมารองรับหรือเปล่า เราไม่เคยตั้งคำถาม คิดแต่ว่าคณะสงฆ์แบบนี้จะรักษาธรรมวินัยไว้ได้ สุดท้ายมันก็เลยเถิดมาถึงทุกวันนี้ ไม่สามารถรักษาพระธรรมวินัยบริสุทธิ์ได้ แถมยังเละเทะไปหมด
ที่ผ่านมาเคยมีข้อครหาว่ามหาเถรสมาคมถูกซื้อตัว
คำว่าถูกซื้อ คงมองในแง่ตัวบุคคล แต่ผมคิดว่าปัญหาอยู่ที่ตัวโครงสร้าง
ถ้าจะให้เห็นภาพ เราต้องเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ของยุโรป เพราะยุโรปเริ่มจากการปฏิรูปศาสนา แต่การปฏิรูปศาสนาของเขาเริ่มจากการท้าทายอำนาจของศาสนจักร ซึ่งอำนาจของคริสตจักรที่ผูกติดอยู่กับรัฐถูกตั้งคำถามว่ามีการฉ้อฉล ต่อมามีการแยกนิกายต่างๆออกไป ต่อสู้กันเนิ่นนานกระทั่งถึงที่สุดแล้วก็เข้าสู่สมัยใหม่โดยการแยกศาสนาออกจากรัฐ ปล่อยให้ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคล เป็นเรื่องของเสรีภาพที่คนจะเลือกนับถือหรือไม่นับถือ การปฏิรูปของเขาเป็นแบบนี้
ทีนี้ในประวัติศาสตร์รัฐที่นับถือพุทธศาสนาในเอเชียอาคเนย์ รวมทั้งไทย รัฐพยายามที่จะควบคุมศาสนาอยู่เรื่อยๆ ทั้งตั้งสังฆราช ให้สมณศักดิ์ ออกกฎหมายเอาผิด ร.1ออกกฎหมาย 10 ฉบับเพื่อเอาผิดกับพระที่ผิดธรรมวินัย แต่ตอนนั้นยังไม่มีคณะสงฆ์ที่มีอำนาจรัฐในการควบคุมพระสงฆ์ทั้งประเทศอย่างเป็นทางการ พอถึงสมัยร.5 ปฏิรูประบบราชการ รวมศูนย์อำนาจ มีการตั้งมหาเถรสมาคมขึ้น ฉะนั้นการปฏิรูปของบ้านเราจึงต่างจากตะวันตก ตะวันตกเริ่มจากการท้าทายอำนาจ แต่บ้านเราเริ่มจากอำนาจรัฐส่วนบนทำการปฏิรูป บ้านเขาปฏิรูปโดยการเอาศาสนาออกไปจากรัฐ องค์กรศาสนาเป็นเอกชน แต่เราปฏิรูปการตั้งศาสนจักรขึ้นมา คือ มหาเถรสมาคม ให้มีอำนาจในการคุมพระทั้งประเทศ มันสวนทางกันเลย (หัวเราะ)
ที่พูดกันนักหนาว่า สังคมไทยมีเสรีภาพทางศาสนา แต่เป็นเสรีภาพแบบไทยๆ เสรีภาพแบบไทยๆคือ ขอบเขตของเสรีภาพอยู่ที่ชนชั้นนำเป็นผู้กำหนด แต่เสรีภาพแบบสากล ขอบเขตของเสรีภาพอยู่ที่ประชาชนเป็นผู้กำหนด เสรีภาพแบบไทยๆมาถึงจุดหนึ่งคุณพูดต่อไม่ได้ แต่เสรีภาพทางศาสนาแบบตะวันตก รัฐเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ บ้านเรารัฐแทรกแซงผ่านมหาเถรสมาคมตลอดเวลา บางทีผู้นำรัฐบาลพูดเองเลย อย่างเช่นสมัยจอมพลสฤษฎ์ ธนะรัชต์ (อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ผู้มีส่วนสำคัญในการออกกฎหมายพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505) บอกว่าพระสอนเรื่องสันโดษไม่ได้ ประเทศไม่พัฒนา แล้วการที่รัฐใช้กลไกศาสนาในการทำอะไรต่างๆ ตั้งแต่นโยบายหมู่บ้านศีลห้า ห้ามบวชภิษุณี ก็ขัดหลักเสรีภาพทางศาสนาแบบสากล  ฉะนั้นพอเดินมาถึงจุดนี้แล้วแทนที่เราจะค่อยๆคลายมันออก ปรากฎว่ามันกลับยิ่งเข้มขึ้น
ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่องค์กรมหาเถรสมาคมจะถูกซื้อ ก็ในเมื่อโครงสร้างมันถูกกำหนดไว้แบบนี้ แล้วมหาเถรสมาคมก็มีอำนาจมหาศาล คณะมหาเถรสมาคม 20 รูปมีอำนาจที่จะให้สมณศักดิ์ ให้ตำแหน่งพระทั่วประเทศ เป็นเรื่องการโยงใยอำนาจ มีการวิ่งเต้นเรื่องเงินอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะมากมาย โครงสร้างแบบนี้เลยทำให้ธรรมวินัยไม่เวิร์ค ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามธรรมวินัยได้จริง ตราบใดที่ไม่ยกเลิกโครงสร้างแบบนี้ ปัญหาที่เป็นอยู่ ความขัดแย้งอะไรต่างๆก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ
การปฏิรูปศาสนา ตามหลักการควรจะพุ่งเป้าไปที่การแยกศาสนาออกจากรัฐ แต่กลับรื้อฟื้นคดีธัมมชโยเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยเล่นงานสมเด็จช่วงเรื่องรถหรู แบบนี้ดูเหมือนปฏิรูปธรรมกายมากกว่าจะปฏิรูปศาสนา
(หัวเราะ) ที่คุณบอกว่าจะปฏิรูปศาสนามันไม่ใช่การปฏิรูป ความคิดปฏิรูปศาสนาของไทยเป็นความคิดแบบชนชั้นนำ คือปฏิรูปศาสนาโดยขจัดฝ่ายที่ตัวเองมองว่าผิด และใช้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการ ในประวัติศาสตร์ทำแบบนี้มาตลอด อย่าลืมว่าพุทธศาสนาไทยเกี่ยวข้องกับการเมืองมาตลอด สมัยร.4ก็เป็นเรื่องขึ้นครองราชย์ แทนที่ร.4จะได้ขึ้น แต่ร.3กลับได้ขึ้น ทำให้ท่านต้องบวชยาว ก็จำเป็นต้องตั้งนิกายที่จะสนับสนุนตัวเองขึ้นมา มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
การปฏิรูปศาสนายุคนี้ เป้าหมายต้องการกำจัดธรรมกาย ก็มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอีก มันไม่ใช่ปฏิรูปศาสนาในลักษณะที่จะแยกศาสนาออกไปจากรัฐ สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่เสรีภาพทางศาสนามันเป็นไปได้ แต่สิ่งที่คุณกำลังปฏิรูปอยู่ขณะนี้ทำให้เสรีภาพทางศาสนามันเป็นไปไม่ได้ด้วยการปล่อยให้มีการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการขจัดความเชื่อต่างทางศาสนา ตรงนี้ทำให้ผมเศร้าใจกับชาวพุทธไทยที่บอกว่าตัวเองกำลังปกป้องความบริสุทธิ์ของพุทธศาสนา แต่คุณไม่อายที่จะใช้อำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการไปขจัดฝ่ายตรงข้าม การใช้อำนาจรัฐเผด็จการไปกำจัดคนอื่นไม่น่าไปด้วยกันได้กับธรรมวินัย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเราแบบนี้ พระพุทธเจ้าจะไม่เรียกร้องให้รัฐมาเอาผิดกับใครก็ตามที่มาหมิ่้นพุทธศาสนา
ในพระไตรปิฏกพระพุทธเจ้าบอกว่าใครกล่าวตำหนิ หรือจาบจ้วงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งแรกที่ชาวพุทธควรทำคือ ต้องไม่โกรธ และชี้แจงข้อเท็จจริงไปว่าเป็นอย่างไร เขาเห็นด้วยก็ดี ไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเอาอำนาจรัฐเข้ามาจัดการ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าออกบิณฑบาตแล้วมีคนมายืนด่าท่าน พระอานนท์จึงทูลเชิญไปอยู่เมืองอื่น พระพุทธเจ้าถามว่าถ้าไปเมืองอื่นแล้วมีคนมาด่าอีกจะทำยังไง พระอานนท์ตอบว่าก็ย้ายไปอีกเมือง พระพุทธเจ้าเลยบอกว่าถ้าทำแบบนั้นก็หนีปัญหาไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นปล่อยให้เขาด่าไปเถอะ ถ้าเขาเหนื่อย เขาเบื่อ เดี๋ยวก็เลิกด่าไปเอง สุดท้ายแล้วความสงบสยบความเคลื่อนไหว สิ่งที่เขาด่าไม่จริง
ฉะนั้นไม่มีเหตุผลเลยที่จะออกกฎหมายลงโทษคนจาบจ้วงพุทธศาสนาอะไรต่างๆอย่างที่ชาวพุทธในยุคปัจจุบันทำกัน  การเอาคนที่คุณมองว่าเขาหมิ่นศาสนามาเข้าคุก คุณจะอธิบายคำสอนในพุทธศาสนาที่สอนให้เราไม่โกรธ สอนให้คุณมีเมตตา มีขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ได้ยังไง คำว่าเมตตา สันติธรรม ควรจะไปด้วยกันกับสังคมประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ เปิดให้คนวิพากษ์วิจารณ์กันได้เต็มที่ พอใครมาวิจารณ์ศาสนาเราแรงๆ วิจารณ์ตัวเราแรงๆ ก็มีโอกาสที่จะได้ฝึกความเมตตา ฝึกขันติธรรม แต่การที่คุณทนไม่ได้ และจะเอาเขาเข้าคุก โอ้โห มันยิ่งกว่าความโกรธอีกนะ
ฟังดูน่ากลัวมาก
ใช่ ความน่าเป็นห่วงของบ้านเราคือ ต้องการบรรลุเป้าหมายโดยไม่สนวิธีการ เป็นอย่างนี้ทุกกลุ่ม วัดธรรมกายก็ต้องการสร้างความยิ่งใหญ่ ดึงอำนาจรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแผ่คำสอนของตัวเอง เพื่อทำกิจกรรมทางศาสนา ทำให้อาณาจักรของตัวเองยิ่งใหญ่โดยไม่สนวิธีการ เพียงแต่ธรรมกายไม่ดึงอำนาจรัฐมาเป็นเครื่องมือทำลายคนอื่นเท่านั้นเอง นี่คือส่วนที่เป็นข้อดี
ปรากฎการณ์แบบนี้ทำให้กลุ่มอื่นกลัวธรรมกาย ยิ่งธรรมกายมาอยู่ขั้วอำนาจใหม่ ขั้วอำนาจเก่าก็ยิ่งกลัว เพราะที่ผ่านมาศาสนาอยู่กับขั้วอำนาจเก่ามาตลอด แบบนี้เป็นการแหกจารีต ทำให้ขั้วอำนาจเก่าหวาดระแวง กลุ่มที่ไม่ชอบคำสอนธรรมกาย กลุ่มที่ตัดสินว่าเจ้าอาวาสอาบัติปาราชิกก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อจัดการ
ความขัดแย้งตอนนี้ก็ไม่เห็นมีใครที่จะเดินตามธรรมวินัยจริงๆ หรือเดินตามหลักการประชาธิปไตยสมัยใหม่จริงๆแม้แต่กลุ่มเดียว

มองท่าทีนิ่งเฉยของมหาเถรสมาคมอย่างไร
ถ้าเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่โดนกล่าวหาว่าทุจริตก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้โดยตรง แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหเถรสมาคมคือเรื่องผิดธรรมวินัย เรื่องอาบัติปาราชิก ตอนนี้เห็นว่าคุณไพบูลย์กับนายแพทย์มโนได้ไปร้องเรียนกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชัยญาติการาม เจ้าคณะหนกลางแล้ว ผมมองว่ามหาเถรสมาคมอยู่ในฐานะลำบากใจว่าจะเอายังไง เพราะช่วงที่ผ่านมาธรรมกายทำอะไรในลักษณะที่ช่วยเหลือมหาเถรสมาคมเยอะ เช่น ตักบาตรหมื่นรูป จัดกิจกรรมศาสนาใหญ่ๆ บริจาคเงินให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ เอางบประมาณลงไปช่วยเหลือพระภาคใต้
ผมคิดว่าในมุมมองของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในมหาเถรสมาคมคงจะมองแง่บวกต่อธรรมกาย
คิดยังไงที่ธรรมกายตั้งรับเต็มที่ สร้างป้อมปราการ เรียกพระจากทุกสาขากลับวัด ระดมศิษยานุศิษย์เพื่อปกป้องเจ้าอาวาส
อย่างที่ผมบอก ธรรมกายเป็นเหมือนลัทธิ ความศรัทธาที่มีต่อเจ้าอาวาสมันอยู่เหนือเหตุผลไปแล้ว เขาประกาศตัวเองว่าเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของเจ้าอาวาส ทั้งที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์เลยด้วยซ้ำ ลักษณะปกป้องตัวเองแบบนี้เคยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยโดนคดีครั้งแรกเมื่อปี 2541 แล้ว ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อนของวัดธรรมกายเหมือนกันว่า คุณไม่ยอมรับกระบวนการทางกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา คุณกำลังสร้างพลังต่อรอง พูดตรงๆก็เหมือนกับกำลังแสดงอภิสิทธิ์อะไรบางอย่าง
ยกตัวอย่างว่าถ้าคุณกล่าวหาว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งทุจริต ถ้ามหาวิทยาลัยตั้งป้อมปราการแบบนี้ ก็จะถือว่าต่อต้านรัฐ ต่อต้านกฎหมาย ถ้าเป็นสถานการณ์ในรัฐบาลปกติ คุณไม่ควรทำแบบนั้น แต่ธรรมกายก็เคยทำมาแล้ว และสุดท้ายก็ใช้กลไกของพระผู้ใหญ่คือวัดชนะสงครามให้ธัมมชโยมารับทราบข้อกล่าวหา  ในรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย การทำตรงนั้นธรรมกายไม่มีความชอบธรรม แต่ประเด็นคือ ตอนนี้กระบวนการที่ไปจัดการกับธรรมกายทำให้เขามีความชอบธรรมที่จะปกป้องตัวเอง ทำให้เขาอ้างได้ว่ามีความชอบธรรมที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เห็นว่าไม่เป็นธรรม
อะไรคือบทเรียนที่ธัมมชโยได้รับจากคดีที่แล้ว
การรอดครั้งนั้นอัยการสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลว่าพระธัมมชโยคืนเงินให้ทางวัดแล้ว ถ้าดำเนินคดีต่อไปก็จะเกิดความวุ่นวายในหมู่ชาวพุทธ เพราะธรรมกายมีคนศรัทธาเป็นจำนวนมาก ผมมองว่าเหตุผลตรงนี้มันไม่เคลียร์
คนที่ตั้งข้อกังขาเรื่องธรรมวินัยก็จะบอกว่า ถ้าเอาเงินไปเป็นของส่วนตัว แม้บาทเดียวก็ต้องขาดจากความเป็นพระ แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า ในข้อเท็จจริงแล้วธัมมชโยซื้อที่ดินด้วยชื่อตัวเองก็จริง แต่ที่ดินนั้นเป็นชื่อของธัมมชโยจริงไหม พระธัมมชโยได้เอาไปเป็นสมบัติของตัวเองจริงหรือว่ายังเป็นของวัดอยู่ ทางคณะสงฆ์วัดธรรมกายและญาติโยมเขาก็ยอมรับในการบริหารจัดการแบบนี้คือยอมให้เจ้าอาวาสถือเงินและบริหารจัดการ โดยเชื่อว่ายังเป็นของวัดอยู่ ถ้าเขาเชื่อกันแบบนั้นมันก็เอาผิดทางธรรมวินัยไม่ได้ แต่ธรรมกายก็ไม่ได้พูดออกมาชัดเจนว่าระบบการบริหารจัดการเงินเป็นอย่างไร ตรงนี้ไงที่ผมบอกว่าการแยกศาสนาออกจากรัฐมันจะช่วยทำให้โปร่งใส
บทสรุปของธัมมชโยในคดีนี้จะเป็นอย่างไร
ตามกระบวนการที่กำลังทำอยู่ ในที่สุดก็จะมีการเจรจานำไปสู่ข้อสรุปที่พบกันครึ่งทาง นั่นคือ มอบตัว รับทราบข้อกล่าวหา และอนุญาตให้ประกันตัว หลังจากนั้นธรรมกายจะยื้อต่อไปให้นานที่สุด
ขณะเดียวกัน คสช.คงไม่กล้าเร่งรัดตามเสียงเรียกร้องของกองเชียร์ ผมคิดว่าเขาไม่กล้าแตกหักถึงขั้นนั้น และผมเชื่อว่าภายในคสช.เองก็ไม่ได้มีเอกภาพในเรื่องนี้ ถ้าคสช.กล้าทำแบบนั้นก็หมายความว่าเขาต้องเปิดศึกหลายด้าน ไหนจะเรื่องประชามติที่พรรคการเมืองต่างๆก็ไม่ค่อยจะสนับสนุนเต็มที่เท่าไหร่ นี่ก็ศึกหนัก ถ้ามาเปิดศึกกับธรรมกาย ซึ่งมีมวลชนเยอะทั้งในและต่างประเทศ ภาพลักษณ์คสช.จะเสียหาย ในประเทศ คนที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตยแม้ไม่ได้สนับสนุนธรรมกาย แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการแบบนี้ ส่วนในต่างประเทศคสช.อาจถูกมองว่าใช้อำนาจเผด็จการรังแกแม้กระทั่งพระ ละเมิดเสรีภาพทางการเมืองไม่พอ ยังละเมิดเสรีภาพทางศาสนาด้วย
แล้วทางออกที่เหมาะสมควรในทัศนะของอาจารย์คืออะไร
ผมขอเสนอว่าน่าจะพบกันครึ่งทาง พระธัมมชโยมอบตัว เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย และให้ประกันตัว แต่ให้เรื่องคาไว้ก่อน ยังไม่ต้องเร่งรัดที่จะเอาเข้าคุก รอให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เป็นกลาง ไม่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายไหน แล้วค่อยตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยฝ่ายต่างๆมาร่วมกันดำเนินการซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่ามีความเป็นกลาง แบบนั้นน่าจะดีกว่า
ผมไม่ได้เลื่อมใสธรรมกาย แต่ผมยืนยันในหลักการประชาธิปไตย ถ้าเราใช้กระบวนการที่ถูกตั้งคำถามว่าไม่มีชอบธรรมให้เดินหน้าต่อไปมันจะไม่ช่วยแก้ปัญหา รังแต่จะเพิ่มปัญหามากขึ้นด้วยซ้ำ สมมติคุณจับพระธัมมชโยสึกได้ตามที่กองเชียร์เรียกร้อง คำถามต่อไปคือ แล้วคุณจะบริหารศรัทธาของคนจำนวนมากได้ยังไง ถ้าเขาลุกฮือ ไม่ยอมรับ หรือต่อต้านกระบวนการนี้
อาจารย์สมภาร พรมทา (อาจารย์ประจำคณะภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจว่า ลักษณะของสำนักพุทธศาสนาแบบธรรมกาย หรือสันติอโศกมีความเป็นลัทธิ คำว่าลัทธิหมายถึงมีผู้นำที่มีบารมีสูง มีคนศรัทธาชนิดมอบกายถวายชีวิตให้ ซึ่งต่างจากวัดทั่วๆไป ฉะนั้นวิธีที่เราจะปฏิบัติต่อสำนักแบบนี้ต้องมีความละเอียดอ่อน คำว่าละเอียดอ่อนไม่ได้หมายความว่าไปให้อภิสิทธิ์ ทำอย่างเสมอภาคนั่นแหละ เพียงแต่เราต้องคำนึงถึงคนเป็นจำนวนมากด้วย ถ้าคุณใช้กระบวนการที่ถูกตั้งคำถามว่าไม่ชอบธรรมเข้าไปจัดการเด็ดขาดมันอาจสะใจฝ่ายหนึ่ง แต่ประวัติศาสตร์บอกเราแล้วว่า เมื่อตอนที่คุณกล่าวหาว่าธรรมกายสอนบิดเบือนธรรมวินัย กล่าวหาว่าธัมมชโยปราชิกตั้งแต่คดีก่อน จนถึงวันนี้ญาติโยมของธรรมกายไม่ได้ลดลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้น ธรรมกายไม่ได้เล็กลง มีแต่โตขึ้นทั้งในและต่างประเทศ
เหมือนกับคุณคิดว่าจะกำจัดทักษิณไปจากการเมือง ปรากฎว่าคนที่รักทักษิณไม่ได้ลดลง แม้แต่คนที่เคยเกลียดทักษิณตอนนี้ก็เริ่มเห็นแล้วว่ากระบวนการที่เผด็จการมันสร้างปัญหามากกว่า เขาอาจไม่ได้เชียร์ทักษิณ แต่เขาเห็นปัญหาของกระบวนการที่ไม่ถูกต้องมันนำพาบ้านเมืองมาจนถึงวันนี้ โอเค คุณอาจชนะทักษิณได้ ทำให้ทักษิณกลับประเทศไม่ได้ ปิดปากคนได้ แต่คุณไม่สามารถเปลี่ยนให้คนมาเห็นด้วยและมาอยู่ฝ่ายคุณได้ มีแต่ฝ่ายเขาจะเพิ่มขึ้น แม้แต่ฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณแต่ยืนยันอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็จะเริ่้มไปเห็นอกเห็นใจฝ่ายนั้น เห็นอกเห็นใจธรรมกาย กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดการกับธรรมกาย ไม่ได้หมายความว่าเขาเชื่อว่าพระธัมมชโยไม่โกง ไม่ได้เชื่อว่าบริสุทธิ์ คนละเรื่องกัน
ถ้าเรายืนยันหลักการประชาธิปไตย ถึงผู้ถูกกล่าวหาทำผิดจริง เราก็ต้องยืนยันกระบวนการที่จะดำเนินการกับเขาให้ถูกต้อง

ข่าว20/2/60

ธรรมกาย

นายกฯ ติดตามตรวจค้นวัดพระธรรมกายใกล้ชิด ขอทุกฝ่ายเข้าใจ จนท. จำเป็นต้องทำ ขออย่ามีปะทะ แนะพระธัมมชโย มอบตัวสู้คดี 

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ว่า นายกรัฐมนตรีได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด ซึ่งขณะนี้ก็มีความชัดเจนในเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ ว่า เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเป็นผู้ดำเนินการหลักในการเข้าตรวจค้นพื้นที่รอบวัดพระธรรมกาย ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารจะเป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าทางเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย มิเช่นนั้นจะกลายเป็นลัทธิตัวอย่าง ว่ามีพื้นที่ที่บังคับกฎหมายไม่ได้ แต่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอมีความยืดหยุ่นในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งมีความระมัดระวังไม่ให้เกิดการปะทะ จึงไม่จำเป็จต้องเป็นห่วง ส่วนการทางวัดมีการเชิญชวน และระดมลูกศิษย์เข้ามาภายในวัด กว่า 500,000 คน นั้น ก็จะเชื่อว่าไม่ทำให้สถานการณ์บานปลาย เพราะสังคมเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องของศาสนา แต่ต้องการใช้คนมาเป็นโล่กำบัง จึงขอให้พุทธศาสนิกชนพิจารณาว่าสมควรหรือไม่ แต่ทั้งนี้หากต้องการเข้ามาสวดมนต์ก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องทำหน้าที่

อย่างไรก็ตาม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังย้ำว่า การดำเนินการทั้งหมดไม่ตัดสินว่าพระธัมชโยมีความผิด แต่อยากให้เข้ามาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม
----
พล.อ.ประวิตร กำชับ จนท. ดำเนินการวัดพระธรรมกายเข้มงวด ตามกระบวนการกฎหมาย เร่งสอบ พระธัมมชโย ออกจากวัดเมื่อ 16 ก.พ.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน กับลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ว่า ไม่ได้ปะทะกันอย่างรุนแรง ตีกันจนหัวแตก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอดอาวุธ เข้าไปมือเปล่า และเข้าไปตามกระบวนการของกฎหมาย โดยยืนยันว่าไม่ได้รังแกประชาชน ขณะนี้เหลือเพียงประตู 5 และประตู 6 ที่เจ้าหน้าที่ยังเข้าไม่ได้โดยสั่งให้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม เร่งสร้างความเข้าใจกับพระและลูกศิษย์วัด

ส่วนกรณีที่ทางวัดประกาศให้เครือข่ายวัดพระธรรมกายทั่วโลก กดดันเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ทำร้ายพระนั้น พล.อ.ประวิตร ย้อนถามกลับว่า แล้วตอบได้หรือไม่ว่าขณะนี้พระธัมมชโยอยู่ไหน ซึ่งเจ้า

หน้าที่ก็มีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ ส่วนที่มีพระลูกวัดออกมาเปิดเผยว่า พระธัมมชโย ออกจากวัด ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความจริง เบื้องต้นจากการ
ตรวจค้นยังไม่พบอาวุธ แต่ต้องดูทุกที่และหาผู้ที่ถูกหมายเรียกหมายจับ โดยล่าสุดยังไม่มารายงานตัว ก็ให้เป็นเรื่องของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ดำเนินการต่อ ซึ่งอาจถึงขั้นออกหมายจับ
//////////
"วิษณุ" ยัน ยังไม่ยกเลิก ม.44 ควบคุมวัดพระธรรมกาย โยนถาม พล.อ.ประวิตร คำขู่ยกระดับชุมนุม โยนถาม พลังงาน ปม EHIA โรงไฟฟ้า 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึง กระแสข่าวว่าจะมีการยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาตรา 44 ควบคุมวัดพระธรรมกาย ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ส่วนกรณีที่วัดพระธรรมกายเรียกร้องให้มีการยกเลิกคำสั่งมาตรา 44 มิฉะนั้นจะมีการยกระดับการชุมนุมนั้น ขอให้ถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ส่วนตัวยังไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อน

พร้อมกันนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ.กระบี่ ว่า ไม่ทราบว่าจะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีก
หรือไม่ ขอให้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
/////////
ถ่านหิน

พล.อ.ประวิตร ไม่ตอบโต้ นักวิชาการเสนอใช้ปาล์มแทนถ่านหิน ยัน รบ. ทำตามขั้นตอน วิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ขอให้ไว้ใจ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการแนะนำการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้ปาล์มแทนถ่านหิน ว่า ไม่ตอบโต้แนวคิดนี้ แต่ยืนยันว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน ซึ่งหากไม่ทำตอนนี้ ในอนาคตภาคใต้ก็จะมีไฟฟ้าใช้อย่างไม่เพียงพอ สำหรับการใช้ถ่านหินนั้นก็มีหลายระดับ ที่มีทั้งการเผาไหม้หมดด้วย จึงขอให้ไว้ใจรัฐบาล และเข้าใจในความจำเป็น ไม่ใช่โจมตีเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ยังยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ถอย แต่ต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EIA และ EHIA  ที่แน่นอน
------
พล.อ.ประวิตร ย้ำ รบ. ไม่มีแนวคิดเลื่อนโรดแมป เร่งเดินหน้าสร้างความปรองดอง จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าภาคใต้ยันยึดขั้นตอน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีแนวคิดเปลี่ยนแปลงโรดแมป โดยจะต้องมีการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าสู่ความปรองดอง อยู่ระหว่างระดมสมอง จากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ลดความขัดแย้ง ซึ่งการปรองดองนั้น ไม่ได้หมายถึงการมานั่งทานข้าวกัน เพียงแต่หมายถึงการหารือร่วมกัน วางยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ยังชี้แจงถึงแนวทางการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเทคโนโลยีถ่านหินนั้นไม่เหมือนเดิม ถ่านหินนั้นมีหลายระดับ โดยที่จะนำมาใช้นั้นมีการเผาไหม้ และเป็นเทคโนโลยีสะอาด 100% ทั้งนี้รัฐบาล มีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ร่วมกันหารือและศึกษาถึงผลกระทบ และสิ่งที่จะใช้ในการผลิตพลังงานเพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นของรัฐบาล
-------------------
โฆษก รบ. ขออย่านำเรื่องทบทวน EIA - EHIA มาเป็นประเด็น ยันกลุ่มเห็นต่างไม่ได้คัดค้านก่อสร้างโรงไฟฟ้า  

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กลับไปทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และกระบวนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ หรือ EHIA ซึ่งหลายฝ่ายเกิดความสับสนว่าเป็นการเริ่มทำใหม่ทั้งหมดหรือไม่ ว่า กลุ่มผู้เห็นต่างไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า หรือจะผลิตไฟฟ้าด้วยสิ่งใด เพียงแต่มองว่าขั้นตอนการประเมินกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วน

ร่วมตั้งแต่ต้น นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ทบทวน EHIA อีกครั้ง แต่จะเป็นการเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่ต้น หรือการนำของเดิมมาปรับแก้ไขนั้นมองว่า ผลที่ได้ก็ไม่ได้แตกต่างกัน จึงไม่อยากให้นำมาเป็นประเด็น
////////
ปรองดอง
อนุฯ ปรองดอง หารือพรรคการเมืองวันที่ 5 พล.อ.ชัยชาญ ยัน พท. ตอบรับเข้าร่วมแล้ว เร่งกำหนดวันเข้าพูดคุย 

บรรยากาศการประชุมคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ ซึ่งในวันนี้ถือเป็นวันที่ 5 แล้ว และได้เชิญพรรคประชาธรรม และพรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน เข้ามาให้ความเห็นและข้อเสนอ ในการสร้างความสามัคคีปรองดอง

โดยยึดตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญและแนวทาง 10 ด้านที่คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
ได้กำหนดไว้ รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหา และการหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติในอนาคตด้วย ซึ่งในวันนี้ทางพรรคประชาสามัคคี ไม่ได้เดินเข้ามาร่วมหารือในครั้งนี้ ตามที่นัดหมายไว้ แต่ยินดีที่จะเข้าร่วมหารือในครั้งต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น ขณะนี้ได้รับหนังสือเชิญ และได้ส่งหนังสือตอบรับ มายังคณะอนุกรรมการฯ แล้ว โดยอยู่ระหว่างการกำหนดวันหาหรือต่อไป
------
"สุรพงษ์" เผย พรรคเพื่อไทย เตรียมหารือปรองดองพรุ่งนี้ พร้อมยืนยันร่วมเวที ป.ย.ป. แน่นอน

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ ที่พรรคเพื่อไทยจะมีการหารือคัดเลือกตัวบุคคล และกำหนดวัน เพื่อไปพูดคุยต่อคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในคณะกรรมการ ป.ย.ป. ที่กระทรวงกลาโหม โดยย้ำว่า พรรคเพื่อไทย จะไปร่วมเวทีนี้ด้วยอย่างแน่นอน พร้อมมองว่าหากทุกฝ่ายอยากเห็นบ้านเมืองมีความสงบสุข ทุกฝ่ายจะต้องหาทางยุติความขัดแย้ง และยอมถอยกันคนละก้าว เพราะไม่มีใครจะได้ทุกอย่าง ตามที่แต่ละฝ่ายต้องการได้เสมอไป

ขณะที่วันนี้ ตนเองเดินทางมารับทราบ และตรวจสอบเอกสารรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง ในกระบวนการถอดถอน ที่ สนช. จะมีการแถลงเปิดคดีในวันที่ 9 มีนาคมนี้ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.
ชี้มูลความผิด ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากกรณีการออกหนังสือเดินทางให้แก่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมิชอบ พร้อมยืนยันว่า การออกหนังสือ

เดินทางนั้น เป็นอำนาจของปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมการกงสุล และตนไม่เคยก้าวล่วงอำนาจ หรือไปก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ
-----
อนุฯปรองดอง สปท.เชิญ"ดิเรก"ให้ข้อมูล คาดสรุปเนื้อหาส่ง กมธ.ได้ภายในต้นเดือน มี.ค.นี้ ยันไม่มีข้อเสนอเกี่ยวกับนิรโทษกรรม 

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ เลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษารวบรวมความเห็นวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเด็นการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองทางการเมือง สปท. และ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยกับสำนักข่าว INN  ว่า ในวันนี้ จะมีการเชิญ นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีต สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดอง เมื่อปี พ.ศ.2552 เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะ ก่อนที่จะมีการยกร่างสรุปข้องมูลทั้งหมดจากการศึกษา โดยใช้รายงานชุดของ สปช.เดิม ที่มี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นผู้เสนอ เป็นโครงร่าง และประกอบกับความเห็นของฉบับอื่นๆ ที่ได้เชิญมาให้ข้อมูล เสนอต่อ กมธ.ขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองต่อไป ภายใน ต้นเดือน มี.ค.นี้


ทั้งนี้ พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า ขณะนี้ มีหลายฝ่าย ได้เริ่มดำเนินการเรื่องของการปรองดองแล้ว ภายใต้กรอบร่วมกัน คือ เหตุการณ์ ในอดีต จะต้องหาสาเหตุ หาความจริง ที่เกิดขึ้น, ส่วนเรื่องในปัจจุบัน

ก็จะต้องดำเนินการให้เกิดการอำนวยความสะดวกในกระบวนการยุติธรรม รวมถึง เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือเสียหาย ส่วนแนวทางในอนาคต จะต้องมีการวางกลไก  เพื่อป้องกันความขัดแย้ง

เกิดขึ้นอีก แต่ก็ไม่ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางในการนิรโทษกรรมแต่อย่างใด แม้จะมีความคล้ายคลิงกับ มาตรา 66/23 เมื่อหลายปีก่อนก็ตาม
----------
สมาชิก สปท. ขอประธานให้รองประธาน ที่เข้าร่วม ป.ย.ป. รายงานคืบหน้าการทำงานทุกครั้ง - ถอน วาระ รายงาน กมธ. พลังงาน 

ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นประธานการประชุม แต่ก่อนเข้าสู่วาระ สมาชิก สปท. ได้ขอหารือ โดยเสนอให้รองประธาน สปท. ที่เข้าร่วมทำงานกับคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป. ได้รายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนการปฏิรูปทุกครั้งก่อนการประชุม สปท. พร้อมเสนอว่า สมาชิก สปท. ควรมีส่วนร่วมในการทำงานกับคณะกรรมการ ป.ย.ป. อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่รับการรับคำสั่งเท่านั้น ซึ่งประธาน สปท. ได้รับเรื่องไว้พิจารณา

จากนั้น ประธาน สปท. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอถอนรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เรื่อง การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ ออกจากวาระการประชุม สปท. ในวันนี้ เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ ต้องการนำรายงานเสนอต่อกระทรวงพลังงานโดยตรง จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าที่ประชุม สปท. เพื่อส่งให้นายกรัฐมนตรีก่อน
-----------
คสช. กำชับทุกภาคส่วนติดตามคืบหน้า ป.ย.ป. ใช้กลไกที่มีอยู่สร้างความสามัคคีปรองดอง 

พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศภายใต้การทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.) และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันเพื่อบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นระบบใน 36 ประเด็นหลัก จึงได้กำชับให้ทุกส่วน โดยเฉพาะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในระดับพื้นที่ ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารและความคืบหน้าของการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ให้ใช้กลไกที่มีอยู่ดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับงานสร้างความสามัคคีปรองดอง คู่ขนานกับในระดับนโยบายอย่างต่อเนื่อง และ คสช. จะได้ใช้ทุกช่องทางในการนำเสนอข้อมูลที่เป็น

จริง รวมทั้งการติดตามและป้องกันมิให้มีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่ง คสช. มีความห่วงใย จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบด้านในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
-------
"พล.อ.ประวิตร" โต้ "จตุพร" อย่าขู่ ชี้ทำผิด กม. ต้องถูกดำเนินคดีแน่  แนะหากมีอะไรให้มาพูดคุยอย่างเปิดเผย 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ระบุหากภายในเดือนเมษายนนี้การปรองดองไม่มีผลออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจนทางกลุ่มจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเอง ว่า ขออย่ามาขู่หรือจัดสร้างม็อบ เพราะบ้านเมืองต้องการความเจริญก้าวหน้า และการเดินหน้าสร้างความปรองดอง จะต้องมีความก้าวหน้าอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลได้วางแนวทางไว้แล้ว รวมถึงเปิดเวทีถึงระดับล่าง ที่สำคัญการปรองดองไม่ใช่เป็นการนั่งคุย แล้วแล้วกอดคอกัน แต่ต้องมีมาตรการร่วมกันที่จะทำให้บ้านเมืองเดินต่อ

อย่างไรก็ตาม หากกลุ่ม นปช. จะเปิดเวทีจะเปิดเวทีคู่ขนานกับรัฐบาล หากผิดกฎหมายต้องถูกดำเนินคดี เพราะรัฐบาลยังไม่อนุญาตให้กลุ่มการเมืองเคลื่อนไหว และหาก นายจตุพร มีข้อสงสัยใดก็ขอให้มาพบ และมาคุยกันอย่างเปิดเผย
--------
"จตุพร" ยัน ไม่ได้ข่มขู่เรื่องปรองดอง ไม่มีแนวคิดจัดเวทีแข่ง ขอให้ พล.อ.ประวิจร ฟังข้อเท็จจริง ยินดีเข้าร่วมพูดคุยตามที่เชิญ 

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ชี้แจง กรณีการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่พาดพิงตนเอง และระบุว่าหากปรองดองไม่คืบหน้าเป็นรูปธรรมใน 3 เดือน จะจัดเวทีแข่งนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด พร้อมอธิบายว่าสิ่งที่พูดคือ การเปิดเผยถึงหนังสือเชิญไปร่วมให้ข้อมูลที่กระทรวงกลาโหม ส่วนเรื่องกรอบเวลานั้น เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้กำหนดเองเท่านั้น และในโอกาสของการสร้างความปรองดอง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยดีอยู่ในขณะนี้ จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบ ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เพราะหากเป็นข้อมูลเท็จจะยิ่งเป็นการขยายความขัดแย้งมากขึ้น

พร้อมกันนี้ นายจตุพร ยืนยันว่า นปช. จะให้ความร่วมมือในการสร้างความปรองดอง ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่นายกรัฐมนตรีน้อมรับมาปฏิบัติ ยืนยันจะไม่ขัดขวางอย่างแน่นอน เพราะรู้ดีว่าหากเลือกตั้งไปแล้ว แต่ยังไม่มีการปรองดอง ประเทศก็จะเดินหน้าไม่ได้ แต่ นปช. ขอให้ยึดหลักการในการปรองดอง ด้วยความเป็นธรรม เท่าเทียม พร้อมย้ำว่า จะเข้าร่วมเวที ตามที่กระทรวงกลาโหมเชิญมาอย่างแน่นอน และหาก พล.อ.ประวิตร ต้องการให้เข้าพูดคุยเป็นการส่วนตัว ก็พร้อมตลอดเวลา
----------
"เพื่อไทย" ตอกย้ำ รัฐบาลสอบตกด้านเศรษฐกิจ มองยังคงเป็นขาลง แนะดูแผนของสิงคโปร์ ชี้หากแก้ไขไม่ได้ ควรเร่งจัดการเลือกตั้ง 

นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เติบโตเพียง 3% เท่านั้น ซึ่งต่ำที่สุดใน 4 ไตรมาส ซึ่งเป็นไป
ตามที่คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ได้เคยเตือนไว้แล้วว่ามีแนวโน้มจะตกต่ำ แต่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไม่ฟังและตอบโต้ ว่า ทั้งปีจะโตได้ 3.5% แต่จริง ๆ ขยายตัวได้แค่ 3.2% เท่านั้น แม้ว่าจะมี
การออกนโยบายลดแลกแจกแถม ช้อปและเที่ยวช่วยชาติ สามารถหักภาษีได้แล้วก็ตาม ซึ่งผลสำรวจล่าสุดก็พบว่ารัฐบาลสอบตกในการบริหารเศรษฐกิจ อยากให้รัฐบาลเปิดใจรับฟัง ทุกครั้งที่คณะทำงานเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยออกมาเตือน ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นจริงทั้งหมด

ทั้งนี้ นางสาวอนุตตมา ยังกล่าวว่า อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังย่ำแย่ การว่างงานเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นเป็น 1.2% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก หากเป็นไทยแลนด์ 4.0 จริง การว่างงานอาจจะเพิ่มอีกหลายล้านคนตามกระแสเทคโนโลยีที่จะทดแทนการจ้างงาน รัฐบาลควรต้องเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้ และสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยมีความเห็นตรงกับ ดร.วีรพงษ์รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ว่าปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจขาลงและอาจจะลงเร็วมาก ไม่ได้เป็นเศรษฐกิจขาขึ้นอย่างที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลพยายามจะทำการตลาดแต่อย่างไร และอยากให้รัฐบาลได้ไปดูแผนเศรษฐกิจใหม่ของสิงคโปร์ที่ออกมาแล้ว ซึ่งต่างกับของยุทธศาสตร์ 20 ปี ของรัฐบาลไทยอย่างมาก

ดังนั้น หากรัฐบาลสอบตกทางเศรษฐกิจและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็ควรเร่งให้ประชาชนได้ตัดสินเลือกผู้บริหารประเทศที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาทำหน้าที่แทนจะเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่าที่จะอยู่ต่อไป และทำประเทศเสียหายเพิ่มมากขึ้น
------------
////////
ทุจริต

นายกฯ สั่ง ก.คลัง - สำนักงบฯ - สำนักบัญชีกลาง เร่งวางแนวทางการปฏิบัติจัดซื้อจัดจ้าง ระหว่าง รอ พ.ร.บ.ใหม่ ย้ำเน้นโปร่งใส

นายอำพน กิติอำพน ผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี หรือ PMDU แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 2/2560 ว่า นายกรัฐมนตรีได้

สั่งการให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง วางแนวทางการปฏิบัติในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ โดยเน้นในเรื่องของการกำหนดทีโออาร์ หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง ให้มีความโปร่งใส และภาครัฐได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมถึงกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ต้องทำ

ให้ได้ราคากลางที่ถูกต้อง แก้ปัญหาการสมยอมราคา รวมถึงการพิจารณาการจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต โดยไม่ผ่านคนกลาง

นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันในโครงการของภาครัฐ ซึ่งจะให้บริษัทต่างชาติ สามารถเข้ามาดำเนินการได้ และเรื่องนี้จะต้องมีการกลั่นกรองกติกาต่าง ๆ อย่าง

รอบคอบ และเหมาะสม รวมถึงการเพิ่มจำนวนโครงการที่ดำเนินการภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่ปัจจุบันมีการดำเนินงานใน 35 โครงการแล้ว เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลและเพิ่มประสิทธิภาพของ

โครงการ รวมถึงการลดการใช้งบประมาณของภาครัฐ และที่สำคัญต้องเพิ่มกระบวนการการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน
--------
กรมบัญชีกลาง เสนอทำสัญญาคุณธรรมทุกโครงการของรัฐ พร้อมตั้ง คกก. ดูแลราคากลาง 

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง ได้รายงานปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทศาสตร์ รับทราบ เพื่อ

ให้มีมาตรการบังคับโดยเร่งด่วนในระหว่างรอพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในช่วงเดือนกันยายน โดยได้เสนอให้เพิ่มการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในโครงการ

ของรัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในทุกโครงการของรัฐและเริ่มต้นทำตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดราคากลางและการทำTOR ขณะเดียวกัน ขอให้มีการตั้ง

คณะอนุกรรมการข้อตกลงคุณธรรมขึ้นมาดูแลเรื่องการกำหนดราคากลางโดยเฉพาะ ซึ่งจะประกอบด้วยผู้ที่มีความเป็นกลางกับองค์กรวิชาชีพ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่กลั่นกรองราคา

กลางด้านการก่อสร้างที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้รวบรวมไว้ และจัดทำราคากลางการจัดซื้อครุภัณฑ์เข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าร่วมประมูลโครงการของรัฐ พี่มีงบลงทุน
5 พันล้านขึ้นไป แต่ที่ประชุมได้มีการมอบหมายให้มี มีการกลั่นกรองกติกาให้มีความเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงบประมาณ จะต้องจัดทำรายงานข้อเสนอทั้งหมดส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 1 มีนาคม นี้
--------------
"พีระศักดิ์" ยืนยัน เร่งสอบ 7 สนช. ขาดประชุม คาดสัปดาห์นี้ได้ข้อสรุป ขณะยังไม่ฟันผิดจริยธรรม

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรม สนช. กล่าวถึงกรณีการสอบจริยธรรม สมาชิก สนช. ทั้ง 7 คน ที่มีชื่อขาดการลงมติบ่อยครั้ง ว่า

ขณะนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นที่จับตามองของสังคม ประธาน สนช. จึงสั่งการให้เร่งพิจารณาให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว โดยเบื้องต้นจะพิจารณาแบ่งเป็น 2 เรื่อง

คือ การขาดประชุมเกินกว่า 1 ใน 3 ของการลงมติทั้งหมดภายในกรอบระยะเวลา 90 วัน ตามข้อบังคับการประชุม สนช. ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จะส่งผลให้ขาดการเป็น
สมาชิกภาพในทันที ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีข้อเท็จจริงเป็นบันทึกการประชุมอยู่แล้ว โดยจะมีการนัดประชุมกรรมการจริยธรรมอีกครั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นี้ เวลา 09.00 น. คาดว่า จะได้ข้อยุติ

ส่วนความผิดด้านจริยธรรม ต้องมีการตรวจสอบทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องก่อน เพราะการลาของสมาชิกทั้ง 7 คน มีลักษณะการลาเป็นช่วงเวลา ซึ่งการพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับมีจำนวนครั้งการลง

มติไม่เท่ากัน ดังนั้น ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลจึงจะได้ข้อสรุปว่ามีความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ หากพบว่ามี จะต้องส่งให้ที่ประชุม สนช. เป็นผู้พิจารณาตามข้อบังคับการประชุมต่อไป
-------------
"พรเพชร" ปัดตอบ ตั้งกรรมการสอบ 7 สนช. ขาดประชุม เอี่ยวน้องนายกฯ ย้ำ อนุมัติใบลาถูกต้อง สับสนข่าวตัดงบบัตรทอง 30 บาท

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิเสธตอบคำถามว่า การตั้งกรรมการสอบจริยธรรม เปิดเผยว่า หลังมีคำสั่งให้คณะกรรมการจริยธรรมตรวจสอบ 7 สนช. ที่มีชื่อขาดการลง

มติบ่อยครั้ง เพราะเกี่ยวข้องกับหนึ่งใน สนช. เป็นน้องชายนายกรัฐมนตรี นั้น ตนไม่ทราบ แต่การแต่งตั้งกรรมการสอบครั้งนี้ เนื่องจากมีการร้องเรียนเข้ามา

ส่วนกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมรวบรวมข้อมูลยื่นให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ นายพรเพชร ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากการอนุมัติใบลาให้กับสมาชิก สนช. โดยไม่ถูกต้อง นั้น นายพร

เพชร ยืนยันว่า ได้อนุมัติไปตามหลักการและข้อบังคับ ไม่ได้ละเลยหรืออนุมัติให้โดยง่าย และไม่อนุมัติใบลาย้อนหลัง ขณะที่สถิติของกลุ่มไอลอว์ที่ออกมาเป็นข้อมูลที่อยู่ในช่วงก่อน
เกษียณอายุราชการของ สนช. บางคนที่ถูกพาดพิง

นอกจากนี้ นายพรเพชร กล่าวถึงกระแสข่าว สนช. ตัดงบประมาณปี 2561 ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ของ สปสช. ไปกว่า 13,000 ล้านบาท โดยยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่อง

จากงบประมาณประจำปี 2561 ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.
-----------

คสช.สั่ง กกล.รส.ทุกกองทัพภาค สนับสนุนกระบวนการปรองดอง ในระดับพื้นที่

คสช.สั่ง กกล.รส.ทุกกองทัพภาค สนับสนุนกระบวนการปรองดอง ในระดับพื้นที่ /"บิ๊กแกละ"ขอปชช.ใช้วิจารญาณในการรับข่าวสาร สั่ง คสช.จะใช้ทุกช่องทาง นำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงให้สังคมได้รับทราบ แถมติดตามและป้องกัน มิให้มีการนำเสนอข้อมูลบิดเบือน
บิ๊กแกละ พลเอก พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองผบ.ทบ/ รองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมสำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แทน พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.และ เลขาฯคสช. ที่เดินทางไปเยือน ลาว 20-21กพ.60

พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช.กล่าวว่า ในปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศภายใต้การทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน (กขป.) และสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันเพื่อบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นระบบใน ๓๖ ประเด็นหลัก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานภายใต้กรอบดังกล่าว พลเอกพิสิทธิ์ ได้กำชับให้ทุกส่วน โดยเฉพาะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในระดับพื้นที่ ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารและความคืบหน้าของการขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการดังกล่าว ในขณะเดียวกันให้ใช้กลไกที่มีอยู่ดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับงานสร้างความสามัคคีปรองดอง คู่ขนานกับในระดับนโยบายอย่างต่อเนื่อง
การประชุมในวันนี้ พลเอก พิสิทธิ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย บางส่วนอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีความห่วงใยจึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนได้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบด้านในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
ในขณะเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะได้ใช้ทุกช่องทางในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงให้สังคมได้รับทราบ รวมทั้งการติดตามและป้องกัน มิให้มีการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน เพื่อให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของสังคมเป็นไปอย่างถูกต้อง นำมาซึ่งความรักความสามัคคีและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองต่อไป

"บิ๊กป้อม" ชี้ เราผ่านพ้น ยุคเปลี่ยนผ่าน จากร.9 มา ร.10ด้วยความเรียบร้อย



"บิ๊กป้อม" ชี้ เราผ่านพ้น ยุคเปลี่ยนผ่าน จากร.9 มา ร.10ด้วยความเรียบร้อย
เพราะมีความมั่นคง ที่ได้ช่วยให้ประเทศเดินหน้าได้ ด้วยพระบารมีของ ร.9/ ขานรับ แนวคิด "พล.อ.บุญสร้าง"เพื่อนรักตท.6 ประธาน คลังสมอง วปอ. สร้าง "ผู้นำพอเพียง เพื่อความมั่นคง" 60คนแรก บิ๊กปุย ผบ.สส.เผยปีนี้จะอบรม 3รุ่น หวังสร้างคน เป็นผู้นำในสังคมยุคใหม่/ชี้ คสช.ดูแลความมั่นคง จนผ่านยุคเปลี่ยนผ่าน ไปด้วยความเรียบร้อย /ชื่นชมว่า เป็นการสร้างคน เป็นผู้นำในสังคมยุคใหม่ ที่สอดรับกับแนวทางยุทธศาสตร์ชาติของ คสช./ชี้ คสช. เข้ามายุติความขัดแย้ง ทำให้ประเทศสงบ เดินหน้าไปได้ /บิ๊กป้อม ยันไม่ต้องลงนาม"สัญญาประชาคม"เผยไอเดียปรองดอง ให้ "ออกทีวี "ให้ทุกคนได้รับทราบ ....ชี้ เลือกตั้งแล้ว พรรคได้คะแนนมาก จัดตั้งรัฐบาล แล้วใครค้าน นั่นล่ะผิด‬/ยืนยันว่า คสช.ไม่มีการเปลี่ยน โรดแมพ ที่จะเลือกตั้ง ให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่ถาวร มั่นคง ไม่ต้องมาแบ่งฝ่าย....ชี้การปรองดอง จะทำได้หรือ ไม่ ขึ้นอยู่กับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่เรา แต่เปิดให้ทุกฝ่ายมาร่วม 2 ระดับ คือ ระดับบน ในส่วนของคณะกรรมการ รับฟังความคิดเห็น และ ในระดับจังหวัด ในระดับกองทัพภาค ตำรวจภูธร จังหวัด ยันปรองดองไม่ใช่ให้มานั่งกินข้าวกอดคอกัน ไม่ใช่มานั่งถกเถียงกัน แต่ต้องมีข้อตกลงร่วมกัน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดหลักสูตรอบรม"ผู้นำพอเพียง เพื่อความมั่นคง" รุ่นแรก จำนวน60 คน ทั้งทหาร จนท.รัฐ และเอกชน
โครงการนี้เป็นแนวคิดของ พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร6 ของพลเอกประวิตร และในฐานะประธานมูลนิธิคลังสมอง วปอ.
โดย พลเอกสุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าวว่า ปีนี้จะอบรมจำนวน3 รุ่นๆละ 60คน มีทั้งทหาร จนท.รัฐ และเอกชน
พล.อ.ประวิตร กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดอบรมว่า หลักสูตรผู้นำพอเพียง เพื่อความมั่นคง จะเป็นประโยชน์ใน การสร้างพลเมือง และผู้นำที่สอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินมหาทรภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานยุทธศาสตร์พัฒนาในการต่อสู้กับความยากจน ทรงมีวิริยะ อุตสาหะ อุทิศพระองค์ปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ ก่อให้เกิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหลักการทรงงาน พระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพสกนิกรชาวไทยและเป็นที่ยอมรับของโลก
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า หลักสูตรผู้นำพอเพียง เพื่อความมั่นคง นอกจากเป็นการสร้างคนให้เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นผู้นำของสังคมยุคใหม่แล้ว ยังเป็นการดำรงสืบทอดทรัพย์สินทางปัญญาและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ในห้วงเวลานี้ ซึ่งขณะนี้เรามีผู้นำที่เพียงพอแล้ว แต่ผู้นำยังไม่มีความพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมิน มหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้พวกเราได้เห็น
โดยในห้วงระยะเวลาเกือบ 3 ปีถือเป็นเวลาที่สำคัญยิ่ง หลังจากที่ทางคสช. เข้ามายุติความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศเกิดความสงบและเดินไปข้างหน้า
"ถือเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน และเราก็ผ่านพ้นมา ถือเป็นความสำคัญ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อมาจนถึง รัชกาลที่ 10 จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในเรื่องของงานด้านความมั่นคงที่ทุกคนได้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทหารตำรวจข้าราชการพลเรือน ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมที่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไปสู่ความมั่นคง
ที่เราทำแบบนี้ได้เพราะด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงงาน ตลอดระยะเวลา 70 ปี ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าความพอเพียงที่พระองค์ท่านได้ทรงทำ ได้ทรงปฏิบัติมานั้น ได้เข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกประชาชน และประชาชนได้ให้ความเคารพ เชื่อมั่นในพระบารมีของพระองค์ท่าน ที่ทำให้ประเทศนี้เจริญรุ่งเรืองมาได้ตลอดระยะเวลา 70 ปี "
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในห้วงระยะเวลาจะเป็นห้วงที่ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ได้ปรับทั้งยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ แต่สิ่งที่เราดำเนินการอยู่ในขณะนี้ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า เมื่อ คสช.เข้าไปยุติความขัดแย้งแล้ว ต่อไปเราจะทำอย่างไร นอกจากการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ นั่นก็คือการสร้างความปรองดอง ที่จะเกิดขึ้นภายในชาติ แต่การปรองดองไม่ใช่เรากอดคอมานั่งกินข้าวกัน จะต้องเป็นการปรองดอง ที่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และมองไปถึงยุทธศาสตร์ 20 ปีข้างหน้าว่าประเทศจะต้องเดินอย่างไร ที่ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนต่อไป
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า งานในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจด้านสังคมเรื่องความมั่นคงสำคัญที่สุดคือต้องมาก่อน หากไม่มั่นคงทุกอย่างจะเกิดไม่ได้ ทั้งนี้งานทางด้านความมั่นคงไม่ใช่เฉพาะตำรวจและทหาร หรือข้าราชการ แต่ทุกคนต้องร่วมกันทำอย่างไรให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน
"ขณะนี้ประเทศอยู่ในห้วงการเปลี่ยนผ่านที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ตามโรดแมปที่ชัดเจน และนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้ว ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนโรดแมพและจะเดินไปตามนี้ และต้องมีการเลือกตั้งต่อไปในอนาคต เพื่อให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่ถาวร และมั่นคงต่อไปในอนาคต จะได้ไม่ต้องมีการแบ่งกลุ่มเป็นฝ่าย 2 ฝ่าย"
ในขณะนี้เราก็พยายามที่จะทำ ในเรื่องของการปรองดองในทุกๆส่วน ทำพรรคการเมือง ผู้เชี่ยวชาญต่างๆนักวิชาการ ประชาสังคม
"บางคนมองว่า ในเรื่องของการปรองดองจะทำได้แน่หรือไม่ ซึ่งก็ยังดีว่าเป็นแนวทาง ในการให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วม ซึ่งตนก็ทำใน 2 ระดับ ในระดับบน ในระดับรัฐบาลและระดับกองทัพ ทำคู่ขนานกันไป เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าจะอยู่กันอย่างไร ใน 10 ประเด็นที่ระบุไว้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องไปลงนาม ซึ่งจะได้ดูว่าคนไหนที่เข้าใจและคนไหนที่ยังไม่เข้าใจ
" เช่นหากเกิดการเลือกตั้งแล้ว คนที่ได้คะแนนมากให้จัดตั้งรัฐบาล เดี๋ยวก็มีคนออกมาเดินขบวน ก็จะต้องรู้ว่าการกระทำดังกล่าวนั้นผิดตามข้อตกลง ร่วมกัน"
ทั้งนี้เมื่อรับฟังข้อเสนอจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายทุกภาคส่วนแล้วเราก็จะสรุปแล้วก็ออกทีวีเพื่อประกาศให้ประชาชนได้รับทราบต่อไป"

ออกทีวี ทำ‪ "สัญญาประชาคม"



ออกทีวี ทำ‪ "สัญญาประชาคม"
บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร ยันไม่ต้องลงนาม"สัญญาประชาคม"เผยไอเดียปรองดอง ให้ "ออกทีวี "ให้ทุกคนได้รับทราบ ....ชี้ เลือกตั้งแล้ว พรรคได้คะแนนมาก จัดตั้งรัฐบาล แล้วใครค้าน นั่นล่ะผิด‬
ยืนยันว่า คสช.ไม่มีการเปลี่ยน โรดแมพ ที่จะเลือกตั้ง ให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่ถาวร มั่นคง ไม่ต้องมาแบ่งฝ่าย....ชี้การปรองดอง จะทำได้หรือ ไม่ ขึ้นอยู่กับทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่เรา แต่เปิดให้ทุกฝ่ายมาร่วม 2 ระดับ คือ ระดับบน ในส่วนของคณะกรรมการ รับฟังความคิดเห็น และ ในระดับจังหวัด ในระดับกองทัพภาค ตำรวจภูธร จังหวัด ยันปรองดองไม่ใช่ให้มานั่งกินข้าวกอดคอกัน ไม่ใช่มานั่งถกเถียงกัน แต่ต้องมีข้อตกลงร่วมกัน

ยังไง ก็ต้องสร้าง !!!



ยังไง ก็ต้องสร้าง !!!
"บิ๊กป้อม" ชี้ จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้า กระบี่ ไม่งั้นไฟไม่พอ สมุย-ภูเก็ต ไฟดับตลอด เราต้องดูแลปชช. มองอนาคต แต่ไม่เข้าใจกัน ยันเทคโนโลยี่สมัยใหม่ มีหลายระดับ ยันถ่านหินเผาไหม้หมด ไม่เหลือ ไม่มีpollution ชี้รัฐไม่ใช่อยากทำอะไร ก็ทำ มีการศึกษา มีผู้ทรงคุณวุฒิฯช่วยทำ ยัน นายกฯไม่ได้ถอย เพราะกลัวการเมืองแทรก ยันไม่ได้ถอย แต่ให้ทำ EIA, EHIA ทำตามขั้นตอน ยังไงก็ต้องสร้าง. วอนเข้าใจรัฐบาลบ้าง ไม่ใช่คิดแต่จะโจมตีรัฐบาล
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ว่า ปัจจุบันเราประสบปัญหากับความไม่เข้าใจของประชาชน ในเรื่องของพลังงาน รัฐบาลพยายามหาวิธีต่างๆในเรื่องของพลังงานเพื่อให้พื้นที่ภาคใต้ มีพลังงานใช้
"ต่อไปไฟฟ้า จะไม่ดับที่ เกาะสมุย และที่ ภูเก็ต ซึ่งเราก็ต้องเตรียมการล่วงหน้า ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีโรงไฟฟ้าที่จะดูแลประชาชนในอนาคตเลย "
แต่ยังมีประชาชนไม่เข้าใจ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทั้ง EIA และEHIA เรามีผู้ทรงคุณวุฒิได้ไปศึกษาแล้วและมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินในยุคใหม่ ไม่เหมือนยุคเก่า มีการเผาไหม้ทั้งหมด เนื่องจากถ่านหินมีหลายระดับ เพื่อที่จะนำไปใช้ในเรื่องของการผลิตพลังงาน ซึ่งต้องเข้าใจตรงนี้
" ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆรัฐบาลอยากจะทำอะไรก็ทำ รัฐบาลมีผู้ทรงคุณวุฒิ มีผู้เชี่ยวชาญ ในการที่จะให้ความคิดมากมายเพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าให้ได้ โดยมียุทธศาสตร์ที่ถูกต้องมีการปฏิรูปประเทศรวมถึงการปฏิรูปในหลายๆเรื่อง "
พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงข้อเสนอจากนักวิชาการใช้น้ำมันปาล์มมาผลิตไฟฟ้าทดแทน โรงไฟฟ้าถ่านหินว่า ผมไม่เถียง อะไรก็สามารถทำได้ เวลานี้รัฐบาลทำมาทั้งหมดได้มีการทำตามขั้นตอนทุกอย่าง
ส่วนกรณีนายกฯสั่งยกเลิกรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA)และรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ( EHIA) หลังถูกประชาชนในพื้นที่คัดค้านนั้น พลเอกประวิตร กล่าวว่า ชะลอก็เพื่อดำเนินการ แล้วจะเสนอมาอีก
"ถ้าไม่ทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ภาคใต้ไฟฟ้าก็จะดับ เพราะมีปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่สร้างขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนจะใช้พลังงานอื่นๆทดแทน น้ำมันปาล์มนั้นก็้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถึงยังไง ก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน"
"ตอนนี้กำลังพิจารณาว่าถ่านหินมีหลายชนิด มีทั้งดี ทั้งเลว และไม่มีมลภาวะอีกด้วย ดังนั้นผมอยากให้ไว้ใจรัฐบาล ที่ใช้ทั้งนักวิชาการที่เชียวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิในการสำรวจ ไม่ใช่คิดเองทำเอง ขอคิดเข้าข้างรัฐบาลบ้าง ไม่ใช่มาโจมตีรัฐบาลว่าต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้"
ส่วนที่นายกรัฐมนตรี ยอมทบทวนนั้น อยากให้เข้าใจว่า เราทำใหม่อย่างไง ต้องมีกระบวนการ EHIA แน่นอน และรัฐบาลไม่ได้ถอย ทุกอย่างทำตามขั้นตอน และทำตามกฎหมาย และขณะนี้ยังไม่มีรายงานมีการเมืองมาเกี่ยวข้อง"

ไม่ให้ปกครองตนเอง

ปกครองตนเอง !!
บิ๊กป้อม ลั่นกลางวงอบรมผู้นำ....ไม่ยอมให้"ธรรมกาย"ปกครองตนเอง เป็นเอกเทศ จนท.ต้องเข้าไปได้ ดูทุกซอกมุม ยันต้องทำตามกม.ตามคำสั่งศาล เผยมีคน2 กลุ่ม หนุนให้จัดการ ส่วนอีกพวก บอกว่า เรารังแกพระ แจง มีหมายจับ ถ้าผมไม่ทำ ก็ผิด ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ชี้ไม่สำคัญ จับตัวได้ หรือไม่ แต่ จนท.รัฐ ต้องเข้าไปให้ได้ ยันไม่ได้กดขี่ รังแก พระ-สาวกธรรมกาย ยันจนท.ไม่มีอาวุธ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวตอนหนึ่งใน การเปิดอบรม หลักสูตร "ผู้นำพอเพียงเพื่อความมั่นคง"รุ่น 1 ที่ วปอ.ว่า ในกรณีของวัดพระธรรมกาย เราต้องการให้อยู่ในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล และ คสช. ไม่ใช่เป็นเอกเทศ อยากจะทำอะไรก็ทำ เมื่อพระธัมมชโยมีหมายจับ และศาลอนุญาตออกหมายค้นให้ผมค้นได้ผมก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำผิดตาม ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อผมใช้กำลังทหารหรือตำรวจหรือกำลังDSI ก็ต้องทำไปตามกฎหมายทั้งสิ้น
"ไม่ใช่วัดธรรมกายจะปกครองตนเอง เป็นเอกเทศ ของตนเอง เอาลูกศิษย์ลูกหามาปกป้อง ซึ่งมันไม่ได้ เราต้องเข้าไปให้ได้หมด เราไม่ได้สนใจว่าจะจับพระธัมมชโยได้หรือไม่ได้ แต่เราสนใจคือต้องปฏิบัติการที่ศาลสั่งให้ได้ และเอาเจ้าหน้าที่เข้าไปอยู่ในวัดธรรมกายให้ได้ ไปตรวจทุกมุมทุกแห่งให้ได้ มาปิดกั้นตรงไหนไม่ได้ ตรงนี้ถือเป็นประการสำคัญ
ดังนั้นต้องเข้าใจรัฐบาลว่า รัฐบาลไม่ได้กดชี่หรือใช้ความรุนแรง เมื่อมีสองพวก คือพวกหนึ่งบอกว่าทำไมจับไม่ได้ ทำอะไรก็ทำไม่ได้ อีกพวกหนึ่งก็มองว่าไปรังแกพระ ก็ทำตามกฎหมาย“
พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เจ้าหน้าที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ ว่าศาลอนุมัติหมายจับออกมาแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการ และต้องเข้าได้ทุกที่ภายในวัด ยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปรังแกใคร ดังนั้นอยากให้ลูกศิษย์ และพระลูกวัดต้องเข้าใจด้วยในการบังคับใช้กฎหมาย
"เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไปตัวเปล่า ไม่พกพาอาวุธ ไม่มีกระบอง และโล่"
ทั้งนี้ได้กำชับ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่าต้องไปสร้างความเข้าใจกับพระในวัด รวมทั้งลูกศิษย์ ซึ่งขณะนี้ที่สามารถเข้าได้ทั้งหมดแล้วมีเพียงประตู5 ประตู6 ที่ยังติดค้างอยู่
พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับพระและลูกศิษย์ แต่อาจมีกระทบกระทั่งกันบ้าง ซึ่งคนจะเข้าก็ต้องมีการผลักกันไปนิดหน่อย เป็นธรรมดา ไม่ได้ตีกันจนหัวร้างข้างแตก
ส่วนที่เครือข่ายวัดธรรมกายทั่วโลก ออกมาเรียกร้องว่าอย่าทำร้ายพระ และอย่าเข้าไปในวัดนั้น ผมคิดว่าก็เห็นชัดเจนว่า ทำหรือไม่ เราไม่ได้ทำอะไรรุนแรง แล้วตอบได้ไหมว่าพระธัมมชโยอยู่ที่ไหน ซึ่งเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ตรวจค้น แม้ว่าทางวัดจะออกมาประกาศว่าพระธัมมชโยไม่อยู่ในวัด ก็ไม่เป็นไร ขอเราดูหน่อยได้ไหมเท่านั้นเอง จะเสียหายตรงไหน" พล.อ.ประวิตร กล่าว
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า วัดพระธรรมกาย อยู่ภายใต้กำกับของมหาเถรสมาคม ไม่ได้อยู่อย่างเอกเทศ ดังนั้นรัฐบาลต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นอาจผิดตาม ม.157 ฐานปล่อยปละละเลย
เมื่อถามว่าจะมีมาตรการป้องกันการแทรกซึมหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยใช้กำลังตำรวจและทหารป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้าไปข้างในวัด
ส่วนพื้นที่ในวัดมีความอันตรายหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ตรวจดูยังไม่เจอ และคิดว่าไม่อันตราย เราเพียงไปดูทุกที่ว่าพวกที่มีหมายจับอยู่หรือไม่ ถ้าไม่อยู่ก็จบ
เมื่อถามถึง การออกหมายเรียกพระ14 รูปมารายงานตัว ถ้าไม่มาจะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องทำตามขั้นตอน และทำตามกระบวนการ หากไม่มารายงานตัว2 ครั้งก็ออกหมายจับตามกฎหมาย

ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย:นิธิ เอียวศรีวงศ์

ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย
ผมจะไม่เข้าร่วมกระบวนการ “ปรองดอง” ที่ คสช.จัดขึ้นเป็นอันขาด เพราะเท่ากับผมยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่มีลักษณะผิดปกติซึ่งเกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ผมมีส่วนในการทำให้เกิดขึ้นด้วย
ผมอาจใช้วาจารุนแรงตลอดจนกระบวนการทางการศาลในการต่อสู้กับปฏิปักษ์ทางการเมือง ผมอาจใช้วิธีเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการประท้วงของฝูงชนขนาดใหญ่ และในการนั้นอาจมีบางคนทำผิดกฎหมาย แต่ผมไม่เคยขัดขวางการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นตามครรลองของกฎหมาย
ทั้งหมดที่ผมได้ทำมา ดีชั่วก็แล้วแต่ประชาชนชาวไทยจะตัดสิน แต่ผมยืนยันว่าไม่เคยทำอะไรที่เลยขอบเขตของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย การเข้าร่วมกระบวนการปรองดองของคณะรัฐประหาร จึงเท่ากับผมยอมรับว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีขอบเขตจำกัดที่คับแคบมากๆ เช่นจะแสดงความขัดแย้งทางการเมืองต่อสาธารณชนไม่ได้ หากผมยอมเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ผมจะคงความเป็นพรรคการเมืองต่อไป
ตรงกันข้ามกับบทบาทและการเคลื่อนไหวของผมด้วยซ้ำ กลุ่มชนชั้นนำไทยได้ลักลอบเคลื่อนไหวทางการเมือง ผ่านกลไกของรัฐ โดยเฉพาะกลไกในกระบวนการยุติธรรม เพื่อบ่อนทำลายความชอบธรรมทางการเมืองของผมทุกวิถีทางที่พวกเขาจะทำได้ แต่ความชอบธรรมของผมก็ไม่เสื่อมถอยลง คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของผู้เลือกตั้งก็ยังเป็นของผม กลุ่มชนชั้นนำไทยจึงเร่งทำลายผมด้วยการร่วมกับปฏิปักษ์ของผม สร้างความเคลื่อนไหวของฝูงชนขึ้นมาบ้าง แต่จุดมุ่งหมายของฝูงชนคือสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายนอกกฎหมาย เพื่อพิสูจน์ว่าผมทำให้รัฐล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง เกิดภาวะ “ยกเว้น” ที่ชนชั้นนำจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองได้โดยตรง
แม้จะกะปลกกะเปลี้ยอย่างไร ผมก็ยังอยู่รอดพอที่จะคืนอำนาจให้แก่เจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง แต่นั่นกลับทำให้ชนชั้นนำไทยทุ่มเทให้แก่วิธีการนอกกฎหมายแทบสุดตัว คือใช้ฝูงชน นักเลงหัวไม้ และเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบ ร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง แม้กระนั้นการเลือกตั้งก็ยังเกิดขึ้นจนได้ถึงไม่ครบทุกหน่วย จึงต้องอาศัยกลไกรัฐที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ยิ่งกว่าทำให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะก็คือ ชนชั้นนำไทยได้ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นทางออกแก่การเมืองไทยชั่วกาลนาน และด้วยเหตุดังนั้น จึงต้องอาศัยการเคลื่อนไหวนอกกฎหมายขั้นสุดท้าย คือใช้กลไกรัฐที่มีกองทัพบกเป็นแกนนำในการทำรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดจากการกระทำของผม แม้ว่าฝูงชนที่สนับสนุนผมอาจล่วงละเมิดกฎหมายเล็กๆ บางข้อไปบ้าง เช่น กฎหมายจราจร กฎหมายการใช้เครื่องขยายเสียง ฯลฯ แต่ผมใคร่ยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ยังอยู่ในกรอบการเมืองของระบอบประชาธิปไตย ผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงคือกลุ่มชนชั้นนำไทย ซึ่งถูก “ยกเว้น” ออกไปจากกระบวนการปรองดองทุกชนิดที่คิดกันขึ้น
หากบ้านเมืองของเราจะมีความสงบสุขในอนาคตได้ ชนชั้นนำซึ่งเกาะกันเป็นเครือข่ายกลุ่มนี้ต่างหาก ที่จะต้องนำเข้าสู่กระบวนการปรองดองยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น พวกเขาต้องยอมรับเสียทีว่าความได้เปรียบนานาประการที่พวกเขาได้ และพยายามจะรักษามันไว้ด้วยเลือดเนื้อของประชาชนข้างล่างจะต้องยุติลงเสียที คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเลิกล้มทั้งหมดลงทันที แต่ความได้เปรียบส่วนที่ทำร้ายชาติบ้านเมืองตลอดมาจะต้องยุติลงเสียก่อน เช่น อำนาจอิทธิพลที่อยู่เหนือกลไกของรัฐทุกแขนงของพวกเขาจะมีต่อไปไม่ได้ เขาจะไม่มีอำนาจพิเศษที่จะขัดขวางการออกกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมอีกต่อไป พวกเขาจะไม่ได้เป็น “ข้อยกเว้น” เหนือพลเมืองไทย
อีกแล้ว
แม้เรายังไม่อาจแตะต้องความได้เปรียบอีกหลายอย่างที่เขาครอบครองอยู่ แต่เพียงเท่านี้ก็พอที่จะทำให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบ ความขัดแย้งและต่อสู้ทางการเมืองคงมีอยู่และดำเนินต่อไป แต่จะดำเนินไปตามกรอบของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย กลไกรัฐจะไม่เป็นเครื่องมือของใคร แต่จะทำหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม ด้วยความรู้ความชำนาญของตน
ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย
ผมจะไม่ให้ค่าแก่คำพูดไร้เดียงสาหรือแสร้งไร้เดียงสา ที่ว่าให้มุ่งมองแต่อนาคตโดยไม่ต้องหันกลับไปดูอดีตอีก เพราะมันไม่มีหรอก อนาคตหรือปัจจุบันที่ปราศจากอดีต (เช่นเดียวกับไม่มีอดีตที่ไม่มีปัจจุบันและอนาคตเช่นกัน) เวลาสามส่วนนี้ไม่ได้มีในธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นในสมองมนุษย์ ซึ่งไม่อาจแยกสามส่วนออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด
เราจะมองอนาคตได้อย่างไร หากไม่มั่นใจว่าลูกหลานของเราจะไม่ถูกยิงทิ้งข้างถนนเช่นนั้นอีก หากไม่มั่นใจว่าอนาคตที่เราร่วมกันสร้างขึ้นจะไม่ถูกขัดขวางจากศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ด้วยเหตุผลที่ผิดหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาล่วงละเมิดอำนาจการวางนโยบายของฝ่ายบริหาร หรือมติของรัฐสภา
อนาคตที่ไม่มีอดีต คือการย่ำเท้าอยู่กับที่ภายใต้เผด็จการชนชั้นนำของปัจจุบัน ซึ่งอาจถอดเปลือกออกได้อีกหลายชั้น
ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย
นอกจากจะไม่เข้าร่วมกระบวนการ “ปรองดอง” ของคณะรัฐประหารและอาจารย์ประเวศ วะสีแล้ว ผมยังยืนยันและจะเฝ้าเตือนคนไทยให้นึกถึงอดีตให้มาก มิฉะนั้นแล้ว เราจะไม่มีทางก้าวสู่อนาคตที่ดีได้เลย
หากผมเป็นพรรคเพื่อไทย
ผมจะเชิดหน้าขึ้นรับการวิพากษ์วิจารณ์ของคนไทยจำนวนหนึ่งว่า ผมเล่นการเมืองไม่เป็น เพราะเป็นที่เชื่อกันว่า การเมืองที่ดีคือการประนีประนอม ไม่นำแนวทางของตนไปสู่จุดสุดโต่ง เพราะจะกันตัวเองออกไปจากวงอำนาจตลอดไป นโยบายที่ดีๆ ทั้งหมดก็ไม่มีวันจะได้ดำเนินงานเสียที
ประนีประนอมเพื่อต่อรองให้นโยบายบางส่วนได้นำไปสู่การปฏิบัติดีกว่า พรรคกรีนในเยอรมนีก็ทำอย่างนี้ และอีกหลายพรรคที่มีแนวนโยบายก้าวหน้า ก็ยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองเก่าๆ เพื่อทำให้นโยบายของตนได้เดินหน้าแม้เพียงน้อยอย่าง
ผมคงไม่เข้าไปเถียงประเด็นนี้ เพราะมันถูกต้องในบางสถานการณ์ และไม่ถูกต้องในบางสถานการณ์ สิ่งที่ต้องถามต้องคิดกันให้ดีก็คือ สถานการณ์ในเมืองไทยปัจจุบัน เหมาะหรือไม่ที่จะเข้าร่วมกระบวนการทางการเมือง ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความชอบธรรมแก่คณะรัฐประหาร เนื่องจากกำลังสูญเสียความชอบธรรมไปด้วยเหตุหลายประการ
การประนีประนอมที่ไม่ดูตาม้าตาเรือ ทำให้พรรคก้าวหน้าหลายพรรคเสื่อมความนิยม หรือถูกกลืนกลายเข้าไปในการเมืองน้ำเน่าจนอันตรธานไปจากความรับรู้ของประชาชน
ในฐานะพรรคการเมือง ผมวินิจฉัยว่าการเมืองไทยเวลานี้อยู่บนทางสองแพร่งที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องเลือกให้ดี เพราะเป็นทางสองเส้นที่ไม่มีวันบรรจบกันได้อีกเลย
ทางเส้นหนึ่งนำคุณกลับไปสู่การเกี้ยเซี้ยผลัดกันเกาหลังของกลุ่มชนชั้นนำ แต่ละฝ่ายมีอำนาจต่อรองที่แตกต่างกัน ข้าราชการมีความชำนาญเฉพาะด้านซึ่งจำเป็นสำหรับรัฐสมัยใหม่ บางส่วนมีอาวุธและกำลังที่จะล้มกระดาน แต่จะใช้อำนาจเช่นนี้ได้ ก็ต้องร่วมกับพันธมิตรในกลุ่มอื่น บางส่วนของระบบราชการมีอำนาจตีความกฎหมาย นอกจากนั้นก็มีชนชั้นนำกลุ่มอื่นๆ ที่มีอำนาจต่อรองแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มคณาธิปไตยมีเงินจำนวนมาก บางส่วนในกลุ่มนี้ยังมีอำนาจทางวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาแต่อดีต ปัญญาชนมีหูของผู้คนที่เงี่ยฟังอยู่บ้าง ประกาศก
มีสาวกที่ฟังได้ยินโดยไม่ต้องใช้หู ฯลฯ บนทางเส้นนี้ประชาชนคนสามัญไม่เกี่ยว
ความหวังของคณะรัฐประหาร (ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง) คือทำให้เส้นทางสายนี้ราบรื่นขึ้น มีความขัดแย้งน้อยลง ทำให้การเกี้ยเซี้ยกลายเป็นสถาบัน ชนชั้นนำกลุ่มไหนจะเกาะกับกลุ่มไหน หรือจะย้ายกลุ่ม ก็อาจทำได้อย่าง “สงบเรียบร้อย” เพราะต้องเกาะกลุ่มและแยกกลุ่มกันภายใต้ฉายาอำนาจและบารมีของสองเสาหลักคือกองทัพ และสถาบันอำนาจตามประเพณี
เกี้ยเซี้ยที่กลายเป็นสถาบันหรือเกี้ยซิยาธิปไตย จะมีพลังกีดกันประชาชนคนธรรมดาออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีความหมายตลอดไป อย่างที่ทำสำเร็จในประเทศละตินอเมริกาหลายประเทศ
ทางอีกเส้นหนึ่งนำคุณไปสู่ระบอบปกครองที่คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมทางการเมือง แม้อย่างไม่เท่าเทียมกัน แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ทุกฝ่ายต่อรองเรื่องที่สำคัญแก่ชีวิตของตนได้ โอกาสที่ระบอบปกครองเช่นนี้จะตั้งมั่นอย่างยั่งยืนในประเทศไทยมีมากขึ้น เมื่อคำนึงถึงผู้คนจำนวนมาก ที่จะสร้างความก้าวหน้าแก่ชีวิตของตนได้ ก็จำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ และหากเส้นทางนี้มีพลังเพิ่มขึ้นเพราะมีคนอื่นๆ นอกจากประชาชนธรรมดาเข้ามาร่วมเดินด้วย ก็จะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ระบอบการเมืองที่มั่นคงยั่งยืน และ “สงบเรียบร้อย” เช่นกัน
ในฐานะพรรคการเมือง ผมจะเลือกเส้นทางที่สองนี้ หากพลังของพรรคเพื่อไทยยังพอมีความหมายแก่สังคมไทยอยู่บ้าง ก็จำเป็นต้องออกจากเส้นทางของเกี้ยซิยาธิปไตยเสียที ไม่มีเวลาผัดผ่อนลังเลอีกแล้ว เพราะเวลานี้คือจุดที่เราได้มาถึงทางสองแพร่งที่ไม่มีวันบรรจบกัน เราจะมารวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองทำไม เมื่อถึงจุดวิกฤตที่ต้องเลือกแล้ว เรายังไม่กล้าเลือก
ผมในฐานะพรรคเพื่อไทย ทราบดีว่าบุคคลผู้ให้การสนับสนุนอย่างสำคัญแก่พรรคคือ คุณทักษิณ ชินวัตร ท่านผู้นี้เป็นอัครศิลปินของการเกี้ยเซี้ย โดยฐานะเขาก็เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาคณาธิปัตย์ไทย แต่เขาเดินเข้าสู่เกมเกี้ยเซี้ยโดยเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ตนเอง เขาสร้างพันธมิตรข้ามกลุ่มได้อย่างกว้างขวางกว่าชนชั้นนำไทย “ทั่วไป” เคยทำมาได้ ความสามารถอันล้นเหลือของเขาในแง่นี้จึงทำให้เกมเกี้ยเซี้ยหมดความหมายลง เพราะฝ่ายอื่นแทบไม่เหลืออำนาจต่อรองอีกเลย ต้องรับทุกอย่างที่เขาหยิบยื่นมาให้อย่างต่อรองไม่ได้
ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเลือกออกจากเส้นทางเกี้ยซิยาธิปไตย ไม่ว่าจะวางกฎการเกี้ยเซี้ยไว้อย่างรัดกุมอย่างไร อัครศิลปินอย่างเขาจะสามารถข้ามกฎนั้นไปจนได้ หากเขามีโอกาสหรือมีเครื่องมือคือพรรคเพื่อไทย
แต่ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย
ผมจะตัดสินใจแยกทางกับคุณทักษิณ เพื่อบากบั่นออกไปจากเส้นทางของเกี้ยซิยาธิปไตย ผมอาจจะล้มเหลวจนต้องสลายตัวไปในที่สุด แต่ชีวิตทางการเมืองของพรรคการเมือง ก็เหมือนชีวิตของมนุษย์ หากไม่กล้าลงจากอ้อมอกของคนอื่นเพื่อก้าวเดินด้วยตนเองแล้ว จะมีชีวิตของตัวเองได้อย่างไร นอกจากเป็นเพียงเครื่องประดับของบุคคลตลอดไป
นิธิ เอียวศรีวงศ์