PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ในหลวงเสด็จลานพลับพลาประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อช่วงเย็นวันนี้(15ก.ค.56)พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโรงพยาบาลศิริราช ไปยังลานพลับพลาประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์

ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักช่างสิบหมู่ออกแบบ และปั้นพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ทรงอุ้มสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ อันแสดงถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก ซึ่งให้บุคลากรทางการแพทย์ นักศึกษา และประชาชน ได้ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช และทรงมีคุณูปการต่อประชาชนเห็นพระองค์ทรงมีพลานามัยแข็งแรง เราพสกนิกรชาวไทยเห็นแล้วก็ต่างรู้สึกปิติยินดีอย่างที่สุดเลยค่ะ
ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ขอบคุณข่าวจาก Manager Online ค่ะ http://bit.ly/15Hpwx9


แฉ กมธ.สภา หว่านเงิน 3.4 ล้านดูงานยุโรปแค่ 3 ชม.แหกระเบียบฯ จ้าง บ.ผี จัดทัวร์หรู


วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฏาคม 2013 เวลา 08:00 น.
 
เขียนโดย isranews หมวด จัดซื้อจัดจ้างInvestigative

"...ราคาการจัดทัวร์ของแต่ละบริษัทขึ้นอยู่กับประเภทของสายการบิน ระดับชั้นที่นั่ง โรงแรม และอาหารที่เลี้ยงรับรอง ซึ่งโรงแรมที่พักของ กมธ. ส่วนใหญ่จะเป็นเครือโรงแรมชั้นนำของโลกในระดับ 4-5 ดาว.."

“จองล้าง จ้องผลาญ” เป็นฉายาสภาผู้แทนราษฎร ประจำปี 2555 ที่สื่อมวลชนรัฐสภาตั้งให้ตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติ
“จองล้าง จ้องผลาญ” จึงเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในปีที่ผ่านมา
เหตุการณ์ในปี 2555 ที่เกิดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร ได้ถูกจารึกไว้ว่า นอกจากผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะใช้ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ “ห้ำหั่น” กันทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนแล้ว
ยังมีปมปัญหาในเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างไม่รู้คุณค่า โดยเฉพาะการเดินทางศึกษาดูงานในต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ
เงินงบประมาณที่ใช้ในการดูงานของ กมธ.นั้น มาจากการจัดสรรของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 175 ล้านบาท หรือคณะละ 5 ล้านบาท ซึ่งในการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร กมธจะใช้ห้วงเวลานี้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อศึกษาดูงาน เฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ว่าเป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และข้อกังขาที่ว่าแท้จริงแล้วการเดินทางไปต่างประเทศของ กมธ.นั้นเป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หรือการศึกษาดูงานมากกว่ากัน
ยังไม่นับรวมเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่ดังมาเป็นระยะๆ ว่า กมธ.มักจะพา “คนนอก” อย่าง ภรรยา ลูก หรือ หัวคะแนนติดตามไปในทริปด้วย
เฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการผ่อนปรนข้อกำหนดที่มีขึ้นในสมัยของนายชัย ชิดชอบ ซึ่งเปรียบเสมือน “กฎเหล็ก” ของ กมธ.ในการดูงานต่างประเทศล
ทำให้ กมธ.ในสมัยที่มีนายสมศักดิ์ เป็นประมุขนั้น มีความเป็น “อิสระ” และความ “สะดวก” ในการเสนอโครงการเดินทางไปดูงานยังต่างประเทศมากขึ้น
แม้จะถือเป็นงบประมาณจำนวนไม่มากหากถูกแบ่งไปตาม กมธ.แต่ละคณะ แต่ทว่าประชาชนในฐานะผู้เสียภาษี ต้องควักกระเป๋าเพื่อนำไปเป็น “ต้นทุน” ในการดูงานโดยที่ไม่มี “มูลค่าเพิ่ม” กลับมา
ดังนั้นความจำเป็นการในดูงานของ กมธ.ยังคงมีอยู่หรือไม่?
กมธ. 26 คณะ เมิน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร
แม้การดูงานในต่างประเทศของ กมธ.จะเป็นเรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป
แต่ทว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณนั้นไม่มีการเปิดเผยหรือเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสแต่อย่างใด รวมไปถึงการสอบถามกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสภาผู้แทนราษฎรต่างปฎิเสธการให้ข้อมูลโดยสิ้นเชิง
ในที่สุด “พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540” ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการขอข้อมูลดังกล่าว ผ่านศูนย์ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
เพื่อขอข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ กมธ.ทั้ง 35 คณะ ในช่วงการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญนิติบัญญัติ 2555 ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงกรกฎาคม 2555
ประกอบด้วย รายชื่อผู้เดินทาง งบประมาณ กำหนดการเดินทาง รายชื่อบริษัททัวร์ที่ได้รับการว่าจ้าง และรายงานผลสรุปการเดินทางไปดูงานต่างประเทศทุกคณะ
ปรากฎว่า มี กมธ.จำนวนเพียง 9 คณะเท่านั้น ที่ให้ความร่วมมือและส่งข้อมูลผู้สื่อข่าวตามคำร้องข้อ ดังนี้
1. รายงานการเดินทางไปศึกษาดูงานและเจรจาธุรกิจด้านคมนาคมและขนส่งของ กมธ.การคมนาคม ระหว่างวันที่ 18-27 มิถุนายน 2555 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมัน
2. รายงานการเดินทางไปศึกษาดูงาน เจรจาธุรกิจ และหารือความร่วมมือด้านการเกษตรและสหกรณ์ของ กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2555
3. โครงการและรายงานผลการเดินทางไปดูงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมของ กมธ.อุตสาหกรรม ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม
4. รายงานและรายละเอียดการเดินทางไปศึกษาดูงานของ กมธ.การติดตามการบริหารงบประมาณ ด้านกระบวนการจัดทำการบริหารงบประมาณ ที่ประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี ระหว่างวันที่ 4-13 กรกฎาคม
5. รายงานการเดินทางศึกษาดูงานและเจรจาธุรกิจด้านส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรมของ กมธ.ส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม ที่ประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน
6. รายงานการเดินทางศึกษาดูงานของ กมธ.การสวัสดิการสังคม เรื่องการศึกษาดูงานสวัสดิการสังคม และเจรจาธุรกิจเพื่อกระชับความสัมพันธ์ไมตรี ระหว่างวันที่ 3-10 กรกฎาคม ที่ประเทศออสเตรีย เช็ก สโลวัก และฮังการี
7. รายชื่อคณะเดินทางไปศึกษาดูงานของ กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ระหว่างวันที่ 6-16 กรกฎาคม
8. รายงาน กมธ.การศึกษา เรื่อง สรุปผลการเดินทางไปศึกษาดูงาน เจรจาธุรกิจ และหารือความร่วมมือด้านการศึกษา ที่ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม
9. รายงานการศึกษาดูงานของ กมธ.การสาธารณสุข เกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการด้านการสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการ ระหว่างวันที่ 17-24 กรกฎาคม ที่ประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์
ขณะที่ กมธ. อีก 26 คณะ ไม่ได้ส่งข้อมูลให้ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ประกอบด้วย 1. กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน 2. กมธ.กิจการชายแดนไทย 3. กมธ.กิจการสภาผู้แทนราษฎร 4. กมธ.องค์กรตามรัฐธรรมนูญ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน 5. กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ 6. กมธ.แก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ 7. กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ8. กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค 9. กมธ.การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน
(เจ้าหน้าที่รัฐสภาขนกระเป๋าเดินทางที่บริษัททัวร์จัดให้กมธ.ก่อนการเดินทาง) 
10. กมธ.การต่างประเทศ 11. กมธ.การตำรวจ 12. กมธ.การทหาร 13. กมธ.ท่องเที่ยวและกีฬา 14. กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 15. กมธ.การปกครอง 16. กมธ.การปกครองส่วนท้องถิ่น 17. กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด
18. กมธ.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย19. กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ 20. กมธ.การพลังงาน 21. กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน
22. กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา 23. กมธ.การแรงงาน 24. กมธ.การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม 25. กมธ.การสื่อสารและโทรคมนาคม และ 26. กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ
กิน-อยู่ หรู ราคาต่อหัวแพงกว่าราคาตลาดเท่าตัว
แม้ว่าจะมี กมธ. 9 คณะที่ส่งข้อมูลให้ตาม พ.ร.บ.ข่าวสารฯ แต่ทว่ามี กมธ.เพียง 3 คณะเท่านั้นที่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณในการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งก็คือ
1. กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางไปประเทศบราซิล และสาธารณรัฐอาร์เจนตินา จำนวน 11 วัน มีผู้ร่วมเดินทาง 12 คนใช้งบประมาณ 3,856,150 บาท หรือเฉลี่ยรายละ 321,345 บาท โดยได้ว่าจ้าง บริษัท นิรมิต ฮอลิเดย์ และธุรกิจท่องเที่ยว จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทัวร์
2. กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ เดินทางไปประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี จำนวน 10 วัน มีผู้ร่วมเดินทาง 14 คน ใช้งบประมาณ 3,006,533 บาท หรือเฉลี่ยรายละ 214,752 บาท โดยว่าจ้างให้ บริษัท ฮีตัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดทัวร์
3. กมธ.การอุตสาหกรรม เดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และฝรั่งเศส จำนวน 9 วัน มีผู้ร่วมเดินทาง 18 คน ใช้งบประมาณจำนวน 3,435,100 บาท หรือเฉลี่ยรายละ 190,838 บาท โดยไม่ได้ระบุผู้ถูกว่าจ้างให้ดำเนินการจัดทัวร์
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบราคาทัวร์ของบริษัทเอกชนรายอื่นที่ให้บริการนำเที่ยวในกลุ่มประเทศที่ กมธ. เดินทางไปนั้น พบว่ามีราคาที่ต่ำกว่ามาก อาทิ บริษัท บีบี ทัวร์ อินเตอร์ ทราเวล เสนอขาย บราซิล อาร์เจนตินา จำนวน 13 วัน 11 คืน ที่ราคา 269,000 บาท
ในขณะที่ กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่าจ้างในราคาคนละ 321,345 บาท หรือเป็นส่วนต่างถึง 52,345 บาทต่อคน เมื่อคิดทั้งค่าใช้จ่ายทั้งหมดพบว่า อัตราการจ้างบริษัททัวร์ของ กมธ. มีราคาที่สูงกว่าบริษัททัวร์เอกชนรายอื่นถึง 628,140 บาท
ขณะที่ทัวร์ประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี ส่วนใหญ่บริษัททัวร์เอกชนจะจัดเพียง 8 วัน ราคาเริ่มต้นที่ 59,900 บาทต่อคน ขณะที่ กมธ. ติดตามการบริหารงบประมาณว่าจ้างบริษัททัวร์ในราคาคนละ 214,752 บาทต่อการเดินทาง 10 วัน ซึ่งมีส่วนต่างของราคาบริษัททัวร์ทั่วไปและราคาที่ กมธ. ว่าจ้างเป็นจำนวนมาก
ส่วนประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส จำนวน 9 วัน ของบริษัท ทัวร์เอ็กซ์เพรส เซ็นเตอร์ จำกัด มีราคาตั้งแต่ 72,900-94,900 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการเดินทาง ส่วน กมธ.อุตสาหกรรม ว่าจ้างบริษัททัวร์ด้วยงบประมาณคนละ 190,838 บาท ส่วนต่างของอัตราทัวร์อยู่ที่ 95,938-117,938 บาท เมื่อรวมทั้งคณะ เกิดส่วนต่างที่มากสุดถึง 2,122,884 บาท
(กมธ.อุตสาหกรรมทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ)
ทั้งนี้ ราคาการจัดทัวร์ของแต่ละบริษัทขึ้นอยู่กับประเภทของสายการบิน ระดับชั้นที่นั่ง โรงแรม และอาหารที่เลี้ยงรับรอง ซึ่งโรงแรมที่พักของ กมธ. ส่วนใหญ่จะเป็นเครือโรงแรมชั้นนำของโลกในระดับ 4-5 ดาว อาทิ โรงแรมในเครือ Hilton Sofitel Radisson Pullman Ramada และ Holiday Inn
บริษัทผี โผล่รับงาน กมธ.
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวได้ทำการสืบค้นในเชิงลึกเกี่ยวกับที่มาของบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างจากกมธ.ให้ดำเนินการจัดทัวร์เพื่อพากมธ.เดินทางไปดูงานยังต่างประเทศที่มีเพียง กมธ. 2 คณะที่ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลการว่าจ้าง ซึ่งก็คือ กมธ.กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ว่าจ้าง บริษัท นิรมิต ฮอลิเดย์ และธุรกิจท่องเที่ยว จำกัด และ กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ ว่าจ้าง บริษัท ฮีตัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทัวร์
ตามฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท ฮีตัน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ถูก กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณว่าจ้างให้พากมธ.ไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี จำนวน 10 วัน วงเงินงบประมาณ 3,006,533 บาทนั้น เป็นบริษัทที่ได้เลิกกิจการไปแล้วในวันที่ 27 ธันวาคม 2550 และเสร็จการชำระบัญชีในวันที่ 3 มีนาคม 2551 แต่ปรากฎว่าบริษัทฮีตันฯ ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นนิติบุคคลได้มารับจ้าง กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณพาไปศึกษาดูงานในวันที่ 4-13 กรกฎาคม 2555 หลังจากการเลิกกิจการไปแล้วเกือบ 5 ปี
ทั้งนี้ บริษัทฮีตันฯ ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 เพื่อให้บริการทัวร์ โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีกรรมการ 3 คนประกอบไปด้วย 1.นายธงชัย แก้วทิพรัตน์ เป็นกรรมการบริษัทผู้ซึ่งมีอำนาจทำการ 2.น.ส.พวงทิพย์ แก้วทิพรัตน์ และ3.นายสืบวงศ์ แก้วทิพรัตน์ โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ 90/399 อาคารบัวสุวรรณพลาซ่า ซอยวิภาวดี 20 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขต จตุจักร กรุงเทพฯ
โดยจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทฮีตันฯ ไม่ได้เช่าพื้นที่ในอาคารบัวสุรรณพลาซ่า ซึ่งเป็นที่อยู่ตามที่ได้แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของอาคารรายหนึ่งที่ ระบุว่า ตั้งแต่เข้าทำงานมา 3 ปีไม่เคยเห็นบริษัทดังกล่าวในอาคารบัวสุวรรณพลาซ่าแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปยังเบอร์โทรที่บริษัทฮีตันฯได้แจ้งว่าพบว่าปัจจุบันเบอร์โทรดังกล่าวเป็นของผู้เช่าสัญญาณรายอื่นไปแล้ว
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากรรมการบริษัทฮีตันฯ ทั้ง 3 คน ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมการในบริษัทอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกันอีก 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัทพระ-นาง จำกัด 2.บริษัท ดรีม โปรเจ็ค จำกัด 3.บริษัท ทเว็นตี้โฟร์ แอนด์ เธอตี้วัน ออนสเตจ จำกัด 4.บริษัท แอด อเวนิว จำกัด และ5.บริษัท ฮีตัน ทราเวล จำกัด
ในจำนวนนี้มีเพียง 3 บริษัทที่ยังคงเปิดดำเนินกิจการอยู่ คือ บริษัทพระ-นาง จำกัด (ประกอบกิจการโฆษณา) บริษัท แอด อเวนิว จำกัด (รับทำโฆษณาและจัดแฟชั่นโชว์) และบริษัท ฮีตัน ทราเวล จำกัด (บริการจัดกรุ๊ปทัวร์ทั้งในและต่างประเทศ นายหน้าขายตั๋วเดินทางทั้งในและต่างประเทศ) ส่วนอีก 2 บริษัทได้เลิกกิจการไปแล้ว
ทั้งนี้ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2552 ที่เกี่ยวข้องกับ การซื้อ การจ้าง และการจ้างที่ปรึกษา ของหน่วยงานราชการนั้น ได้ระบุว่า การจ้าง เป็นการจ้างจากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ดังนั้นการที่บริษัทฮีตันฯ ไม่มีตัวตน คือ ไม่ได้มีสถานะเป็นสภาพนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา จะถือว่าขาดคุณสมบัติการรับงานจากหน่วยงานของรัฐหรือไม่
รายงานข่าวจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า เงินงบประมาณที่ กมธ.นำไปใช้ในการดูงานต่างประเทศนั้น เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งการเบิกจ่ายจะต้องใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุเป็นกรอบในการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ ซึ่งตามระเบียบชัดเจนว่าผู้ที่จะมารับงานของหน่วยงานรัฐจะต้องเป็นนิติบุคคลหรือบุคคล อย่างชัดเจน เพราะการเบิกจ่ายจะเกี่ยวโยงกับการแจ้งภาษีด้วย นอกจากนี้ ตามปกติแล้วการจัดซื้อจัดจ้างถ้าเกิน 2 ล้านจะต้องใช้วิธีการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
ข่าวแจ้งว่า ตามปกติแล้วผู้ให้งานจะต้องตรวจสอบประวัติของบริษัทผู้มารับจ้าง อย่างน้อยในการว่าจ้างแต่ละครั้งจะต้องดูที่มาที่ไป ทุนจดทะเบียน ของบริษัทผู้รับจ้างว่าจะมีความสามารถในการดำเนินการได้หรือไม่ผ่านใบบริคณห์สนธิ ซึ่งในกรณีนี้หากบริษัทฮีตันฯ ไม่มีตัวตนอยู่จริงในระหว่างที่มารับงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นจะมีความผิด ซึ่งจะต้องไปดูงานบุคคลใดเป็นผู้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างว่าเป็นบุคคลใด 
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าในส่วนของ สตง. เป็นผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องนี้ และหากพิสูจน์ว่ามีเจตนาในการทุจริตจริง สตง.จะต้องส่งเรื่องไปถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการต่อไป แต่ในขณะนี้ สตง.มีเรื่องการตรวจสอบที่ค้างอยู่ในการดำเนินการกว่า 50,000 รายการ ดังนั้นหากไม่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาโดยตรง สตง.คงจะไม่เข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้
แกะรอยเส้นทางทัวร์ ดูงานหรือท่องเที่ยว
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 135 และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 86 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง กมธ. สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพื่อกระทำกิจการพิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภาแล้วรายงานต่อสภานั้น
การเดินทางศึกษาดูงานต่างประเทศ ถือเป็นหนึ่งในอำนาจหน้าที่ของ กมธ. ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องนำผลการการศึกษาดูงานมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของคณะ กมธ. เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมไปถึงการนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและประชาชน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยต่อไป
แต่ภายใต้หลักการและเหตุผลที่สวยหรูในโครงการที่ กมธ. ได้เสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้อนุมัติโครงการศึกษาดูงานและงบประมาณนั้น ในทางปฏิบัติสามารถทำได้จริงหรือไม่?
นอกจากข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในการเดินทางแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ กำหนดการเดินทางของ กมธ. แต่ละคณะว่าได้เดินทางไปดูงานในหน่วยงานที่ใดบ้าง
เนื่องจากกำหนดการดังกล่าวจะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า กมธ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนใช้งบประมาณเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ หรือเป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในห้วงปิดสมัยประชุม
สำหรับกำหนดการดูงานของ กมธ. จำนวน 9 คณะ นอกจากจะศึกษาดูงานกับหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับภาระกิจของ กมธ. แต่ละคณะแล้ว ยังมีการไปทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเมืองนั้นๆ ตามโปรแกรมที่ผู้จัดต้องการโดยมีบริษัททัวร์ดำเนินการให้
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การทัศนศึกษาสถานที่ท่องเที่ยวนั้น จะระบุในกำหนดการว่าเป็นการดูงานแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม หรือศึกษาดูงานระบบการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายสินค้าในเมืองต่างๆ ทั้งนี้การดูงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. ทั้ง 9 คณะอยู่ระหว่าง 1-5 แห่งต่อทริป ดังนี้
1. กมธ.การคมนาคม ดูงานระหว่างวันที่ 18-27 มิถุนายน 2555 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และเยอรมัน โดยดูงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. จำนวน 5 แห่ง คือ การบริหารจัดการท่าเรือ Port of Rotterdam, การเยี่ยมชมระบบป้องกันน้ำท่วม ที่ Maeslant storm surge barrier Rotterdam, เยี่ยมชมการจัดการระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ICE, ศึกษาดูงานการบริหารจัดการระบบขนส่งทางน้ำ ท่าเรือ Boppard, เยี่ยมชมการจัดการระบบขนส่งมวลชนระบบไฟฟ้าเมืองแฟรงก์เฟิร์ต
2. กมธ.การเกษตรและสหกรณ์ ดูงานที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน–4 กรกฎาคม 2555 ได้ดูงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. จำนวน 5 แห่ง คือ เยี่ยมชมตลาดค้าส่งผลิตผลทางการเกษตรของเซี่ยงไฮ้, เยี่ยมชมเขื่อนซานเสียต้าป้า, เยี่ยมชมศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ปลา, เยี่ยมชมตลาดขายส่งผลไม้ของนครกวางเจา, เยี่ยมสถานกงสุลไทย ณ นครกวางเจา
3. กมธ.การติดตามการบริหารงบประมาณ ดูงานที่ประเทศเยอรมัน ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และอิตาลี ระหว่างวันที่ 4-13 กรกฎาคม ใช้งบประมาณ 3,006,533 บาท โดยได้ดูงานจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย รับฟังการบรรยายการใช้จ่ายงบประมาณของส่วนราชการไทย ที่สถานกงสุลใหญ่ นครแฟรงก์เฟิร์ต, ศึกษาดูงานสหภาพยุโรป ณ กรุงเฮก และรับฟังบรรยายสรุป “การจัดโครงสร้างการบริหารสหภาพ แนวทางในการบริหารงบประมาณและวิธีการติดตามการบริหารงบประมาณของสหภาพยุโรป”, ศึกษาดูงานและฟังบรรยายสรุป “แนวทางในการจัดทำงบประมาณและระบบการติดตามตรวจสอบการบริหารงบประมาณ” ที่รัฐสภาเบลเยียม
4. กมธ.ส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม ดูงานที่ประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน ระหว่างวันที่ 4-11 กรกฎาคม 2555 ดูงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ ศึกษาดูงานและพบผู้บริหารระดับสูงของศูนย์กระจายสินค้าเมือง Liege, ศึกษาดูงานท่าเรือ Rotterdam, ศึกษาดูงาน “แผนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยโครงการ Delta Works”, ดูงานสวนดอกไม้ที่เป็นตลาดส่งเสริมธุรกิจการส่งออกดอกไม้ของประเทศ, ศึกษาดูงานตลาดประมูลดอกไม้ที่ Aalsmeer Flower Auction”, ทัศนศึกษาการทำชีส หมู่บ้านซาน สคันส์, ทัศนศึกษาสถานที่จัดงานพืชสวนโลก ที่เมือง Venlo
5. กมธ.การสวัสดิการสังคม ดูงานที่ประเทศออสเตรีย เช็ก สโลวัก และฮังการี ระหว่างวันที่ 3-10 กรกฎาคม โดยได้ศึกษาดูงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ.จำนวน 4 แห่ง คือ เข้าพบผู้บริหารของ NADEJE เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับงานสวัสดิการสังคม, เข้าพบผู้บริหารของสถาบัน SZMI สาธารณรัฐฮังการี, เยี่ยมชมรัฐสภาฮังการี, เข้าพบผู้บริหารของ European Center for Social Welfare Policy and Research
6. กมธ.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูงานที่ประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ระหว่างวันที่ 6-16 กรกฎาคม ใช้งบประมาณ 3,856,150 บาท โดยดูงานตามภารกิจของ กมธ. จำนวน 4 แห่ง คือ UNICA ศึกษาเทคโนโลยีการผลิต Bioethanol และ Biodiesel, ศึกษาดูงานการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำที่ Itaipu Power Station, ดูงานเทคโนโลยีผลิต NGV ของโรงงาน Aspro, ดูงานเทคโนโลยีการผลิต NGV ของ NGV Refueling Stations
7. รายงาน กมธ.การศึกษา ดูงานที่ประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ระหว่างวันที่ 3-11 กรกฎาคม โดยดูงานตามภารกิจของ กมธ. จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ เยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทย ประจำฝรั่งเศส เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษา, ศึกษาดูงานที่มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิค และพบผู้แทนนักศึกษาไทย, เยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหราชอาณาจักร เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการศึกษา, เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด, ศึกษาดูงานมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และพบผู้แทนนักศึกษาไทย, เยี่ยมชมโรงเรียนอีตัน
8 กมธ.การสาธารณสุข ดูงานที่ประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 17-24 กรกฎาคม ทั้งนี้ กมธ.การสาธารณสุขไม่ได้มอบเอกสารกำหนดการดูงานฉบับเต็มมาด้วย แต่ได้ระบุไว้ในรายงานผลการเดินทางศึกษาดูงานว่า ได้ไปศึกษาดูงานตามภารกิจที่เกี่ยวข้องกับ กมธ. จำนวน 4 แห่ง คือ เยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม, ศึกษาดูงานที่รัฐสภาราชอาณาจักรสวีเดน, ศึกษาดูงานด้านสาธารณสุข ที่สถานบันสุขภาพและสวัสดิการสังคมแห่งชาติ, ศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยออสโล
9 กมธ.อุตสาหกรรม ดูงานที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน–7 กรกฎาคม ใช้งบประมาณจำนวน 3,435,100 บาท โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า กมธ. ชุดดังกล่าว นอกจากศึกษาทัศนียภาพเมืองต่างๆ แล้ว พบว่าได้ไปดูงานเพียง 1 แห่ง คือ การผลิตน้ำหอมของบริษัท FRAGONARD PARFUMEUA ที่กรุงปารีส ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 เวลา 9.00-12.00 น. หรือใช้ระยะเวลาในการดูงานเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น
(กมธ.สวัสดิการสังคม รับประทานอาหารร่วมกัน)
ตะลึงกมธ.เกษตร หนีบคนนอกร่วมทัวร์ 22 คน
เป็นที่น่าสังเกตว่าในการเดินทางไปดูงานของ กมธ. นั้น นอกจากจะมี กมธ. ที่ได้รับสิทธิในการเดินทางทุกรายแล้ว ยังมีที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ และข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ใน กมธ. บางรายร่วมเดินทางเพื่ออำนวยความสะดวกด้วย ขณะที่บางคณะพบว่า กมธ. หลายคนได้นำผู้ติดตามร่วมคณะเดินทางไปด้วย
อาทิ กมธ.เกษตร ที่มีผู้ติดตาม กมธ. ร่วมเดินทางถึง 22 คน โดยเป็นผู้ติดตามของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ประธาน กมธ. การเกษตร จำนวน 14 คน ผู้ติดตามนายอนันต์ ศรีพันธุ์ รองประธาน กมธ. 2 คน ผู้ติดตามนายพงศ์เวช เวชชาชีวะ รองประธาน กมธ. 1 คน ผู้ติดตามนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ที่ปรึกษา กมธ. 3 คน ผู้ติดตามนายองอาจ วงษ์ประยูร เลขาฯ กมธ. 1 คน
ส่วน กมธ. ที่ไม่มีบุคคลภายนอกเดินทางไปด้วย อาทิ กมธ.วิทยาศาสตร์ กมธ.สาธารณสุข กมธ.ส่งเสริมราคาผลิตผลเกษตรกรรม
แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ กมธ. ประจำสภาผู้ราษฎร รายหนึ่งเปิดเผยว่า ผู้ติดตาม กมธ. ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลในครอบครัว เช่น สามี ภรรยา หรือบุตร นอกจากนี้ กมธ. บางรายยังพาคนสนิท นักการเมืองท้องถิ่น หัวคะแนน ข้าราชการในพื้นที่ ร่วมเดินทางไปด้วย
แต่การนำบุคคลภายนอกไปนั้น จะต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเครื่องบินและค่าห้องพักเอง (กรณีพักแยกห้องกับ กมธ.) แต่สามารถร่วมรับประทานอาหาร และการโดยสารรถภายในประเทศได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมเดินทางประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้มาก
ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะการเบิกงบประมาณในการเดินทางดูงานต่างประเทศของ กมธ. จะเบิกจ่ายตามรายการให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งจะต้องจำแนกค่าใช้จ่ายเป็นรายบุคคล ทำให้ไม่มีช่องว่างที่จะสามารถนำคนนอกไปโดยไม่เสียค่าตั๋วเครื่องบินหรือห้องพัก (กรณีพักแยก) ได้
ลอกข้อมูลอินเตอร์เนตทำผลสรุปดูงาน
สำหรับหลักเกณฑ์ในการเดินทางดูงานในต่างประเทศของกมธ. ในสมัยของนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เคยกำหนดไว้ว่าในการดูงานทุกครั้งกมธ.ทุกคณะจะต้องส่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะโดยจัดทำเป็นรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรและให้มีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ แต่ได้ถูกปรับเปลี่ยนจากข้อกำหนดเป็นความสมัครใจในสมัยที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น
ทั้งที่บทสรุปและข้อเสนอแนะของการศึกษาดูงานถือเป็น “หัวใจ” ที่สำคัญที่จะเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการดูงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
จากเอกสารในส่วนที่เป็นผลสรุปการศึกษาดูงานของกมธ.นั้นมีรูปแบบที่คล้ายกัน โดยประกอบไปด้วยส่วนของบทสรุปผู้บริหาร บทนำ สรุปผลการศึกษาดูงาน ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ กมธ. รวมไปถึงภาคผนวก
โดยผลสรุปของ กมธ.แต่ละคณะนั้นมีความหนาประมาณ 5-108 หน้ากระดาษ A4 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่ กมธ.เดินทางไปดูงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถสืบค้นได้ง่ายในอินเตอร์เนต หรือในหนังสือนำเที่ยวทั่วไป
อย่างไรก็ตามสำหรับ กมธ.อุตสาหกรรม ที่ในกำหนดการ กมธ. เข้าดูงานเพียง 1 แห่ง คือ ที่บริษัท FRAGONARD PARFUMEUA ณ กรุงปารีส ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำหอมนั้นได้ส่งรายงานการดูงานความหนา 35 หน้า สรุปผลการศึกษาดูงานจำนวน 17 หน้า ข้อคิดเห็นดูงาน 1 หน้า ส่วนที่เหลือคือข้อมูลพื้นฐานของประเทศที่เดินทางไปศึกษาดูงาน ภาคผนวกที่ประกอบไปด้วย โครงการที่เสนอของบประมาณ รายชื่อผู้ร่วมเดินทางและภาพถ่ายระหว่่างการดูงาน
ำหรับรายงานที่ กมธ. จัดทำขึ้นนั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข้อมูลพื้นฐานของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และประวัติน้ำหอม แทบจะไม่มีรายงานในส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล ผลิตรถยนต์ ตามหลักการและเหตุผลที่ กมธ.อุตสาหกรรมระบุไว้ในรายงานฉบับเดียวกันนี้แต่อย่างใด
แตกต่างไปจาก กมธ.การศึกษา กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ และ กมธ.การสวัสดิการสังคม ที่เนื้อหาในรายงานสอดคล้องกับหลักการและเหตุผลที่วางไว้ในการดูงานครั้งนี้ ซึ่งผลสรุปและข้อเสนอแนะที่ กมธ. ได้จัดทำแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนแนวความคิด ประสบการณ์ และการพัฒนาด้านที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ. เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานอื่นหากมีการนำไปศึกษาและประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคต
รองปธ.สภาเบิกจ่ายงบอย่างเข้มงวด
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งยกเว้นหลักเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นในสมัยของนายชัย ว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรต้องการสนับสนุนส่งเสริมการดูงานในต่างประเทศ ซึ่งในภายหลังมองว่าคนเป็นประธานสภาไม่ควรที่จะไปคิดแทน กมธ. ซึ่งจะกลายเป็นอำมาตย์ที่แท้จริง ดังนั้นจึงให้สิทธิกับ กมธ.ในการคัดเลือกประเทศที่จะเดินทางไปดูงานอย่างเต็มที่ ภายใต้งบประมาณที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดสรรให้ ซึ่งระเบียบของสภาผู้แทนราษฎรมีความเข้มงวดมากอยู่แล้ว และเชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่มีความเข้มงวดในการเบิกจ่ายงบประมาณมากที่สุดด้วยซ้ำ
นายเจริญ กล่าวว่า ส่วนการทำสัญญากับบริษัททัวร์นั้นจะต้องทำอย่างถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่แล้วบริษัททัวร์จะสำรองเงินจ่ายไปก่อนและมาทำเรื่องเบิกในภายหลัง ทั้งนี้ประโยชน์ในการดูงานต่างประเทศนั้นได้อย่างมหาศาลมาก ซึ่งสามารถเชื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศได้ทั้งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การค้า เมื่อไปดูงานกลับมาได้มีการเสนอปัญหาและช่องทางต่างๆไปยังฝ่ายบริหาร เพื่อให้ตั้งคณะกรรมการไปเจรจานำไปสู่การซื้อขายต่างๆ การเปิดสถานทูต การใช้แรงงาน การบริการการแพทย์ต่างๆซึ่งใน 1 ปีมีรายได้เข้าประเทศไทยจำนวนมาก
“ผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้มากมายมหาศาล แต่คนไปมองว่า กมธ.ไปเที่ยว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เป็นการไปศึกษาเศรษฐกิจ สังคม หรือ การบริหารประเทศต่างๆ ซึ่งถ้า ส.ส.ไม่มีความรู้เหล่านี้จะมีความรู้ในการพิจารณากฎหมายได้อย่างไร”นายเจริญกล่าว
ด้านนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.กิจการสภา กล่าวถึงขั้นตอนการว่าจ้างบริษัททัวร์ ว่า การจะใช้บริษัททัวร์ใดมาประสานการดูงาน เป็นหน้าที่ของ กมธ. แต่ละคณะที่จะใช้ดุลพินิจในการพิจารณา วิธีการคือจะมีบริษัททัวร์ที่ ส.ส. เคยใช้บริการและจะพูดกันว่าบริษัทนี้ใช้ได้ บริษัทนี้ห่วยแตก จะมีพวกที่ปรึกษา พวกที่เป็นผู้ช่วยเหลืองานของคณะแต่ละคณะนั่นแหละเป็นคนจัดการดู ซึ่งผมก็จะประเมินดูจาก กมธ. เป็นหลักว่าเขาไปแล้วแฮปปี้หรือไม่ มีความสุขดีไหม สนใจใยดีกับงานของสภาผู้แทนราษฎรได้
“ผู้แทนฯ นี่เวลาอยู่ในพื้นที่หนักเบาเอาสู้ อยู่อย่างไรกินอย่างไรก็อยู่ได้ แต่ว่าเวลาเขาเดินทางไปต่างประเทศต้องให้เกียรติให้เขาได้นอนโรงแรมดีๆ กินอาหารให้เขาได้กินอิ่มนอนอุ่นสบายๆ เป็นการชาร์จแบตเตอรี่เติมกำลังในการกลับมาทำงานที่หนักหนาให้กับประชาชน จึงเลือกจากบริษัทเหล่านี้เป็นหลัก ทั้งนี้คนที่จะประเมินว่าคุ้มหรือไม่คุ้มกับเงินงบประมาณที่จ่ายไปก็คือประชาชน เพราะประชาชนก็จะเป็นคนได้รับดอกผลของการพัฒนางานของฝ่ายนิติบัญญัติ”
(กมธ.อุตสาหกรรม ดูงานที่สมาพันธรัฐสวิส และ สาธารณรัฐฝรั่งเศส)
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ในฐานะประธาน กมธ.กิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา กล่าวว่า กมธ.ควรที่จะศึกษาดูงานในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของ กมธ.ชุดนั้นๆ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ เพราะหาก กมธ.ไปดูงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับ กมธ.เลย ก็จะไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่สูญเสียไป ดังนั้นการเดินทางของ กมธ.ควรที่จะคำนึงถึงความคุ้มค่าให้มากที่สุด อย่างน้อยเมื่อกลับมาควรที่จะมีรายงานผลการดูงานเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำองค์ความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ซึ่งจะถือเป็นประโยชน์ และในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทเอกชนในการอำนวยความสะดวกในการเดินทางนั้นควรที่จะมีการสอบราคา 2-3 บริษัทเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมที่สุด
“การใช้งบประมาณของ กมธ.จะต้องคิดว่าเราเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ายังไม่มีกระบวนการตรวจสอบการใช้งบประมาณภายในอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของดุลยพินิจของประธาน กมธ.ในแต่ละคณะ ดังนั้น เห็นว่าประธาน กมธ.แต่ละคณะควรที่จะมาประชุมหารือกัน เพื่อตั้งเป้าหมายในการดูงาน หรือวางกฎ กติกา ให้มากกว่านี้ เพื่อไม่ให้มีข้อครหาเกิดขึ้น”นายจิตติพจน์กล่าว
นักวิชาการ ซัด ใช้ภาษีเหมือนเป็นสวัสดิการส่วนตัว
นายจรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า รัฐสภาในประเทศอื่นๆ ที่เจริญมากกว่า ไม่ใช้เงินงบประมาณไปดูงานต่างประเทศจำนวนมากขนาดนี้ แต่รัฐสภาต่างประเทศได้ทุ่มเงินงบประมาณไปกับการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาและยกร่างกฎหมาย ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาล รวมทั้งใช้จ่ายไปในเรื่องการประมวลรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเงินการคลัง การตรวจสอบต้นทุนการจัดบริการสาธารณะ และตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหาร เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนอย่างจริงจัง ในขณะที่รัฐสภาไทยเราแทบจะไม่ได้ใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันแต่อย่างใด
นายจรัส กล่าวว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐสภาไทย จะไม่ประสบผลสำเร็จในการทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ และ กฎหมายของไทยล้าหลัง การพิจารณาร่างกฎหมายล่าช้า มีร่างกฎหมายค้างสภาจำนวนมากมาย และต้องตกไปเมื่อหมดวาระของรัฐสภาเสมอมา นอกจากนี้การตรวจสอบรัฐบาล ก็ไม่ได้ทำจริงจัง ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ก็ไม่มี ข้อมูลที่นำมาใช้ในการตรวจสอบรัฐบาล ก็ไม่เป็นกลาง เชื่อถือไม่ได้ แต่รัฐสภาก็ไม่ได้ปรับปรุงการทำหน้าที่หลักของตนเองให้ดีขึ้นอย่างจริงจังแต่อย่างใด
“จากข้อมูล กมธ.เหล่านี้ ไปดูงานด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว แต่แทบจะไม่มีการไปดูงานด้านการพัฒนากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย หรือการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เห็น ซึ่งถ้าเป็นเช่นว่านี้จริง ก็น่าจะสรุปการไปดูงานของบรรดากมธ. ทั้งหลายเช่นว่านี้ ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐสภาหรือของ ส.ส. ส.ว. แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ผ่านสถานทูต สำนักทูตด้านการค้า การลงทุน การเกษตร การทหาร ซึ่งมีความรู้ความชำนาญมากว่าท่าน ส.ส. ทั้งหลาย ที่ไปดูงานแบบฉาบฉวยเท่านั้น ดังนั้นถ้ารัฐสภาอยากรู้เรื่องอะไร เกี่ยวกับประเทศไหน ลึกซึ้งแค่ไหน ก็สามารถขอให้ฝ่ายบริหาร และกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องเขามาชี้แจง หรือให้ทำรายงานมาให้ดูย่อมได้”นายจรัสกล่าว
นายจรัส กล่าวว่า จากคำชี้แจงของบรรดาผู้รับผิดชอบของรัฐสภาชวนให้เข้าใจได้ว่าการให้กมธ.ไปดูงานต่างประเทศ ที่ทำกันมาตลอดนั้น เป็นการให้รางวัลบรรดา ส.ส. ส.ว. รวมทั้งสมัครพรรคที่เป็นกมธ.และพวกผู้ติดตามทั้งหลาย ได้ไปเปิดหูเปิดตา โดยใช้เงินภาษีของประชาชน เสมือนเป็นสวัสดิการของท่านเหล่านี้
“ประเทศไทยเราไม่ได้ร่ำรวยเหลือเฟือขนาดเอาเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายฟุ่มเฟือยแบบนั้น ถ้าประเทศไทยเรารวยจริง รัฐบาลก็คงไม่ต้องไปกู้เงินปีละเป็นแสนๆ ล้านบาท และยังจะกู้อีกเป็นล้านล้านบาทในขณะนี้ เราคนไทยอยากให้รัฐสภาไทยทำหน้าที่ และใช้จ่ายเงินภาษีของเราให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อประโยชน์และความสุขสบายของบรรดา ส.ส. ส.ว. และ กมธ.”นายจรัสกล่าว
นายจรัส ยังระบุถึงกรณีที่ กมธ.จำนวน 26 คณะที่ไม่มอบข้อมูลการดูงานตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ว่า เป็นเรื่องที่แปลกอย่างยิ่งสำหรับประเทศประชาธิปไตย ที่สถาบันรัฐสภาไม่ยอมเปิดเผยเรื่องการไปดูงานต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ ไม่ใช่เรื่องลับหรือเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ถ้าสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบรัฐสภา ส.ส. ส.ว. ได้ ก็จะไม่มีใครตรวจสอบได้ เพราะ ส.ส. ส.ว. ไม่ตรวจสอบกันเอง ยิ่งเมื่อทราบว่าประธานรัฐสภาคนปัจจุบันได้ยกเลิกมาตรการควบคุมตรวจสอบที่มีอยู่แต่เดิม ปล่อยให้กมธ.ดำเนินการในเรื่องนี้โดยอิสระ หรือเป็นรัฐสภาประชานิยมไปเรียบร้อยแล้ว ก็ยิ่งหมดหวัง
ทั้งนี้ สำหรับ กมธ.ทั้ง 26 คณะที่ไม่ส่งข้อมูลให้ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารนั้นได้มีการทำเรื่องอุทธรณ์ไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งเพื่อขอข้อมูลดังกล่าว
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าด้วยวิธีการและระเบียบในการเบิกจ่ายที่เป็นไปอย่างอิสระ ปราศจากการตรวจสอบที่เข้มแข็งของหน่วยงานที่กำกับดูแลทำให้ การใช้งบประมาณของสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 175 ล้านบาทต่อปี เพื่อการศึกษาดูงานของ กมธ.สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรในต่างประเทศส่วนใหญ่ เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้หากใช้ผลการศึกษาดูงานเป็นตัวประเมินความสำเร็จในเรื่องการนำองค์ความรู้จากการดูงานมาพัฒนาประเทศนั้นยังถือว่าไม่เกิดผลตามที่ควรจะเป็น
จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่าการดูงานในต่างประเทศของกมธ.ด้วยงบประมาณ 175 ล้านบาทยังมีควรจะมีอยู่อีกหรือไม่
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือ หน่วยงานซึ่งที่มีหน้าที่ดูแลโครงการการเดินทางศึกษาดูงานในต่างประเทศของกมธ. จะมีแนวทางหรือมาตรการจัดการในการขจัดปมปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
เพื่อไม่ให้ประชาชนผู้เสียภาษีต้องสิ้นหวังกับการใช้งบประมาณของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร!
(กมธ.สวัสดิการสังคม พบชาวไทยที่ร้านอาหารไทย กรุงบูดาเปส สาธารณรัฐฮังการี)
---------------
ข้อมูลล้อมกรอบ
กลายเป็น “วัตรปฏิบัติ” ไปกันเสียแล้ว สำหรับการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ ระหว่างการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในทุกครั้ง 
ใน 1 ปีงบประมาณ กมธ.จะได้รับการจัดสรรจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 5 ล้านบาทต่อคณะ
โดย กมธ.จะเป็นผู้บริหารเงินงบประมาณทั้งหมดเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการแบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกกันไว้ดูงานในประเทศแถบยุโรปที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวน 3 ล้านบาทต่อ 1 ทริป ขณะที่ส่วนที่เหลืออีก 2 ล้านบาทจะถูกนำไปใช้ในการดูงานในประเทศแถบเอเซีย
ทั้งนี้ การเดินทางดูงานของ กมธ.นั้น บุคคลที่มีสิทธิใช้เงินงบประมาณได้ ดังนี้
1.กมธ.ซึ่งใน 1 คณะจะมี กมธ.ประมาณ 15 คน 2.ที่ปรึกษา กมธ. ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมกมธ.ให้ร่วมคณะเดินทางไปด้วย ประมาณ 2 คนต่อการเดินทางหนึ่งครั้ง และ 3.ข้าราชการประจำกมธ.ประมาณ 2 คนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและประสานงานให้ กมธ.
แต่หาก ส.ส.รายใด เป็น กมธ.มากกว่า 1 คณะ หรือเป็น กมธ. 2 คณะจะสามารถร่วมเดินทางไปดูงานได้ถึง 2 ครั้งต่อหนึ่งการปิดสมัยประชุม
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณนั้นจะใช้ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ซึ่ง ส.ส.จะมีตำแหน่งเทียบเท่ากับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง หรือตำแหน่งระดับ 9
โดยอัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวและค่าใช่จ่ายอื่น ในกรณีที่เบิกในลักษณะเหมาจ่ายนั้น จะสามารถเบิกได้ไม่เกิน 3,100 บาทต่อคน แต่ในกรณีที่ไม่ได้เลือกเบิกในลักษณะเหมาจ่ายให้เบิกค่าใช้จ่ายได้ดังนี้
1. ค่าอาหารและค่าเครื่องดื่ม รวมทั้งค่าภาษี และค่าบริการโรงแรม ภัตตาคาร หรือร้านค้าเรียกเก็บจากผู้เดินทางไปราชการ ทั้งนี้ ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินวันละ 4,500 บาทต่อคน
2. ค่าทำความสะอาดเสื้อผ้า สำหรับระยะเวลาที่เกิน 7 วัน ให้เบิกเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินวันละ 500 บาทต่อคน
3. ค่าใช้สอยเบ็ดเตล็ด ให้เบิกในลักษณะเหมาจ่ายไม่เกินวันละ 500 บาทต่อคน
อัตราค่าเช่าที่พักจะแบ่งตามประเภทของประเทศที่เดินทางไปดูงาน โดยจะมีอัตราตั้งแต่ 4,400 -10,000 บาทต่อวัน แต่หากเป็นประเทศตามประเภท ง. ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส รัสเซีย สมาพันธรัฐสวิส และอิตาลี จะสามารถเบิกไม่เกิน 14,000 บาทต่อวัน ขณะที่ประเทศตามประเภท จ. อาทิ เบลเยียม สเปน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ โปรตุเกส และสิงคโปร์ สามารถเบิกได้ไม่เกินวันละ 12,500 บาท
นอกจากนี้ ยังมีค่าแต่งตัวสำหรับผู้เดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราวในลักษณะเหมาจ่ายในอัตรา 45,000 บาท และ 32,000 บาท ตามประเทศที่เดินทางไป ดังนั้น ในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ 1 ครั้ง ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 150,000-200,000 บาทต่อราย
การดำเนินการทั้งหมด กมธ. จะใช้บริการของบริษัททัวร์เอกชน ซึ่งการว่าจ้างบริษัททัวร์เพื่อให้จัดโปรแกรมเดินทางไปดูงานต่างประเทศนั้นจะใช้บริษัททัวร์หน้าเดิมที่เคยว่าจ้างกันมาและได้รับการแนะนำจากกมธ.ในคณะ ทั้งนี้โครงการการศึกษาดูงานต่างประเทศจะต้องผ่านการอนุมัติจากประธานสภาผู้แทนราษฎรก่อน
ด้วยเงินงบประมาณจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่การเดินทางดูงานในต่างประเทศทุกครั้งจะถูกจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าของเงินประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนจะต้องสูญเสียไปเพื่อเป็นการป้องกันสภาผู้แทนราษฎรให้รอดพ้นจาก “ข้อครหา” ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติหลายคนได้พยายามตั้ง “กฎเหล็ก” สำหรับ กมธ.ในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศขึ้น แต่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เห็นได้ชัดเจนมีเพียง 2 สมัยคือ
สมัยที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร มีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติในการเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ต่างประเทศของ กมธ.สามัญ สภาผู้แทนราษฎรขึ้น
โดยกำหนดให้ประธาน กมธ.คณะต่างๆ ต้องจัดทำโครงการศึกษาดูงาน และเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอนุมัติ ไม่น้อยกว่า 30 วัน และแจ้งต่อกองคลังและพัสดุของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนการเดินทางไม่น้อยกว่า 15 วัน และจำนวนคนที่ไปจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน กมธ. ทั้งหมด
ขณะที่เจ้าหน้าที่ กมธ. และคณะทำงาน อาทิ ที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการ และเลขานุการประจำ กมธ. สามารถร่วมเดินทางไปด้วยอีกฝ่ายละ 2 ราย ที่ปรึกษาอื่นไม่เกิน 5 คน ส.ส. ที่ไม่ได้เป็น กมธ. ในคณะนั้นจำนวนไม่เกิน 3 คน โดยที่ปรึกษาอื่นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
เมื่อเดินทางกลับมา กมธ. จะต้องส่งเงินที่เหลือคืนพร้อมเคลียร์ค่าใช้จ่ายภายใน 15 วัน และส่งรายงานให้กับคณะกรรมการตรวจสอบภายใน 30 วันหลังจากการเดินทาง ส่วนวิธีปฏิบัติด้านการเงินอื่นใด ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการโดยเคร่งครัด
และในสมัยของนายชัย ชิดชอบ ได้มีการเพิ่มเติมข้อกำหนดอีก 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. ต้องมีหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล หรือหน่วยงานราชการในประเทศนั้น 2. เงื่อนเวลาในการเดินทางจะต้องเดินทางหลังจากปิดสมัยประชุมไปแล้ว และจะต้องเดินทางกลับมาให้ทันประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธและพฤหัสบดี และ 3. กมธ. ต้องมีการใช้งบประมาณอย่างประหยัด พร้อมกับการเสนอผลการศึกษาดูงานของกมธ.ต่อสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ กมธ.สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรขึ้น เพื่อดูแลการเดินทางของ กมธ. ให้เป็นไปตามระเบียบด้วย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีการตีกลับโครงการศึกษาดูงานของ กมธ. หลายคณะ เพื่อให้ไปดำเนินการจัดทำใหม่ตามระเบียบ จนเกิดความไม่พอใจขึ้นในบรรดาประธาน กมธ.
อย่างไรก็ตาม “ข้อกำหนด” ที่มีขึ้นเพื่อป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณได้ถูกยกเลิกลงในสมัยที่ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์”ขึ้นเป็นประมุขในฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้การเดินทางในสมัยดังกล่าวกมธ.สามารถใช้วิจารณญาณได้อย่างเป็นอิสระ
จนนำไปสู่การตั้งฉายาสภาผู้แทนราษฎรในปี 2555 ว่า เป็นสภา “จองล้าง จ้องผลาญ”.

เปิดโฉม! ใบสั่ง แบบใหม่ เริ่มใช้วันนี้

เปิดโฉม! ใบสั่ง แบบใหม่ เริ่มใช้วันนี้

โฉมหน้า ใบสั่ง แบบใหม่ ผบ.ตร. ลงนามประกาศใช้ ต้องมีตรายางประทับ บังคับแล้ววันนี้
พลตํารวจเอก อดุลย์ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ได้ออกประกาศข้อกําหนดเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักรเรื่อง กําหนดแบบใบสั่งของตำรวจจราจร แบบใหม่ โดยมีผลถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีสาระดังนี้
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 140 วรรคเจ็ด แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 529/2555 ลงวันที่ 7  กันยายน พ.ศ. 2555
เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานจราจรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติในฐานะเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร จึงกําหนดแบบใบสั่งและใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1  ข้อกําหนดนี้เรียกว่า “ข้อกําหนดเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร เรื่อง กําหนดแบบใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่และใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556”
ข้อ 2 ข้อกําหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 แห่งข้อกําหนดเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักรเรื่อง กําหนดแบบใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่และใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ข้อ 4 แบบใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่และใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ให้มีขนาดกว้าง 14 เซนติเมตร ยาว 25 เซนติเมตร และเป็นไปตามแบบท้ายข้อกําหนดนี้ซึ่งมี 2 แบบดังนี้
(1) แบบที่ 1 ใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่และใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่
(2) แบบที่ 2 ใบสั่งของเจ้าพนักงานาจราจรและใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ โดยกําหนดให้มี
ข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางสีน้ำเงินเพิ่มเติม ดังนี้
(2.1) ใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร
(ก) ให้ประทับตรายางด้วยข้อความว่า “หรือพนักงานเจ้าหน้าที่” ต่อท้ายชื่อ ใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร
(ข) ให้ประทับตรายางด้วยข้อความว่า “(ยศ………ชื่อ………………นามสกุล………….) พนักงานเจ้าหน้าที่ รหัส…” ต่อจากคําว่า “ลงชื่อ…………………………….เจ้าพนักงานจราจร”
(2.2) ใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่
(ก) ให้ประทับตรายางด้วยข้อความว่า “ระหว่างประเทศ” ต่อท้ายข้อความในบรรทัดที่เจ็ด
(ข) ให้ประทับตรายางด้วยข้อความว่า “(ยศ………ชื่อ………………นามสกุล………….)” ต่อจากคําว่า “ลงชื่อ…………………………….ผู้ออกใบสั่ง รหัส…”

ข่าวโดย : สำนักข่าวอิศรา

อ่านแถลงการณ์ร่วม สมช.-บีอาร์เอ็น “ข้อริเริ่มสันติภาพช่วงรอมฎอนปี ค.ศ. 2013”

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 23:00 น.  ข่าวสดออนไลน์ 


อ่านแถลงการณ์ร่วม สมช.-บีอาร์เอ็น “ข้อริเริ่มสันติภาพช่วงรอมฎอนปี ค.ศ. 2013”

 แปลโดย เอกอัคราชทูต กำธร สิทธิโชติ ที่ปรึกษาเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2013 เวลา 15.30 น. Datuk Seri Ahmad Zamzamin Hashim ผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียได้แถลงข่าวเรื่อง “ข้อริเริ่มสันติภาพช่วงรอมฎอน ปี 2013” ณ โรงแรม Seri Pacific กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมีเนื้อหา สรุปได้ ดังนี้

 1. สมช. (ในแถลงข่าวเรียก Party A) และ BRN (ในแถลงข่าวเรียก Party B) ได้ตกลงในหลักการในระหว่างการพูดคุยครั้งที่ 4 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2013 ว่าจะทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุถึงเดือนรอมฎอนที่ปราศจากความรุนแรงใน จชต.

 2. ช่วงเวลาที่ 2 ฝ่ายกำหนดคือ 40 วัน นับตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2013 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2013 ในพื้นที่ 4 จชต. คือ จ. ปัตตานี จ. นราธิวาส จ. ยะลา และ 5 อำเภอใน จังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.นาทวี อ.สะเดา อ.จะนะ อ.เทพา และ อ. สะบ้าย้อย

 3.Party A ได้ตกลง (ในการพูดคุยครั้งที่ 4) ว่าจะดำเนินการ ดังนี้

 - ยังคงรับผิดชอบต่อการการดำเนินการป้องกันอาชญากรรม การเฝ้าระวัง เพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณชน

 - รับประกันความปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงพื้นเพ เชื้อชาติ ศาสนา และสถานภาพ

 - จะยับยั้ง (refrain) การดำเนินการที่ก้าวร้าวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงซึ่งมีสาเหตุมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้

 4. Party B ได้ตกลง (ในการพูดคุยครั้งที่ 4) ว่าจะดำเนินการดังนี้

 - จะพยายามและพิจารณาที่จะไม่สร้างความรุนแรงใดๆ ซึ่งรวมถึงการโจมตีด้วยอาวุธ การวางระเบิด และการซุ่มโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคง และสาธารณชน

 - จะพยายามที่จะไม่ก่อวินาศกรรมหรือสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของทางราชการและสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ

 - รับประกันว่า สิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของผู้ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม จะได้รับความเคารพ ให้คุณค่า และพิทักษ์ไว้ในระยะเวลานี้ ทั้ง 2 ฝ่ายตกลง ดังนี้

 - จะทำงานหนักเพื่อให้เดือนรอมฎอน ปี 2013 เป็นเดือนที่ปราศจากความรุนแรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความตั้งใจ และความจริงจังของทั้งสองฝ่ายในการแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาที่มีร่วมกัน ผ่านเวทีการพูดคุยสันติภาพ โดยทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อว่าการพูดคุยเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับสันติภาพอันถาวรและยั่งยืนในภาคใต้ของไทย

 - ฝ่ายใดที่ฝ่าฝืน ขัดขวางหรือทำลายล้างความเข้าใจอันนี้ ถือว่าเป็นฝ่ายที่ไม่รักสันติภาพ และไม่เคารพเจตนารมณ์และความประสงค์ของประชาชนชาวไทย

 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องพยายามเข้าใจ ให้เกียรติและยึดมั่นปฏิบัติตามหลักการของความเข้าใจร่วมนี้ เพื่อบรรลุจุดประสงค์ของความปรารถนาร่วมเรื่องข้อริเริ่มเรื่องสันติภาพในช่วงเดือนรอมฎอนปี 2013 นี้ 

ล่าทองคำ8พันกิโล เณรคำ

รายงานหน้าหนึ่ง : “พระมหานรินทร์” วิเคราะห์ข้ามช็อตกรณี “เณรคำ”


พระมหานรินทร์ นรินฺโท




ข้อมูลเกี่ยวกับบ้านของเณรคำในอเมริกา ที่เว็บ อะลิตเติลบุดด้า นำออกเผยแพร่


โฉนดที่ดินของบ้านในเลค เอลซินอร์ ซึ่งระบุชัดเจนว่ามีชื่อ วิรพล สุขผล เป็นเจ้าของ


โดย ภาณุพล รักแต่งาม

ในช่วงที่ข่าวของหลวงปู่เณรคำ หรือพระวิรพล ฉัตติโก กำลังเป็นที่สนใจของสื่อทุกค่ายอยู่ในเวลานี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของวัดไทย ลาสเวกัส ที่ชื่อ “อะลิตเติลบุดด้าดอทคอม” ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่สื่อใหญ่จากประเทศไทยนำไปใช้ โดยข้อมูลล่าสุดที่มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางคือหลักฐานการเป็นเจ้าของบ้านหลังใหญ่ในเลค เอลซินอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่ “หลวงปู่เณรคำ” ใช้ชื่อ “วิรพล สุขผล” ถือครองเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

 

 

          ........

          นอกจากกรณีของอรหันต์กำมะลอที่ชื่อ “หลวงปู่เณรคำ” แล้ว เว็บไซต์ “อะลิตเติลบุดด้าดอทคอม” มีบทบาทในการตีแผ่พฤติกรรมผิดเพี้ยนของเหล่าอลัชชี มายาวนาน

          และเบื้องหลังของเว็บไซต์แห่งนี้ก็คือ พระมหานรินทร์ นรินฺโท พระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 3 (2540) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยลาส เวกัส อยู่ในเวลานี้...

          สยามทาวน์ยูเอส ได้กราบเรียนถามท่านหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามายังสหรัฐอเมริกา และเรื่องอื่นๆ ของพระวิรพล ฉัตติโก เพื่อนำเสนอเป็นข่าวหน้าหนึ่งของฉบับนี้ แต่การสนทนาครั้งนี้ยังมีความน่าสนใจอีกหลายประเด็นที่เราเห็นควรแยกออกมานำเสนอเป็นบทสัมภาษณ์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนและผู้สนใจทั่วไปได้เข้าใจถึง “แนวคิด” ของพระธรรมทูตหนุ่มรูปหนึ่ง ที่อุทิศตัวเพื่อปกป้องพระศาสนาอย่างเต็มที่ โดยไม่หวั่นเกรงกับผลกระทบที่อาจจะตามมา

          ดังนี้...

          ......

          ท่านเชื่อว่าเณรคำคงขอลี้ภัยอยู่ที่อเมริกานี้

          “แหงอยู่แล้ว เรื่องอะไรจะกลับเมืองไทย เขาขีดเส้นตายหมดแล้ว หรือกลับได้ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว คณะสงฆ์ศรีสะเกษก็ประกาศไม่ให้เข้าจังหวัดแล้ว ที่เขาไปตั้งวัดไว้ แล้วจะไปทางไหน อุบล บ้านเกิดเขาก็บอกว่าพ้นสภาพแล้ว ก็เหลือร้อยเอ็ด ซึ่งองค์นั้น (พระธรรมฐิติญาณ เจ้าคณะภาค 10 (ธรรมยุต) ก็ยังกระเตงกันอยู่องค์เดียว ซึ่งคงช่วยไม่ได้แล้ว เพราะดีเอสไอ เขาทำเป็นคดีอาญา”

          คดีที่ดีเอสไอพูดถึง มากพอจะทำให้ถูกส่งตัวข้ามแดนไหม

          “บางเรื่อง ถ้าเป็นคดีส่วนตัวนี่ อเมริกาไม่ค่อยสนนะ แต่ถ้าเป็นคดีส่วนรวม มีผลในวงกว้างเช่นคดียาเสพติดนี่ มีผลมากเลย ฉะนั้นถ้าจะเอาคดีไวๆ ให้ได้ผลชัดเจน คดียาเสพติดจะต้องขึ้นเป็นตัวเมน ถ้าจะเอาไวๆ ให้เห็นผล แต่ไม่งั้นจะลากกันหลายปี

          มีโอกาสไหมที่จะเอาผิดพระเณรคำในคดียาเสพติด

          “ต้องเข้าใจว่า กรณียาเสพติดนี่ มันมีข่าวมาหลายปีแล้วว่ารถของท่านผู้นี้ถูกจับ แล้วตัวท่านไม่โดนจับ เหมือนกรณีของกิตติวุฑโฒสมัยก่อน ที่เอารถติดตราจิตตภาวันไปขนอาวุธชายแดนเขมรอะไรนั่นน่ะ นี่มันเป็นอย่างนั้น เขากำลังเท้าความกลับไป ไปรื้อฟื้นคดี เพราะตอนนั้นมันเกิดปัญหาว่าเขากำลังมาแรงมาก สามารถปิดปากได้ก็ข้ามไป แต่ตอนนี้มันเอาไม่อยู่แล้ว ก็ไปเอาของเก่าข้างหลังมารวมเอาไว้ทีเดียว”

          จะไปเจอผู้มีอิทธิพลขวางทางหรือไม่

          “อันนี้ก็พูดยาก จริงๆ แล้วนี่ การวิเคราะห์ของข่าวแต่ละสำนักเห็นตรงกันหมดว่า ทำอะไรเณรคำไม่ได้หรอก เป็นไปไม่ได้ ซื้อรถเบนซ์ 20 คันน่ะ มีที่ไหน แล้วก็หลายๆ อย่าง อย่างนักข่าวเมืองไทย เมื่อวานก็บอกว่า เดี๋ยวนี้เขาไม่ได้มองจุดนี้แล้ว ไม่ได้มองรถเบนซ์ ไม่ได้มองเงินในแบงก์เท่าไหร่ เพราะว่ารถเบนซ์มันมีทะเบียนรถ ประกอบที่ไหน ย้ายที่ไหน เสียภาษียังไง เถื่อนหรือไม่เถื่อนเขารู้ ใครครอบครองเขาก็รู้ รถมันคันใหญ่ วิ่งออกถนนก็จำได้ เผาก็เหลือเชสซี เงินในแบงก์ ธนาคารเขาก็มีเรคคอร์ดไว้หมด ปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงจุดนั้นแล้ว ปัญหาอยู่ที่ทองคำ แปดพันกิโลไปอยู่ไหน เพราะที่บ้านก็ไม่มี ที่วัดก็ไม่มี แล้วอย่าลืมนะ ทองคำนี่ไม่เหมือนเพชรพลอย ที่แปลงรูปไม่ได้ แต่ทองคำแค่เอาไปเข้าความร้อนก็แปรรูปได้แล้ว ไปรวมกันเป็นก้อนได้เลย แปรรูปง่าย เก็บก็ง่าย ขายก็ง่าย ปัญหาทุกวันนี้คือทองคำอยู่ที่ใคร ไม่ได้อยู่ที่เณรคำน่ะ ไม่ได้เอาใส่เครื่องบินไปด้วยนี่ ย่ามน่ะ ถึงเอาไปก็คงไม่เกินสามกิโล แต่มันแปดพันกิโล มันมากกว่าขุมทองลิเจีย เรื่องนี้ถ้าขุดกันจริงๆ ผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองไทยตายกันเกลี้ยงเลยนะ ของเณรคำกระจายอยู่กับผู้มีอำนาจระดับบิ๊กๆ ทั้งหมดเลย จะไปฝากตาสีตาสาเป็นไปได้หรือเปล่า ไม่มีทาง”

          เป็นไปได้ไหมถึงที่สุดแล้ว เอาผิดเณรคำไม่ได้

          “เอาผิดให้ง่ายที่สุดก็คือเรื่องผู้หญิงน่ะ เรื่องอื่นมันอาจจะยาก เพราะว่าคนที่เขาทำบุญ อย่างตอนมาแอลเอ เขาทำบุญน่ะ แล้วทำบุญให้วัดเมืองไทยด้วย ไม่ใช่วัดอเมริกา ถ้าทำบุญกับวัดในอเมริกา วัดไม่ให้ใบเสร็จก็จะมีปัญหาภายหลังได้ แต่ไอ้นี่ หลายคนหมดทองไปเป็นกิโลๆ ก็ยกไปให้เขาเฉยๆ ให้เขาเอากลับเมืองไทย ใบเสร็จก็ไม่มี ซวยแล้วกู เอาคืนก็ไม่รู้เอาคืนยังไง 

          “นี่ไง ถึงว่าฉลาดเป็นกรดเลย แต่คนในอเมริกานี่ โทษเถอะ โง่ เป็นไปได้ไง พวกเราอยู่วัดที่นี่ บริจาคห้าบาทสิบบาททวงใบเสร็จนะ ไอ้นั้นน่ะ เอาเงินให้เป็นแสนๆ เหรียญ ทองคำเป็นสิบๆ กิโล ไม่มีใบเสร็จแม้แต่ใบเดียว บอกว่าท่านเป็นอรหันต์ไง”

          จนถึงวันนี้ ทำไมยังมีคนศรัทธา อย่างกรณีของยันตระด้วย เพราะเหตุใด

          “กรณีอาจารย์ยันตระนี่ ตอนเป็นพระเขาเลี้ยงคน กรณีเณรคำกับยันตระนี่ต้องเข้าใจนะ เวลาจับสึกเขาจับคนเดียว หรือนิกรด้วย แต่ลูกศิษย์ท่านที่เป็นพระนี่ยังเคารพนับถือท่านในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ เลี้ยงกันมาตั้งแต่เป็นเณร ตั้งแต่เกิด มันก็เห็นอยู่ เคารพนับถือ เหมือนพระเบญจวัคคีย์เคยไหว้พระพุทธเจ้า ตอนทิ้งไป พระพุทธเจ้าเดินไปตาม ก็นัดกันว่าพวกเราจะไม่ต้อนรับ ไม่กราบ ไม่ไหว แต่พอเห็นพระพุทธเจ้าจริงๆ มันเคยน่ะ เคยตะเบ๊ะเหมือนทหารตำรวจน่ะ มันก็ต้องยกมือไหว ทีนี้เมื่อไหว้แล้ว พระไหว้แล้วลูกศิษย์ก็ไหว้ เวลามีงานก็ไปนิมนต์มา แล้วก็ดันไปนิมนต์พระรูปอื่นไปร่วมงานด้วย อ้าว! อาจารย์ยันตระมา พระองค์อื่นก็พูดไม่ออกสิ มันไม่ใช่งานเรา จะกลับก็เสียมารยาท ก็ตอนนิมนต์ไปไม่ได้บอกนี่ว่านิมนต์ยันตระมาด้วยนี่ อ้าว ซวยเลย มันตกกระไดพลอยโจนน่ะ ไม่งั้นก็ต้องกระทืบเท้าออกใช่ไหม แถมดันถูกถ่ายรูปด้วยกันอีก เอาละ ซวยเลย”

          “คิดหรือว่าคนอย่างเณรคำธรรมดา คิดหรือว่าคนอย่างยันตระธรรมดา คนพวกนี้ไม่กระจอกหรอก เขาต้องมีดี แต่คุณสมบัติส่วนตัวของเขา อาจจะมีปัญหาอย่างอื่น ซึ่งทางสังคมพุทธแบบไทยๆ ไม่เอา แต่อีกสังคมหนึ่งเขาเห็นว่าโอเค ใช้ได้ เราทิ้ง แต่เขาเก็บไป รีไซเคิล ของบางอย่างรีไซเคิลแพงจะตาย”

          สรุปว่าเณรคำสามารถใช้ชีวิตอย่างอเมริกาได้อย่างสบาย เพราะมีบ้านมีวัดของตัวเอง

          “ปัญหาคือกลุ่มคนลาวนิยมเขามากๆ เลย แล้วคนลาวที่นี่เขาก็ไม่แคร์สังคมไทยเราด้วย มึงไม่เอาสิ กูจะเอา เพราะฉะนั้นในกลุ่มสร้างวัดสร้างวาของเณรคำ ไม่ว่าจะที่ฝรั่งเศสหรือที่อเมริกานี่ ไม่มีคนไทยเท่าไหร่ คนลาวเยอะมาก แกรู้เลยว่าวันหนึ่ง ถ้าแกอยู่กับสังคมไทยไม่ได้ แกจะมีสังคมใหญ่กว่ารองรับ คือสังคมลาวและเขมร โยมก็รู้ อยู่ที่นี่ ชุมชนลาวเยอะกว่าไทย... ถ้าไม่มีการส่งตัวกลับเมืองไทย อาตมาเชื่อว่าเขาอยู่ได้ แต่อาจจะไม่ป๊อปปูลาร์เหมือนเดิม แต่อยู่ได้อย่างแน่นอน เรายังไม่รู้ว่าเขามีสมบัติเก่าที่เก็บไว้เท่าไหร่ มีคนที่มีผลประโยชน์ร่วม เป็นฐาน อะไรต่างๆ ที่นี่อยู่”

          “ประเด็นต่อไปคือ เรื่องทองคำนี่ เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย มันไม่ใช่เรื่องคดีความแล้วล่ะที่จะทำให้เณรคำกลับเมืองไทยไม่ได้ มันจะกลายเป็นทองคำนี่แหละ เอาไปฝากไว้กับใครบ้าง คงหลายๆ เจ้า ไม่ได้ฝากไว้ที่เดียวหรอก แปดพันกิโลนี่ เป็นไปไม่ได้ ต้องกระจาย คนพวกนี้ ถ้าเป็นคนมีสี มีอำนาจ มีอิทธิพลมากๆ นี่ ถ้าเขาโลภขึ้นมาแล้วนี่ ทองนี่มันไม่มีใบเสร็จแน่นอนว่าใครเอามาฝากใคร ถ้าเขาสามารถปิดปากเณรคำได้ เขาก็เป็นเจ้าของทันที จะกลายเป็นการล่าขุมทองอย่างรุนแรงยิ่งกว่าเพชรซาอุ น่ากลัว

          “ลองไปนั่งวิคราะห์กันดูว่าปัญหาที่คุยๆ กันวันนี้นี่ เขามองข้ามไปแล้ว ข้ามช็อตไปแล้ว เรื่องเณรคำ เรื่องคดีความ เป็นเรื่องรองแล้ว เรื่องทองคำแปดพันกิโล ที่ไม่ได้เอาติดกระเป๋ามาด้วยน่ะ มันตกค้างอยู่เมืองไทยหมดเลย แล้วไอ้พวกที่ครอบครองอยู่ทุกวันนี้ มันเงียบๆ กำลังจะฮุบกันหรือเปล่า ขณะที่เรากำลังวิ่งไปตามหาบ้านที่ฟลอริดา ที่แคลิฟอร์เนีย ไปตามหาว่าอยู่ที่ไหน คนอีกกลุ่มไปตามหาทองอยู่ ไม่สนใจว่าเณรคำจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรด้วย ขึ้นสวรรค์หรือลงนรกไปเลยยิ่งดี อ้าว จริงๆ มันไม่เข้าใครออกใคร... มันกำลังจะกลายเป็นมหกรรมล่าขุมทองเณรคำ

          จะมีวันที่เณรคำออกมาแฉมั่งไหม

          “ก็นี่ไง เขาก็กลัวกันนะ เณรคำก็อาจจะต้องบอกว่าพวกคุณต้องช่วยผมนะ ถ้าพวกคุณไม่ช่วยผม ทองที่อยู่ที่พวกคุณน่ะ โดนยึดเข้าหลวงหมดแน่”

          ถามถึงการจัดทำเว็บไซต์ อะลิตเติลบุดด้า ของท่าน ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ปกป้องพระศาสนาหรือไม่

          “ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก เราช่วยคนในคณะสงฆ์ทำงาน เป็นคนคอยกระตุ้น พูดง่ายๆ ก็เหมือนสื่อมวลชนนี่แหละ แต่เป็นเหมือนสื่อมวลชนในวงการพระ เราไม่ถนัดเรื่องการบ้านการเมือง ก็จะระวังมากเลยหากจะแสดงความเรื่องทางนั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องทางพระนี่ คือใครจะรู้เรื่องพระดีกว่าพระล่ะ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นบางที แม้แต่เรื่องราวที่เราเสนอไป โยมที่ไม่รู้เรื่องลึกๆ รับไม่ได้ก็มี ‘ท่านพูดอย่างนี้ได้ไง’ เราก็ไม่เถียง เราเป็นพระใช่ไหม ก็ต้องรอให้มันกระจ่างออกมาแบบนี้ถึงจะยอมรับกันได้

          “ปัญหาของสังคมไทยคือเราเป็นสังคมปัจเจก อยู่ใครอยู่มัน พอไฟไหม้ลามถึงบ้านตัวเองค่อยรีบขนของออก ไม่รู้คุณค่าของการจัดระเบียบสังคม ไม่รู้คุณค่าของการช่วยกันดูแล จะปิดประตูอยู่คนเดียว”

          ทำให้ท่านมีปัญหากับพระสงฆ์ด้วยกันหรือเปล่า

          “พระหลายๆ ส่วนก็ไม่ชอบว่าเราไปแฉ เราก็เป็นพระทั่วไป พระก็อยู่ร่วมกัน ไปมาหาสู่กัน แต่บางอย่างก็ เฮ้ย! อย่าโอเวอร์ไปนะ ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็แก้ได้ แต่ถ้าอย่างเณรคำนี่มันหนัก มันเป็นกระบวนการ เป็นแก๊ง เป็นเจ้าพ่อไปแล้ว ถึงตอนนั้นถ้ามันพังครืนลงมา มันจะพังทั้งระบบ มันเหมือนเขื่อนแตกใช่ไหม ดังนั้น เราจะโฟกัสปัญหาที่เป็นปัญหาพัวพันถึงพระธรรมคำสอนอย่างหนึ่ง องค์กร หรือแม้แต่วัดใหญ่ที่สามารถเข้าไปมีอำนาจทางคณะสงฆ์น่ะ ก็จะดู”

          “เรื่องเณรคำนี่ก็ทักมาตั้งแต่สมัยกำลังดัง ตอนที่ยังไม่มีปัญหามากมายอย่างเดียวนี้ แค่ภาพลักษณ์ของความเป็นอริยบุคคลก็ดี การสำรุ่มสำรวยต่างๆ ก็ดี มันไม่ใช่หรอก ถ้างั้นก็ฉีกพระไตรปิฎกทิ้งเลย จบเลย ใช่ไหม มันไม่ต้องเอาไว้แล้ว มันสวนทางกันหมดเลยกับแนวทางครูบาอาจารย์อริยบุคคล ความมักน้อย สันโดษ อยู่กันตามแบบพระพุทธเจ้าออกจากวัง ไม่ใช่แล้ว มันกลายเป็นเจ้าของรถเบนซ์เต็มบ้านเต็มเมือง 

          “พวกเราที่นี่ก็ขับรถ แต่รถเก่ามั่ง รถมือสองมั่ง จะเปลี่ยนรถทีก็ต้องตามญาติโยมว่าจะมีปัญหาผ่อนส่งกันไหม เราอยู่ในความดูแลของญาติโยม ไม่ใช่นั่งอยู่บนหัวเขานะ ไม่ใช่แล้ว ถึงเป็นอรหันต์จริงๆ อาตมาก็ไม่เอา พระอรหันต์แล้วมีทองคำเป็นพันๆ กิโล นั่งรถกินเที่ยวงี้นะ อาตมาบอกไม่นับถืออรหันต์นะ จริงๆ ไม่นับถืออรหันต์ประเภทนี้

          “คือเราประมวลทั้งหมดแล้ว ด้วยเหตุด้วยผลแล้ว... ไม่มีคนพูดเหรอ เราจะพูด ไม่มีคนฉายไฟ เราจะฉายไฟ จะพูดในท่ามกลางความเงียบ จะเดินสวนกระแสท่ามกลางผู้คนที่เฮโลไปทางเดียวกันหมด

          ท่านมีแนวร่วมเยอะไหม

          “จะว่าไป เรามีแนวร่วมจากทั่วโลกนะ ทั้วแนวร่วมที่เป็นพระธรรมทูต หรือที่สึกออกไปแล้ว เป็นอาสาสมัครส่งข้อมูลข่าวสารให้อาตมา จากทุกทวีปเลย ทั่วโลก เมืองไทยก็มีแทบทุกจังหวัด ตั้งแต่ระดับพระราชาคณะถึงระดับธรรมดา คนเดินดินกินข้าวแกงก็มี ที่เขาให้ความร่วมมือเพราะว่าเราไม่มีผลประโยชน์อะไร ไม่มีอะไรให้เขา เขาก็ไม่มีอะไรให้เรา ตรงนี้เต็มที่เลย บางเรื่องนี่ ไม่มองหน้ากันเลย ครูบาอาจารย์บางท่านโกรธเลยนะ แต่บางทีก็ช่วยไม่ได้นะ เราก็มีอุดมการณ์ของเรา จะมายกเว้นเพื่อน ยกเว้นพี่ ไม่ได้ ขอกันได้มากที่สุดคือไม่ชนให้เต็มๆ เท่านั้นเอง”

          พระที่ทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาแบบท่านมีเยอะไหม

          “จริงๆ อาตมาว่ามีเยอะนะ แต่หลายๆ ท่านอาจจะไม่พร้อมที่จะออกมายืนในจุดนี้ ถึงบอกว่ามีแนวร่วมเยอะไง พี่อยู่ตรงนั้น กันชนพี่ใหญ่กว่า ผมกันชนเล็ก ขออยู่ข้างหลังดีกว่า”

          แสดงว่ากันชนของพระมหานรินทร์ใหญ่

          “ใหญ่ไหม ก็ไม่รู้นะ เพียงแต่ว่ากันชนใหญ่ที่สุดของเราคือความถูกต้อง นั่นคือกันชนของเรา อย่าลืมว่ากรณีเณรคำเขาก็ใหญ่นะ ผู้ใหญ่ระดับบิ๊กๆ ของเมืองไทยเป็นกันชนให้ แต่จริงๆ นะ ถ้ามันไม่ถูกก็เอาไว้ไม่ได้ ใช่ไหมครับ ถ้าไปสืบดู เส้นสายเขาก็ไม่ธรรมดาเลย เพราะฉะนั้น กันชนที่ดีที่สุดก็คือความถูกต้องนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าใหญ่หรือไม่ใหญ่ ใหญ่ก็อยู่ไม่ได้ถ้าไม่ถูกต้อง”

          .....

          นี่คือแนวคิดและอุดมการณ์ของพระหนุ่ม “มหานรินทร์ นรินฺโท” ที่เราเห็นว่าท่านกำลังทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาให้รอดพ้นจากเหล่าเหลือบริ้นที่ห่มผ้าเหลืองเข้ามาเกาะกินอย่างแน่วแน่...

          เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศอีกคน ที่เรากราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ...