PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประกาศ 5 ลักษณะ สื่อที่ไม่ปลอดภัย-ไม่สร้างสรรค์

ประกาศ 5 ลักษณะ สื่อที่ไม่ปลอดภัย-ไม่สร้างสรรค์


วันนี้ (16 ก.ค.) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เรื่อง กําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ พ.ศ. 2561 มีรายละเอียดระบุว่า
โดยที่พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. 2558 กําหนดให้คณะกรรมการประกาศกําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแล กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ให้ดําเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก เยาวชนและครอบครัวมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อเฝ้าระวังสื่อ ที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ และสามารถใช้สื่อในการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 21 (2) แห่งพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบกับมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย และสร้างสรรค์ ในการประชุมครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จึงกําหนดลักษณะของสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ไว้ ดังต่อไปนี้
1. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมอันดีของสังคม หรือส่งผลกระทบ
ทางลบต่อจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างร้ายแรง
2. สื่อที่มีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกแยก ยั่วยุ และสร้างความเกลียดชังต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
จนอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
3. สื่อที่มีเนื้อหาส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

4. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อกฎหมาย
5. สื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อหลักจรรยาบรรณสื่อ หรือแนวปฏิบัติของวิชาชีพสื่อนั้น ๆ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ นาย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน
นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

สถานีคิดเลขที่12 : ‘หลัง-ถ้ำหลวง’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่12 : ‘หลัง-ถ้ำหลวง’ โดย ปราปต์ บุนปาน


คงจะเป็นดังที่ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งสรุปภาพรวมเอาไว้ว่า กระบวนการช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอน “ทีมหมูป่า อะคาเดมี่” รวม 13 ชีวิต ออกจาก “ถ้ำหลวงฯ” นั้น จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย
หาก “ประเทศไทย” ต้องดำเนินการเรื่องนี้เพียงลำพัง
เนื่องจากภารกิจยิ่งใหญ่ดังกล่าวต้องใช้องค์ความรู้เรื่อง “การดำน้ำในถ้ำ” และ “การช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในถ้ำ” ซึ่งทั่วทั้งโลก มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า “ประเทศไทย” จะเป็นฝ่ายสูญเสียเครดิตหรือเสียหน้า
ตรงกันข้าม การที่ “ทางการไทย” อนุญาตให้ทีมผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ เข้ามาร่วมบริหารจัดการ-วางแผนช่วยชีวิตคน
โดยเคลื่อนตัวเองมาทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการอำนวยการ-ส่งเสริมสนับสนุนแผนการปฏิบัติงาน อันเต็มไปด้วยรายละเอียด-ขั้นตอนที่สลับซับซ้อน ทั้งยังต้องใช้กำลังคนและทรัพยากรอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล
ก็ถือเป็นความสำเร็จและเป็น “มิติใหม่” ของ “ระบบราชการไทย” (พลเรือน-ทหาร) เช่นกัน
นี่คือภาพของ “ระบบราชการ” ซึ่งไม่ได้วางตนเป็นผู้รู้ดีไปทุกเรื่อง และไม่ได้แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ภาพของ “ระบบราชการ” หน้าถ้ำหลวงฯ คือ เหล่าพลเรือน-ทหาร ผู้พร้อมจะเปิดรับความรู้ (ที่ไม่เคยรู้มาก่อน) จากโลกกว้าง
พวกเขาคือกำลังหลักสำคัญของการทำงาน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องยืนอยู่ด้านหน้าสุดในทุกสถานการณ์ แต่พร้อมจะถอยออกมาเป็นหลังบ้านที่คอยสนับสนุนปฏิบัติการต่างๆ อย่างแคล่วคล่องว่องไว (ไม่อืดอาดเชื่องช้า)
รวมทั้งทำหน้าที่เป็นฝ่ายบอกเล่าแจกแจงข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดก็เพื่อวัตถุประสงค์สูงสุด คือ การช่วยเหลือผู้คนทั้ง 13 ชีวิต
หลังการทำงานที่ “ถ้ำหลวงฯ” เรายังมีความหวังกับ “ระบบราชการไทย”

นอกจากการพิจารณาบทบาทของภาครัฐ ก็ถึงเวลาที่ “สังคมไทย” ต้องถูกทดสอบอีกครั้ง ว่าพวกเราจะร่วมจัดการ-รับมืออย่างไร? กับสถานภาพของ “13 สมาชิกหมูป่า” ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปหลังออกจากถ้ำ
หนึ่งในกลุ่มคนจากอีกฟากโลกที่มีชุดประสบการณ์คล้ายคลึงกับ 13 นักเตะและโค้ชทีมหมูป่า คือ คนงานเหมืองทองคำชาวชิลีจำนวน 33 ราย ผู้เคยติดอยู่ใต้ดินเป็นเวลา 69 วัน ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือชีวิตอย่างน่าทึ่งเช่นเดียวกัน
แม้ปฏิบัติการช่วยชีวิตพวกเขาจะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องดัง แต่ชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนกลับเผชิญหน้าเรื่องยุ่งยากตามมานานัปการ
1 ใน 33 ชีวิตที่ชิลี เตือนหลานๆ ทีมหมูป่าว่า นับจากนี้ เด็กๆ จะถูกรุมล้อมโดยสื่อ ต้องปวดหัวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ที่แสนวุ่นวาย และอาจมีผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยเข้ามาเกาะกระแสความโด่งดัง
เขาเป็นห่วงแทนว่าเด็กๆ ที่เชียงรายและครอบครัว จะรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร? เพราะแม้แต่พวกตน ซึ่งบรรลุนิติภาวะและทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว
ก็ยังมึนงงทำอะไรไม่ถูกกับภาวะสับสนอลหม่านเช่นนั้น
อีกหนึ่งชีวิตที่เคยประสบภัยในชิลีสะท้อนสภาวการณ์หลังได้รับการช่วยชีวิตว่า พอขึ้นมาถึงพื้นดิน พวกเขาก็กลายเป็นเซเลบ ซึ่งถูกเชื้อเชิญไปพบปะกับทั้งผู้นำระดับประเทศและระดับโลก
สื่อทุกประเภทต่างรายงานข่าวเกี่ยวกับพวกเขา มีหลายฝ่ายสัญญาว่าจะมอบโน่นให้นี่แก่พวกเขา
ครั้นเวลาผันผ่านไป ทุกๆ อย่าง ทุกๆ คน ก็ทยอยหายหน้าหายตา พวกเขาทั้ง 33 ชีวิต ค่อยๆ ถูกละเลย และหลงลืมในท้ายที่สุด
อดีตคนงานเหมืองรายนี้หวังว่า “13 ชีวิตทีมหมูป่า” จะไม่พบเจอเรื่องราวแบบเดียวกันกับพวกเขา
และสังคมไทยก็ไม่ควรปล่อยปละให้โศกนาฏกรรมทำนองนั้นเกิดขึ้นกับ 13 ชีวิต
ปราปต์ บุนปาน

จารึกไว้ตลอดไป

จารึกไว้ตลอดไป



สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทร เทพยวรางกูร ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ “นาวาตรี” เป็นกรณีพิเศษแก่ “จ่าเอกสมาน กุนัน” หรือ “จ่าแซม”
เพื่อเชิดชูคุณความดี และความกล้าหาญที่เสียสละชีวิตตนเองเพื่อช่วยเหลือทีมหมูป่า 13 คน ที่ติดในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย
และได้มีพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติยศเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าคนไทยและชาวโลกจะจดจำชื่อ “จ่าแซม” วีรบุรุษผู้กล้าแห่งถ้ำหลวงเชียงรายไม่มีวันลืมเลือน
“ตำนานฮีโร่จ่าแซม” จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยมีจิตสำนึกเสียสละเพื่อส่วนรวม อุทิศตนเข้าช่วย เหลือเพื่อนมนุษย์ที่ประสบภัยพิบัติโดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน
สืบทอด “อุดมการณ์จ่าแซม” ให้คงอยู่คู่สังคมไทยสืบต่อไปชั่วกาลนาน
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่า ปฏิบัติการกู้ชีวิตทีมหมูป่า ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมหัศจรรย์ เป็นผลจากพลังศรัทธาแห่งการร่วมแรงร่วมใจของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ของภาคเอกชน ของภาคประชาชน และของนานาชาติทั่วโลกที่ระดมเข้ามาปฏิบัติภารกิจเสี่ยงอันตราย
โดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค ทั้งปวง
เป็นข้อพิสูจน์ว่า บางครั้งพลังของมนุษย์ก็สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติได้เหมือนกัน
ที่ต้องยกย่องชื่นชมเป็นพิเศษนอกจาก “หน่วยซีล” ของกองทัพเรือไทย คือทีมนักดำน้ำในถ้ำจากอังกฤษ หน่วยนาวิกโยธินอเมริกัน ทีมดำน้ำกู้ภัยจากออสเตรเลีย จีน เบลเยียม ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และอื่นๆอีกมากมาย
เหล่านักดำน้ำชั้นหัวกะทิจากทั่วโลก มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ทีมหมูป่าติดถ้ำรอดออกมาได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ยังมี “ฮีโร่ตัวจริง” อีกหนึ่งคนที่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงหรือได้รับการยกย่องเชิดชูชื่นชมเท่าที่ควร
ทั้งๆที่เขาคนนี้เป็น “กุญแจสำคัญ” ที่ทำให้ปฏิบัติการช่วยหมูป่าออกจากถ้ำประสบความสำเร็จอย่างมโหฬาร
“แม่ลูกจันทร์” ขออนุญาตเอ่ยชื่อให้เป็นหลักฐานในโอกาสนี้เสียเลย
เขาคือ นายเวิร์น อันสเวิร์ธ อดีตนักดำน้ำกู้ภัยชาวอังกฤษ อายุ 63 ปีที่มีภรรยาเป็นคนไทย และย้ายมาพักอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงรายพอดี
และมีบทบาทสำคัญในการช่วยคลี่คลายวิกฤติที่เป็นข่าวดังกระฉ่อนไปทั่วโลกถึง 2 ประการคือ...
ประการที่ 1, นายเวิร์น ได้เคยเข้าไปสำรวจถ้ำหลวงแห่งนี้ถึง 4 ครั้ง ได้มีโอกาสสัมผัส พบเห็นสภาพต่างๆ ภายในถ้ำด้วยตัวเอง เป็นผู้ระบุข้อมูลสภาพของถ้ำ และเส้นทางซับซ้อนภายในถ้ำได้ค่อนข้างชัดเจน
ทำให้การวางแผนกู้ภัยหมูป่าเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
2,นายเวิร์น เป็นผู้เสนอให้รัฐบาลไทยรีบติดต่อทีมนักดำน้ำชาวอังกฤษ 3 คน ซึ่งมีความชำนาญการดำน้ำในถ้ำและการดำน้ำขุ่นโคลน คือ นายโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์, นายริชาร์ด แสตนตัน และ นายจอห์น โวแลนเธน ซึ่งเป็นนักดำน้ำ 2 คนแรกที่ได้พบทีมหมูป่าติดถ้ำครบทั้ง 13 คน
“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่า นายเวิร์น อันสเวิร์ธ คือ “ฮีโร่ตัวจริง” เป็นผู้ปิดทองหลังพระที่ควรค่าต่อการยกย่องชื่นชม
การมี “เขยฝรั่ง” เป็นนักดำน้ำเก่า มีประโยชน์ในยามคับขันได้เหมือนกันนะคุณโยม.
“แม่ลูกจันทร์”

ประชาธิปัตย์ยึดหลักการต้านพลังดูด : ประชาชนชี้ขาดเลือกตั้ง

ประชาธิปัตย์ยึดหลักการต้านพลังดูด : ประชาชนชี้ขาดเลือกตั้ง



ประตูการเลือกตั้งเปิดแง้มให้เห็นเค้าลางเป็นไปตามโรดแม็ป หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เป็นไปตามสเต็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งต้องการให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมและนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
แต่ท่ามกลาง “พลังดูด” นักวิชาการและฝ่ายการเมืองหลายคนกลับมองมุมต่าง ต่างอย่างไรติดตามมุมคิดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า ถ้าต้องการปฏิรูปให้สำเร็จ ต้องเน้นที่ตัวระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถ้าเปลี่ยนแปลงระบบได้ก็จะปฏิรูปการเมืองสำเร็จ แต่น่าเสียดาย 4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้วิเคราะห์ระบบรัฐสภาถึงปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างที่นำไปสู่วิกฤติขัดแย้ง ประเด็นที่เกิดขึ้นมาจากอะไร เพื่อปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น
แต่กลับพยายามฉายภาพปัญหาในเชิงกลุ่มนี้ดี กลุ่มนี้เลว แล้วไปมุ่งแก้ปัญหาในลักษณะถ้าระบอบประชาธิปไตยมีปัญหา ก็ออกแบบไม่ให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบและมีคนกลุ่มหนึ่งมาคุม อย่างนี้มันไม่ใช่การปฏิรูป
ถึงบอกว่าเมื่อพูดถึงการปฏิรูป ไม่เคยพูดเพื่อค้นหาคำตอบที่เป็นหัวใจของการทำให้การเมืองดีขึ้น ผ่านการวางระบบให้คนที่ได้อำนาจมาถูกตรวจสอบ ผ่านกลไกองค์กรอิสระ กลไกศาล กลไกภาคประชาชน กลไกสื่อมวลชน และฝ่ายการเมือง ไม่จำเป็นจะต้องลงไปสู่ท้องถนน
กลับไปมองว่า 5 ปีแรกตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ อยากให้เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ อยู่ดีๆก็ไปฝากความหวังไว้กับ 250 ส.ว. ซึ่งเริ่มต้นบอกว่าจะเข้ามาเป็นกรรมการ ทำไปทำมาวันนี้อาจจะกลายเป็นฐานเสียงให้กับคนที่เป็นผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ยิ่งสับสนกันไปหมด
ทั้งๆที่การเลือกตั้งต้องสุจริตเที่ยงธรรม สร้างองค์กรดูแลการเลือกตั้งให้มีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช้ความได้เปรียบโดยใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน อิทธิพลต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะทำให้การเลือกตั้งเกิดปัญหาขึ้น
แต่ตอนนี้ภาพที่ออกมาหลังใช้มาตรา 44 กับ กกต. มีการพูดถึงคนมีอำนาจในขณะนี้อาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง อาจจะได้รับ การสนับสนุนเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง และมีกระแสข่าวการใช้เงิน ทั้งอำนาจ ตำแหน่ง คดีความมาต่อรอง
สวนทางโดยสิ้นเชิงกับเป้าหมายการปฏิรูปการเมือง และยิ่งจะเกิดความขัดแย้งได้
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า อีกชนวนอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง เมื่อ กกต.เตรียมตั้งวอร์รูมรับมือสงครามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงเลือกตั้ง มีอำนาจถึงขั้นสั่งปิดหรือบล็อกได้ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ในหลักการ กกต.ควรกำหนดกติกาให้ชัด เพราะพฤติกรรมออนไลน์และออฟไลน์ การใส่ร้ายเทียบเคียงกันได้
เช่น การจ้างผู้มีอิทธิพลทางสื่อให้เชียร์หรือด่า ต้องคิดเป็นมูลค่าออกมาและเปิดเผย ไม่ใช่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการเชียร์หรือด่าโดยสุจริต
และ กกต.ควรคิดต่อไป ขอยกตัวอย่างเปลี่ยนวิธีคิดในเชิงบทบาทของ กกต. เปิดให้มีเวทีกลางให้ทุกคนนำข้อมูลมาหักล้างกันได้ โดยเฉพาะคนที่ตกเป็นเหยื่อของข่าวเท็จ ข่าวลวง ถ้าข่าวไหนถึงขั้นพิสูจน์หักล้างว่าเป็นการตัดต่อก็ลงโทษกันไป ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ดีกว่าคอยรับเรื่องร้องเรียนหรือมาคอยวินิจฉัยว่า ข่าวไหนจริง ข่าวไหนเท็จ ไม่อยากให้ กกต.ตั้งวอร์รูมใหญ่ เพื่อวินิจฉัยจัดการข้อมูลข่าวปลอม ข่าวเท็จ ถ้าวินิจฉัยผิดและถูกมองว่าไม่เป็นกลางก็จะยุ่งกันไปใหญ่
โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้อิทธิพลโซเชียลมีเดียจะมีมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา
องค์กรนานาชาติเริ่มจับตาการเมืองไทยหลังเลือกตั้งส่อเกิดวิกฤติ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ทุกอย่างต้องเริ่มต้นโดยเลือกตั้งที่ “เสรี-เป็นธรรม” หากไม่มีตรงนั้นทุกอย่างก็ไปหมด รวมไปถึงการตั้งวอร์รูมแล้ววินิจฉัยไม่เป็นกลาง
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จะทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร ให้เข้าใจบริบททางการเมืองที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติการเมือง นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ต้องดูว่าสังคมเลือกที่จะเดินอย่างไร
ทางเลือกแรกผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ถ้าประชาชนเห็นว่าเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมก็ต้องสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาล ปัจจุบัน และอาจจะได้รับตัวช่วยจากกลไกของรัฐธรรมนูญ
ยิ่งมาเจอเรื่องพลังดูดมันก็ยิ่งเดินกลับไปสู่การ เมืองเก่าๆ เขาก็จะต้องทำให้ประชาชนยอมรับว่าสภาพของประเทศและการบริหารในปัจจุบันมันดีจริง
และเมื่อนักการเมืองมากองรวมอยู่ที่นี้แล้วสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ หากทำไม่ได้ประชาชนก็ไม่สนับสนุน เพราะนักการเมืองไม่ได้เป็นเจ้าของประชาชน แต่ประชาชนเป็นเจ้าของนักการเมือง
คำถามคือสมมติประชาชนสนับสนุนแนวทางนี้ด้วยจำนวนเสียงน้อย
แต่เอาตัวช่วย 250 ส.ว.ฝืนตั้งรัฐบาล ย่อมจะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ให้สังคม
ฉะนั้นถ้าประชาชนมีเจตนารมณ์สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง พรรคใดรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง วุฒิสภาควรเคารพเจตนารมณ์ตรงนั้น แบบนี้ บ้านเมืองถึงเดินไปได้
ทางเลือกที่สองเป็นพรรคการเมืองที่ชูธงประชาธิปไตย แล้วใช้เสียงข้างมากพยายามลบล้างทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น ถึงมีการพูดกันว่าถ้าเข้ามาขอรื้อรัฐธรรมนูญ รื้อยุทธศาสตร์ชาติ รื้อการปฏิรูปประเทศ
แนวทางนี้ได้เปรียบตรงที่มีพื้นฐานความนิยม แต่ก็ต้องแบกรับบทเรียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงจากแนวคิดเสียงข้างมากคือความถูกต้อง เสียงข้างมากกินรวบได้ สังคมก็เดินกลับไปที่เดิม
ทั้งสองทางเลือกเรามองว่ามันไม่ใช่คำตอบ เพราะแนวทางแรกเป็นการบริหารที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ขาดความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับผู้บริหารเศรษฐกิจ และยังไปจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก กลายเป็นความอึดอัดที่เก็บสะสมของคนรุ่นใหม่กับสภาพอนุรักษนิยม
แนวทางที่สองคนก็ยังกลัวว่าการเมืองจะกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะการใช้เสียงข้างมากลากไปถึงการเขียนกติกาใหม่ ทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล
สำหรับแนวทางที่สามเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง บริหารตามเจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตยสำคัญกว่าตัวรัฐธรรมนูญ แม้เรามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน อาจจะเป็นจุดบกพร่องให้คนโจมตีในอดีตได้
แต่ขณะนี้เราชัดเจนและมั่นคงในความคิด เดินหน้าปักธงยุคใหม่เป็นตัวนำ ยอมรับว่าต้องเปลี่ยนแปลง
ทั้งการเพิ่มอำนาจประชาชนลดอำนาจรัฐ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดบริหารเศรษฐกิจต้องดูเป้าหมายที่มันหลากหลายกว่าจีดีพี สนใจความเหลื่อมล้ำ วิถีชีวิตชุมชน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องเป็นรัฐบาลที่สามารถรักษาเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย สร้างศรัทธากับประชาชนได้ ทั้งการแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายอื่นๆในสังคม ยอมรับการตรวจสอบ ถ้าทำอย่างนี้จะทำให้ประชาชนมองการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยว่าได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนจากอดีตแล้ว
ทีมข่าวการเมือง ถามว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สร้างความหวั่นไหวแก่พรรคประชาธิปัตย์อย่างไร นายอภิสิทธิ์ บอกว่า คนในพรรคประชาธิปัตย์ตกผลึกแล้ว
สมมติใครเห็นด้วยกับแนวทางของนายสุเทพก็ต้องตัดสินใจไป แน่นอนในความใกล้ชิดในการทำงานที่ผ่านมา อาจจะอยู่ในแวดวงพื้นที่ที่ทับซ้อนกันมากเป็นพิเศษก็แข่งขันกันไป ไม่ได้กังวลหรือหวั่นไหวใด
แล้ว “พลังดูด” เป็นปัญหาต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะวันนี้นักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ตกผลึกทางความคิด มีอุดมการณ์
เมื่อเห็นแนวทางของพรรคเป็นคำตอบ ก็ปักหลักอยู่กับพรรคแม้จะเสียเปรียบ เราผ่านสถานการณ์แบบนี้มาเยอะ พรรคไม่ค่อยกังวล อย่าไปยอมรับความไม่ถูกต้อง ถ้ามีใครชักชวนคนของพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคไหนก็ตาม โดยบอกว่าไปช่วยกันทำงาน เป็นแนวทางที่ดีกว่าสำหรับประเทศ เขาตัดสินใจไปก็ไม่ว่ากัน
แต่ถ้าบอกว่ามาแล้วคุณได้เงินเท่านี้ เอาตำแหน่งไปก่อน คดีติดตัวจะช่วยให้
ในทางการเมืองมันเป็นการสานต่อความเลวร้าย แล้วจะหวังให้บ้านเมืองดีขึ้นได้อย่างไร
ฉะนั้นประเทศจะเดินไปทางไหนตามสามทางเลือก อยากให้ประชาชนชี้ขาด
ชี้ทางใดทางหนึ่งแบบถล่มทลายเข้าไปบริหารประเทศ
แนวทางที่เหลือก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ หวังว่าจะไม่ทำให้ระบบพังอีก.
ทีมการเมือง

วุฒิภาวะคนไทย ฝ่าการเมืองเน่า

วุฒิภาวะคนไทย ฝ่าการเมืองเน่า



ถอดแบบหมูป่า “ติดถ้ำ”นำประเทศพ้นวิกฤติกับดัก
กลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก
ตามรูปการณ์ที่คนดังๆอย่างประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรี “เทเรซา เมย์” แห่งอังกฤษ ผู้นำประเทศมหาอำนาจ
ซุปเปอร์สตาร์ทั้ง “เดวิด เบคแฮม–โรนัลโด–ลิโอเนล เมสซี–พอล ป็อกบา–ไคล์ วอล์กเกอร์–โจเซ มูรินโญ ฯลฯ” ดาวดังในวงการฟุตบอลชื่อกระฉ่อน
“อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทดังด้านเทคโนโลยี “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอใหญ่แห่งเฟซบุ๊ก
คนดังเบอร์ต้นๆของโลกต่างโฟกัสมาที่ประเทศไทย
ใช้พื้นที่สื่อส่วนตัว แสดงตนมีส่วนร่วมให้กำลังใจ แสดงความยินดีกับปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิต เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่า อะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง–ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ออกมาได้อย่างปลอดภัย ครบทั้ง 13 คน (ปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิต ถ้ำหลวงเชียงราย)
บันทึกเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เล่าขานกันไปอีกนานแสนนาน
กับการเอื้ออาทรกันในมวลหมู่มนุษยชาติ โดยไม่แยกเชื้อชาติภาษา
โดยเฉพาะการช่วยเหลือของนักประดาน้ำมืออาชีพนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกจากต่างประเทศ ที่ขันอาสามาร่วมภารกิจที่ได้ชื่อว่า “มิสชัน อิมพอสซิเบิล” จนกลายเป็น “มิสชัน พอสสิเบิล”
เสี่ยงชีวิตเข้าไปช่วย “คนแปลกหน้า” โดยไม่รู้จักกันมาก่อน
โดยแรงส่งมาจากปรากฏการณ์รวมพลังของคนไทยทุกภาคส่วน ไล่ตั้งแต่หน่วยหลักคือหน่วยซีลกองทัพเรือ กำลังพลกองทัพบก ยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ กำลังตำรวจตระเวนชายแดน อาสาสมัคร ข้าราชการพลเรือนฝ่ายมหาดไทย
ภาคเอกชนที่ขนเครื่องมือ อุปกรณ์มาช่วยเสริมภารกิจแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ยอมขาดรายได้ประจำ
ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านตาดำๆ ผู้หญิง คนแก่ ที่ขันอาสาเป็นแม่ครัว ฝ่ายทำความสะอาดจัดการสถานที่ รวมถึงรับซักรีดเสื้อผ้าให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ช่วยกันคนละไม้ละมืออย่างเต็มอกเต็มใจ
จิตอาสาพึ่บพั่บ อารมณ์คนไทยไม่ทิ้งกันเกิดขึ้นอัตโนมัติ
จุดมุ่งหมายคือช่วยเหลือ 13 ชีวิตออกจากเงื้อมมือมัจจุราชในถ้ำหลวงฯ
ทำสงครามกับเวลา ต่อสู้กับภัยธรรมชาติ
พลาดหมายถึงชีวิต แบบที่ต้องสูญเสียจ่าเอกสมาน กุนัน เจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อดีตหน่วยซีลกองทัพเรือ ที่อาสาเข้าร่วมภารกิจด้วยความเต็มใจ
ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษแห่งถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน
ถึงตอนนี้ พูดได้ว่าภารกิจสิ้นสุดลงด้วยความสำเร็จ พร้อมภาพความสวยงาม
ภายใต้พระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม “ในหลวงรัชกาลที่ 10” ที่ทรงติดตามสถานการณ์ตั้งแต่วันแรกที่เกิดเหตุ รับสั่งผ่านราชเลขาฯถึงรัฐบาล พระราชทานสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน
รวมถึงทรงแนะนำการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
รับสั่งให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียนการกู้ภัยช่วยทีมหมูป่า จัดทำบันทึก เขียนแผนไว้เป็นโมเดลต้นแบบที่จะนำไปใช้ในการกู้ภัยได้ทั้งในถ้ำ ใต้น้ำ และบนบกต่อไปหากเกิดเหตุการณ์ในอนาคต
วิกฤติเด็กติดถ้ำ สร้างโอกาสให้ประเทศไทยได้เห็นความสว่างไสวที่แฝงอยู่
ปรากฏการณ์ทีมหมูป่ากลบกระแส ชิงพื้นที่ข่าวการเมืองซาลงไป 2–3 สัปดาห์
ในสถานการณ์ความคืบหน้าที่ยังเดินตามกระบวนการโรดแม็ป ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 7 คน ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต.
เห็นชอบ 5 คน ไม่เห็นชอบ 2 คน
แต่ตามบทบัญญัติทางกฎหมาย ถือว่าครบองค์ประกอบ กกต.ชุดใหม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทันทีที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์เข้าสู่โหมดการเตรียมการเลือกตั้ง
ตามจังหวะที่สังเกตได้จากการขยับของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ กัปตันทีมเศรษฐกิจ ได้สั่งการกระทรวงคมนาคม เร่งประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ขยายสนามบิน ฯลฯ
บูมเศรษฐกิจภาพรวม รองรับโครงการเรือธงระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)
ขณะเดียวกันก็มีการสั่งการผ่านกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ อัดฉีดมาตรการพิเศษเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย
ด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7 เปอร์เซ็นต์ ให้แก่ประชาชนที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ในการซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือสินค้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือที่จำเป็นต้องใช้ในการประกอบอาชีพและรองรับสังคมไร้เงินสด รวมถึงสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ กรมสรรพากรก็จะคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้
เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์อัดฉีดเศรษฐกิจฐานราก
บรรเทาสถานการณ์ปากท้องคนมีรายได้น้อย
ทีมงาน “สมคิด” ต้องบริหารเศรษฐกิจ ล้อไปกับการบริหารกระแสการเมือง
ตามแนวโน้มนับถอยหลังไปสู่วันเลือกตั้งต้นปีหน้า 2562 นับจากนี้ไปรัฐบาลน่าจะทยอยปล่อยสารพัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซื้อใจชาวบ้านร้านตลาด
เน้นกระตุกฐานเสียงใหญ่ที่มีผลต่อการเลือกตั้ง
อัดสารพัดโครงการภายใต้ยี่ห้อ “ประชารัฐ” ย้ำให้คนจดจำได้
ในมุมที่ถือเป็นความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมในการดึงคะแนนนิยมของรัฐบาล “นายกฯลุงตู่”
ล้อไปกับความเคลื่อนไหวที่พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ นักการเมืองอาชีพ ตีปี๊บรุมแฉการเดินหน้าดูดอดีต ส.ส.เข้าสังกัดพรรค “พลังประชารัฐ”
สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตีตั๋วต่อนายกรัฐมนตรี
แน่นอน มองเผินๆมันก็วิถีเดิมๆ ย้อนอดีตสมัยอดีตพรรคไทยรักไทย ที่เริ่มต้นจากการปล่อยนโยบายใหม่ๆภายใต้ยี่ห้อ “ประชานิยม” ออกมาโกยกระแส กวาดคะแนนนิยม
พร้อมๆไปกับการเดินหน้ากวาดต้อนอดีต ส.ส.มาเข้าคอกร่วมค่าย
ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย
และวันหนึ่งก็มาถึงฉาก “ตลกร้าย” ทางการเมือง ตามท้องเรื่อง “ประชารัฐ” ตีตลาด “ประชานิยม”
2 ยี่ห้อนี้ คนคิดคนเดียวกัน นั่นคือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”
หักมุมแบบที่ฝรั่งต่างชาติยังงงกับการเมืองแบบไทยๆ
เรื่องของเรื่อง “ประชานิยม” เป็นเครื่องมือทำให้ “ทักษิณ ชินวัตร” หลงเข้าป่าเข้าพง กู่ไม่กลับแล้ว
แต่ “ประยุทธ์” ยังมีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง
ก่อนอื่นเลย ยี่ห้อ “ประชารัฐ” จะตีตลาด “ประชานิยม” แตกหรือไม่ ยังต้องลุ้นกัน
ที่แน่ๆมันเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตราบใดที่โจทย์เป้าหมายอยู่ที่เสียงข้างมาก
รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใครได้เสียงจากประชาชนเยอะที่สุด จะได้ถือครองเกมอำนาจอย่างชอบธรรมตามกติกาประชาธิปไตย
การปั่นตัวเลข ส.ส.จึงสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
ปริมาณมาก่อน คุณภาพค่อยว่ากันอีกที
แบบที่เห็น ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์พยายามตีกรรเชียง ไม่แปดเปื้อนการเมืองที่แสดงอาการรังเกียจมาตั้งแต่แรก แต่ถึงจุดหนึ่งก็เลี่ยงไม่ได้ ต้องอาศัยนักเลือกตั้งอาชีพเป็นฐาน
ภายใต้การเคลื่อนของทีมงานสามมิตรภายใต้การนำของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย มือดีลคนสำคัญของ “ทักษิณ”
ประกันความมั่นใจในการตีตั๋วต่ออำนาจ
เพราะการก่อกำเนิดพรรคการเมืองต้องพึ่งนักการเมืองพันธุ์เก่าเป็นต้นทุนชัวร์ๆ หลักประกันไม่จั่วลม
ภายใต้บริบทประชาธิปไตย พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค
หลักการฟังดูง่าย แต่ในทางปฏิบัติจริง ยากกว่าช่วยเด็กติดถ้ำ
ที่สำคัญมันเป็นวิถีประชาธิปไตยแบบไทยๆ การเมืองเป็นเรื่องกิจการภายใน
ต่างชาติเข้ามาช่วยฝ่าการเมืองน้ำเน่าไม่ได้เหมือนเอาทีมหมูป่าออกจากถ้ำ
ขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะในการเลือกตั้งของประชาชน ถ้ายังวนเหมือนอยู่ในถ้ำ ติดกับวิถีการเมืองแบบเดิมๆ
ผลลัพธ์ออกมาต้องยอมรับ บ่นทีหลังไม่ได้.
“ทีมการเมือง”

เข้าล็อกเฟ้นคนไว้ใจ

เข้าล็อกเฟ้นคนไว้ใจ



กลับเข้าโหมดปกติ หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ
ภารกิจนำ 13 ทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายคืนสู่อ้อมอกพ่อแม่ พ้นการติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ยาวนาน 17 วันเต็มๆ
ปิดจ๊อบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของเหล่า “เดอะฮีโร่” ทุกหน่วยงานจากในประเทศและนานาชาติที่ร่วมแสดงศักยภาพ ความสามัคคีของมวลมนุษยชาติสามารถเอาชนะได้ทุกสิ่ง
“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้หายใจโล่งอก เคลียร์วิกฤติเฉพาะหน้าลุล่วงไปด้วยดี
เหลืออีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การกอบกู้ความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเรือนักท่องเที่ยวอับปางกลางทะเล จ.ภูเก็ต เซ่นชีวิตนักท่องเที่ยวจีน 40 กว่าชีวิต

ส่อเค้าฉุดสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยดิ่งวูบ ตามที่รู้กันกลุ่มคนจีนเป็นชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยมากที่สุด เป็นโจทย์เร่งด่วนที่รัฐบาล “ลุงตู่” ต้องรีบกู้ความมั่นใจด้านความปลอดภัยทางการท่องเที่ยวกลับคืนมา
อย่างที่เห็นๆการที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องรีบขอโทษ หลังพลั้งปากหลุดคำพูดกระทบจิตใจชาวจีนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เบรกการขยายความเข้าใจผิดที่กำลังลุกลามในกลุ่มโซเชียลของจีน ไม่ให้บานปลายออกไป
ควบคู่กับจังหวะที่ “บิ๊กตู่” ต้องบินด่วนไป จ.ภูเก็ต กำกับบทเร่งรัดการให้ความช่วยเหลือ การสอบสวนคดี และวางมาตรการกวดขันการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ป้องกันการเกิดเหตุซ้ำรอย
กระตุกความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาทันทีทันใด ไม่เกิดความบาดหมางกระทบความสัมพันธ์ 2 ประเทศ ในยามที่การท่องเที่ยวเป็นตัวทำรายได้อันดับต้นๆของประเทศไทย
กอบกู้สถานการณ์ไม่ให้นักท่องเที่ยวหนีหายจากเมืองไทย ประคองรายได้การท่องเที่ยวเข้าประเทศให้เดินหน้าต่อได้ในระยะยาว
ในห้วงที่ทุกอย่างกำลังเข้ารูปเข้ารอยเดินหน้าสู่การเลือกตั้งในระยะเวลาอันใกล้นี้
หลังเห็นสัญญาณความชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง จากซีนล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติให้ความเห็นชอบ 5 เสือ กกต.ชุดใหม่ จากจำนวน 7 คน
สกรีนทิ้งไป 2 ราย ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ “สเปกเทพ” ตามความเข้มข้นของรัฐธรรมนูญใหม่
แม้จะยังไม่ฟูลทีม แต่อย่างน้อยก็ได้เห็นเส้นทางคืนประชาธิปไตยคืบหน้าไปอีกขั้น ไม่มีการล้มกระดานโละว่าที่ กกต.ซ้ำรอยมาถ่วงโรดแม็ปเหมือนเที่ยวก่อน
มีโฉมหน้าค่าตาของกรรมการบางส่วนให้ได้เห็น การันตีกันได้ในเบื้องต้น 5 กกต.ป้ายแดง มีจำนวนครบถ้วนเพียงพอที่จะรับไม้ต่อจาก กกต.ชุดปัจจุบันมาสานต่อการเลือกตั้งได้

เหลือแค่อีก 2 คนที่ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งกระบวนการสรรหารอบใหม่เป็นรอบที่สาม
ตามร่องรอยที่อาจได้เห็นการใช้ช่องทางพิเศษ ส่งเทียบเชิญไปทาบทามระดับหัวกะทิให้มาสมัครเป็น กกต. ควบคู่ไปกับการเปิดรับสมัครตามขั้นตอนปกติ

แก้ปัญหาเฟ้นตัวผู้สมัครที่ยังได้สเปกไม่ถูกใจ หลังจากเปิดสรรหามาแล้ว 2 รอบ

เหมือนที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กระซิบทางออกเผื่อไว้ ให้ได้ 7 เสือ กกต.มาทำงานอย่างฟูลทีมเสียที ไม่ต้องเปลืองเวลาสรรหาหลายรอบเหมือนที่ผ่านมา

หากยังเดินหน้าใช้วิธีเปิดรับสมัครแบบเดิมๆก็ยิ่งเสี่ยงมีผู้สมัครน้อยลงเรื่อยๆมีโอกาสวืดรอบ 3 อีก

จะกลายเป็นเข้าล็อกฝ่ายการเมืองครหาส่อเจตนาเตะถ่วงเลือกตั้ง เข้าเนื้อ “ลุงตู่” ให้เจ็บตัวฟรี

รูปการณ์เริ่มมีน้ำหนักและความจำเป็นเพียงพอให้ใช้วิธีทาบทาม ดึงคนดังๆมาลงสมัคร เคลียร์ปัญหาไม่มีคนมาลงสมัคร

แม้จะถูกมองเปิดช่องล่อแหลม “ล็อกสเปก” นำคนของตัวเองจองที่นั่งองค์กรอิสระล่วงหน้า
แต่หากเทียบสัดส่วน 2 คนที่มาจากการทาบทามกับกลุ่มที่มาจากการสรรหา 5 คน ถือว่าพอรับได้ ไม่ได้ผูกขาดล็อกสเปกเหมาเข่งทั้งทีม

ยังพอกล้อมแกล้มแก้ตัวได้ว่า 2 คนเป็นแค่เสียงส่วนน้อย ไม่สามารถชี้นำคนอื่นให้คล้อยตามได้
เป็นโจทย์ที่ต้องกล้าเสี่ยงให้ได้ 7 เสือ กกต.ระดับคุณภาพมาควบคุมการเลือกตั้งเที่ยวหน้าตามกติกาใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านปฏิรูปประเทศ

แม้ในทางการเมืองจะสามารถดูดไพร่พลเข้าสังกัดได้ตรงตามเป้า แต่ในแง่กรรมการก็สำคัญไม่แพ้กัน
ต้องสกรีนเข้มข้น เฟ้นเฉพาะคนไว้ใจมาคุมสังเวียนเลือกตั้ง การันตีไม่ให้ตั๋วผู้นำหลุดมือ.

ทีมข่าวการเมือง