PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ประชาธิปัตย์ยึดหลักการต้านพลังดูด : ประชาชนชี้ขาดเลือกตั้ง

ประชาธิปัตย์ยึดหลักการต้านพลังดูด : ประชาชนชี้ขาดเลือกตั้ง



ประตูการเลือกตั้งเปิดแง้มให้เห็นเค้าลางเป็นไปตามโรดแม็ป หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เป็นไปตามสเต็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งต้องการให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมและนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง
แต่ท่ามกลาง “พลังดูด” นักวิชาการและฝ่ายการเมืองหลายคนกลับมองมุมต่าง ต่างอย่างไรติดตามมุมคิดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า ถ้าต้องการปฏิรูปให้สำเร็จ ต้องเน้นที่ตัวระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถ้าเปลี่ยนแปลงระบบได้ก็จะปฏิรูปการเมืองสำเร็จ แต่น่าเสียดาย 4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้วิเคราะห์ระบบรัฐสภาถึงปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างที่นำไปสู่วิกฤติขัดแย้ง ประเด็นที่เกิดขึ้นมาจากอะไร เพื่อปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น
แต่กลับพยายามฉายภาพปัญหาในเชิงกลุ่มนี้ดี กลุ่มนี้เลว แล้วไปมุ่งแก้ปัญหาในลักษณะถ้าระบอบประชาธิปไตยมีปัญหา ก็ออกแบบไม่ให้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบและมีคนกลุ่มหนึ่งมาคุม อย่างนี้มันไม่ใช่การปฏิรูป
ถึงบอกว่าเมื่อพูดถึงการปฏิรูป ไม่เคยพูดเพื่อค้นหาคำตอบที่เป็นหัวใจของการทำให้การเมืองดีขึ้น ผ่านการวางระบบให้คนที่ได้อำนาจมาถูกตรวจสอบ ผ่านกลไกองค์กรอิสระ กลไกศาล กลไกภาคประชาชน กลไกสื่อมวลชน และฝ่ายการเมือง ไม่จำเป็นจะต้องลงไปสู่ท้องถนน
กลับไปมองว่า 5 ปีแรกตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ อยากให้เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ อยู่ดีๆก็ไปฝากความหวังไว้กับ 250 ส.ว. ซึ่งเริ่มต้นบอกว่าจะเข้ามาเป็นกรรมการ ทำไปทำมาวันนี้อาจจะกลายเป็นฐานเสียงให้กับคนที่เป็นผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ยิ่งสับสนกันไปหมด
ทั้งๆที่การเลือกตั้งต้องสุจริตเที่ยงธรรม สร้างองค์กรดูแลการเลือกตั้งให้มีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช้ความได้เปรียบโดยใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน อิทธิพลต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะทำให้การเลือกตั้งเกิดปัญหาขึ้น
แต่ตอนนี้ภาพที่ออกมาหลังใช้มาตรา 44 กับ กกต. มีการพูดถึงคนมีอำนาจในขณะนี้อาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง อาจจะได้รับ การสนับสนุนเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง และมีกระแสข่าวการใช้เงิน ทั้งอำนาจ ตำแหน่ง คดีความมาต่อรอง
สวนทางโดยสิ้นเชิงกับเป้าหมายการปฏิรูปการเมือง และยิ่งจะเกิดความขัดแย้งได้
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า อีกชนวนอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง เมื่อ กกต.เตรียมตั้งวอร์รูมรับมือสงครามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียในช่วงเลือกตั้ง มีอำนาจถึงขั้นสั่งปิดหรือบล็อกได้ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ในหลักการ กกต.ควรกำหนดกติกาให้ชัด เพราะพฤติกรรมออนไลน์และออฟไลน์ การใส่ร้ายเทียบเคียงกันได้
เช่น การจ้างผู้มีอิทธิพลทางสื่อให้เชียร์หรือด่า ต้องคิดเป็นมูลค่าออกมาและเปิดเผย ไม่ใช่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการเชียร์หรือด่าโดยสุจริต
และ กกต.ควรคิดต่อไป ขอยกตัวอย่างเปลี่ยนวิธีคิดในเชิงบทบาทของ กกต. เปิดให้มีเวทีกลางให้ทุกคนนำข้อมูลมาหักล้างกันได้ โดยเฉพาะคนที่ตกเป็นเหยื่อของข่าวเท็จ ข่าวลวง ถ้าข่าวไหนถึงขั้นพิสูจน์หักล้างว่าเป็นการตัดต่อก็ลงโทษกันไป ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ดีกว่าคอยรับเรื่องร้องเรียนหรือมาคอยวินิจฉัยว่า ข่าวไหนจริง ข่าวไหนเท็จ ไม่อยากให้ กกต.ตั้งวอร์รูมใหญ่ เพื่อวินิจฉัยจัดการข้อมูลข่าวปลอม ข่าวเท็จ ถ้าวินิจฉัยผิดและถูกมองว่าไม่เป็นกลางก็จะยุ่งกันไปใหญ่
โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้อิทธิพลโซเชียลมีเดียจะมีมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา
องค์กรนานาชาติเริ่มจับตาการเมืองไทยหลังเลือกตั้งส่อเกิดวิกฤติ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ทุกอย่างต้องเริ่มต้นโดยเลือกตั้งที่ “เสรี-เป็นธรรม” หากไม่มีตรงนั้นทุกอย่างก็ไปหมด รวมไปถึงการตั้งวอร์รูมแล้ววินิจฉัยไม่เป็นกลาง
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ในช่วงเวลาที่เหลือก่อนเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์จะทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไร ให้เข้าใจบริบททางการเมืองที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤติการเมือง นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ต้องดูว่าสังคมเลือกที่จะเดินอย่างไร
ทางเลือกแรกผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ถ้าประชาชนเห็นว่าเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมก็ต้องสนับสนุนผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาล ปัจจุบัน และอาจจะได้รับตัวช่วยจากกลไกของรัฐธรรมนูญ
ยิ่งมาเจอเรื่องพลังดูดมันก็ยิ่งเดินกลับไปสู่การ เมืองเก่าๆ เขาก็จะต้องทำให้ประชาชนยอมรับว่าสภาพของประเทศและการบริหารในปัจจุบันมันดีจริง
และเมื่อนักการเมืองมากองรวมอยู่ที่นี้แล้วสามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ หากทำไม่ได้ประชาชนก็ไม่สนับสนุน เพราะนักการเมืองไม่ได้เป็นเจ้าของประชาชน แต่ประชาชนเป็นเจ้าของนักการเมือง
คำถามคือสมมติประชาชนสนับสนุนแนวทางนี้ด้วยจำนวนเสียงน้อย
แต่เอาตัวช่วย 250 ส.ว.ฝืนตั้งรัฐบาล ย่อมจะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ให้สังคม
ฉะนั้นถ้าประชาชนมีเจตนารมณ์สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง พรรคใดรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง วุฒิสภาควรเคารพเจตนารมณ์ตรงนั้น แบบนี้ บ้านเมืองถึงเดินไปได้
ทางเลือกที่สองเป็นพรรคการเมืองที่ชูธงประชาธิปไตย แล้วใช้เสียงข้างมากพยายามลบล้างทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น ถึงมีการพูดกันว่าถ้าเข้ามาขอรื้อรัฐธรรมนูญ รื้อยุทธศาสตร์ชาติ รื้อการปฏิรูปประเทศ
แนวทางนี้ได้เปรียบตรงที่มีพื้นฐานความนิยม แต่ก็ต้องแบกรับบทเรียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงจากแนวคิดเสียงข้างมากคือความถูกต้อง เสียงข้างมากกินรวบได้ สังคมก็เดินกลับไปที่เดิม
ทั้งสองทางเลือกเรามองว่ามันไม่ใช่คำตอบ เพราะแนวทางแรกเป็นการบริหารที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ขาดความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับผู้บริหารเศรษฐกิจ และยังไปจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก กลายเป็นความอึดอัดที่เก็บสะสมของคนรุ่นใหม่กับสภาพอนุรักษนิยม
แนวทางที่สองคนก็ยังกลัวว่าการเมืองจะกลับไปเหมือนเดิมหรือไม่ โดยเฉพาะการใช้เสียงข้างมากลากไปถึงการเขียนกติกาใหม่ ทำลายกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล
สำหรับแนวทางที่สามเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง บริหารตามเจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตยสำคัญกว่าตัวรัฐธรรมนูญ แม้เรามีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน อาจจะเป็นจุดบกพร่องให้คนโจมตีในอดีตได้
แต่ขณะนี้เราชัดเจนและมั่นคงในความคิด เดินหน้าปักธงยุคใหม่เป็นตัวนำ ยอมรับว่าต้องเปลี่ยนแปลง
ทั้งการเพิ่มอำนาจประชาชนลดอำนาจรัฐ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดบริหารเศรษฐกิจต้องดูเป้าหมายที่มันหลากหลายกว่าจีดีพี สนใจความเหลื่อมล้ำ วิถีชีวิตชุมชน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องเป็นรัฐบาลที่สามารถรักษาเจตนารมณ์ของประชาธิปไตย สร้างศรัทธากับประชาชนได้ ทั้งการแก้ปัญหาให้ประชาชน ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว เปิดพื้นที่ให้ฝ่ายอื่นๆในสังคม ยอมรับการตรวจสอบ ถ้าทำอย่างนี้จะทำให้ประชาชนมองการเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยว่าได้เรียนรู้และปรับเปลี่ยนจากอดีตแล้ว
ทีมข่าวการเมือง ถามว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สร้างความหวั่นไหวแก่พรรคประชาธิปัตย์อย่างไร นายอภิสิทธิ์ บอกว่า คนในพรรคประชาธิปัตย์ตกผลึกแล้ว
สมมติใครเห็นด้วยกับแนวทางของนายสุเทพก็ต้องตัดสินใจไป แน่นอนในความใกล้ชิดในการทำงานที่ผ่านมา อาจจะอยู่ในแวดวงพื้นที่ที่ทับซ้อนกันมากเป็นพิเศษก็แข่งขันกันไป ไม่ได้กังวลหรือหวั่นไหวใด
แล้ว “พลังดูด” เป็นปัญหาต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่ปัญหาของเรา เพราะวันนี้นักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ตกผลึกทางความคิด มีอุดมการณ์
เมื่อเห็นแนวทางของพรรคเป็นคำตอบ ก็ปักหลักอยู่กับพรรคแม้จะเสียเปรียบ เราผ่านสถานการณ์แบบนี้มาเยอะ พรรคไม่ค่อยกังวล อย่าไปยอมรับความไม่ถูกต้อง ถ้ามีใครชักชวนคนของพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคไหนก็ตาม โดยบอกว่าไปช่วยกันทำงาน เป็นแนวทางที่ดีกว่าสำหรับประเทศ เขาตัดสินใจไปก็ไม่ว่ากัน
แต่ถ้าบอกว่ามาแล้วคุณได้เงินเท่านี้ เอาตำแหน่งไปก่อน คดีติดตัวจะช่วยให้
ในทางการเมืองมันเป็นการสานต่อความเลวร้าย แล้วจะหวังให้บ้านเมืองดีขึ้นได้อย่างไร
ฉะนั้นประเทศจะเดินไปทางไหนตามสามทางเลือก อยากให้ประชาชนชี้ขาด
ชี้ทางใดทางหนึ่งแบบถล่มทลายเข้าไปบริหารประเทศ
แนวทางที่เหลือก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ หวังว่าจะไม่ทำให้ระบบพังอีก.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: