PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

สภาผัวเมีย250-พรรคลุงตู่?





Topstory15พ.ค.62 ตอน...สภาผัวเมีย250-พรรคลุงตู่?

นายกฯเมินเสียงวิจารณ์ ส.ว. -ไม่คาดหวังกลับมาอีก







3:25กำลังเล่น
นายกฯเมินเสียงวิจารณ์ ส.ว. -ไม่คาดหวังกลับมาอีก

"อู๊ดด้า"จะพาปชป.ไปทางไหน?

ผลการนับคะแนนการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เสร็จสิ้นแล้ว และชัดเจนว่า "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค" มีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 และจะเป็นผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เดินต่อไปบนเส้นทางการเมืองนับจากนี้
ก้าวต่อไปที่น่าจับตา ของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ก็คือ การตัดสินใจร่วมจัดตั้งรัฐบาล
"จุรินทร์" มีอยู่ 2 ทางเลือกคือ ทางเลือกแรก คือ การจับมือกับ "กลุ่ม7พรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตย" เพื่อดัน "อภิสิทธิ์ หรือ อนุทิน" เป็นนายกฯ
ขณะที่ทางเลือกที่สอง คือ การจับมือกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
อ่านต่อผลนับคะแนนเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
cr.โพสต์ทูเดย์

คลอด 250 ส.ว.“เด็กตู่-ป้อม” พรึบ เปิดรัฐสภา 22 พ.ค.


ทหาร 91-สนช.83-ตร.14 ผัวเมีย-พี่น้องมาเพียบ ปิยบุตรซัดท้าทาย ปชช.พท.ฉะส.ว.แดนสนธยา

ประกาศแล้ว 250 ส.ว. แม่น้ำ 5 สายกลายร่างยึดสภาสูง 83 สนช.ตีตั๋วต่ออีก 5 ปี “บิ๊กติ๊ก” แหกด่านยี้เกาะเก้าอี้แน่น ตท.12 “เพื่อนตู่” ตบเท้าพรึบ “วิบูลย์ บางท่าไม้” คู่เขยก็มา ตท.6-“เด็กป้อม” ไม่น้อยหน้ามากันเพียบ 15 อดีต รมต.สวมหัวโขนใหม่ เอากันให้สุดสภาผัว-เมียภาคพิสดาร “ครูหยุย” ลั่น “บิ๊กตู่” เหมาะสมสุด “ประยุทธ์” โอ่ผลงานคลอด ก.ม.กว่า 500 ฉบับสวนนักวิจารณ์ “ปิยบุตร” ได้ทีซัดตั้ง ส.ว.ผลัดกันเกา-เผาภาษี ชี้สุดอุกอาจ-ท้าทายประชาชน “ภูมิธรรม” ฉะจิ้มเลือกกันเองในแดนสนธยา พท.โวยแก๊งปล่อยข่าวเท็จหวังผลยุบพรรค “อุตตม” ลั่นไม่มีสัตว์เลื้อยคลานในพรรคแน่ “สมศักดิ์” ทวงโควตาสามมิตร แต่ “ประยุทธ์” บ่นเบื่อนักต่อรอง พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา 22 พ.ค. ลือหึ่งคืนหมาหอนศึกชิงดำผู้นำ ปชป. มีปัจจัยภายนอกแทรกแซง เงิน-เก้าอี้สะพัด

โฉมหน้า ส.ว.ทั้ง 250 คนที่ปรากฏออกมา ไม่ได้เหนือความคาดหมาย ล้วนแต่เป็นเครือข่ายแม่น้ำ 5 สาย มีทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีต สนช. อดีตสปช. อดีต สปท. รวมถึงบุคคลใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และคนในเครือข่ายของ คสช. แทบทั้งสิ้น

แม่น้ำ 5สายกลายร่างยึดสภาสูง

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิก วุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 250 คน ประกอบด้วย ส.ว. ที่เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ 50 คน และ ส.ว.ในสัดส่วนของ คสช. 200 คน แบ่งเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ส่วนอีก 194 คน มาจากการพิจารณาคัดเลือกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเหล่าทีมงานแม่น้ำ 5 สายของ คสช.

83 สนช.ตบเท้าตีตั๋วต่ออีก 5 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยเฉพาะโควตา สนช. ที่ติดโผ ส.ว.เข้ามามากถึง 83 คน อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. นายกล้านรงค์ จันทิก นางกาญจนรัตน์ ลีวิโรจน์ นายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร พล.อ.เทพพงศ์ ทิพย์จันทร์ พล.อ.สสิน ทองภักดี นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ นายกิตติ วะสีนนท์ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข พล.อ.ดนัย มีชูเวท พล.อ.อู้ด เบื้องบน

“บิ๊กติ๊ก” แหกด่านยี้ยึดเก้าอี้แน่น

ขณะที่ สนช.ที่เป็นอดีตก๊วนกลุ่ม 40 ส.ว. พาเหรดได้เป็น ส.ว.หลายคน อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายตวง อันทะไชย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นายเจตน์ ศิรธรานนท์ รวมถึง สนช.ที่เป็นเครือญาติพี่น้องคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รวมถึงบรรดารัฐมนตรีที่เพิ่งลาออกไป ต่างติดโผได้เป็น ส.ว.หลายคน อาทิ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา หรือ “บิ๊กติ๊ก” น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่ค่อยมาปฏิบัติหน้าที่ สนช. ยังสามารถแหกด่านเข้ามาเป็น ส.ว.ได้สำเร็จ รวมถึง พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.นพดล อินท–ปัญญา เพื่อนสนิทของ พล.อ.ประวิตร ก็ได้รับเลือกเป็น ส.ว.เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีนายสม จาตุศรีพิทักษ์ พี่ชายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม น้องชายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ขณะที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายอีกคนของ พล.อ.ประวิตรหลุดโผไม่ได้เข้ามา

ตท.12 “เพื่อนตู่” ตบเท้าพรึบ

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มก๊วนเพื่อนร่วมรุ่นเตรียม ทหารรุ่นที่ 12 (ตท.12) ของ พล.อ.ประยุทธ์ เช่น พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ เอี่ยมสมุทร พล.ร.อ.นพดล โชคระดา พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกฯ และอดีตรองหัวหน้า คสช. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ อดีต รมช. ศึกษาธิการ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และอดีต สปท. รวมถึง ร.อ.ประยุทธ์ เสาวคนธ์ เพื่อนร่วมก๊วนกอล์ฟ และ พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีต ผบช.สตม. คู่เขยของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วย

ตท.6–เด็ก “ป้อม” ไม่น้อยหน้า

ส่วนนายทหารและบุคคลใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ที่ได้เข้ามาเป็น ส.ว. อาทิ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.อ.ถาวร มณีพฤกษ์ อดีตรอง ผบ.สส. พล.อ.อาชาไนย ศรีสุข อดีตรอง ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.วลิต โรจนภักดี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีต สนช. พล.อ.กนิษฐ์ ชาญปรีชญา อดีต ผบช.หน่วยข่าวกรองทางทหาร พล.อ.สนธยา ศรีเจริญ อดีตแม่ทัพน้อยที่ 2 พล.อ.วราห์ บุญญะสิทธิ์ อดีตที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร อดีตรอง ผบ.ทบ. พล.ต.ท.สมบัติ มิลินทจินดา จเรตำรวจ พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง อดีต ผบช.ภ.2 พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 เช่น พล.อ.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ พล.อ. ไพโรจน์ พานิชสมัย พล.อ.นพดล อินทปัญญา พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ รวมแล้วมีนายทหาร 91 ราย และนายตำรวจ 14 รายที่ได้มาเป็น ส.ว.

15 อดีต รมต.สวมหัวโขนใหม่

ขณะที่กลุ่มรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตบเท้าเข้ามาเป็น ส.ว. 15 คน ได้แก่ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองนายกฯ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ อดีต รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ อดีต รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต รมว.แรงงาน นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ นายอุดม คชินทร อดีต รมช. ศึกษาธิการ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีต รมช.ต่างประเทศ นายลักษณ์ วจนานวัช อดีต รมช.เกษตรและ สหกรณ์ นายสมชาย หาญหิรัญ อดีต รมช.อุตสาหกรรม นายสุธี มากบุญ อดีต รมช.มหาดไทย และนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อดีต รมช.คลัง

อดีต สปช.–สนช.เกาะขบวนเพียบ

สำหรับโควตาอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีจำนวน 35 คน อาทิ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีตประธาน สปท. นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายวันชัย สอนศิริ นายคำนูณ สิทธิสมาน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป นายชาญวิทย์ ผลชีวิน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส นายพลเดช ปิ่นประทีป พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ นางวรารัตน์ อติแพทย์ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ

เอากันให้สุดสภาผัว ส.ว.–เมีย ส.ส.

ส่วนโควตานักการเมืองและเครือญาตินัก การเมืองในพรรคพลังประชารัฐ ที่ติดโผ ส.ว.เที่ยวนี้ อาทิ นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล คนสนิทนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และเป็นพี่ชายนายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ นางจิรดา สงฆ์ประชา พี่สาวนายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท นายอมร นิลเปรม ญาตินายอดุลย์ นิลเปรม อดีตผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี นายอุปกิต ปาจรียางกูร สามีของนางปารีณา ไกรคุปต์ ปาจรียางกูร ส.ส.ราชบุรี นายบุญส่ง ไข่เกษ อดีต ส.ส.ตราด พรรคประชาธิปัตย์ นายสุรสิทธิ์ ตรีทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และว่าที่ ร.ต.วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี หัวหน้าพรรคไทยใหม่

อดีต ปธ. กกต.เลือกตั้งโมฆะก็มา

ส่วนคนดังคนอื่นๆที่ได้รับคัดเลือกเข้ามา อาทิ นายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธาน กกต. นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขา สมช. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายจิรชัย มูลทองโร่ย อดีตปลัดสำนักนายกฯและอดีตประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อดีตศิลปินแห่งชาติ นายจรินทร์ จักกะพาก อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน อ่านรายชื่อ 250 ส.ว.ปกหลังหน้า 28

“หยุย” ลั่น “ตู่” เหมาะสมที่สุด

ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่อาคารสุขประพฤติ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้จัดให้มีการรายงานตัว ส.ว. ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ปรากฏว่านายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิก สนช. เดินทางเข้ารายงานตัวเป็นคนแรก นายวัลลภกล่าวว่า ไม่หนักใจในการทำหน้าที่เพราะเคยเป็น ส.ว.มาก่อน ได้รับการแต่งตั้งอีกครั้งเชื่อว่าจะทำหน้าที่ได้ไม่มีปัญหา เพียงแต่บทบาทครั้งนี้อาจมีความละเอียดมากขึ้น ต้องคอยติดตามการทำหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนการโหวตเลือกนายกฯ ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมาะสมจะทำหน้าที่ต่อเพราะทำให้ประเทศสงบเรียบร้อย มีผลงานมากมายที่ต้องสานต่อ กรณีที่ ส.ว.ถูกมองว่าต้องโหวตเพื่อตอบแทนบุญคุณนั้น เชื่อว่าทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง อยู่ที่ใครเหมาะสมที่สุด

“พีระศักดิ์” ขอโอกาสทำงานก่อน

นายพีระศักดิ์ พอจิต อดีตรองประธาน สนช. กล่าวว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อ ส.ว.ขออย่าเพิ่งวิจารณ์ ขอโอกาสและเวลาให้ ส.ว.ได้ทำงานบ้าง และยังไม่ถึงเวลาที่จะตอบว่าจะยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ โดยมารยาทธรรมเนียมปฏิบัติ ต้องให้ฝ่าย ส.ส.ดำเนินการไปก่อน อยากให้ทุกคนเคารพเสียงประชาชน อย่าไปบอกว่าคนนั้นเป็นฝ่ายใด ไม่ว่าใครจะเลือกพรรคไหนก็เป็นเสียงประชาชนทั้งนั้น ต้องเคารพกัน คนที่ได้รับเลือกจึงต้องทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เอาความคิดของตัวเองเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา

บิ๊กตู่” ฟุ้งผลงานสวนคนวิจารณ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวถึงรายชื่อ ส.ว.ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าล้วนเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดนายกฯและรองนายกฯ จนถูกเปรียบเทียบว่าไม่ต่างจากสภาผัวเมีย พล.อ.ประยุทธ์ตอบเพียงสั้นๆว่า ให้ลองไปเปรียบเทียบดูว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ออกกฎหมายได้มากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมาออกกฎหมายได้กว่า 500 ฉบับ สมัยก่อนออกได้กี่ฉบับ จะไปเปรียบเทียบกันไม่ได้

ป้อม” เสียงสูง “คนใกล้ชิดที่ไหน”

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ปฏิเสธที่จะตอบคำถามกรณีรายชื่อ ส.ว.ที่ประกาศออกมามีสัดส่วนอดีตนายทหารจำนวนมาก พร้อมย้อนถามกลับผู้สื่อข่าวด้วยเสียงสูงว่า “ที่ไหน” ผู้สื่อข่าวตอบกลับว่า พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนสนิท พล.อ.ประวิตรจึงตอบว่า “แค่คนเดียว” เมื่อถามย้ำว่ายังมีอีกหลายคน พล.อ.ประวิตรตอบว่า “ก็เป็นคนเก่า” ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคการเมืองรณรงค์ปิดสวิตช์ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ พล.อ.ประวิตรไม่ตอบคำถามดังกล่าว และขึ้นรถออกไปทันที

ธนาธร” ชูต้านสืบทอดอำนาจ

ที่พรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงถึง 3 เหตุผลที่ต้องต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ว่า รัฐบาล คสช.ใช้เงินภาษีจำนวนมหาศาล เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ แต่กลับลดการกระจายอำนาจของท้องถิ่นดึงกลับมาส่วนกลาง ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน เช่น การออก พ.ร.บ.ข่าวกรองแห่งชาติ ที่ลิดรอนการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน แต่กลับไปเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าถึงข้อมูลของประชาชน ด้วยการออก พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์ จึงอยากส่งสัญญาณให้พรรคการเมืองที่ยังไม่ตัดสินใจ เห็นแก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ใช่ประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม การอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้เกิดภาระหนี้ผูกพันถึงรัฐบาลชุดต่อไป

หวัง ส.ส.มีจิตสำนึกทำเพื่อ ปชช.

นายธนาธรกล่าวต่อว่า จากเหตุผลเหล่านี้ อยากถามพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจว่าใช้เหตุผลอะไรตัดสินใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคใด ส.ส.ทุกคนสามารถหยุดสิ่งเหล่านี้ได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน การตัดสินใจของ ส.ส.จะเป็นการตัดสินอนาคตประเทศ ยอมรับว่ามีการพูดคุยกับหลายพรรค ทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่ขอให้ช่วยกันหยุดการสืบทอดอำนาจ คสช. ให้จบในสภาผู้แทนราษฎร โดยพร้อมสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากการพรรคการเมืองขั้วที่ 3 โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ไม่ขอตอบว่าพร้อมสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายอนุทิน ชาญวีรกูลหรือไม่ ส่วน 11 พรรคเล็กที่ได้รับการรับรอง ส.ส.นั้น พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้มองว่าเป็นคู่ขัดแย้ง แม้จะมีความเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกัน เพราะไม่ใช่ความผิดของ 11 พรรคการเมือง แต่เกิดจากการใช้สูตรคำนวณของ กกต.

ซัดตั้ง ส.ว.ผลัดกันเกา–เผาภาษี

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เครื่องมือสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการรัฐประหาร คือ ส.ว.แต่งตั้ง เอาข้าราชการ ทหาร ตำรวจ มานั่ง ส.ว. ขอเรียกว่าเป็นระบบ ส.ว.ผลัดกันเกาหลังคนละทีสองที 250 ส.ว.แบ่งเป็น 3 ก้อน 6 คนจากผู้นำเหล่าทัพ 50 คนจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ ใช้เงิน 1.3 พันล้านบาท แต่งหน้าทาปากให้ดูเหมือนประชาชนคัดมา ก่อนส่ง คสช.ให้ความเห็นชอบ และ 194 คนจากการสรรหา ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน และ คสช.เป็นกรรมการ ซึ่งไม่เคยเห็นชื่อเลยว่าสรรหาใครบ้าง สุดท้ายก็ให้ คสช.เป็นผู้เคาะ ส.ว.ทั้งหมด ผลที่ได้คือเป็นทหาร 93 คน ตำรวจ 14 คน ล้วนเป็นพรรคพวกเก่าๆคนที่เคยทำงานกับ คสช. อย่าง สปช. ,สปท. ซึ่งก็คือคนที่ได้รับประโยชน์โพชน์ผลจากการยึดอำนาจ

สุดอุกอาจ–ท้าทายประชาชน

นายปิยบุตรกล่าวว่า “ปรากฏการณ์แบบนี้ต้องเรียกว่าอุกอาจ และท้าทายอำนาจประชาชนมาก เหมือนบอกว่าพวกอั๊วจะเอาแบบนี้ จึงขอเรียกร้องให้ ส.ว.เคารพประชาชน อายประชาชนบ้าง รัฐธรรมนูญทุกฉบับบอกว่าประชาชนทุกคนที่ช่วยทำมาหากินเสียภาษี เป็นเจ้าของอำนาจ แต่กลับเอาภาษีมาให้คนสืบทอดอำนาจ อยากให้คนไทยที่จ่ายภาษีเป็นเงินเดือนให้ ส.ว.พวกนี้ ร่วมกันส่งเสียงดังๆถึง ส.ว. 250 คน ให้การใช้อำนาจหน้าที่ครั้งแรกในสภาไปในทางที่หยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช. ต้องไม่ลืมว่าวันนี้ได้เป็น ส.ว.แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีอำนาจกดดันคุณได้อีกแล้ว ดังนั้น จงใช้อำนาจหน้าที่ของคุณเพื่อพิสูจน์ว่า คุณเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้แทน คสช. จะใช้อำนาจโดยไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามมาตรา 114”

พท.โวยปล่อยข่าวหวังทำลาย

ขณะที่นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีการปล่อยข่าวให้เข้าใจผิดว่าพรรคเพื่อไทยพยายามติดต่อจะให้การสนับสนุนผู้ที่เสนอตัวเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชารัฐรายหนึ่ง ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และขอย้ำว่าพรรคเพื่อไทยทำงานการเมืองบนหลักการ และความถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตยตลอดมา ให้ความสำคัญต่อคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ เชื่อว่า ส.ส.ทุกคนทุกพรรคน่าจะมีจิตสำนึกที่ดี และน่าจะใช้วิจารณญาณตัดสินใจได้ว่าควรเลือกบุคคลใดที่เหมาะสมที่สุด มีประวัติและผลงานดีที่สุด การปล่อยข่าวให้เสียหายแบบนี้น่าจะเป็นแผนการทำลายพรรคเพื่อไทย และฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อหวังสืบทอดอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิม

จวกสร้างข่าวเท็จร้องครอบงำ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีการนำเสนอข่าวโดยอ้างรายงานข่าว มีแกนนำพรรคเพื่อไทยบางส่วนเดินทางไปหารือกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขอปฏิเสธว่าไม่มีมูลความจริง ไม่แน่ใจว่าคนปล่อยข่าวต้องการสร้างข่าวเท็จเพื่อนำไปสู่การร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่ พรรคเพื่อไทยมีโครงสร้างการบริหารที่เป็นสถาบันการเมืองรองรับ ไม่จำเป็นต้องกระทำการในลักษณะดังกล่าว รวมถึงข่าวปล่อยว่าพรรคเพื่อไทยจะสนับสนุนคนของพรรคการเมืองอื่นเป็นประธานสภาฯ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะพรรคมีบุคลากรทางการเมืองคุณภาพ สามารถดำรงตำแหน่งประธานสภาฯได้ ไม่จำเป็นต้องไปหนุนคนของพรรคอื่น ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นพรรคเพื่อไทย

ดิสเครดิตสืบทอดอำนาจ

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความลงทวิตเตอร์ ระบุว่า การต่อสู้ของพรรคเพื่อไทย ตั้งอยู่บนจุดที่ยึดมั่นในหลักการและความถูกต้อง การปล่อยข่าวเพื่อทำลายภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของพรรค ที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ล้วนเป็นแผนทำลายฝ่ายประชาธิปไตย และมุ่งหวังเพื่อการสืบทอดอำนาจของกลุ่มอำนาจเดิมทั้งสิ้น

ฉะเลือก ส.ว.ในแดนสนธยา

ต่อมานายภูมิธรรมโพสต์ลงเฟซบุ๊กเพิ่มเติมว่า 5 คำถามที่สังคมอยากฟังคำตอบเมื่อเห็นรายชื่อ ส.ว. คือ 1.งบประมาณ 1,300 ล้านบาทที่ใช้ไป เอาไปทำอะไรบ้าง เพราะรายชื่อที่ประกาศออกมาล้วนแต่เป็นบุคคลใกล้ชิด คสช. และรัฐบาลแทบทั้งสิ้น 2.รัฐธรรมนูญระบุกระบวนการคัดสรรไว้ชัดเจน แต่ในทางปฏิบัติสังคมมองว่ามีแต่ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่เคยมีคำตอบจากผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ เหมือนเลือกสรรกันอยู่ในแดนสนธยา 3.สังคมไม่เคยรับรู้ว่ามีใครเป็นกรรมการสรรหาบ้าง 4.สำคัญที่สุดคือ ส.ว.ชุดนี้ขาดความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ มีแต่ทหาร ตำรวจ ทั้งในและนอกราชการกว่า 100 คน 5.ในอดีตเคยวิพากษ์วิจารณ์ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็นสภาผัวเมีย แต่ ส.ว.จากการแต่งตั้งของ คสช. กลายเป็นสภาเครือข่ายเพื่อนพ้องน้องพี่ แต่งตั้งมาเพื่อสืบทอดอำนาจ

เย้ยคนอยากมีปัญญาแก้ ศก.ไหม

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า การเลือกตั้งที่เคยเป็นความหวังว่าจะเป็นทางออกของประเทศ กำลังจะกลายเป็นตัวฉุดรั้งความเชื่อมั่น โดยเฉพาะด้านต่างประเทศ หากเป็นเพียงพิธีกรรมสร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจ ชาติตะวันตกอาจไม่ยกระดับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติ ขณะที่ประชาชนจะยิ่งขาดความเชื่อมั่น ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนลดลง ต้องถามคนที่อยากเป็นนายกฯ มีความสามารถพอที่จะนำพาประเทศฝ่าสงครามทางเศรษฐกิจไปได้หรือ ที่ผ่านมาแค่สถานการณ์ปกติประชาชนยังลำบากจนแทบไม่มีจะกิน มาเจอสงครามทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจ ประชาชนจะเหลืออะไร ประเมินความสามารถของตัวเองแล้วถอยให้คนที่มีความสามารถมานำพาประเทศดีกว่า สถานการณ์แบบนี้ประเทศต้องการคนเก่งที่เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ต้องการนักการทหาร

“อุตตม” แนะ ส.ส.อย่าหมกมุ่นข่าว

ช่วงบ่ายวันเดียวกันที่โรงแรมเดอะซาย จ.ชลบุรี มีการจัดสัมมนา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ “รวมพลัง สร้างไทย” โดยนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวเปิดสัมมนาว่า เราได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้เข้ามาทำหน้าที่ได้อย่างสง่างาม แสดงว่าเรามีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว ขณะนี้มีการปล่อยข่าวฟุ้งไปหมด ถือเป็นเรื่องธรรมดา หลังจากพรรคเล็ก 11 พรรคประกาศมาร่วมงานกับเราแล้ว ขอให้ทุกคนมุ่งมั่นทำงานไปข้างหน้า ไม่ติดอยู่ในวังวน ไม่หมกมุ่นฝุ่นตลบแต่กับเรื่องการเมือง เมื่อไปเป็นรัฐบาลทุกคนต้องทำงานได้ทันที ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ขอให้มั่นใจว่าเราดูแลอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารพรรค หรือทุกคนที่เกี่ยวข้องพร้อมดูแล

ขอทุกคนเดินหน้าทำงานทันที

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า มีการปล่อยข่าวผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ต้องการปั่นกระแสข่าวให้เกิดความสับสน เช่น มีข่าวเรื่องงูเห่าราคา 40 ล้านบาท หรือแม้กระทั่งงูเห่าฉาบสีพรรคพลังประชารัฐ ทั้งหมดเป็นความพยายามสร้างความแตกแยก เชื่อว่าสมาชิกทุกคนผ่านสนามเลือกตั้งมาแล้ว แยกแยะได้ว่าอะไรจริงหรือเท็จ ทั้งหมดเป็นการปั่นข่าวยุทธศาสตร์การเมือง ขอให้ทุกคนเดินหน้าทำงานต่อไป

ไม่มีสัตว์เลื้อยคลานในพรรค

นายอุตตมให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลัง 11 พรรคเล็กประกาศร่วมสนับสนุนว่า เสียงตอบรับดี ทำให้พรรคอื่นได้เห็นศักยภาพของพลัง-ประชารัฐ แต่ไม่สามารถพูดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะยังอยู่ระหว่างการพูดคุย แต่มั่นใจทุกอย่างจะเรียบร้อย ยืนยันว่าการทำงานของพรรคเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กิจกรรมสัมมนาที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความสามัคคีที่เราจะระดมสมองทำงานให้กับประเทศ ส่วนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีข่าวว่ามีคู่ชิง 2 คน ระหว่างนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา และนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น พรรคยังไม่ได้ตัดสินใจ เรามีบุคลากรที่หลากหลายให้เลือกมาก ยืนยันว่าเป็นข่าวโคมลอย พรรคเราไม่มีงูเห่า สุดท้ายต้องเป็นแค่ชื่อเดียวเท่านั้น มั่นใจจะไม่เกิดสัตว์เลื้อยคลานในพรรคแน่นอน

“วิรัช” ยกให้ผู้ใหญ่ตัดสินใจ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีมีชื่อชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ เรื่องดังกล่าวขึ้นกับผู้ใหญ่ของพรรคจะพิจารณา ตนเป็นคนของพรรค หากผู้ใหญ่เห็นว่าทำหน้าที่ตรงไหนเหมาะสม ขึ้นอยู่กับพรรคจะมอบหมาย ไม่ว่าในตำแหน่งประธานสภาฯหรือวิปรัฐบาล เชื่อว่าทำได้ ที่ผ่านมาสามารถคุยกับพรรคเพื่อไทยได้ทุกคน และตลอดการเป็น ส.ส.ไม่เคยขาดประชุมครั้งสำคัญ มาประชุมสภาก่อนเวลา และไม่เคยลา ที่สำคัญเป็นคนโชคดีได้ทำงานกับรัฐบาลเสมอ ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน

“สมศักดิ์” ทวงโควตาสามมิตร

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาลเป็นหน้าที่ของผู้บริหารและแกนนำพรรค ส่วนตัวยังลุ้นเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอื่นๆ ตามโควตาของกลุ่มสามมิตร

ปลาไหลรอเสียบร่วมรัฐบาล

ที่รัฐสภาใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคชาติ-ไทยพัฒนา กล่าวว่า มอบให้ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคฯ เป็นผู้ดำเนินการเรื่องตั้งรัฐบาลทั้งหมด ต้องรอพรรคใหญ่เจรจาให้ลงตัวเสียก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปก่อนการเปิดประชุมเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่อะไรเกิดประโยชน์ต่อประชาชน หรือเป็นการทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการหาเสียง พรรคชาติไทยพัฒนาจะทำทั้งหมด

ส.ส.ใต้บี้ขอเก้าอี้กลางวงสัมมนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ โดยในส่วน ส.ส.ภาคใต้ที่ได้มาถึง 13 ที่นั่ง ได้ขอ 2 เก้าอี้ คือ 1 รัฐมนตรีว่าการ และ 1 รัฐมนตรีช่วย เดิมทางกลุ่มเสนอชื่อ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีต สนช. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เมื่อ พล.อ.อกนิษฐ์ได้เป็น ส.ว. ทางกลุ่มจึงหารือกัน และได้เสนอระหว่างสัมมนาที่พัทยา โดยนายทวี สุระบาล หนึ่งในทีมเลือกตั้งภาคใต้กล่าวว่า พรรคควรให้โอกาสพวกตนมีตำแหน่งในฝ่ายบริหาร เพราะได้ ส.ส.ถึง 13 คน เบื้องต้นจะเสนอชื่อ พ.อ.สุชาติ จันทร์โชติกุล อดีต สปช. หัวหน้าทีมเลือกตั้งภาคใต้ และอีกตำแหน่ง กำลังหารือ

“ประยุทธ์” ให้รอนายกฯใหม่ตอบ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม.พร้อมฮัมเพลงอย่างอารมณ์ดี ก่อนตอบคำถามถึงกระแสข่าวการจัดตั้งรัฐบาล ที่มีชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย รวมอยู่ด้วยว่า ตอบไม่ได้ ตอนนี้ยังไม่ใช่นายกฯในรัฐบาลใหม่ ทุกอย่างเป็นเรื่องของนายกฯใหม่ สื่ออย่าขยายความ หลายคนไม่เกี่ยวอะไรด้วย ทำวุ่นวายไปหมด ตนและรองนายกฯไม่เกี่ยวข้อง วันนี้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ต้องให้เกียรติเขา

บ่นเบื่อข่าวต่อรองโควตา รมต.

เมื่อถามถึงกระแสข่าวพรรคร่วมไม่พอใจการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า รู้สึกเบื่อหน่ายข่าวที่ออกมา ยังไม่ทันตั้งรัฐบาลก็มีต่อรองแล้ว วันนี้ให้เกียรติทุกคนเพราะได้รับเลือกตั้งจากประชาชน พูดกันไปมาจนเลวร้ายไปหมด ไม่รู้ว่านำเสนอข่าวกันไปทำไม ส่วนกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ เตรียมร้องต่อ กกต. ให้พิจารณายุบพรรคพลังประชารัฐ ฐานปล่อยให้บุคคลนอกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ใครอยากจะร้องก็ร้องไป ไม่ได้ไปห้าม แต่ต้องดูข้อเท็จจริงของข้อกฎหมาย

“สุวิทย์-บิ๊กโจ๊ก” โผล่ทำเนียบฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม ครม. นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯที่ห้องทำงาน โดยนายสุวิทย์กล่าวว่า มาพบเพื่อนกินกาแฟที่ห้องนายสมคิดเท่านั้น ไม่ได้มาเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ตรงนั้นว่าไปตามครรลอง ส่วนกระแสข่าวว่าจะมาเป็น รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นตนเท่านั้น มีคนอื่นที่มีความสามารถอีกมาก เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงเลือกคนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังสังเกตเห็น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีต ผบช.สตม. ที่ถูกคำสั่งให้ย้ายมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

สมคิด” ห่วงลากยาวกระทบ ศก.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มั่นใจว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปตามกรอบเวลา เพราะมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาแล้ว จะมีการตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา หากไม่มีปัญหาก็เปิดสภาฯโหวตเลือกนายกฯเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ให้ทันกับการจัดประชุมอาเซียนซัมมิทในวันที่ 22-23 มิ.ย. ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ตอนนี้ไทม์ไลน์ทางการเมืองเริ่มชัดเจนมากขึ้น อยากให้ทุกคนยึดประเทศเป็นที่ตั้ง ช่วยนายกฯกันหน่อยให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ หากสถานการณ์การเมืองยังมีปัญหาลากยาวต่อไป จะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศมาก ส่วนที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ มาพบ เพื่อให้มาช่วยงานสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่

กฤษฎีกาประชุมรัฐสภา 22 พ.ค.

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ.2562 โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่ได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 ตามความในรัฐธรรมนูญมาตรา 121 กำหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2562 เป็นต้นไป ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

วิษณุ” เผยเปิดรัฐสภา 24 พ.ค.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า หลังมีการประกาศรายชื่อ ส.ว. และพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. ทราบว่าทางสภาฯจะจัดพิธีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสภาฯ ในวันที่ 24 พ.ค. เมื่อถามว่าการเลือกประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภาจะเกิดขึ้นเมื่อใด นายวิษณุ ตอบว่า แล้วแต่ทางสภาฯจะเป็นผู้กำหนด มองว่าเร็วที่สุดคงเป็นวันรุ่งขึ้นหลังการเปิดสภาฯ และไม่ควรไปคิดเรื่องวันเสาร์อาทิตย์ เนื่องจากเมื่อ ส.ส.และ ส.ว.มารวมตัวกันแล้วจะให้เขากลับบ้านแล้วมากันใหม่ทำไม เห็นว่าควรเลือกทั้งประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภาฯในวันเดียวกัน ขั้นตอนนี้คงกลับไปใช้สถานที่ของทีโอที จากนั้นจะมีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งลงมา ประธานสภาฯสามารถเรียกประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ เมื่อถามว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ค.นี้หรือไม่ นายวิษณุตอบว่า ถ้าดูตามขั้นตอนข้างต้น ประมาณการว่าน่าจะได้ในเดือน พ.ค.นี้

เลขาสภาฯรอยืนยันวันเปิดประชุม

นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ทำหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. แจ้งให้ทราบว่ามี ส.ส.มารายงานตัว 440 คน ใกล้ครบ 95% ที่จะเปิดประชุมรัฐสภาได้แล้ว เพื่อให้ สลค.ทำหนังสือส่งไปยังสำนักเลขาธิการพระราชวัง นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงกำหนดวันเปิดรัฐพิธีที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมรัฐสภา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือตอบกลับมาว่าจะเป็นวันใด ยังไม่ทราบว่าเป็นวันที่ 24 พ.ค. ตามที่นายวิษณุระบุหรือไม่ แต่ตามหลักการแล้วหากทรงเปิดรัฐพิธีเปิดสภาฯวันใด ในวันรุ่งขึ้นทางสภาผู้แทนราษฎรจะเรียกประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรทันที เบื้องต้นหารือกับเลขาธิการวุฒิสภาแล้วว่าจะเลือกตำแหน่งประธานในวันเดียวกัน โดยเตรียมสถานที่หอประชุมทีโอที แจ้งวัฒนะ ไว้แล้ว แม้จะเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็สามารถเปิดประชุมสภาเลือกได้ไม่มีปัญหา

เลือก หน.ปชป.วิจารณ์ซื้อกันเละ

ด้านความเคลื่อนไหวเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเวลา 08.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 52 คน รวมตัววิพากษ์วิจารณ์กระแสข่าวการซื้อเสียงโหวตเตอร์ที่เป็น ส.ส.เพื่อให้สนับสนุนผู้สมัครบางทีมในอัตราที่สูงถึง 2 ล้านบาทต่อ 1 เสียง ที่กำลังสะพัดเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่มีจุดยืนร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยสอบถามกันในโหวตเตอร์ที่เป็น ส.ส.แต่ละภาคโดยเฉพาะภาคใต้ว่า มีคนที่เคยเป็นผู้บริหารพรรคที่ลาออกจากพรรคไปแล้วได้โทรศัพท์และใช้เครือข่ายกระจายติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ถึง ส.ส.ที่เป็นโหวตเตอร์ ขณะที่แกนนำที่เป็น ส.ส.อาวุโส ที่สนับสนุนทีมดังกล่าวโทร.ขอเสียงเสนอให้ทั้งเงินและตำแหน่ง เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจ และประธานกรรมาธิการเช่นเดียวกับ ส.ส.อีกกลุ่มโทร.หาโหวตเตอร์โหวตให้ทีมตัวเองแลกกับตำแหน่ง กก.บห.และเงิน 6 หลัก

“วัชระ” แฉปัจจัยนอกแทรกแซง

นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีการแทรกแซงจากภายนอกชัดเจน พร้อมข่าวเสนอเงินล้านแลกกับการโหวต ไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน ใครรับเงินหรือตำแหน่งแลกกับการโหวตถือว่าทรยศต่ออุดมการณ์พรรคและพระแม่ธรณีบีบมวยผมจะลงโทษไม่ช้าก็เร็ว บางคนกล่าวอ้างว่า จะขอเป็นรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายในชีวิต โดยไม่ใส่ใจเลยว่าเป็นการหนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร มีการสร้างกระแสบีบให้สมาชิกเห็นตาม ทั้งที่รู้ว่าเป็นรัฐบาลที่อายุสั้นไร้เสถียรภาพความมั่นคงก็ยังอยากเข้าไปเป็นรัฐมนตรี

ปูดนายพลนอกพรรคเดินเกมซื้อ

นายวัชระกล่าวต่อว่า มีนายพลนอกราชการติดต่อผ่านผู้หญิง ชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร ก.ที่ชอบวิ่งเต้นโครงการต่างๆของรัฐให้แกนนำพรรคไปพบ บอกว่าประชาธิปัตย์จะเอากี่กระทรวงก็ได้ขอให้ไปคุยกัน แต่ไม่มีใครไป เป็นนายพลคนเดียวกับที่แกนนำพรรค พลังประชารัฐทางภาคใต้คุยว่า ให้เงินไปนิดเดียวยังได้ ส.ส.มามากถึงขนาดนี้ เมื่อมีเงินมากอาจมีใครทำหล่นไว้ในรถของนักการเมืองหลายๆพรรคก็ได้ แต่สำหรับประชาธิปัตย์ตราบใดที่ยังมีนายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชา–ชีวะ เผด็จการทหารยากที่จะมาครอบงำได้

“สาทิตย์” ข้ามช็อตทุ่มสู้เลือกตั้ง

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า รัฐบาลที่จะตั้งใหม่เสียงจะปริ่มน้ำมากน่าจะมีอายุไม่ยาวนาน ภารกิจใหญ่ของหัวหน้าพรรคคือ การเตรียมการเลือกตั้ง ดังนั้น นายอภิรักษ์เหมาะสม เพราะไม่ได้ลง ส.ส.มีเวลาทุ่มเทให้การเตรียมการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ขณะที่คนอื่นมีงานสภาฯ ถ้าเข้าร่วมรัฐบาลต้องมีงานบริหารอีก นายอภิรักษ์มาจากเอกชนและมีความทันสมัยจะลงตัวทั้งแนวคิดและประสบการณ์ ส่วนที่มีชื่อเป็นเลขาธิการพรรค ถ้านายอภิรักษ์เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อนในทีมเสนอก็เลยเห็นตามที่เพื่อนเห็นเหมาะสม

7 วัน ส.ส.รายงานตัว 454 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ว่า การเปิดรับการรับรายงานตัว ส.ส. วันที่ 14 พ.ค. มี ส.ส.มารายงานตัว 14 คน อาทิ นายไกลก้อง ไวทยาการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ นายวราวุธ ศิลปอาชา นายนิกร จำนง นายธีระ วงศ์สมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายประภัตร โพธสุธน ส.ส. สุพรรณบุรี จากพรรคชาติไทยพัฒนา นายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย น.ส. วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี และนายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุทา ประทีป ณ ถลาง ส.ส.ภูเก็ต พรรคพลังประชารัฐ ยอดรวม 7 วัน ตั้งแต่ 8-14 พ.ค.มี ส.ส. มารายงานตัวแล้ว 454 คน เหลือ ส.ส.ที่ยังไม่มารายงานตัวอีก 44 คน มากที่สุดจากพรรคภูมิใจไทย 37 คน

สืบพยานโจทก์คดี กปปส.กบฏ

ที่ห้องพิจารณา 804 ศาลอาญา ศาลนัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรก คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.กับแกนนำ กปปส.รวม 31 คน เป็นจำเลย ฐานร่วมกันเป็นกบฎฯ นายสุเทพกล่าวก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า พวกตนเป็นจำเลยในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมล้างผิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ วันนี้มาครบกันทุกคนไม่หลบหนีไปไหนสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ศาลจะพยายามให้คดีนี้เสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค.62

“ศรีสุวรรณ” ซัด ทบ.ผลาญงบฯ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แถลงกรณีกองทัพบกอนุมัติจัดหารถเกราะล้อยาง M1126 STRYKER จากสหรัฐฯ 37 คัน มูลค่า 80 ล้านเหรียญ หรือ 2,480 ล้านบาท ว่า การอนุมัติซื้อรถเกราะล้อยางดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะยังไม่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง อาศัยสถานการณ์ที่ประชาชนสนใจการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลเพื่อลดข้อครหาหรือจับผิดในกรณีดังกล่าว มีข้อสงสัยว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ส่วนตัวของ ผบ.ทบ.หรือไม่ เนื่องจาก ผบ.ทบ.จบปริญญาโทจากสหรัฐฯ ฝึกหลักสูตรต่างๆจากสหรัฐฯ จนได้ชื่อว่าเป็น ผบ.ทบ.สไตล์อเมริกัน ก่อนหน้านี้สหรัฐฯวิจารณ์รัฐบาลไทยและ คสช.ต่อเนื่อง แต่กลับนำเงินภาษีหลายพันล้านไปสานสัมพันธ์และในอนาคตอาจต้องสูญเสียเงินภาษีอีกมากกับการสร้าง โรงเก็บ ทำสนามฝึก สั่งซื้อชิ้นส่วน ซ่อมบำรุง ขณะนี้อาเซียนลดการแข่งขันสะสมอาวุธมุ่งสร้างเศรษฐกิจเป็นสำคัญ คนไทยเผชิญชะตากรรมข้าวยากหมากแพง แต่กองทัพกลับถวิลหาการซื้ออาวุธ

ครม.ตั้งปลัด อว.–ปลัดแรงงาน

พ.อ.หญิงทักษดากล่าวว่า ครม.มีมติแต่งตั้งนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นปลัดกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ครม.ยังมีมติรับทราบตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เสนอให้นายสรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ตำรวจสาวไม่คืบตื้บ “เอกชัย”

อีกเรื่อง พ.ต.อ.เชษฐา สว่างสุข ผกก.สน.พหลโยธิน เปิดเผยถึงการติดตามตัว 2 ชายฉกรรจ์ทำร้ายร่างกายร้ายนายเอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ระหว่างไปขึ้นศาลคดีชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ว่า ฝ่ายสืบสวนอยู่ระหว่างตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณที่เกิดเหตุและใกล้เคียง ทั้งกล้องของศาลและของ กทม. อุปสรรคตอนนี้คือคนร้ายแต่งตัวมิดชิด ปิดบังใบหน้า สวมหมวกกันน็อก รถ จยย.พาหนะที่ใช้หลบหนีติดป้ายทะเบียนปลอม ต้องขอเวลาเจ้าหน้าที่ทำงานสักระยะ จะเร่งติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีให้เร็วที่สุด ส่วนการสอบปากคำผู้เสียหายต้องรอให้มีอาการดีขึ้นก่อนจะติดต่อมาสอบสวนอย่างละเอียด

เผยอาการข้อมือขวา–ซี่โครงหัก

เย็นวันเดียวกัน ที่ป้ายรถประจำทางหน้าทางเข้าประตู 8 ศาลอาญารัชดาภิเษก น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นพ.ทศพร เสรีรักษ์ พร้อมประชาชนประมาณ 20 คน รวมตัวทำกิจกรรมอ่านแถลงการณ์หยุดทำร้ายนายเอกชัย หงส์กังวาน หลังถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บที่จุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 พ.ค. มีการจุดเทียนสงบนิ่ง 1 นาที เพื่อไว้อาลัยผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายทางการเมือง โดยผู้ร่วมกิจกรรมยังร้องเพลงเพื่อมวลชน พร้อมชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ขณะร้องเพลง ทั้งหมดใช้เวลาทำกิจกรรม 15 นาที จึงแยกย้ายกันกลับ นพ.ทศพรเปิดเผยว่า อาการนายเอกชัยข้อมือขวาหัก และกระดูกซี่โครงชิ้นที่ 9 หัก ต้องพักฟื้นประมาณ 6 สัปดาห์ เพื่อให้กระดูกสมานตัวทำให้ตอนนี้มีปัญหาเรื่องการหายใจ



ทางสองแพร่ง


การตัดสินใจของคนพรรคประชาธิปัตย์ ในการโหวตเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ วันนี้ (15 พ.ค.) ถือเป็นหัวเลี้ยว หัวต่อครั้งสำคัญของพรรคการเมืองเก่าแก่อายุ 73 ปี

เพราะเป็นการเลือกประมุขพรรคคนใหม่ เพื่อมาปฏิรูปพรรค ปรับแนวทางการทำงานให้พรรคกลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาชน

หลังจาก “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไขก๊อกลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะนำทัพลงทำศึกเลือกตั้ง พ่ายแพ้ หน้าแตกสาหัสยับเยินชนิดหมอไม่รับเย็บ

จากที่เคยเป็นพรรคการเมืองขั้วใหญ่ มี ส.ส.100 กว่าที่นั่ง แต่งวดนี้ตีฝ่าด่านมะขามเตี้ยเข้ามาแบบหืดขึ้นคอ ได้ ส.ส.ระบบเขต แค่ 33 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19 คน เหลือแค่ 52 ที่นั่ง

ลดลงไปครึ่งต่อครึ่ง สะท้อนชัดว่าคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ยุคนี้ตกต่ำลงไปจมกระเบื้อง!!!

ดังนั้น การเลือกผู้นำพรรค และ ทีมบริหารพรรคชุดใหม่ เข้ามาทำหน้าที่แสดงฝีมือในการฟื้นฟูปฏิสังขรณ์พรรค ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน และสำคัญยิ่งต่ออนาคตของสถาบันการเมืองแห่งนี้

โดยมีผู้ประกาศตัวอาสาเข้ามาเป็นหัวหอกสังคายนาฟื้นฟูพรรคให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง รวมทั้งสิ้น 4 พระหน่อ ไล่เรียงตามความเก๋า ได้แก่

“อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ที่จะขอนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคเต็มตัว โดยผนึกกำลังกับ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค เป็นคู่หูชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรค

“หล่อโย่ง” กรณ์ จาติกวณิช ส.ส. บัญชีรายชื่อ ขอวัดบารมี ชิงขึ้นชั้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยมี ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ส.ส.ตาก ร่วมทีมขอเป็นเลขาธิการพรรค

“หล่อเล็ก” อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. ขอลุ้นนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค โดยมี สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง แกนนำสาย กปปส. คั่วเก้าอี้เลขาธิการพรรค

ส่วนรายสุดท้าย “เสี่ยตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ยอมตกขบวน ขอชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคด้วยอีกคน แต่ยังอุบไต๋ทีมงานที่จะมาเป็นเลขาธิการพรรค

ทั้งนี้ ตามกฎกติกาข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนโหวตเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หรือเรียกโก้ๆว่าโหวตเตอร์ มีจำนวน 307 คน

ประกอบด้วย ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาหมาดๆ 52 คน ซึ่งถือเป็นกลุ่มสำคัญ เพราะข้อบังคับพรรค ให้น้ำหนักคะแนนเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโหวตเตอร์อีก 255 คน จาก 19 กลุ่ม ได้แก่ อดีต ส.ส. และบรรดาตัวแทนสาขาพรรค มีน้ำหนักคะแนนอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์

ด้วยกลไกตามข้อบังคับพรรคเช่นนี้ ใครกุมเสียง ส.ส.มากกว่าก็ย่อมได้เปรียบ

ล่าสุด “พ่อลูกอิน” จับกระแสแรงสนับสนุนจากกลุ่มก๊วนในพรรค เต็งหนึ่งยังเป็น จุรินทร์ ที่มีผู้อาวุโส อย่าง ชวน หลีกภัย และ บัญญัติ บรรทัดฐาน ทำหน้าที่เป็นป๋าดันสุดตัว

ขณะที่ พีระพันธุ์ ขยับแซงโค้งขึ้นมาเป็นคู่ชิงดำ ด้วยแรงหนุนจากเครือข่าย “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ

แต่สุดท้ายไม่ว่าใครเข้าวิน ยังต้องตามลุ้นช็อตสำคัญ คือ การนำพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล

เพราะแว่วว่า กก.บห.ชุดใหม่ จะวางคิวโหวตชี้ขาดทันที ออกหัวหรือก้อย เดี๋ยวก็รู้ จุ๊กกรูๆ!!!

“พ่อลูกอิน”

"ปิดสวิตช์” เกมพลิกขั้ว


135 เสียง “ปิดสวิตช์” ฝ่ายจ้องพลิกขั้วอำนาจ

ตัวเลขกลมๆภายหลัง 11 พรรคเล็ก “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” มอบหนังสือร่วมลงชื่อแสดงเจตจำนง เทแต้มให้ขั้วพลังประชารัฐ หนุน “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตีตั๋วเบิ้ลนายกรัฐมนตรีต่อ

เอาไปนับรวมกับต้นทุนหน้าตักพรรคพลังประชารัฐ 115 เสียง บวกกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “ลุงกำนัน” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 5 เสียง พรรคประชาชนปฏิรูป ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน 1 เสียง ที่ประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

กับอีก 3 เสียงพรรคพลังท้องถิ่นไทของนายชัชวาลล์ คงอุดม ที่ประกาศชัดเทให้ “ลุงตู่” ตั้งแต่หัววัน

สรุปเสียง ส.ส.ขั้วพลังประชารัฐได้ 135 ที่นั่ง เมื่อเอามาบวกร่วมกับฐานต้นทุนหน้าตัก 250 ส.ว.ที่ล่าสุดได้รับการโปรดเกล้าฯแล้ว เปิดหน้ามาส่วนใหญ่แทบทั้งหมดอยู่ในขุมข่ายคนหน้าเดิม ย้ายจาก ครม.และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับอดีตขุนทหาร บิ๊กตำรวจ ข้าราชการเกษียณ และบิ๊กกองทัพโดยตำแหน่ง

แน่นปึ้ก แทบไม่มีพวก “เฮี้ยว” แตกแถว

นั่นก็เท่ากับ 385 เสียงแน่นๆ เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วมรัฐสภาหรือ 376 เสียง

ล็อกความชัวร์ โหวต พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกติกาบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ

ต่อให้พรรคการเมืองที่เหลือไปรวมแต้มกันหมดทุกพรรคมาโหวตสู้ ก็ไล่ไม่ทัน

และนั่นก็น่าจะแปรผันกับสถานการณ์โจทย์ปัญหาอีกช็อตของขั้วพลังประชารัฐที่ต้องรวมเสียง ส.ส.ให้ได้เกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎรคือ 250 เสียง ท่ามกลางสภาวะ “ขั้วขึงพืด” เสียงปริ่มน้ำ

ตามอาการ “พรรคตัวแปร” ดึงเช็งต่อรอง จ้องฮุบกระทรวงเกรดเอ

แต่เมื่อทีมหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ล็อกสมการตัวเลขเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

ยึดเก้าอี้นายกรัฐมนตรีไว้ได้

ตามฟอร์มทางการเมืองรู้ทางกันดี พลังอำนาจในการต่อรองย่อมไหลตามมาโดยอัตโนมัติ โดยสถานการณ์เกมแย่งจัดรัฐบาลแข่งกับทีมหนุน “นายกฯลุงตู่” ยากจนแทบไม่มีทางเป็นไปได้

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-อนุทิน ชาญวีรกูล” ได้แค่ลุ้นกระแสแห่ในทางทฤษฎี

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ใครไม่เอากับพลังประชารัฐก็คือ “หลุด” ขั้วรัฐบาล

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ที่รอลุ้นผลเลือกตั้งหัวหน้าพรรคกับกรรมการบริหารชุดใหม่

ในวันที่ 15 พฤษภาคม ผลจะออกมาอย่างไร หรือเหลี่ยมดึงเช็งของพรรคภูมิใจไทยที่ลากไปตัดสินใจวันที่ 20 พฤษภาคม จะออกมารูปแบบไหน

“ขายบ้าน” แทงหวยได้ ยังไงก็ต้องวิ่งโหนขบวนกับ “ลุงตู่”

ร่วมแจมแบบที่ได้อะไรก็ต้องคว้าไว้ก่อน

เพราะตามสถานการณ์มองโลกในแง่ร้ายสุดๆ ถ้ารวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ ไม่ได้ “นายกฯลุงตู่” ยังถือไพ่เด็ดในมือลากรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปยุบสภา เลือกตั้งใหม่

“วัดใจ” พวกที่เพิ่งถูกหวยรางวัลที่หนึ่งเกาะกระแสมาเป็น ส.ส.

วัดเสบียงกรังของป้อมค่ายต่างๆที่เพิ่งผ่านศึกมาไม่กี่เดือน

ว่ากันตามเงื่อนไขนี้ ไม่ใช่แค่เกมต่อรองโควตาของพรรคตัวแปรที่แทบไม่มีน้ำหนัก

จับทางจากอาการแปร่งๆของ “เฮียมิ่ง” นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ตามข่าวพยายามหลบสื่อมวลชนในวันไปรายงานตัวที่สภา

ท่ามกลางกระแสลูกพรรค “ชิ่ง” ไปหมดแล้ว

แนวโน้มสัตยาบัน “รัฐบาลลม” ของฝั่งประชาธิปไตยเพื่อ “ทักษิณ” ส่อสั่นคลอน ตามความชัดเจนที่ไหลไปทางฝั่งหนุน “นายกฯลุงตู่” เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

“งูเห่า” เลื้อยกันเพ่นพ่านแน่ ทั้งพรรคเพื่อไทย ค่ายอนาคตใหม่ แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อ “ทักษิณ”

ตามธรรมชาติ ส.ส.ไม่อยากเหนื่อยเลือกตั้งใหม่ ต้องเลือกอยู่กับฝ่ายถืออำนาจและผลประโยชน์

ทั้งหมดทั้งปวงจับอาการจาก “โคตรเซียน” เบอร์ใหญ่ที่รู้แกว หมดโอกาสชิงพลิกขั้วจากเกมเลือกตั้ง

ในจังหวะต้องเปลี่ยนเกมใหม่ “นายใหญ่” อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ตีปี๊บกระแสข่าวการดีลซื้อสโมสรฟุตบอลคริสตัลพาเลซ ทีมดังในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

เปิดพื้นที่ข่าวชิงกระแส เลี้ยงเรตติ้งกองเชียร์

ตามรูปการณ์ที่พรรคเพื่อไทยต้องนั่งเป็นฝ่ายค้าน แกนนำขาใหญ่ไม่ได้เป็น ส.ส.เพราะอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์หมด แนวร่วมอย่างทีมอนาคตใหม่ก็มีแต่ ส.ส.เด็ก “มือใหม่หัดขับ”

เกมในสภาส่อแพ้ขาด ต้องเขย่าเกมชิงพื้นที่กระแสนอกสภา.

ทีมข่าวการเมือง

ล็อบบี้ฝุ่นตลบ!ชิงเก้าอี้หัวหน้าปชป.



 จับตาศึกเลือก หน.ปชป.สะพัด! อดีตบิ๊กต่อสายล็อบบี้จ่ายโหวตเตอร์ ส.ส.เกรดเอหัวละ 2 ล้าน แถมตำแหน่งในรัฐบาล พปชร. 4 ผู้ท้าชิงเช็กเสียงฝุ่นตลบลุ้น "ทีมมาร์ค" เทคะแนนให้ "ทีมจุรินทร์" เสียงนำ โด่ง แต่อาจมีพลิกคืนหมาหอน "นายหัวชวน" ถึงกับเก้าอี้ร้อน ต่อสายตรงถึงลูกพรรคขอให้ยึดศักดิ์ศรี-อุดมการณ์พรรค "เดอะแจ็ค" ปูดนายพลนอกราชการติดต่อผู้หญิงอักษร ก. ทุ่มเงินล้านแทรกแซงเลือก หน.แลกเก้าอี้ รมต.

    ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวในโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15  พ.ค. เวลา 08.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่ามีการจับกลุ่มสมาชิกพรรค โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น ส.ส.ปัจจุบัน จำนวน 52 คน โดยได้วิพากษ์วิจารณ์กระแสข่าวการซื้อเสียงโหวตเตอร์ที่เป็น ส.ส.เพื่อให้สนับสนุนผู้สมัครบางทีมในอัตราที่สูงถึง 2 ล้านต่อ 1 เสียง ที่กำลังสะพัดในวงการการเมืองเพื่อให้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่มีจุดยืนในการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในการจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี 
    โดยมีการสอบถามกันในโหวตเตอร์ที่เป็น ส.ส.แต่ละภาค โดยเฉพาะภาคใต้ ว่ามีบุคคลที่เคยเป็นผู้บริหารพรรคระดับบิ๊กและออกไปตั้งพรรคใหม่ได้โทรศัพท์รายตัว และใช้เครือข่ายพรรคพวก กระจายกันติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ถึงโหวตเตอร์เหล่านี้ โดยเสนอให้มาสนับสนุนทีมหนึ่ง พร้อมกับออปชั่นให้ทั้งเงินและตำแหน่ง เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประธานกรรมาธิการ โดยบอกว่าไม่มีโอกาสเหมือนครั้งนี้ที่มาแล้วจะได้ทั้งเงินและตำแหน่ง เพราะมีส่วนพลิกและสร้างประวัติศาสตร์ 
    ขณะที่ ส.ส.ที่เป็นโต้โผและแกนนำสนับสนุนหัวหน้าทีมหนึ่งก็ได้โทร.หาบรรดาตัวแทนสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และอดีต กก.บห. ซึ่งเป็นโหวตเตอร์ที่มีสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ ให้โหวตให้ทีมตัวเองแลกกับตำแหน่ง กก.บห.ในพรรค และเงินในอัตรา 6 หลัก สอดคล้องกับกระแสข่าวที่ว่ามีการรับเงินมาจากพรรคการเมืองใหญ่ 250 ล้านบาท เพื่อให้โหวตเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ในการไปร่วมรัฐบาลด้วย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่บรรดาแคนดิเดตทั้ง 4 คนได้มีการเช็กยอดโหวตเตอร์อย่างละเอียดถึงขั้นแสดงรายชื่อ โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส. 52 คน ข้อมูลล่าสุดในช่วงบ่ายวันที่ 14 พ.ค. พบว่าทีมนายกรณ์ จาติกวณิช และนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ มี ส.ส.สนับสนุน 7 เสียง, ทีมนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และนายสาทิตย์  วงศ์หนองเตย มี ส.ส.สนับสนุน 1 เสียง, ทีมนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน มี ส.ส.สนับสนุน 18 เสียง ขณะที่ทีมนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ซึ่งยังไม่เปิดเผยบุคคลที่จะมาเป็นเลขาธิการพรรค มี ส.ส.สนับสนุน 14 เสียง 
    ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งมีโหวตเตอร์ที่เป็น ส.ส.ส่วนใหญ่ในบัญชีรายชื่อ ซึ่งถือเป็นตัวแปรหลักในมือ 12 คน ช่วงเย็นได้ตัดสินใจเทเสียงให้ทีมของนายจุรินทร์ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าในคืนวันที่ 14 พ.ค. จะมีการเคลื่อนไหวอย่างหนักเพื่อเสนอเงื่อนไขต่างๆ จนสามารถจูงใจให้โหวตเตอร์เหล่านี้ย้ายไปสนับสนุนให้อีกทีมได้หรือไม่ โดยจะมีการเก็บตัวโหวตเตอร์ของ 2 ทีมที่คาดว่าจะได้รับชัยชนะ โดยทีมหนึ่งพักอยู่ที่ รร.รามาการ์เด้นส์ ส่วนอีกทีมอยู่ที่ รร.มิราเคิล แกรนด์ 
     มีรายงานว่า ภายหลังจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคฯ ทราบว่ามีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะการโทรศัพท์ขอเสียงแลกกับผลประโยชน์ดังกล่าวแล้ว ก็ได้โทรศัพท์ถึง ส.ส.ของพรรคหลายคนด้วยตัวเอง เพื่อขอให้คำนึงถึงศักดิ์ศรีและยึดหลักอุดมการณ์พรรค ตามแนวทางเสรีประชาธิปไตยที่พรรคยึดมาตลอด 73 ปี จนเป็นสถาบันทางการเมือง อย่าให้ล่มสลายไปกับเหตุการณ์นี้ ว่าบุคลากรของพรรคสามารถซื้อได้ด้วยผลประโยชน์เพื่อไปร่วมรัฐบาลสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ 
    นายสมเกียรติ กอไพศาล เลขานุการส่วนตัวนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. และแคนดิเดตเลขาธิการพรรคในการเลือกตั้ง หน.ปชป. คนใหม่ กล่าวว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค สื่อมวลชนค่ายเนชั่นได้ทำการสำรวจความคิดเห็นว่าใครควรเป็น “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” คนใหม่ โดยเปิดให้มีการโหวตจากผู้ชมทางบ้านระหว่างวันที่ 10-13 พ.ค.2562 เป็นเวลา 4 วัน และได้ปิดโหวตไปเมื่อวันที่ 13 พ.ค.2562 เวลา 20.00 น. หลังปิดโหวตพบคะแนนนายจุรินทร์นำโด่งด้วยคะแนนโหวตถึง 76% ทิ้งห่างคู่แข่งทั้ง 3 คน โดยมีนายพีระพันธุ์ตามมาเป็นลำดับที่สอง ด้วยคะแนนโหวต 14% ลำดับสามคือนายกรณ์ ด้วยคะแนนโหวต 6% และลำดับที่สี่ คือนายอภิรักษ์ ด้วยคะแนนโหวต 4%
    "นายจุรินทร์ถือเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์คร่ำหวอดในถนนการเมืองมากว่า 33 ปี มีชื่อเสียงดี ไม่มีประวัติด่างพร้อย มีวุฒิภาวะสูง มีความเป็นนักบริหารรัฐกิจมืออาชีพ มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และมีความโดดเด่นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ผ่านการบริหารประเทศด้วยตำแหน่งสำคัญๆ  มาหลายกระทรวง และเป็นที่คาดการณ์ว่านายจุรินทร์ น่าจะได้รับการสนับสนุนจากบรรดา Voter ให้เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.คนต่อไป เพราะมีความเหมาะสมมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องการผู้ที่มีความพร้อมในทุกด้านเพื่อมาปฏิรูปพรรคให้เดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน" นายสมเกียรติกล่าว
    นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรค ปชป. กล่าวว่า มีการแทรกแซงจากภายนอกในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคชัดเจน พร้อมๆ ข่าวการเสนอเงินล้านเพื่อแลกกับการโหวต ซึ่งวัฒนธรรมพรรค ปชป.ไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน ใครรับเงินหรือตำแหน่งเพื่อแลกกับการโหวตหัวหน้าพรรค ย่อมถือว่าทรยศต่ออุดมการณ์ของพรรค และพระแม่ธรณีบีบมวยผมจะลงโทษไม่ช้าก็เร็ว เชื่อว่าเงินไม่สามารถซื้อโหวตเตอร์ของพรรคได้ แม้ปัจจัยภายนอกพยายามแทรกแซงอย่างหนักทุกวิธีการก็ตาม บางคนกล่าวอ้างว่าจะขอเป็นรัฐมนตรีครั้งสุดท้ายในชีวิต โดยเขาไม่ใส่ใจเลยว่าเป็นการหนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร มีการสร้างกระแสบีบให้สมาชิกเห็นตามด้วย ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเป็นรัฐบาลที่อายุสั้นไม่มีเสถียรภาพ ก็ยังอยากเข้าไปเป็นรัฐมนตรี แม้ไม่กี่เดือนก็ตามที อ้างชาวบ้านนำหน้าเพียงเพื่อสนองความอยากของตนเองและเกียรติประวัติของวงศ์ตระกูลเท่านั้น
    นายวัชระกล่าวด้วยว่า มีนายพลนอกราชการบางท่านติดต่อผ่านผู้หญิงชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร ก. ที่ชอบวิ่งเต้นโครงการต่างๆ ของรัฐให้แกนนำพรรคไปพบ บอกว่าประชาธิปัตย์จะเอากี่กระทรวงก็ได้ ขอให้ไปคุยกัน แต่ไม่มีใครไป ท่านคือนายพลคนเดียวกับที่แกนนำพรรค พปชร.ทางภาคใต้คุยว่าให้เงินไปนิดเดียวยังได้ ส.ส.มามากถึงขนาดนี้ เมื่อท่านมีเงินมาก อาจมีใครมาทำหล่นไว้ในรถของนักการเมืองหลายๆ พรรคก็ได้ แต่สำหรับ ปชป. ตราบใดที่ยังมีนายชวน หลีกภัย, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตราบนั้นเผด็จการทหารก็ยากที่จะมาครอบงำได้ ทั้งนี้ ตนเลือกนายจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค ส่วนท่านอื่นก็เหมาะในลำดับต่อไป.