PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2560

จุฬาฯ แจง ไม่ได้บังคับนิสิตปี1 นั่งตากฝน เตรียมเรียกเนติวิทย์คุย-พฤติกรรมไม่เหมาะสม



จากรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ประธานสภานิสิตจุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์ในพิธีถวายสัตย์หน้าลานพระบรมรูป ซึ่งเป็นพิธีของนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่เพิ่งเข้ามาเรียนใหม่ทั้งหมด โดยจะมีการนั่งแถวเพื่อทำพิธี พร้อมระบุอีกว่า ระหว่างนั้นมีฝนตกหนักก็ยังแจกแผ่นกันฝนเล็กๆให้เด็ก หมอบกราบถวายบังคม ในขณะที่พวกครูอาจารย์มีร่มเตรียมมา สภานิสิตและอบจ นั้นไม่มีร่มให้ เปียกโชก ผมทนไม่ได้ ผมกับเพื่อนหลายคน ซึ่งมีหลายเหตุผลด้วยกันจึงเดินออกมา แต่ก็มีการทำร้ายร่างกายโดยอาจารย์ท่านหนึ่งกับเพื่อนเราอีกด้วย

ล่าสุด นายบัญชา ชลาภิรมย์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางจุฬาฯ ยืนยันว่าไม่มีการบังคับให้นิสิตชั้นปีที่1 นั่งตากฝน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการทำพิธีถวายบังคมเพื่อถวายสัตย์ ต่อหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่5 และรัชกาลที่6 พระผู้ทรงก่อตั้งจุฬาฯ เป็นประเพณีที่จัดต่อเนื่องมาทุกปี รวมถึงปีนี้ ซึ่งภาพที่ปรากฎเป็นช่วงที่พิธีใกล้จะเสร็จแล้ว แต่นายเนติวิทย์ และพวกประมาณ 7 คน เดินออกมาทำท่ายืนโค้งคำนับ เป็นการทำทำแบบเร่งรีบ คนละทิศละทางภาพที่ออกมาจึงดูไม่เหมาะสม จากนั้นก็เดินออกมา แต่มีอาจารย์ท่านหนึ่งจับตัวนิสิตหนึ่งใน 7 คนไว้ดังภาพ

ส่วนกรณีที่ระบุว่า ให้นิสิตปี1 นั่งตากฝนนั้น ก่อนทำพิธีเราตกลงกันว่า หากฝนตกจะหยุดทำพิธี แต่เมื่อพิธีผ่านไประยะหนึ่งก็มีฝนตกปร่อยๆ นิสิตที่จัดงาน ตัดสินใจว่า จะทำพิธีต่อ โดยได้มีการแจกเสื้อกันฝนให้น้องๆ พอเสร็จพิธีก็เป็นช่วงที่ฝนตกหนักลงมาพอดี

“การทำพิธีถวายบังคม เพื่อถวายสัตย์ไม่มีการบังคับให้นิสิตปี1 ทุกคนนั่งถวายบังคม โดยเราได้เตรียมพื้นที่ไว้สำหรับเด็กที่นั่งไม่สะดวก หรือไม่ถนัดที่จะนั่งถวายบังคม แต่ปีนี้นิสิตปี1 ทุกคนเลือกที่จะนั่งถวายบังคม ไม่มีการบังคับและไม่มีใครโวยวาย ซึ่งการที่นายเนติวิทย์ทำเช่นนี้ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะถือว่าเป็นรุ่นพี่แล้ว ดังนั้นผมจะเรียกนายเนติวิทย์มาพูดคุย ส่วนจะมีการลงโทษหรือไม่นั้นคงไม่สามารถบอกได้ อย่างไรก็ตามนิสิตทุกคน จุฬาฯดูแลเหมือนลูกหลาน หากทำผิดก็ต้องพูดคุยก่อนว่าเพราะอะไร”นายบัญชากล่าว

ปภ.เตือน 30 จังหวัด ‘เหนือ-อีสาน-ตะวันออก-ใต้’ระวังฝนถล่มน้ำท่วม 4-6 ส.ค.

เตือน 30 จังหวัด ‘เหนือ-อีสาน-ตะวันออก-ใต้’ระวังฝนถล่มน้ำท่วม 4-6 ส.ค.

วันที่ 3 ส.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร พบว่า ในช่วงวันที่ 4-6 ส.ค.นี้ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัยได้

ทั้งนี้ได้ประสาน 30 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย

นอกจากนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่ลาดชันเชิงเขา และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัย ให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่และช่วงเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูง

ส่วนกรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมากปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย หรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

พร้อมขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 30 จังหวัดดังกล่าว ติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ระมัดระวังอันตรายจากปริมาณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในระยะนี้.

.................

วาระ การเมือง ยิ่งลักษณ์ ‘เพื่อไทย’ การเมือง เลือกตั้ง





บรรยากาศบริเวณหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช้าวันที่ 1 สิงหาคม น่าจะบ่งบอกอย่างเด่นชัดในทิศทางของพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าการปรากฏตัวของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง

ไม่ว่าการปรากฏตัวของ นายวัฒนา เมืองสุข ล้วนชี้ว่าถนนทุกสายของพรรคเพื่อไทย คือ การทอดเดินไปยัง “การเลือกตั้ง”

การให้ “กำลังใจ” เป็นจังหวะก้าว 1

เพราะว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในจุดอันถูกกระทำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มหาอุทกภัยเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ไปยังเจตนาแห่งความพยายามจะ “แช่แข็ง” ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2556 กระทั่งกลายเป็น “ชัตดาวน์” โดย กปปส.

แล้วลงเอยด้วยรัฐประหารของ “คสช.” ในเดือนพฤษภาคม 2557

ทั้งหมดนี้คือ “วัตถุดิบ” อันทรงความหมายยิ่งเมื่อคนของพรรคเพื่อไทยก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป

ที่มีการตั้งแท่นจาก “แผนกรกฎ 52” พยายามจะเล่นงาน นายวัฒนา เมืองสุข ผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จึงกลายเป็นเรื่องของการขยายภาพให้ใหญ่เกินกว่าเหตุ

เพราะปรากฏการณ์ในวันที่ 1 สิงหาคม มิใช่เพื่อ “ล้ม” รัฐบาล

ยิ่งกว่านั้น การโพสต์ข้อความยืนยันของ นายวัฒนา เมืองสุข ที่จะเดินทางไปศาลทั้งในวันที่ 1 และวันที่ 25 สิงหาคม เป็นเรื่องของการแสดงน้ำใจ

น้ำใจของอดีต ส.ส.คนหนึ่งต่ออดีต “นายกรัฐมนตรี”

ทั้งๆ ที่มีการแจ้งความกล่าวโทษตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม แต่เรื่องก็ยังอยู่ที่กองบังคับการปราบปราม อาจประสานไปยัง บก.ปอท.

จึงยังไม่มี “หมายเรียก” จึงยังไม่ถึง “หมายจับ”

แท้จริงแล้วโดยพิมพ์เขียวแห่ง “แผนกรกฎ 52” ก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า ยากที่จะทำอะไร นายวัฒนา เมืองสุข ได้มากกว่านี้

จึงเสมอเป็นเพียง “ป้องปราม” เพื่อให้ “มวลชน” เกิดความลังเล

ไม่ว่า คสช.จะดำรงอยู่ต่อไปอีกยาวนานเพียงใด ไม่ว่ารัฐบาลอันมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะต้องการอย่างไร

แต่ประเด็นของวันที่ 1 และวันที่ 25 สิงหาคม จะเป็น “วัตถุดิบ” สำคัญ

นั่นก็คือหากกำหนดวันเลือกตั้งมีความแน่ชัด รายละเอียดทั้งหมดนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ต้องตระเตรียมและนำเข้าสู่การรณรงค์ในท่ามกลางประชาชน

เหมือนที่เคยยกประเด็น “จำนำข้าว” ขึ้นมาเป็น “จุดขาย”

พรรคเพื่อไทยรับรู้ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า ชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะดำเนินไปในแบบเดียวกันกับ นายทักษิณ ชินวัตร

เพราะนี่คือความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

หากไม่ต้องการให้กลายเป็นรัฐประหารประเภท “เสียของ” ย่อมมีความจำเป็นต้องนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าช่อง “ฟรีซ” ในทางการเมือง

ตัดมือ ตัดตีน พรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยก็ถือเอาเรื่องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นจุดขายเช่นเดียวกับที่เคยถือเอาเรื่องของ นายทักษิณ ชินวัตร มาเป็นจุดขาย

เพราะ “เลือกตั้ง” คือเป้าหมายอันแจ่มชัดที่พรรคเพื่อไทยต้องการ

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตาม “โรดแมป” คือประมาณเดือนสิงหาคม 2561 หรือมีอันต้องเลื่อนไปยังปี 2562 ตามความคาดหมาย

แต่กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะมีความโดดเด่น

เพียงแต่โดดเด่นในฐานะที่พรรคเพื่อไทยถือว่าตนเป็น “โจทก์” และสรุปว่า คสช.และรัฐบาลอันมาจาก คสช.เป็น “จำเลย” นำเสนอให้ “ประชาชน” เป็น “ผู้ตัดสิน”

เป้าลับ แผนลวง ‘ยิ่งลักษณ์’ กับเพื่อไทย คดี ‘จำนำข้าว’





ในความเป็นจริง สถานการณ์ในวันแถลงปิดคดี “โครงการรับจำนำข้าว” โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 1 สิงหาคม มีความหมาย มีความสำคัญ

อาจจะยิ่งกว่าการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม ด้วยซ้ำ

มีความหมายเพราะว่านี่เท่ากับเป็น “โอกาส” เดียว และโอกาสสุดท้ายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้แสดงออกอย่างเต็มที่

อึดอัด คับข้องใจอย่างไรก็ “ปล่อย” ออกมา

คล้ายกับเป็นการระบายให้คณะผู้พิพากษาที่มี นายชีพ จุลมนต์ เป็นประธานได้รับรู้ แต่แท้จริงแล้วเป้าหมายมีมากกว่านั้น

“ประชาชน” ต่างหาก คือ “เป้าหมาย”

นี่จึงเป็นความสำคัญไม่เพียงแต่ต่อตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งประสบชะตากรรม หากแต่ยังต่อพรรคเพื่อไทยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สังกัด

ทำไมเป้าหมายอันเป็นด้านหลักจึงเป็น “ประชาชน”

กล่าวสำหรับ “นักการเมือง” ไม่ว่าจะมาจากกระบวนการ “รัฐประหาร” ไม่ว่าจะมาจากกระบวนการ “เลือกตั้ง” ประชาชนมีความหมายสูงสุด

เพราะหากไม่มี “ประชาชน” ห้อมล้อม ก็อยู่ยาก

นักรัฐประหารอาจให้น้ำหนักไปยัง “อำนาจ” เข้มจากระบบราชการ ทั้งทหาร พลเรือน และตำรวจเป็นสำคัญ

และคิดในเชิง “ควบคุม” มากกว่าจะให้ “เสรีภาพ”

แต่นักการเมืองที่มีพื้นฐานมาจาก “การเลือกตั้ง” มิอาจวางตัวเป็นปฏิปักษ์กับ “ประชาชน” ได้อย่างเด็ดขาด

เพราะเมื่อไม่มี “ประชาชน” ก็จะไม่มีอะไรเลย

ในฐานะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจากการเลือกของประชาชน จึงจำเป็นที่ในที่สุดจะต้องหวนกลับไปแถลงและทำความเข้าใจให้กับประชาชน อย่างน้อยก็ต้องเปิดเผยว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ต้องตกเป็น “จำเลย”

น่าสนใจก็ตรงที่ความรับรู้ต่อ “ประชาชน” ในประเด็นนี้มีความแตกต่างกัน

ถามว่าทำไมจึงมีข่าว คสช.จะส่งทหารไปสกัด “มวลชน” ทำไมบรรดาห้อยโหนจึงโหมประโคมในเรื่องค่าหัวว่าจ้าง “มวลชน” 1,500 บาทให้เดินทางมา กทม.

นั่นแหละ คือ ความไม่เข้าใจ “ประชาชน”

นั่นแหละ คือ การประเมินไว้ล่วงหน้าว่าพรรคเพื่อไทยและ นปช.จะต้องระดม “มวลชน” มหาศาลมาห้อมล้อม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ความเป็นจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

“มวลชน” บริเวณหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่น่าจะแปลกแตกต่างไปจากนัดที่ 1 หรือนัดที่ 16 ก่อนหน้านี้มากนัก

ไม่มีการชูป้าย ไม่มีข้อเรียกร้อง ให้ “กำลังใจ” อย่างเดียว

“มวลชน” ในขอบเขตทั่วประเทศซึ่งอยู่ที่บ้านและไม่สามารถเดินทางมายังศาลได้ต่างหากคือเป้าหมายอย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทย

เวทีของ “ศาล” จึงเป็นความชอบธรรมของการแถลงของการโฆษณาทางการเมือง

จึงเท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณของมวลชนหน้าศาลเมื่อเช้าวันที่ 21 กรกฎาคม อาจเป็นเป้าหลอก กระทั่งสร้างความตื่นตระหนกให้อย่างใหญ่หลวง

ปรากฏออกมาเป็น “คำสั่งลับ” อันมาจาก “คสช.”

ขยายและปรากฏออกมาอย่างเป็น “รูปธรรม” ผ่านพิมพ์เขียวของ “แผนกรกฎ 52” ที่ชูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นเครื่องมือ

ทั้งหมดนี้เท่ากับเป็นการเรียกแขกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยแท้

ทนายพธม.เผยแกนนำถกสู้อุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ พรุ่งนี้

ทนายพธม.เผยแกนนำถกสู้อุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ พรุ่งนี้ ชี้ผู้เสียหายเคยชนะคดีที่ศาลปกครองแล้ว

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่อดีตแกนนำ พธม. นัดหารือเรื่องแนวทางการสู้คดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาฯ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องจำเลยทั้ง 4 ราย ว่า การหารือกันในวันพรุ่งนี้ (4 สิงหาคม) คงมีประเด็นใหญ่ในการนำคำพิพากษาศาลฎีกาฯ มาวิเคราะห์ร่วมกันถึงแนวทางต่อสู้คดีว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เนื่องจากมีปัญหาว่าผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนกว่า 400 คน ได้สู้จนชนะคดีที่ศาลปกครองแล้ว แต่แพ้คดีในศาลฎีกาฯ ซึ่งผู้เสียหายก็ไม่เห็นด้วย จึงต้องยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ ต่อไป อย่างไรก็ตาม คดีนี้ประชาชนไม่สามารถยื่นอุทธรณ์เองได้ เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในฐานะคู่ความที่แพ้ สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ก็อยู่ที่ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช. มีการประชุมในวันเดียวกันนี้ก็ต้องรอดูผล

กฎหมาย 'ไม่ใช่กฎตายตัว'

"ยกฟ้อง" คือ "ยกฟ้อง"!
ใครจะพอใจ-ไม่พอใจ เป็นเรื่องหนึ่ง
แต่ในความที่มนุษย์แต่ละคนได้อิสรภาพที่จะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง
เพราะเหตุนั้น...........
ในมุมกฎหมาย แต่ละคน "เห็นต่างกัน" ได้ แต่ทุกคนจะ "ปฏิบัติต่างกัน" ไม่ได้
เมื่อศาลชี้ขาดด้วยข้อกฎหมายใดออกมาแล้ว.........
ทุกคนต้องเคารพ-เชื่อฟัง-ปฏิบัติตาม ไม่อย่างนั้น สังคมบ้านเมืองจะสับสน-วุ่นวายไม่รู้จบ
การเคารพเชื่อฟังกฎหมายนั้น จะเรียกว่า เป็นหน้าที่ทางจิตสำนึกต่อสังคมรวม ก็ไม่ผิด
แต่ถ้ามีคนไม่ปฏิบัติตาม แข็งขืนคำตัดสินของศาลล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบ คือ กฎหมายมีสภาพบังคับทั้งทางอาญาและทางแพ่ง สำหรับคนแข็งขืน
สั้นๆ และตรงตัว ก็มีเท่านี้แหละ............
เหตุที่ผมหยิบประเด็นนี้มาพูด เพราะเห็นพี่น้องพันธมิตรฯ บางส่วน มีความเห็นต่างต่อคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวาน (๒ ส.ค.๖๐)
ในคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง...........
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.
ในความผิดฐาน...........
เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามมาตรา ๑๕๗
คือเมื่อ ๗ ต.ค.๕๑ "รัฐบาลนายสมชาย"
สั่งการให้ตำรวจสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา
ยิงแก๊สน้ำตาใส่ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก!
ร่วม ๑๐ ปี แล้วเมื่อวาน ผลก็ออกมา ศาล "ยกฟ้อง" ทั้งหมด
เป็นการยกฟ้อง โดยองค์คณะทั้ง ๙ วินิจฉัยอรรถคดีแล้ว มีความเห็นว่า
"การสลายการชุมนุมในช่วงเช้า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันสั่งการให้เปิดทางเข้ารัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีไปแถลงนโยบาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ส่วนการสลายการชุมนุมช่วงบ่ายถึงค่ำ...........
โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ ๑, ๓ และ ๔ เนื่องจาก พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ ๒ ลาออกแล้ว
ศาลเห็นว่า การปิดล้อมรัฐสภา ปลุกระดมจะบุกเข้ารัฐสภาไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่เปิดทางตามขั้นตอน
ซึ่งสถานการณ์ขณะนั้น เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่า แก๊สน้ำตาเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
จำเลยที่ ๑, ๓ และ ๔ ไม่อาจคาดได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายและไม่ได้ความว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษให้ทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตราย
จึงพิพากษายกฟ้อง"
ครับ...ถึงแม้บางพันธมิตรฯ จะไม่เห็นด้วย แต่ไม่ต้องกลัวว่า จะมีใครแสดงออกด้วยการขัดขืนคำตัดสิน
เพราะพันธมิตรฯ เป็นคนมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่อันธพาล แยกแยะเรื่องราวได้ด้วยเหตุและผล ไม่ใช่เอะอะก็ระดมคนป่วนเมือง
ดังนั้น เมื่อไม่พอใจคำตัดสิน ทางเดินเพื่อแสวงหาความยุติธรรมตามกระบวนการมีอย่างไร เท่าที่ดู พันธมิตรฯ ก็เล็งไปทางนั้น
มาตรา ๑๙๕ ตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ บอกว่า
"คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา........ฯลฯ........."
คำว่า "ให้อุทธรณ์ได้" หมายถึง ทั้งโจทก์-จำเลย มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้เหมือนๆ กัน
คดีนี้ อัยการสั่งไม่ฟ้องแต่แรก ทาง ป.ป.ช.จึงตั้งทนายเป็นโจทก์ฟ้องเอง
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า...........
"พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ" ประธาน ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน จะอุทธรณ์หรือไม่เท่านั้น?
คือไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ ก็ต้อง "วัดใจ" พล.ต.อ.วัชรพลแหละว่า
ระหว่าง "ลูกพี่-เจ้านาย" กับ "จิตใต้สำนึก" คนในตำแหน่ง "เปาบุ้นจิ้น" จะเลือกแบบไหน?
เพราะทุกคนรู้ "เส้นทางเดิน" มาสู่ตำแหน่งนี้ของ "พล.ต.อ.วัชรพล"
มาจากอดีต "รอง ผบ.ตร."........
มือขวา "พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ" อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ ผู้ต้องหาคดีนี้
มาจากตำแหน่ง "รองเลขาฯ" ฝ่ายการเมือง ของ "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ ผู้มากบารมีในรัฐบาลประยุทธ์
และเมื่อเมษา ๕๙ จำเลย ๓ ราย นายสมชาย, พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ร้องขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.ให้ถอนฟ้องคดีนี้ต่อศาล
เรื่องเข้าวาระจร พล.ต.อ.วัชรพลเป็นประธานที่ประชุม ก็ยื้อกันพอสมควร ในประเด็นว่า ด้านข้อกฎหมาย ป.ป.ช.มีอำนาจถอนฟ้อง
แต่ "สมควรหรือไม่?"
ก็ถกกันในที่ประชุม ที่สุดโยนให้เจ้าหน้าที่ไปพิจารณาถึงเหตุและผลให้รอบคอบอีกที
สรุปสุดท้าย....ไม่สมควรถอนฟ้อง
จนเมื่อวาน ศาลก็มีคำตัดสินคดีสลายพันธมิตรฯ ออกมา คือ "ยกฟ้อง"!
เป็นอันว่า จบบริบูรณ์ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง แต่ตามกฎหมายใหม่ ถือว่าคดียังไม่เป็นที่สุด
คือยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ภายใน ๓๐ วัน
๓๑ สิงหาเป็นเส้นตาย!
ไม่ใช่เส้นตายของพันธมิตรฯ แต่เป็น "เส้นตาย" ของประธาน ป.ป.ช. "พล.ต.อ.วัชรพล" ว่าจะตัดสินใจ
"ยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่?"
ถ้ายื่น ก็ไปลุ้นผลคดีกันต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่ถ้าไม่ยื่น ก็จบแค่นี้
พูดกันอีกที พันธมิตรฯ เป็นต้นแบบแนวทางใหม่มาตลอด การอุทธรณ์คำตัดสินศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองนี่เหมือนกัน
แต่ก่อน "ศาลเดียว" ตัดสินแล้วจบเลย!
แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้
ตามเส้นทาง คดีพันธมิตรฯ ก็จะเป็น "ต้นแบบ" ของการอุทธรณ์ ให้ยิ่งลักษณ์ "ระบอบทักษิณ" ได้ดูเป็นแนวทางอีกนั่นแหละ!
พูดถึง "แนวทาง" อยากให้ข้อสังเกต
คดียิ่งลักษณ์ที่จะตัดสิน ๒๕ สิงหาก็ในข้อหาด้วยมาตรา ๑๕๗ เหมือนคดีสมชาย, ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ
ที่พูดนี่ อย่าตีความว่า ผลจะออกมาเหมือนกัน ต้องเข้าใจว่า องค์ประกอบแห่งพฤติกรรมในคดีมันต่างกัน
อยากให้ดูคำพิพากษา "ศาลปกครองกลาง" เมื่อ ๑ สิงหา ๖๐ ในคดี "นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์" อดีตอธิบดีสรรพากร นั่นมากกว่า
กรณีไม่เก็บภาษีโอนหุ้นของนาย "บรรณพจน์ ดามาพงศ์" พี่ชายคุณหญิงพจมาน
ต้องปูความฉบับย่นย่อก่อน...........
เมื่อปี ๕๑ "ศาลปกครองกลาง" พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง "กระทรวงการคลัง" ที่ลงโทษปลด "นายศิโรตม์" ออกจากราชการ
กรณีมีความเห็น ว่าการรับโอนหุ้นชินคอร์ปของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จาก "น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี" ผู้ถือหุ้นแทน "คุณหญิงพจมาน ชินวัตร" ๔.๕ ล้านหุ้น มูลค่า ๗๓๘ ล้านบาท เมื่อปี ๔๐
นั่น...ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้!
ปรากฏว่า กระทรวงการคลังเห็นดี-เห็นงาม ไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด
แต่ทาง ป.ป.ช.ได้ยื่นคำร้องว่า...........
เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีแต่ต้น จึงขอให้พิจารณาคดีใหม่
"ศาลปกครองสูงสุด" จึงให้ "ศาลปกครองกลาง" ตั้งองค์คณะพิจารณาคดีใหม่ ให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ร้องคดี
และเมื่อ ๑ สิงหา ศาลปกครองกลาง ก็ตัดสิน "ย้ำคำพิพากษาเดิม"
น่าสนใจมาก อยากให้ศึกษาไว้ โดยเฉพาะยิ่งลักษณ์ ที่ศาลมีมุมมอง เรื่องปฏิบัติหน้าที่ ว่า...........
"นายศิโรตม์ไม่มีความผิด ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล เนื่องจากการพิจารณาเรื่องยกเว้นภาษีดังกล่าว เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ที่ทั้งสำนักตรวจสอบภาษี และสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ต่างเห็นตรงกันว่า
เป็นการได้รับโอนจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
และเป็นการได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยา เข้าข่ายได้รับการยกเว้นภาษี
อีกทั้งไม่ปรากฏว่า ในเวลานั้น กรมสรรพากร มีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเรื่องเงิน ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา
หรือเงินที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาฯ อันจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา ๔๒ (๑๐) ของประมวลกฎหมายรัษฎากร
การพิจารณา จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจสั่งการ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี
และในกรณีนี้ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่า นายบรรณพจน์หรือคุณหญิงพจมานให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่นายศิโรตม์ เพื่อให้มีความเห็นเป็นประโยชน์กับบุคคลทั้งสอง
หรือมีพฤติการณ์บ่งชี้ว่า นายศิโรตม์มีเจตนาปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบราชการ
ที่เข้าข่าย เป็นผู้มีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ดังที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงไปก่อนหน้านี้"
ครับ....ก็พูดได้คำเดียว กฎหมายมาตราเดียวกัน แต่คนใช้คนละคนกัน ผลต่างกันได้เสมอ.

แม่ทัพเพื่อไทยส่อพลิก

แม่ทัพเพื่อไทยส่อพลิก

รอดตายหวุดหวิดเหมือนได้เกิดใหม่

ที่สุดเลย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษา “ยกฟ้อง” คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯในขณะนั้น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ในขณะนั้น

ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯที่บุกล้อมรัฐสภาปี 2551

เนื่องจากศาลฯเห็นว่า ไม่มีข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่า จำเลยมีเจตนาก่อให้เกิดอันตราย หรือมีเจตนาพิเศษที่จะสลายการชุมนุมให้เกิดการสูญเสีย

จึงไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157

โล่งอก ตัวเบาหวิวไปตามๆกัน

โดยเฉพาะคิวของ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท น่าจะทำให้พี่ชายอย่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม เหมือนยกภูเขาออกจากอก

เป็นการปลดล็อกบ่วงพันธนาการที่ทำให้ “พี่ใหญ่” ขยับตัวลำบากมาหลายปี ตามสถานะของผู้มากบารมีที่ต้องถูก “ค่อนแคะ” ในเรื่องเกี่ยวโยงกับน้องชายมาต่อเนื่อง

จากนี้ไปใครหยิบเรื่องมากระแทกแดกดันไม่ได้แล้ว

แต่ที่เฮเสียงดังกว่า ก็น่าจะเป็นคิวของอดีตนายกฯสมชาย

งานนี้เหมือนถูกหวยสองเด้ง

นอกจากรอดคุกแล้ว ยังเสมือนได้คืน “สถานะ” ทางการเมืองอย่างเต็มตัว

ตามรูปการณ์ที่มีการมองข้ามช็อตล่วงหน้าไปถึงโอกาสในการถือธงแม่ทัพพรรคเพื่อไทยในการลงสนามเลือกตั้งรอบต่อไป

เกมพลิกกลับโดยอัตโนมัติ “น้องเขยทักษิณ” กลายมาเป็นคู่แคนดิเดตสำคัญของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง ที่จ่อลุ้นเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่

ตามเหลี่ยมที่เดาทางได้ไม่ยาก จากนี้ไป “เจ๊แดง” นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ คงได้ใช้กำลังภายในผลักดันสามีได้มีโอกาส “แก้ตัว”

กู้หน้าจากนายกรัฐมนตรีที่ไม่เคยเข้าไปนั่งในทำเนียบรัฐบาล

และตามสไตล์ “นายใหญ่” ยังไงก็ต้องไว้ใจคนในครอบครัวมากกว่าคนนอก

แต่ก็อีกนั่นแหละ ถึงแม้ตระกูลชินจะมีตัวเลือก “นอมินี” เป็นคนในครอบครัว แต่การได้นายสมชายกลับมาคนเดียวอาจไม่มี ผลอะไรมากนัก ในเมื่อเงื่อนไขสถานการณ์ภาพรวมมาถึงตรงนี้

เห็นได้เลยว่า แนวโน้มการเมืองไทยกำลัง “เปลี่ยนรุ่น”

ทั้งด้วยผลทางกฎหมาย เงื่อนไขของการติดชนักคดีที่มีโทษแบนการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่โฟกัสไปที่ทีมงานพรรคเพื่อไทย ลูกข่าย “ทักษิณ” ที่เจอสารพัดคดี โดยเฉพาะที่จ่อรออยู่ข้างหน้ากรณีการจ่ายเงินเยียวยาม็อบเสื้อแดง นปช.ที่ส่อผิดยก ครม.รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์”

แนวโน้มโดนรวบหมดตั้งแต่ แถว 1 แถว 2 ยันแถว 3

แทบไม่เหลือแม้แต่ “นกแล” ที่จะลงสนามในรอบต่อไป

อีกส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องของ “สังขาร” ที่โรยราไปตามกาลเวลา หลังสถานการณ์อำนาจพิเศษลากยาวมาจนเกือบครบเทอม 4 ปี แถมยังส่อจะต่อเวลาไปแบบไม่มีกำหนด

นั่นก็ทำให้นักเลือกตั้งอาชีพ “หมดไฟ” ไปเอง

เจาะเบื้องหลังมวยรุ่นใหญ่ลายครามตั้งเป้าวางมือ ผ่องถ่ายให้ทายาทรุ่นใหม่

ไม่ว่าจะเป็นคิวของ “ป๋าเหนาะ” นายเสนาะ เทียนทอง เจ้าพ่อวังน้ำเย็น “เสี่ยตือ” นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ขาใหญ่แห่งค่ายปลาไหล พรรคชาติไทยพัฒนา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งอาณาจักรสุโขทัย นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ มือประสานสิบทิศ ฯลฯ ใส่เกียร์ถอยกันหมดแล้ว

นั่นก็เท่ากับเปิดทางกระบวนการปฏิรูปของ คสช.

ตามกระบวนการที่ฝ่ายคุมเกมอำนาจต้องเตรียมดินในการปลูกต้นกล้าการเมืองรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพ แบบที่วางเงื่อนไขไว้ในกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง

แฝงยุทธศาสตร์เปิดทางนักการเมืองเลือดใหม่เข้ามานำเปลี่ยนผ่าน

โอกาสพันธุ์เก่าจะกลับมาเฮี้ยวแบบเดิมยากแล้ว.
ทีมข่าวการเมือง

คดีนี้ มี2 อดีตนายกฯ ...น้องผมแค่ ผบ.ตร.

คดีนี้ มี2 อดีตนายกฯ ...น้องผมแค่ ผบ.ตร.
‪"บิ๊กป้อม" ยัน"พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ"อดีต ผบ.ตร.น้องชาย หลุดคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ ไม่เกี่ยวกับผม ยันไม่เคยคุยกัน เรื่องคดี คุยแต่เรื่องส่วนตัว ในฐานะน้อง ชี้คดีนี้ มี2อดีตนายกฯ ส่วนน้องผมแค่ผบ.ตร.‬.....‪แต่หลังศาลตัดสินคดี ยัน ไม่ได้คุย กับน้องชาย ถาม จะคุยทำไม ต่างคนต่างทำงาน‬ ยัน ผม ไม่มีผลต่อคดี‬....
เตือนกลุ่ม พธม.ชุมนุม ต้องไม่ขัดกม. ไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ยัน จนท.ต้องบังคับใช้กม.ไม่มีข้อยกเว้น แม้เคยเป็นแนวร่วม คสช. ก็ตาม วอนยอมรับคำตัดสินศาล‬
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำตัดสินยกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 2551จะเป็นบรรทัดฐานการชุมนุมของประเทศไทยในอนาคต หรือไม่ ว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งต่อไปนี้การชุมนุมทุกอย่างต้องดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2559 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะต้องดูแลมากขึ้น ตนเชื่อว่าการชุมนุมจะทำเหมือนเดิมไม่ได้

เมื่อถามว่า กลุ่มพธม.ไม่พอใจคำตัดสินอาจรวมตัวชุมนุม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ทุกอย่างทำตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดความวุ่นวาย และต้องทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย หากจะดำเนินการอะไรขอให้อยู่ในกรอบกฎหมาย
ส่วนผลการตัดสินจะสร้างความร้าวลึกทางจิตใจให้กับกลุ่มพธม.หรือไม่นั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของศาล ต้องไปถามศาล
ส่วนหากพธม.ชุมนุมคัดค้านคำตัดสินศาล ได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า กฎหมายว่าอย่างไรต้องว่าตามนั้น แต่อย่าให้เกิดความวุ่นวาย เกิดความเสียหาย
และไม่จำเป็นต้องไปตั้งรับความเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ เพราะเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามระเบียบ และข้อบังคับอยู่แล้ว
ส่วนที่ถูกมองว่า กลุ่มพธม.เป็นแนวร่วมสนับสนุนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นั้น คงไม่มีผลอะไร เพราะทุกอย่างว่าไปตามกฎหมาย หากจะรวมตัวชุมนุมต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อนตามพ.ร.บ.การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2559 เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

เมื่อถามว่า หลังศาลตัดสิได้คุยกับพล.ต.อ.พัชรวาท น้องชายหรือยัง พลเอกประวิตร กล่าวว่า ไม่คุย เพราะไม่รู้จะคุยทำไม ต่างคนต่างทำงาน
ส่วนที่บอกว่างานนี้เพราะลุงป้อมนั้น พลเอกประวิตรกล่าวว่า. ลุงป้อมยังไม่ได้ทำอะไร เพราะยังไม่ได้เจอน้องชายเลย และก็ไม่ได้โทรศัพท์คุย ให้กำลังใจกัน และไม่ได้ทำอะไรให้ด้วย ผมดูแลเฉพาะเรื่องส่วนตัว
ส่วนที่มองกันว่า ศาลยกฟ้อง เพราะจำเลยมีนามสกุลวงษ์สุวรรณ คงไม่เกี่ยว เพราะในคดี มีคนเป็นอดีตนายกฯ 2 คน แต่พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นอดีตผบ.ตร. เท่านั้น" พล.อ.ประวิตร กล่าว พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงความเคลื่อนไหวในช่วงเดือนสิงหาคมจะมีการตัดสินคดีความสำคัญหลายคดี จะกระทบกับการสร้างความปรองดอง ว่า ปรองดองก็เป็นเรื่องของปรองดอง ส่วนการกระทำความผิดก็เป็นเรื่องการกระทำความผิด จึงเป็นคนละเรื่อง ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
ทั้งนี้ตนไม่เป็นห่วงผลการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยวันที่ 25 สิงหาคม ที่ศาลจะตัดสินคดีใหญ่ 2 คดี เพราะคิดว่าทุกอย่างคงจะเรียบร้อย ถ้าเกิดความไม่เรียบร้อย ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องรับผิดชอบ

ต่อข้อถามที่ว่าพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร ระบุว่ามีการขนมวลชนคนเสื้อแดง โดยรถตู้ มาให้กำลังใจ ในวันตัดสินคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้นเจ้าหน้าที่จะสกัดมวลชนอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องตรวจสอบว่ารถตู้เหล่านั้น วิ่งผิดเส้นทาง และใช้รถผิดประเภทโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่