"ยกฟ้อง" คือ "ยกฟ้อง"!
ใครจะพอใจ-ไม่พอใจ เป็นเรื่องหนึ่ง
แต่ในความที่มนุษย์แต่ละคนได้อิสรภาพที่จะมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง
เพราะเหตุนั้น...........
ในมุมกฎหมาย แต่ละคน "เห็นต่างกัน" ได้ แต่ทุกคนจะ "ปฏิบัติต่างกัน" ไม่ได้
เมื่อศาลชี้ขาดด้วยข้อกฎหมายใดออกมาแล้ว.........
ทุกคนต้องเคารพ-เชื่อฟัง-ปฏิบัติตาม ไม่อย่างนั้น สังคมบ้านเมืองจะสับสน-วุ่นวายไม่รู้จบ
การเคารพเชื่อฟังกฎหมายนั้น จะเรียกว่า เป็นหน้าที่ทางจิตสำนึกต่อสังคมรวม ก็ไม่ผิด
แต่ถ้ามีคนไม่ปฏิบัติตาม แข็งขืนคำตัดสินของศาลล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบ คือ กฎหมายมีสภาพบังคับทั้งทางอาญาและทางแพ่ง สำหรับคนแข็งขืน
สั้นๆ และตรงตัว ก็มีเท่านี้แหละ............
เหตุที่ผมหยิบประเด็นนี้มาพูด เพราะเห็นพี่น้องพันธมิตรฯ บางส่วน มีความเห็นต่างต่อคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวาน (๒ ส.ค.๖๐)
ในคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง...........
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ
พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.
พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.
ในความผิดฐาน...........
เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามมาตรา ๑๕๗
คือเมื่อ ๗ ต.ค.๕๑ "รัฐบาลนายสมชาย"
สั่งการให้ตำรวจสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา
ยิงแก๊สน้ำตาใส่ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก!
ร่วม ๑๐ ปี แล้วเมื่อวาน ผลก็ออกมา ศาล "ยกฟ้อง" ทั้งหมด
เป็นการยกฟ้อง โดยองค์คณะทั้ง ๙ วินิจฉัยอรรถคดีแล้ว มีความเห็นว่า
"การสลายการชุมนุมในช่วงเช้า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันสั่งการให้เปิดทางเข้ารัฐสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีไปแถลงนโยบาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ส่วนการสลายการชุมนุมช่วงบ่ายถึงค่ำ...........
โจทก์ขอให้ลงโทษเฉพาะจำเลยที่ ๑, ๓ และ ๔ เนื่องจาก พล.อ.ชวลิต จำเลยที่ ๒ ลาออกแล้ว
ศาลเห็นว่า การปิดล้อมรัฐสภา ปลุกระดมจะบุกเข้ารัฐสภาไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่เปิดทางตามขั้นตอน
ซึ่งสถานการณ์ขณะนั้น เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่า แก๊สน้ำตาเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
จำเลยที่ ๑, ๓ และ ๔ ไม่อาจคาดได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายและไม่ได้ความว่า จำเลยมีเจตนาพิเศษให้ทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตราย
จึงพิพากษายกฟ้อง"
ครับ...ถึงแม้บางพันธมิตรฯ จะไม่เห็นด้วย แต่ไม่ต้องกลัวว่า จะมีใครแสดงออกด้วยการขัดขืนคำตัดสิน
เพราะพันธมิตรฯ เป็นคนมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่อันธพาล แยกแยะเรื่องราวได้ด้วยเหตุและผล ไม่ใช่เอะอะก็ระดมคนป่วนเมือง
ดังนั้น เมื่อไม่พอใจคำตัดสิน ทางเดินเพื่อแสวงหาความยุติธรรมตามกระบวนการมีอย่างไร เท่าที่ดู พันธมิตรฯ ก็เล็งไปทางนั้น
มาตรา ๑๙๕ ตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๖๐ บอกว่า
"คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา........ฯลฯ........."
คำว่า "ให้อุทธรณ์ได้" หมายถึง ทั้งโจทก์-จำเลย มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้เหมือนๆ กัน
คดีนี้ อัยการสั่งไม่ฟ้องแต่แรก ทาง ป.ป.ช.จึงตั้งทนายเป็นโจทก์ฟ้องเอง
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า...........
"พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ" ประธาน ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน จะอุทธรณ์หรือไม่เท่านั้น?
คือไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ ก็ต้อง "วัดใจ" พล.ต.อ.วัชรพลแหละว่า
ระหว่าง "ลูกพี่-เจ้านาย" กับ "จิตใต้สำนึก" คนในตำแหน่ง "เปาบุ้นจิ้น" จะเลือกแบบไหน?
เพราะทุกคนรู้ "เส้นทางเดิน" มาสู่ตำแหน่งนี้ของ "พล.ต.อ.วัชรพล"
มาจากอดีต "รอง ผบ.ตร."........
มือขวา "พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ" อดีต ผบ.ตร. ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ ผู้ต้องหาคดีนี้
มาจากตำแหน่ง "รองเลขาฯ" ฝ่ายการเมือง ของ "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ ผู้มากบารมีในรัฐบาลประยุทธ์
และเมื่อเมษา ๕๙ จำเลย ๓ ราย นายสมชาย, พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ร้องขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช.ให้ถอนฟ้องคดีนี้ต่อศาล
เรื่องเข้าวาระจร พล.ต.อ.วัชรพลเป็นประธานที่ประชุม ก็ยื้อกันพอสมควร ในประเด็นว่า ด้านข้อกฎหมาย ป.ป.ช.มีอำนาจถอนฟ้อง
แต่ "สมควรหรือไม่?"
ก็ถกกันในที่ประชุม ที่สุดโยนให้เจ้าหน้าที่ไปพิจารณาถึงเหตุและผลให้รอบคอบอีกที
สรุปสุดท้าย....ไม่สมควรถอนฟ้อง
จนเมื่อวาน ศาลก็มีคำตัดสินคดีสลายพันธมิตรฯ ออกมา คือ "ยกฟ้อง"!
เป็นอันว่า จบบริบูรณ์ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง แต่ตามกฎหมายใหม่ ถือว่าคดียังไม่เป็นที่สุด
คือยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ ภายใน ๓๐ วัน
๓๑ สิงหาเป็นเส้นตาย!
ไม่ใช่เส้นตายของพันธมิตรฯ แต่เป็น "เส้นตาย" ของประธาน ป.ป.ช. "พล.ต.อ.วัชรพล" ว่าจะตัดสินใจ
"ยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่?"
ถ้ายื่น ก็ไปลุ้นผลคดีกันต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่ถ้าไม่ยื่น ก็จบแค่นี้
พูดกันอีกที พันธมิตรฯ เป็นต้นแบบแนวทางใหม่มาตลอด การอุทธรณ์คำตัดสินศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองนี่เหมือนกัน
แต่ก่อน "ศาลเดียว" ตัดสินแล้วจบเลย!
แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้
ตามเส้นทาง คดีพันธมิตรฯ ก็จะเป็น "ต้นแบบ" ของการอุทธรณ์ ให้ยิ่งลักษณ์ "ระบอบทักษิณ" ได้ดูเป็นแนวทางอีกนั่นแหละ!
พูดถึง "แนวทาง" อยากให้ข้อสังเกต
คดียิ่งลักษณ์ที่จะตัดสิน ๒๕ สิงหาก็ในข้อหาด้วยมาตรา ๑๕๗ เหมือนคดีสมชาย, ชวลิต-พัชรวาท-สุชาติ
ที่พูดนี่ อย่าตีความว่า ผลจะออกมาเหมือนกัน ต้องเข้าใจว่า องค์ประกอบแห่งพฤติกรรมในคดีมันต่างกัน
อยากให้ดูคำพิพากษา "ศาลปกครองกลาง" เมื่อ ๑ สิงหา ๖๐ ในคดี "นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์" อดีตอธิบดีสรรพากร นั่นมากกว่า
กรณีไม่เก็บภาษีโอนหุ้นของนาย "บรรณพจน์ ดามาพงศ์" พี่ชายคุณหญิงพจมาน
ต้องปูความฉบับย่นย่อก่อน...........
เมื่อปี ๕๑ "ศาลปกครองกลาง" พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง "กระทรวงการคลัง" ที่ลงโทษปลด "นายศิโรตม์" ออกจากราชการ
กรณีมีความเห็น ว่าการรับโอนหุ้นชินคอร์ปของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จาก "น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี" ผู้ถือหุ้นแทน "คุณหญิงพจมาน ชินวัตร" ๔.๕ ล้านหุ้น มูลค่า ๗๓๘ ล้านบาท เมื่อปี ๔๐
นั่น...ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้!
ปรากฏว่า กระทรวงการคลังเห็นดี-เห็นงาม ไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุด
แต่ทาง ป.ป.ช.ได้ยื่นคำร้องว่า...........
เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีแต่ต้น จึงขอให้พิจารณาคดีใหม่
"ศาลปกครองสูงสุด" จึงให้ "ศาลปกครองกลาง" ตั้งองค์คณะพิจารณาคดีใหม่ ให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ร้องคดี
และเมื่อ ๑ สิงหา ศาลปกครองกลาง ก็ตัดสิน "ย้ำคำพิพากษาเดิม"
น่าสนใจมาก อยากให้ศึกษาไว้ โดยเฉพาะยิ่งลักษณ์ ที่ศาลมีมุมมอง เรื่องปฏิบัติหน้าที่ ว่า...........
"นายศิโรตม์ไม่มีความผิด ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล เนื่องจากการพิจารณาเรื่องยกเว้นภาษีดังกล่าว เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ที่ทั้งสำนักตรวจสอบภาษี และสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ต่างเห็นตรงกันว่า
เป็นการได้รับโอนจากการให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี
และเป็นการได้รับจากการอุปการะ โดยหน้าที่ธรรมจรรยา เข้าข่ายได้รับการยกเว้นภาษี
อีกทั้งไม่ปรากฏว่า ในเวลานั้น กรมสรรพากร มีการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติเรื่องเงิน ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา
หรือเงินที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาฯ อันจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา ๔๒ (๑๐) ของประมวลกฎหมายรัษฎากร
การพิจารณา จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจสั่งการ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี
และในกรณีนี้ ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่า นายบรรณพจน์หรือคุณหญิงพจมานให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่นายศิโรตม์ เพื่อให้มีความเห็นเป็นประโยชน์กับบุคคลทั้งสอง
หรือมีพฤติการณ์บ่งชี้ว่า นายศิโรตม์มีเจตนาปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด ได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบราชการ
ที่เข้าข่าย เป็นผู้มีความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ดังที่ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงไปก่อนหน้านี้"
ครับ....ก็พูดได้คำเดียว กฎหมายมาตราเดียวกัน แต่คนใช้คนละคนกัน ผลต่างกันได้เสมอ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น