PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

เปิดประวัติ "โจรจันทร์"จอมโจรระดับตำนานแห่งสยาม !! ที่ถูกขนานนาม ศาสตราจารย์โจร



เปิดประวัติ จอมโจรระดับตำนานแห่งสยาม !! 

ที่ถูกขนานนามว่า ศาสตราจารย์โจร จันทร์เจ้า !! ผู้ที่ กรมพระยาดำรงฯ สนพระทัยยิ่ง !! ย้อนไปในรัชสมัยล้นเกล้าฯ ร.๕ พระปิยมหาราช มีโจรร้ายกลุ่มหนึ่งแขวงเมืองปทุมธานี, อยุธยา และสุพรรณบุรี ออกปล้นสะดม วัว, ควาย,บ้านเรือนทั้งเศรษฐีและชาวบ้าน เป็นที่หวาดเกรงไปทั่วมณฑลนครไชยศรีสมัยนั้น ชาวบ้านเรียกโจรกลุ่มนี้ว่า “จันทร์เจ้า”

ใน พ.ศ.๒๔๔๖ พระยาสุนทรบุรีฯ(ชม สุนทราชุน)สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครไชยศรีจับกุมพวกโจรได้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปนครปฐม ทรงทราบและร่วมไต่สวน โจรจันทร์รับสารภาพก็ทรงแปลกพระทัย เพราะโจรจันทร์มีบุคลิกภาพสุภาพ รูปร่างหน้าตาพูดจาเรียบร้อย ไม่ส่อว่าจะมีใจคอโหดเหี้ยมพอจะเป็นหัวหน้าโจร โจรจันทร์สารภาพว่าเคยเฝ้าเจ้านายหลายพระองค์ และยังเคยรับใช้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาก่อน กรมพระยาดำรงฯ มีรับสั่งถามว่า แกเป็นโจร เจ้านายท่านไม่รังเกียจหรือ โจรจันทร์ตอบว่า ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโจร เพราะโจรต้องระวังตัวกลัวถูกจับ จึงรู้กันแต่ในหมู่โจรเท่านั้น ชาวบ้านรู้แต่ว่าเป็นนักเลงโตผู้กว้างขวาง มีพวกมาก นักเลงที่ไม่เป็นโจรก็มี 

กรมพระยาดำรงฯ ทรงบันทึกกระบวนการโจรกรรมไว้ว่า การปล้นทรัพย์บ้านเรือนแต่ละครั้งจะต้องมีสายโจร ซึ่งอาจเป็นผู้รับใช้ในบ้านต้องการเงิน, เพื่อนบ้านที่เป็นอริกันต้องการล้างแค้น และญาติเจ้าทรัพย์โกรธแค้น ที่ขอทรัพย์สินเงินทองแล้วไม่แบ่งปันให้ เป็นต้น โจรจันทร์เล่าถึง ประเพณีโจรเมื่อปล้นเรือน ต้องจับคนในบ้านเพื่อข่มขู่ให้บอกที่เก็บทรัพย์ มิฉะนั้นจะเสียเวลามาก การปล้นทรัพย์แต่ก่อนต้องใช้ดินหม้อทาหน้า เพื่อมิให้เจ้าทรัพย์จำหน้าได้ แต่เมื่อมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้วมาสอบสวน บางคนล้างหน้าไม่ทันถูกจับได้ ระยะหลังๆ เลยใช้สมุนโจรซึ่งเป็นคนต่างถิ่นขึ้นบ้านแทน การเรียก “อ้ายเสือ” มิได้หมายถึงผู้เป็นโจร แต่เป็นคำสั่ง เป็นหัวหน้าโจรสั่ง “อ้ายเสือเอาวา” หมายถึงพวกโจรบุกยิงปืนและเข้าพังประตู “อ้ายเสือขึ้น” หมายความว่าให้โจรที่แฝงตัวอยู่ขึ้นเรือนได้ “อ้ายเสือถอย” หมายถึงให้รีบลงเรือน “อ้ายเสือล่า” หมายถึงต่างคนต่างหนี 

กรมพระยาดำรงฯ ทรงพอพระทัยมาก ที่โจรจันทร์สารภาพกราบทูลศาสตร์โจรทุกเรื่อง อย่างละเอียดแทบทุกเย็น ในระยะเวลาหนึ่ง ณ ตำหนักนครปฐม จนเป็นที่คุ้นเคย โจรจันทร์ต้องการขออภัยโทษและสัญญากับเสด็จในกรมฯ ว่า หากพ้นโทษจะละทิ้งความชั่วไม่เป็นโจรอีกตลอดชีวิต โจรจันทร์ได้รับโทษประมาณ ๑๐ ปี กรมพระยาดำรงฯ ทรงรับเรื่องโจรจันทร์ขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยนั้น อยู่ในพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ ร.๕ จึงพระราชทานอภัยโทษให้โจรจันทร์ในที่สุด โจรจันทร์ไม่ผิดคำมั่นสัญญา นำบุตรภรรยาจากปทุมธานีมาอยู่นครปฐม ถวายการรับใช้เฝ้าตำหนักนครปฐมของกรมพระยาดำรงฯ และตั้งร้านขายของ ส่วนลูกชายก็ฝากเจ้าคุณเทศาฯ พระยาสุนทรบุรีฯ ให้เล่าเรียนจนได้เข้ารับราชการในที่สุด 

ลูกหลานของโจรจันทร์ต่างก็ประกอบสัมมาอาชีวะ เจริญรุ่งเรืองตามฐานานุรูป ว่ากันว่า ลูกหลานบางคนเป็นถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในศาลอุทธรณ์ก็มี “โจรจันทร์ กลับใจ” เฝ้าตำหนักของกรมพระยาดำรงฯ อยู่ ๒๐ ปี จนแก่ชราทำงานไม่ไหวมีอายุ ๘๐ กว่าปี จึงออกจากหน้าที่ และเมื่อมี พ.ร.บ.นามสกุลในรัชสมัยล้นเกล้าฯ ร.๖ พ.ศ.๒๔๕๖ กรมพระยาดำรงฯประทานนามสกุลให้ว่า “จิตรจันทร์กลับ”


อดีตผู้พพากษาศาลฏีกาชี้ข้อกฏหมายยิ่งลักษณ์อาจต้องหนีตลอดชีวิต

.....ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ช้นวัตร มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ ให้ลงโทษจำคุก ๕ ปี

.....การที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒๓/๑ มีผลให้นำมาตรา ๗๔/๑ มาใช้บังคับแก่นางสาวยิ่งลักษณ์ได้ด้วย

.....มาตรา ๗๔/๑ บัญญัติว่า ในการดําเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีไป ในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหน่ึงของอายุความ และเมื่อได้มีคําพิพากษาถึงท่ีสุดให้ลงโทษจําเลย ถ้าจําเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ มาใช้บังคับ

.....ตามบทบัญญัติของมาตรา ๗๔/๑ หมายความว่า เมื่อศาลลงโทษจำคุกนางสาวยิ่งลักษณ์ ๕ ปี การที่นางสาวยิ่งลักษณ์หลบหนี มิให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๘ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความการลงโทษ เช่น ถ้าจำเลยถูกลงโทษจำคุก ๕ ปี ถ้าไม่ได้ตัวจำเลยมาจำคุกภายใน ๑๐ ปี ก็เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษจำเลยคนนั้นไม่ได้อีก

.....แต่เมื่อมาตรา ๗๔/๑ บัญญัติไม่ให้นำมาตรา ๙๘ มาใช้บังคับ จึงหมายความว่า กรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ว่าจะหลบหนีไปกี่ปี เช่น ๑๐ ปี ๑๕ ปี หรือ ๒๐ ปี ก็ไม่ล่วงเลยการลงโทษ คือได้ตัวนางสาวยิ่งลักษณ์มาเมื่อใดก็สามารถนำตัวมาลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาได้

.....สรุปว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหลบหนีไปตลอดชีวิต ถ้ายังมีชีวิตอยู่ไม่อาจเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้อีก เพราะถ้าเข้ามาก็ต้องถูกจับกุมนำตัวไปคุมขังในเรือนจำ ๕ ปี ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ

วงการประวัติศาสตร์สูญเสีย ‘สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ'

นักประวัติศาสตร์ นิสิตนักศึกษา นักการเมือง ร่วมแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ‘ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ’ นักต่อสู้ผู้เคยเข้าป่าในยุค ‘เดือนตุลา’ สู่นักวิชาการผู้ขยายพรหมแดนมากกว่าประวัติศาสตร์ไทย ล่าสุดเตรียมตีพิมพ์ประวัติศาสตร์โปรตุเกส  

ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีพิธีรดน้ำศพ รองศาสตราจารย์ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และครอบครัวโดยรองศาสตราจารย์บาหยัน อิ่มสำราญ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภรรยาของ ดร.สุธาชัย จะตั้งศพสวดอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 27 กย.60 – 1 ตค. 60 ที่วัดหัวลำโพง ศาลา 2
ผู้มาร่วมพิธีประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาและนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ ,  นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ และนักกิจกรรมรวมถึงประชาชนผู้ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย, นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวภายหลังร่วมพิธีรดน้ำศพว่า “รู้สึกเสียใจและน่าเสียดายมากที่อาจารย์สุธาชัย จากเราไปเร็วมากๆ ถึงแม้จะรู้ว่าอาจารย์เจ็บไข้ได้ป่วยไม่น้อย เคยมาเยี่ยมก่อนหน้านี้ก็ยังดูกระชุ่มกระชวยอยู่และยังพูดฝากฝังอะไรไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานชิ้นสุดท้ายทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผมเข้าใจว่า อาจารย์เขียนเกือบจะจบ คือประวัติศาสตร์ โปรตุเกส ได้ส่งไฟลล์มาให้ผมแล้วทั้ง 2 ไฟลล์ อันนี้ถือว่าเป็นงานของอาจารย์สุธาชัยที่นอกเหนือจากงานด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ซึ่งได้ขยายพรมแดนไปประวัติศาสตร์โปรตุเกส ผมเข้าใจว่างานเช่นนี้ในภาษาไทยมีน้อยมากๆ หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ อันนี้เป็นความน่าเสียดายและความสูญเสียที่อาจารย์สุธาชัยจากเราไป 

ในอีกประเด็นหนึ่ง อาจารย์สุธาชัยกับผม เรารู้จักกันมานานแล้วในฐานะที่อาจารย์สุธาชัยก็เคยเรียนกับผมที่ธรรมศาสตร์ แต่ว่าในตอนหลังเราได้มาเป็นกรรมการของมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ ด้วยกัน โดยส่วนตัวผมหวังว่อาจารย์สุธาชัย จะเป็นคนดูแลเรื่องมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ต่อไป เพื่อดูแลเรื่องบ้านและที่ดินของครอบครัวจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งตกเป็นของมูลนิธิฯ รวมทั้งการตีพิมพ์หนังสือที่เป็นงานนิพนธ์ของคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อาจารย์สุธาชัย จะต้องเป็นกำลังสำคัญ 

เพราะฉะนั้น ในความเสียใจของผม มันมีมากไปกว่าการสูญเสียนักประวัติศาสตร์คนร่วมอาชีพเดียวกัน แต่พูดได้ว่าเป็นการสูญเสียคนที่มีอุดมการณ์หลายอย่างเกี่ยวกับประเทศชาติและประชาชนคล้ายๆ กัน”

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวถึง ดร.สุธาชัย ในมุม “คนเดือนตุลา” ว่า “ได้เห็นการเคลื่อนไหวของอาจารย์สุธาชัย ตั้งแต่ในสมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งเราเรียกว่าคนเดือนตุลา ไม่ว่าจะตุลาปี 16 หรือ ตุลาปี 19 เพราะสมัยนั้นผมเริ่มทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และตามมาด้วยช่วงที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นอธิการบดี 2 ปี ผมร่วมอยู่ในทีมบริหารอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงอยู่ในกระบวนการที่เราทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับนักศึกษา ตอนนั้นพยายามที่จะทำให้สังคมไทยของเราและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงนั้นผ่านวิกฤตไปให้ได้โดยดี แต่ต่อมาก็เป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่เราทราบกันดี เหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เป็นการประกอบอาชญากรรมของรัฐไทย
 

คนอย่างอาจารย์สุธาชัย คนอย่างอาจารย์เกษียร เตชะพีระ และจำนวนมากก็แตกกระสานซ่านเซ็นไป ต้องออกจากเมืองไปหาความยุติธรรมในป่า ร่วมถึงคนรุ่นราวคราวเดียวกันไม่ว่าจะเป็น ธงชัย วินิจจะกูล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ต้องติดคุกติดตารางไป อันนั้นเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่น่าเศร้าโศกวิปโยคไม่น้อย 

อาจารย์สุธาชัย ก็เป็น 1 ในนักศึกษาระดับนำ เมื่อในกรุงไม่มีความยุติธรรม คนหนุ่มคนสาวรุ่นนั้นก็ไปหาความยุติธรรมในป่า แล้วเมื่อสถานการณ์พลิกกลับ มีการนิรโทษกรรม อาจารย์สุธาชัยก็กลับมาเรียนหนังสือใหม่ แล้วก็ไปเรียนต่อจนได้ ปริญญาเอก ซ้ำยังขยายพรมแดนความรู้ของตัวเองไปสู่การศึกษาว่าด้วยประเทศในกลุ่มลาตินอย่างในกรณีของโปรตุเกส สเปน ต้องเรียกว่าอาจารย์สุธาชัยเป็นทั้งนักกิจกรรมที่มีความคิดในการปฏิวัติ เป็นทั้งนักวิชาการที่มีความรู้กว้างขวางมากที่สุดคนหนึ่ง เท่าที่ผมได้เห็นมาในคนรุ่นเดือนตุลา” ดร.ชาญวิทย์กล่าว  


รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาฯ กล่าวว่า เราสูญเสียนักวิชาการที่มีความสามารถโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ไปอีกท่านหนึ่งคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า อาจารย์สุธาชัย เป็นผู้มีความรอบรู้หรือสันทัดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ แต่น้อยคนที่จะทราบว่าอาจารย์สุธาชัยไปเรียนต่อทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-โปรตุเกสโดยเฉพาะ มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์โปรตุเกสเป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยที่โปรตุเกสออกมาแสวงหาเส้นทางการค้าสินค้าเครื่องเทศอะไรต่ออะไรต่างๆ อาจจะเรียก the age of exploration ก็ได้ โปรตุเกสเข้ามามีบทบาทในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นสำคัญ อาจารย์สุธาชัยมีความรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี รู้เกี่ยวกับเรื่องโปรตุเกส รู้เกี่ยวกับลักษณะของเรือสินค้าต่างๆ แต่น้อยคนที่จะทราบว่าอาจารย์มีความรู้ด้านนี้ 

ความรู้ของอาจารย์สุธาชัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นกรณี 6 ตุลา 19 อาจารย์ก็รู้เรื่องนี้อย่างแตกฉาน แต่ความสนใจประวัติศาสตร์ของอาจารย์สุธาชัยยังย้อนไกลไปได้มากกว่านั้น อาจารย์ยังเคยมีบทความที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องพม่าด้วยเป็นการวิเคราะห์หนังสือที่มีชื่อเสียง ต้องถือว่าเราสูญเสียบุคคลสำคัญคนหนึ่งในทางด้านประวัติศาสตร์ในระดับชาติ 
 

"ยิ้มสู้ ยิ้มชนะ"



"ยิ้มสู้ ยิ้มชนะ"
ทุกครั้งที่มีคนจากเมืองไทยแวะมาเจอผมที่นี่ ตอนส่งกลับ ผมมักจะนึกแบบกึ่งขำกึ่งเศร้าว่า นี่อาจจะเป็นการเจอกันครั้งสุดท้ายในชีวิต เพราะปารีสไม่ใช่ใกล้ๆ ยากที่ใครจากไทยจะมาบ่อยๆ และผมเองก็อายุมากแล้ว แต่ทุกครั้งที่นึกแบบนี้ ผมนึกในแง่ว่า ผมคง "ไป" ก่อน และการเจอกันที่ปารีสนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตในแง่ที่ผมคงไม่ได้อยู่นานพอจะได้เจอพวกเขาอีก
นึกไม่ถึงว่า การคิดแบบเล่นๆดังกล่าว จะมาเป็นจริงเร็วขนาดนี้ และนึกไม่ถึงว่า แทนที่จะเป็นผมอยู่ไม่ถึงได้เจอคนมาเยี่ยมอีก กลายเป็นว่า คนมาเยี่ยมเอง "ไป" ก่อน และยิ่งนึกไม่ถึงว่าจะเป็น "ยิ้ม" .....
.....................
เมื่อวันที่ 11 เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา "ยิ้ม" สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กับครอบครัวและเพื่อนๆ ได้มาปารีสเพื่อท่องเที่ยว ผมรู้ข่าวล่วงหน้าด้วยความดีใจและตื่นเต้น และได้อาสาล่วงหน้าว่า ผมจะพาพวกเขาเดินทัวร์ "ย่านลาติน" และสถานที่สำคัญๆของปรีดีกับคณะราษรเอง เพราะรู้ว่า "ยิ้ม" สนใจเรื่อง 2475 ("ยิ้ม" จบปริญญาเอกที่บริสตอล อังกฤษ แต่ไม่เคยมาปารีส)
แต่เมื่อมาถึงวันแรก "ยิ้ม" ก็มีอาการป่วย แทบไม่สามารถขยับขาเดินได้ พวกเราที่นี่รีบนำเขาส่งโรงพยาบาล วันต่อมา หมอก็คอนเฟิร์มว่า พบมะเร็งลามไปที่สมองบางส่วน ทำให้กดทับปราสาทจนมีอาการเดินไม่ได้ เรารีบหาทางส่ง "ยิ้ม" กลับเมืองไทยเพื่อไปรักษาทันที แต่ติดขัดเรื่องการจัดการหลายเรื่อง จนกว่าเขาจะเดินทางกลับได้ คือวันที่ 22
ภาพนี้ ถ่ายตอนเช้าวันที่ 22 ที่โรงพยาบาล ไม่กี่นาทีก่อนที่จะส่ง "ยิ้ม" ขึ้นรถพยาบาลไปสนามบินเพื่อบินกลับไทย
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่คณะของ "ยิ้ม" อยู่ที่นี่ ผมจึงได้แต่พาคณะของเขา เดินดูสถานที่เกี่ยวกับปรีดีและคณะราษฎร โดยไม่มี "ยิ้ม" (และภรรยาซึ่งต้องอยู่เฝ้า) ไปด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ผมเสียใจมาก เพราะตั้งใจมากๆจะได้พาเขาไปดูสถานที่พวกนั้นเอง ตอนเย็นหลังพาพวกเขาไปที่นั่นที่นี่เสร็จ พวกเราก็จะแวะไปที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการ "ยิ้ม"
ตลอดเวลา 10 วันที่อยู่ที่โรงพยาบาล "ยิ้ม" กำลังใจดีมาก แม้จะรู้เรื่องเป็นมะเร็งแล้ว พวกเราคนอื่นๆเสียอีกได้แต่คุยกันเงียบๆว่า เขาอาจจะอยู่ได้ไม่นาน แต่เขาเองไม่ได้แสดงความตกใจหรือหดหูอะไร ในเวลาที่อาการเจ็บป่วยไม่ได้หนักมาก เขาก็ยังคุยโน่นคุยนี่ ทั้งเรื่องอดีตและปัจจุบัน หัวเราะรื่นเริงได้เป็นปกติ
....................
ถ้าไม่มี "ยิ้ม" อาจจะไม่มี "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง"
หลังผมเรียนจบกลับไทยในปี 2535 ไม่นาน ผมเริ่มเขียนบทความลงใน นสพ.และนิตยสารเป็นระยะๆ โดยมีแกนเรื่องหลักคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ และบทบาทของสถาบันฯต่อเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา หรือ 14 ตุลา ซึ่งสมัยนั้นเป็นประเด็นที่แทบไม่ได้รับความสนใจกันแล้วในหมู่ปัญญาชนแอ๊คติวิสต์ แม้แต่เมื่อเริ่มมีการจัดงานรำลึก 6 ตุลาขึ้นมา เมื่อได้บทความมากพอที่คิดว่าจะรวมเป็นเล่มได้ ผมก็รวบรวมแล้วเสนอต้นฉบับให้กับสำนักพิมพ์กึ่งวิชาการแห่งหนึ่ง แต่เรื่องก็เงียบหายไป ซึ่งผมก็ "ทำใจ" เพราะรู้ว่าเรื่องที่เขียน ไม่ได้อยู่ในความสนใจของปัญญาชนในขณะนั้นนัก
แต่แล้ววันหนึ่ง "ยิ้ม" ได้ติดต่อผมมาเองว่า อยากรวบรวมบทความที่ผมพิมพ์ตาม นสพ.และนิตยสารเหล่านั้น เพื่อพิมพ์เป็นเล่ม ออกในงานรำลึก 25 ปี 6 ตุลา ในปี 2544 ("ยิ้ม" เองไม่ได้รู้เรื่องที่ผมเคยรวบรวมต้นฉบับเสนอ สนพ.กึ่งวิชาการ) ผมดีใจมาก เพราะคาดไม่ถึงว่า ในหมู่ปัญญาชนแอ๊คติวิสต์จะมีคนสนใจ ตอนแรก "ยิ้ม" บอกว่าจะพิมพ์ออกมาในนามคณะกรรมการจัดงานรำลึก 25 ปีเลย แต่เมื่อใกล้วันงาน ผมได้ยินว่ากรรมการบางส่วนอาจจะมีปัญหาถ้าจะพิมพ์ออกมาในนามคณะกรรมการ "ยิ้ม" จึงตัดสินใจ เอาต้นฉบับบทความผมพิมพ์ในนาม "สำนักพิมพ์" ที่เขาตั้งขึ้นเอง ("สำนักพิมพ์ 6 ตุลา รำลึก") แม้ผมจะรู้สึกผิดหวังนิดๆที่หนังสือไม่ได้ออกมาในนามคณะกรรมการจัดงาน แต่ก็ "ทำใจ" ได้เช่นกัน เพราะความจริง ในบรรยากาศของแวดวงวิชาการแอ๊คติวิสต์ขณะนั้น ผมไม่ได้หวังอะไรมากมายอยู่แล้ว
วันที่ 6 ตุลาคม 2544 ในงานที่ธรรมศาสตร์ "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" ก็ออกมาวางขาย
"ยิ้ม" เอาค่าเรื่องมาให้ผมหลังจากนั้นในเวลาอันรวดเร็ว ผมบอกเขาว่า ไม่ต้องรีบร้อนหรอก เพราะกลัวว่าหนังสือคงขายยาก แล้วเขาจะลำบาก แต่เขารับผิดชอบกับ "นักเขียน" ดีมาก รีบเอาค่าเรื่องมาจ่ายหลังจากหนังสือวางขายไม่นาน "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" พิมพ์เพียง 2 พันเล่ม ซึี่งผมก็นึกในตอนนั้นว่า ยังมากเกินกว่าจะขายได้หมดในเวลาอันสั้น หรือจะไม่หมดเลยด้วยซ้ำ
....................
ในช่วงวิกฤติทักษิณปี 2549 "ยิ้ม" เช่นเดียวกับปัญญาชนแอ๊คติวิสต์ในขณะนั้นทุกคน ที่เห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ต้องไล่ทักษิณออกไปให้ได้ (แม้พวกเขาจะบอกว่า "ไม่เอาข้อเสนอนายกฯพระราชทาน" ของพันธมิตร แต่ก็ยืนยันความถูกต้องที่ต้องไล่ทักษิณให้ได้) หลังรัฐประหาร 19 กันยา ในงานสัมมนาครั้งหนึ่งที่สถาบันปรีดีฯซึ่งผมอยู่ด้วย "ยิ้ม" พูดบนเวทีว่า "พวกเราพลาดไปที่ไปไล่ทักษิณและสมศักดิ์เป็นฝ่ายถูกที่ยืนยันว่าไม่ควรไปไล่" ผมไม่เคยเรียกร้องให้ใครในบรรดา "มิตรสหาย" ต้องมายอมรับกับผมเช่นนี้ แต่ก็รู้สึกซึ้งใจที่ "ยิ้ม" อุตส่าห์พูดออกมา จนบัดนี้ เท่าที่ผมรู้ เขาเป็นคนเดียวที่เคยพูดออกมาตรงๆแบบนี้
.................
ใครที่รู้จัก "ยิ้ม" จะรู้ว่า เขาเป็นคนแบบเดียวกับชื่อเล่น คือ "ง่ายๆ" อารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี ทำงานๆไปเรื่อยๆ "พวกเรา" ทุกคน รวมถึงผม เวลานั่งถกเถียงเรื่องนั้นเรื่องนี้กัน ก็เกิดอารมณ์รุนแรงกันขึ้นมาเป็นธรรมดา แต่ผมไม่เคยเจอในกรณี "ยิ้ม" แม้จะถกเถียงกันยังไง เขาก็ยัง "สบายๆ" (ตอนเขานอนป่วยที่โรงพยาบาลที่นี่ ขยับลุกทำอะไรเองไม่ได้ เขาก็มีอาการหงุดหงิดของคนป่วยบ้าง แต่นึกแล้วก็ "ขำๆ" ดีว่า ตอนพูดคุยถกเถียงการเมือง เขากลับไม่เคยเป็น อย่างน้อยผมไม่เคยเจอเลย ต่างจากพวกเราทุกคน)
ครั้งสุดท้าย เมื่อราว 10 วันก่อน ผมมีโอกาสได้ "สะไก๊ป์" คุยกับเขาที่โรงพยาบาลในไทย ซึ่งตอนนั้น อาการป่วยเขาทรุดลงมากแล้ว ประโยคแรกที่ผมทักไปคือ "เฮ้ เมื่อไรจะมาที่นี่อีก" เขาก็หัวเราะดังขึ้นมา....

ยิ้มสู้ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (2499-2560)

ยิ้มสู้ของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (2499-2560)


เกิดที่บางเลน เด็กสวน เรียนธรรมศาสตร์ คนเดือนตุลา เขียนหนังสือ "แผนชิงชาติไทย" ทำวิทยานิพนธ์เรื่องชุมชนโปรตุเกสในเอเชีย ฟื้นฟูประวัติศาสตร์ 2475 ต้านรัฐประหาร ฟ้องกลับ "ผังล้มเจ้า" จนโฆษก ศอฉ. ยอมรับต่อศาลว่าแต่งขึ้น
มีรายงานว่า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ หรือ “อาจารย์ยิ้ม” รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิตแล้วอย่างสงบด้วยอาการติดเชื้อในปอดจากโรคมะเร็ง เมื่อเวลา 08.33 น. วันนี้ (27 ก.ย. 60) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขณะอายุได้ 61 ปี โดยมีกำหนดการรดน้ำศพวันนี้เวลา 14.00 น. ตึกพยาธิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม 2560 ที่วัดหัวลำโพง ศาลา 2

รวมข่าวและบทความที่เกี่ยวข้องกับสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่เผยแพร่ในประชาไท

000
แฟ้มภาพสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ร่วมงานแถลงข่าว 40 ปี 14 ตุลาคม 2516 เมื่อปี 2556

เกิดที่บางเลน เด็กสวน เรียนธรรมศาสตร์ คนเดือนตุลา

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เกิดเมื่อ 28 เมษายน 2499 ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม หลังเรียนจบจากโรงเรียนบางเลน ได้มาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นนักเรียนสวนกุหลาบรุ่น 88 โดยสุธาชัยยังเป็นหนึ่งในคนเดือนตุลา ในขณะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าร่วมในขบวนการนักศึกษา และร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หลังเหตุการณ์ ได้เดินทางเข้าสู่เขตป่าเขาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเขต จ.สุราษฎร์ธานี ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายสมพร”
ภายหลังกลับคืนเมือง สุธาชัยจบการศึกษาระดับอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2532 ทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “กระบวนการทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2490-พ.ศ. 2500)” และจบปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์โปรตุเกส จากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) ประเทศอังกฤษ ในปี 2541 โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “Portuguese Lancados in Asia in the Sixteenth and Seventeenth Centuries”
ในปี 2544 ในโอกาส 25 ปี 6 ตุลาคม 2519 สุธาชัย ได้รวบรวมบทความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นำมาตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก ในชื่อ "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" โดยออกวางขายในวันที่ 6 ตุลาคม 2544
นอกจากนี้เขายังเขียนบทความลงในคอลัมน์ถนนประชาธิปไตยประจำหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ วันสุข ซึ่งออกเผยแพร่ทุกวันศุกร์ และเผยแพร่บทความออนไลน์ทางเว็บไซต์ประชาไท นอกจากนี้ยังจัดรายการโทรทัศน์ชื่อ ห้องเรียนประชาธิปไตย ทางช่องเอเชียอัพเดท ร่วมกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข และเมื่อสมยศถูกจับกุม เขาได้จัดรายการร่วมกับ สุดา รังกุพันธุ์ จนรายการยุติลงหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

บางส่วนของหนังสือและบทความโดยสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ

ภาพปกหนังสือ "แผนชิงชาติไทย" พิมพ์ครั้งที่ 2 ปี 2550
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. "การเคลื่อนไหวทางการเมืองทีต่อต้านรัฐบาลสมัยจอมพลแปลกพิบูลสงคราม (พ.ศ. 2491-2500)" วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500). กรุงเทพฯ: สมาพันธ์, 2534.
ใจ อึ๊งภากรณ์ และสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพฯ:  คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ. 2491-2500). พิมพ์ครั้งที่ 2 (แก้ไขและเพิ่มเติม) กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2550.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. "ประวัติการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สยาม" ใน วารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 28  ฉบับที่ 6, 2550 หน้า 142-157.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. "กุหลาบ สายประดิษฐ์ กับอุดมการณ์ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475" ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-มิ.ย. 2553) หน้า 38-71.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. อีกฟากหนึ่งของยุโรป : ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของยุโรปตะวันออก ค.ศ.1800-2000. กรุงเทพฯ: ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, นักวิจัย. ขบวนการนักศึกษาไทย พ.ศ. 2513-2519 ศึกษาจากผู้ปฏิบัติงาน: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์, กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2556.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, บรรณาธิการ. จิตร ภูมิศักดิ์ : ความทรงจำและคนรุ่นใหม่ (ในโอกาสการสัมมนาวิชาการ 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ (2553 : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2557.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. น้ำป่า : บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด. กรุงเทพฯ: อ่าน, 2558.

บทบาททางการเมือง

ในรอบ 10 ปีมานี้ สุธาชัยเป็นผู้ที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารโดยตลอด นอกจากนี้ยังเป็นนักวิชาการที่ขอยื่นประกันตัวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด ซึ่งถูกจำคุกระหว่างถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี 2551 นอกจากนี้เขาเคยเป็นกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งมี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน และมีประสาร มฤคพิทักษ์ เป็นเลขาธิการ แต่เขาได้ลาออกตั้งแต่ปี 2557
ในปี 2552 ได้ร่วมกับเพื่อนมิตร เช่น อินสอน บัวเขียว, อุดม ขันแก้ว, ประชา อุดมธรรมานุภาพ, สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และไม้หนึ่ง ก.กุนที เป็นต้น เพื่อรื้อฟื้นพรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ในปี 2554 เขาได้รับเชิญเป็นผู้กล่าวปาฐกถาในโอกาสครบรอบ 35 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากนี้ยังเป็นผู้สนับสนุนการล้มล้างผลพวงรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ และรณรงค์ให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองอีกด้วย

ถูก ศอฉคุมตัวปี 53 - อดอาหารประท้วงหลังถูกห้ามอ่านหนังสือ ไก่อูแนะให้กินเจเล่

ในวิกฤตการเมืองรอบ 10 ปีมานี้ สุธาชัยถูกเจ้าหน้าที่ป้ายสีและควบคุมตัวหลายครั้ง โดยหลังเหตุสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ พร้อมด้วยสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูก ศอฉ. ควบคุมตัวที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี โดยระหว่างควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สุธาชัยอ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือติดตามข่าวสารใดๆ แม้แต่หนังสือวิชาการที่เอาไปด้วยเพื่ออ่านเตรียมการสอนสำหรับปีการศึกษาที่กำลังจะเริ่มเปิดเทอม ทำให้ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 สุธาชัยอดอาหารประท้วง ทำให้ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศในเวลานั้น) ทำหน้าที่โฆษก ศอฉ. ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนว่า การที่ไม่รับประทานอาหารก็คงทำให้หิว แต่ก็เป็นสิทธิของนายสุธาชัย ศอฉ. ควบคุมตัวตามอำนาจ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ต้องควบคุมตัวในสถานที่ไม่ใช่ทัณฑสถาน เรือนจำ ทั้งนี้ ศอฉ. ทำตามกรอบกฎหมาย แต่หากท่านไม่ทานอาหารจริง ท่านกินเจเล่ก็คงจะอิ่มอยู่แล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)โดยต่อมาสุธาชัยได้รับการปล่อยตัว

ฟ้องหมิ่นประมาท ศอฉผังล้มเจ้า จนสรรเสริญยอมรับแต่งขึ้น

อนึ่งในวันที่ 26 เมษายน 2553 ในการแถลงข่าวของ ศอฉ. ซึ่ง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. (ยศในเวลานั้น) ได้แถลงข่าวพร้อมแผนผังซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า "ผังล้มเจ้า" โดยระบุว่าการชุมนุมของ นปช. จะยกระดับไปสู่การก่อการร้าย มีการซ่องสุมอาวุธ ใช้ข้อมูลเท็จโจมตีสถาบันเบื้องสูงมีการดำเนินการกันแบบเป็นระบบ โดยในแผนผังที่แจกนั้น นอกจากมีการเขียนรายชื่อนักการเมือง แกนนำคนเสื้อแดง เชื่อมโยงกับ นปช. ว่าจาบจ้วงสถาบันฯ แล้ว นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่าโรงเรียนผู้ปฏิบัติงาน นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งแกนนำ นปช. เป็นบุคลากรหลักของโรงเรียน มีความพยายามที่จะสร้างวาทกรรม มีชุดความคิดอำมาตย์ ไพร่ เนื้อหาในเชิงของการบิดเบือน ปลุกปั่น กระทบต่อความมั่นคงของรัฐอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเขียนชื่อสุธาชัยไว้ในแผนผังดังกล่าวด้วย
ทำให้ในวันที่ 28 เมษายน 2553 สุธาชัยได้แถลงว่าจะดำเนินคดีต่อ พ.อ.สรรเสริญกับพวกด้วย โดยคำแถลงฟ้องคดีของสุธาชัย ระบุว่า

"อนุสนธิจากการที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกของ ศอฉ.ได้แถลงข่าวในวันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2553 โดยกล่าวถึงเครือข่ายที่มีการส่อถึงการล้มสถาบันเบื้องสูง ปรากฏว่าในแผนผังของเครือข่ายกลุ่มบุคคลที่ พ.อ.สรรเสริญกล่าวถึง ได้ปรากฏชื่อของข้าพเจ้า สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อยู่ในเครือข่ายนั้นด้วย และทำให้พี่น้อง เพื่อนฝูง โทรมาถามข่าวว่า เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร จากนั้น ต่อมา ในวันที่ 27 เมษายน รายการต่างๆ ทางวิทยุ และโทรทัศน์ก็นำเอาข่าวและแผนผังนี้มาเผย และมีรายการบางรายการ ได้โจมตีกลุ่มบุคคลที่ปรากฏชื่อในแผนผังอย่างรุนแรง เป็นการจงใจบิดเบือนให้ร้าย โดยไม่ไต่ถามที่มา หรือข้อเท็จจริงแต่อย่างใด และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ยังออกมาแถลงต่อด้วยซ้ำ ว่าจะออกหมายจับตามรายการนี้อีกด้วย

ในกรณีเช่นนี้ ข้าพเจ้าในฐานะครูสอนประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ที่คงจะไม่มีมหิทธานุภาพที่จะไปต่อกรอำนาจกับ ศอฉ.ได้ แต่ข้าพเจ้าก็มีความจำเป็นที่จะต้องปกป้องสิทธิของตนเอง ก่อนที่จะถูกลากเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องสกปรกทางการเมืองที่มากกว่านี้"

โดยคดีดังกล่าวสุธาชัยเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 และ พ.อ.สรรเสริญ เป็นจำเลยที่ 3
คำให้การต่อศาลของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศในเวลานั้น) จำเลยที่ 3 คดีผังล้มเจ้า
ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2554 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศในเวลานั้น) จำเลยที่สาม ได้ให้การต่อศาลยอมรับว่าเป็นผู้เผยแพร่แผนผังดังกล่าว หลังมีการใส่ร้าย “ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์” ว่าโทรศัพท์มาสั่งการ ศอฉ. จึงแถลงตอบโต้พร้อมแจกแผนผังเพื่อให้สังคมพิจารณา แต่ที่แจกไปมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันฯ แต่ให้สังคมวินิจฉัยเอาเอง ส่วนที่สื่อมวลชนเอาไปขยายผล ผู้ที่มีรายชื่อในผังจะไปฟ้องร้องก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา
คำให้การตอนหนึ่งของ พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า
"ข้าฯ ได้รับมอบหมายให้นำเอกสารเหล่านั้นไปแจกแก่สื่อมวลชน ซึ่งเอกสารที่ไปแจกนั้นมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยว ข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในเอกสาร ว่าแต่ละคนเกี่ยวข้องกันในฐานะอะไร เช่น เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะญาติพี่น้อง เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะผู้ทำธุรกิจร่วมกันอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งมิได้แถลงเลยว่า บุคคลทั้งปวงเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ และมิได้ให้หมายความเช่นนั้น"
ทั้งนี้ศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท เมื่อโจทก์คือสุธาชัยรับฟังข้อเท็จจริงจากจำเลยที่สาม จึงไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสามอีกต่อไป จึงขอถอนฟ้องจำเลยที่สาม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

เผยเป็นเกียรติถูก คสช. เรียกตัว-ยืนยันขอต้านรัฐประหารทุกครั้ง

หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 สุธาชัย ถูก คสช. เรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. 44/2557 โดยให้มารายงานตัววันที่ 3 มิถุนายน 2557 โดยเขาไม่ได้ถูกควบคุมตัวต่อแต่อย่างใด (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
สุธาชัยเขียนสเตตัสหลังได้รับการปล่อยตัวว่า

"ผมถือว่าเป็นเกียรติมากที่ถูกเชิญตัวในครั้งนี้ เรื่องขอความร่วมมือ ผมจะเอาอำนาจอะไรไปสู้กับคณะรัฐประหารได้ แต่ในเรื่องความคิดและจิตใจ คงบังคับกันไม่ได้ เพราะผมก็ยืนยันว่า ผมไม่ได้ต้านรัฐประหารเฉพาะครั้งนี้ การรัฐประหารตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ผมไม่เคยเห็นเลยว่าจะแก้อะไรได้ มีแต่จะยิ่งขยายปัญหามากขึ้นทุกครั้ง ปัญหาบ้านเมืองคลี่คลายด้วยประชาธิปไตยทั้งนั้น

เรื่องมาตรา 112 สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นใบ้กับเรื่องนี้อยู่แล้ว ผมคนเดียวก็คงทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เสี่ยงต่อการถูกล่าแม่มด เก็บขยะแผ่นดิน

เล่าให้ฟังแค่นี้ก่อน ผมคงจะเขียนบทความลงโลกวันนี้และประชาไทต่อไป ส่วนเรื่องอะไรคงว่ากันภายหลัง"

นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เสียชีวิตอย่างสงบ เช้าวันนี้!


“สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง เสียชีวิตอย่างสงบ เช้าวันนี้!



เมื่อวันที่ 27 ก.ย. สมาชิกผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ Thanapol Eawsakul ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า “อาจารย์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560เวลา 08.33 น. ขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ขณะอายุได้ 61 ปี รดน้ำศพวันนี้เวลา 14.00 น. ตึกพยาธิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตั้งศพสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 27 กย.60 – 1 ตค. 60 ที่วัดหัวลำโพง ศาลา 2”
ทั้งนี้ ทางครอบครัวงดรับเงินทำบุญช่วยงานศพ เนื่องจากในระหว่างรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ครอบครัวได้รับเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลจากมิตรสหาย ซึ่งยังคงเหลืออยู่มากพอสำหรับการจัดงานศพ
สำหรับนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังเป็นหนึ่งในนักกิจกรรม “คนเดือนตุลา” โดยมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ก่อนที่จะเดินเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในชื่อ “สหายสมพร”
ส่วนด้านการศึกษานั้น จบปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จบปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต เอกประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาเอก ด้วยทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เอกประวัติศาสตร์โปรตุเกส จากมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร

เปิดแฟ้มตำรวจสากล "11 Thailand 's Most Wanted" ไร้เงา "ทักษิณ"

เปิดแฟ้มตำรวจสากล "11 Thailand 's Most Wanted" ไร้เงา "ทักษิณ"

โดย

ข่าวการอนุมัติออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาก่อการร้าย ของศาลอาญาไทย เมื่อวันอังคารที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศจากทางรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่า จะมีการขอความร่วมมือกับ ตำรวจสากล หรือ "อินเตอร์โพล" ให้ช่วยตามจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยอีกแรงนั้น ถือเป็นข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดข่าวหนึ่งในเวลานี้ เนื่องจากตามกฎหมายของไทยแล้วความผิดฐานก่อการร้ายนั้นมีโทษสูงสุดถึงขั้น "ประหารชีวิต" และบุคคลที่ทางการไทยกำลังต้องการตัวเพื่อมารับโทษดังกล่าวก็มีฐานะเป็นถึงอดีตผู้นำของประเทศ

ตามขั้นตอนแล้ว จะต้องมีการมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการส่งเรื่องการตามจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปยังตำรวจสากล เพื่อให้องค์กรตำรวจนานาชาติซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1923 แห่งนี้ พิจารณาว่าข้อหาที่ทางการไทยแจ้งมานั้นเป็นแค่ "เรื่องทางการเมือง" หรือเป็นเรื่องที่เข้าข่ายหลักก่อการร้ายตามที่ตำรวจสากลกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนจะมีการประสานไปยังหน่วยงานตำรวจของประเทศต่างๆ เพื่อให้ช่วยดำเนินการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ และส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปหากประเทศดังกล่าวมีสนธิสัญญาที่ว่ากับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" พบว่าแฟ้มข้อมูลของตำรวจสากล ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรที่ทางการไทยต้องการได้ตัวมาดำเนินคดีนั้น พบว่าชื่อของผู้ต้องหาจำนวน 11 คน ซึ่งมีความผิดในคดีต่างๆ ตั้งแต่การค้ายาเสพติด เรื่อยไปจนถึงความผิดในคดีฆาตกรรม และชื่อของอาชญากรที่ทางการไทยต้องการตัวซึ่งเป็นเพศชายทั้งหมดเหล่านี้ จากการอัพเดตล่าสุดของตำรวจสากลก็มีการเรียกชื่อย่อๆ ว่านายโกช ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดีย, นายวิทย์,นายฤกษ์,นายวี,นายลิต,นายไชย,นายมล,นายรุด,นายรัตน์,นายยะ และนายกูร ซึ่งทั้งหมดเป็นชื่อที่สมมุติขึ้น ผู้ต้องหาเหล่านี้มีอายุไล่ตั้งแต่ 27-69 ปี

ทว่ากลับไม่ปรากฏชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ วัย 60 ปีแต่อย่างใด และยังไม่พบรายชื่อของบรรดาผู้ต้องหาชื่อดังในคดีค้ายาเสพติดและคดีความผิดทางเศรษฐกิจอีกหลายรายที่ทางการไทยเคยประกาศว่าต้องการตัวเช่นเดียวกัน

ทำให้เกิดคำถามถึงความมีประสิทธิภาพในการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยกับทางตำรวจสากลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน " ไทยรัฐออนไลน์" ยังพบข้อมูลอันน่าสนใจที่ว่าทาง ตำรวจสากลได้กำหนดนิยามของคำว่า "Fugitives" หรือบรรดาผู้หลบหนีคดีทั้งหลายไว้ว่า หมายถึง บุคคลที่ต้องหลบหนีคดีความจากผลของการก่ออาชญากรรมของตนโดยมีการเคลื่อนย้ายไปยังดินแดนต่างๆ และบุคคลดังกล่าวจะต้องมีพฤติกรรมอันเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณชนทั่วโลกเท่านั้น ทางตำรวจสากลจึงจะเข้าไปดำเนินการติดตามและจับกุมตัวได้

นอกจากนั้น ยังพบข้อมูลว่ามีการจำแนกประเภทของ "ประกาศตำรวจสากล" หรือ "Notice" ออกเป็น 7 ประเภทดังต่อไปนี้

ประเภทแรก คือ ประกาศสีแดง ซึ่งทางตำรวจสากลจะใช้สำหรับการขอความร่วมมือไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ดำเนินการติดตามและจับกุมบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อาจเข้าข่ายต้องมีการส่งตัวบุคคลผู้นั้นในฐานะของผู้ร้ายข้ามแดน

ประเภทที่สอง คือ ประกาศสีน้ำเงิน อันหมายถึงการที่ตำรวจสากลต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ทางตำรวจสากลสงสัยว่าอาจมีกิจกรรมบางประการที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม

ประเภทที่สาม คือ ประกาศสีเขียว ซึ่งทางตำรวจสากลจะใช้ส่งไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเป็นการเตือนและให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของประเทศนั้นๆ เกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เคยก่ออาชญากรรมบางอย่างไว้และมีแนวโน้มที่จะไปทำความผิดในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ อีก

ประเภทที่สี่ คือ ประกาศสีเหลือง ที่ทางตำรวจสากลจะใช้ในการช่วยค้นหาข้อมูลของบุคคลที่สูญหาย หรือช่วยระบุตัวตนของบุคคลที่ไม่สามารถยืนยันความมีตัวตนของตัวเองได้

ประเภทที่ห้า คือ ประกาศสีดำ ที่ทางตำรวจสากลจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการยืนยันเอกลักษณ์บุคคลของศพ

ประเภทที่หก คือ ประกาศสีส้ม ซึ่งจะใช้เพื่อแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เกี่ยวกับภัยคุกคามจากอาวุธ วัตถุระเบิด รวมถึงวัตถุอันตรายต่างๆ

และประเภทสุดท้าย คือ ประกาศพิเศษ ที่ทางตำรวจสากลออกร่วมกับทางสหประชาชาติ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีที่มีการแจ้งเตือนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายตอลิบันและอัล-เคดา

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทางดีเอสไอของไทยจะมองว่าข้อหาก่อการร้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น จะเข้าข่ายการดำเนินงานของทางตำรวจสากลในด้านใดหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป.

ข้อมูลจาก"สมชาย แสวงการ"เบาะแสใครพาหนี

27กย60 ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาโดยไม่มีตัวจำเลยแน่นอน 

ข่าวผมยืนยันแน่นอนมาแต่ต้นว่า เธอออกจากไทย วันพุธที่23สค เข้าไปกัมพูชาในตอนค่ำ และขึ้นเครื่องบินส่วนตัวออกไปตอนเที่ยงคืน20นาที บินถึงดูไบ เช้าวันพฤหัสที่24สค 

และล่าสุดไม่กี่วันที่ผ่านมา บินออกจากดูไบ ใช้พาสปอร์ตเอกสิทธิเล่มแดงไปลอนดอน

งานนี้จะปล่อยใครต่อใครทำผิดกฎหมายกันให้ลอยนวลหรืออย่างไร

ขอแรงนักสืบเฉพาะกิจ ช่วยงานความมั่นคง แจ้งเบาะแสกันดีมั้ยครับ

ภาพบุคคลนี้เป็นบุคคลที่อยากให้ช่วยกันดูครับว่าเป็นใคร ขับรถเข้าไปรับเธอที่บ้านโยธิน เวลา17:30 น นำไปส่งที่หมู่บ้านชัยพฤกษ์ วัชรพล เวลา18:26 น ก่อนออกเดินทางไปข้ามชายแดนสระแก้ว-ปอยเปต
ใครมีเบาะแสวานแจ้งครับ

"บิ๊กป้อม" โยนถามนายกฯ อย่างเดียว"ยิ่งลักษณ์" อยู่ไหน.

"บิ๊กป้อม" โยนถามนายกฯ อย่างเดียว"ยิ่งลักษณ์" อยู่ไหน. เผยจะเลิกตอบ เรื่อง "ปู"แล้ว
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯแบะรมว.กลาโหม เชื่อมั่นว่า จนท.จะคุมสถานการณ์ได้ หากเกิดเหตุวุ่นวาย หลังมีคำตัดสินของศาล ในคดีจำนำข้าว
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น และเชื่อว่าฝ่ายความมั่นสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ หากเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายขึ้น
ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ เผย ว่า รู้ที่อยู่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว นั้น พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธตอบ โดยกล่าวว่า ให้ไปถาม นายกรัฐมนตรี เอง ผมจะไม่ตอบเรื่องนี้แล้ว

"บิ๊กตู่" พลิ้ว !! ไม่บอก "ยิ่งลักษณ์" อยู่ไหน

"บิ๊กตู่" พลิ้ว !! ไม่บอก "ยิ่งลักษณ์" อยู่ไหน บอกแค่ อยู่ต่างประเทศ แต่ไม่ตอบ ประเทศ ไหน บอก "ไม่ต้องมาถาม"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.กล่าวถึงคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องผลการตัดสินในคดี ให้รอผลอย่างเป็นทางการจากทางศาล
เมื่อถามว่า การข่าวของนายกฯ ชี้ชัดได้หรือไม่ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ อยู่ที่ประเทศไหน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อยู่ต่างประเทศนั่นแหละ"
เมื่อถามว่า เป็นประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไม่รู้ ไม่ต้องมาถาม"

สน.ทุ่งสองห้องออกหมายจับ’ยิ่งลักษณ์’ใน 30 นาทีหลังศาลจำคุก 5 ปี

สน.ทุ่งสองห้องออกหมายจับ’ยิ่งลักษณ์’ใน 30 นาทีหลังศาลจำคุก 5 ปี แล้วส่งหมายไปทั่วประเทศ-ทุกด่าน


ภายหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ องค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีมติเอกฉันท์ พิพากษาจำคุก 5 ปีไม่รอลงอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ซึ่งบทหนักสุดที่ละเลยการตรวจสอบระบายข้าวจีทูจีจนทุจริตเสียหายกับกระทรวงคลัง ประเทศชาติ โดยศาลให้ออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย มารับโทษตามคำพิพากษาต่อไป

เมื่อเวลา 15.15 น. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. เปิดเผยว่า สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้จะให้ทางสน.ท้องที่ (สน.ทุ่งสองห้อง) ทำการออกหมายจับภายใน 30 นาที เพื่อนำตัวมารับโทษตามคำพิพากษา จากนั้นจะนำเรียนให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ทราบ และจะส่งหมายจับไปทั่วประเทศและด่าน สตม. ต่างๆ ให้เฝ้าติดตาม ทำการประกาศสืบจับต่อไป ส่วนจะประกาศให้ทางอินเตอร์โพลหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของอัยการ แต่เบื้องต้นยังไม่ทราบประเทศปลายทางที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อาศัยอยู่ ทั้งนี้ต้องให้ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เป็นคนจัดการเรื่องการเข้าค้นบ้านเพื่อนำดีเอ็นเอของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จากของใช้ภายในบ้านมาเทียบเคียง

รายงานข่าวแจ้งว่าจะมีการเข้าค้นบ้านในวันที่ 28 กันยายน โดยยังไม่ระบุเวลาที่ชัดเจน