PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559

E-DUANG : บทบาท”สนช.”กับหลักแห่ง”อริยสัจ”

ดร.สาโรช บัวศรี อธิการผู้ยิ่งยงแห่งวิทยาลัยวิชาการศึกษา คือ ผู้นำเอาหลักแห่ง “อริยสัจ” เข้ามาประสานเข้ากับกระบวนการสอน
เท่ากับนำเอาขุมทรัพย์ทางปัญญาแห่งพุทธธรรมเข้ามา
เท่ากับทำให้ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ประยุกต์เข้ากับกระบวนการเรียน การสอน สมัยใหม่
อริยสัจ คืออะไร
สมเด็จพระพุฒาจารย์(ป.อ.ปยุตโต)นิยามผ่านหนังสือ”พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์”ว่า
อริยสัจ
1 ความจริงอย่างประเสริฐ 1 ความจริงของพระอริยะ 1 ความจริงที่ทำให้คนเป็นพระอริยะ
ความจริงนี้สรุปแบบชาวบ้านก็คือ ทำให้”พันทุกข์”
เมื่อนำเอาคำว่า “ทุกข์” มาประยุกต์ใช้ใหม่ก็แปรเป็น “ปัญหา”
ที่สุดแล้ว “อริยสัจ” คือกระบวนการแก้ปัญหา แก้ทุกข์

พลันที่ 81 สนช.เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ก็เกิด “คำถาม”
“สนช.” ต้องการแก้”ปัญหา”อะไร
หากดูจากเนื้อหาที่เสนอก็เด่นชัดว่า ต้องการแก้ปัญหา”อำนาจ”ในการสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช” ที่บัญญัติเอาไว้ใน มาตรา 7
เป้าหมายก็คือ ตัด “มหาเถรสมาคม” ออกไป
เป้าหมายก็คือ ให้คงบทบาทของ “นายกรัฐมนตรี”อย่างเป็นด้านหลัก และเพียงผู้เดียว
แสดงว่า “มหาเถรสมาคม” คือ “ปัญหา”
แสดงว่า “มหาเถรสมาคม” คือ “ตัวทุกข์” จึงจำเป็นต้องตัดออกไป ไม่ให้มีอำนาจในการสถาปนา “สมเด็จพระสังฆราช”
ความหมายอย่างตรงเป้าที่สุดก็คือ
การดึงเอาอำนาจในการสถาปนา”สมเด็จพระสังฆราช”มาไว้กับ “นายกรัฐมนตรี”
นั่นก็คือ ให้ “พลเรือน”มีอำนาจใน”การสถาปนา”

น่ายินดีที่ไม่ว่า พระธรรมเมธี ในฐานะโฆษกมหาเถรสมาคม ไม่ว่า พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย
ออกมา “สรุป” ตรงกัน
ปฏิเสธว่า “คณะสงฆ์” มิได้เป็นปัญหา เพราะภายในคณะสงฆ์มิได้มีความขัดแย้ง แตกแยก
“มติ”ของมหาเถรสมาคม “ชัด”
คราวนี้ก็ทำให้เริ่มมองเห็นว่า “ปัญหา” น่าจะมาจาก”ฆราวาส”มากกว่าทำให้สงสัยว่า 81 สนช.ตีประเด็นทะลุหรือไม่
ทำให้สงสัยในบทบาทของ 81 สนช.ว่าต้องการอะไร ต้องการยุติความขัดแย้ง หรือขยายความขัดแย้ง
ความหมายจึงหมายความถึง การสร้าง”ปัญหา”

ข่าวส่งท้ายปีเก่าของภาคการเงิน โดย : ดร.ไสว บุญมา

ข่าวส่งท้ายปีเก่าของภาคการเงิน โดย : ดร.ไสว บุญมา

ความอลหม่านของช่วงเทศกาลฉลองวันคริสต์มาสต่อกับวันขึ้นปีใหม่ดูจะกลบข่าวใหญ่
เกี่ยวกับการบรรลุข้อตกลงระหว่างธนาคารดอยซ์กับรัฐบาลอเมริกันจนหมด ข้อตกลงนั้นกำหนดให้ดอยซ์จ่ายค่าปรับกับค่าชดเชยความเสียหายเป็นเงิน 7.2 พันล้านดอลลาร์ ต้นตอของข้อตกลงเป็นการละเมิดจรรยาบรรณของสถาบันการเงินซึ่งนำไปสู่การเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ การปะทุเมื่อกลางปี 2551 ของฟองสบู่นั้นทำให้เศรษฐกิจอเมริกันประสบวิกฤติซึ่งร้ายแรงมากเป็นลำดับสองของวิกฤติเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ ผลกระทบของความถดถอยจากปี 2551 ยังมีมาถึงปัจจุบัน

ธนาคารดอยซ์เป็นสถาบันการเงินสัญชาติเยอรมัน เนื่องจากในสมัยนี้โลกแทบไม่มีพรมแดน ดอยซ์จึงทำกิจการในอเมริกาได้ไม่ต่างกับสถาบันสัญชาติอเมริกัน พร้อมกันนั้นก็เข้าร่วมละเมิดจรรยาบรรณเช่นเดียวกับสถาบันการเงินอเมริกันด้วย ก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินอเมริกัน 6 แห่งถูกปรับเป็นเงิน 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ นำโดยธนาคารแห่งอเมริกาซึ่งต้องจ่ายถึง 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากดอยซ์บรรลุข้อตกลงเพียงไม่กี่ชั่วโมง ธนาคารเครดิตสวิสก็บรรลุข้อตกลงเช่นเดียวกันโดยยอมจ่าย 5.28 พันล้านดอลลาร์ อีกไม่นานธนาคารต่างชาติบางแห่งคงบรรลุข้อตกลงเช่นนั้นอีก

แม้ดูจะเป็นเงินจำนวนมาก แต่ดอยซ์จ่ายเพียงครึ่งเดียวของจำนวนที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมอเมริกัน การต่อรองของธนาคารจนรัฐบาลลดค่าปรับลงได้มากขนาดนั้น มองได้ว่าเป็นอาการหนึ่งของความป่วยไข้ในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักซึ่งใช้กันอยู่ทั่วโลก จริงอยู่ระบบนี้วางอยู่บนฐานของระบบตลาดเสรีที่มีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน แต่ตอนนี้มันบิดเบี้ยวไปมากจากอำนาจของเงินและความหลงผิด

ในปัจจุบันเงินซื้อได้เกือบทุกอย่าง แม้จะซื้อโดยตรงไม่ได้ก็ซื้อโดยทางอ้อม อมริกาจึงมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งจ้างคนไว้จำนวนมากเพื่อวิ่งเต้น คนกลุ่มนี้มีชื่อว่า Lobbyists ซึ่งส่วนหนึ่งประกอบด้วยนักการเมืองเก่าและเครือข่ายของพวกเขาจำนวนมาก คนเหล่านี้มีลักษณะเป็นมือปืนรับจ้างซึ่งมักเข้าถึงผู้มีอำนาจและสามารถเสนอข้อมูลและจุดยืนของนายจ้างได้มากกว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย การเสนอข้อมูลข้างเดียวมักโน้มน้าวให้ผู้มีอำนาจคล้อยตามความเห็นของพวกตนจนในหลายๆ กรณีมีความหลงผิดและความเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้น

ตัวอย่างของความหลงผิดครั้งใหญ่ในภาคการเงินในอเมริกาเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลยกเลิกข้อห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกับวานิชธนกิจและทำกิจการข้ามรัฐเมื่อกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา การยกเลิกข้อห้ามนั้นทำให้สถาบันการเงินควบรวมกิจการกันเป็นองค์กรขนาดมหึมาจำนวนหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดสถานะผูกขาดจนสามารถบังคับรัฐบาลได้โดยปริยายรวมทั้งการชักจูงให้รัฐบาลเข้าอุ้มเมื่อพวกตนประสบปัญหาสาหัส 

หลังจากฟองสบู่แตกเมื่อปี 2551 รัฐบาลอเมริกันจึงทุ่มเงินนับแสนล้านดอลลาร์ เข้าไปอุ้มสถาบันการเงินซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหาโดยละเมิดจรรยาบรรณ ข้ออ้างในการเข้าไปอุ้มได้แก่ หากไม่ทำเช่นนั้นความเสียหายจะร้ายแรงยิ่งกว่า มองจากมุมหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างกับโจรปล้นผู้เสียภาษีโดยมีรัฐบาลเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

หลังปี 2551 รัฐบาลอเมริกันพยายามปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อจะให้ผู้เสียภาษีมีโอกาสถูกปล้นน้อยลง แต่ความคืบหน้าเกิดขึ้นเชื่องช้ามากเพราะภาคการเงินมีอำนาจแทบล้นฟ้า จะเห็นว่าค่าปรับที่ธนาคารต่างๆ ต้องจ่ายให้รัฐบาลเพราะการทำความผิดนั้น รัฐบาลยังยินยอมให้นำไปหักออกจากบัญชีรายได้ซึ่งใช้ในการคำนวณกำไรและการจ่ายภาษี 

ด้วยเหตุนี้ ระบบตลาดเสรีจึงมีสภาพเป็นง่อยจนทำงานไม่ได้ตามอุดมการณ์และมักถูกประณามกว่าเป็นระบบทุนนิยมสามานย์ซึ่งทำงานให้เฉพาะนายทุน เดือนหน้า อเมริกาจะเปลี่ยนรัฐบาลซึ่งอาจจะทำให้พวกนายทุนสามานย์เขาถึงรัฐบาลได้ง่ายยิ่งขึ้นทั้งนี้เพราะประธานาธิบดีเป็นนายทุนใหญ่และเสนอให้แต่งตั้งนายทุนดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รวมทั้งการมอบตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศให้แก่หัวหน้าคณะผู้บริหารของบริษัทน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อมองจากบ้านเขามาที่เมืองเรา ภาพที่ปรากฏออกมาไม่น่าจะต่างกันนักเนื่องจากนายทุนใหญ่ๆ ดูจะเข้าถึงรัฐบาลได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้มือปืนรับจ้างด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ ระบบตลาดเสรีจึงแทบไม่มีประสิทธิภาพตามอุดมการณ์ในเมืองไทยส่งผลให้เกิดปัญหาซึ่งอาจสาหัสกว่าในอเมริกาเสียอีก