PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

ศาลฏีกา งเลือก "นายศุภชัย สมเจริญ" ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฏีกา เป็นกกต.คนใหม่

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติเสียงเกินกึ่งหนึ่งเลือก "นายศุภชัย สมเจริญ" ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฏีกา เพื่อเสนอชื่อให้ สว. พิจารณาเห็นชอบเป็น กกต. ตามขั้นตอนต่อไป ส่วนอีก 1 คนนัด สรรหาอีกครั้งในวันที่ 9 ตุลาคมนี้
นายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา เรียกผู้พิพากษาศาลฏีกาทั้ง 156 คน เพื่อประชุมใหญ่ พิจารณาสรรหาบุคคลที่สมควรถูกเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. แทนชุดปัจจุบันที่ได้ครบวาระลงแล้ว ในวันที่ 30 กันยายนนี้

โดยในวันนี้มีผู้พิพากษาผู้มีอำนาจและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งสิ้น 136 คน เข้าร่วมประชุมพิจารณา และมีมติเสียงเกินกึ่งหนึ่งเลือก นายศุภชัย สมเจริญ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฏีกา เป็นบุคคลที่สมควรถูกเสนอชื่อให้ ส.ว.พิจารณาเพื่อเห็นชอบเป็น กกต.

ส่วนอีก 1 คน ที่ประชุมยังไม่สามารถสรรหาได้เนื่องจากผู้ที่ถูกเสนอชื่อสรรหาในวันนี้ได้รับคะแนนเสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามเกณฑ์ จึงนัดสรรหา อีกครั้ง ในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ เวลา 9.00น.

นอกจากนายศุภชัย ที่ถูกเสนอชื่อไปแล้วนั้น ยังมีอีก 8 คนที่ถูกเสนอชื่อสรรหาในครั้งนี้ื ประกอบด้วย นางเปรมใจ กิติคุณไพโรจน์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฏีกา /นายบุญส่ง น้อยโสภณ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ภาค 7 /นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ /นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา /นายพิชิต คำแฝง อดีตรองประธานศาลฎีกา /ม.ล.ฤทธิเทพ เทวกุล อดีตรองประธานศาลฎีกา /นายวรวุฒิ โรจนพานิช เป็นผู้คลุกคลีด้านกีฬาในฐานะ นักข่าววิทยุมากว่า 40 ปี และนายประวิช รัตนเพียร อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน

สำหรับนายศุภชัย สมเจริญ อดีตเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในศาลยุติธรรมเป็นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เมื่อปี 2552 ซึ่งตำแหน่งเทียบเท่ากับรองประธานศาลฎีกา ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

"ผอ.อสมท" ให้คำตอบ ทำไม "ช่อง 9" ถึงตรวจสอบ "รบ.เพื่อไทย" น้อย


เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 12 มีนาคม 2556 เวลา 07:00 น.
หมวดหมู่

“การตรวจสอบรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ เพราะสื่อโทรทัศน์ทำได้เพียงนำเสนอข้อเท็จจริง ยิ่งในฐานะที่เราเป็นสื่อของรัฐ”

     ไม่ว่ารัฐบาลใดเมื่อกระโดดเข้ามาบริหารประเทศ หนึ่งในข้อหาที่มักถูกโยนเข้าใส่ ก็คือใช้อำนาจไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในการแทรกแซงสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อของรัฐ อย่างสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือ "ช่อง 11" สื่อภายใต้อุ้งมือรัฐ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี หรือ "ช่อง 9" บริษัทมหาชนที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
     พฤติกรรมจะเริ่มจากนักการเมืองแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปเป็นผู้บริหารองค์กรสื่อนั้นๆ และผู้บริหารที่เป็นเด็กนักการเมืองก็จะตั้งคนในกองบรรณาธิการข่าวขององค์กรสื่อนั้น ที่สั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้ ให้ขึ้นมาเป็นใหญ่คุมกองบรรณาธิการข่าว เพื่อเข้ามาล่วงลูก-ก้าวก่าย-การบริหารจัดการข่าวทั้งระบบ
     โดยหวังกำหนดทิศทางข่าวตอบสนองนักการเมือง
     เริ่มตั้งแต่ “คัดกรอง” หมายกำหนดการข่าว ว่าจะส่งทีมข่าวไปทำหรือไม่ เมื่อได้ข้อสรุปก็สั่งนักข่าวไปทำข่าว ก่อนกลับมาพิจารณาเลือกประเด็นนำเสนอ
     และทุกข่าวก่อนจะออกสู่สาธารณะต้องถูก “กลั่นกรอง” ทุกถ้อยคำ ก่อนมีเสียงกดโทรศัพท์จากผู้ปฏิบัติไปหา “คนปลายสาย” ซึ่งอยู่เบื้องหลัง เนื้อหาสนทนาเป็นการรายงานให้นักการเมืองรับทราบการปฏิบัติงานในแต่ละวัน
     ผลที่ออกมา ก็คือการนำข่าวที่มีเนื้อหาไม่สมดุลออกอากาศ ปิดบังเรื่องที่สังคมควรรู้ บิดเบือนนำเสนอเฉพาะเรื่องที่อยากให้รู้ เรียกได้ว่าเป็น “ยุคเสื่อม”ของฝ่ายข่าวก็ว่าได้
     เพราะองค์กรข่าวปั่นป่วน มองหน้ากันไม่ติด ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เชียร์รัฐบาลสุดลิ่ม กลุ่มที่ 2 ค้านรัฐบาลทุกประตู กลุ่มที่ 3 เฉยเมยเย็นชาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
     สถานการณ์บีบรัดหนักขึ้นเมื่อคนทำงานถูกฝ่ายบริหารจิกบีบ บรรยากาศมาคุทอดปกคลุมองค์กรข่าว จากมิตรกลายเป็นศัตรูอย่างไม่น่าเชื่อ กลุ่มเชียร์รัฐบาลเริ่มออกอาการเกลียด กลุ่มคนไม้เบื่อไม้เมาไม่เอารัฐบาลเริ่มเกลียดหนักเข้าไปอีก และกลุ่มที่เย็นชากลายพันธุ์เป็นไม่ชอบนักการเมืองกันไปเลย
     รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ว่ามีนักการเมืองงัดคำสั่งทางวาจา-ออกระเบียบมืด ตีกรอบการนำเสนอข่าว “ขีดเส้น” ห้ามนำเสนอข่าวฝ่ายค้านตรวจสอบโครงการทุจริตต่างๆ ของรัฐบาล
     “เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์” ผู้กระโดดข้ามห้วยจากตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มารับตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ผอ.อสมท.” เปิดใจกับ “ราชดำเนิน” ถึงสาเหตุที่ทิศทางข่าวของช่อง 9 เริ่มต้นเปลี่ยนไปนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยก้าวมาเป็นรัฐบาล จนกระทั่งตัวเขาขึ้นมากุมบังเหียนฟรีทีวีโทนสีม่วงช่องนี้
     เอนกเริ่มต้นโดยกล่าวถึงนโยบายที่ให้กับกองบรรณาธิการ ว่าในช่วงเช้าและช่วงเย็น จะเป็นเวลาในการนำเสนอข่าว เนื่องจากเป็นเวลาที่ครอบครัวนั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน เราจึงมีนโยบายเน้นนำเสนอข่าวสาร “เชิงสร้างสรรค์” เป็นประโยชน์กับประชาชน อาทิ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ออกกฎหมายอะไรมา แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายฉบับนั้น
     ผอ.อสมท.บอกชัดว่า ช่อง 9 ยุคนี้จะลดเนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “ความขัดแย้ง” ซึ่งไม่ใช่เฉพาะข่าวการเมือง แต่รวมถึงข่าวอาชญากรรม ประเภทฆ่ากันตายเลือดกระฉูด ข่าวอะไรที่ไม่ดีต่อความรู้สึกประชาชน เราจะเลี่ยงไม่นำเสนอในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น แต่จะไปเสนอในช่วงดึก ซึ่งเด็กๆ หรือเยาวชนนอนกันแล้ว
     “ข่าวความขัดแย้งที่มีผลออกมาเป็นรูปธรรม เช่นการทะเลาะกัน เราก็จะลดโทนเหล่านี้ลงไป เพราะถ้าดูข่าวก่อนไปทำงาน หรือก่อนไปเรียน ก็จะไม่มีความสุข ทำให้คนดูสุขภาพจิตเสีย”
     เมื่อเราขอให้ขยายความนโยบาย “ไม่เสนอข่าวความขัดแย้ง” เอนกก็อธิบายว่า ช่อง 9 จะพยายามเน้นให้เห็นว่า สื่อสามารถใช้อิทธิพลในการนำความคิด หรือหาทางออกให้กับสังคม หากสื่อยังวนเวียนกับการนำเสนอข่าวใครด่ากันโจมตีกันไปมา ประชาชนก็จะไม่ได้อะไร ยกตัวอย่างข่าวนโยบายรถคันแรก ช่อง 9 จะเสนอทุกมิติ ไม่ว่าฝ่ายไหน ถ้าแสดงความเห็นเชิงสร้างสรรค์ เราจะนำเสนอทั้งหมด
     “หลังจากนี้ช่อง 9 จะต้องเปลี่ยน ไม่ไปเสนอข่าวตามกระแส หรือแค่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ลองสังเกตดูได้ ข่าวของเราไม่เคยเอาข่าวจากหนังสือพิมพ์มานำเสนอ เพราะเรามีผู้สื่อข่าวของตัวเอง และไม่รู้ว่าในอนาคตหนังสือพิมพ์เหล่านั้นจะเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เอาข่าวของเขามาอ่านหรือไม่”
     สำหรับสัดส่วนการนำเสนอระหว่าง "ข่าวการเมือง-ข่าวเศรษฐกิจ-ข่าวสังคม" ผอ.อสมท.กล่าวว่า จะให้พื้นที่ข่าวเศรษฐกิจมากที่สุดราว 30-40% เพราะเป็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้อง อาทิ เรื่องปัญหาสินค้าราคาแพง
     ส่วนข่าวการเมืองจะให้สัดส่วนน้อยกว่าข่าวเศรษฐกิจ เพราะข่าวการเมืองจำนวนหนึ่ง “ไม่สร้างสรรค์” ที่สำคัญการนำเสนอข่าวการเมืองมากๆ จะเป็นการชี้นำการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
     “หากลองสังเกตดูข่าวการเมืองจำนวนไม่น้อย เป็นข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ สมมุติเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะมาบอกว่าประชามติมีที่มาอย่างไร แล้วประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร กลับไปบอกว่าจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่าไร ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องปลายทางทั้งหมด”
     เราซักว่าอย่างข่าวประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล อสมท.จะนำเสนอหรือไม่?
     ซึ่งเอนกก็ตอบว่า “ช่อง 9 ก็จะเสนอให้รู้ว่ามีความเคลื่อนไหวในเรื่องอะไร แต่จะไม่เกาะติด เพราะถือเป็นแค่ 1 ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญของสังคม เพราะชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น”
     สำหรับข่าวสังคม ช่อง 9 จะนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจหรือแรงใจให้กับคน เช่นคนตกงานจะทำอย่างไรให้มีกำลังใจที่จะหางานทำ
     เมื่อถามถึงที่ทางของข่าวตรวจสอบรัฐบาลในช่อง 9 เอนกกล่าวว่า จะมีเฉพาะในบางรายการ เช่น คลุกวงข่าว แต่จะหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวคอร์รัปชั่น เพราะอาจมีปัญหาเรื่อง “คดีความ” ตามมา
     “การตรวจสอบรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ เพราะสื่อโทรทัศน์ทำได้เพียงนำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่า ยิ่งในฐานะที่เราเป็นสื่อของรัฐ ก็ยิ่งต้องเน้นการนำเสนอข้อเท็จจริง เพราะบางครั้งการจะไปคลุกวงใน ไปหาข้อมูลเชิงลึก เราก็ไม่รู้ว่าที่ได้มามันถูกต้องหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยง เพราะหลายเรื่องที่พอเข้ามาปุ๊บ ก็ไปศาลแล้ว บางครั้งจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบในการนำเสนอ ก่อนเสนออะไรเราต้องประเมินว่า ข่าวๆ นั้นจะมีผลกระทบเชิงลบหรือไม่”
     บิ๊กบอสช่อง 9 ยืนยันว่า ไม่มีฝ่ายการเมืองเข้ามา “สั่ง” ไม่ให้นำเสนอข่าวการทุจริตของรัฐบาล อย่างโครงการรับจำนำข้าว ก็ไม่มีใครมาแทรกแซง แต่เป้าหมายหลักของเราคือนำเสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์ ให้กระทบต่อบุคคลที่ 3 น้อยที่สุด เพราะนี่คือสิ่งที่ทั้งบรรณาธิการและนักข่าวเคยมีประสบการณ์ต้องตกเป็นจำเลยในศาลมาแล้วทั้งนั้น
     “เราไม่ได้ลดการนำเสนอข่าวทุจริต เพียงแต่ต้องหาวิธีนำเสนอเชิงบวก จึงมีรายการใหม่โดยนิมนต์พระมาให้ความเห็นเรื่องการทุจริต เพื่อกระตุกสังคม ว่าการโกงก่อให้เกิดผลอย่างไร ทั้งทางธรรมและทางโลก”
     ซักว่านโยบายดังกล่าวเพราะหลีกเลี่ยงแรงปะทะกับฝ่ายการเมือง?
     เอนกตอบสวนทันทีว่า “ไม่เกี่ยวกันครับ คนละเรื่องกัน ข่าวทุจริตเราก็เสนอ เพียงแต่ถ้าผลยังไม่ออก เรานำเสนอไป มันก็ถูกฟ้อง แต่ถ้ามีองค์กรใด อาทิ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลแล้ว อันนี้ถึงโอเค นำเสนอได้ เพราะใครก็มาฟ้องเราไม่ได้ แต่สมมุติฝ่ายค้านกล่าวหารัฐบาล เราก็ไม่เสนอ เพราะเราไม่รู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือเปล่า เสนอไปอาจจะถูกฟ้องได้”
     เขากล่าวย้ำอีกครั้งว่า อสมท.จะยังเสนอข่าวทุจริตเหมือนเดิม แต่เน้นผลสรุปที่ศาลตัดสินหรือ ป.ป.ช.ชี้ขาดไปแล้ว เพื่อลดการพาดพิงบุคคลที่ 3 จนอาจมีคดีฟ้องร้องตามมา ทั้งนี้ ยังจะมีนโยบายเสนอข่าวทุจริตเชิงบวก เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นโทษทั้งทางธรรมและทางโลก
     เอนก กล่าวส่งท้ายโดยยอมรับว่าตำแหน่ง “ผอ.อสมท.” ย่อมถูกการเมืองบีบเหมือนกัน แต่ก็เป็นเรื่องปกติ ก็ต้องแยกให้ออกว่าเราเป็นตัวแสดง และตำแหน่งนี้มีระยะเวลาจำกัด จะไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราตลอดชีวิตไม่ได้ วันนี้ได้เป็น ผอ.อสมท. พอแสดงเสร็จ กลับบ้านก็จบ เหมือนไปรับจ้างแสดงหนังเรื่องหนึ่ง พอจบตอนก็กลับบ้าน ไปเป็นนายเอนกตามเดิม
     ต้องละ ต้องยุติมัน ต้องจบ.

ส.ว.สรรหา เตือนทูลเกล้าฯ ร่าง รธน. โดยไม่รอศาล รธน. เท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

Mon, 2013-09-30 18:25

ส.ว.สรรหา เตือนว่าหากนายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไข รธน. ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่รอศาล รธน.วินิจฉัย ถือเป็นการมิบังควร ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และอาจมีผู้ยื่นเรื่องต่อศาล รธน. ว่านายกรัฐมนตรีผิด รธน. ม.68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันนี้ (30 ก.ย.) ว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่มา ส.ว. เนื่องจากวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมากลุ่ม ส.ว.ได้ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อขอให้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยล่าสุดทราบว่าประธานวุฒิสภากำลังให้ฝ่ายธุรการตรวจสอบลายมือชื่อ ส.ว.และจะส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบในสัปดาห์นี้ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีควรระงับการดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวาย จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการอ้างว่าจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วันนั้นใช้ในกรณีที่ร่างกฎหมายไม่มีการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ แต่หากยื่นให้ศาลตรวจสอบตามมาตรา 154 แล้ว ต้องระงับการทูลเกล้าฯ ถวายไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย แม้จะพ้นกำหนด 20 วันแล้วก็ตาม ซึ่งล่าสุดกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ก็เลยกำหนดการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วันแล้วเช่นเดียวกัน
นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า หากนายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างเร่งรีบผิดปกติ ตามคำแนะนำของบุคคลใกล้ชิด ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาและจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกระบวนการตรวจสอบร่างกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เชื่อได้ว่าอาจจะมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายที่มีปัญหามากมายยังไม่สิ้นข้อสงสัย และอยู่ในระหว่างการขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่กลับนำขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างเร่งรีบ เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง เพราะทำให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจถูกกล่าวโทษว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 157 จึงหวังว่านายกรัฐมนตรีจะระงับนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทยถึงได้เร่งรีบให้นายกรัฐมนตรีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอย่างเร่งรีบ ไม่ทราบว่าเป็นการทำเพื่อรักษาประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข หรือต้องการสนองความต้องการบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะขณะนี้เป็นที่ปรากฏต่อสาธารณะว่าร่างฉบับนี้มีหลายอย่างที่ไม่เรียบร้อยค่อนข้างมาก เช่น การแปรญัตติ การกดบัตรแทนกัน และที่สำคัญร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่ามีความสำคัญและมีศักดิ์สูงกว่าร่าง พ.ร.บ.จึงไม่สมควรที่จะผ่านออกไป โดยไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความถูกต้องก่อน
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ที่ผ่านมาถือเป็นประเพณีปฏิบัติว่า หากเรื่องใดยังไม่ได้ข้อยุติหรือยังมีความสงสัย ต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด และขณะนี้มีผู้ยื่นเรื่องแล้ว และยังไม่มีข้อสรุป ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะเป็นการระคายเคืองหรือไม่ และอยากเตือนไม่ให้นายกรัฐมนตรีนำเรื่องนี้ขึ้นไป เพื่อให้เป็นพระราชภาระ ซึ่งอาจจะมีผู้ไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่านายกรัฐมนตรี กระทำการเข้าข่ายล้มล้างการปกครองขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68
อนึ่งก่อนหน้านี้ "ประชาไท" สัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ได้ เนื่องจาก มาตรา 154 เป็นกรณีของร่างพระราชบัญญัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นกฎหมายคนละชนิดกัน และการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจของรัฐสภา 
//

สัมภาษณ์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เมื่ออำนาจศาล รธน. ปะทะอำนาจรัฐสภา (อีกแล้ว)


28 ก.ย. คือวันที่ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญมาถึงจุดร้อนฉ่าอีกครั้ง เมื่อสภามีมติเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของที่มา ส.ว. ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 358 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 30 เสียงขณะที่ ฝ่ายค้าน และกลุ่ม 40 ส.ว. วอล์คเอาท์
หมากการเมืองและหมากกฎหมายที่พรรคฝ่ายค้านและ ส.ว. บางส่วนได้วางไว้ก่อนหน้านี้ ก็กลายมาเป็นปัจจัยพัวพันการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อทันที
โดยก่อนหน้านี้ นายสาย กังกะเวคิน ส.ว. ระยอง และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เรื่องขอให้พิจารณาว่าการแก้ไขรธน. ในส่วนของที่มา ส.ว. นั้นเข้าข่ายผิด ม. 68 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้น 25 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องพร้อมแจ้งมายังสำนักเลขาธิการรัฐสภา ให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องของไว้พิจารณาแล้ว
พลันที่มีการลงมติผ่านฉลุย ด้วยคะแนน 358 เสียง ประธานวิปฝ่ายค้านก็ได้ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ ส.ส. 143 คน ต่อ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ทันที
แล้วทั้งหมดนี้มันคืออะไร เสียงของส.ส. และส.ว. 358 เสียงยังคงมีความหมายใช้การได้หรือไม่ แล้วบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีนี้ จะมีผลยับยั้งมติของรัฐสภาและกระบวนการต่อไปที่เข้าสู่ขั้นตอนพระราชวินิจฉัยหรือไม่ ประชาไทสัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายจากกลุ่มนิติราษฎร์ รองศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชน เพื่อให้เขาอธิบายโดยละเอียด
000
วรเจตน์ : ผมอธิบายแบบนี้ก่อน เรียงลำดับไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย นะครับว่า ตอนนี้ กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ มันดำเนินมาจนกระทั่งผ่านวาระ 3 แล้ว
การแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญที่เป็นประเด็นอยู่นี้ เป็นการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งรัฐสภาก็ได้ประชุมกัน แล้วกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ก็ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ทำเป็น 3 วาระ และเมื่อเช้าเมื่อนี้ก็ผ่านวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ด้วยคะแนนเสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ทีนี้ขั้นตอนต่อไปถัดจากนี้ ผมเอาขั้นตอนในทางกฎหมายก่อน ขั้นตอนถัดจากนี้จะเป็นไปตามมาตรา 291 (7) ก็คือ เมื่อมีการลงมติไปตามที่กล่าว ก็คือผ่านทั้ง 3 วาระมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และ 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 291 (7)
เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม
มาตรา 150
ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับ เป็นกฎหมายได้
มาตรา 151
ร่างพระราชบัญญัติใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและ พระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษา ร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้น ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทาน คืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับ เป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
ก็หมายความว่า เมื่ออ่านมาตรา 291 (7) ประกอบมาตรา 150 กับมาตรา 151 แล้ว ก็จะได้ความว่าในขั้นตอนถัดจากนี้ไป นายกรัฐมนตรีก็ต้องมีหน้าที่ในการนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน อันนี้เป็นไปตามความในมาตรา 150 ที่จะอนุโลมมาใช้กับกระบวนการในการนำขึ้นทูลเกล้าด้วย
และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ ถ้ามีการนำขึ้นทูลเกล้าไปแล้ว ก็จะเป็นประเด็นต่อไปในเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ให้พระราชอำนาจเอาไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิ มีพระราชอำนาจที่จะ เรียกว่าวีโต้ หรือไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย เรียกว่าใช้สิทธิวีโต้
การวีโต้ เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือการวีโต้โดยชัดแจ้ง พระราชทานคืนกลับมายังสภา ไม่ลงพระปรมาภิไธย กรณีที่สองเป็นการวีโต้โดยปริยาย คือเก็บร่างรัฐธรรมนูญนี้ไว้จนพ้น 90 วัน มิได้พระราชทานกลับคืนมา ผลก็คือจะไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ทำให้รัฐบาลต้องประชุมกันใหม่ เพื่อจะดูว่าสภาจะยืนยันร่างนี้หรือไม่ ซึ่งถ้าเกิดประชุมกันแล้ว รัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมอีกครั้งหนึ่ง และครั้งหลังนี้ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ลงพระปรมาภิไธย พระราชทานคืนมาใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเสมือนเป็นกฎหมายได้เลย อันนี้คือขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไป ตามขั้นตอนปกติในทางกฎหมาย
ประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ มันมีกระบวนการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ผมเท้าความนะครับว่า หลังจากที่มีการพิจารณาในวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ไปแล้ว มีสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่ง ได้ไปยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 อันนั้นเป็นการยื่นตรง เขาเดินไปหาศาลรัฐธรรมนูญแล้วยื่นเข้าไป แล้วศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งรับเรื่องพิจารณา การยื่นตามมาตรา 68 นั้น ยื่นโดยอ้างว่าฝ่ายรัฐบาลนั้นใช้สิทธิและเสรีภาพในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
แล้วก็ดังที่เราเคยพูดกันว่าจริงๆ การยื่นตามมาตรา 68 ไม่สามารถยื่นตรงได้ ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด อันนี้เป็นไปตามมาตรา 68 วรรค 2 แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็รับไว้พิจารณาโดยตีความว่า พวกนี้สามารถไปยื่นตรงได้เลย
แต่ในความเห็นของผมเองและนักกฎหมายจำนวนมากเลยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา เพราะเป็นเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพล้มล้างการปกครอง แต่กรณีนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามอำนาจหน้าที่ ที่รัฐธรรมนูญให้ไว้กับรัฐสภา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญก็รับคดีเอาไว้แล้ว แล้วตอนที่รับเรื่องเอาไว้ ฝ่ายผู้ยื่นคือ ส.ว. จำนวนหนึ่ง ก็ยื่นคำร้องขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราวด้วย คือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรัฐสภาห้ามไม่ให้มีการลงมติวาระ 3 แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้แต่รับเรื่องเอาไว้พิจารณาแต่ว่าไม่มีการสั่งคุ้มครองชั่วคราว ผลก็คือสภาก็เดินหน้าลงมติวาระ 3 ไปเมื่อเช้านี้ และก็ผ่านไปเรียบร้อย
ทีนี้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ จะมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่าตอนนี้ ถึงแม้ผมจะมีความเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ศาลก็บอกว่าเขามีอำนาจและเขารับเอาไว้ ถ้าเกิดศาลมาวินิจฉัยในวันพรุ่งนี้ วันมะรืนนี้ หรือวันถัดไป ผลจะเป็นอย่างไร นี่เป็นประเด็นที่เราจะได้พูดกันต่อไป แต่ว่าเท่าที่ได้ทราบข่าวมา ก็คือว่าหลังจากที่ผ่านวาระ 3 ไปแล้ววันนี้ ผมทราบข่าวมาว่าจะมี ส.ส. หรือ ส.ว. จำนวนหนึ่ง จะหาทางระงับยับยั้งการที่นายกจะต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมส่วนนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย
เท่าที่ทราบมาก็คือ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็น ส.ว. ที่มาจากการสรรหา เขาก็จะเข้าชื่อกันแล้วยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 3 มาแล้วนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 เพราะว่าถ้าเกิดเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 154 ผลก็คือว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยไม่ได้ คือเป็นการยับยั้งการนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ น่ะครับ เพราะตามมาตรา 68 มันยับยั้งอะไรไม่ได้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้สั่งยับยั้งเอาไว้ ตอนนี้ฝ่ายค้านและฝ่าย ส.ว. เองก็หาช่องทางใหม่ คือช่องทางตามมาตรา 154 
ม. 154 ให้ศาลตรวจสอบร่างพ.ร.บ.  ไม่ใช่ร่างแก้ไข รธน.
ในทางกฎหมายต้องอธิบายว่า มาตรา 154 เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทรงไว้ซึ่งอำนาจในการควบคุมตรวจสอบกรณีของการตราร่างพระราชบัญญัติที่จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเป็นกรณีของร่างพระราชบัญญัติ ถ้าผ่านมา 3 วาระ แล้วฝ่ายค้านเขาไม่เห็นด้วย บอกว่าร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านมาขัดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมาตรา 154 ก็ให้อำนาจ ส.ส. , ส.ว. หรือ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ก็คือประมาณ 65 คน สามารถเข้าชื่อไปที่ประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกได้ แล้วให้ประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกนั้นส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แล้วระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย นายกก็จะต้องไม่นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย คือต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน ทีนี้ ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว. สรรหาที่เขาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาจะอ้างรัฐธรรมนูญมารตรา 154 เพื่อระงับยับยั้ง
ประเด็นก็คือเขาอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ได้ไหม คำตอบก็คือ อ้างไม่ได้นะครับ เพราะว่าอย่างที่ผมได้เรียนไปว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 154 มันเป็นกรณีของร่างพระราชบัญญัติที่มีการอ้างว่าตราขึ้นโดยขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่ว่าประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้มันไม่ใช่เรื่องของร่างพระราชบัญญัติตามที่มาตรา 154 กำหนดไว้ แต่มันเป็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มันเป็นกฎหมายคนละชนิดกัน
เพราะฉะนั้น ผลก็คือว่า ส.ส. ส.ว. แม้เข้าชื่อกันไป ประธานสภาก็ไม่สามารถที่จะส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะว่าไม่ตรงตามความในมาตรา 154 พูดง่ายๆ ก็คือ เรื่องนี้ถ้ายื่นมาแล้วผมเป็นประธานรัฐสภา ผมก็ไม่ส่งเรื่องไปครับ เพราะว่ามันไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 154 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นเรื่องร่างพระราชบัญญัติ ไม่ได้พูดถึงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แล้วผมเข้าใจเอาเองว่าประธานรัฐสภาก็จะไม่ส่งเรื่องนี้ไป แล้วถามว่าถ้าประธานไม่ส่งแล้ว ส.ส. ส.ว. เดินตรงไปหาศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ในระบบกฎหมายของเราทำไม่ได้ครับ
ดูจากช่องทางแล้วก็อาจจะคาดหมายได้ว่า เรื่องนี้จะไม่ไปศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างแน่นอน ตามมาตรา 154 เพราะฉะนั้นก็ไม่มีกรณีของการยับยั้งการทูลเกล้าได้ ผลในทางกฎหมายก็คือนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป เมื่อนายกได้รับจดหมายจากประธานรัฐสภาแล้วว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน 3 วาระแล้ว นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ตามมาตรา 150 ประกอบกับ มาตรา 291 (7) ต้องนำร่างนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างฯ จากสภา
กล่าวโดยสรุป จากนี้ไปขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นขั้นตอนที่เป็นหน้าที่ทางรัฐธรรมนูญ เป็นขั้นตอนที่ ไม่มีผู้ใดระงับยับยั้งได้ ก็จะต้องมีการนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไปอย่างแน่นอน
ทีนี้ประเด็นจะมีอยู่ว่า ในทางกฎหมายก็จะเป็นอย่างที่ผมบอกอย่างนี้แหละ แต่ในทางการเมือง การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 68 จากการยื่นของ ส.ว. เมื่อตอนที่ผ่านวาระ 2 ไปแล้ว ผลคืออะไร ผลคือการรับเรื่องไว้แบบนี้ แม้ศาลจะไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้ลงมติวาระสาม หรือแม้ศาลจะสั่งคุ้มครองชั่วคราว รัฐสภาก็ไม่น่าจะฟังคำสั่งศาลเพราะศาลไม่มีอำนาจ ผมก็เห็นเช่นนั้นว่าศาลไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ศาลรับเอาไว้แล้ว ก็คาดหมายกันว่าศาลอาจมีคำวินิจฉัยออกมา
ทีนี้ การรับคดีไว้พิจารณาจะส่งผลในทางการเมือง แม้ในทางกฎหมายผมเห็นว่าทำไม่ได้ แต่ว่าจะมีอิทธิพลหรือส่งผลในทางการเมืองคือ มันจะทำให้บุคคลต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แล้วเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปในการโหวตในสภา ก็จะเอาประเด็นนี้ยกมาอ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่  นายกรัฐมนตรีไม่ควรนำเรื่องที่ค้างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท นึกออกไหมครับ เพราะฉะนั้นการอ้างจะเป็นการอ้างเพื่อใช้ต่อสู้ทางการเมืองนับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป
แต่อย่างที่ผมบอกว่าข้ออ้างนี้มันก็เป็นข้อกล่าวอ้าง ในด้านหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งเขาก็อ้างได้เหมือนกันว่าความจริงศาลรัฐธรรมนูญไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย แต่ศาลรัฐธรรมนูญดันไปรับเรื่องไว้พิจารณาเอง โดยที่ตัวเองไม่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ และเป็นการก้าวก่ายอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นของรัฐสภา เพราะฉะนั้นเมื่อกระบวนการที่เขาทำมามันผ่านกระบวนการมาเรียบร้อยแล้ว มันก็ต้องเดินหน้าต่อไป จะเอาเหตุนี้มาอ้างไม่ได้ แล้วก็เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามมาตรา 291(7) ประกอบ 150
ทีนี้ลองคาดหมายว่าการรับคดีไว้พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ถ้ามองในแง่ของการเมืองทั้งระบบในเชิงของต่อสู้กันทางการเมืองที่ชิงกันอยู่ตอนนี้ ผมอยากจะให้ลองมองกว้างนิดหนึ่ง คือถามว่าทำไมการคัดค้านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มันต้องใช้กลไกกันขนาดนี้ เอาเป็นเอาตานกันขนาดนี้ในทุกวิถีทาง คำตอบคือรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผลพวงต่อเนื่องมา ฝ่ายเขาได้วางกลไกในรัฐธรรมนูญ สร้างกลไกต่างๆ มาเขาก็ย่อมไม่อยากกลไกที่เขาสร้างเอาไว้ซึ่งกลไกหลายส่วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยถูกขจัดไป ตัว ส.ว. หรือวุฒิสภานั้นเป็นหมากสำคัญหรือเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ต้องรักษาเอาไว้
เพราะฉะนั้นในแง่นี้ ต่อไปจะเป็นการต่อสู้กันที่แหลมคมมากขึ้น มีการดึงเอาประเด็นต่างๆ เข้ามาเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 ไปแล้วได้ในช่วงระยะเวลา 1-3 สัปดาห์ถัดไปจากนี้ค่อนข้างจะแน่นอน
นายกนำร่างแก้ไขรธน. ขึ้นทูลกล้าฯ จะเป็นอย่างไร
ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคดีนี้ไว้พิจารณาโดยที่ตอนนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยออกมา มันจะส่งผลคือ หากว่านายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมไปแล้วก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ผลก็คือ การที่คดียังค้างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดการนำไปกล่าวอ้าง อย่างน้อยบรรดาคณะบุคคลต่างๆ ที่อาจจะถวายคำปรึกษาก็อาจกล่าวอ้างได้ว่าเรื่องนี้มีคดีในศาลรัฐธรรมนูญ พูดง่ายๆ ก็คือว่าเป็นข้อพิจารณา
ผมอาจจะกล่าวได้ในแง่นี้ว่า ประเด็นที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญจะถูกนำไปใช้ในแง่ที่จะส่งผลต่อการมีพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผมพูดเลยไปมากกว่านี้ไม่ได้ ถ้าพูดเลยไปกว่านี้จะไปติดเพดานของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ชี้ให้เห็นได้เพียงแค่นี้ว่าสิ่งที่ค้างอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะถูกนำมาใช้เป็นข้อกล่าวอ้างได้หลังจากขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ไปแล้ว นี่เป็นการวิเคราะห์ในแง่ทางการเมือง
ถ้าเกิดสภาพการณ์เป็นอีกอย่างหนึ่ง ในช่วง 2-3 วันนี้ก่อนที่นายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เกิดศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา มีการนัดฟังคำวินิจฉัยโดยที่นายกฯ ยังไม่ได้นำขึ้นทูลเกล้า มันก็จะเกิดสภาพอีกอย่างหนึ่ง คือ ถ้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าการแก้ไขนี้ไม่ชอบ คำถามคือมันจะส่งผลผูกพันกับนายกรัฐมนตรีกับรัฐสภาขนาดไหน อันนี้ก็จะเกิดเป็นประเด็นที่จะต้องมีการวินิจฉัย
ถ้าเกิดมีคำวินิจฉัยก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็คือจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันนี้ ถ้ามีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญยังจะมีคำวินิจฉัยอะไรออกมาอีกหรือไม่ เพราะมันขั้นตอนมันจะผ่านนายกฯ ไปแล้ว ไปเข้าเขตที่เป็นเรื่องพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญของประมุขของรัฐไป
ถ้าเกิดวินิจฉัยออกมาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตอนนี้ก็จะเป็นประเด็นแล้วว่า ถ้าคำวินิจฉัยออกมาในทางที่เป็นคุณกับฝ่ายที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายคัดค้านก็จะหยิบเอาคำวินิจฉัยนี้มาบอกว่านายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็จะเป็นประเด็นว่าคำวินิจฉัยนี้จะผูกพันนายกรัฐมนตรีไหม ผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ผมคิดว่าถ้าออกมาแบบนี้จริง ก็อาจมีประเด็นที่รัฐสภาปฏิเสธที่จะผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ความจริงในรัฐธรรมนูญก็มีการเขียนไว้เหมือนกันกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร ก็จะมีคนหยิบบทบัญญัติแบบนี้มาอ้างเป็นสรณะว่า พอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ได้ ถ้ายังไม่มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องมีการระงับเอาไว้
ประเด็นที่อยากให้คิดกันคือ ประเด็นในทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร แน่นอนก็จะมีคนอ้างว่า ทุกคนต้องเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ผมมีความเห็นว่า การเคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นการเคารพแบบไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น หมายความว่า ศาลตัดสินอะไรมาทุกอย่างต้องเคารพและผูกพันทั้งหมด เคารพแบบหูหนวกตาบอด แบบไม่ต้องใช้สติปัญญาใดๆ ทั้งสิ้น
ถ้าปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญเสียเอง เป็นการเข้ามาวินิจฉัยเรื่องที่ตัวเองไม่มีอำนาจ คำวินิจฉัยนั้นก็เป็นเศษกระดาษที่ไม่สามารถผูกพันองค์กรของรัฐองค์กรไหนได้ แล้วองค์กรตามรัฐธรรมนูญเองก็ต้องยืนยันอำนาจแบบนี้ว่า คำวินิจฉัยอันนี้ไม่มีผลผูกพันองค์กรในทางรัฐธรรมนูญ
ถามว่าทำไมถึงอธิบายแบบนี้ เพราะมีนักกฎหมายใหญ่บางท่านอธิบายว่าถ้าอย่างนั้นระบบจะไม่เดิน ถ้าคนไม่ฟังคำวินิจฉัยของศาลจะเกิดอะไรขึ้น แต่ท่านไม่ได้บอกว่าหากตัวศาลเองไปวินิจฉัยในเรื่องที่ตัวเองไม่มีอำนาจอย่างชัดแจ้ง จะไปบังคับคนอื่นหรือองค์กรอื่นเคารพคำวินิจฉัยได้อย่างไร
เราต้องไม่ลืมว่าคำวินิจฉัยอันนี้เป็นคำวินิจฉัยในคดีรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญเองเป็นเพียงองค์กรหนึ่งในทางรัฐธรรมนูญที่มีสถานะเสมอกับคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ไม่ได้มีสถานะเหนือกว่า เพราะฉะนั้นเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว แม้ว่าโดยหลัก องค์กรของรัฐทุกองค์กรจะต้องผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็จริงอยู่ แต่ไม่ได้หมายถึงว่าผูกพันโดยไม่มีเงื่อนไข
พูดอีกอย่างก็ได้ สมมติว่า ศาลรัฐธรรมนูญเกิดวินิจฉัยออกมาว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดรัฐธรรมนูญแล้วต้องวินิจฉัยว่าคนที่ยกมือโหวตให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นกบฏ แล้วสั่งประหารชีวิต ส.ส. ส.ว.ที่ยกมือโหวตให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งหมด ถามว่าจะยังมีใครในประเทศนี้ที่จะเชื่อฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ได้อีก
การทำคำวินิจฉัยแบบนี้ออกมามันขัดกับกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่จะอ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันองค์กรทุกองค์กร แล้วก็ตัดสินอะไรก็ได้ เขียนลงมาในคำวินิจฉัยแล้วก็ผูกพันหมด มันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันต้องดูเหตุดูผลด้วย
แล้วองค์กรอย่างรัฐสภา เขาก็ทรงอำนาจของเขา และเรื่องนี้มันเป็น authority หรือเป็นอำนาจโดยแท้ของรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแม้แต่มาตราเดียวในระบบกฎหมายไทยที่เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
เพราะฉะนั้นผลก็คือว่าในทางกฎหมาย คำวินิจฉัยนี้ที่ออกมาก็จะไม่มีผลผูกพันองค์กรของรัฐ และตัวรัฐสภาเองจะต้องเป็นคนยืนยันความไม่ผูกพันของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็จะเกิดเป็นวิกฤติทางรัฐธรรมนูญขึ้นมา
พอถึงจุดนั้น มันก็จะพ้นไปจากประเด็นในเรื่องของข้อกฎหมาย แต่จะเป็นการงัดข้อกันในแง่ของอำนาจในทางความเป็นจริง เพราะถือว่าองค์กรของรัฐไม่เคารพอำนาจของกันและกันไปแล้ว เพราะถือว่าองค์กรหนึ่งก้าวล่วงอำนาจของอีกองค์กรหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าสุดท้ายแล้วคนส่วนใหญ่ องค์กรของรัฐนั้นเขาเชื่อฟังอำนาจไหน ถ้าเขาเชื่อฟังว่ารัฐสภาถูกต้อง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาก็เป็นเรื่องวินิจฉัยไป เป็นเรื่องที่ไม่ได้มีผลอะไร มันก็ไม่ได้มีผลอะไร
ต้องไม่ลืมว่ากระบวนการในระบบของเรา สุดท้ายก็จะไปที่พระมหากษัตริย์ที่จะลงพระปรมาภิไธย ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วเรื่องผ่านรัฐสภามา ก็ต้องถือว่า รัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรในทางการเมือง จะเป็นคนรับผิดชอบในทางการเมือง และนายกรัฐมนตรีเป็นคนรับผิดชอบในความถูกต้องแท้จริงในพระปรมาภิไธย นี่ก็คือคำอธิบายของผมที่มีต่อสภาพการในทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นถัดจากนี้ไป หลังจากที่รัฐสภามีมติผ่านวาระสามไปเมื่อเช้าวันที่ 28 กันยาที่ผ่านมา
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยอ้างว่า อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ได้หรือไม่
ผมเห็นว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะมันไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจเขา ตามมาตรา 68 ที่ใช้อ้างตัวบทก็เขียนชัดว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้"
คำถามคือเขาแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองตรงไหน มีแต่ว่าการกำหนดอย่างนี้มันเป็นการส่งเสริมสนับสนุนตัวระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงยิ่งขึ้น
โดยความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าถามว่าผมเห็นด้วยไหมร้อยเปอร์เซ็นต์ไหมกับการให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ผมว่ามันดูจากบริบทนี้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูว่าสภาทำอะไร ผมเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องมันต้องทำทั้งฉบับ เพราะกลไกรัฐธรรมนูญมันจะโยงกัน แต่ว่าพอทำทั้งฉบับมันก็ทำไม่ได้เพราะครั้งที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าต้องทำประชามติก่อนและ แนะนำให้แก้เป็นรายมาตรา ฝ่ายข้างมากในสภาก็ทำตามคำแนะนำ แก้เป็นรายมาตรา เริ่มแก้จากเรื่องที่วุฒิสมาชิกมาจากการสรรหาก่อน แล้วพอเขาทำแบบนี้เสร็จก็มีการไปยื่นอีกศาลอีกว่าการแก้ไขนี้ขัดกับมาตรา 68
คำถามก็คือ การกระทำแบบนี้เป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผลที่จะต่อสู้กันแล้ว คือพอบอกไม่ให้แก้ทั้งฉบับเขาก็มาแก้รายมาตรา พอมาแก้รายมาตรา คนที่ยื่นบอกว่าแก้ทั้งฉบับไม่ได้จะเป็นการล้มล้างการปกครอง ก็บอกว่านี่เป็นการล้มล้างการปกครองอีก ผมถามว่าแล้วจะแก้กันยังไง สรุปคือมันแก้ไม่ได้ใช่ไหม เพราะมันเป็นผลพวงของการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ที่ต้องรักษาอย่างเคร่งครัดกระนั้นหรือ
ถ้าถามผมว่า เห็นด้วยไหมกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเรื่องนี้เรื่องวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผมก็ยังสงวนความเห็นอันนี้อยู่นะ ระหว่างที่แก้ครั้งนี้กับแบบที่เป็นอยู่อันไหนดีกว่ากัน ถ้าเทียบกันแค่สองอย่างนี้ ผมก็ต้องบอกว่าไอ้แบบที่แก้มันดีกว่า แต่ถ้าถามว่ามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ไหม มันมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ ถ้าทำโดยโครงสร้างของระบบทั้งระบบประกอบกัน มันมีระบบวิธีการเลือกตั้งซึ่งได้การกระจายตัวคนไปมากกว่านี้ แต่ว่าในเมื่อตอนนี้การต่อสู้มันบีบเรียวให้เหลือแค่ คุณจะเอา ส.ว.ที่มาจากการสรรหา หรือจะเอา ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ถ้าคำถามมีอยู่เท่านี้ ผมก็ต้องบอกว่าเอา ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง
ถ้าเกิดนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไหม เพราะถ้านำขึ้นทูลเกล้าไปแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ไปตามขั้นตอนและอยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แล้ว แล้วศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอะไรออกมาในขั้นตอนนั้น จะวินิจฉัยออกมายังไง
ก็เป็นไปได้ เขาอาจจะวินิจฉัยออกมาในตอนนั้นอันนี้ก็ไม่ทราบได้ ตอนนี้มันจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าจะวินิจฉัยอย่างไร แต่ผมเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้คือกลับเข้าสู่หลักการที่ถูกต้อง ก็คือ จำหน่ายคดี เพราะกระบวนการมันไปหมดแล้ว มันเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตั้งแต่แรกแล้ว ตอนนี้เขาเดินหน้าโหวตผ่านวาระสามไปแล้ว รางในทางรัฐธรรมนูญบอกให้ต้องเดินทางไปข้างหน้า ก็ต้องจำหน่ายคดีไป
มีคนอ้างอีกอันหนึ่งเหมือนกันว่า มีข้อครหาว่า ส.ส.มีการกดบัตรแทนกัน กรณีนี้ต้องตรวจสอบกันไปในเชิงการเมือง เขาไม่ได้เปิดกลไกตรวจสอบในทางกฎหมายให้ จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่แม้จะจริงมันก็ไม่เป็นสาระที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการโหวตทั้งหมดเป็นโมฆะ เพราะคะแนนเสียงผ่านเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้จำนวนมากพอสมควร พูดง่ายๆ คือกระบวนการนี้ ถือว่าได้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนในทางรัฐธรรมนูญแล้ว และต้องเดินหน้าไปจนสุดกระบวนการ
ถ้าตอบในเชิงของการวิเคราะห์ทางการเมือง ผมยังประเมินและวิเคราะห์ว่า จะมีความพยายามขัดขวางการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเรื่องนี้อย่างรุนแรงต่อไปอีกในช่วงนี้ และแม้กระบวนการจะเดินมาจนถึงจุดนี้แล้ว ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าต่อไปข้างหน้าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นอีก
แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ได้วางกลไกที่เป็นผลต่อเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยา 49 เอาไว้ แล้ววัตถุประสงค์ของการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ยังไม่บรรลุบริบูรณ์ คือมันบรรลุผลในระดับหนึ่งแล้ว โค่นรัฐบาลไปได้ มีการยุบพรรค มีอะไรไปแล้ว พูดง่ายๆ คืออำนาจเดิมก่อนรัฐประหารยังเป็นฝ่ายครองอำนาจหลักอยู่ตอนนี้ในกลไกของรัฐ มันก็ไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ที่ทำรัฐประหารหรือแม้แต่ผู้ที่บงการให้ทำรัฐประหารถ้าหากมี ซึ่งอาจจะอยู่ข้างหลัง
เพราะฉะนั้น ถัดจากนี้ไปเราก็จะเห็นว่า ความพยายามที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญนี้เอาไว้ อุปมาเหมือนดังไข่ไดโนเสาร์ที่จะไม่ให้แตก มันจะทวีความรุนแรงและความแหลมคมขึ้นเป็นลำดับ
ถ้าถามผมว่าแน่ใจขนาดไหนว่าสุดท้ายจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้ว ผมบอกได้เลยว่าความแน่ใจของผมมีน้อยกว่าความไม่แน่ใจเยอะมาก อันนี้พูดในทางการเมือง ทั้งที่ความจริงในทางกฎหมายแล้ว ผมตอบว่ามันต้องเป็นไปตามนี้ มีเหตุมีผล มีความชอบธรรมทางกฎหมายอย่างเต็มเปี่ยม แต่ว่าในทางการเมืองมันก็มีกลไก มีลูกเล่น มีแทคติก มีอะไรต่างๆ เข้ามา เราจะได้เห็นต่อไปในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 แล้วจะบรรลุผลได้ ก็ต้องอาศัยความกล้าหาญของรัฐบาล
ถูกต้อง ในแง่นี้รัฐบาลก็ต้องยืนไปตามหลักการแล้วก็ไปจนสุด ก็มีคนพูดถึงเรื่องของพระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจในการวีโต้ ถ้าเกิดว่ามี ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้ เป็นพระราชวินิจฉัยของพระองค์ แต่ผมตอบไปจากหลักในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันก็เป็นขั้นตอนอันหนึ่ง วีโต้กลับมาก็ประชุมสภากันแล้วว่ากันไปตามหลักเกณฑ์มาตรา 291 (7) “เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ประกอบกับมาตรา 151 ถ้าวีโต้กลับมาแล้วคะแนนไม่ถึงสองในสามก็ตก ก็ต้องพยายามใหม่ ก็ต้องเป็นแบบนั้น
แต่ในด้านหนึ่ง จะเห็นกลไกในทางกฎหมายว่าเดินไปตามขั้นตอนของมัน เราก็ว่ากันไปตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ถูกต้อง เพราะนี่คือกติกาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่คนร่างรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร.ปี 50 วางเอาไว้เอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ เขาได้ทำตามกติกาที่พวกคุณวางเอาไว้เอง ไม่ได้ไปทำนอกกติกาเลย
แต่ตอนนี้พูดง่ายๆ คือ ฝ่ายที่มีส่วนหรือเกี่ยวพันในการวางกติกาที่ส่งผลต่อกลไกในรัฐธรรมนูญปี 50 กลับพยายามที่จะขจัดขัดขวาง ตั้งแต่ตอนที่เปลี่ยนรัฐธรรมนูญแล้ว รับรัฐธรรมนูญแล้ว บอกว่าว่ารับๆ ไปก่อนแล้วไปแก้ทีหลัง จำกันได้ไหม คนทีพูดตอนนี้เป็นยังไง แล้วพอจะแก้ดูสิว่ามันยากขนาดไหน
เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจได้ว่านี่คือการต่อสู้กัน คือมันเป็นผลพวงของการทำรัฐประหาร เป็นการสู้กันทางกำลังที่ยังไม่จบ ข้อที่น่าเสียดายคือ ท่ามกลางการต่อสู้แบบนี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ได้นำหลักการที่แท้จริงออกมาพูด ซึ่งแน่นอนถ้าถามผม ผมเห็นว่าฝ่ายที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เขาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องกว่าฝ่ายที่คัดค้าน และผมเห็นว่าการแก้ไขมันสามารถทำได้ดีกว่านี้ โดยกลไกที่มีระบบถ่วงดุลที่ดีกว่านี้ แต่ตอนนี้เมื่อมันสู้กันแบบนี้ ก็ต้องเอาทางที่เป็นผลเสียน้อยที่สุดก่อน นั่นก็คือ พยายามแก้ให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดก่อน

งานแต่งงาน ของ อาจารย์ปณิธาน และน้องผึ้งเจ้าสาวแสนสวย

งานแต่งงาน ของ อาจารย์ปณิธาน และน้องผึ้งเจ้าสาวแสนสวย
รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

กับ ที่คั่นหนังสือของชำร่วย
เขียนว่า "ความรัก...จะไม่หลีกลี้ไปหนใดเลย..หากหนทางของเรา
เคยเดินร่วมกันมาก่อน" (พนมเทียน-ศิวาราตรี)






คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ถ่ายกับ ทักษิณ ที่มาเก๊าว่อนเน็

คำรณวิทย์ ทักษิณ



            ภาพคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ถ่ายกับ ทักษิณ ชินวัตร ที่มาเก๊าว่อนเน็ต หลังก่อนนี้เจ้าตัวมีภาพคู่ ทักษิณ พร้อมข้อความ  มีวันนี้เพราะพี่ให้ จนโดนวิจารณ์ถึงความเหมาะสม  
            เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง สำหรับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นข่าวเปิดห้องทำงาน แล้วมีภาพที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กำลังติดยศให้ และในภาพยังมีข้อความระบุว่า "มีวันนี้ เพราะพี่ให้" ซึ่งครั้งนั้นมีคนแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก เพราะการที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นนักโทษหนีคดี และไทยกำลังต้องการตามตัวมาพิจารณาคดีและรับโทษ ถือเป็นเรื่องไม่เหมาะอย่างยิ่ง  

            ล่าสุดวันนี้ (30 กันยายน 2556) ในสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กได้มีการแชร์ภาพ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ พร้อมคณะถ่ายรูปกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มาเก๊า พร้อมข้อความในภาพระบุว่า In Macau  with happy time ทั้งนี้ผู้แชร์ภาพเปิดเผยว่าภาพนี้ถูกถ่ายเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา

             อย่างไรก็ตาม หลังมีภาพ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกแชร์ว่อนเน็ต ล่าสุดก็มีคนแสดงความคิดเห็นมากมาย และวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก ว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

จับได้แล้ว แก๊งโจ๋ถีบพระขณะบิณฑบาต ที่ยะลา สารภาพเมา

จับได้แล้ว แก๊งโจ๋ถีบพระขณะบิณฑบาต ที่ยะลา สารภาพเมาจับได้แล้ว แก๊งโจ๋ถีบพระขณะบิณฑบาต ที่ยะลา สารภาพเมา


กลุ่มวัยรุ่น 7 คนที่ก่อเหตุถีบพระ ขณะบิณฑบาตบริเวณ ถนนหน้าวัดตรีมิตร จ.ยะลา เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา ถูกจับได้แล้ว สารภาพทำไปเพราะเมาสุรา

ผู้สื่อข่าววีรีพอร์ต จังหวัดยะลา รายงานว่า พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผบก.ภ.จ.ยะลา พ.ต.อ.พชรพล ณ นคร ผกก.สภ.เมืองยะลา นำตัวนายซอบรี ดาราแม อายุ 23 ปี , นายฮัมดี ดือราแม อายุ 19 ปี พร้อมเพื่อนเยาวชนรวม 5 คน ผู้ต้องหาร่วมกันถีบพระภิกษุอภิชาต ค้าหนองคู อายุ 36 ปี พระลูกวัดวัดตรีมิตร จ.ยะลา ขณะออกบิณฑบาตบริเวณหน้าวัด  เมื่อเช้าวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยผู้ต้องหาทั้งหมดขับขี่จักรยานยนต์ 2 คัน และ 1 ในวัยรุ่นทั้งหมด ได้ลงมาทำร้ายพระ จนบาตรตก และ พระบาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งจากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดทำให้ทราบตัวกลุ่มคนร้าย

ทั้งนี้ นายซอบรี สารภาพว่า กระทำไปเพราะความเมาบวกความคึกคะนอง มิได้ดูหมิ่นชาวไทยพุทธแต่ประการใด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น พร้อมควบคุมตัวไว้ดำเนินคดีต่อไป ด้านพระอภิชาต ที่ถูกทำร้าย ระบุไม่ติดใจที่จะดำเนินการเอาเรื่องราวแต่อย่างใด

FB+Line+ลอกการบ้าน = วงจรชีวิตเด็กไทย!!

FB+Line+ลอกการบ้าน = วงจรชีวิตเด็กไทย!! 
ASTVผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รู้ไหมว่า เด็กสมัยนี้ใช้เวลาอยู่กับโซเชียล มีเดียนานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่มีเพียง ร้อยละ 34.5 เท่านั้นที่ยังทานมื้อเย็นกับครอบครัวเป็นประจา จากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเด็ก 3,058 คน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ชี้ให้เห็นว่าวงจรชีวิตเด็กไทยกาลังน่าเป็นห่วง เพราะเสพติดเทคโนโลยีพุ่งพรวดถึง 2-3 เท่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

เวลาโดยเฉลี่ย

06.18 น. ตื่นนอน

22.21 น. เข้านอน

เช็ค FB และ Line ก่อนนอน ร้อยละ 35

เช็คเช็ค FB และ Line หลังตื่น ร้อยละ 51.1

ติดโซเชียลมีเดีย เล่นผ่านมือถือ ร้อยละ 75.7

นักเรียนหญิงติดหนักกว่านักเรียนชาย

หยิบมากดเล่นระหว่างคาบเรียน ร้อยละ 20.3

ทนไม่ได้ถ้าต้องอยู่คนเดียวโดยไม่มีโทรศัพท์ ร้อยละ 42.5

เคยถูกคุกคามทางเพศจากเพื่อนใหม่ออนไลน์ ร้อยละ 28.7

ลอกการบ้านจนเป็นนิสัย ร้อยละ 41.7

เด็กที่มีเกรดเฉลี่ยมากกว่า 3.5

นิยมลอก ร้อยละ 52.9

เด็กที่มีเกรดเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 นิยมลอก ร้อยละ 41.7

ข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)