PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สตง.จี้รบ.ยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าจัดเลือกตั้ง2ก.พ.

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือด่วน ที่ ตผ 0012/1686 
ให้ 'รัฐบาลยิ่งลักษณ์' ชดใช้ค่าจัดเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 เป็นจำนวนเงินกว่า 3,800 ล้าน โดย พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการในกรณีดังกล่าว "เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยเหตุผล และ ก่อให้เกิดความเสียหายย่อมเข้าข่ายเป็นการกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
ซึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป


กองปราบฯ ขออนุมัติหมายศาลบุกเข้าตรวจค้นสถานนีวิทยุคนเสื้อแดง จ.ปทุมธานี ย่านลำลูกกา ของ “โกตี๋” พบอาวุธปืานลูกซอง 5 นัด พร้อมเครื่องกระสุน

กองปราบฯ ขออนุมัติหมายศาลบุกเข้าตรวจค้นสถานนีวิทยุคนเสื้อแดง จ.ปทุมธานี ย่านลำลูกกา ของ “โกตี๋” พบอาวุธปืานลูกซอง 5 นัด พร้อมเครื่องกระสุนและวิทยุสื่อสารจำนวน 3 เครื่อง เสื้อแดงกว่า 40 คนรุมปิดล้อมตำรวจโห่ร้องการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่เจ้าตัวคาดว่าเผ่นออกนอกประเทศไปแล้ว...

วันนี้ (7 พ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา รอง ผบช.ก.รักษาราชการแทน ผบก.ป. พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.อ.นิรันดร์ นามสุวรรณ ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผกก.รักษาราชการแทน ผกก.ปพ.บก.ป.สั่งการ พ.ต.ท.นิคม ชัยเจริญ รอง ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.จอม สิงห์น้อย สว.กก.1 บก.ป. พ.ต.ท.อรรพล พานประทีป รอง ผกก.ปพ.บก.ป. พ.ต.ท.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ สว.กก.ปพ.บก.ป.นำกำลังรวม 70 นาย พร้อมหมายศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ 177/2557 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เข้าตรวจค้นบ้านพักไม่มีเลขที่ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นที่ทำการสถานนีวิทยุชุมชน “เรดการ์ด เรดิโอ” หรือวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง จ.ปทุมธานี ซึ่งนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงเคยใช้เป็นสถานที่ทำงาน เพื่อแสวงหาหลักฐานเพิ่มเติมในคดีดังกล่าว
ทั้งนี้ สำหรับการเข้าตรวจค้นดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมาได้มีกลุ่มบุคคลหลายภาคส่วน เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน บก.ป.ให้ดำเนินคดีต่อนายวุฒิพงศ์ ในความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง หลังจากนายวุฒิพงศ์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไวซ์นิวส์ (Vice News) พาดพิงถึงสถาบันเบื้องสูง กระทั่งมีการรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับนายวุฒิวงศ์ในความผิดดังกล่าวเอาไว้ ต่อมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจาณาตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อผู้ต้องหา และได้เร่งสืบสวนติดตามตัวมาดำเนินคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่กำลังตำรวจ บก.ป.เดินทางไปถึงบริเวณหน้าบ้านพักหลังดังกล่าวแล้ว ได้มีผู้ดูแลบ้านออกมาพบ จากนั้น พ.ต.ท.นิคมได้แสดงหมายค้นศาลให้รับทราบเพื่อเข้าไปตรวจค้นภายใน แต่ทางผู้ดูแลบ้านรายนี้กลับอ้างว่าเจ้าของบ้านไม่อยู่ ขอให้เจ้าหน้าที่รอก่อน จากนั้นคนที่อยู่ในบ้านดังกล่าวได้โทรศัพท์ติดต่อกับบุคคลภายนอก และมีความพยายามจะยื้อเวลาการเข้าไปตรวจค้น และบางส่วนก็พยายามเก็บข้าวของภายในบ้านทันที แม้ว่าสถานวิทยุชุมชนแห่งนี้จะยังคงออกอากาศอยู่ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ภายหลังตำรวจ สภ.คูคต เจ้าของท้องที่ได้เข้ามาสบทบและมีการเจรจากับผู้ดูแลบ้านคนดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปตรวจค้นภายในได้ โดยทางตำรวจ บก.ป.พยายามประนีประนอม ไม่แจ้งว่าเป็นการขัดขืนหมายศาล ซึ่งจากการตรวจค้นครั้งนี้ เจ้าหน้าที่พบอาวุธปืนลูกซอง 5 นัด พร้อมกระสุนปืนอีกจำนวนหนึ่ง วิทยุสื่อสาร 3 เครื่อง มีดเดินป่า 2 เล่ม จึงยึดไว้ตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นพบว่าเป็นอาวุธปืนที่มีทะเบียนถูกต้อง แต่ไม่พบเอกสารหรือหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคดีของนาผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากใช้เวลาในการตรวจค้นเกือบ 1 ชั่วโมง และได้รอเจ้าหน้าที่ กสทช.ร่วมตรวจสอบการออกอากาศของสถานีวิทยุแห่งนี้ แต่ทางผู้แทน กสทช.ไม่ได้เดินทางมา กำลังตำรวจ บก.ป.จึงเตรียมถอนกำลังออกมา แต่ระหว่างนั้นได้มีมวลชนคนเสื้อแดงในพื้นที่กว่า 40 คนเข้ามารุมล้อมแสดงความไม่พอใจในการปฏิบัติงานของตำรวจในครั้งนี้ โดยต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์และด่าทอว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกปฏิบัติ แต่เหตุการณ์ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่ได้มีการกระทบกระทั่งกันแต่อย่างใด ส่วนอาวุธปืนและสิ่งที่ตรวจค้นมาทั้งหมดได้นำส่ง สภ.คูคต เพื่อตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

สำหรับการเข้าตรวจค้นเพื่อหาหลักฐานประกอบการดำเนินคดีนายวุฒิพงศ์ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 แล้วที่กำลังตำรวจ บก.ป.มีการตรวจค้นภายหลังมีการแจ้งความดำเนินคดี กระทั่งศาลได้ออกหมายจับนายวุฒิพงศ์ไว้แล้ว รวมทั้งมีกระแสข่าวออกมาว่านายวุฒิพงศ์ได้หลบหนีไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศแล้ว

ศาล รธน.มติเอกฉันท์นายกฯพ้นตำแหน่ง ครม.รักษาการต่อ เว้น รมว.เอี่ยวย้าย ‘ถวิล’

ศาล รธน.มติเอกฉันท์นายกฯพ้นตำแหน่ง ครม.รักษาการต่อ เว้น รมว.เอี่ยวย้าย ‘ถวิล’

ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว กรณีโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขา สมช. ให้ ครม. รักษาการต่อ เว้น รมว.ที่เอี่ยวประชุมวันที่ 6 ก.ย.54 

7 พ.ค. 2557 เวลา 12.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.หลังยุบสภาความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ พ้นไปหรือไม่ 2.การโยกย้าย นายถวิล ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ยิ่งลักษณ์ให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ 3.คณะรัฐมนตรี หรือ ครม.พ้นตำแหน่งไปด้วยหรือไม่ 

ประเด็นแรก ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า มีอำนาจในการรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ โดยเห็นว่า นายกฯ และ ครม.ยังไม่พ้นตำแหน่งจากการยุบสภาตามคำร้อง โดยเห็นว่าความเป็นรัฐมนตรียังอยู่ แม้ยุบสภาไปแล้ว ซึ่งต่างจากการสิ้นสุดผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองอื่น ดังนั้นศาลมีอำนาจรับฟ้องคดีนี้

ประเด็นต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าผู้ถูกร้องใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (2) และ (3) และถือเป็นการกระทำตาม รธน. มาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7)
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 181 (1) บัญญัติว่าคณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ส่วนมาตรา 182 วรรค 1 บัญญัติว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (7) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267, 268 หรือ 269 จากข้อความที่ปรากฏในบทบัญญัติทั้ง 2 มาตรา แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้บัญญัติให้เฉพาะกรณีที่คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 (1) เท่านั้น ที่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามมาตรา 182 ด้วย
ดังนั้นคดีนี้เมื่อผู้ถูกร้องกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 วรรค 1 (2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(1) แล้ว ผู้ถูกร้องจึงไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้อีกต่อไป
ประเด็นต่อมา มาตรา 180 วรรค 1 (1) บัญญัติว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามมาตรา 182 และ มาตรา 181 บัญญัติว่า คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 ยังคงต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ในคดีนี้เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) เป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 180 วรรค 1 (1) แต่ด้วยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ย่อมทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ที่ไม่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามของความเป็นรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ได้
อย่างไรก็ตามหากรัฐมนตรีคนใดได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรค 1 (1) ถึง (8) ย่อมมีผลให้รัฐมนตรีคนนั้นไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตาม รธน. มาตรา 181 ได้เช่นกัน
ในกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำระดับสูงจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน ดังนั้นในคดีนี้หากรัฐมนตรีคนใดมีส่วนร่วมในการลงมติอันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงข้าราชการประจำโดยการโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งเป็นการกระทำอันต้องห้ามตาม รธน. มาตรา 268 ด้วยไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมย่อมเป็นเห็นให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีผู้นั้นสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตาม รธน. มาตรา 182 วรรค 1 (7) ตามไปด้วย และไม่อาจอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่ามีการนำเรื่องการโยกย้ายนายถวิล และการให้นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติอย่างเร่งรีบ รวบรัด ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามปกติ เป็นวาระเพื่อทราบจรในวันที่ 6 ก.ย. 54 และคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติเอกฉันท์อนุมัติให้กระทำการโยกย้ายและให้ข้าราชการประจำพ้นจากตำแหน่งโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายไปในวันเดียวกันนั้นเอง รัฐมนตรีทุกคนที่ร่วมประชุมและลงมติในวันนั้นจึงมีส่วนร่วมโดยทางอ้อมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำอันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) เป็นเห็นให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ไปด้วย
สำหรับประเด็นตามคำขอของผู้ร้อง ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยให้ดำเนินการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 และ 173 โดยรวมนั้นไม่อยู่ในขอบเขตการเสนอคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในคดีนี้ ศาลไม่รับพิจารณาวินิจฉัยจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเอกฉันท์จึงวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งโยกย้ายโอนหรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ และมิใช่ข้าราชการการเมือง จึงต้องด้วยรัฐธรรนูญมาตรา 266(2) และ(3) และถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) และรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ก.ย.54 จึงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำ อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบ มาตรา 266(2) และ(3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรค 1 (7) ไปด้วย
ทั้งนี้ นายกฯ และรัฐมนตรีที่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 10 คน ประกอบด้วย
1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
2.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
3.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ
4.นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ
5.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
6.นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
7.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหม
8.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
9.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที
10.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน